fbpx
สงครามทุเรียน : ไทย VS มาเลเซีย

สงครามทุเรียน : ไทย VS มาเลเซีย

ปิติ ศรีแสงนาม เรื่อง

 

ดร.มหาธีร์ บิน มูฮัมหมัด (Dr.Mahathir bin Mohamad) นายกรัฐมนตรีวัย 93 ปีของมาเลเซีย ซึ่งถือเป็นหัวหน้ารัฐบาลที่สูงอายุและมากประสบการณ์ที่สุดในโลกในเวลานี้ เดินทางเยือนประเทศจีนอย่างเป็นทางการเป็นเวลา 5 วัน ระหว่างวันที่ 17-21 สิงหาคมที่ผ่านมา เป็นหนึ่งในการเยือนของผู้นำที่ทั่วโลกจับตามองกันมากที่สุด มีหลายเรื่องที่เกิดขึ้นจากการพบกันของผู้นำของมาเลเซียและจีน แต่ผมคิดว่าเรื่องที่ฝ่ายไทยน่าจะต้องสนใจมากที่สุด คือเรื่อง ‘ทุเรียน’ ครับ

สิ่งแรกที่ดร.มหาธีร์ พูดกับนายกรัฐมนตรี หลี เค่อเฉียง (Li Keqiang) ของจีนคือ มาเลเซียขอขอบคุณจีนที่นำเข้าสินค้าจากมาเลเซียเพิ่มมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะสินค้าเกษตร และระบุเจาะจงลงมาที่ ‘ทุเรียน’ เป็นกรณีพิเศษ

คำถามคือ ทำไมต้องทุเรียน ?

ที่ผ่านมามีเพียงทุเรียนจากประเทศไทยและฮ่องกงเท่านั้น ที่สามารถนำเข้าประเทศจีนได้แบบสดทั้งลูก ซึ่งในความเป็นจริง ฮ่องกงก็ไม่มีพื้นที่ปลูกทุเรียนนะครับ แต่นำเข้าจากไทยไปอีกที ทุเรียนจากประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะมาเลเซีย ถ้าจะนำเข้าต้องเป็นเนื้อทุเรียนบด (Pulp and Paste)

ที่เป็นเช่นนี้ เนื่องจากทุเรียนของประเทศอื่นๆ ยังไม่มีกระบวนการผลิตที่สามารถรับประกันได้ว่าทุเรียนที่ส่งออกมาทั้งผลนั้น ไม่มีแมลงศัตรูพืชตกค้างอยู่ภายในผล ภายในเนื้อ ภายในเมล็ด ได้เหมือนกรณีของประเทศไทย ซึ่งมี มาตรฐาน GAP: Good Agricultural Practice ที่มีมาตรฐานสูง นั่นทำให้ทุเรียนจากประเทศไทย โดยเฉพาะทุเรียนหมอนทอง กลายเป็นทุเรียนที่มีมูลค่าการนำเข้าและการบริโภคสูงที่สุดในประเทศจีน

ในปี 2016 ประเทศจีนนำเข้าทุเรียนมูลค่า 1.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 3.6 หมื่นล้านบาท และมูลค่าการนำเข้านี้ เป็นการนำเข้าทุเรียนน้ำหนัก 611,380 ตันจากประเทศไทย คิดเป็นมูลค่า 1.094 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (3.57 หมื่นล้านบาท) หรือพูดอีกอย่างคือ ไทยเรามีส่วนแบ่งตลาดทุเรียนในประเทศจีนถึง 99.59% และเป็นเจ้าตลาดผูกขาดทุเรียนในประเทศจีน ถึงแม้รสนิยมการรับประทานทุเรียนของคนจีน อาจไม่ได้ชื่นชอบทุเรียนหมอนทองขนาดนั้น เมื่อเทียบกับทุเรียนพันธุ์ที่คนจีนนิยมมากที่สุด คือทุเรียนพันธุ์ Mao Shan Wang

ทุเรียน Mao Shan Wang มีชื่อจริงว่า Musang King ซึ่งตั้งชื่อตามชื่อเมือง Gua Musang อันเป็นชื่อของตลาดกลางผลไม้ในรัฐกลันตัน (Kelantan) ประเทศมาเลเซีย (อารมณ์ประมาณอำเภอหลังสวนประเทศไทย) โดยทุเรียนพันธุ์นี้มีต้นกำเนิดอยู่ที่หมู่บ้าน Sungai Ruan เมือง Raub ในรัฐกลันตัน

ทุเรียน Mao Shan Wang มีรสหวานจัดและแอบมีรสขมนิดๆ ซึ่งรสขมนิดๆ นี่ล่ะครับที่ขับให้รสหวานโดดเด่นขึ้น แต่สิ่งที่สุดยอดของ Mao Shan Wang คือ เนื้อของทุเรียนจะไม่มีเส้นในเนื้อ ทำให้ได้รับรสสัมผัสที่เหนียวเนียนนุ่มในแบบที่หมอนทองของเราซึ่งหวานแต่เนื้อเป็นเส้นๆ ให้ไม่ได้ นอกจากนี้ยังมีเนื้อเนียนหนาและเม็ดขนาดเล็กอีกต่างหาก ทำให้มีชื่อเล่นอีกชื่อว่า ‘Butter Durian’

แน่นอนครับว่า ก้านยาวของเราก็เนียนแบบนี้ แต่คนจีนไม่นิยมก้านยาว เพราะผลมีขนาดเล็ก ในขณะที่ Mao Shan Wang มีขนาดผลที่ใหญ่คล้ายๆ กับหมอนทองซึ่งคนจีนนิยม สำหรับสนนราคา ณ ปัจจุบันในประเทศจีน ทุเรียน Mao Shan Wang ผลขนาด 1.5 กิโลกรัม มีราคาอยู่ที่ 150 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 4,900 บาท ในขณะที่ทุเรียนหมอนทองผลขนาด 1.5 กิโลกรัม มีราคาอยู่ที่ 45 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1,480 บาทเท่านั้น

แต่ถึงแม้ราคาของ Mao Shan Wang จะแพงกว่าตั้ง 3 เท่า แต่ตลาดบนของจีนก็นิยมทุเรียนประเภทนี้มากๆ (มากจนมีทุเรียน Mao Shan Wang ของปลอมออกมาขาย) และที่ผมบอกว่าเราต้องจับตามองให้ดี ก็เพราะในการเยือนจีนของดร.มหาธีร์ ในครั้งนี้ เขาและนายกรัฐมนตรีจีนได้ร่วมเป็นพยานในการลงนาม ‘A Protocol on the Need to Conduct Inspection and Quarantine for the Export of Durian from Malaysia to China’ ซึ่งลงนามโดย ดาตุ๊ก ซาลาฮุดดิน อายุบ (Datuk Salahuddin Ayub) รัฐมนตรีกระทรวง Agriculture and Agro-Based ของมาเลเซีย และ หนี่ หยูเฟง (Ni Yuefeng) รัฐมนตรีกระทรวง General Administration of Customs ของจีน

ข้อตกลงดังกล่าวจะทำให้ทุเรียน Mao Shan Wang ที่ผ่านมาตรฐานการเพาะปลูก Malaysian Good Agricultural Practice (MyGAP) สามารถส่งออกและนำเข้าตลาดจีนได้แบบทั้งผล ไม่ใช่เฉพาะเนื้อทุเรียนบด (Pulp and Paste) อีกต่อไป โดยทุเรียนมาเลเซียที่จะได้รับสิทธิจากข้อตกลงนี้ ประกอบด้วยทุเรียน 6 สายพันธุ์ อันได้แก่ Musang Queen (D24, D160), Hajah Masmah (D168), Musang King (D197), Ochee (D200) และ D99

ที่เราต้องระวังมากกว่านั้นคือ หลังจากการลงนามในข้อตกลงดังกล่าว ดร.มหาธีร์ได้แถลงว่า ถ้าในอดีตมาเลเซียเคยพัฒนายางพาราที่มีต้นทางจากอเมริกาใต้ จนตัวเองกลายเป็นผู้ผลิตและผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดในโลกได้ แล้วต่อมาก็พัฒนาปาล์มน้ำมันที่มีต้นทางมาจากแอฟริกาตะวันตก จนกลายเป็นผู้ผลิตและผู้ส่งออกปาล์มน้ำมันรายใหญ่ที่สุดในโลกได้ แล้วทำไมทุเรียนซึ่งเป็นของมาเลเซียเอง จะพัฒนาจนกลายเป็นผู้ส่งออกสำคัญของโลกไม่ได้ ในเมื่อตลาดก็มีอยู่แล้วนั่นคือ คนจีน 1.4 พันล้านคนที่นิยมบริโภคผลได้ชนิดนี้

ตลาดทุเรียนในประเทศจีนคือตลาดที่มีอัตราการขยายตัวสูงที่สุดในโลก เพราะตลอด 10 ปี ตั้งแต่ปี 2006-2016 มูลค่าการนำเข้าทุเรียนของจีนขยายตัวที่อัตราเฉลี่ยร้อยละ 26.2 ต่อปี (ในขณะที่อัตราการขยายตัวของมูลค่าการนำเข้ารวมของทุกสินค้าของจีน (10-year compound annual growth rate: CAGR) อยู่ที่ร้อยละ 12.8

ทุเรียนที่ได้รับการลงทะเบียนแล้วว่าเป็นสายพันธุ์พื้นเมืองของประเทศมาเลเซีย มีอยู่ 134 สายพันธุ์ครับ โดยสายพันธุ์ล่าสุดที่พึ่งจะได้รับการจดทะเบียนคือ D200 ที่เรียกว่าทุเรียน Ocee หรือทุเรียนหนามดำ (Black Thorn) ปัจจุบันมาเลเซียกำลังเร่งส่งเสริมการปลูกทุเรียนภายในประเทศแบบครบวงจรตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน และกระตุ้นให้เกิดการขยายตัวของอุปสงค์ไปในเวลาเดียวกัน เพื่อแก้ปัญหาทุเรียนราคาตกหากผลิตได้มากขึ้นแล้วไม่มีคนซื้อ

ด้านอุปทาน ทางการมาเลเซียเริ่มต้นโดยการให้ความรู้กับเกษตรกร โดยการชี้ให้เห็นว่า เมื่อเปรียบเทียบกับการปลูกปาล์มน้ำมัน ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของประเทศ (สร้างมูลค่าเศรษฐกิจสูงถึงร้อยละ 6.4 ของ GDP) และมาเลเซียคือผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดของโลก (39% ของผลผลิตโลก และครองส่วนแบ่งตลาดการส่งออกของทั้งโลกประมาณ 44%) แต่กลับให้ผลตอบแทนแก่เกษตรกรเพียง 17,500 ริงกิต/เฮกเตอร์/ปี (หรือเท่ากับ 22,170 บาท/ไร่/ปี) เท่านั้น ซึ่งเมื่อเทียบกับทุเรียนที่มีการประมาณการผลตอบแทนขั้นต่ำอยู่ที่ 155,250 ริงกิต/เฮกเตอร์/ปี (หรือเท่ากับ 196,700 บาท/ไร่/ปี) ถือว่าให้ผลตอบแทนสูงกว่าการปลูกปาล์มน้ำมันประมาณ 8.8 เท่า และที่ว่าเป็นการประเมินขั้นต่ำ เนื่องจากเป็นการประเมินโดยใช้ราคาทุเรียนในระดับราคาที่ต่ำที่สุด นั่นคือ 25 ริงกิต/กิโลกรัม ในขณะที่บางปีทุเรียนในมาเลเซียราคาสูงถึง 100 ริงกิต/กิโลกรัม นั่นหมายความว่าในปีที่ทุเรียนมีราคาแพง ชาวสวนทุเรียนอาจได้รายรับสูงกว่าที่มีการประเมินถึง 4 เท่า

อย่างไรก็ตาม การปลูกทุเรียนในมาเลเซียก็มีความเสี่ยงครับ โดยรัฐบาลแนะนำให้ปลูกทุเรียนในพื้นที่ที่มีระดับความลาดเอียงของพื้นที่มากกว่า 20 องศาเท่านั้น เพื่อป้องกันน้ำท่วมและสวนทุเรียนเสียหาย ในขณะที่พื้นที่ที่ลาดเอียงน้อยกว่า 20 องศา ทางการมาเลเซียยังสนับสนุนให้เกษตกรปลูกปาล์มน้ำมันต่อไป เพราะปาล์มต้องการน้ำมากกว่า

นอกจากการแนะนำเรื่องพื้นที่เพาะปลูกแล้ว ปัญหาอีกข้อหนึ่งของทุเรียนคือ ทุเรียนเป็นพืชที่มีลักษณะ Temperamental นั่นคือ คุณภาพผลผลิตขึ้นอยู่กับสภาพดิน สภาพอากาศ และปริมาณน้ำ นั่นทำให้ทุเรียนสายพันธุ์เดียวกันแต่ปลูกในพื้นที่ต่างกัน มีคุณภาพเนื้อและรสชาติที่แตกต่างกัน ต่างจากพืชเศรษฐกิจอื่นของมาเลเซีย คือยางพาราและปาล์มน้ำมัน ที่มีผลผลิตคงที่ในทุกพื้นที่และสภาพอากาศ

ทางการมาเลเซียพยายามแก้ปัญหาที่ว่านี้ โดยในปี 2017 นักวิทยาศาสตร์สิงคโปร์ได้ทำการวิเคราะห์รหัสพันธุกรรม และสร้าง Genome ของทุเรียนพันธุ์ Mao Shan Wang สำเร็จแล้ว นั่นทำให้ทางการมาเลเซียทราบแล้วว่า รสชาติและรสสัมผัสของทุเรียนราคาแพงนี้ มาจาก DNA ตัวไหน รวมทั้งทราบด้วยว่าเมื่อ 65 ล้านปีที่แล้ว ทุเรียนคือวิวัฒนาการที่แตกแขนงมากจากพืชตระกูลเดียวกันกับโกโก้ ดังนั้นการพัฒนาสายพันธุ์ให้มีลักษณะ Hybrid เพื่อป้องกันโรค ทนต่อความแล้ง และมีรสชาติคงที่ในทุกสภาวะ จึงเป็นเป้าหมายต่อไป

มาเลเซียต้องการพัฒนาทุเรียนและมีเป้าหมายในการบุกตลาดจีนอย่างที่กล่าวไปแล้วตอนต้น โดยมีการตั้งเป้าว่า จากมูลค่าการผลิต ณ ปัจจุบันที่ประมาณ 23-25 ล้านริงกิต (182-200 ล้านบาท) มาเลเซียจะต้องส่งออกทุเรียนมูลค่า 92 ล้านริงกิต (730 ล้านบาท) ไปจีน (เพียงตลาดเดียว) ให้ได้ภายในปี 2020

แต่จีนตลาดเดียวคงไม่เพียงพอครับ เพราะถ้าส่งเสริมให้ปลูกกันมากๆ แล้วมีผลผลิตเข้าสู่ตลาดมากเกินไป ในขณะที่ฝั่งคนซื้อคนกินยังไม่ขยายตัว ก็เท่ากับว่าต้องเผชิญปัญหาสินค้าล้นตลาด และราคาผลผลิตตกต่ำ ซึ่งจะทำให้ชาวสวนเดือดร้อน ดังนั่นสิ่งที่ทางการมาเลเซียทำควบคู่กันไปด้วยคือการให้ความรู้กับคนกิน เพื่อขยายตลาดและเพิ่มความต้องการครับ

นาทีนี้ทางการมาเลเซียกำลังส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมาเลเซียเร่งสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทุเรียน พร้อมๆ กับสร้างประสบการณ์ทุเรียน (Durian Experience) ให้กับผู้ซื้อ ถ้าเดินเข้าไปในตลาด ซูเปอร์มาร์เก็ต และห้างสรรพสินค้าของมาเลเซียตอนนี้ เราจะเห็นทุเรียนสด คุกกี้ทุเรียน กาแฟทุเรียน ชาทุเรียน เค้กทุเรียน ไอศกรีมทุเรียน แซนวิชทุเรียน ทุเรียนอบกรอบ ช็อกโกแลตทุเรียน ชีสทุเรียน พิซซ่าทุเรียน ครีมบำรุงผิวทุเรียน มาส์กหน้าทุเรียน และนานาผลิตภัณฑ์จากทุเรียนออกมาขายกันแบบปูพรมในทุกพื้นที่

ในเวลาเดียวกัน เมื่อนักท่องเที่ยวมาถึงประเทศมาเลเซียจากสนามบินนานาชาติกัวลาลัมเปอร์ นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ก็จะใช้บริการรถไฟ KLIA Express เพื่อเข้าเมือง ตลอดระยะเวลา 28 นาทีบนรถไฟ หน้าจอบนรถไฟก็จะค่อยๆ แนะนำให้นักท่องเที่ยวรู้จักทุเรียนประเภทต่างๆ แนะนำวิธีการรับประทาน แหล่งปลูก แหล่งขาย ผลิตภัณฑ์ทุเรียนต่างๆ ที่กล่าวถึงข้างต้น ไปจนถึงแนะนำทริปกินทุเรียน เที่ยวสวนทุเรียน และ Durian Farm Stay

แน่นอนว่าสำหรับคนไทย ทุเรียนคือผลไม้ธรรมดาๆ ที่เราเห็นมาตั้งแต่เด็ก แต่สำหรับนักท่องเที่ยวจีน และนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก โดยเฉพาะตะวันตก ทุเรียนคือหนึ่งในสิ่งที่แปลกประหลาดที่สุดในโลก ผลไม้ที่มีหนามแหลมๆ แข็งๆ รอบตัว กลิ่นเหม็นที่เป็นเอกลักษณ์ แต่กลับให้รสชาติที่อร่อยอย่างมหัศจรรย์พร้อมกับรสสัมผัสที่ไม่เคยได้รับมาก่อน มันคือประสบการณ์ใหม่ที่ชวนท้าทาย ดังนั้นการเดินทางเพื่อไปให้เห็นกับตาว่าต้นมันเป็นอย่างไร เก็บผลของมันอย่างไร และปอกเปลือกอย่างไร คือสิ่งที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกต้องการ และทางการมาเลเซียก็เชิญ blogger ชาวตะวันตกมาเขียน blog เขียนหนังสือเรื่องเหล่านี้ พร้อมๆ กับจัดทำแผนที่ทุเรียน เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้รู้ว่า ช่วงนี้ของปีมีทุเรียนพันธุ์อะไร และต้องเดินทางไปดูที่ไหน ซึ่งแน่นอนว่าประสบการณ์ตรงเหล่านี้ จะทำให้นักท่องเที่ยวเปิดใจและอยากที่จะลิ้มลองทุเรียนมากขึ้น

เห็นแล้วใช่ไหมครับว่ามาเลเซียเขาบริหารจัดการส่งเสริมการพัฒนาทุเรียนทั้งห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่ปลูกจนหาคนซื้ออย่างไรบ้าง ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องไกลเกินไปสำหรับคำกล่าวของ ดร.มหาธีร์ ที่จะพัฒนาให้มาเลเซียเป็นผู้ผลิตทุเรียนรายใหญ่ของโลก

คำถามสุดท้ายคือ เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2018  แจ๊ค หม่า แห่ง Alibaba มาเยือนไทย แล้วรัฐมนตรีเศรษฐกิจทั้งคณะต้องไปยืนเข้าแถวต้อนรับ สิ่งที่เราประโคมข่าวกันคือ Alibaba สามารถขายทุเรียน 80,000 ผลหมดภายใน 60 วินาทีบนโลกออนไลน์ ทว่าจากวันนั้นจนถึงวันนี้ เราได้ต่อยอดอะไรจากเหตุการณ์นั้นได้บ้าง หรือเราลืมกันหมดแล้ว…

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save