fbpx
ระลึกถึงอาจารย์ชัยอนันต์ สมุทวณิช

ระลึกถึงอาจารย์ชัยอนันต์ สมุทวณิช

ศุภมิตร ปิติพัฒน์ เรื่อง

 

ผมคลาดโอกาสได้เรียนกับอาจารย์ชัยอนันต์ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เพราะไม่ได้เรียนภาควิชาการปกครอง และในวิชาพื้นฐานบังคับคณะวิชาหนึ่ง อาจารย์เดินเข้ามาพร้อมกับพลพรรคคณาจารย์ภาควิชาการปกครองหลายคนในวันเปิดคลาสคราวแรก แต่อาจารย์ไม่ได้ร่วมสอนต่อมา เสียงเล่าลือกันในคณะว่าอาจารย์ต้องเก็บตัวหลบภัยอะไรสักอย่างที่กำลังร้อนแรงในทางการเมืองเวลานั้นและมีเหตุเกี่ยวข้องกับทหารหนุ่มทหารประชาธิปไตยที่อาจารย์เข้าไปวิจัยศึกษาความคิดพวกเขาแล้วเลยคุ้นเคยกันจนทำให้ถูกเพ่งเล็งขึ้นมา

ส่วนวิชาที่อาจารย์สอนร่วมกับอาจารย์วิทยา สุจริตธนารักษ์ คือ วิชาความคิดทางการเมืองไทย ปีที่ผมลงเรียนเป็นวิชาเลือก เข้าใจว่าอาจารย์ลา sabbatical เพื่อเขียนหนังสือ ผมเลยได้แต่ประมวลรายวิชาของอาจารย์ที่อาจารย์วิทยาแจกให้เพื่อให้พวกเราเห็นรายการหนังสืออันควรอ่าน รายการหนังสือประกอบการเรียนเหล่านั้นจุดความสนใจให้ผมตามอ่านงานไทยศึกษาในด้านความคิดทางการเมืองไทยตั้งแต่นั้นมา

ผมจึงรู้จักอาจารย์ทีแรกจากผลงานวิชาการผ่านหนังสือ 3 เล่ม ที่ได้อ่านในวิชาความคิดทางการเมืองไทยที่เรียนกับอาจารย์วิทยา แต่ผมเห็นว่าหนังสือ 3 เล่มนี้อาจใช้เป็นตัวแทนความสนใจทางวิชาการด้านสำคัญด้านหนึ่งในหลากหลายด้านที่อยู่ในใจของอาจารย์มาตั้งแต่ระยะแรกๆ รวมทั้งสะท้อนความคิดทางการเมืองของอาจารย์เองในบางด้านที่สำคัญด้วย หนังสือ 3 เล่มนั้น ได้แก่

1. เอกสารการเมืองการปกครองไทย พ.. 2417 – 2475 ที่อาจารย์กับอาจารย์ขัตติยา กรรณสูต รวบรวมเอกสารประวัติศาสตร์ที่สะท้อนนัยหรือแสดงความคิดทางการเมืองในช่วงเวลาที่สยามเปลี่ยนเข้าสู่การจัดการปกครองสมัยใหม่ อาจารย์ยังได้เขียนบทนำเสนอการอ่านเอกสารแต่ละฉบับให้เราเห็นความหมายความสำคัญไว้ด้วย

2. ความคิดทางการเมืองและสังคมไทย หนังสือที่อาจารย์ กับอาจารย์สมบัติ จันทรวงศ์ รวบรวมบทความที่ทั้งคู่เคยเขียนไว้เกี่ยวกับวรรณกรรมและเอกสารโบราณจนถึงยุคเริ่มเข้าสู่สมัยใหม่ ที่แสดงให้เห็นถึงพื้นฐานความคิดและการคลี่คลายทางความคิดเกี่ยวกับโลกทัศน์ทางการเมืองของไทย และสะท้อนให้เราเข้าใจสิ่งที่บทนำของหนังสือเรียกว่า “ศาสนวิทยาทางการเมือง” (political theology) ของไทย ซึ่งมีพุทธและพราหมณ์ผสมกับความเชื่อในท้องถิ่นเป็นรากฐาน หนังสือเล่มนี้ได้รับการวิจารณ์ไม่น้อยจากอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ที่อยากให้ศึกษาความคิดทางการเมืองอย่างสัมพันธ์กับการกระทำหรือแนวปฏิบัติที่เกิดขึ้นในวิถีชีวิตจริงๆ และสัมพันธ์กับบริบทเวลาแต่ละช่วงและที่มีความเปลี่ยนแปลงเคลื่อนมาโดยลำดับ

อย่างไรก็ดี แม้ข้อวิจารณ์ของอาจารย์นิธิควรแก่การรับฟัง แต่ผมยังเห็นว่ามติของอาจารย์สมบัติและอาจารย์ชัยอนันต์ที่เสนอให้อ่านความคิดทางการเมืองไทยก่อนสมัยใหม่ในลักษณะที่เป็นศาสนวิทยาทางการเมืองรองรับการอ้างความชอบธรรมของผู้ปกครองก็ยังเป็นข้อเสนอที่น่าสนใจ และควรแก่การศึกษาเพื่อเสนอการตีความ อรรถาธิบาย หรือเสนอข้อโต้แย้งเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องสำคัญนี้ต่อไป

นอกจากนั้น หนังสือเล่มนี้ ยังได้รวมบทความที่อาจารย์ชัยอนันต์เขียนเกี่ยวกับเทียนวรรณและก.ศ.ร. กุหลาบเข้าไว้ด้วยในฐานะเป็นตัวแทนความคิดทางการเมืองของผู้อยู่ใต้ปกครองในระยะรอยต่อที่สยามจะเปลี่ยนเข้าสู่สมัยใหม่ โดยถือได้ว่า อาจารย์นับเป็นนักวิชาการคนแรกๆ ที่พาเทียนวรรณและก.ศ.ร. กุหลาบออกมาจากการถูกกำราบโดยชนชั้นนำร่วมสมัย แม้เห็นได้ชัดว่าอาจารย์เลี่ยงที่จะเปิดประเด็นกับผู้กำราบเทียนวรรณและก.ศ.ร. กุหลาบโดยตรง ต่างจากนักวิชาการในรุ่นหลังต่อมา ความสนใจความคิดทางการเมืองทั้งของชนชั้นนำและของปัญญาชนสามัญชนที่ลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิการมีส่วนร่วมในการปกครองในนามของราษฎรน่าจะมีผลอยู่ไม่น้อยต่อการก่อรูปความคิดทางการเมืองของอาจารย์เกี่ยวกับสังคมการเมืองไทยที่พึงปรารถนา

3. เล่มสุดท้ายที่ผมใช้อ่านเพื่อให้ตัวเองพอจะมีภูมิหลังเกี่ยวกับความเป็นมาของการเมืองไทยสำหรับประกอบการเรียนวิชาความคิดทางการเมืองไทยกับอาจารย์วิทยา คือ การเมือง-การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทย พ.ศ. 2411 – 2475 ความจริงผลงานเล่มนี้คืองานสังเคราะห์ความเข้าใจของอาจารย์จากการที่อาจารย์ได้เข้าไปค้นคว้าและอ่านเอกสารชั้นต้นอันเป็นหลักฐานข้อมูลทางประวัติศาสตร์ โดยอาศัยแนวคิดและแนวทางการศึกษาของรัฐศาสตร์

ผมมาพบในภายหลังว่า ความสนใจทางวิชาการของอาจารย์ในช่วงทศวรรษ 2510 ในการลงมือค้นคว้าอ่านเอกสารเก่าและข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับความคิดทางการเมืองการปกครองไทยดังปรากฏออกมาเป็นผลงานในกลุ่มข้างต้น และทำให้ข้อเสนอของอาจารย์เกี่ยวกับการเมืองไทยแสดงออกมาได้อย่างมีน้ำหนักและมีความโดดเด่นแตกต่างจากงานของนักรัฐศาสตร์ไทยในยุคเดียวกัน มีที่มาสำคัญจากแรงกระตุ้นที่ได้ปรีดี พนมยงค์เป็นผู้จุดขึ้นมา

ในแง่นี้ ใครที่อยากเข้าใจความคิดทางการเมืองของอาจารย์ชัยอนันต์ในฐานะปัญญาชนคนสำคัญที่เข้าไปมีบทบาททางการเมืองนับแต่กลางทศวรรษ ๒๕๑๐ เป็นต้นมา ผมคิดว่าส่วนหนึ่งควรตั้งต้นที่ทัศนะของอาจารย์ต่อผู้นำคณะราษฎรฝ่ายพลเรือนผู้นี้ และการประเมินผลของอาจารย์เกี่ยวกับระบอบใหม่หลัง ๒๔๗๕ ต่อการพัฒนาทางการเมืองของไทย

ในส่วนนี้ นอกเหนือจากหนังสือ โต้ท่านปรีดี แล้ว ที่ควรแก่การอ่านเพื่อเข้าใจพิกัดความความคิดของอาจารย์ชัยอนันต์ต่อปรีดี พนมยงค์และต่อระบอบ 2475 คือ 14 ตุลา: คณะราษฎรกับกบฏบวรเดช โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในส่วนที่เป็นคำนำหนังสือที่อาจารย์เขียนก่อนเข้าสู่เนื้อหาบทต่างๆ ซึ่งน่าอ่านควบคู่กับงานของนักวิชาการรุ่นใหม่ๆ ที่ให้ความหมายระบอบใหม่หลัง 2475 ในทางที่ก้าวหน้า

กว่าผมจะได้พบกับอาจารย์จริงๆ ก็ร่วมๆ 20 ปีหลังจากที่ผมเป็นนิสิต และเป็นเวลาหลังจากอาจารย์ออกจากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ มาเป็นผู้บังคับการที่วชิราวุธวิทยาลัยแล้ว พี่ที่เคารพผู้คุ้นเคยกับอาจารย์มาชวนผมไปช่วยเธอทำงานวิจัยที่มีอาจารย์เป็นหัวหน้าโครงการ ผมตอบรับโดยไม่ลังเลเพราะถือเป็นโอกาสจะได้พบกับผู้เป็นหนึ่งในตำนานของรัฐศาสตร์ไทย สถานที่นัดหมายประจำของคณะวิจัยก็คือที่บ้านพักผู้บังคับการในโรงเรียนเก่าผมนั่นเอง ซึ่งสมัยผมเป็นนักเรียนไม่เคยมีโอกาสได้เหยียบย่างเข้าไปเลย และคงด้วยความที่ผมเป็นนักเรียนเก่าวชิราวุธ แม้ว่าเพิ่งได้พบกัน แต่อาจารย์ก็ให้ความกรุณาแก่ผมมาก ยังเคยเรียกให้ผมติดตามอาจารย์ขึ้นไปเสนองานในการประชุมวิชาการที่เชียงใหม่คราวหนึ่งด้วย

ในช่วงระยะเวลาไม่นานนักของโครงการวิจัยนั้น ผมจึงได้โอกาสติดตามรับฟังและสังเกตวิธีคิดและวิธีทำงานของอาจารย์ ผมลืมหัวข้องานวิจัยนั้นไปแล้วว่าเกี่ยวกับอะไร แต่หลายเรื่องที่ผมเรียนถามความคิดเห็นของอาจารย์ระหว่างพักประชุมหรือระหว่างรอสมาชิกมาประชุมพร้อมหน้า ผมยังจำได้ดี และมีอะไรเล็กๆ น้อยๆ ที่น่าเล่าถึง ผมขออนุญาตที่จะเก็บแง่คิดและความเห็นเหล่านั้น รวมทั้งวิธีคิดวิธีทำงานของอาจารย์ตามที่ผมสังเกตเห็นมาถ่ายทอดไว้ในบทรำลึกนี้

อาจารย์หัวเราะชอบใจเมื่อผมเรียนอาจารย์ว่า ผมเจอยักษ์ใหญ่ยืนบังการอ่านตีความเอกสารการเมืองการปกครองที่อาจารย์และอาจารย์ขัตติยารวบรวมไว้ เพราะเมื่อให้นิสิตอ่าน นิสิตจะอ่านตามนัยที่อาจารย์ชี้ช่องไว้  หรือไม่ก็ไม่อ่านเอกสารประวัติศาสตร์เหล่านั้นเลย แต่เลือกวิธีลัดสั้นอ่านแต่ส่วนที่อาจารย์เขียนเป็นบทนำมาเท่านั้น ไม่อ่านพบความหมายแบบอื่นๆ เลย

อาจารย์จึงถามว่า ไหน อ่านยังไงได้อีก ตอนนั้นโครงการวิจัยที่ผมไปช่วยอาจารย์ทำเป็นเรื่องเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ปฏิรูปอะไรสักเรื่องที่ฮิตๆ ทำกันอยู่ในเวลานั้น ผมจึงยกตัวอย่างว่า อย่างเอกสารร.ศ. 103 ที่เจ้านายขุนนางทำคำกราบบังคมทูลเข้ามาถวายนั้นอ่านเป็น swot analysis ก็ได้ จะถือว่านี่เป็นฉบับแรกของไทยหรือของโลกทีเดียวเพราะสวมกรอบแบบ swot ลงไปอ่านได้สนิท หรือจะอ่านด้วยแนวคิด IR แบบสำนักอังกฤษ หรืออ่านหาความหมายในแบบ postcolonial ก็ได้เช่นกัน อาจารย์สั่งว่าไปเขียนมาสิ แล้วส่งมาให้อาจารย์อ่านด้วย แต่จนแล้วจนรอดผมก็ไม่ได้ทำการบ้านชิ้นนี้ส่งอาจารย์สักที

ผมมีโอกาสเรียนถามอาจารย์เกี่ยวกับบทวิพากษ์ไทยศึกษาของศาสตราจารย์เบเนดิกต์ แอนเดอร์สัน เรื่องหนึ่งที่น่าบันทึกไว้ในที่นี้ก็คือว่าอาจารย์บอกว่างานในทางไทยศึกษาที่ขาดหายไปอย่างที่บทวิพากษ์นั้นตั้งข้อสังเกตไว้ คืองานชีวประวัติของบุคคลซึ่งเคยมีบทบาททางการเมืองหรือในสังคม งานแบบนี้ที่เขียนออกมาได้อย่างเป็นเรื่องเป็นราวจริงๆ บ้านเรายังไม่ค่อยมี ผมจึงถือโอกาสนั้นถามความเป็นไปได้ที่อาจารย์จะเขียนอัตชีวประวัติ อาจารย์บอกผมตอนนั้นว่าก็กำลังเขียนอยู่ แต่ออกไปในทางบันทึกความทรงจำและการถ่ายทอดประสบการณ์และความคิดมากกว่าที่จะออกมาอย่างที่จะเรียกได้ว่าเป็นงานเขียนอัตชีวประวัติจริงๆ

เมื่ออาจารย์พิมพ์ออกมาแล้วอาจารย์ตั้งชื่อหนังสือนั้นว่า ชีวิตที่เลือกได้ กับอีกเล่มเท่าที่ผมทราบคือ เพลิน หัวใจของหนังสือเล่มหลัง ผมเห็นว่าเป็นการถ่ายทอดความคิดที่สั่งสมต่อยอดออกมาจากงานวิชาการระยะแรกของอาจารย์อีกด้านหนึ่งซึ่งอาจารย์สนใจไม่แพ้ความคิดทางการเมืองไทยคือเรื่องอุดมการณ์ทางการเมือง อาจารย์บอกคนอ่านในหนังสือ เพลิน ว่าในโลกนี้แบ่งออกได้ระหว่างฝ่ายที่ผลิตความคิดแม่บทเกี่ยวกับสังคมที่ดี และการดำรงชีวิตที่ดีมาให้คนอีกฝ่าย ที่เป็นฝ่ายรับเอาความคิดและความคาดหวังนั้นมายึดถือและปฏิบัติ หรือต้องเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เคยยึดถือเคยปฏิบัตินั้นเสียใหม่ อาจารย์คาดหวังอยากเห็นสังคมไทยไม่หยุดอยู่ที่การเรียนรู้ แต่ทำให้เรียนรู้ของสังคมไทยได้ผลออกมาเป็นสังคมที่คิดเป็นและคิดชอบ และอยู่ในฝ่ายที่เป็นเจ้าของความคิดแม่บทของตัวเอง

ผมยังสังเกตว่างานเขียนของอาจารย์จำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานเขียนบทความ อาจารย์มีเรื่องเล่าจากความทรงจำถึงบุคคลต่างๆ ทั้งที่เป็นบุคคลที่เคยมีบทบาทสาธารณะ และบุคคลในแวดวงเครือข่ายสายสัมพันธ์ที่อาจารย์และครอบครัวของอาจารย์รู้จักในทางส่วนตัว อาจารย์เขียนถึงใครต่อใครหลายคนที่กำลังเลือนหายไปในกาลเวลาออกมาเป็นบทความได้อย่างน่าอ่านน่าติดตามมาก หลายคนที่อาจารย์เขียนถึงอย่างเช่นคุณบุณย์ เจริญไชย หรือพลเรือโทศรี ดาวราย เคยเป็นคนมีบทบาทน่าสนใจและเป็นคนมีสีสันมากในยุคสมัยที่ผ่านมา แต่ถ้าหากอาจารย์ไม่เล่า คนในรุ่นหลังนี้ก็คงไม่มีใครรู้จักเสียแล้ว

เมื่อผมเรียนให้อาจารย์ทราบว่าชอบบทความที่อาจารย์เขียนเล่าจากความทรงจำถึงคนรุ่นก่อนๆ ที่กำลังจะถูกลืมไปแล้ว อาจารย์ให้ข้อคิดผมกลับมาว่า ละครจะดูสนุกไม่สนุกยังอยู่ที่บทบาทของตัวประกอบแบบนี้ด้วย แม้ว่าสุดท้ายแล้วเราอาจจะจำได้แต่ตัวพระตัวนาง อาจารย์ว่าการติดตามการเมืองไทยแต่ละยุคสมัยก็เหมือนกัน อย่าดูอย่าค้นแต่เฉพาะบทบาทของรามลักษมณ์หรือทศพักตร์ของยุคสมัย แต่ให้ดูลิงดูยักษ์ที่ทำงานด้วยว่า ตอนนั้นมีตัวไหนมาให้ใช้ หรือท่านเลือกใช้ตัวไหนทำงาน ทำอะไร แล้วทำได้เรื่องไหม ได้เรื่องอย่างไร บทบาทตัวประกอบที่เป็นลิงเป็นยักษ์นี่ล่ะ จริงๆ แล้วคือตัวชูโรงของตอนนั้นๆ ความคิดเห็นของชาวบ้านต่อรัฐต่อรัฐบาลในแต่ละสมัยก็เริ่มต้นจากบทบาทการแสดงของตัวประกอบใหญ่น้อยเหล่านี้นี่เอง

จากการสังเกตวิธีคิดวิธีทำงานของอาจารย์ชัยอนันต์ในช่วงเวลาสั้นๆ ที่ผมมีโอกาสเข้าไปเป็นสมาชิกของทีมวิจัยภายใต้การนำของอาจารย์คราวนั้น ส่วนที่ผมประทับใจเป็นพิเศษคือการที่อาจารย์กำหนดตัวเองเป็นผู้รับฟังความเห็นของสมาชิกในทีมวิจัย ที่นำข้อค้นพบต่างๆ มารายงานให้อาจารย์ทราบ อาจารย์ไม่ผูกขาดการพูดแสดงความคิดเห็น และความสามารถในการเป็นผู้ฟังของอาจารย์นั้นเรียกว่าล้ำเลิศไร้เทียมทาน เพราะไม่เพียงแต่อาจารย์จะจับประเด็นต่างๆ เข้าใจได้อย่างรวดเร็วแล้ว แต่ยังสามารถสังเคราะห์และขึ้นรูปออกมาเป็นแผนภาพนำเสนอสาระสำคัญของประเด็นที่พวกเราแต่ละคนรายงานออกมาเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบได้เกือบจะในทันที และวาดต่อออกไปเป็นโมเดลแสดงความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งที่น่าจัดเป็นเหตุปัจจัยกับสิ่งที่น่าจะเป็นผลที่ตามมา แล้วส่งให้เราช่วยออกความเห็น ก่อนที่อาจารย์จะขยับไปหาการวาดสถานการณ์ที่น่าจะเป็น ที่เป็นไปได้ หรือที่พึงหลีกเลี่ยง และที่จะเกิดตามมาจากแนวโน้มหรือการทำงานของเหตุปัจจัยเหล่านั้นอีกที

อีกข้อหนึ่งที่เกี่ยวข้องกัน คือวิธีพิจารณาปัญหาในเชิงยุทธศาสตร์ของอาจารย์ อาจารย์ไม่ใช้เวลามากนักในการอภิปรายเกี่ยวกับสภาพปัญหาที่เป็นอยู่แบบที่นักวิชาการชอบวิเคราะห์เพื่อมองหาสาเหตุหรือเงื่อนไขที่เป็นจุดกำเนิดของปัญหาอะไรแบบนั้น อาจารย์จะให้ความสำคัญที่การพิจารณาข้อเสนอเชิงยุทธศาสตร์สำหรับจัดการกับปัญหานั้นๆ โดยตรงเลยมากกว่า อาจารย์บอกว่าคิดจากยุทธศาสตร์และถกเถียงกันที่ความสมเหตุสมผลของตัวยุทธศาสตร์แบบที่ประกบกับปัญหาเลยดีกว่า จะได้เห็นว่าอะไรน่าทำ อะไรไม่ควรทำ อะไรที่ต้องหยุดหรือเลิกทำ หรือควรทำอะไรก่อนหลังอย่างไร

นอกจากนั้น อาจารย์ว่าถ้าเสนอออกมาเป็น scenarios แบบต่างๆ ประกอบการตัดสินใจได้ยิ่งดี  เพราะนอกจากจะเป็นการนำแนวโน้มนำเหตุปัจจัยมาแสดงความเป็นไปได้ต่างๆ ให้ผู้ตัดสินใจเห็นได้ชัดแล้วว่าเลวร้ายที่สุดที่เป็นไปได้ ดีที่สุดที่จะเกิดขึ้นได้  หรือการเปลี่ยนแปลงที่น่าจะเป็นมีกี่แบบแล้ว มันยังช่วยทำให้เห็นชัดขึ้นว่าองค์ประกอบส่วนไหนที่อาจพิจารณานำมาใช้เป็นจุดคานงัดเขยื้อนการเปลี่ยนแปลงให้ไปในทิศทางที่ต้องการได้ ผมยังเก็บหนังสือเรื่องการใช้ Scenarios ในการวางนโยบายสาธารณะของ Gill Ringland ที่อาจารย์มอบให้ไว้เป็นอย่างดี เพื่อเป็นเครื่องระลึกถึงการมีโอกาสได้เรียนการวิจัยภาคปฏิบัติกับอาจารย์คราวนั้น

ผมได้การเรียนรู้แบบลัดนอกห้องเรียนเกี่ยวกับวิธีทำงานวิจัยที่น่าทึ่งจากอาจารย์ และผมยังได้ความเข้าใจเกี่ยวกับความคิดและบทบาทในความเป็นชัยอนันต์ สมุทวณิชจากการเข้าไปช่วยงานวิจัยเกี่ยวกับนโยบายสาธารณะของอาจารย์ในคราวนั้นด้วย

จากช่วงเวลาสั้นๆ อันน่าจดจำที่ผมมีโอกาสเรียนรู้วิธีคิดวิธีทำงานจากอาจารย์ทำให้ผมอยากสรุปบทบาทความคิดในความเป็นชัยอนันต์ สมุทวณิชตามความเข้าใจของผมออกมาอย่างนี้

ประการแรก ผมขอกล่าวถึงความหมายในบทบาทหลากหลายด้านที่อาจารย์เลือกทำก่อน ถ้าอาจารย์รู้ อาจารย์คงไม่ว่าอะไรถ้าผมจะใช้แนวคิดระบบการเมืองของ Karl Deutsch มาแสดงให้เห็นนัยสำคัญของบทบาทของอาจารย์ในทางการเมืองและในปริมณฑลสาธารณะ ว่าบทบาทหลายรูปแบบและหลายด้านแตกต่างกันที่อาจารย์ทำตลอดมาอย่างมีพลังไม่รู้เหน็ดเหนื่อยนั้น ความจริงแล้วอาจารย์มีหลักอยู่ในใจในการเลือกบทบาททั้งหมดเหล่านั้น

แนวคิดระบบการเมืองของ Deutsch นอกเหนือจากองค์ประกอบด้านที่คล้ายกับทฤษฎีระบบอื่นๆ ซึ่งแยกเป็นส่วนที่ทำงานเพื่อการบรรลุเป้าหมาย ส่วนที่ทำงานเพื่อรักษาแบบแผนพฤติกรรม ส่วนที่ทำงานสนับสนุนสมรรถนะในการปรับตัว และส่วนที่ประสานการทำงานระหว่างส่วนต่างๆ ของระบบการเมืองแล้ว ด้านที่ Deutsch เห็นว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญของระบบอีกส่วนหนึ่งที่เขาได้จากการศึกษาระบบแบบ Cybernetic ได้แก่ส่วนที่ทำงานเพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ และส่วนที่ทำหน้าที่ในการวางเป้าหมายให้แก่ระบบ เพื่อสร้างความสามารถที่ระบบจะเปลี่ยนแปลงพัฒนาคุณภาพของมันได้ด้วยตัวเอง

ถ้าหากเราใช้แนวคิดดังกล่าวของ Deutsch มาจัดความหมายให้แก่บทบาททางการเมืองและบทบาทในปริมณฑลสาธารณะในด้านต่างๆ ของอาจารย์ ก็จะเห็นได้ชัดว่า ตลอดมานั้น อาจารย์ชัยอนันต์สมัครใจกำหนดบทบาทของตัวเองเข้ามาทำหน้าที่ตอบสนองระบบการเมืองไทยในส่วนที่เป็นการทำงานเพื่อสร้างสมรรถนะการเรียนรู้และการกำหนดเป้าหมายให้แก่สังคมการเมืองไทยในการเปลี่ยนแปลงตัวเองไปสู่คุณภาพใหม่ มากกว่าการเข้าไปรับบทบาทหน้าที่ให้แก่ระบบในด้านอื่นๆ

หลักคิดที่อาจารย์ใช้เลือกและกำหนดบทบาทของอาจารย์ในระบบการเมืองไทย ที่อาจารย์เข้าไปทำหน้าที่ให้แก่ระบบในด้านการเรียนรู้และการวางเป้าหมายเพื่อกำหนดทิศทางการเปลี่ยนแปลงนี้ ผมเข้าใจว่าอาจารย์พบหลักคิดที่มากำหนดความเป็นชัยอนันต์ สมุทวณิชแบบนี้จากข้อสรุปที่อาจารย์ได้มาตั้งแต่เมื่ออาจารย์ทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซินแล้ว

ดังนั้น ในประการที่สอง ผมขอเสนอความคิดสำคัญประการหนึ่งที่ปรากฏอยู่ในบทสรุปของวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของอาจารย์ชัยอนันต์เรื่อง “The Politics and Administration of the Thai Budgetary Process” ที่ผมเห็นว่าช่วยให้เราเข้าใจเป้าหมายสำคัญด้านหนึ่งของอาจารย์ในการเข้าไปมีบทบาทในระบบการเมืองไทย

งานวิทยานิพนธ์ของอาจารย์เป็นการศึกษาการเมืองของระบบบริหารกระบวนการงบประมาณแผ่นดินของไทย อาจารย์ต้องการเสนอข้อโต้แย้งกับ Fred Riggs เจ้าของแนวคิด Bureaucratic Polity อันโด่งดัง Riggs เสนอว่าหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 แล้วระบบการเมืองของไทยมีลักษณะเป็นรัฐราชการ และในระบบที่เป็นรัฐราชการ การจัดสรรงบประมาณให้แก่กระทรวงทบวงกรมต่างๆ จะเป็นไปในลักษณะที่ Riggs เรียกว่า “bureaucratistic allocations” ที่หน่วยงานที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของคนที่มีอำนาจมากในระบบราชการจะได้การจัดสรรงบประมาณมากตามไปด้วย และหน่วยงานที่อยู่ใต้บังคับบัญชาของคนที่มีอำนาจน้อยกว่าก็ได้รับงบประมาณน้อยตาม การจัดสรรงบประมาณจึงไม่ได้เป็นไปตามความจำเป็นหรือความเหมาะสมตามเกณฑ์อื่นๆ ที่มิใช่อำนาจ เช่น ตามความจำเป็นและลำดับความสำคัญของแผนพัฒนา หรือโดยความสมเหตุสมผลตามหลักวิชาทางเศรษฐศาสตร์

ข้อเสนอของอาจารย์ชัยอนันต์ในบทสรุปวิทยานิพนธ์ของอาจารย์คือการเสนอเหตุปัจจัยหลายด้านที่ทำให้การเมืองของการบริหารกระบวนการจัดสรรงบประมาณของรัฐไทยมีความสมเหตุสมผลมากขึ้นกว่าที่ผ่านมา ไม่โอนเอียงไปตามอำนาจทางการเมืองของคนที่เป็นเจ้ากระทรวงในแบบ “bureaucratistic” ดังเช่นที่ Riggs สรุปไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภายหลังจากที่มีการจัดตั้งสำนักงบประมาณ และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีแล้ว กระทรวงที่แม้จะมิได้มีพลังในทางการเมืองหรือมีเจ้ากระทรวงเป็นผู้ทรงอิทธิพลสูงในระบบการเมืองของรัฐราชการก็ได้รับการจัดสรรงบประมาณในสัดส่วนสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทรวงที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาประเทศ โครงสร้างพื้นฐาน และการศึกษา งบไม่ได้กระจุกตัวอยู่ที่กลาโหมหรือมหาดไทยเหมือนแต่ก่อน

เหตุปัจจัยที่มาช่วยสร้างความสมเหตุสมผลให้แก่กระบวนการจัดสรรงบประมาณในระยะตั้งต้นนี้ อาจารย์ชัยอนันต์พบว่าปัจจัยที่มีน้ำหนักมากที่สุดมาจากปัจจัยภายนอก เช่น การรับความช่วยเหลือด้านการพัฒนาจากต่างประเทศ บทบาทของธนาคารโลกในการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและให้ความช่วยเหลือทางวิชาการในการจัดบทบาทหน้าที่ของส่วนราชการที่รับผิดชอบการพัฒนาในแต่ละด้าน ทำให้การตั้งและการจัดสรรงบประมาณในระยะนั้นเป็นไปตามการจัดลำดับความสำคัญและข้อผูกพันของโครงการพัฒนาที่กำลังดำเนินการมากกว่าเป็นไปตามอำเภอใจหรือความต้องการของผู้มีอำนาจในรัฐราชการเช่นที่เคยเป็นมาก่อนหน้านั้น

แน่นอนว่าการเมืองในกระบวนการจัดสรรงบประมาณของไทยรวมทั้งเหตุปัจจัยที่สนับสนุนการรักษาความสมเหตุสมผลในกระบวนการจัดสรรงบประมาณเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากแล้วจากสมัยที่อาจารย์ทำวิทยานิพนธ์ แต่ผมเห็นว่าการมองการทำงานและประเมินขีดความสามารถของรัฐไทยในการดำเนินนโยบายที่มีความสมเหตุสมผลไปที่การพิจารณาการจัดเก็บภาษีและนโยบายการคลังภาครัฐ กับกระบวนการจัดสรรและบริหารการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินให้เกิดประสิทธิภาพ เป็นสิ่งที่อยู่ในใจอยู่ในวิธีคิดของอาจารย์เสมอมา อาจารย์รู้ว่าการเปลี่ยนแปลงรัฐราชการไทยนั้นไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นโดยง่าย ความพยายามของอาจารย์จึงอยู่ที่การหาทางให้การทำงานของรัฐราชการไทยปรับตัวไปหาความสมเหตุสมผลด้วยการเข้าไปมีบทบาทในส่วนที่อาจารย์เห็นว่าสามารถทำได้ ที่จะช่วยรัฐราชการไทยขยายสมรรถนะการเรียนรู้และมีความสมเหตุสมผลในการกำหนดเป้าหมายและทิศทางการเปลี่ยนแปลงได้อย่างเหมาะสมเพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่มากกว่าที่จะทำไปเพื่อสนองผลประโยชน์ของอำนาจที่ครองรัฐราชการ

ประการสุดท้าย เราคงต้องยอมรับเหมือนกันว่าความพยายามในด้านนี้ของอาจารย์ที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงในเชิงคุณภาพของรัฐราชการไทยยังไม่ประสบผลสำเร็จในวันที่อาจารย์จากไป คุณภาพของกระบวนการจัดสรรงบประมาณของประเทศนี้ก็ไม่ได้ก้าวหน้าดีขึ้นมาเรื่อยๆ อย่างเป็นเส้นตรงดังที่อาจารย์หวัง ดังนั้น  ผมเห็นว่าเราจึงควรพิจารณาสิ่งที่อาจารย์มอบฝากไว้เป็นกรอบสำหรับวิเคราะห์ลักษณะของรัฐไทยต่อไป เพื่อที่เราจะได้มีเครื่องมือในการเรียนรู้สำหรับสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงในทางทำให้รัฐไทยทำงานตอบสนองความต้องการของประชาชนคนทั่วไปได้ดียิ่งขึ้น

เมื่อพูดถึงกรอบการวิเคราะห์รัฐไทยและการจัดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคม หลายคนจะนึกถึงไตรลักษณรัฐอันเป็นงานรุ่นหลังของอาจารย์ แต่ในความเห็นของผม กรอบการวิเคราะห์รัฐไทยอันควรประทับตราเพื่อระลึกถึงชัยอนันต์ สมุทวณิชในฐานที่เป็นผู้ริเริ่มนำกรอบดังกล่าวมาใช้ในไทยศึกษาก่อนใคร คือกรอบการวิเคราะห์รูปการณ์ของรัฐและรูปการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคมผ่านการศึกษาการเมืองของการจัดเก็บภาษี และการเมืองของการคลังและการจัดสรรงบประมาณของรัฐ ว่าเอื้ออำนวยต่อความมั่นคง ต่อการพัฒนา ต่อการจัดการปกครองที่ดี และมีความเป็นธรรมเพียงใด

ต้นสายของกรอบวิเคราะห์อำนาจรัฐแบบนี้ไม่ใช่ Marx ไม่ใช่ Weber แต่คือแนวคิดว่าด้วย tax state ของ Joseph Schumpeter ซึ่งในเวลานี้เป็นกรอบที่ใช้อยู่ในสาขาสังคมวิทยาการคลัง อาจารย์ชัยอนันต์ใช้กรอบการวิเคราะห์รัฐไทยที่พิจารณาอำนาจรัฐในการจัดเก็บภาษีและอำนาจกับความสมเหตุสมผลในการจัดสรรงบประมาณนี้วิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงรูปการณ์ของรัฐและแนวทางการบริหารราชการแผ่นดินในช่วงเวลาที่สยามเริ่มเปลี่ยนเข้าสู่การจัดการปกครองสมัยใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 5 มาสู่สมัยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ และในสมัยหลังรัฐประหาร 2500 เป็นต้นมา

งานวิทยานิพนธ์ของอาจารย์หยุดเวลาไว้ที่ช่วงระยะที่สามข้างต้น ก่อนหน้าที่กระแสการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและสังคมซึ่งมีอาจารย์ร่วมอยู่ในนั้นด้วยจะเปลี่ยนแปลงรูปการณ์ของรัฐไทยและความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคมจากเดิมไปจนหมดและไม่เหลือเงื่อนไขที่เคยช่วยรักษาความสมเหตุสมผลในการเมืองของการจัดสรรงบประมาณอย่างที่อาจารย์วิเคราะห์และตั้งความหวังไว้อีกแล้ว แต่กรอบการวิเคราะห์เดียวกันที่อาจารย์ใช้ วิเคราะห์รัฐไทยสมัยนั้น ยังเป็นกรอบที่เราสามารถนำมาพัฒนาต่อไปได้สำหรับใช้เป็นเครื่องมือสร้างการเรียนรู้ในสังคม เพื่อผลักดันการเปลี่ยนแปลงในทางที่ทำให้การจัดเก็บภาษีและการจัดสรรงบประมาณของประเทศนี้ยังให้เกิดการพัฒนาที่มีความเป็นธรรมยิ่งขึ้น

ผลงานของอาจารย์ชัยอนันต์จึงยังคงมีความหมายสำหรับเราต่อไปอีกนาน.

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save