fbpx
ทำไมคนจีนไม่บริโภค?

ทำไมคนจีนไม่บริโภค?

อาร์ม ตั้งนิรันดร เรื่อง

 

เรามักพูดกันว่า ประเทศจีนเป็นประเทศที่มีตลาดผู้บริโภคปริมาณมหาศาล แต่ทราบไหมครับว่า ปัญหาใหญ่ที่หนักอกหนักใจรัฐบาลจีนก็คือ เศรษฐกิจจีนยังมีสัดส่วนการบริโภคที่ต่ำเกินไป และคนจีนน่าจะจับจ่ายใช้สอยได้มากกว่านี้

ในยุทธศาสตร์เศรษฐกิจของรัฐบาลจีน จึงมักใช้คำว่า ถึงเวลาต้องปลดปล่อยพลังการบริโภคระลอกใหม่ คือถึงเวลาแล้วที่จีนจะต้องปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ จากที่เคยเน้นขับเคลื่อนด้วยการส่งออกและการลงทุน มาเป็นการส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศแทน

สงครามการค้ากับสหรัฐฯ ที่กำลังร้อนระอุในปัจจุบัน ยิ่งกดดันให้จีนต้องเร่งปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ เพราะการส่งออกนับวันมีแต่จะทรุดลง ไม่อาจพึ่งตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่อย่างสหรัฐฯ ต่อไปได้อีก และเอาแน่เอานอนไม่ได้กับลูกบ้าของประธานาธิบดีทรัมป์ ที่ตอนนี้เล่นเอาเศรษฐกิจและระบบการค้าโลกผันผวนไปหมด

แต่เดิมนั้น นอกจากการส่งออกแล้ว จีนเติบโตอย่างรวดเร็วได้โดยอาศัยการลงทุน ถ้าดูสัดส่วนการลงทุนจากตัวเลข GDP ของจีน จะพบว่ามีสัดส่วนการลงทุนที่สูงมากเกินพอดี (สูงกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ของ GDP) ฝรั่งชอบล้อว่าจีน “ปั๊มตัวเลข GDP” ด้วยการอัดฉีดเงินลงทุน สร้างถนน ตึกรามบ้านช่อง สะพาน รถไฟความเร็วสูง ไปจนถึงโรงงานผลิตข้าวของต่างๆ มากมาย ขณะที่สัดส่วนการบริโภคยังต่ำเกินไป ถ้าเปรียบเทียบกับประเทศตะวันตก โดยทั่วไปแล้วประเทศตะวันตกจะมีสัดส่วนการบริโภคสูงถึง 60-70 เปอร์เซ็นต์ของ GDP ขณะที่ในจีน สัดส่วนการบริโภคยังอยู่ที่เพียงราว 40 เปอร์เซ็นต์ของ GDP เท่านั้น

ในช่วงเริ่มต้นพัฒนาประเทศ อาจไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะมีสัดส่วนการลงทุนที่สูง เพราะจำเป็นต้องลงทุนสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน รวมทั้งสร้างฐานการผลิต เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมและยกระดับเศรษฐกิจ ประเทศที่เคยเป็นดาวรุ่งในเอเชียอย่างญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฮ่องกง ต่างล้วนเคยผ่านช่วงระยะเวลาเช่นนี้ แต่เมื่อเศรษฐกิจพัฒนาไปถึงจุดหนึ่ง การเน้นขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยการลงทุนเป็นหลักก็จะไปต่อไม่ได้ เพราะที่ควรจะสร้าง ก็สร้างไปหมดแล้ว หากฝืนขยายการลงทุนเพียงเพราะหวังการเติบโตของตัวเลข GDP ก็จะส่งผลให้เกิดปัญหาการผลิตเกินตัว (overcapacity) จนข้าวของสินค้าเหลือเกินไม่มีคนบริโภค นอกจากนั้น เขตพื้นที่ในบางเมืองที่ฝืนขยายใหญ่โตมโหฬาร ทั้งๆ ที่ไม่มีคนอยู่อาศัยเพียงพอ สุดท้ายจะกลายเป็นเขตร้าง ดังนั้น เมื่อถึงจุดหนึ่ง (ดังเช่นจีนในวันนี้) จึงจำเป็นต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและหันมาส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศ

นักเศรษฐศาสตร์จีนให้เหตุผลไว้ 4 ข้อว่าเพราะเหตุใด คนจีนจึงไม่บริโภค (หรือยังบริโภคไม่ได้มากเท่าที่ควรจะเป็น) หากรัฐบาลจีนสามารถแก้ที่สาเหตุเหล่านี้ได้ ก็จะช่วยเพิ่มพลังการบริโภค ซึ่งจะส่งผลให้ GDP จีนสามารถเติบโตต่อไปได้อย่างยั่งยืน โดยไม่ต้องพึ่งพิงการอัดฉีดเงินลงทุน อันมีความเสี่ยงจะก่อให้เกิดปัญหาหนี้และการผลิตเกินตัว ซึ่งจะกลายเป็นระเบิดเวลาลูกใหญ่ที่อาจลามเป็นวิกฤติได้

สำหรับเหตุผล 4 ข้อ ที่ทำให้คนจีนไม่บริโภคเท่าที่ควรจะเป็น มีดังนี้ครับ

หนึ่ง ช่องว่างรายได้ระหว่างบริษัทและบุคคล มีคำพูดที่พูดกันบ่อยในจีนว่า “รัฐบาลจีนรวย แต่คนจีนจน” รัฐบาลจีนในที่นี้หมายถึงรัฐวิสาหกิจจีน ซึ่งทำรายได้มากมายจากการลงทุน แต่รัฐวิสาหกิจและบริษัทจีนเมื่อได้รายได้มาแล้ว ก็มักจะนำไปขยายการลงทุนต่อ ดังนั้นจึงไม่ทำให้เกิดพลังการบริโภค ทางแก้จึงต้องหาทางยกระดับรายได้ของบุคคลแทน โดยต้องหันมาส่งเสริมภาคบริการและธุรกิจของผู้ประกอบการรายย่อยให้มากขึ้น ลดการส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมลง เพราะภาคบริการเป็นภาคที่ใช้แรงงานมาก รายได้ในภาคบริการจึงมักจะเข้ากระเป๋าของบุคคลรายย่อย แตกต่างจากรายได้ในภาคอุตสาหกรรมซึ่งมักจะเข้ากระเป๋ารัฐวิสาหกิจและบริษัทใหญ่ๆ

สอง ช่องว่างทางรายได้ระหว่างคนรวยและคนจน รวมทั้งอัตราการเติบโตของรายได้คนจนที่ค่อนข้างต่ำ หลักคิดทางเศรษฐศาสตร์ก็คือ เงินในกระเป๋าที่เพิ่มขึ้นมาหนึ่งหน่วยของคนรวย คนรวยมักไม่ได้ใช้จับจ่ายใช้สอยในสัดส่วนที่มาก ในขณะที่เงินในกระเป๋าที่เพิ่มขึ้นมาหนึ่งหน่วยของคนจน มักจะเอาไปใช้จับจ่ายใช้สอยในสัดส่วนที่สูงกว่า เพราะคนรวยเดิมก็มีเงินเพียงพอสำหรับจับจ่ายใช้สอยของใช้ทั่วไปอยู่แล้ว ถ้าได้เงินเพิ่มขึ้นอีกก็อาจจะเลือกเอาไปเก็บออมหรือลงทุนต่อ แทนที่จะใช้บริโภค ตรงกันข้าม คนจนยังมีของใช้สอยที่ต้องการบริโภคอยู่ เพียงแต่เดิมยังไม่มีเงิน ดังนั้นเมื่อมีเงินเพิ่มขึ้นมาหนึ่งหน่วย คนจนจึงมักเลือกใช้เงินนั้นในการบริโภค ด้วยเหตุนี้ หากรัฐบาลจีนต้องการเพิ่มการบริโภค ก็ต้องเร่งรัดพัฒนาชนบท กำจัดความยากจน และเพิ่มรายได้ให้แก่คนชั้นล่าง ซึ่งจะนำไปสู่การปลดปล่อยพลังการบริโภคระลอกใหม่ (ราว 600 ล้านคน)

สาม ระบบสวัสดิการในจีนยังไม่พร้อมและไม่คลอบคลุม ดังนั้น จึงทำให้คนจีนมักต้องเก็บเงินสำหรับรับมือกับชะตากรรมในอนาคตที่คาดเดาไม่ได้ เช่น เตรียมการสำหรับเวลาที่ตนเองเจ็บป่วยและในยามแก่ชรา รวมทั้งสำรองเป็นทุนสำหรับการศึกษาของลูกหลาน  ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ถ้าระบบสวัสดิการดีกว่านี้ เช่น รัฐบาลจีนมีการส่งเสริมด้านการศึกษาที่มีคุณภาพและมีหลักประกันสุขภาพที่ดี คนจีนก็น่าจะเบาใจสามารถบริโภคจับจ่ายใช้สอยได้มากขึ้น ไม่ต้องมานั่งกังวลเก็บตุนเงินเผื่อไว้สำหรับอนาคต

ปัญหาเรื่องระบบสวัสดิการ ยังเป็นปัญหาใหญ่สำหรับคนงานชนบทที่เข้ามารับจ้างทำงานในเขตเมือง เพราะด้วยระบบทะเบียนครัวเรือนของจีน คนชนบทที่อพยพเข้ามาทำงานในเมืองจะไม่ได้รับสวัสดิการทัดเทียมกับคนที่มีทะเบียนอยู่ในเมือง มีการวิจัยพบว่า คนชนบทอพยพเหล่านี้ มักจับจ่ายใช้สอยน้อยกว่าคนเมืองที่มีระดับรายได้เท่ากันถึงราว 20 เปอร์เซ็นต์ เพราะจำเป็นต้องเก็บออมเงินไว้เผื่อเจ็บป่วย หรือเผื่อตัดสินใจกลับไปทำมาหากินที่บ้านเกิดในอนาคต จะได้มีเงินก้อนเหลือกลับไปตั้งตัว ดังนั้น เรื่องการพัฒนาระบบสวัสดิการและการปฏิรูประบบทะเบียนครัวเรือน จึงนับว่าเป็นโจทย์ใหญ่มากที่ท้าทายรัฐบาลจีน

สี่ ปัญหาคุณภาพสินค้าในประเทศจีนเองที่ไม่ตอบโจทย์ผู้บริโภค โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคชนชั้นกลางและกลุ่มผู้มีรายได้สูง คนจีนจำนวนมากนิยมออกไปจับจ่ายใช้สอยช็อปปิ้งในต่างประเทศ เพราะสินค้าคุณภาพภายในจีนยังมีไม่เพียงพอกับความต้องการ ดังนั้น จึงมีการบริโภคส่วนหนึ่งที่แต่เดิมควรเป็นการบริโภคในประเทศได้ แต่กลับต้องไปบริโภคต่างประเทศ นโยบายของรัฐบาลจีนจึงชัดเจนว่าเน้นส่งเสริมการพัฒนาสินค้าคุณภาพและสินค้านวัตกรรม เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคชนชั้นกลางและกลุ่มผู้มีรายได้สูง (ราว 400 ล้านคน)

โจทย์เรื่องการส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศ จึงเป็นเรื่องใหญ่และท้าทายรัฐบาลจีน และเชื่อมโยงกับเรื่องพื้นฐานสำคัญที่จะเป็นตัวชี้ความยั่งยืนของเศรษฐกิจจีนต่อไปข้างหน้า นั่นก็คือ การยกระดับรายได้ ระบบสวัสดิการ และคุณภาพสินค้าจีนนั่นเองครับ

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save