fbpx

20 ผลงานใหม่ ยอดอ่านสูงสุดของ The101.World เดือนกันยายน 2561

Creative Knowledge Video

แนะนำจาก The101.World ประจำเดือนกันยายน 

YouTube video

เศรษฐกิจสีน้ำเงิน

 

โดย Eye On Field x 101

บุฟเฟต์หมูกระทะแพงที่สุดในโลก ราคาหม้อละ 24 ล้านล้านบาท!

ฟังไม่ผิดหรอกครับ! ยิ่งไปกว่านั้นในอนาคตมันจะราคาเพิ่มขึ้นอีกสองเท่า
บุฟเฟต์หม้อนี้มีอะไรดี? ทำไมมันถึงมีราคามากถึงขนาดนี้!?

บุฟเฟต์หมูกระทะก็เปรียบเสมือนกับทรัพยากรบนโลกที่ทำให้เรามีอยู่มีกิน
มันถูกแบ่งเป็นทรัพยากรบนพื้นดินและผืนน้ำ
แต่คุณรู้หรือเปล่า ว่าทรัพยากรบนผืนน้ำที่ว่ามีมูลค่าถึง 1.5 ล้านล้านดอลลาร์
และนั่นทำให้เราเรียกมันว่า “เศรษฐกิจสีน้ำเงิน เงิน เงิน เงิน”

101 ขออาสาพานักแสวงหาเงิน ทั้งหลายรู้จักกับเศรษฐกิจสีน้ำเงินที่ว่า
มันคืออะไร?
มาจากไหน?
มันสร้างโอกาสอะไร?
และมีวิธีกินแบบไหน? ที่ทำให้เราสามารถอร่อยไปกับหมูกระทะหม้อนี้ไปอีกนานๆ

“เศรษฐกิจสีน้ำเงิน”
ผลิตโดย Eye On Field x 101
ควบคุมการผลิตโดย Knowledge Farm – ฟาร์มรู้สู่สังคม
อำนวยการผลิตโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

ดูจบอย่าลืมตักแบ่ง กดช่วยแชร์ความอร่อยให้กับคนรอบข้างด้วยนะครับ

อ่านเบื้องหลังการสร้างสรรค์คลิปเศรษฐกิจสีน้ำเงินได้ ที่นี่

20 ผลงานใหม่ ยอดอ่านสูงสุดของ The101.World เดือนกันยายน 2561

ปรากฏการณ์จีนบุกไทย – ไชน่าทาวน์ใหม่ในกรุงเทพฯ

 

โดย ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

“จีนเข้าถึงทรัพยากรที่ควรจะเป็นของคนไทย เด็กไทยจบใหม่ เงินเดือน 15,000 เข้าไม่ถึงทรัพยากร หรือรัฐสวัสดิการ แต่คนจีนไม่ต้องมีสวัสดิการอะไร เขามีเงิน มีพาวเวอร์”

ทุกวันนี้ หากเราเดินไปในย่านห้วยขวาง โดยเฉพาะเส้นประชาราษฎร์บำเพ็ญ เราจะพบเห็นชาวจีนจำนวนมาก ตั้งตัวอยู่กันเป็นชุมชน เปิดร้านขายของเป็นล่ำเป็นสัน ทั้งร้านอาหาร ร้านขายยา และข้าวของเครื่องใช้

คนเหล่านี้ไม่เหมือนกับชาวจีนเยาวราชดั้งเดิม จีนใหม่เหล่านี้เข้ามาสร้างไชน่าทาวน์ใหม่ ทำธุรกิจในรูปแบบของตัวเอง น้อยคนที่จะพูดภาษาไทย แต่กลายเป็นว่าสื่อสารกันด้วยภาษาจีนกลางและอังกฤษ

จากคนจีนรุ่น ‘ซิงตึ๊ง’ หอบเสื่อผืนหมอนใบหนีสงครามมาเริ่มชีวิตใหม่ที่ไทย มาถึงจีนรุ่นใหม่ ‘ซินอี๋หมิน’ เถ้าแก่น้อยที่มาพร้อมไอโฟนและเทคโนโลยี เข้ามาทำธุรกิจในช่วงจีนเปิดประเทศ เกิดเป็น ‘ไชน่าทาวน์ใหม่’ ที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป มีตัวเลขบอกว่า มีจีนใหม่ในกรุงเทพฯ ประมาณ 70,000 คน และทั่วประเทศน่าจะมีคนจีนเข้ามาอยู่ไม่ต่ำกว่า 5 แสนคน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย คุยกับ ดร.ชาดา เตรียมวิทยา อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าคุณทหารลาดกระบัง หัวหน้าทีมวิจัยเรื่อง ‘การตั้งถิ่นฐานของชาวจีนรุ่นใหม่ : กรณีศึกษาชุมชนจีนแห่งใหม่’

“พวกนี้ไม่ได้ย้ายถิ่นถาวร เป็นการย้ายถิ่นแบบชั่วคราว เขาไม่ได้ย้ายแบบพวกจีนโพ้นทะเลสมัยก่อน ที่ย้ายไปแล้วออกลูกออกหลานที่นั่นเลย แต่นี่เขายังกลับบ้าน แล้วเขาเอาเม็ดเงินส่งเป็นทุนกลับบ้าน เหมือนที่ทัวร์จีนทำท่องเที่ยว เงิน โรงแรม ร้านอาหาร ก็เป็นของคนจีนอยู่ คนไทยเป็นแค่ลูกจ้างเขา”

 

จาก ‘กู โรตี’ ถึง ‘ปังปอนด์ออนทัวร์’ – ความปังที่ไม่ได้เกิดขึ้นแบบมั่วๆ

 

โดย พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล

“คนทั่วไปอาจมองว่าง่าย โพสต์ๆ ไปเถอะ เดี๋ยวคนก็เห็นเอง แต่ผมกลับมองว่า ถ้าเราอยากใช้โซเชียลมีเดียให้มีเปอร์เซ็นต์ในการประสบความสำเร็จมากขึ้น มันควรคิดตั้งแต่แรกว่า สิ่งที่เราจะส่งออกไปคืออะไร ส่งด้วยวิธีไหน แล้วผู้รับสารคือใคร ทุกอย่างต้องมีกระบวนการคิดล่วงหน้า…”

ชวนอ่านความคิด ‘ปอนด์’ วชิร ละอองเทพ ชายหนุ่มวัย 25 ปี ผู้อยู่เบื้องหลังเพจดังปังปอนด์ออนทัวร์ และเป็นผู้บุกเบิกธุรกิจร้านอาหารชื่อดังอย่าง ‘กู โรตี ชาชัก’ และ ‘Empty Tasty’

 

ความจริง ความเชื่อ และความเจ็บป่วยของ ‘สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล’

 

โดย อายุษ ประทีป ณ ถลาง

อายุษ ประทีป ณ ถลาง เขียนถึงชะตากรรมของ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ในฐานะนักวิชาการผู้ยืนหยัดในอุดมการณ์มาร่วม 40 ปี แต่กลับต้องกลายเป็นผู้ลี้ภัย (และล้มป่วย) อยู่ในต่างแดน

 

สงครามทุเรียน : ไทย VS มาเลเซีย

 

โดย ปิติ ศรีแสงนาม

ปิติ ศรีแสงนาม จับตายุทธศาสตร์การส่งออก ‘ทุเรียน’ ของมาเลเซีย โดยเฉพาะการมุ่งตีตลาดประเทศจีนอย่างจริงจัง ซึ่งอาจส่งผลต่อการส่งออกทุเรียนไทยอย่างคาดไม่ถึง

“ที่ผ่านมามีเพียงทุเรียนจากประเทศไทยและฮ่องกงเท่านั้น ที่สามารถนำเข้าประเทศจีนได้แบบสดทั้งลูก ซึ่งในความเป็นจริง ฮ่องกงก็ไม่มีพื้นที่ปลูกทุเรียนนะครับ แต่นำเข้าจากไทยไปอีกที ทุเรียนจากประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะมาเลเซีย ถ้าจะนำเข้าต้องเป็นเนื้อทุเรียนบด (Pulp and Paste)

“ในปี 2016 ไทยเรามีส่วนแบ่งตลาดทุเรียนในประเทศจีนถึง 99.59% และเป็นเจ้าตลาดผูกขาดทุเรียนในประเทศจีน ถึงแม้รสนิยมการรับประทานทุเรียนของคนจีน อาจไม่ได้ชื่นชอบทุเรียนหมอนทองขนาดนั้น เมื่อเทียบกับทุเรียนพันธุ์ที่คนจีนนิยมมากที่สุด คือทุเรียนพันธุ์ ‘Mao Shan Wang’ ของมาเลเซีย

“ถึงแม้ราคาของ Mao Shan Wang จะแพงกว่าตั้ง 3 เท่า แต่ตลาดบนของจีนก็นิยมทุเรียนประเภทนี้มากๆ (มากจนมีของปลอมออกมาขาย) และที่ผมบอกว่าเราต้องจับตามองให้ดี ก็เพราะการเยือนจีนของดร.มหาธีร์ ในครั้งนี้ เขาและนายกรัฐมนตรีจีนได้ร่วมเป็นพยานในการลงนาม ‘A Protocol on the Need to Conduct Inspection and Quarantine for the Export of Durian from Malaysia to China’

“ข้อตกลงดังกล่าว จะทำให้ทุเรียนของมาเลเซียที่ผ่านมาตรฐานการเพาะปลูก สามารถส่งออกและนำเข้าตลาดจีนได้แบบทั้งผล ไม่ใช่เฉพาะเนื้อทุเรียนบด (Pulp and Paste) อีกต่อไป โดยทุเรียนมาเลเซียที่จะได้รับสิทธิจากข้อตกลงนี้ ประกอบด้วยทุเรียนทั้งสิ้น 6 สายพันธุ์

“ที่เราต้องระวังมากกว่านั้นคือ หลังการลงนามในข้อตกลงดังกล่าว ดร.มหาธีร์ได้แถลงว่า ถ้าในอดีตมาเลเซียเคยพัฒนายางพาราที่มีต้นทางจากอเมริกาใต้ จนตัวเองกลายเป็นผู้ผลิตและผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดในโลกได้ แล้วต่อมาก็พัฒนาปาล์มน้ำมันที่มีต้นทางมาจากแอฟริกาตะวันตก จนกลายเป็นผู้ผลิตและผู้ส่งออกปาล์มน้ำมันรายใหญ่ที่สุดในโลกได้ แล้วทำไมทุเรียนซึ่งเป็นของมาเลเซียเอง จะพัฒนาจนกลายเป็นผู้ส่งออกสำคัญของโลกไม่ได้…”

 

Exclusive : พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง กับภารกิจชักธงพหุวัฒนธรรมขึ้นสู่ยอดเสา

 

โดย ธิติ มีแต้ม

อีกราวปีเศษๆ ‘พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง’ อดีตเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. (ต.ค. 2554 – พ.ค. 2557) จะเกษียณอายุราชการ

ทว่าแทนที่จะรอให้ถึงวันนั้น เขาตัดสินใจยื่นใบลาออกจากราชการมาเข็นงานการเมืองเต็มสูบ ในฐานะผู้ร่วมก่อตั้ง ‘พรรคประชาชาติ’ รับตำแหน่งเลขาธิการพรรค

เริ่มเส้นทางราชการจากตำรวจนักสืบ ขึ้นสู่อธิบดี DSI ก่อนจะถูกจดจำได้มากที่สุดจากงานในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะความพยายามในการพูดคุยสันติภาพ กับขบวนการบีอาร์เอ็น เขาเป็นหนึ่งในแกนหลักของทีมเจรจาฝ่ายไทยเพื่อหาทางออกจากวิกฤตความรุนแรงอันเรื้อรัง

คำถามเบื้องต้นคือ ด้วยทุนชีวิตทั้งหมดที่เขาสะสมมา เมื่อถึงเวลาก้าวขาเข้าสู่สนามการเมือง สายตาของเขาที่มองสังคมไทยจะแหลมคมแค่ไหน อะไรคือธงทางอุดมการณ์ที่เขาจะชักขึ้นสู่ยอดเสา หน้าตาของสังคมไทยที่เขาต้องการขึ้นรูปให้ดูเป็นผู้เป็นคนมากที่สุดเป็นอย่างไร

“เราต้องมองว่าวัฒนธรรมคือความเป็นมนุษย์ พูดง่ายๆ คือความเป็นคนต้องมาก่อน คนต้องเท่ากัน เราต้องทำให้ทุกศาสนาเท่าเทียมกัน ไม่ใช่เท่าเทียมเพราะจำนวนคน แต่ต้องเท่าเทียมในทางปรัชญา“

“การกระจายอำนาจเป็นแค่กระบวนการ แต่เป้าหมายคือคนมีความสุข อยู่ดีกินดี สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ คนต้องมีสิทธิเสรีภาพ มีอำนาจในการกำหนดชะตากรรมตัวเอง”

“สำหรับเด็กชาติพันธุ์ ต้องให้เขาได้เรียนภาษาแม่ เช่น คนมลายู ต้องให้เขาเริ่มเรียนภาษายาวี ผมคิดว่าเรื่องการศึกษาเป็นเรื่องใหญ่พอๆ กัน ไม่น่าเชื่อว่าทุกวันนี้หนังสือที่สอนตั้งแต่ ป.1 จนถึง ม.6 ในภาคใต้ ไม่มีคำว่าปัตตานีสักคำเลย”

“ทำไมประชาชนกับรัฐถึงต้องหวาดระแวงกันเป็นหลายสิบปี นี่เป็นความรู้สึกส่วนตัวถึงความรับผิดชอบกับสังคม เวลาที่เราไปทำงาน ผู้ใหญ่ก็บอกว่าต้องเป็นผู้นำ ทำให้ประชาชนเชื่อ แต่ผมอาจเป็นผู้นำที่ไม่ดี ดันไปเชื่อประชาชน…”

 

“Design Thinking ไม่ใช่เครื่องมือวิเศษ” – เข้าใจแก่น Design Thinking กับ เมษ์ ศรีพัฒนาสกุล

 

โดย พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล

“เป้าหมายของการใช้ Design Thinking คือการหาสิ่งที่คนไม่รู้ว่าตัวเองต้องการ แต่จริงๆ แล้วเขาต้องการ หัวใจของกระบวนการนี้คือการถอยออกมาจากปัญหาก่อน อย่าเพิ่งรีบคิดว่าจะทำอะไร…”

101 สนทนากับ ‘เมษ์ ศรีพัฒนาสกุล’ ผู้ก่อตั้ง ‘ลูกคิด’ และ Asian Leadership Academy ผู้แปลหนังสือ ‘คู่มือออกแบบชีวิตด้วย Design Thinking’ ว่าด้วยหัวใจที่แท้จริงของ Design Thinking และการใช้แนวคิดนี้ในการเปลี่ยนแปลงสังคม

“คำว่า design thinking ในปัจจุบัน มีคนพูดถึงเยอะ เหมือนเป็น buzzword ที่ใครๆ ก็เอามาพูดกัน จากที่เคยเจอมา บางคนจะมองว่ามันคือเครื่องมือที่จะช่วยแก้โน่นแก้นี่ได้ แต่เรารู้สึกว่ามันไม่ใช่เครื่องมือวิเศษอะไร มันเป็นเพียงกระบวนการหนึ่งที่ดี ที่เอาไปปรับใช้กับชีวิตและการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

“บางทีเราจะถูกปลูกฝังมาว่า ต้องทำให้มันเพอร์เฟกต์ก่อนนะ ถึงเอาไปโชว์เจ้านาย แต่ design thinking จะบอกว่า เพราะมันไม่เพอร์เฟกต์นั่นแหละ คุณถึงต้องเอาไปโชว์เจ้านาย design thinking จะโฟกัสกับ ‘กระบวนการ’ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์นั้นมา ว่าเขาได้เรียนรู้อะไร เขาล้มยังไง แล้วเขาแก้ปัญหายังไง ซึ่งเราว่ามันเป็นหัวใจของการทำทุกๆ อย่างเลย”

“องค์กรไหนที่ผู้บริหารบอกว่า เฮ้ย ลุยเลย ผิดไม่เป็นไร ถือเป็นการเรียนรู้ องค์กรนั้นก็เหมือนแล็บ คนในองค์กรจะรู้สึกว่ามีอิสระในการทดลองอย่างเต็มที่ แต่ถ้าเกิดลองแล้วโดนด่า สุดท้ายเขาจะ play safe และเขาก็จะไม่คิดไอเดียที่มันบ้าๆ หรือหลุดออกไปจากกรอบเดิมๆ ซึ่งไม่มีทางจะนำไปสู่อะไรใหม่ๆ ได้เลย”

 

ทำไมคนจีนไม่บริโภค?

 

โดย อาร์ม ตั้งนิรันดร

“เรามักพูดกันว่า ประเทศจีนเป็นประเทศที่มีตลาดผู้บริโภคปริมาณมหาศาล แต่ทราบไหมครับว่า ปัญหาใหญ่ที่หนักอกหนักใจรัฐบาลจีนก็คือ เศรษฐกิจจีนยังมีสัดส่วนการบริโภคที่ต่ำเกินไป และคนจีนน่าจะจับจ่ายใช้สอยได้มากกว่านี้”

“ในยุทธศาสตร์เศรษฐกิจของรัฐบาลจีน จึงมักใช้คำว่า ถึงเวลาต้องปลดปล่อยพลังการบริโภคระลอกใหม่ คือถึงเวลาแล้วที่จีนจะต้องปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ จากที่เคยเน้นขับเคลื่อนด้วยการส่งออกและการลงทุน มาเป็นการส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศแทน”

ปัญหาที่ทำให้อัตราการบริโภคของจีนสวนทางกับ GDP คืออะไร ส่งผลเสียอย่างไร และจะแก้ไขอย่างไร

อาร์ม ตั้งนิรันดร เขียนถึงเหตุผล 4 ข้อที่ทำให้คนจีนไม่บริโภค

 

‘ปรัชญา’ และการค้นหา ‘ภูมิศาสตร์’ ของชีวิต : ธีรเชษฐ์ โรจน์รัชสมบัติ – เด็กไทยที่ได้รางวัลโอลิมปิกวิชาการจาก 2 สาขา

 

โดย ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

“ถ้าคนไทยตั้งคำถามเป็น ระบบหลายอย่างจะพังทลายลงมา คนที่อยากให้ทุกอย่างอยู่คงเดิมก็เลยไม่สนับสนุนให้คนไทยตั้งคำถาม…”

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย สนทนากับ ’ไดร์ฟ’ ธีรเชษฐ์ โรจน์รัชสมบัติ เด็กหนุ่มอายุ 18 ปี ที่ไปคว้ารางวัลโอลิมปิกวิชาการ ทั้งด้านปรัชญาและภูมิศาสตร์ ว่าด้วยมุมมองที่เขามีต่อปรัชญา ภูมิศาสตร์ การใช้ชีวิต ไปจนถึงการศึกษาไทย

“พอเราพูดถึงคนที่เรียนปรัชญาปุ๊บ โอ๊ย คุยไม่รู้เรื่องหรอก เรียนปรัชญาแล้วทำอะไรกิน แต่ผมกลับรู้สึกว่า เราควรมองว่าการเรียนปรัชญาเป็นศิลปะแห่งการใช้ชีวิต เป็น art of living หรือ art of thinking ไม่ใช่เรียนเพื่อจะเอาไปทำอะไร แต่เรียนเพื่อเสริมชีวิตตัวเอง เสริมการอยู่ร่วมกันในสังคม และอื่นๆ อีกมากมาย”

“ภูมิศาสตร์คือการใช้ความรู้หลายๆ ด้านรอบตัวเราในการแก้ปัญหา เช่น เราถามว่าจะแก้ปัญหามลภาวะทางอากาศยังไง ก็ต้องวิเคราะห์กันว่า มลภาวะทางอากาศเกิดจากอะไร ลมพัดยังไง อันนี้ก็เป็นอุตุนิยมวิทยา เรื่องสารเคมีในมลภาวะอากาศเกิดจากอะไร ก็เป็นวิชาเคมี มลภาวะมาจากไหน การตั้งโรงงานรึเปล่า ก็เป็นเรื่องเศรษฐศาสตร์ แล้วทำไมไม่มีการห้าม ก็เป็นเรื่องกฎหมาย มลภาวะไม่ดีต่อเรายังไง ก็เป็นเรื่องการแพทย์ การจะแก้ปัญหานี้ได้ต้องเอาทุกศาสตร์มารวมกัน นี่แหละคือภูมิศาสตร์”

“การศึกษาไทยเน้นการสอนอะไรที่ไม่จำเป็นต้องสอนในโลกปัจจุบัน เช่น สอนป้อนข้อมูลเป็นหลัก ทุกคนจะฟังครู ไม่ค่อยตั้งคำถาม ถ้าสอนแบบนี้ทำไมไม่เอาขึ้นเน็ตล่ะ ทำไมไม่ให้ครูที่ดีที่สุดสอนทุกคนไปเลย ประเด็นนี้ก็เลยสะท้อนออกมาในรูปของกวดวิชา เด็กพยายามจะไปหาครูที่ดีที่สุด ไม่รอครูที่มีอยู่ในโรงเรียน”

 

“หน้าที่ของแนนโน๊ะ คือยั่วยุความชั่วที่อยู่ในตัวของคน” – เปิดความคิดทีมเขียนบท ‘เด็กใหม่ The Series’

 

โดย ชลธร วงศ์รัศมี

101 ชวนคุยกับ #ทีมเขียนบท ‘#เด็กใหม่ The Series’ เจาะลึกเบื้องหลังส่วนผสมของ #แนนโน๊ะ

แนนโน๊ะจะมีคาแรกเตอร์เหมือนชาวบ้านได้อย่างไร ในเมื่อคนเขียนบทให้แนนโน๊ะ มีทั้งผู้กำกับภาพยนตร์รุ่นใหญ่คมในประเด็นเชิงสังคม (คงเดช จาตุรันต์รัศมี) นักเขียนบทสาวอดีตนักเขียน สนพ. แจ่มใส (อาทิชา ตันธนวิกรัย) และหนุ่มมือเขียนบทสายหม่นหมองสยองขวัญ (ทินพัฒน์ บัญญัติปิยพจน์) เผยตัวคนเขียนฉาก ‘เต้าหู้’ อันลือลั่น

เซอร์ไพรส์กับคน (เป็นๆ) ที่ให้อินไซต์ตอนสร้างแนนโน๊ะขึ้นมา

พบคำตอบที่แท้จริงว่าทีมเขียนบทตั้งใจเขียนให้แนนโน๊ะเป็นตัวอะไร

และที่สำคัญ คงเดช จาตุรันต์รัศมี จะบอกความลับว่าอะไรทำให้การเขียนบท ‘เด็กใหม่ The Series’ ประสบความสำเร็จขนาดนี้

 

อย่าปะปน Facts กับ Truth

 

โดย วรากรณ์ สามโกเศศ

วรากรณ์ สามโกเศศ เขียนถึงความต่างระหว่าง ‘Fact’ กับ ‘Truth’ ซึ่งแฝงอยู่ในแทบทุกเรื่องชีวิต ตั้งแต่ฉลากสินค้า GDP ไปจนถึง ‘การเป็นคนดี’ การแยกแยะสองคำนี้ได้ อาจทำให้เรามี ‘เกราะกำบัง’ ในชีวิตที่แข็งแกร่งขึ้น

“ในแง่ของตัวมนุษย์นั้น มีข้อแตกต่างระหว่าง facts และ truth ที่ลึกซึ้งและซับซ้อนมาก หน้าตาท่าทางอาจดูน่าเชื่อถือว่าเป็นคนดี (facts) และลึกเข้าไปก็เป็นคนดีจริงๆ (truth) แต่เมื่อวันเวลาผ่านไป facts ยังเป็นเหมือนเดิมเพราะบุคลิกภาพเปลี่ยนได้ยาก แต่ข้างในนั้นไม่ใช่คนเดิมเสียแล้ว facts กับ truth แยกทางกันเดินได้อย่างน่าเศร้าใจ

“คนไปบวช หรือนุ่งขาวห่มขาว ปฏิบัติธรรมเพื่อสร้างภาพอย่างขาดความจริงใจก็เช่นกัน facts อาจเปลี่ยนไปโดยดูน่าเชื่อถือขึ้นในสายตาคนอื่น แต่ truth ก็คือยังเป็นคนเดิมทุกประการ จะหลอกได้ก็แต่คนที่ไม่เข้าใจว่า facts กับ truth นั้นแตกต่างกันได้…”

 

คลื่น 900 MHz : คลื่นเจ้าปัญหาและระเบิดเวลาลูกใหม่

 

โดย สมคิด พุทธศรี

คลื่น 900 MHz ระเบิดเวลาที่อาจส่งผลกระทบต่อผู้ใช้โทรศัพท์หลายล้านคน และทำให้เศรษฐกิจไทยเสียโอกาสมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท !!!

เช้าวันที่ 6 กันยายน 2561 ดีแทคได้แถลงข่าวต่อสาธารณะว่าได้ยื่นคำฟ้องต่อศาลเพื่อขอให้ศาลเพิกถอนมติ กสทช. และขอให้ลูกค้าแทคได้รับสิทธิ ‘เยียวยา’ หลังจากสัญญาสัมปทานการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่น 850 MHz และ 1800 MHz สิ้นสุดลงวันที่ 15 กันยายน 2561

แม้กรณีนี้จะเป็นข้อพิพาทระหว่างเอกชนกับ กสทช. ในฐานะองค์กรกำกับดูแล แต่ในภาพใหญ่กลับสะท้อนถึงปัญหาการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม ซึ่ง กสทช. ถูกตั้งคำถามมาโดยตลอด

101 ชวนสำรวจประเด็นปัญหาคลื่น 900 MHz กันช้าๆ ชัดๆ เพื่อหาคำตอบร่วมกันว่า ต้นตอของปัญหานี้คืออะไร ผู้บริโภคจะได้รับผลกระทบอย่างไรหลังจากสัญญาสัมปทานหมดลง ซิมจะดับหรือไม่ ใครควรต้องรับผิดชอบ

ถึงที่สุดแล้ว กสทช. ควรดำเนินการอย่างไรเพื่อแก้ปัญหาทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยเฉพาะการจัดสรรคลื่นว่างมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่และการคุ้มครองผู้บริโภคไม่ให้ได้รับผลกระทบ

 

Crazy Rich Asian (Americans) คนเอเชียในอเมริกากับความรวยอย่างเหลื่อมล้ำ

 

โดย โตมร ศุขปรีชา

คอลัมน์ #TrendRider สัปดาห์นี้ โตมร ศุขปรีชา หยิบเอาหนัง #CrazyRichAsiansมาเล่าในประเด็นความเหลื่อมล้ำของคนเอเชียในอเมริกา

“หนังเรื่อง Crazy Rich Asians วาดภาพคนเอเชียที่ร่ำรวยมหาศาลเอาไว้เป็นนิยายและหนังแนว Escapism ให้คนได้เสพ แต่ในความเป็นจริง เราน่าจะรู้อยู่ว่า ในเอเชียนั้น แม้จะไม่ได้มีความเหลื่อมล้ำสูงที่สุดในโลก (เพราะมีอเมริกาใต้และแอฟริกาแซงหน้าไป) แต่กระนั้น ความร่ำรวยอย่างที่เห็นในหนังก็ไม่ใช่ภาพที่เห็นกันทั่วไป เพราะเอาเข้าจริง เอเชียยังเต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำที่ยากจะจินตนาการได้”

“ถ้าดูรวมๆ เราจะพบว่าในช่วงปี 1970 ถึง 2016 สังคมอเมริกันนั้นมีความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้นในคนทุกกลุ่ม พูดอีกอย่างก็คือ ช่องว่างของมาตรฐานการใช้ชีวิตถ่างกว้างออกระหว่างคนรวยกับคนจน แต่ที่ถ่างกว้างเป็นพิเศษก็คือคนเอเชีย”

คำถามคือทำไมจึงเป็นแบบนั้น?

 

มองคอร์รัปชันด้วยสายตาใหม่ ‘โกงแบบไทยๆ’ ที่ไม่เหมือนเดิม

 

โดย ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย ชวนสำรวจมุมมองใหม่ของ ‘การโกงแบบไทยๆ’ เพื่อทำความเข้าใจว่าทำไมที่ผ่านมาการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันจึงไม่เคยประสบความสำเร็จ

 

Skimming Is The New Black ผลลัพธ์ผลร้ายของการอ่านเร็ว

 

โดย โตมร ศุขปรีชา

คอลัมน์ #TrendRider สัปดาห์นี้ โตมร ศุขปรีชา พาไปรู้จักการอ่านแห่งยุคสมัย หรือการอ่านแบบ Skimming ที่ตรงข้ามกับการดื่มด่ำอ่านแบบ Deep Reading

“มีการศึกษาของมหาวิทยาลัยซานโฮเซ่ในสหรัฐอเมริกา ที่บอกว่ากำลังเกิดการอ่านแบบใหม่ที่เรียกว่า Skimming (หรือ Skim Reading) จนถึงขั้นพูดได้ว่าเป็น ‘ความปกติใหม่’ หรือ New Normal ในการอ่านกันเลยทีเดียว Skimming นั้น ทำให้คนเราสามารถอ่านอะไรๆ ได้ ‘เร็ว’ ขึ้นมาก ตัวเลขเฉลี่ยในการอ่านอาจจะมากกว่า 280 คำต่อนาที ไปได้ถึง 400-600 คำต่อนาทีกันเลยทีเดียว”

“ในปัจจุบันนี้ สิ่งที่เรียกว่า ‘การอ่านระดับลึก’ กำลังถูกคุกคามจากวิธีอ่านบนโลกดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงไปจากการอ่านสมัยก่อน แต่นี่ไม่ใช่การมาแบ่งแยกว่า ต้องอ่านแบบเก่าสิดี อ่านแบบใหม่จากหน้าจอนั้นไม่ดี หรือเป็นการต่อสู้ระหว่างสื่อเก่ากับสื่อใหม่ ระหว่างหนังสือกับสื่อออนไลน์อะไรทำนองนั้นนะครับ ทว่าเกิดขึ้นเนื่องจาก ‘วิธีอ่าน’ แบบใหม่ของมนุษย์ที่เกิดขึ้นได้เพราะสื่อแบบใหม่”

และวิธีอ่านที่ว่า ก็คือการอ่านแบบ Skimming นั่นเอง

 

30 ปี การสิ้นสุดของระบอบเปรมาธิปไตย (2) : 8 ปี 5 เดือน ของนายกฯ เปรม ภายใต้การเมืองสามเสา

 

โดย ธนาพล อิ๋วสกุล

บทความชิ้นที่ 2 ในซีรีส์ 3 ตอนจบ เรื่อง “30 ปี การสิ้นสุดของระบอบเปรมาธิปไตย”

ธนาพล อิ๋วสกุล สำรวจเบื้องหลังบัลลังก์อำนาจ 8 ปี 5 เดือน ในฐานะนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

“การเมืองสามเสา” ที่ค้ำยันเก้าอี้นายกฯ ของ พล.อ.เปรม คืออะไร

ติตดามบทความตอนแรกได้ที่ 30 ปี การสิ้นสุดของระบอบเปรมาธิปไตย (1) : ความเป็นมา อภิมหาเรื่องเล่า และนักการเมืองชื่อเปรม

 

อ่านหาคำถาม “ยุทธศาสตร์การต่างประเทศและความมั่นคง” (เพื่อทำรายงาน)

 

โดย ศุภมิตร ปิติพัฒน์

ศุภมิตร ปิติพัฒน์ แนะเคล็ดวิธีอ่าน 3 ข้อเพื่อฝึกตั้งคำถามที่ ‘ใช่’ ในโจทย์ด้านยุทธศาสตร์การต่างประเทศและความมั่นคง

……………….

โดยทั่วไป นิสิตมือใหม่มักจะงงและค่อนข้างเคว้งคว้างเมื่อเจออาจารย์สั่งทำรายงานโดยให้นิสิตคิดหัวข้อเอง ว่าจะหาหัวข้อรายงานจากไหน ควรตั้งต้นอ่านที่ไหน อ่านอย่างไร แล้วจะตั้งคำถามตั้งโจทย์อะไรดีเกี่ยวกับหัวข้อนั้น คำแนะนำของผม ๓ ข้อต่อไปนี้เขียนขึ้นมาสำหรับนิสิตที่เรียนด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นหลัก แต่ผมคิดว่าวิธีการที่แนะพอจะปรับใช้กับรัฐศาสตร์หรือสังคมศาสตร์สาขาอื่นได้อยู่เหมือนกันครับ

(1)

รายงานวิชาใดถือเป็นส่วนหนึ่งในการวัดผลความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเนื้อหาของรายวิชานั้น การกำหนดขอบเขตเนื้อหาของรายวิชา ทั้งในแง่ของประเด็นปัญหาและแนวทางการศึกษา กำหนดโดยความรู้ที่ถูกจัดไว้ ทั้งที่จัดโดยองค์ความรู้ในสาขาวิชานั้น และที่จัดโดยคนสอน เนื้อหาเหล่านี้ไม่ได้หยุดนิ่งตายตัว แต่ในช่วงเวลาหนึ่งๆ มันถูกกำหนดขอบเขตของการศึกษาเอาไว้ในกรอบพิสัยประมาณหนึ่ง นิสิตจึงควรพิจารณาเลือกหัวข้อทำรายงานในขอบเขตของเนื้อหาที่ถูกจัดมาให้เรียน นอกจากว่าคนทำจะมีอินทรีย์แก่กล้า อยากเลือกทำเกี่ยวกับตัวความรู้และการวิพากษ์ความรู้หรือแนวทางการศึกษาของเนื้อหาที่ถูกจัดมานั้น ก็ไม่มีใครห้ามถ้าคิดจะทำรายงานอย่างนั้น แต่นั่นควรถือเป็นกรณีพิเศษสำหรับนิสิตปีแรกๆ ที่ความสามารถทางวิชาการสูงเกินค่าเฉลี่ย

(2)

หัวข้อหนึ่งๆ เปิดประเด็นทำรายงานได้หลายแง่มุม หรือพูดอีกแบบหนึ่ง คือเราเข้าหาเรื่องนั้นเพื่อทำความเข้าใจมันได้หลายด้าน จากมุมมองของหลายฝ่าย และตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่องนั้นได้ในหลายระดับ ดังนั้น เพื่อให้ชัดว่าเราจะตัดสินใจถามอะไรเกี่ยวกับมัน ให้ลองทำรายการออกมาดูก่อนว่าถามอะไรเกี่ยวกับเรื่องนั้นได้บ้าง

(3)
ผมขอแนะวิธีลัดในการอ่านให้นิสิตนำไปลองใช้ดูนะครับว่าได้ผลไหม คือวิธีการยืนบนไหล่ยักษ์เพื่อมองต่อออกไปจากจุดนั้น ยักษ์ที่ว่านี้ได้แก่ผู้ที่ผลงานของเขาจัดว่าเป็น authority ได้ในเรื่องในคำถามที่เราตั้งขึ้นมาเป็นโจทย์ของรายงาน ในกำหนดเวลาอันมีจำกัด อย่าเสียเวลาไปกับการอ่านงานปกิณกะไปเรื่อยๆ แต่ให้ตั้งต้นหาว่าใครคือยักษ์ของวงการในเรื่องนี้ที่เราสนใจศึกษา และเขาหรือเธอหรือพวกเขาและเธอทั้งหลายมีข้อเสนอและคำอธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่าอย่างไร ให้อ่านงานเหล่านี้ก่อน อ่านให้กระจ่าง และเขียนสรุปความคิดข้อเสนอคำอธิบายหรือการตีความเหล่านั้นออกมา…

 

พหุสังคมอิสลามในปากีสถาน

 

โดย ยุกติ มุกดาวิจิตร

คอลัมน์ ‘โลก-อุษาคเนย์’ ตอนใหม่

ยุกติ มุกดาวิจิตร พาไปสัมผัสความเป็น ‘พหุสังคม’ ในปากีสถาน ดินแดนที่แม้จะประกาศตนว่าเป็นประเทศมุสลิม แต่กลับมีลักษณะที่เปิดกว้างต่อความหลากหลายทางชาติพันธุ์และศาสนาอย่างน่าสนใจ

“เมื่อผมถามชาวพัชตูนที่มีส่วนดูแลศาสนสถานแห่งหนึ่งว่า การเป็นชาวมุสลิมแล้วต้องมาดูแลพุทธสถานนั้น รู้สึกอย่างไร เขาตอบว่า ‘ผมคิดว่าโบราณสถานเหล่านี้ไม่ได้เป็นของชาวพุทธหรือของคนอื่น แต่มันเป็นมรดกของท้องถิ่น เป็นมรดกของพวกเราทุกคน คนในพื้นที่ก็ต้องช่วยกันดูแล’

“ผมคิดว่าความเข้าใจแบบนี้น่าจะแพร่หลายอยู่ในชุมชนปากีสถานไม่น้อย พวกเขาจึงถือว่าเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบที่เป็นปกติ มากกว่าที่จะเป็นสิ่งแปลกปลอมของชุมชนหรือเป็นสิ่งที่พวกเขาไม่ต้องการ”

“สิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นประเทศ ‘พหุสังคม’ อีกประการของปากีสถาน คือเรื่องศิลปะ แม้หลายคนจะเห็นว่าความแตกต่างระหว่างอินเดียกับปากีสถาน คือความแตกต่างด้านการเมืองและจุดเน้นทางศาสนา หากแต่ในความรับรู้ของผม อินเดียยังมีความเชิดชูศิลปะและวัฒนธรรมของชนชั้นสูงอยู่มาก

“แต่สำหรับปากีสถาน การแสดงศิลปะทำนองนี้มีให้เห็นน้อยกว่าการแสดงดนตรีพื้นเมือง ระบำชนเผ่า หรือไม่ก็ขยับไปเป็นดนตรีสมัยใหม่ที่ผสมผสานกับดนตรีพื้นเมืองไปเลย กล่าวคือ ปากีสถานลดทอนความเป็นฮินดูที่สะท้อนผ่านการเชิดชูวัฒนธรรมชนชั้นสูงลงไป แล้วยกเอาวัฒนธรรมของคนสามัญและชนพื้นเมืองมานำเสนอมากกว่า”

“ปากีสถานไม่ได้งดงามสดใสไร้ตำหนิ หากแต่เป็นดินแดนที่มีความขัดแย้งคุกรุนอยู่ตลอดเวลา และไม่ได้สวยหรูก้าวหน้าไปกว่าประเทศไหนๆ ในเอเชียใต้ แต่นับว่าเป็นประเทศหนึ่งที่สามารถค้นหาทิศทางของตนเองได้อย่างน่าสนใจและชวนให้ศึกษา

“ที่สำคัญคือ ในฐานะดินแดนที่ประกาศตนว่าเป็นประเทศมุสลิม หากแต่ก็ไม่ได้นำเอาแนวทางของศาสนาอิสลามมาครอบงำวิถีชีวิตแบบอื่นๆ อย่างเบ็ดเสร็จ ปากีสถานยังคงอนุญาตและเปิดกว้างต่อความเป็นอื่นที่นอกเหนือจากอิสลาม รวมถึงเปิดรับและเรียนรู้เรื่องราวจากโลกภายนอกอยู่เสมอ”

 

ระลึกถึงอาจารย์ชัยอนันต์ สมุทวณิช

 

โดย ศุภมิตร ปิติพัฒน์

ศุภมิตร ปิติพัฒน์ ระลึกถึงชัยอนันต์ สมุทวณิช หนึ่งในนักรัฐศาสตร์ที่มีบทบาทสำคัญต่อการเมืองไทยยุคใหม่มากที่สุด ผ่านผลงานวิชาการ หนังสือ และวิธีคิดเชิงยุทธศาสตร์ ที่เขาทิ้งไว้
……….
(1)
ผมมาพบในภายหลังว่า ความสนใจทางวิชาการของอาจารย์ในช่วงทศวรรษ 2510 ในการลงมือค้นคว้าอ่านเอกสารเก่าและข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับความคิดทางการเมืองการปกครองไทยดังปรากฏออกมาเป็นผลงานในกลุ่มข้างต้น และทำให้ข้อเสนอของอาจารย์เกี่ยวกับการเมืองไทยแสดงออกมาได้อย่างมีน้ำหนักและมีความโดดเด่นแตกต่างจากงานของนักรัฐศาสตร์ไทยในยุคเดียวกัน มีที่มาสำคัญจากแรงกระตุ้นที่ได้ปรีดี พนมยงค์เป็นผู้จุดขึ้นมา

ในแง่นี้ ใครที่อยากเข้าใจความคิดทางการเมืองของอาจารย์ชัยอนันต์ในฐานะปัญญาชนคนสำคัญที่เข้าไปมีบทบาททางการเมืองนับแต่กลางทศวรรษ ๒๕๑๐ เป็นต้นมา ผมคิดว่าส่วนหนึ่งควรตั้งต้นที่ทัศนะของอาจารย์ต่อผู้นำคณะราษฎรฝ่ายพลเรือนผู้นี้ และการประเมินผลของอาจารย์เกี่ยวกับระบอบใหม่หลัง ๒๔๗๕ ต่อการพัฒนาทางการเมืองของไทย

(2)
อีกข้อหนึ่งที่เกี่ยวข้องกัน คือวิธีพิจารณาปัญหาในเชิงยุทธศาสตร์ของอาจารย์ อาจารย์ไม่ใช้เวลามากนักในการอภิปรายเกี่ยวกับสภาพปัญหาที่เป็นอยู่แบบที่นักวิชาการชอบวิเคราะห์เพื่อมองหาสาเหตุหรือเงื่อนไขที่เป็นจุดกำเนิดของปัญหาอะไรแบบนั้น อาจารย์จะให้ความสำคัญที่การพิจารณาข้อเสนอเชิงยุทธศาสตร์สำหรับจัดการกับปัญหานั้นๆ โดยตรงเลยมากกว่า อาจารย์บอกว่าคิดจากยุทธศาสตร์และถกเถียงกันที่ความสมเหตุสมผลของตัวยุทธศาสตร์แบบที่ประกบกับปัญหาเลยดีกว่า จะได้เห็นว่าอะไรน่าทำ อะไรไม่ควรทำ อะไรที่ต้องหยุดหรือเลิกทำ หรือควรทำอะไรก่อนหลังอย่างไร

(3)
เมื่อพูดถึงกรอบการวิเคราะห์รัฐไทยและการจัดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคม หลายคนจะนึกถึงไตรลักษณรัฐอันเป็นงานรุ่นหลังของอาจารย์ แต่ในความเห็นของผม กรอบการวิเคราะห์รัฐไทยอันควรประทับตราเพื่อระลึกถึงชัยอนันต์ สมุทวณิชในฐานที่เป็นผู้ริเริ่มนำกรอบดังกล่าวมาใช้ในไทยศึกษาก่อนใคร คือกรอบการวิเคราะห์รูปการณ์ของรัฐและรูปการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคมผ่านการศึกษาการเมืองของการจัดเก็บภาษี และการเมืองของการคลังและการจัดสรรงบประมาณของรัฐ ว่าเอื้ออำนวยต่อความมั่นคง ต่อการพัฒนา ต่อการจัดการปกครองที่ดี และมีความเป็นธรรมเพียงใด

 

เปลี่ยนต้นไม้ออนไลน์ให้เป็นต้นไม้จริง : สุดยอดนวัตกรรม CSR เพื่อเปลี่ยนโลกของ Alibaba

 

โดย แซนด์ ธรรมมงกุฎ

แซนด์ ธรรมมงกุฎ เขียนถึงนวัตกรรมของ Alibaba ที่เรียกว่า ‘การปลูกป่ามด’ เป็นโมเดล CSR ที่จูงใจให้คนปลูกป่าผ่านการใช้แอพ Alipay ซึ่งนำไปสู่การปลูกป่าจริงๆ ในพื้นที่กลางทะเลทราย ถือเป็นโมเดลอันชาญฉลาดที่ win-win กันทุกฝ่าย แถมยังช่วยพัฒนาสิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย

“สิ่งที่พวกเขาทำเรียกว่า ‘การปลูกป่ามด’ ซึ่งเป็นเกมส์ที่ Alibaba ปล่อยออกมาในแอพ Alipay เพื่อต้องการให้ทุกคนรักษาสุขภาพ ออกกำลังกาย และทำประโยชน์ให้แก่สังคมในเวลาเดียวกัน กฎง่ายๆ ของเกมส์ก็คือ เราต้องสะสม green energy ให้ได้ 17.9 kg เมื่อสะสมครบ เราจะสามารถปลูกต้นไม้ได้ 1 ต้น ซึ่งทาง Alipay จะไปปลูกต้นซวอซวอ (Suosuo) หรือชื่อท้องถิ่นเรียกว่า ต้นไม้เกลือ บนพื้นที่ของ ‘มองโกเลียใน’ ให้จริงๆ”

“วิธีในการสะสม green energy ก็ไม่ยาก เราสามารถผลิต green energy ได้โดยการใช้ชีวิตแบบ low-carbon ก็คือเมื่อเราเดิน เมื่่อเราใช้รถไฟใต้ดิน รวมไปถึงเมื่อเราใช้ Alipay ซื้อของและจ่ายเงินออนไลน์ เมื่อเราสะสม green energy ได้ถึง 17.9 kg เราจะปลูกต้นไม้ได้หนึ่งต้น”

“ความสำเร็จของ CSR ปลูกป่ามดที่ว่านี้ มีมากขนาดที่ว่า ปลายปี 2017 มีคนร่วมเล่นอยู่ราวๆ 2.8 ร้อยล้านคน โดย 80% เป็นเด็กที่เกิดหลังปี 1990 และมีการปลูกต้นไม้จริงไปราว 13 ล้านต้น โดยในอีก 5 ปีคาดว่าจะปลูกสำเร็จกว่า 500 ล้านต้น เพิ่มพื้นที่ป่าในทะเลทรายกว่า 2.5 ล้านไร่”

“ในประเทศไทย การทำ CSR ที่เกี่ยวกับกิจวัตรบนมือถือ น่าจะเป็นตลาดใหม่ที่เกิดขึ้นแน่นอน แต่เราจะเห็นความ innovative และ creative จาก CSR ได้มากน้อยแค่ไหน อาจขึ้นอยู่กับบริบทของตลาด ว่ามีการสนับสนุนการแข่งขันทางการค้าอย่างเป็นธรรมมากเพียงใด หรือจะโดนเจ้าใดผูกขาดไปก่อนหรือไม่…”

 

ชีวิตที่เลือกได้ 2 ทศวรรษสุดท้าย ชัยอนันต์ สมุทวณิช

 

โดย ธนาพล อิ๋วสกุล

ธนาพล อิ๋วสกุล เขียนถึงบทบาท ชีวิต และความคิดของ ชัยอนันต์ สมุทวณิช ในสองทศวรรษสุดท้าย จากสถาปนิกผู้ออกแบบและรับเหมาก่อสร้างให้กับ ‘ระบอบทักษิณ’ สู่ปัญญาชนผู้นำเสนอความคิดในการต่อต้าน ‘ระบอบทักษิณ’
……….
(1)
ชัยอนันต์คือบุคคลสำคัญที่เสนอแนวคิด โลกานุวัตร/โลกาภิวัตน์ ผ่านสื่อเครือผู้จัดการ ส่วนเรื่องปฏิรูปการเมืองโดยผ่านรัฐธรรมนูญ 2540 นั้น ชัยอนันต์เป็นผู้ที่มีบทบาทที่ทำให้เกิดขึ้นจริง ตั้งแต่สถาบันนโยบายศึกษาที่ชัยอนันต์เป็นประธาน ได้ตีพิมพ์หนังสือของ อมร จันทรสมบูรณ์ เรื่อง คอนสติติวชั่นแนลลิสม์ (Constitutionalism) : ทางออกของประเทศไทยที่ถือว่าเป็นพิมพ์เขียวของการปฏิรูปการเมือง และได้ส่งต่อไปยังหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ให้เป็นหัวหอกในการเผยแพร่ความคิดของอมร

(2)
จนกระทั่งมีการเลือกตั้งต้นปี 2544 ชัยชนะเป็นของพรคไทยรักไทย และทักษิณได้เป็นนายกรัฐมนตรี สื่อเครือผู้จัดการที่ก่อนหน้านั้นอยู่ในสภาวะล้มละลายก็กลับมาผงาดอีกครั้ง และชัยอนันต์คือหนึ่งในผู้ได้รับอานิสงส์สำคัญในรัฐบาลทักษิณ โดยเข้าไปรับตำแหน่งต่างๆ มากมาย แม้บางเรื่องจะไม่ใช่ความชำนาญอะไรของชัยอนันต์เลย

(3)
ถ้าหากคนอย่างวิษณุ เครืองาม คือเนติบริกรของ ‘ระบอบทักษิณ’ ชัยอนันต์นั้นมีบทบาทสำคัญกว่ามาก คือการเป็นทั้งสถาปนิกออกแบบ และรับเหมาก่อสร้างให้กับระบอบทักษิณเลยทีเดียว

(4)
กว่าที่ชัยอนันต์จะออกมาต่อต้านทักษิณนั้นก็ล่วงเข้าเดือนกุมภาพันธ์ 2549 ภายหลังจากที่มีการตั้งพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยแล้ว ชัยอนันต์คือมือเขียนฎีกาของกลุ่มพันธมิตร

การออกมาต่อต้านทักษิณไม่ใช่เรื่องเเปลก แต่กับชัยอนันต์ สิ่งที่ทำคือกล่าวหาเรื่อง ‘ปฏิญญาฟินแลนด์’ ในการอภิปราย ‘ปฏิญญาฟินแลนด์ ยุทธศาสตร์ครองเมืองของไทยรักไทย?’ เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2549

(5)
ถ้านับงานวิชาการเล่มแรกที่ออกมาในปี 2513 จนถึงวาระสุดท้ายในปี 2561 นับว่าเป็นการจบกึ่งศตวรรษที่ชัยอนันต์ได้ ‘เลือก’ ที่จะมีบทบาทที่แตกต่างกัน และทิ้งมรดกสำคัญไว้กับการเมืองไทยให้สานต่อและแก้ไขกันต่อไป

 

 

รายการ 101 One-on-One

101 One-on-One Ep46 “โลกใหม่-ความรู้ใหม่เรื่องภาคเกษตรไทย” กับ วิษณุ อรรถวานิช

โดย 101-one-on-one

101 one on one ep46

:: LIVE :: “โลกใหม่-ความรู้ใหม่เรื่องภาคเกษตรไทย” กับ วิษณุ อรรถวานิช คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

สำรวจความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง มายาคติ และอนาคตของภาคเกษตรไทย ผ่านองค์ความรู้และงานวิจัยเชิงลึกในภาคเกษตร ผ่านข้อมูลระดับครัวเรือนเกษตรกรทั่วประเทศ ย้อนหลังเป็นทศวรรษ เมื่อบิ๊กดาต้าช่วยหาคำตอบว่า ทุกวันนี้ ภาคเกษตรไทยอยู่ตรงไหน และควรเดินไปทางไหนต่อในอนาคต

วันจันทร์ที่ 24 กันยายน 2561 เวลาสองทุ่มตรง ทาง The101.world

ธร ปีติดล ดำเนินรายการ

 

101 One-on-One Ep45 “สำรวจชีวิตของสัตว์ที่กลายเป็นพระเจ้า” กับ นำชัย ชีววิวรรธน์

โดย 101-one-on-one

101 one on one ep45

:: LIVE :: “สำรวจชีวิตของสัตว์ที่กลายเป็นพระเจ้า” กับ นำชัย ชีววิวรรธน์

พูดคุยกับผู้แปล Sapiens หนังสือเกี่ยวกับมนุษยชาติที่ทะเยอทะยานและครอบคลุมที่สุดเท่าที่เคยมีมา เพื่อร่วมกันหาคำตอบว่า โดยเนื้อแท้แล้ว – อะไรคือมนุษย์กันแน่

วันพุธที่ 19 กันยายน 2561 เวลาสองทุ่มตรง ทาง The101.world

โตมร ศุขปรีชา ดำเนินรายการ

 

101 One-on-One Ep44 “วิกฤตเศรษฐกิจลาตินอเมริกา : จากเวเนซุเอลา ถึงอาร์เจนตินา” กับ เชาวฤทธิ์ เชาว์แสงรัตน์

 

โดย 101-one-on-one

รายการ 101 One-on-One EP44

:: LIVE :: “วิกฤตเศรษฐกิจลาตินอเมริกา : จากเวเนซุเอลา ถึงอาร์เจนตินา” — เชาวฤทธิ์ เชาว์แสงรัตน์ สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

สำรวจสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจในภูมิภาคลาตินอเมริกา อะไรคือสาเหตุ-ข้อถกเถียง-ทางออกของวิกฤตเศรษฐกิจในเวเนซุเอลาและอาร์เจนตินา และอะไรคือบทเรียนเกี่ยวกับการเมืองเรื่องการพัฒนาจากลาตินอเมริกาถึงประเทศไทย

วันจันทร์ที่ 10 กันยายน 2561 เวลาสองทุ่มตรง ทาง The101.world

ดำเนินรายการโดย กรรณิการ์ กิจติเวชกุล

 

101 One-on-One Ep43 “เรื่องลับลูกจีนสยาม” กับ วาสนา วงศ์สุรวัฒน์

 

โดย 101-one-on-one

รายการ 101 One-on-One EP43

:: LIVE :: “เรื่องลับลูกจีนสยาม” — วาสนา วงศ์สุรวัฒน์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สำรวจประวัติศาสตร์คนจีนในไทยในแง่มุมที่ไม่มีใครพูดถึง ผ่านหลากหลายเรื่องราวที่ถูกลืมในประวัติศาสตร์ลูกจีนสยาม รวมถึงสารพัดความสับสนที่ซ่อนอยู่ภายใต้วาทกรรม “ลูกจีนรักชาติ”

วันจันทร์ที่ 3 กันยายน 2561 เวลาสองทุ่มตรง ทาง The101.world

ดำเนินรายการโดย ธร ปีติดล

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Spotlights

30 Jun 2020

“ไม่มี Theory of Everything ในโลกของ IR” จิตติภัทร พูนขำ

101 สนทนากับ จิตติภัทร พูนขำ เกี่ยวกับองค์ความรู้และโลกของ IR ไปจนถึงการเรียนการสอน และการปรับตัวของ IR ในยุคที่โลกผันผวนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

กานต์ธีรา ภูริวิกรัย

30 Jun 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save