fbpx
กาลครั้งหนึ่งประเทศไทยของช่างภาพอิสระ ‘นิค นอสติชท์’

กาลครั้งหนึ่งประเทศไทยของช่างภาพอิสระ ‘นิค นอสติชท์’

ธิติ มีแต้ม เรื่อง

เมธิชัย เตียวนะ ภาพ

 

เกิน 20 ปีที่ Nick Nostitz หนุ่มเยอรมันใช้ชีวิตในเมืองไทย

ทั้งในฐานะแบ็คแพ็คเกอร์ นายแบบโฆษณา และสื่อมวลชนอิสระ มีกล้องถ่ายรูปและมอเตอร์ไซค์เป็นคู่ชีวิตรองจากภรรยาและลูก

นอกจากวิชาชีพสื่อ ‘นิค’ ถูกจดจำในสายตาชาวไทยและเทศจากสตอรี่อันสะเทือนขวัญ 2 เรื่อง 2 เหตุการณ์ทางการเมืองที่ไม่อาจลบเลือนได้

เรื่องแรก การชุมนุมของคนเสื้อแดงในปี 2553 เขาบันทึกภาพเหตุการณ์สลายการชุมนุมด้วยกระสุนจริงในระยะประชิด เผยแพร่ภาพและบทความไว้เป็นประจักษ์พยานทางประวัติศาสตร์ในชื่อเรื่องว่า Nick Nostitz in the killing zone

เรื่องที่สอง ซึ่งทำให้เขาถูกมองว่าเป็นช่างภาพที่ไปรับใช้เสื้อแดง และกลายเป็นเป้าของมวลชนฝั่งตรงข้ามในอีก 3 ปีต่อมา เมื่อเขาเข้าไปถ่ายภาพการชุมนุมของ กปปส. ในปี 2556 และถูกรุมทำร้ายจากการปลุกปั่นดังกล่าว

ไม่ใช่แค่ตัวเองที่ถูกคลื่นความขัดแย้งทางการเมืองไทยซัดจนบาดเจ็บ แต่ครอบครัวของเขาก็พลอยได้รับผลกระทบไปด้วย หลังรัฐประหาร 2557 ไม่นาน นิคจึงตัดสินใจโบกมือลาเมืองไทย พาครอบครัวกลับไปเริ่มต้นใหม่ที่บ้านเกิด – เยอรมนี

แดดไม่ร่ม ลมไม่ตกของค่อนปี 2562 นิคกับครอบครัวแวะมาเที่ยวพักผ่อนเมืองไทย รอบนี้เขาไม่สะพายกล้องแล้ว พักอาชีพสื่อสารมวลชนอิสระอย่างไม่มีกำหนด

101 จึงชวนนิคทบทวนชีวิตและงานของเขาที่ปักค้างไว้ให้สังคมไทยศึกษา โดยเฉพาะการเมืองไทยที่เขาคุ้นเคยเป็นอย่างดี

คุ้นเคยทั้งในนามทุกข์และสุข เปี่ยมไปด้วยรอยยิ้มและบาดแผลที่เขาใช้คำว่า แน่นอน เราเสียบ้านที่เมืองไทย เราสร้างชีวิตที่เมืองไทยต่อไปไม่ได้ ต้องย้ายกลับไปเยอรมนี แต่ผมคิดว่าคุ้มอยู่ดี

 

กาลครั้งหนึ่งประเทศไทยของช่างภาพอิสระ ‘นิค นอสติชท์’

อะไรทำให้คุณตัดสินใจเข้ามาใช้ชีวิตเป็นช่างภาพในไทย

ผมไม่ได้ตั้งใจมาเมืองไทยเพื่อทำงาน แค่เป็นแบ็คแพ็คเกอร์ธรรมดา ตอนนั้นเดินทางไปอินเดีย ใช้ชีวิตเหมือนวัยรุ่นปกติ แล้วก็มาเที่ยวเมืองไทย พอรู้สึกเหนื่อยกับการเป็นแบ็คแพ็คเกอร์ ผมเลยอยู่ต่อเพื่อทำงาน

ช่วงที่เริ่มถ่ายรูปใหม่ๆ 2-3 ปีแรก ยังไม่ได้เงิน ผมถ่ายรูปเกี่ยวกับชีวิตกลางคืนและมีหนังสือเล่มแรกชื่อ Patpong: Bangkok’s Twilight Zone จนผ่านไป 1 ปีกว่า ได้คบกับแฟนเป็นแม่ครัว ผมก็เริ่มซีเรียสกับชีวิตขึ้นมาหน่อย คืออยากทำงานมีรายได้

จากนั้นก็ไปเป็นนายแบบโฆษณา เพราะมีเพื่อนเป็นเอเจนซี่ชวนมา ช่วงปี 2538 ที่เศรษฐกิจบูมๆ เขาอยากได้นายแบบฝรั่ง ผมก็ลองดู ได้งานต่อเนื่อง แต่พอเศรษฐกิจตกต่ำ อาชีพนายแบบพังหมด หนังสือของผมก็ขายไม่ได้ ทุกอย่างพังหมด ผมกับแฟนเลยกลับไปเยอรมัน แล้วนิตยสารที่เยอรมันเขาชอบภาพถ่ายของผม ซึ่งผมสนใจถ่ายรูปประเด็นชีวิตกลางคืน

พอเข้าสู่ยุครัฐบาลทักษิณ มันมีสงครามยาเสพติดในไทยพอดี ผมก็เลยกลับมาไทยเพื่อถ่ายประเด็นนี้ส่งให้นิตยสารที่เยอรมัน แล้วหลังจากนั้นก็มีม็อบเสื้อเหลือง ผมก็ตามถ่ายเรื่อยมาจนถึงม็อบเสื้อแดง นั่นทำให้ผมคิดว่าผมเป็นช่างภาพอาชีพแล้ว

เวลานั้นการเมืองไทยในสายตาคุณเป็นอย่างไร

ช่วงเวลานั้นคนไม่ค่อยชอบทักษิณเท่าไหร่ เพราะว่าเขาใช้อำนาจมากไป แต่ผมสังเกตว่าพอหมดช่วงสงครามยาเสพติด การใช้อำนาจเขาก็เริ่มลดลง การที่มีคนออกมาประท้วงทักษิณส่วนหนึ่งผมก็ว่าดี แต่อีกส่วนหนึ่งผมก็ว่าไม่ถูกต้อง ท่าทีของม็อบพันธมิตรฯ มันไม่ใช่ประชาธิปไตยเท่าไหร่ ดูเป็นการเรียกร้องให้ทหารเข้ามาปกครองอีกแล้ว ผมคิดว่าการสู้กับทักษิณนั้นโอเค แต่ไม่ใช่การเปิดประตูให้ทหารเข้ามา

ผมถามพวกแกนนำพันธมิตรฯ หลายคนว่าสิ่งที่คุณประท้วงไม่ใช่แค่การประท้วงทักษิณ แต่เป็นยุทธศาสตร์ที่ใหญ่กว่านั้น คือให้ทหารเข้ามารัฐประหารหรือเปล่า พวกเขาบอกว่าไม่ได้คิดอะไร แค่อยากเอาทักษิณออกไป ซึ่งพวกเขาไม่ค่อยชอบคำถามที่ผมถาม และหลายคนก็โกรธผมด้วยที่ถามแบบนี้

ตอนแรกผมคิดว่ามีแค่ทักษิณกับสนธิ (ลิ้มทองกุล) ที่ขัดแย้งกัน แต่พอเห็นทักษิณยุบสภา พรรคประชาธิปัตย์ก็บอยคอตการเลือกตั้ง นี่เป็นบทเรียนของผม เพราะตอนนั้นผมยังโง่อยู่ ผมคิดว่าพรรคประชาธิปัตย์เป็นประชาธิปไตย แต่พอบอยคอตเลือกตั้ง มันก็เป็นการเปิดประตูให้ทหารเข้ามาจริง ถ้าตอนนั้นประชาธิปัตย์ลงเลือกตั้ง ทหารอาจทำรัฐประหารไม่ได้ และสุดท้ายก็มีรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549

คุณมาจากประเทศที่เป็นประชาธิปไตยและศิวิไลซ์มากแล้ว พอมาเจอรัฐประหารในไทย คุณคิดอย่างไร

ผมมาเมืองไทยครั้งแรกปี 2532 จนปี 2535 เกิดพฤษภาทมิฬ เวลานั้นผมก็อยู่ในเมืองไทย แต่อยู่ในฐานะนักท่องเที่ยว ซึ่งผมยังไม่ค่อยรู้อะไร และหลังจากนั้นก็เป็นช่วงเวลาที่ทุกคนบอกว่าเมืองไทยหมดยุครัฐประหารแล้ว เศรษฐกิจก็ดีขึ้นๆ ทุกคนเชื่อกันว่าเมืองไทยจะดีขึ้นไปเรื่อยๆ แต่ไม่มีใครรู้ประวัติศาสตร์ ไม่มีใครรู้เรื่องอำนาจภายใน

พอช่วงที่มีม็อบเสื้อเหลือง เพื่อนๆ นักข่าวต่างประเทศส่วนใหญ่ก็เชียร์ม็อบเสื้อเหลืองด้วย แต่ผมบอกเพื่อนๆ ว่าบรรดาแกนนำที่พูดอยู่บนเวทีกับเวลาให้สัมภาษณ์นั้นแตกต่างกันเยอะ ตอนสัมภาษณ์ เขาพูดสิ่งที่พวกเราอยากจะฟัง แต่ตอนอยู่บนเวทีเขาพูดคนละอย่าง ผมก็โดนวิจารณ์ว่าเป็นเครื่องมือทักษิณ เขาคิดว่าทักษิณซื้อตัวผมไป ผมก็เถียงว่าคุณไม่ได้ลงไปคุยกับคน ไม่ได้ลงไปภาคสนาม ผมเข้าใจ

กาลครั้งหนึ่งประเทศไทยของช่างภาพอิสระ ‘นิค นอสติชท์’

ทำไมเพื่อนๆ สื่อมวลชนของคุณเชียร์พันธมิตรฯ

นักข่าวไม่ชอบทักษิณ เพราะเขาใช้อำนาจมากเกินไป เช่น ทำสงครามยาเสพติด และปัญหาชายแดนภาคใต้ เรื่องเหล่านี้ตอนแรกผมคิดว่าเป็นปัญหาที่ทักษิณคนเดียว แต่จริงๆ ยังไม่ใช่ ยังมีเบื้องลึกเบื้องหลังอีกมาก คนต่างประเทศที่อยู่เมืองไทยส่วนมากเขาจะมองที่ผิว ไม่ได้เจาะลึก

ผมโชคดีที่มีแฟนมาจากครอบครัวต่างจังหวัด เราเห็นปัญหาของพวกเขา ความไม่เท่าเทียมต่างๆ แล้วผมเคยตามป่อเต็กตึ๊ง ผมได้เจอคนหลากหลาย ทั้งโจร มาเฟีย ตำรวจ คนชั้นสูง ชั้นต่ำ เราเห็นและรู้จักสังคมไทยมากขึ้น

จริงๆ ตอนรัฐประหาร 2549 นักข่าวต่างประเทศยังไม่ค่อยสนใจ เพราะไม่มีนองเลือด แต่ผมเห็นคนที่คัดค้าน เห็น บก.ลายจุด (สมบัติ บุญงามอนงค์) กับกลุ่มไม่เอารัฐประหารออกมาประท้วงกัน จากนั้นก็มีกลุ่มคนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการ ผมก็ติดตามทำข่าวมาเรื่อยๆ มองดูความคิดของทหารว่าจะเอาทักษิณออกแล้วคืนอำนาจอย่างไร

ตอนนั้นคุยกับชาวบ้านบ้างไหม พวกเขาคิดเหมือนหรือต่างไปจากเพื่อนๆ สื่อมวลชนคุณไหม

แน่นอน เวลาผมไปคุยกับชาวบ้านที่ชอบทักษิณ ทำให้เห็นว่าทหารไม่ได้รัฐประหารเพื่อเอาทักษิณออกเท่านั้น แต่เป็นการรัฐประหารที่ทำลายเสียงของชาวบ้านด้วย จากนั้นก็มีคนเสื้อแดง และมี นปช. ตามมา

ผมเข้าใจเมืองไทยมากขึ้นตั้งแต่รัฐประหาร 2549 ต่อด้วยการกลับมาของพันธมิตรฯ ที่ยึดสนามบินสุวรรณภูมิ และการสลายการชุมนุมคนเสื้แดงในปี 2552-2553 และที่พีคสุดคือการชุมนุมของ กปปส.

ช่วงแรกๆ ผมแค่ถ่ายรูปแล้วจดบันทึกอย่างเดียว ไม่ได้เขียนเป็นเรื่องเป็นราว แต่ประมาณปี 2551 ผมต้องเขียนบ้างเพราะเพื่อนบอกว่าได้เวลาแล้วที่ผมควรจะเขียนบ้าง เลยเขียนไปลงที่ newmandala แม้ว่าคนอ่านอาจจะน้อยหน่อย แต่ก็ช่างมัน (หัวเราะ)

คุณเป็นช่างภาพที่มีภาพว่าติดตามเสื้อแดงมานาน จนถึงวันนี้คุณมองพวกเขาอย่างไร

ถ้าถามผม ณ วันนี้ ผมไม่ได้คลุกคลีกับการถ่ายภาพการชุมนุมแล้ว แน่นอน เพราะไม่มีชุมนุมของทั้งสองสี (หัวเราะ) ผมได้แต่ถามคนทั่วไปๆ เช่น แท็กซี่ รปภ. ว่ายังเป็นเสื้อแดงอยู่ไหม เกือบทุกคนบอกว่ายังเป็นอยู่ แต่บางคนก็บอกว่าไม่เอาทักษิณแล้ว แต่ยังเป็นเสื้อแดงอยู่ เพราะทักษิณไม่รักเราเหมือนกับที่เรารักเขา และใช้เราเพื่อผลประโยชน์ของเขา บางคนยังเก็บสัญลักษณ์เสื้อแดงอยู่ในบ้าน บางคนบอกว่าหันมาเชียร์พรรคอนาคตใหม่แทน แต่ยังทำตัวเป็นเสื้อแดงในพื้นที่

ในความคิดผม ข้อเสียเสื้อแดงมีหลายอย่างที่ผมไม่เห็นด้วย ผมไม่เห็นด้วยกับการยึดราชประสงค์ในปี 2553 ผมคิดว่าหนักไป ทำให้คนที่ไม่เกี่ยวข้องต้องมาลำบากไปด้วย

ผมไม่เห็นด้วยกับ hate speech ของเสื้อแดงบางกลุ่ม เพราะมันสุดโต่งเกินไป แต่คนพวกนี้เราไม่ต้องกลัวว่าเขาจะเกลียดเราที่เราเห็นต่าง ตอนที่เขายึดราชประสงค์ ผมก็ไปคุยกับแกนนำว่าผมไม่เห็นด้วย เขาไม่ได้ด่าหรือว่าอะไร แต่กับ กปปส. มันไม่มีสติแล้ว

แล้วเสื้อเหลืองล่ะ

เสื้อเหลือง โดยเฉพาะ กปปส. ผมคิดว่าการชุมนุมของพวกเขาเมื่อปี 2556 กระทบกับแวดวงสื่อสารมวลชนมาก สุเทพ เทือกสุบรรณ เคยออกมาพูดว่าไทยเฉยไม่มีอีกแล้ว ต่อไปนี้ต้องเลือกข้าง ผมเห็นว่าสื่อมวลชนทะเลาะกันก็เพราะทรรศนะของ กปปส. ด้วย จนถึงตอนนี้นักข่าวบางคนยังคุยกันไม่ได้

ผมคิดว่าอย่างไรคนต้องมีความคิดแตกต่างกันได้ ประชาธิปไตยต้องเถียงกันได้ แข่งขันกันได้ แต่สุเทพและ กปปส. ทำให้สื่อมวลชนเป็นเครื่องมือในการผลิต hate speech ทุกครั้งเวลาผมอ่านข่าวและเห็นคอมเมนต์ในบางสื่อที่เป็นเครื่องมือของ กปปส. ผมสงสัยว่าความเป็นมนุษย์มันหายไปไหนสำหรับคนทำสื่อ

กาลครั้งหนึ่งประเทศไทยของช่างภาพอิสระ ‘นิค นอสติชท์’

ทราบว่าระหว่างถ่ายภาพในม็อบ กปปส. คุณเองก็ถูกทำร้ายด้วย จนถึงวันนี้คุณมองมวลชนที่ฮือมาทำร้ายคุณอย่างไร

ช่วงนั้นเป็น 6 เดือนที่ผมไม่รู้ว่าจะมีชีวิตรอดหรือไม่ เป็นเหตุการณ์ที่ยากที่สุดในชีวิต ยากยิ่งกว่าตอนเสื้อแดงชุมนุมปี 2553 หลังจากที่ผมโดนกระทืบและเกือบถูกอุ้มโดยลูกน้องของพุทธะอิสระ ผมต้องต่อสู้กับตัวเอง เพราะไม่อยากเอาความโกรธหรือเกลียดมาทำลายตัวเอง อดีตนักข่าวบางคนที่เคยทำงานสื่อต่างประเทศไปออกรายการของช่องบลูสกาย และใส่ร้ายผมว่ารับใช้ทักษิณหลังจากที่ผมเพิ่งถูกทำร้ายใหม่ๆ

ลึกๆ แล้วโกรธไหม เกลียดไหม

ผมโกรธและเกลียดมาก แต่ผมไม่โกรธมวลชน ผมโกรธแกนนำที่สั่งให้เขามาทำร้ายผมหรือไปทำร้ายคนอื่น

ตอนนั้น เวลาจะไปไหน ผมต้องแอบเปลี่ยนทะเบียนรถเพื่อให้เขาจำไม่ได้ ทุกครั้งที่ผมจะออกจากบ้าน ต้องโทรถามเพื่อนๆ ก่อนว่าเวลานี้ กปปส. อยู่ที่ไหน เพราะในพื้นที่ชุมนุมจะมีภาพผมและเขียนว่าเป็นคนอันตราย การ์ด กปปส. ทุกคนมีภาพผมในมือถือของเขา

ผมมีเพื่อนที่เคยอยู่ กปปส. เราต่างเห็นว่ามันเป็นเรื่องปกติที่คนจะมีความคิดแตกต่างกัน แต่เพื่อนผมไม่ใช่คนที่เห็นด้วยที่ผมโดนทำร้าย ทุกวันนี้เรายังเป็นเพื่อนกัน แต่คนที่เห็นด้วยกับคนที่ทำร้ายคนอื่น คนเหล่านั้นผมไม่นับเป็นเพื่อนเลย

ตอนที่ กปปส. ยังชุมนุมอยู่ ลูกชายผมยังเรียนที่ไทย เขาถูกครูตี เขามาเล่าให้ผมฟังทีหลังตอนย้ายกลับเยอรมนีว่าเขาโดนตี เพราะเขาเป็นลูกผม มันเป็นเรื่องที่แย่มาก ไร้สติมาก ไร้เหตุผลมาก มันกลายเป็นปมในใจเขานะ ผมเคยไปร้องเรียนกับโรงเรียน แต่ครูที่นั่นก็แก้เผ็ดผมด้วยการให้เด็กที่เขาสั่งได้มาเบ่งใส่ แล้วลูกผมก็ถูกดักตีหลังเลิกเรียนโดยเด็กพวกนั้น

การที่สื่อต่างประเทศอย่างคุณตกเป็นเป้าของการชุมนุม มันสะท้อนอะไร

ช่วงเวลานั้นกรุงเทพฯ เหมือนป่าเลย ความเป็นมนุษย์แทบไม่มีกันเลย นี่เป็นสิ่งที่แกนนำ กปปส. สร้างขึ้น

ไม่ใช่แค่ผม แต่นักข่าวบางค่าย เช่น มติชน ก็เข้าไปรายงานข้อเท็จจริงในที่ชุมนุมลำบาก มันสะท้อนว่าการปั่นกระแสด้วยความเกลียดชัง ทำให้คนไม่สนใจข้อเท็จจริง และทำให้ประชาชนปะทะกันเอง

ก่อนรัฐประหาร 2557 มีการปะทะกันระหว่างเสื้อแดงกับกปปส. ย่านหลักสี่ ตอนนั้นผมช่วย กปปส. ผมบอกเขาว่าอีก 100 เมตรมีแต่เสื้อแดง ถ้าคุณแต่งตัวแบบนี้ไป (เสื้อเหลืองมีสัญลักษณ์ กปปส.) คงโดนกระทืบแน่ ผมคิดว่าผมไม่อยากทำเหมือนกับคนที่ทำกับเรา ถ้าเราสะใจที่เขาถูกกระทืบ เราก็ไม่ใช่มนุษย์แล้ว

ทั้งคำว่า “ควายแดง” “สลิ่ม” คุณคิดอย่างไรกับคำพูดเหล่านี้

ผมก็ไม่เห็นว่าการพูดคำเหล่านี้จะเกิดประโยชน์อะไร

ปัญหาจริงๆ ในเมืองไทยคือมันไม่มีเวที ไม่มีพื้นที่ให้คนมาคุยกัน แดงกับเหลืองไม่ใช่แค่เรื่องสี แต่มีอุดมการณ์ ความคิดแตกต่าง ประวัติศาสตร์ ภาพอนาคตของเมืองไทยที่ต่างกัน

แล้วมองกองทัพอย่างไร นับมาจากปี 2535 ที่คุณมาเมืองไทยครั้งแรก

ผมคิดว่าทหารเขารู้ว่าเขากำลังขี่หลังเสือและลงไม่ได้ เพราะเขาวิเคราะห์ผิดมาตลอด เขามองประชาชนเสื้อแดงเป็นศัตรูอย่างเดียว แต่เสื้อแดงไม่ใช่ศัตรู เขาเป็นคนไทยที่ความคิดไม่เหมือนกัน เขาก็อยากพัฒนาประเทศเหมือนกัน แต่ทหารกลับเห็นเป็นศัตรู

ถ้าผมจะเสนออะไรให้กองทัพไทย ผมต้องบอกว่าเขากลัวประชาชนที่คิดต่างเกินไป แต่ผมเป็นใครที่ทหารจะมาฟัง (หัวเราะ) ส่วนม็อบที่เชียร์ทหาร พวกเขารู้มาตลอดว่ามีแผนการเตรียมรัฐประหารมานานแล้ว แต่เขาจะไม่ประกาศออกมาว่าต้องการรัฐประหาร เพราะจะทำให้เขาเสียหน้า แล้วคนที่เข้าไปร่วมจริงๆ ก็ไม่ได้โง่ ผมคิดว่าเขางี่เง่าเอาแต่ใจเท่านั้น บางคนไม่ชอบทักษิณมาก่อน จึงมาอยู่กับ กปปส. วันนี้แทบไม่มีใครกล้ายอมรับว่าเคยร่วมกับ กปปส. มา เพราะมันเป็นปม

กาลครั้งหนึ่งประเทศไทยของช่างภาพอิสระ ‘นิค นอสติชท์’

สมัยก่อนที่พวกนาซีบอกว่าสังคมเยอรมันไม่เหมือนที่อื่น วิธีคิดแบบนั้นไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น สุดท้ายก็แพ้สงครามโลก

พูดถึงการทำงานบ้าง การเป็นสื่ออิสระโดยเฉพาะคนที่ทำประเด็นเมืองไทยแบบคุณ ทุกวันนี้อยู่อย่างไร ปรับตัวอย่างไร

ถ้าพูดเรื่องรายได้ ผมลำบากมาตลอดชีวิต ผมแข่งเรื่องเงินกับใครไม่เป็น ตอนที่ผมย้ายออกจากเมืองไทยกลับไปอยู่เยอรมัน ผมมั่นใจว่าครอบครัวคงจะจนไปตลอด เพราะเราอยู่แบบไม่มีรายได้ ชีวิตที่เยอรมนีอยู่ยาก คนเยอรมันไม่เหมือนคนไทย คนไทยเป็นมิตรมากกว่า และไหนจะมีเรื่องที่ต้องจัดการ เช่น ทำประกันสังคม ซึ่งยากและวุ่นวายพอสมควร

อีกอย่างคือผมเคยมีปัญหาทางจิต (PTSD) ด้วย จากช่วงที่ไปทำข่าวในที่ชุมนุม กปปส. ผมไปรักษากับจิตแพทย์ที่เยอรมนี เพราะที่ไทยผมไม่ไว้ใจใครมากพอ แล้วเอาเข้าจริง ผมรู้ว่าทั้งนักข่าวและตำรวจหลายคนก็เป็นโรคนี้ มีผู้ชุมนุมหลายคนเป็นโรคนี้ด้วย แต่เขาไม่รู้ตัว ช่วงที่มีปัญหาทางจิตมากๆ ผมทำงานไม่ไหว อาการหนักๆ คือนอนไม่หลับ หรือเต็มที่ก็นอนได้แค่คืนละ 3-4 ชั่วโมง แต่ตอนนี้หายแล้ว

ผมเพิ่งจะมาอยู่ได้แบบไม่ลำบากก็เพิ่งช่วงปีกว่าๆ ที่ผ่านมานี้ เพราะหลังจากครอบครัวผมมาถึงเยอรมนี คุณอาหญิงของผมเสียชีวิต แล้วผมได้มรดก ทำให้พออยู่ต่อไปได้ แต่ตอนแรกเราไม่มีที่อยู่เลย ต้องไปอยู่ที่บ้านพักฉุกเฉิน

แล้ววงการสื่อในสายตาคุณล่ะ

ถ้ามองแวดวงสื่อ ผมคิดว่าสื่อทุกวันนี้มีปัญหาเรื่องรายได้กันหมด สื่ออิสระเกือบทุกคนจะมีปัญหาทางการเงินอยู่แล้ว และไม่ใช่แค่ในไทย ต่างประเทศก็เจอปัญหาเดียวกัน

มันเป็นความจริงที่ว่าบางครั้งสิ่งที่เราคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญ มันไม่ได้สำคัญกับทุกคน เลยไม่มีใครลงทุนให้เราทำงาน อย่างที่ผมทำเรื่องเกี่ยวกับเสื้อเหลืองเสื้อแดง ต่างประเทศเขาสนใจตอนที่มันเป็นข่าวรอบโลก ช่วงนั้นโทรศัพท์ผมดังตลอดเวลา มาจากทั่วโลก เขาบอกเราว่าถ้ารู้อะไรให้บอกด้วย แต่พอเป็นช่วงที่ไม่มีข่าว โทรศัพท์เงียบกริบ ทั้งที่ก่อนจะมีข่าวเราต้องเก็บข้อมูล ติดตามความเคลื่อนไหวตลอดโดยที่ไม่มีใครออกเงินให้เรา 20 กว่าปีที่ทำข่าวการเมืองไทย ผมไม่ได้กำไรเลย หรืออาจบอกได้ว่าขาดทุนเป็นล้าน พูดง่ายๆ ว่าหมดตัว

โดยเฉพาะวงการช่างภาพข่าว จะอยู่ยากกว่าวงการนักเขียน เพื่อนผมหลายคนทำงานไม่ได้ ต้องเปลี่ยนอาชีพ พอสื่อขาดทุน งบน้อยลง เงินไม่มี อุตสาหกรรมสื่อต้องกดราคาให้ถูกลง องค์กรบางองค์กรจะเอาภาพเราไปใช้ฟรีๆ ผมบอกว่าผมมีค่าเช่าห้องที่ต้องจ่าย ค่ากินอยู่ ค่าแรง ค่าอุปกรณ์ จะให้ฟรีไม่ได้ เขาก็ด่าว่าเราไม่ช่วยเหลือ ผมก็งง เพราะว่าเขาก็ไม่ได้ทำงานฟรี ทุกคนมีรายได้หมด

รู้ทั้งรู้ว่ายากลำบาก แต่ทำไมยังอยู่ติดตามได้เป็นสิบๆ ปี

เพราะผมชอบ ทำให้เราได้เห็นอะไรเยอะมาก ตั้งแต่เป็นวัยรุ่น ผมคิดว่าเราต้องได้ประสบการณ์มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ตอนนี้ผมอายุ 51 ยังคิดว่าประสบการณ์ตัวเองยังไม่พอเลย มีอีกหลายเรื่องที่ยังไม่รู้ ยังไม่เห็น ยังไม่ได้ทำ ตอนนี้ไฟตัวเองก็เบาลงไปเยอะแล้วถ้าหากเปรียบเทียบกับวัยรุ่น

ก่อนเหตุการณ์เสื้อเหลืองเสื้อแดง ผมยังไม่รู้ว่าจะจับประเด็นอะไร พอมีเหตุการณ์เหล่านั้นผมก็ได้เรียนรู้ชีวิตเยอะ และโดยส่วนมากผมไม่เสียใจกับประสบการณ์ที่ได้ ถึงเรื่องที่โดนจะหนัก แต่ผมโอเค มันไม่ใช่เรื่องเซอร์ไพรส์ ผมรู้ประมาณหนึ่งว่าถ้าทำงานแบบนี้วันหนึ่งอาจจะโดนได้ แต่ผมตอบได้เต็มที่ว่ามันคุ้มมาก

แน่นอน เราเสียบ้านที่เมืองไทย เราสร้างชีวิตที่เมืองไทยต่อไปไม่ได้ ต้องย้ายกลับไปเยอรมนี แต่ผมคิดว่าคุ้มอยู่ดี

ถ้าไม่ได้มีครอบครัวเป็นคนไทย หรือตัดประเด็นการเมืองออกไป ยังมีเรื่องอะไรที่อยากติดตามลงลึกไหม

ผมยังอยากทำสิ่งที่นักข่าวและช่างภาพทุกคนอยากจะทำ คือการมีงานที่คนจำเราได้ งานของเรามีความสำคัญ ทำให้เขาจำได้ นี่เป็นสิ่งที่สื่อมวลชนน้อยคนจะทำได้ ชีวิตเราต้องมีค่า เพราะมันอยู่ในประวัติศาสตร์ เราเป็นพยานของมัน

ผมมาอยู่เมืองไทย ผมได้เรียนรู้จากผู้คนและประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะเรื่องชาตินิยมที่คนไทยจะมีมาก ทำให้ผมเข้าใจคนไทย เพราะแต่ก่อนสังคมเยอรมันก็มาจากจุดนั้น

ชาตินิยมไทยมีปัญหาอะไร

ยุโรปสมัยก่อนก็เป็นระบบ feudalism มีระบบศักดินา ขุนนาง การมีชาตินิยมทำให้สังคมหลุดออกจากระบบเหล่านั้น เมื่อก่อนเราใช้ชาตินิยมเพื่อออกจากระบบศักดินา แต่ตอนนี้เราต้องออกจากชาตินิยมเพื่อเข้าสู่สังคมโลก มันพัฒนาไปแบบนี้เรื่อยๆ ไม่มีอะไรหยุดนิ่ง สมัยก่อนที่พวกนาซีบอกว่าสังคมเยอรมันไม่เหมือนที่อื่น วิธีคิดแบบนั้นไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น สุดท้ายก็แพ้สงครามโลก

พูดแบบนี้อาจเหมือนว่าผมเป็นพวกฝ่ายซ้ายไปหน่อย เปล่า, ผมมองว่าเราเป็นคนเหมือนกัน ผมออกจะเป็นมนุษยนิยม เพราะผมไม่เชื่อเรื่องชาตินิยม ตั้งแต่ผมเป็นเด็กเล็กๆ พ่อผมทำธุรกิจกับคนอินเดีย บ้านเรามีแขกมาจากอินเดียเป็นหุ้นส่วนธุรกิจกัน เรากินข้าวที่บ้านด้วยกันตลอด แม่บอกว่าเรามีแขกที่บ้าน แต่ไม่ต้องตกใจที่สีผิวไม่เหมือนกัน ผมบอกก็คนเหมือนกัน ไม่เป็นไร

ตั้งแต่เด็กๆ ผมมีเพื่อนเป็นทั้งเยอรมัน แอฟริกัน ผมมีเพื่อนทุกสีผิว ทำไมต้องบอกว่ารักชาติ รักชาติคืออะไร ผมรักเมีย รักลูก รักเพื่อนอยู่แล้ว

กาลครั้งหนึ่งประเทศไทยของช่างภาพอิสระ ‘นิค นอสติชท์’

ถ้ามองไปข้างหน้า คุณเห็นประเทศไทยจะเปลี่ยนผ่านเมื่อไหร่

ผมไม่รู้เลย พูดยาก แต่คิดว่าเมืองไทยไม่ hopeless เพราะไม่ว่าที่ไหนๆ คนเขาจะสร้างประชาธิปไตยขึ้นมาได้จริงๆ มันใช้เวลานานกันทั้งนั้น อย่างการมีพรรคอนาคตใหม่ก็ทำให้บางคนรู้สึกเหมือนยังมีทางไปได้อยู่ ทำให้สังคมไม่ hopeless ที่พูดแบบนี้เพราะว่าฝ่ายอนุรักษนิยมสุดๆ มันน้อยลงไปเรื่อยๆ คนรุ่นใหม่ๆ ใช้ความคิดกันมากขึ้น โลกก็เปิดมากขึ้น การชี้นำจากผู้มีอำนาจฝ่ายเดียวทำไม่ได้เหมือนเมื่อก่อนแล้ว

แม้พรรคอนาคตใหม่อาจจะโดนยุบไปก็ไม่เป็นไร เพราะว่าประชาชนเปลี่ยนความคิดไปเยอะแล้ว เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับพรรคการเมือง เป็นเรื่องของประชาชน เป็นการเรียนรู้ของคนที่ใช้ความคิด พรรคไหนจะมีหรือไม่มีช่างมัน ผมสนใจที่คน คนที่ไม่มีใครห้ามได้ ยิ่งปราบยิ่งโตขึ้น

นอกจากการเมืองไทย มีอะไรในสังคมไทยที่ต้องเข้าใจอีกบ้าง

ผมคิดว่าเรื่องที่ผมพอจะพูดได้ในฐานะช่างภาพอิสระคนหนึ่ง คือการจะถ่ายรูปเราต้องรู้อะไรด้วย ไม่ใช่แค่กดชัตเตอร์อย่างเดียว ไม่ใช่การถ่ายรูปให้ได้มากที่สุด เราต้องเข้าใจว่าเราทำอะไร ทำไปทำไม เราไปถ่ายรูปกลุ่มคนรากหญ้าที่เข้ามาชุมนุม เราเข้าใจว่าอย่างไร ทำไมเราต้องถ่าย แล้วเขามาชุมนุมทำไม

ถ้าถามผม เวลามีคนโดนยิงตาย เราถ่ายรูปเหตุการณ์แบบนี้มาเยอะ ความสำคัญไม่ใช่เพียงแค่มีคนตาย เรารู้ว่าภาพของเราสำคัญกว่านั้น เราได้เห็นเหยื่อคนหนึ่งจากการชุมนุม ได้ไปคุยกับครอบครัวของเขา ได้เข้าใจว่าทำไมเขาถึงมาชุมนุม ได้รู้ว่าเขาขยับฐานะจากคนที่มีรายได้น้อยมาจนมีรายได้พอซื้อบ้านได้ กำลังจะยกระดับเป็นชนชั้นกลางอยู่แล้ว แต่ต้องมาร่วมชุมนุมเพราะเรียกร้องสิทธิที่หายไปก่อน

ประสบการณ์ที่ผมได้มาจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 2553 ไม่ได้อันตรายเหมือนในสงครามตะวันออกกลาง แต่ก็คุ้มพอที่เราจะเรียนรู้ในฐานะพยานประวัติศาสตร์

เคยรู้สึกว่าเอาชีวิตมาทิ้งที่ไทยไหม

ไม่เคยเลย ชีวิตมันเป็นไปตามโอกาส ผมไม่ได้วางแผนอะไรมาก ตอนอยู่ที่เยอรมนีก็ไม่ได้รู้สึกขมขื่นหรือแค้นเมืองไทยที่เราเจอมา แค้นแค่คนบางคน กลับรู้สึกขอบคุณที่ให้ประสบการณ์ด้วยซ้ำ ทำให้ผมได้มีชีวิตแบบที่อยากมีตั้งแต่วัยรุ่น

ชีวิตมันก็พาเราไปอย่างนี้ ตอนมากรุงเทพฯ ครั้งแรก ไม่ชอบ เกลียดรถติด นี่บันทึกไว้ตั้งแต่ปี 2532 แต่สุดท้ายผมก็อยู่เมืองไทยเกิน 20 ปี ทุกวันนี้ลูกผมอายุ 14 แล้ว แต่ถึงที่สุดเขาบอกว่าอยู่เยอรมนีสบายใจกว่า และผมคงไม่คิดจะกลับมาอยู่แบบถาวรอย่างเมื่อก่อนอีกแล้วล่ะ

กาลครั้งหนึ่งประเทศไทยของช่างภาพอิสระ ‘นิค นอสติชท์’

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save