fbpx
มองคอร์รัปชันด้วยสายตาใหม่ ‘โกงแบบไทยๆ’ ที่ไม่เหมือนเดิม

มองคอร์รัปชันด้วยสายตาใหม่ ‘โกงแบบไทยๆ’ ที่ไม่เหมือนเดิม

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย เรื่อง

 

ปัญหาคอร์รัปชันอยู่คู่สังคมไทยมานาน มาตรการหลายรูปแบบถูกนำมาใช้แก้ปัญหา อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาสังคมไทยมักใช้วิธีการแก้ปัญหาแบบ one size fits all มาโดยตลอด เป็น ‘สูตรสำเร็จ’ จากส่วนกลางที่ไม่เคยได้ผลจริง

แต่เมื่อพิจารณาให้ชัดขึ้นจะเห็นว่า พื้นที่แต่ละพื้นที่ต่างมีสภาพสังคม ทรัพยากร โครงสร้างประชากร และเงื่อนไขของชุมชนที่แตกต่างกัน การคอร์รัปชันในโครงการพัฒนาในเขตพื้นที่ชนบทที่อยู่บนฐานของการใช้ทรัพยากรธรรมชาติไหนเลยจะเหมือนกับกองทุนสหกรณ์ที่อยู่ในเขตชุมชนพื้นเมืองใหญ่ ไม่ต้องพูดถึงว่า ความสัมพันธ์ของคนกับคน และคนกับรัฐ ในทั้งสองพื้นที่นั้นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

‘พื้นที่’ จึงกลายเป็นโจทย์วิจัยใหม่ที่ช่วยให้มองปัญหาคอร์รัปชันคอร์รัปชันในมุมที่ต่างออกไป การลงไปศึกษาการคอร์รัปชันเชิงพื้นที่ไม่เพียงแต่ทำให้เห็นรูปแบบเฉพาะตัวของการคอร์รัปชันของชุมชนหรือพื้นที่หนึ่งๆ อันจะนำไปสู่การออกแบบกลไกการป้องกันการคอร์รัปชันในพื้นที่นั้น แต่ยังทำให้เห็นถึงความซับซ้อนของวัฒนธรรมคอร์รัปชันในภาพใหญ่ของสังคมไทยด้วย

ในงานเสวนา ‘กลไกต้านคอร์รัปชั่นเชิงพื้นที่’ ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และนักวิจัยจาก SIAM Lab ร่วมนำเสนอประเด็นใหม่เกี่ยวกับคอร์รัปชันในสังคมไทย ทั้งเนื้อหาจากโครงการวิจัย ‘สังคมไทยไร้คอร์รัปชั่น’ และ มีคณะวิจัย SIAM Lab ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานลงพื้นที่เพื่อศึกษากลไกต้านคอร์รัปชั่นเชิงพื้นที่

บรรทัดถัดไปคือเนื้อหาว่าด้วยการมองคอร์รัปชันด้วยสายตาใหม่ ‘โกงแบบไทยๆ’ ที่ไม่เหมือนเดิม

คอร์รัปชันไทยสไตล์

10 ประเด็นที่เพิ่งค้นพบเกี่ยวกับการโกงในสังคมไทย

 

แต่เดิมผู้คนมักมองว่า คอร์รัปชันหมายถึงความไม่ซื่อสัตย์ จึงควรแก้ด้วยการสอนให้คนซื่อสัตย์และเป็นคนดี แต่ในปัจจุบันสังคมไทยเริ่มมองเห็นความซับซ้อนคอร์รัปชั่นมากขึ้น มีการนำเอาปัจจัยและบริบทแวดล้อมเข้ามาทำความเข้าใจปัญหา เช่น การต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบากในการเลือกระหว่างความสัมพันธ์ส่วนตัวและผลประโยชน์สาธารณ์ ซึ่งหลายครั้งก็ไม่ได้แบ่งกันชัด เป็นต้น

ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการ SIAM Lab นำเสนอ 10 ประเด็นใหม่ที่ค้นพบมาจากโครงการวิจัย ‘สังคมไทยไร้คอร์รัปชั่น’ ที่ทำมาตลอด 1 ปี ไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้

1.คนแต่ละช่วงอายุเข้าใจคำว่า ‘คอร์รัปชัน’ ไม่เหมือนกัน โดยสังคมก็ไม่เคยให้ความชัดเจน

มีการสอบถามคนไทย 1,200 คน (แทนคนไทยทั่วประเทศได้ตามหลักสถิติ) ด้วยคำถามง่ายๆ ที่ว่า “คอร์รัปชันคืออะไร” โดยให้ตอบเป็นคำพูด ไม่ได้กรอกแบบสอบถาม เพื่อให้ได้คำตอบที่ตรงกับความคิดของผู้คนที่สุด ผลออกมาว่า

ในกลุ่มคนอายุมากกว่า 30 ปี คนส่วนใหญ่ตอบว่า คอร์รัปชันคือการที่นักการเมืองโกงเงิน โดย 64 เปอร์เซ็นต์ตอบด้วยคำว่า นักการเมือง นักเลือกตั้ง และ ส.ส. ซึ่งตีความเป็นกลุ่มเดียวกัน  53 เปอร์เซ็นต์ตอบว่า ‘โกง’ (71 เปอร์เซ็นต์ใน 53 เปอร์เซ็นต์ จะตามด้วยคำว่า ‘เงิน’)

ส่วนในกลุ่มคนอายุน้อยกว่า 25 ปี ผู้ตอบแบบสอบถาม 64 เปอร์เซ็นต์มองว่า การคอร์รัปชันคือ เจ้าหน้าที่รัฐฉวยโอกาสเอาประโยชน์เข้าตัวเอง มี 51 เปอร์เซ็นต์ที่มองว่า การคอร์รัปชันคือการใช้อำนาจในทางที่ผิด

ผลจากแบบสอบถามดังกล่าวตีความได้ว่า คนอายุมากกว่า 30 ปี มองคอร์รัปชันในความหมายแคบกว่าคนอายุน้อยกว่า 25 ปี เพราะมองเฉพาะนักการเมือง แต่ไม่ได้กล่าวถึง ข้าราชการ ทหาร เจ้าหน้าที่ของรัฐ ฯลฯ และมองว่าต้องเป็นการ ‘โกงเงิน’ เท่านั้น จึงจะเรียกว่าเป็นการคอร์รัปชัน โดยไม่ได้กล่าวถึง การช่วยพวกพ้อง การใช้อำนาจในทางที่ผิด ฯลฯ กลุ่มคนอายุน้อยกว่า 25 ปี มองความหมายกว้างกว่า ทั้งผู้กระทำคอร์รัปชัน และครอบคลุมความผิดในหลายรูปแบบ

ผศ.ดร.ธานี เสนอว่า สาเหตุที่อาจเป็นไปได้ที่ทำให้คนต่างช่วงอายุมองคอร์รัปชันต่างกันคือ (1) คนที่อายุต่ำกว่า 25 ปีตอนนี้ ในชีวิตยังไม่เคยเลือกตั้งเลย ดังนั้นจึงมองไม่เห็นภาพของนักการเมืองคอร์รัปชัน แต่คุ้นกับภาพการคอร์รัปชันของข้าราชการ ทหาร ตำรวจมากกว่า (2) คนอายุน้อยกว่า 25 ปีเพิ่งเรียนจบ ยังไม่ได้เข้าทำงาน หรือพบเจอกับสภาพสังคมจริงๆ จึงอาจตีความไม่เหมือนคนอายุ 30 แต่เมื่อเวลาผ่าน อาจมีการตีความที่ต่างออกไป

การจะแก้ปัญหาได้จึงควรทำให้ คนแต่ละช่วงอายุเข้าใจคำว่าคอร์รัปชันในความหมายเดียวกันก่อน

 

2.ภาษาที่เกี่ยวกับคอร์รัปชันมีความละมุนขึ้นจนกลมกลืนกับสังคมไทย

สังคมไทยคุ้นเคยกับคำว่าคอร์รัปชันเพราะอยู่ในชีวิตประจำวันมากขึ้น จากคำว่า ‘โกง’ สู่ ‘ทุจริต’ จนถึง ‘คอร์รัปชัน’ ซึ่งคำแต่ละคำส่งผลต่อความรู้สึกต่างกัน

ปัจจุบัน คำว่า ‘คอร์รัปชัน’ ไม่ใช่คำที่มีความหมายรุนแรงที่สุด ยังมีอีกหลายคำที่ถูกนำมาใช้เพื่อให้ความหมายของการคอร์รัปชันบางเบาขึ้น เช่น สินบน สินน้ำใจ ให้ความหมายในทางบวก ไม่ได้ทำให้รู้สึกผิดมาก หรือคำว่า ค่าน้ำร้อนน้ำชา ให้ความหมายกลางๆ เป็นต้น ขณะที่คำว่า คอร์รัปชัน ให้ความหมายถึงการประพฤติมิชอบและเงินใต้โต๊ะ แต่ยังมีความหมายในทางลบไม่เท่ากับคำว่า ‘โกง’ ซึ่งหมายความในทางลบชัดเจนว่าเป็นการทุจริตในหน้าที่ ดังนั้น การใช้คำว่า ‘โกง’ จะให้ความรู้สึกรุนแรงกว่าคอร์รัปชัน

แต่ในบางสถานการณ์ บางคำก็สามารถเปลี่ยนจาก ความหมายลบมากเป็นความหมายบวกได้ เช่น ถ้านักธุรกิจขอให้ข้าราชการช่วยเหลือเพื่อลัดขั้นตอน ที่หมายถึงความมีน้ำใจ ช่วยเหลือกัน ซึ่งเป็นความหมายเดียวกับสินน้ำใจ แต่ในความเป็นจริง พฤติกรรมดังกล่าวเป็นการให้เงินพิเศษ โดย 66 เปอร์เซ็นต์ ทราบเป็นนัยอยู่แล้ว กลายเป็นรูปแบบของการช่วยเหลือและมีบุญคุณซึ่งกันและกัน กลมกลืนกับสังคมไทยจนแยกไม่ออก

นอกจากนี้ยังมีการสร้างคำที่หลากหลายมากขึ้น ทำให้ความเข้าใจต่อการโกง ทุจริตและคอร์รัปชันยากขึ้นไปด้วย เช่น การบอกว่านักการเมืองปกปิดบัญชีทรัพย์สิน มีผลประโยชน์ทับซ้อน (conflict of interest)  ทำให้คนไม่สามารถตีความได้ว่าเป็นการคอร์รัปชันหรือไม่ และรูปแบบของการกระทำที่เกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชันก็มีความหลากหลายมากขึ้น

 

 3.คนต่างวัยกันมี “ค่านิยม”ที่ไม่เหมือนกัน

จากแบบสอบถาม ถามว่า “ถ้าคุณมีลูก แล้วต้องจ้างพี่เลี้ยงเด็กมาเลี้ยงลูกของคุณ พี่เลี้ยงแต่ละคนที่ให้เลือก จะเลี้ยงลูกของคุณออกมาไม่เหมือนกัน โดยที่พี่เลี้ยงแต่ละคนจะมีลักษณะการเลี้ยงที่ได้ค่านิยมตามที่กระทรวงวัฒนธรรมกำหนด คือ กตัญญูรู้คุณ ขยันหมั่นเพียร ซื่อสัตย์สุจริต และประหยัดอดออม ไม่เหมือนกัน”

พี่เลี้ยงคนที่ 1 จ้างวันละ 500 บาท ให้เลี้ยงลูกแล้วจะได้ลูกที่มีความกตัญญูและความซื่อสัตย์ แต่ไม่ได้ความขยันกับการอดออม

พี่เลี้ยงคนที่ 2 จ้างวันละ 300 บาท ให้เลี้ยงลูกแล้วจะได้ลูกที่มีความประหยัด แต่ไม่ได้อย่างอื่น

พี่เลี้ยงคนที่ 3 จ้างวันละ 500 บาท ให้เลี้ยงลูกแล้วจะได้ลูกที่มีความขยันกับความซื่อสัตย์

จากการทดสอบนี้ พบว่า การให้คุณค่าต่อค่านิยม (norm) มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงอายุ 25-30 ปี

ผลออกมาว่า กลุ่มคนอายุ 30 ปีขึ้นไป ให้ความสำคัญกับ ความกตัญญูรู้คุณ (42 เปอร์เซ็นต์) ความขยันหมั่นเพียร (31 เปอร์เซ็นต์) ความซื่อสัตย์สุจริต (23 เปอร์เซ็นต์) ความประหยัดอดออม (4 เปอร์เซ็นต์) ซึ่งสอดคล้องกับอีกหนึ่งคำถามที่ว่า “คุณมีลูกเพื่ออะไร” ส่วนมากตอบว่ามีเพื่อให้ลูกเลี้ยงดูตนเองตอนแก่ แต่มีน้อยมากที่ตอบว่า มีลูกเพื่อทำให้สังคมดีขึ้นในอนาคต

ในช่วงอายุ 15-25 ปี ให้ความสำคัญกับ ความซื่อสัตย์สุจริต (34 เปอร์เซ็นต์) ความขยันหมั่นเพียร (34 เปอร์เซ็นต์) ความกตัญญูรู้คุณ (30 เปอร์เซ็นต์) การประหยัดอดออม (2 เปอร์เซ็นต์)

น่าสังเกตว่าจากค่านิยมดังกล่าวข้างต้น ความซื่อสัตย์เป็นค่านิยมในแนวกว้าง คือการซื่อสัตย์กับคนอื่นๆ และสาธารณะ แตกต่างจากอีก 3 ค่านิยม (ความขยันหมั่นเพียร ความกตัญญูรู้คุณ การประหยัดออดออม) ที่เป็นการทำเพื่อครอบครัวและเพื่อตัวเอง

4. การเลือกเครื่องมือที่เหมาะสมในการแก้ไขปัญหา ต้องเริ่มจากการตั้งคำถามว่า ‘ความเจ็บปวด’ (pain) คืออะไร

ปัจจุบันยังมีการมองปัญหาคอร์รัปชันแบบ one size fits all แต่ไม่ได้มองว่าเป็นปัญหาแบบไหน และแก้ให้ใคร ดังนั้นเครื่องมือที่เหมาะสมในการแก้ปัญหาคอร์รัปชันจะต้องเป็นเครื่องมือที่เหมาะกับคนบางกลุ่ม ในบางเรื่อง

จากผลการศึกษา เด็กอายุน้อยกว่า 25 ปี มองว่าคอร์รัปชันเกิดจากโอกาส ทำให้เขาไม่สนใจเรื่องคอร์รัปชันตราบใดที่ไม่กระทบตัวเขาเอง ดังนั้น เครื่องมือต้องทำให้เห็นว่าเกิดผลกระทบต่อตัวเขาโดยตรง โดยเกิดขึ้นจากสังคมรอบตัวที่เขาอยู่ การแก้ปัญหาจึงต้องดูว่า ความเจ็บปวดในใจของคนแต่ละกลุ่มนั้นเกิดจากอะไร

ยกตัวอย่างเช่น ในโรงเรียน มีความเจ็บปวดที่เกิดจากการปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียมกันของครู ผู้ตอบแบบสอบถาม 78 เปอร์เซ็นต์ บอกว่าเคยทำหรือเคยเห็น เช่น ครูมีลูกศิษย์คนโปรดชัดเจน ครูเก็บเงินค่าสอนพิเศษให้เด็ก ครูอยากได้ของฝาก ความไม่เสมอภาคและความไม่เท่าเทียมกัน เป็นประเด็นของความเจ็บปวดได้ ดังนั้นควรเริ่มต้นแก้จากจุดใกล้ตัวเด็กก่อน ที่จะไปพูดเรื่องใหญ่ๆ เช่น การติดสินบนราชการ ซึ่งเด็กไม่เคยทำ จึงไม่สนใจ

ปัจจุบันมีการเปลี่ยนชุมชนจากบ้านใกล้เรือนเคียง กลายเป็นสังคมที่เกิดขึ้นจากความสนใจร่วมกัน เช่น คนจะสนใจกลุ่มแต่งรถ มากกว่ากลุ่มคนในหมู่บ้าน โดยเฉพาะในเขตเมือง กทม. เมื่อมีการโกงในกรรมการหมู่บ้าน อาจจะไม่ส่งผลต่อความรู้สึกคนเท่ากับการโกงในเรื่องที่พวกเขาสนใจอยู่ ดังนั้นความเจ็บปวดของคอร์รัปชันต้องผูกโยงกับความสนใจอื่น ซึ่งการเคลื่อนไหวของคนจากความสนใจ จะเป็นการเคลื่อนไหวที่มีประสิทธิภาพมากกว่าการเคลื่อนไหวในพื้นที่

5.คอร์รัปชันแต่ละประเภทแก้ปัญหาได้ยากง่ายไม่เท่ากัน ต้องเคลียร์เรื่องง่ายก่อน

ทีมวิจัย SIAM Lab ร่วมกับทีม Opendream บริษัทผลิตเกมออนไลน์ ผลิตเกมชื่อ corrupt the game โดยให้ผู้เล่นแก้ปัญหาในลักษณะนักสืบ เดินตามเรื่องไปเรื่อยๆ แต่ในระหว่างนั้นจะมีการเปิดโอกาสให้คนโกงได้ มีคอร์รัปชัน 2 แบบ คือ จ่ายสินบน และช่วยเหลือเพื่อนในทางที่ผิด เพื่อเข้าใจคนรุ่นใหม่ว่า หากเปิดโอกาสให้โกง พวกเขาจะโกงไหม

ผลการทดลองพบว่า เมื่อเปิดโอกาสให้จ่ายสินบน คนเล่นเกมประมาณ 24.73 เปอร์เซ็นต์ยอมจ่ายสินบน (1 ใน 4) และเมื่อถูกชักชวนให้ทำอะไรผิดเพื่อพวกพ้อง เกือบ 40 เปอร์เซ็นต์ยอมช่วยเหลือเพื่อนในทางที่ผิด

เมื่อดูระยะเวลาในการตัดสินใจคอร์รัปชัน พบว่า กลุ่มคนอายุน้อยกว่า 30 ปี ใช้เวลาตัดสินใจที่จะจ่ายสินบนนานกว่าไม่จ่ายสินบน กล่าวคือใช้เวลาในการตัดสินใจจ่ายสินบน 6.83 วินาที ขณะที่ใช้เวลาในการตัดสินใจไม่จ่ายสินบน  6.39 วินาที สรุปได้ว่าตัวเลือกแรกที่ผู้เล่นเกมตัดสินใจคือ ไม่จ่ายสินบน

เปรียบเทียบกับการโกงแบบที่สองคือ การช่วยเหลือเพื่อนในทางที่ผิด พบว่าการช่วยเหลือเพื่อนในทางที่ผิดใช้เวลาตัดสินใจสั้นกว่าการไม่ช่วยเหลือ กล่าวคือใช้ในการตัดสินใจช่วยเหลือเพื่อน 5.29 วินาที ขณะที่ใช้เวลาในการตัดสินใจไม่ช่วย 6.34 วินาที สรุปได้ว่า ตัวเลือกแรกที่ผู้เล่นเกมตัดสินใจคือ ต้องช่วยเหลือเพื่อน

ดังนั้นการแก้ปัญหาคอร์รัปชันแบบจ่ายสินบน แก้ง่ายกว่า เพราะสัดส่วนน้อยกว่า และคนใช้เวลาคิดนานกว่า เมื่อแก้ได้แล้วจึงค่อยพัฒนาไปสู่ปัญหาที่ยากขึ้น

6.รูปแบบของเครือข่ายความสัมพันธ์ทางการเมืองแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน

ยกตัวอย่างการวิจัยในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร น่าน นครราชสีมา และสงขลา ซึ่งเมื่อดูความสัมพันธ์ทางการเมืองจะพบความแตกต่าง เช่น ในกรุงเทพฯ มีความสัมพันธ์ของตำแหน่งทางการเมืองในเชิงตระกูลไม่มาก แต่ในน่าน หรือนครราชสีมา คนนามสกุลเดียวกันมีความสัมพันธ์ในตำแหน่งทางการเมืองเยอะมาก หมายถึง การที่ใครคนใดคนหนึ่งในตระกูลเข้าไปทำงานการเมืองแล้วจะสามารถพาคนอื่นๆ ตามเข้ามาได้ โครงสร้างความสัมพันธ์เช่นนี้ส่งผลต่อรูปแบบการต่อสู้ในการแก้ปัญหาคอร์รัปชันของสังคม เพราะการที่คนในตระกูลเดียวกันมีความสัมพันธ์ไขว้ไปมาในตำแหน่งต่างๆ ทำให้การตรวจสอบของระบบการเมืองทำได้ไม่เต็มที่ ซึ่งปัญหานี้อาจจะดีขึ้นเมื่อสังคมไทยพัฒนาและมีการย้ายถิ่นที่สูงขึ้น

7.การทำงานภาคประชาสังคมยังเป็นเรื่องส่วนบุคคล และขาดระบบการจัดการ

คนที่รวมกลุ่มกันเพื่อคอร์รัปชันร่วมมือดีกว่าคนที่ต่อต้านโกง เพราะคนที่มีส่วนได้ส่วนเสียประชุมกันตกลงชัดเจน มีความสัมพันธ์ที่ดีกว่า แต่หน่วยงานหรือองค์กรที่ทำหน้าที่ต่อต้านคอร์รัปชัน กลายเป็นกลุ่มที่กระจัดกระจาย ทำงานร่วมกันไม่ชัด

ในปัจจุบัน ภาคประชาสังคมที่ต่อต้านคอร์รัปชันมีประมาณ 26 องค์กร ไม่ได้ทำงานด้วยกัน ยังเป็นการทำงานร่วมกันในระดับบุคคล เพราะฉะนั้นการเชื่อมโยงสร้างพลังในการต่อสู้ยังมีไม่มาก ควรเน้นการเชื่อมโยงให้มีประสิทธิภาพ จัดกลุ่มอุปสรรคกับทรัพยากรเพื่อสร้างความร่วมมือ

ภาคประชาสังคมสามารถทำคดีที่มีมูลค่าสูงจำพวกการจัดซื้อจัดจ้างได้ แต่เดิมขาดข้อมูล และมีต้นทุนในการรวบรวมสูง ถ้าใช้เทคโนโลยี blockchain มาช่วย จะมีข้อมูลและต้นทุนการรวบรวมที่ต่ำ

8.ระบบที่มีอยู่ เช่น การเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ต้องการระบบอื่นมาทำงานร่วมกัน

ระบบตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินที่มีอยู่ในปัจจุบันของไทย คือ ก่อนรับตำแหน่ง นักการเมืองจะยื่นบัญชีทรัพย์สินหนี้สิน ยื่นอีกครั้งหลังออกจากตำแหน่ง และหลังออกจากตำแหน่ง  1 ปี เพราะฉะนั้นถ้านักการเมืองจะโกง ก็สามารถเก็บเงินสดไว้ในบ้าน รอหลังออกจากตำแหน่ง ครบ 1 ปี ยื่นบัญชีทรัพย์สิน และหลัง 1 ปี ค่อยเอาเงินนี้เข้าบัญชีธนาคาร ก็ไม่มีใครสามารถตรวจสอบได้ ถ้าไม่กลับมาเป็นนักการเมืองอีก ผลการวิจัยพบว่า

  • นักการเมืองส่วนใหญ่มีทรัพย์สินเปลี่ยนแปลงประมาณ 3 เปอร์เซ็นต์
  • ภรรยาหรือสามี มีทรัพย์สินมากกว่าตัวนักการเมือง 10 เท่า แต่ก็เปลี่ยนแปลงเพียง 2 เปอร์เซ็นต์
  • นักการเมืองส่วนใหญ่ 60 เปอร์เซ็นต์ มีทรัพย์สินเท่าเดิม หรือลดลง
  • ประชาชนตรวจสอบได้เฉพาะทรัพย์สินที่มีการแจ้ง แต่ไม่สามารถตรวจสอบการทรัพย์สินที่ไม่แจ้ง ซึ่งสำคัญกว่า
  • เมื่อวิเคราะห์มูลค่าทรัพย์สินของนักการเมืองที่มีระยะเว้นว่างทางการเมือง โดยเปรียบเทียบระหว่าง 1 ปีหลังพ้นจากตำแหน่ง และเมื่อรับเข้าตำแหน่งอีกครั้ง พบว่าโดยเฉลี่ยมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้น 20-200 ล้านบาท

เพราะฉะนั้น มาตรการเปิดเผยบัญชีและหนี้สินจึงไม่ได้ผลมากนัก ในหลายประเทศทั่วโลกบังคับให้มีการยื่นบัญชีหรือตรวจสอบภาษีตลอดชีวิต

 

9.ระบบการจัดซื้อจัดจ้างต้องการเทคโนโลยีเข้ามาช่วยวิเคราะห์

จากฐานข้อมูลของกรมบัญชีกลาง ข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ พบว่า ถ้านับจาก 3,000 หน่วยงานภาครัฐ ในการจัดซื้อสิ่งเดียวกัน เราจะเห็นความต่างของราคา ยกตัวอย่างการเปรียบเทียบ เช่น (1) คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก มีราคาต่อเครื่องตั้งแต่ 11,000 – 400,000 บาท (2) คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ มีราคาต่อเครื่องตั้งแต่ 10,000 – 2 ล้านบาท ซึ่งแตกต่างกันมาก

จากการวิเคราะห์ ผู้วิจัยเสนอว่า สินค้าประเภทเดียวกันต้องเทียบราคากันได้ ถ้ามีส่วนเพิ่มพิเศษ ให้ใช้ Machine Learning เข้ามาเรียนรู้และกำหนดราคากลางเปรียบเทียบในอนาคต และในการซื้อควรให้หน่วยงานดำเนินการตรงจากกรมบัญชีกลางโดยใช้ blockchain เพื่อให้มีบุคคลที่สามเข้ามาเป็นผู้จ่ายเงิน

10.จำนวนมาตรการกับภาพลักษณ์คอร์รัปชันไม่สัมพันธ์กัน คงต้องมีปัญหาอะไรบางอย่างเกิดขึ้น

ในการวัดเรื่องการคอร์รัปชัน วัดได้ 2 แบบ คือ (1) Corruption Perceptions Index (CPI) จัดทำโดยองค์กรความโปร่งใสระหว่างประเทศ สำรวจจากทัศนคติของประชาชน และ (2) Control of Corruption Index (CC) วัดจากมาตรการจัดการคอร์รัปชันของรัฐบาล

ผลการวัดคอร์รัปชันทั่วโลก ดัชนี CPI และ CC เป็นไปในทางบวก หมายความว่า เมื่อมีมาตรการแก้ปัญหาคอร์รัปชันเพิ่มขึ้น ทัศนคติของคนที่มีต่อคอร์รัปชันก็ดีขึ้น ขณะที่ประเทศไทยความสัมพันธ์ (correlation) ของ 2 ดัชนีนี้เป็นไปในทางลบ แปลว่า CPI กับ CC วิ่งสวนทางกัน กว่าคือ ไทยมีมาตรการแก้ปัญหาคอร์รัปชันเยอะมาก แต่ทัศนคติที่มีต่อคอร์รัปชันไม่ดีขึ้น ซึ่งมีไม่กี่ประเทศในโลกที่มีความสัมพันธ์ทางลบ

ผู้วิจัยตีความเป็น 2 แบบ คือ (1) มาตรการแก้ปัญหาเยอะไปหรือมาตรการใช้ไม่ได้ผล และ (2) คนไม่เชื่อว่ามาตรการที่ออกมาจะใช้ได้ผล แต่คนเชื่อสื่อที่บอกคอร์รัปชันไม่ดีมากกว่า รัฐออกมาตรการเท่าไหร่ก็ไม่รู้สึกว่าดีขึ้น โดยผู้วิจัยเสนอว่า อาจแก้ปัญหาด้วยการลดมาตรการลงมา หรือทำให้มาตรการมีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

 ต่างพื้นที่ ต่างปัญหา

 

นอกจากการค้นพบลักษณะคอร์รัปชันของสังคมไทยในภาพรวมแล้ว การเจาะลงไปในแต่ละพื้นที่ก็ช่วยให้เห็นทางแก้ปัญหาชัดเจนขึ้น กลุ่มคณะวิจัย SIAM Lab ที่ลงพื้นที่ไปใน 3 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพฯ นครราชสีมา และน่าน ร่วมเสวนาพูดคุยถึงประสบการณ์การทำงานเรื่องกลไกลต้านคอร์รัปชันเชิงพื้นที่ในงานนี้ด้วย

ด้วยสภาพภูมิประเทศ เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ที่ไม่เหมือนกันของแต่ละที่ ทำให้วิธีคิดของคนในพื้นที่แตกต่างกันไป ด้วยเหตุนี้เอง ทำให้ต้องใช้วิธีแก้ปัญหาในรูปแบบที่ต่างไป เหมือนการหาลูกกุญแจให้ลงล็อก

ผู้วิจัยประกอบด้วย ปกรณ์สิทธิ ฐานา ผู้วิจัยพื้นที่กรุงเทพมหานคร จิรพันธ์ รวมพรรณพงศ์ ผู้วิจัยพื้นที่นครราชสีมา และ นิชาภัทร ไม้งาม ผู้วิจัยพื้นที่จังหวัดน่าน ดำเนินรายการโดย อดิศักดิ์ สายประเสริฐ ผู้ประสานงานโครงการ

คำถามสำคัญในการศึกษาคอร์รัปชันเชิงพื้นที่คือ ลักษณะพื้นที่ส่งผลต่อความเข้าใจของคนในพื้นที่อย่างไร  วัฒนธรรม โครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมการเมืองส่งผลต่อการรวมกลุ่มของคนในพื้นที่อย่างไรบ้าง ช่องทางการร้องเรียนเปิดกว้างแค่ไหน การตอบรับจากหน่วยงานรัฐเป็นแบบใด และท้ายที่สุดแล้ว การศึกษาเจาะจงลงไปเฉพาะพื้นที่ มีความสำคัญต่อการแก้ปัญหาคอร์รัปชันมากน้อยเพียงใด

เริ่มต้นที่กรุงเทพมหานคร ที่เป็นภาพแทนชุมชนเมืองขนาดใหญ่ ปกรณ์สิทธิ ฐานา กล่าวว่า ธรรมชาติของชุมชนกรุงเทพฯ มีคนจากหลายแหล่งมารวมกัน การสร้างการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนจึงเป็นไปได้ยาก ทั้งจากวิถีชีวิตที่ไม่ตรงกัน และปัญหาเรื่องผู้มีอิทธิพลที่ทำให้คนในชุมชนไม่กล้าเปิดเผยข้อมูลหรือเข้าไปยุ่งในการตรวจสอบคอร์รัปชัน

ในขณะที่ นครราชสีมา จังหวัดขนาดใหญ่ เป็นภาพแทนชุมชนกึ่งชนบท – กึ่งเมือง จิรพันธ์ รวมพรรณพงศ์ ชูประเด็นเรื่องลักษณะเฉพาะของภูมิศาสตร์ที่มีระยะห่างของแต่ละอำเภอมาก ทำให้มีการรวมกลุ่มของภาคประชาชนน้อย ที่น่าสนใจคือ เนื่องจากเป็นจังหวัดใหญ่ จึงมีงบประมาณมาลงเยอะ ทำให้เกิดการแข่งขันระหว่างกลุ่มทุนสูง เมื่อขัดผลประโยชน์กันขึ้น กลุ่มทุนมักจะเข้าไปแจ้งเบาะแสคอร์รัปชันให้หน่วยงานรัฐเข้าไปตรวจสอบคู่แข่ง

ขยับเข้ามาที่จังหวัดน่าน ภาพแทนสังคมชนบท ผู้คนอยู่กันเป็นชุมชนเกษตรกรรม นิชาภัทร ไม้งาม ฉายภาพให้เห็นว่า ชาวบ้านยังมีความเข้าใจเกี่ยวกับคอร์รัปชันน้อย เพราะเมื่อมีงบประมาณจากภายนอกหรือรัฐส่วนกลางเข้ามาในชุมชน กลับไม่มีการเปิดเผยข้อมูลมากพอ ทำให้ชาวบ้านรู้สึกไม่ไว้ใจและเป็นกังวล เพราะส่วนมากเป็นโครงการเกี่ยวกับธรรมชาติและทรัพยากรในชุมชน

 

 สถานการณ์ความไม่โปร่งใส กับการรับรู้ของคนในพื้นที่

 

เมื่อเข้าใจสภาพโดยรวมของแต่ละพื้นที่แล้ว สิ่งที่ต้องศึกษาต่อคือ ผู้คนในพื้นที่รับรู้เกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่โปร่งใสแค่ไหน รู้หรือไม่ว่ามีการโกงหรือคอร์รัปชันเกิดขึ้น

ในกรุงเทพฯ  ผู้คนส่วนมากรับรู้ว่ามีความไม่โปร่งใส กล่าวคือ ประชาชนรู้ว่ามีการโกงเกิดขึ้น เช่น เงินจากรัฐบาลไม่ได้นำมาพัฒนาชุมชนจริงๆ แต่เกิดการเอื้อประโยชน์ต่อพวกพ้องของคนที่มีอำนาจจัดการเงิน อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านบางส่วนมองว่า การโกงในลักษณะนี้อาจเกิดขึ้นจากระเบียบของราชการที่เอื้อให้เกิดความทุจริตอยู่แล้ว เช่น ระเบียบการเบิกจ่ายที่ไม่สอดคล้องกับการทำงานจริง เป็นต้น

นอกจากนี้ สมาชิกในชุมชนมักไม่ได้มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมของส่วนรวมมากนัก และไม่ได้มีการประชาสัมพันธ์อย่างทั่วถึง การให้ข่าวสารจึงไม่แน่นอนชัดเจนและไม่เป็นกระบวนการ จนทำให้คนในพื้นที่เข้าใจปัญหาไม่ตรงกับความจริงเท่าใดนัก

ในพื้นที่นครราชสีมา ประชาชนค่อนข้างรับรู้เหตุการณ์คอร์รัปชันเป็นอย่างดี โดยเฉพาะคดีที่เคยเป็นข่าว เช่น โครงการสร้างสนามฟุตซอล หรือโครงการขุดลอกคลอง ฯลฯ ชาวบ้านในพื้นที่มองว่า การทุจริตผ่านการจัดซื้อจัดจ้างยังคงมีอยู่ในปัจจุบัน เพราะมีกลุ่มทุนที่แบ่งผลประโยชน์กับนักการเมืองท้องถิ่นอยู่

อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาพบว่า มีกลุ่มนักการเมืองท้องถิ่นรุ่นใหม่พยายามเปลี่ยนแปลง โดยแยกตัวออกจากนักการเมืองระดับประเทศ แล้วรวมกลุ่มกับภาคประชาสังคม การทำงานอย่างแข็งขันของกลุ่มคนรุ่นใหม่และภาคประชาสังคมทำให้การต่อรองในโครงการต่างๆ ทำไม่ได้ง่ายๆ เหมือนเดิม และเริ่มมีการตรวจสอบมากขึ้น

ส่วนพื้นที่ภาพแทนชนบทอย่างจังหวัดน่าน นิชาภัทร ไม้งาม เน้นประเด็นเรื่องคอร์รัปชันเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเป็นปัญหาหลักของพื้นที่ เช่น งบปลูกป่า การทำแนวกันไฟ หรือขุดลอกลำน้ำ ฯลฯ ส่วนมากเป็นงบประมาณที่เข้ามาจากรัฐบาลส่วนกลาง เป็นงบจากภายนอกชุมชน ส่งผลให้ชาวบ้านรับรู้ข้อมูลน้อย ไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบหรือเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ได้อย่างที่ควรจะเป็น

 

กลไกหรือช่องทางร้องเรียนคอร์รัปชันต่อภาครัฐของคนในชุมชน

และการตอบรับจากหน่วยงานตรวจสอบ

 

แม้ชาวบ้านจะรับรู้ว่ามีปัญหาคอร์รัปชันอยู่ แต่ท้ายที่สุดแล้ว การแก้ปัญหาย่อมต้องการการร่วมมือจากหลายหน่วยงาน โดยเฉพาะหน่วยงานภาครัฐที่จะเข้ามาตรวจสอบและแก้ปัญหา คำถามสำคัญก็คือ คนในชุมชนสามารถเข้าถึงกลไกการร้องเรียนคอร์รัปชันได้มากน้อยแค่ไหน

ขนาดของพื้นที่ ย่อมส่งผลต่อวิธีการเข้าถึงกลไกร้องเรียน  ในเขตเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ มีการแบ่งชุมชนออกเป็น 3 ระดับตามความเข้มแข็ง ซึ่งส่งผลต่อลักษณะการร้องเรียนของคนในชุมชน (1) ชุมชนเข้มแข็งภายใน มักใช้ผู้นำชุมชนเป็นผู้ไกล่เกลี่ยปัญหา (2) ชุมชนเข้มแข็งน้อยลงมา ใช้ระบบเรียกประชุมคณะกรรมการชุมชน (3) ชุมชนเข้มแข็งน้อย ไม่พึ่งพิงกลไกชุมชน แต่ใช้ตำรวจแก้ไขปัญหา ต่างฝ่ายต่างแจ้งความ ติดตามคดีเอง  การตอบสนองต่อคำร้องเรียนของชุมชนที่เข้มเข็งจะรวดเร็วกว่าชุมชนที่ไม่เข้มแข็ง เมื่อเป็นปัญหาส่วนร่วมที่ใช้กลไกภายในแก้ไข จะส่งผลต่อชุมชนในวงกว้างมากกว่า

ส่วนจังหวัดที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่อย่างนครราชสีมา มีปรากฏการณ์ที่น่าสนใจว่า สถิติการร้องเรียนคอร์รัปชันต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ของจังหวัด ตั้งแต่ปี 2555-2559 มีคดีร้องเรียนประมาณ 471 คดี มากที่สุดในประเทศไทย สาเหตุมาจาก มีกลุ่มผลประโยชน์ในพื้นที่ค่อนข้างมาก ซึ่งทำให้การตรวจสอบฝ่ายตรงข้ามเป็นไปอย่างดุเดือด รวมทั้งประชาชนก็เข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบมากด้วย

อย่างไรก็ตาม ด้วยคดีที่ร้องเรียนไปจำนวนมาก แต่กำลังคนของ ป.ป.ช. มีไม่เพียงพอ จึงเกิดความล่าช้าในการทำคดี การจะผลักดันให้คดีรวดเร็วขึ้นนั้น ต้องใช้สื่อเป็นตัวช่วยดึงความสนใจของคนในสังคม ดังนั้น ความรวดเร็วของการดำเนินคดีขึ้นอยู่กับว่าเป็นที่สนใจของสังคมแค่ไหน

ขณะที่ชุมชนเกษตรกรรมแบบจังหวัดน่าน ก็ใช้เครื่องมือทั่วไปที่มีในจังหวัด เช่น ใช้ ป.ป.ช. จังหวัด หรือ ศูนย์ดำรงธรรม เมื่อไหร่ที่ชาวบ้านรู้สึกไม่ชอบมาพากลกับโครงการที่เข้ามาจากภายนอก จะเริ่มมีการเก็บรวบรวมข้อมูลศึกษาผลกระทบแล้วยื่นให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบ นอกจากนี้ยังใช้ช่องทางสื่อสารผ่านสื่อมวลชนที่มาทำข่าว เพื่อให้เสียงกระจายไปได้มากขึ้น ทั้งยังเริ่มมีการสร้างเครือข่าย แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างกันของคนในชุมชน

โดยภาพรวมของน่าน ป.ป.ช. จังหวัด ค่อนข้างเข้าใจปัญหา และเข้ามาดูถึงในพื้นที่ ไม่ได้นิ่งเฉย ยังมีกลไกเข้ามาช่วยดูแลอยู่

อย่างไรก็ตาม เมื่อมองภาพรวมของทุกพื้นที่ก็ยังเห็นว่ามีช่องว่างในการเข้าถึงกลไกการร้องเรียนระหว่างประชาชนกับภาครัฐอยู่พอสมควร

 

 ความฝัน – ความหวัง การแก้ปัญหาคอร์รัปชันเชิงพื้นที่ในสังคมไทย

 

ท้ายที่สุดแล้ว แม้จะมีปัญหาแตกต่างในเชิงพื้นที่ และการเข้าถึงการแก้ไขตรวจสอบของรัฐบาล ก็ยังมีความหวังที่จะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่

ในพื้นที่มหาครอย่างกรุงเทพฯ ที่มีคนหลากหลาย และดูเหมือนว่าผู้คนจะไม่ได้มีวิถีชีวิตที่ยึดโยงกันขนาดนั้น แต่สิ่งที่น่าจะช่วยแก้ปัญหาคอร์รัปชันได้ ก็ยังเป็นเรื่องเรื่องการสร้างชุมชนเข้มแข็ง

ผู้วิจัยแบ่งองค์ประกอบชุมชนเข้มแข็งเป็น 3 อย่าง (1) ผู้นำในชุมชนต้องไม่ใช่ผู้นำทางการเมืองอย่างเดียว แต่ต้องมีการกระจายอำนาจไปให้ผู้นำโดยธรรมชาติ ต้องแก้ปัญหาจากการร่วมมือของผู้นำหลายฝ่าย (2) มีพื้นที่ส่วนกลางสำหรับทำกิจกรรมในชุมชน เพื่อให้คนรู้จักมักคุ้นกันมากขึ้น (3) ได้รับความช่วยเหลือจากองค์กรภายนอก เช่น หน่วยวิจัย มหาวิทยาลัย มูลนิธิ ฯลฯ ให้ความรู้เรื่องการสร้างระบบบัญชี สร้างกิจกรรมการมีส่วนร่วมในชุมชน เพื่อให้เกิดกติกาที่นำไปใช้ในอนาคตได้ เกิดการรับรู้และยอมรับร่วมกันได้

ภาพเหล่านี้เกิดขึ้นแล้วในชุมชนเข้มแข็งหลายแห่งในกรุงเทพฯ เป็นทางออกที่มีคนทำสำเร็จ และน่าจะเป็นต้นแบบให้ชุมชนอื่นๆ ต่อไปได้

เช่นเดียวกับที่นครราชสีมา ที่ยังเห็นความหวังอยู่มาก เพราะผู้คนมีความตื่นตัวมากอยู่แล้ว ผู้วิจัยเสนอว่า สิ่งที่ควรเพิ่มเติมคือการเข้าถึงข้อมูลโครงการจัดซื้อจัดจ้างได้ง่ายขึ้น มีการเปิดเผยเรื่องการยื่นซองประมูลมากขึ้น ให้คนทั่วไปเข้าไปมีส่วนร่วมมากกว่าแค่กลุ่มผู้เชี่ยวชาญกลุ่มเดิมเข้ามาตรวจสอบทุกโครงการ น่าจะเป็นกลไกการป้องกันคอร์รัปชันเชิงพื้นที่ที่สำคัญ

ขยับไปในจังหวัดที่ผู้คนมีความใกล้ชิดกับทรัพยากรธรรมชาติมากอย่างน่าน นิชาภัทร ไม้งาม มองว่า ควรมีการเปิดเผยข้อมูลโครงการที่เข้าไปทำเกี่ยวกับทรัพยากรในพื้นที่มากขึ้น เพราะเชื่อว่า ข้อมูลข่าวสารจะทำให้ประชาชนตระหนักถึงสิทธิและเปิดพื้นที่รวมกลุ่มมากขึ้น

“การต่อสู้ในพื้นที่ยังสำคัญ เพราะชาวบ้านเข้าใจปัญหาบ้านตัวเองดีที่สุด ชาวบ้านต้องตระหนักถึงปัญหาก่อน แล้วค่อยกระจายไปสู่สังคมเพื่อให้ให้คนภายนอกเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นจนเกิดการสนับสนุนเป็นพลังสังคมขึ้นมา”

โดยสรุป การจะแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันในพื้นที่ได้ ต้องมีการให้ข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชนมากขึ้น ถูกต้อง เที่ยงตรง และต้องมีการรวมตัวของคนในชุมชนเพื่อรับรู้และแก้ไขปัญหาร่วมกัน ทั้งนี้การตอบสนองจากภาครัฐก็ยังเป็นเรื่องที่ต้องพัฒนาให้ทันกับปัญหาคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นด้วย

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save