ชลธร วงศ์รัศมี เรื่อง
นณณ์ ผาณิตวงศ์, จิรวัฒน์ ผลเพิ่มพูล, ชลธร วงศ์รัศมี ภาพ
ไม่มีปลาน้ำจืดแปลกใหม่ให้ซื้อมานานแล้ว ปลานิล ปลาทับทิม ปลาช่อน ปลาดุก ปลาสวาย ฯลฯ คือปลาขาประจำที่พบบนเขียงปลา นานๆ ทีจะมีปลากระบอก…เกือบดีใจแล้ว ว้า…ที่ไหนได้ เป็นปลากระบอกตัวแบนๆ จากจีน ไม่อร่อยเหมือนปลากระบอกไทยเสียอีก ใครไปตลาดบ่อยๆ คงคุ้นชินความแห้งแล้งนี้เป็นอย่างดี
“ต้นไม้ล้มระเนระนาด ถนนหนทางไปหมด ทุกอย่างราบเป็นหน้ากลอง เฒ่าดำ เฒ่าจอง น่าจะตายแล้ว เพราะไม่ได้ยินเสียง ไม่เห็นหน้า” คือเสียงจากคลิปวิดีโอของคนลาวท้ายเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย หลัง ‘เขื่อนดินปิดช่องเขาต่ำ’ (saddle dam) ของเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย สปป. ลาว ความยาว 880 เมตร พังทลายลงมา เมื่อ 23 กรกฎาคม 2561 มวลน้ำ 5 ล้านตันท่วมที่อยู่ประชาชน 7 หมู่บ้านท้ายเขื่อน เกิดรอยร้าวในแบตเตอรีแห่งอาเซียน และมีทีท่าว่าจะร้าวต่อไม่หยุด
ทั้งเหตุการณ์ปลาหายไป และเหตุการณ์เขื่อนแตกในประเทศที่ปิดกั้นข่าวสารแทบทุกรูเรี้ยวอย่างลาว ดูคล้ายไม่มีสิ่งใดเกี่ยวข้องกัน แต่จริงๆ แล้วเชื่อมถึงกันราวสายน้ำ 101 จึงชวน ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์ ผู้รับหลายบทบาทช่วยเรามองปรากฏการณ์นี้
นณณ์ เป็นทั้งนักธรรมชาติวิทยาผู้เอาจริงเอาจังที่สุดคนหนึ่งของประเทศไทย ผู้บริหารบริษัทน้ำตาล กรรมการมูลนิธิโลกสีเขียว กรรมการสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย นักวิชาการในคณะอนุกรรมการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำ ผู้ก่อตั้งชุมชนคนอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ www.siamensis.org คนไทยคนแรกที่ได้รับรางวัล ASEAN Biodiversity Heroes และบทบาทพาร์ทไทม์ล่าสุดที่เขาค้นพบว่าสร้างรายได้ขำๆ ได้ คือคอยตามฟ้องผู้นำภาพปลาน้ำจืดที่เขาถ่ายไว้ไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งมีตั้งแต่หน่วยงานราชการ พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ สื่อหลายเจ้า ซึ่งนณณ์กล่าวว่า การเอาภาพเขาไปใช้ฟรีไม่ทำให้เขาเจ็บใจเท่ากับเอาภาพของเขาไปประกอบการให้ข้อมูลผิดๆ ซึ่งน่าเจ็บใจยิ่งกว่า
ฉากสุดท้ายก่อนเขื่อนปริ่มน้ำ
“ช่วงก่อนสร้างเขื่อน ข่าวออกมาจากลาวน้อยมาก เราแทบไม่เห็นข่าวจากคนลาวออกมาเลยว่า ป่าก่อนสร้างเขื่อนเป็นยังไง หลังสร้างเขื่อนเป็นยังไง แทบจะไม่มีรูปอะไรออกมาเลย ถูกปิดตลอดเวลา” นณณ์ ผู้เคยสำรวจเขื่อนหลายแห่งทั้งในไทยและต่างประเทศกล่าวว่าเขาไม่เคยไปเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย แต่เขาพอจะจินตนาการออกว่าฉากสุดท้ายก่อนเขื่อนปริ่มเต็มด้วยน้ำ เขื่อนเคยมีอะไรมาก่อน
“ตอนเด็กๆ พ่อผมชอบตกปลา ที่หนึ่งที่เราไปบ่อยมากจนมีบ้านอยู่หลังหนึ่งเป็นแพลอยน้ำ คือเขื่อนวชิราลงกรณ์ (เขื่อนเขาแหลม) ผมไปตั้งแต่ตอนสร้างเสร็จใหม่ๆ สัก 5-10 ปี เป็นช่วงระบบนิเวศในน้ำกำลังสมบูรณ์เต็มที่ เพราะตอนสร้างเขื่อน เขาตัดต้นไม้ออกไม่หมด มีตอไผ่ มีต้นไม้ขึ้นโด่เด่เต็มไปหมด กลายเป็นพื้นที่ให้ปลาอาศัยอยู่ เกิดตะไคร่น้ำ ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ต้นไม้ในป่ายังไม่ย่อยสลายหมด มีปลาเยอะมาก”
นณณ์กล่าวว่าเขื่อนวชิราลงกรณ์ จ.กาญจนบุรี เป็นเขื่อนที่สร้างล้อมป่าทุ่งใหญ่นเรศวรร สิ่งที่เขาได้เห็นตอนนั้นจึงน่าตื่นตาตื่นใจ
“ในช่วงแรกผมยังเห็นหมูหริ่งว่ายข้ามน้ำ ชาวบ้านยิงกวาง ยิงเลียงผา จับนกแก้วมาขายเป็นชะลอม นั่งอยู่ที่แพยังมีนกเงือกบินผ่าน หาไก่ป่ากินได้เลยเพราะมันบินข้ามถนนแล้วโดนรถชนอยู่บ่อยๆ ปลาตัวแรกที่ผมตกได้คือปลากระสูบ ผมเป็นเด็กตัวเล็กๆ นั่งในเรือหางยาว เงื้อจะขว้างเบ็ดแล้วเบ็ดหลุดมือ ผมเงอะๆ งะๆ สาวเบ็ดกลับขึ้นมา ปลาก็กินเหยื่อตุ๊บตั๊บอยู่ใต้น้ำ ผมอยู่เขื่อนเขาแหลมตั้งแต่วันที่ตกปลาได้เยอะจนต้องปล่อยแล้วเลิกตก จนถึงวันที่ออกไปทั้งวันก็ไม่ได้ปลาสักตัวเลย”
นณณ์กล่าวว่าระบบนิเวศของเขื่อนค่อยๆ เปลี่ยนไป จากที่สมบูรณ์ในตอนแรก ค่อยๆ เปลี่ยนเป็นอ่างเก็บน้ำที่เรียบลึกแต่ว่างโหวง และสิ่งที่นณณ์บอกว่าหายไปแต่คนไม่ค่อยนึกถึงคือปลา
“ปลาจากที่มีเยอะ ลดจำนวนเหลือน้อยลงมาก เมื่อเทียบกับขนาดระบบนิเวศขนาดนั้น แม่น้ำแควน้อยใต้เขื่อนลงมาเป็นกรณีศึกษาคลาสสิกของแหล่งน้ำท้ายเขื่อน น้ำใสปิ๊งอยู่เกือบทั้งปีเพราะตะกอนตกอยู่ที่ก้นเขื่อนหมดซึ่งไม่ใช่เรื่องดี น้ำไหลแรงจนกัดเซาะดินชายฝั่งให้กลายเป็นหินแข็ง ปลาหายไปเกือบหมดเพราะเขื่อนกลายเป็นอ่างเก็บน้ำที่ไม่มีแร่ธาตุ (substrate) ใดๆ แร่ธาตุที่ค้างอยู่ในดินสมัยเป็นป่าหมดไป ของใหม่ที่เข้ามาก็จมอยู่ที่ก้นเขื่อน ไม่ได้อยู่ที่ริมฝั่งหรือจุดที่พืชน้ำจะมาใช้ประโยชน์ได้”
ป่าเรือนยอดสี่ชั้นใต้น้ำ
“ถามว่าสวยไหม โคตรสวยเลย ผมตื่นเต้นที่ได้เห็นหมากพระราหูอยู่บนหน้าผา เพราะปกติคงไม่มีปัญญาปีนขึ้นมา แต่อดคิดไม่ได้ว่าตอนเป็นป่าจะสวยแค่ไหน” นนณ์กล่าวถึงเขื่อนรัชชประภา (เขื่อนเชี่ยวหลาน) จ.สุราษฎร์ธานี ที่สองฝั่งของเขื่อนสวยงามจนได้รับฉายาว่า ‘กุ้ยหลินเมืองไทย’ ซึ่งในความสวยนี้นณณ์พบว่ามีบางสิ่งไม่เป็นตามที่ควรจะเป็นเช่นกัน
“ตอนไปเขื่อนเชี่ยวหลาน ผมไปดูแม่น้ำพุมดวงช่วงที่อยู่ช่วงท้ายเขื่อน เห็นต้นมะเดื่อออกลูกสุกเต็มต้น หล่นลงน้ำปุ๋งๆ ไม่มีปลากินสักตัว สัปดาห์ต่อมาผมได้เห็นคลิปจากหัวหน้าหน่วยคลองหยา หน่วยที่อยู่ต้นน้ำพุมดวง ด้านในสุดของเขื่อน จุดที่น้ำยังไหลดี เกิดมาผมไม่เคยเห็นภาพอย่างนี้ ต้นมะเดื่อแบบเดียวกันเลยขึ้นอยู่ริมน้ำ ข้างล่างเป็นฝูงปลาพวงตัวเบ้อเริ่มว่ายเรียงรายรอกินลูกมะเดื่อที่หล่นตุ๊บลงน้ำกันอยู่ น่าดีใจที่เห็น โคตรแตกต่างจากตรงที่ไปยืนดูครั้งแรก”
นณณ์กล่าวว่าภาพเขื่อนรัชชประภาที่สวยงาม ดึงดูดให้ผู้คนไปล่องเรือชมนก ชมปลา และชมต้นไม้ปริ่มน้ำ ไม่ใช่ภาพที่ยั่งยืนถาวร เวลาเช่นนี้จะทอดยาวออกไปอีกไม่กี่ปีเท่านั้น
“เขื่อนในตะวันตกไม่ได้มีอินทรียวัตถุ (organic matter) มากอย่างในไทย พื้นที่สร้างเขื่อนของเราบางแห่งเป็นป่าเรือนยอดสี่ชั้น วิธีการสร้างเขื่อนในไทยมักเริ่มจากการตัดไม้ดีมีราคาออกไปก่อน แล้วเหลือไม้อื่นไว้ น้ำจะเน่าอยู่ 1-3 ปีแรก นิเวศใต้น้ำจะอุดมสมบูรณ์มากประมาณปีที่ 4-5 ตอนน้ำเริ่มหายเน่าเสีย และสมบูรณ์ไปอีกสักประมาณ 10 กว่าปี จากนั้นจะเปลี่ยนไป
“ตอนนี้เขื่อนเชี่ยวหลานต้นไม้เริ่มหมดแล้ว เดี๋ยวจะเหมือนเขื่อนเขาแหลม (วชิราลงกรณ์) พอต้นไม้เริ่มหมด อาหารหมด ปลาจะเริ่มน้อยลง ปลาเด่นที่สุดของเขื่อนเชี่ยวหลานคือ ‘ปลาช่อนข้าหลวง’ ทุกวันนี้เจออยู่ตามใต้แพ ขอนไม้ หรือต้นไม้ที่ล้มลงไปในน้ำ พอต้นไม้หมดปลาช่อนข้าหลวงก็หมด เป็นไปตามวัฏจักร”
นณณ์กล่าวว่าเขื่อนไม่ได้ส่งผลกระทบแค่จุดที่น้ำท่วม หรือเขื่อนกั้นเท่านั้น แต่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศต่อเนื่อง เช่นระบบนิเวศราว 50 กิโลเมตรของแม่น้ำแควน้อยท้ายเขื่อนวชิราลงกรณ์ได้เปลี่ยนไปทั้งหมด เช่นเดียวกับระบบนิเวศของแม่น้ำพุมดวงท้ายเขื่อนรัชชประภา และสิ่งที่ชี้วัดความเปลี่ยนแปลงนี้ได้ดีคือปลา
“ที่ อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ ทางเข้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ามีลำน้ำพรมอยู่ห่างจากเขื่อนอุบลรัตน์สัก 20 กิโลเมตร ผมลงไปดำน้ำหลังจากวันที่เขื่อนปล่อยน้ำแรงๆเพียงวันเดียว น้ำใสปิ๊ง แต่ปลาแทบไม่มี ปกติสภาพมีป่าริมน้ำสมบูรณ์แบบนั้น ผมต้องเจอปลาอย่างน้อย 30 ชนิดขึ้นไป วันนั้นเจอปลาไม่ถึง 10 ชนิด และมีปลาน้ำนิ่งพวกปลาบู่ซึ่งไม่ใช่ปลาที่อาศัยอยู่ในลำธาร เจอปลากริม ซึ่งคงถูกพัดมากับน้ำที่เขื่อนปล่อยมา มีปลาลำธารจริงๆ อยู่สัก 3-4 ชนิด ที่มีอาการหลงๆ ตื่นๆ”
เช่นเดียวกับลุ่มแม่น้ำโขง การมาของเขื่อนที่ปล่อยน้ำไม่เป็นเวลาและรุนแรง ได้เปลี่ยนวิถีชีวิตของปลาไปเช่นกัน
“ปลาในลุ่มน้ำแม่โขงส่วนใหญ่เราเรียกว่าเป็นปลา ‘ริเวอร์รีน’ คือปลาที่อาศัยในสายน้ำที่ไหลเป็นหลัก พึ่งพาการขึ้นลงของน้ำไปตามฤดูกาล ในแม่น้ำโขงตามธรรมชาติถึงฤดูแล้ง น้ำจะลดและใส เปิดโอกาสให้แสงแดดส่องถึงพื้น ถึงก้อนหินที่อยู่ใต้น้ำ ให้สาหร่าย พืชน้ำ ไดอะตอมต่างๆ ให้ปลามากินเป็นอาหาร จังหวะนี้หาดทรายที่เกิดขึ้นจะกลายเป็นเกาะที่วางไข่ของนกต่างๆ เต็มไปหมด ทุกวันนี้พอจีนสร้างเขื่อน อยู่ดีๆ นึกจะปล่อยน้ำแรงๆ ก็ปล่อย นกยังทำรังอยู่ ลูกยังบินไม่ได้เลย น้ำมาก็เรียบร้อย พืชน้ำไม่ได้รับแสงแดด ปลาไม่มีอาหาร เคยมีข่าวออกมาว่าตอนสร้างเขื่อนที่จีนเสร็จ ปลาน้ำไหลในจีนตายไปเยอะ ถ้าเขื่อนทั้ง 11 เขื่อนถูกสร้าง แม่น้ำโขงเกิน 50% จะกลายเป็นอ่างเก็บน้ำ ตัดวงจรชีวิตหมด”
เขื่อนและนิสัยของปลาไทย
ใช่เพียงแต่ผู้คนที่เมื่อต่างภูมิลำเนาแล้วจะมีนิสัยใจคอและไลฟสไตล์ต่างกัน ปลาก็เช่นกัน และนณณ์กล่าวว่านิสัยปลาไทยนั้นเข้ากันไม่ได้กับเขื่อนอย่างแรง
“เวลาคนบอกว่าการสร้างเขื่อนเป็นการเพิ่มแหล่งน้ำให้ปลา ทำให้เพาะพันธุ์ปลาได้มากขึ้น ผมอยากบอกว่าปลานั้นไม่ได้มากขึ้นตลอดไป และไม่ได้เป็นปลาที่จะไปจับมาได้ เพราะอยู่ในน้ำกว้างๆ ไม่มีวังมีแก่งที่จะดักจับปลา ดังนั้นชนิดปลาจะลดลงไปตามชนิดที่ปรับตัวได้”
นณณ์กล่าวว่าปลาน้ำจืดในประเทศไทย ส่วนใหญ่ต้องอพยพขึ้นต้นน้ำเพื่อวางไข่ในฤดูน้ำหลาก เพื่อเผื่อให้ไข่และลูกปลาไหลลงมาตามน้ำให้ได้รับออกซิเจนอย่างเพียงพอและไหลเข้าสู่ ‘ทุ่งน้ำท่วม’ ที่เปรียบเสมือนโรงเรียนอนุบาลของลูกปลา
“สมมติว่าปลาชนิดนี้ อาจใช้เวลา 24 ชั่วโมงเพื่อฟักไข่เป็นตัว ใช้เวลา 48 ชั่วโมงเพื่อให้ลูกปลาแข็งแรงพอจะว่ายน้ำเองได้ แม่ปลาจะว่ายทวนน้ำขึ้นไปตามระยะทางที่กะว่า ภายใน 72 ชั่วโมง ลูกจะไหลกลับมาอยู่ที่ทุ่งน้ำท่วมตรงนี้พอดี นี่แทบเป็นลักษณะนิสัยหลักของปลาน้ำจืดในประเทศไทย ปลาเกล็ดทั้งหลาย ทั้งปลาช่อน ปลากระดี่ ปลาตะเพียน ปลายี่สกไทย ปลาแปบ ปลาซิว ฯลฯ ต้องพึ่งพื้นที่ทุ่งน้ำท่วมทั้งหมด แต่แตกต่างตรงบางชนิดจะอพยพทวนน้ำใกล้ไกลแตกต่างกันไป
“ถ้าเขื่อนหรือประตูระบายน้ำมากั้น ปลาขึ้นมาเพื่อวางไข่ก็จะติดเขื่อน สิ่งที่เกิดขึ้นมีสามอย่าง หนึ่งคือพื้นที่ไม่เหมาะสม ปลาดิ้นรนแล้วเครียด ไม่ไข่ ปีนั้นก็ไม่ต้องผสมพันธุ์ หรือไข่ตรงจุดที่ไม่เหมาะสม ซึ่งจำนวนลูกปลาที่รอดจะน้อยลง แต่ที่น่าสงสารที่สุดคือปลาที่มาออกันอยู่ตรงประตูระบายน้ำหรือเขื่อนที่กั้นแม่น้ำมักถูกคนมาจับไปคราวละมากๆ”
นณณ์กล่าวว่าหนึ่งในวิธีแก้ปัญหาที่นักสร้างเขื่อนนิยมเสนอ คือการสร้าง ‘บันไดปลาโจน’ หรือบันไดที่ช่วยให้แม่ปลากระโดดข้ามเขื่อนไปได้ แต่นณณ์กล่าวว่าวิธีนี้อาจไม่ได้ผลกับแม่ปลาตัวใหญ่มากๆ ที่ข้ามบันไดปลาโจนไม่ไหว และหากข้ามไปวางไข่ได้ ลูกปลาที่ออกมาอาจไม่รอด
“ในต่างประเทศ ปลาอพยพมีขนาดไม่ใหญ่เหมือนบ้านเรา และเป็นปลาที่กระโดดเก่งอย่างพวกปลาแซลมอน บันไดปลาโจนเลยใช้ได้ผลในระดับหนึ่ง แต่บ้านเรามีปลาหลายชนิด เช่นปลากดคัง ปลาแค้ ปลาบึก หรือ ปลาเค้าดำ ปลาพ่อแม่พันธุ์ตัวใหญ่ระดับ 20-30 กิโลกรัมก็มี ไม่มีทางผ่านบันไดปลาโจนไปได้เลย หรือถึงผ่านไปได้ลูกปลาที่ฟักออกมาใหม่ๆ ยังว่ายน้ำไม่ได้ มักจะจมน้ำตายอยู่ในอ่างเก็บน้ำท้ายเขื่อน หรือถ้าฟักได้แล้วรอดก็อยู่ในเขื่อนก๊อกๆ แก๊กๆ”
นณณ์กล่าวว่าหนึ่งในข้อยืนยันนี้คือการหายไปของปลายี่สกไทย หากใครเคยไปจังหวัดกาญจนบุรี คงเห็นป้ายบอกชื่อถนนออกแบบเป็นรูปปลายี่สกไทย ปลาขึ้นชื่อของแม่น้ำแม่กลอง ซึ่งนณณ์กล่าวว่าป้ายอันเก๋ไก๋นี้แสนย้อนแย้ง เพราะปลายี่สกไทยจริงๆ แล้วเหลืออยู่น้อยนิด
“ต้นแม่น้ำแม่กลองเกิดจากแม่น้ำสองสาย คือแควน้อยกับแควใหญ่ ตอนนี้แควน้อยมีเขื่อนวชิราลงกรณ์กั้น แควใหญ่มีเขื่อนศรีนครินทร์และเขื่อนท่าม่วง การสร้างเขื่อนปิดกั้นการอพยพของปลา มีปลาหลายชนิดลดลงจนแทบหายไปจากลุ่มแม่น้ำแม่กลอง เช่น ปลายี่สกไทย ปลาเสือตอ และปลาหางไหม้
“เราชอบพูดว่าประเทศไทยอุดมสมบูรณ์ ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว คนไทยภาคภูมิใจกับการเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับหนึ่งของโลก ขณะที่ชาวนาจน ต้องใช้สารเคมีอัดลงไปเท่าไหร่ก็ไม่รู้เพื่อจะได้ผลผลิตออกมา แต่เรายังภูมิใจในความ ในนามีข้าว ของเรา แต่ถามว่าทุกวันนี้เราพูดได้เต็มปากเต็มคำไหมว่า ในน้ำมีปลา แม้แต่เมืองที่อยู่ริมน้ำเอง ยังต้องกินปลานิล ปลาดุก ผมไปกำแพงเพชรบ่อย จะเห็นวิวัฒนาการของปลาที่เข้ามาในตลาด จากเดิมเป็นปลาท้องถิ่นก็เริ่มเป็นปลานิล ปลาดุกบิ๊กอุย” นณณ์กล่าว
เมื่อปลาไทยมาจากเขมร : จากโตนเลสาบถึงปลาช่อนแม่ลา
เมื่อแม่น้ำของไทยเริ่มเจือจาง แม่น้ำหลายสายใกล้ชิดและได้รับผลกระทบจากเขื่อนแทบทั้งสิ้น แทบจะไม่มีแม่น้ำสายไหนมีวงจรการไหลตามปรกติ เมื่อน้ำไม่ท่วมทุ่ง และไม่มีการฟื้นตัวตามธรรมชาติ ปลาไทยไม่สามารถมีวงจรชีวิตและเติบโตได้เหมือนก่อน แล้วปลาน้ำจืดที่เราเห็นมาจากไหน ?
“ถ้าไปดูตลาดปลาที่ด่านชายแดนเขมร อย่างแถวโรงเกลือ เราจะเห็นว่าปลาจากเขมรเข้าไทยมาเยอะมาก ทั้งปลาช่อน ปลาไหล พ่อค้าแม่ค้าคนเขมรบอกว่าเขาไปส่งปลาพวกนี้ถึงสิงห์บุรี ปลาช่อนแม่ลาที่ขายอยู่ริมถนนน่ะ ผมสนใจมานานแล้ว แม่ลาเล็กนิดเดียวเอาปลาช่อนมาจากไหน ปลาเขมรทั้งนั้น กลายเป็นว่าทุกวันนี้ คนไทยทำลายทรัพยากรของเราเสร็จแล้วดึงทรัพยากรจากประเทศรอบข้างที่พัฒนาช้ากว่าเราเข้ามา ดึงปลามาจากเขมร ดึงไฟฟ้าจากลาว
“แม้แต่เมืองที่ฝั่งหนึ่งติดแม่น้ำมูล ฝั่งหนึ่งติดแม่น้ำโขงอย่างอุบลฯ ยังมีปลาจากเขมรเข้าไปขายอยู่ในตลาด หรือบางทีผมเดินสำรวจปลาในตลาด อตก. ในกรุงเทพฯ มีบางวันเห็นปลาหลดม้าลาย ปลาพม่า ส่วนปลาทะเล เราคงเคยได้ยินข่าวเรือประมงไทยไปโดนจับถึงออสเตรเลีย โดนจับถึงโมซัมบิก คือทั้งแม่น้ำทั้งทะเลเราพังหมดแล้ว”
นณณ์กล่าวว่า แม้เราจะดึงปลาจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามามากมายแล้ว แต่ใช่ว่าจะรับประกันความมั่นคงทางอาหารของไทยได้ เพราะระบบนิเวศหนึ่งที่สำคัญในอาเซียนคือ ‘โตนเลสาบ’ ก็กำลังจะถูกทำลายลง
“แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำสายใหญ่ จะไหลไปของมัน แต่จะมีแม่น้ำสาขาสายหนึ่งย้อนขึ้นมา กลายเป็นพื้นที่ของโตนเลสาบ พื้นที่ตรงนี้สมบูรณ์มาก ช่วงหน้าแล้งจะมีพืช มีหญ้าขึ้น พอฤดูฝนหรือฤดูน้ำหลาก พื้นที่ตรงนี้จะรับน้ำที่หลากมาจากแม่น้ำโขง น้ำจะท่วมขยายขึ้นจากฤดูแล้งอีก 3 เท่า พอน้ำท่วมหลาก ปลาก็เข้าไป น้ำมาปลากินมดไงครับ กินมด กินไส้เดือน กินหญ้า พอเริ่มเน่าเปื่อย ก็จะเกิดพารามีเซียม เกิดสัตว์น้ำขนาดเล็ก เป็นที่อยู่ของปลาเต็มไปหมด
“ตัวโตนเลสาบมีน้ำไหลเข้ามาไม่เยอะ ต้องพึ่งพาให้น้ำจากแม่น้ำโขงไหลย้อนหลากเข้าท่วม ตรงนี้คือจุดที่เขาจับปลาเนื้ออ่อน ปลาช่อน ปลาชะโด ปลาร้า ที่ส่งเข้ามาขายในประเทศเรา ถ้าเราสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงเยอะๆ ก็จะกั้นน้ำไม่ให้หลากเข้าโตนเลสาบ ถ้าระบบนิเวศตรงนี้ล่มสลายเมื่อไหร่ ผมเชื่อว่าปลาหายเยอะมาก ถึงวันนั้นเราจะไม่มีปลาช่อนเค็ม หรือทอดมันปลากรายกินกัน”
ตะกอนของแม่น้ำปิงใต้เขื่อนภูมิพล
“เขื่อนส่วนใหญ่เมื่อจะสร้าง จะบอกว่าจุดประสงค์อย่างหนึ่งคือสร้างเพื่อป้องกันน้ำท่วม แต่ในที่สุดแล้ว เขื่อนเป็นอุปกรณ์อย่างหนึ่ง เหมือนเราสร้างดินสอขึ้นมา เพื่อเป็นอุปกรณ์ในการเขียนหนังสือ หนังสือจะออกมาดีไม่ดี อยู่ที่การบริหารจัดการดินสอแท่งนี้ของเรา เขื่อนก็เหมือนกัน ถ้าคุณบริหารจัดการไม่ดี มันก็แก้ปัญหาน้ำท่วมไม่ได้ เหมือนแก่งกระจานที่กำลังเกิดขึ้น”
นณณ์กล่าวถึงเขื่อนแก่งกระจาน ที่กำลังเกิดปัญหาน้ำล้นสปิลเวย์ ท่วมที่อยู่อาศัยและรีสอร์ตต่างๆ ใน จ.เพชรบุรี (ที่ครั้งหนึ่งผู้ประกอบการเคยดีใจว่ามีเขื่อนเป็นแหล่งท่องเที่ยวอยู่ใกล้ๆ) จนมิดหลังคาอยู่ในขณะนี้ นณณ์กล่าวว่าเขื่อนถูก ‘คาดการณ์’ ให้เชื่อว่าคือวิธีแก้ปัญหาน้ำท่วมที่ได้ผล ทั้งที่มีผลกระทบเกี่ยวกับเขื่อนมากมายที่มีหลักฐานงานวิจัยรองรับชัดเจน แต่คนมักเห็นเพียงคำว่า ‘แก้น้ำท่วม’ เท่านั้น
“เรามีคำเรียกว่า ‘ฤดูน้ำแดง’ คือฤดูฝนที่ฝนพัดเอาตะกอน แร่ธาตุ อาหาร จากต้นไม้ในป่า ชะลงมาแล้วไหลมาตามแม่น้ำ จากดอยอินทนนท์ส่งลงมาจนถึงแม่น้ำปิง เข้าเจ้าพระยา ออกอ่าวไทย ทุกวันนี้ตะกอนของแม่น้ำปิงตกอยู่ใต้เขื่อนภูมิพล
“มีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่า หลังสร้างเขื่อน ปริมาณตะกอนลดลงไป 50-60 เปอร์เซ็นต์ จากเดิมที่เคยไหลลงสู่อ่าวไทยเพื่อปล่อยสารอาหาร ทำให้อ่าวไทยอุดมสมบูรณ์และป้องกันน้ำกัดเซาะชายฝั่ง ถ้าเคยเห็นเอกสารทางวิชาการเราจะรู้ว่าพื้นที่ราบลุ่มภาคกลางของเรา เกิดจากตะกอนของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งสิ้น มีฟอสซิลของเกสรดอกไม้ พืชป่าชายเลนทับถมยาวขึ้นไปถึงนครสวรรค์ แต่ทุกวันนี้ตะกอนที่พัดพามาใหม่ตกอยู่ใต้เขื่อน ทำให้ทะเลไทยขาดความอุดมสมบูรณ์ไปด้วย เมื่อรวมกับการทำลายป่าชายเลนทำให้เรามีปัญหาน้ำกัดเซาะชายฝั่ง ขณะเดียวกันพอตะกอนตกลงไปใต้เขื่อนมากๆ เขื่อนจะตื้นเขินและใช้งานไม่ได้ในที่สุด”
เหตุผลที่เราเจอแต่ปลานิลและปลาสวาย
เพราะเหตุใดเหตุผลด้านสิ่งแวดล้อม ความอุดมสมบูรณ์ ความมั่นคงทางอาหาร และความหลากหลายทางชีวภาพ ไม่เคยมีผลคัดง้างการสร้างเขื่อนได้ ในมุมของนณณ์ ผู้เป็นทั้งนักธรรมชาติวิทยาและนักธุรกิจกล่าวว่า
“เวลาทำ EIA เรื่อง ‘ความหลากหลายทางชีวภาพ’ กับ ‘คุณค่าการใช้ประโยชน์ของมนุษย์’ จะแยกส่วนกัน แต่เวลาบริษัทรับจ้างทำ EIA ทำ เขามักจะเอาผลกระทบของข้อหนึ่ง มาแก้หรือมาผูกกันกับผลกระทบของข้อสอง เช่น ที่ปากมูล ผลกระทบของข้อหนึ่งคือสร้างเขื่อนแล้ว ปลาหลายร้อยชนิดผ่านไปวางไข่ได้น้อยลง ก็ไปเชื่อมโยงว่าชาวบ้านจะจับปลาได้น้อยลง เพราะฉะนั้นเราจะแก้ด้วยการหาปลามาให้ชาวบ้านจับมากขึ้น จ้างชาวบ้านเลี้ยงปลา เพาะปลามาปล่อยเพิ่มขึ้น ใช้งบประมาณปีหนึ่งหลายสิบล้าน นี่คือการเขียน EIA ซึ่งจริงๆ แล้วมันเป็นคนละเรื่องกันเลย”
“ยังมีนักวิชาการเรื่องนิเวศทางน้ำคิดอย่างนี้อยู่เยอะมาก และทำให้ EIA ผ่านไปได้ ขณะที่ถ้าดู EIA ของต่างประเทศ จะสร้างอะไรสักอย่าง เขาจะดูไปถึงว่า ปลาชนิดนี้ ไข่จะฟักเป็นตัวได้ สมมติด้วยอุณหภูมิ 15 องศาเท่านั้น น้ำต้องไหลอย่างน้อย 15 เมตรต่อวินาที ถึงจะฟักเป็นตัวได้ แล้วปลานี้เป็นปลาใกล้สูญพันธุ์ ดังนั้นถ้าสร้างแล้วส่งผลกระทบต่อปลาสายพันธุ์นี้แม้แต่นิดเดียวจะสร้างไม่ได้ อย่างในอเมริกา พืชหรือสัตว์อะไรก็ตามอยู่ในรายชื่อเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ทำอะไรกระทบมันไม่ได้เลย
“ประเทศเราปลาบึกสูญพันธุ์ไม่เป็นไร เดี๋ยวเพาะปลาสวายมาปล่อย หน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่ในการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำบ้านเราปล่อยปลาบ่อยมาก และปล่อยทีละ 50 ล้านตัว ชาวบ้านขาดรายได้ใช่มั้ย ภาคเอกชนบอก ไม่เป็นไรเดี๋ยวเราจะสร้างกระชังให้ชาวบ้าน จ้างชาวบ้านเลี้ยงปลานิลให้เรา”
ฟังทางออกที่ภาครัฐและภาคเอกชนว่ามา ก็ดูเหมือนได้รับการชดเชยกันตามสมควร เช่นนี้แล้วนักธรรมชาติวิทยาอย่างนณณ์จะเดือดร้อนอะไร เขาตอบว่า
“เรามีปลาน้ำจืดในธรรมชาติกว่า 800 ชนิด แต่เรามีปลาที่เพาะพันธุ์ได้เยอะๆ ที่นิยมปล่อยกันอยู่ไม่กี่สิบชนิดเท่านั้น เรื่องความหลากหลายทดแทนกันไม่ได้เลย แถมเราปล่อยปลากันอย่างผิดระบบนิเวศ ยกตัวอย่าง จ.แม่ฮ่องสอน ธรรมชาติของลุ่มน้ำเป็นลุ่มน้ำสาละวิน เป็นระบบนิเวศแยกจากแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำโขง และนิเวศน้ำจืดอื่นๆ ของไทยมานานมาก ลุ่มแม่น้ำสาละวินมีปลาสวาย ปลาตะพาก ปลาน้ำหมึกของตัวเอง แทบจะไม่ซ้ำกับภาคกลาง กรมประมงเอาปลาสร้อยขาว ปลาตะเพียนขาว ปลากระแห ซึ่งเป็นปลาของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาไปปล่อย โดยเข้าใจว่าสิ่งมีชีวิตต่างถิ่น (alien species) วัดกันที่พรมแดนประเทศ เอ้า! นี่ปลาที่พบในประเทศไทย เอามาปล่อยที่ประเทศไทย แล้วจะผิดตรงไหน ไม่ได้ดูว่า ‘สัตวภูมิศาสตร์’ ของสิ่งมีชีวิตต่างถิ่น ต้องไม่ใช้พรมแดนประเทศ แต่ต้องว่าด้วย ‘การกระจายพันธุ์สัตว์และพืช’ อันนี้ยังไม่รวมที่ปล่อยปลาต่างถิ่นจากประเทศอื่นกันตรงๆ เลย อย่างพวกปลายี่สกเทศ ปลานิลนะครับ ”
นณณ์กล่าวว่าผลจากการปล่อยสัตว์ผิดระบบนิเวศอย่างดีที่สุด คือสัตว์อาจอยู่ไม่ได้แล้วตายไป ซึ่งเป็นการทรมานสัตว์ สิ้นเปลืองงบประมาณ อย่างเลวร้ายที่สุดคือสัตว์นั้นไปชนะสัตว์ท้องถิ่นดั้งเดิม จนสูญพันธุ์แล้วอยู่แทน อย่างกลางๆ คืออยู่ร่วมกันได้ด้วยทรัพยากรจำกัด
“อย่างเขื่อนปากมูลซึ่งผลิตกระแสไฟฟ้าได้ไม่มาก แล้วทะเลาะกันทุกปี จะเปิดประตูเขื่อนหรือไม่เปิด จะเปิดเมื่อไหร่ เกิดวัฒนธรรมใหม่ว่าพอเขื่อนเปิดตูม ปลาพ่อแม่พันธุ์จะออกันอพยพ แล้วชาวบ้านกรูไปจับกัน ซึ่งโดยปรกติแล้วปลาจะทยอยอพยพ ไม่ได้อพยพพร้อมกันแล้วโดนจับทีละมากๆ ทำให้ปลายิ่งลดน้อยลงไป กรมประมงจึงปล่อยกุ้งก้ามกรามมาเพิ่มจำนวนสัตว์น้ำ โอเค เป็นสัตว์ท้องถิ่นของไทย ปล่อยไปแล้วอยู่ได้ โต ชาวบ้านจับขายได้เงินเป็นเรื่องเป็นราว แต่โดยธรรมชาติกุ้งก้ามกรามไม่ได้อยู่ตรงนั้น กุ้งก้ามกรามคือกุ้งที่อยู่ปากแม่น้ำ ต้องอยู่ในน้ำกร่อยๆ กินพืชน้ำและสัตว์เล็กชายฝั่งต่างๆ เราจะไม่เห็นลูกกุ้งก้ามกรามมาอยู่ที่ปากมูลหรือน้ำโขงที่สูงขนาดนั้น พอเอามาปล่อยกุ้งก้ามกรามต้องกินปลาท้องถิ่น สัตว์น้ำท้องถิ่นของแม่น้ำโขงไปเท่าไหร่?
“ในประเทศที่ใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด อย่าว่าแต่เอาปลาข้ามลุ่มน้ำ อุปกรณ์ประมงเขายังไม่ให้เอาข้ามลุ่มน้ำเลยครับ เพราะมีโอกาสติดไข่ ติดลูกปลาตัวเล็กๆ ไปได้ ส่วนในประเทศไทยคนปล่อยสัตว์ผิดระบบนิเวศมากที่สุดคือหน่วยงานรัฐ ชาวบ้านเราไม่มีปัญญาซื้อปลา 50-60 ล้านตัวมาปล่อยหรอกครับ”
นณณ์กล่าวว่าทุกวันนี้เขาทำวิจัยเรื่องปลาน้ำจืด เวลาเห็นภาพปลาในตลาด มองปร๊าดเดียวก็จะพอเดาได้แล้วว่านี่คือปลาจากลุ่มน้ำไหน แต่กลายเป็นว่าทุกวันนี้ เขามองดูแล้วงงงวย เพราะบางครั้งมีปลาจากสารพัดลุ่มน้ำในแผงปลาแผงเดียว ทั้งสาละวิน เจ้าพระยา โขง อาฟริกา ฯลฯ
“เราควรซีเรียสถึงระดับพันธุกรรม คือแม้แต่ปลาตะเพียนจากลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ปลาตะเพียนขาวแม่น้ำโขง มันก็ไม่ควรเอาไปปล่อยข้ามลุ่มน้ำ มันควรจะซีเรียสถึงขนาดนั้น แต่เราไม่เข้าใจ ผมก็พยายามสื่อสารอยู่ ประเทศที่พัฒนาแล้วมีตัวเลขความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจและระบบนิเวศ จากการปล่อยพืชและสัตว์ที่ปล่อยผิดระบบนิเวศแพงมาก ประเทศไทยเอง หอยเชอร์รีตัวเดียว หรือผักตบชวาชนิดเดียวเสียหายกันไปมากมายต่อปี”
ความยอกย้อนซ่อนเงื่อนใน EIA
“พื้นฐานของผมเป็นนักธุรกิจ ปริญญาตรีกับปริญญาโทผมจบบริหารธุรกิจ ปริญญาเอกผมจบวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม เวลาผมอ่าน EIA ผมอ่านได้ทั้งเล่ม ทั้งส่วนผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและส่วนเศรษฐศาสตร์ อย่างกรณีเขื่อนแม่วงก์ สรุปว่าอ่านแล้วไม่สมเหตุสมผลสักส่วน ส่วนของสิ่งแวดล้อมก็ไม่ครบถ้วน ส่วนเศรษฐกิจดูกันจริงๆ ก็ไม่คุ้ม”
นณณ์กล่าวถึงเขื่อนแม่วงก์ หนึ่งในหลายเขื่อนที่เขามีโอกาสได้อ่าน EIA ด้วยบทบาทของการเป็นคณะกรรมการวิชาการพื้นที่ชุ่มน้ำ นณณ์กล่าวว่าบทบาทของคณะกรรมการฯ นี้อ่อนแรงลงนับตั้งแต่หลังน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ที่เกิดการปฏิบัติงานในภาวะเร่งด่วนแล้วลัดข้ามขั้นตอนการรับฟังเสียงของคณะกรรมการฯ ไปหลายโครงการ สืบเนื่องมาถึงช่วงหลังรัฐประหารที่เข้าสู่ภาวะง่อยเปลี้ยเสียขา
“ใน EIA ของเขื่อนแม่วงก์ เขาจะเอามูลค่าของการแก้ปัญหาน้ำท่วม การเพิ่มขึ้นของพืชเกษตรที่จะปลูกได้ และมูลค่าของป่าปลูกทดแทนที่กว้างใหญ่มากมารวมเป็นผลประโยชน์ของเขื่อน ซึ่งพื้นที่ปลูกป่านี่ก็ไม่ชัดเจนว่าจะปลูกตรงไหนยังไง การคำนวณมูลค่าผลประโยชน์จากป่าก็แปลกๆ และทั้งหมดนี้เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายแล้วยังปริ่ม เป็นการลงทุนที่โคตรจะไม่คุ้ม ผมถามรัฐบาลในยุคนั้นว่า ถ้าเป็นธุรกิจครอบครัวคุณจะทำไหม?
“ตัว EIA มีทริกประหลาดๆ เยอะมาก ล่าสุดผมอ่าน EIA ของเขื่อนวังหีบ จ.นครศรีธรรมราช ใน EIA มีส่วนหนึ่งเขียนไว้ใจความว่า ลำธารวังหีบเป็นแหล่งน้ำขนาดเล็ก ตื้น และมีน้ำไหลแรง ไม่เหมาะสำหรับการอาศัยของสัตว์น้ำ ผมรู้สึกว่านี่คือการบรรยายลักษณะลำธารปกติเลย ผมดูภาพคลองวังหีบ ก็สวยดี พื้นที่ริมน้ำก็ดูดี ผมไปวังหีบเลยแล้วลงดำน้ำดู ปลาเยอะมาก เจอตะพาบ กบ เขียดเยอะแยะ เป็นแหล่งน้ำที่ระบบนิเวศแม่งดีชิบหาย เป็นลำธารที่สมบูรณ์ที่สุดลำธารหนึ่งตั้งแต่เคยเห็นมาในชีวิต แต่ EIA กลับเขียนว่าเป็นระบบนิเวศที่ไม่เหมาะกับการอาศัยของสัตว์น้ำ บอกว่าไม่สมบูรณ์ แล้ว EIA นี้ผ่านการพิจารณาของคณะผู้ชำนาญการที่ สผ.มาแล้วด้วยนะครับ
“ผมเรียนวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมมา สิ่งที่ครูสอนผมตลอดคือ ระบบนิเวศใดๆ ก็ตาม ที่ธรรมชาติสามารถช่วยตัวเองได้อยู่แล้ว อย่าไปทำให้พัง ให้ต้องพึ่งพามนุษย์ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับระบบนิเวศบ้านเราแทบทุกอย่างขัดกับหลักการนี้เกือบทั้งหมด”
ปลาไม่ได้น่ารักเหมือนหมีแพนด้า
ย้อนไปในช่วงการคัดค้านเขื่อนแม่วงก์ ได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากคนไทย นณณ์กล่าวว่าเขื่อนไซยะบุรีในลาว สร้างอยู่เหนือไทยไม่ไกล และสร้างขึ้นเพื่อผลิตไฟฟ้าส่งมาขายไทย กลับได้รับความสนใจจากคนไทยน้อยอย่างน่าใจหาย
“ตอน อ.ศศิน เฉลิมลาภ ปลุกคนขึ้นมาต่อต้านเขื่อนแม่วงก์ได้อย่างเป็นเรื่องเป็นราว อีกฝั่งหนึ่งพวกผมกับเพื่อนๆ นั่งประชุมกัน บอกพวกเราแม่งเฟลมากเลยว่ะ อ.ศศินคนเดียวปลุกแม่วงก์ขึ้น เราสี่คนพยายามจะปลุกไซยะบุรี ที่ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมเลวร้ายกว้างไกลกว่าแม่วงก์ กลับปลุกไม่ขึ้น ไม่เป็นกระแส คนไม่สนใจเลย”
เมื่อถามนณณ์ว่าเพราะอะไรคนไทยส่วนใหญ่ถึงไม่สนใจไซยะบุรี เขาวิเคราะห์ว่า
“ผมว่าแม่วงก์จับต้องง่ายกว่า อยู่ประเทศไทย เป็นเรื่องของเสือ ป่าตะวันตก ขณะที่เขื่อนไซยะบุรีเป็นเรื่องของปลาแค้ ปลายี่สก ปลาสร้อย หน้าตาเป็นยังไงก็ไม่รู้ อยู่ในน้ำขุ่นๆ คนไม่ได้ให้ความสนใจสัตว์พวกนี้มากเท่าเสือหรือหมีแพนด้า จริงๆ แล้ว ปลาน่าน้อยใจ แม้แต่ WWF เองยังประชด เขาทำโฆษณารณรงค์งดล่า Bluefin Tuna โดยเอา Bluefin Tuna มาสวมหน้ากากหมีแพนด้า แล้วบอกว่า Would you care, if we are cute? หรือแม้แต่ล่าสุดโฆษณาหนึ่งเป็นรูปเรือประมง ถ่ายภาพจากด้านบน เห็นอวนเลือดท่วม ยกขึ้นมาเป็นหมีแพนด้าดิ้นเต็มไปหมด”
นณณ์กล่าวว่าสำหรับเขื่อนไซยะบุรี สัตว์หนึ่งที่จะได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนไซยะบุรีคือปลาบึก เพราะเชื่อว่าเป็นจุดที่ปลาบึกวางไข่
“ปลาบึกประชากรตอนบนจะอพยพผ่านจังหวัดเชียงราย ปลาบึกตรงนั้นเป็นปลาบึกท้องแก เป็นปลาบึกที่พร้อมผสมพันธุ์แล้ว มีไข่สมบูรณ์ แสดงว่ามันต้องขึ้นไปอีกไม่มากเพื่อไปวางไข่ ซึ่งน่าจะอยู่แถวไซยะบุรี เพราะเป็นจุดที่น้ำเริ่มตื้นลงแล้วมีหาดกรวด น่าจะเหมาะสมกับการผสมพันธุ์ของปลาสกุลนั้น ถ้าเราไปสร้างเขื่อนกั้น ถมหาดกรวดตรงนั้น หนึ่งปลาผ่านไม่ได้ สองระบบนิเวศเดิมหมดไป ปลาบึกก็จะหมด ถามว่าปลาบึกจะสูญพันธุ์จากโลกมั้ย ไม่สูญพันธุ์หรอก เพราะเราผสมเทียมได้แล้ว อยู่ในบ่อ อยู่ในอ่างเก็บน้ำ เจริญพันธุ์ของมันไปได้ แต่ไม่เหลืออยู่ในแม่น้ำโขง ต้องคอยไปปล่อยเรื่อยๆ ใช้งบประมาณในการเพาะเลี้ยง แล้วก็ปล่อยอยู่อย่างนั้น นานวันเข้า อาจจะมีปัญหาเลือดชิด พิกลพิการไปในที่สุด
“ปลานี่โคตรลูกเมียน้อยเลยนะ ผมทำงานด้านปลาน้ำจืด บางทีจิตตก เพราะเราไม่สามารถสื่อสารให้คนทั่วไปเข้าใจ เห็นความสำคัญของระบบนิเวศนี้ได้เลย พูดได้เต็มปากว่าแหล่งน้ำจืดในบ้านเราตอนนี้สภาพแย่ที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทยเลย”
เขื่อนและสหาย
ไม่ใช่เพียงแค่สัตว์ป่าและปลาที่หายไปใต้ผืนน้ำเรียบนิ่ง วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป การเรียกค่าไถ่ การค้ามนุษย์ การค้าสัตว์ป่า การอุ้มหายผู้คัดค้านเขื่อน ความยากจน การเกิดผู้อพยพ ฯลฯ คือสิ่งที่ตามมาหลังจากระบบนิเวศที่สมบูรณ์และแหล่งทำมาหากินของผู้คนหายไป ดังที่นณณ์กล่าวว่า
“เขื่อนไม่ได้พังเฉพาะจุดที่น้ำท่วม มันพังเลยลงมาอีกยาวมากๆ แล้วแต่ขนาดของเขื่อนว่าใหญ่แค่ไหน ชาวบ้านไม่มีสิทธิ์เลือกว่าเขาจะอยู่ยังไง จะจับปลาเครื่องมือประมงก็ไม่เหมือนเดิมแล้ว เครื่องมือประมงของแหล่งน้ำไหลกับเครื่องมือประมงน้ำนิ่งใหญ่ๆ ไม่เหมือนกัน วิธีการไม่เหมือนกัน องค์ความรู้ไม่เหมือนกัน”
นณณ์ยกตัวอย่างของ อ.เชียงของ จ.เชียงราย ซึ่งเมื่อก่อนมีหมู่บ้านชาวประมง มีการจับปลาบึก แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีอีกแล้ว และริมตลิ่งต้องดาดปูนเพราะน้ำไหลแรง
“เขื่อนนำพาไปถึงการล่าสัตว์ อย่างตอนแม่วงก์ เขาบอกว่าถ้าสร้างเสร็จจะทำให้ควบคุมการล่าได้ง่ายขึ้น เอาสถิติมาดูได้เลย 10 เขตอนุรักษ์ฯ ที่มีการล่าสูงสุด เป็นเขตอนุรักษ์ที่ติดเขื่อนเกือบทั้งนั้น ป่าที่เคยอยู่ลึกข้างใน ต้องเดินเท้าหลายวัน มันเข้าถึงง่ายขึ้น เปลี่ยนเอาเรือต๊อกๆ เข้าไป บอกว่าจะไปจับปลา แล้วไปล่าสัตว์
“ผมไปจังหวัดเลย ชาวบ้านที่จับปลาอยู่ตรงแก่งสะพือเล่าให้ฟังว่าจอดเรืออยู่ดีๆ เขื่อนปล่อยน้ำมาทั้งที่เป็นฤดูกาลที่ไม่ควรมีน้ำไหลแล้ว เรือเขาไปติดอยู่ที่ฝั่งลาว ไปเอาก็โดนคนลาวเรียกค่าไถ่”
ลาวได้รับฉายาว่าเป็น ‘แบตเตอรีแห่งอาเซียน’ ด้วยการสร้างเขื่อนขึ้นหลายแห่งและส่งไฟฟ้ามาขายยังประเทศเพื่อนบ้าน โดยมีไทยเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ ในขณะที่เขื่อนสร้างปัญหาให้ประชาชนชาวลาวมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการถูกอุ้มหายของ NGO ชาวลาวอย่าง สมบัด สมพอน ซึ่งคัดค้านการสร้างเขื่อน มีนายหน้าค้ามนุษย์ชาวจีนเข้าถึงพื้นที่ที่เคยห่างไกลของลาวที่ถูกนำร่องด้วยการสร้างเขื่อน แล้วล่อลวงหญิงสาวไปค้าบริการทางเพศ และหลายรายจบลงด้วยการค้าอวัยวะ สภาพสังคมที่ล่มสลายนี้ ทำให้ยากจะเชื่อว่าชาวลาวยังคงมองดู ‘การพัฒนา’ หรือแม้แต่ ‘ประเทศไทย’ ด้วยสายตาเช่นเดิม
“เด็กลาวมีปัญหาเรื่องการเจริญเติบโต ขาดโปรตีน และส่งผลต่อคุณภาพของคนของเขา ซึ่งพอคนมีปัญหาก็ส่งผลต่อการพัฒนาประเทศ รายได้จากเขื่อนที่เข้าไปในประเทศของเขา ไม่ได้กระจายออกไปทั่วถึงให้กับทุกคน กระจุกตัวอยู่กับรัฐบาล กับบริษัทใหญ่ที่เป็นเจ้าของโครงการ กำไรส่งเงินกลับมาให้ผู้ถือหุ้นในไทย ในจีน เอามาใช้หนี้ให้กับธนาคารในไทย มันไม่ได้เข้าไปหาเขาจริงๆ”
นณณ์กล่าวถึงโครงสร้างการถือหุ้นของเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย ซึ่งใช้เงินลงทุนโดยการกู้มูลค่า 22,000 ล้านบาท เป็นสินเชื่อร่วม (Syndication loan) ของสถาบันการเงินไทย 4 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และธนาคารธนชาติ โดยเป็นการร่วมทุนของกลุ่มบริษัทจากเกาหลีใต้ ลาว และไทย นั่นคือบริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ซึ่งถือหุ้นร้อยละ 25
“คุณไปทำให้คนเขาจน ทำให้คนเขาลำบาก แล้วเขาไปไหน อพยพมาไทยหรือเปล่า ในพม่าก็มีปัญหาเรื่องจะสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำสาละวิน เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนของชนกลุ่มน้อย การเผาทำลายบ้านเรือนเพื่อสร้างเขื่อน มีผลทั่วถึงกัน ซึ่งใช้ทุนจากไทย ผลิตไฟฟ้ามาขายไทย คนไทยใช้ไฟฟ้ายูนิตถูกๆ แล้วผลักภาระไปให้คนเหล่านี้ มันถูกหรือ?”
แบตเตอรีที่ไทยไม่ยอมสร้างด้วยตัวเอง
“อย่างกรณีเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยพัง ย้อนกลับมาว่าเขื่อนนี้สร้างขึ้นเพื่อเอามาผลิตกระแสไฟฟ้าขายประเทศไทย พอย้อนกลับไปดูประเทศไทย ผมพบว่าเรายังไม่สนับสนุนการพัฒนาพลังงานทางเลือกทั้งที่มีศักยภาพมาก
“เนื่องจากผมอยู่ในอุตสาหกรรมน้ำตาล สิ่งหนึ่งที่เราผลิตกันเป็นหลักนอกจากน้ำตาลคือไฟฟ้า จากเดิมเราออกแบบบอยเลอร์ให้เผากากอ้อยให้หมดไปพอดีๆ จะได้ไม่เดือดร้อนหาที่ทิ้ง จนมาวันหนึ่ง กฟผ. ซื้อไฟฟ้าจากโรงงานไฟฟ้าชีวมวล ผู้ลงทุนจึงปรับปรุงบอยเลอร์ของตัวเอง ให้มีกากอ้อยเหลือมาผลิตกระแสไฟฟ้า
“โรงงานของผมไม่ได้ซื้อไฟฟ้าใช้เลย โรงงานน้ำตาลทั้งประเทศไทยเป็นอย่างนี้หมด คือเราใช้ไฟจากกากอ้อย เหลือแล้วยังเอามาปั่นไฟขายได้อีก โรงงานน้ำตาลของผมหนึ่งโรงงาน ผลิตไฟฟ้าได้ในระดับ 15 เม็กกะวัตต์ต่อวัน ใช้ได้พอทั้งจังหวัดเล็กๆ จ.แม่ฮ่องสอน นี่แค่ของผมโรงเดียว ยังมีโรงอื่นอีกซึ่งทำได้ แต่ตอนนี้ กฟผ. กลับไม่รับซื้อแล้ว อย่างทางอีสานอ้างว่าภาคอีสานไฟฟ้าพอแล้ว เพราะเรารับไฟจากโรงไฟฟ้าถ่านหินหงสา รับไฟฟ้าจากเขื่อนลาวเข้ามาเต็มไปหมด ทุกวันนี้โรงงานใหม่ๆ ขายไฟฟ้าเข้าระบบไม่ได้แล้ว ทั้งที่ผลิตได้มาก”
นณณ์กล่าวว่าโรงงานน้ำตาลภาคอีสานเป็นแค่ตัวอย่างเดียว ที่มีศักยภาพแต่ไม่ได้รับการปลดปล่อยให้เป็นแหล่งพลังงาน การรวมศูนย์การจัดการพลังงาน โดยเฉพาะสายส่งไฟฟ้า เป็นอุปสรรคหลักสำคัญที่สุดที่ทำให้พลังงานทางเลือกต่างๆ ไม่ได้เติบโต เพราะผลิตได้แล้วส่งเข้าระบบไม่ได้ ในขณะที่ไฟฟ้าที่ไหลเวียนอยู่ในระบบของประเทศไทยขณะนี้ มาจากเขื่อน โรงไฟฟ้าถ่านหิน และพลังงานอื่นที่มองเผินๆ คล้ายจะมีต้นทุนต่ำ แต่นั่นคือต้นทุนที่ยังไม่ได้คิดคำนวณมูลค่าของชีวิต ทรัพยากรธรรมชาติ และความเสียหายทางสังคมอีกมากมาย
“ทุกวันนี้เขื่อนลาวสร้างแล้วเอาไฟมาขายไทย บริษัทไทยไปลงทุน ธนาคารไทยเป็นคนให้กู้ เพราะฉะนั้นคนไทยมีส่วนเต็มๆ เขาเอาเงินคุณไปลงทุนแบบนี้ คุณมีสิทธิ์ถามหาความรับผิดชอบ ผมว่าเป็นหน้าที่ของบริษัทที่ต้องเสนอเยียวยาแก้ไข เป็นหน้าที่ของคนไทย ของผู้ถือหุ้นคนไทยทุกคน แม้แต่คนใช้ไฟฟ้า ทุกคนต้องถามว่านี่คือสิ่งที่เราต้องการจริงๆ หรือ เราไม่เอาเขื่อนในไทย เราไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินในไทย แล้วเราผลักภาระไปให้เพื่อนบ้านเราอย่างนั้นหรือ ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมไม่ได้ข้ามมาไทยจริงๆ หรือ
“อีกส่วนที่สำคัญคือ การสื่อสารของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ซึ่งคอยสื่อสารว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินดี การสร้างเขื่อนดี โดยไม่ได้ทำหน้าที่ฝั่งวิชาการที่ถูกต้อง นั่นคือการชี้แจงให้ประชาชนทราบว่าพลังงานราคาถูกมีค่าใช้จ่ายทางอ้อมเกิดขึ้นอย่างไร ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนและสิ่งแวดล้อมอย่างไร แน่นอนว่าพลังงานหมุนเวียนมีค่าใช้จ่ายที่แพงกว่า แต่คุณก็ขาดการชี้แจงว่า สิ่งแวดล้อมไม่เสียหาย ไม่ส่งผลต่อสุขภาพ ไม่เบียดเบียนเพื่อนบ้าน ลดขยะ เพิ่มรายได้เกษตรกร ฯลฯ นี่คือหน้าที่ทางสิ่งแวดล้อมของคุณ”
ชีวิตนักธุรกิจและนักธรรมชาติวิทยา
ทุกวันนี้นณณ์ไม่มีรถแพงๆ ขับ แต่เขามีรถไว้ตัดอ้อยคันละ 14 ล้าน อยู่ร่วม 30 คัน เพราะรู้ว่าการเผาอ้อยก่อให้เกิดมลพิษ แต่เขาก็บอกว่าจะให้เขาซื้อรถอย่างนั้นคราวเดียว 200 คัน คงทำทันทีไม่ได้ ขณะเดียวกันเขาได้เพียรพยายามค้นคว้าหาข้อมูลและถ่ายภาพปลา เพื่อจัดทำหนังสือเชิงอนุกรมวิธาน (taxonomy) จำแนกปลาน้ำจืดในประเทศไทยกว่า 800 สายพันธุ์ออกมา ซึ่งความรู้ด้านอนุกรมวิธานนี้เป็นอีกองค์ความรู้ที่ขาดหายไปจากสังคมไทย
“การกระทำใดๆ ก็ตามในโลกนี้ ตั้งแต่เราหายใจ กินข้าว ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งนั้น การทำธุรกิจซึ่งเป็นกิจกรรมขนาดใหญ่ของมนุษย์ยังไงก็ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพียงแต่ว่าในที่สุดแล้ว อยู่ที่ว่าเราพร้อมลดรอยเท้าทางนิเวศของเราให้น้อยลงที่สุดยังไง ซึ่งทำได้หลายวิธี และเทคโนโลยีในยุคนี้สามารถทำได้ เราไม่ได้อยู่ในยุคที่ไม่มีเทคโนโลยีทางเลือก หรือไม่มีความรู้ทางด้านระบบนิเวศ ความรู้ทางด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เรามีความรู้แล้ว” : นณณ์ในฐานะนักธุรกิจผู้ลงทุนในระบบกำจัดของเสียที่โรงงานน้ำตาลอย่างต่อเนื่องทุกปีกล่าว
“จะมีคำพูด ของ E.O. Wilson บอกว่า ในประเทศหนึ่งมีทรัพยากรอยู่สามอย่างที่สำคัญ หนึ่งทรัพยากรด้านการเงิน สองทางด้านสังคมและวัฒนธรรม สามคือความหลากหลายทางชีวภาพ สองอย่างแรกถ้าเรามีทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพ สร้างได้ แค่อย่างที่สามสร้างไม่ได้ แต่ละประเทศได้มาไม่เท่ากัน ใครเรียนรู้ที่จะใช้ประโยชน์ได้มากที่สุดจะเป็นประเทศที่พัฒนาไปได้อย่างต่อเนื่อง และประเทศไทยอยู่ในจุดที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมาก” : นณณ์ในฐานะนักวิชาการสายปลาน้ำจืด ผู้ดำผุดดำว่ายไปในแม่น้ำและลำธารเกือบทุกสายในประเทศไทยกล่าว