fbpx
‘ปรัชญา’ และการค้นหา ‘ภูมิศาสตร์’ ของชีวิต : ธีรเชษฐ์ โรจน์รัชสมบัติ - เด็กไทยที่ได้รางวัลโอลิมปิกวิชาการจาก 2 สาขา

‘ปรัชญา’ และการค้นหา ‘ภูมิศาสตร์’ ของชีวิต : ธีรเชษฐ์ โรจน์รัชสมบัติ – เด็กไทยที่ได้รางวัลโอลิมปิกวิชาการจาก 2 สาขา

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย เรื่อง

 

ช่วงเดือนที่ผ่านมา มีข่าวคราวเกี่ยวกับเด็กไทยที่ได้รางวัล Honorable mention จากการไปแข่งขันโอลิมปิกวิชาการด้านปรัชญา ในปี 2018 ที่มอนเตรเนโกร  สิ่งที่น่าสนใจคือ ในประเทศที่ไม่มีการสอนปรัชญาในห้องเรียน กลับมีเด็กได้รางวัลกลับมาจากการไปแข่งครั้งแรก

‘ไดร์ฟ’ หรือ ธีรเชษฐ์ โรจน์รัชสมบัติ คือเด็กหนุ่มอายุ 18 ปี ที่มีความหลงใหลในปรัชญาและภูมิศาสตร์ โดยก่อนหน้านี้ในปี 2017 เขาเคยคว้าเหรียญทองโอลิมปิกวิชาการด้านภูมิศาสตร์ ด้วยอันดับ 10 ของโลก

จากนิสัยขี้สงสัย ชอบค้นคว้าตั้งแต่เด็ก ทำให้เขาชอบขลุกตัวอยู่กับหนังสือ และอีกหนึ่งของเล่นที่ไม่ยอมให้ห่างตัว คือลูกโลกจำลอง ไดร์ฟพูดติดตลกว่า “ผมนั่งจ้องลูกโลกได้ทั้งวัน” นั่นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เขาจะจำประเทศได้ทั่วโลกตั้งแต่เรียนอนุบาล

ชีวิตของไดร์ฟ ดูเป็นไปตามขนบของเด็กเรียนดีในประเทศไทย แต่เมื่อได้พูดคุยกันลึกๆ เราพบว่าเขามีแง่มุมที่เมามันและน่าค้นหาซ่อนอยู่อีกมาก

หลังจากได้ทุนเรียนต่อด้านภูมิศาสตร์จาก สสวท. จนถึงปริญญาเอก ตอนนี้เขาบินข้ามฟ้าไปศึกษาที่โรงเรียน Loomis Chaffee ที่รัฐคอนเนตทิคัต เพื่อเตรียมตัวสอบเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยที่สหรัฐอเมริกา

ในประเทศไทยที่การตั้งคำถามยังคงเป็นเรื่องน่าลำบากใจ เด็กที่ชอบตั้งคำถามอย่างเขา เติบโตและใช้ชีวิตมาอย่างไร และในฐานะที่ผ่านเวทีโอลิมปิกวิชาการมาหลายครั้ง เขามีมุมมองแบบไหนต่อปรัชญา ภูมิศาสตร์ การใช้ชีวิต ไปจนถึงการศึกษาไทย

ไดร์ฟนั่งสนทนาข้ามโลกกับ 101 อยู่ในหอพักนักเรียนที่อเมริกา และแอบกระซิบว่า ยังไม่ได้ทานเค้กที่เพื่อนเพิ่งเอามาให้

บทสนทนานี้เต็มไปด้วยการวิพากษ์โลก และวิจารณ์ตัวเองอย่างน่าสนใจ

ธีรเชษฐ์ โรจน์รัชสมบัติ,  โอลิมปิกวิชาการ

ตอนเด็กโตมาแบบไหน ทำไมจึงสนใจปรัชญาและภูมิศาสตร์

ผมเป็นคนขี้สงสัยมาก ถามอยู่นั่นแหละ ถามเรื่องที่คนอื่นไม่ค่อยพอใจด้วย เช่น ทำไมต้องทำอย่างนั้น ทำไมต้องเป็นอย่างนี้ รู้ได้ไง เชื่อได้ไง ก็เป็นคำถามทางปรัชญานั่นแหละครับ เป็นคำถามพื้นฐานของมนุษย์ แต่พอถามเยอะๆ เข้า ก็ทำให้เป็นรากฐานนิสัยส่วนตัวจนถึงทุกวันนี้

เรื่องภูมิศาสตร์หรือปรัชญาเป็นเรื่องที่ผมประสบความสำเร็จ ไปแข่งได้รางวัลก็เลยเด่นเรื่องนี้ขึ้นมา แต่ความจริงคือผมชอบไปซะทุกเรื่อง สนใจไปทั่ว ทุกอย่างตั้งต้นมาจากความอยากรู้อยากเห็นของตัวเอง ต้องรู้ให้ได้ ต้องศึกษาต่อให้ได้ จนกว่าจะรู้เรื่องนั้น เลยติดนิสัยมาถึงปัจจุบัน

พ่อแม่ก็สนับสนุนด้วยครับ อยากเรียนอะไร สนใจอะไร สนับสนุนเต็มที่ แล้วไม่บังคับด้วยว่าต้องเรียนพิเศษ ส่วนใหญ่เขาจะถามว่าเราอยากเรียนไหม แล้วที่สำคัญมากๆ คือตอนเด็กๆ พ่อแม่คุยภาษาอังกฤษกับผมตลอดเวลา ให้เพื่อนของพ่อมาอ่านหนังสือภาษาอังกฤษให้ฟัง บางทีก็ออกนอกเรื่องไปสอนวิทยาศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ข้างในโลกเป็นยังไง ชั้นภูมิศาสตร์เป็นยังไง โลกเมื่อร้อยล้านปีก่อนเป็นยังไง ก็ทำให้เราสนใจวิทยาศาสตร์ สนใจสิ่งต่างๆ รอบตัว เราก็ชอบไปอยู่ในร้านหนังสือ ของเล่นคือหนังสือ แม่บอกว่าถ้าผมร้องไห้ โยนหนังสือให้เล่มนึงก็จะหยุดร้อง ก็เลยผิดปรกติตรงนี้นี่แหละครับ (หัวเราะ)

นอกจากครอบครัวสนับสนุนแล้ว ที่โรงเรียนเป็นยังไงบ้าง

ก็ได้ความรู้ทั่วๆ ไปจากโรงเรียนมาบ้างแหละครับ แต่ก็ไม่เท่ากับความอยากรู้อยากเห็นของตัวเอง ผมรู้สึกว่าตอนอยู่ประถม แอบเสียเวลานิดนึง คือโรงเรียนใช้เวลาเยอะไปกับการสอนบางเรื่อง

 

ยังไง?

โรงเรียนสำคัญมากตรงที่ทำให้เราได้เข้าสังคม อยู่กับสังคมมนุษย์เป็น ทำงานเป็นกลุ่มได้ แต่โรงเรียนกลับไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอันดับหนึ่ง กลายเป็นต้องป้อนข้อมูลให้เด็ก มองว่าการทำให้เด็กมีความรู้เป็นสิ่งสำคัญอันดับหนึ่งของโรงเรียน

การศึกษาไทยมีจุดศูนย์กลางเป็นการสอบ สอบวัดระดับ สอบเข้ามหา’ลัย ทุกอย่างหมุนรอบการสอบ เราเรียนก็เพื่อทำให้สอบได้ เนื้อหาที่เรียนก็เลยวนอยู่กับการที่ต้องสอบได้ แต่ไม่ได้เรียนเพื่อให้เป็นมนุษย์ที่ดีขึ้น เราไม่ได้ไปโรงเรียนเพื่อฝึกทักษะอื่นๆ ที่สำคัญในโลกปัจจุบัน

ถ้ามองย้อนไป ผมรู้สึกว่าตัวเองโดนปั้นตามแม่พิมพ์ การศึกษาไทยอยากให้เด็กเป็นยังไง เราก็ต้องเป็นแบบนั้น แล้วเราอยู่ในสภาวะนั้นตั้งหลายปี ตั้งแต่เริ่มเข้าอนุบาลจนถึง ม.ต้น เช่น ถ้าเป็นเด็กเก่ง ก็ต้องเป็นอย่างนี้ๆ ต้องเรียนแบบนี้ๆ ไปเรื่อยๆ พอจบ ม.3 สอบติดโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เข้าสายวิทย์-คณิต เตรียมเป็นหมอ เรียนดี ชีวิตที่ผ่านมาเราโดนปั้นมาแบบนั้น

แล้วตอนนั้นที่ยังอยู่ในแม่พิมพ์ เริ่มรู้สึกหรือยัง หรือเพิ่งรู้สึกตอนออกมาแล้ว

ไม่รู้สึกครับ เพิ่งเริ่มถามตัวเองตอนขึ้น ม.ปลาย เริ่มรับโรงเรียนไม่ไหวแล้ว มันยากเกินไป คือมีหลายประเด็นครับ เศร้าบ้าง ไม่มีเพื่อนบ้าง เครียดบ้าง เป็นซึมเศร้าบ้าง แล้วตอนนั้นก็สับสนชีวิตมากๆ ว่าจะเอายังไงกับตัวเองต่อ รู้สึกว่าถ้าจะเอาตามความอยากเป็นหมอต่อไป ไม่รอดแน่ๆ ไม่อยากใช้ชีวิตกับอะไรแบบนี้

คุณไม่ได้อยากเป็นหมอ?

คืออยากช่วยคนนะครับ ผมมีเป้าหมายชีวิตว่าอยากพัฒนาโลกให้ดีขึ้น สามารถช่วยคนเป็นล้านๆ ได้ ทำยังไงก็ได้ ด้วยวิธีไหนก็ได้ แล้วหมอก็เป็นคำตอบที่ง่ายที่สุด แต่ผมรู้สึกว่า ไม่ใช่ เราไม่อยากมีชีวิตแบบนั้น แต่อยากมีชีวิตเป็นของตัวเอง สร้างขึ้นมาเอง กำหนดเอง ไม่ใช่ชีวิตที่ถูกสังคมปั้นขึ้นมา

ผมมีจุดเปลี่ยนชีวิตช่วงกลางปี 2016 ได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับการพัฒนาตัวเอง เช่น ใช้ชีวิตยังไง การอยู่ร่วมกับผู้อื่น การบริหารเวลา ผมก็พยายามใช้ชีวิตตามหนังสือพวกนั้น แล้วชีวิตก็ดีขึ้นจริงๆ ดีขึ้นมากๆ

ดีขึ้นยังไง

ใช้ชีวิตอย่างมีเป้าหมายมากขึ้น พอเริ่มมีคำถามกวนใจบ่อยๆ ว่าตกลงอยากทำอะไรกันแน่ ก็เจอคำตอบว่า เราพยายามใช้ชีวิตให้ authentic ที่สุด เป็นคำที่ผมใช้บ่อยมาก ไม่มีคำแปลไทย แต่ตรงกับสิ่งที่ผมอยากใช้ที่สุดแล้ว คือแนวๆ ว่า เราเกิดมามีชีวิตเดียวจะใช้ยังไงให้ดีที่สุด เป็นตัวของตัวเองที่สุด สมมติว่าเราจะตาย เราก็ไม่เสียดายที่ได้ใช้ชีวิต ไม่ใช่ชีวิตที่ใช้ทิ้งๆ ขว้างๆ เพื่อบางสิ่งบางอย่าง และไม่ใช่ชีวิตที่ถูกกำหนดจากความต้องการของผู้อื่น

แนวคิดเหล่านี้ส่งผลให้คุณตัดสินใจมุ่งไปทางภูมิศาสตร์ หรือปรัชญาเลยไหม

ในช่วงเวลาเดียวกับที่เจอหนังสือพวกนั้น ก็มีโปรแกรมติวภูมิศาสตร์โอลิมปิก เขาก็มาหาว่าใครอยากไปบ้าง เดี๋ยวมีครูติวให้ ผมก็สมัครไป ปรากฏว่าผมเข้ารอบลึกขึ้นเรื่อยๆ จนมาถึงรอบสุดท้าย แข่งเพื่อคัดผู้แทนประเทศ เขาต้องการ 4 คน แต่ผมได้ที่ 6 ตอนนั้นก็ล้มเหลว เฟล เลยเริ่มใหม่

ผมใช้เวลาตอน ม.5 ทั้งปี เตรียมแข่งภูมิศาสตร์โอลิมปิก เรามี ม.ปลายแค่ครั้งเดียว อยากเอาให้เต็มที่ แล้วถ้าได้ เราก็จะมีโอกาสได้ทุนไปเรียนต่างประเทศ ก็เป็นแรงจูงใจยิ่งขึ้นไปอีก อยากพิสูจน์ตัวเองด้วย แล้วผมชอบวิชานี้มาตั้งแต่เด็ก ก็ทำต่อไปเรื่อยๆ จนได้เป็นผู้แทนประเทศ แล้วก็แข่งได้เหรียญทองกลับมา

หลังจากนั้น ผมไปเจอว่ามีจัดแข่งปรัชญาโอลิมปิกด้วย ก็ไปขออาจารย์ว่าสนใจจัดติวปรัชญาโอลิมปิกไหม อาจารย์ก็จัดให้ ผมอ่านหนังสือปรัชญาไปเรื่อยๆ แล้วก็ยิ่งค้นพบตัวเองมากขึ้น กระจ่างกับอะไรต่างๆ มากขึ้น มีชีวิตที่ดีขึ้น เหมือนตอนที่อ่านหนังสือพัฒนาตัวเองเลย แต่อันนี้คือปรัชญาแท้ๆ ยิ่งลึกเข้าไปใหญ่ เข้าไปถึงจิตวิญญาณมากขึ้น ชีวิตผมก็เปลี่ยนตั้งแต่ตอนนั้น

ตอนแข่งปรัชญาโอลิมปิก เขาถามอะไรเรา

เขาให้คำพูดนักปรัชญามา 4 คน แล้วให้เลือกมาอันนึง ให้เขียนวิพากษ์วิจารณ์อะไรก็ได้ เป็นเรียงความ ตั้งหัวข้อเอง ให้เวลา 4 ชั่วโมง เลือกเขียนได้ 4 ภาษา อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน สเปน แต่ห้ามเขียนด้วยภาษาแม่ตัวเอง ต้องเขียนในภาษาที่ 2 เราจะเขียนยอมรับ สนับสนุน ตอบโต้ ไม่เห็นด้วย หรือไม่ชอบ ก็แล้วแต่จะเขียนเลย

ผมเลือกของอิมมานูเอล คานท์ เป็นนักปรัชญาที่มีชีวิตอยู่เมื่อประมาณ 300 ปีที่แล้ว เขาบอกว่า “เนื่องจากชุมชนสากลที่ (แคบกว่าหรือกว้างกว่า) มีอยู่ทั่วไปท่ามกลางประชากรต่างๆ ในโลก การละเมิดสิทธิของประชากรเหล่านั้นในที่ใดที่หนึ่งบนโลกนี้ จะรู้สึกไปทุกแห่งหน” (“Because a (narrower or wider) universal community widely prevails among the Earth’s peoples, a transgression of rights in one place in the world is felt everywhere […].”)

ผมก็เลยเอาด้านที่ตัวเองถนัด คือเรื่องปรัชญาสิ่งแวดล้อม ตอบคำถามในพาร์ทแรกไปว่า การละเมิดสิทธิคืออะไร ทำไมมนุษย์ต้องรู้สึกด้วย แล้วพาร์ทสองก็บอกว่า ที่รู้สึกเพราะเราอยู่ในชุมชนเดียวกัน จริงๆ แล้วสิ่งแวดล้อมรอบตัวเราทุกอย่าง ป่าไม้ ดิน พืช สัตว์ ก็เป็นชุมชนเดียวกับเรา ในเมื่อเป็นชุมชนเดียวกัน เราก็ต้องรู้สึกเหมือนกันสิ รู้สึกถึงการละเมิดสิทธิสิ่งแวดล้อมเหมือนกัน ที่ผมทำคือสนับสนุนให้เขามีเหตุผลมากขึ้น แล้วก็ไปขยายความให้ว่าไม่ใช่แค่คน แต่เป็นทั้งโลก เป็นสิ่งแวดล้อมด้วย

ทุกประเทศที่ส่งไปแข่ง ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวที่ไม่มีสอนปรัชญาในโรงเรียน แต่ได้รางวัลปรัชญาโอลิมปิก ชนะประเทศกรีซที่เป็นต้นกำเนิดของปรัชญา ผมก็ดีใจมาก

ธีรเชษฐ์ โรจน์รัชสมบัติ.  รางวัลโอมลิมปิกวิชาการ

การอ่านปรัชญาในหนังสือ อาจเป็นปรัชญาในขนบรึเปล่า คุณมองว่าปรัชญาที่แท้จริงคืออะไร 

ตามขนบก็ได้ จะเรียนตามคนอื่นก็ได้ แต่แท้จริงแล้ว ปรัชญาก็คือการตั้งคำถาม สงสัย คิดวิเคราะห์ ถ้าเกิดเราพยายามตอบคำถามแล้วขัดกับคนอื่น ก็เถียงกันว่าอะไรคือความจริง เป็นการค้นหาความจริงอย่างหนึ่ง

มีนักปรัชญาที่ชอบ หรือคนที่มีแนวคิดใกล้เคียงกับคุณไหม

จริงๆ ก็ไม่ได้มีแบบเจาะจงขนาดนั้น ผมอ่านเยอะ เลยได้รับอิทธิพลจากนักปรัชญาเยอะมาก แต่ถ้าให้เลือก ก็คงเลือกแนวคิด Existentialist เป็นแนวปรัชญาที่ให้ความสำคัญกับอิสรภาพในการเลือกเส้นทางชีวิตของตัวเอง ประมาณว่าจริงๆ แล้ว เรามีอิสระในการเลือกชีวิตของเรามากๆ มีอิสระเยอะมากๆ จนน่ากลัว คนเราก็เลยพยายามทำตามสิ่งที่กำหนดไว้แล้ว เช่น ศาสนา แนวสังคม ความคิดตามธรรมเนียมเดิม เพราะจริงๆ แล้วเรากลัวที่จะเลือก กลัวที่จะกำหนดเส้นทางชีวิตของตัวเอง

มีหลายๆ อย่างที่เราเลือกไม่ได้ แต่เราสามารถเลือกการตอบโต้ของเราได้ เราจะมองโลกในแง่ดีหรือแง่ร้ายก็ได้ เหมือนว่า เราโดนโยนเข้ามาบนโลกนี้ สิ่งสำคัญอยู่ที่ว่า เราจะทำยังไงกับสิ่งที่ได้มา ถ้าเราใช้ให้คุ้ม ให้เต็มที่ ก็ดี หรือเราจะใช้ไม่เต็มที่ ไม่คุ้ม ก็ได้ ก็แล้วแต่ อันนี้คือปรัชญาที่ผมได้รับอิทธิพลมากที่สุด จริงๆ ปรัชญาเป็นเรื่องใกล้ตัวเรามาก

แล้วชีวิตของการเป็นเด็กในประเทศไทย บางทีก็เหมือนจะเลือกไม่ได้ขนาดนั้น คุณมองยังไง

ประเทศไทยไม่ชอบปรัชญา เราขี้เกียจตั้งคำถาม คิด ตอบ เถียง ก็เลยใช้คำตอบที่มีอยู่แล้ว เช่น ศาสนาหรือความเชื่อที่ส่งต่อกันมาในสังคม คนเรารับความคิดพวกนี้มาโดยไม่ตั้งคำถามเลยว่า จริงรึเปล่า พิสูจน์ได้รึเปล่า เราเชื่อเพราะอะไร เราเชื่อเพราะมันจริง หรือเพราะคนอื่นบอกว่ามันจริง เราควรจะเห็นชอบได้ด้วยตัวเอง ไม่ใช่แค่รับมาเฉยๆ โดยไม่ไตร่ตรองอะไรเลย ถ้าเราไม่ไตร่ตรองก่อน ก็เหมือนเป็นการฆ่าตัวตายทางความคิด เราก็เป็นซอมบี้ที่รับความคิดมาก็เท่านั้น

ลักษณะของคนไทย ไม่ค่อยตั้งคำถาม?

ใช่ เพราะว่าระบบทุกอย่างในประเทศไทย ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อไม่ให้ตั้งคำถาม ระบบการศึกษาก็ไม่เอื้อต่อการตั้งคำถาม ถ้าเราตั้งคำถามอะไรหน่อยก็หาว่าเถียง กล้าเถียงผู้ใหญ่เหรอ

คือถ้าคนตั้งคำถามเป็น แล้วระบบที่มีอยู่จะเป็นยังไง เอาแค่ตั้งคำถามเกี่ยวกับชาติหรือศาสนา โดยไม่ต้องพยายามตอบด้วยนะ ทุกอย่างก็สะเทือนแล้ว ถ้าคนไทยตั้งคำถามเป็น ระบบหลายอย่างจะพังทลายลงมา คนที่อยากให้ทุกอย่างอยู่คงเดิมก็เลยไม่สนับสนุนให้คนไทยตั้งคำถาม เราไม่ได้ให้ความสำคัญกับเหตุและผลขนาดนั้น ไม่ได้ใช้ความคิดอย่างลึกซึ้งขนาดนั้น

ดูเหมือนว่าในไทย การเรียนปรัชญาเป็นสิ่งที่แทบจะเข้าใจไม่ได้เลยว่าคืออะไร

ใช่ครับ พอเราพูดถึงคนที่เรียนปรัชญาปุ๊บ โอ๊ย คุยไม่รู้เรื่องหรอก เรียนปรัชญาแล้วทำอะไรกิน แต่ผมกลับรู้สึกว่า เราควรมองว่าการเรียนปรัชญาเป็นศิลปะแห่งการใช้ชีวิต เป็น art of living หรือ art of thinking ไม่ใช่เรียนเพื่อจะเอาไปทำอะไร แต่เรียนเพื่อเสริมชีวิตตัวเอง เสริมการอยู่ร่วมกันในสังคม และอื่นๆ อีกมากมาย

ปรัชญาหลายๆ อย่าง ไปเสริมความรู้ในด้านอื่น เช่น คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เรื่องการใช้เหตุผล ปรัชญาควรเป็นวิชาในชั้นเรียนประถม มัธยม เรียนให้ตั้งคำถามเป็น เรียนให้คิดวิเคราะห์เป็น

ธีรเชษฐ์ โรจน์รัชสมบัติ

ถ้ามีคนแค่ตั้งคำถามเกี่ยวกับชาติหรือศาสนา ไม่ได้พยายามตอบด้วยนะ ทุกอย่างก็สะเทือนแล้ว ถ้าคนไทยตั้งคำถามเป็น ระบบหลายอย่างจะพังทลายลงมา คนที่อยากให้ทุกอย่างอยู่คงเดิมก็เลยไม่สนับสนุนให้คนไทยตั้งคำถาม

คุณอยู่ในระบบการศึกษาแบบไทยๆ แล้วพอขยับไปสู่โลกที่กว้างขึ้น เห็นความแตกต่างอะไรบ้าง

เห็นว่าความรู้กว้างกว่าที่เราคิด การศึกษาไทยเน้นการสอนอะไรที่ไม่จำเป็นต้องสอนในโลกปัจจุบัน เช่น สอนป้อนข้อมูลเป็นหลัก ทุกคนฟังครู ไม่ค่อยตั้งคำถาม เรียนๆ ไป ถ้าสอนแบบนี้ทำไมไม่เอาขึ้นเน็ตล่ะ ทำไมไม่ให้ครูที่ดีที่สุดสอนทุกคนไปเลย หรือครูที่เหมาะสมกับนักเรียนคนนั้น ประเด็นนี้ก็เลยสะท้อนออกมาในรูปของกวดวิชา เด็กพยายามจะไปหาครูที่ดีที่สุด ไม่รอครูที่มีอยู่ในโรงเรียน เราสามารถเสิร์ชเน็ตแล้วหาบทเรียนพวกนี้ได้แล้ว

แต่พอพูดแบบนี้ ก็จะมีคนตั้งคำถามต่อมาว่า เอ้า อย่างนี้ก็ไม่ต้องมีโรงเรียนสิ ผมก็คิดว่าโรงเรียนยังสำคัญอยู่ เป็นสิ่งที่ควรมี แต่โรงเรียนควรจะให้ความสำคัญกับสิ่งอื่นๆ บ้าง การมาโรงเรียนไม่ใช่แค่การมาเอาความรู้ แต่ได้การอยู่ร่วมกันในสังคมกับเพื่อน โรงเรียนทำให้เราได้ทักษะในการทำงานร่วมกับผู้อื่น การรับฟังผู้อื่น การเห็นอกเห็นใจ ความคิดสร้างสรรค์ การแก้ปัญหาเชิงซับซ้อน การวิเคราะห์ปัญหา การเข้าใจโลก การเป็นพลเมือง การเขียน การพูด ความรับผิดชอบทางสังคม ความรู้ในด้านเทคโนโลยี ซึ่งเป็นทักษะที่ไม่ได้จากการสอน ทักษะพวกนี้สำคัญมากๆ ในศตวรรษนี้ เรียกว่าเป็น 21st century skills

บทเรียนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ สังคม ศิลปะ ควรจะรายล้อมทักษะพวกนี้แทน โรงเรียนควรเติมเต็มสิ่งที่เทคโนโลยีทำไม่ได้

แล้วโรงเรียนที่คุณเรียนอยู่ในสหรัฐอเมริกาตอนนี้ เขาสอนอะไร บรรยากาศเป็นยังไงบ้าง

โรงเรียนที่ผมอยู่จะคล้ายๆ โรงเรียนเตรียมพร้อมสำหรับเข้ามหา’ลัย อย่างแรกที่เห็นได้ชัดคือ เราเลือกลงวิชาตามใจชอบได้ อยากเรียนอะไรก็เรียน เต็มที่เลย จัดตารางเรียนได้เอง ไม่โดนบังคับให้เรียนทุกอย่าง เด็กวิทย์บางคนอาจไม่อยากเรียนฟิสิกส์ เคมี ชีวะ ทั้งหมด เหมือนที่ถูกบังคับให้เรียนที่ไทย ที่นี่มีอิสระให้เลือกเต็มที่ เขาสามารถเจาะลึกในวิชานั้นๆ  ได้ ในโรงเรียนที่ผมเรียนมีคลาสระดับมหา’ลัยมาสอนในโรงเรียน ม.ปลาย ก็คือความยากเท่ามหา’ลัย เราจะลงเรียนก็ได้ ตามที่ชอบเลย

อย่างผมลงเรียนในคลาสเกี่ยวกับเรื่อง globalization เป็นคลาส discussion โต้เถียงกันว่าด้วยเรื่องโลกาภิวัตน์ เขาสั่งการบ้าน ให้อ่านหนังสือหน้านี้ถึงหน้านี้ พอมาถึงห้องก็คุยกันเรื่องที่อ่าน คุยถึงประเด็นหลายๆ อย่าง คุยทั้งคาบ 1 ชั่วโมง 15 นาที แล้วผมได้อะไรเยอะมากๆ จากการคุยกัน คือมันไม่ใช่แค่ครูป้อน แต่เราเป็นคนป้อน เสนอความคิดตัวเอง ได้ feedback กลับมา ครูตอบโต้กลับมา เป็นการตั้งความคิดแบบเป็นกลุ่มขึ้นมา ได้ทั้งทักษะการพูดคุยในกลุ่ม ได้การคิดวิเคราะห์เป็นของตัวเอง เราตีความหนังสือด้วยตัวเอง

หรืออย่างคลาสภาษาอังกฤษ คลาสวรรณกรรม ก็แบบนี้เลย ไปอ่านหน้านี้ถึงหน้านี้มา อยู่ในห้องก็คุยกันอย่างเดียวเลย โยนคำถามกันไปมา คิดเห็นยังไงกับประโยคนี้บ้าง ทำไมคนเขียนถึงเขียนแบบนี้ พอเป็นการโยนคำถามไปมา เราได้คิดตลอดเวลา นี่ขนาดคลาสภาษาหรือคลาสประวัติศาสตร์ ยังทำให้เป็นแบบนี้ได้

นอกจากการเรียนในห้อง ช่วงนี้คุณต้องเตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัยเพื่อเรียนต่อด้านภูมิศาสตร์ที่ได้ทุนมาถูกไหม

ครับ ปัญหาใหญ่สุด และยุ่งที่สุด ณ ตอนนี้คือ เราต้องหาสอบมหา’ลัยเอง คือการเข้ามหา’ลัยที่อเมริกา ไม่เหมือนไทยตรงการสอบ เราต้องสอบ SAT สอบวัดระดับภาษา คณิตศาสตร์ด้วย แล้วก็ต้องมีจดหมายแนะนำจากครู ต้องเขียน personal essay เขียนเกี่ยวกับตัวเอง ต้องตอบคำถามหลายๆ อย่างด้วย แล้วจะมาเฉือนกันตรงนี้แหละครับ ดูเกรด ดูความประพฤติในโรงเรียน เขาคำนึงถึงทุกอย่างในชีวิตเรา กิจกรรมที่ทำ เราใช้ชีวิตวันนึงทำอะไรบ้าง ไม่ได้ใช้แค่คะแนนสอบ

 ธีรเชษฐ์ โรจน์รัชสมบัติ

 

เหตุผลที่เลือกขอทุนไปเรียนด้านภูมิศาสตร์คืออะไร ชอบอะไรในวิชาภูมิศาสตร์

ภูมิศาสตร์คือการใช้ความรู้หลายๆ ด้านรอบตัวเราในการแก้ปัญหา ทั้งวิทย์ ทั้งศิลป์ ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ เลข สังคมศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์ เทคโนโลยี ทุกศาสตร์ที่มีอยู่แล้ว เอาความรู้มารวมกัน มาเสริมกัน เพื่อวิเคราะห์และแก้ปัญหาบนโลกนี้ เช่น เราถามว่าจะแก้ปัญหามลภาวะทางอากาศยังไง เราก็ต้องวิเคราะห์กันว่า มลภาวะทางอากาศเกิดจากอะไร ลมพัดยังไง อันนี้ก็เป็นอุตุนิยมวิทยา เรื่องสารเคมีในมลภาวะอากาศเกิดจากอะไร ก็เป็นวิชาเคมี มลภาวะมาจากไหน การตั้งโรงงานรึเปล่า ก็เป็นเรื่องเศรษฐศาสตร์ แล้วทำไมไม่มีการห้าม ก็เป็นเรื่องกฎหมาย มลภาวะไม่ดีต่อเรายังไง ก็เป็นเรื่องการแพทย์ เราจะแก้ปัญหานี้ได้ มันต้องเอาทุกศาสตร์มารวมกันเพื่อแก้ปัญหา นี่แหละคือภูมิศาสตร์

ภูมิศาสตร์กับปรัชญามีอะไรเกี่ยวข้องกันมั้ย

เน้นคิดวิเคราะห์ทั้งคู่ ภูมิศาสตร์ก็คือการแก้ปัญหา ต้องวิเคราะห์ตั้งแต่เหตุจนถึงผล ปรัชญาก็เหมือนกัน อาจโฟกัสคนละที่ แต่จริงๆ แล้วทุกวิชาเป็นแบบนี้หมดเลย

เอาจริงๆ คือผมไม่ใช่คนชอบเจาะลึกวิชาใดวิชาหนึ่ง แต่จะชอบไปทั่ว อยากเรียนเยอะๆ หลายๆ เรื่อง ไม่ต้องลึกมาก วิชาภูมิศาสตร์เหมาะสุดแล้ว ผมไม่สามารถจินตนาการตัวเองเรียนเคมีไปจนถึงปริญญาเอกได้ ลงลึกไปมากๆ ไม่ไหวครับ ผมเรียนแค่ 1-2 เดือนก็เบื่อแล้ว รู้สึกว่าเรียนหลายๆ อย่าง แล้วเอามาใช้ร่วมกันดีกว่า

อีกอย่างคือผมเป็นคนที่เซนซิทีฟกับสิ่งแวดล้อม เช่น ภัยพิบัติทางธรรมชาติ โลกร้อน มลภาวะ การตัดไม้ทำลายป่า ก็เลยอยากจะทำงานแบบนี้ เอาชีวิตตัวเองทุ่มกับเรื่องอะไรแบบนี้ รู้สึกมีความหมายต่อตัวเองดี

พ่อแม่ก็สนับสนุนเต็มที่เหมือนเดิม?

ใช่ แต่อาจจะต้องคุยนิดนึงว่า ทำไมถึงมาเลือกแบบนี้ จะเป็นหมออยู่ดีๆ แล้วจะมาทางภูมิศาสตร์เนี่ย โห กว่าจะคุยกับพ่อแม่ได้ ต้องโน้มน้าวเขาหน่อย ก็ยากนิดนึงครับ คือเขาอาจกลัวว่า จะทำงานยังไง อนาคตจะหาเงินยังไง แต่ผมมองว่าเราต้องเอาสิ่งที่ตัวเองทำแล้วมีความสุข ทำแล้วมีความหมาย เป็นตัวตั้งต้นก่อน น่าจะดีกว่า เงินไม่ใช่ทุกอย่าง ความมั่นคงไม่ใช่ทุกอย่าง โดยเฉพาะในโลกปัจจุบันที่เปลี่ยนตลอดเวลา แต่สุดท้ายเขาก็สนับสนุน คือถ้าพ่อแม่ไม่สนับสนุนก็ไม่มีทางมาไกลขนาดนี้

ชีวิตประจำวันที่โรงเรียนในอเมริกาเป็นแบบไหน ไปอยู่คนเดียวและอยู่ไกลขนาดนั้น

ก็เหนื่อยนิดนึง วันเรียนปรกติตื่น 7 โมง ทำธุระส่วนตัว กินข้าว แล้วก็เรียน 4 คาบต่อวัน พอประมาณเกือบสี่โมงเย็น ผมก็ไปลงทีมวิ่ง เป็นวิ่งระยะไกล วันละ 5-10 กิโลฯ เขาเรียกว่า cross country วิ่งผ่านป่า ผ่านไปตามทาง บางวันโค้ชพาไปเทรนนิ่ง ก็ออกกำลังกายอย่างอื่นบ้าง

วิ่งระยะไกลเป็นกีฬาโปรดของผม ทำแล้วมีความสุข ได้สัมผัสตัวเองมากขึ้น สมองโล่ง ไม่ต้องกังวลอะไร แค่เอาเท้าซ้ายไปข้างหน้า แล้วก็เอาเท้าขวาไปข้างหน้า สุดท้ายเราไปได้ไกลขึ้นเรื่อยๆ หลังจากวิ่งเสร็จเราจะมีความสุขมากที่ทำได้ ได้อยู่กับธรรมชาติ ได้มีสติกับสิ่งรอบตัว เป็นความสุขอย่างหนึ่ง

หลังจากนั้นก็เป็นเวลาอิสระครับ นอนอ่านหนังสือ เล่นโทรศัพท์ ดูยูทูป ซึ่งเป็นชีวิตจิตใจนิดนึง (หัวเราะ) แล้วจะมีช่วงประมาณทุ่มครึ่งถึงสามทุ่มครึ่ง เขาจะเรียกว่า study hall ก็คือให้ทุกคนอยู่ในหอ ทำการบ้าน ให้มีวินัย มันก็ต้องทำจริงๆ เพราะการบ้านเยอะ ก็มีออกไปหาเพื่อนบ้าง อาทิตย์ละ 2 ครั้ง ทำกิจกรรมกัน เล่นดอจจ์บอล ว่ายน้ำกัน หรือตอนกลางวันก็มีบาร์บีคิวปาร์ตี้ มีพิซซ่า สิ่งที่ผมพยายามบริหารให้ได้ตอนนี้คือเวลานอน

ถ้าอยากจะคุยกับเพื่อน หรือรุ่นน้องที่กำลังหาความหมายของชีวิตตัวเอง จะบอกอะไร

อาจมีอะไรหลายๆ อย่างที่เราควบคุมไม่ได้ แต่เราตอบสนองต่อสิ่งพวกนั้นยังไง อันนี้เรามีอิสระที่จะเลือก เวลาผมพูด ดูเหมือนว่าผมรู้ไปซะทุกอย่าง แต่จริงๆ แล้วผมก็เป็นแค่เด็กอายุ 18 คนนึงที่พยายามจะใช้ชีวิตให้คุ้มค่าที่สุดเท่านั้น

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save