fbpx
ทำไมเราไม่มีความสุขเท่าที่เราคิด : คุยเศรษฐศาสตร์ความสุขกับ ณัฐวุฒิ เผ่าทวี

ทำไมเราไม่มีความสุขเท่าที่เราคิด : คุยเศรษฐศาสตร์ความสุขกับ ณัฐวุฒิ เผ่าทวี

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย และ สมคิด พุทธศรี เรื่อง

เมธิชัย เตียวนะ ภาพ

คำถามสามัญอย่าง ทำไมเราไม่มีความสุข, ความสุขของชีวิตคืออะไร, เงินซื้อความสุขได้ไหม ฯลฯ แม้จะเป็นคำที่เราได้ยินกันจนชินหู แต่ก็ใช่ว่าจะมีคำตอบที่ชัดเจนตายตัว

ในวันที่โลกนับถือความเป็นเหตุเป็นผล และเชื่อว่าทุกอย่างอธิบายได้ คำว่า ‘ความสุข’ ย่อมไม่อาจหลีกหนีการนิยาม แม้จะดูเป็นคำที่เลื่อนลอยและตีความได้หลายแบบ แต่ความสุขก็เป็นคำที่ได้รับการค้นคว้าและตรวจสอบทุกซอกทุกมุมมากที่สุดคำหนึ่ง

ความสุข เข้าไปอยู่ในทุกศาสตร์ ทั้งปรัชญา จิตวิทยา วิทยาศาสตร์ และไม่เว้นแม้แต่เศรษฐศาสตร์

เศรษฐศาสตร์ความสุข กลายเป็นศาสตร์ที่น่าจับตามอง เมื่อเอา 2 คำ ที่ทั้งเหมือนและต่างมารวมกันได้อย่างน่าตื่นตา หากเป้าหมายของเศรษฐศาสตร์คือความมั่งคั่ง และการเอาทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ความสุขก็คงเหมือนนกที่บินหนีกรงกติกา เพราะช่างเปราะบางและไม่แน่นอน

เราจะวัดความสุขได้อย่างไร ความสุขเป็นเรื่องสากลไหม ต้นทุนของความสุขมาจากไหน แล้วเราใช้จ่ายความสุขได้ด้วยอะไร คือคำถามที่เศรษฐศาสตร์ความสุขอาจมีคำตอบ ซึ่งทั้งหมดล้วนซ้อนทับอยู่กับเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมที่ศึกษาการตัดสินใจของมนุษย์ — มนุษย์ที่ไร้เหตุผลอย่างน่าเหลือเชื่อ

101 นัดคุยกับ เบียร์ – ณัฐวุฒิ เผ่าทวี นักวิชาการไทยคนแรกที่ศึกษาเรื่องเศรษฐศาสตร์ความสุขอย่างลึกซึ้ง ปัจจุบันเขาเป็นศาสตราจารย์วิจัย Behavioural Science ที่ Warwick Business School โคเวนทรี ประเทศอังกฤษ ทั้งยังเป็นเจ้าของหนังสือ The Happiness Equation: The Surprising Economics of Our Most Valuable Asset และอีกหลายเล่มที่ตีพิมพ์เป็นภาษาไทย เช่น ทุกพฤติกรรมมีความเสี่ยง โปรดอย่าลำเอียงก่อนตัดสินใจ, พฤติกรรมความสุข ฯลฯ ทั้งหมดว่าด้วยความสุขในมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ที่น่าตื่นใจ

ก่อนหน้านี้เขาจบปริญญาตรีที่คณะเศรษฐศาสตร์และการจัดการที่มหาวิทยาลัยบรูเนล (Brunel University) และปริญญาโท-เอกทางด้านเศรษฐศาสตร์ความสุขกับเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม ที่มหาวิทยาลัยวอร์ริค (University of Warwick)

เขาอยู่กับความสุขทุกวัน แม้จะมีบางวันที่ไม่ค่อยมีความสุขบ้างอย่างที่มนุษย์เป็น เราชวนเขาคุยยาวๆ ว่าด้วยเรื่องความสุข ความทุกข์ ความเหลื่อมล้ำ ความไร้เหตุผลของมนุษย์ และความงามของการพาสุนัขไปเดินเล่น

หวังว่าบทสนทนาถัดจากนี้จะทำให้คุณมีความสุขไม่มากก็น้อย

ทำไมเราไม่มีความสุขเท่าที่เราคิด : คุยเศรษฐศาสตร์ความสุขกับ ณัฐวุฒิ เผ่าทวี

คุณเริ่มสนใจเรื่องเศรษฐศาสตร์ความสุขได้อย่างไร

ตอนแรกไม่ได้คิดว่าจะเรียนเศรษฐศาสตร์เลยตั้งแต่ปริญญาตรี ก็คงเหมือนเด็กทั่วไป ไม่รู้ว่าจะทำอะไร เคว้ง ตอนแรกอยากเรียน computer science มาก แต่แม่บอกว่าอย่าเรียนเลย เพราะว่าเบียร์ไม่น่าจะเป็นคนที่ชอบอ่านหนังสือ แล้ว computer science พัฒนาตลอด เราคงตามเขาไม่ทัน เรียนเศรษฐศาสตร์ดีกว่า

ตอนแรกก็ไม่รู้เรื่อง สอบผ่านบ้าง ไม่ผ่านบ้าง แต่พอสอบเข้าไปเรียนปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยวอร์ริค ได้ทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับเรื่อง computable general equilibrium เป็นเศรษฐศาสตร์จ๋าๆ เลย แบบดั้งเดิมมากๆ คือมีข้อสันนิษฐานนู่นนี่ว่าระบบเศรษฐกิจทำงานยังไง ทำไมมนุษย์ต้องเป็นแบบนี้ รัฐบาลต้องเป็นแบบนี้ ตั้งภาษีแบบนี้ ผลออกมาแบบนี้ ซึ่งผมรู้สึกว่าข้อสันนิษฐานแต่ละอันไม่ค่อยเมคเซนส์เลย มันค่อนข้างตายตัว ไม่ค่อยบันดาลใจผมเท่าไหร่

เป็นเศรษฐศาสตร์ที่ดูไม่ค่อยมีความเป็นมนุษย์เท่าไหร่ ?

ใช่ เรารู้สึกว่ามนุษย์ไม่ได้มีเหตุผลมากขนาดนั้น แต่ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่กลับมีข้อสันนิษฐานว่ามนุษย์ต้องมีเหตุผลนะ ก่อนจะตัดสินใจต้องอย่างนี้นะ ผมก็ทำไป เพราะตอนนั้นเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมยังไม่บูม ส่วนเศรษฐศาสตร์ความสุขนี่ไม่มีใครทำเลย ไม่มีใครเคยได้ยินเลย จนกระทั่งผมไปเจออาจารย์คนหนึ่งที่วอร์ริค ชื่อ Andrew Oswald เขาเป็นโปรเฟสเซอร์ที่มีชื่อเสียงมากที่อังกฤษ เป็นคนแรกของอังกฤษที่ทำวิจัยเรื่องความสุขของคน เอาข้อมูลความสุขของคนมาดู แล้ววิจัยว่าอะไรบ้างที่ทำให้คนมีความสุข

ตอนนั้นผมคิดว่า เฮ้ย น่าสนใจ แปลกดี แต่ไม่มีใครในคณะเศรษฐศาสตร์ที่วอร์ริคสนับสนุนให้ผมทำเลย เขาบอกว่าที่แอนดรูว์ทำได้ เพราะเขาเป็นโปรเฟสเซอร์ไปแล้ว เขาทำเรื่องอื่นจนหมดแล้ว เลยทำโปรเจ็กต์ของเขาได้ ฉะนั้นเราอย่าทำดีกว่า แต่ตอนนั้นผมเคว้งมาก เรียนปริญญาเอกไปได้ 4 เดือน อาจารย์บอกว่าผมไม่ควรต่อเอก เพราะเขาไม่คิดว่าผมเก่งพอ เขียนวิจัยมาไม่ตรงใจเขา ผมก็เลยบอกว่า งั้นผมขอเปลี่ยนดีกว่า เปลี่ยนจาก computable general equilibrium ไปทำเรื่องความสุข ก็เริ่มต้นจากตรงนั้น

แล้วพอไปคุยกับแอนดรูว์ครั้งแรก เขาก็รับ บอกว่าโอเค อยากทำก็ทำ เขาเรียกผมว่านิค “นิค คุณเอาข้อมูลความสุขคนแอฟริกาใต้ไปดูนะ ดูอัตราอาชญากรรม แล้วดูความสัมพันธ์มา” พอผมเอาผลให้แอนดรูว์ดู เขาบอกว่า “นิค ยูรู้มั้ย ยูเป็นคนเดียวในโลกนะที่กำลังทำเรื่องนี้อยู่” โห ตอนนั้น จากคนที่โดนบอกว่า คุณควรจะเลิกเรียนเอก กลายเป็น ยูเป็นคนเดียวในโลกที่ทำเรื่องนี้อยู่ เลยคิดว่ามาถูกทางแล้ว เราทำในเรื่องที่คนอื่นไม่ทำแล้ว ไม่ได้สนใจว่าศาสตร์นี้จะไปไกลขนาดไหน เราแค่สนใจว่าสนุกรึเปล่า

ความสุขทางเศรษฐศาสตร์สำคัญอย่างไร ทำไมต้องหยิบขึ้นมาศึกษาอย่างจริงจังขนาดนั้น

ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์คนหนึ่ง เราถูกสอนมาตลอดว่า เศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องเกี่ยวกับอรรถประโยชน์ของคน มนุษย์ทุกคนต้องการได้รับอรรถประโยชน์สูงสุด (maximize utility) เราก็เลยต้องหาว่า คุณต้องมีเงินเท่านี้นะ คุณต้องบริโภคเท่านี้นะ แต่ไม่เคยมีใครให้นิยามว่าอรรถประโยชน์นี้คืออะไร จนกระทั่งมาพบกับความสุขในนิยามที่แอนดรูว์ทำ เขาวัดความสุขจากความพึงพอใจในชีวิต ความสุขในแต่ละวัน หรือคิดว่าชีวิตเรามีความหมายมากน้อยขนาดไหน ผมรู้สึกว่ามันเป็นนิยามที่เราสื่อสารได้ แทนคำว่าอรรถประโยชน์

พอเรามารู้ว่า ถ้าอรรถประโยชน์คือความสุขที่วัดได้ โอ้โห งั้นเราก็ใช้หาคำตอบได้ตั้งหลายอย่าง เช่น เราไม่เคยรู้มาก่อนว่าเงินซื้อความสุขได้ไหม หรือเราเลือกเส้นทางชีวิตถูกต้องหรือยัง ทำให้เปิดโลกว่าเรามีคำถามเยอะมาก ที่เกี่ยวกับตัวเราด้วย เช่น เราควรจะแต่งงานมั้ย ควรจะมีลูกมั้ย หรืออะไรเป็นสิ่งสำคัญที่สุดกับความสุขของเรา ระหว่างเงินหรือการมีเพื่อนที่ดี

แต่คำถามที่สำคัญที่สุดในตอนนั้นก็คือ ถ้าเรารู้ว่าอะไรทำให้เรามีความสุข แต่ทำไมเราถึงไม่มีความสุขเท่าที่เราคิด ทำไมสิ่งที่เราเลือก บางทีกลับไม่ทำให้เรามีความสุข หรือสิ่งที่เราไม่ได้เลือก กลับทำให้เรามีความสุขได้ นั่นคือแรงบันดาลใจในตอนแรกๆ ที่ส่งผลให้ทำเรื่องความสุขมาเรื่อยๆ

ปกติคุณเป็นคนมีความสุขง่ายอยู่แล้วรึเปล่า

ต้องบอกก่อนว่าคนเรามีปัจจัยที่เป็นตัวทำนายความสุขแตกต่างกัน หนึ่ง คือปัจจัยภายนอก เช่น เงิน พวกนี้จะมีพลังในการอธิบายความสุขของเราประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ อีก 30 เปอร์เซ็นต์ เป็นทัศนคติของเรา และอีก 50 เปอร์เซ็นต์เป็นยีน เหมือนว่า 50 เปอร์เซ็นต์นั้นเราถูกลอตเตอรี่มารึเปล่า เขาเรียกว่า genetic lottery แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเรามีความสุขไม่ได้

คนเราเกิดมา แต่ละคนมีลักษณะบุคลิกภาพใหญ่ 5 อย่าง (big five personality traits) ประกอบด้วย  ความสนใจต่อสิ่งภายนอก (extroversion), ความยินยอมเห็นใจ (agreeableness), ความพิถีพิถัน (conscientiousness), ความเปิดรับประสบการณ์ (openness to experience) และ ความไม่เสถียรทางอารมณ์ (neuroticism) แต่ตัวที่บ่งบอกจริงๆ ว่าเราจะมีหรือไม่มีความสุขคือ ความไม่เสถียรทางอารมณ์ แต่ละวันเราเป็นคนที่อ่อนไหวกับการกังวลมากน้อยขนาดไหน ถ้าความไม่เสถียรทางอารมณ์ของเราสูง โอกาสที่เราจะมีความสุขทุกวันก็น้อยกว่าคนปกติ ซึ่งผมโชคดีที่มีความไม่เสถียรทางอารมณ์ต่ำ สนใจต่อสิ่งภายนอกหน่อย ก็เลยโชคดี

คุณบอกว่าปัจจัยภายนอกอธิบายความสุขได้ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง ที่เหลือเป็นเรื่องปัจจัยภายใน แต่ธรรมชาติของนักเศรษฐศาสตร์ต้องเข้าไปเปลี่ยนอะไรบางอย่าง เช่น ทำให้คนรวยขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยภายนอกหมดเลย แล้วอย่างนี้พลังในฐานะกฎเกณฑ์ที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรของเศรษฐศาสตร์จะน้อยลงไหม

ไม่ได้น้อยลงนะ เพราะการเปลี่ยนปัจจัยภายนอกเพื่อไปเปลี่ยนปัจจัยภายในก็มีด้วย เช่น เรารู้ว่าความสัมพันธ์ระหว่าง รายได้ กับ ความสุขที่เรามี เป็นความสัมพันธ์ที่ต่ำมาก เมื่อเทียบกับความสุขที่เราได้จากการอยู่กับคนที่เราชอบ หรือการมีสุขภาพที่ดี แต่ถ้านักเศรษฐศาสตร์บอกว่า ถ้าอย่างนั้นก็ไม่ควรเพิ่มรายได้ให้คนสิ เพราะการเพิ่มรายได้ไม่ได้ทำให้คนมีความสุขเพิ่มขึ้น ผมบอกว่า ไม่ใช่ ถ้าเงินไม่ได้ทำให้คุณมีความสุข แสดงว่าคุณใช้เงินไม่เป็น

ยกตัวอย่างงานวิจัยของไมเคิล นอร์ตัน เขาบอกว่า ถ้าเราถูกลอตเตอรี่แล้วจะเอาเงินไปทำอะไร ซื้อรถสวยๆ ซื้อบ้านหรูๆ แต่จริงๆ การใช้เงินกับสิ่งของแบบนี้ เราจะได้ความสุขจากตรงนั้นน้อยมาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าเราเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่นก่อน สมมติเราซื้อไอโฟนอันใหม่ มีความสุขมากวันแรก แต่พอถึงวันนึง เฮ้ย ทุกคนก็มีหมดเลยว่ะ ความสุขที่เราได้จากไอโฟนก็จะหายไปภายในวันเดียว

หรืออย่างบ้าน มีใครบ้างที่ซื้อบ้านมาแล้วคิดถึงบ้านทุกวัน บ้านที่เราอยู่สุดยอดเลย แป๊บนึงเราก็ปรับตัวได้ เขาก็เลยแนะนำว่า ถ้าเราอยากจะเพิ่มความสัมพันธ์ที่เรามีระหว่างเงินกับความสุข เราต้องใช้ให้เป็นด้วยการไปมีปฏิสัมพันธ์กับปัจจัยภายใน เช่น เอาเงินไปเที่ยวกับคนที่เรารัก ความสุขที่เราได้จากตรงนั้นเยอะกว่ามาก เพราะเป็นสิ่งที่เราคิดถึงอยู่ตลอด ไม่เหมือนซื้อบ้าน ซื้อแล้วเราก็ไม่นึกถึงบ้านแล้ว แต่การไปเที่ยวกับเพื่อน เฮ้ย เราพูดคุยกัน จำได้มั้ย สนุกมาก ก็ยังเป็นการพูดคุยกันไปเรื่อยๆ นั่นเป็นการเพิ่มความสัมพันธ์ระหว่างเงินกับความสุข

ทำไมเราไม่มีความสุขเท่าที่เราคิด : คุยเศรษฐศาสตร์ความสุขกับ ณัฐวุฒิ เผ่าทวี

ในฐานะที่ทำเรื่องความสุข แล้วมีข้อสรุปในการอธิบายความสุขแบบนี้ เคยโดนคนที่ไม่ได้ศึกษาเรื่องนี้บอกว่าเป็นเรื่องที่ได้ยินจนชินมั้ย เช่น ก็แน่สิ คนก็พูดกันมาตั้งนานแล้วว่าเงินไม่ได้ทำให้เรามีความสุข การมีเวลากับคนที่เรารักต่างหากที่มีความสุข ทำไมต้องไปศึกษาจริงจังด้วย ก็เป็นเรื่องสามัญสำนึกอยู่แล้ว

มีบ่อย ขนาดภรรยาผมยังพูดเลยว่า “You study the obvious.” (คุณศึกษาเรื่องที่มันชัดเจนอยู่แล้ว) ผมก็บอกว่า ไม่นะ เพราะเราไม่เคยมีการพิสูจน์มาก่อนว่าที่เราคิดนั้นจริงหรือไม่จริง เพราะบางอย่างก็ไม่จริงอย่างที่เราคิด แล้วการได้ข้อมูลความสุขมาวิจัยจริงๆ เราสามารถบอกได้เลยว่า ความสุขจากการแต่งงานมีราคาเท่าไหร่ เช่น คุณคนที่ยังไม่แต่งงานมีความสุขเท่านี้ กับ คุณคนที่แต่งงานแล้วมีความสุขเท่านี้ ผมสามารถบอกได้ว่า ผมจะต้องให้เงินคุณคนที่ไม่ได้แต่งงานเท่าไหร่ เพื่อที่จะให้คุณมีความสุขเทียบเท่าคุณที่แต่งงานแล้ว

เรามีข้อมูลความสุข ให้สองคนมีทุกอย่างเท่ากันหมดเลยทั้งเงิน สุขภาพ การงาน ต่างกันตรงที่แต่งกับยังไม่แต่งงาน ผลออกมาว่า โดยเฉลี่ยคนที่แต่งงานแล้วมีความสุขมากกว่าคนที่ยังไม่ได้แต่งงาน ประมาณ 0.5 สเกลความสุข แล้วสมมติว่าเงิน 1,000 ปอนด์ซื้อความสุขได้ประมาณ 0.02 สเกล เพราะฉะนั้นโดยหลักการ เราสามารถบอกได้ว่า ต้องเพิ่มเงินเท่าไหร่เพื่อให้คนที่ยังไม่แต่งงานมีความสุขเท่ากับคนที่แต่งงานแล้ว ตัวเลขออกมาประมาณ 25,000 ปอนด์ต่อปี

เวลาเราบอกว่าความสุขมีตัวชี้วัด มีอัตราของมัน แล้วความสุขมีคะแนนตั้งแต่เราเกิดเลยมั้ย หรือต้องไปสะสมจากที่อื่น ตัวเลขความสุขค่อยขึ้นมา

มีทฤษฎีหลายอย่างทั้งทางจิตวิทยา ทางเศรษฐศาสตร์ ที่ตั้งคำถามว่าเราสะสมความสุขมาตั้งแต่เกิดรึเปล่า ก็มีทฤษฎีที่บอกว่าใช่ ตรงที่ว่าเราสะสมปัจจัยของความสุข เรียกว่า Hedonic Capital คล้ายๆ กับทุนทางด้านการเงิน แต่เป็นทุนที่ทำให้เรามีความสุขมากน้อยขนาดไหน เช่น สิ่งแวดล้อมที่ดี การศึกษาที่ดี ถ้าเรามีเยอะ เราอาจจะมีความสุขได้สูง แล้วถ้าสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตทำให้เราต้องเสียใจ เราสามารถไปดึงเอาทรัพยากรจาก Hedonic Capital มาเพิ่มให้เรามีความสุขเท่าเดิมได้

แต่ถ้าถามผม ความสุขแต่ละนิยามของช่วงชีวิตอาจจะแตกต่างกันด้วย ถ้าเราไปถามเด็กว่า คุณมีความพึงพอใจกับชีวิตมากน้อยขนาดไหน เด็กอาจจะไม่เข้าใจก็ได้ นิยามความสุขของเด็กอาจจะเป็นว่าวันนี้หัวเราะมากหรือหัวเราะน้อยแค่นั้นเอง

แต่ถ้าโตมาหน่อย มีการวัดความสุขได้ 3 แบบ หนึ่ง ความสุขระยะสั้น (effective well-being) ว่าในแต่ละวัน เราหัวเราะมากน้อยแค่ไหน ยิ้มมากน้อยขนาดไหน กังวลมากน้อยขนาดไหน ขึ้นอยู่กับว่าเราใช้ชีวิตในแต่ละวันยังไง เช่น วันนี้เรามาคุยกันแล้วสนุก นั่นคือความสุขระยะสั้นในแต่ละวัน

มิติที่สองคือ ความสุขระยะยาว หรือความพึงพอใจในชีวิต (cognitive well-being) ขึ้นอยู่กับว่า ในวัยของเรา เรามีอะไรในชีวิตที่คิดว่าอยากจะมีหรือยัง เราทำในสิ่งที่อยากจะทำหรือยัง แล้วตรงกับความคาดหวังของเรามากน้อยขนาดไหน ถ้าความเป็นจริงต่ำกว่าความคาดหวัง เราก็อาจจะไม่ค่อยพอใจกับชีวิตเท่าไหร่ ถ้าสูงกว่าเราอาจจะพอใจมากกว่านั้น ส่วนใหญ่ปัจจัยนี้ขึ้นอยู่กับการทำงาน การเงิน สุขภาพ ว่าเรารวยมากกว่าคนอื่นขนาดไหน หรือสุขภาพเราดีขนาดไหน

มิติที่สามคือ ความสุขระยะยาวที่สุด คือยาวทั้งชีวิตเลย นั่นคือความหมายของชีวิต เราคิดว่าชีวิตเรามีความหมายมากน้อยขนาดไหน มิตินี้ขึ้นอยู่กับว่าเราใช้ชีวิตอย่างคุ้มค่ารึเปล่า ทำประโยชน์ให้กับสังคมรึเปล่า ทำประโยชน์กับคนที่เรารักรึเปล่า ซึ่งตัวทำนายของตัวนี้อาจจะไม่ค่อยเกี่ยวกับว่าวันๆ นึงเรามีความสุขมากขนาดไหน เช่น การเลี้ยงลูก

จริงๆ คนเราไม่ค่อยมีความสุขเลยในการเลี้ยงลูกแต่ละวัน มีผลบอกว่าการเลี้ยงลูกมีความสุขมากกว่าการเดินทางไปทำงานตอนเช้าแค่นิดเดียว คนที่มีลูกไม่ได้มีความพอใจในชีวิตมากน้อยไปกว่าคนที่ไม่มีลูก แต่ความหมายของชีวิตเยอะเหลือเกิน ที่เราได้เลี้ยงดูลูก

ทุกคนในโลก ต้องการจะหาสมดุลระหว่าง 3 มิตินี้ อะไรที่สำคัญกับเรา อะไรที่อยากเติมให้เต็ม

เวลาคุยกับคนที่มีลูก เขาก็จะบอกว่าคุณไม่เข้าใจหรอก การมีลูกคือสุดยอดของชีวิต

เรามาดูที่ข้อมูลก่อน ผมจะพูดจากหลักฐานทั้งหมด ไม่ได้พูดจากประสบการณ์ส่วนตัว เวลาเราไปถาม 100 คน ว่าลูกทำให้คุณมีความสุขในชีวิตมั้ย ประมาณ 98 คนบอกว่า มี คือไม่สามารถกลับไปคิดว่าชีวิตที่ไม่มีลูกคืออะไร แต่พอเราไปวัดความสุขของคน 100 คนนั้น โดยที่ไม่ได้ถามเกี่ยวกับลูกเลย ว่าคุณมีความพึงพอใจในชีวิตมากน้อยขนาดไหน ผลคือการมีลูกหรือไม่มีลูกไม่แสดงในตัววัดนั้นเลย

คำอธิบายแรกคือ เวลามีคนถามเราเรื่องลูก จุดโฟกัสของเราจะอยู่ที่ลูก เราจะให้น้ำหนักกับตอนที่ลูกยิ้มครั้งแรก หรือลูกปั่นจักรยานครั้งแรก คือเราจะเห็นแต่ด้านบวกในหัว ไม่ให้น้ำหนักกับด้านลบเท่าไหร่ เขาเรียกว่า focusing illusion คือ จุดโฟกัสของเราไปอยู่ตรงจุดที่เด่นชัดที่สุดของลักษณะหรือประสบการณ์นั้นๆ

ผลลัพธ์ก็คือเราจะมองเกินจริงว่านั่นคือผลกระทบของมัน แต่เวลาเราถามความคิดของคน ความสุขของคนมีปัจจัยหลายอย่าง คนที่มีลูกก็มีหลายอย่างที่สำคัญกับชีวิต คนที่ไม่มีลูกก็มีปัจจัยอื่นๆ ที่สำคัญกับชีวิต แต่เราอาจจะไม่ได้คิดถึงปัจจัยอื่นตอนที่เราตอบคำถาม

คำอธิบายที่สองคือ ถึงแม้ว่าในความเป็นจริงเขาอาจจะรู้ตัวอยู่แล้ว แต่การมีลูกเป็นการตัดสินใจที่ไม่สามารถเอาคืนได้ เป็นต้นทุนที่เอาคืนไม่ได้ เพราะฉะนั้นก็เป็นการหาเหตุผลเข้าข้างตัวเอง การมีลูกก็ต้องมีความสุขสิ เพราะเราตัดสินใจไปแล้ว

หรือถ้าลูกเติบโตขึ้นมาไม่เป็นไปอย่างที่เราคาดหวัง ก็จะมีระบบที่เรียกว่า psychological immune system เป็นภูมิคุ้มกันให้เรา ไม่ว่าอะไรก็ตามที่เกิดขึ้นแล้วเราไม่ชอบ เราจะหาเหตุผลมารองรับให้เรารู้สึกดีขึ้น คือคนเราไม่อยากเสียใจอยู่แล้ว อาจจะไม่ดีขึ้นร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ก็ไม่แย่ร้อยเปอร์เซ็นต์เหมือนกัน

พอฟังแบบนี้ก็เหมือนการปรับใจเหมือนกัน ในศาสนาพุทธจะมีคำประมาณว่า ‘ความสุขอยู่ที่ใจ’ แล้วนิยามคำว่า ‘ความสุข’ ในทางเศรษฐศาสตร์กับทางศาสนา เหมือนหรือต่างกันอย่างไรบ้าง

เราไม่เคยเอามารวมกันให้ชัดๆ ผมเคยไปคุยกับหลวงพ่อที่อังกฤษ หลวงพ่อท่านบอกว่า นิยามของความสุขในศาสนาพุทธ เป็นสิ่งที่คนเราไม่ควรจะขวนขวายเลยนะ เพราะว่ามันเป็นกิเลส เขาพูดถึงความทุกข์มากกว่า เพราะว่าความสุขเป็นสิ่งไม่แน่นอน ซึ่งในเชิงของงานวิจัย เราไม่ได้มองแบบนี้ แต่บทสรุปจะคล้ายๆ กัน

เราไม่ได้มองจากทฤษฎีของพุทธว่าต้องขจัดความทุกข์ แต่เราหาวิธีวัดความสุขของแต่ละคน พอวัดได้ เราก็มาดูว่าอะไรบ้างที่ทำให้คนมีความสุข มีความทุกข์ แล้วมีปัจจัยทางเศรษฐศาสตร์อะไรบ้าง ที่ช่วยประเมินความทุกข์ได้ สิ่งที่เราค้นพบคือ การเปรียบเทียบกันระหว่างคนต่อคนเป็นตัวก่อปัญหา ทุกข์มากเลยในสังคมเรา อย่างการเห็นชีวิตประจำวันคนอื่นในโซเชียลมีเดีย เป็นต้น

ศาสนาพุทธก็บอกว่านั่งสมาธิสิ ไม่ต้องคิดถึงมันสิ แต่ผมคิดว่า การจะพ้นทุกข์ในทางพุทธต้องใช้พลัง ใช้เวลา คือคนต้องสุดยอดจริงๆ ถึงทำได้ แต่เราเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่ทำงานกับคนทั่วไป เราจะต้องหาระบบที่จะช่วยคนหมู่มากที่สุด ทำให้เขาพ้นทุกข์ได้ โดยที่อาจจะไม่ต้องพึ่งศาสนาพุทธอย่างเดียว เพราะเราไม่สามารถบอกทุกคนได้ว่า ก็เป็นพุทธสิ ทำอย่างที่พระท่านสอนสิ บางคนบอกมันไม่ได้ง่ายขนาดนั้น เราก็ต้องหาวิถีทางอื่น

ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เราสุขหรือทุกข์คือการเปรียบเทียบ แล้วในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำมากๆ กับสังคมที่เท่าเทียมกัน ความสุขของคนเหมือนหรือต่างกันอย่างไร 

ต่างกันเยอะ คนส่วนใหญ่ที่อยู่ในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำต่ำ โดยเฉลี่ยแล้วจะมีความสุขมากกว่าคนที่อยู่ในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูง แต่ก็ไม่ได้ประยุกต์ใช้ได้กับทุกๆ สังคม เช่น สังคมอเมริกา ซึ่งเป็นสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำค่อนข้างสูง แต่เขาโอเคกับความเหลื่อมล้ำ ตรงกันข้ามกับคนในยุโรปบางที่ที่มีความเหลื่อมล้ำสูง เขาเกลียดมาก ไม่มีความสุขเลย

รู้มั้ยว่าทำไมสองกลุ่มนี้ถึงแตกต่างกัน รู้จัก american dream ใช่มั้ย เขาเชื่อว่าถ้าสร้างตัวเองได้ เขาจะมีความสุข เขามองคนที่รวยกว่าแล้วคิดว่าถ้าพยายามหน่อยเราก็ไปถึงจุดนั้นได้ เราโอเคกับความเหลื่อมล้ำ ส่วนคนในยุโรปเขาคิดว่า มันเป็นโชคน่ะ คุณเกิดมาโชคดีกว่าคนอื่น ไม่แฟร์ คนยุโรปก็เลยเกลียดความเหลื่อมล้ำมาก

สมมติเราอยู่ในสังคมไทย คนที่มีฐานะดีกว่าอีกคนมีความสุขมากกว่า เพราะสถานะเขาดีกว่า เราพูดเป็นการจัดอันดับแล้วกัน การขยับจากอันดับ 3 ไปอันดับ 2 ของคนในประเทศไทยทำให้มีความสุขมาก จากการเขยื้อนแค่อันดับเดียว เพราะเราอยู่ในสังคมที่ถ้าคุณอยู่สูง คุณสุดยอดมากๆ

แต่เมื่อเทียบกับคนในยุโรป หรือคนในประเทศที่ความเหลื่อมล้ำต่ำกว่า การขยับระหว่าง 3 ไป 2 เขาไม่ค่อยแคร์ เพราะชีวิตก็เท่าๆ กัน คุณจบดอกเตอร์ ไม่สน แต่ที่ไทยถ้าจบดอกเตอร์ ทุกคนต้องรู้ว่าผมจบดอกเตอร์ (หัวเราะ) ซึ่งเป็นข้ออธิบายว่า ทำไมคนในประเทศไทยที่มีความเหลื่อมล้ำสูงมากอันดับต้นๆ ของโลก ถึงโอเคกับความเหลื่อมล้ำ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคนเชื่อว่าถ้าสามารถเลื่อนอันดับสูงขึ้นได้ ผลลัพธ์ของความสำเร็จที่ตามมาก็จะสูงมากๆ ปัญหาคือคนที่เลื่อนลง ก็จะได้รับความทุกข์ที่สูงมากเช่นกัน

สรุปว่า ยิ่งความเหลื่อมล้ำในสังคมสูง ความเหลื่อมล้ำทางด้านความสุขก็สูงไปด้วย แต่ประเทศที่ความเหลื่อมล้ำต่ำ เปอร์เซ็นต์ที่คนจะมีความสุขหรือไม่มีความสุข จะพอๆ กัน

ทำไมเราไม่มีความสุขเท่าที่เราคิด : คุยเศรษฐศาสตร์ความสุขกับ ณัฐวุฒิ เผ่าทวี

คุณเคยเขียนบทความว่า เวลาที่เราได้เงิน เราอาจจะมีความสุขน้อยกว่าความทุกข์เวลาที่เราเสียอะไรไป แล้วในเรื่องความเหลื่อมล้ำ คล้ายๆ กันมั้ย สมมติว่าเราดีขึ้น เราอาจจะไม่ได้ความสุขมากเท่ากับว่าคนที่เราไม่ชอบมีชีวิตที่ไม่ดี

ถูกต้องมากเลย ผมยกตัวอย่าง ปกติประเทศก็มีวงจรธุรกิจ มีขึ้นมีลงตลอด แล้วมีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่า พอประเทศรวยขึ้น ความสุขของประเทศขึ้นมานิดนึง แต่พอจนลง ความสุขตกเยอะมากกว่าที่เพิ่มขึ้นเยอะ ก็คล้ายๆ กันกับเรื่องการเปรียบเทียบ ที่เราไม่สามารถบังคับให้อีกคนไม่มีได้

สมมติเราได้เลื่อนขั้น คนอื่นพูดว่าไม่แฟร์นะเว้ย เรามีความสามารถพอๆ กัน แต่ถ้าทุกคนคิดว่า เราทำงานให้มากขึ้น เราจะไปอยู่ขั้นเดียวกับที่คนหนึ่งอยู่ได้ เราก็เริ่มทำ พอเราได้เลื่อนขั้น เราแฮปปี้ แต่พอหันไป อ้าว ทุกคนเท่ากันหมดแล้ว ได้เงินเดือนเท่ากันทุกคน ความสุขที่ได้มาตอนแรกก็อาจจะหายไป

มีงานวิจัยว่าถ้าเราได้เงินเดือนขึ้น 1 เปอร์เซ็นต์ แล้วเงินเดือนทุกคนเท่าเดิม มีเงินเดือนเราขึ้นคนเดียว เรามีความสุขในการทำงานเพิ่มขึ้น แต่ถ้าเงินเดือนเราเท่าเดิม แล้วเงินเดือนคนอื่นเพิ่มขึ้น 1 เปอร์เซ็นต์ เราจะทุกข์มากกับการทำงาน แต่ถ้าเงินเดือนเราเพิ่มขึ้น แล้วเงินเดือนทุกคนเพิ่มขึ้นเท่าๆ กัน มันลบล้างกันเลย ความสุขที่เราได้มาจากเงินเดือนเราขึ้นบวกลบกับความทุกข์ที่เงินเดือนทุกคนขึ้นก็กลายเป็นศูนย์ เพราะฉะนั้น ถ้าคุณอยากจะทำให้คนในที่ทำงานมีความสุขมากขึ้น นโยบายการขึ้นเงินเดือนไม่ช่วยเท่าไหร่ มีวิธีการอื่นที่ช่วยกว่าเยอะ เช่น การให้ของขวัญ หรือพาไปเที่ยวให้มีประสบการณ์

เวลาฟังเรื่องความรู้ใหม่ๆ ในเศรษฐศาสตร์ความสุข ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องชีวิตประจำวัน ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์บางคนก็อาจจะบอกว่ามันเป็นเรื่องเล็กๆ เช่น แต่งงานมั้ย มีลูกมั้ย เป็นเรื่องที่ต้องตัดสินใจในชีวิต แต่นักเศรษฐศาสตร์อาจจะสนใจคำถามที่ใหญ่กว่า เช่น จะเอาอุดมการณ์เศรษฐกิจแบบไหน การเมืองต้องเป็นยังไง แล้วเศรษฐศาสตร์ความสุขดีลกับโจทย์พวกนี้บ้างมั้ย

ผมว่าส่วนหนึ่งเขาคิดผิดนะ ถ้าผมเขียนแต่เรื่องพวกนั้นก็คงไม่มีใครอ่าน ในความเป็นจริงนโยบายเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ที่เป็นมหภาคมีพื้นฐานเป็นจุลภาคทั้งนั้น แค่อาจจะไม่เกี่ยวกับเรื่องแต่งงาน แต่พื้นฐานคือเรื่องความสุขของแต่ละคน ประชาชนแต่ละคนมีความหมาย มีคุณค่า เพราะฉะนั้นเราควรเริ่มวัดความสุขของแต่ละคนก่อน แล้วค่อยมาดูว่าปัจจัยที่เป็นมหภาค เช่น ปัจจัยเรื่องการว่างงาน รถติด สิ่งแวดล้อม PM 2.5 มีผลยังไงกับความสุขของคนบ้าง

สมมติเราพบว่าต้องให้เงินคนที่ไม่แต่งงาน 25,000 ปอนด์ต่อปี เพื่อให้เขามีความสุขมากขึ้น เราสามารถประยุกต์ไอเดียนั้นใช้กับคนที่อยู่ในเขตมลพิษสูงกับคนที่อยู่ในเขตมลพิษต่ำ ความสุขของเขาแตกต่างกันมากขนาดไหน แล้วเราก็มาดูว่า โอเค ถ้างั้นเราควรให้เงินแต่ละคนเท่าไหร่ เพื่อจะทำให้คนที่อยู่ในมลพิษสูงมีความสุขพอๆ กับคนที่อยู่ในเขตมลพิษต่ำ เงินตรงนั้นก็มาใช้คิดค่าใช้จ่ายว่าเราควรจะเรี่ยไรคนละเท่าไหร่ รัฐควรมาคิดว่าจะตั้งค่าใช้จ่ายเท่านี้นะ เพราะนี่คือค่าความสุขของการอยู่ในมลพิษที่แย่มากๆ เป็นต้น นี่คือหนึ่งในการใช้เศรษฐศาสตร์ความสุข

อีกอย่างหนึ่งก็คือเราสามารถวัดได้ว่า อัตราการว่างงานกับอัตราเงินเฟ้อ อะไรทำให้คนมีความทุกข์มากกว่ากัน แล้วเราควรจะเล็งไปนโยบายไหนที่จะช่วยให้มีผลิตผลมากกว่า

แล้วอย่างนี้ความสุขเป็นเรื่องสากลมั้ย เช่น ถ้าเราไปวัดความสุขที่เกาหลีเหนือ เขาก็อาจจะบอกว่าเขามีความสุข เพราะเขาโตมา ชินในสภาพแวดล้อมแบบนั้น แต่พอเรามองจากข้างนอกเข้าไป ก็จะรู้สึกว่าแบบนั้นเขาจะมีความสุขเหรอ นักเศรษฐศาสตร์ความสุขมองเรื่องนี้ยังไง ในที่ที่วัฒนธรรมแตกต่างกันมากๆ วิธีการตัดสินความสุขอาจจะไม่เหมือนกัน

ตอนนี้เรามีการวัดความสุข 140 กว่าประเทศ จะมี World Happiness Report ออกมาทุกปี ก่อนอื่นเรามาดูว่า ปัจจัยที่ทำให้คนมีความสุขแต่ละประเทศคล้ายกันมั้ย แล้วเราพบว่าคล้ายๆ กัน คนที่ตกงานไม่ว่าจะอยู่ประเทศไหน ก็แย่ คนที่รวยกว่าคนอื่น ก็มีความสุขกว่าคนอื่น โครงสร้างของความสุขคล้ายๆ กัน แต่ก็จะมีกรณีของเกาหลีเหนือ คนอินเดีย หรือคนละตินอเมริกา ที่เราจะสงสัยว่าเขามีค่าความสุขสูง ทั้งๆ ที่เขาควรจะไม่มีความสุขเลยนะ

มีงานวิจัยที่อธิบายเรื่องนี้ เขาบอกว่าคนที่จนมากๆ แล้วบอกว่าตัวเองมีความสุข ส่วนหนึ่งเพราะเขาไม่รู้ว่าจริงๆ ชีวิตยังดีได้มากกว่านี้นะ และเป็นการหาเหตุผลเข้าข้างตัวเองด้วย เพราะมันไม่มีอย่างอื่นแล้ว แต่พอเราบอกว่ารู้มั้ยว่าคุณสามารถมีชีวิตที่ดีกว่านี้ได้ ความสุขเขาอาจจะเพิ่มขึ้น หรืออาจจะเท่าเดิมก็ได้

เมื่อประมาณ 12 ปีที่แล้ว ที่เมืองไทยมีจัดประชุมเกี่ยวกับความสุข ว่าด้วยเรื่อง Sufficiency Economy เขาก็เชิญผมมา และมีโปรเฟสเซอร์อีกหลายท่าน ตอนเริ่มแรก เขาก็โชว์วิดีโอว่าเด็กชนบทในไทยมีความสุข เพราะ Sufficiency Economy ไม่ต้องมีเงินก็ได้ เพราะฉะนั้นเราไม่ต้องมีนโยบายให้คนรวยขึ้น การรวยขึ้นไม่จำเป็น ทุกคนมีความสุข เพื่อนผมที่เป็นโปรเฟสเซอร์จากออสเตรเลียก็ขึ้นไปพูด บอกว่าเขาแฮปปี้มากที่มาพูดที่นี่ เพราะแต่ก่อนไม่มีใครสนใจเรื่องความสุขเลย เขาบอกว่า “I feel like i’m among friends. But friends have to tell each other the truth.” (ผมรู้สึกเหมือนอยู่กับเพื่อนๆ แต่เพื่อนต้องพูดความจริงกันสิ) เขาพูดต่อว่า ตอนเริ่มต้นคุณโชว์ให้เราเห็นว่าเด็กชนบทในเมืองไทยมีความสุข ไม่มีจะกินแต่ก็มีความสุข แล้วบอกว่าไม่ต้องไปเพิ่มรายได้ให้เขาก็ได้ แต่ผมมองไปเห็นแต่ละคนที่นั่งอยู่ตรงนี้ ทุกคนใส่สูทหรู มีแล็ปท็อป บินไปนั่นไปนี่ How dare you? คุณพูดได้ยังไงว่า เขาไม่สามารถมีอย่างที่คุณมีได้ เพราะคุณมีคุณถึงพูดได้ มีใครในนี้บ้างที่จะยอมสละสิ่งที่คุณมีให้ไม่มีอย่างเด็กพวกนี้ เพื่อความสุขมั้ย ไม่มีใครแลก จริงมั้ย

เศรษฐศาสตร์ความสุขต้องช่วยทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเงินกับความสุขของเขาดีขึ้น แต่คนที่จนมากๆ เศรษฐศาสตร์ความสุขเป็นแค่เรื่องรอง ไม่ค่อยเกี่ยวเท่าไหร่ คุณต้องยกระดับของเขาขึ้นมาก่อน ไม่ว่าเขาจะบอกว่าสุขหรือไม่สุข

ถ้าเราบอกว่า เราทุกข์เพราะเห็นคนอื่นดีกว่า หรือรู้ว่ามีชีวิตที่สุขกว่านี้เราถึงอยากจะขยับความสุขของตัวเองขึ้นไป แต่ถ้าเกิดเราอยู่ในรัฐที่ปิดบังคุณภาพชีวิตที่ดีข้างนอกเอาไว้ ไม่ให้ประชาชนรู้ว่ามีอยู่ จะทำให้คนรู้สึกว่าตัวเองก็มีความสุขดีอยู่แล้วมั้ย ไม่ต้องพยายามขวนขวายอะไรอีก

อาจจะเป็นความสุขจากการหาเหตุผลเข้าข้างตัวเองรึเปล่า ก็คล้ายๆ เราเอากบเข้าไปในกะลา กบไม่รู้เลยว่าภายนอกมีอะไรบ้าง กบก็อาจจะมีความสุขของตัวเองก็ได้ แต่นั่นคือความสุขจริงหรือไม่จริง เป็นความสุขที่ยั่งยืนรึเปล่า ทีนี้เราต้องดู objective indicators ไปด้วย เช่น สิ่งแวดล้อม ความเป็นอยู่ กบในกะลาอาจจะมีชีวิตน้อยกว่ากบที่อยู่ข้างนอกก็ได้ ถึงแม้ว่าความสุขผลจะออกมาเท่ากัน คำถามนี้อาจจะเป็นคำถามที่ชี้ให้ผมพูดว่า ไม่มีดัชนีตัวไหนที่ดีที่สุด ดัชนีความสุขต้องไปคู่กับดัชนีของวัตถุวิสัย เราต้องมีข้อมูลจากทั้งวัตถุวิสัยและอัตวิสัย เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีจริงๆ ไม่จอมปลอมของแต่ละคน

ถ้าพูดในเชิงของรัฐ ถ้ารัฐบอกว่าก็อย่าไปโชว์ให้เห็นสิ มันไม่ได้ คนอาจจะบอกว่าก็ปลงสิ ชีวิตมันดีได้แค่นี้ แต่จริงๆ พูดอย่างเป็นกลาง ชีวิตอาจจะไม่ดีเลยด้วยซ้ำไป

แล้วความสุขที่เกิดจากการหาเหตุผลเข้าข้างตัวเอง มันมีปัญหาอะไรมั้ย ก็ในเมื่อเรามีความสุข 

ถามว่าเหนื่อยมั้ยเวลาเราต้องหาเหตุผล ต้องถามตัวเองว่าเรากำลังหลอกตัวเองอยู่รึเปล่า เราต้องพูดในเชิงความเป็นจริงว่าโลกเราไม่ใช่โลกปิด ไม่ใช่ทุกประเทศที่เป็นเกาหลีเหนือ แต่จริงๆ คนในเกาหลีเหนือเขาก็เห็นว่าโลกภายนอกมีอะไรบ้าง คือมันปิดความเป็นจริงไม่ได้ ถึงเข้าใจได้ว่าทำไมคนเราถึงไม่พอใจกับสิ่งที่เรามีอยู่ ถ้าเรารู้ว่าชีวิตยังดีกว่านี้ได้

ทำไมเราไม่มีความสุขเท่าที่เราคิด : คุยเศรษฐศาสตร์ความสุขกับ ณัฐวุฒิ เผ่าทวี

ถ้าให้มองมาที่สังคมไทย คุณว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่มีความสุขรึเปล่า

อาจจะต้องมองเชิงวัฒนธรรม เราเป็นวัฒนธรรมที่สบายๆ เราโอเค แฮปปี้ เป็นสังคมไม่เป็นไร พอเกิดเรื่องไม่ดีขึ้น เราก็บอกไม่เป็นไร ช่างหัวมันได้ ก็อาจเป็นส่วนที่ดี แต่ถามว่ามีส่วนไม่ดีมั้ย มี เพราะเราก็จะไม่พัฒนาสักที เกิดเรื่องขึ้น เราก็ไม่อยากไปแก้มัน อาจจะปลง มองว่าเปลี่ยนไม่ได้ ก็ให้เป็นอย่างนั้นไป

ถามว่าโดยเฉลี่ยแล้วคนไทยมีความสุขมั้ย ก็น่าจะมีความสุข และนั่นก็เป็นข้อมูลของ World Happiness Report ด้วยว่าคนไทยก็โอเคนะ ไม่ได้แย่มากขนาดนั้น แต่ถามว่าสุขได้มากกว่านี้มั้ย คำตอบคือ ได้

จากที่เราคุยกันมา การศึกษาเรื่องเศรษฐศาสตร์ความสุขมี Holy Grail ไหม มีคำถามสุดยอดอะไรที่เราตามหาอยู่ไหม

แต่ก่อนคือเรื่องเงิน ถามกันเยอะ เงินซื้อความสุขได้มั้ย ทำไมประเทศที่รวยขึ้นกลับไม่มีความสุขมากขึ้น อันนั้นเป็นคำถามก่อนที่ผมจะเริ่มทำ แล้วพอผมเริ่มทำก็กลายเป็นคำถามว่า คนเราปรับตัวกับอะไรได้บ้าง สมมติว่าเกิดเรื่องร้ายในชีวิตเรา ทำไมบางคนถึงปรับตัวได้ดีกว่าบางคน อะไรเป็นตัวแปร

ในอนาคต อาจจะดูเรื่องการทำงานเยอะขึ้นว่าอะไรที่จะสร้างสิ่งแวดล้อมให้คนมีความสุขมากที่สุด แล้วเราจะเอาสิ่งที่รู้จากการทำวิจัยมาลงเป็นนโยบายประเทศยังไง อันนี้เริ่มไปทางการประยุกต์ใช้แล้ว แต่ก็คงไม่มี holy grail ที่เด่นชัด เพราะว่ามันพัฒนาไปเรื่อยๆ

แล้วเวลาเราพูดถึง AI หรืออะไรที่ก้ำกึ่งว่าจะมาแทนคน มีการถกเถียงกันไหมว่า AI จะมีความสุขได้ไหม

พูดยากเลย ไม่แน่ใจเหมือนกัน แต่คิดว่าความทุกข์ของคนส่วนหนึ่งมาจากอคติที่เรามีในตัว การตัดสินใจโดยใช้อารมณ์ ถ้า AI มีความสุขจริงๆ แล้วเราสามารถวัดได้จริงๆ AI น่าจะมีความสุขมากกว่ามนุษย์ เพราะ AI ไม่มีอารมณ์ ตัดสินใจโดยใช้เหตุผลตลอด

ถ้ามีสักคนที่ใช้เหตุผลในการตัดสินใจตลอดเวลา คนนั้นน่าจะเป็นคนที่ทุกข์นะ

ถ้าพูดในเชิงผลของการตัดสินใจ เขาน่าจะดีกว่านะ แต่พอพูดถึงการตัดสินใจ ผมอยากเล่าเรื่องหนึ่งให้ฟัง มีคำถามหนึ่งที่น่าสนใจว่า ทำไมคนเราถึงเลือกสิ่งที่อยากจะได้ หรือสิ่งที่เกี่ยวกับความสุขของตัวเองผิดตลอด

มีงานวิจัยหนึ่งที่ผมชอบมาก เขาเอากลุ่มนักศึกษาหญิงที่เป็นโสดทุกคน ให้ไปนัดบอดกับผู้ชาย โดยสุ่มแบ่งผู้หญิงเป็น 2 กลุ่ม ให้เวลาคนละ 5 นาที เพื่อเข้าไปเจอผู้ชาย 8 คนในห้องหนึ่ง

กลุ่มแรก เขาให้ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ชายทุกคนว่าหน้าเป็นยังไง โปรไฟล์เป็นยังไง ให้ทุกอย่างเลย ก่อนเข้าไปเจอตัวจริง

กลุ่มที่สอง เขาไม่ให้อะไรเลย ปล่อยไปก่อน

วิธีทดลองของเขาคือ ให้กลุ่มแรกลองทำนายก่อนว่าตัวเองจะมีความสุขขนาดไหนกับการพูดคุยกับผู้ชายที่ยังไม่เจอกัน โดยให้ทำนายจากการดูโปรไฟล์ เสร็จแล้วให้คะแนน 1-10 แล้วค่อยเข้าไปคุย พอออกมาจากห้อง ค่อยมาให้คะแนนใหม่ว่าเอนจอยขนาดไหน ตรงกับที่คิดมั้ย

ส่วนกลุ่มที่สอง ที่ยังไม่เห็นอะไรเลย สิ่งเดียวที่ได้ก่อนเข้าไปในห้องคือ ค่าเฉลี่ยความเอนจอยของกลุ่มแรกที่เพิ่งเดตไปก่อนหน้านี้ สมมติคนแรกให้ 7 คะแนน คนในกลุ่มที่สองก็จะเห็นแค่คะแนนนี้ แล้วลงคะแนนทำนายว่าตัวเองจะเอนจอยกับเดตขนาดไหน

ในงานวิจัยนี้ถามทั้ง 2 กลุ่มว่า คุณต้องการอะไรมากกว่ากันระหว่างโปรไฟล์กับคะแนนเฉลี่ย ส่วนใหญ่จะบอกว่าต้องการโปรไฟล์ อยากเห็นรูปก่อนจะเจอตัวจริง แต่ผลการวิจัยกลายเป็นว่าคนกลุ่มสองทำนายความสุขของตัวเองได้เก่งกว่า คือความคาดหวังใกล้เคียงมากกับความสุขจริงๆ แต่กลุ่มแรกผลการทำนายกับความจริงต่างกันมาก

เหตุผลที่เป็นแบบนี้เพราะ พอเราเห็นโปรไฟล์แล้วเราไปคิดว่าหน้าตาแบบนี้ น่าจะมีบุคลิกแบบนี้ แต่พอไปเจอจริงๆ ผู้ชายอาจจะมีวิธีการพูดที่ผิดไปจากที่เราคิด เป็นต้น แต่ข้อมูลที่เราอยากได้จริงๆ คือ ความรู้สึกของคนที่เคยประสบมาแล้ว เพราะฉะนั้นคนเราต้องการแค่คำแนะนำจากคนอื่นว่าดีหรือไม่ดี เช่น คะแนนหนังจากคนดู รีวิวที่พักท่องเที่ยว เป็นต้น

แต่ส่วนหนึ่งคนมักจะคิดว่าเรารู้ตัวเองดี เราต้องการข้อมูลแบบนี้ ตอนทำงานเราต้องการแบบนี้ เวลาเราตัดสินใจว่าจะเรียนกฎหมายดีมั้ย เราไปดูว่านักกฎหมายได้เงินเท่าไหร่ ทำงานยังไง แต่เราไม่เคยไปถามว่าเขามีความสุขมากแค่ไหน ทำให้เราคาดการณ์ผิด

นั่นคือการตัดสินใจโดยใช้เหตุผล แต่นี่คือตัวอย่างที่บอกว่า การใช้เหตุผลอาจจะไม่ใช่เหตุผลจริงๆ บางทีเรากำลังทำนายความรู้สึก ไม่ได้ทำนายเหตุผล เราก็เลยต้องเอาความรู้สึกของคนอื่นมาดู

ใน 1 วันคุณใช้การตัดสินใจด้วยเหตุผลหรืออารมณ์มากกว่ากัน

อารมณ์ (หัวเราะ) การตัดสินใจโดยใช้อารมณ์มันเป็นระบบที่ 1 อัตโนมัติอยู่แล้ว ส่วนระบบที่ 2 ของเรา ซึ่งเป็นการใช้ความคิด เราจะต้องปลุกให้มันตื่น เพราะมันหลับอยู่ตลอดเวลา แล้วต้องใช้พลังงานเยอะ การตัดสินโดยอารมณ์ หรือตัดสินใจเร็วๆ ง่ายกว่า ไม่ต้องใช้ความพยายามเยอะ เพราะฉะนั้นถึงแม้ว่าเราจะทำวิจัยเรื่องพวกนี้มานาน แต่เราก็รู้ว่าเรามีอคติของตัวเองอยู่ด้วย

ดังนั้นก็จะมีการสร้างบทบาทของตัวเอง สมมติต้นปี เราตั้งเป้าหมายว่าปีนี้จะเขียนหนังสือให้เสร็จ เราก็สร้าง precommitment ด้วยการประกาศว่าเราจะเขียนหนังสือให้เสร็จ ถ้าไม่เสร็จมาด่าด้วย เพราะเรารู้ว่าถ้าไม่ตั้งไว้อย่างนั้น เราก็ปล่อยไปเรื่อยๆ ก็เป็นการใช้ระบบเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมมากระตุ้นให้เราทำ

จะมีวันที่เหล่ามวลมนุษยชาติเดินทางไปถึงวันที่จัดการกับความสุขเราได้ไหม คือทุกคนมีความสุข เป็นโลกพระศรีอาริย์ มีเครื่องมือที่จะทำให้คนไปสู่จุดนั้นได้ไหม

คิดว่ายาก ถ้าเราขจัดการเปรียบเทียบได้ ก็ช่วยได้เยอะมาก เราใช้ชีวิตอยู่กับสิ่งที่เรามีความสุขได้ โดยไม่ต้องเปรียบเทียบ แต่จะทำให้ทุกคนไม่แคร์คนอื่นเลย คงยากมากๆ แล้วจะทำให้คนเลือกแต่สิ่งที่คนเราไม่ปรับตัวได้ คือสุขไปเรื่อยๆ ก็คงยากเหมือนกัน เราอาจจะไม่อยากมีโลกแบบนั้นก็ได้ เพราะความทุกข์ก็มีประโยชน์ คนที่สุขมากๆ เขาจะชอบ status quo ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลงสถานะ คนที่ทุกข์คือคนที่ต้องการการเปลี่ยนแปลง

อย่างที่ประชาชนลุกฮือไม่ใช่เพราะว่าเขามีความสุขหรอกนะ ความสุขอาจจะหมายถึงการเปลี่ยนแปลงที่ดีในอนาคตก็ได้

ทำไมเราไม่มีความสุขเท่าที่เราคิด : คุยเศรษฐศาสตร์ความสุขกับ ณัฐวุฒิ เผ่าทวี

จากที่คุณไปอยู่อังกฤษมาเกินครึ่งชีวิต แล้วกลับมาไทยเป็นครั้งคราว มีความสุขทุกข์แตกต่างกันแค่ไหน อย่างไร

ต้องพูดตรงๆ ว่าผมกับภรรยาโตในเมืองนอกตลอด ไม่ค่อยได้อยู่เมืองไทย แล้วเรามีกันแค่ 2 คนกับสุนัข 1 ตัว ทุกอย่างดีหมดตรงที่ผมชอบงานมาก ชีวิตเติมเต็มทั้ง 3 มิติความสุขของเรา ไม่ว่าจะเป็นความสุขในชีวิตประจำวัน ระยะยาว ระยะยาวมาก แต่เราขาดปัจจัยทางด้านครอบครัวและเพื่อนที่เขาอยู่ไทยกันหมด แต่พอเรากลับมาที่นี่ปุ๊บ เราก็ขาดทุกอย่างที่อยู่ที่นู่น จะให้ผมกลับมาทำงานที่เมืองไทย วิชาการที่เมืองไทยก็คงไม่เหมือนที่นู่น อิสระที่เรามีต้องสูญหายไป เช่น อิสระในเชิงความคิด ในเชิงวิชาการ ซึ่งก็ต้องแลกกันระหว่างการอยู่ที่นี่กับที่นู่น

ความสุขก็อาจจะพอๆ กัน อยู่ที่นู่นอาจจะสุขกว่านิดหน่อย เพราะปัจจัยในชีวิตประจำวันดี ถ้ากลับมาที่ไทยอาจจะเจอรถติดบ้าง มีปัจจัยที่ไม่ดีกับชีวิตบ่อยหน่อย ถึงจะได้เจอเพื่อนบ้าง แต่ถ้าเทียบแล้วก็อาจจะไม่ได้ประสบกับสิ่งดีๆ เท่ากับที่อังกฤษ

ผมรู้สึกว่ากลับมาที่นี่ทีไรเราเป็นคนต่างชาติไปแล้ว เหมือนกลับมาเที่ยว เพราะผมออกจากไทยตอนอายุ 12 ไปอยู่โรงเรียนประจำที่นู่นตลอด เลยรู้สึกไม่ค่อยเหมือนบ้านแล้ว

หมวกหนึ่งที่คุณเป็นคือนักวิชาการ ความเป็นนักวิชาการอยู่ที่อังกฤษกับที่ไทยเหมือนหรือต่างกันไหม

อยู่อังกฤษ เราก็เป็นคนต่างชาติในสายตาคนทั่วไป เราเป็นคนตัวเล็ก เอเชีย ผู้ชายด้วย ผมถือเป็นชนกลุ่มน้อยในส่วนงานของผมในวอร์ริค หันไปก็มีแต่คนผิวขาว ตัวสูง ก่อนที่จะหางานหรือเงินเดือนก็รู้อยู่ว่ามีการแบ่งแยกอยู่แล้ว ทางด้านเงิน ทางด้านเลื่อนตำแหน่ง ยังไงเราก็คงสู้คนที่นู่นยาก คือเราต้องพยายามมากว่าคนอื่นเท่าตัว เพื่อที่จะได้มาถึงจุดที่เราอยู่ได้ แต่คนที่รู้จักเราจริงๆ เขาก็ปฏิบัติกับเราโอเคดี ไม่ได้ตัดสินเรามาก

แล้วมองมาในวงวิชาการไทยเห็นอะไรบ้าง

อันนี้แล้วแต่บุคคลมากกว่า คนที่เจอที่นี่ ทุกคนมีความสามารถกันเยอะมาก มากกว่าผมด้วยซ้ำไป เพียงแต่ว่าเขาอาจจะอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่ได้ช่วยทำให้เติบโตไปมากกว่านั้น อาจจะต้องมีงานจิปาถะ นอกจากงานสอน งานคุมสอบ ได้เงินเดือนที่ต่ำกว่าปกติ ต้องไปหางานสอน งานวิจัยเพิ่มเติมเพื่อจะมาช่วย ก็เลยไม่มีโอกาสที่จะใช้ความสามารถจริงๆ ในการทำวิจัย นั่นคือปัญหาอย่างหนึ่งของวงการวิชาการไทย ที่ว่าเขาไม่มีเวลาทำวิจัยที่จะเชิดชูชื่อเสียงหรือความหมายของเขา ไม่เหมือนที่เราอยู่อังกฤษ

ตอนอยู่อังกฤษ ผมไม่ต้องเข้าออฟฟิศทุกวัน ถ้าไม่มีสอนไม่มีประชุมก็แทบไม่เข้าเลย คือเข้าไปไม่เคยทำงานเลย เข้าไปเจอคนอย่างเดียว เขาไม่ได้มาแคร์ว่าผมจะอยู่ที่ไหน ถ้าวันนี้ไม่อยากเข้าออฟฟิศ พาภรรยากับหมาไปเดินสวนที่ไหน เขาก็ไม่ว่า ไม่เคยติดตาม ขอแค่เวลาสอนคือสอน พอท้ายปีก็ให้มีงานวิจัยตีพิมพ์ แต่นั่นคือสิ่งที่สำคัญ ที่นู่นเขาค่อนข้างให้ความสำคัญกับการตีพิมพ์เยอะ เหมือนเป็น currency ของแต่ละคน ซึ่งไม่เหมือนที่นี่

เราคิดถึงเรื่องงานวิจัยตลอด จะทำอะไรต่อดี จะตีพิมพ์ที่ไหนดี แล้วเราเจอปฏิเสธบ่อย เพราะการตีพิมพ์วารสารดีๆ ยากมาก นั่นคือชีวิตประจำวันของที่นู่น อาจจะพูดแทนคนอื่นไม่ได้ แต่สำหรับผม ผมไม่เครียดมาก เพราะได้ทำในสิ่งตัวเองชอบ

ถ้าจะทำงานวิจัยที่ไทยเกี่ยวกับเรื่องความสุข จะทำเรื่องอะไร

ถ้าเป็นเศรษฐศาสตร์ความสุขคงวัดก่อนว่าคนไทยมีความสุขยังไง แล้วหลังจากนั้นก็เอาไอเดียเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมเข้ามาใช้ ผมอยากทดสอบว่า เราสามารถใช้ความเชื่อเกี่ยวกับผีสางนางไม้มาทำให้คนเปลี่ยนพฤติกรรมต่อสังคมให้ดีขึ้นได้ไหม

ยกตัวอย่าง เคยมีข่าวที่คนทิ้งขยะลงแม่น้ำ แล้วเขาเอาป้ายมาติดว่าใครทิ้งจะสาปแช่ง หรือเอาผ้าแพรมาผูกต้นไม้ คนก็เลิกทิ้งขยะตรงนั้น คนก็หัวเราะกันนะ แต่จริงๆ มันมีทฤษฎีทางด้านเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมว่า เราจะอ่อนไหวต่อ invisible agent หรือสิ่งที่เรามองไม่เห็น เพราะตามวิวัฒนาการ ถ้ามีอะไรเคลื่อนไหวในพุ่มไม้ ถ้าเราไม่วิ่งหนีก่อน เราอาจจะไม่มีชีวิตอยู่จนถึงวันนี้ก็ได้

เพราะฉะนั้นพอเราเห็นอะไรที่เราเข้าใจไม่ได้ เราจะให้ความสำคัญตรงนั้น เราเอาทฤษฎีนี้มาใช้ได้ ทำให้คนมีพฤติกรรมที่ดีมากขึ้น มีความสุขมากขึ้นจากการเปลี่ยนพฤติกรรม ฝรั่งไม่ค่อยมีเรื่องแบบนี้ อาจจะทำได้ แต่ไม่ได้ผลเท่าที่ไทย

 

คำถามสุดท้าย ถ้าจะให้คุณให้คะแนนความสุขตัวเองตอนนี้ จะให้เท่าไหร่

ให้คะแนนทีละมิติแล้วกัน สมมติ 0 คือน้อยสุด 10 คือสูงสุด ในเชิงความพึงพอใจในชีวิต ผมค่อนข้างพอใจในชีวิต ให้ 9 แล้วกัน เพราะถ้าได้ 10 มันจะดีกว่านี้ไปไม่ได้แล้ว ความสุขประจำวันก็น่าจะประมาณ 7 เพราะตอนนี้ก็ป่วยๆ อยู่ ยังมีไอบ้าง ไม่ได้เดินกับสุนัข เพราะทุกวันก็อยากจะพาสุนัขไปเดิน ส่วนมิติสุดท้าย ก็คิดว่าสิ่งที่เราทำมีความหมาย ได้มานั่งคุยเล่าเรื่องต่างๆ ได้เขียนสิ่งที่เรารู้ส่งต่อไปเรื่อยๆ ก็คิดว่าน่าจะให้สัก 8 หรือ 9 ถือว่าโชคดี

ทำไมเราไม่มีความสุขเท่าที่เราคิด : คุยเศรษฐศาสตร์ความสุขกับ ณัฐวุฒิ เผ่าทวี

MOST READ

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

Interviews

11 Apr 2019

เจาะเบื้องหลังปฏิบัติการสร้าง ‘อนาคตใหม่’ กับ ชัยธวัช ตุลาธน รองเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่

คุยกับชัยธวัช ตุลาธน รองเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ว่าอะไรอยู่เบื้องหลังความสำเร็จของพรรคอนาคตใหม่ในสนามเลือกตั้งครั้งนี้ พร้อมสำรวจทรรศนะในการฝ่ามรสุมการเมืองไทย

กองบรรณาธิการ

11 Apr 2019

Economy

23 Nov 2023

ไม่มี ‘วิกฤต’ ในคัมภีร์ธุรกิจของ ‘สิงห์’ : สันติ – ภูริต ภิรมย์ภักดี

หากไม่เข้าถ้ำสิงห์ ไหนเลยจะรู้จักสิงห์ 101 คุยกับ สันติ- ภูริต ภิรมย์ภักดี ถึงภูมิปัญญาการบริหารคน องค์กร และการตลาดเบื้องหลังความสำเร็จของกลุ่มธุรกิจสิงห์

กองบรรณาธิการ

23 Nov 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save