fbpx
มหากาพย์แห่งการขอลิขสิทธิ์ และชีวิตใหม่ของ 'หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว'

มหากาพย์แห่งการขอลิขสิทธิ์ และชีวิตใหม่ของ ‘หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว’

พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล เรื่อง

หลายปีต่อมา ขณะประจันหน้ากับหมู่ทหารยิงเป้า พันเอกเอาเรเลียโน บวนเดีย อดไม่ได้ที่จะหวนรำลึกถึงยามบ่ายเมื่อครั้งกระโน้นตอนที่พ่อพาเขาไปรู้จักน้ำแข็ง สมัยนั้นมาก็อนโดเป็นเพียงหมู่บ้านเล็กๆ ที่มีแต่บ้านดินมุงต้นอ้อยี่สิบหลังตั้งอยู่ริมแม่น้ำสายหนึ่ง มีน้ำใสไหลรินไปตามร่องน้ำผ่านหินผิวเรียบสีขาวมหึมาประหนึ่งไข่ของสัตว์ยุคดึกดำบรรพ์ โลกยังเยาว์วัยยิ่งนัก ขนาดที่ว่าประดาข้าวของทั้งหลายยังไม่มีชื่อเรียกขานและต้องชี้เอาหากจะเอ่ยถึง…

 

ข้อความข้างต้นคือบทเปิดอันลือลั่นของนวนิยาย หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว (One Hundred Years of Solitude) ของกาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ ผลงานอันเป็นต้นแบบวรรณกรรมแนว ‘สัจนิยมมหัศจรรย์’ (Magical Realism) ซึ่งเป็นที่รู้จักในหมู่นักอ่านทั่วโลก เช่นเดียวกับนักอ่านชาวไทย

สำนวนแปลข้างต้นคือสำนวนแปลไทยเวอร์ชั่นล่าสุด แปลจากต้นฉบับภาษาสเปนโดย ชนฤดี ปลื้มปวารณ์ จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์บทจร ซึ่งขณะกำลังอยู่ในระหว่างกระบวนการจัดพิมพ์ และมีกำหนดวางแผงอย่างเป็นทางการในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนนี้

ย้อนไปก่อนหน้านี้ หนอนหนังสือชาวไทยได้สัมผัสผลงานเล่มนี้ผ่านสำนวนแปลของ ปณิธาณ – ร.จันเสน ซึ่งแปลจากภาษาอังกฤษ ได้รับการติพิมพ์ซ้ำหลายครั้งโดยหลายสำนักพิมพ์ ตลอดช่วงเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมา โดยหนึ่งในเวอร์ชั่นที่นักอ่านคุ้นเคยในช่วงสิบปีที่ผ่านมา คือเวอร์ชั่นที่จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์สามัญชน ซึ่งนอกจากจะตีพิมพ์เรื่อง หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว แล้ว ยังตีพิมพ์ผลงานอื่นๆ ของกาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ ควบคู่กันไปด้วย

แม้จะเป็นที่รู้จักในวงกว้าง และนับเป็นหนึ่งในหมุดหมายของงานวรรณกรรมสมัยใหม่ แต่น้อยคนที่จะรับรู้ว่า การแปลและจัดพิมพ์ผลงานของกาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ เป็นภาษาไทยในช่วงเวลาที่ผ่านมานั้น เป็นการจัดพิมพ์โดยไม่ได้รับการติดต่อขอลิขสิทธิ์อย่างถูกต้อง หนึ่งในเหตุผลสำคัญคือความยุ่งยากในการติดต่อกับเอเจนซี่สัญชาติสเปน ซึ่งเป็นผู้ดูแลลิขสิทธิ์ผลงานของมาร์เกซ

จนกระทั่งในช่วง 4-5 ปีมานี้ สำนักพิมพ์น้องใหม่อย่าง ‘บทจร’ ซึ่งมี วรงค์ หลูไพบูลย์ เป็นบรรณาธิการบริหาร ปักหมุดผลงานชุดแรกของสำนักพิมพ์ ด้วยการพิมพ์งานของมาร์เกซออกมาคู่กันสองเล่ม คือ รักเมื่อคราวห่าลง (Love in the Time of Cholera) และ ความรักและปีศาจตัวอื่นๆ (Of Love and Other Demons) ออกมาในปี 2556 จุดกระแสเล็กๆ ให้งานของมาร์เกซกลับมาสู่ความสนใจของนักอ่านไทยอีกครั้ง ด้วยผลงานใหม่ที่พ้นไปจาก หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว

หลายปีผ่านไป สำนักพิมพ์บทจรเริ่มเป็นรู้จักมากขึ้น จากการมุ่งตีพิมพ์งานวรรณกรรมคลาสสิกร่วมสมัย โดยมีจุดเด่นอยู่ที่การพลิกโฉมวรรณกรรมคลาสสิกในรูปแบบเดิมๆ ที่ดูขรึมขลัง มาสู่รูปลักษณ์และรูปเล่มที่ร่วมสมัย ควบคู่ไปกับการเผยแพร่งานของนักเขียนระดับโลกคนอื่นๆ ให้นักอ่านชาวไทยได้รู้จัก อาทิ อิตาโล คัลวิโน, อลิซ มันโร, มาริโอ บากัส โยซ่า

ช่วงต้นปีที่ผ่านมา สำนักพิมพ์บทจรสร้างความฮือฮาให้วงการหนังสืออีกครั้ง ด้วยการประกาศว่าจะพิมพ์ หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว เวอร์ชั่นใหม่ โดยจะเป็นครั้งแรกที่แปลจากต้นฉบับภาษาสเปน ที่สำคัญคือเป็นเวอร์ชั่นที่ ‘ได้รับลิขสิทธิ์อย่างถูกต้อง’

ในโอกาสนี้ 101 นัดหมายกับ วรงค์ หลูไพบูลย์ บรรณาธิการบริหาร เพื่อพูดคุยถึงที่มาที่ไป รวมถึงซักถามข้อสงสัยหลายๆ อย่างเกี่ยวกับการจัดพิมพ์งานของมาร์เกซ ไปจนถึงกระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งลิขสิทธิ์อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ขณะเดียวกันก็ได้พูดคุยกับ ชนฤดี ปลิ้มปวารณ์ ผู้แปล ว่าด้วยกระบวนการทำงานและความยากง่ายของการแปลจากต้นฉบับภาษาสเปน

มหากาพย์แห่งการขอลิขสิทธิ์

 

“ผมใช้เวลาประมาณสิบปี นับจากวันแรกที่ติดต่อกับทางเอเจนซี่ จนถึงวันที่เราได้ลิขสิทธิ์”

ย้อนไปช่วงที่วรงค์กำลังจะเริ่มต้นทำสำนักพิมพ์ ราวๆ ปี 2549 โดยมีเป้าหมายคือการแปลงานของมาร์เกซ เรื่อง Love in the Time of Cholera เขาเริ่มต้นด้วยการติดต่อกับเอเจนซี่ที่บาร์เซโลนา ซึ่งเป็นผู้ดูแลลิขสิทธิ์งานของมาร์เกซ รวมถึงงานของนักเขียนลาตินอเมริกาอีกหลายคน จากการส่งอีเมลไปแจ้งรายละเอียดตามขั้นตอนปกติ ทว่าเมื่อเวลาผ่านไปหลายต่อหลายเดือน กลับไม่มีการตอบรับใดๆ กลับมา

“เราส่งอีเมลไปสามฉบับ ในรอบสามเดือน ไม่ได้รับการตอบกลับ ก็เลยลองใช้โทรศัพท์ โทรไปตามที่อยู่ที่เขาระบุไว้ ก็ได้รับคำตอบว่าเห็นอีเมลแล้ว เดี๋ยวจะดำเนินการให้ เราก็รอต่อไป ปรากฏว่าก็ยังเงียบ เราก็ยังไม่เลิกล้มความตั้งใจ หันไปติดต่อ sub-agent ในเมืองไทย ก็ได้คำตอบกลับมาว่า ไม่แปลกหรอกค่ะ ของมาร์เกซนี่ติดต่อยากมาก พูดง่ายๆ คือก่อนหน้านี้มีหลายสำนักพิมพ์พยายามติดต่อแล้ว แต่ไม่เคยสำเร็จ”

จากเดิมที่คิดว่าน่าจะเป็นเรื่องง่าย และการขอลิขสิทธิ์เพื่อให้ถูกต้องตามขั้นตอนก็ไม่น่าจะมีอะไรยาก เขาเริ่มพบความจริงที่ชวนให้ลำบากใจว่า ในกรณีของมาร์เกซที่เขาสนใจนั้นมีความต่างออกไป คือไม่ได้ติดต่อง่ายๆ เหมือนนักเขียนรายอื่นในประเทศอื่นๆ และนั่นเป็นเหตุผลหนึ่งที่งานมาร์เกซไม่ได้เป็นที่แพร่หลายหรือได้รับการตีพิมพ์ซ้ำมากนักในประเทศไทย

อย่างไรก็ดี เขาได้วางแผนการทำงานล่วงหน้าไว้แล้ว ด้วยการติดต่อนักแปลเพื่อให้แปลเล่ม Love in the Time of Cholera จากเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษไปพลางๆ ในระหว่างที่กำลังรอติดต่อเรื่องลิขสิทธิ์ให้เรียบร้อย

“ตอนนั้นช่วงปี 2556 นับจากวันแรกที่ติดต่อขอลิขสิทธิ์ ผ่านไป 7 ปี จนนักแปลทำงานเสร็จแล้ว เราก็ตัดสินใจว่าจะไม่รอแล้ว พิมพ์ไปก่อนเลยดีกว่า สุดท้ายก็ทำออกมาสองเล่มพร้อมกัน คือเล่ม รักเมื่อคราวห่าลง กับ ความรักและปีศาจตัวอื่นๆ

“หลังพิมพ์เสร็จ ห่าลงจริงๆ ครับ ไม่ใช่จากต่างประเทศ แต่จากคนทำสำนักพิมพ์ในประเทศนี่แหละ ที่เขาไม่ค่อยสบอารมณ์เท่าไหร่ ลองคิดง่ายๆ ว่าสำนักพิมพ์อื่น ที่เขาทำแบบถูกต้องมาโดยตลอด ตามขั้นตอน แล้วจู่ๆ เราเอางานที่เป็นเบสต์เซลเลอร์มาพิมพ์โดยไม่ได้ลิขสิทธิ์ เขาก็ไม่ค่อยโอเคกันเท่าไหร่ เหมือนว่าเราเอาเปรียบเขา เรามาทราบทีหลังว่า หลายสำนักพิมพ์เคยพยายามติดต่อเพื่อพิมพ์งานของมาร์เกซแล้ว แต่สุดท้ายพอติดต่อไม่ได้ ก็เลือกที่จะไม่ทำ”

“ตอนนั้น เรามี argument สำคัญว่าเราทำเพื่อคนอ่าน คนไทยควรได้อ่านงานพวกนี้ เราควรได้เข้าถึงงานระดับโลก ก็เลยตัดสินใจไม่ทำตามขั้นตอนตามกฎหมาย”

หนังสือ 'รักเมื่อคราวห่าลง' และ 'ความรักและปีศาจตัวอื่นๆ' โดยสำนักพิมพ์บทจร | ภาพจาก BookGangster
หนังสือ ‘รักเมื่อคราวห่าลง’ และ ‘ความรักและปีศาจตัวอื่นๆ’ โดยสำนักพิมพ์บทจร | ภาพจาก BookGangster

เหตุผลที่วรงค์ชี้แจงนั้น เป็นเหตุผลทำนองเดียวกันกับอีกหลายสำนักพิมพ์ที่ตัดสินใจตีพิมพ์งานวรรณกรรมแปลประเภทนี้ออกมา โดยไม่ได้ขอลิขสิทธิ์ตามขั้นตอนอย่างถูกต้อง

อย่างไรก็ดี หลังจาก รักเมื่อคราวห่าลง ตีพิมพ์ออกมาสักระยะ วรงค์ก็สามารถติดต่อเอเจนซี่ได้ในที่สุด ซึ่งเป็นผลพวงจากการติดต่อขอลิขสิทธิ์เรื่อง ยัญพิธีเชือดแพะ ของมาริโอ บากัส โยซ่า จากเอเจนซี่เจ้าเดียวกัน

“คราวนี้ติดต่อได้แล้ว จากความช่วยเหลือของอาจารย์ท่านหนึ่งซึ่งเคยไปสัมภาษณ์มาริโอ บาร์กัส โยซ่า ปรากฏว่าเล่มนี้เราได้ลิขสิทธิ์มาอย่างถูกต้อง ถัดจากนั้น เอเจนซี่นี้ก็ส่งรูปปกมาร์เกซสองเล่มแรกที่เราทำออกมา บอกว่านี่คืออะไร เราไม่ได้ตกลงกันว่าจะทำสองเล่มนี้ไม่ใช่เหรอ แล้วทำไมคุณถึงทำออกมาได้ เขาต้องการคำอธิบาย”

“เราก็อธิบายไปตามตรงว่า ผมพยายามติดต่อคุณมา 7 ปีแล้ว (หัวเราะ) แต่ไม่มีการตอบรับ เขาก็โอเค เข้าใจ งั้นเดี๋ยวเรามาทำขั้นตอนที่เรียกว่า regularisation กัน พูดง่ายๆ คือทำให้มันถูกต้องซะ เราก็คิดในใจว่าสบายแล้ว เดี๋ยวจ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้เรียบร้อย ก็คงจบ ก็เลยยื่นไปว่าปกติเราเสียค่าลิขสิทธิ์ประมาณนี้นะ เทียบจากเล่มอื่นๆ ที่เคยทำมา ยื่นไป 1,700 ดอลลาร์ ปรากฏว่าเขาส่งเลขกลับมา 3,500 ดอลลาร์ คือมากกว่าเรททั่วไปประมาณสองเท่า รวมสองเล่ม 7,000 ดอลลาร์

“เราก็ช็อก ปาดเหงื่อเลย เพราะตอนตั้งราคาขาย เราไม่ได้เอาค่าลิขสิทธิ์มาคำนวณในต้นทุนด้วย พูดง่ายๆ คือตั้งแบบถูกสุดๆ สุดท้ายพวกเราทีมงานก็มานั่งคุยกันจริงจังว่า ในเมื่อเราสามารถติดต่อเขาได้แล้ว แล้วเราก็อยากจะทำงานของมาร์เกซต่อไปในระยะยาว มันไม่น่าจะมีทางเลือกอื่นแล้ว ก็เลยตัดสินใจ บอกไปว่าโอเค 7,000 ดอลลาร์ แต่รอแปปนึงนะครับ ตอนนี้เรายังไม่มีเงิน ขอไปหาเงินก่อน (หัวเราะ) เขาก็โอเค คุณใช้เวลาของคุณไป แล้วเมื่อไหร่ที่เคลียร์ 7,000 ดอลลาร์มาได้ ค่อยมาเจรจาธุรกิจกันต่อ

“เราก็ไปหาเงินมาจนครบ ถึงเวลาก็แจ้งไปว่าเรามีเงินแล้วนะ จะจ่ายแล้ว ปรากฏว่าเอเยนต์ที่เราติดต่อมาก่อนหน้านี้ ชื่อคุณการ์เมน เบลเซล เขาเสียชีวิตพอดี แล้วมีทีมงานชุดใหม่เข้ามาทำต่อ จากที่ควรจะจบ เลยยังไม่จบ ต้องมาตั้งต้นเจรจากันใหม่ โชคดีที่ช่วงนั้นบ.ก.ของเราคนนึง คือคุณภชภร ด่านวิรุฬหวณิช เรียนอยู่ที่ฝรั่งเศส เราก็คุยกันว่า เรื่องนี้มันคาราคาซังมาสิบปีแล้ว เราควรจะไปนั่งคุยกับเขาแบบเห็นหน้ากันหน่อยมั้ย ก็เลยให้คุณภชภรจับรถไฟไปที่ London Bookfair เลย เพื่อไปคุยกับเอเจนซี่เจ้านี้ ปรากฏว่าพอคุยเสร็จ จ่ายเงินตามที่ตกลง ทุกอย่างก็เรียบร้อย เป็นอันว่าสองเล่มแรกที่ทำออกมา ถือว่าถูกต้องตามกฎหมาย จากนั้นเราก็แจ้งเขาเลยว่าจะทำเล่ม หนึ่งร้อยปีฯ ต่อ”

สำหรับค่าลิขสิทธิ์ของ หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว วรงค์บอกว่าแพงกว่าเรททั่วไปราวๆ 4 เท่า เฉลี่ยแล้วค่าลิขสิทธิ์ต่อเล่มของนักเขียนคือ 100 บาท เป็นเหตุให้ไม่สามารถตั้งราคาหนังสือที่ย่อมเยาอย่างที่ตั้งใจไว้ในตอนแรกได้

หากมองอย่างผิวเผิน การรอคอยเป็นระยะเวลาสิบปี กับจำนวนเงินค่าลิขสิทธิ์ที่เสียไป อาจดูเป็นเรื่องยุ่งยากและไม่คุ้มค่านักในทางธุรกิจ ทว่าในมุมของวรงค์ เขาสรุปบทเรียนครั้งนี้ว่านี่คือความยุ่งยากที่จำเป็น

“เรายุ่งแน่ๆ แต่ในมุมหนึ่งเราก็อยากให้นักเขียนไทยไปโลดแล่นในเวทีนานาชาติมากกว่านี้ แล้วถ้าเขาจ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้นักเขียนไทยอย่างถูกต้อง มันก็ดีต่อวงการของเรา ผมเลยมองว่ามันเป็นความยุ่งยากที่จำเป็น เพื่อให้ระบบแบบนี้ยังคงอยู่ พูดง่ายๆ คือ ถ้านักเขียนไทยต้องการแปลงานเป็นภาษาอื่นๆ เขาก็ควรมาติดต่อลิขสิทธิ์กับเราอย่างถูกต้องด้วย”

วรงค์ หลูไพบูลย์ บรรณาธิการสำนักพิมพ์บทจร
วรงค์ หลูไพบูลย์ บรรณาธิการสำนักพิมพ์บทจร

ชีวิตใหม่ของ หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว

ในส่วนของการทำงานแปล อย่างที่กล่าวไปช่วงต้นว่าการแปล หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว ในเวอร์ชั่นนี้ เป็นครั้งแรกที่แปลจากต้นฉบับภาษาสเปนเป็นไทย จากที่ก่อนหน้านี้เป็นการแปลจากภาษาอังกฤษอีกต่อหนึ่ง

วรงค์ให้เหตุผลในการตัดสินใจแปลจากภาษาสเปนว่า ในช่วงหลายปีมานี้ เทรนด์การแปลจากภาษาต้นฉบับเริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นในกระแสโลก ขณะเดียวกันการแปลจากภาษาต้นฉบับ ย่อมทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนน้อยกว่าการแปลจากภาษาอังกฤษมาอีกต่อหนึ่งอยู่แล้ว

“ถ้าพูดในแง่เทรนด์ ต้องบอกว่าคนเริ่มไม่ค่อยยอมรับงานที่เป็น indirect translation แล้ว หมายถึงงานที่แปลมาสองชั้น แต่ขณะเดียวกัน ก็ยังมีหลายคนที่ยังเห็นว่ามันพอรับได้อยู่ ยังโอเคอยู่ อย่างตอนคุยกับเอเจนซี่ พอเขารู้ว่าเราเคยแปลเล่ม ยัญพิธีเชือดแพะ จากภาษาอังกฤษ เขาไม่ยอมเลยนะ จะให้แปลใหม่จากภาษาสเปน เราก็บอกไปตามตรงว่า ถ้าทำแบบนั้นเราเจ๊งเลยนะครับ (หัวเราะ) เขาก็บอก โอเค แต่เล่มนี้ไม่ได้แล้วนะ พูดง่ายๆ ว่าตอนนี้เขาไม่ยอมแล้ว กระทั่งภาษาโปแลนด์ เราทราบจากสำนักพิมพ์อื่นมาว่าเขาก็ไม่ยอมเหมือนกัน ต้องแปลจากภาษาโปแลนด์เท่านั้น”

สำหรับผู้ที่รับหน้าที่ในการแปลเวอร์ชั่นนี้ คือ กุ๊กกิ๊ก – ชนฤดี ปลื้มปวารณ์ นักแปลสาววัย 29 ปี ผู้หลงใหลในภาษาและวัฒนธรรมสเปน เธอจบการศึกษาระดับมหาบัณฑิตด้าน Hispanic Studies จาก Universitat de València ประเทศสเปน ก่อนจะไปศึกษาต่อด้าน Globalisation and Latin American Development จาก Institute of the Americas, University College London (UCL) เคยผ่านงานด้านการแปลและเป็นล่ามมาโชกโชนกับองค์กรวิชาชีพต่างๆ โดยก่อนหน้านี้เคยมีผลงานแปลเรื่อง ตันตาเลีย: ต้นไม้ ความรัก และนักทรมาน ของ Macedonio Fernández จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ 1001 Nights Editions เมื่อปี 2559

ชนฤดีเล่าว่าพื้นเพของเธอนั้นมีความสนใจและผูกพันกับวรรณกรรมลาตินอเมริกาอยู่แล้ว เมื่อเห็นว่าสำนักพิมพ์บทจรประกาศรับสมัครนักแปล หนึ่งร้อยปีแห่งโดดเดี่ยว จากต้นฉบับภาษาสเปนเมื่อช่วงปลายปี 2560 จึงตัดสินใจส่งประวัติผลงานมาให้สำนักพิมพ์พิจารณา และได้รับความไว้วางใจให้ทำหน้าที่นี้

อย่างไรก็ดี เธอยอมรับว่าแม้จะรู้จักชื่อเสียงเรียงนามของวรรณกรรมเล่มนี้มานาน แต่ยังไม่มีโอกาสได้อ่านจนกระทั่งเข้ามารับงานนี้

“ตอนนั้นไม่ได้รู้สึกว่ายากอะไร อาจเพราะเราชอบอยู่แล้ว ก็อ่านไปตามปกติ แต่พอต้องมาแปลเป็นภาษาไทย จะมีความยากในแง่ที่ว่า เวลาเราอ่านภาษาสเปน เราเข้าใจ แต่พอต้องแปลเป็นภาษาไทย จะทำยังไงให้ไม่ทิ้งลักษณะภาษา ใจความ หรือ syntax ที่เราได้รับจากการอ่านภาษาสเปน ขณะเดียวกันก็ต้องแปลเป็นภาษาไทยที่คนอ่านรู้เรื่องด้วย”

ในส่วนของกระบวนการทำงาน เธอเริ่มต้นจากการอ่านรอบแรกเหมือนนักอ่านทั่วๆ ไป เพื่อจับใจความของเรื่อง และเริ่มอ่านโดยละเอียดในรอบที่สอง ควบคู่ไปกับการถอดความเป็นภาษาไทย โดยมีบรรณาธิการอีกสองคนช่วยตรวจสอบเรื่องความถูกต้องของภาษา ทั้งภาษาสเปนและภาษาไทยให้อีกชั้นหนึ่ง

“ความท้าทายในการแปลเล่มนี้มีหลายอย่าง เรื่องแรกคือรูปประโยค ในภาษาสเปนจะมีการใช้คอมม่าเยอะ ในหนึ่งหน้าเขาสามารถเขียนต่อเนื่องกันไปได้เรื่อยๆ โดยไม่มีจุดฟูลสต็อป พูดง่ายๆ ว่าใช้คอมม่าเพื่อต่อความไปได้เรื่อยๆ ยิ่งกว่าภาษาอังกฤษอีก เช่น มีช่วงหนึ่งที่เล่าว่าตัวละครบ่นเป็นชั่วโมง แล้วตัวละครก็บ่นไปเรื่อยๆ บ่นไม่หยุด ซึ่งเขาก็ใช้คอมม่าไปเรื่อยๆ เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทนี้ พอบ่นเสร็จถึงใช้จุดฟูลสต็อป เราก็พยายามแปลไล่ไปให้เหมือนต้นฉบับมากที่สุด แต่ภาษาไทยมันไม่มีจุดฟูลสต็อปกับคอมม่าอยู่แล้ว ก็เลยไม่ได้รู้สึกว่าเป็นปัญหาอะไรมาก

“อีกเรื่องคือคำศัพท์ หลายคำเป็นศัพท์เฉพาะในประเทศโคลัมเบีย อย่างที่รู้ว่ามีหลายประเทศที่ใช้ภาษาสเปน ซึ่งแต่ละประเทศก็จะมีคำท้องถิ่นของตัวเอง คล้ายๆ ภาษาไทยที่มีภาษาเหนือภาษาใต้ เราก็ต้องมานั่งดูว่าเขาหมายถึงอะไรในบริบทนั้นๆ เพราะบางทีศัพท์คำเดียวกัน ถ้ามาใช้ในประเทศสเปน ความหมายก็ไม่เหมือนกัน กรณีแบบนี้จะทำเป็นเชิงอรรถไว้ เพราะบางคำเรารู้สึกว่าไม่สามารถแปลออกมาเป็นภาษาไทยได้แบบเป๊ะๆ

“อีกข้อหนึ่งซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของเล่มนี้ ก็คือการใช้ภาษาของมาร์เกซ จะมีศัพท์บางอย่างที่เขาคิดหรือผสมขึ้นมาเองเป็นคำใหม่ ไม่ปรากฏในดิกชันนารีใดๆ (หัวเราะ) ก็เป็นความท้าทายเหมือนกันว่า จะเลือกใช้คำแบบไหนให้ตรงความหมายและบริบทมากที่สุด”

ชนฤดี ปลื้มปวารณ์ ผู้แปล หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว
ชนฤดี ปลื้มปวารณ์ ผู้แปล หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว

เมื่อถามว่างานเล่มนี้แตกต่างจากวรรณกรรมลาตินอเมริกาเล่มอื่นๆ อย่างไร เธอให้เหตุผลที่น่าสนใจว่า เพราะเล่มนี้มีความเชื่อมโยงกับบริบทสังคมการเมืองไทยในหลายมิติ

“ในฐานะคนที่อ่านงานลาตินอเมริกามาพอสมควร เรามองว่าเล่มนี้เชื่อมโยงกับคนไทยมากกว่างานลาตินอเมริกาหลายๆ เล่ม จะอ่านชิลล์ๆ ก็เชื่อมโยงได้ หรือถ้าอ่านเจาะลึกก็ยิ่งเชื่อมโยงได้ไปใหญ่ แล้วจากการที่เราเคยไปแบ็คแพ็คที่ลาตินอเมริกา ทำให้เห็นว่าแม้สองภูมิภาคนี้จะอยู่ไกลกันมาก แต่ก็มีความคล้ายกันมากในบริบทสังคมการเมืองที่ยังไม่เสถียร รวมถึงวัฒนธรรมบางส่วนที่ยังมีความเชื่อเรื่องโชคลาง ภูตผีปีศาจ

“โดยสรุปคือมันสะท้อนภาพประวัติศาสตร์ที่ซ้ำรอย โดยที่การซ้ำรอยนั้นอาจไม่จำเป็นต้องเป็นรอยเดิม เรารู้อยู่แล้วว่าหนังสือเล่มนี้มันสะท้อนภาพลาตินอเมริกา แต่พออ่านไป จะเริ่มรู้สึกว่าทำไมคล้ายประเทศไทยในหลายๆ เรื่อง แม้เหตุการณ์บางอย่างจะเป็นเหตุการณ์เฉพาะ แต่ก็มีความคล้ายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยมาก”

หากพิจารณาทั้งในแง่กระบวนการขอลิขสิทธิ์ เรื่อยมาจนถึงกระบวนการแปล อาจกล่าวได้ว่า หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว ในเวอร์ชั่นของสำนักพิมพ์บทจร ถือเป็นการสร้างหมุดหมายและบรรทัดฐานใหม่ของการผลิตงานวรรณกรรมแปลในประเทศไทย โดยเฉพาะในแง่ของการฝ่าด่านเรื่องลิขสิทธิ์ในงานของมาร์เกซ ซึ่งเป็นเสมือนหลุมดำที่พรางตัวอยู่ท่ามกลางวงการหนังสือมาหลายทศวรรษ

นอกจากเรื่องราวของหนังสือ อีกหนึ่งความเคลื่อนไหวที่น่าตื่นเต้นของ หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว ซึ่งได้รับการประกาศออกมาในเวลาไล่เลี่ยกัน ก็คือการนำวรรณกรรมชิ้นเอกเรื่องนี้ไปสร้างเป็นซีรีส์ใน Netflix อำนวยการสร้างโดย โรดริโก การ์เซีย บุตรชายแท้ๆ ของกาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ โดยจะถ่ายทำในประเทศโคลัมเบีย เป็นภาษาสเปน

นับเป็นเรื่องน่ายินดี ที่ในเร็ววันนี้เราจะได้สัมผัสกับ หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว ทั้งในรูปแบบของหนังสือและซีรีส์ ประจวบเหมาะกับช่วงเวลาราวๆ ครึ่งศตวรรษ นับตั้งแต่ที่นวนิยายเรื่องเผยแพร่ครั้งแรกในปี 1967 ในทางหนึ่งนี่จึงเป็นเสมือนการเริ่มต้น ‘ชีวิตใหม่’ ของผลงานอมตะชิ้นนี้ ดังที่โรดริโก บุตรชายของมาร์เกซได้ให้สัมภาษณ์กับ The New York Times ว่า “สำหรับผม น้องชาย และแม่ นี่ไม่ใช่การตัดสินใจที่ยุ่งยาก พวกเรารู้สึกเหมือนว่าเรื่องราวอันยิ่งใหญ่บทใหม่ได้เปิดฉากขึ้นแล้ว พร้อมๆ กับการปิดฉากลงของมหากาพย์อันยาวนานก่อนหน้านี้”

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save