fbpx
ชีวิตที่เลือกได้ 2 ทศวรรษสุดท้าย ชัยอนันต์ สมุทวณิช

ชีวิตที่เลือกได้ 2 ทศวรรษสุดท้าย ชัยอนันต์ สมุทวณิช

ธนาพล  อิ๋วสกุล เรื่อง [1]

 

-1-

 

ในทางการเมือง ชัยอนันต์ สมุทวณิช (2487-2561) มีบทบาทสำคัญอย่างน้อย 2 ประการที่เกี่ยวเนื่องกัน คือการเป็นนักวิชาการรัฐศาสตร์ระดับศาสตราจารย์ที่ผลิตผลงานและสร้างลูกศิษย์ออกมาจำนวนมาก  ขณะเดียวกันก็เป็นนักการเมือง ทั้งการเมืองในระบบรัฐสภา และการเมืองบนท้องถนนที่ขับเคลื่อนประเด็นสำคัญ จนนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง (แน่นอนว่าทั้ง 2 บทบาทไม่สามารถแยกได้อย่างเด็ดขาด)

ในทางวิชาการ ชัยอนันต์ได้บุกเบิกงานวิชาการที่สร้างมายาคติเรื่อง ‘ชิงสุกก่อนห่าม’ ของคณะราษฎร ที่ส่งผลกับพัฒนาการการเมืองไทยมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าก่อนหน้าจะผลิตผ่านงานสารคดีการเมืองของฝ่ายนิยมเจ้า แต่ในฐานะนักวิชาการที่เปี่ยมด้วยทฤษฎี และมีการใช้เอกสารจดหมายเหตุ เพื่อความน่าเชื่อถือของข้อเสนอทางการเมืองของตัวเอง ดังจะเห็นได้จาก  แผนพัฒนาการเมืองฉบับแรกของไทย : คำกราบบังคมทูลของเจ้านายและข้าราชการให้เปลี่ยนแปลงการปกครอง ร.ศ.103[2]  ผลงานทางวิชาการชิ้นแรกที่ผลิตออกมาในปี 2513  ชัยอนันต์ต้องการจะสื่อว่ามีความพยายามของบรรดา ‘เจ้านาย’ มาตั้งแต่ ร.ศ. 103 ที่จะ ‘เปลี่ยนแปลงการปกครอง’ ก่อนบรรดา ‘ไพร่’ จะทำสำเร็จในนามคณะราษฎรเมื่อ พ.ศ. 2475 (ร.ศ.150) มาร่วมกึ่งศตวรรษ

ขณะที่ สัตว์การเมือง[3] ของชัยอนันต์ สมุทวณิช และคณะ เนื้อหาก็ออกมาในทิศทางเดียวกัน คือประเมินคณะราษฎรในด้านลบ และยกย่องพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวในฐานะกษัตริย์ประชาธิปไตยที่มีแนวคิดที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญตั้งแต่ขึ้นครองราชย์แล้ว ด้วยรูปแบบการนำเสนอแบบวิชาการ ทำให้แนวคิดดังกล่าวมีพลังในการอธิบายการเมืองไทยมาจนถึงปัจจุบัน[4]

แต่การจะกล่าวว่าบทบาทของชัยอนันต์เมื่อครั้งเป็นนักวิชาการจะเกื้อหนุนคณะรัฐประหาร ก็ไม่ถูกเสียทีเดียว เพราะในฐานะนักวิชาการ ‘เสรีนิยม’ ในยุคเผด็จการทหารขณะนั้น ชัยอนันต์ต่อต้านอำนาจคณะรัฐประหาร (ถนอม-ประภาส-ณรงค์) ด้วยการอธิบายว่านี่คือผลต่อเนื่องของการชิงสุกก่อนห่ามของคณะราษฎร ชัยอนันต์จึงมีบทบาทสำคัญคนหนึ่งในการต่อต้านเผด็จการทหารในเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 รวมทั้งหลังจากนั้น เช่น โดนคุกคามหลังรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 รวมทั้งต้องหลบภัยการเมืองหลังรัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ 2534

นี่จึงเป็นความซับซ้อนย้อนแย้งในตัวเองของชัยอนันต์ ซึ่งเราจะไม่พูดถึงในบทความนี้ แต่จะเน้นไปที่ 2 ทศวรรษสุดท้ายของชัยอนันต์ (2540-2550)  ในฐานะนักการเมืองทั้งการเมืองในระบอบรัฐสภาและการเมืองบนท้องถนน

 

-2-

 

ถ้าเรานับปี 2540 ว่าเป็นสันปันน้ำการเมืองไทย เพราะมี 2 เหตุการณ์สำคัญคือ (1) วิกฤติต้มยำกุ้ง กรกฎาคม 2540 และ (2) รัฐธรรนูญฉบับปฏิรูปการเมืองไทยตุลาคม 2540

เหตุการณ์ (1) นำไปสู่การเปลี่ยนภูมิทัศน์เศรษฐกิจไทย ทั้งที่ก่อนหน้ากำลังหลงใหลไปกับแนวคิดโลกานุวัตร/โลกาภิวัตน์ แนวคิดข้ามรัฐ/ลอดรัฐ ที่จะเป็นส่วนหนึ่งของความรุ่งเรืองของเศรษฐกิจโลก  เมื่อเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง ทุนใหม่และทุนเก่าต้องล้มหายตายจากหรือลดขนาดลงอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นนายทุนธนาคารที่ครอบงำเศรษฐกิจไทยตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ต้องกลายเป็น ‘เจ้าสัวเยสเทอเดย์’ แบบที่ชาตรี โสภณพาณิช แห่งธนาคารกรุงเทพ นิยามตัวเอง[5]  รวมไปถึงเศรษฐีใหม่อย่างสนธิ ลิ้มทองกุล ที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดในเศรษฐกิจฟองสบู่ทศวรรษ 2530  ต้องกลายเป็นบุคคลล้มละลายพร้อมๆ ดับความฝันที่จะเป็น ‘รูเพิร์ต เมอร์ด็อค แห่งเอเชีย’ ทำให้กระแสสังคมพลิกกลับมาที่แนวคิดชาตินิยม ซึ่งก่อนหน้าเคยถูกตราหน้าว่าล้าสมัย ไม่เท่าทันโลก

ส่วนเหตุการณ์ (2) คือการเปลี่ยนภูมิทัศน์ทางการเมืองอย่างสำคัญ คือสร้างระบอบการเมืองที่เกื้อหนุนให้เกิดรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ  จากเดิมที่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมีอายุสั้น ไม่สามารถส่งมอบนโยบายให้กับประชาชน รัฐธรรมนูญ 2540 จึงออกแบบเพื่อสร้างภาวะผู้นำให้แก่นายกรัฐมนตรี (Strong Prime Minister) สร้างความเข้มแข็งให้พรรคการเมืองขนาดใหญ่ ผลผลิตของรัฐธรรมนูญ 2540 คือทำให้ทักษิณ ชินวัตร หัวหน้าพรรคไทยรักไทย ชนะเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย โดยเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่สามารถอยู่ครบเทอมเป็นครั้งแรกด้วย

ทั้ง 2 เหตุการณ์นั้น ชัยอนันต์เป็นผู้อยู่เบื้องหลังที่สำคัญ ดังที่กล่าวไปแล้วว่า ชัยอนันต์คือบุคคลสำคัญที่เสนอแนวคิด โลกานุวัตร/โลกาภิวัตน์ ผ่านสื่อเครือผู้จัดการ ส่วนเรื่องปฏิรูปการเมืองโดยผ่านรัฐธรรมนูญ 2540 นั้น ชัยอนันต์เป็นผู้ที่มีบทบาทที่ทำให้เกิดขึ้นจริง ตั้งแต่สถาบันนโยบายศึกษาที่ชัยอนันต์เป็นประธาน ได้ตีพิมพ์หนังสือของ อมร จันทรสมบูรณ์ เรื่อง คอนสติติวชั่นแนลลิสม์ (Constitutionalism) : ทางออกของประเทศไทย[6] ที่ถือว่าเป็นพิมพ์เขียวของการปฏิรูปการเมือง และได้ส่งต่อไปยังหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ให้เป็นหัวหอกในการเผยแพร่ความคิดของอมร

หลังพยายามมาแรมปี เมื่อโอกาสมาถึง บรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย ที่มีภาพลักษณ์ติดลบสำหรับชนชั้นกลางในเมือง กลับหาเสียงในปี 2538 ว่าจะปฏิรูปการเมืองตามแนวทางที่อมรและชัยอนันต์ผลักดันมาก่อนหน้าจนชนะการเลือกตั้ง

ไม่เพียงแต่บรรหารจะบรรจุวาระปฏิรูปการเมืองไว้ในนโนยบายรัฐบาล บรรหารยังตั้งชัยอนันต์และอมรเป็นสมาชิกวุฒิสภาในปี 2539 เผื่อผลักดันให้เกิดขึ้นจริงในรัฐสภาด้วย ชัยอนันต์จึงมีบทบาทอย่างสูงในการผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2534 มาตรา 211 เพื่อนำไปสู่การตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ 2539 จนเป็นที่มาของรัฐธรรมนูญ 2540 ในที่สุด

สิ่งที่ต้องบันทึกไว้ก็คือ การให้นักการเมืองทั้งที่มาจากการเลือกตั้ง (ส.ส.) และแต่งตั้ง (ส.ว.) ‘สละอำนาจ’ ของตัวเองนั้น เป็นเรื่องที่ต้องใช้ศิลปะในการต่อรองอย่างสูง ซึ่งชัยอนันต์ก็ทำจนสำเร็จ

กล่าวได้ว่าชัยอนันต์คือสถาปนิกคนสำคัญในการออกแบบรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งเป็นที่มาของ ‘ระบอบทักษิณ’ ในปัจจุบัน

 

-3-

 

แต่การเริ่มต้นของทศวรรษ 2540 คือวิกฤตเศรษฐกิจที่ทำลายฐานทางเศรษฐกิจที่สำคัญของกลุ่มทุนไทย ซึ่งเครือผู้จัดการเป็นหนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบอย่างสำคัญ ด้วยมูลค่าหนี้มหาศาล บริษัทต้องเข้าสู่การฟื้นฟูกิจการ และสนธิ ลิ้มทองกุล ต้องกลายเป็นบุคคลล้มละลาย นักเขียนในค่ายผู้จัดการต้องกระสานซ่านเซ็น รวมทั้งชัยอนันต์  หลังจากวิกฤต 2540 ชัยอนันต์ได้ย้ายไปเขียนให้มติชนรายวันอยู่ช่วงหนึ่ง รวมทั้งคำนูณ สิทธิสมาน มือขวาของสนธิ ได้ย้ายไปเขียนให้กับสื่อเครือวัฎจักรด้วยเช่นกัน

ในช่วงเวลานั้น ชัยอนันต์ได้เข้าไปอยู่ในคอมฟอร์ทโซน คือรับตำแหน่งองค์กรอิสระที่เกิดจากรัฐธรรมนูญ 2540 ที่ตัวเองเป็นสถาปนิก คือการเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์ (11 เมษายน 2541 – 30 มิถุนายน 2543)[7] การลาออกของชัยอนันต์ไม่เป็นที่แน่ชัดว่าเป็นเพราะเหตุใด แต่ทำให้ชัยอนันต์ไม่ต้องไปตัดสินคดีซุกหุ้นของทักษิณในเดือนสิงหาคม 2544 พร้อมๆ กับการที่ชัยอนันต์ให้ความสนใจกับการศึกษามากขึ้นในบทบาทของผู้บังคับการโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย

ท่ามกลางวิกฤติต้มยำกุ้ง ประเทศไทยแทบจะไร้ทางออกจากการบริหารนโยบายการเมือง เศรษฐกิจของรัฐบาลชวน 2 ที่เดินตามแนวทาง ‘เด็กดีไอเอ็มเอฟ’ ส่งผลให้เกิดเป็นแนวร่วมของการหาทางออกจากวิกฤต ไปจนถึงการต่อต้านรัฐบาลขึ้นมาหลายกลุ่ม เช่น กลุ่ม ปxป ของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล, กลุ่มกู้ชาติของนักธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ นำโดยประชัย เลี่ยวไพรัตน์ อัมรินทร์ คอมันตร์, เอ็นจีโอ องค์กรชาวบ้านแบบสมัชชาคนจน และที่สำคัญคือการก่อตั้งพรรคไทยรักไทยของทักษิณ ชินวัตร ในเดือนกรกฎาคม 2541 ซึ่งมีบุคคลสำคัญที่เคยอยู่แวดล้อมสนธิ ลิ้มทองกุล โดยเฉพาะพันธ์ศักดิ์ วิญญรัตน์ เป็นกุนซือคนสำคัญ (แน่นอนว่าชัยอนันต์ ก็ได้เข้าไปช่วยเหลือแบบไม่ออกชื่อ)

ในช่วงเวลาดังกล่าว คอลัมน์ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการของพันธ์ศักดิ์ คือการขายแนวคิดให้กับสังคมไทยเพื่อจะฝ่าวิกฤตต้มยำกุ้ง เช่นเรื่อง SMEs การสนับสนุนการบริโภคภายในประเทศ การอยู่รอดในกระแสโลกาภิวัตน์ แน่นอนว่าหลายอย่างจะออกมาเป็นนโยบายและการปฏิบัติของพรรคไทยรักไทยในเวลาต่อมาเมื่อเป็รัฐบาล ขณะที่ชัยอนันต์เสนอแนวคิดเรื่องการปฏิรูปการศึกษาในฐานะผู้บังคับการโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย

กลับมาที่แนวร่วมการต่อต้านรัฐบาลชวน 2 เครือผู้จัดการได้มีบทบาทนำในการเปิดประเด็นการ ‘ขายชาติ’ / ‘เสียกรุงครั้งที่ 3’ โดยเฉพาะ พายัพ พนาสุวรรณ ซึ่งเป็นนามปากกาของสนธิ ลิ้มทองกุล ที่ออกมาเล่นงานธารินทร์ นิมมานเหมินทร์ อย่างหนัก[8] จนทำให้รัฐบาลชวนเริ่มหมดความขอบธรรมและต้องยุบสภาปลายปี 2543

 

-4-

 

จนกระทั่งมีการเลือกตั้งต้นปี 2544 ชัยชนะเป็นของพรคไทยรักไทย และทักษิณได้เป็นนายกรัฐมนตรี สื่อเครือผู้จัดการที่ก่อนหน้านั้นอยู่ในสภาวะล้มละลายก็กลับมาผงาดอีกครั้ง และชัยอนันต์คือหนึ่งในผู้ได้รับอานิสงส์สำคัญในรัฐบาลทักษิณ โดยเข้าไปรับตำแหน่งต่างๆ มากมาย แม้บางเรื่องจะไม่ใช่ความชำนาญอะไรของชัยอนันต์เลย

ตัวอย่างเช่น ในปี 2544 ชัยอนันต์ได้เป็นประธานบอร์ดการบินไทยช่วงสั้นๆ (พ.ค.2544-ก.ย.2544) แต่เป็นกรรมการบริษัท การบินไทยร่วม 3 ปี (พ.ศ. 2544-2547)  นี่เป็นเหตุให้เมื่อมีการตรวจสอบทุจริตในรัฐบาลทักษิณ จึงมีชื่อชัยอนันต์อยู่ในรายชื่อที่ถูกตรวจสอบกรณีสินบนโรลส์รอยซ์ด้วย[9]  นอกจากนั้นเมื่อรัฐบาลทักษิณจะปฏิรูประบบราชการ ชัยอนันต์ในฐานะที่ศึกษาการปฏิรูประบบราชการมาทั้งชีวิต[10] ก็มีบทบาทสำคัญยิ่งในการปฏิรูประบบราชการโดยการตั้งกระทรวง ทบวง กรมใหม่ในปี 2545

ไม่เพียงเท่านั้น การปฏิรูปการศึกษายังเป็นเรื่องที่ชัยอนันต์ให้ความสนใจ  ทั้งในรูปแบบของการศึกษาในระบบและการเรียนรู้นอกห้องเรียน มีการตั้งสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) ชื่อ OKMD อันเป็นองค์การมหาชน ซึ่งตอนแรกตั้งมีอยู่ 8 องค์ย่อย ชัยอนันต์ก็ได้เข้าไปนั่งบริหารสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.) หรือมิวเซียมสยาม ในตำแหน่งรักษาการผู้อำนวยการคนแรกด้วย (เทคนิคการนั่งเป็นรักษาการคือการไม่ต้องลาออกจากหน่วยงานอื่น แต่ได้เงินเดือนตามปกติ ทำให้สามารถนั่งควบได้หลายเก้าอี้)

แต่ที่เกิดเป็นวิวาทะมากที่สุด คือการที่ชัยอนันต์ได้นั่งเป็นประธานกรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) (พ.ศ. 2547- ลาออก 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549) ซึ่งนโยบายสำคัญของรัฐบาลทักษิณคือการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ (ในแบบทักษิณ) ดังที่เคยทำสำเร็จมาแล้วในกรณี ปตท. และ อสมท. ชัยอนันต์เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการแปรรูป กฟผ. จนก่อนให้เกิดวิวาทะกับรสนา โตสิตระกูล และกลุ่มที่คัดค้านการแปรรูป กฟผ. [11]

ถ้าหากคนอย่างวิษณุ เครืองาม คือเนติบริกรของ ‘ระบอบทักษิณ’ ชัยอนันต์นั้นมีบทบาทสำคัญกว่ามาก คือการเป็นทั้งสถาปนิกออกแบบ และรับเหมาก่อสร้างให้กับระบอบทักษิณเลยทีเดียว

ขณะที่การเมืองเริ่มมีการพลิกผัน เมื่อสนธิ ลิ้มทองกุล ที่เคยบอกว่าทักษิณ คือนายกรัฐมนตรีที่ดีที่สุดเท่าที่ประเทศไทยมีมา เริ่มต่อต้านทักษิณตั้งแต่ปี 2548 หลังจากมีความขัดแย้งทางธุรกิจ เริ่มตั้งแต่รัฐบาลไม่ยอมตั้งวิโรจน์ นวลแข เพื่อนรักสนธิ ลิ้มทองกุล กลับมานั่งเป็นประธานธนาคารกรุงไทย และการที่ทักษิณไม่ยอมให้ช่อง 11news ของสนธิได้ออกอากาศ

สนธิได้หยิบยกประเด็นเรื่องทักษิณก้าวล่วงพระราชอำนาจมาเป็นเครื่องมือสำคัญ พร้อมๆ กับการปลุกกระแสชาตินิยมทักษิณขายชาติ โดยเฉพาะการแปรรูป กฟผ.ที่ได้รสนา โตสิตระกูล มาเป็นแนวร่วม

 

-5-

 

ถึงแม้การชุมนุมต่อต้านทักษิณของสนธิ ลิ้มทองกุล ที่เริ่มต้นในปี 2548 จะเป็นการชุมนุมต่อต้านทักษิณที่ใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 2544  แต่จุดเปลี่ยนจริงๆ ที่ทำให้ขบวนการต่อต้านทักษิณเติบโตก็คือกระทำของทักษิณเอง คือการขายหุ้นชินคอร์ปให้กลุ่มเทมาเซคของสิงคโปร์ในเดือนมกราคม 2549  นี่เองที่ทำให้ข้อหา ‘ขายชาติ’ ถูกทำให้เป็นรูปธรรม ทำให้ชัยอนันต์ต้องเลือกระหว่างการทำงานกับทักษิณต่อไป กับการออกมาร่วมกับสนธิ ลิ้มทองกุล

กว่าที่ชัยอนันต์จะออกมาต่อต้านทักษิณนั้นก็ล่วงเข้าเดือนกุมภาพันธ์ 2549 ภายหลังจากที่มีการตั้งพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยแล้ว ชัยอนันต์คือมือเขียนฎีกาของกลุ่มพันธมิตร[12]

การออกมาต่อต้านทักษิณไม่ใช่เรื่องเเปลก แต่กับชัยอนันต์ สิ่งที่ทำคือกล่าวหาเรื่อง ‘ปฏิญญาฟินแลนด์’ ในการอภิปราย ‘ปฏิญญาฟินแลนด์ ยุทธศาสตร์ครองเมืองของไทยรักไทย?’ เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2549 ดังนี้

 

สร้างทักษิณเป็นผู้นำมวลชนกระทบสถาบัน

 


นายชัยอนันต์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาพรรคการเมืองบางพรรคในประเทศไทย มีระบบบริหารที่กุมอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด มีรูปแบบการสร้างหัวหน้าพรรคให้มีลักษณะเป็นผู้นำมวลชน ในระยะยาวสถาบันกษัตริย์ จะถูกสถาบันพรรคการเมืองล้อมกรอบ เนื่องจากนโยบายที่รัฐบาลใช้เม็ดเงินอัดฉีดไปที่รากหญ้าโดยตรง คือการพยายามสร้างประชาชนให้เป็นของตนเอง ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมาไม่เคยเห็นการสร้างพรรคไทยรักไทย เท่าการสร้างตัว พ.ต.ท.ทักษิณ

“วันนี้ประชาชนไม่ได้สนับสนุนพรรคไทยรักไทย แต่สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ เพียงคนเดียว หากสถานการณ์ดำเนินต่อไปเช่นนี้สถาบันกษัตริย์ จะมีบทบาทในแง่พิธีการเท่านั้น วันนี้เขาคิดว่าต้องแปลงสินทรัพย์ทุกอย่างให้เป็นทุน เอารัฐวิสาหกิจเข้าตลาดหุ้น ให้พรรคพวกในรัฐบาลเข้ามาครอบครองเพื่อใช้ระบบทุนอย่างเต็มรูป ในปั้นปลายของระบบอำนาจทางการเมืองจะอยู่ที่ผู้ควบคุมกฏการเคลื่อนไหวของทุน วันนี้เขากำลังทำให้ทุนเป็นใหญ่ เพื่อคุมอำนาจทางการเมือง กระทั่งสถาบันกษัตริย์กลายเป็นสัญลักษณ์ในที่สุด วันนี้มีประชาชนเทิดทูนทักษิณ ใครจะไปแตะไม่ได้”

 

วางแผนหาทุนสร้างฐานการเมืองเพื่อตัวเอง

 


นายชัยอนันต์ กล่าวว่า การปฏิรูประบบราชการโดยการแยกระทรวงขึ้นมา เช่น การตั้งกระทรวงไอซีทีเพื่อต้องการให้เข้ามาดูกิจการโทรคมนาคม แต่ขณะนี้ดูเหมือนว่ากระทรวงไอซีทีไม่มีบทบาทแล้ว เพราะมีการแก้ไข พ.ร.บ.กิจการโทรคมนาคม เรื่องสัดส่วนของผู้ถือหุ้นไปแล้ว และการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจของไทยก็เพื่อให้เงินเข้ามาในตลาดทุน ซึ่งในตลาดก็เต็มไปด้วยพรรคพวกของรัฐบาลที่สามารถคุมได้ ซึ่งแตกต่างจากเดิมที่เป็นการควบคุมโดยผ่านบอร์ดบริหาร อย่างกรณี กฟผ. ถ้าสามารถเข้ากระจายหุ้นในตลาดได้ ก็จะทำให้มูลค่าของหุ้นบริษัทชินคอร์ปสูงขึ้นมหาศาลมากกว่าที่เพิ่งขายหุ้นไปให้กลุ่มทุนสิงคโปร์

นายชัยอนันต์กล่าวว่า ในเรื่องของทุนถ้าใครมีทุนมากก็สร้างฐานการเมืองได้มาก ดังนั้นในเรื่องกรณีของทีพีไอ ทางฝ่ายตรงข้ามมองว่าจะเป็นแหล่งทุนใหญ่ในอนาคตจึงส่งผลให้ต้องถูกแทรกแซงโดยอำนาจรัฐ

นายชัยอนันต์ กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันพรรคการเมืองมีอำนาจมาก โดยการควบคุมของคนๆ เดียว เวลาไปไหนมาไหนก็จะมีคนมาแห่แหนมอบดอกไม้ให้ ซึ่งการกระทำแบบนี้มีเพียงการที่ประชาชนไปรับเสด็จเท่านั้น ทั้งนี้เราต้องเชื่อมโยง พรรคการเมืองใหญ่ที่ต้องการรัฐบาลพรรคเดียว ซึ่งอำนาจการตัดสินใจจะอยู่ที่คณะบุคคล แต่พรรคไทยรักไทยกลับอยู่ที่หัวหน้าเพียงคนเดียว โดยอาศัยความชอบธรรมจากเสียงของการเลือกตั้ง ซึ่งเราก็รู้ว่ามาจากแผนการที่รัฐบาลสามารถกุมองค์กรอิสระต่างๆไว้ได้[13]

 

จากบทอภิปรายนี้แสดงให้เห็นว่าทั้งหมดที่ชัยอนันต์กล่าวมานั้น ตัวเองได้เป็นผู้ร่วมสร้างทั้งสิ้น ดังที่ผู้เขียนได้กล่าวมาก่อนหน้า

สุดท้ายทั้งหมดก็ได้นำไปสู่การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ตามที่กลุ่มพันธมิตรได้วางแผนมาตั้งแต่ต้น[14]

 

-6-

 

หลังรัฐประหาร 2549 ชัยอนันต์ได้รับการตอบแทนให้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เช่นเดียวกับ คำนูณ สิทธิสมาน สำราญ รอดเพชร  ประพันธ์ คูณมี พร้อมกับเขียนคอลัมน์ ‘ชีวิตที่เลือกได้’ ในผู้จัดการ ซึ่งแน่นอนว่าคือการเป็นกระบอกเสียงให้กับอำนาจนอกระบบ ถ้าจะมีเกร็ดเล็กๆ คือหลังรัฐประหาร 2549 มีความพยายามตั้ง ‘พรรคทหาร’ ขึ้นมา โดยที่มีประชัย เลี่ยวไพรัตน์ นายทุนทีพีไอ พันธมิตรสำคัญของสนธิ ลิ้มทองกุล ช่วงนั้นชัยอนันต์เสนอว่าจะมาเป็นหัวหน้าพรรค โดยประกาศว่า “ผมพร้อมจะเป็นนายกรัฐมนตรี” แต่ดีลนี้ก็ไม่เคยเกิดขึ้น

ชื่อของชัยอนันต์ห่างหายไปจากการเมืองไทยตั้งแต่การเลือกตั้ง 2550 เพราะไม่มีรัฐบาลไหนเรียกใช้ จนเกิดเหตุการณ์ล้อมปราบ เมษา-พฤษภา 2553 แล้วรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ตั้งคณะกรรมการปฏิรูปมา 4 คณะ รวมทั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย ที่มีอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน ร่วมด้วย ชัยอนันต์ สมุทวณิช นิธิ เอียวศรีวงศ์ พระไพศาล วิสาโล เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ม.ร.ว.อคิน รพีพัฒน์[15] ท่ามกลางวิกฤตความชอบธรรมของรัฐบาลอภิสิทธิ์ จึงได้รับการเสียงคัดค้านจากคนจำนวนมากว่าเป็น “การปฏิรูปบนซากศพ”[16] สุดท้ายคณะกรรมการปฏิรูปชุดดังกล่าวก็ไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอันและหายไปพร้อม ๆ กับรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะพร้อมๆ กับบทบาทของชัยอนันต์ สมุทวณิช

 

-7-

 

จนกระทั่งเกิดวิกฤตการเมืองรอบใหม่ ที่ต่อเนื่องจากการกรณี พ.ร.บ.เหมาเข่ง ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ในเดือนตุลาคม 2556 จนนำไปสู่การตั้ง กปปส. ของสุเทพ เทือกสุบรรรณ การบอยคอตเลือกตั้งของพรรคประชาธิปัตย์ มาจนถึงการชัตดาวน์กรุงเทพ 13 มกราคม 2557 ทั้งหมดก็เป็นไปเพื่อการปูทางให้เกิดรัฐประหารเหมือนเช่นปี 2549  จู่ๆ วันที่ 28 มกราคม 2557 ก็มีคลิปการเปิดตัว ‘กลุ่มรัฐบุคคล’[17]ซึ่งประกอบด้วย

(1) ฝ่ายทหาร
1. พล.อ.สายหยุด เกิดผล
2. พล.อ.วิมล วงศ์วานิช
3. พล.อ.อ.กันต์ พิมานทิพย์
4. พล.ร.อ.วิเชษฐ การุณยวนิช
5. พล.ร.อ.สุรวุฒิ มหารมณ์
6. พล.อ.อ.เทอดศักดิ์ สัจจะรักษ์

(2) ฝ่ายพลเรือน
1. ศ.ดร.อมร จันทรสมบูรณ์
2. ศ.ดร.ปราโมทย์ นาครทรรพ
3. ศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช
4. นายสุรพงษ์ ชัยนาม

เนื้อหาในคลิปนี้คือการประกาศสนับสนุนรัฐประหารอย่างชัดเจน ไม่อ้อมค้อม โดยที่รัฐบาลพลเรือนไม่สามารถจัดการอะไรได้เลย สำหรับชัยอนันต์แล้ว นี่อาจจะเป็นการประกาศตัวครั้งแรกต่อหน้าสาธารณะว่าเขาสนับสนุนรัฐประหาร

เมื่อเกิดรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ชัยอนันต์ได้เป็นกระบอกเสียงสำคัญของคณะรัฐประหาร ในการใส่ร้ายกลุ่มที่ต่อต้านรัฐประหารเช่นบทความ ‘เปิดโปงนักวิชาการสมุนอเมริกัน’ 6 กรกฎาคม 2557 ที่กล่าวถึงนักวิชาการในชื่อย่อ ‘ป.ล.’  ซึ่งจะหมายถึงปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่[18]

นอกจากนั้น หลังรัฐประหาร 2557 ชัยอนันต์ก็เป็นหนึ่งในแม่น้ำ 5 สาย คือได้เป็น 1 ใน 250 สภาปฏิรูปแห่งชาติ (6 ตุลาคม 2557 – 6 กันยายน 2558) ซึ่งภารกิจอย่างหนึ่งคือการยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมา โดยมีบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน

ทั้งๆ ที่ คนยกร่างรัฐธรรมนูญ คือบวรศักดิ์ อุวรณโณ แต่ชัยอนันต์คือ 1 ใน 135 คนที่โหวตไม่รับร่างรํบธรรมนูญตามใบสั่ง คสช.[19]

ขณะที่บทความช่วงท้ายของชัยอนันต์ คือการดีเฟนด์คณะรัฐประหารอย่างสุดใจ ขณะที่มองผู้วิจารณ์การรัฐประหารด้วยสายตาฝ่ายขวาปฏิกิริยา ด้วยการมีตรรกะแปลกๆ เช่น หลังจากที่สหรัฐมีท่าทีแข็งกร้าวกับคณะรัฐประหาร ชัยอนันต์กลับบอกว่า

“เมืองไทยอาจมีผู้นำหลายคนที่อเมริกาเรียกว่า ‘ผู้เผด็จการ’ แต่ก็ไม่เคยปรากฏว่าเคยมีผู้นำถูกประชาชนปองร้าย แต่ในอเมริกามีประธานาธิบดีและผู้นำหลายคนที่ถูกลอบสังหาร เช่น ประธานาธิบดีลินคอล์น เคนเนดี้ และโรเบิร์ต เคนเนดี้ ตลอดจนมาร์ติน ลูเธอร์ คิง เป็นต้น ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าสังคมอเมริกันเป็นสังคมที่มีความรุนแรงสูงในทุกระดับ”[20]

การสนับสนุนรัฐประหารอาจจะไม่แปลก แต่การแสดงเหตุผลของชัยอนันต์ที่ยกมา ย่อมผิดจากวิสัยของนักวิชาการผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทและเอกจากสหรัฐอเมริกา รวมทั้งมีหนังสือตีพิมพ์ออกมาทั้งภาษาไทยและอังกฤษเป็นจำนวนมาก

หลังจากนั้นบทบาทของชัยอนันต์ก็หายไปจากการเมืองไทย ตามมาด้วยข่าวการเสียชีวิตเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2561

ถ้านับงานวิชาการเล่มแรกที่ออกมาในปี 2513 จนถึงวาระสุดท้ายในปี 2561 นับว่าเป็นการจบกึ่งศตวรรษที่ชัยอนันต์ได้ ‘เลือก’ ที่จะมีบทบาทที่แตกต่างกัน และทิ้งมรดกสำคัญไว้กับการเมืองไทยให้สานต่อและแก้ไขกันต่อไป

 

เชิงอรรถ

[1] แก้ไขเพิ่มเติมจาก “2 ทศวรรษสุดท้ายชัยอนันต์ สมุทวณิช จากสถาปนิกผู้สร้าง “ระบอบทักษิณ” สู่ ฝ่ายขวาปฏิกิริยา”

[2] ชัยอนันต์ สมุทวณิช “แผนพัฒนาการเมืองฉบับแรกของไทย : คำกราบบังคมทูลของเจ้านายและข้าราชการให้เปลี่ยนแปลงการปกครอง ร.ศ.103″ (โรงพิมพ์อักษรสัมพันธ์, 2513.)

[3] ชัยอนันต์ สมุทวณิช “สัตว์การเมือง” (ไทยวัฒนาพานิช, 2514.)

[4] ดูการวิเคราะห์อย่างละเอียดใน ประจักษ์ ก้องกีรติ “และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ : การเมืองวัฒนธรรมของนักศึกษาและปัญญาชนก่อน 14 ตุลาฯ ” (ฟ้าเดียวกัน, 2556.)

[5] อภิชาต สถิตนิรามัย “รัฐไทยกับการปฏิรูปเศรษฐกิจ : จากกำเนิดทุนนิยมนายธนาคารถึงวิกฤตเศรษฐกิจ 2540″ (ฟ้าเดียวกัน, 2556)

[6] อมร จันทรสมบูรณ์ “คอนสติติวชั่นแนลลิสม์ (Constitutionalism) : ทางออกของประเทศไทย” (สถาบันนโยบายศึกษา, 2537)

[7]  ดูบทบาทชัยอนันต์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล้า สมุทวณิช ศาสตราจารย์ ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช ในครั้งที่ขึ้นบัลลังก์ (มติชนรายวัน, 19 กันยายน 2561)

[8] พายัพ วนาสุวรรณ “เปลือย ‘ธารินทร์'” (ผู้จัดการ, 2542)

[9] ครบทุกชื่อ 26 รายถูก ป.ป.ช.สอบคดีสินบนโรลส์รอยซ์! 2 รมต.ยุคแม้ว-บอร์ดบินไทย-อนุฯ ทำแผน

[10] ชัยอนันต์ สมุทวณิช “100 ปี แห่งการปฏิรูประบบราชการ : วิวัฒนาการของ อำนาจรัฐและอำนาจการเมือง” (โครงการเผยแพร่ผลงานวิจัย ฝ่ายวิจัย จุฬาฯ, 2535.)  ชัยอนันต์ สมุทรวณิช “การปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม” (มาสเตอร์เพรส, 2531.)

[11] รสนา โตสิตระกูล ทำไมประชาชนจึงควรร่วมกันคัดค้านการขายทอดตลาด กฟผ.

[12] ความสำคัญของชัยอนันต์ ในขบวนการพันธมิตรดูคำบอกเล่าของ คำนูณ สิทธิสมาน “ปรากฏการณ์สนธิ : จากเสื้อสีเหลืองถึงผ้าพันคอสีฟ้า” (บ้านพระอาทิตย์, 2549)

[13] ชำแหละปฏิญญาฟินแลนด์ (ผู้จัดการรายวัน, 25 พฤษภาคม 2549)

[14] ธนาพล อิ๋วสกุล “แกะรอยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย: ผู้ออกบัตรเชิญให้คณะรัฐประหาร ” / ธนาพล อิ๋วสกุล ใน “รัฐประหาร 19 กันยา : รัฐประหารเพื่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” (ฟ้าเดียวกัน, 2550.)

[15] เปิดรายชื่อกรรมการ-สมัชชาปฏิรูปประเทศ (โพสต์ทูเดย์, 6 กรกฎาคม 2553)

[16] นักกิจกรรมบุกบ้านพิษณุโลก ลั่นค้านปฏิรูปบนซากศพ (ประชาไท, 9 กรกฎาคม 2553)

[17] การประชุมและประกาศจัดตั้งกลุ่มรัฐบุคคล” 28 มกราคม 2557

[18] ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี “ไม่ได้รู้สึกยินดียินร้าย กับการจากไปของนักรัฐศาสตร์ท่านนี้ รู้สึกอย่างเดียวคือ การให้ร้ายป้ายสี ปั้นน้ำเป็นตัว กล่าวหา ให้โทษแก่ผู้อื่น ทั้งหลายทั้งปวง ที่ผ่านมาในภพนี้ขออโหสิกรรมให้ 15 กันยายน 2561

[19] “เปิดรายชื่อ 247 สปช. ลงมติประวัติศาสตร์ คว่ำร่าง รธน” (ไทยรัฐออนไลน์, 6 กันยายน 2558).

[20] ชัยอนันต์ สมุทวณิช จัดอันดับอเมริกา (ผู้จัดการ, 29 มิถุนายน 2557)

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save