fbpx
30 ปีกำแพงเบอร์ลินล่มสลาย โลกเรียนรู้อะไร : สุรชาติ บำรุงสุข

30 ปีกำแพงเบอร์ลินล่มสลาย โลกเรียนรู้อะไร : สุรชาติ บำรุงสุข

สมคิด พุทธศรี, กานต์ธีรา ภูริวิกรัย เรื่อง

กมลชนก คัชมาตย์ ภาพ

‘กำแพงเบอร์ลิน’ (Berlin Wall) คือ หนึ่งในสองกำแพงที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในประวัติศาสตร์โลก ด้วยความยาว 155 กิโลเมตร และความสูงเพียงแค่ 3.6 เมตร ขนาดจึงไม่ใช่สิ่งที่ทำให้กำแพงนี้เป็นหมุดหมายแห่งประวัติศาสตร์ หากแต่เป็นสิ่งที่มันขวางกั้นอยู่

ในเชิงกายภาพ กำแพงเบอร์ลินคือเครื่องกั้นระหว่างเบอร์ลินตะวันออกและเบอร์ลินตะวันตก ในเชิงอุดมการณ์ มันคือสัญลักษณ์ที่เป็นรูปธรรมที่สุดของการแบ่งขั้วระหว่าง ‘โลกเสรี’ และ ‘คอมมิวนิสต์’ ในช่วงสงครามเย็น

การพังทลายของกำแพงเบอร์ลินเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 1989 ถูกเรียกว่าเป็น ‘ปาฏิหารย์ของประวัติศาสตร์’ เพราะหากพิจารณาความขัดแย้งและความตึงเครียดที่เกิดขึ้นตลอดช่วงสงครามเย็นแล้ว การรวมชาติเยอรมนีโดยไม่ต้องรบ และการพ่ายแพ้ของคอมมิวนิสต์โดยไม่มีสงครามใหญ่ นับเป็นเรื่องที่เหลือเชื่อ ไม่ต้องพูดถึงว่าเมื่อไม่มีกำแพง ผู้คนต่างจินตนาการและฝันถึงโลกใหม่ที่รุ่งเรือง เปิดกว้าง และมีสันติสุข

30 ปีผ่านไป มนุษยชาติกำลังถูกปลุกให้ตื่นจากฝันด้วยความจริงใหม่ เมื่อกำแพงกำลังถูกสร้างขึ้นมาอีกครั้งในหลายที่ทั่วโลก ในขณะที่คำว่า ‘สงครามเย็น’ กำลังกลับมาฮิตติดหูอีกครั้งในบทวิเคราะห์การเมืองระหว่างประเทศ

นีเป็นเหตุผลที่ทำให้ 101 ชวน ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาถอดบทเรียนการล่มสลายกำแพงเบอร์ลินกันแบบยาวๆ สุรชาติเป็นนักวิชาการและปัญญาชนสาธารณะที่เชี่ยวชาญเรื่องทหาร ความมั่นคง และการเมืองระหว่างประเทศ โดยหนึ่งในประเด็นที่เขาถนัดมากที่สุดคือเรื่องสงครามเย็น

“คนรุ่นผม เป็นคนรุ่นสงครามเย็น” สุรชาติบอกกับเราด้วยรอยยิ้ม พร้อมยื่นเศษกำแพงเบอร์ลินที่เขาได้เป็นที่ระลึก เมื่อครั้งได้เยือนเมืองหลวงแห่งสหพันธรัฐเยอรมนีหลังรวมชาติใหม่ๆ ให้เราดู ก่อนที่จะเริ่มต้นทบทวนบทเรียนใหญ่ของกำแพงเบอร์ลินและสงครามเย็นกันอย่างจริงจัง

อาจเพราะเชี่ยวชาญเป็นทุนเดิม หรือว่า ‘อิน’ เป็นพิเศษ บทสนทนาความรู้ครั้งนี้จึงเปิดโลก สนุก และมีสีสันอย่างยิ่ง

สุรชาติ บำรุงสุข

หลังจากกำแพงเบอร์ลินล่มสลายในวันที่ 9 พฤศจิกายน 1989 ซึ่งคนมักจะนับเป็นจุดสิ้นสุดของสงครามเย็น (Cold War) ตอนนี้เวลาผ่านไป 30 ปี อะไรคือมรดกของกำแพงเบอร์ลินและสงครามเย็นที่ยังหลงเหลืออยู่ในโลกปัจจุบัน

เรื่องนี้ต้องพูดสองบริบท ในบริบทของคนเรียนวิชาการเมืองระหว่างประเทศ คำตอบง่ายมาก เพราะตำราในการเมืองระหว่างประเทศเกือบทั้งหมดเป็นผลผลิตจากยุคสงครามเย็น ทั้งทฤษฎีและข้อโต้แย้งทั้งหลาย หนังสือและตำราต่างๆ ในทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจะอ่านไม่เข้าใจเลย ถ้าเราไม่รู้ภูมิหลังของสถานการณ์ที่ครอบมันอยู่

แม้นักวิชาการหลายคนกำลังบอกว่า กรอบคิดในยุคสงครามเย็นล้าสมัยไปแล้ว โลกเข้าสู่เงื่อนไขใหม่ และต้องการเถียงกันใหม่แล้ว แต่ไม่ว่าจะเถียงใหม่ หรือไม่เถียง คำตอบสุดท้ายคือ อย่างน้อยที่สุดคุณต้องเรียนรู้เรื่องเกี่ยวกับสงครามเย็น

อีกบริบทหนึ่งคือบริบทคนทั่วไป เบอร์ลินและสงครามเย็นคือบทเรียนใหญ่ของโลกในแง่ที่ว่า คุณจะทำอย่างไรให้โลกไม่มีสงครามใหญ่ 40 กว่าปี อย่าลืมว่าในครึ่งแรกของศตวรรษที่ 20 เรามีสงครามโลกสองครั้ง และหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ความขัดแย้งในเชิงอุดมการณ์ก็สูงมาก แต่ถ้านับจาก 1945-1989 เป็นเวลา 44 ปี ทำไมไม่มีสงครามใหญ่ มีสงครามมั้ย มี แต่ไม่รบใหญ่ ไม่เกิดสงครามนิวเคลียร์ หรือถ้าใช้ภาษาเราคือ ไม่มีสงครามโลกครั้งที่สาม

ระบอบ (Regime) การควบคุมความขัดแย้งในช่วงนั้น ก็ถือว่ามีประสิทธิภาพมาก เช่น ในช่วงวิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบา ปี 1962 ที่เราเข้าใกล้การเกิดสงครามนิวเคลียร์มากที่สุด ก็มีการเจรจาจนเกิดเป็น Washington-Moscow Direct Communications Link ขึ้น คือเป็นระบบโทรศัพท์สายด่วน (Hotline) ซึ่งติดตั้งไว้ที่วอชิงตันกับมอสโก เพื่อให้ผู้นำสองฝ่ายได้เจรจากันโดยตรงหากมีความขัดแย้งเกิดขึ้น

เราอาจจะต้องย้อนกลับไปเรียนบทเรียนสงครามเย็นเพื่อดูว่า ถ้าสหรัฐฯ กับจีนแข่งกันในอนาคต เป็นไปได้ไหมที่การแข่งขันชุดนี้จะอยู่ในแบบสงครามเย็นครั้งก่อน บางคนอาจเรียกว่า Cold War 2.0 แต่วงวิชาการใช้คำว่า สงครามเย็นในศตวรรษที่ 21 นักวิชาการอเมริกันที่อยู่ในกระแสสงครามเย็นเขียนบทความซึ่งผมชอบที่สุด เขาใช้คำว่า “Soon we will miss the Cold War” ผมแปลแบบสำนวนเพลงไทยว่า “วันใดขาดฉันแล้วเธอจะรู้สึก” นั่นคือ “เมื่อสงครามเย็นจบลง เราจะคิดถึงมัน”

แง่มุมที่น่าสนใจคือ สงครามเย็นสร้างเสถียรภาพในระบบระหว่างประเทศได้ค่อนข้างดี บทเรียนล้ำค่าคือรัฐมหาอำนาจมีสิทธิจะแข่ง แต่ไม่มีสิทธิทะเลาะ คำถามคือเราจะใช้กรอบนี้ระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนในอนาคตได้ไหม อันนี้คือสิ่งที่คนรุ่นพวกเราต้องตอบ

‘กำแพงเบอร์ลิน’ เป็นสัญลักษณ์ที่โดดเด่นที่สุดของสงครามเย็น ถึงขนาดที่ว่า เมื่อกำแพงถูกทำลายลง คนก็แทบจะถือว่าสงครามเย็นจบลงด้วยเช่นกัน คนที่เกิดหลังสงครามเย็นจะนึกภาพไม่ค่อยออกว่า ทำไมกำแพงจึงมีคุณค่าและเป็นสัญลักษณ์ทางประวัติศาสตร์ได้ขนาดนี้

นี่เป็นปัญหาของยุคสมัย เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน ผมมีสอนนิสิตระดับปริญญาโทพอดี ผมทดลองถามว่า “รู้ไหมว่าเมื่อสามสิบปีก่อนเกิดอะไร” ส่วนใหญ่ไม่รู้ มีบางคนที่ตอบได้ แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ พวกเขาไม่มีจินตนาการเลยว่า เหตุการณ์ในยุคนั้นเป็นอย่างไร

ถ้าใช้ภาษาแบบวิชาการคือ คนจำนวนมากเป็นนิสิตหลังยุคสงครามเย็น แล้วก็ผ่านโลกอีกแบบนึง ฉะนั้นในจินตนาการของเขา เยอรมนีรวมชาติกันหมดแล้ว การแยกเยอรมนีเป็นตะวันตกกับตะวันออกเป็นสิ่งที่ไม่อยู่ในความทรงจำ อาจต้องยอมรับว่าแต่ละเจเนอเรชันมีความทรงจำและหมุดหมายของสถานการณ์แตกต่างกัน อันที่จริงก็ไม่ต่างจากการที่คนรุ่นผมซึ่งเติบโตมาในช่วงสงครามเย็น ก็ไม่ได้มีจินตนาการถึงสงครามโลกครั้งที่สอง เพราะมันก็ไกลเกินไป

อย่างไรก็ตาม โดยสถานะของกำแพงเบอร์ลินในทางประวัติศาสตร์ นี่คือสัญลักษณ์ที่ทรงพลังที่สุดและมีนัยยะใหญ่ที่สุดของการเมืองโลก ย้อนกลับไปเมื่อ 30 ปีที่แล้ว คืนวันที่ 9 พฤศจิกายน 1989 เป็นคืนที่ยิ่งใหญ่มากสำหรับเบอร์ลิน คนหนุ่มสาวจะออกมาจุดเทียนกัน บางคนถือค้อนมาทุบกำแพงด้วย มันคือวันที่ภาพที่คนหลายล้านคนเคยฝัน เคยคิด เคยเชื่อ การพังทลายของกำแพงเบอร์ลินคือความฝันที่เป็นจริงของคนหลายสิบล้านคน เพราะกระทั่งช่วงต้นปี 1989 คนก็ยังรู้สึกว่า การที่กำแพงจะพังและเยอรมนีรวมชาติได้เป็นความฝันที่ยังอีกไกล บางคนอาจจะคิดว่า ต้องมีสักวัน แต่ไม่มีใครคิดว่ามันจะเกิดขึ้นเร็วขนาดนี้

พอวันถัดมา ตัวเส้นแบ่งที่เคยแบ่งเบอร์ลินมันเปิดจริงๆ สมมติเรายืนอยู่เยอรมันตะวันตกหันหน้าเข้าหาตะวันออก ฝั่งขวามือเราจะเป็นคนจากฝั่งตะวันตกเดินเข้าไป และฝั่งซ้ายจะเป็นคนจากฝั่งตะวันออกเดินกลับออกมา ผมมักพูดเล่นว่า คนฝั่งตะวันตกมาเยี่ยมญาติ ส่วนคนฝั่งตะวันออกมาหางาน สำหรับคนในยุคนั้น การที่กำแพงเบอร์ลินล่มสลายจึงหมายถึงการรวมชาติของเยอรมนี แต่ต่างคนก็อาจตีความการสิ้นสุดของสงครามเย็นต่างกันไป บางคนตีความว่าสงครามเย็นสิ้นสุดลงในวันที่สหภาพโซเวียตแตก บางคนก็บอกว่าสิ้นสุดในวันที่ผู้นำของทั้งสองฝ่ายออกมาประกาศว่า สงครามเย็นถึงจุดสุดท้ายแล้ว แต่ผมมักจะบอกนิสิตเสมอเวลาสอนเรื่องสงครามเย็นว่า ‘เรื่องทั้งหมดเริ่มขึ้นที่เบอร์ลิน และจบที่ลงเบอร์ลิน’

‘เรื่องทั้งหมดเกิดขึ้นที่เบอร์ลิน และจบลงที่เบอร์ลิน’ หมายความว่าอย่างไร

จริงๆ แล้ว สงครามเย็นเริ่มที่เบอร์ลิน เพราะว่าในช่วงที่สงครามโลกครั้งที่สองกำลังจะสงบ กองทัพสัมพันธมิตรและกองทัพรัสเซียต้องแข่งกันว่าใครจะยึดเบอร์ลินได้ก่อน แต่เพราะเบอร์ลินตั้งอยู่ทางตะวันออกค่อนไปทางโปแลนด์ รัสเซียที่รุกเข้าตีเยอรมนีจากทางโปแลนด์ จึงถึงเบอร์ลินได้ก่อน ภาพประวัติศาสตร์ที่เป็นรูปทหารรัสเซียปีนขึ้นไปปักธงค้อนเคียวบนรัฐสภาเยอรมัน ซึ่งคือตัวรัฐสภาปัจจุบันที่เบอร์ลิน ภาพนั้นคือสัญลักษณ์ใหญ่ แต่ด้วยความที่มันเป็นภาพของสงครามยุโรป ก็อาจจะไม่ค่อยตื่นเต้นเท่ากับระเบิดนิวเคลียร์ หรืออะไรที่เราคุ้นกับสงครามในเอเชีย

ประเด็นคือภาพนั้นมันตอบชัดว่าส่วนหน้าของกองทัพแดงรัสเซียถึงเบอร์ลินแล้ว แต่รัสเซียเองก็ไม่สามารถเข้าไปควบคุมเบอร์ลินได้หมด สุดท้ายกองทัพของฝ่ายสัมพันธมิตรคือสหรัฐฯ อังกฤษ ฝรั่งเศส ก็ไปถึง จนเกิดแนวเส้นแบ่ง ถามว่าใครลาก คงลากด้วยสถานการณ์สงคราม เพราะว่ารัสเซียเข้ามาถึงก่อน ถ้าเราเปิดตัวแผนที่ จะเห็นว่าส่วนที่รัสเซียควบคุมไว้จะใหญ่กว่าส่วนที่สหรัฐฯ อังกฤษ ฝรั่งเศส ควบคุม ยกเว้นแต่จะเอาสามส่วนมารวมกัน

ถ้าเราดูการแบ่งเบอร์ลิน เราจะรู้สึกว่ามันเป็นการแบ่งที่ประหลาดมาก เพราะแทนที่จะแบ่งประเทศไปเลยเหมือนเกาหลีเหนือ–เกาหลีใต้ หรือเวียดนามเหนือ–เวียดนามใต้ แต่เบอร์ลินคือการแบ่งในประเทศที่ถูกแบ่งไปแล้ว ตัวกรุงเบอร์ลินอยู่ในเยอรมนีตะวันออก แต่ในเบอร์ลินยังต้องถูกแบ่งเป็นตะวันออกกับตะวันตกอีก

การแบ่งที่ว่านี่คือความประหลาดที่สุดแล้วครับ เพราะเบอร์ลินถูกแบ่งบนเงื่อนไขของเส้นแบ่งเขตทหาร ณ สถานการณ์ตอนนั้น ในทางวิชาการ ผมจึงอยากจะเปิดประเด็นหนึ่งว่า สงครามเย็นเกิดซ้อนกับสงครามโลกครั้งที่สอง และเมื่อสงครามโลกครั้งที่สองจบลง เบอร์ลินก็ถูกแบ่งทันทีด้วยสภาวะทางอุดมการณ์ที่แตกต่างกัน

ในช่วงแรกของการแบ่ง เราจะเห็นต่างฝ่ายเริ่มวางแนวของตัวเองก่อน เช่น ถ้าคุณอยู่ในส่วนของสหรัฐฯ คุณจะเห็นป้ายที่เขียนไว้ว่า You are living American sector และฉายหนังแบบอเมริกัน แต่ถ้าคุณอยู่ในฝั่งโซเวียต ก็จะฉายหนังของโซเวียต ทั้งสองฝั่งเปิดให้ดูฟรีกันหมด เป็นการแข่งขันกัน คือมันสะท้อนว่าในบริบทของอุดมการณ์ เบอร์ลินถูกแบ่งแล้ว แต่กำแพงยังไม่ถูกสร้างขึ้นมาเท่านั้นเอง คนก็ยังข้ามไปข้ามมาได้

การแบ่งเป็น Sector ที่คนยังข้ามฝั่งไปมาทำให้เกิดปัญหาเรื่องการหนี ข้อมูลสถิติชี้ว่า คนหนีจากฝั่งตะวันออกเป็นหลักล้าน ทางโซเวียตก็เริ่มรู้สึกว่า ภาพการหนีของผู้คนจะส่งผลต่อภาพลักษณ์ของอุดมการณ์สังคมนิยม แต่ที่เป็นปัญหาใหญ่เลยคือ การหนีของคนทำให้แรงงาน (manpower) ของฝั่งเยอรมัน/เบอร์ลินตะวันออกหายไป เคยมีการหนีชนิดที่ว่าเป็นประวัติศาสตร์คือ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยไลฟ์ซิก ทั้งคณะ หนีมาฝั่งตะวันตก (หัวเราะ) อีกเรื่องที่เป็นเรื่องใหญ่คือ การหนีของวิศวกร ซึ่งทำหน้าที่เตรียมการสร้างโรงงานในฝั่งตะวันออก เมื่อคนกลุ่มนี้หนีไป ไม่ได้ไปแต่ตัว แต่เขาหนีไปพร้อมพิมพ์เขียวโรงงาน

ท้ายที่สุด ด้วยความอึดอัด นีกีตา ครุชชอฟ (Nikita Khrushchev) ผู้นำโซเวียตจึงส่งสัญญาณผ่านสำนักข่าวที่ใกล้ชิดกับสื่อเยอรมัน/เบอร์ลินตะวันตก ว่าพรุ่งนี้จะมีการปิดพื้นที่ ปิดเส้นทางการเข้าออกเบอร์ลิน แล้ววันรุ่งขึ้นก็ปิด โดยให้เหตุผลว่า “มีความขัดข้องทางเทคนิคบางประการ” เหตุผลในสมัยนั้นก็รู้กันล่ะว่า หมายความว่าอย่างไร นี่คือจุดเริ่มต้นของเรื่องที่ใหญ่ที่สุดหลังสงคราม คือการปิดล้อมเบอร์ลิน หรือ Berlin Blockade

จาก Berlin Blockade มันกลายมาเป็นกำแพงเบอร์ลินได้อย่างไร

Berlin Blockade กลายเป็นคำถามใหญ่ทางการเมืองระหว่างประเทศ ในด้านหนึ่งคือการทดสอบว่าสหรัฐอเมริกาและพันธมิตรมีขีดความสามารถแค่ไหน ถ้ารัสเซียตัดสินใจปิดล้อมเบอร์ลิน อย่าลืมว่าเบอร์ลินตะวันตกนั้นอยู่ในเยอรมนีตะวันออก ถ้าปิดแล้วสหรัฐอเมริกาทำอะไรไม่ได้ คนในเบอร์ลินตะวันตกก็ต้องอดอยากแน่นอน และสุดท้าย รัสเซียก็คงเข้ามายึดเบอร์ลิน ฝั่งสหรัฐฯ ก็ตีความว่า ถ้าเสียเบอร์ลินคือเสียเยอรมัน เพราะฉะนั้นการตีความ (interpretation) ในทางการเมืองระหว่างประเทศ จึงนำไปสู่โจทย์ใหญ่ที่ตามมา

สหรัฐอเมริกาแก้เกมด้วยปฏิบัติการขนส่งทางอากาศ หรือที่เรียกว่า ‘Berlin airlift’ ซึ่งเป็นการใช้เครื่องบินขนสัมภาระขนส่งสินค้าขึ้นลงตลอดเวลาเพื่อเลี้ยงคนในเบอร์ลิน เบอร์ลินถูกปิดนานเกือบปี เป็นการทดสอบใหญ่ครั้งใหญ่ระหว่างสหรัฐฯ กับโซเวียต ถ้าสหรัฐคิดสุดโต่ง ส่งกำลังเข้าไปเซฟเบอร์ลิน หรือโซเวียตตัดสินใจปิดล้อมทั้งทางบกและทางอากาศ นั่นคือสงครามทันที นี่คือสิ่งที่ผมบอกไปตอนแรกว่าเวลาเขาทะเลาะกัน เขาจะไม่เดินจนสุดซอย

ในอีกด้านหนึ่ง Blockade ก็ไม่ได้ป้องกันการหนีได้ ผู้คนยังหนีออกจากเบอร์ลินตะวันออกอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งในปี 1961 เริ่มมีการวางลวดหนามแล้ว แต่การหนีก็ยังง่ายอยู่ มีทุกรูปแบบ ทั้งเปิดหน้าต่างโดดหนี ขุดทางใต้ดินมาโผล่ฝั่งตะวันตก คนก็ไปช่วยกันดึงขึ้นมา จนถึงจุดสุดท้าย รัสเซียไม่ทนแล้ว ก็เลยเริ่มสร้างกำแพง แล้วทุบตึกที่อยู่ด้านหลังแนวกำแพงทิ้งทั้งหมด เปิดเป็นพื้นที่โล่งขนาดใหญ่

หลายคนอาจไม่รู้ว่า เวลาพูดถึงกำแพงเบอร์ลิน พูดกันเต็มรูปแบบคือมี 9 ชั้น ไม่ใช่แค่กำแพงเฉยๆ มันมีชั้นที่เป็นลวดหนาม ทุ่นระเบิดต่างๆ กำแพงนี่คือชั้นสุดท้าย ถ้าเข้าใกล้เมื่อไหร่ โดนยิงทันที ถ้าใช้สำนวนของวินสตัน เชอร์ชิล (Winston Churchill) ก็ต้องบอกว่า โซเวียตกลัวคนหนีออกจากม่านเหล็ก จึงต้องขึงม่านเหล็กให้ตึง

การเกิดขึ้นของกำแพงเบอร์ลิน คือสัญลักษณ์ของการแบ่งและแข่งขันอย่างเป็นรูปธรรมของอุดมการณ์สองแบบในยุคสงครามเย็น ในช่วงที่ม่านเหล็กกั้นคนสองฝั่งออกจากกัน เราจะเห็นเหตุการณ์หนึ่งที่เป็นเหมือนเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์คือ การเดินทางเยือนเบอร์ลินตะวันตกของประธานาธิบดีสหรัฐฯ จอห์น เอฟ. เคนเนดี (John F. Kennedy) ในปี 1963 ซึ่งมีคนเบอร์ลินตะวันตกจำนวนมากออกมาต้อนรับ สิ่งที่สำคัญคือการกล่าวปราศรัยของประธานาธิบดีเคนเนดีตอนหนึ่ง ซึ่งผมขอเรียกว่าเป็นวรรคทองของสงครามเย็น คือประโยคที่ว่า ‘ผมเป็นชาวเบอร์ลิน (Ich bin ein Berliner)’ ซึ่งเป็นประโยคเดียวที่เขาพูดด้วยภาษาเยอรมัน ประโยคนี้เป็นเหมือนประโยคปลุกเร้าที่สำคัญ และยังสื่อความนัยด้วยว่า สหรัฐฯ จะไม่ทิ้งเบอร์ลิน

ในเชิงภูมิศาสตร์ การแบ่งขั้วของอุดมการณ์ก็เกิดขึ้นหลายที่ เช่น คาบสมุทรเกาหลี หรือเวียดนาม และทั้งสองที่ก็เกิดการรบจริงขึ้นด้วยซ้ำ ทำไมสมรภูมิที่เบอร์ลินจึงต่างจากที่อื่น

ยุโรปคือสมรภูมิของสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและครั้งที่สอง และสิ่งที่คนไม่อยากให้เกิดขึ้นคือสงครามโลกครั้งที่สาม

ในช่วงสงครามเย็นทวีความเข้มข้น ปัญหาเยอรมันเป็นเรื่องคาราคาซังที่สุด ในยุคนั้นอาวุธนิวเคลียร์พัฒนาแล้ว แต่เป็นการติดตั้งในระดับพิสัยกลาง ไม่ใช่การยิงข้ามทวีป การติดตั้งฐานยิงนิวเคลียร์จึงอยู่ในยุโรปเป็นหลัก ถ้าสงครามเกิดในยุโรปอีกครั้ง คนเยอรมันตอบชัดว่า สนามรบจะอยู่ในบ้านเขา หรือถ้าเราเป็นคนยุโรป เราจะตอบได้ทันทีว่า สนามรบของสงครามโลกครั้งที่สามอยู่ในยุโรปตะวันตก ที่อยู่ในแนวรอยต่อระหว่างตะวันออกกับตะวันตกของยุโรป สมัยที่ผมเรียนหนังสือในต่างประเทศและต้องเรียนวิชาทหาร นี่คือโจทย์ที่ต้องเรียนเลยว่า ถ้าสงครามเกิดในยุโรป จะต้องเตรียมรับมืออย่างไรบ้าง

สุรชาติ บำรุงสุข

ระเบียบโลกแบบสงครามเย็น มีส่วนในการ Shape การเมืองโลกในปัจจุบันอย่างไรบ้าง

ปรากฎการณ์แรกที่เราเห็นหลังจากสงครามเย็นสิ้นสุดลง และแทบจะเป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลกคือ การต่อสู้เพื่อแยกตัวออกจากรัฐเดิม หรือการต่อสู้ผ่านทางมิติชาติพันธุ์ ที่เห็นได้ชัดคือ ความขัดแย้งในประเทศยูโกสลาเวีย ซึ่งเป็นความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์เดิมในยุโรป ตามมาด้วยการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (Ethnic cleansing) และการล่มสลายของยูโกสลาเวีย โจทย์นี้เป็นโจทย์ที่นักเรียนรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศไม่เคยเจอ เหมือนโลกกลับไปเจอโจทย์ยุคโบราณทีเป็นความขัดแย้งระหว่างชาติพันธุ์ ซึ่งถ้ามองในระนาบนี้ ความขัดแย้งที่มีฐานอยู่ที่ความเชื่อทางศาสนาก็เพิ่งปรากฏขึ้นหลังสงครามเย็น

ตรงนี้น่าสนใจนะครับ เพราะช่วงสงครามเย็นมีการใช้อำนาจรัฐคุมชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์ที่มีความหลากหลายให้อยู่ด้วยกันได้ แต่พอสงครามเย็นจบ เงื่อนไขทางการเมืองเปลี่ยน คนก็กลับลุกขึ้นมาฆ่ากัน ผมไม่ได้บอกว่าการใช้อำนาจรัฐคุมชนกลุ่มนี้ดีหรือไม่ดี แต่มันสะท้อนให้เห็นว่า สงครามเย็นมันกดทับปัญหาจำนวนมากไว้

เรื่องที่สองคือโจทย์เก่าเกี่ยวกับสงคราม สงครามในตะวันออกกลางทุกวันนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นเรื่องคาราคาซังมาจากสงครามเย็น เราเห็นโซเวียตเข้ายึดอัฟกานิสถาน เห็นการตั้งฐานการต่อสู้ (Base) อัลกออิดะฮ์ เพื่อต่อต้านโซเวียต โดยอุซามะฮ์ บิน ลาดิน และการก่อกำเนิดของกลุ่มมูจาฮิดีน (นักรบของพระเจ้า) ที่ต่อมาบานปลายกลายเป็นสงครามที่รบบนฐานความเชื่อทางศาสนา เรายังเห็นปัญหาในตะวันออกกลาง คือเกิดสงครามอ่าวเปอร์เซีย ซึ่งถือเป็นสงครามใหญ่ครั้งแรกหลังสงครามเย็นที่มีการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้ในการรบ

เรื่องสุดท้าย และเป็นเรื่องใหญ่ที่สุดคือ การที่สหรัฐอเมริกาก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจฝ่ายเดียว เพราะมหาอำนาจเดิมไม่มีความเข้มแข็งพอ โลกหลังสงครามเย็นจึงกลายเป็นโลกแบบขั้วอำนาจเดียว (Unipolar) อันนี้น่าสนใจ มองย้อนกลับไปทุกคนรู้ดีว่า การเมืองโลกแบบขั้วเดียวจะอยู่ได้ไม่นาน จึงมีคำถามเกิดขึ้นในยุคนั้นว่า รัสเซียจะฟื้นตัวกลับขึ้นมาไหม หรือจะเป็นสหภาพยุโรป (EU) หรือจะมีประเทศอื่นที่ขึ้นมาเป็นอีกขั้วอำนาจหนึ่ง แต่วันนี้ชัดเจนแล้วว่า อีกขั้วอำนาจหนึ่งที่ก้าวขึ้นมาคือประเทศจีน

ในช่วงสงครามเย็น โซเวียตสร้างกำแพงเบอร์ลินเพื่อกันไม่ให้คนฝั่งตะวันออกข้ามไปฝั่งตะวันตก พอผ่านไป 30 ปี เราเริ่มเห็นการสร้างกำแพงขึ้นมาอีกครั้ง โดยเฉพาะในยุโรป แต่คราวนี้เป็นการกันไม่ให้คนเข้าแทน เราจะอธิบายเรื่องนี้ได้อย่างไร

เราอาจต้องเริ่มจากการทำความเข้าใจการเมืองยุโรปก่อน สิ่งที่ผมว่าน่าสนใจคือการถือกำเนิดของกลุ่มประชานิยมปีกขวา (Right-wing populism) ที่มากับกระแสยุโรปหลังกำแพงเบอร์ลินล่ม คือหลังจากสงครามเย็นสิ้นสุดลง ก็เกิดกระแสโลกาภิวัตน์ เราเห็นการรวมตัวและการเติบโตของสหภาพยุโรป แต่ในการเติบโตนั้นก็มีปัญหา เพราะถ้าเราไปถามคนยุโรป คนส่วนหนึ่งจะมองว่าโลกาภิวัตน์เป็นลบ เพราะมันไปเปลี่ยนภูมิทัศน์การเมืองยุโรป มีการย้ายโรงงานและฐานการผลิต คนผิวขาวส่วนหนึ่งตกงาน และรู้สึกว่ามีคนมาแย่งงานพวกเขา ซึ่งคนที่มาแย่งงานก็เป็นกลุ่มคนผิวสีที่ข้ามเมดิเตอร์เรเนียนมา

เมื่อเป็นเช่นนี้ กลุ่มประชานิยมปีกขวาจึงมีความคิดที่ชัดเจนว่า ไม่ต้องการให้ประเทศตัวเองอยู่ในสหภาพยุโรป เพราะเขาเชื่อว่าการอยู่ใต้สหภาพเท่ากับการเสียเอกราช อีกอย่างหนึ่งคือ พวกเขาไม่ชอบคนภายนอก (Xenophobia) ที่ตอบโจทย์ยุโรปชัดคือเกิดกระแสความเกลียดกลัวอิสลาม (Islamophobia) เพราะหลังปี 2015 เป็นต้นมา เกิดกระแสการก่อการร้ายขึ้นหลายครั้งในยุโรป โดยผู้ก่อการร้ายล้วนเป็นชาวมุสลิม ส่วนผู้อพยพที่เข้ามาในยุโรปก็เป็นชาวมุสลิม ซึ่งปีกขวายุโรปมองว่าสองเรื่องนี้เป็นเรื่องเดียวกัน

เพราะฉะนั้น กลุ่มประชานิยมปีกขวายุโรปจึงมีความคิดชัดเจนว่า ไม่รับสหภาพ ไม่รับคนนอก และไม่รับชาวมุสลิม ที่สำคัญที่สุดคือ การไม่รับสหภาพอาจจะผูกโยงกับการไม่ยอมรับกติกาที่สหภาพสร้างขึ้น เพราะมองว่ากติกาดังกล่าวบีบคั้นนโยบายเศรษฐกิจของประเทศมากเกินไป และปีกขวาเหล่านี้ก็ไม่ยอมรับแนวคิดเรื่องพหุวัฒนธรรม (Multiculturalism) ด้วย เพราะมองว่านี่คือต้นเหตุของปัญหา

นักวิเคราะห์บางคนบอกว่า สงครามเย็นส่งผลต่อผู้คนมากกว่าที่คิด โดยเฉพาะในพื้นที่ภายใต้การควบคุมของโซเวียต เพราะคนในพื้นที่เหล่านี้ไม่คุ้นชินกับความหลากหลายทางวัฒนธรรมสักเท่าไหร่ จึงเกิดเป็นกระแสประชานิยมปีกขวาขึ้น

เป็นไปได้ครับ เพราะในยุคสงครามเย็น พวกเขาไม่มีคนนอกเลย คือกำแพงเบอร์ลินหรือที่เราเรียกกันว่าม่านเหล็ก (Iron curtain) ถูกสร้างขึ้นเพื่อกันคนหนีออก แต่ก็มีไว้กันคนเข้าด้วยเช่นกัน เคสเดียวที่เข้าไปได้คือคนงานจากเวียดนามหรือคิวบาที่เข้าไปทำงานในเบอร์ลินตะวันออก แต่ส่วนอื่นแทบไม่มีเลย ตัวเลขล่าสุดที่มีวิจัยในเยอรมันก็เหมือนจะสนับสนุนเรื่องนี้ เพราะแนวโน้มการเลือกพรรค Alternative für Deutschland ซึ่งเป็นประชานิยมปีกขวา ถือว่าค่อนข้างสูงในเขตที่เคยเป็นพื้นที่เยอรมนีตะวันออก

อย่างไรก็ตาม คำอธิบายนี้ก็ยังมีข้อจำกัดอยู่ อย่าลืมว่าหนึ่งในการขับเคลื่อนของกลุ่มปีกขวาที่น่าสนใจคือ Brexit ซึ่งเป็นประเทศที่อยู่ในค่ายเสรีนิยมมาตลอด แต่กลับมีคนจำนวนมากที่โหวตให้สหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรป เพราะพวกเขาเชื่อว่า การที่ประเทศอยู่กับสหภาพยุโรปเท่ากับการเสียเอกราช ซึ่งเราอาจคิดไม่ถึงว่า มันเป็นไปได้อย่างไร แต่วาทกรรมแบบนี้ยังขายได้อยู่

ความท้าทายที่ต้องจับตานับจากนี้คือ กระแสนิยมปีกขวาในยุโรปจะขับเคลื่อนไปได้ไกลแค่ไหน แล้วรัฐบาลในประเทศยุโรปบางประเทศที่ไม่ได้เป็นปีกขวา จะยืนหยัดประคองตนเองไปได้อีกนานแค่ไหน

สิ่งที่น่าสนใจอย่างหนึ่งคือ หลังจากกำแพงเบอร์ลินล่มสลาย สิ่งที่หายไปไม่ใช่แค่อุดมการณ์แบบคอมมิวนิสต์เท่านั้น แต่มันทำให้แนวคิดที่เอียงซ้าย เช่น อุดมการณ์แบบประชาธิปไตยสังคมนิยม (Social democrat) อ่อนแรงไปด้วย

ผมยกตัวอย่างเล่นๆ ปี 2019 เป็นปีที่ครบรอบ 30 ปี การพังทลายของกำแพงเบอร์ลิน แต่นอกจากนี้ยังเป็นการครบรอบ 100 ปี พรรคคอมมิวนิสต์สากล หรือขบวนการสังคมนิยมที่ 3 (The Third International) ด้วย แต่ทุกวันนี้แทบไม่มีใครพูดถึงกันแล้ว ถามคนทุกวันนี้ผมว่า ไม่มีใครเข้าใจนะ ถ้าพูดถึงสากลที่ 1 2 หรือ 3 จินตนาการไม่มีแล้ว ผมเองก็รอดูว่า คนรุ่นผมจะมีใครออกมาฉลองไหม (หัวเราะ) แต่อันนี้ว่ากันไม่ได้ เพราะโลกเปลี่ยนไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม ผมยังเชื่อว่า กระแสสังคมนิยมไม่ได้ตาย แต่ซ่อนตัวอยู่ และจะค่อยๆ เติบโตขึ้น เช่น ในการเมืองอเมริกัน คนหนุ่มสาวจำนวนหนึ่งเริ่มรู้สึกไม่มีความสุขกับระบบการเมือง พวกเขาจึงเริ่มหันไปในทิศทางที่เป็นสังคมนิยมมากขึ้น แต่ไม่ใช่สังคมนิยมเต็มรูปแบบเหมือนในช่วงสงครามเย็น แต่จะเอียงไปในลักษณะที่พูดถึงความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น หรือยอมรับปัญหาทางชนชั้นมากกว่าเดิม ฝ่ายซ้ายเหมือนจะเริ่มเติบโตขึ้น แต่ไม่ได้เร็ว หรือเติบโตโดยมีพรรคคอมมิวนิสต์คอยกำกับอยู่ แต่เป็นการเติบโตในบริบทของปัญญาชน คือเราต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า แม้สังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์จะล้มไปพร้อมกับกำแพงเบอร์ลิน แต่แนวคิดที่ไม่มีวันหายไปคือ ความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจหรือทางชนชั้น นี่คือปัญหาใหญ่ทั่วโลกเลย

ในโลกที่ความเหลื่อมล้ำสูงและรุนแรง การเรียกร้องความเท่าเทียมทางด้านเศรษฐกิจจะเสียงดังขึ้นเรื่อยๆ และนี่คือหนึ่งในมรดกใหญ่ที่โลกสังคมนิยมทิ้งไว้ให้เรา

สุรชาติ บำรุงสุข

ถ้าเกิดสงครามเย็นในศตวรรษที่ 21 ระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนจริงๆ ชุดความคิดจากสงครามเย็นแบบเดิมจะยังใช้ได้อยู่หรือ เพราะเงื่อนไขหลายอย่างก็เปลี่ยนไปมากแล้ว

ถ้าสมมติว่าเกิดสงครามเย็นในศตวรรษที่ 21 ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ จริงๆ แล้วจีนตัดสินใจผลิตอาวุธนิวเคลียร์เต็มรูปแบบเพื่อแข่งขันกับสหรัฐฯ คำถามคือ เราจะสามารถมีกลไกการเจรจาเพื่อจำกัดอาวุธ แบบที่โซเวียตกับสหรัฐฯ เคยทำได้หรือไม่ หรือถ้าเราพูดถึงกระบวนการปลดอาวุธนิวเคลียร์ (Denuclearisation) ของเกาหลีเหนือ แล้วต้องปลดแค่ไหนถึงจะสมบูรณ์ (Complete) แล้วเป็นไปได้ไหมที่เราจะตั้ง Hotline ไว้ที่วอชิงตัน มอสโก หรือปักกิ่ง ไว้ให้ผู้นำได้เจรจากันโดยตรงอีกครั้งเหมือนในปี 1962

อย่างที่ผมบอกว่า ระบอบการควบคุมความขัดแย้ง หรือชุดความคิดและกลไกแบบเมื่อครั้งสงครามเย็นถือว่ามีประสิทธิภาพในระดับหนึ่ง แต่ทุกวันนี้ ไม่มีชุดความคิดและกลไกแบบนั้นอีกต่อไป เราจะยังใช้กรอบเดิมมองความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับจีนได้หรือไม่ หรือความขัดแย้งระหว่างสองมหาอำนาจนี้มีโอกาสพัฒนาไปสู่สงครามครั้งใหญ่ได้ไหม นี่คือโจทย์ใหญ่ที่พวกเราต้องตอบกัน

ถ้าศูนย์กลางความขัดแย้งหลักในยุคสงครามเย็นคืออาวุธนิวเคลียร์ แล้วศูนย์กลางความขัดแย้งหลักในยุคนี้คืออะไร

การแข่งขันในศตวรรษที่ 21 เป็นการแข่งขันที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีหลายรูปแบบ แน่นอนว่าอาวุธนิวเคลียร์ยังไม่ไปไหน และจะยังเป็นศูนย์กลางของอำนาจอยู่ แต่อีกมุมหนึ่ง เราเห็นการพัฒนาระบบอาวุธใหม่ๆ และในอนาคต เราจะเห็นแนวโน้มการเปลี่ยนสิ่งที่อยู่ในชีวิตประจำวันของเราให้กลายเป็นอาวุธ คือเป็นการทำสงครามไซเบอร์ (Cyberwarfare)

ถ้าเราดูการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปี 2016 เราจะเห็นรัสเซียแทรกแซงเข้าไปดิสเครดิตฝั่งพรรคเดโมแครต คำถามคือ การเลือกตั้งรอบหน้าที่จะเกิดขึ้นในปี 2020 สหรัฐฯ จะรับมือกับสงครามไซเบอร์จากทางฝั่งรัสเซียอย่างไร เรื่องพวกนี้เริ่มมีการคุยกันมากขึ้นนะครับ คือสงครามทุกวันนี้ไม่จำเป็นต้องคิดแบบคนยุคสงครามเย็นที่มองว่า ศูนย์กลางที่ใหญ่ที่สุดคือหัวรบนิวเคลียร์อีกต่อไป

อีกเรื่องหนึ่งที่เมืองไทยแทบจะไม่พูดถึงกันเลยคือ การก่อการร้ายด้วยโดรน (Drone terrorism) ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 14 กันยายนที่ผ่านมา แหล่งผลิตน้ำมันของซาอุดิอาระเบียโดนโจมตีทางอากาศด้วยโดรน ถ้ามองในแง่สงคราม ผมว่าเรื่องนี้มันเปลี่ยนรูปแบบของสงครามนะ เพราะลำพังแค่โดรน 10 ลำ ทำให้ขีดความสามารถในการผลิตน้ำมันของซาอุดิอาระเบียพังไปเกือบ 50% ถ้าเราเทียบราคาโดรน 10 ลำกับปริมาณน้ำมันที่หายไปกับการถูกโจมตีนี่เทียบกันไม่ได้เลย อีกอย่างคือ ระบบต่อต้านขีปนาวุธทำอะไรโดรนไม่ได้ด้วย เพราะระบบพวกนี้เอาไว้ยิงหัวรบ จรวด หรือเครื่องบินรบข้าศึก แต่โดรนบินต่ำทำให้ระบบตั้งรับไม่ทัน

 

เมื่อโลกกำลังเปลี่ยนแปลงไป สังคมไทยเข้าใจและรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในยุคปัจจุบันได้มากน้อยแค่ไหน

อย่างหนึ่งที่ผมเห็นคือ คนไทยไม่สนใจการเมืองภายนอก จริงๆ ต้องบอกว่าคนส่วนใหญ่สนใจการเมืองภายในประเทศมากกว่าทั้งนั้นแหละ แต่เมื่อมองในบริบทของสังคมไทย เราอาจจะสนใจการเมืองภายในมากเสียจนเราไม่ค่อยรู้ว่า โลกรอบตัวเรา หรือภูมิภาคของเราเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยขนาดไหน และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกระทบหรือมีนัยยะต่อเราอย่างไร ส่วนหลังนี่เป็นประเด็นสำคัญนะครับ อีกอย่างคือ สื่อไทยไม่ค่อยพูดถึงเรื่องการเมืองระหว่างประเทศเท่าไหร่ด้วย เมื่อเป็นแบบนี้คนในสังคมก็ลำบาก

คุณรู้ไหมว่า นอกจากปี 2019 จะครบรอบ 30 ปีการล่มสลายของกำแพงเบอร์ลินแล้ว ยังครบรอบอะไรอีกหลายอย่าง ถ้าเป็นฝ่ายซ้ายจะครบรอบ 100 ปีสากลที่ 1 ของพรรคคอมมิวนิสต์ ถ้าพูดถึงสงครามโลกครั้งที่ 1 จะครบรอบ 100 ปีทหารสยามกลับบ้าน และครบรอบ 100 ปีสนธิสัญญาแวร์ซายส์ด้วย ผมก็รอดูอยู่ว่าจะมีใครฉลองไหม แต่ในไทยแทบไม่มีใครพูดถึงเรื่องนี้เลย

สำนวนที่ว่าโลกล้อมรัฐเกิดขึ้นมาตั้งนานแล้ว ไทยถูกโลกล้อมมาตั้งแต่สนธิสัญญาเบาว์ริงสมัย ร.3 ด้วยซ้ำ ไม่เช่นนั้น ร.4 ท่านไม่ตัดสินใจเริ่มปฏิรูปบ้านเมืองอย่างจริงจังหรอก แต่นับจากสมัย ร.5 เราแทบไม่เคยเห็นการปฏิรูปประเทศอย่างจริงจังอีกเลย ถ้าเราเปรียบประเทศเป็นรถยนต์ ก็เป็นรถที่วิ่งด้วยเครื่องยนต์เก่าและใช้คนขับเก่า เป็นรถที่ถูกปะผุไปเรื่อยๆ แต่ไม่เคยมีใครนำรถเข้าอู่ซ่อมหรือยกเครื่องอย่างจริงจัง ขณะที่โลกภายนอกเป็นเหมือนรถสมัยใหม่ที่เปลี่ยนเครื่อง เปลี่ยนคนขับ และเปลี่ยนระบบทุกอย่างไปหมดแล้ว นี่จึงอาจจะถึงเวลาที่เราต้องมาเริ่มถอดบทเรียนกันได้แล้ว

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save