fbpx
จาก 'กู โรตี' ถึง 'ปังปอนด์ออนทัวร์' - ความปังที่ไม่ได้เกิดขึ้นแบบมั่วๆ

จาก ‘กู โรตี’ ถึง ‘ปังปอนด์ออนทัวร์’ – ความปังที่ไม่ได้เกิดขึ้นแบบมั่วๆ

พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล เรื่องและภาพ

สุภาพ ยียวน กวนโอ๊ย น่าจะเป็นคำจำกัดความสั้นๆ เมื่อนึกถึง ‘ปังปอนด์ออนทัวร์’ เพจน้องใหม่มาแรงที่สร้างความคึกคักบนโลกโซเชียลในช่วงสองสามเดือนที่ผ่านมา

ด้วยคาแรกเตอร์ที่โดดเด่น ประกอบกับวิธีพรีเซนต์เรื่องราวต่างๆ ในชีวิตประจำวัน (รวมถึงสินค้า) แบบแหวกแนว สนุกสนาน ส่งผลให้หลายๆ โพสต์ถูกแชร์ต่ออย่างแพร่หลาย กลายเป็นไวรัลในชั่วข้ามคืน โดยมีลายเซ็นที่เป็นจุดขายอย่างการใช้คำว่า “ขออนุญาต…ครับ” และ “เยี่ยมครับ” พร้อมกับการชูนิ้วโป้งโดยมีใบหน้าถมึงทึงเป็นฉากหลัง

ภายใต้บุคลิกที่เหมือนจะเป็นคนง่ายๆ กวนๆ จากที่เห็นในเพจ อีกด้านหนึ่งนั้น ‘ปอนด์’ หรือ วชิร ละอองเทพ หนุ่มวัย 25 ปีจากหาดใหญ่ ยังเป็นนักธุรกิจไฟแรง ผู้บุกเบิกร้านอาหารที่หลายคนอาจเคยลิ้มลองมาแล้วอย่าง ‘กู โรตี ชาชัก’ และ ‘Empty Tasty’

ปอนด์เล่าว่าทุกอย่างที่เขาทำนั้น ตั้งต้นมาจากความชอบส่วนตัว บวกกับแพชชั่นและไอเดียที่พรั่งพรูออกมาอยู่เสมอๆ เป็นแรงผลักดัน

ที่สำคัญคือทุกอย่างที่เขาทำจนประสบความสำเร็จนั้น เกิดจากการศึกษาและวางแผนอย่างรอบคอบ มิใช่จากความฟลุ๊คหรือความมั่ว

101 นัดคุยกับเขาแบบยาวๆ เพื่อทำความรู้จักตัวตนของเขาให้มากขึ้น ตั้งแต่วิธีคิดในการทำธุรกิจ ที่มาของการทำเพจ ไปจนถึงมุมมองที่เขามีต่อการใช้โซเชียลมีเดีย

งปอนด์ออนทัวร์

จุดเริ่มต้นการทำธุรกิจ

เริ่มจากช่วงเรียนมหาลัยครับ อยากมีรายได้เป็นของตัวเอง ไม่ต้องขอเงินพ่อแม่ ก็เริ่มจากไปช่วยรุ่นพี่ที่ทำอีเวนท์ Zaap เป็นพนักงานธรรมดาเลยครับ คอยดูตั๋ว โน่นนั่นนี่ พอเราเห็นพี่เขาทำแล้วประสบความสำเร็จ เป็นธุรกิจของตัวเอง ทำรายได้ให้ตัวเองได้ ก็รู้สึกว่าอยากทำของตัวเองบ้าง

แล้วช่วงนั้นเราเป็นนักกีฬา (ปอนด์เป็นนักกีฬาเทควันโด สอบเข้ามหา’ลัยได้ด้วยโควต้าของนักกีฬา) เราต้องควบคุมน้ำหนัก ควบคุมอาหาร เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง ฝึกทุกอย่างแบบนักกีฬา ซึ่งทำให้เรารู้ว่า เทรนด์การลดน้ำหนักที่หลายๆ คนกำลังทำกันอยู่ มันเป็นความเข้าใจที่ผิด เช่น ต้องอดอาหาร ต้องกินแต่ผักผลไม้ ต้องทำนั่นทำนี่ เราก็เลยเอาโมเดลของการควบคุมน้ำหนัก ควบคุมอาหาร แบบนักกีฬา เอามาทำเป็นสูตรอาหารคลีน เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำอาหารคลีนขึ้นมา ขายแบบดีลิเวอรี่ ชื่อว่า ‘Secret Meal’ ตอนนั้นถือได้ว่าเป็นเจ้าหนึ่งที่ติด Top 10 ของประเทศ ที่ทำแบบนี้ออกมาขาย

ตอนที่จะตัดสินใจทำ รู้ได้ไงว่ามันจะเวิร์คหรือไม่เวิร์ค

จุดเริ่มต้นก็มาจากผมเอง ที่ก่อนหน้านั้นผมชอบทำอาหารกินเองที่บ้านอยู่แล้ว รวมถึงอาหารคลีนที่ใช้ควบคุมน้ำหนักด้วย พอทำเสร็จ ผมก็โพสต์ลงเฟซบุ๊ก พอลงปุ๊บ เพื่อนมาคอมเมนต์ เฮ้ย น่ากิน เฮ้ย ทำไมมันดูไม่เหมือนอาหารคลีนเลย กะเพราแบบนี้ดูน่ากินจัง แกงเขียวหวานก็น่ากิน ซึ่งเวลาเราโพสต์ เราจะเขียนอธิบายไว้ด้วย เช่น นี่คือแกงเขียวหวานคลีน ตำพริกแกงเขียวหวานเอง ใส่นมสดพร่องมันเนย เนื้อไก่ใช้แต่อกไก่นะ ใส่ผักโน่นนี่ รวมกันแล้วถ้วยนี้ อยู่ที่ไม่เกิน 250 แคลลอรี่ อะไรทำนองนี้ครับ

พอเห็นแบบนี้ เพื่อนก็เข้ามาคอมเมนต์อีกว่า เฮ้ย อยากชิม ทำให้กินหน่อย ก็เลยเกิดเป็นไอเดียขึ้นมาว่า อยากทำอาหารแบบนี้ให้คนที่บอกอยากชิม ได้ลองชิมดู พอเพื่อนชิมแล้วบอกว่าอร่อยนะ ชอบนะ ก็เลยอยากทำขายดู คิดว่าน่าจะเวิร์ค

ตอนนั้นเพื่อนที่จะชวนมาทำด้วยกัน มันบวชอยู่ พอผมคิดไอเดียนี้ได้ ผมไปหามันที่วัดเลย (หัวเราะ) ไปเสนอไอเดียกับมันวันนั้นเลย พอสึกออกมาปุ๊บก็ลุยเลยครัับ ช่วงนั้นอยู่ปี 3 เทอม 2

คิดเองทำเองทุกอย่างเลยรึเปล่า

ทำกับเพื่อนอีกคนนึงครับ ลงทุนด้วยกัน เริ่มจากทำกันในบ้านเล็กๆ ไปซื้อวัตถุดิบจากตลาดไท แล้วก็เริ่มทำส่งในโซนใกล้ๆ ก่อน คือในม.ธรรมศาสตร์ พอเริ่มมีชื่อเสียง ก็ขยายไลน์ออกไปม.กรุงเทพ ม.รังสิต เราทำแบบสดใหม่เลย แล้วก็เป็นดิลิเวอร์รี่ที่ส่งเอง ส่งถึงหน้าห้องเลย ไม่มีพนักงาน ไม่มีลูกน้อง ทำเองหมด

ช่วงนั้นผมเรียนไปด้วย ทำงานไปด้วย ตื่นมาตีห้า ไปตลาดไทซื้อของ กลับมาสายๆ จัดของเตรียมทำ พอสายๆ ถึงเที่ยง ก็ไปเรียน เรียนเสร็จกลับมา ก็ลงมือทำ ทำเสร็จก็พักไว้ เช้าวันถัดมาก็เอาไปส่ง อาทิตย์นึงก็ส่งสองถึงสามรอบ

ถือว่าผลตอบรับก็ดีเลยครับ ดีเกินคาด ลงทุนกันคนละหมื่นเดียว แต่เงินที่ได้กลับมา ทำให้สามารถเลี้ยงชีพตัวเองได้แบบโอเค

จากตอนแรกที่ทำอาหารคลีน ขยับมาสู่การทำร้านโรตีได้ยังไง

ร้าน ‘กู โรตี ชาชัก’ จริงๆ ผมเปิดตั้งแต่ตอนเรียนเลย ช่วงปี 4 เทอม 2 ไอเดียของการเปิดร้านนี้ คือผมเป็นคนหาดใหญ่ อยู่หาดใหญ่มาตั้งแต่เด็ก จนถึงม.3 แล้วก็มาเรียนต่อม.4 ที่กรุงเทพฯ ผมสังเกตว่าที่หาดใหญ่ สถานที่ที่คนจะไปพบปะกันคือร้านน้ำชา เรียกว่าเป็นสถานที่หลักที่ผู้คนจะพบเจอกันในชีวิตประจำวัน เป็นเหมือนสภากาแฟ กินอาหาร กินน้ำชา กาแฟ แล้วก็โรตี นี่คือลักษณะเฉพาะของคนใต้ ซึ่งผมมองว่า ทำไมโมเดลแบบนี้ในกรุงเทพฯ มันยังไม่มี

เท่าที่ผมเห็น คนกรุงเทพฯ พอเลิกงาน ก็อาจจะนัดกินข้าวกัน แล้วก็แยกย้าย ร้านกาแฟส่วนใหญ่ก็จะเปิดตอนกลางวัน ปิดช่วงเย็น อีกแบบหนึ่งก็คือร้านเหล้าไปเลย ซึ่งผมมองว่า ถ้าเป็นคนที่ไม่กินเหล้ากินเบียร์ เขาจะสามารถมีจุดที่มานั่งพบปะพูดคุยกัน แบบสภากาแฟได้มั้ย ก็เลยเกิดไอเดียว่า อยากเอาวัฒนธรรมแบบคนใต้ ยกมาเปิดให้คนกรุงเทพฯ ได้รู้จักบ้าง

คำว่า กู มาจากไหน

กู คือชื่อร้านโรตีที่หาดใหญ่ ซึ่งผมทานมาตั้งแต่เด็ก ช่วงที่ผมจะทำ ผมก็ไปขอซื้อแฟรนไชส์มาเปิดที่กรุงเทพฯ ความหมายของมันก็ง่ายๆ เลย คือเป็นคำหยาบที่ใช้เรียกแทนตัวเอง ซึ่งความหมายแฝงอีกอย่างคือ อยากให้คนที่เข้ามารู้สึกรีแลกซ์ เป็นกันเอง เหมือนเพื่อนสนิทที่พูดกูมึงกันได้

ร้านเดิมที่หาดใหญ่ เป็นแบบที่เอามาทำในกรุงเทพฯ เลยรึเปล่า

ไม่เหมือนครับ ร้านเดิมที่หาดใหญ่จะเป็นร้านข้างทาง เปิดแบบ outdoor ไม่ได้เป็นห้องแอร์ แต่พอเราเอามาทำ เรายกมาเฉพาะคอนเซ็ปต์ของมัน คือการเป็นพื้นที่ให้คนได้มาพบปะพูดคุยกัน แบบครบวงจร มีทั้งข้าว มีของหวาน มีโรตี มีเครื่องดื่ม แล้วสามารถนั่งนานๆ ได้ แบบที่ไม่ใช่แค่การมานั่งกินข้าวแล้วแยกย้าย

ตอนแรกผมเอามาเปิดที่โครงการสนั่นภา ซอยอารีย์ เป็นเวิ้งเล็กๆ แบบ outdoor ก็อปบรรยากาศแบบที่หาดใหญ่มาเลย ซึ่งคนก็มากันเยอะมากนะครับ แต่ทีนี้ติดปัญหาว่า ช่วงหน้าฝน มันลำบาก แล้วพื้นที่ตรงนั้นมันไม่สามารถหาหลังคาหรือร่มมากางคลุมทั้งหมดได้ สักพักเราเลยตัดสินใจปรับรูปแบบใหม่ เอาเข้ามาอยู่ในห้องแอร์ ปรับให้มีความเป็นคาเฟ่มากขึ้น ก็คือสาขาที่อยู่ตรงโครงการ Aqua ใกล้แยกสะพานควาย ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่ก็ยังตามไปกินต่อ

แต่มันก็จะไม่เหมือนกับร้านกาแฟทั่วไป เพราะร้านกาแฟส่วนใหญ่มันจะเงียบ ต่างคนต่างนั่งทำงาน อ่านหนังสือ แต่อย่างร้านนี้ จะสังเกตว่ามันเจี๊ยวจ๊าวนิดนึง คุยเสียงดังได้ เราเซ็ตบรรยากาศให้เป็นกันเอง แล้วก็เหมาะกับการพบปะพูดคุยตามคอนเซ็ปต์ที่ตั้งไว้แต่แรก

ส่วนเรื่องเมนู หลักๆ เราก็จะคงเมนูเดิมเอาไว้ ที่เป็นพื้นฐาน คือโรตีธรรมดา โรตีนม โรตีกล้วย ชาชัก แต่พอเราเอามาเปิดที่กรุงเทพฯ เราต้องยกระดับขึ้นมาอีกขั้น จากเดิมที่เขาขายกันแผ่นละ 8 บาท พอเอามาอยู่ในร้านแบบนี้ โมเดลแบบนี้ ค่าเช่าที่ประมาณนี้ เราต้องขาย 29 บาท ฉะนั้นเมนูต่างๆ เราก็ต้องยกระดับมันขึ้นมาด้วย

เราจะฟังฟีดเแบคจากลูกค้าด้วย ว่าชอบมั้ย หรือมีตรงไหนที่ไม่ชอบ ไม่ดี แล้วก็เอามาปรับปรุงให้ตรงกับความต้องการลูกค้ามากขึ้น แต่ละคนอาจชอบความหวานที่ต่างกัน เราก็ทำเป็นใบให้ติ๊กว่าจะเอาหวานมาก หวานน้อย หรืออยากเพิ่มอะไรก็ติ๊กลงไปได้

ผมพยายามปรับให้เข้ากับคนกรุงเทพฯ มากที่สุด เช่น โรตีทิชชู่ ถ้าเป็นที่หาดใหญ่ เขาจะเสิร์ฟมาเป็นแผ่นใหญ่ๆ เกือบเท่ากระดาษ A4 เลย แล้วก็ฉีกแบ่งกันกิน แต่พอมาทำที่กรุงเทพฯ เรารู้สึกว่ามันไม่สะดวก บางคนอาจใส่สูท ใส่แขนยาวมา ฉะนั้นเราก็หั่นให้เขาเลย อย่างที่บอกเรื่องราคา เราคูณจากเดิมไป 3-4 เท่า หมายความว่าเราก็ต้องทำออกมาให้ลูกค้ารู้สึกว่ามันคุ้มค่ากับราคาเท่านี้ด้วย

ปังปอนด์ออนทัวร์

ได้ข่าวคุณขายกิจการต่อให้คนอื่นไปสักพักแล้ว อยากรู้ว่าทำไมถึงขาย

ใช่ครับ พอทำไปสักพัก แล้วเริ่มประสบความสำเร็จมากขึ้น จนถึงจุดหนึ่งที่ผมพอใจแล้ว ผมก็อยากขยับไปทำอย่างอื่นต่อ เลยตัดสินใจเซ้งร้าน จริงๆ ตอนนั้นกำลังเฟื่องฟูเลยครับ ร้านกู โรตี มีอยู่ร้านเดียวในกรุงเทพฯ ฉะนั้นทุกคนต้องมากินที่นี่ แต่ในใจเรา เรายังมีความรู้สึกลึกๆ ว่า ยังไงมันก็ไม่ใช่แบรนด์ของเราอยู่ดี

พูดง่ายๆ คือได้เงิน แต่ไม่ได้ความภาคภูมิใจเท่าไหร่ เหมือนเราไปเปิดเซเว่นสาขาใหม่ เราอาจพูดได้ว่านี่ร้านกูนะเว้ย เซเว่นสาขานี้ แต่สุดท้ายมันพูดได้ไม่เต็มปาก เพราะไม่ใช่ของเราอยู่ดี ไม่ใช่สิ่งที่เราสร้างขึ้นมาตั้งแต่แรก

ตอนนั้นผมอายุ 23 ผมรู้สึกว่าเราน่าจะทำอะไรได้มากกว่านี้ เป็นช่วงที่มีความมั่นใจมาก ประจวบกับที่มีรุ่นน้องสนใจ มาขอซื้อ ไอเดียเขาคืออยากเอาไปเปิดแฟรนไชส์ต่อ ผมเลยเสนอว่า งั้นมาซื้อไปเลยมั้ย คุณมีลูกค้าเลยนะ มีรายได้เลยนะ โดยที่ยังไม่ต้องไปเปิดร้านใหม่ พอตกลงกันได้ ขายเสร็จ ได้เงินมา ผมก็เอาเงินก้อนนั้นไปลงทุนต่อ

ลงทุนอะไรต่อ

เปิดร้านไอติมครับ ชื่อ ‘Empty Tasty’ ลงทุนกับเพื่อน ทำเป็นไอติมพร้อมเสิร์ฟ มาเปิดแถวอารีย์เหมือนเดิม แล้วก็ทำไปจนประสบความสำเร็จขั้นนึง จนได้ไปร่วมอีเว้นท์อาหารในพารากอนอยู่สองสามรอบ แล้วก็มีที่เดอะมอลล์ กับเซ็นทรัล ที่มาชวนให้เราไปเปิดในห้าง ซึ่ง ณ ตอนนั้น ใจผมก็อยากทำให้มันเป็นธุรกิจที่จริงจัง ยิ่งใหญ่ไปเลย แต่ด้วยทีมงานกับงบประมาณที่มี เราไม่สามารถทำได้ สุดท้ายเลยเปิดอยู่แค่ร้านเดียว ซึ่งก็ถือว่าประสบความสำเร็จในระดับนึง

ทีนี้พอเรารู้สึกว่าประสบความสำเร็จแล้ว ก็กลับไปแนวเดียวกับร้านกู โรตี เลย คือขายต่อ (หัวเราะ) คราวนี้ผมขายแบรนด์ทิ้งไปเลย ไม่ได้ขายแฟรนไชส์ด้วย ที่ขายแบรนด์ไปเลย เพราะรู้สึกว่า อยากให้คนที่เขาอยากได้แบรนด์เราจริงๆ และมีศักยภาพจริงๆ เอาโมเดลธุรกิจที่เราเคยคิดไว้ไปทำต่อให้สำเร็จ เพราะตัวเราเองทำไม่ได้

แง่หนึ่งก็เหมือนเราเล่นเกมครับ ตอนนี้ผมรู้สึกว่าตัวเองยังเด็กอยู่ พอเราทำสิ่งหนึ่งสำเร็จ จับจุดมันได้แล้ว เราก็ขยับไปทำอย่างอื่นที่เราสนใจต่อไป ส่วนธุรกิจเดิมที่เราทำมา เราก็ส่งให้คนอื่นที่อยากทำได้ทำต่อ

รู้สึกเสียดายบ้างไหม ทั้งร้านโรตีและร้านไอติม

ถามว่าเสียดายไหม ก็เสียดายครับ เพราะพอเรามองกลับไป ตัวเงินที่เราได้กลับมาในช่วงนั้นมันเยอะพอสมควร ในระดับที่สามารถเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้ แต่อีกมุมก็รู้สึกว่า ในอายุเท่านี้ ถ้าจะให้เราเป็นพ่อค้าขายโรตีไปอีกสิบปี มันยังไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการ เพราะสถานะของเราตอนนี้ ก็ยังไม่ได้อยู่ในจุดที่ต้องเลี้ยงครอบครัว ยังไม่มีเมียมีลูก หลักๆ คือเราใช้ชีวิตของเราคนเดียว ก็เลยยังไม่จำเป็นต้องรีบหาเงินเยอะๆ หรือทำงานอะไรที่มั่นคงขนาดนั้น

ขณะเดียวกัน เรายังมี challenge ต่างๆ ที่อยากทำอยู่ ซึ่งผมอยากใช้เวลาในช่วง 4-5 ปีถัดจากนี้เพื่อทำสิ่งเหล่านั้น เพราะถ้าพ้นจากช่วงอายุสามสิบขึ้นไป ถ้าเกิดมีครอบครัว มีภาระมากขึ้น เราอาจไม่มีโอกาสได้ทำอะไรแบบนี้อีกแล้ว แต่ช่วงเวลานี้เรายังเสี่ยงได้ ลองทำอะไรใหม่ๆ ที่อยากทำให้ประสบความสำเร็จได้

เป้าหมายต่อไปที่อยากทำ คืออะไร

เป็นร้านอาหารครับ กึ่งคาเฟ่กึ่งบาร์ มาจากการที่ผมไปเจอทำเลหนึ่งแถวอนุสาวรีย์ชัยฯ เป็นดาดฟ้าที่มองเห็นวิวอนุสาวรีย์ชัยฯ ที่มีรถไฟฟ้าวิ่งผ่าน ซึ่งผมคิดว่าเป็นวิวที่สวยมาก แล้วผมก็มีไอเดียที่อยากทำร้านแบบนี้อยู่แล้ว

ก่อนหน้านี้ช่วงที่ยังเรียนอยู่ ผมเป็นคนที่เที่ยวตลอด กินเบียร์กินเหล้าเกือบทุกวัน เราก็พอจับจุดได้ว่าจะทำร้านแบบนี้ยังไง พอคิดไอเดียได้ก็เอาไปเสนอเพื่อน แล้วรวบรวมทีมกันมาเปิดร้านนี้ ตอนนี้กำลังทำอยู่ วางแผนไว้ว่าจะเปิดภายในเดือนกตุลาคมนี้ครับ

คอนเซ็ปต์คือเป็นร้านที่เปิดทั้งกลางวันกลางคืน กลางวันเปิดเป็นร้านกาแฟ มีขายกาแฟ เครื่องดื่มทั่วไป พอตกเย็นก็เปลี่ยนเป็นร้านเหล้า จุดขายที่มีแน่ๆ แล้วก็คือวิว แต่ที่เราคิดเพิ่มขึ้นมา ก็คือ Drinking game

ปกติเวลาเราไปกินเหล้า มันมักจะมีสถานการณ์ที่เราต้องเจอเพื่อนของเพื่อน แล้วต้องคุยกัน ทำความรู้จักกัน ซึ่งบางทีก็ไม่รู้จะคุยอะไร บางทีเราก็จะหาเกมมาเล่นกัน เปิดเกมจับไพ่ในมือถือ หรืออะไรก็ว่าไป เพื่อละลายพฤติกรรมกัน เราก็เอาจุดนี้มาคิดต่อว่า แทนที่จะให้ลูกค้านั่งหาเกมเล่นกันเอง เราหาเกมมาให้เขาเล่นเลยดีกว่า

ชื่อร้านคือ Peak A Boo เป็นภาษาอังกฤษ แปลว่า จ๊ะเอ๋ มาจากการที่ทำเลนี้มันลึกลับนิดนึง แต่ถ้ามองจากข้างนอก ถ้าคุณเดินผ่านอนุสาวรีย์ชัยฯ จะมีอยู่จุดนึงที่คุณมองเห็นว่ามีร้านนี้อยู่ เหมือนการจ๊ะเอ๋ ก็เลยเอามาตั้งเป็นชื่อร้านครับ

เท่าที่ฟังมา รู้สึกว่าวิธีคิดของคุณ มีเซ้นส์ของความเป็นธุรกิจค่อนข้างสูง อยากรู้ว่าได้ทักษะเหล่านี้มาจากไหน

จริงๆ คือไม่มีเลยครับ ทุกอย่างคือทำจากความชอบ ประกอบกับความที่เป็นคนคิดเยอะ มีไอเดียใหม่ๆ เยอะ อีกส่วนคือการที่ผมเรียนคณะวารสารฯ ธรรมศาสตร์ มา ซึ่งหลายคนก็ชอบพูดว่า ทำไมมึงทำงานไม่ตรงสาย ไม่เห็นเกี่ยวอะไรกับที่เรียนมาเลย แต่ผมกลับมองว่า สิ่งที่ผมเรียนมา สุดท้ายแล้วมันสามารถเอามาใช้ประโยชน์กับการทำธุรกิจได้หมดเลย

เช่น เราเรียนวิชาโฆษณามา พอเราเปิดร้าน เรารู้เลยว่า การจะทำให้คนเห็นและชื่นชอบโฆษณาของร้านเรา ต้องใช้หลักอะไรบ้าง ทำ marketing ยังไง พรีเซนต์ยังไง มันเอามาใช้ได้หมด กระทั่งเวลาที่มีคนมาพูดถึงร้านเราได้ด้านลบ หรือพยายามดิสเครดิต เราก็รู้ว่าควรรับมือยังไง แก้สถานการณ์แบบไหน โดยใช้ความรู้จากวิชา PR ที่เราเรียนมา

ถ้าให้เทียบคนในสายธุรกิจ ผมคิดว่าคนที่จบด้านนิเทศศาสตร์หรือสื่อสารมวลชน จะมีความได้เปรียบกว่าด้วยซ้ำในด้านนี้ เพราะมุมมองมันจะเป็นอีกแบบเลย ซึ่งวิชาโฆษณา หรือ PR ที่บอกไป มันคือวิชาพื้นฐานที่เรียนตั้งแต่ช่วงปี 1 ปี 2 ด้วยซ้ำ ผมขอเถียงเลยถ้าใครมาบอกว่ามึงเรียนมาไม่ตรงสาย หรือเรียนมาแล้วไม่ได้ใช้ (หัวเราะ) เพราะผมพิสูจน์มาแล้วว่าทุกอย่างมันใช้ได้จริงหมดเลย

แล้วที่มาของการเปิดเพจ ‘ปังปอนด์ออนทัวร์’ คืออะไร

จริงๆ เพจนี้มันเกิดขึ้นมาเพราะเราทำเล่นๆ มีวันหนึ่งที่ผมอยากไปคอนเสิร์ต G19 ถึงเวลาก็ชวนเพื่อน ไม่มีใครว่างเลย ก็เลยลากเพื่อนคนนึงให้ไปด้วยกัน บอกมึงไปกับกูหน่อย ออกค่าบัตรให้ก็ได้ ที่นี้พวกเพื่อนที่ไม่ได้ไป มันก็บอกว่ามึงถ่ายรูปมาให้ดูด้วย รายงานหน่อยว่าคอนเสิร์ตเป็นไง เพราะมันเป็น event ใหญ่หลังจากที่พี่ตูน บอดี้สแลม เพิ่งวิ่งเสร็จ

ถึงเวลาผมก็ทำตามที่เพื่อนบอก เข้าไปถ่ายรูปตามมุมต่างๆ ตั้งแต่หน้างาน ถ่ายเซลฟี่แบบปกติเลยครับ แล้วเราก็ยกมือเยี่ยมขึ้นมา แล้วก็เขียนแคปชั่น วันนี้ขออนุญาตมาคอนเสิร์ตนะครับ เริ่มตั้งแต่หน้างาน หน้างานเยี่ยมครับ สปอนเซอร์เยี่ยมครับ ทางเข้างานเยี่ยมครับ ไอ้โน่นเยี่ยมครับ ไอ้นี่เยี่ยมครับ ไปจนจบงาน แล้วเอามาเรียบเรียงลงเฟซบุ๊กส่วนตัว ตอนนั้นยังไม่มีเพจ

ปรากฏว่าผลตอบรับดี มีคนมาเม้น เฮ้ย มึงแม่งตลกว่ะ แคปชั่นมึงตลกว่ะ การเรียบเรียงรูปมึงตลกว่ะ มีคนกดแชร์ต่อ แล้วก็มีคนมาเม้น เฮ้ย ลองเปิดเพจดูดิ ผมก็ลองเลยครับ รู้สึกว่าแง่หนึ่งมันสามารถตอบโจทย์ที่เราเคยคิดไว้ด้วยว่า อยากทำอะไรให้เพื่อนยังเห็นเราอยู่ตลอดเวลาในโซเชียล พวกเพื่อนเก่าๆ จะได้ไม่ลืมกัน อย่างน้อยไม่เจอกันก็ยังเห็นความเคลื่อนไหวกันอยู่ ก็เลยเกิดเพจนี้ขึ้นมา

วางคอนเซ็ปต์เพจนี้ยังไง

หลักๆ คือวางตัวเองเป็นคนสุภาพ มียกนิ้วโป้ง แล้วก็พูดคำว่าขออนุญาต ซึ่งปกติเวลาผมพูด ผมพูดอยู่แล้วนะ คือใช้พูดแบบกวนๆ กับเพื่อน วันนี้ขออนุญาตดื่มครับ แล้วก็ยกนิ้วโป้ง พูดไปก็ยกแก้วเบียร์ไปด้วย อะไรทำนองนี้

ส่วนวิธีนำเสนอก็ง่ายๆ เลยครับ ไม่ว่าจะไปที่ไหน ทำอะไร เราก็ยกกล้องขึ้นมาถ่าย ยกนิ้ว แล้วก็เอากลับมาเรียบเรียงเป็นอัลบั้มรูป ใส่แคปชั่นสั้นๆ ตามคอนเซ็ปต์

ตัวจริงของคุณกับสิ่งที่เห็นในเพจ แตกต่างกันไหม

จริงๆ แล้วสิ่งที่ผมสื่อไปก็เป็นตัวของผมในมุมหนึ่งอยู่ดี ถ้าอยู่กับเพื่อนสนิทกัน ก็อาจพูดไอ้สัตว์ไอ้เหี้ยใส่กันได้ แต่เวลาเราเจอรุ่นพี่ เจอผู้ใหญ่ ผมก็จะเป็นอีกคนหนึ่ง ซึ่งเราก็ยังเป็นตัวเราอยู่นะครับ แค่วางตัวดีขึ้น พูดจาดีขึ้น อาจมีบางคนบอกว่า เฮ้ย ที่เห็นในเพจนี่มันไม่เหมือนปังปอนด์ตัวจริงหรอก แต่ผมรู้สึกว่ามันก็คือตัวเราอยู่ดี เพียงแค่ในเพจเราใส่คาแรกเตอร์บางอย่างเข้าไปให้ชัดขึ้นเท่านั้น หมายความว่าเราไม่ได้ fake เราแค่สร้างคาแรกเตอร์ขึ้นมา เหมือนเป็น signature เช่น การมีเหนียง ซึ่งก็มีอยู่แล้วจริงๆ (หัวเราะ) หรือการยกนิ้ว ผมว่าไม่ต่างจากทุกเพจที่ต้องมีคาแรคเตอร์ของตัวเอง แต่สิ่งที่เราพูดไป สื่อออกไปทุกอย่าง มันคือความจริง เป็นสิ่งที่เรารู้สึกและอยากนำเสนอออกไปจริงๆ

ปังปอนด์ออนทัวร์

ปังปอนด์ออนทัวร์

ช่วงหลังๆ สังเกตว่าเริ่มมีสปอนเซอร์เข้ามามากขึ้น มีวิธีดีลกับลูกค้ายังไงให้ยังสามารถคงความเป็นตัวเองได้อยู่

ในกรณีที่สปอนเซอร์เข้ามา เราก็คงคาแรคเตอร์เดิมเลยครับ เราจะคุยกันให้เคลียร์ก่อนว่า จุดประสงค์เราคืออย่างนี้นะ สิ่งที่เราทำเป็นไลฟ์สไตล์ที่เราออกไปออนทัวร์ตามที่ต่างๆ แล้วเอามาเรียบเรียงให้เป็นเรื่องราวให้คนดูดูแล้วสนุกไปกับเรา ผมจะเล่าให้เขาเห็นภาพตั้งแต่แรกว่าเราทำอะไรก่อนจะดีลงานกัน

ทีนี้พอดีลกันแล้ว เราก็จะกลับมาทำการบ้าน ว่าจะเล่าเรื่องนี้ยังไง เล่าปากเปล่าให้เขาฟังคร่าวๆ ก่อน แล้วทำใบ proposal ส่งไปให้เขาดู วาด story board ไปให้ดูว่าภาพออกมาจะเป็นยังไง

ช่วงที่เพจเริ่มดังมาก ก็มีเข้ามาเยอะเหมือนกัน ซึ่งตอนแรกเราก็รับมือไม่ทัน เพราะจากปกติที่ตื่นมา อยากโพสต์อะไรก็โพสต์ อยากโพสต์ว่าแปรงฟัน เราก็โพสต์ วันนี้เราหิวข้าว ก็ไปกินแล้วโพสต์ แต่อันนี้เหมือนเป็นอีกสเต็ปหนึ่งที่มีคนนอกเข้ามา แล้วเขาอาจไม่ค่อยเข้าใจเราเท่าไหร่ เราก็พยายามอธิบายให้เขาเข้าใจว่าเราเป็นยังไง เหมือนที่เราเคยเป็นตั้งแต่แรก

มีเนื้อหาแบบไหนที่เพจปังปอนด์จะไม่ทำ หรือไม่อยากทำไหม

ผมจะไม่โพสต์สเตตัสหรือเนื้อหาอะไรที่ทำให้คนแตกแยกกัน นี่คือสิ่งที่ตั้งใจเลย ไม่ใช่เฉพาะเรื่องการเมืองนะครับ แต่ไม่ว่าเรื่องอะไรก็ตาม ผมเป็นคนที่ไม่ชอบการดีเบตกันในเฟซบุ๊กหรือโซเชียลเลย โดยเฉพาะการดีเบตที่เหมือนจะต้องการข้อสรุปหรือความถูกต้องบางอย่าง เพราะแต่ละคนมีทัศนคติต่างกันอยู่แล้ว และในความเป็นเพจ ผมก็ไม่ได้อยากจุดประกายให้คนมาตีกันหรือแตกแยกกันแบบนั้น

ผมรู้สึกว่าโลกโซเชียลไม่ใช่พื้นที่ที่คนควรจะไปเถียงกัน เพราะสุดท้ายแล้วมันอาจไม่นำไปสู่อะไรเลย แต่ถามว่าส่วนตัวผม ชอบการถกเถียงมั้ย ในชีวิตจริงผมก็เป็นคนที่ชอบถกเถียงด้วยหลักการและเหตุผลนะครับ อะไรที่รู้สึกว่าไม่ดี ไม่ใช่ เราก็ยังเถียงและค้านอยู่ตามปกติ ตามหลักการและเหตุผล แต่เราไม่อยากทำแบบนั้นบนโลกออนไลน์

อย่างที่เห็นกันบ่อยๆ ว่าบางคนไม่รู้จักกันเลย หรือรู้จักกันห่างๆ แต่ดันมาทะเลาะกันเพราะ topic บางอย่าง ยกตัวอย่างง่ายๆ เรื่อง BNK48 ผมรู้สึกว่ามีดราม่าเยอะมาก ซึ่งตัวผมเองก็ติดตามวงนี้นะครับ แต่พอไปนั่งอ่านสิ่งที่เขาเถียงกัน เราเครียด เราเหนื่อยแทน ความจริงผมว่าเรารับฟังเหตุผลของกันและกันได้ แต่ไม่จำเป็นต้องมาตอบโต้หรือถกเถียงกันแบบเอาเป็นเอาตาย

สื่อออนไลน์มันสุดโต่งมาก ทั้งในแง่ดีและร้าย แง่ดีก็เช่นการช่วยเหลือกัน อย่างการระดมทุน หรือกระทั่งการการตามหาคนหาย ส่วนแง่ร้ายก็อย่างที่รู้ๆ กัน เวลาบางคนทำผิดอะไรนิดเดียวในโซเชียล คุณโดนเหยียบจมดินเลย ทั้งๆ ที่มันอาจไม่เป็นความจริงด้วยซ้ำ แต่ก็โดนประณามไปแล้วในสังคมออนไลน์ ผมรู้สึกว่าถ้าเราใช้เป็น มันเป็นสื่อที่มีประสิทธิภาพมาก

คุณมองว่าการใช้โซเชียลมีเดียสำคัญแค่ไหนกับการทำธุรกิจในยุคนี้

จริงๆ ตั้งแต่ผมทำธุรกิจมา ตั้งแต่ร้านแรกที่เป็นอาหารคลีน ผมใช้โซเชียลมีเดียเป็นหลักเลย เราเกิดมาในยุคดิจิทัลรุ่งเรือง ซึ่งการใช้โซเชียลมีเดีย แง่หนึ่งมันเป็นพื้นที่โฆษณาที่ใช้ประโยชน์ได้เยอะมาก ลงทุนน้อยแต่ได้ผลเยอะ ซึ่งตั้งแต่ทำมา ผมใช้ Free Ad หมดเลย ไม่เคยจ้างบล็อกเกอร์เพื่อให้มารีวิวหรือโปรโมตร้านเลย

มีหลักในการใช้โซเชียลมีเดียให้ได้ผลยังไง เพราะมีคนจำนวนไม่น้อยที่พยายามใช้วิธีเดียวกัน แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ

เห็นด้วยครับ เอาจริงๆ เวลาผมทำ ผมจะรีเสิร์ชมาค่อนข้างเยอะ ในทุกๆ เรื่อง รวมถึงเรื่องการใช้โซเชียลมีเดีย ผมว่าหัวใจหลักของมันคือการมีคอนเซ็ปต์ชัด มีคาแรกเตอร์ชัด แล้วก็สื่อสารให้ชัด เพื่อให้คนจดจำเราได้ แล้วเข้าใจสิ่งที่เราต้องการจะสื่อ

เหนืออื่นใดคือเราต้องรู้ตัวเองก่อนว่า สิ่งที่เราทำอยู่คืออะไร เช่น ถ้าเราทำร้านโรตี สิ่งที่เราต้องการขายลูกค้าคืออะไร คอนเซ็ปต์คืออะไร กลุ่มลูกค้าคือใคร แล้วจะขายเขายังไง เราต้องมองทุกอย่างให้ครอบคลุม และชัดที่สุด

บางคนอาจบอกว่า มึงโพสต์ๆ ไปเถอะ เดี๋ยวคนก็เห็นเอง แต่ผมว่าแบบนั้นไม่น่าเวิร์ค เพราะถ้ายึดจากสิ่งที่เรียนมา เรื่องพื้นฐานการสื่อสาร มันไม่ใช่แบบนี้แน่ๆ มันต้องชัดตั้งแต่แรกว่าสิ่งที่เราจะส่งออกไปคืออะไร ส่งด้วยวิธีไหน แล้วผู้รับสารคือใคร ทุกอย่างต้องมีกระบวนการคิดล่วงหน้า ก่อนที่จะปล่อยหรือโพสต์ออกไป

ผมว่าถ้าเราอยากใช้โซเชียลมีเดียให้มีเปอร์เซ็นต์ในการประสบความสำเร็จมากขึ้น คุณต้องคิดตั้งแต่กระบวนการก่อนหน้านั้นแล้ว คนทั่วไปอาจมองว่าง่าย โพสต์ๆ ไปเดี๋ยวก็ได้ แต่ผมกลับมองว่าการทำให้ประสบความสำเร็จหรือได้ผลจริงๆ มันมีอะไรที่ลึกซึ้งกว่านั้นเยอะ

เชื่อว่ามีคนรุ่นใหม่ไม่น้อยที่อยากประสบความสำเร็จแบบคุณ ทั้งการทำธุรกิจ รวมถึงการทำเพจของตัวเอง ถ้ามีคนมาขอคำปรึกษา คุณจะแนะนำเขาว่ายังไง

เราต้องถามก่อนว่าสิ่งแรก เป้าหมายของคุณคืออะไร ถ้าคุณอยากทำเพจ เป้าหมายของเพจคืออะไร สมมติเขาบอกว่า กูอยากทำเพจอาหารเพราะต้องการสร้างรายได้ อยากมีเงินเยอะ เพราะเห็นคนอื่นทำแล้วทำได้ เราก็อาจย้อนถามกลับไปว่า สิ่งที่คุณทำไป ทำแล้วมีความสุขเปล่า เป็นสิ่งที่คุณอยากทำจริงๆ หรือเปล่า เพราะถ้าคุณไม่อยากทำจริงๆ ถึงเวลาเมื่อทำไปในระดับหนึ่ง คุณก็จะเบื่อ แล้วคุณก็อาจต้องทิ้งมันไป

อย่างผมเองที่ทำร้านโรตี ผมเริ่มจากการที่เราอยากเผยแพร่ร้านโรตีให้คนกรุงเทพฯ ได้รู้จัก นี่คือเป้าหมายของผมตอนนั้น พอเราทำได้ปุ๊บ บางคนอาจมองว่าสำเร็จแล้ว แต่ผมรู้สึกว่าแง่หนึ่งมันล้มเหลว เพราะมันมีสิ่งที่เราไม่ชอบ ก็คือแบรนด์ เราไม่ได้เป็นคนสร้างแบรนด์เอง เราประสบความสำเร็จในจุดที่เราเผยแพร่ได้แล้วก็จริง แต่ความล้มเหลวของผมคือเราไม่รักมันแล้ว เราต้องการขาย มองแง่นี้ก็คือความล้มเหลวของการทำธุรกิจ ผมว่าถ้าเราทำธุรกิจแล้วเรารักจริงๆ มันต้องไปให้สุด สุดคือเราสามารถอยู่กับมันไปตลอดชีวิตได้

ส่วนใหญ่เวลาผมพูดประสบการณ์ให้คนอื่นฟัง หรือมีคนมาขอคำปรึกษา ผมจะไม่ค่อยพูดแง่บวก ผมจะพูดว่าสิ่งที่กูเจอมามันเป็นอย่างนี้ๆ นะ เหมือนคนที่มาเซ้งร้านผมต่อ ผมก็พูดในแง่ตัวเลขว่าคุณได้กำไรเท่านี้ แต่สิ่งที่คุณต้องเจอ ต้องแลก มันเป็นอย่างนี้นะ คุณรับได้มั้ย เช่น ถ้าเราเริ่มทำธุรกิจนี้ คุณจะแทบไม่มีเวลาเลย คุณอาจไม่ได้เจอเพื่อน ไม่มีเวลาพบปะสังสรรค์ ต้องทิ้งชีวิตส่วนตัวบางอย่างไป ส่วนใหญ่คือการถ่ายทอดประสบการณ์สิ่งที่เป็นปัญหาให้เขารู้ เพื่อประกอบการตัดสินใจ

เพราะผมไม่ได้เป็นเซลล์ถูกมั้ยครับ ถ้าผมเป็นเซลล์ ผมก็คงพูดในแง่ดีอย่างเดียว ทำเลย ซื้อเลย เดี๋ยวก็รวยแล้ว อะไรก็ว่าไป แต่เราจะพูดแง่ไม่ดีให้เขารู้ด้วย เพราะเราหวังดีกับเขา

เรารู้สึกว่า เฮ้ย คุณลงเงินไปเป็นล้าน แล้วคุณจะเอาเงินล้านไปลงกับอะไร ความสุขหรือตัวเลขอย่างเดียว ซึ่งถ้าเขายืนยันว่ากูอยากได้เงินอย่างเดียว ก็ไม่มีปัญหาอะไรนะครับ เราก็จะเชียร์ให้เขาทำอยู่ดี แต่ถ้าคุณอยากมีความสุขด้วย ซึ่งเงินอาจจะน้อยหน่อย คุณก็อาจต้องเลือกอีกแบบหนึ่ง

ปังปอนด์ออนทัวร์

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save