fbpx
30 ปี การสิ้นสุดของระบอบเปรมาธิปไตย (2) : 8 ปี 5 เดือน ของนายกฯ เปรม ภายใต้การเมืองสามเสา

30 ปี การสิ้นสุดของระบอบเปรมาธิปไตย (2) : 8 ปี 5 เดือน ของนายกฯ เปรม ภายใต้การเมืองสามเสา

ธนาพล อิ๋วสกุล เรื่อง

 

[อ่าน 30 ปี การสิ้นสุดของระบอบเปรมาธิปไตย (1) : ความเป็นมา อภิมหาเรื่องเล่า และนักการเมืองชื่อเปรม ได้ ที่นี่]

 

ด้วยประสบการณ์ทางการเมืองที่ผ่านมาอย่างโชกโชนมากกว่า 2 ทศวรรษ ในที่สุด พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ก็ได้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ 3 มีนาคม 2523 บทความตอนที่ 2 ในชุด ’30 ปี การสิ้นสุดของระบอบเปรมาธิปไตย’ พยายามทำความเข้าใจเบื้องหลังการครองอำนาจอย่างยาวนานของ พล.อ.เปรม ขณะที่คู่แข่งทางการเมืองได้ล้มหายตายจากไปในสารบบการเมืองไทย

ไม่ว่าเราจะมอง พล.อ.เปรม ด้วยแว่นแบบไหน สิ่งที่ต้องยอมรับคือ พล.อ.เปรม เป็นนักการเมืองที่เก่งกาจที่สุดคนหนึ่งเท่าที่การเมืองไทยเคยมีมา พล.อ.เปรม มีทักษะในการประเมินสถานการณ์อย่างรอบด้าน ยอมถอยเมื่อเสียเปรียบ และพร้อมเผด็จศึกเมื่อโอกาสมาถึง แม้ตัวเขาจะพยายามสร้างพันธมิตรทางการเมือง แต่ก็ไม่ลังเลที่จะถีบหัวส่งอดีตพันธมิตรอย่างไม่ไยดี อย่างน้อยก็ในห้วงเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

 

บทเรียนจากเกรียงศักดิ์

 

การขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ภายหลังรัฐประหารโค่นรัฐบาลขวาจัดของธานินทร์ กรัยวิเชียร เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2520 ถือเป็นการ ‘ช่วยชีวิต’ ชนชั้นนำไทย เพราะรัฐบาลธานินทร์สร้างความแตกแยกอย่างหนัก จนทำให้คนจำนวนไม่น้อยเห็นใจพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) มากขึ้น

พล.อ.เกรียงศักดิ์ จึงเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกที่ใช้นโยบาย ‘การเมืองนำการทหาร’ อย่างแท้จริง  เริ่มตั้งแต่คำแถลงการณ์ของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 1 เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2520 ว่า

 

[นับตั้งแต่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2519] ได้เป็นที่ประจักษ์แก่ประชาชนโดยทั่วไปว่า ความสามัคคีในหมู่ข้าราชการ ประชาชนมีแต่การแตกแยก ข้าราชการมีความหวั่นไหวในการปฏิบัติราชการ การเศรษฐกิจและการลงทุนของชาวต่างประเทศลดลงและไม่แน่นอน หากปล่อยให้เป็นไปเช่นนี้ต่อไปจะยากแก่การแก้ไข อนึ่ง คณะทหาร ตำรวจ และพลเรือน ได้ตระหนักว่า การที่จะพัฒนาระบอบประชาธิปไตยโดยแบ่งออกเป็นสามขั้นตอนๆ ละ 4 ปีนั้น เป็นเวลานานเกินความจำเป็น และไม่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน คณะทหาร ตำรวจ และพลเรือน เห็นสมควรปรับปรุงระยะเวลาที่จะพัฒนาระบอบประชาธิปไตยเสียใหม่ โดยกำหนดเป้าหมายให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในปีพุทธศักราช 2521

 

การประกาศเลือกตั้งในปี  2521 หลังจากประกาศใช้รัฐธรรมนูญ การนิรโทษกรรมคดี 6 ตุลาฯ และการผ่อนคลายมาตรการที่เข้มงวดทางการเมือง ช่วยลดความตึงเครียดในสังคมการเมืองไทยลงอย่างมาก

ที่สำคัญ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ยังอาศัยความขัดแย้งในหมู่คอมมิวนิสต์เป็นเครื่องมือ การบุกกัมพูชาของเวียดนามเพื่อโค่นล้มรัฐบาลเขมรแดงในช่วงปลายปี 2521 ทำให้จีนต้องทำสงครามสั่งสอนเวียดนามในช่วงต้นปี 2522  พล.อ.เกรียงศักดิ์ ได้จับมือกับจีนต่อต้านเวียดนาม เพื่อแลกกับการที่จีนเลิกสนับสนุน พคท. ซึ่งเป็นภัยอันดับหนึ่งของไทย จนนำไปสู่การล่มสลายของ พคท. ในเวลาต่อมา

แต่ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ก็ไม่สามารถรักษาตัวเองให้อยู่รอดจนครบเทอมในปี 2526 ได้

ปัญหาเศรษฐกิจที่เริ่มจากวิกฤตน้ำมัน ทำให้มีการเปิดสภาสมัยวิสามัญเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี จนทำให้ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ต้องลาออกกลางสภาในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2523 และเมื่อมีการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี ปรากฏว่า พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและผู้บัญชาการทหารบก ได้คะแนนเสียง 395 เสียงจากสมาชิกรัฐสภา 526 เสียง ขณะที่ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ได้รับคะแนนเพียง 5 เสียงเท่านั้น ส่งผลให้ พล.อ.เปรม ก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 16

บทเรียนที่ พล.อ.เปรม ได้รับจาก พล.อ.เกรียงศักดิ์ มีอย่างน้อย 3 ประการ ได้แก่

หนึ่ง พล.อ.เกรียงศักดิ์ อาศัยนายทหารกลุ่มเดียว คือกลุ่มยังเติร์ก หรือ จปร.7 ในการค้ำยันฐานอำนาจของตนเอง เมื่อกลุ่มยังเติร์กถอนการสนับสนุน รัฐบาลก็ล้มลง

สอง พล.อ.เกรียงศักดิ์ มั่นใจว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี 2521 ที่สร้างระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบ เพียงพอในการค้ำยันตัวเอง ด้วยมีสมาชิกวุฒิสภา 225 คน เป็นฐานอำนาจ ไม่จำเป็นต้องมีฐานสนับสนุนจากนักการเมืองในพรรคการเมืองขนาดใหญ่ แต่แล้ว เมื่อสมาชิกวุฒิสภาเลิกสนับสนุน รัฐบาลก็ล้มลง

สาม พล.อ.เกรียงศักดิ์ ดำเนินนโยบายโดยไม่ผ่านการเห็นชอบจากสถาบันฯ ตั้งแต่การรัฐประหาร 20 ตุลาคม 2520 ซึ่งเป็นการล้ม ‘รัฐบาลพระราชทาน’ ธานินทร์ กรัยวิเชียร หรือการนิรโทษกรรมคดี 6 ตุลาฯ อย่างรีบเร่งในเดือนกันยายน 2521 แทนที่จะเป็นเดือนมหามงคล คือธันวาคมปีเดียวกัน ดังนั้นเมื่อมีวิกฤตการเมือง พล.อ.เกรียงศักดิ์ จึงไม่รับการสนับสนุนจากสถาบันฯ

ทั้งหมดนี้คือบทเรียนที่นายทหาร-นักการเมือง ผู้คร่ำหวอดทางการเมืองมาอย่างน้อย 2 ทศวรรษอย่าง พล.อ.เปรม ได้เรียนรู้จากผู้มาก่อน  ตลอดระยะเวลา 8 ปี 5 เดือนในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พล.อ.เปรม จึงให้ความสำคัญกับการจัดสมดุลทางอำนาจ เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยความผิดพลาดของ พล.อ.เกรียงศักดิ์

 

นายกรัฐมนตรีคนที่ 16 ใต้ร่มพระบารมี

 

ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและผู้บัญชาการทหารบกในสมัยรัฐบาลเกรียงศักดิ์ 2  พล.อ.เปรม คือผู้นำอันดับ 2 ของรัฐบาล เพราะถือทั้งอาวุธและมีที่นั่งในคณะรัฐมนตรี  ในขณะที่ความเชื่อมั่นในตัว พล.อ.เกรียงศักดิ์ ตกต่ำลง ความนิยมในตัว พล.อ.เปรม กลับสูงขึ้นทั้งที่ร่วมอยู่ในรัฐบาลชุดเดียวกัน

การบรรยายหัวข้อ ‘ภาวะความมั่นคงภายใน’ เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2523  ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คล้ายจะเป็น ‘การเปิดตัวว่าที่นายกรัฐมนตรี’  โดย พล.อ.เปรม ตอบคำถามที่ว่า อะไรคือสิ่งที่ประทับใจมากที่สุด

“เราต้องยอมรับว่า ราชวงศ์จักรีรักษาบ้านเมืองมาตั้งแต่ประวัติศาสตร์ สำหรับพระบาทสมเด็จพระอยู่หัวองค์ปัจจุบัน ท่านได้สละทุกอย่าง ความเหน็ดเหนื่อย เพื่อจะเกิดความร่มเย็นในบ้านเมืองเรา … เท่าที่ผมเฝ้าสังเกตดู พระองค์ท่านนึกแต่เรื่องคนอื่นตลอดเวลา”

การบรรยายครั้งนั้นมีผู้เข้าฟังเป็นจำนวนมาก และรอส่ง พล.อ.เปรม หลังจบงาน ตั้งแต่วันนั้น ราศีนายกรัฐมนตรีก็เริ่มจับ พล.อ.เปรม

เมื่อ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ตัดสินใจว่าจะลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จึงได้เดินทางไปเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่เชียงใหม่ พล.อ.เกรียงศักดิ์ นำ พล.อ.เปรม ไปด้วย

“ผมไปเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพร้อมพี่เกรียงด้วย แล้วพี่เกรียงก็กราบบังคมทูลลาออกจากนายก แล้วก็ให้ผมเป็น”[1]

วันรุ่งขึ้น พล.อ.เกรียงศักดิ์ ประกาศลาออกกลางสภา เมื่อมีการเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ พล.อ.เปรม ได้รับเลือกด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น นับเป็นการเริ่มต้น ‘ระบอบเปรมาธิปไตย’ ที่มีอายุยาวนานถึง 8 ปี 5 เดือน

              

เปรม 1 (มีนาคม 2523 – มีนาคม 2524)

 

นอกจากการพร้อมใจสนับสนุนของสมาชิกวุฒิสภา 225 เสียงแล้ว พล.อ.เปรม ยังได้พรรคการเมืองหลัก 3 พรรคคือ กิจสังคม (80 เสียง) ประชาธิปัตย์ (33 เสียง) ชาติไทย (38 เสียง) มาร่วมจัดตั้งรัฐบาลด้วย ทำให้ไม่ต้องเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยในสภาผู้แทนราษฎร

คณะรัฐมนตรี (ครม.) เปรม 1 จำนวน 37 คน มีตัวแทนจากพรรคการเมืองเพียง 21 คนเท่านั้น ที่เหลือเป็นโควตาของ พล.อ. เปรม

พล.อ.เปรม ได้ยึดตำแหน่งในกระทรวงสำคัญ ทั้งด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจมหภาค ไว้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงกลาโหม มหาดไทย คลัง คมนาคม ศึกษาธิการ โดยเฉพาะกระทรวงเศรษฐกิจนั้น บรรดาเทคโนแครตจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) และธนาคารแห่งประเทศไทยได้จับจองไว้  ที่เหลือให้พรรคการเมืองไปแบ่งกัน รูปแบบเช่นนี้ดำเนินไปตั้งแต่รัฐบาลเปรม 1 ถึง เปรม 5 ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า นโยบายเศรษฐกิจในยุค พล.อ.เปรม ถูกขับเคลื่อนด้วย ‘พลังเทคโนแครต’[2]

 

 

แม้ว่าจะคุมอำนาจไว้เบ็ดเสร็จ แต่ก็ใช่ว่าจะไร้อุปสรรค เพราะ พล.อ.เปรม ในฐานะผู้บัญชาการทหารบก ต้องเกษียณอายุราชการในเดือนตุลาคม 2523 พล.อ.เปรม ย่อมทราบดีว่าถ้าอำนาจกองทัพไม่อยู่ในมือของเขาแล้วจะเกิดอาการขาลอย และมีความเป็นไปได้ที่ชะตากรรมของตัวเองจะจบลงเหมือนกับ พล.อ.เกรียงศักดิ์ จึงได้มีความพยายามที่จะต่ออายุราชการของ พล.อ.เปรม อีก 1 ปี โดยอ้างเรื่องความมั่นคงจากภัยคอมมิวนิสต์

ในช่วงต้น พรรคร่วมรัฐบาลแสดงอาการไม่เห็นด้วย จึงได้มีการเชิญรองนายกรัฐมนตรีทั้ง 4 คนประกอบด้วย พล.อ.เสริม ณ นคร นายบุญชู โรจนเสถียร (กิจสังคม) พล.ต.ประมาณ อดิเรกสาร (ชาติไทย) และ พ.อ.ถนัด คอมันตร์ (ประชาธิปัตย์) เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลเดช ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ต่อมาทั้งสี่ได้มีการแถลงข่าวร่วมกันว่าจะไม่คัดค้านการต่ออายุราชการของ พล.อ.เปรม เนื่องจากมี ‘ข้อมูลใหม่’ พล.อ.เปรม จึงได้รับการต่ออายุราชการอีก 1 ปี โดยเกษียณอายุในเดือนกันยายน 2524

ต่อมา เกิดความขัดแย้งระหว่างพรรคชาติไทยกับพรรคกิจสังคมใน ‘กรณีเทเล็กซ์อัปยศ’ ทำให้พรรคกิจสังคมต้องลาออกจาก ครม. นำไปสู่การสิ้นสุด ครม.เปรม 1 ในเดือนมีนาคม 2524

 

เปรม 2 (มีนาคม 2524 – ธันวาคม 2524)

 

การปรับ ครม. เอาพรรคกิจสังคมออกไป ทำให้ ครม. เปรม 2 ประกอบด้วยพรรคประชาธิปัตย์ ชาติไทย สหพรรค รวมไทย แนวมหาชน และได้มีการนำเพื่อนรักของ พล.อ.เปรม อีกสองคนคือ พล.ต.สุตสาย หัสดิน  และ ร.ท.ศุลี มหาสันทนะ มาเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

ถึงแม้ว่า พล.อ.เปรม จะกระชับอำนาจตนเองได้จากการต่ออายุราชการ แต่ก็ก่อให้เกิดความแตกแยกในกองทัพเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่พลาดหวังไม่ได้ขึ้นเป็นผู้บัญชาการทหารบก นั่นคือ พล.อ.สัณห์ จิตรปฏิมา  นี่เองที่เป็นชนวนให้กลุ่มยังเติร์กก่อรัฐประหารเมษาฮาวายในช่วงวันที่ 1-3 เมษายน 2524 เพียงไม่ถึง 1 เดือนหลังจากปรับ ครม. ด้วยเหตุผลสำคัญคือ พล.อ.เปรม มัวเมาในอำนาจจากการต่ออายุราชการ และเห็นแก่พวกพ้องในการตั้งเพื่อนตัวเองมาร่วม ครม.

การร่วมก่อรัฐประหารครั้งที่ 3 ในรอบ 6 ปี (พ.ศ. 2519, 2520 และ 2524) รวมทั้งการปราบกบฏ 26 มีนาคม 2520 ทำให้กลุ่มยังเติร์กเกิดความย่ามใจ คิดว่าทุกรัฐบาลที่ตัวเองตั้งได้ ก็ล้มได้เช่นกัน แต่นั่นไม่ง่ายสำหรับนักการเมืองชื่อเปรม นอกจากนั้น กลุ่มยังเติร์กยังประเมินความช่วยเหลือจากราชสำนักต่ำเกินไป ดังปรากฏว่าในระหว่างที่ พ.อ.ประจักษ์ สว่างจิตร สมาชิกคนสำคัญของกลุ่มยังเติร์ก ควบคุมตัว พล.อ.เปรม ที่บ้านสี่เสาเทเวศร์ มีโทรศัพท์มาถึง พ.อ.ประจักษ์

“ตอนที่ป๋าลงมาจากข้างบน พี่จักษ์ยังพูดโทรศัพท์อยู่ข้างบน ไม่ได้ลงมาด้วย พวกนั้นคงนึกว่าป๋ายอมแล้ว และคงออกไปสวนรื่นโดยไม่มีใครขัดขวาง พอรถวิ่งมาถึงสี่แยกไทยเจริญ ก็เลี้ยวซ้ายผ่านหน้าหอประชุมกองทัพบก แล้วเลี้ยวขวาที่แยกการเรือน เวลานั้นมีทหารประจำจุดตามสี่แยกแล้ว พอเลี้ยวขวาเข้ามาทางพระที่นั่งวิมานเมฆไม่มีทหาร ป๋าก็เข้าสวนจิตร”[3]

เมื่อ พล.อ.เปรม ถึงสวนจิตรลดา ก็ได้เชิญพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์เดินทางไปยังค่ายสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา โดยมี พล.ต.อาทิตย์ กำลังเอก (ยศในขณะนั้น) รองแม่ทัพภาคที่ 2 เป็นผู้บัญชาการต่อต้านการรัฐประหาร และมีทหารกลุ่ม จปร.5 นำโดย พ.อ.อิสระพงศ์ หนุนภักดี (ยศในขณะนั้น) เป็นกำลังสำคัญ

แม้เราจะทราบกันดีว่ารัฐประหาร 1-3 เมษา 2524 เป็นรัฐประหารที่ล้มเหลว แต่ความล้มเหลวนั้นเกิดจากการที่คณะรัฐประหารสู้แล้วแพ้ หรือไม่คิดจะสู้กันแน่ นี่คงเป็นปริศนาทางการเมืองให้ไปสืบค้นกันต่อ แต่ทั้งหมดนั้นแสดงให้เห็นว่านักการเมืองชื่อเปรมมีความสามารถมากเพียงใด

แม้ว่าชัยชนะจะเป็นของ พล.อ.เปรม แต่สำหรับผู้ห่วงใยสถาบันฯ แล้ว ถือว่าเป็นห้วงเวลาที่สุ่มเสี่ยงมากที่สุด เพราะถ้าเกิดกลุ่มยังเติร์กฮึดสู้ขึ้นมา แล้วเอาชนะฝ่ายรัฐบาลเปรมได้สำเร็จ ยากจะคาดคะเนว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป

แม้จะชนะในทางการทหาร แต่ในทางการเมือง รัฐบาลเปรม 2 นั้นมีอายุสั้น เมื่อไม่มีพรรคกิจสังคม ทำให้เสถียรภาพของรัฐบาลไม่มั่นคง (แม้จะมีสมาชิกวุฒิสภาที่มีอำนาจเทียบได้กับ ส.ส. ค้ำยันอยู่ก็ตาม) จึงเป็นที่มาของการดึงเอาพรรคกิจสังคม (ที่ไม่มีบุญชู โรจนเสถียร) กลับมาร่วมรัฐบาลอีกครั้ง เป็นการสิ้นสุดรัฐบาลเปรม 2 เมื่อปลายปี 2524

ถึงแม้รัฐบาลเปรม 2 จะมีอายุเพียง 9 เดือน แต่ได้สร้างมรดกอันสำคัญไว้ ซึ่งมีผลมาจนถึงปัจจุบัน ได้แก่

(1) สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.)

พล.อ.เปรม ได้ออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2524[4] เพื่อทำหน้าที่ในการดำเนินงานสนองพระราชดำริ ซึ่งในอดีตนั้นยังไม่มีหน่วยงานใดที่จะเป็นหน่วยงานกลางในการดำเนินงานให้รวดเร็วและเกิดประสิทธิภาพ เนื่องจากแต่ละหน่วยงานจะดำเนินงานเป็นเอกเทศ ในลักษณะต่างฝ่ายต่างทำ โดยไม่มีการประสานงานกับหน่วยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

รัฐบาลในยุคนั้นได้ตระหนักถึงพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์ เกี่ยวกับการพัฒนาตามโครงการต่างๆ ซึ่งมีปริมาณเพิ่มขึ้น และเห็นว่าโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริทั้งหลาย ส่วนใหญ่เป็นการมุ่งมั่นพัฒนาเพื่อความกินดีอยู่ดี และพออยู่พอกินของประชาชนในชนบทโดยตรง[5]

ปัจจุบันเราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า เมื่อคนคิดถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 ภาพของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริก็จะลอยเข้ามาในหัว ถึงแม้โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริจะเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปี 2494 แต่ก็ยังไม่ได้ดำเนินการอย่างเป็นระบบ จวบจนกระทั่งมีการจัดตั้ง กปร. หลังเวลาผ่านไป 30 ปี จึงมีโครงสร้างที่ชัดเจน เป็นระบบ พร้อมงบประมาณสนับสนุนให้ดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

นอกจากนี้ กปร. ยังแสดงถึงความผูกพันระหว่างในหลวงรัชกาลที่ 9 กับ พล.อ.เปรม ดังจะเห็นได้จากตราสัญลักษณ์หนุมานนั้นมาจากปีเกิดของ พล.อ.เปรม – ขุนพลคู่บัลลังก์ของพระองค์

(2) คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.)

กรอ. ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2524 ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจ ประกอบด้วยรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจกับตัวแทนภาคธุรกิจ 3 สมาคม คือ หอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย  รัฐบาล พล.อ.เปรม ให้ความสำคัญกับ กรอ. อย่างมาก เช่น ให้นักธุรกิจเดินทางร่วมคณะไปสหรัฐอเมริกาและยุโรป เพื่อชักชวนให้ต่างชาติมาลงทุนในประเทศไทย

กรอ. กลายเป็นช่องทางให้ภาคธุรกิจขนาดใหญ่และรัฐบาลต่อสายสัมพันธ์ถึงกันโดยตรง ผลพวงก็คือภาคธุรกิจสามารถเสนอความต้องการตรงต่อรัฐบาล และรัฐบาลก็เข้ามาช่วยเหลือโดยตรงได้ ตัวอย่างเช่น กรณีที่มีข่าวว่าธนาคารกรุงเทพจะล้มในปี 2527 ประชาชนแห่ไปถอนเงินเป็นจำนวนมาก พล.อ.เปรม ถึงกับออกทีวีมายืนยันว่าธนาคารยังคงแข็งแรงและรัฐบาลจะไม่ปล่อยให้ธนาคารล้ม

สิ่งเหล่านี้ไม่เคยเกิดขึ้นในอดีต เพราะสมัยก่อนภาคธุรกิจเป็นเพียงแหล่งแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจของรัฐบาลเท่านั้น กลุ่มทุนเอกชนจึงกลายเป็นฐานอำนาจของรัฐบาลเปรม โดยกลุ่มทุนหลายกลุ่มได้มีส่วนเกื้อหนุน พล.อ.เปรม มาจนถึงปัจจุบัน

 

เปรม 3 (ธันวาคม 2524 – มีนาคม 2526)

 

รัฐบาลเปรม 3 ประกอบด้วย 4 พรรคการเมือง ได้แก่ พรรคชาติไทย กิจสังคม ประชาธิปัตย์ และสยามประชาธิปไตย  การนำพรรคกิจสังคมกลับเข้าร่วมรัฐบาลนั้นแสดงถึงความแปลกแยกระหว่างรัฐบาลกับกองทัพ

หลังจากที่ พล.อ.เปรม เกษียณอายุจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกในเดือนกันยายน 2524  พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก ก็ก้าวขึ้นมาสร้างบารมีในกองทัพแข่งกับ พล.อ.เปรม  ในขณะเดียวกัน บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2521 จะสิ้นสุดลงในวันที่ 22 มีนาคม 2526 นั่นหมายความว่า อำนาจของวุฒิสภา ซึ่งเป็นฐานที่มั่นของบรรดาข้าราชการ โดยเฉพาะทหาร จะสิ้นสุดลงด้วย จึงมีความพยายามของกองทัพที่จะยืดบทเฉพาะกาลอีก 1 สมัย (4 ปี) โดยผู้มีบทบาทอย่างแข็งขันคือ พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก

การคงอำนาจสมาชิกวุฒิสภาจากการแต่งตั้ง เท่ากับการลดอำนาจสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งนั่นเอง  ในวันที่ พล.อ.เปรม ไม่ได้คุมกองทัพโดยตรง ส.ส. คือฐานอำนาจสำคัญที่คอยพยุงอำนาจของ พล.อ.เปรมไว้  นี่จึงเป็นโจทย์การเมืองที่ พล.อ.เปรม ต้องเลือกระหว่างสมาชิกวุฒิสภาที่มีทหารเป็นฐานอำนาจเดิม กับ ส.ส. ที่เป็นฐานอำนาจใหม่

แต่ถ้าจะกล่าวว่านักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งมีความเป็นเอกภาพ ก็คงไม่ถูกทั้งหมด เพราะสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคประชากรไทย ซึ่งก่อนหน้าคัดค้าน กลับไปร่วมมือกับ พล.อ.พิจิตร กุลละวณิชย์ นายทหารใกล้ชิดกับ พล.อ.อาทิตย์ ออกมารณรงค์ให้ต่ออายุบทเฉพาะกาล โดยอาศัยวิทยุโทรทัศน์ในเครือข่ายของกองทัพทั้งหมด มาปลุกระดมให้ต่ออายุบทเฉพาะกาล ด้วยเหตุภัยคุมคามคอมมิวนิสต์ ดังที่เคยทำสำเร็จมาแล้วในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

แต่ในครั้งนี้กลับไม่ได้รับการตอบรับจากสังคม ส่วนหนึ่งคือประชาชนทราบดีว่าทหารเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์โดยตรง อีกทั้งยังมีการต่อต้านจากนักการเมือง โดยเฉพาะ ฉลาด วรฉัตร ส.ส.ตราด พรรคประชาธิปัตย์ ได้อดอาหารประท้วง จนทำให้เป็นการชุมนุมต่อต้านทหารอย่างเปิดเผยเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ 6 ตุลาคม 2519

ในที่สุด ญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อต่ออายุบทเฉพาะกาลต้องตกไปในวันที่ 16 มีนาคม 2526 และอีก 2 วันถ้ดมา พล.อ.เปรมได้ยุบสภาก่อนที่บทเฉพาะกาลจะหมดลงเพียง 4 วัน โดยกำหนดเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 18 เมษายน 2526  พล.อ.เปรมให้เหตุผลในการยุบสภาว่า

“…การขอแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเปลี่ยนแปลงวิธีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรถึง 4 ครั้ง ตามวิธีใหม่ในขณะนี้ อาจนำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงทางการเมืองได้ อันจะนำมาซึ่งความเสื่อมโทรมของระบบเศรษฐกิจ สังคม และความสามัคคีของชนในชาติ และการปกครองในระบอบประชาธิปไตย”[6]

สิ่งที่ต้องบันทึกไว้ในรัฐบาลเปรม 3 ก็คือ การเป็นช่วงเวลาแห่งการลอบสังหารผู้นำการเมืองอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภายหลังกบฏเมษาฮาวาย ดังที่มีการบันทึกไว้ถึง 9 ครั้ง

ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 6-7 มีนาคม 2525 มีการลอบสังหาร พล.อ.อาทิตย์ ในงานยกช่อฟ้าวัดจิระ อ.เมือง จ.ลพบุรี แต่ไม่สำเร็จ

ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 8-25 มีนาคม 2525 มีการลอบสังหาร พล.อ.อาทิตย์ ขณะเดินทางไปเยี่ยมท่านผู้หญิงประภาศรี กำลังเอก ซึ่งป่วยและรักษาอยู่ที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า แต่ล้มเหลวอีกครั้ง

ครั้งที่ 3 วันที่ 5 พฤษภาคม 2525 มีรถบรรทุกระเบิดจอดที่หน้าโรงเรียนพาณิชยการสันติราษฎร์ ในเส้นทางที่ พล.อ.อาทิตย์ เดินทางผ่านไปทำงาน เพื่อลอบสังหาร พล.อ.อาทิตย์ โดยใช้คลื่นวิทยุบังคับจุดระเบิด แต่รถได้เกิดระเบิดขึ้นก่อนที่ พล.อ.อาทิตย์ จะผ่านไป

ครั้งที่ 4 วันที่ 3 มิถุนายน 2525 มีการลอบสังหาร พล.อ.อาทิตย์ ขณะไปทอดกฐินที่วัดแก้วนิมิตร อ.เมือง จ.ลพบุรี แต่ไม่สำเร็จ

ครั้งที่ 5 ระหว่างวันที่ 14-16 กรกฎาคม 2525 มีการลอบสังหาร พล.อ.เปรม ขณะเดินทางไปเป็นประธานเปิดอนุสาวรีย์จอมพล ป.พิบูลสงคราม ที่ศูนย์การทหารปืนใหญ่ อ.เมือง จ.ลพบุรี แต่กระสุนจรวดขนาด 66 มม. เอ็ม 72 พลาดเป้าหมายไปเพียงเล็กน้อย

ครั้งที่ 6 วันที่ 1 ตุลาคม 2525 เกิดกระแสข่าวว่ามีการตระเตรียมการที่จะลอบปลงพระชนม์พระบรมวงศานุวงศ์ท่านหนึ่ง ในพิธีเปิดการแข่งขันฟุตบอลควีนสคัพ ที่สนามกีฬาแห่งชาติ

ครั้งที่ 7 วันที่ 17 ตุลาคม 2525 มีการลอบสังหาร พล.อ.อาทิตย์ ขณะเดินทางไปทอดกฐินที่วัดหน้าพระเมรุ อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา แต่ไม่สำเร็จ

ครั้งที่ 8 วันที่ 20 ตุลาคม 2525 มีการลอบสังหาร พล.อ.อาทิตย์ พล.อ.เปรม และตระเตรียมการลอบปลงพระชนม์พระบรมวงศานุวงศ์ท่านหนึ่ง ในพิธีปิดการแข่งขันฟุตบอลควีนสคัพ ที่สนามกีฬาแห่งชาติ กทม.

ครั้งที่ 9 วันที่ 31 ตุลาคม 2525 มีการลอบสังหาร พล.อ.อาทิตย์ ซึ่งจะเดินทางไปทอดกฐินที่วัดศรีสุทธาวาส อ.เมือง จ.เลย แต่ไม่สำเร็จ[7]

 

เปรม 4 (เมษายน 2526 – กรกฎาคม 2529)

 

ผลการเลือกตั้งวันที่ 18 เมษายน 2526 ปรากฏว่ามีพรรคการเมืองได้คะแนนเสียงดังนี้ พรรคกิจสังคม 92 เสียง พรรคชาติไทย 73 เสียง พรรคประชาธิปัตย์ 56 เสียง พรรคประชากรไทย 36 เสียง พรรคสยามประชาธิปไตย 18 เสียง พรรคชาติประชาธิปไตย 15 เสียง ที่เหลือคือพรรคที่ได้ต่ำกว่า 10 เสียง และผู้ไม่สังกัดพรรค ซึ่งมีคะแนนรวม 34 เสียง

ต่อมาได้มีการรวมพรรค ทำให้พรรคชาติไทย ซึ่งมีพล.ต.ประมาณ อดิเรกสาร เป็นหัวหน้าพรรค มีที่นั่งเพิ่มเป็น 110 เสียง  พรรคกิจสังคมเพิ่มเป็น 99 เสียง ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ยังคงมีที่นั่งเท่าเดิมคือ 56 เสียง เป้าหมายที่ไม่ปิดบังของการรวมพรรคต่างๆ เข้าร่วมกับพรรคชาติไทยนั้น คือการแสดงออกถึงความต้องการที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งของ พล.ต.ประมาณ อดิเรกสาร

แต่ทว่าพรรคชาติไทยก็จัดตั้งรัฐบาลไม่สำเร็จ เนื่องจากได้คะแนนเสียงไม่ถึงครึ่งหนึ่งของสภาคือ 163 ที่นั่ง เพราะกองทัพไปข่มขู่พรรคการเมืองที่ประกอบด้วยพรรคกิจสังคม ประชาธิปัตย์ และชาติประชาธิปไตย ทำให้ทั้งหมดต้องกลับไปสนับสนุน พล.อ.เปรม รวมทั้งดึงพรรคประชากรไทยของสมัคร สุนทรเวช เข้าร่วมรัฐบาลด้วย

พล.อ.เปรม ซึ่งบอกว่าจะล้างมือทางการเมือง กลับมาเป็นเป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย และพรรคชาติไทยที่ ‘บังอาจ’ ใฝ่ฝันถึงเก้าอี้นายกรัฐมนตรีต้องถูกลงโทษให้เป็นฝ่ายค้านเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่ตั้งพรรคมาในปี 2517

กระนั้น พรรคชาติไทย ซึ่งมีภาพของพรรคขวาจัดและกลุ่มทุน กลับทำหน้าที่พรรคฝ่ายค้านได้ดีกว่าที่คาด โดยพุ่งเป้าไปที่ปัญหาชาวนาซึ่งเป็นฐานเสียงของพรรคในภาคกลาง แต่ความพยายามเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจก็ได้ถูกเล่ห์กลทางกฎหมายกลั่นแกล้ง แต่นั่นก็มิได้ทำให้เสียงวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลลดลงแต่อย่างใด

ความตึงเครียดกลับไปเกิดขึ้นในกองทัพ เมื่อ พล.อ.อาทิตย์ ต้องเกษียณอายุราชการในเดือนตุลาคม 2528 จึงมีความพยายาม ‘สร้างสถานการณ์’ เพื่อให้มีการต่ออายุราชการออกไป โดยเฉพาะการจับกุมคอมมิวนิสต์ครั้งใหญ่กลางกรุงในปี 2527 (ในขณะนั้นพรรคคอมมิวนิสต์ไทยอยู่ในสภาพแตกแยกอย่างหนัก) จนทำให้ พล.อ.เปรม ต้องยอมต่อข้อเรียกร้องของกองทัพเพื่อต่ออายุ พล.อ.อาทิตย์ และยิ่งทำให้บารมีของ พล.อ.อาทิตย์ ส่องประกายมากขึ้น

ทางด้านเศรษฐกิจ ในช่วงนั้นเศรษฐกิจย่ำแย่หนัก จนทำให้รัฐบาลเปรมต้องลดค่าเงินบาทอีกครั้งในปี 2527 (หลังจากลดค่าเงินมาแล้วรอบหนึ่งในปี 2524)  แต่ในครั้งนี้กลับก่อให้เกิดความเสียหายกับทั้งกลุ่มทุนที่กู้ยืมเงินตราต่างประเทศ และกองทัพที่สั่งซื้ออาวุธ เพราะค่าเงินที่อ่อนลงทำให้หนี้ต่างประเทศเพิ่มขึ้น และงบประมาณที่ตั้งไว้เป็นเงินบาทไม่เพียงพอ

พล.อ.เปรม และ พล.อ.อาทิตย์ ต้องมาเผชิญหน้ากันครั้งแรกในสงครามค่าเงินบาท พล.อ.อาทิตย์ ใช้สถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 และ 7 มาโจมตีรัฐบาล ส่วนรัฐบาลก็ส่ง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ออกมาอธิบายผ่านทางช่อง 9 อสมท.  ในเวลานั้นสัญญาณรัฐประหารมีความรุนแรงขึ้น จน พล.อ.เปรม ต้องเดินทางไปเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชที่พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ ทำให้การกระแสรัฐประหารอ่อนแรงลง

เข้าสู่ปี 2528 สถานการณ์ในสภาก็คึกคักขึ้น เมื่อฝ่ายค้านพยายามเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี แต่ในวันที่ 19 มีนาคม 2528 ก็เกิดระเบิดที่พรรคชาติไทย แน่นอนว่าไม่สามารถจับมือใครดมได้ มิหนำซ้ำนายอนุสรณ์ ทรัพย์มนู สมาชิกวุฒิสภาที่ใกล้ชิดกับพรรคชาติไทย ซึ่งมีบทบาทในการวิจารณ์ปัญหาเศรษฐกิจอย่างหนัก ก็โดน ‘ทหารม้า’ ดักตีหัวจนโชกเลือด ทำให้การอภิปรายรัฐบาลต้องเป็นหมันไป

หลังจากมีข่าวลือมาหลายครั้ง  9 กันยายน 2528 มีความพยายามก่อรัฐประหารอีกครั้งของ พ.อ.มนูญ รูปขจร ถึงแม้ครั้งนี้รัฐประหารจะจบลงในเวลาเพียงครึ่งวัน ต่างจากครั้งเมษาฮาวายที่ต้องใช้เวลาถึง 3 วัน เนื่องจากแกนนำรัฐประหาร ‘ไม่มาตามนัด’  ทุกสายตาต่างจ้องมองไปที่ พล.อ.อาทิตย์ ที่เดินทางไปสวีเดน ขณะที่พล.อ.เปรม อยู่ที่อินโดนีเซีย และที่น่าสนใจคือในรายชื่อจำเลยคดีกบฏ 9 กันยา มีชื่อ พล.อ. เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์  พล.อ.เสริม ณ นคร  พล.อ.ยศ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ร่วมด้วย ทั้งที่หลายคนเป็นทั้งเจ้านาย เพื่อนร่วมงาน และลูกน้องของ พล.อ.เปรม มาก่อนทั้งสิ้น

แม้ว่าจะรอดจากการรัฐประหารถึง 2 ครั้ง รอดจากการลอบสังหารมานับครั้งไม่ถ้วน แต่ พล.อ.เปรม กลับโดนนายขวัญชัย วรสูตร นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง ชกจนดั้งจมูกหัก ในวันเปิดกีฬามหาวิทยาลัย 11 พฤศจิกายน 2528 ขวัญชัยถูกจับเพื่อรักษาอาการทางจิต

ในปี 2529 สถานการณ์วนกลับมาเหมือนเดิมอีก กองทัพเคลื่อนไหวที่จะต่ออายุราชการของ พล.อ.อาทิตย์  ขณะที่ในสภาพรรคชาติไทยก็จะยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ แต่ครั้งนี้ พล.อ.เปรม ประกาศอย่างชัดเจนว่าจะไม่ต่ออายุราชการให้ พล.อ.อาทิตย์

เพื่อเอาคืน พล.อ.อาทิตย์ จึงจับมือกับ ส.ส.พรรคกิจสังคมบางส่วนให้ร่วมมือกับฝ่ายค้านในการล้มร่าง พ.ร.บ. ขนส่งทางบก เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2529 แต่แทนที่ พล.อ.เปรม จะแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี กลับยุบสภา และกำหนดให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 27 กรกฎาคม 2529

ถึงแม้จะเป็นรัฐบาลรักษาการ แต่วันที่ 27 พฤษภาคม 2529  พล.อ.เปรม สั่งปลด พล.อ.อาทิตย์ ออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก แล้วตั้ง พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ดำรงตำแหน่งแทน เท่ากับเป็นการปลดอาวุธของ พล.อ.อาทิตย์ ไม่ว่าจะเลือกทำรัฐประหารหรือลงมาเล่นการเมือง

นับเป็นการปิดฉากรัฐบาลเปรม 4 ด้วยการเชือดขุนพลที่เคียงข้างกันมา แต่กล้าเปล่งบารมีท้าทาย

 

เปรม 5 (กรกฎาคม 2529 – สิงหาคม 2531)

 

การเลือกตั้งในวันที่ 27 กรกฎาคม 2529 ปรากฏผลการเลือกตั้งดังนี้ พรรคประชาธิปัตย์ 100 เสียง พรรคชาติไทย 63 เสียง พรรคกิจสังคม 51 เสียง พรรคสหประชาธิปไตย 38 เสียง พรรคประชากรไทย 24 เสียง พรรครวมไทย 19 เสียง พรรคราษฎร 18 เสียง ส่วนพรรคต่ำกว่า 10 เสียงรวมกัน 25 ที่นั่ง

สถานการณ์กลับมาเป็นเหมือนปี 2526 เมื่อพรรคประชาธิปัตย์ที่มีนายพิชัย รัตกุล เป็นหัวหน้าพรรค พยายามจัดตั้งรัฐบาลและเป็นนายกรัฐมนตรี บรรดานายทหารลูกป๋า นำโดย พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ก็ข่มขู่พรรคอื่นไม่ให้เข้าร่วม โดยยกบทเรียนของพรรคชาติไทยที่ต้องกลายเป็นฝ่ายค้านมาแล้ว ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ต้องยอมจัดตั้งรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.เปรม อีกครั้ง เป็นรัฐบาลผสม 4 พรรค 232 เสียง ประกอบด้วยพรรคประชาธิปัตย์ กิจสังคม ชาติไทย และราษฎร

แต่รัฐบาลเปรม 5 ก็ดูจะไปไม่รอดตั้งแต่เริ่มต้น จากความแตกแยกภายในพรรคประชาธิปัตย์ ในการประชุมพรรควันที่ 10 มกราคม 2530 จนมีการจัดตั้ง ‘กลุ่ม 10 มกรา’ ที่ไม่ขึ้นตรงกับพรรคประชาธิปัตย์อีกต่อไป ส่งผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาลเปรมแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีข่าวที่สร้างความหวาดผวาให้ พล.อ.เปรม ก็คือการที่ฝ่ายค้านแถลงว่าสามารถรวบรวมรายชื่อเพื่อเปิดอภิปรายคณะรัฐมนตรีทั้งคณะได้ นับเป็นครั้งแรกภายใต้ระบอบเปรมาธิปไตย จึงเป็นที่มาของความพยายามทุกวิถีทางที่จะล้มอภิปรายไม่ไว้วางใจ ดังปรากฏในงานศึกษาของอดินันท์ พรหมพันธ์ใจ เรื่อง ‘การเมืองไทยในสมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์’

พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เล่าให้ฟังถึงการล้มญัตติไม่ไว้วางใจ พล.อ.เปรม ในช่วงรัฐบาลเปรม 5 ซึ่งแสดงให้เห็นการทำงานของกองทัพ ว่า “มัน trick ง่ายๆ ธรรมรักษ์ (พลเอก ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา) ก็เป็นมือช่วย”

อีกทั้ง พล.อ.อภิชัย วารุณประภา ได้เล่าถึงเบื้องหลังการล้มญัตติดังกล่าวว่า

“วันหนึ่งฝ่ายค้านยื่นญัตติจะเปิดอภิปรายนายกฯ นาย (พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ) รู้สึกไม่เอา ป๋าไม่แฮ้ปปี้ อยู่ดีๆ จะมาด่าป๋ากลางสภา แต่ถ้าจะให้เลิกล้มการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ส.ส.ที่ลงชื่ออภิปรายจะต้องถอนชื่อออก 15 คน จึงต้องมีการล็อบบี้ให้ถอนชื่อ เริ่มแรกได้ ส.ส.ของเสี่ยเล้ง (นายเจริญ พัฒน์ดำรงจิตร) มาก่อน 5 คน ต่อมาได้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งขาดเพียงคนเดียวจึงจะครบ 15 คน … ตอนนั้นทีมงานมีพี่หมง (พลเอก มงคล อัมพรพิสิฏฐ์) พี่แอ๊ด (พลเอก ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา) อย่างพี่แอ๊ดนี่เก่ง ตอนนั้นเป็นพลตรี มีคอนเนคชั่นกับคนนั้นคนนี้เยอะแยะ มีพื้นฐานทางการเมือง”

พล.อ.อภิชัย ยังเล่าต่ออีกว่า ต่อมา พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ โทรมาบอกว่าได้ชื่อเพิ่มมาอีกแล้ว จึงขอให้ พล.อ.สุนทร นั่งรถมาเลยในคืนนั้น เพื่อที่จะรวบรวมรายชื่อให้ได้ครบ ก่อนส่งให้ประธานรัฐสภาในวันรุ่งขึ้น และคนสุดท้ายที่ได้ชื่อมาคือ นายชัย ชิดชอบ

“เราจึงมีการไปดึงเอาออกจากพรรคนั้น 5 คน พรรคนี้ 3 คนบ้าง 2 คนบ้าง คนก็หาว่าพวกนี้รับเงิน ความจริงไม่ใช่ เพียงแต่ขู่ ถ้าไม่เซ็นให้ วันอภิปรายไม่ไว้วางใจเขายุบสภาต้องเลือกใหม่ เพิ่งเลือกเข้ามาและป๋ายุบสภาบ่อย ส.ส.กลัวตรงนี้ บอกยุบ 100 เปอร์เซ็นต์ ถ้าไม่เซ็น ก็แค่นั้นแหละ”

ส่วนกำนันชัย ชิดชอบ นั้นลวดลายมาก ต้องให้พิมพ์ใหม่ให้เหมือน ต้องให้นายเนวิน มาพิมพ์ให้

“มันก็เมาเหมือนพ่อ นุ่งกางเกงนอนอยู่ ก็ร่างให้พิมพ์ตรงนั้นแหละ พิมพ์เสร็จแล้วลืมใส่ก็อปปี้อีก อ้าว วิ่งไปถ่ายเอกสารมา สว่าง 6 โมงเช้าแล้ว เสร็จแล้ววิ่งออกมา รถมันติด พี่ก็เปิดหวอวิ่ง ไฟแวบๆ มาถึงสภาฯ ตอนนั้นคุณชวนเป็นประธานสภาฯ ท่านก็ดึงได้หน่อยหนึ่ง ยังไม่รีบไปนั่ง ให้ผู้แทนมาครบก่อน ก็เฉียดฉิว”[8]

การรอดพ้นจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจด้วยวิธีการไม่สะอาดนั้น ยิ่งทำให้ผู้คนโกรธแค้น พล.อ.เปรม เพิ่มมากขึ้น นายธีรยุทธ บุญมี อดีตผู้นำนักศึกษาในเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ มีบทบาทเปิดในการเคลื่อนไหวผ่าน ‘ธีรยุทธโพล’ เพื่อสร้างกระแสสังคมให้เบื่อป๋า เซ็งเปรม

เมื่อเข้าสู่ปี 2531 รัฐนาวาเปรม 5 ก็ถึงคราวจมลงเร็วกว่าที่คาด เมื่อการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2531 พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์  แม้ว่ารัฐบาลจะชนะด้วยคะแนนเสียง 183 ต่อ 134 เสียง แต่กลุ่ม 10 มกรา ซึ่งสังกัดประชาธิปัตย์ กลับไปยกมือสนับสนุนพรรคฝ่ายค้าน ทำให้ พล.อ.เปรม โกรธมาก จึงยุบสภาอีกครั้ง โดยกำหนดให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 24 กรกฎาคม 2531

แต่การเลือกตั้งครั้งนี้ กระแสคัดค้าน พล.อ.เปรม ดังขึ้นแทบทุกส่วนของสังคม และที่สำคัญคือ ‘ฎีกาของ 99 นักวิชาการ’ ที่มีเนื้อหาดังนี้

 

“ขอเดชะใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม 

ข้าพระพุทธเจ้าผู้มีรายนามข้างท้ายนี้ ขอพระราชทานวโรกาสกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ถวายความเห็นเกี่ยวด้วยสภาพการณ์และสถานการณ์บ้านเมืองดังนี้

1. ความวุ่นวายสับสนในทางการเมือง ความเสื่อมในศรัทธาของประชาชนที่มีต่อระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ได้ทวีความรุนแรงขึ้นทุกขณะ การแตกแยกสามัคคีเกิดขึ้นในหมู่ทหาร ข้าราชการและประชาชน เนื่องจากผู้นำทางการเมืองที่รักษาการในตำแหน่งหัวหน้าคณะรัฐบาล มิได้วางตนเป็นกลางอย่างแท้จริง ปล่อยให้มีการนำกำลังทหารของชาติซึ่งมีไว้เพื่อป้องกันและช่วยพัฒนาประเทศ มาแสดงพลังสนับสนุนสถานภาพทางการเมืองส่วนบุคคล จนก่อให้เกิดการแบ่งพรรคแบ่งพวกจนเกินความจำเป็น 

2. หากประเทศชาติต้องการดำเนินตามครรลองประชาธิปไตยแบบรัฐสภา โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอย่างแท้จริงแล้ว การวางตนเป็นกลางของผู้นำทางการเมือง การยึดมั่นในความเป็นธรรม หลักการสันติวิธีในการปรับความเข้าใจและแก้ไขความขัดแย้ง การละเว้นวิธีการปลุกปั่นยุยงหมู่ชน จึงจะเป็นหนทางที่เหมาะสม ในการป้องกันสภาพการณ์ และสถานการณ์ที่ไม่พึงปรารถนา อีกทั้งจะเป็นบรรยากาศทางการเมือง ที่สอดคล้องกับหลักการของระบอบประชาธิปไตยและลักษณะของสังคมไทยด้วย

ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาส ยืนยันความจงรักภักดีที่มีต่อสถาบันหลักของชาติ อันได้แก่ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงนอกกติกา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรัฐประหาร หากพร้อมที่จะเสียสละประโยชน์สุขส่วนตนเพื่อให้บ้านเมืองเป็นธรรม มีขื่อมีแป ร่มเย็นเป็นสุข มีส่วนมีเสียง ควรมิควรแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้า โปรดกระหม่อมขอเดชะ”[9]

 

สิ่งที่สำคัญไม่ใช่เนื้อหาเท่ากับผู้ลงชื่อ เพราะหลายคนเคยสนับสนุนและร่วมงานกับ พล.อ.เปรม มาก่อน บางคนเคยถวายงานรับใช้ จึงไม่มีใครสงสัยเรื่องความจงรักภักดี ตัวอย่างผู้ลงชื่อ เช่น ชัยอนันต์ สมุทวณิช  ประเวศ วะสี  สุขุมพันธ์ บริพัตร  บวรศักดิ์ อุวรรณโณ  ธงทอง จันทรางศุ  นอกจากนั้นการถวายฎีกาครั้งนี้ ถือเป็นการย้อนเกล็ด พล.อ.เปรม เนื่องจาก พล.อ.เปรม มักจะอาศัยบารมีของสถาบันฯ มาตลอด

แม้ว่าหลังเลือกตั้ง 4 พรรคร่วมรัฐบาลเดิมจะไปเชิญ พล.อ.เปรม มาเป็นนายกอีกสมัย แต่คราวนี้กลับได้รับการปฏิเสธว่า “ผมพอแล้ว”  เป็นการยุติระบอบเปรมาธิปไตยที่มีอายุยาวนาน 8 ปี 5 เดือน

 

การเมือง 3 เสา

 

‘ระบอบเปรมาธิปไตย’ ที่มี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี โดยมีรัฐธรรมนูญฉบับปี 2521 สร้างระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบ คือ ‘รัฐในอุดมคติ’ ของชนชั้นนำไทย เพราะเป็นรัฐบาลที่มีเสถียรภาพและเปิดโอกาสให้ ‘คนดี’ เข้ามาบริหารประเทศ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ‘ระบอบเปรมาธิปไตย’ คือระบอบการเมืองที่มีความเสี่ยงมากที่สุด ดังจะเห็นจากการทำรัฐประหาร 2 ครั้ง และสถานการณ์ที่สุ่มเสี่ยงต่อการรัฐประหารแทบจะเดือนเว้นเดือน การลอบสังหารผู้นำการเมืองและบุคคลสำคัญเกือบ 10 ครั้ง อันเป็นผลมาจากการรัฐประหารที่ล้มเหลวในเดือนเมษายน 2524

สิ่งที่ทำให้ พล.อ.เปรม อยู่รอดทางการเมืองได้ คือการเล่นการเมือง 3 เสา อันประกอบด้วย

เสาที่หนึ่ง สถาบันกษัตริย์

บทบาทการหนุนเสริมพระบารมีสถาบันกษัตริย์ของ พล.อ.เปรม ในทศวรรษ 2530 อาจจะใกล้เคียงกับสมัยที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำในช่วงต้นทศวรรษ 2500 คือการเฉลิมพระเกียรติและฟื้นฟูพระราชประเพณีดั้งเดิม  แต่สิ่งที่ พล.อ.เปรม ทำให้มากกว่าจอมพลสฤษดิ์คือ การสร้างระบบที่จะเผยแพร่ผลงานของสถาบันฯ อย่างเป็นระบบ เช่น การก่อตั้ง กปร. ในปี  2524

ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบที่ไม่มีอำนาจเด็ดขาด พระบารมีของสถาบันกษัตริย์ช่วยให้เปรมรอดพ้นวิกฤตต่างๆ มาได้ เช่น การต่ออายุราชการ (2523) กบฏเมษาฮาวาย (2524) และความขัดแย้งกับ พล.อ.อาทิตย์ เรื่องการลดค่าเงินบาท (2527)

เสาที่สอง กองทัพ

พล.อ.เปรม ก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีจากการสนับสนุนของกองทัพ โดยเฉพาะกลุ่มยังเติร์ก อย่างไม่มีข้อสงสัย แต่ พล.อ.เปรม ก็เห็นชะตากรรมของผู้นำที่กลุ่มยังเติร์กสนับสนุนเช่นกัน ดังนั้น พล.อ.เปรม จึงไม่ไว้ใจที่จะให้อำนาจเด็ดขาดอยู่ที่กลุ่มยังเติร์ก ตัวเขาจึงต่ออายุราชการในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกของตนเอง เพื่อให้มั่นใจว่าปีแรกของการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ขาจะไม่ลอยจากกองทัพ

เมื่อเป็นปฏิปักษ์กับกลุ่มยังเติร์ก พล.อ.เปรม ก็พร้อมที่จะจับมือกับ พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก และ จปร. 5 ซึ่งเป็นคู่ปรับกับกลุ่มยังเติร์กมาก่อน และเมื่อ พล.อ.อาทิตย์ ขึ้นมาแข่งบารมีกับตน พล.อ.เปรม ยอมอ่อนข้อให้ในปีแรกโดยต่ออายุราชการให้ พล.อ.อาทิตย์ และพร้อมที่จะปฏิเสธในปีต่อมา เพื่อบอกว่าไม่จำเป็นต้องอาศัย พล.อ.อาทิตย์ อีกต่อไป โดยมีบรรดา ‘ลูกป๋า’ คนอื่นๆ มารับภารกิจแทน

เสาที่สาม พรรคการเมือง

พล.อ.เปรม ไม่ปฏิเสธพรรคการเมืองเหมือนกับจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์  จอมพลถนอม กิตติขจร หรือแม้แต่ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเล่นการเมืองในระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบ แต่การบริหารพรรคการเมืองที่ร่วมรัฐบาลนั้น พล.อ.เปรม มีทั้งการให้รางวัล (ดึงมาร่วมรัฐบาล) การลงโทษ (ขับออกจากรัฐบาล) โดยไม่ยึดติดว่าเคยมีปัญหากันมาก่อน เช่นกรณีพรรคกิจสังคม ในปี 2524 หรือพรรคชาติไทยในปี 2526 พร้อมๆ กับการใช้กองทัพมาข่มขู่พรรคการเมืองที่ทำตัวออกนอกแถว เพื่อสร้างมายาคติว่าด้วยการยินยอมพร้อมใจของนักการเมืองในการสนับสนุน พล.อ.เปรม

 

‘ระบอบเปรมาธิปไตย’ สิ้นสุดลง และไม่มีวันย้อนกลับมาได้ ตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2530 เมื่อมีนายกรัฐมนตรีจากการเลือกตั้งชื่อ ชาติชาย ชุณหะวัณ น่าแปลกใจว่าในปัจจุบัน ชนชั้นนำหลายคนไม่อยากให้จบ

ผ่านมา 30 ปีหลังการสิ้นสุดของ ‘ระบอบเปรมาธิปไตย’ รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 คือรูปธรรมของการกลับไปสู่ระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบ ซึ่งทำนายได้เลยว่าไม่มีวันจะสำเร็จ

…….

[อ่าน 30 ปี การสิ้นสุดของระบอบเปรมาธิปไตย (3) : เงื้อมเงาของเปรมหลังระบอบเปรมาธิปไตย ได้ ที่นี่ ]

 

เชิงอรรถ

[1] มูลนิธิรัฐบุรุษ. 2549. รัฐบุรุษชื่อเปรม. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์มติชน. หน้า 126.

[2] ดูเพิ่มเติมใน  เสนาะ อูนากูล. 2556. พลังเทคโนแครต: การขับเคลื่อนและเส้นทางพัฒนาเศรษฐกิจไทย (2504-2535) ผ่านชีวิตและงานของเสนาะ อูนากูล. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์มติชน.

[3] มูลนิธิรัฐบุรุษ. 2549. รัฐบุรุษชื่อเปรม. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์มติชน. หน้า 190.

[4] ชนิดา ชิตบัณฑิตย์. 2550. โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ : การสถาปนาพระราชอำนาจนำในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพมหานคร: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์. หน้า 254.

[5] ไม่ปรากฏชื่อผู้เขียน. 2554. 30 ปี สำนักงาน กปร. สืบสานงานพระราชดำริเพื่อประโยชน์สุขสู่ปวงประชา. เว็บไซต์สำนักข่าวเจ้าพระยา. สืบค้นเมื่อ 26 สิงหาคม 2561.

[6] มูลนิธิรัฐบุรุษ. 2549. รัฐบุรุษชื่อเปรม. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์มติชน. หน้า 231.

[7] จำนง ศรีนคร. 2555. พลิกตำนาน “ลอบสังหาร” ผู้นำไทย เรื่องจริงหรืออิงนิยาย?. สำนักข่าวอิศรา. สืบค้นเมื่อ 26 สิงหาคม 2561.

[8] อดินันท์ พรหมพันธ์ใจ. 2558. การเมืองไทยในสมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ : การบริหารจัดการทางการเมือง (2523-31). วิทยานิพนธ์รัฐศาสตรดุษฎีบัณฑิต คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. หน้า 131-132.

[9] ธนาพล อิ๋วสกุล. 2549.  “เสาหลักทางจริยธรรมชื่อเปรม” ฟ้าเดียวกัน ฉบับเดือนมกราคม-มีนาคม 2549.  หน้า 110.

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023