fbpx
Exclusive : พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง กับภารกิจชักธงพหุวัฒนธรรมขึ้นสู่ยอดเสา

Exclusive : พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง กับภารกิจชักธงพหุวัฒนธรรมขึ้นสู่ยอดเสา

ธิติ มีแต้ม เรื่องและภาพ

 

การเมืองไทยแปรปรวนจนกลายเป็นวิกฤต คล้ายพายุฝนที่สาดซัดใส่สังคมไทยติดต่อกันมาอย่างยาวนาน เมื่อลมเริ่มสงบ และฟ้าทำท่าจะเปิด หลายคนมองเห็นโอกาส หลายคนมองเห็นความหวัง พรรคการเมืองหน้าใหม่ก็ผุดโผล่ขึ้นมา หนึ่งในนั้นคือ พรรคประชาชาติ

อีกราวปีเศษๆ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อดีตเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ต.ค.2554 – พ.ค.2557) จะเกษียณอายุราชการ ทำไมเขาไม่รอถึงวันนั้น แต่ตัดสินใจยื่นใบลาออกจากราชการมาเข็นงานการเมืองเต็มสูบ ในฐานะผู้ร่วมก่อตั้งพรรคฯ รับตำแหน่งเลขาธิการ

วันที่เขาต้องพ้นจากตำแหน่ง เลขาฯ ศอ.บต. ด้วยอำนาจรัฐประหาร ว่ากันว่าประชาชนในพื้นที่ที่แห่กันมาส่งเขายังสนามบินต่างก็หลั่งน้ำตาให้ หลายคนโผสวมกอดแทนความเสียดายในตัวข้าราชการน้ำดี ที่หาได้ยากยิ่งในตำแหน่งนี้

จากตำรวจนักสืบสายเลือดอ่างทอง ผ่านคดีโบว์แดงมาตั้งแต่คดีอุ้มฆ่าสองแม่ลูกศรีธนะขัณฑ์ จับมาเฟียอย่างเฉลิมชัย มัจฉากล่ำ หรือผู้พันตึ๋ง และกลม บางกรวย ก่อนจะข้ามมาดูคดีการเงินอันลืนลั่นอย่างคดี ปรส. ในฐานะอธิบดี DSI 

แต่ที่ผู้คนจดจำได้มากที่สุดคืองานในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีผลต่อความตื่นตัวของสังคมไทยคือความพยายามในการพูดคุยสันติภาพกับขบวนการบีอาร์เอ็น พ.ต.อ.ทวี เป็นหนึ่งในแกนหลักของทีมเจรจาจากฝ่ายไทยเพื่อหาทางออกจากวิกฤตความรุนแรงอันเรื้อรัง

คำถามเบื้องต้นคือ ด้วยทุนชีวิตทั้งหมดที่เขาสะสมมา เมื่อถึงเวลาก้าวขาเข้าสู่สนามการเมือง สายตาของเขาที่มองสังคมไทยจะเปลี่ยนไปอย่างไร อะไรคือธงทางอุดมการณ์ที่เขาจะชักขึ้นสู่ยอดเสา หน้าตาของสังคมไทยที่เขาต้องการขึ้นรูปให้ดูเป็นผู้เป็นคนมากที่สุดเป็นอย่างไร

101 ถามยาวๆ พ.ต.อ.ทวี ก็ตอบยาวๆ เริ่มตั้งแต่บรรทัดถัดไป

 

 

คุยกับตัวเองอย่างไรถึงตัดสินใจก้าวขาเข้าสู่การเมืองเต็มตัว 

ในแวดวงการเมือง ส่วนใหญ่คนที่ไม่อยากเป็นอะไรสุดท้ายก็ต้องมาเป็น ผมก็เป็นหนึ่งในนั้น เพียงแต่ว่าหลังการปฏิวัติ 2549 เราเห็นว่าในทางการเมืองแม้เราไม่อยากจะเข้าไปยุ่ง แต่การเมืองก็มายุ่งกับเราเสมอ

หลังจากปฏิวัติครั้งนั้นไม่นาน ตอนนั้นผมเป็นรองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ผมก็ถูกย้ายไปอยู่ ป.ป.ส. ทำให้เห็นว่าเมื่อเขาปฏิวัติเสร็จ เขาจะเริ่มต้นจัดการข้าราชการก่อน 

ปฏิวัติ 2557 ก็เช่นเดียวกัน เขาก็ย้ายข้าราชการอีกเยอะ ไม่ใช่ผมคนเดียว พอเรามามองลงไปลึกๆ จริงๆ ผมไม่ได้คิดว่าอะไรใคร แต่การเมืองมันเกี่ยวข้องกับทุกอาชีพ ทุกชีวิต

ยกตัวอย่างง่ายๆ หลักการออกกฏหมายต้องเคารพในสิทธิเสรีภาพ ต้องไม่ไปล่วงเสรีภาพของคน คนที่ออกกฏหมายมีความสำคัญมาก ถ้าเราได้คนที่ไม่ใช่คนที่มีส่วนได้เสียมาออกกฎหมายให้ เราก็จะได้คนที่อยู่แต่ในห้องแอร์ เขียนอะไรก็เอาตัวเองเป็นตัวตั้ง ใครออกกฏหมายคนนั้นได้ประโยชน์ เราจะเห็นว่ามีกฏหมายจำนวนมากที่เป็นปัญหาของประเทศ

เช่นสมัยที่ผมอยู่ DSI มีกฏหมายว่าคดีพิเศษขึ้นอยู่กับคณะกรรมการคดีพิเศษ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นข้าราชการ ตั้งแต่อัยการสูงสุด ปลัดกระทรวงต่างๆ เหมือนว่าเอาอำนาจของคนทั้งประเทศซึ่งเป็นอำนาจอธิปไตยมาอยู่ในมือของคนราวๆ 5 ถึง 20 คน กฎหมายเรื่องสำคัญๆ ที่เกี่ยวกับที่ดินสิ่งแวดล้อม อำนาจก็ไปอยู่กับมือคนเหล่านี้หมด

ประเด็นคือในการทำงานที่ผ่านมา เราอยู่ในพื้นที่ได้ใกล้ชิดกับประชาชน (สามจังหวัดชายแดนใต้) พอมีการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 60 ก็มีการมาหารือกัน ผมย้อนไปดูรัฐธรรมนูญ 40, 50 พบว่าฉบับล่าสุดมันทำให้สิทธิประชาชนด้อยไปหมด

อย่างกรณีที่เกี่ยวกับการเกษตร ในรัฐธรรมนูญ 40, 50 เขายังเขียนไว้ให้ดูเรื่องการผลิตและครอบคลุมไปเรื่องตลาด ให้ขายได้ราคาสูงสุดด้วย เพราะเขาต้องการปกป้องคุ้มครองคนด้อยโอกาส ถ้าหากขายไม่ได้ราคาสูงสุด คนรวยมาซื้อก็จะเกิดการกดขี่แรงงาน แต่พอเป็นรัฐธรรมนูญ 60 เขาบอกให้ดูการผลิตที่มีประสิทธิภาพและบอกให้แข่งขันในระดับราคาตลาด ไม่ใช่ราคาสูงสุด แต่ราคาตลาดนั้นยิ่งถูกยิ่งดี กลายเป็นว่ามันเปิดโอกาสให้คนจนถูกบีบมากขึ้น เพราะเขาไม่มีตลาดเป็นของตัวเอง ตลาดมันถูกผูกขาดไว้กับคนไม่กี่กลุ่ม

ผมเห็นว่าคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้เขาละเอียดอ่อน เขาเห็นว่ารัฐธรรมนูญนี้มีข้อด้อย เขาก็เลยไม่รับ เราจะเห็นว่าตัวเลขไม่รับร่างรัฐธรรมนูญของสามจังหวัดชายแดนใต้สูงมาก

หลังจากนั้นมาก็มีการไปพบปะหารือกันเรื่อยๆ หลายคนที่ได้พูดคุย แม้มีความเชื่อต่างกัน ชาติพันธุ์ต่างกัน แต่มันทำให้ผมเห็นว่ามนุษย์ทุกคนมีศักยภาพ และต้องการความเท่าเทียม พอเห็นแบบนี้มันก็เห็นความสำคัญของพหุวัฒนธรรม

 

พหุวัฒนธรรม’ คำนี้สำคัญกับการเมืองไทยอย่างไร

สำหรับผมหมายถึงความหลากหลายทางเชื้อชาติ ไม่ว่าจะถิ่นกำเนิดจากไหน มีภาษาหรือเพศอะไร มันต้องเท่าเทียมกัน ทุกคนต้องมีโอกาส ผมคิดว่าถ้าเรามีทางเลือกให้ประชาชน โดยมีพรรคการเมืองในลักษณะนี้ น่าจะตอบสนองความต้องการของประเทศในขณะนี้ได้ เพราะขณะนี้เหมือนเราอยากได้ยาสักเม็ด ถ้าเนรมิตขึ้นมาได้ยาตัวนี้คงเรียกว่าสมานฉันท์ปรองดอง

แก่นของสมานฉันท์ปรองดอง ผมคิดว่าสิทธิเสรีภาพของคนต้องมี พรรคประชาชาติจะเขียนนโยบายอะไร เราจะคิดถึงหลักนี้ สมาชิกของเราต้องมาจากความหลากหลาย ไม่ใช่มาจากกลุ่มนักเรียนทุนรัฐบาลอย่างเดียว ความหลากหลายคือประชาชาติ ชาติหมายถึงพลเมืองของประเทศ หมายถึงประชาชน ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตาม

 

พออธิบายแบบนี้ ทำไมคุณโฟกัสไปที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นเพราะผู้ร่วมก่อตั้งพรรคส่วนใหญ่เป็นมุสลิมและมีพื้นเพอยู่ที่นั่น?

สามจังหวัดชายแดนใต้เป็นปัญหาของคนทั้งประเทศ ไม่ใช่แค่ปัญหาของคนแค่ในสามจังหวัด เผลอๆ เป็นปัญหาของนานาชาติด้วยซ้ำ ไปเวทีที่ไหนก็มักเห็นปัญหาภาคใต้ถูกยกขึ้นไปพูดหมด ส่วนตัวผมมีเจตนาลึกๆ ว่าถ้าเห็นใครถูกรังแก ถูกทำร้าย ถูกคุกคามสิทธิเสรีภาพ ถ้าเรามีพรรคการเมืองแล้ว ผมถือเป็นความรับผิดชอบของพรรคด้วย 

จริงๆ เราไม่อยากให้เป็นพรรคของมุสลิม แต่ยอมรับว่าจุดเริ่มต้นก็มีความเป็นมุสลิมมากไปหน่อย โจทย์คือวันนี้จะทำอย่างไรให้คนส่วนน้อยของสังคมไทย เช่น มุสลิม ให้เขาเป็นและอยู่ได้อย่างมุสลิม และในทางกลับกัน ในพื้นที่สามจังหวัดซึ่งมีมุสลิมเป็นคนส่วนใหญ่ มีชาวพุทธ ชาวคริสต์เป็นคนส่วนน้อย จะทำอย่างไรให้พวกเขาอยู่ในปัตตานี ยะลา นราธิวาส ได้อย่างเสรีและเท่าเทียม มีความเคารพซึ่งกันและกัน

เราต้องชิงธงวัฒนธรรมซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ ไม่อย่างนั้นเขาจะมองเราเป็นมุสลิม แต่เราต้องมองว่าวัฒนธรรมคือความเป็นมนุษย์ พูดง่ายๆ คือความเป็นคนต้องมาก่อน คนต้องเท่ากัน เราต้องทำให้ทุกศาสนาเท่าเทียมกัน ไม่ใช่เท่าเทียมเพราะจำนวนคน แต่ต้องเท่าเทียมในทางปรัชญา คนไม่มีศาสนาเราก็ต้องเคารพและส่งเสริม เพราะคนไม่มีศาสนาบางคนมีความรับผิดชอบ มีสิทธิมนุษยชนสูง เรื่องเพศที่สามเราก็ต้องเคารพเต็มที่ เพราะเราเป็นพหุวัฒนธรรม

 

โจทย์ที่ว่าจะทำได้อย่างไร ท่ามกลางความคิดความเชื่อที่ละเอียดอ่อน

ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องนโยบายการบริหารประเทศ ถ้าจะทำ เราเชื่อว่าหลักอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน ดังนั้นเมื่อถึงเวลาคืนอำนาจให้ประชาชน เขาจะเอาอำนาจไปอยู่ตรงไหนก็ให้เขาไปจัดการรูปแบบที่เหมาะสมที่สุดมา 

ถ้าเรามีอำนาจเข้าไปเป็นฝ่ายรัฐบาล หรือแม้แต่เป็นฝ่ายค้านก็ตาม เราจะผลักดันให้มีการยุบกระทรวง ทบวง กรม ที่มีอำนาจบริหารจัดการเยอะแยะเต็มไปหมด เอาอำนาจนั้นไปให้กับท้องถิ่น ส่วนรูปแบบการปกครองจะเป็นอย่างไร อาจจะเป็นแบบ อบจ. กทม. พัทยา หรือมากกว่านั้นก็ได้ เราไม่ได้ดูแค่ภาคใต้ เราดูทั้งประเทศ อย่างน้อยต้องให้คนมาร่วมกันให้ได้ เพราะเรื่องแรกในการบริหารการปกครองคือการกระจายอำนาจ แต่ไม่ใช่ไปสนับสนุนให้เกิดอิทธิพลท้องถิ่น 

ที่คนกังวลกันคือท้องถิ่นไม่มีธรรมาภิบาล และการเลือกตั้งท้องถิ่นมีความรุนแรง คนแตกแยกกัน ที่ผ่านมาเราไม่เคยมีการปฏิรูปการเลือกตั้งท้องถิ่นเลย พอรัฐธรรมนูญถูกฉีก กฏหมายเลือกตั้งถูกแก้ แต่ไม่เคยไปดูการเลือกตั้งท้องถิ่นว่าทำไมไม่มีธรรมาภิบาล ทำไมถึงไม่ให้พลเมืองเขาเข้ามาตรวจสอบมากขึ้น หรือจะทำอย่างไรให้การเลือกตั้งไม่ไปทำให้คนทะเลาะกัน

เราคิดถึงประเทศทั้งระบบ ด้านสังคม เศรษฐกิจ ความมั่นคง มันต้องสมดุล เศรษฐกิจดีแต่สังคมอยุติธรรมมันก็อยู่ไม่ได้ สังคมดีแต่เศรษฐกิจไปไม่ได้มันก็อยู่ไม่รอด การมีกฎให้ทุกคนต้องทำตามเหมือนกันหมดเป็นสังคมที่กดขี่ เพราะไม่เปิดโอกาสให้ผู้คนมีความคิดสร้างสรรค์

เราคิดถึงกฎหมายที่คุ้มครองและส่งเสริมความเป็นพหุวัฒนธรรม พหุวัฒนธรรมมันเป็นสาธารณะ ไม่มีใครเป็นเจ้าของ และไม่มีใครมีสิทธิไปทำลายความหลากหลาย ดูเรื่องการเหยียดผิวที่ต่างประเทศ เป็นเรื่องใหญ่มาก

พรรคเราอาจไม่ชอบการทำกฎหมายใหม่ อยากจะไปยกเลิกกฎหมายแทน เพราะกฎหมายเดิมที่มีหลายตัวมันอยุติธรรมไง ที่ชัดมากคือกฎหมายสิ่งแวดล้อม กฎหมายป่าไม้ เขียนให้อยู่ในอุ้งมือข้าราชการไม่กี่คน ผมเพิ่งดูตัวเลขการให้เช่าป่าของกรมป่าไม้ พบว่ามีชื่อของตระกูลดังๆ เยอะเลย แต่ชาวบ้านไม่มีที่ดินทำกิน

 

ที่ผ่านมาพรรคการเมืองพูดเรื่องกระจายอำนาจกันเยอะ ถ้ามองเงื่อนไขในสังคมไทย คุณมองเห็นความท้าทายอะไร

มันต้องช่วยกันพูด ฝ่ายความมั่นคงเขาก็ดูอยู่ อย่างกรณีเสื้อยืดสหพันธรัฐก็ถูกทำให้กลายเป็นเรื่องความมั่นคง แต่มันคือการสกัดการกระจายอำนาจ แม้แต่การเสนอให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ก็อาจจะถูกห้าม นี่เป็นวิธีที่แยบยลของฝ่ายความมั่นคง 

แล้ววันนี้หาเสียงด้วยการพูดว่าจะคืนอำนาจให้ประชาชน มันไม่ได้คะแนนเท่าไหร่ เพราะในหลายปีที่ผ่านมา ท้องถิ่นถูกสร้างภาพให้ดูเป็นพวกคอร์รัปชัน 

เราต้องเข้าใจว่าการกระจายอำนาจเป็นแค่กระบวนการ แต่เป้าหมายคือคนมีความสุข อยู่ดีกินดี สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ คนต้องมีสิทธิเสรีภาพ มีอำนาจในการกำหนดชะตากรรมตัวเอง 

ผมคิดว่าการมันต้องต่อสู้กันที่ความคิด และการศึกษาที่ดีคือการสร้างความคิดที่ดี วันนี้ไปดูงบการศึกษาที่ ครม. ให้ไปสร้างที่ทำการการศึกษาส่วนหน้า 2 พันล้านบาท ถ้าไปดูจริงๆ ภาคใต้เต็มไปด้วยตึกร้าง สร้างมาแล้วสมองเด็กมันดีขึ้นไหม ทำไมไม่เปลี่ยนเป็นให้ทุนการศึกษาแทน ในมาเลเซีย รัฐให้ทุนคนของเขาไปเรียนแพทย์ที่อียิปต์ถึง 16,000 คน ประเทศเขาเล็กกว่าเราครึ่งหนึ่ง แต่เขาต้องการเป็น hub ทางการแพทย์ เพราะเขามองว่าคนสำคัญที่สุด

ในนโยบายการศึกษาเราไม่ได้มองว่าการพัฒนาคนเป็นแค่ปัจจัย แต่คนต้องพัฒนา ถ้าพูดว่าเป็นแค่ปัจจัยมันอะไรก็ได้ การมีเสื้อผ้าก็เป็นปัจจัยแต่เรามีฐานคิดว่าสิ่งที่ติดตัวตอนเราเกิดมา เราได้สมองกับความคิดมา แปลว่าคนต้องได้รับการศึกษาหาความรู้ หรืออย่างกลุ่มเด็กชาติพันธุ์ ก็ต้องให้เขาได้เรียนภาษาแม่ เช่น ถ้าคนมลายูก็ต้องให้เขาเริ่มเรียนภาษายาวี

ผมคิดว่าเรื่องการศึกษาเป็นเรื่องใหญ่พอๆ กัน ไม่น่าเชื่อว่าทุกวันนี้หนังสือที่สอนตั้งแต่ ป.1 จนถึง ม.6 ในภาคใต้ ไม่มีคำว่าปัตตานีสักคำเลย แต่พอเราไปเดินหาตำราอื่นที่เป็นภาษาบาฮาซา เราเจอคำว่าปัตตานีเต็มเลย  

ที่อินโดนีเซียมีความเชื่อทางศาสนาอยู่สามกลุ่ม หนึ่ง คือ เชคดาวูด (อัลฟาฎอนีย์) ซึ่งเป็นคนปัตตานี คนอินโดนีเซีย 200 กว่าล้านคนอยู่ในอิทธิพลความคิดของเชคดาวูด แต่หนังสือแบบเรียนที่ปัตตานีไม่มีหนังสือเกี่ยวกับเชคดาวูดซักคำ ในเมืองไทยก็เหมือนกัน คนปัตตานีไม่ได้เรียนหนังสือเกี่ยวกับตัวเอง

เราจะทำยังไงถึงจะให้ประชาชนเป็นศูนย์กลางได้ แล้วทั้งราชการ นักการเมือง หรือนักข่าว มีสวัสดิการรัฐที่เท่าเทียมกัน แต่วันนี้ต้องยอมรับว่ามันมีบางอาชีพที่เหลื่อมล้ำกว่าอาชีพอื่น จะทำยังไงให้ฝ่ายราชการที่เป็นไขมันของประเทศนี้เล็กลง แล้วไปอยู่กับท้องถิ่น พัฒนาท้องถิ่นขึ้นมา 

ยังไงก็ต้องยอมรับว่าทุกคนเป็นพลเมืองเหมือนกัน ไม่ใช่ว่าทุนการศึกษาก็ไม่ให้เขา ความยุติธรรมก็ไม่ให้เขา เหมือนวิธีคิดเรื่องแรงงานที่คนทั่วไปมองว่าแรงงานข้ามชาติด้อยกว่าคนไทย อาจารย์ธเนศ (อาภรณ์สุวรรณ) บอกว่าเป็นวิธีคิดแบบทฤษฎีทาส แต่ถ้าเราเปลี่ยนความคิดว่าเขาเป็นพี่น้องกับเรา ก็มาสร้างความเจริญให้ประเทศร่วมกัน

วิกฤตความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมา มีงานวิจัยไม่น้อยบอกว่าประชาธิปไตยส่งผลให้คนอยู่ดีกินดี แต่ก็ทำให้คนกลุ่มหนึ่งที่ไม่พอใจสูญเสียอำนาจ สุดท้ายนำมาซึ่งการปฏิวัติ ถ้าเราเชื่อในความเท่าเทียม ต้องธำรงไว้ซึ่งสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้ได้ สิ่งนี้เป็นสิ่งที่แม้แต่กฎหมายก็ล่วงล้ำไม่ได้ คนมีสิทธิพื้นฐานปัจจัยสี่ คุณจะไปล่วงล้ำให้เขาไม่ได้

 

 

จุดแข็งของพรรคประชาชาติวันนี้คือ มีฐานเสียงในสามจังหวัดชายแดนใต้ อะไรคือโจทย์สำคัญที่สุดของการคลี่คลายวิกฤตในพื้นที่นั้น

เรื่องสิทธิเสรีภาพนั้น คุณจะศรัทธาใคร จะนับถือศาสนาใด เป็นสิทธิของคุณ แต่คุณต้องได้รับความยุติธรรมอย่างเสมอภาค ซึ่งไม่ใช่แค่ที่ชายแดนใต้ แต่ทั้งประเทศ 

เราต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งทางแพ่งและอาญา ประชาชนไม่ได้ต้องการโครงสร้างแบบตำรวจ เขาต้องการความยุติธรรม คนที่ตัดสินคดีต่างๆ ต้องว่าไปตามตัวบทกฎหมาย จะไปตัดสินตามเจตนารมณ์ตัวเองไม่ได้ และต้องมีมาตรฐานเดียว ไม่ใช่สองมาตรฐาน

รวมไปถึงเรื่องการสั่งคดีของพนักงานสอบสวน อย่างหนึ่งที่เป็นจุดอยุติธรรมคือ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 140, 141 บอกว่าสำนวนเมื่อสอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว ให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบเป็นผู้มีความเห็นสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบเนี่ย เขาเขียนไว้ในกรณีที่หากมีหลายคน ให้พนักงานสอบสวนผู้เป็นหัวหน้ามีอำนาจสั่งฟ้อง

สำนักงานตำรวจเขาให้ผู้บัญชาการตำรวจเป็นหัวหน้าทีม สมมติพนักงานสอบสวนที่เห็นว่าควรฟ้องมีอยู่หมื่นคน แต่ผู้บังคับบัญชาบอกไม่ฟ้องก็คือไม่ฟ้อง นี่เป็นปัญหา ทำไมไม่ทำให้มันอยู่ในรูปของมติคณะกรรมการเสียล่ะ พนักงานสอบสวนเขาต้องดำเนินการตามพยานหลักฐานและข้อเท็จจริงอยู่แล้ว คนที่ไปสัมผัสพยาน ได้รู้ได้เห็นคนพูดจริงหรือเท็จ ไม่ใช่คนนั่งอ่านหนังสืออยู่ในห้องแอร์

 

พูดถึงเรื่องตำรวจ คุณอยู่ในวงการสีกากีมาก่อน มองเห็นความเป็นไปได้ในการสร้างความเชื่อมั่นระหว่างประชาชนกับตำรวจอย่างไร

ตำรวจถูกสร้างมาให้ต่างจากทหาร แต่วันนี้เราไปจัดโครงสร้างให้เหมือนทหาร ตำรวจเขาต้องใช้ดุลยพินิจจากข้างล่างและรายงานขึ้นข้างบน เช่น สายตรวจไปเจอบ้านนี้ปิดอยู่และน่าจะมีคนอยู่ข้างบน เขาก็ต้องรายงานไปแล้วให้คนมาช่วย แต่ทหารใช้สั่งการจากข้างบนลงมาข้างล่าง

อันที่สองคือ ตำรวจต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพ แต่ทหารต้องปฏิบัติตามคำสั่ง กฎหมายไว้ทีหลัง มีคำพูดที่ว่าตำรวจเหมือนปลา ประชาชนเหมือนน้ำ ปลาขาดน้ำไม่ได้ฉันท์ใด ตำรวจขาดประชาชนไม่ได้ฉันท์นั้น 

เวลานี้งานที่สำคัญที่สุดของตำรวจมีอยู่สามงาน หนึ่งคืองานสายตรวจ ออกตรวจตามบ้านเรือน ปกป้องคุ้มครองความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน งานสายตรวจมีความสำคัญมากเพราะมันต้องผูกพันกับประชาชน

งานที่สองคืองานสายสืบ สืบหาข่าวหาข้อเท็จจริง อีกงานคือพนักงานสอบสวน ทั้งสามงานเป็นงานกรรมกรที่ต้องใช้สมอง คุณต้องทำให้เขามีเงินเดือนที่เขาอยู่ได้อย่างไม่ขัดสน ไม่ลำบากเกินไป เพราะเขาต้องใช้ดุลยพินิจในเหตุการณ์ต่างๆ มาก

ผมยังคิดว่าตำรวจนครบาลต้องไปอยู่กับผู้ว่าฯ กทม. เพราะประชาชนจะได้มีที่พึ่งได้ คนกทม. เขาจะได้เอาฮีโร่ของเขาไปดูแล

 

จะทำแบบนั้นได้อย่างไร

การแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจนครบาลต้องให้ผู้ว่าฯ กทม. มีส่วนร่วมด้วย คนกทม. ก็ต้องอยากได้คนที่ดีที่เก่งที่สุดมาทุ่มเททำงาน และต้องมีคุณสมบัติที่รู้จักพื้นที่ดีที่สุด รวมไปถึงผอ.เขตก็ต้องเลือกตั้งด้วย ทุกวันนี้คนกทม. แทบไม่รู้จักผอ.เขต เลย ขยะล้นเหม็น คุณยังไม่รู้เลย ทั้งที่คุณเอาภาษีประชาชนไปแล้ว 

 

ดูเหมือนว่าการทำพรรคการเมือง นอกจากนโยบาย คุณเน้นการทำงานทางความคิดมากๆ 

ผมเคยคุยกับอาจารย์ลิขิต ธีรเวคิน แกบอกว่าลูกศิษย์แกไปหาองค์ดาไลลามะ เขาถามว่าอะไรเป็นสิ่งที่มนุษย์ต้องระมัดระวังมากที่สุด คำตอบที่ได้จากดาไลลามะคือความคิด ความคิดมันจะทำให้เป็นคำพูด คำพูดเป็นการกระทำ ทำบ่อยๆ เป็นนิสัย 

เพราะฉะนั้นถ้าถามว่าทำไมพรรคประชาชาติจึงให้ความสำคัญเรื่องการศึกษา เพราะการศึกษาทำให้คนได้พัฒนาทางความคิด ถ้าคนมีหลักปรัชญาติดตัวไป เขาจะรู้จักแก้ปัญหาชีวิต ความรู้มันเกิดจากการศึกษา ไปดูที่ไหนก็ได้ ปิระมิด กำแพงเมืองจีน เกิดขึ้นด้วยความรู้ ไม่ใช่อาวุธ

 

ช่วยอธิบายที่มาของโลโก้ประจำพรรคหน่อย ได้ไอเดียมาจากไหน

ดอกจำปาเป็นต้นไม้ที่มีอยู่ในอาเซียน เราเอาดอกจำปามาใช้เพื่อบอกว่าคนมันมีอยู่ในทุกพื้นที่ ส่วนสีต่างๆ เป็นตัวแทนของชาติพันธุ์ที่มีความสวยงามในตัวเอง แล้วเราก็มีเข็มทิศ ซึ่งเราคิดว่าพรรคการเมืองต้องมีนโยบายที่แกร่งกล้าในการสนับสนุนพหุวัฒนธรรม และเข็มทิศที่ชี้ถึงความเท่าเทียมกัน 

เห็นไหมว่าพรรคเรามีผู้หญิงอย่าง รอมือละห์ แซเยะ (ภรรยาของอันวาร์ หรือมูฮัมหมัดอันวัร หะยีเต๊ะ นักกิจกรรมสันติภาพชายแดนใต้และอดีตนักโทษการเมือง) เข้ามาเป็นกรรมการบริหารพรรคด้วย 

 

ทำไมถึงเลือกรอมือละห์เข้ามา

เพราะเขาต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมมาตลอด และแสดงให้เห็นว่าเขาต่อสู้โดยไม่มีอะไรเลย เริ่มจากศูนย์ เขาคิดว่าความยุติธรรมเป็นเรื่องใหญ่ ด้วยประสบการณ์และทัศนะของเขา มันยิ่งใหญ่กว่าตำราที่เราอ่านอีกเยอะ เขาต้องมีตัวตนเพื่อมาถ่ายทอดให้สาธารณะได้เรียนรู้

 

จากวันที่ลงการไปคลุกคลีกับประชาชนในฐานะ เลขาฯ ศอ.บต. จนถึงวันที่ก่อตั้งพรรคฯ คุณเห็นตัวเองเปลี่ยนไปในทางความคิดอย่างไร

เรื่องที่เกิดกับผมไม่ค่อยเท่าไหร่ แม้จะเจอรัฐประหาร แต่เราคิดว่าประชาชนน่าจะได้มีคุณภาพชีวิตดีกว่านี้ ทำไมประชาชนกับรัฐถึงต้องหวาดระแวงกันเป็นหลายสิบปี นี่เป็นความรู้สึกส่วนตัวถึงความรับผิดชอบกับสังคม  

เวลาที่เราไปทำงาน ผู้ใหญ่ก็บอกว่าต้องเป็นผู้นำทำให้ประชาชนเชื่อ แต่ผมอาจเป็นผู้นำที่ไม่ดี ดันไปเชื่อประชาชน บางทีเขาเอาผักจากบ้านมาฝากหน้าสำนักงาน เดินทางมาไกลหลายสิบกิโลฯ เป็นผักออร์แกนิคด้วย แต่ทำไมเขาไม่มีโอกาสได้ศึกษาแม้กระทั่งภาษาพ่อแม่ของเขา ขณะที่มาเลเซียกับสิงคโปร์ ทั้งภาษาจีน มลายู อังกฤษ ต่างเป็นภาษาราชการ ทุกวันนี้ภาษามลายูเป็นอันดับ 6 ของโลกแล้ว เราดันไปปิดทับเขาอีก ทั้งที่มันเป็นมรดกทางวัฒนธรรม

ส่วนจุดเปลี่ยนจริงๆ มันเริ่มตอนที่พี่น้องในพื้นที่เขามาร่วมให้กำลังใจวันที่ผมพ้นจากตำแหน่ง เราเห็นหลายคนยังมีความหวังอยากเห็นสามจังหวัดชายแดนใต้ได้รับการพัฒนาอย่างมีศักดิ์ศรี พอหลังจากนั้นก็มีโอกาสได้พูดคุยกันอีกหลายครั้ง สุดท้ายความตั้งใจทำพรรคการเมืองมันก็เกิด

 

คุณมองจุดอ่อนจุดแข็งในการเป็นพรรคการเมืองที่อิงกับพื้นที่มลายูอย่างไร และทำไมถึงร่วมกับกลุ่มวาดะห์

พี่น้องที่มาร่วมตั้งพรรคเขาก็บอกว่าที่ผ่านมามีพรรคมุสลิมเกิดขึ้นหลายครั้ง แต่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จ แต่เราเชื่อว่าถ้าพรรคเรามีความภักดีต่อระบอบประชาธิปไตย คำว่าประชาธิปไตยคำเดียวก็ยังฟังดูไม่เท่าไหร่นะ คือต้องธำรงไว้ซึ่งสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ต้องสนับสนุนให้สังคมไทยมีนิติธรรม ถ้าพรรคยึดมั่นแนวทางนี้ มันน่าจะไปได้

แล้วประเด็นไม่ได้อยู่ที่กลุ่มวาดะห์ เราไม่ได้อยากเล่นการเมือง ไม่คิดว่าจะอยู่นาน เราอยากทำทางไว้ให้คนรุ่นหลัง จะทำยังไงให้พรรคมีคนข้างหลังขึ้นมาสานต่อไป เราเลือกกันทั้งวรวีร์ มะกูดี ทั้งนิติภูมิ นวรัตน์ ทุกคนก็ปฏิเสธ คือพรรคนี้ไม่มีใครแย่งกันเป็นหัวหน้าพรรค แต่ในทางการเมือง ถ้าอาจารย์วันนอร์ (วันมูหะมัดนอร์ มะทา) เป็นหัวหน้า ก็เป็นคนที่ทุกคนยอมรับ ทางภาคใต้อาจมองเห็นแต่วาดะห์ แต่ยังมีพี่น้องมุสลิมอีก 60 เปอร์เซ็นต์ที่อยู่กรุงเทพฯ 

อาจารย์วันนอร์ท่านทำเกียรติประวัติกับสังคมไทยไว้เยอะ ตอนสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ ท่านไปนอนที่สนามบิน ท่านมีความรับผิดชอบสูง แต่หลังจากนี้อาจารย์เองก็ต้องแสดงให้เห็นว่าวันนี้ไม่มีวาดะห์ มีแต่ประชาชาติ

เราพูดบนเวทีตอนเปิดตัวพรรคว่า ปัตตานีก็คือประเทศไทย และประเทศไทยไม่ใช่แค่กรุงเทพฯ เราต้องการสื่อให้เห็นว่าความเจริญมันจะกลับมา เพราะสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มันอุดมสมบูรณ์ เรามีการประมงที่เก่งมาก อินโดนีเซียก็ยังชมไทย

 

ใครบ้างคือคนที่จะมาสนับสนุนพรรคประชาชาติ

ถ้าพูดเรื่องพหุวัฒนธรรม เราก็ต้องมองไปที่คนกลุ่มน้อย กลุ่มที่เราจะเข้าไปดูแลและทำงานด้วยก็คือชนกลุ่มน้อยต่างๆ ให้เขาได้รับการศึกษาที่เท่าเทียมกัน มีที่ดินทำกิน 

landlord ของประเทศไทยวันนี้คือกรมป่าไม้ ผมคิดว่าที่ไหนมีที่ดิน ที่นั่นมีเงิน ถ้าขยันคุณไปเพาะปลูกสร้างผลผลิต ครอบครัวคุณก็มีกิน ถึงคุณตายไปที่ดินก็ยังสร้างประโยชน์ให้คนที่ยังมีชีวิตอยู่ แล้วคุณจะเก็บไว้ทำไม คุณส่งให้คนที่จำเป็นใช้ประโยชน์ไม่ดีกว่าหรือ

target ของเราคือกลุ่มชาติพันธุ์ที่ยังขาดโอกาส เราต้องทำให้เขาเท่าเทียมกัน เสมอภาคกับคนในสังคม รวมไปถึงกลุ่มคนยากไร้ แรงงานนอกระบบ แม่ค้าขายข้าวแกง คนกลุ่มนี้ต้องมีสวัสดิการเทียบเท่ากับประกันสังคม เขาขายของได้กำไรนิดเดียวเพื่อเลี้ยงคนยากจนจำนวนมากในท้องที่ คนที่ถูกกว้านซื้อที่ดินแล้วต้องไปทำงานโดยเช่าที่ในที่ดินของตนเอง คนพวกนี้เราต้องเข้าไปดูแล ถึงแม้ว่าสังคมไทยจะมีระบบเศรษฐกิจเสรี แต่เราก็ต้องมีคุณธรรมด้วย

กลุ่มสุดท้ายคือกลุ่มที่มีความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เราต้องดึงการศึกษาออกจากกระทรวงศึกษาไปให้โรงเรียน ให้เขาได้สร้างศักยภาพด้วยตัวเอง อินโดนีเซียตอนปี 54 การศึกษายังด้อยกว่าเราเยอะ แต่ตอนนี้เขาขึ้นมานำไปเยอะเลย เพราะอะไรรู้ไหม เพราะเขาให้กระจายอำนาจไปยังโรงเรียน

ถ้าดูงบการศึกษาของไทย บางคนบอกว่าเราจัดงบเป็นอันดับสองของโลก แต่ความจริงเราเอาไปใช้สร้างอาคารซะเยอะ แต่งบที่ใช้เพื่อหลักสูตรหรือเพื่อพัฒนาเด็กนี่น้อยมาก

พรรคเรามองว่าต่อไปการจะพัฒนาอะไร เราจะมุ่งไปที่ครอบครัวก่อน เพราะอะไรรู้ไหม เพราะในครอบครัวมันมีความรัก พ่อแม่รักลูก ลูกรักพ่อแม่ เวลาที่ผมอยู่ในพื้นที่ก็เหมือนกัน ผมเป็นครอบครัวกับทุกคน

เมื่อคุณเชื่อในระบบครอบครัว อย่างงบการศึกษา กยศ. ผมไม่เห็นด้วยที่รัฐจะไปฟ้องเด็ก คุณเปลี่ยนมาส่งเงินไปให้ที่ครอบครัวดีกว่า ถ้าเขาจะไม่มาเรียน ลูกกับพ่อเขาก็ต้องร่วมกันตัดสินใจ วันนี้ระบบมันบิดเบี้ยว รัฐต้องการเงินคืน แต่คุณกลับเอาเงินไปให้ทนายเสียเยอะแยะ ผมเห็นงบก่อนแก้ พ.ร.บ. กยศ. ไม่ถึงหกร้อยล้าน เดี๋ยวนี้เพิ่มไปเป็นหลายพันล้าน แต่เอาไปให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการ แทนที่จะให้เด็กได้เรียนหนังสือ เงินพันล้านสามารถส่งคนเรียนแพทย์ได้เกือบห้าร้อยคน

 

ที่คุณบอกว่าทำงานการเมือง ไม่คิดจะอยู่นาน ทั้งที่เพิ่มเริ่มต้นก้าวแรก เพราะอะไร 

ผมไม่ได้มองตัวเองเป็นนักการเมือง แต่ว่าจะทำอะไรที่ทำแล้วภูมิใจ ผมได้ไปอยู่ภาคใต้ ได้พูดคุยเรื่องสันติภาพ มีคนมาพูดต่อเราก็ดีใจ ยังไงมันก็ดีกว่าไม่พูดคุยกันเลย การคุยกันมันไม่ต้องใช้งบประมาณอะไร แต่ถ้าคิดเรื่องสงคราม ก็ต้องใช้งบประมาณซื้อปืน ซื้อรถถัง รถกันกระสุน

ในระยะยาว ผมคิดว่าพรรคนี้ต้องสร้างคนรุ่นใหม่เข้ามาแทน ให้มีกลุ่มสตรีเข้ามา คนชุดแรกอยู่สักหนึ่งสมัยก็พอแล้ว แต่เป็นสมัยของการทำงานที่หนัก แล้วก็อาจถูกใส่ร้ายได้ แต่ผมไม่คิดมาก 

 

ถ้าลองใคร่ครวญดู อะไรคือความท้าทายที่สุดของงานการเมืองที่คุณจะต้องเจอ 

ความคิดคือเรื่องสำคัญ สังคมไทยมันมีเรื่องความคาดหวัง พรรคเราคนอาจคาดหวังไม่เยอะ คนจะไปคาดหวังกับเพื่อไทย หรือประชาธิปัตย์มาก แต่คุณสมบัติที่สำคัญที่สุดในการแก้ปัญหาคือผู้นำ เรามีคำกล่าวว่า คนชั่วที่แข็งแกร่งกับคนซื่อสัตย์ที่อ่อนแอ บางทีเราไปยอมคนชั่วได้ 

ผู้นำต้องมีความเข้มแข็งทั้งร่างกายและจิตใจ เราไม่ต้องการให้พรรคนี้เกิดมาแล้วตายไปกับตัวเรา ที่สำคัญที่สุดเราต้องแคร์ความรู้สึกของคนรุ่นใหม่ที่เขาติดตามอยู่ มีคนอีกจำนวนมากที่เขาไม่ได้มีโอกาสมาตั้งพรรคการเมือง 

งานการเมืองมันต้องมีกึ๋นและไต๋ในการแก้ปัญหา ถ้ามองเรื่องความเหลื่อมล้ำ ไต๋มันมีนิดเดียว ไปแก้พ.ร.บ.งบประมาณ งบประมาณวันนี้ให้กระทรวง ทบวง กรมเป็นผู้ขอ ทำไมไม่ให้ประชาชนเป็นคนขอล่ะ ถ้าแก้ให้พื้นที่มีส่วนในการของบประมาณ หรือไปตั้งองค์กรอิสระเพื่อวิเคราะห์ประเมินงบประมาณอยู่ในสภาฯ เราจะได้รู้ว่าสังคมไทยต้องใช้งบประมาณกับเรื่องอะไรบ้างจริงๆ 

สมมติว่าวันนี้เราจ่ายเบี้ยคนชรา คนละ 700 บาทต่อเดือน ถ้าจังหวัดนั้นมีคนชราล้านคน ก็ตกเดือนละ 700 ล้านบาท ปีนึงก็ตกที่ 8 พันกว่าล้าน นี่เป็นงบดูแลคนชรา ทำไมไม่ให้จังหวัดเข้ามาบริหารงบก้อนนี้ล่ะ ต้องปรับปรุงบ้านพักไหม สภาพแวดล้อมเหมาะสมไหม ก็ให้เขาเอาเงินเหล่านี้ไปบริหารเลย 

วันนี้ถ้าเราทำให้การรักษาพยาบาลของคนให้เท่ากันได้ มันคือการยกฐานะคุณภาพชีวิต ผมมีประสบการณ์จากที่เคยเป็นราชการ เคยผ่านงานสืบสวนสอบสวนมา ในฐานะที่เคยเป็นคนทำคดี ปรส. เราก็รู้ว่ามะเร็งร้ายของเศรษฐกิจคือดอกเบี้ยสำหรับคนจน เราเอาเงินกู้ต่างชาติในอัตราดอกเบี้ยต่ำมาปล่อยกู้ในอัตราดอกเบี้ยสูง แต่ในทางมุสลิม เขาบอกว่าใครหากินกับดอกเบี้ยก็เป็นศัตรูของพระเจ้า เมื่อตอนผมไปอยู่สามจังหวัดชายแดนใต้ ผมไม่เจอปัญหาหนี้นอกระบบเลย

 

ถ้ามองย้อนมาที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ในฐานะที่เคยไปร่วมโต๊ะพูดคุยเพื่อสันติภาพมาด้วยตัวเอง วันนี้คุณเห็นความคับข้อง น่ากังวล รวมถึงความหวังใหม่ๆ อะไรบ้าง 

เบื้องต้นต้องให้คนในสามจังหวัดมีส่วนร่วม นี่คือคีย์เวิร์ดของผม การแก้ไขปัญหาต้องอาศัยการมีส่วนร่วม การมีส่วนร่วมไม่ได้อยู่ที่ปากพูดอย่างเดียวนะ 

ทุกวันนี้ในสามจังหวัดภาคใต้ มีโรคอยู่โรคหนึ่งคือ โรคความหวาดระแวง พุทธกับมุสลิมก็หวาดระแวงกันอยู่ลึกๆ ข้าราชการกับคนในพื้นที่ก็หวาดระแวงกัน การแก้ปัญหาความหวาดระแวงอาจต้องใช้โครงสร้างอะไรก็ตามคล้ายๆ กฎหมายที่ให้คนได้รู้สึกมีส่วนร่วมกัน รูปแบบที่เคยคิดว่าใกล้เคียงที่สุดคือ ให้วันตรุษจีนเป็นวันหยุดราชการ แม้จะมีคนจีนอยู่นิดเดียว แต่เพราะเขาร่วมเป็นสภาที่ปรึกษาด้วย ประเทศไทยน่าจะมีแค่ 5 จังหวัดเท่านั้นที่วันตรุษจีนเป็นวันหยุดราชการ เขาได้รับเกียรติเท่ากับคนมุสลิม

สำหรับฝ่ายที่เลือกใช้ความรุนแรง สุดท้ายเราก็หนีไม่พ้น ต้องมาศึกษาระหว่างการกระจายอำนาจ กับ ชาตินิยม แต่ว่าสิ่งสำคัญคือเรายังไม่ได้ไปปฏิบัติกับเขาเลย ตอนนี้เราต้องคุ้มครองทุกชีวิตให้ปลอดภัยก่อน ไม่ใช่รับแนวคิดมาเพราะโดนกดดันว่าถ้าไม่รับเดี๋ยวจะมีเหตุการณ์รุนแรง ถ้าจะพัฒนาอะไรคุณต้องมีส่วนร่วมก่อน ทหารก็ต้องให้เขามีส่วนร่วม เพราะทุกวันนี้เขาเก็บข้อมูลมาเยอะ เขารู้อะไรเยอะ คนที่คิดใช้ความรุนแรง เราก็ต้องพยายามคุยให้เขาใช้สันติวิธีแก้ปัญหา

วันนี้ในสามจังหวัด เราต้องเปลี่ยนบทบาทของหลายๆ คนให้เป็นนักสร้างสันติภาพ คือต้องรู้จักฟังและให้เกียรติคนอื่นเป็น 

 

การสร้างความมีส่วนร่วม จะฝ่ากำแพงฝ่ายความมั่นคงไปได้อย่างไร เพราะฐานคิดคนละแบบ

ฝ่ายความมั่นคงเขาก็ไม่ได้ผิดอะไร พรรคเราชัดเจนว่าจะปฏิรูปกฎหมายพิเศษที่ใช้ในพื้นที่ พ.ร.บ. กอ.รมน. ไปจนถึงกฎอัยการศึก ให้ประชาชนและภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมทุกขั้นตอน การบังคับใช้กฎหมายก็ให้ประชาชนมีส่วนร่วมด้วย ให้เขาตรวจสอบได้ว่าคุณทุจริตหรือเปล่า แต่ไม่ใช่ไปมองว่าข้าราชการเป็นอันตราย 

กฎหมายมันไม่อันตราย เหมือนกับมีดถ้าไปอยู่ในมือคนร้ายมันก็อันตราย เขาอาจจะเอาไปแทงคนอื่น ถ้าอยู่ในมือคนเป็นแม่ เขาก็เอาไปทำกับข้าวให้ลูก แต่ถ้าคุณไปยุบหรือไปยกเลิกซะ ประชาชนก็ไม่มีเครื่องมืออะไร

ทหารเองก็ถูกกดดันให้ออกนอกพื้นที่ ผมคิดว่าไม่ต้องออกหรอก แต่ให้เข้าไปอยู่ในกรมกอง แล้วในพื้นที่ให้พลเรือนหรือตำรวจไปดูแล สังคมไทยอย่าไปบีบให้ใครไม่เหลือที่ยืน แต่เราแค่ต้องแยกทหารออกจากการเมือง เพราะว่าชาติคือประชาชน ไม่ใช่กองทัพ

เรื่องการกระจายอำนาจ ในสามจังหวัดชายแดนใต้ คนไม่ค่อยกล้าพูด เพราะถ้ามุสลิมพูดก็จะมีคำถามพ่วงมาว่าแบ่งแยกดินแดนหรือเปล่า หลักๆ คือเราต้องคืนสิทธิคืนอำนาจไปให้ประชาชนได้กำหนดรูปแบบการบริหารการปกครองตามรัฐธรรมนูญ ส่วนจะเป็นรูปแบบใดก็อยู่ที่เจตนารมณ์ของท้องถิ่น 

มันก็มีการศึกษาไว้เยอะแล้ว อย่างภูเก็ตเขาก็ศึกษาว่าควรมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ มีจังหวัดที่เป็นโมเดลนำร่องอยู่สิบกว่าจังหวัด ทั้งจังหวัดเศรษฐกิจในกลุ่ม S.M.L ทั้งหมดมีงานวิชาการรองรับ

สำหรับสามจังหวัดชายแดนใต้ อาจารย์ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผอ.ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) เคยทำเวทีสัมมนา 500 กว่าเวที ก็พบว่าที่ประชาชนต้องการมากที่สุดคือรูปแบบสภาบริหาร และคนอยากให้มีการเลือกตั้ง เพราะเขารู้สึกได้มีส่วนร่วม พระก็เลือกพระขึ้นไปอยู่ในสภาฯ ไทยพุทธก็เลือกคนของเขาขึ้นไป สตรีก็เลือกสตรีขึ้นไป รูปแบบดังกล่าวมันสอดคล้องกับหลักคิดพหุวัฒนธรรม 

 

โจทย์การเมืองแบบไหน ที่คุณมองว่าจะพาสังคมไทยพ้นไปจากความขัดแย้งที่ผ่านมา และจะไม่สร้างภาวะการเมืองแบบเก่าอีก

ผมว่าอะไรที่สุดโต่งจะมีปัญหาหมด ความคิดของพรรคเราคือต้องการสันติภาพ เราเขียนไว้ในนโยบายชัดเจน เราต่อต้านความอยุติธรรม การคอร์รัปชันและการกดขี่ ด้วยสันติวิธี ด้วยประชาธิปไตย ด้วยความยุติธรรม นี่เป็นหนึ่งของพหุวัฒนธรรม

นักการเมืองที่ชอบปฏิวัติรัฐประหารเขาก็เป็นอีกวัฒนธรรมหนึ่ง เพราะเขาเชื่อเรื่องอำนาจ แต่อย่างที่อาจารย์วันนอร์ว่า ถ้าคุณเข้ามาในกติกาประชาธิปไตยแล้ว ก็ต้องเคารพในกติกา ผมขอขยายความตรงนี้เลยว่านายกฯ ต้องได้เสียงสูงสุดที่มาจากประชาชน การให้ ส.ว. 250 คนมาเลือกนายกฯ นี่มันไม่ใช่ประชาธิปไตย เราไม่ยอมรับ ต้องพูดให้ชัด ถ้าเป็นอย่างนั้นเราก็ขอเป็นฝ่ายค้าน ถ้าเกิดพล.อ.ประยุทธ์ไปลงสมัครพรรคอะไรก็ตาม แล้วได้คะแนนเสียงจากประชาชนมากที่สุด ก็เป็นสิทธิของเขา เพราะเขาลงเลือกตั้ง 

 

พรรคประชาชาติคิดถึงเก้าอี้ ..มากน้อยแค่ไหน

เราเป็นพรรคการเมืองก็อยากได้ ส.ส. มากที่สุด แต่ปัจจัยการได้ส.ส. ในสังคมไทยเวลานี้ มันไม่ได้อยู่ที่อุดมการณ์อย่างเดียว แต่พรรคเราก็คุยกันว่าเราจะไม่พึ่งแหล่งทุน เราพยายามจะช่วยกันเอง เราคิดว่าจำนวนเก้าอี้ก็ควรพอเพียงกับพรรคขนาดเล็ก 

ผมเชื่อว่าชาวมุสลิมรักประชาธิปไตย ถ้าเขาไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเมื่อปี 59 กว่า 9 แสนคน ก็คงมีที่นั่งประมาณ 15 คน แต่เราต้องไปคุยกับคนอีสาน คุยกับพวกครู คุยกับข้าราชการ ที่สำคัญคือเราต้องจริงใจและต้องสุภาพ เราต้องยอมรับนโยบายพรรคอื่นได้ ถ้าดีเราก็ต้องชม 

 

 

ที่บอกว่าไม่คิดจะอยู่นาน เต็มที่แค่สมัยเดียว ข้อดีของการตัดสินใจแบบนี้คืออะไร

ระหว่างเราเดินทาง เราอยากทำงานเป็นทีม แล้วค่อยไปอยู่ข้างหลังเป็นที่ปรึกษาให้คำแนะนำ ช่วงแรกเรารู้ว่าคนจับเหล็กร้อนมือมันจะพอง พอเหล็กเย็นก็จับได้เท่านั้นเอง ตอนนี้ยอมมือพองไปก่อน ไม่ได้มีอะไรเสียหาย

บางทีมันก็เป็นวิธีคิดที่ติดตัวมา เนื่องจากผมเคยเป็นตำรวจ ถือว่าตอนที่เป็นตำรวจก็รุ่งโรจน์นะ เป็นผู้กำกับกองปราบปราม 2 มีอำนาจดูแลการสืบสวนทั่วประเทศ และได้เป็นถึงรองผู้การกองปราบปราม ก่อนโอนมาที่กระทรวงยุติธรรม เราก็อยากให้ DSI เป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชน 

คนเราต่างต้องการความยุติธรรม ไม่ต้องการอำนาจอะไรมาก ผมเคยอยู่กองปราบสมัยที่จับผู้พันตึ๋ง ผลการประเมินความพอใจสูงสุดในประเทศ 

จริงๆ งานทางการเมืองมันน่าจะไม่ถูกกับผมเท่าไหร่นัก แต่ว่าเราใคร่ครวญแล้ว จะทำยังไงจึงจะคืนสิทธิคืนอำนาจให้ประชาชน โดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำ ผมคิดว่าเรามีกึ๋น มีประสบการณ์บางอย่างที่คนอื่นไม่มี เรารู้ว่ากุญแจมันอยู่ตรงไหน เช่น เรื่องตำรวจ ไม่ต้องไปเสียเงินให้สภาปฏิรูปตำรวจเยอะแยะ ทำอย่างไรให้สายตรวจ สายสืบ และพนักงานสอบสวน มีคุณภาพให้ประชาชนประเมินก็พอแล้ว เปิดเผยความจริงได้

คือผมผ่านมาหมดแล้ว งานที่ภาคใต้ตำแหน่งเทียบเท่าปลัดกระทรวง มีคนบอกว่าอย่าไปเลย เพราะในพื้นที่เต็มไปด้วยพรรคฝ่ายค้าน แต่ตอนผมลงไป มันอยู่ในวิธีคิดว่าเราเอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง จะทำอะไรก็ง่าย การเสแสร้งกับการทำงานด้วยความจริงใจมันดูไม่ยาก เสแสร้งมันทำได้ไม่นาน มันจะถูกพิสูจน์

 

คนพูดกันเยอะเรื่องความหวัง คุณตั้งความหวังไว้สูงสุดแค่ไหนในทางการเมือง 

ทุกวันนี้การเปลี่ยนแปลงของโลกมันเร็ว จุดเปลี่ยนมันมีได้ตลอดทุกนาที เราเชื่อว่าบางครั้งในประเทศไทยมันก็อาจจะเปลี่ยนแปลงได้โดยไม่ทันตั้งตัว

วันนี้เขาบอกกันว่าความเลวร้ายที่สุดของมนุษย์มีสองส่วน หนึ่งคือความแก่ มันไม่ปราณีใคร มันไปเรื่อยๆ มันไม่หยุด สองคือความรู้และเทคโนโลยี 

วิธีคิดของผมคืออดีตจะเป็นบทเรียน ปัจจุบันและอนาคตคือความรับผิดชอบ เราก็ต้องไปรับผิดชอบในเป้าหมายที่เราตั้งไว้ บางทีความสำเร็จไม่ใช่ตำแหน่งทางการเมือง แต่คือการทำให้คนได้ตระหนักในวิธีคิด

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save