fbpx
Collective Intelligence มนุษย์เราพิเศษอย่างไรในยุค AI

Collective Intelligence มนุษย์เราพิเศษอย่างไรในยุค AI

สันติธาร เสถียรไทย เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

ในยุคที่ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เก่งขึ้นอย่างก้าวกระโดดจนคนกลัวว่าจะมาแทนที่มนุษย์ เราต้องคอยถามตัวเองว่าอะไรที่ทำให้มนุษย์แตกต่าง ปัจจุบันเรามักเข้าใจว่าจุดเด่นของคนคือสติปัญญา (IQ) ส่วนความฉลาดเป็นเรื่องปัจเจกบุคคล และทักษะสำคัญเช่นความคิดสร้างสรรค์เป็นพรสวรรค์ของแต่ละคน ราวกับว่ามนุษยชาติโชคดีที่แอปเปิ้ลตกใส่หัวของคนฉลาดอย่างนายไอแซค นิวตัน มิฉะนั้นเราอาจไม่ได้ค้นพบและเข้าใจแรงโน้มถ่วง! ความคิดแบบเป็นปัจเจกนี้ฝังรากลึกลงไปในทุกอณูของระบบเศรษฐกิจปัจจุบันตั้งแต่การให้คะแนนในโรงเรียนไปจนถึงการให้โบนัสหรือเลื่อนตำแหน่งในที่ทำงาน

แต่วิธีคิดเช่นนี้ถูกแล้วหรือ? แท้จริงแล้วอะไรกันแน่ที่เป็น Secret sauce ของคนที่ทำให้เราเหนือกว่าสัตว์อื่นๆ? วันก่อนผมได้รับเกียรติเชิญไปพูดในงานเดียวกันกับที่ศาสตราจารย์ Joseph Henrich ผู้เชี่ยวชาญระดับโลกด้านการวิวัฒนาการของมนุษย์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเขียนหนังสือ The Secrets of Our Success ซึ่งเปิดโลกทัศน์ผมอย่างมาก ทำให้รู้ว่าเราอาจตั้งคำถามผิดมาตลอดในเรื่องการสร้างคนรับมือยุคของ AI

“เด็กวัยหัดเดินกับลิงต่างกันอย่างไร?” 

นี่คือคำถามที่อาจารย์เฮนริคถามคนฟังในงาน สัญชาติญาณคนเป็นพ่อลูกอ่อนก็รีบตอบในใจว่า “ก็แน่สิ เด็กก็ต้องฉลาดกว่าลิงอยู่แล้ว..” หลังจากนั้นอาจารย์เฮนริคก็เปิดผลการศึกษาชิ้นสำคัญอันหนึ่งให้ดูการเปรียบเทียบระหว่างเด็กทารกอายุ 2.5 ขวบกับลิงอุรังอุตังและชิมแพนซีในการทดสอบทักษะต่างๆ 38 รูปแบบ ปรากฎว่าผลน่าตกใจมากเพราะว่า ในด้านทักษะต่างๆ เช่น การจำว่าของเก็บไว้ที่ไหน การเปรียบเทียบเชิงปริมาณ การใช้เครื่องมือ ที่เราคิดว่ามนุษย์ (แม้จะเป็นเด็ก) ก็น่าจะชนะลิง กลับกลายเป็นสูสีมาก

แต่ก่อนที่จะรู้สึกท้อใจก็หันไปเห็นว่ายังมีทักษะกลุ่มหนึ่งที่สำคัญมาก และมนุษย์ชนะลิงแบบขาดลอย นั่นคือ ทักษะการเรียนรู้และเลียนแบบผู้อื่น โดยกลุ่มเด็กวัยหัดเดินจะได้คะแนนเฉลี่ยเกือบ 100% ในกิจกรรมที่ผู้สอนสาธิตให้ดูก่อนในขณะที่ลิงสอบตกทำได้เกือบศูนย์ ซึ่งบ่งชี้ว่าสิ่งที่ทำให้สมองมนุษย์แตกต่างจากสิ่งมีชีวิตอื่นมากคือความสามารถในการ “เรียนรู้จากผู้อื่น” ที่ฝังรากลึกอยู่ในสัญชาตญาณ และทักษะนี้เองก็ทำให้เราสามารถพัฒนาทักษะอื่นๆ ได้อย่างก้าวกระโดดเมื่อโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ ต่างจากลิงที่ไม่มีการพัฒนาทักษะต่างๆ ที่ถูกทดสอบเลยจนไม่ว่าจะอายุเท่าไรก็ทำได้คะแนนพอๆ กัน

ปัญญาประดิษฐ์ vs ปัญญาประกิด 

นี่คือคำบอกใบ้สำคัญว่าเราบางคนอาจจะเข้าใจผิดมาตลอด สิ่งที่ทำให้มนุษย์เด่นและอยู่รอดมาได้หลายยุคสมัยมากกว่าสิ่งมีชีวิตใกล้เคียงกัน อาจไม่ใช่ปัญญาของแต่ละบุคคล (Individual Intelligence) แต่เป็น Collective Intelligence หรือที่ขอเรียกว่า “ปัญญาประกิด” เพราะเป็นความฉลาดที่เกิดขึ้นจากการเอาปัญญาของหลายคน-สะสมหลายรุ่นมาประกอบ (ประกิด) ผสมผสานกัน

การเรียนรู้จากกันและกันของมนุษย์ ที่อาจารย์เฮนริคเรียกว่า Social หรือ Cultural Learning นั้นเป็นขั้นตอนที่สลับซับซ้อน บางส่วนเกิดขึ้นโดยเราไม่รู้ตัวจากการที่เราซึมซับบุคคลที่อยู่ใกล้ตัว หรือคนที่เรามองว่าประสบความสำเร็จ หรือรู้มากกว่า บางส่วนเกิดโดยเราตั้งใจสืบทอดให้กันและกันจนมนุษย์เราพัฒนาเครื่องมือช่วยสื่อสารที่เรียกว่า “ภาษา” และ ใช้ “เรื่องเล่า” ต่างๆ ที่บางครั้งก็กลายเป็น ตำนาน คติชาวบ้าน ความเชื่อ ก่อเกิดเป็นวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมา เช่น เหตุผลที่วัฒนธรรมการกินเผ็ดมักจะสืบทอดกันมาในเมืองร้อนอย่างประเทศไทย ส่วนหนึ่งก็เพราะแต่เดิมพริกสามารถฆ่าเชื้อโรคบางประเภทในเนื้อที่อยู่ในเขตประเทศร้อนได้

สำหรับคนที่เป็นแฟนหนังสือชื่อดังก้องโลก Sapiens ของ Yuval Noah Harari จะเห็นว่างานของอาจารย์สองท่านนี่เกี่ยวพันกันอย่างลึกซึ้ง อาจารย์ฮารารีบอกว่าความพิเศษของมนุษย์ที่มากกว่าสัตว์อื่นคือ ความสามารถในการ “จินตนาการ” สร้างเรื่องเล่าให้เกิดความเชื่อร่วมกันในหมู่คนจำนวนมาก ทำให้สามารถเชื่อมโยงคนแปลกหน้าที่ไม่รู้จักกันเลยมารวมกลุ่มทำงานร่วมกันได้ ตัวอย่างเช่น วิสัยทัศน์ในบริษัท ความเชื่อในลัทธิ หรือแนวคิดปรัชญาทางการเมือง งานของอาจารย์เฮนริคทำให้เราเข้าใจว่าความสามารถในการเล่าเรื่อง มีความเชื่อร่วมกัน เป็นสิ่งที่มนุษย์มีเพื่อช่วยในการถ่ายทอดความรู้ให้กันและกัน เพื่อการอยู่รอดของเผ่าพันธุ์

พอเข้าใจเช่นนี้โจทย์ที่เราต้องตอบก็เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง แทนที่จะถามว่า ทำอย่างไรให้เราแต่ละคนเก่งพอจะอยู่รอดในยุค AI โจทย์ที่เราควรถามคือจะดีไซน์สังคมหรือองค์กรเราอย่างไรให้เกิด social learning เพื่อนำปัญญาของทุกคนมาประกอบกันอย่างมีประสิทธิผล และสร้าง Collective Intelligence ขึ้น

ยิ่งเชื่อมโยงยิ่งเรียนรู้มาก (interconnectedness)

สังคมหรือองค์กรที่ “ฉลาด” อาจไม่ใช่ที่ที่่แค่เอาคนฉลาดมารวมตัวกัน แต่เป็นที่ที่สามารถกระตุ้นให้คนที่อยู่ในองค์กรเกิดปัญญาขึ้นจากการเรียนรู้จากกันและกัน

งานที่อาจารย์เฮนริคทำสะสมมาค้นพบว่าสังคมที่เปิดกว้างและมีความเชื่องโยงสูงจะช่วยเสริมการเรียนรู้แบบ social learning ได้มากกว่าการเรียนรู้เดี่ยวๆ หลายเท่า โดยวิธีการทำงานของแกมักผสมผสานการลงพื้นที่ไปอยู่กับชนเผ่าต่างๆ และศึกษาวัฒนธรรมความเป็นอยู่และประวัติศาสตร์ของเขา เพื่อเข้าใจเชิงลึกแล้วค่อยดึงบางส่วนที่สำคัญเอากลับมาทำเป็นการทดลองเสมือนในแลป (Randomised Controlled experiment) เพื่อทดสอบสมมติฐานอีกที

ยกตัวอย่างการศึกษาที่ใช้ทดสอบว่าความเชื่อมโยง (interconnectedness) ในองค์กรสำคัญต่อการเรียนรู้เพียงใด ในการทดลองให้นักเรียนปริญญาตรีสองกลุ่มมาหัดใช้โปรแกรมอิดิทภาพให้เหมือนต้นแบบให้มากที่สุดภายในเวลาที่กำหนด ทั้งสองกลุ่มจะมีคน 5 คน ที่มาใช้โปรแกรมแต่งภาพจนหมดเวลาแล้วหลังจากนั้นทั้ง 5 คนต้องเปลี่ยนบทบาทกลายเป็น “ครู” เขียนคู่มือความยาวประมาณหนึ่งหน้ากระดาษอธิบายวิธีการใช้โปรแกรมนี้เพื่อถ่ายทอดนี้ให้คนรุ่นต่อไปซึ่งมี 5 คนเช่นกัน โดยจะทำการส่งทอดแบบนี้ต่อๆ ไปถึง 10 รุ่น

Sociality influences cultural complexity. Michael Muthukrishna, Ben W. Shulman, Vlad Vasilescu and Joseph Henrich
ที่มาภาพ Sociality influences cultural complexity. Michael Muthukrishna, Ben W. Shulman, Vlad Vasilescu and Joseph Henrich

ความแตกต่างคือในกลุ่มแรกเป็นระบบ “1 ศิษย์ 1 ครู” คือคนรุ่นหลังจะได้อ่านคู่มือของคนรุ่นแรกคนเดียวเท่านั้น แต่ในกลุ่มที่สองเป็นระบบ “5 ศิษย์ 5 ครู” คือคนรุ่นต่อมาแต่ละคนสามารถอ่านคู่มือการใช้โปรแกรมจากคนรุ่นก่อนทั้ง 5 คนไม่ใช่จากคนเดียว

ปรากฎว่าผลลัพธ์ของสองกลุ่มนั้นออกมาแตกต่างกันอย่างน่าตกใจทีเดียว

หนึ่ง แม้ในรุ่นแรกๆ ทั้งสองกลุ่มแต่งภาพออกมาได้แย่พอกัน แต่พอถึงประมาณรุ่นที่ 3-4 กลุ่มที่สองเริ่มทำได้ดีกว่าอย่างเห็นได้ชัดมาก

สอง ความแตกต่างระหว่างสองกลุ่มเริ่มสูงมากขึ้นเรื่อยๆ ในรุ่นหลังๆ โดยที่น่าแปลกใจคือคนกลุ่ม 1 ศิษย์ 1 ครู นั้นแทบไม่มีการพัฒนาเลยในแต่ละรุ่น แม้แต่ศิษย์ของครูที่เก่งอาจทำได้แย่กว่ารุ่นก่อน ในขณะที่กลุ่ม 5 ศิษย์ 5 ครู นั้นทำได้ดีทุกคน แม้แต่คนที่ห่วยที่สุดก็ยังทำภาพได้ดีกว่าคนที่เก่งที่สุดของกลุ่มแรก

สาม กลุ่มที่สองมักจะไม่ได้เรียนรู้จากคู่มือคนที่เก่งที่สุดของรุ่นก่อนเท่านั้นแต่ผสมผสานเทคนิคและวิธีการของครูทั้ง 5 คนมาเป็นวิธี “ใหม่” เรียกว่าเป็นสร้างนวัตกรรมโดยไม่ได้มีการคิดค้นใหม่ (Innovations without inventions)

Sociality influences cultural complexity. Michael Muthukrishna, Ben W. Shulman, Vlad Vasilescu and Joseph Henrich
ที่มาภาพ Sociality influences cultural complexity. Michael Muthukrishna, Ben W. Shulman, Vlad Vasilescu and Joseph Henrich

“แล้วองค์กรของคุณล่ะเป็นแบบกลุ่มไหน?”

คือคำถามที่อาจารย์แกถามต่อจนหมู่ผู้นำและ CEO จากหลายประเทศที่นั่งฟังอยู่สะอึกกัน แน่นนอน ไม่มีองค์กรไหนจะเป็นเหมือนในห้องทดลองเป้ะ แต่ผู้บริหารทุกคนในห้องนั้นเห็นถึงความสำคัญของบทเรียนที่การศึกษานี้กลั่นออกมาในยุคปัจจุบัน

ข้อแรก การศึกษาสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการเชื่อมโยงกันในองค์กร-สังคม ซึ่งมีความสำคัญนักในการกระตุ้นการเรียนรู้และการสร้างนวัตกรรม สังคมหรือองค์กรที่ไซโล (Silo) แต่ละแผนก ให้ทำงานแยกไม่สื่อสารกัน หรือที่มีการแบ่งชั้นมาก (Hierarchical) ไม่เพียงแต่จะมีผลลบกับความสามารถขององค์กรเท่านั้นแต่จะลดความสามารถในการเรียนรู้ของแต่ละบุคคลในองค์กรด้วย ในยุคที่การเรียนรู้ต้องทำตลอดชีวิต ที่ทำงานกลายเป็นแหล่งการเรียนรู้สำคัญไม่แพ้มหาวิทยาลัย ผู้บริหารต้องเปลี่ยนทัศนคติจากที่คิดว่าการศึกษาเป็นเรื่องโรงเรียน-มหาวิทยาลัยเท่านั้น

ข้อสอง การสร้าง community แห่งการเรียนรู้ในสังคมเป็นสิ่งสำคัญ ข่าวดีคือในโลกของแพลตฟอร์มดิจิทัล การวบรวม (crowd sourcing) ความรู้และการสร้างเครือข่ายแห่งการเรียนรู้นั้นง่ายขึ้นมาก แพลตฟอร์มเปิดแบบ Github ทำให้โลกของการเขียนโค้ดกลายเป็นเสมือนกลุ่ม 5 ครู 5 ศิษย์ ในตัวอย่างข้างบน ในโซเชียลมีเดียเราก็หากลุ่มเครือข่ายให้ความรู้ในแต่ละด้านได้ง่ายไม่ว่าหัวข้อจะแปลกแค่ไหน

แต่ทั้งนี้การศึกษาของอาจารย์เฮนริคอาจชี้ให้เห็นด้วยว่า online community อาจไม่สามารถแทนที่การสร้าง community แห่งการเรียนรู้ในโลกออฟไลน์ได้ทั้งหมด เพราะบ่อยครั้งที่มนุษย์เรียนรู้จากกันและกันโดยไม่รู้ตัวเวลาพบเจอหน้ากัน นอกจากนี้ยังมีคนไม่น้อยที่พร้อมจะเรียนรู้จากคนที่คุ้นเคยมากกว่าจากผู้เชี่ยวชาญที่ไม่รู้จักคุ้นเคย ในโลกของเทคโนโลยี วิธีการสอนให้ SME หรือ เกษตรกรหันมาลองหัดใช้เทคโนโลยีมีวิธีที่ได้ผลที่สุดคือ ให้เพื่อนหรือคนรู้จักที่เชื่อใจเป็นคนชักชวน

ข้อสาม ความหลากหลาย (diversity) ในองค์กรเป็นสิ่งสำคัญ การทดลองชี้ให้เห็นว่าการเรียนรู้ไม่ได้เกิดจากการทำตามคนที่เก่งที่สุดเท่านั้น แต่เกิดจากการศึกษาจากคนที่หลากหลายเอามาประกอบกันจนได้เทคนิคใหม่ หากปัญหาการแต่งภาพให้เหมือนต้นแบบในห้องทดลองนี้เป็นเรื่องที่มีมิติเดียวและมีโจทย์ชัดเจนยังได้อานิสงส์จากความต่างขนาดนี้ ลองคิดดูว่าปัญหาในโลกความเป็นจริงที่มักจะซับซ้อนไม่ชัดเจนจะยิ่งต้องการความหลากหลายขนาดไหน ดังนั้นการเปิดโอกาสและอำนวยความสะดวกให้ผู้หญิงเป็นผู้บริหารมากขึ้น การมีคนทั้งรุ่นใหม่และรุ่นใหญ่ทำงานร่วมกัน ฯลฯ ย่อมช่วยเสริมการเรียนรู้และการสร้างนวัตกรรม

ร่วมกันเรียนเราอยู่ แยกกันรู้เราตาย 

สรุป  มนุษย์เราจะรับมือกับยุคของ AI อย่างไร? เราอาจจะต้องคิดถึงความท้าทายนี้ไม่ใช่ในเชิงของปัจเจก แต่เป็น community เพราะแต้มต่อของมนุษย์อยู่ที่การเชื่อมต่อและเรียนรู้จากกันที่ฝังรากลึกอยู่สัญชาติญาณและวัฒนธรรมไม่ใช่ความฉลาดหรือพรสวรรค์ของแต่บุคคล

โจทย์ที่เราต้องช่วยกันตอบต่อไปคือ ในยุคที่โลกเชื่อมโยงกันมากขึ้นแต่ความแตกแยกและรอยร้าวทางสังคมก็ดูเหมือนจะสูงขึ้นเช่นกันในหลายประเทศ เราจะดีไซน์องค์กร-สังคมอย่างไรให้เกิด social learning ให้มากที่สุด เพื่อรับมือกับ Artificial Intelligence ด้วย Collective Intelligence

ก่อนเราจะตอบได้ว่ามนุษย์ะอยู่รอดอย่างไรในยุคแห่งปัญญาประดิษฐ์ได้ อาจต้องย้อนกลับมาถามตัวเองก่อนว่า “คนเราเหนือกว่าลิงตรงไหน?”

บางครั้งโลกมันก็แปลกดีนะครับ

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save