ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย เรื่อง
คิมจียอง เกิดปี 82 ตีพิมพ์ครั้งแรกที่เกาหลีเมื่อปี 2016 เขียนโดย โชนัมจู เป็นเรื่องว่าด้วยชีวิตของผู้หญิงในเกาหลีที่ถูกกดขี่ในสังคมที่ไม่เท่าเทียม หนังสือค่อยๆ ไต่ระดับความนิยมอย่างค่อยเป็นค่อยไป และยิ่งขายดีขึ้นเมื่อ ‘ไอรีน’ ศิลปินสาวจากวง Red Velvet ออกมาเปิดเผยในงานมีตติ้งว่าเธออ่านหนังสือเล่มนี้ ซึ่งมาพร้อมกับกระแส #metoo ในเกาหลี แต่ในทางกลับกัน ก็เกิดกระแสแอนตี้จากเหล่าแฟนคลับชาย บางคนหงุดหงิดและรับไม่ได้ จนมีคำพูดที่ว่า “ไอรีนกลายเป็นเฟมินิสต์”
ความหงุดหงิดลุกลามใหญ่โต มีการเผารูปไอรีนและส่งข้อความคุกคามจากเหล่าแฟนคลับชาย ในขณะที่ยอดขายหนังสือเพิ่มขึ้นถึง 104% กลับมาครองที่ 1 ในชาร์ตหนังสือขายดี แต่ยอดคนซื้อเพศชายลดลง 3%
น่าสนใจว่า คิมจียอง เกิดปี 82 เขียนถึงอะไร ทำไมจึงทำให้ผู้ชายไม่พอใจได้ขนาดนั้น และหนังสือเล่มนี้ยังกลายเป็นสัญลักษณ์ของการลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิของผู้หญิงในเกาหลีอีกด้วย
กระแสอันโด่งดังนี้ทำให้กลุ่มแฟนคลับในไทยพยายามขวนขวายหา คิมจียอง เกิดปี 82 มาอ่าน จนเมื่อปลายปี 2018 ที่ผ่านมา สำนักพิมพ์เอิร์นเนสได้จัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้เป็นภาษาไทย แปลโดย ตรองสิริ ทองคำใส อัดแน่นด้วยเรื่องราวของชีวิตผู้หญิงเกาหลีนามว่า ‘คิมจียอง’ ซึ่งเป็นชื่อที่คนเกาหลีนิยมตั้งชื่อให้ลูกสาวที่เกิดปี 1982 จนชื่อนี้กลายเป็นชื่อโหล หันไปทางไหนก็มีแต่คนชื่อคิมจียอง คล้ายบอกว่าชีวิตของคิมจียอง คือชีวิตสามัญที่ผู้หญิงเกาหลีทุกคนต้องเจอ
คิมจียอง แม่บ้านลูกหนึ่ง จู่ๆ ก็เปลี่ยนบุคลิกไปเป็นคนอื่น บ้างก็เป็นคนที่เสียชีวิตไปแล้ว บางทีก็กลายเป็นแม่ของตัวเอง และในบางคราวเธอก็นอนดูดนิ้วเหมือนเด็กทารก สามีของเธอสังเกตเห็นอาการเหล่านี้และพยายามพาเธอไปรักษา ก่อนที่ผู้เขียนจะค่อยๆ พาเราเลาะไปยังชีวิตของคิมจียองว่าเธอผ่านอะไรมาบ้างก่อนจะเกิดอาการที่ว่านี้
เรื่องเล่าผ่านบันทึกของจิตแพทย์จากคำบอกเล่าของคิมจียองและสามี เล่าย้อนไปตั้งแต่ยุคสมัยของย่าคิมจียองที่การมีลูกชายคือความสุขที่สุดในชีวิต (โชคดีที่ย่ามีลูกชายถึง 4 คน) แม้ว่าเธอจะต้องดูแลงานบ้านและทำนาแทนสามี ‘หน้าขาว มือนิ่ม’ ที่ไม่เอาไหน ในยุคแห่งสงคราม โรคภัย และขาดแคลนอาหารก็ตาม
ถัดจากรุ่นพ่อแม่ มาถึงคิมจียอง เธอเกิดมาเป็นลูกสาวคนที่สอง มีน้องชายหนึ่งคน เธอค่อยๆ รู้สึกว่า การเกิดเป็นลูกสาวนั้นอาจไม่มีค่าพอเท่าการเกิดเป็นลูกชาย มีหนึ่งเหตุการณ์ที่แสนสะเทือนใจ และทำเอาคนอ่าน ‘หัวร้อน’ ไปตามๆ กัน คือฉากที่เธอและพี่สาวไม่มีสิทธิกินนมผงของน้องชาย ถึงแม้จะเป็นการกิน ‘เล่นๆ’ เพื่อให้ผงหวานติดปากก็ตาม
“…ที่ย่าตีไม่ใช่แค่เพราะพวกเธอโตเกินวัยกินนมผง หรือแค่เพราะน้องจะมีนมผงไม่พอกิน ถ้าจะให้สรุปรวมความหมายภาษากายของย่าจากน้ำเสียง สายตา องศาศีรษะ ความสูงของไหล่ยกตั้ง ตลอดจนแรงลมหายใจเข้าออกด้วยประโยคเดียวคงยาก กระนั้นถ้าจะให้ตีความหมายตรงที่สุด สารที่ย่าส่งแก่เธอก็คือ แก ‘ริบังอาจ’ ยุ่มย่ามกับสิ่งของของหลานชายหัวแก้วหัวแหวนข้าเรอะ ทั้งตัวน้องชายเองและสิ่งของของน้องล้วนล้ำค่าสูงส่ง ห้ามใครหน้าไหนแตะต้อง และคุณคิมจียองก็เป็นตัวตนที่ด้อยยิ่งกว่า ‘ใครหน้าไหน’ ที่ว่าเสียอีก”
ไม่ใช่แค่หลานสาวเท่านั้นที่โดนย่าเข้ามาควบคุม แต่ลูกสะใภ้ หรือแม่ของคิมจียอง ก็โดนบงการชีวิตไม่ต่างกัน แม่ของคิมจียองเป็นคนรุ่นก่อนที่ว่านอนสอนง่าย และทำตามขนบของลูกผู้หญิงเสมอมา จนเมื่อเธอแต่งงาน ก็ต้องมารับมือกับความหวังในการคลอดหลานชายให้แม่สามี
“ย่าดูจะใจกว้างและรักใคร่ห่วงใยลูกสะใภ้ผิดกับแม่ผัวรุ่นเดียวกับบ้านอื่น ที่ย่าพร่ำพูดเรื่องลูกชายราวกับเป็นคำติดปาก ก็เพราะนึกถึงใจลูกสะใภ้อย่างแท้จริงหรอก เอ็งต้องมีลูกชายนะ ต้องมีลูกชายให้ได้ ต้องมีลูกชายสักสองคน…”
แม่ของคิมจียองคลอดลูกสาวมาแล้ว 2 คน และแน่นอนว่าหากลูกคนที่ 3 ไม่ใช่ลูกชาย ย่อมไม่ใช่เรื่องน่ายินดี ในการท้องครั้งนี้ แม่ของคิมจียองแพ้ท้องมากผิดปกติ จนแม่สามีตั้งความหวังว่าจะไม่เหมือนการท้องสองครั้งแรก แต่แม่ของคิมจียองก็ยังกังวลกับสิ่งที่ยังมาไม่ถึง
แม่ร้องไห้และอาเจียนหนักกว่าเก่าจนออกจากห้องน้ำไม่ได้อยู่พักหนึ่ง กลางดึกคืนนั้นเมื่อลูกสาวทั้งสองหลับสนิท แม่ถามพ่อซึ่งกำลังพลิกตัวบนที่นอนว่า
“สมมตินะ สมมติเด็กในท้องฉันเป็นลูกสาวอีก พ่ออึนยองจะทำยังไง”
แม่รอคอยให้พ่อตอบว่าเธอก็ไม่น่าถาม จะลูกชายหรือลูกสาว เราต้องอุ้มชูดูแลเขาทั้งนั้น ทว่าพ่อไม่พูดอะไรเลย
“หือ? ว่าไงล่ะ พ่ออึนยอง”
พ่อพลิกตัวหันหน้าเข้าข้างฝาแล้วตอบแม่ว่า
“เดี๋ยวก็เป็นไปตามปากหรอก เลิกพูดจาพาซวย รีบเข้านอนเสียที”
การมีลูกสาวกลายเป็นเรื่อง ‘ซวย’ ในสังคมเกาหลี และโชคร้ายที่แม่ของคิมจียองมีลูกสาวอีกคนจริงๆ — โชคร้ายกว่า ที่น้องสาวของคิมจียองไม่มีโอกาสได้เกิดมา เวลาผ่านไปไม่นาน น้องชายของเธอจึงค่อยถือกำเนิดขึ้น และกลายเป็นลูกชาย หลานชายหัวแก้วหัวแหวนของทุกคน
ในหนังสืออธิบายไว้ว่า ‘การทำแท้งลูกสาว’ ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรในเกาหลี “รัฐบาลเกาหลีใต้สมัยนั้นใช้นโยบายควบคุมอัตราการเกิดของประชาชนในชื่อ ‘นโยบายวางแผนครอบครัว’ การเอาเด็กในครรภ์ออกด้วยเหตุผลทางการแพทย์ ถูกทำให้ชอบด้วยกฎหมายมานานเป็นสิบปีก่อนหน้านี้แล้ว การตรวจหาเพศเด็กในท้องและทำแท้งเด็กหญิงก็เป็นเรื่องเปิดเผยกันทั่วไป จนราวกับว่า ‘เพราะได้ลูกสาว’ กลายเป็นอีกเหตุผลทางการแพทย์เช่นกัน บรรยากาศทางสังคมเช่นนี้ดำเนินต่อเนื่องตลอดทศวรรษ 1980 กระทั่งสภาพขาดสมดุลของอัตราส่วนเพศเมื่อแรกเกิดของเกาหลีใต้พุ่งทะยานสู่จุดสูงสุด ต้นทศวรรษ 1990 สัดส่วนเพศเด็กในครอบครัวที่มีลูกมากกว่าสามคนขึ้นไป มีเด็กชายเยอะกว่าเด็กหญิงเกินสองเท่า”
สาเหตุสำคัญที่การเกิดเป็นผู้หญิงกลายเป็นเรื่องเลวร้าย เพราะในประเทศที่มีการพัฒนาก้าวกระโดดอย่างเกาหลี ต้องการคนทำงานที่จะไม่ลาออกกลางคันเพื่อไปเลี้ยงลูก แต่ในเมื่อหน้าที่เลี้ยงลูกเป็นของผู้หญิงไปเสียแล้ว จึงกลายเป็นว่า ผู้หญิงจะมีอายุงานไม่กี่ปี ก่อนที่จะต้องลาออกไปเป็นแม่บ้านให้สามีเลี้ยงดู และคอยดูแลลูก (ชาย) ให้เติบโตอย่างสมบูรณ์แบบ
ชีวิตผู้หญิงในเกาหลี คล้ายว่ามีหน้าที่เพื่อให้กำเนิดลูกชาย และเป็นภรรยาที่ดีของสามีเท่านั้น ซึ่งคิมจียองก็มิใช่ข้อยกเว้น
แม้ว่าเธอจะเรียนจบมหาวิทยาลัย ที่บ้านมีฐานะดีขึ้น มีแฟน และใช้ชีวิตอย่างมีอิสระพอควร (อย่างน้อยก็มากกว่าพี่สาว) แต่เมื่อถึงช่วงชีวิตที่ต้องสมัครงาน คิมจียองก็ต้องเจอปราการใหญ่ของสังคมเกาหลี คือการกีดกันการทำงานของผู้หญิง หลายบริษัทแทบไม่อยากรับพนักงานหญิงเลย เพราะรู้ว่าสักวันเธอก็ต้องลาออกไปเลี้ยงลูก และในบางที่ถึงแม้รับ ผู้หญิงก็อยู่ในตำแหน่งที่แทบไม่มีความก้าวหน้าใดๆ
ในตอนที่คิมจียองไปสมัครงาน แม้ว่าเธอจะเตรียมคำตอบมาอย่างดี แต่สิ่งที่บริษัทนำมาพิจารณาเธอไม่ใช่แค่เรื่องความสามารถ แต่ยังถาม ‘เรื่องเพศ’ กับเธอด้วย มีบางคำถามที่ชวนให้ทั้งกระอักกระอ่วนและน่าสมเพช เช่นว่า
“สมมติคุณไปประชุมกับลูกค้า หัวหน้าฝ่ายลูกค้าพยายามเข้ามา เอ่อ แบบว่าแตะเนื้อต้องตัวคุณ เช่น จับไหล่ แตะต้นขา อะไรประมาณนั้น พอเข้าใจใช่ไหมครับ ถ้าเจอเหตุการณ์แบบนี้ คุณจะทำอย่างไร”
เราคาดหวังจะให้คิมจียองตอบว่าอะไร
“ก็หักมือไอ้หื่นนั่นซะเลยไง! แกคนถามก็แย่พอกัน! มีอย่างที่ไหน ตั้งคำถามสัมภาษณ์งานแบบนี้ก็เท่ากับคุกคามทางเพศนั่นละ! แกใช้คำถามเดียวกันกับคนสมัครงานผู้ชายไหมล่ะ”
เปล่า — นี่เป็นประโยคที่ดังก้องในหัวของคิมจียอง เธอไม่ได้กล่าวออกไป
ในโลกความจริง ผู้หญิงเกาหลีอาจรู้สึกว่าโดนดูถูก ถูกเอารัดเอาเปรียบ ไม่มีสิทธิมีเสียงในสังคม และโดนคุกคามทางเพศอยู่สม่ำเสมอ แต่ก็ไม่อาจแสดงออกได้มากเท่าใจคิด ยังไม่นับเรื่องเงินเดือนที่มีตัวเลขบอกชัดเจนว่า ผู้หญิงได้น้อยกว่าผู้ชายมาก
“เกาหลีใต้เป็นประเทศสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาเศรษฐกิจ (OECD) ที่มีความเหลื่อมล้ำระหว่างเงินเดือนชายหญิงมากที่สุด สถิติเมื่อปี 2014 ระบุว่าหากเงินเดือนผู้ชายคือหนึ่งล้านวอน เงินเดือนเฉลี่ยของผู้หญิงในประเทศกลุ่ม OECD จะอยู่ที่ 844,000 วอน แต่เงินเดือนผู้หญิงเกาหลีใต้อยู่ที่ 633,000 วอนเท่านั้น นอกจากนี้นิตยสาร The Economist ของอังกฤษ ยังระบุว่าเกาหลีใต้มีดัชนีเพดานแก้ว (อุปสรรคหรือตัวกีดกั้นที่มองไม่เห็นแต่มีอยู่) อยู่อันดับแย่ที่สุดในกลุ่มประเทศที่ทำการวิจัย เกาหลีใต้จึงจัดว่าเป็นประเทศที่ผู้หญิงทำงานได้ลำบากที่สุด”
ชีวิตของคิมจียองดำเนินไปตามครรลองที่สังคมขีดไว้ แม้ว่าในหัวเธอจะตั้งคำถาม และพยายามเรียกร้องสิทธิของตัวเองอยู่เสมอ แต่เธอก็ไม่อาจหนีออกมาจากค่านิยมของสังคมได้
ยังมีอีกหลายสิ่งที่คิมจียองต้องเผชิญ ทั้งการล่วงละเมิดทางเพศในที่ทำงาน การโดนดูถูกเรื่องที่เธอเคยมีแฟน ด้วยการเปรียบเทียบว่าเธอเป็น “หมากฝรั่งที่ถูกเคี้ยวแล้ว” ภาระเลี้ยงลูกอันหนักหน่วง และความกดดันมากมายจากการเป็นแม่บ้าน จนโดนครหาว่าเธอเป็นปลิง ความทุกข์เหล่านี้ไม่อาจเล่าได้หมดในย่อหน้าเดียว
เมื่อคิมจียองเกิดปี 82 ตอนนี้เธอมีอายุ 37 ปี แต่น่าแปลกที่ชะตากรรมของเธอแทบไม่ต่างอะไรจากรุ่นคุณย่าในยุคสงคราม และทั้งที่เหล่าคุณย่าคุณยายต่างก็เจอการกดขี่กันมาแล้วทั้งนั้น แต่ก็ยังทำแบบเดิมๆ กับผู้หญิงในรุ่นลูกรุ่นหลาน
คำถามสำคัญก็คือ เราจะปล่อยให้เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นต่อไปอีกนานแค่ไหน ไม่ใช่แค่ในเกาหลี แต่คือทุกที่ในโลก