fbpx
ทำไมต้องเลิกเชื่อว่าสุโขทัยเป็นอาณาจักรแรก

ทำไมต้องเลิกเชื่อว่าสุโขทัยเป็นอาณาจักรแรก

สนิทสุดา เอกชัย เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

ทุกวันนี้บ้านเมืองเราติดหล่มลึกทางความคิด ยากที่จะสลัดหลุดออกได้เพราะถูกสั่งสอนมาแต่เกิดว่าเป็นคนดีต้องเชื่อฟัง คือต้องยอมรับสภาพ ไม่ตั้งคำถามอะไรทั้งสิ้น

จะก้าวไปข้างหน้าได้ เราจำเป็นต้องสลัดโซ่ตรวนความคิดที่ทำให้เราสยบกับอำนาจนิยม แต่จะทำอย่างไร จะเริ่มตรงไหน

เริ่มจากตรงนี้ดีไหม ตรงประโยคแรกของเพลงชาติเลย

“ประเทศไทย รวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย”

ที่ต้องเริ่มตรงนี้ ก็เพราะมันไม่ใช่ความจริง

ร้ายกว่านั้นก็คือ เราใช้มายาคตินี้มาเป็นเหตุที่จะอ้างว่าคนไทยเป็นเจ้าของประเทศนี้ แล้วก็เอาเปรียบ กีดกัน กดขี่ผู้คนที่เราเห็นว่าไม่ใช่เชื้อชาติไทยประหนึ่งว่าเรามีเลือดไทยบริสุทธิ์

ขอโทษเถอะ หลอกตัวเองหรือเปล่า

เราภูมิใจว่าเป็นเมืองพุทธที่สอนให้มีเมตตา ไม่ให้เบียดเบียนผู้อื่น แต่เราก็เหยียดเชื้อชาติกันเป็นปกติ

ไม่ต้องแปลกใจ เพราะศาสนาที่แท้จริงของประเทศนี้คือลัทธิชาตินิยมที่เหยียดเชื้อชาติ บูชาชนชั้น เหยียดผิว เหยียดคนจน ไม่ใช่ศาสนาพุทธแต่อย่างไร

ถ้ามายาคตินี้ยังคงอยู่ ถึงจะเปลี่ยนมือผู้ถือครองอำนาจ การกดขี่ การเอารัดเอาเปรียบคนที่อ่อนแอกว่าก็ไม่มีทางหมดไป

ขอที เลิกคิดจะไปเริ่มแก้ไขอะไรในระบบการศึกษา เพราะนี่แหละเครื่องจักรล้างสมองตัวร้าย ฝังหัวประชาชนให้หลงเชื่อลัทธิเลือดไทยเป็นใหญ่ หล่อเลี้ยงระบบอำนาจนิยม ระบบเผด็จการสุดขั้ว รัดตัวเราจนสลัดไม่หลุด

เมื่อเริ่มตั้งคำถามกับ ‘ชาติเชื้อไทย’ ซึ่งไม่มีจริงแล้ว จะทำอย่างไรให้มองเห็น เข้าใจ และเคารพความหลากหลายของชาติพันธุ์ซึ่งเป็นความจริงในพื้นที่ ที่ที่เราเรียกว่าประเทศไทยในเวลานี้

“ก็ต้องเลิกเชื่อว่าสุโขทัยเป็นราชอาณาจักรแรกของประเทศไทยเสียที” ศาสตราจารย์พิเศษ ศรีศักร วัลลิโภดม ปรมาจารย์ทางโบราณคดีและมานุษยวิทยาฟันธง

ไม่ใช่รัฐสุโขทัยไม่สำคัญ หรือไม่ใช่ไทย แต่ความเชื่อเรื่องสุโขทัยเป็นอาณาจักรแรกนี้เป็นผลผลิตของลัทธิชาตินิยมในช่วงที่สยามเผชิญหน้ากับพวกล่าอาณานิคมตะวันตกอย่างหนัก จึงจำเป็นต้องใช้หลักฐานทางโบราณคดีที่พบในสุโขทัยช่วงนั้น มายืนยันว่าสยามเป็นราชอาณาจักรของชนชาติไทต่อเนื่องมาเนิ่นนาน จากสุโขทัย มาอยุธยา จนมาถึงรัตนโกสินทร์ เพื่อให้พวกล่าอาณานิคมต้องยอมรับประวัติศาสตร์และอธิปไตยกรุงสยาม

ในยุคนั้นความเชื่อนี้อาจมีประโยชน์ทางการเมือง ต้านการล่าอาณานิคม รับใช้การสร้างชาติ สร้างรัฐสมัยใหม่ แต่ก็สร้างปัญหามากในเวลาต่อมา

ความเชื่อนี้ทำให้ความรับรู้รากเหง้าของเราหยุดอยู่ที่สุโขทัย เน้นย้ำอยู่กับแต่เรื่องชนชาติไทย เลยไปสาละวนกับการตั้งคำถามว่าคนไทยมาจากไหน ตอนแรกก็ไปเชื่อการเดาของมิชชันนารีว่ามาจากเทือกเขาอัลไตในจีน ถึงกับสอนในหลักสูตรกันเลย แต่ต่อมาโดนตีตกจากหลักฐานต่างๆ ว่า คนที่พูดภาษาไทย อพยพมาจากจีนตอนใต้ ทั้งจากแถบยูนนาน และจากแคว้นกวางสี ผ่านมาทางเวียดนามมาสองฝั่งแม่น้ำโขง

ถึงหลักฐานใหม่จะถูกต้องทางประวัติศาสตร์มากกว่า แต่ก็ยังไม่พ้นเรื่องชนชาติไทย เลือดไทยอยู่ดี

มายาคติเรื่องเชื้อชาติไทย อาณาจักรไทย ทำให้เรามองไม่เห็นความเป็นจริง คือความหลากหลายของชาติพันธุ์ในพื้นที่ ทำให้มองคนลาว เขมร มอญ มุสลิม หรือคนจีน ว่าเป็น ‘คนอื่น’ ทั้งๆ ที่ส่วนมากตั้งรกรากที่นี่มาหลายร้อยปี ทำให้เหยียดชนพื้นเมืองที่อยู่ในป่าหรือชายแดนว่าเป็น ‘คนป่า’ และใช้อำนาจบาตรใหญ่กระทำย่ำยีเขาตามอำเภอใจ เพราะถือว่าไม่ใช่คนไทย

จึงเกิดความขัดแย้ง บ้านเมืองร้อนระอุ ปะทุเป็นความรุนแรง ผู้คนล้มตายไปมากมาย เพราะการเหยียดชาติพันธ์ุอื่นนี่แหละ

มายาคติเรื่องอาณาจักรรวมศูนย์ ยังกดทับประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ทำลายความมั่นใจในตัวตนและวัฒนธรรมของคนในพื้นที่ บังคับให้ท้องถิ่นมองไปยังศูนย์กลางอำนาจแต่อย่างเดียว

ประชาธิปไตย หรือการกระจายอำนาจเกิดยากก็เพราะอำนาจวัฒนธรรมครอบงำแบบนี้แหละ

และยังมีคำถามอีกว่าก่อนหน้าสุโขทัย ดินแดนนี้ไม่มีบ้านเมืองมาก่อนเลยหรือ โครงกระดูกที่ขุดค้นพบตามแหล่งโบราณคดีทั่วประเทศล่ะ เก่าแก่เป็นพันๆ ปี เป็นใครกัน มีความเป็นมาอย่างไร สำคัญไหมว่าต้องเป็นคนไทย

จะคลี่คลายมายาคติเรื่องอาณาจักรสุโขทัยได้ก็ต้องเข้าใจว่ารัฐโบราณมีลักษณะอย่างไร

“การเป็นอาณาจักรไม่ใช่หมายถึงแค่การเป็นรัฐขนาดใหญ่ แต่ต้องเป็นรัฐที่สามารถแผ่ขยายอำนาจรวมศูนย์ออกไปปกครองรัฐอื่นๆ โดยตรงอย่างเป็นระบบ ถึงจะเรียกว่าเป็นอาณาจักร” อาจารย์ศรีศักรอธิบาย

ในความหมายนี้ อาณาจักรแรกของไทยคืออาณาจักรอยุธยาในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เพราะพระองค์เป็นผู้ที่ปฏิรูปการปกครอง สร้างระบบราชการเป็นเครื่องมือในการปกครองส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และประเทศราช จากศูนย์กลางอำนาจโดยตรง และครอบคลุมไปจนถึงระดับท้องถิ่

สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ยังทรงเป็นผู้เริ่มระบบศักดินาเพื่อลำดับชั้นเจ้านายและขุนนางอย่างเป็นระบบ เริ่มแยกฝ่ายทหารและพลเรือนออกจากกันเพื่อประสิทธิภาพ ระบบราชการนี้ทำให้อยุธยากลายเป็นอาณาจักรมีอำนาจครอบคลุมหัวเมืองน้อยใหญ่อย่างอย่างเข้มแข็ง เป็นระบบที่ใช้ต่อมาจนถึงรัชกาลที่ 5 ซึ่งทรงยกเลิกระบบเจ้าเมือง แทนด้วยระบบมณฑลและจังหวัดเพื่อรวมศูนย์ให้ภูมิภาคขึ้นตรงกับอำนาจกรุงเทพฯ มากขึ้น และเพื่อกำหนดดินแดนให้ชัดเจนในยุคล่าอาณานิคม

ก่อนหน้าสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ สุโขทัย อยุธยา ละโว้ สุพรรณบุรี พิษณุโลก และเมืองอื่นๆ ล้วนแต่เป็นรัฐอิสระที่รวมตัวกันเพียงหลวมๆ เป็นพันธมิตรทางการเมืองกัน ผูกพันกันทางเครือญาติโดยการส่งลูกสาวไปแต่งงานกับเจ้าเมืองต่างๆ แล้วขยายความสัมพันธ์เป็นแว่นแคว้น

อำนาจของแต่ละรัฐในแต่ละช่วงก็ขึ้นอยู่กับบารมีส่วนตัวของเจ้าเมือง ที่ตั้งของเมือง หรือความเจริญรุ่งเรืองที่มาจากการค้า ถ้าเส้นทางการค้าเปลี่ยน ลักษณะที่ตั้งเปลี่ยน เช่นแม่น้ำเปลี่ยนเส้นทาง อำนาจก็เสื่อมไปด้วย

ลักษณะการรวมตัวแบบสหพันธรัฐหลวมๆ นี้ เรียกว่าระบบ mandala ซึ่งเป็นลักษณะรัฐโบราณของภาคพื้นตะวันออกเฉียงใต้โดยทั่วไป และสยามโบราณก็เป็นเช่นนี้เช่นกัน

บทสรุปนี้มาจากการที่อาจารย์ศรีศักรใช้เวลาทั้งชีวิตเดินทางทั่วประเทศ เพื่อศึกษาการสร้างบ้านแปงเมืองในยุคโบราณ การตั้งถิ่นฐานของผู้คน การพัฒนาการจากหมู่บ้านเป็นชุมชน เป็นเมือง เป็นแว่นแคว้น ซึ่งต้องพิจารณาปัจจัยทางภูมิศาสตร์ หลักฐานทางโบราณคดี ความสัมพันธ์ทางเครือญาติกับเมืองรอบๆ เส้นทางการค้าในสมัยนั้น ตลอดทั้งนิทานพื้นบ้าน ซึ่งเป็นความทรงจำร่วมของท้องถิ่นที่ถ่ายทอดกันมา สะท้อนให้เห็นความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในบริเวณนั้น

คือดูจากความเป็นจริงในพื้นที่ ไม่ใช่เชื่อตามประวัติศาสตร์ชาติที่สอนกันในห้องเรียน

ปีนี้อาจารย์ศรีศักดิ์ อายุ 81 แล้ว แต่ก็ยังไม่ละความพยายามจะเผยแพร่ประวัติศาสตร์ที่ก้าวข้ามลัทธิชาตินิยม เมื่อการท่องเที่ยวเป็นที่นิยมนัก อาจารย์ก็ริเริ่มการนำผู้ที่สนใจไปเที่ยวทางวัฒนธรรมเพื่อให้เข้าใจรัฐโบราณ สรุปสิ่งที่อาจารย์ศึกษามาตลอดชีวิตให้เราเห็นด้วยตนเอง

ล่าสุดคือการนำไปศึกษากลุ่มรัฐศรีจนาศะ สมัยทวารวดี ซึ่งอยู่ในระหว่างพุทธศตวรรษที่ 12-15 ส่วนรัฐสุโขทัยนั้นอยู่ในพุทธศตวรรษที่ 18

ทวารวดีเป็นวัฒนธรรมที่มากับเส้นทางการค้าทางทะเลข้ามคาบสมุทรระหว่างอินเดียกับจีน ศูนย์กลางเส้นทางการค้าฝั่งอ่าวไทยคือนครชัยศรี ซึ่งเป็นประตูนำวัฒนธรรมพุทธมหายานเข้ามาสุวรรณภูมิ

ศรีจนาศะเป็นแว่นแคว้นที่อยู่ลึกเข้ามาในแผ่นดิน ประกอบด้วยละโว้ ศรีเทพ และเสมา มั่งคั่งด้วยเส้นทางการค้าที่ต่อกับนครชัยศรี และรับวัฒนธรรมทวารวดีจากนครชัยศรีมาส่งต่อให้ดินแดนภายในอีกต่อหนึ่ง

ละโว้หรือลพบุรีเด่นอย่างยิ่งในเรื่องภูมิศาสตร์ที่เหมาะกับการสร้างบ้านเมือง เป็นที่รวมของแม่น้ำหลายสายและยังมีทางติดต่อไปยังเมืองอื่นได้ง่าย จึงดำรงคงอยู่ต่อเนื่องมาทุกยุคทุกสมัย ส่วนศรีเทพและเสมาอยู่ในเส้นทางที่ต่อกับที่ราบสูงและเดินทางต่อไปได้ถึงจักรวรรดิเขมรโบราณ จึงทั้งเป็นที่รับและส่งต่อวัฒนธรรมทวารวดีและวัฒนธรรมขอมให้กับเมืองอื่นๆ แต่เมื่อเส้นทางการค้าเปลี่ยน ทั้งศรีเทพและเสมาก็เสื่อมอำนาจไปด้วย

โบราณวัตถุในรัฐทั้งสาม สะท้อนให้เห็นความหลากหลายของวัฒนธรรมที่อยู่ร่วมกัน การวางผังเมืองและจัดการระบบน้ำของศรีเทพและเสมาในที่แล้ง แสดงให้เห็นอัจฉริยะภาพคนโบราณ เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่คนลืมเลือน

รัฐโบราณเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่เติบโตจากแหล่งโบราณที่สืบกลับไปได้เป็นพันๆ ปี เห็นได้จากแหล่งก่อนประวัติศาสตร์ในพื้นที่ แสดงให้เห็นถึงความหลากหลายของผู้คน หลากหลายวัฒนธรรม หลายชนชาติ ที่ล้วนมีส่วนในการสร้างบ้านเมืองร่วมกัน อยู่ร่วมกันโดยสันติ

นอกจากรัฐศรีจนาศะ ผู้เขียนมีโอกาสตามอาจารย์ศรีศักรไปจันทบุรี ซึ่งไม่ใช่มีแต่เรื่องพระเจ้าตากทุบหม้อข้าวตีเมืองจันท์ หรือการต่อสู้กับฝรั่งเศสในสมัยรัชกาลที่ 5 อย่างที่รับรู้กันในประวัติศาสตร์ชาตินิยม

ตัวเมืองจันทบุรีนั้นเป็นเมืองท่าสำคัญเก่าแก่ถอยหลังไปถึงสมัยอาณาจักรจาม มีโบราณสถานโบราณวัตถุเหลืออยู่ให้เห็น สังคมมีความหลากหลายของวัฒนธรรมแต่โบราณ เห็นได้จากกุโบร์เก่าของเจ้าเมืองที่เป็นมุสลิม เมื่อคนจีนและญวนจากเวียดนามอพยพมาอยู่ภายหลัง ได้นำเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามา และเป็นแรงสำคัญของการสร้างบ้านเมืองจันทบุรีในยุคสมัยใหม่

เมื่อเร็วนี้ๆ ผู้เขียนได้พาเพื่อนต่างประเทศไปอยุธยา ได้ยินเสียงไกด์หลายคนเล่าเรื่องพม่าเผาเมืองจนแหลกลาญ เผาวัดเผาพระลอกทองไปพม่า จริงแค่ไหนไม่สนใจ ก็เรียนมาให้ตอกย้ำความเกลียดเพื่อนบ้านแบบนี้

เมื่ออาจารย์นำกลุ่มผู้สนใจไปอยุธยา ไม่มีเรื่องแบบนี้

อาจารย์พาไปตั้งคำถามว่าอยู่ๆ พระเจ้าอู่ทองก็ย้ายเมืองมาสร้างอยุธยาหรือไร หลวงพ่อโตวัดพนัญเชิงเป็นหลักฐานว่าอโยธยาเป็นเมืองเก่ามาก่อน มีการค้าเจริญรุ่งเรืองกับเมืองจีนก่อนพระเจ้าอู่ทองมาสถาปนาอยุธยาตามที่เรียนๆ กันมา ภาพวาดฝาผนังที่วัดประดู่ทรงธรรมก็แสดงให้เห็นถึงความหลากหลายของผู้คนหลายเชื้อชาติ จากการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศ สะท้อนถึงวัฒนธรรมที่เปิดกว้าง ไม่กีดกันผู้อื่น เป็นสมบัติทางวัฒนธรรมที่เราต้องรักษา

ในเดือนธันวาคมที่จะถึงนี้ อาจารย์ศรีศักรและมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ก็จะพาผู้ที่สนใจไปเพชรบุรี เมืองท่าสำคัญตั้งแต่สมัยทวารวดี ไปตั้งคำถามว่าทำไมเพชรบุรีถึงมีปราสาทหิน อะไรเป็นทรัพยากรสำคัญของเมืองเพชร และนิทาน ‘ตาม่องล่าย’ สะท้อนให้เห็นเส้นทางการค้าทางทะเล การเข้ามาของคนต่างถิ่น และความสัมพันธ์กับชุมชนชายฝั่งทะเลแถบนี้อย่างไร ถ้าสนใจก็ติดต่อทางมูลนิธิได้

หลายครั้งผู้เขียนสิ้นหวังกับความย้อนยุคของบ้านเมืองทุกวันนี้ แต่ก็ต้องละอายใจเมื่อเห็นพลังของคนวัย 81 ที่ตีโจทย์แตก และยังคงมุ่งมั่นในการช่วยสังคมให้เข้าใจอดีต อดีตที่ผู้คนหลากหลายวัฒนธรรมสร้างบ้านเมืองร่วมกันมา เปิดกว้างทางวัฒนธรรม และอยู่ร่วมกันอย่างสันติ  เข้าใจอดีต เพื่อจะเข้าใจว่าเราหลงทางกันอย่างไรในปัจจุบัน

ถ้าปลดประวัติศาสตร์จากโซ่ตรวนของลัทธิชาตินิยมที่มากับอำนาจรวมศูนย์ได้ ท้องถิ่นก็จะเข้มแข็ง ความภูมิใจในรากเหง้าวัฒนธรรมจะเป็นแรงผลักให้เกิดการกระจายอำนาจ ประชาธิปไตยก็จะเป็นไปได้ และเราก็คงไม่ต้องสิ้นหวังกับบ้านนี้เมืองนี้อีกต่อไป

 

_______________________

ป.ล.ถ้าสนใจติดตามอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ไปเพชรบุรี ดูข้อมูลได้ที่ https://drive.google.com/open…

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save