fbpx
กชกร วรอาคม : ภูมิสถาปนิกผู้ใช้ ‘พื้นที่’ บำบัดความป่วยไข้

กชกร วรอาคม : ภูมิสถาปนิกผู้ใช้ ‘พื้นที่’ บำบัดความป่วยไข้

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย เรื่อง

วิวรรธน์ ทรัพย์อรัญ และ LANDPROCESS ภาพ

มหานคร ‘น่าอยู่’ ระดับโลก ล้วนแต่มีพื้นที่สีเขียวตั้งอยู่กลางเมืองเพื่อโอบล้อมผู้คนให้ได้ใกล้ชิดธรรมชาติ แม้ว่าตึกสูงเสียดฟ้าจะเป็นเครื่องหมายของความเจริญทางเศรษฐกิจแค่ไหน แต่สวนสาธารณะก็ยังเป็นดัชนีสำคัญที่สร้างความน่าอยู่ให้เมือง

ตัดภาพกลับมาที่กรุงเทพฯ แม้เราจะมีสวนสาธารณะขนาดใหญ่อยู่บ้าง แต่ก็ดูเหมือนจะไม่เพียงพอกับการสร้างความน่าอยู่ให้เมืองได้อย่างที่ควรจะเป็น

เพราะ ‘ปอด’ ของเมืองอาจยังน้อยเกินไป เมื่อเทียบกับมลพิษและผู้คนที่เข้ามาใช้อากาศร่วมกัน

กชกร วรอาคม คือภูมิสถาปนิกผู้เชื่อว่าพื้นที่สีเขียวสามารถบำบัดเมือง และบำบัดคนได้ เธอจบปริญญาตรีที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง เหรียญทอง จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเรียนต่อปริญญาโทด้านภูมิสถาปัตยกรรมศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด

เมื่อตัดสินใจกลับประเทศไทย เธอเริ่มก่อตั้ง social enterprise ด้านการออกแบบภูมิสถาปัตยกรรม ชื่อว่า ‘LANDPROCESS’ เพื่อสร้างงานภูมิสถาปัตยกรรมที่ตอบโจทย์การสร้างพื้นที่สาธารณะสีเขียวในเมือง นับเป็นความท้าทายที่ไม่ได้ตอบโจทย์แค่ด้านความงาม แต่เป็นการช่วยบรรเทาปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมของเมืองด้วย

กชกร วรอาคม, ภูมิสถาปนิก, พื้นที่

ปัจจุบัน LANDPROCESS มีอายุ 6 ปี สร้างโครงการสีเขียวเชิงนวัตกรรมให้กับเมืองมากมาย เช่น โครงการอุทยาน 100 ปีจุฬาฯ ที่เพิ่งได้รางวัลสถาปัตยกรรมดีเด่นแห่งประเทศไทยในปีนี้ ถือเป็นครั้งแรกที่สวนสาธารณะได้รับรางวัลด้านสถาปัตยกรรม,  Siam Green Sky สวนเกษตรลอยฟ้าใจกลางสยามสแควร์, สวนบำบัดลอยฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ณ อาคารสมเด็จพระเทพรัตน์ โรงพยาบาลรามาธิบดี, อุทยานเรียนรู้ป๋วย 100 ปี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ที่กำลังจะกลายเป็นสวนหลังคา urban farming ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย, โครงการสร้างทางเดินคนข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งดัดแปลงโครงสร้างเดิมของโครงการรถไฟฟ้าลาวาลิน ฯลฯ

เธอเชื่อว่า กรุงเทพฯ สามารถเป็นเมืองน่าอยู่ด้วยการเพิ่มพื้นที่สาธารณะสีเขียว ซึ่งเธอมองว่าเป็นพื้นที่ที่ช่วย ‘บำบัดเมือง’

แต่อีกด้านหนึ่ง เธอยังสร้างกระบวนการ ‘บำบัดจิตใจ’ ของผู้คนผ่านกระบวนการการใช้ศิลปะและดนตรี ผ่าน social enterprise ที่ชื่อว่า ‘Artfield’ ใช้ศิลปะบำบัดเพื่อเยียวยาและฟื้นฟูผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง อัมพาต หรือผู้ป่วยระยะสุดท้าย ขณะเดียวกันก็ถ่ายทอดอบรมกระบวนการศิลปะบำบัดที่ว่านี้ ให้แก่หมอ พยาบาล ผู้ดูแลผู้ป่วย และบุคคลที่สนใจได้ร่วมเรียนรู้

นอกจากนี้ เธอยังใส่หมวกอีกใบในฐานะอาจารย์พิเศษ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

101 นัดสนทนากับเธอ ว่าด้วยเรื่องราวของหมวกสองใบแรก คือการเยียวยาเมืองด้วยพื้นที่สีเขียว และการเยียวยาจิตใจผู้คนด้วยศิลปะ

กชกร วรอาคม, ภูมิสถาปนิก, พื้นที่

ทำไมจึงสนใจเรื่องพื้นที่สาธารณะ สิ่งนี้มีความสำคัญอย่างไรในปัจจุบัน

เราโตมาในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเมืองที่ไม่ได้ให้ความสำคัญทางด้านพื้นที่สาธารณะ สนามเด็กเล่นยังไม่มี ตามถนนก็แทบไม่มีที่จะเดิน ซึ่งเมื่อเทียบกับบ้านเมืองอื่นที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เอาแค่การมีถนนที่ดีและร่มรื่น ก็ทำให้คนมีความสุขง่ายๆ กับการใช้ชีวิตในเมืองได้

เรารู้สึกว่ากรุงเทพฯ แล้ง หยาบกระด้าง ต้นไม้น้อย มองไปรอบๆ เต็มไปด้วยคอนกรีตหรือสิ่งที่หยาบต่อผิวสัมผัส แล้วเราก็โตมากับโครงสร้างเมืองอันแข็งกระด้างนั้น เราเห็นน้ำท่วมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เห็นผลกระทบของสิ่งแวดล้อมที่แย่ลงเรื่อยๆ ของเมือง มันเหมือนอยู่ในบ้านที่ค่อยๆ พังลง จึงรู้สึกว่าต้องหาวิธีที่จะทำให้บ้านของเราดีขึ้น

กรุงเทพฯ อัดแน่นด้วยคน 10 ล้านคน จนถึงตอนนี้เป็นเวลากว่า 30 ปีที่กรุงเทพฯ ถูกเติมเต็มด้วยคอนกรีต ด้วยตึก โดยไม่มีการคำนึงถึงพื้นที่ที่ต้องเว้นไว้ในเมืองเลย ที่ว่างเหล่านั้นคือพื้นที่ธรรมชาติ พื้นที่ซับน้ำของเมือง พื้นที่หายใจหายคอ พื้นที่ออกกำลังกายของผู้คน

ยกตัวอย่าง Central Park ในนิวยอร์ก เป็นโครงการในฝันที่เราอยากให้กรุงเทพฯ มีแบบนั้นบ้าง นี่คือสวนสาธารณะที่เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อ 150 ปีก่อน ซึ่งถือว่าเป็นการมองการณ์ไกลที่พอเหมาะพอดีสำหรับเมืองนิวยอร์กในปัจจุบัน มันทำให้เมืองมีเรื่องเล่าอีกมุม เราเห็นเมืองที่พ่อแม่มาแฮงเอ้าท์ เด็กมีพื้นที่วิ่ง ครอบครัวไปปิกนิกกัน คนเราต้องโตมาแบบนี้ คนถึงจะรักเมือง และเข้าใจว่าสิ่งเหล่านี้สำคัญกับเมืองอย่างไร

การเกิดขึ้นของสวนแห่งนี้ทำให้ศาสตร์ของภูมิสถาปัตยกรรมเกิดขึ้นอย่างชัดเจน ในโลกที่ผู้คนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมโหยหาธรรมชาติ ทำให้เมืองนิวยอร์กที่แออัดน่าอยู่ขึ้น ทำให้คนที่ใช้ชีวิตในเมืองรู้สึกรักเมืองของเขา ซึ่งเราคิดว่าโลกในยุคดิจิทัล คนจะยิ่งโหยหาสิ่งเหล่านี้มากกว่าเดิม

โดยส่วนตัว เรารู้สึกว่าถ้าเราสามารถเป็นหนึ่งในคนที่สร้างสิ่งนี้ให้มีในบ้านเกิดของเราได้ ก็คงจะดี พอเริ่มร้อยเรียงเรื่องราว ก็คิดว่าภูมิสถาปัตย์ฯ คือสิ่งที่เราทำได้

อุทยาน 100 ปี จุฬาฯ ท่ามกลางป่าคอนกรีตในกรุงเทพมหานคร
อุทยาน 100 ปี จุฬาฯ ท่ามกลางป่าคอนกรีตในกรุงเทพมหานคร

มองการเปลี่ยนแปลง landscape ของกรุงเทพฯ ที่ผ่านมา อย่างไรบ้าง

ความเป็นจริง กรุงเทพฯ แย่ลงเรื่อยๆ ไม่มีการวางแผน วางผัง ไม่มีการตอบโจทย์ว่าจริงๆ แล้วเมืองที่ดีต้องการอะไร คนที่อยู่ควรมีพื้นฐานการดำรงชีวิตที่ดีได้อย่างไร ภาครัฐ ภาคเอกชนทำอะไรได้บ้าง เราไม่เข้าใจเมืองของเรา กระทั่งไม่ตระหนักด้วยซ้ำว่าเมืองของเรากำลังจะจมลงไปเรื่อยๆ

กรุงเทพฯ อยู่บนพื้นที่ชุ่มน้ำ เป็นพื้นที่ปากแม่น้ำที่ถูกทับถมจากตะกอน ฤดูน้ำท่วมคือปรากฏการณ์ปกติ พอท่วมเสร็จ ตะกอนที่ถูกพัดพามาก็จะเพิ่มแร่ธาตุให้ดิน เราเลือกที่ตั้งตรงนี้เพราะเพาะปลูกดี เป็นเมืองเกษตร

มีบทความทางวิชาการคาดการณ์ว่ากรุงเทพฯ จะจมในปี ค.ศ.2030 แผ่นดินกำลังทรุดตัวลง สวนทางกับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นตาม climate change อนาคตกำลังมาถึงเร็วกว่าที่เราคิด แต่ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา กรุงเทพฯ ไม่ได้รับการพัฒนาที่สอดคล้องกับภาวะเดิมของธรรมชาติที่ควรเป็น ฝนตกมาก็ไม่ได้ซึมลงดิน น้ำหลากจากเหนือก็ไร้ที่ไป คลองก็ไม่มี แม่น้ำก็มีเขื่อนกั้น

ในทางกลับกัน เราหวังพึ่งแค่การออกแบบเมือง และการแก้ปัญหาเชิงระบบจากมุมเดียว คือในมุมวิศวกรรมศาสตร์ โดยลืมความซับซ้อนทางธรรมชาติ ซึ่งการแก้ปัญหาเหล่านั้นก็สร้างปัญหาใหม่ขึ้นมาไม่รู้จบ

ยกตัวอย่างปรากฏการณ์โลกร้อน ซึ่งเราล้วนเป็นต้นเหตุของปรากฏการณ์นี้ ตั้งแต่การขับรถ การใช้น้ำมัน การขนส่งอาหาร ผลคือทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมในการใช้ชีวิตในเมืองชัดขึ้น เพราะเวลาเกิดภาวะน้ำท่วม ทะเลกัดเซาะชายฝั่ง กลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ใกล้แหล่งน้ำ หรือชุมชนแออัดตามคลอง กลับถูกผลกระทบก่อนใคร เราเชื่อว่าภูมิสถาปัตยกรรมมีทางบรรเทาและช่วยได้

พื้นที่สาธารณะสีเขียวที่ดี ส่งผลต่อสุขภาพของคนในเมืองอย่างไรบ้าง

มากที่สุดเลยค่ะ คนจะชอบคิดว่า ทำสวนทำไม ไม่ได้มีคุณค่าเชิงมูลค่าอะไร แต่มันเพิ่มคุณค่าพื้นที่โดยรอบ ตัวมันเองอาจจะไม่ต้องทำอะไรก็ได้ ชุมชนโดยรอบเข้ามาใช้ มีอากาศโดยรอบดีขึ้น ปริมาณมลพิษโดยรอบลดลง มีที่ให้เด็กได้วิ่งเล่น พื้นที่โดยรอบสวนมีราคาแพงขึ้น

เมื่อชุมชนได้นิเวศของเมืองกลับมา จะเห็นการเปลี่ยนแปลงชัด เช่น ตอนทำอุทยาน 100 ปีจุฬาฯ สวนยังไม่ทันเปิด มีจิ้งหรีดมาเต็มเลย ทั้งที่ก่อนหน้านี้ไม่รู้แมลงหายไปไหน ทำให้เราเข้าใจว่า เราไม่ได้อยู่ในเมืองคนเดียว ยังมีสิ่งมีชีวิตอื่นๆ อยู่ด้วย

พื้นที่สาธารณะ ทำให้คนในชุมชนได้มาใช้ มีที่วิ่งออกกำลังกาย พักผ่อนหย่อนใจ สวนช่วยเรื่องสุขภาพ ตอบโจทย์เชิงความต้องการพื้นฐาน ลดความเครียดของคนเมือง โรคหดหู่ อัตราการฆ่าตัวตาย กระทั่งลดการทะเลาะกันในสังคม เพราะเราเรียนรู้ที่จะอยู่รวมกันในพื้นที่สาธารณะ ไม่ใช่ไปแต่ห้างสรรพสินค้า

ลองคิดง่ายๆ ว่า ทุกวันนี้ความเครียดของคนในสังคมถูกระบายออกไปทางไหนบ้าง นอกจากทางสื่อออนไลน์ แต่ถ้าเรามีพื้นที่เหล่านี้ ให้คนมาออกกำลังกาย ทำกิจกรรม หรือทำอะไรที่เพิ่มพลังบวก ก็น่าจะช่วยสร้างบรรยากาศที่ดีในสังคมได้ แต่ในทางกลับกัน พื้นที่ที่ไม่ดี มันทำให้เราป่วย ไม่ใช่ป่วยกายอย่างเดียว แต่ป่วยจิตด้วย

อุทยาน 100 ปี จุฬาฯ ท่ามกลางป่าคอนกรีตในกรุงเทพมหานคร

ยกตัวอย่างการออกแบบอุทยาน 100 ปีจุฬาฯ อยากทราบว่ามีวิธีคิดอย่างไร และสามารถช่วยบำบัดเมืองได้อย่างไรบ้าง

ตอนที่มีโครงการประกวด เราก็คิดว่าความเป็นอุทยานจุฬาฯ ไม่น่าจะมองแค่เป็นการเฉลิมฉลอง 100 ปีที่ผ่านมา แต่ควรจะมองว่าในอนาคต โครงการที่จุฬาฯ จะพัฒนา ควรเป็นแบบอย่างที่ดีให้เมืองได้อย่างไร นอกจากเป็นสวนสาธารณะแล้ว ควรจะมองความท้าทายเชิงสิ่งแวดล้อมในเรื่อง climate change การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของเมืองด้วย ว่าจะอุทยานแห่งนี้จะมีส่วนช่วยรับมือในเชิงปฏิบัติได้อย่างไร

สิ่งที่เราทำคือ เอียงสวน แล้วแทรกสถาปัตยกรรมเข้าไป น้ำฝนทุกหยดจะไหลลงมากักเก็บไว้ตรงที่เก็บน้ำฝน ผลของ climate change  จะทำให้ฤดูแล้งจะแล้งจัด ฤดูฝนก็จะมาเป็นพายุฝน ท่วมกันไปเลย ความแตกต่างเหล่านี้ทำให้การกักเก็บน้ำไว้ใช้ในสวน ถูกยกเป็นแนวความคิดการจัดการน้ำที่สำคัญของโครงการ สวนนี้จึงสร้างระบบสาธารณูปโภคสีเขียว green infrastructure ในตัวมันเอง ขณะเดียวกันก็เป็นระบบสาธารณูปโภคให้กับเมืองด้วย

เราสร้าง green roof ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ซึ่งนอกจากที่เก็บน้ำฝนแล้ว ยังมีพื้นที่ชุ่มน้ำประดิษฐ์ หรือที่เรียกว่า wet land ปลูกพืชน้ำเอาไว้กรองน้ำให้สะอาด แล้วค่อยไหลไปที่กักเก็บน้ำ สวนแห่งนี้สร้างระบบแก้มลิง มีจักรยานปั่นออกซิเจนให้กับแหล่งน้ำ ให้การออกกำลังกายเป็นเรื่องเดียวกันกับการทำให้น้ำสะอาด เป็นการเชื่อม urban environment เข้ามาสู่ human experience

งานออกแบบนี้ได้รางวัลสถาปัตยกรรมแห่งปีของสมาคมสถาปนิกสยามแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ปี 2018 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่รางวัลด้านสถาปัตยกรรมให้รางวัลกับสวนสาธารณะ เพราะการออกแบบโครงการนี้เป็นการรวมทั้งสถาปัตยกรรมและภูมิสถาปัตยกรรมเข้าเป็นเนื้อเดียวกัน

ผลสำเร็จจากงานนี้ทำให้เห็นว่า ในเชิงวิชาชีพเขาเริ่มเห็นความสำคัญของการสร้างงานสถาปัตยกรรม ที่ต้องทำควบคู่กับการคิดภูมิสถาปัตกรรมที่ตอบสนองเป็นเนื้อเดียวกัน ไม่ใช่เป็นเพียงการประดับต้นไม้

อุทยาน 100 ปี จุฬาฯ ท่ามกลางป่าคอนกรีตในกรุงเทพมหานคร

ในส่วนของ สวนบำบัดลอยฟ้าบนโรงพยาบาลรามาธิบดี นอกจากจะเป็นพื้นที่สีเขียวแล้ว ยังเป็นพื้นที่สำหรับบำบัดผู้ป่วยด้วย สองสิ่งนี้มีความเชื่อมโยงกันอย่างไร ออกแบบด้วยแนวคิดแบบไหน

สวนบนโรงพยาบาลรามาฯ แต่เดิมเป็นลานเฮลิคอปเตอร์ที่ไม่ได้ใช้งาน ซึ่งถ้าพูดถึงกายภาพเชิงพื้นที่สีเขียวของโรงพยาบาลในประเทศไทย ต้องบอกว่ามีน้อยมาก หรือแทบไม่มีเลย

โครงการสวนบำบัดลอยฟ้า เป็นต้นแบบการปรับเปลี่ยนพื้นที่ที่ไม่ได้ถูกใช้สอยในอาคารมาทำให้เกิดประโยชน์ เป็น green roof ที่สร้างพื้นที่การบำบัดรักษาด้วยธรรมชาติ ทำให้มีลักษณะเป็น healing garden ใส่กิจกรรมบำบัดเข้าไป 14 กิจกรรม เช่น ทางเดินกายภาพ พื้นที่นวด ทางเดินนวดเท้า เดินสมาธิ นั่งเล่นได้ มีราวอักษรเบรลล์ มีซุ้ม aroma therapy

สิ่งเหล่านี้สร้างประสบการณ์การใช้พื้นที่สีเขียว เพื่อส่งเสริมการบำบัดและรักษาตัวของผู้ใช้บริการ เป็นพื้นที่ผ่อนคลาย ออกกำลังกาย ของเจ้าหน้าที่ มีโซนให้พยาบาลมาปลูกผัก ผู้ป่วยรถเข็นสามารถเข็นรถเข้าไปที่โต๊ะปลูกผัก มีต้นไม้ สมุนไพร มีสวนเกษตรลอยฟ้า มีอัฒจันทร์ไว้ดูการแสดง

สวนนี้บำบัดคน แต่ก็บำบัดเมืองด้วย เป็นพื้นที่หลังคาเขียวแก้มลิง แบบ green roof ปกติเวลาฝนตก ผนังหลังคาดาดแข็งทั่วไป น้ำฝนทุกหยดจะลงไปที่ท่อสาธารณะ พอฝนตกก็พรวดลงไปในท่อระบายน้ำ พอหนักเข้า ระบายไม่ทัน น้ำก็ท่วม แต่หลังคาแบบนี้จะช่วยสร้างแก้มลิง ส่วนที่เป็นสวนหรือต้นไม้ก็จะช่วยอุ้มน้ำไว้ก่อน แล้วค่อยๆ ระบายออก หรือเอาไปใช้เวียนในอาคารต่อ ขณะเดียวกันก็ช่วยพยุงน้ำที่จะเอ่อล้นในเมืองได้อีกทางหนึ่ง

ตามหลักการแล้ว อาคารขนาดใหญ่หรืออาคารสาธารณะควรทำพื้นที่เหล่านี้ไว้ บางประเทศสิ่งเหล่านี้คือความรับผิดชอบ คือกฎหมายด้วยซ้ำ

มุมจากด้านบนของสวนบำบัดลอยฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ณ อาคารสมเด็จพระเทพรัตน์ โรงพยาบาลรามาธิบดี
มุมจากด้านบนของสวนบำบัดลอยฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ณ อาคารสมเด็จพระเทพรัตน์ โรงพยาบาลรามาธิบดี

ในเชิงรูปธรรม การมีพื้นที่แบบนี้ส่งผลดียังไงต่อผู้ป่วยบ้าง

สิ่งนี้เรียกว่า eco therapy เอาแค่การอยู่ใกล้ธรรมชาติ ก็นับเป็นการบำบัดแล้ว เรานั่งอยู่ใต้ต้นไม้ กับเรานั่งอยู่ในห้องสี่เหลี่ยมสีขาว emotion หรือ sensory ของเราก็เปิดรับต่างกัน

มีงานวิจัยออกมาว่า พื้นที่สีเขียวทำให้คนฟื้นตัวได้เร็วขึ้น งานออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมในโรงพยาบาลจึงเป็นคำตอบ เราสร้างโอกาสเข้าใกล้ชิดธรรมชาติ สอดแทรกกิจกรรมเชิงบำบัดรักษาที่ผู้ป่วยต้องทำอยู่แล้ว เช่น ฝึกเดิน ทำกายภาพบำบัด ไปจนถึงการสร้างกิจกรรมเชิงสังคม การฝึกการใช้สมอง การกระตุ้นประสาทสัมผัสต่างๆ การใช้สวนบำบัดเกี่ยวข้องกับมิติทางด้านจิตใจ ซึ่งผู้ป่วยต้องได้รับการดูแลควบคู่กันไปกับการฟื้นฟูร่างกาย

พูดถึงเรื่องศิลปะบำบัด อยากทราบว่าเริ่มต้นสนใจศาสตร์นี้ได้อย่างไร

Art therapy เป็นศาสตร์ที่เริ่มมาจากต่างประเทศ เชื่อว่าเกิดขึ้นในหมู่จิตเวชก่อน คนป่วยหลายคนใช้ศิลปะบำบัดตัวเอง เป็นการช่วยสร้างกระบวนการสื่อสารในตัวเอง การแสดงออกของความรู้สึกที่ลึกซึ้งกว่าสื่อสารด้วยภาษาพูด หรือภาษาเขียน

โดยธรรมชาติเราเป็นคนชอบทำงานศิลปะอยู่แล้ว เราคิดว่ามันมีกระบวนการบำบัดอยู่ในนั้น เพราะทำแล้วสบายใจ มีพลัง อยากให้ศาสตร์นี้เข้าถึงกระบวนการบำบัดรักษาในบ้านเรา จึงเริ่มก่อตั้งองค์กรกับเพื่อน ชื่อว่า ‘Artfield’ เริ่มต้นจากทุนของ สสส. โดยเอาทุนนั้นไปใช้สร้างโครงการกับโรงพยาบาลรัฐต่างๆ

ต่อมาก็ได้มีโอกาสร่วมทำเป็นผลงานวิจัยกับ คณะแพทย์ศาสตร์ ศิริราชพยาบาล จนเสร็จสมบูรณ์ ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ระดับนานาชาติ และนำกระบวนการที่ได้ทำ มาเปิดอบรมเจ้าหน้าที่ หมอ พยาบาลทั่วประเทศ ตอนนี้เปิดอบรมกับศิริราชได้ประมาณ 7 รุ่นแล้ว มี 2 ระดับ เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์เข้าใจมิติของศิลปะ เพื่อนำไปปรับใช้กับคนไข้และผู้ดูแลอย่างเห็นผล

Art therapy

กระบวนการบำบัดที่ว่า เป็นอย่างไร

ใช้กระบวนการแบบ expressive art เป็นการปลดปล่อยพลังงาน ความรู้สึกที่เก็บเอาไว้ ถ่ายทอดออกมาเป็นชิ้นงานประเภทต่างๆ ศิลปะบำบัดมีความพิเศษกว่ากระบวนการบำบัดอื่นๆ เพราะเป็นการบำบัดที่สร้างชิ้นงาน โดยชิ้นงานที่เกิดขึ้น เป็นเหมือนการเปิดประตูการสื่อสาร สร้างโอกาสในการถามแล้วรับฟังอย่างเปิดใจ เพราะบางทีการอธิบายด้วยคำพูดนั้นยาก ความปวดวัดอย่างไร เป็นอย่างไร สีอะไร อารมณ์ภายใต้ความปวดเป็นยังไง ศิลปะจะเข้ามาช่วยการสื่อสารตรงนี้ได้

ประสบการณ์การทำกระบวนการศิลปะบำบัดให้กับผู้ป่วย และการเปิดอบรมอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นการเรียนรู้ และทำให้เราออกแบบสวนบำบัดกับทางโรงพยาบาลรามาฯ ได้ดีขึ้น เพิ่มความเข้าใจในอีกมิติหนึ่งของภูมิสถาปัตย์ฯ จากตอนแรกที่เหมือนว่าเราทำงานแยกขาดจากกัน ภูมิสถาปนิกก็เรื่องหนึ่ง นักศิลปะบำบัดก็เรื่องหนึ่ง แต่ด้วยประสบการณ์และโอกาสที่ผ่านมา ตอนนี้ก็เริ่มเห็นความเชื่อมโยงของสองศาสตร์นี้ที่ส่งเสริมกันอย่างไม่ได้ตั้งใจ

กระบวนการศิลปะบำบัดให้กับผู้ป่วย อบรม

บำบัดคนอื่นมาก็เยอะ แล้วโดยส่วนตัวมีวิธีการบำบัดตัวเองบ้างไหม

การทำอาชีพที่สามารถช่วยผู้คน และเป็นสิ่งที่เรารัก ถือว่าเป็นโชคดี แล้วเมื่อได้ทำในสิ่งที่ชอบ มันก็บำบัดเราไปในตัวนะ เพราะรู้สึกว่าได้ทำอะไรที่เติมเต็มสิ่งที่เราเชื่อ และยังส่งผลต่อผู้อื่นด้วย เราคงไม่สามารถใช้แค่เรื่องรายได้มาเป็นตัวกำหนดความสบายในการทำงาน ไม่ใช่เป้าหมายในการทำงานด้วยซ้ำ เป้าหมายของเราคือประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับผู้คนที่ทุกข์ใจและกายมากกว่า

ประสบการณ์ที่ได้เห็นคนไข้สบายใจขึ้น สื่อสารดีขึ้น เห็นเด็กมีที่วิ่งเล่น มีคนมาออกกำลังกาย พ่อแม่มีพื้นที่พาครอบครัวมาพักผ่อน สอนแล้วนักเรียนเก่งขึ้น เข้าใจมากขึ้น สิ่งเหล่านี้คือของขวัญ เป็นความสุขที่ซื้อไม่ได้ การเรียนรู้ทำให้เราเข้าใจอะไรมากขึ้น การเรียนต้องเกิดจากประสบการณ์ ไปให้ใครสอน คงไม่ได้ เพราะประสบการณ์ใคร การเรียนรู้ของใคร ก็เป็นของคนคนนั้น

การที่คุณจะเปลี่ยนระบบ คุณต้องอยู่ในระบบ แต่ระวังไม่ให้ระบบทำลายความฝันและความตั้งใจของเรา การมองโลกในแง่ดีเป็นเรื่องจำเป็น แม้ความจริงจะยังไม่เป็นเช่นนั้น แต่นั่นคือเป้าหมายที่เราต้องทำให้เกิดขึ้น อุปสรรคเพียงแค่ทำให้เรื่องเกิดช้าขึ้นเท่านั้น สิ่งนั้นจำเป็นต้องเกิด แค่เราเอาใจไปตั้งเอาไว้ ยังไงก็ทำได้ค่ะ มั่นใจ

กชกร วรอาคม, ภูมิสถาปนิก, พื้นที่

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save