fbpx
Vaginismus - กายภาพของความกลัวเมื่อต้องสอดใส่

Vaginismus – กายภาพของความกลัวเมื่อต้องสอดใส่

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

มวลของวงสนทนาเรื่องเซ็กซ์ส่วนใหญ่แล้วมักจะเต็มไปด้วยความอยากรู้อยากเห็น เขินอาย กลับกันก็ปิดความสนุกเล็กๆ ไว้ไม่มิด แต่มวลเหล่านั้นไม่ได้มีไว้เพื่อเรื่องราวของผู้โชกโชนเจนจัดเพียงอย่างเดียว เพราะในหมู่ผู้หญิง โดยเฉพาะกลุ่มของเพื่อนฉัน ความไม่ประสีประสา ขาดประสบการณ์ และการไม่มีเซ็กซ์ เป็นอีกหัวข้อที่ได้รับความนิยมและถูกหยิบยกขึ้นมาพูดคุยปรึกษาเพื่อให้เราเรียนรู้เรื่องเพศไปด้วยกัน

คนจะไม่มีเซ็กซ์ เป็นไปได้หลายเหตุผล ยังไม่มีแฟน ไม่เจอคนถูกใจ อาย ไม่ชอบเซ็กซ์ ฯลฯ แต่เหตุผลหนึ่งที่น่าสนใจและอาจมีผลกระทบกว่าที่เราคิด คือเหตุผลง่ายๆ อย่าง ‘ความกลัว’

เหตุผลนี้สำหรับบางคนอาจเป็นเพียงเรื่องทางจิตใจ แต่กับบางคน ความกลัวก็พัฒนาไปเป็นปัญหาทางกายภาพที่กระทบต่อการใช้ชีวิตไม่น้อยเลยทีเดียว

“กูตกลงกับมันว่า เมาเมื่อไหร่ให้ทำเลย” อาย เป็นเพื่อนผู้หญิงคนหนึ่งที่มีหน้าตาสะสวย มีแฟนที่คบกันมานานหลายปี เพื่อนๆ เข้าใจว่าเธอคงมีอะไรกับแฟนไปแล้ว กระทั่งประโยคดังกล่าวถูกเอ่ยจากปากอาย จึงได้ทราบว่าอายพบปัญหาใหญ่จนไม่สามารถมีอะไรกับแฟนได้มาตลอดหลายปี

“ถ้าไม่เมา ก็จะกลัวหนักมากจนร้องไห้ แล้วมันก็เจ็บจนไม่กล้าไปต่อ” อายเล่า

ความกลัวของอายนั้นทำให้เธอบอกว่ารู้สึกเจ็บเหมือนกับ ‘แทงกรรไกร’ เข้าไป แม้ฝ่ายชายจะเล้าโลม สร้างบรรยากาศหวามไหวให้อย่างดี แต่เมื่อถึงขั้นสอดใส่ ก็เป็นต้องยกเลิกกลางคันแทบทุกครั้ง “เหมือนร่างกายมันไม่เอาอย่างเดียว คือกลัวจนไม่มีน้ำหล่อลื่น แล้วก็เจ็บ เสียดมากมึง”

 

ฉันคิดว่าผู้หญิงหลายคนเคยผ่านสภาวะคล้ายๆ กัน หลายคนเลือกรับมือด้วยการฝืน ลงเอยด้วยเซ็กซ์ครั้งแรกที่ไม่น่าจดจำเท่าไหร่ บางคนเลี้ยงใจตัวเองให้ผ่อนคลายได้ และเสร็จสมไปด้วยเซ็กซ์ดีๆ แต่ในกรณีของอาย และอีกหลายคน สภาวะนี้แก้ไม่ได้ด้วยวิธีดังกล่าว ทั้งยังจะสร้างความเจ็บทางกายภาพขึ้นเรื่อยๆ

‘Vaginismus’ – คือสภาวะที่ฉันนึกถึงเมื่อฟังเรื่องเล่าของอาย แต่ Vaginismus ที่แท้จริงอาจมีอาการที่รุนแรงกว่าบ้าง

Vaginismus หรือ สภาวะช่องคลอดหดเกร็ง เกิดจากการหดตัวอย่างรุนแรงของกล้ามเนื้อบริเวณปากช่องคลอด เกร็งอย่างที่ร่างกายไม่สามารถควบคุมได้ สภาวะนี้ไม่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติทางร่างกายอื่นๆ เช่น เยื่อพรหมจารี หรือระบบสืบพันธุ์ แต่เป็นผลที่สืบเนื่องจากจิตใจโดยตรง

ผู้ที่พบปัญหา Vaginismus จะเจ็บเมื่อมีการสอดใส่ ไล่ระดับไปตั้งแต่สอดใส่ได้แต่เจ็บ ไม่มีความสุข ไม่รู้สึกถึงอารมณ์ทางเพศ หรือกระทั่งไม่สามารถสอดใส่ได้ ไม่ใช่แค่เพศสัมพันธ์เพียงอย่างเดียว แต่พวกเธอบางคนอาจไม่สามารถใส่ผ้าอนามัยแบบสอด หรือไม่สามารถเข้ารับกระบวนการทางการแพทย์เมื่อตรวจภายใน

สภาวะช่องคลอดหดเกร็งนี้คาดว่าเกิดขึ้นกับผู้หญิงทั่วโลกประมาณ 1-17% ต่อปี สาเหตุของอาการเป็นไปได้หลายอย่าง เช่น ความฝังใจว่าการมีเพศสัมพันธ์เป็นสิ่งสกปรก ผิด ทำให้เจ็บปวด ซึ่งมาจากการเลี้ยงดูอย่างเข้มงวดในเรื่องเพศ หรืออิทธิพลจากความเชื่อทางศาสนา และค่านิยมของสังคม บางครั้งอาจเป็นเพราะอวัยวะเพศของบางคนอาจเล็กเกินกว่าจะสอดใส่ อาจเกิดกับผู้หญิงที่รู้สึกเครียด วิตกกังวล เกิดกับคนที่เคยถูกทารุณกรรมทางเพศ ไปจนถึงสาเหตุไร้สาเหตุ คืออาการเหล่านี้เกิดขึ้นเองโดยไม่มีเหตุผลที่แน่ชัด

“กูรู้สึกนอกคอกอะ (หัวเราะ) อย่างเวลาฟังใครคุยเรี่องเซ็กซ์ ก็คิดว่าทำไมมีความสุขกับเรื่องนี้บ้างไม่ได้ กับแฟนก็ไม่สบายใจ มันเรื่องใหญ่เหมือนกันนะในความสัมพันธ์” อายเล่าถึงผลกระทบจากสภาวะนี้

สภาวะช่องคลอดหดเกร็งนี้ไม่ใช้สิ่งที่ไม่สามารถรักษาได้ แต่ต้องได้รับการรักษาที่แก้ปัญหาความกลัวไปด้วย ไม่ใช่รักษาทางกายเพียงอย่างเดียว ซึ่งโดยมากก็จะเริ่มจากการพบแพทย์ จิตแพทย์ หรือนักบำบัด และรักษาโดยการใช้อุปกรณ์ฝึกกล้ามเนื้อช่องคลอดร่วมด้วย

หากคุณลองเสิร์ชคำว่า vaginismus ในเว็บไซต์กระดานสนทนาออนไลน์ชื่อดังของประเทศไทย ก็จะพบผู้หญิงจำนวนหนึ่งที่ร้อนใจจนมาตั้งกระทู้ถามเกี่ยวกับอาการ ทั้งยังมีผู้หญิงที่มาแบ่งปันประสบการณ์อยู่บ้างประปราย ที่น่าสนใจก็คือ ในกระดานสนทนามักจะมีผู้หญิงที่มาแสดงความคิดเห็นว่า เกิดขึ้นกับตัวเองเหมือนกัน แต่ไม่กล้าบอกใคร และส่งผลให้ให้ไม่กล้าหันหน้าแก้ปัญหา บางคนถึงกลับไม่กล้าแตะต้องอวัยวะเพศของตัวเองด้วยซ้ำ

มากไปกว่าตัวเลขสถิติ ปรากฏการณ์หนึ่งที่ทำให้ฉันรู้สึกว่าสภาวะนี้เป็นเรื่อง ‘common’  คือคลิปวิดีโอของบล็อกเกอร์ต่างประเทศในเว็บไซต์ youtube มีผู้หญิงจำนวนมากอัดวิดีโอแชร์เรื่องราว vaginismus ที่ไม่ใช่วิดีโอการแพทย์ แต่เป็นวิดีโอเล่าประสบการณ์ด้วยภาษาง่ายๆ แต่ละคนมีเรื่องราวหลากหลาย บางคนก็ผ่านหลายขั้นตอนกว่าจะค้นพบ ยอมรับ และรักษา  น้ำเสียงของพวกเธอทั้งเป็นประโยชน์ในทางข้อมูลและความรู้สึก เมื่อฟังก็รู้สึกราวกับกำลังเปิดวงสนทนาอีกวงกับคนในจอสี่เหลี่ยม

นอกจากคลิปวิดีโอแล้ว ปัจจุบันมีเว็บไซต์หลายเว็บที่เปิดตัวขึ้น เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับ vaginismus โดยเฉพาะ เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนสำหรับผู้มีปัญหา ให้ข้อมูล คำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ มีหนังสือคู่มือ และอุปกรณ์ฝึกฝนกล้ามเนื้อเพื่อช่วยแก้ปัญหาจำหน่าย เช่น เว็บไซต์ https://www.vaginismus.com/ เจ้าของเว็บไซต์เป็นคู่สามีภรรยาที่ประสบปัญหา vaginismus มาก่อน หรือเว็บไซต์ https://www.thevaginismusnetwork.com/ ที่เจ้าของเว็บไซต์ชื่อว่า Kat Wilson ค้นพบความปกติของเธอตั้งแต่เด็ก ตอนใช้ผ้าอนามัยแบบสอด

ดูเหมือนว่าหนึ่งวิธีที่อาจช่วยรักษาไม่ได้โดยตรง แต่มีผลอย่างมากต่อจิตใจคือการได้แบ่งปันเรื่องราว พูดคุยเกี่ยวกับปัญหาของตัวเอง เพื่อเยียวยาและหาทางแก้ไขในที่สุด แน่นอนว่า การเยียวยานี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากการพูดคุยอย่างเปิดเผยในเรื่องเซ็กซ์ ไม่มีอยู่จริง – สังคมที่ปิดกั้นอาจเป็นตัวแปรที่ชะลอให้การแก้ปัญหาทำได้ช้าลง หรือไม่ได้รับการแก้ไข

นอกจากจะช่วยเยียวยาผู้มีปัญหาแล้ว การพูดคุยยังย้ำว่าปัญหา vaginismus ไม่ใช่สภาวะที่เกิดขึ้นแล้วต้องปล่อยผ่าน แม้มันจะพบได้ทั่วไป หรือใกล้เคียงกับคำบอกล่าที่เรามักได้ยินว่า ‘ครั้งแรกก็จะเจ็บหน่อย’ แต่มันเป็นสภาวะที่เราไม่จำเป็นต้องอดทนกับมัน เราสามารถเข้าใจร่างกายตัวเอง โดยไม่รู้สึกผิดแปลก และในที่สุดก็อาจทวงคืนเซ็กซ์ที่มีความสุขกลับมาได้

บทสนทนากับอายในวันนั้น เพื่อนบางคนที่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์เริ่มอยากกลับไปสำรวจตัวเอง ส่วนคนที่เคยมีเซ็กซ์มาแล้วบางคนก็แสดงความเข้าอกเข้าใจภาวะที่ร่างกายไม่อนุญาตให้สุขสม อายเองก็ได้พูดความไม่สบายใจของตัวเอง และพบว่าไม่มีใครรู้สึกว่าเธอเป็นตัวประหลาดแต่อย่างใด

“กูก็โชกโชนนะ มีเซ็กซ์ไม่ได้ก็มีประสบการณ์เหมือนกัน” อายกล่าวเจือเสียงหัวเราะ

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save