fbpx
“หน้าที่ของแนนโน๊ะ คือยั่วยุความชั่วที่อยู่ในตัวของคน” – เปิดความคิดทีมเขียนบท ‘เด็กใหม่ The Series’

“หน้าที่ของแนนโน๊ะ คือยั่วยุความชั่วที่อยู่ในตัวของคน” – เปิดความคิดทีมเขียนบท ‘เด็กใหม่ The Series’

ชลธร วงศ์รัศมี เรื่อง

คิริเมขล์ บุญรมย์ ภาพ

 

เด็กใหม่ The Series ใช้เวลา 5 เดือน สำหรับการเขียนบทซีรีส์ 13 ตอน และผลิตอีกราวครึ่งปี ความเปรี้ยวแสบนี้ตั้งต้นจากไอเดียของ ภาวิต จิตรกร จาก GMM Grammy และทีมครีเอทีฟจากเอเจนซีที่ผลิตคอนเทนต์ด้วยอินไซต์ผู้หญิงอย่าง Sour Bangkok โดยใช้ชื่อโปรเจกต์เริ่มต้นว่า ‘แนนโน๊ะ’

ขั้นตอนต่อมา พวกเขา 3 คน คงเดช จาตุรันต์รัศมี, อาทิชา ตันธนวิกรัย (มุ้ย) และ ทินพัฒน์ บัญญัติปิยพจน์ (เซียม) รับหน้าที่เป็นทีมเขียนบท สร้างเรื่องราวต่างๆ ก่อนส่งไม้ต่อให้ Jungka Bangkok ทีมโปรดักชัน เป็นผู้ผลิตซีรีส์รสชาติสดใหม่เรื่องนี้ต่อไป

ทุกวันนี้ #แนนโน๊ะ ชื่อของเด็กสาวที่ไม่ยอมจำนนและตกเป็นเหยื่อ ตัวละครหลักของเรื่อง คือแฮชแท็กยอดสูงสุดในทวิตเตอร์แทบทุกวันที่ซีรีส์ออกอากาศ และสร้างปรากฏการณ์วิพากษ์วิจารณ์หลังดูซีรีส์จบขึ้นมากมาย ทั้งปัญหาระบบการศึกษา การล่วงละเมิดทางเพศ การคุกคามทางอินเทอร์เน็ต ฯลฯ

แนนโน๊ะ คือ ‘เด็กใหม่’ ที่จะเข้าไปในโรงเรียน 13 แห่ง เพื่อเผยด้านมืดของผู้คน แต่ทีมเขียนบทของแนนโน๊ะ ไม่ใช่เด็กใหม่ คงเดชคือผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดัง มีผลงานมามากมายทั้ง ตั้งวง, The Letter, ต้มยำกุ้ง,โลกทั้งใบให้นายคนเดียว, สยิว, Snap ฯลฯ เช่นเดียวกับอาทิชา ที่ฝากผลงานไว้หลายแนว เช่น รักสุดท้ายป้ายหน้า, ตี๋ใหญ่ 2, ผู้กองเจ้าเสน่ห์ ฯลฯ  ขณะที่ ทินพัฒน์ ฝากผลงานสายดาร์กไว้หลายเรื่อง อาทิ 7 วันจองเวร, The Last Summer, เพื่อนผองสยองขวัญ ฯลฯ

ต่อไปนี้คือบทสนทนากับทีมเขียนบทที่มารวมตัวกันแบบเฉพาะกิจ ผู้อยู่เบื้องหลัง ‘เด็กใหม่’ ที่กำลังดังกระฉูดอยู่ในขณะนี้

ทีมเขียนบทของแนนโน๊ะ, ผู้อยู่เบื้อหลัง เด็กใหม่คงเดช จาตุรันต์รัศมี, อาทิชา ตันธนวิกรัย (มุ้ย) และ ทินพัฒน์ บัญญัติปิยพจน์ (เซียม)คงเดช จาตุรันต์รัศมี, อาทิชา ตันธนวิกรัย (มุ้ย) และ ทินพัฒน์ บัญญัติปิยพจน์ (เซียม)

ในทีมมีทั้งหมด 3 คน แบ่งบทบาทการเขียนอย่างไรคะ

อาทิชา : เราคิดโครงด้วยกัน 13 ตอน ดูว่าใครมีไอเดียอะไร 13 ตอนนี้จะเล่าอะไรบ้าง พอทำทรีทเมนท์เสร็จ ช่วงเขียนบทก็แยกย้ายกันเขียน เสร็จแล้วมารีไรต์ให้ตามๆ กันไป

 

ใน ‘เด็กใหม่’ มีทั้งตอนที่ดูเป็น Realistic, Magical Realism และ Fantasy เพราะอะไรถึงคละกันไปหมด คิดกันมาอย่างไร

คงเดช : จริงๆ แล้วไม่ได้คิด โปรเจกต์นี้เป็นโปรเจกต์ที่ประหลาดนิดหนึ่ง เพราะคนริเริ่มไม่ใช่คนที่ทำละครหรือซีรีส์ในแบบเก่า GMM จะมีสายของพี่ฉอด (สายทิพย์ มนตรีกุล ณ อยุธยา) สายของคุณเอกชัย (เอกชัย เอื้อครองธรรม) ที่ทำซีรีส์เป็นประจำ แต่ เด็กใหม่ เกิดจากคุณ ภาวิต จิตรกร (เจ๋อ) ซึ่งเป็น MD บริษัทโฆษณามาก่อน

ตอนนี้เขามาบริหารแกรมมี่ เขาก็อยากจะสร้างคอนเทนต์ขึ้นใหม่ เลยติดต่อบริษัทโฆษณาชื่อ Sour Bangkok เป็นบริษัทโฆษณาที่ครีเอทีฟเป็นผู้หญิงล้วน วางคอนเซ็ปต์ตัวเองว่าจะทำงานโฆษณาสำหรับผู้หญิง คาแรกเตอร์ผู้หญิงโดยเฉพาะ ทั้งบริษัทเดินเข้าไปมีผู้ชายอยู่คนเดียว เหมือนเมืองลับแลมาก จากนั้นเขาติดต่อผม บอกว่าอยากให้เขียนบทเรื่องนี้หน่อย คอนเซ็ปต์ของซีรีส์เรื่องนี้จึงไม่ได้เกิดมาจากพวกเราเอง แต่เกิดมาจากครีเอทีฟของบริษัทโฆษณา

คุณภาวิตเสนอโปรเจกต์นี้โดยเขาตั้งชื่อมาแล้วว่า ‘แนนโน๊ะ’ ว่าด้วยเรื่องเด็กใหม่ ที่ทุกๆ ตอนจะเป็นเด็กใหม่ไปที่โรงเรียนต่างๆ หลายคนพูดถึงรูปลักษณ์ของแนนโน๊ะว่าคล้ายตัวการ์ตูนญี่ปุ่นชื่อโทมิเอะ ซึ่งจริงๆ เราอ้างอิงคาร์แรกเตอร์บางอย่างของแนนโน๊ะมาจากตัวละครนี้ แต่โทมิเอะจะหลอนอีกแบบ และแนนโน๊ะจะว่าด้วยเรื่องสังคมไทย

นอกจากนี้ เราได้โจทย์มาอีกอย่างคือ จบในตอน แต่ละตอนเริ่มต้นใหม่ พอรับมาผมก็เริ่มระดมทีมแล้วเอาโจทย์นี้มาขึงตรงกลาง แล้วคุยว่ามีเรื่องอะไรอีกที่น่าทำ มีบางประเด็นที่เขาโยนมา แล้วเรารู้สึกว่าไม่น่าจะใช้ได้ อาจทำอะไรได้แค่สั้นๆ แต่ไม่ใช่ทั้งตอน เราเลยลองมาหาไอเดียกันดูว่าจะเป็นอย่างไร

คนดูสงสัยว่าแนนโน๊ะคือใคร คือตัวอะไร และนิยามแนนโน๊ะกันหลากหลายมาก แล้วทีมเขียนบทนิยามแนนโน๊ะว่าอย่างไร

คงเดช : เราใช้เวลาช่วงแรกนิยามแนนโน๊ะนานพอสมควร

อาทิชา : ใช่ เรานิยามนานมากว่าแนนโน๊ะคือใคร เราไม่ได้บอกว่าเป็นคน เป็นผี หรือเป็นอะไร แต่เป็นตัวละครตัวหนึ่งที่มีคุณสมบัติพิเศษ

คงเดช : ต้นแบบอีกอย่างของแนนโน๊ะ คือซีรีส์เรื่อง Black Mirror เราเลยรู้สึกว่ามันข้ามเส้นของความสมจริงหรือไม่สมจริงไปได้ ถ้าตอนนี้เราต้องแฟนตาซีก็แฟนตาซี ต้องสมจริงก็สมจริง แต่ว่ายืนพื้นด้วยคาแรกเตอร์ของแนนโน๊ะ ซึ่งค่อนข้างแฟนตาซีด้วยตัวของมันเองอยู่แล้ว ต่อให้ตอนนั้นจะสมจริงยังไงก็ตาม

ทินพัฒน์ : เรานิยามกันอยู่พอสมควรนะครับ สุดท้ายมีคำที่คล้ายๆ คำว่า ‘กรรม’ ออกมา แต่กรรมก็ไม่สามารถอธิบายแนนโน๊ะได้ชัดเจนจริงๆ สุดท้ายเราเลยคิดว่าปล่อยให้เป็นหน้าที่คนดูตีความแล้วกันครับผม

คำว่า กรรมจริงๆ อยู่ในซีรีส์เข้มข้นมากแค่ไหนคะ เพราะเราจะเห็นว่าใครทำอะไรมาแล้วได้รับผลกรรมนั้น อย่างที่เราเห็นในหลายๆ ตอน

ทินพัฒน์ : หลังจากซีรีส์ออกไป มีคนตีความว่าแนนโน๊ะคืองูในสวนอีเดน พอฟังคำอธิบายนี้แล้วผมพอใจนะ เพราะค่อนข้างใกล้เคียงตัวแนนโน๊ะมาก ซึ่งหน้าที่ของแนนโน๊ะคือยั่วยุ ความชั่วมันมีอยู่แล้วในตัวของคน แต่แนนโน๊ะแค่เป็นตัวจุดระเบิดเท่านั้นเอง

อาทิชา :  ตอนนั้นเราคิดแค่ว่าแนนโน๊ะเหมือน ‘ตัวเสี้ยม’ ตัวหนึ่ง

คงเดช : โปรเจกต์นี้เริ่มโดยบริษัทโฆษณา ช่วงเวลาที่เขาปั้นออกมา มันได้ผ่านการพยายามนิยาม หรือหาคำจำกัดความต่างๆ พอสมควร แต่พอออกไปในกระแสสังคม ผู้ชมก็เริ่มนิยามด้วยตัวเองกันหมด แม้แต่ชิชา (ชิชา อมาตยกุล) ที่รับบทแนนโน๊ะ เวลาตอบคำถามสื่อเขาก็พูดว่าเป็นลูกสาวซาตาน เราคิดว่ามันเป็นเรื่องของกระบวนการที่เขาต้องสร้างอินเนอร์ในการแสดง แต่ว่าโจทย์เรา คือนี่แหละ เป็นตัวเขี่ย ความชั่วมันมีอยู่แล้ว มันจะไปถึงจุดไหนเท่านั้นเอง อย่างตอนที่เราเขียน เราก็ออกแบบว่า เขี่ยแล้วมันจะไปได้ถึงไหน

คงเดช จาตุรันต์รัศมี, อาทิชา ตันธนวิกรัย (มุ้ย) และ ทินพัฒน์ บัญญัติปิยพจน์ (เซียม)

คุณมุ้ยเป็นคนเขียนบทผู้หญิงคนเดียวในทีม มองความเป็นผู้หญิงของแนนโน๊ะอย่างไร 

อาทิชา : มุ้ยมองว่าตัวแนนโน๊ะเป็นคนคิดเยอะ และคอยสังเกตว่าใครมีเชื้อทำให้เรื่องเกิดขึ้นได้ หรือมีความขัดแย้งอะไรในสังคมที่รู้สึกว่าต้องเขี่ยออกมาให้คนเห็น คอยสังเกตว่ามีสิ่งนี้ซ่อนอยูในตัวคุณนะ และแนนโน๊ะสามารถเปลี่ยนคาแรกเตอร์เพื่อให้ภารกิจสำเร็จ บางตอนจะแสดงคาแรกเตอร์ออกมาใสๆ แบ๊วๆ บางตอนดูลึกลับ จะคิดจุดมุ่งหมายไว้ก่อนว่าอยากได้อะไร แล้วพาตัวเองไปสู่จุดมุ่งหมายนั้นให้ได้

คงเดช : แต่ละตอนจะมี ‘เป้าหมาย’ ที่แนนโน๊ะจะเข้าไปทำอะไรบางอย่างกับพวกเขา บางทีเป็นผู้หญิง บางทีเป็นผู้ชาย เราจะไม่ระบุให้แนนโน๊ะมีคาแรกเตอร์ใดคาแรกเตอร์หนึ่งโดยเฉพาะ บางตอนเป้าหมายคือคนที่แนนโน๊ะจะเล่น แต่บางตอนเป้าหมายเป็นแค่ทางผ่านไปสู่สิ่งอื่นๆ เป็นตัวเขี่ยให้เห็นสิ่งๆ หนึ่งด้วยในบางตอน

 

ตอนนี้ซีรีส์ เด็กใหม่ มีภาพลักษณ์ว่าเป็นซีรีส์ที่ต้องการสร้างความเข้มแข็งให้ผู้หญิง โจทย์นี้ใส่เข้าไปในบทอย่างไรคะ

คงเดช : แปลกนะ เราไม่ค่อยได้คิดเรื่องนี้

อาทิชา :  ด้วยโจทย์หลักคือเรื่องราวต้องเกิดขึ้นในโรงเรียน ตอนเราคิดกัน เราคิดว่าจะเอาประสบการณ์เกี่ยวกับโรงเรียนมารวมๆ กัน เน้นเรื่องสังคมวัยรุ่น การศึกษา ว่ามีเรื่องอะไรที่ตอนเด็กๆ เราเคยเจอ แล้วเรารู้สึกว่าแปลกมาก หรือตั้งคำถามกับเรื่องนี้มาก แต่ไม่ได้ถูกพูดออกมา เราพยายามเอาคำถามพวกนั้นมาใส่

คงเดช  :  เวลาเราพูดถึงชีวิตมัธยม ส่วนใหญ่จะพูดในเชิงว่าคือช่วงเวลาดีที่สุดของชีวิต แต่สำหรับโปรเจ็กต์นี้ เราสามคนกลับมองตรงกันว่าโรงเรียนเป็นที่บ่มเพาะความเลวร้ายหลายๆ อย่าง แล้วเราก็แตกออกมาเป็นหัวข้อต่างๆ ตามที่เราคิดกัน เพราะฉะนั้นเลยไม่ใช่เรื่องของการให้พลังผู้หญิงโดยเฉพาะ แต่ตัวละครหลักคือแนนโน๊ะ เลยดูเหมือนว่าผู้หญิงมีอำนาจ มีพลังมากพอจะจัดการกับเป้าหมาย

แต่ละคนได้ใช้ประสบการณ์วัยเรียนเรื่องอะไรในการเขียนบทเรื่องนี้บ้าง

ทินพัฒน์ : ผมไม่แน่ใจนะว่าใน 3 คนนี้ ผมจะเป็นคนมีปัญหากับโรงเรียนน้อยที่สุดหรือเปล่า เพราะพี่คงเดชมีลูก แล้วพี่คงเดชกำลังอินกับเรื่องระบบการศึกษาว่ามันไม่ได้พาไปไหน แต่อย่างผม ผมมองโรงเรียนเป็นที่เตะตะกร้อ เรื่องเรียนไม่มีความหมายสำหรับผมเลย ไอ้ที่เขาสอนๆ กัน ผมอ่านหนังสือ ผมก็สอบได้ ผมเลยไม่ได้มองโรงเรียนเป็นที่เรียน แต่มองว่าเป็นที่ที่ไปเจอเพื่อนๆ ไปแล้วสนุก

 

ชีวิตวัยเรียนเป็นผู้กระทำหรือผู้ถูกกระทำคะ

ทินพัฒน์ : มีทั้งสองอย่าง ก็มีทั้งเราแกล้งเขา เขาแกล้งเรา โดนทั้งสองแบบครับผม

อาทิชา :  ตอนเด็กๆ มุ้ยเป็นเด็กที่ร้ายเหมือนกัน เราจะตั้งคำถามบ่อยๆ แต่บางทีเราไม่ได้พูด ไม่ได้ทำอะไรออกมา บางทีคิดว่าเราอยากเคลียร์สิ่งนี้มากเลย แต่ในชีวิตจริงเราทำไม่ได้ เราเลยเก็บกด แล้วเอามาใส่ในบท บางอย่างเป็นสิ่งที่เราอยากทำ แต่เราไม่ได้ทำกับครู ไม่ได้ทำกับเพื่อน แต่จริงๆ เราคิดว่าไม่ใช่ ไม่ถูก การได้เขียนบทเรื่องนี้ เหมือนการได้ระบายอารมณ์ บางตอนเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงสมัยมัธยม เรารู้สึกว่าเรามีเพื่อนแบบนี้ แต่เราจัดการอะไรเขาไม่ได้ เราก็เอามาแชร์

คงเดช จาตุรันต์รัศมี, อาทิชา ตันธนวิกรัย (มุ้ย) และ ทินพัฒน์ บัญญัติปิยพจน์ (เซียม)

ตอนเด็กๆ เคยตั้งคำถามกับระบบการศึกษาไหม

อาทิชา : เคย บ่อยเลย เราจะงงๆ ว่าทำไมเราต้องเสียเงินแป๊ะเจี๊ยะเพื่อเข้าโรงเรียน ทำไมไม่มีโควต้าที่ตรงไปตรงมากว่านี้ในการเข้าโรงเรียน กว่าที่เราจะเข้าโรงเรียนได้ พ่อต้องพาเราไปเจอคนสารพัด เอาเงินไปให้เขาเพื่อให้เราเข้าโรงเรียน มุ้ยโตมาโดยเห็นอะไรแบบนี้

คงเดช : เต็มๆ เหมือนกัน ลูกสาวของผมกำลังอยู่ในวัยที่ต้องเผชิญกับระบบการศึกษา ผมเองเป็นคนที่ตอนเรียนไม่ได้มีปัญหา คือรู้ว่าถ้าอะไรไม่เวิร์กสำหรับเรา เราก็จัดการมันเอง คล้ายๆ กับเซียม กูอ่านหนังสือเอาก็ได้ อ่านหนังสือเองไปจนถึงตอนเรียนมหา’ลัย ตอนนั้นเราเรียนทำหนัง แต่เรารู้ว่าคณะเราไม่สามารถให้ความรู้ได้มากไปกว่านี้แล้ว เราก็หาด้วยตัวเอง

ถามว่าต่อต้านอะไรไหม ไม่ได้ถึงกับต่อต้าน แต่รู้สึกว่าช่างมึง กูจัดการตัวเองได้ แต่ว่าพอมีลูก มันเริ่มมาตั้งแต่การจะเอาลูกเข้าโรงเรียนแล้ว การไปขอใบสมัคร มีคำถามให้กรอกว่าเราจะบริจาคให้โรงเรียนเท่าไหร่ เราก็ไม่กรอก ถามว่าเว้นตรงนี้ไว้ได้ไหม เขาบอกไม่ได้ พอไม่ได้เราก็ไม่เอา ในที่สุดได้โรงเรียนดี ไม่มีแป๊ะเจี๊ยะ แต่ว่าเจอแพ็กเกจผู้ปกครอง แพ็กเกจเพื่อน แพ็กเกจอะไรต่างๆ ตามมาด้วย ผมก็ตั้งคำถามเยอะ โดยเฉพาะช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ปีนี้ผมเอาลูกออกจากระบบแล้ว มาเรียนโฮมสคูล

ระหว่างที่ผมเขียนบทแนนโน๊ะ ผมก็เห็นความล้มเหลวของระบบการศึกษาไทยซึ่งตามไม่ทันโลกด้วย ตอนสมัยผม ผมจัดการอะไรกับระบบการศึกษาไม่ได้ ก็ไปหาความรู้เอง แต่ทุกวันนี้ผมรู้สึกว่าออกมาจากระบบไปเลยจะง่ายกว่า แล้วปรากฏว่าเวิร์กมากๆ มีความสุขมาก ลูกผมบอกว่าได้เรียนเยอะกว่าที่โรงเรียน ได้ทำอะไรมากกว่าที่เคยเรียน เอาเข้าจริงๆ วัยพวกเราสามคนไม่ใช่วัยเรียนแล้ว เราไม่ใช่วัยรุ่นที่เขียนบทถึงสิ่งที่ไปเจอมา สิ่งที่อยู่ใน เด็กใหม่ คือสิ่งที่เคยเกิดมาตั้งแต่ 20-30 ปีที่แล้ว

 

แต่มันก็ยังอยู่

คงเดช :  ใช่ แต่มันก็ยังอยู่ นั่นหมายความว่า จริงๆ ระบบการศึกษาไทยมีปัญหาเรื้อรัง แล้วพอซีรีส์ถูกสร้างใน พ.ศ. นี้ เวลาซีรีส์ฉายออกไป แล้วเราเห็นทวิตเตอร์เด็กๆ ว่า เฮ้ย กูก็โดนเหมือนกัน แสดงว่าปัญหาไม่เคยถูกทำให้ดีขึ้นเลย ไม่ได้รับการเหลียวแลเลยด้วยซ้ำไปว่าต้องทำอย่างไรถึงจะดีขึ้น

สังเกตว่าหลังจากเรื่อง ฮอร์โมนส์  ในไทยจะมีซีรีส์ที่พูดถึงชีวิตด้านดาร์กๆ ของวัยรุ่นออกมามาก คิดว่า เด็กใหม่ ต่างจากเรื่องอื่นอย่างไร

คงเดช : ตอนทำเราไม่ได้มานั่งคิดว่าจะทำให้ต่างอย่างไร ข้อดีก็คือว่า เราค่อนข้างได้รับอนุญาตให้เหยียบคันเร่งมากพอสมควร ไม่ค่อยมีใครช่วยเราแตะเบรกว่า เฮ้ย แค่นี้พอ หรือทำให้หน่อมแน้มลงมาอีกหน่อย เรารู้สึกว่านี่คือโอกาสดีที่จะทำให้แตกต่างไปเองโดยอัตโนมัติ เพราะเราคิดได้เต็มที่เลยว่าวิธีไหนที่จะทำให้ตัวละครเจ็บปวดที่สุด จะมีการเขียนบทอีกแบบ เรียกว่าเขียนบทแบบหาทางออก ว่า ณ ตอนจบของตอนนี้ เราจะเอายังไงดีนะ จะลูบหลังมันแค่ไหน แต่ใน เด็กใหม่ ส่วนใหญ่เราจะไม่ลูบหลังเลย

 

ถีบตกเหวไปเลยใช่ไหม

คงเดช : ใช่ เราจะถีบตกเหว แต่ว่าวิธีถีบตกเหวของเรา ไม่ใช่ว่าไอ้นี่ต้องตายตลอดเวลา ถ้าบางทีการอยู่แล้วเจ็บปวดกว่า ก็ให้มันอยู่ดีกว่า แต่จะอยู่แบบไหนล่ะ ประเด็นคือตอนทำเราไม่ต้องยั้งมือเลย ไม่มีใครมาห้ามเรา

อาทิชา : มุ้ยว่าซีรีส์วัยรุ่นในปัจจุบันจะมีความโรแมนติก แต่ของเราจะไม่มีอะไรทำนองนั้น ความรักของเราก็จะเป็นความรักดาร์กๆ อย่างตอนล่าสุดที่เพิ่งออนแอร์ (Social Love) ก็เป็นเรื่องความรักแบบดาร์กๆ

ทินพัฒน์ : เรื่องที่พี่คงเดชว่า การที่ไม่มีใครมาเหยียบเบรกเรา ผมถูกใจมาก เป็นงานที่มีอิสระแทบจะที่สุดเท่าที่ผมเคยเขียนมาเลย นอกเหนือไปจากงานที่เขียนด้วยตัวเองแล้วเก็บไว้กับตัว เด็กใหม่ เป็นงานออนแอร์ที่มีอิสระที่สุดแล้ว ผมมีความสุขมากตอนเขียน

คงเดช : ผมคิดว่าถ้ามีพื้นที่ให้มากพอ ไม่คอยกระตุกกัน หรือเหยียบเบรกกันตลอดเวลา เราจะได้งานที่ไปได้สุดมากขึ้น และงานที่ไปสุดมากขึ้น มันไม่น่ากลัวขนาดนั้น ในที่สุดผลลัพธ์มันก็เวิร์กกว่าที่คิดไว้ ณ ตอนนี้รู้สึกว่าเวิร์กกว่าที่คิดไว้ ตอนเขียนเสร็จไป ผมบอกกับทางเอเจนซี ทางครีเอทีฟไปว่า อย่าทำให้พี่อกหักนะ หมายความว่า อย่าไปทำให้มันกลายเป็นซีรีส์หน่อมแน้ม ซึ่งข้อดีคือเขาทำได้ งานนี้ออกมาดีกว่าที่เราคิด เพราะว่าหลายๆ ภาคส่วน

อาทิชา : มีหลายองค์ประกอบช่วยเราไว้เยอะมาก

คงเดช : พวกพีอาร์ต่างๆ โปสเตอร์ เทรลเลอร์ งานกำกับของผู้กำกับแต่ละคน ทำออกมาได้ดีกว่าที่คิด เรามองว่าต้องให้เครดิตแก่คนที่ร่วมกันทำ แล้วอย่างที่บอกว่าไม่มีใครมาคอยกระตุกหรือเบรกกัน เราเลยรู้สึกว่า นี่คืองานที่เป็นกรณีศึกษาได้เหมือนกัน

อาทิชา :  มุ้ยรู้สึกว่า ตอนเขียนมีความกังวลเหมือนกัน เราเคยถูกผู้ใหญ่บอกตลอดเวลาที่เราเขียนบทว่า เดี๋ยวคนดูไม่เข้าใจ เดี๋ยวคนดูจะอย่างนั้นอย่างนี้ ทำให้บางครั้งเราไม่สามารถใส่ความคิดของเราไปจนสุดได้ แล้วต้องมีบทที่บอกว่าเรื่องนี้สอนว่าอะไร ในขณะที่เรื่องนี้เราไม่มีสิ่งเหล่านั้นเลย เราใส่สุดจริงๆ ความดาร์กเราก็ใส่ลงไป ปรากฏว่าพอออกมา เราก็ลุ้นอยู่ว่าคนดูคิดยังไง ทุกคนก็เข้าใจ ตีความออกไปได้หลากหลายกว่าที่คิด เราถึงรู้ว่ามันเวิร์ก เราไม่ต้องกลัวไปก่อนว่าเดี๋ยวคนดูไม่เข้าใจ

คงเดช : จริงๆ เราควรเคารพคนดูมากขึ้นกว่าที่เคยทำๆ กันมา หลายคนเขาบอกว่า ทำอะไรไม่คิดถึงคนดู เนี่ย กูคิดถึงคนดู คือคิดว่าเขาไม่โง่ และเขาต้องการอะไรที่แตกต่าง เวลาเห็นผลลัพธ์อย่างนี้ออกมา มันถึงจะเป็นเครื่องพิสูจน์ได้ และผมคิดว่าคนที่เป็นผู้จัดฯ หรือทีมต่างๆ ที่จะทำซีรีส์ต่อไป น่าจะใช้จังหวะนี้ในการมองว่า การที่ผลงานจะได้รับการตอบรับไหม อาจขึ้นอยู่กับว่าจะทำออกมาอย่างไรให้ใช้พื้นที่ได้เต็มที่กว่านี้

คงเดช จาตุรันต์รัศมี, อาทิชา ตันธนวิกรัย (มุ้ย) และ ทินพัฒน์ บัญญัติปิยพจน์ (เซียม)

อย่างคุณเซียม มีบทตอนไหนที่ได้ใส่ลงไปแล้วดีใจว่ามันรอด มันได้อยู่ในซีรีส์

ทินพัฒน์ : เยอะนะครับ ยกตัวอย่างฉากข่มขืน ที่คนดูเรียกกันว่าฉาก ‘เต้าหู้’ เป็นฉากที่ผมค่อนข้างภูมิใจ ตอนเขียนผมคิดว่าจะทำยังไง ให้ท่าทีของคนข่มขืนดูแย่กว่าคนโดนข่มขืน ผมเลยคิดว่าตอนโดนข่มขืนให้แนนโน๊ะหัวเราะ แต่นักแสดงตีความตอนแคสติ้งไกลกว่านั้นอีก น้องชิชาร้องเพลงออกมา โอ้โห! นี่เป็นการตีความเพิ่มไปอีก แต่สุดท้ายก็แสดงตามบทที่ผมเขียน คือให้หัวเราะ ผมคิดว่าถ้าผมเป็นคนข่มขืน ผมโดนแบบนี้ก็คงเหี่ยว (หัวเราะ)

ได้ยินมาว่าซีรีส์นี้ ได้วัตถุดิบจากข่าวที่เกิดขึ้นจริงในโรงเรียนต่างๆ อยากทราบว่าทำงานกันอย่างไร เลือกข่าวกันอย่างไร

คงเดช : ตอนเขียนบท เราดึงเฉพาะข่าวที่คิดว่าเหมาะสม และบางตอนก็ไม่ได้เริ่มจากข่าว แต่เริ่มจากมุมมองของคนใน (insight) แทน เช่นเรื่องแบบนี้ ผู้หญิงไม่ชอบกัน แล้วเอาตรงนั้นมาเป็นพื้นฐานพัฒนาบท อินไซต์จากคนนี้เยอะ (ชี้ไปที่อาทิชา) เรื่องนี้มุ้ยเขาเป็นตัวรีเสิร์ชในชีวิตตัวเองโดยอัตโนมัติ

อาทิชา : ตอนระดมไอเดีย บางทีมุ้ยจะเล่าเรื่องส่วนตัวว่าเคยเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นกับตัวเอง ผู้ชายทำอย่างนี้ๆ เพื่อนมุ้ยดูซีรีส์นี้แล้วถามว่านี่เป็น Death Note ของแกหรือเปล่าเนี่ย (หัวเราะ) ก็งงว่าทำไมเราเจอเรื่องเยอะขนาดนี้ จริงๆ มุ้ยเคยคุยกับจิตแพทย์เด็ก เขาบอกว่าวัยรุ่นทุกยุคไม่ต่างกัน วัยรุ่นทุกยุคมีอินเนอร์เดียวกัน แค่มีเครื่องไม้เครื่องมือต่างกัน วัยรุ่นยังคงค้นหาตัวเอง ยังคงลองผิดลองถูกเหมือนเดิม สนใจเรื่องเพศ มีการล่วงละเมิดทางเพศกันเหมือนเดิม

ทินพัฒน์ : ผมคิดเหมือนมุ้ย เด็กทุกยุคเจอปัญหาคล้ายกันหมด มีแต่องค์ประกอบภายนอกที่เปลี่ยนแปลงไป

ตอนที่เหลือที่เรายังไม่ได้ดู มีอะไรเด็ดๆ รออยู่บ้าง

คงเดช :  มีหลากหลาย อยากให้ลองดูไปเรื่อยๆ มีทั้งแนวตลกร้ายมากๆ มีทั้งตอนเล่นกับพื้นที่ปิดล้อม แต่ละตอนจะถูกออกแบบให้แตกต่างกันออกไป มีตอนโรแมนติกด้วย

อาทิชา :  อ่า… โรแมนติก 1 ตอนถ้วนค่ะ

ทินพัฒน์ :  ตอนเลือดสาดในโรงเรียนก็มีนะครับ

อาทิชา :  ตอนนี้ก็เป็นตอนที่เรารอดูมากๆ

ทินพัฒน์ : แต่ที่ผมชอบมากเลยคือ มีการถกเถียงกันมากมาย มีทั้งคนที่ชอบและไม่ชอบซีรีส์นี้ ผมว่าถ้าคนมองมันไปในทิศทางเดียวกันหมดคงแย่นะ แต่พอเถียงกัน ผมพอใจแล้ว

มีฟีดแบ็กอะไรที่น่าประทับใจบ้าง

ทินพัฒน์ : เมื่อวานมีเจ้าของร้านกาแฟคนหนึ่งที่ผมไปประจำ เขาเป็นลุงอายุประมาณสัก 60 ปี จบรัฐศาสตร์มาเป็นนักธนาคาร อยู่ๆ เขามาบอกผมว่า เขาดูแนนโน๊ะ จริงๆ เขาชอบตอน ‘อัจฉริยะ’ มาก เขานั่งวิเคราะห์ให้ผมฟังประมาณครึ่งชั่วโมง แล้วสรุปให้ผมฟังว่า หลังจากซีรีส์นี้ผ่านไปครึ่งทางแล้ว ควรจะรวมนักคิดนักวิเคราะห์มาจัดเสวนากัน ผมฟังด้วยความดีใจว่าซีรีส์ทำให้คนคิดไปไกลได้ขนาดนั้น ผมรู้สึกว่าประสบความสำเร็จแล้ว

คงเดช จาตุรันต์รัศมี, อาทิชา ตันธนวิกรัย (มุ้ย) และ ทินพัฒน์ บัญญัติปิยพจน์ (เซียม)

ก่อนหน้านี้แต่ละคนเขียนบทเรื่องอะไรมาบ้างคะ และมีแนวไหนที่อยากเขียนอีก

ทินพัฒน์ : มี The Last Summer 7 วันจองเวร , เพื่อนผองสยองขวัญ , The Guardian ฯลฯ เวลาใครจะทำหนังโรคจิต ก็จะมีคนจำนวนหนึ่งที่นึกถึงผม จริงๆ ผมอยากเขียนทุกแนว ไม่ได้อยากจำกัดแค่เรื่องสยองขวัญ ผมรู้ว่ามีบางแนวที่ยากสำหรับผม แอ็คชั่นคอมเมดี้ก็เคยลองเหมือนกัน แต่มีแอ็คชั่นมากกว่า ผมเลยรอดไป ยังไม่เคยมีคนจ้างผมเขียนหนังรักครับ แต่ผมอยากลองนะ

อาทิชา : ของมุ้ยไม่ใช่แนวนี้เลย มุ้ยเคยเขียนหนังสือ เป็นนักเขียน สนพ. แจ่มใส (หัวเราะ) เขียนอะไรใสๆ เป็นโรแมนติกคอมเมดี้ เคยเขียนเรื่องดาร์กๆ เรื่องสั้นเสียดสีสังคม เป็นงานส่วนตัว

 

ตอนเขียน สนพ. แจ่มใส มีผลงานเรื่องอะไร

อาทิชา : รักแรกของฉันกับคดีพิลึกพิลั่นของเจ้าบ่าว (ใช้นามปากกาว่า นานา) เรื่องแรกเลย แล้วพี่คงเดชก็อ่าน เพราะพี่คงเดชเป็นกรรมการแจ่มใสอวอร์ด เป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการที่ให้รางวัลมุ้ย แต่ตอนนี้ไม่ได้เขียนหนังสือมาหลายปีแล้วค่ะ มาเขียนบทแทน มุ้ยเขียนมาเกือบหมดเลย แอ็กชั่นก็เคยเขียน ไม่ค่อยมีแนวไหนที่อยากเขียนเพิ่มขึ้นเป็นพิเศษ แต่ว่าอยากได้อิสระในการทำงานแบบนี้อีก

 

คุณคงเดชเห็นอะไรในตัวคุณมุ้ยกับคุณเซียม ถึงได้เรียกมาเป็นส่วนผสมของ เด็กใหม่

คงเดช : ตอนแรกเขาจะให้ผมเขียนคนเดียว 13 ตอน แต่ผมคิดว่าเขียนไม่รอดแน่ๆ คิดว่าการให้คนมาช่วยแชร์จะทำให้ไปได้ไกลกว่า ซึ่งมันก็เป็นแบบนั้นจริงๆ  แนนโน๊ะมันต้องมีผู้หญิงแน่ๆ และต้องเป็นผู้หญิงที่มีจริตจะก้านทีเดียว (หัวเราะ) ซึ่งมุ้ยเป็นผู้หญิงที่ตอนทำงานด้วยจะสนุก เพราะใส่ไอเดียไม่ยั้ง มีไอเดียออกมาไม่หยุดหย่อน ส่วนเซียมเป็นคนที่ได้รับรางวัลการเขียนบทใน Thailand Script Project ผมเคยอ่านพล็อตที่เขาเขียนตั้งแต่ตอนไปเป็นวิทยากรในคอร์สนั้นแล้ว เซียมเป็นคนมีไอเดียที่แปลกประหลาด โดดเด่น เช่นฉากเต้าหู้ ตอนอ่านครั้งแรกผมก็ อู้ว ชอบ พอส่งไปทางเอเจนซี เขาก็ชอบกันหมด (หัวเราะ) เซียมเขาจะมีอะไรเซอร์ไพรส์เสมอ

การเขียนบทเรื่องนี้แตกต่างจากการทำงานอื่นๆ ที่ผ่านมาของแต่ละคนอย่างไร

อาทิชา :  แตกต่างเยอะมาก มุ้ยรู้สึกว่า ทำให้เรากล้าคิด กล้าเขียนในสิ่งที่เราอยากเขียน อย่างเรื่องอื่นจะมีคำสั่งเอาไว้ ว่าเขียนประมาณนี้ๆ มีโจทย์ให้เรา ความคิดสร้างสรรค์เราจะถูกจำกัดโดยโจทย์นั้น แต่ในขณะที่เรื่องนี้ไม่ใช่ ซึ่งพี่คงเดชก็จะบอกว่า ใส่ไปเลยๆ

คงเดช : ข้อดีคือว่า ตอนเจ๋อมาดีลกับผม บอกว่าพี่คงเดชเขียนเรื่องนี้ให้หน่อย ผมเล่นตัวอยู่พักหนึ่ง (หัวเราะ) ไม่ได้ตั้งใจนะครับ แต่ตอนนั้นเราไม่ว่างจริงๆ กลุ้มใจเลย แล้วเราไม่เคยเขียนซีรีส์ แต่ว่าเจ๋อก็รู้จักกันดี เขาก็ช่วยได้ ผมบอกว่าถ้าคอนเซ็ปต์มาดาร์กขนาดนี้ ต้องไปให้สุดนะ อย่ามากั๊ก อย่ามาเบรกกัน เขาเลยไฟเขียวเต็มที่ ทำให้เราสามารถไปบอกน้องๆ ในทีมทุกคนได้ว่า เฮ้ย ใส่มาก่อน เอาให้เต็มที่ เราคิดว่านี่เป็นเรื่องสำคัญในการทำงานสร้างสรรค์เหมือนกัน การรีบเบรกกันไว้โดยยังไม่ทันออกตัวเป็นการจำกัดการสร้างสรรค์

ทินพัฒน์ : ผมขอชมทีมนะครับ ผมมีหัวหน้าทีมที่ดีมาก ผมคิดว่าหัวใจของการเขียนซีรีส์คือการขัดเกลา สุดท้าย Script Doctor ก็คือพี่คงเดช ผมมีทีมที่ดีมาก ทีมนี้ลงตัว

คงเดช จาตุรันต์รัศมี, อาทิชา ตันธนวิกรัย (มุ้ย) และ ทินพัฒน์ บัญญัติปิยพจน์ (เซียม)

สำหรับคุณคงเดช เวลาจะเริ่มงานใหม่ๆ ใช้อะไรตัดสินใจ สัญชาตญาณ เหตุผล หรือว่าประสบการณ์

คงเดช : เงิน! (ทุกคนหัวเราะเสียงดัง) จริงๆ ก็หลายอย่างนะ แต่ละโจทย์ค่อนข้างมีธรรมชาติหรือเงื่อนไขต่างกัน ถ้าเป็นหนังก็ไม่มีเงื่อนไขอะไรเลย เรานั่งเขียนของเราคนเดียว เวลาคิดไม่ออกก็เจ็บปวดอยู่คนเดียว บางทีอารมณ์ไม่ดีเลย เพราะคิดงานไม่ออก ก็จัดการอยู่คนเดียว แต่ซีรีส์ต้องการคนช่วย ต้องการฟังความคิดเห็นจากคนที่เรารู้สึกดีด้วย เวลาเราเขียนอะไรต่างๆ เราไม่สามารถให้ใครก็ได้มาอ่าน เราก็เลือกเหมือนกัน คนที่เราเชื่อพอ คนที่เราเชื่อได้ว่าความเห็นของเขาจะมีประโยชน์กับงาน

คุณคงเดชทำหนังมาตลอด เรื่องนี้เป็นการเขียนบทซีรีส์ครั้งแรก รู้สึกติดใจการเขียนซีรีส์มากขึ้นไหมคะ

คงเดช : ก็ไม่เชิง ผมคิดว่าเป็นงานรูปแบบไหนก็ได้ ถ้าเงื่อนไขโอเค เช่น อย่ามาเบรกเรานะ ถ้าแบบนี้ผมก็สนใจ มีบางงานที่ไปนั่งคุย ดูคนที่จะจ้างเราเขียน แล้วรู้สึกว่าไม่รอดแน่เลยกู ในที่สุดก็ต้องปฏิเสธไป ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเขาไม่ดี แต่เรามองเห็นอนาคต มีเหมือนกันบางงานที่ทำไปแล้ว ถามตัวเองว่ารับมาทำไม แล้วเราก็ต้องทำไป แต่มันก็เป็นธรรมชาติของการทำงาน มันไม่สามารถเลือกและควบคุมได้ทุกครั้ง ครั้งนี้เป็นครั้งที่โอเค เป็นครั้งที่ดี ผมไม่ได้คิดว่าจะดีได้อย่างนี้ทุกครั้ง แต่ครั้งนี้เป็นการพิสูจน์ได้ว่า ถ้ามีเงื่อนไขดีๆ มันทำให้ดีได้นะ เราสามารถเอาข้อพิสูจน์นี้ไปคุยกับลูกค้าในครั้งต่อๆ ไปได้

มองตลาดซีรีส์อย่างไรบ้าง

คงเดช : ช่วงนี้คึกคักมากเลย ผมรู้สึกว่ามีหลายเรื่องที่ต่างคนต่างทำแล้วมีคอนเซ็ปน่าสนใจ เช่น The Gifted, The Judgment ขอโฆษณาให้เพื่อนหน่อย เราคิดว่ามีความต้องการซีรีส์เยอะในตลาด ไม่ใช่แค่ช่องดิจิทัลทีวี แต่รวมไปถึงไลน์ หรือเน็ตฟลิกซ์เองก็ยังมองหา อย่าง เด็กใหม่ พอฉายจบก็จะไปฉายในเน็ตฟลิกซ์ต่อ

ผมคิดว่าแต่ละที่มีนโยบายไม่เหมือนกัน เขาจะรู้ว่าลูกค้าของเขาเป็นอย่างไร ไลน์จะเป็นแบบหนึ่ง ช่องดิจิทัลจะเป็นอีกแบบนึง ขณะที่เน็ตฟลิกซ์จะไม่เอางานที่มีวิธีคิดแบบ local เลย ไม่เอางานที่มาสนุกกันเอง เขาต้องการขายทั่วโลก

พอมีช่องทางที่หลากหลายรองรับคอนเทนต์ที่หลากหลายแล้ว ก็เป็นผู้ผลิตเองที่จะต้องดูว่า เรากำลังจะไปอยู่ในช่องทางไหน แล้วทำให้เกิดความหลากหลายในช่องทางนั้นๆ ไปเลยก็จะดี คนดูต้องได้กำไร คนดูกำไรเมื่อไหร่ อุตสาหกรรมจะสุขภาพดี

คงเดช จาตุรันต์รัศมี, อาทิชา ตันธนวิกรัย (มุ้ย) และ ทินพัฒน์ บัญญัติปิยพจน์ (เซียม)

 

หลัง เด็กใหม่ โปรเจกต์ต่อไปคืออะไรคะ

คงเดช : อยากทำหนังไปเรื่อยๆ บทหนังเรื่องใหม่ ลูกน่าจะมีผลกับการเขียนของผมสูง แต่ยังไม่เปิดเผยดีกว่า อาชีพเขียนบทเป็นอาชีพต้นน้ำ ความระยำตำบอนของมันก็คือว่า หลายครั้งโปรเจ็กต์ที่เขียนไป บางทีเขียนแล้ว เสร็จแล้วด้วย แต่ว่าแท้งไป บางครั้งผลิตออกมาได้ไม่ครบตามที่เราเขียน สถานะของงานขึ้นอยู่กับจังหวะและความไม่แน่นอนด้วย

สมมติเราเป็นคนตัดต่อ หรือทำงาน post-production มันค่อนข้างชัดเจน แต่ว่าในขั้นตอนของเรา เป็นขั้นตอนของการที่ทุกอย่างยังอยู่ในอากาศ ยังเบาพอที่เขาจะถีบ นี่คือความเจ็บปวดของคนเขียนบท แต่ว่าทุกคนพอทำไปเรื่อยๆ จะมีภูมิต้านทาน มีความด้านชามากขึ้นเรื่อยๆ

ส่วนการเขียนบทประเภทอื่นๆ นอกจากหนัง จริงๆ หลังจาก The Letter ผมมีงานเขียนบทมาตลอด บางอันก็ไม่เวิร์ก บางอันเกลียดงานตัวเองก็มี เป็นเรื่องปกติ แต่ผมรู้สึกว่าตอนนี้อุตสาหกรรมหนังมันสุขภาพไม่ดีเท่าไหร่ ถ้าเทียบกับซีรีส์ ซีรีส์ที่ทางเผยแพร่ดีๆ เยอะ มีโปรเจ็กต์ดีๆ เยอะ แต่อุตสาหกรรมไม่ได้ดีมากนัก เพราะทำด้วยงบประมาณค่อนข้างจำกัด หลายซีรีส์ หลายโปรเจกต์ จะใช้วิธีที่ทำให้ไม่ขาดทุน ก็คือการเอาปริมาณเข้าสู้ หรือต้องเขียนบทกันแบบคุยกันบนโต๊ะกินข้าวเยอะหน่อย

อย่าง เด็กใหม่ ถือว่างบประมาณจำกัดไหม

คงเดช : จำกัด ไม่มีอะไรที่ไม่จำกัด  ตอนหนึ่งถ่ายกันแค่ 2 วัน ซึ่งเป็นเรื่องปกติด้วย และซีรีส์นี้เป็นซีรีส์ที่จบในตอน แล้วแต่ละตอนต้องเปิดเรื่องใหม่ ตัวละครต้องเปลี่ยนไปทุกตอน มีแนนโน๊ะยืนพื้นอยู่คนเดียว นักแสดง สถานที่ถ่ายทำ ก็เยอะขึ้นมหาศาล เขาก็ทำกันออกมาได้แบบทุ่มกันสุดตัว ต้องให้เครดิตฝ่ายโปรดักชัน ทั้งจังก้าที่เป็นโปรดักชันเฮาส์ และ Sour Bangkok ที่เป็นโต้โผดูแล ได้ยินอยู่ตลอดว่าเหนื่อยกันน่าดู เราเขียนบทเสร็จปุ๊บ สบายแล้ว ไม่มีใครเบรกด้วย เงินออก สบายใจ แต่จริงๆ มีคนที่เหนื่อยกับมันอีกเยอะ

สุดท้าย อยากฝากอะไรไว้กับคนอ่าน

คงเดช  : ฝากดูและแสดงความคิดเห็นกันให้เต็มที่ครับ สำหรับผู้สร้าง ผมคิดว่านี่เป็นช่วงเวลาที่ดี ที่เราจะลองทำอะไรแปลกๆ ใหม่ๆ คนดูรับได้กว่าที่คิด  ส่วนทีมเราจะมา Avenger กันอีกเมื่อไร ต้องรอดูต่อไป

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save