fbpx
Skimming is the New Black ผลลัพธ์ผลร้ายของการอ่านเร็ว

Skimming is the New Black ผลลัพธ์ผลร้ายของการอ่านเร็ว

โตมร ศุขปรีชา เรื่อง

 

คุณอ่านหนังสือเร็วแค่ไหนครับ

ในบทความ Sorry, But Speed Reading won’t Help You Read More โดยมาร์ค ซีเดนเบิร์ก (Mark Seidenberg) จากนิตยสาร Wired (ดูได้ที่นี่) เขาลองคำนวณเล่นๆ แบบแข็งๆ เอาไว้ดังนี้

ถ้าเวลาเราอ่าน ดวงตาของเราจรดจับจ้องลงไปในหนึ่งวาบ หรือที่คุณมาร์คเรียกว่า 1 Fixation นั้น คุณมาร์คบอกว่าหนึ่งวาบของเรา จะจับตัวอักษรได้อย่างชัดเจนแจ่มแจ้งราว 7-8 ตัวอักษร (นี่พูดถึงภาษาอังกฤษนะครับ)

หนึ่งวาบหรือหนึ่ง Fixation กินเวลานานราว 200-250 มิลลิวินาที ซึ่งก็เท่ากับราวๆ 4-5 วาบ ต่อวินาที ดังนั้น เมื่อคิดค่าการอ่านที่ 4 วาบต่อวินาที ก็จะเท่ากับ 240 วาบต่อนาที ซึ่งถ้าเอาไปคูณกับตัวอักษรในหนึ่งวาบที่ 7 ตัว ก็จะตกเป็นตัวอักษรราว 1,680 ตัว ต่อนาที

ทีนี้โดยเฉลี่ย คำหนึ่งคำ (ในภาษาอังกฤษ) จะมีจำนวนตัวอักษรเฉลี่ยอยู่ที่ราว 5 ตัว ถ้าเอา 5 ซึ่งคือจำนวนตัวอักษร ไปบวกกับอีก 1 คือจำนวนวรรค ก็จะเท่ากับ 6 ตัวอักษรต่อคำ แล้วนำ 6 ไปหาร 1,680 ตัวอักษร ก็จะออกมาเฉลี่ยที่ราว 280 คำต่อนาที

นี่คือค่าการอ่านเฉลี่ยๆ ของมนุษย์เฉลี่ยๆ ทั่วไป อาจจะมากน้อยกว่านี้ได้บ้างเล็กน้อย

แต่คุณรู้ไหมครับ ว่าในโลกยุคใหม่ที่ทุกอย่างเร่งรีบขันแข่งกันไปหมดนี้ ผู้คนอ่านหนังสือ ‘เร็ว’ กว่านี้มาก

มีการศึกษาของมหาวิทยาลัยซานโฮเซ่ในสหรัฐอเมริกา ที่บอกว่ากำลังเกิดการอ่านแบบใหม่ที่เรียกว่า Skimming (หรือ Skim Reading) จนถึงขั้นพูดได้ว่าเป็น ‘ความปกติใหม่’ หรือ New Normal ในการอ่านกันเลยทีเดียว Skimming นั้น ทำให้คนเราสามารถอ่านอะไรๆ ได้ ‘เร็ว’ ขึ้นมาก ตัวเลขเฉลี่ยในการอ่านอาจจะมากกว่า 280 คำต่อนาที ไปได้ถึง 400-600 คำต่อนาทีกันเลยทีเดียว

อ้าว! แล้วการ ‘อ่านเร็ว’ มันไม่ดีตรงไหนล่ะครับ เพราะยิ่งอ่านเร็ว ก็น่าจะยิ่งได้เปรียบ เพราะน่าจะทำให้เราได้รับข้อมูลข่าวสารต่างๆ มากยิ่งขึ้นไม่ใช่หรือ

งานวิจัยในด้านประสาทวิทยาหรือ Neuroscience บอกว่า มนุษย์เราไม่ได้คุ้นเคยกับการอ่านมาตั้งแต่ต้นหรอกนะครับ แต่เกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘วงจร’ หรือ Circuit ที่คล้ายคลึงกับการอ่านขึ้นในสมองของมนุษย์เมื่อกว่า 6,000 ปีที่ผ่านมานี้เอง โดยเจ้าวงจรหรือเซอร์กิตที่ว่านี้ วิวัฒนาการมาจากการ ‘ถอดรหัส’ ข้อมูลพื้นฐานต่างๆ ก่อน อย่างเช่น การนับจำนวนสัตว์เลี้ยงในฝูง (อย่างเช่นแพะ แกะ) แล้วในที่สุดก็ค่อยๆ วิวัฒนาการมาจนเป็น Reading Circuit หรือวงจรการอ่านที่ทำงานอยู่ในหัวของเราในปัจจุบัน

บทความของนักประสาทวิทยาอย่าง มารีแอน วูล์ฟ (Maryanne Wolf) ใน The Guardian (อ่านได้ที่นี่) บอกว่า ‘สมองสำหรับการอ่าน’ หรือ Reading Brain ของมนุษย์นั้น กระตุ้นให้เกิดพัฒนาการทางปัญญาที่สำคัญหลายอย่าง เช่น การนำความรู้เข้าไป ‘ข้างใน’ จนเกิดเป็น Internalized Knowledge หรือการใช้เหตุผลเพื่อวิเคราะห์ รวมไปถึงการรับเอามุมมองของผู้อื่นเข้ามาไว้ข้างในตัว แล้วเกิดความเห็นอกเห็นใจคนอื่นหรือ Empathy ไล่เลยไปจนถึงการวิเคราะห์แบบ Critical Analysis และการสร้างความรู้ต่างๆ ขึ้นมาใหม่ โดยสมองเพื่อการอ่านหรือ Reading Brain นั้น เกิดจากวิธีอ่านแบบที่เรียกว่า ‘การอ่านระดับลึก’ หรือ Deep Reading

คุณมารีแอนบอกว่า ในปัจจุบันนี้ สิ่งที่เรียกว่า ‘การอ่านระดับลึก’ กำลังถูกคุกคามจากวิธีอ่านบนโลกดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงไปจากการอ่านสมัยก่อน แต่นี่ไม่ใช่การมาแบ่งแยกว่า ต้องอ่านแบบเก่าสิดี อ่านแบบใหม่จากหน้าจอนั้นไม่ดี หรือเป็นการต่อสู้ระหว่างสื่อเก่ากับสื่อใหม่ ระหว่างหนังสือกับสื่อออนไลน์อะไรทำนองนั้นนะครับ ทว่าเกิดขึ้นเนื่องจาก ‘วิธีอ่าน’ แบบใหม่ของมนุษย์ที่เกิดขึ้นได้เพราะสื่อแบบใหม่

และวิธีอ่านที่ว่า ก็คือการอ่านแบบ Skimming นั่นเอง

การอ่านแบบ Skimming ก็คือการอ่านเร็วๆ ข้ามๆ ไม่ได้จับยึดอยู่กับตัวอักษรแต่ละตัวแต่ละคำอีกต่อไป ทว่ามักเป็นการ ‘กวาดสายตา’ มองหาเนื้อความเพื่อยัดสิ่งเหล่านั้นเข้าไปไว้ในสมอง ซึ่งก็มีผลให้เราอ่านได้ ‘เร็ว’ ขึ้นมาก แต่มันกลับทำให้เราทำอะไรบางอย่างหายไป ซึ่งสิ่งนั้นก็คือการอ่านแบบลึกนั่นเอง

งานวิจัยทางประสาทวิทยาบอกว่า วงจรการอ่านไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นตามพันธุกรรมของเรา คือไม่ได้เกิดมาปุ๊บก็อ่านได้ปั๊บเหมือนการเห็นหรือภาษา แต่ต้องการสิ่งแวดล้อมเพื่อพัฒนาขึ้นมา ซึ่งสิ่งแวดล้อมที่ว่ามีทั้งระบบเขียน (ผ่านภาษาต่างๆ ที่หล่อหลอมให้คนแต่ละชาติแต่ละภาษามีระบบคิดไม่เหมือนกัน) และที่สำคัญก็คือ ‘ตัวกลาง’ หรือ Medium ที่ใช้ในการถ่ายทอดจารึก ซึ่งในตอนนี้เปลี่ยนจากหนังสือมาเป็น ‘หน้าจอ’ แบบต่างๆ

สื่อแบบ ‘หน้าจอ’ นั้น จะมีการทำงานต่างไปจากหนังสือหลายด้าน เช่น มีความเร็วมากกว่า สามารถทำงานแบบ Multi-Task ได้ และเหมาะสมกับการค้นหาข้อมูลขนาดใหญ่ ซึ่งเมื่อตัวกลางเปลี่ยนไปแบบนี้ วงจรการอ่านก็จะเปลี่ยนแปลงไปด้วย ตัวกลางแบบใหม่เป็นตัวกลางที่เหมาะกับการอ่านในแบบ Skimming คือกวาดตามองไปให้ทั่วเพื่อให้เห็นโครงสร้างทั้งหมดเพื่อ ‘หา’ ข้อมูล แต่ไม่ใช่การอ่านแบบ Deep Reading ที่ต้องดื่มด่ำ (ไม่ว่าจะกับภาษา ชีวิตของตัวละครในนั้น หรือกระทั่งการค่อยๆ วิเคราะห์และขบคิด) นักจิตวิทยาจาก UCLA อย่างคุณแพทริเซีย กรีนฟิลด์ (Patricia Greenfield) บอกว่า ผลของตัวกลางที่เปลี่ยนไปนี้ จะทำให้ผู้เสพข้อมูลใส่ (Allocate) ความสนใจและเวลาลงไปในกิจกรรมแบบ Deep Reading น้อยลงเรื่อยๆ เพราะคุ้นชินกับการอ่านแบบ Skimming มากกว่า สุดท้าย สิ่งที่เรียกว่า Deep Reading จึงค่อยๆ ถูกบ่อนเซาะให้ลดน้อยถอยลงไปเรื่อยๆ

มีรายงานจากนักการศึกษาและนักวิจัยด้านจิตวิทยาและมนุษยศาสตร์ที่บอกว่า การอ่านงานวรรณกรรมคลาสสิกของศตวรรษที่ 19 และ 20 นั้น ลดน้อยถอยลงมาก นักเรียนมักหลีกเลี่ยงการอ่านงานเหล่านี้ แน่นอน อย่างแรกก็เพราะพวกเขารู้สึกว่ามันเชย ไม่เกี่ยวข้องอะไรกับตัวเองและยุคสมัยอีกต่อไปแล้ว แต่ในอีกด้านหนึ่งก็คือ งานเหล่านี้จำเป็นต้องใช้วิธีการอ่านแบบ Deep Reading ถึงจะเข้าถึงได้ เนื่องจากต้องอ่านยาวกว่า ภาษาก็เข้มข้นและยากกว่าด้วย

มาร์ค เอ็ดมันด์สัน (Mark Edmundson) นักวิชาการด้านวรรณคดีอังกฤษเรียกการอดทนอ่านงานทำนองนี้ไม่ได้ว่าเกิดจาก Cognitive Impatience หรือความไม่อดทนในการรับรู้ ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นแล้ว ก็จะทำให้ไม่มีความสามารถในการวิเคราะห์มากพอ จึงเข้าใจความคิดหรือข้อถกเถียงที่ซับซ้อนในหนังสือไม่ได้

ในนอร์เวย์ มีการศึกษานักเรียนไฮสคูล โดยให้นักเรียนกลุ่มหนึ่งอ่านเรื่องสั้นเรื่องเดียวกัน โดยครึ่งหนึ่งอ่านผ่านหนังสือ อีกครึ่งหนึ่งอ่านผ่านหน้าจอ แล้วมาตอบคำถามเพื่อดูว่าเข้าใจเรื่องราวที่ได้อ่านมากน้อยแค่ไหน พบว่านักเรียนที่อ่านจากสื่อสิ่งพิมพ์มีความเข้าใจเหนือกว่านักเรียนที่อ่านจากหน้าจอมาก โดยเฉพาะความสามารถในการจับรายละเอียดตามลำดับเรื่อง และการเล่าพล็อตต่างๆ ตามลำดับเวลา โดยมีการอธิบายว่าที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะตัวสื่อกลางอย่างหน้าจอนั้น ผลักดันให้เกิดการอ่านแบบ Skimming มากกว่าจะเป็น Deep Reading

มีการศึกษาการอ่านแบบ Skimming ที่กลายเป็น New Norm ของการอ่านยุคใหม่ พบว่าคนที่คุ้นกับการอ่านจากหน้าจอจะอ่านด้วยรูปแบบที่เป็นตัว F หรือไม่ก็ตัว Z คืออ่านเป็นโครงๆ มากกว่า เช่นถ้าอ่านเป็นตัว F ก็จะลากสายตาจากบนลงล่าง โดยกวาดตาจากซ้ายไปขวาเป็นระยะๆ แต่ไม่ได้อ่านทุกบรรทัด ในขณะที่การอ่านแบบตัว Z ก็คือการอ่านแบบซิกแซ็ก กวาดตาให้ทั่วๆ ซึ่งก็คือไม่ได้อ่านทุกคำทุกบรรทัดอีกเช่นกัน

การอ่านแบบ Skimming มีผลทำให้เรา ‘ให้เวลา’ (Allocate Time) กับการอ่านน้อยลง จนในที่สุดก็มีเวลาเหลือไม่พอให้สมองได้ประมวลผลแบบ Deep Reading เราจึงมีเวลาไม่มากพอจะจับสังเกตความซับซ้อน หรือมีเวลาไม่มากพอจะเข้าใจความรู้สึกของคนอื่น (เช่นตัวละครในหนังสือ) มีเวลาไม่มากพอจะชื่นชมกับความงามของตัวอักษร และมีเวลาไม่มากพอจะสร้างความคิดของตัวเองขึ้นมาพร้อมกันไปด้วยในขณะอ่าน

นอกจากนี้ ยังมีนักวิจัยบางคนที่พูดถึงมิติของการอ่านอีกแบบหนึ่งด้วย เป็นมิติทางกายภาพหรือ Physicality ซึ่งน่าสนใจเอามากๆ โดยเขาบอกว่า ในการอ่านหนังสือนั้น มันจะมี ‘ที่ทาง’ ของมัน คือเราจะรู้ว่าอ่านไปถึงตรงไหนแล้วจากความหนาของหนังสือ จึงเกิดสิ่งที่เรียกว่า Thereness หรือ ‘ความอยู่ตรงนั้นตรงนี้’ ในเรื่องราวที่อ่านอยู่ขึ้นมา แต่การอ่านจากหน้าจอนั้น เรามักไม่รู้หรอกว่าเราอ่านไปถึงตรงไหนแล้ว เว้นแต่ว่าเราจะต้องคอยดูเลขหน้า ซึ่งก็ต้องสัมพัทธ์กับจำนวนหน้าทั้งหมดอีกที ถึงจะรู้ว่าเราอยู่ตรงไหน แต่มันไม่ได้มีมิติทางกายภาพให้รู้ได้ทันทีเหมือนการอ่านหนังสือ

การอ่านหนังสือแบบ Skimming ที่ถือได้ว่าเป็น New Norm ไปแล้ว จึงไม่ได้เปลี่ยนแค่ว่าเราอ่าน ‘อะไร’ เท่านั้น แต่ยังเปลี่ยน ‘เป้าหมาย’ ของการอ่านไปโดยสิ้นเชิงด้วย

ในโลกที่ข้อมูลข่าวสารท่วมท้นไปหมด เราถูกผลักขับให้ต้องพยายามตามโลกให้ทัน การอ่านแบบ Skimming จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่โปรดอย่าลืมว่า การอ่านแบบ Skimming ก็มีเป้าหมายของมัน คือการกวาดตาให้รู้ภาพใหญ่ทั้งหมดในเวลาอันสั้น แต่ไม่อาจทำให้เราเข้าสู่กระบวนการ Deep Reading ที่ค่อยๆ ครุ่นคิดใคร่ครวญได้

หากเราเอาวิธีอ่านแบบ Skimming มาใช้กับงาน บทความ หนังสือ หรือข้อเสนอที่ยุ่งยากและซับซ้อน ก็เป็นไปได้อย่างยิ่งที่เราจะไม่เข้าใจงานเหล่านั้น และอาจถดถอยตัวเองกลับสู่ต้นทุนเดิมของเรา ด้วยการก่นด่างานเหล่านั้นว่าเขียนไม่รู้เรื่องหรือยืดยาดเยิ่นเย้อโดยไม่ได้เรียนรู้อะไรใหม่เลย

การอ่านแบบ Skimming ที่ฝังเพาะลงไปในสำนึกแห่งการอ่านของยุคสมัย จึงมีทั้งประโยชน์และอันตรายของมัน

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save