fbpx
อย่าปะปน facts กับ truth

อย่าปะปน facts กับ truth

วรากรณ์ สามโกเศศ เรื่อง

 

เด็กคนหนึ่งอาจคลอดออกมาโดยไม่มีความสัมพันธ์แต่อย่างใดทางชีววิทยากับผู้คลอดเลยก็เป็นได้ เพราะเป็นลูกที่ฝากท้องมาเกิดเนื่องจากความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ในยุคปัจจุบัน เรื่องนี้ทำให้เห็นว่า facts (ข้อเท็จจริง) กับ truth (ความจริง) คือสองสิ่งที่อาจแตกต่างกันได้ การเข้าใจเรื่องนี้ อาจทำให้มองเห็นบางสิ่งชัดเจนขึ้นบ้างกระมัง

การเอาเชื้ออสุจิของชายผสมกับไข่สุกนอกมดลูก และเอาไปใส่ในมดลูกของหญิงอีกคนหนึ่ง เกิดขึ้นทุกวันจนกลายเป็นธุรกิจรับจ้างท้องขนาดใหญ่ ทั้งอย่างแจ้ง เช่นในอินเดีย และอย่างลับเช่นในไทย เวียดนาม และอีกหลายประเทศ  facts ก็คือเด็กนั้นคลอดออกมาจากเจ้าของมดลูกจริงๆ ซึ่งควรจะเป็นลูกตามความหมายที่เข้าใจกัน แต่ truth ก็คือเป็นลูกของคนอื่น

ภาษาไทยเราเรียก facts ว่าข้อเท็จจริง กล่าวคือมีคำว่า ‘เท็จ’ อยู่ด้วย ซึ่งฟังดูแล้วอาจงง (เช่นเดียวกับ ‘อยู่กันสองต่อสอง’ จริงๆ ก็คือ ‘หนึ่งต่อหนึ่ง’ หรือ ‘เพิ่มขึ้นสองเท่า’ ที่มาจาก double ในภาษาอังกฤษ ซึ่งจริงๆ ก็คือ ‘เพิ่มขึ้นหนึ่งเท่า’ เช่นจาก 2 เป็น 4) แต่โดยแท้จริงแล้วคือ ‘ข้อจริง’ โดยมิได้ต้องการมี ‘เท็จ’ แฝงแต่อย่างใด เช่น facts (ข้อเท็จจริง) ก็คือท่านกำลังอ่านข้อความนี้อยู่ ซึ่งตรงกับ truth หรือความจริง กรณีทั่วไปนั้นมักไม่เป็นปัญหา

เรื่องที่สองของ facts และ truth ที่ไม่ตรงกัน ก็คือเรื่อง GDP (Gross Domestic Product) หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ซึ่งก็คือรายได้รวม (ซึ่งเกิดจากการผลิต) ของทุกหน่วยเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในขอบเขตของประเทศหนึ่งในช่วงเวลา 1 ปี (ไม่รวมรายได้ที่เกิดจากการกระทำผิดกฎหมาย หรือไม่ผ่านการซื้อขายในตลาด)

GDP ถือว่าเป็นตัวเลขสำคัญของทุกประเทศ เพราะแสดงถึงฐานะความกินดีอยู่ดีของสังคมโดยรวม การไม่เปลี่ยนแปลงหรือเปลี่ยนแปลงช้าเป็นสิ่งไม่พึงปรารถนา เพราะสื่อคร่าวๆ ว่าสังคมโดยรวมไม่มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

GDP มาจากการประเมินตัวเลขจากภาคธุรกิจและส่วนต่างๆ และนำมารวมกันเป็นข้อเท็จจริง (facts) ซึ่งเชื่อว่าเป็นความจริง (truth) เพราะพยายามใช้สารพัดวิธีของการประมาณการที่เรียกว่า educated guess คือไม่ใช่การหลับตาเดาสุ่ม (อาจมีบ้างในบางประเทศ) อย่างไรก็ดีประเด็นที่อยากชี้ให้เห็นคือ เราไม่มีทางรู้ได้เลยว่า facts กับ truth ตรงกันหรือไม่

การเอารายได้ของทุกหน่วยเศรษฐกิจมารวมกันตรงๆ เพื่อเป็น GDP นั้นทำไม่ได้ เนื่องจากไม่มีข้อมูล หรือเป็นข้อมูลที่ขาดความแม่นยำ และจะมีการนับซ้อนกันหลายครั้งเนื่องจากเป็นตัวเลขที่บันทึกข้ามช่วงเวลา อีกทั้งมีรายได้ที่เป็นเงินโอน เช่น การให้กัน เล่นการพนัน ฯลฯ ซึ่งมิได้เกิดจากการผลิตรวมอยู่ด้วย ดังนั้นจึงต้องใช้การประเมินตามหลักวิชาดังกล่าวแล้ว

ประเด็นในที่นี้ก็คือ ถึงจะมั่นใจว่าประเมินตัวเลขต่างๆ ได้แม่นยำเพียงใดก็ตาม ก็ไม่มีวันรู้ได้เลยว่าตัวเลข GDP นั้นคือตัวเลขที่ถูกต้อง ถึงแม้จะเอาตัวเลขจากมูลค่าการผลิตของภาคส่วนต่างๆ มาคำนวณหา GDP ด้วยเพื่อตรวจสอบให้ตรงกันก็ตาม (เนื่องจากรายได้รวมของหน่วยเศรษฐกิจทั้งหลายในระบบเศรษฐกิจ จะต้องเท่ากับมูลค่ารวมของการผลิตของทุกภาคส่วนเสมอ) ทั้งนี้เนื่องจากตัวเลขมูลค่าของการผลิตส่วนหนึ่งก็มาจาก educated guess ด้วยเช่นกัน

เราอาจได้ตัวเลข GDP ที่เชื่อว่าแม่นยำ แต่มันก็เป็นเพียง facts ที่ไม่อาจยืนยันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าเป็น truth เนื่องจากเราไม่รู้ว่า truth คืออะไร อุปมาเหมือนกับเราปั้นรูปเหมือนของสุนทรภู่ โดยค้นหาข้อมูลจากประวัติศาสตร์อย่างละเอียดว่าเคยมีคนกล่าวถึงสุนทรภู่ว่าหน้าตาเป็นอย่างไร ไม่ว่าจะเชื่อว่าปั้นได้เหมือนตัวจริงอย่างไร มันก็ยังคงเป็น facts ที่ไม่อาจบอกได้ว่าเป็น truth อยู่ดี เพราะเราไม่มีรูปถ่ายที่จะเอามาเทียบเคียงได้

GDP ที่ผู้คนให้ความสำคัญกันอย่างมากนั้น โดยแท้จริงแล้วจึงเป็นเพียง facts ที่อาจใกล้เคียง truth อย่างมากก็เป็นได้ แต่ไม่มีใครสามารถยืนยันได้ เพราะไม่มีใครรู้ว่าตัวเลขที่ถูกต้องนั้นคืออะไร ธรรมชาติของ GDP ในข้อนี้เป็นจริงกับทุกประเทศ บ่อยครั้งที่เราจริงจังกับมันมากเกินไปจนลืมไปว่ามันไม่ใช่ truth ที่พิสูจน์ได้

อีกประเด็นหนึ่งของความผิดพลาดในการใช้ GDP เป็นตัวชี้ภาวะเศรษฐกิจ ก็คือยังมีรายได้ที่เกิดจากกิจกรรมเศรษฐกิจใต้ดิน (underground economy) ซึ่งหมายถึงการผลิตที่ผิดกฎหมาย เช่น ผลิตยาเสพติด หรือการบริการที่ไม่อยู่ในระบบ เช่น การรับจ้างซ่อมเครื่องซักผ้า ล้างแอร์ หรือไม่ซื้อขายผ่านตลาด เช่น งานบ้านของภรรยา งานที่ลูกหลานช่วย ฯลฯ ทั้งหมดนี้มีมูลค่ามหาศาลแต่มิได้รวมอยู่ใน GDP

ตัวอย่างที่สามของ facts และ truth ก็คือการผ่าตัดเปลี่ยนใบหน้าหรือการเปลี่ยนชื่อ ทำให้ facts เกี่ยวกับตนเองเปลี่ยนแปลงไป แต่ตนเองคือ truth นั้นไม่เปลี่ยนแปลง มีนิสัยอย่างไร มีพฤติกรรมอย่างไร มีความทรงจำและความหลังอย่างไรก็ไม่เปลี่ยนไป truth ก็คือยังเป็นบุคคลเดิมที่มีหมายเลขประชาชนเดิมอยู่ดี

คนไปบวช หรือนุ่งขาวห่มขาว ปฏิบัติธรรมเพื่อสร้างภาพอย่างขาดความจริงใจก็เช่นกัน facts อาจเปลี่ยนไปโดยดูน่าเชื่อถือขึ้นในสายตาคนอื่น แต่ truth ก็คือยังเป็นคนเดิมทุกประการ จะหลอกได้ก็แต่คนที่ไม่เข้าใจว่า facts กับ truth นั้นแตกต่างกันได้

อีกตัวอย่างก็คือ ฉลากบอกปริมาณไขมัน น้ำตาล สารประกอบอาหาร ฯลฯ บนภาชนะที่เราซื้อไปบริโภค เมื่อป้ายระบุว่ามีไขมัน มีน้ำตาล สารกันบูด หรือสารปรุงแต่งสี รส กลิ่น เท่ากับศูนย์เปอร์เซ็นต์ นั่นคือ facts แต่ไม่ใช่ truth เนื่องจากกฎเกณฑ์ในหลายประเทศรวมทั้งไทย อนุโลมว่าหากมีสารเหล่านี้อยู่ต่ำกว่าห้าเปอร์เซ็นต์ก็ให้ถือว่าเป็นศูนย์ได้ ดังนั้นเราจึงเห็นฉลากที่ระบุว่าไม่มีสารเหล่านี้อยู่เลย ทั้งๆ ที่ truth ก็คืออาจมีสารเหล่านี้ และอาจมีถึง 4.99% ก็เป็นได้

ข้อแตกต่างระหว่าง facts และ truth ทำให้เราต้องระแวงและระวังว่าสิ่งที่เห็นว่าเป็น facts อย่างมั่นใจนั้น อาจไม่ใช่ truth ก็เป็นได้ เช่น ณ จุดหนึ่งของเวลา facts และ truth อาจตรงกัน เช่น ยารักษาโรคที่ได้ผล แต่เมื่อวันเวลาผ่านไปจนยาหมดอายุ ประสิทธิภาพก็ลดหรือหมดไป facts กับ truth ก็จะแยกจากกัน

ตัวมนุษย์นั้นมีข้อแตกต่างระหว่าง facts และ truth ที่ลึกซึ้งและซับซ้อนมาก หน้าตาท่าทางอาจดูน่าเชื่อถือว่าเป็นคนดี (facts) และลึกเข้าไปก็เป็นคนดีจริงๆ (truth) แต่เมื่อวันเวลาผ่านไป facts ยังเป็นเหมือนเดิมเพราะบุคลิกภาพเปลี่ยนได้ยาก แต่ข้างในนั้นไม่ใช่คนเดิมเสียแล้ว facts กับ truth แยกทางกันเดินได้อย่างน่าเศร้าใจ

truth นั้นเป็นของจริงแท้ เช่นการเกิดแก่เจ็บตายและความดี อีกทั้ง truth ยังเป็นบ่อเกิดของความจริงใจ ความสัตย์ ความซื่อตรง ความจงรักภักดี ความซื่อสัตย์ ฯลฯ คนที่ไม่ปล่อยตัวตามกระแสธารของสิ่งแวดล้อมโดยพยายามรักษาความดีแห่งตนไว้ตลอดแล้ว truth จะเป็นเกราะกำบังให้เสมอ

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save