fbpx
หุบเขาเร้นรัก : ดิว ไปด้วยกันนะ

หุบเขาเร้นรัก : ดิว ไปด้วยกันนะ

‘นรา’ เรื่อง

หุบเขาเร้นรัก : ดิว ไปด้วยกันนะ

ดิว ไปด้วยกันนะ ผลงานกำกับและเขียนบทเรื่องล่าสุดของชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล ดัดแปลงจากหนังเกาหลีปี 2001 เรื่อง Bungee Jumping of Their Own กำกับโดยคิม แด ซึง

ผมเคยดูหนังเกาหลีที่เป็นต้นฉบับ แต่เวลาก็ผ่านมาเนิ่นนานมากจนจำอะไรไม่ได้เลย บางครั้งก็ถึงขั้นไม่แน่ใจเสียด้วยซ้ำว่า เคยดูมาก่อนหรือเปล่า?

จนกระทั่งดู ดิว ไปด้วยกันนะ จบลง ผมก็ได้คำตอบว่า เคยดูหนังเกาหลีมาแล้วแน่นอน ทั้งๆ ที่ยังจำรายละเอียดใดๆ ในเรื่องเดิมไม่ได้เลย

สิ่งเดียวที่ทำให้รำลึกนึกได้คือ มีเงื่อนไขบางอย่างที่เป็นความลับสำคัญของหนัง ซึ่งเมื่อครั้งที่ดูหนังฉบับเกาหลี ผมมีความติดข้องค้างคาใจและไม่ยอมรับ จนกลายเป็นสาเหตุใหญ่ที่ทำให้รู้สึกเฉยๆ ไม่ได้ประทับใจอะไรไปกับตัวหนังอย่างที่ควรจะเป็น

เงื่อนไขดังกล่าวยังคงมีอยู่ใน ดิว ไปด้วยกันนะ และทำท่าว่าจะย้อนรอยเดิม คือ นำมาซึ่งความรู้สึกติดขัด สะดุด และเกิดอาการไม่ยอมรับตัวหนังในเบื้องต้น แต่จากประสบการณ์ของผม หรือจะเรียกให้ไพเราะสละสลวยยิ่งขึ้นว่า ความแก่เก๋าเจริญอายุ ก็ทำให้ไหวตัวทันพอที่จะรู้ว่า ความสนุกหรือไม่สนุก ความชอบหรือไม่ชอบ ตลอดจนความดีหรือไม่ดีของหนัง ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจว่าจะ ‘ซื้อ’ หรือ’ไม่ซื้อ’เงื่อนไขที่หนังนำเสนอ

ผมจึงซื้อและปลงใจเชื่อ ยินดีคล้อยตามไปกับตัวหนัง โดยละเว้นข้ามผ่าน ‘ความเป็นไปได้’ หรือความเป็นเหตุเป็นผลต่อเงื่อนไขของหนัง แล้วเมื่อดูจบลง ความรู้สึกต่างๆ โดยรวมที่มีต่อตัว ดิว ไปด้วยกันนะ ก็ปรากฏออกมาเป็นด้านบวก รวมทั้งมองเห็นว่า เงื่อนไขอันยากแก่การทำใจให้เชื่อและยอมรับนั้น ได้ทำหน้าที่สำคัญอย่างหนึ่ง คือ การอธิบายขยายความแก่นสารสาระสำคัญ เพื่อตอกย้ำถึงความรักความสัมพันธ์อันลึกซึ้งระหว่างตัวละคร จนสามารถมองข้ามก้าวผ่านความเป็นเพศหญิงหรือเพศชาย

ผมควรบอกใบ้อ้อมๆ แบบไม่เปิดเผยความลับในหนัง และพยายามที่จะไม่ให้เป็นการชี้นำจนเกินควรไว้ด้วยนะครับว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เงื่อนไขข้างต้นนี้ กลายเป็นโจทย์ยาก เป็นเพราะว่าที่ทางการมีอยู่ของมันนั้น ค่อนข้างจะแปลก เมื่อมาปรากฏอยู่ในหนังดรามาที่มีเค้าโครงเหตุการณ์ น้ำเสียงท่าทีในการบอกเล่า และโทนเรื่องที่เป็นจริงเป็นจัง

พูดง่ายๆ เงื่อนไขเหลือเชื่อทำนองนี้ ถ้าบรรจุอยู่ในหนังแอนิเมชันของมากาโตะ ชินไก จะกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดา ผู้ชมสามารถคล้อยตามไปได้อย่างง่ายดายและสนิทใจ

กล่าวโดยรวม มันเป็นเงื่อนไขที่อาจส่งผลให้ผู้ชมรู้สึกชอบหรือไม่ชอบตัวหนัง คำพูดทำนองว่า ‘แล้วแต่จิตศรัทธาของญาติโยมสาธุชน’ นั้น ตรงและเหมาะเจาะเป็นที่สุด มันเป็นเอกสิทธิพิเศษเฉพาะของผู้ชมแต่ละท่านสามารถตัดสินใจเลือกรู้สึกอย่างไรก็ได้ตามอัธยาศัย

แต่ที่ไม่น่าจะเกี่ยวคือ เงื่อนไขนี้ไม่น่าจะมีผลกระทบต่อคุณภาพของหนัง พูดง่ายๆ คือ เราท่านอาจจะชอบหรือไม่ชอบเรื่องที่หนังกำลังบอกเล่า แต่ท้ายที่สุดแล้ว เรื่องเล่าที่เราอาจจะไม่ชอบ ยังจำแนกแยกแยะได้อีกว่า หนังเล่าออกมาได้ดีหรือด้อยเพียงไร

กรณีของ ดิว ไปด้วยกันนะ ผมคิดว่า หนังเล่าเรื่องที่เราอาจจะชอบหรือไม่ชอบ ออกมาได้ดีน่าพึงพอใจ

ประเด็นต่อมา ซึ่งผมคิดว่าน่าสนใจและเป็นส่วนที่ผมชอบมาก คือ การสมมติสถานที่อันเป็นฉากหลังกำหนดเหตุการณ์หลักๆ ส่วนใหญ่เกิดขึ้น ที่เมืองเล็กๆ ในหุบเขาอันมีชื่อเรียกว่า ‘ปางน้อย’

ความน่าสนใจและการมีบทบาทสำคัญของ ‘ปางน้อย’ ไม่ได้อยู่ที่ว่า สถานที่นี้มีจริงหรือไม่มีจริง แต่อยู่ที่ลักษณะทางกายภาพ สังคมและชีวิตความเป็นอยู่ รวมถึงทัศนคติของผู้คนส่วนใหญ่

ปางน้อยเป็นเมืองชนบทเล็กๆ เงียบสงบ ทิวทัศน์สวยงาม ห่างไกลแสงสีและความเจริญ ผู้คนรู้จักคุ้นหน้าค่าตากันแทบทั้งหมด จนเรื่องราวใดที่เกิดขึ้นกับใครสักคน ก็จะกลายเป็นที่รู้กันทั่วในเวลาอันรวดเร็ว

หุบเขาเร้นรัก : ดิว ไปด้วยกันนะ

หนังเล่าเรื่องโดยแบ่งออกเป็น 2 ช่วงเวลาที่แตกต่างกัน ครึ่งเรื่องแรกเป็นเหตุการณ์ในปี 1996 คาบเกี่ยวถึงปี 1997 ดิวเด็กหนุ่มวัย 17 ปี ย้ายจากตัวเมืองเชียงใหม่มาที่ปางน้อย พร้อมกับแม่ที่เป็นข้าราชการ และได้เจอะเจอกับภพ เพื่อนร่วมโรงเรียนรุ่นราวคราวเดียวกัน ซึ่งเติบโตในครอบครัวคนจีนที่เลี้ยงดูลูกอย่างเข้มงวด

หนังเล่าถึงความสัมพันธ์ที่พัฒนางอกงามอย่างรวดเร็วระหว่างตัวเอกทั้งสอง โดยเปิดเผยให้ผู้ชมทราบตั้งแต่ต้นว่า นี่เป็นเรื่องราวความรักระหว่างเพศเดียวกัน

พร้อมๆ กันนั้น หนังก็กำหนดให้ช่วงเวลาดังกล่าว มีเหตุโรคเอดส์กำลังแพร่ระบาดที่ปางน้อย ทางโรงเรียนได้รับนโยบายจากเบื้องบนให้ช่วยกวดขันสอดส่อง จนเกิดโครงการนำนักเรียนที่มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศ ไปเข้าศูนย์บำบัด ซึ่งมีทั้งหมอ จิตแพทย์ และทหาร ทำหน้าที่ดูแล

เมื่อประกอบรวมกับรายละเอียดต่างๆ ที่หนังเล่าในเวลาถัดมา รวมถึงอิทธิพลของสภาพสังคมในปางน้อย ความสัมพันธ์ของดิวกับภพ จึงกลายเป็นเรื่อง ‘รักต้องห้าม’ ที่ต้องปกปิดซ่อนเร้นไม่ให้ใครล่วงรู้

ความกดดันจากสังคมรอบข้าง มีผลอย่างยิ่งทำให้ภพ ผู้ใฝ่ฝันปรารถนา ‘อยากจะเป็นเหมือนคนอื่น’ ในแง่การยอมรับและการปฏิบัติตอบจากผู้คนส่วนใหญ่ (ซึ่งพูดอย่างตรงไปตรงมา คือ  มีอคติ ไม่ยอมรับและรังเกียจผู้มีพฤติกรรมรักร่วมเพศ) เกิดความสับสนลังเลและหวาดกลัว กลายเป็นสาเหตุให้ทะเลาะขัดแย้งกับดิวอยู่บ่อยครั้ง จนกระทั่งนำไปสู่เหตุการณ์ลุกลามบานปลายใหญ่โตเกินกว่าจะควบคุม

ท้ายที่สุด ตัวละครก็พบว่า ปางน้อยไม่ใช่ที่สำหรับพวกเขา จึงตัดสินใจนัดกันหนีให้พ้นไปจากสภาพชีวิตที่นั่น แต่เรื่องก็จบลงโดยภพเป็นคนเดียวที่ได้ออกเดินทาง

ครึ่งเรื่องหลัง เล่าถึงเหตุการณ์ที่ปางน้อยปี 2019 ภพในวัยผู้ใหญ่ แต่งงานมีครอบครัวกับหญิงสาวชื่ออร ผ่านความล้มเหลวในการทำธุรกิจที่กรุงเทพฯ หลายครั้งหลายครา จนมีภาระหนี้สินรุงรัง จึงตัดสินใจเดินทางกลับมาใช้ชีวิตที่บ้านเกิด สมัครเป็นครูในโรงเรียนมัธยมที่เขาเคยเรียนมาก่อน

ในชั้นเรียน ภพได้เจอะเจอลูกศิษย์คนหนึ่ง เป็นเด็กสาวชื่อหลิว ซึ่งสร้างความเอือมระอาให้แก่บรรดาครูอื่นๆ ทั้งการทำตัวเกเรไม่ยอมเข้าเรียน ตลอดจนท่าทีกระด้างกระเดื่องขาดสัมมาคารวะต่อผู้ใหญ่

เรื่องราวในภาคปัจจุบัน เน้นไปยังความสัมพันธ์ระหว่างครูกับศิษย์ ซึ่งเริ่มต้นอย่างไม่เป็นมิตร แล้วก็ค่อยๆ คลี่คลายดีขึ้น และโน้มเอียงมีวี่แววไปในทาง ‘รักต้องห้าม’ อีกรูปแบบหนึ่ง ท่ามกลางสภาพรายล้อมของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ปางน้อยเจริญขึ้น มีเทคโนโลยีสมัยใหม่ มีอินเตอร์เน็ต wi-fi สมาร์ทโฟน โซเชียลมีเดีย ไม่ต่างจากที่อื่นๆ ขณะที่ท่าทีทัศนะและความรู้สึกของผู้คนที่มีต่อเรื่องรักร่วมเพศ ดูจะคลี่คลายผ่อนปรนขึ้นกว่าเดิม แต่สิ่งหนึ่งที่ยังคงเดิมไม่แปรเปลี่ยน คือ ความเป็นเมืองเล็กๆ ที่ปราศจากความลับ สิ่งใดๆ ที่เกิดขึ้นกับใครก็ตาม ยังคงเป็นที่ล่วงรู้และโจษจันกันไปทั่วทั้งเมืองอย่างรวดเร็ว (หรืออาจจะเร็วไวกว่าเดิมเสียด้วยซ้ำ ด้วยอิทธิฤทธิ์ของโซเชียลมีเดีย)

หุบเขาเร้นรัก : ดิว ไปด้วยกันนะ

เบื้องต้นนั้น เหตุการณ์ระหว่างอดีตกับปัจจุบัน ดูเหมือนจะแยกขาดเป็นเอกเทศไม่เกี่ยวข้องกัน และมีเพียงตัวละครภพ (กับปางน้อย) เป็นจุดร่วมเชื่อมโยง แต่เมื่อหนังดำเนินเรื่องไปสักพัก รายละเอียดต่างๆ รวมทั้งความลับหลายๆ อย่างที่ค่อยๆ เฉลยออกมาเป็นระยะ ก็เชื่อมต่อประสานทั้ง 2 เหตุการณ์ต่างยุคสมัยเข้าเป็นหนึ่งเดียวกัน

ประเด็นแรกเริ่มสุดของ ดิว ไปด้วยกันนะ เป็นแง่มุมว่าด้วยตัวละครที่มีบาดแผลในวัยเยาว์ และได้รับโอกาสหรือเจอะเจอสถานการณ์ ที่ทำให้หวนกลับไปทบทวนรื้อฟื้นความหลัง เผชิญหน้ากับความทรงจำทั้งดีและร้าย และคลี่คลายสะสางเงื่อนปมต่างๆ ทั้งการสลับเปลี่ยนบทบาทระหว่างการเป็นผู้กระทำและฝ่ายถูกกระทำ ทั้งการเป็นผู้รับและผู้ให้ การขับเคี่ยวกับความรู้สึกผิดในอดีต และที่สำคัญคือ การเรียนรู้จนนำไปสู่ความกล้าที่จะตัดสินใจเลือก ‘เป็นตัวเอง’ แทนการ ‘อยากจะเป็นเหมือนคนอื่น’

แง่มุมต่อมา คือ การให้น้ำหนักไปยังเรื่อง ‘รักแท้’ ที่อยู่เหนือและก้าวข้ามเรื่องการมีสถานะทางเพศ ประเด็นนี้ผมขออนุญาตไม่ลงลึกในรายละเอียด เพราะเกี่ยวโยงกับการเผยความลับหลายๆ อย่างในหนัง

อย่างไรก็ตาม แง่มุมข้างต้นนั้น ตัวหนังได้เล่าสะท้อนออกมาเด่นชัด ท่านผู้ชมสามารถสามารถรับรู้และทำความเข้าใจได้ไม่ยาก

ทั้ง 2 ประเด็นข้างต้น บอกเล่าผ่านการเล่นกับ ‘เวลา’ และ ‘สถานที่’ ซึ่งอาจต้องยกประโยชน์ความดีความชอบให้กับหนังเกาหลีที่เป็นต้นเรื่องเดิม แต่กล่าวเฉพาะแวดวงหนังไทย ดิว ไปด้วยกันนะ ก็เป็นหนังอีกเรื่องที่ใช้ประโยชน์จากเวลาและสถานที่ได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย และโดดเด่นมีประสิทธิภาพมากๆ

ตรงนี้เชื่อมโยงไปถึงเสน่ห์อีกประการของหนัง ซึ่งผู้ชมน่าจะชื่นชอบและมีความสุขเป็นพิเศษในขณะดู นั่นคือ การมีโอกาสได้รำลึกความหลังไปกับบรรยากาศและรายละเอียดต่างๆ ของช่วงทศวรรษ 1990 ทั้งเพลงที่นำมาใช้ประกอบ ข้าวของสิ่งละอันพันละน้อย ความเป็นพีเรียดย้อนยุคนี้ ไม่ได้จัดหนักจัดเต็มเน้นๆ หรอกนะครับ มีอยู่ในปริมาณพอสมควร แต่จังหวะการปรากฏหรือใส่เข้ามาในหนัง ถือได้ว่า มาถูกที่ถูกเวลา

แต่การเล่นกับเงื่อนไขของเวลาและสถานที่ ยังมีอีกบทบาทหน้าที่ ซึ่งเป็นประเด็นที่ผมชอบมากที่สุดในหนังเรื่องนี้ นั่นคือ ความขัดแย้งระหว่างปัจเจกบุคคลกับสังคมรอบข้าง หรือความขัดแย้งของ 3 ตัวละคร ดิว ภพ และหลิวที่ไม่ลงรอยกลมกลืนสอดคล้องไปกับสถานที่อย่างปางน้อย

หุบเขาเร้นรัก : ดิว ไปด้วยกันนะ

ในตำรับตำราทางด้านละครและวรรณกรรมที่ผมเคยอ่านผ่านตามาคร่าวๆ เมื่อนานมาแล้ว ได้มีการสรุปไว้ว่า  พล็อต แก่นเรื่องหรือสาระสำคัญในบทละคร นิยาย หรือหนังส่วนใหญ่ที่มีในโลก อาจเล่าเรื่องและเสนอประเด็นต่างๆ นานาสารพัดสารพัน แต่ถึงที่สุดแล้ว ทุกสิ่งขับเคลื่อนบนพื้นฐานของเงื่อนปมขัดแย้ง ซึ่งสรุปรวบรัดออกมาได้ว่ามีอยู่ไม่กี่ประการ คือ ความขัดแย้งระหว่างบุคคลกับบุคคล ความขัดแย้งระหว่างคนกับธรรมชาติ ความขัดแย้งภายในจิตใจของตัวละครเพียงหนึ่งเดียว และความขัดแย้งระหว่างบุคคลกับสังคมรอบข้าง

พูดอีกแบบคือ ปมขัดแย้งหลักๆ ไม่กี่ประการนี้ สามารถแตกแยกย่อยออกมาเป็นพล็อตเรื่องจำนวนมหาศาล และแง่คิดคติธรรมต่างๆ ได้นับไม่ถ้วน

เรื่องเล่าบางเรื่อง ก็เน้นเฉพาะความขัดแย้งแบบใดแบบหนึ่ง บางเรื่องก็ผสมผสานความขัดแย้งหลายๆ แบบ โดยจัดวางน้ำหนักให้ความสำคัญลดหลั่นกันไป

ดิว ไปด้วยกันนะ ใช้ปมความขัดแย้งทุกอย่างครบถ้วน แต่ที่ผมคิดว่ามีน้ำหนักโดดเด่นสุดคือ ความขัดแย้งระหว่างตัวบุคคลกับสังคมรอบข้าง

ที่เกริ่นมาหลายๆ ย่อหน้า ผมตั้งใจจะบอกว่า การกำหนดหรือสร้างความขัดแย้งในหนังเรื่องนี้ ไม่ได้เป็นของแปลกใหม่ แต่เป็นพื้นฐานคลาสสิกของการสร้างเรื่องเล่าที่มีมาช้านาน ยกตัวอย่างง่ายๆ กับหนังที่มีเงื่อนไขและสาระสำคัญใกล้เคียงกันก็เช่น Brokeback Mountain หรือหนังรักร้าวรานเท่ๆ อย่าง In the Mood for Love ของหว่องกาไว

ทั้ง 2 เรื่องนี้ล้วนใช้ความขัดแย้งระหว่างบุคคลกับสังคมรอบข้างเป็นองค์ประกอบสำคัญ

แต่ที่ผมตั้งใจจะบอกมากยิ่งกว่าก็คือ ดิว ไปด้วยกันนะ เป็นหนังไทยที่นำความขัดแย้งระหว่างตัวบุคคลกับสังคมรอบข้างมาใช้ได้ดีมากๆ ด้านหนึ่งอาจจะเห็นถึงความจงใจอยู่บ้าง แต่ควรต้องให้เครดิตที่นำเสนออกมาได้คมชัด เข้าใจง่าย และไม่ยัดเยียดจนเกินเลย

ปางน้อยในหนังเรื่องนี้ มีหน้าฉากเป็นดินแดนในฝัน ทิวทัศน์สวยงาม เงียบสงบ แต่ยิ่งติดตามเหตุการณ์มากขึ้นเท่าไร ผู้ชมก็จะค่อยๆ รู้สึกว่า ที่นี่ไม่น่าอยู่ และหนักหนากว่านั้นคือ มันกลายเป็นผู้ร้ายตัวจริงของหนัง

เป็นผู้คนที่พำนักอาศัยในสถานที่นั้นนะครับ ที่ทำให้เกิดความไม่น่าอยู่ ไม่ใช่ตัวสถานที่เองโดยลำพัง ทั้งความเป็นสังคมเล็กที่มีลักษณะใกล้ชิด ทั้งพฤติกรรมวางอำนาจของบางตัวละคร เช่น พ่อของภพผู้ดุร้ายเกรี้ยวกราด ครูบางคนที่มีอำนาจในโรงเรียน โครงการศูนย์บำบัดที่ดึงเอาบุคลากรอย่างหมอ จิตแพทย์ และทหารเข้ามามีส่วนร่วม การเย้ยหยันล้อเลียนกลั่นแกล้งและด่าทออย่างสาดเสียเทเสียหยาบคายของเด็กนักเรียนที่มีต่อคนเป็นเกย์ (หนังไม่ได้แสดงให้เห็นว่า ใครเป็นผู้ลงมือกระทำการ bully แต่เล่าให้ผลลัพธ์และผู้ชมทราบชัดว่า กระทำกันอย่างพร้อมเพรียงเป็นหมู่คณะ)

แง่มุมนี้ยังน่าสนใจอีกอย่าง ตรงที่เป็นการสะท้อนภาพสังคมปัจจุบันในทางอ้อม โดยไม่ได้ขีดวงจำกัดเฉพาะเรื่องความเป็นเกย์เท่านั้น แต่ครอบคลุมรวมความไปถึงการที่สังคมโดยรวมโหดร้ายต่อ ‘คนที่แตกต่าง’ ในหลายๆ มิติ

ในแง่นี้ หากจะมองว่า ดิว ไปด้วยกันนะ มีกลิ่นอายความเป็นหนังการเมืองแอบแฝงอยู่ด้วย ก็ไม่เกินเลยจากความเป็นจริงสักเท่าไร แต่ผมก็ต้องแนบพ่วงกำกับความเห็นไว้ด้วยว่า เป็นหนังการเมืองโดยอ้อม ไม่ใช่โดยตรง หลักใหญ่ใจความ ผมยังเชื่อและเห็นว่า เป็นเรื่องของทัศนคติ ค่านิยม และอคติของผู้คนในสังคมมากกว่า

ที่กล่าวมาทั้งหมด อาจชวนให้ผู้อ่านเข้าใจไขว้เขวไปได้ว่า หนังคงเต็มไปด้วยความหนักอึ้งตึงเครียด แท้จริงแล้ว นี่เป็นหนังรักโรแมนติกที่ดูไม่ยาก สนุกชวนติดตาม เต็มไปด้วยจังหวะดรามาดีๆ ที่เร้าอารมณ์สะเทือนใจได้อย่างแม่นยำ มีการแสดงที่ดีจากนักแสดงหลายๆ คน

ที่สำคัญคือ มันเป็นหนังรักที่ความโรแมนติกทำงานดี จนน่าจะได้ขึ้นเงินเดือน

กล่าวโดยรวม ผมคิดว่านี่เป็นหนังไทยในกลุ่มกระแสหลัก ที่มีคุณภาพอยู่ในเกณฑ์ดีและน่าพึงพอใจมากอีกเรื่องหนึ่งในรอบปีนี้

หุบเขาเร้นรัก : ดิว ไปด้วยกันนะ

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save