กองบรรณาธิการ The101.world เรื่อง
เมธิชัย เตียวนะ ภาพ
การจากไปของ ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เมื่อเช้าวันที่ 31 ตุลาคม 2562 ไม่ใช่เพียงแค่ความสูญเสียอย่างยิ่งของครอบครัว ญาติ มิตร และเพื่อนร่วมงานที่ใกล้ชิดเท่านั้น หากแต่ยังรวมถึงวงวิชาการไทย และสังคมโดยรวม
‘การต่อสู้กับคอร์รัปชัน การผูกขาด และอธรรมภิบาลภาครัฐ’ คือสนามวิชาการของ ‘อาจารย์เดือนเด่น’ ที่โดดเด่นเป็นประจักษ์ และเป็นที่ยอมรับอย่างสูง ทั้งในเชิงปริมาณ อันเนื่องมาจากการทำวิจัยเกาะติดประเด็นอย่างต่อเนื่อง และในเชิงคุณภาพที่เป็นผลมาจากการยึดถือ ‘ผลประโยชน์สาธารณะ’ และ ‘หลักวิชา’ เป็นสำคัญ
ปฏิเสธไม่ได้ว่าผลงานและความคิดของอาจารย์เดือนเด่น คือหมุดหมายสำคัญของการทำความเข้าใจสถานการการณ์คอร์รัปชัน การผูกขาด และความไม่โปร่งใสในภาครัฐ ซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างใหญ่ที่กัดกินสังคมไทยชนิดถึงเนื้อถึงกระดูก จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ผลงานของอาจารย์จะถูกนำไปใช้ผลักดันและขับเคลื่อนให้เป็นนโยบายสำคัญหลายต่อหลายชิ้น
101 ร่วมรำลึกความคิดและผลงานของ เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผ่านงานเสวนา ‘การต่อสู้กับคอร์รัปชัน การผูกขาด และอธรรมภิบาลภาครัฐ : สนามวิชาการของเดือนเด่น นิคมบริรักษ์’ โดยเพื่อนที่ร่วมต่อสู้ทางความคิด และแชร์ความฝันถึงสังคมไทยในอุดมคติกับอาจารย์เดือนเด่นหลายท่าน ได้แก่ บรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ป่าสาละ จำกัด และ บุญวรา สุมะโน นักวิชาการ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ดำเนินรายการโดย กรรณิการ์ กิจติเวชกุล
ปฏิรูปกฎหมาย เพื่อการแข่งขันที่เป็นธรรม
“ผมเชื่อว่าอาจารย์เดือนเด่นเป็นเสรีนิยม อาจารย์เชื่อในการแข่งขันที่มีกติกาที่เป็นธรรม” บรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหารธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) ออกตัวพูดถึงอุดมการณ์ในตัวอาจารย์เดือนเด่นที่เขาเคยสัมผัสมากว่าสิบปี
บรรยงเล่าว่าได้ทำงานกับอาจารย์เดือนเด่นหลายเรื่อง ส่วนใหญ่เป็นประเด็นการปฏิรูปเชิงสถาบัน พยายามจะปรับเปลี่ยนหรือปฏิรูปกฎหมายเพื่อให้ประเทศพัฒนาไปข้างหน้าและมีความโปร่งใส
แต่สิ่งที่บรรยงจดจำและเห็นเป็นสาระสำคัญที่สุดคืองานที่อาจารย์เดือนเด่นยังทำไม่เสร็จ และเป็นความหวังของสังคมไทย คือ การปฏิรูปกฎหมายภายใต้โครงการที่เรียกว่า ‘regulatory guillotine’ คือการยกเลิกกฎหมายที่มีต้นทุนสูงกว่าประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ หรือหมดความจำเป็นไปแล้ว
“การศึกษาของอาจารย์เดือนเด่นทำให้พบว่า ประเทศไทยมีพระราชบัญญัติประมาณพันฉบับ มีพระราชกฤษฎีกาและกฎกระทรวงอีกประมาณสองหมื่นฉบับ และมีประกาศคำสั่งอีกกว่าหนึ่งแสนห้าพันฉบับ
“ประเทศไทยออกกฎหมายมาเป็นร้อยๆ ปี แต่ยังไม่มีกระบวนการยกเลิก และโครงการ regulatory guillotine ที่อาจารย์เดือนเด่นทำ มีเงื่อนไขว่า 1. กระบวนการต้องโปร่งใส 2. อาศัยการมีส่วนร่วมของประชาชน 3. มีเหตุและผล และ 4. รวดเร็ว ยกตัวอย่างเช่น เกาหลีใต้ในปี 1998 สามารถใช้กระบวนการนี้ในการยกเลิกกฎหมายไปได้ถึงสี่พันกว่าฉบับ จากหนึ่งหมื่นกว่าฉบับ ทำให้อุปสรรคทางเศรษฐกิจน้อยลงและคุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น
บรรยงมองว่ากฎหมายหลายตัวที่ไม่มีความจำเป็น เป็นทั้งต้นทุนโดยตรงและยังเป็นอุปสรรคในการพัฒนาต่างๆ ที่ทำให้เศรษฐกิจไม่สามารถขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้ เบื้องต้นคือเมื่อมีกฎหมาย ก็ต้องมีหน่วยงานดูแลบังคับใช้กฎหมายเหล่านั้น เขามองว่าน่าจะมีการทำวิจัยว่าข้าราชการไทย 2 ล้านกว่าคน มีกี่แสนคนที่ต้องทำงานเกี่ยวกับกฎหมายที่ไม่เกิดประโยชน์ และเป็นอุปสรรคต่อภาคเอกชนหรือประชาชนในการดำเนินชีวิต
“อาจารย์เดือนเด่นและพวกเราพยายามนำไอเดียเหล่านี้เข้าไปเสนอผ่านคณะกรรมการปรับปรุงกฎหมาย พวกเราไปคุยกับผู้เกี่ยวข้องหลายคน ทั้งอาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ วิษณุ เครืองาม ซึ่งทุกคนก็เห็นด้วย และรัฐบาลก็ตอบรับด้วยการตั้งคณะทำงานขึ้นมา แต่สุดท้ายก็ยกเลิกไป”
บรรยงยกตัวอย่างเพิ่มเติมว่า ในกลุ่มประเทศ OECD เคยแนะนำว่าในประเทศๆ หนึ่ง ควรจะมีใบอนุญาตแค่ 300 ชนิด แต่ในประเทศไทย เท่าที่ค้นเจอ มีใบอนุญาตมากถึง 1,600 กว่าชนิด
“ถ้าคุณจะสร้างคอนโด คุณต้องมีใบอนุญาตถึง 22 ชนิด จากหน่วยงานต่างๆ แล้วแทบไม่มีใบอนุญาตชนิดไหนเลยที่จะไม่มีค่าน้ำร้อนน้ำชาให้กับหน่วยงานภาครัฐ หรืออย่างการค้าในสนามบิน ไทยน่าจะเป็นประเทศเดียวที่มีสนามบินใหญ่แต่ให้บริษัทเดียวทำ”
ประเด็นดังกล่าวสามารถโยงไปที่เรื่องการต่อต้านคอร์รัปชันที่อาจารย์เดือนเด่นพยายามขับเคลื่อนมาทั้งชีวิตด้วย
ในสายตาของบรรยง เขามองว่าอาจารย์เดือนเด่นไม่ได้ทำเฉพาะงานวิจัย แต่เป็นคนที่ลุกขึ้นไปขับเคลื่อนด้วยตัวเองด้วย เพื่อที่จะให้เกิดฉันทานุมัติร่วมกันของสังคม
“เมื่อประมาณ 7 ปีที่แล้ว ทางทีดีอาร์ไอทำวิจัยเรื่องการโฆษณาประชาสัมพันธ์ของภาครัฐ พบว่างบประมาณที่หน่วยงานของรัฐใช้ในการโฆษณาปีละประมาณ 8 พันล้านบาท มีมากถึง 4 พันล้านที่โฆษณาไม่สามารถบอกประชาชนได้ว่ามีประโยชน์อย่างไร
“ส่วนใหญ่เป็นโฆษณาคน เป็นรูปผู้มีอำนาจตามคัทเอาท์ต่างๆ รูปโฆษณาในหน้าหนังสือพิมพ์ก็เป็นรูปรัฐมนตรี กรณีแบบนี้นอกจากไม่เกิดประโยชน์แล้ว ยังมีโอกาสที่เงินจะรั่วไหลได้ง่าย”
บรรยงบอกว่า ถ้าไปดูในประเทศที่พัฒนาแล้ว จะพบว่าเขามีกฎหมายควบคุมการโฆษณาจากภาครัฐไม่ให้เป็นไปในลักษณะดังกล่าว อาจารย์เดือนเด่นได้เอาโมเดลจากแคนาดาและออสเตรเลียมาประยุกต์ และเสนอให้รัฐบาล คสช. นำไปปรับใช้เพื่อออกร่างกฎหมาย แต่ก็ถูกคัดค้านจากสภาปฏิรูปประเทศ
“ประเด็นที่น่าสนใจคืองบประมาณดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นงบซื้อสื่อ ซึ่งจะทำให้สื่อไม่สามารถทำหน้าที่ในการตรวจสอบภาครัฐได้อย่างมืออาชีพ เพราะการต่อต้านคอร์รัปชันไม่สามารถทำได้ด้วยมาตรการเดียว ต้องมีหลายมาตรการร่วมกัน”
บรรยงทิ้งท้ายว่า ในความเชื่อของอาจารย์เดือนเด่นนั้น ประเทศจะปฏิรูปได้ อยู่ที่ความรู้ความเข้าใจและพลังของประชาชน เขาเคยตั้งคำถามว่าอุดมการณ์ของอาจารย์เดือนเด่นคืออะไร และคำตอบที่ได้จากการทำงานร่วมกับอาจารย์เดือนเด่นในระยะเวลาที่ผ่านมาคือ “ผมเชื่อว่าอาจารย์เป็นเสรีนิยม อาจารย์เชื่อในการแข่งขันที่มีกติกาที่เป็นธรรม อาจารย์จึงพยายามหาวิธีจำกัดอำนาจรัฐ ลดการผูกขาด นี่คือสิ่งที่อาจารย์เดือนเด่นต่อสู้”
ต่อกรทุนผูกขาด ด้วยการทำงานความรู้อย่างเกาะติด
อย่างที่ทราบกันว่า ปัญหาสำคัญของสังคมเศรษฐกิจไทยคือการที่มีคนเพียงหยิบมือเดียวเท่านั้นที่ครอบครองทรัพย์สินของประเทศ ซึ่งเกิดจากการผูกขาดและการค้าไม่เป็นธรรม จนนำมาสู่ความเหลื่อมล้ำในท้ายที่สุด สอดคล้องกับประเด็นที่อาจารย์เดือนเด่นผลักดันมาตลอด คือเรื่องการต่อต้านการผูกขาดและการสร้างความเป็นธรรมในสังคมเศรษฐกิจไทย จนกลายเป็น ‘หัวใจ’ ในการทำอีกหลายงานต่อมาของอาจารย์
“อาจารย์เดือนเด่นเป็นนักวิจัยที่ศึกษาการผูกขาดอย่างชัดเจนด้วยความกล้าหาญทางจริยธรรม” คือประโยคที่ สฤณี อาชวานันทกุล กล่าวถึงอาจารย์เดือนเด่นอย่างสั้นกระชับ และให้เหตุผลต่อไปว่า
“เรื่องของทุนผูกขาด อำนาจเหนือตลาด ไม่ค่อยมีคนทำมากนักในประเทศไทย เพราะสุ่มเสี่ยงค่อนข้างมาก อาจไปขัดผลประโยชน์ใครได้ ก็เป็นที่รู้กันว่าอำนาจทางเศรษฐกิจในเมืองไทยกับอำนาจทางการเมืองมักจะไม่ได้แยกจากกัน แต่งานของอาจารย์ยกตัวอย่างชัดเจน เช่น ยกตัวอย่างชื่อบุคคลเลยว่านี่คือตัวอย่างของนักธุรกิจที่มาจากกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ แล้วก็มีสายสัมพันธ์กับคนที่เข้าไปเป็นคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า แล้วก็เชื่อมโยงต่อไปว่าคณะกรรมการนี้สัมพันธ์กับพรรคการเมืองไหน
“ส่วนตัวอ่านแล้วรู้สึกว่า เปิดหูเปิดตามาก ประทับใจว่าอาจารย์เป็นคนกล้าเขียน ถือเป็นแบบอย่างที่ดีมาก”
สฤณีเล่าว่าตั้งแต่เริ่มรู้จักอาจารย์เดือนเด่นในปี 2549 ก็พบว่าอาจารย์ทำงานเรื่องการแข่งขันทางการค้ามาอย่างสม่ำเสมอและเอาจริงเอาจัง งานวิจัยของอาจารย์เดือนเด่นจึงนับเป็นเครื่องมือสำคัญที่เข้ามาช่วยชี้ให้เห็นปัญหานี้อย่างตรงไปตรงมา
“อาจารย์ทำวิจัยเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องยาวนาน ทำมาตั้งแต่ก่อนที่จะมี พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้าฉบับแรกเสียอีก ตอนนั้นอาจารย์กับทีมทำวิจัยเสนอกระทรวงพาณิชย์ตั้งแต่ปี 2540-2541 บอกว่าเราควรจะมีกลไกกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้า คณะกรรมการควรเป็นองค์กรอิสระ แต่กฎหมายที่เราได้จริงๆ ไม่เคยมีสิ่งนี้เกิดขึ้น
“ตอนนั้นสำนักคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้ายังอยู่ภายใต้กระทรวงพาณิชย์ เป็นองค์กรที่รัฐมนตรีมีบทบาทครอบงำ มีตัวแทนจากภาคเอกชนเข้ามาอย่างชัดเจน แล้วผู้ที่มีสิทธิเสนอเข้ามาก็คือสภาอุตสาหกรรมฯ สภาหอการค้า ก็แน่นอนว่าเป็นตัวแทนของธุรกิจรายใหญ่ เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้วโครงสร้างของกฎหมายเดิมผิดเพี้ยนตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบ นี่คือคุณูปการที่โดดเด่นมากของอาจารย์เดือนเด่นที่เสนอเรื่องนี้”
ไม่ใช่แค่การเลือกประเด็นเรื่องการผูกขาดมาทำอย่างต่อเนื่องและเอาจริงเท่านั้น แต่ลึกลงไปในรายละเอียด อาจารย์เดือนเด่นยังใส่ใจในการเขียนงานวิชาการให้คนทั่วไปอ่านได้ เพื่อต้องการสื่อสารถึงสาธารณะให้กว้างไกลที่สุด ทั้งยังเชื่อมโยงประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องนำมาแสดงให้เห็นภาพรวมของปัญหาทั้งหมด
“เป็นนักวิจัยที่เขียนงานให้อ่านสนุกได้” สฤณีกล่าวถึงงานวิจัยของอาจารย์เดือนเด่น “เวลาเราพูดถึงปัญหาการผูกขาด ต้องยอมรับว่ายากที่จะอธิบายให้คนทั่วไปเข้าใจ ถามว่าเราเดือดร้อนอะไรถ้าปล่อยให้คนผูกขาดหรือมีอำนาจเหนือตลาด ผู้บริโภคอาจจะไม่ค่อยรู้สึก เพราะเห็นแต่สิ่งที่เป็นอยู่ สมมติว่าตลาดนี้มีผู้บริการอยู่ 3 เจ้า เขาจะต้องไปจินตนาการต่อว่า ถ้าไม่ได้มีแค่ 3 เจ้าล่ะ แต่มี 20 เจ้าเลย เราจะได้ประโยชน์ยังไง ซึ่งเป็นเรื่องที่จินตนาการไม่ได้
“เพราะฉะนั้นในเรื่องของการผูกขาดก็ดี การใช้อำนาจเหนือตลาดก็ดี เป็นสิ่งที่ต้องทำอย่างที่อาจารย์พยายามทำนั่นแหละ ก็คือสื่อสารให้ชัดเจนกับสาธารณะเรื่อยๆ มีความกล้าหาญที่จะนำเสนอ แล้วอธิบายเหตุผลเบื้องหลัง ที่มาที่ไปคืออะไร มีหลักคิดเบื้องหลังอย่างไร ตรงนี้สำคัญมากสำหรับเรื่องที่จินตนาการลำบาก สังคมได้ประโยชน์เยอะมากจากสิ่งที่อาจารย์พยายามทำ”
หลังจากหาข้อมูลทำวิจัย มีแผนในหน้ากระดาษครบพร้อม สิ่งที่อาจารย์เดือนเด่นทำต่อคือ เปลี่ยนงานวิจัยให้กลายเป็นความจริง โดยเชื่อมโยงกับภาคประชาชนให้เข้ามาร่วมผลักดันโครงการต่างๆ ให้เกิดขึ้น สฤณีชี้ว่านอกจากอาจารย์จะทำงานอย่างหนักแน่นแล้ว ยังเกาะติดประเด็นต่อเนื่องเพื่อให้งานสำเร็จเป็นรูปธรรม
“เคยถามอาจารย์ว่าทำไมจึงสนใจงานด้านผู้บริโภคมาก อาจารย์ก็อธิบายว่า แม้ประเด็นที่อาจารย์ทำอาจดูเป็นคนละเรื่องกัน แต่จริงๆ มันเกี่ยวโยงกันหมด ผู้บริโภคสำคัญมาก เพราะถ้าไปดูเรื่องกฎหมายป้องกันการผูกขาด กฎหมายแข่งขันทางการค้า อันนี้คือประโยชน์ของผู้บริโภคเลย ทำไมต้องป้องกันการผูกขาด ก็เพราะอยากให้ผู้บริโภคมีทางเลือกที่หลากหลาย ทำให้สุดท้ายแล้วคนมีอิสระในการเลือกซื้อ ดังนั้นเลยอยากจะไปทำงานกับองค์กรผู้บริโภคไทย เพื่อให้มองมุมนี้ เพื่อจะชวนเข้ามาในกระบวนการ ให้มองเห็นประโยชน์ของกฎหมายแข่งขันทางการค้า”
และด้วยการความพยายามนี้เอง ทำให้องค์กรที่ทำงานด้านการแข่งขันทางการค้าเริ่มมีตัวแทนจากมูลนิธิผู้บริโภคเข้ามาร่วมมากขึ้น ซึ่งเป็นคนที่ได้ประโยชน์จริงๆ จากกฎหมายและนโยบาย
“ถ้ามองอีกมุมหนึ่ง นี่เป็นตัวอย่างของความไม่หวงวิชา อาจารย์จะพูดเสมอว่า ประเด็นพวกนี้ไม่มีทางจะแก้ได้ในวันเดียว หลายประเด็นที่อาจารย์ขับเคลื่อน เช่น การผูกขาด เป็นประเด็นเชิงโครงสร้าง ประเด็นเชิงสถาบัน ต้องทำงานไปเรื่อยๆ อาจารย์มักใช้คำว่า ‘ก็มาช่วยๆ กัน’ เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของอาจารย์ และเป็นความใจกว้างของนักวิชาการ ซึ่งก็ไม่ใช่ว่านักวิชาการจะใจกว้างโดยอัตโนมัติ”
นอกจากนี้อาจารย์ยังขับเคลื่อนเรื่องการเปิดเผยข้อมูลจากทางภาครัฐ เพื่อมาช่วยต่อจิ๊กซอว์แก้ปัญหาเรื่องการผูกขาดทางเศรษฐกิจ เพราะจะช่วยให้เห็นที่มาที่ไปของการผูกขาดของธุรกิจรายใหญ่ด้วย
“งานของอาจารย์ทำให้เราได้กฎหมายการแข่งขันทางการค้า แต่น่าเสียดายที่กฎหมายใหม่เกิดขึ้นในบริบทสังคมที่มีการกินรวบอำนาจของเศรษฐกิจ คำถามคือกฎหมายจะใช้ได้แค่ไหน ในเมื่อรัฐเป็นคนผูกขาดเอง หรือเปิดโอกาสให้รายใดรายหนึ่งผูกขาด ทำอย่างไรจะให้ผู้บริโภคเข้ามามีส่วนร่วมในกฎหมายการแข่งขันทางการค้า”
สฤณีทิ้งท้ายว่า งานทั้งหมดที่อาจารย์เดือนเด่นทำ สะท้อนให้เห็นสิ่งที่อาจารย์พูดเสมอว่า ต้องทำให้กฎหมายการแข่งขันทางการค้าเป็นระบบนิเวศที่ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมได้ และเดินหน้าไปพร้อมกัน
“การต่อสู้เศรษฐกิจผูกขาดต้องการฉันทมติของสังคม แต่ถ้าเรามองดูสิ่งที่เกิดขึ้นกับประเทศไทย ตั้งแต่รัฐธรรมนูญว่าการเข้าสู่อำนาจมีความเป็นธรรมแค่ไหน ยังมีอะไรที่ต้องทำอีกมาก โจทย์สำคัญอยู่ที่การมีส่วนร่วมของประชาชน เราจะทำยังไงให้ประชาชนทั่วไปมองเห็นว่ามีความไม่เป็นธรรมอยู่”
“เราอยากให้นักวิชาการทำงานอย่างซื่อตรงและกล้าหาญอย่างที่อาจารย์เดือนเด่นทำ”
ประโยชน์สาธารณะ กับกระสุนนัดแรก
หนึ่งในประเด็นที่อาจารย์เดือนเด่นได้ทำงานวิจัยและมีส่วนในการขับเคลื่อนอย่างใกล้ชิด คือเรื่องของการคุ้มครองผู้บริโภค และการกำกับดูแลเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะการมีบทบาทในฐานะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ตั้งแต่ปี 2554 รวมถึงการเป็นอนุกรรมการและผู้ทรงคุณวุฒิในหน่วยงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคอีกหลายชุด
นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) หนึ่งในผู้ที่มีโอกาสร่วมงานกับอาจารย์เดือนเด่นในการขับเคลื่อนประเด็นดังกล่าว เล่าว่าสิ่งที่ทำให้อาจารย์เดือนเด่นแตกต่างจากนักวิชาการคนอื่นๆ คือความเสียสละและทุ่มเท ทั้งในแง่ของการทำงานวิจัยเบื้องหลัง และการลงไปคลุกกับปัญหาเบื้องหน้า
“หลายคนบอกว่าการทำงานรวมถึงการพูดคุยกับผู้บริโภคเป็นเรื่องยาก แต่อาจารย์สามารถคุยกับผู้บริโภคได้อย่างต่อเนื่องเป็นสิบปี แสดงว่าอาจารย์สามารถรับรู้ถึงความทุกข์ของคนอื่น และสื่อสารถึงทางออกได้ ผมขอยกตัวอย่างตอนที่อาจารย์เดือนเด่นมาทำงานที่สถาบันคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งอาจารย์ได้ให้ความเห็นในเรื่องร้องเรียนต่างๆ ตัวอาจารย์เป็นคนที่มีรู้ความเฉพาะด้าน แต่เวลามีเรื่องร้องเรียนซึ่งอาจเป็นปัญหายากๆ สิ่งที่อาจารย์ทำคือ สืบค้นข้อมูลในตอนนั้น และจะตอบในทันที
“เรื่องนี้ทำไม่ง่ายนะครับ เพราะในห้องประชุมมีเวลาจำกัด และยังมีวาระเยอะไปหมด อีกอย่างคือเวลาเราสืบค้นข้อมูลอะไรในอินเทอร์เน็ต เราจะเจอข้อมูลขยะท่วมเลย นี่แสดงว่าอาจารย์ต้องมีประสบการณ์ และมีชุดความรู้มาก่อน ว่าอะไรคือข้อมูลจริง อะไรคือข้อมูลที่ใช้ไม่ได้ อาจารย์จึงเลือกใช้ข้อมูลได้ภายในสิบวินาที และเอามาเชื่อมโยงกับองค์ความรู้เดิมด้วย นี่คือลักษณะเด่นที่สำคัญ ความเป็นนักวิชาการคือแสวงหาความรู้ ส่วนนักวิจัยก็เป็นผู้ผลิตความรู้ แต่นอกจากแสวงหาและผลิตความรู้แล้ว อาจารย์ยังเป็น ‘ผู้ใช้ความรู้’ เองด้วย”
นอกจากนี้ นพ.ประวิทย์ยังตั้งข้อสังเกตว่า เวลาทำงานกับนักวิชาการบางกลุ่ม เขาจะมีข้อกังขาว่าบางคนอาจมีธงหรือผลประโยชน์บางอย่างที่ตั้งไว้ในใจ แต่กับอาจารย์เดือนเด่นไม่เป็นเช่นนั้น
“กับบางคนเราก็มีคำถามว่า มือสะอาดรึเปล่า บางคนอ้าปากก็เห็นลิ้นไก่เลย แต่กับนักวิชาการบางกลุ่มบางคน เห็นชัดว่าไม่มีเบื้องลึกเบื้องหลัง เช่น อาจารย์เดือนเด่น คนแบบนี้เราจะสบายใจที่ได้ทำงานด้วย แม้เห็นไม่ตรงกัน ก็ไม่เป็นไร นั่นเป็นเพราะฐานทางวิชาการต่างกัน ไม่ใช่เพราะมีผลประโยชน์แอบแฝง”
อย่างไรก็ดี จากการเกาะติดประเด็นการจัดสรรคลื่นความถี่อย่างใกล้ชิด ควบคู่ไปกับการสื่อสารข้อมูลสู่สาธารณะอย่างตรงไปตรงมา เป็นผลให้ในเดือนสิงหาคมปี 2556 อาจารย์เดือนเด่นถูก กสทช. ฟ้องร้องในข้อหาหมิ่นประมาท จากการให้สัมภาษณ์ในรายการ ‘ที่นี่ ไทยพีบีเอส’ กรณีที่คณะกรรมการโทรคมนาคม (กทค.) จัดการประมูลคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ล่าช้า ก่อนจะมีการถอนฟ้องในเวลาต่อมา
นพ.ประวิทย์ชี้ว่า กรณีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า อาจารย์เดือนเด่นเป็นคนที่มีความกล้าหาญ เห็นได้จากการที่เวลาจะสื่อสารอะไร อาจารย์มักจะพุ่งไปที่หัวใจของแต่ละเรื่อง ซึ่งอาจกระทบกับผลประโยชน์ของกลุ่มทุนหรือผู้อำนาจ
“ถ้าแค่ปะแป้งแต่งหน้า เขาจะยอม แต่ถ้าไปแตะจุดวิกฤต กระทบเรื่องผลประโยชน์ของกลุ่มดั้งเดิม ไม่ว่าจะเป็นรัฐหรือทุน เขาจะมีวิธีแท็คติกในการต่อสู้หรือจัดการ ทั้งหน้าฉากหลังฉาก ใต้ดินหรือบนดิน การที่อาจารย์โดนฟ้องหรือเพ่งเล็ง สะท้อนให้เห็นว่าอาจารย์ไปจับจุดวิกฤตหรือจุดที่เป็นหัวใจของเรื่องนั้นๆ”
แม้หลายเรื่องที่อาจารย์เดือนเด่นผลักดัน จะยังไม่เห็นผล กระทั่งไม่คืบหน้าดังที่หวัง แต่ในมุมของนพ.ประวิทย์ เขาเห็นด้วยกับแนวทางของอาจารย์เดือนเด่นว่าทุกอย่างต้องอาศัยเวลา และสิ่งที่ทำไปนั้นไม่ใช่ว่าจะสูญเปล่าเสียทีเดียว
“ผมมองว่านั่นคือกระสุนนัดแรก กระสุนนัดแรกจะทำให้คนเห็นร่องรอยว่าเกิดอะไรขึ้น เพื่อให้คนเอาไปขยายผลในแนวทางนั้นต่อ”
นพ.ประวิทย์ทิ้งท้ายว่า นอกจากการทำงานวิจัยและสื่อสารถ่ายทอดความรู้แล้ว อาจารย์เดือนเด่นยังสนับสนุนและหาโอกาสให้แต่ละคนได้ไปหาความรู้เพิ่ม ขณะเดียวกันก็หมั่นแลกเปลี่ยนข้อมูลกับคนกลุ่มต่างๆ และแนะแนวทางหรือประเด็นที่เหมาะกับคนนั้นๆ เพื่อจะใช้ทรัพยากรบุคคลให้ตรงจุดมากที่สุด
หัวใจของธรรมาภิบาลคือ ‘การกำกับดูแลที่ดี’
แม้งานที่อาจารย์เดือนเด่นขับเคลื่อนนั้นอาจแตกออกเป็นประเด็นที่หลากหลาย แต่ทุกประเด็นมีใจความสำคัญอยู่ที่ ‘การกำกับดูแลที่ดี’ และการกำหนดมาตรการที่เหมาะสมโดยมี ‘ผลประโยชน์สาธารณะ’ เป็นที่ตั้ง ซึ่งจะนำไปสู่การแข่งขันที่ดีตามมา เหล่านี้คือการยกระดับความสามารถในการแข่งขันด้วยธรรมาภิบาล
บุญวรา สุมะโน นักวิชาการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงแนวคิดเรื่องการกำกับดูแลที่ดีของอาจารย์เดือนเด่นไว้ว่า “การกำกับดูแลที่ดีจะไม่ทำให้เกิดการผูกขาดทางการแข่งขัน การมีกฎระเบียบที่ทำให้ธุรกิจดำเนินไปได้โดยที่ผู้บริโภคไม่โดนละเมิดสิทธิ เป็นประเด็นหลักของธรรมาภิบาล”
ในช่วงที่บุญวราเข้ามาทำงานร่วมกับอาจารย์เดือนเด่นเมื่อ 10 ปีที่แล้วนั้น เป็นช่วงที่ประเทศมีข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศเข้ามาให้พิจารณาเยอะ เช่น โครงการเปิดเสรีการค้าไทย-ออสเตรเลีย โครงการเปิดเสรีการค้าไทย-ญี่ปุ่น กรอบการตกลงภาคบริการภายใต้อาเซียน ฯลฯ ทุกโครงการมักจะมีการศึกษาก่อนว่า หากเปิดเสรีการค้าระหว่างประเทศ ประเทศไทยจะสามารถแข่งขันได้ไหม ทั้งการแข่งขันในประเทศเมื่อมีทุนต่างประเทศเข้ามา และการที่ไทยออกไปแข่งนอกประเทศที่เป็นประเทศคู่สัญญา
แต่ที่มากไปกว่านั้น อาจารย์เดือนเด่นมักจะคำนึงถึงผลกระทบของผู้เกี่ยวข้องอย่างรอบด้านก่อนเสมอ ผลงานวิจัยของอาจารย์เดือนเด่นจะไม่ได้มีลักษณะที่ให้คำตอบว่าโครงการข้อตกลงทางการค้านั้นๆ จะเปิดเสรีหรือไม่เปิด แต่จะเป็นงานวิจัยที่ให้แนวทางว่า เปิดเสรีได้แค่ไหน และรัฐจะมีทิศทางรับมือกับผู้ได้รับผลกระทบในทางลบอย่างไรให้พวกเขาสามารถไปต่อได้
“เวลาอาจารย์มองโจทย์พวกนี้ อาจารย์จะคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียก่อนว่า ใครจะได้รับผลกระทบ และใครจะได้ประโยชน์จากการเปิดเสรีนี้บ้าง ในการทำงานที่ต้องเข้าไปคุยกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง อาจารย์จะมีคำถามว่า เราคุยครบกับทุกกลุ่มแล้วหรือยัง อาจารย์ต้องการที่จะทราบว่าใครบ้างที่ได้รับผลกระทบจากสิ่งที่ภาครัฐกำลังจะทำ”
ตัวอย่างโครงการวิจัยของอาจารย์เดือนเด่นที่หลายหน่วยงานมักนำข้อวิเคราะห์ผลกระทบไปใช้คือ งานวิจัยเกี่ยวกับการทบทวนบัญขีแนบท้าย พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว บัญชีแนบท้ายระบุข้อจำกัดของภาคบริการบางส่วนที่ห้ามไม่ให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน ซึ่งบุญวราได้เล่าถึงแนวคิดเรื่องผลกระทบของอาจารย์เดือนเด่นไว้ว่า
“เมื่ออาจารย์ทบทวนประเด็นนี้ ก็เสนอผลกระทบว่า พอห้ามไม่ให้เขามาลงทุน เขาก็ไม่นำเทคโนโลยีหรือผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ เข้ามา ทำให้เราไม่มีเทคโนโลยีและผู้เชี่ยวชาญด้านนั้นๆ ในประเทศ ซึ่งก่อให้เกิดการผูกขาดของผู้ประกอบการไทยในภาคบริการนั้นๆ และนำไปสู่ทางเลือกที่จำกัดของประชาชน ประชาชนไม่สามารถได้รับบริการที่ถูกหรือดีกว่านี้ได้”
บุญวราเล่าว่า สำหรับผู้ร่วมงานและนักวิจัยกว่า 10 คนในทีม อาจารย์เดือนเด่นถือเป็นอาจารย์จริงๆ เพราะมักจะเข้าไปสอนวิธ๊การคิดวิเคราะห์ และการสื่อสาร เพื่อฝึกให้นักวิจัยทำงานอย่างมีคุณภาพ ท่ามกลางงานที่อาจารย์เดือนเด่นเคยขับเคลื่อนไว้ บุญวราจึงไม่ห่วงว่าจะไม่มีคนสานต่อ
“ประเด็นที่อาจารย์ทำก็เป็นประเด็นใหญ่ที่ได้รับความสนใจในสาธารณะ น่าจะมีคนอยากสานต่ออีกเยอะ แต่ประเด็นที่อยากให้ได้รับการผลักดันต่อจริงๆ และเป็นสิ่งที่อาจารย์พยายามทำมาตลอด คือเรื่องการปรับบทบาทของภาครัฐ อาจารย์เดือนเด่นพยายามจะปรับให้รัฐจากที่เป็นผู้ควบคุมกำกับ เอะอะก็ออกกฎหมาย ห้ามนู่นห้ามนี่โดยที่ไม่มีหลักฐานเรื่องผลกระทบ กลายมาเป็นผู้ที่สนับสนุนภาคเอกชน เพื่อให้เอกชนสามารถออกสินค้าและบริการที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคได้ และคิดถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับทุกฝ่าย”
เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ รำลึก
ช่วงท้ายของเสวนา แขกรับเชิญแต่ละท่านได้กล่าวถึงความรู้สึกที่มีต่ออาจารย์เดือนเด่น ไปจนถึงเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่แต่ละคนเคยสัมผัส ทั้งในฐานะเพื่อนร่วมงานและคนใกล้ชิด
บุญวรา ในฐานะคนที่ทำงานใกล้ชิดอาจารย์เดือนเด่น เล่าว่าเวลาที่อาจารย์มองปัญหาอะไร จะไม่เคยมีอารมณ์เข้าไปเกี่ยวเลย แต่จะมองบนฐานของความจริงอย่างรอบด้าน
“อาจารย์จะไม่ใช้ความเห็นส่วนตัวในการบอกให้คนอื่นทำอะไร แต่จะถามกลับมาก่อนว่า เราต้องการทำสิ่งนั้นหรือเปล่า เรามีตัวเลือกอื่นไหม นี่เป็นบุคลิกที่ทำให้ทุกคนอยากเข้าหาอาจารย์ ในที่ทำงาน ถ้าไม่มีการประชุมอะไร เราทุกคนสามารถเดินเข้าไปคุยกับอาจารย์ได้ทุกเรื่อง ทุกเวลา ซึ่งอาจารย์ก็จะวางปากกา วางงานที่ทำอยู่ และถามเราว่า ‘มีเรื่องอะไร’ ตามนิสัยเย็นๆ และใจดีของอาจารย์ ห้องทำงานของอาจารย์จะเปิดประตูไว้เสมอ”
“นอกจากนี้อาจารย์ยังเป็นคนรักสุขภาพ ชอบออกกำลังกาย และเมื่อมีเวลาว่างก็จะชวนคนในทีมวิจัยมาออกกำลังด้วยกัน แต่ถึงจะมีไลฟ์สไตล์ที่รักสุขภาพแบบนี้ ในอีกมุมหนึ่ง อาจารย์ก็ตามใจพวกเราอยู่ คือถ้าเราชวนไปทานอะไร อาจารย์ก็จะไปด้วย อีกอย่างหนึ่งคือ เราสามารถคุยหรือปรึกษากับอาจารย์ได้ทุกเรื่อง จะเป็นเรื่องที่ไม่ใช่เรื่องงานก็ได้ จะเป็นเรื่องความรักยังได้เลย และถ้าใครมีเรื่องสำคัญหรือเรื่องด่วน อาจารย์จะตอบคนนั้นเร็วมาก คืออาจารย์เป็นคนที่ใส่ใจทุกคน ไม่ว่าประเด็นนั้นจะเป็นเรื่องที่ใหญ่หรือเล็กก็ตาม”
ด้านบรรยงเสริมว่า สิ่งที่เขาประทับใจในตัวอาจารย์เดือนเด่นคือการเป็นคนจริงจัง แต่ไม่เคร่งเครียด “ผมไม่เคยเห็นอาจารย์อารมณ์เสียเลย แล้วอาจารย์ยังมีอาวุธสำคัญข้อหนึ่ง ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมเรียกรวมๆ ว่า เป็นคนมีเสน่ห์ คือสามารถพูดเรื่องตรงๆ หนักๆ ในกิริยาวาจาที่รับได้ ทำให้เวลาไปขับเคลื่อนมาตรการอะไร ก็มักจะได้ผลเสมอ”
สำหรับสฤณี แบ่งปันมุมมองในฐานะคนที่เคยร่วมงานว่า อาจารย์เดือนเด่นเป็นคนที่ตั้งใจฟังทุกคนจริงๆ “เวลาฟังเรื่องของเราอาจารย์จะตั้งใจฟัง และจะไม่ฟันธงเลยในทันที แต่จะถามเรากลับก่อนว่า เราคิดอย่างไร และพยายามแนะนำแนวทางให้เรา
“อีกอย่างหนึ่งคือ เราเหมือนไม่เคยเห็นอาจารย์ท้อเลย ทั้งที่งานวิจัยหลายเรื่องที่อาจารย์ทำต้องใช้เวลานานมาก แต่อาจารย์ก็ไม่เคยบ่นให้ฟัง เหมือนท่านตั้งใจไว้แล้วว่า จะทำงานนี้ อยู่เพื่องานนี้ ถึงจะยังไม่เห็นปลายทางก็ตาม อาจบอกได้ว่าอาจารย์เป็นคนที่มีทัศนคติแง่บวก พยายามมองหาแง่มุมว่าเราทำอะไรได้บ้าง และไม่จมปลักอยู่กับอดีตที่ผ่านไปแล้ว”
ในส่วนของนพ.ประวิทย์ เสริมว่าสิ่งหนึ่งที่เขาเห็นตรงกับแขกรับเชิญท่านอื่นๆ คือ อาจารย์เดือนเด่นเป็นคนที่ไม่เคยมีท่าทีโมโห โกรธ หรือด่าใครเลย
“อันนี้ผมไม่ได้ประชดนะ แต่อาจารย์มีความเป็นผู้ดีจริงๆ เวลาอาจารย์ไปมูลนิธิผู้บริโภค อาจารย์จะทักทายทุกคน เป็นนักวิชาการที่เอาใจใส่คน พูดคุยทักทายกันแบบมนุษย์กับมนุษย์ ไม่ใช่เจ้านายกับลูกน้อง หรือคนใหญ่โตกับคนตัวเล็ก ผมคิดว่า นี่คือสิ่งที่ทำให้อาจารย์เชื่อมกับคนแต่ละคนได้ง่าย คือไม่ได้มองว่าฉันสูง ใหญ่ เก่ง หรือฉลาด แต่คุยกับคนอื่นเหมือนคุยกับเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน
นอกจากนี้ นพ.ประวิทย์ยังชี้ว่าสังคมไทยยังต้องการนักวิชาการแบบอาจารย์เดือนเด่นอีกหลายคน “ถ้าถามว่าผมอยากเห็นอะไร ผมอยากเห็นนักวิชาการอย่างอาจารย์เดือนเด่นอีก เพราะปัญหามันเกิดขึ้นเรื่อยๆ เราจึงต้องมีคนแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ ปัญหาที่อาจารย์พยายามแก้ต้องใช้เวลานานมาก ถามว่าตอนนี้ปัญหานั้นดีขึ้นไหม ดีขึ้น แต่อาจารย์ยังอยากทำเพื่อให้มันดีขึ้นกว่านี้อีก
“เราต้องการนักวิชาการแบบนี้ ให้แต่ละคนได้เรียนรู้ การที่ผมเรียกใครว่า ‘อาจารย์’ ไม่ใช่เพราะคนๆ นั้นมีความรู้ แต่เพราะเป็นต้นแบบได้ ถ้าเป็นต้นแบบไม่ได้ไม่ควรเป็นอาจารย์ อาจารย์เดือนเด่นเป็นคนที่มีความเป็นอาจารย์ครบ คือมีความรู้ สามารถเผยแพร่และใช้ความรู้ และเป็นต้นแบบให้คนอื่นได้”