fbpx
30 ปี การสิ้นสุดของระบอบเปรมาธิปไตย (1) : ความเป็นมา อภิมหาเรื่องเล่า และนักการเมืองชื่อเปรม

30 ปี การสิ้นสุดของระบอบเปรมาธิปไตย (1) : ความเป็นมา อภิมหาเรื่องเล่า และนักการเมืองชื่อเปรม

ธนาพล  อิ๋วสกุล เรื่อง

 

ถ้าการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 2,048 วันของทักษิณ ชินวัตร ได้สร้างสิ่งที่เรียกว่า “ระบอบทักษิณ” ให้เราถกเถียงค้นคว้าได้จนถึงปัจจุบัน  เราก็อาจจะเรียกการอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 3,076 วันของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ว่า “ระบอบเปรมาธิปไตย” ได้เช่นกัน  ขณะที่งานศึกษาเกี่ยวกับ “ระบอบทักษิณ” นั้นมีออกมาเป็นจำนวนมากและหลากหลาย แต่งานศึกษาเกี่ยวกับ “ระบอบเปรมาธิปไตย” นั้นมีไม่มากนัก[1]

ถ้าหากการผลิตความเข้าใจเกี่ยวกับ “ระบอบทักษิณ” ภายใต้การนำของทักษิณ ชินวัตร (9 กุมภาพันธ์ 2544 – 19 กันยายน 2549) มีความสำคัญในการขับเคลื่อนการเมืองไทย โดยเฉพาะการกรุยทางไปสู่การรัฐประหาร 2 ครั้งคือในปี  2549 และ 2557 การผลิตความเข้าใจเกี่ยวกับ “ระบอบเปรมาธิปไตย” ภายใต้การนำของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ (3 มีนาคม 2523 – 4 สิงหาคม 2531) ก็มีผลอย่างมากในการสร้างการเมืองในอุดมคติของฝ่ายต่อต้านประชาธิปไตยเช่นกัน ดังที่เรามักจะเห็นความคิดของผู้สนับสนุนรัฐประหารอยู่เนืองๆ[2]

ในโอกาสครบ  30 ปีของการสิ้นสุด “ระบอบเปรมาธิปไตย”  บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งในความพยายามตั้งคำถามกับการดำรงตำแหน่ง 8 ปี 5 เดือน ของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ภายใต้ระบอบเปรมาธิปไตย ว่ายังมีข้อสงสัยอะไรอยู่บ้าง

อะไรคือเปรมาธิปไตย

 

เปรมาธิปไตยมีลักษณะอย่างไร ประการแรก เป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ มีรัฐธรรมนูญ มีสภา มีการเลือกตั้ง แต่มีนายกรัฐมนตรีที่สัมพันธ์กับกลุ่มทหาร มีการทำงานร่วมกันระหว่างคณะทหารกับคณะรัฐมนตรี มีกฎหมายที่ให้อำนาจทหารแทรกแซงการเมืองได้ … ประการต่อมา เทคโนแครตมีบทบาทสูงในกระบวนการกำหนดนโยบาย มีการใช้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะ ใช้เทคโนแครต ซึ่งเป็นนักเรียนนอก มีความรู้ดี ทำหน้าที่กำหนดและดำเนินนโยบายอย่างเต็มที่ มีอิสระ เช่น พลอากาศเอก สิทธิ เศวตศิลา ทำหน้าที่ด้านการต่างประเทศ คุณโฆษิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ทำหน้าที่ด้านพัฒนาชนบท เป็นต้น นอกจากนั้น มีความพยายามปรับแผนพัฒนาประเทศให้สอดคล้องกับโลกแห่งความเป็นจริง เช่น เพิ่มบทบาทให้กับภาคธุรกิจเอกชน เช่น ตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.)[3]

ข้างต้นคือบทนิยามเปรมาธิปไตยของ อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ นักวิชาการจากสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 โดย “คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” (คปค.) ซึ่ง พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก ได้เข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนของทักษิณ ชินวัตร

อุกฤษฏ์ฟันธงเรียกรัฐบาลรัฐประหารภายใต้การนำของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ว่า “นี่คือรัฐบาลเปรม 6” แต่อย่างที่ทราบกันคือ รัฐบาลรัฐประหารของสุรยุทธ์ จุลานนท์ นั้นประสบความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงโดยไม่สามารถสร้างความประทับใจให้กับฝ่ายไหนได้เลย  รัฐประหาร  2549 จึงเป็นรัฐประหารที่ “เสียของ” หลังจากนั้นก็ไม่เคยมีใครเรียกว่ารัฐบาลสุรยุทธ์ว่าเป็นรัฐบาลเปรม 6 อีกต่อไป

สำหรับผู้เขียนแล้ว ลักษณะพิเศษที่สร้างให้เกิด “ระบอบเปรมาธิปไตย” มีอีก 2 ปัจจัยที่อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ ไม่ได้นำเสนอ และเป็นปัจจัยสำคัญที่สร้าง “ระบอบเปรมาธิปไตย” ซึ่งรัฐบาลรัฐประหารของสุรยุทธ์ไม่มี ทำให้ล้มเหลวจนไม่อาจเป็น “รัฐบาลเปรม 6” ได้

ปัจจัยเหล่านั้นได้แก่

1. การสนับสนุนของราชสำนัก 

อย่างที่ทราบว่า รัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นั้นโดนรัฐประหารถึง 2 ครั้ง คือ กบฏเมษาฮาวาย 1-3 เมษายน 2524 และกบฏ 9 กันยายน 2528 โดยเฉพาะกบฏเมษาฮาวายที่ฝ่ายก่อรัฐประหารนั้นคุมกำลังรบแทบทั้งหมดอยู่ในมือ แต่รัฐบาลเปรมได้ทูลเชิญพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ให้ไปตั้งกองบัญชาการต้านรัฐประหารที่ค่ายสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา จนทำให้รัฐประหารล้มเหลว  ปฏิเสธไม่ได้ว่าถ้าไม่มีกำลังสนับสนุนของราชสำนักแล้ว รัฐบาลเปรมคงสิ้นสุดในเดือนเมษายน 2524 ยากที่จะมีอายุยืนถึงปี 2531

หรือกรณีการต่ออายุราชการ พล.อ.เปรม ที่จะเกษียณอายุในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกในเดือนกันยายน 2523  พรรคการเมืองใหญ่ทั้งชาติไทย กิจสังคม และประชาธิปัตย์ ต่างคัดค้านการกระทำดังกล่าวว่า ไม่เพียงแต่จะผิดหลักการ แต่จะก่อให้เกิดความตึงเครียดในกองทัพจนอาจนำไปสู่รัฐประหาร แต่เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้รับสั่งให้หัวหน้าพรรคการเมืองที่คัดค้านการต่ออายุราชการให้ พล.อ.เปรม เข้าเฝ้า หัวหน้าพรรคเหล่านั้นต้องออกมาเปลี่ยนจุดยืน เนื่องจากได้รับ “ข้อมูลใหม่”[4]

2. ความอ่อนแอของพรรคการเมือง

“ระบอบเปรมาธิปไตย” อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2521 ซึ่งเป็นการสร้างระบอบประชาธิปไตยที่ลดทอนอำนาจนักการเมืองจากการเลือกตั้งและเพิ่มอำนาจให้กับระบบราชการและเทคโนแครต โดยเฉพาะช่วง 4 ปีแรกหลังเลือกตั้ง (2522-2526) สมาชิกวุฒิสภามีอำนาจเท่าๆ กับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทั้งในเรื่องการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี การลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี การพิจารณาร่างกฎหมาย ฯลฯ

การรัฐประหาร 2519 นั้นได้ยุบพรรคการเมือง แม้แต่การเลือกตั้งในปี 2522 ก็ยังเป็นการเลือกตั้งภายใต้กลุ่มการเมือง เมื่อพรรคการเมืองอ่อนแอ ก็ย่อมเป็นเหตุให้ทหารเข้ามาแทรกแซงทางการเมืองเพื่ออุ้มชู พล.อ.เปรม

ขณะที่รัฐบาลเปรมก้าวขึ้นมาท่ามกลางความอ่อนแอของพรรคการเมืองที่แตกแยก แต่รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เป็นการรัฐประหารรัฐบาลที่เข้มแข็งที่สุดเท่าที่การเมืองไทยเคยมีมา นั่นคือ รัฐบาลพรรคเดียวของไทยรักไทยที่นำโดยทักษิณ ชินวัตร การเลือกตั้ง 6 กุมภาพันธ์ 2548 ได้ที่นั่ง 377 เสียง จาก 500 ที่นั่ง และมีคะแนนระบบบัญชีรายชื่อ  18,993,073 คะแนน  จึงยากที่รัฐบาลรัฐประหารสุรยุทธ์จะเข้ามาแทนที่

นี่ยังไม่รวมถึงปัจจัยอื่นๆ เช่น ความไร้ประสิทธิภาพของเทคโนแครตไทย ดังนั้น การสร้างระบอบเปรมาธิปไตยภายใต้การเมืองไทยที่เปลี่ยนไปมากจึงล้มเหลว

อภิมหาเรื่องเล่าว่าด้วยการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

 

พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ (2463) เด็กบ้านนอกลูกชาวบ้านจากสงขลา ผู้มีความมุมานะ จบการศึกษามัธยมต้นจากโรงเรียนมหาวชิราวุธ จังหวัดสงขลา จากนั้นได้มาศึกษาต่อที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย แล้วเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนเทคนิคทหารบก รุ่นที่ 5 สังกัดเหล่าทหารม้า (ต่อมาคือโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า)

เมื่อจบการศึกษาในปี พ.ศ. 2484 พล.อ.เปรมได้เข้าร่วมรบในสงครามอินโดจีนระหว่างไทยกับฝรั่งเศส และสงครามโลกครั้งที่ 2 ในช่วง พ.ศ. 2485-2488 ที่เชียงตุง  พล.อ เปรมรับราชการเป็นทหารอาชีพด้วยความซื่อสัตย์  ผลงานที่สำคัญคือการใช้แนวคิดการเมืองนำการทหารจนสามารถแก้ปัญหาการขยายตัวของขบวนการคอมมิวนิสต์ในภาคอีสาน เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 2

จนกระทั่งเมื่อเกิดความขัดแย้งทางการเมืองอันต่อเนื่องจาก 14 ตุลา 2516 ถึง 6 ตุลา 2519 บ้านเมืองอยู่ในห้วงวิกฤต จึงมีการเชิญ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ให้มารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 16

ตลอดระยะเวลา 8 ปี 5 เดือน พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นคนที่ไม่ทะเยอทะยานและยึดติดกับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่ทุกครั้งก็จะมีนักการเมืองไปเชิญมาดำรงตำแหน่งผู้นำรัฐบาล ตัวชี้วัดที่สำคัญคือตลอดระยะเวลา 8 ปี 5 เดือน พล.อ.เปรมไม่เคยโดนอภิปรายไม่ไว้วางใจแม้แต่ครั้งเดียว

นิสัยประหยัดมัธยัสถ์ส่งผลต่อการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจด้วยการไม่ใช้จ่ายเกินตัว ขณะเดียวกันเทคโนแครตที่ทำงานร่วมกับ พล.อ.เปรม ก็มีความซื่อสัตย์และเต็มไปด้วยความสามารถ จนวางรากฐานทางเศรษฐกิจของไทยให้เติบโตอย่างมั่นคง ข้าราชการก็มีความซื่อสัตย์สุจริต ทหารก็อยู่ในแถวภายใต้การนำของ พล.อ.เปรม ในส่วนของนายทุน โดยเฉพาะนายทุนธนาคารนั้น พล.อ.เปรม ก็รักษาระยะห่างเพื่อดำเนินนโยบายโดยไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนให้มีข้อครหา รวมทั้งความสัมพันธ์อื่นๆ เช่น เพื่อนร่วมรุ่นทั้งที่โรงเรียนมหาวชิราวุธ โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย โรงเรียนเทคนิคทหารบก เหล่าทหารม้า ทั้งหมดไม่เคยมีอิทธิพลในการตัดสินใจของ พล.อ.เปรม

สุดท้าย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายทหารที่ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย รังเกียจรัฐประหาร

จริงหรือ?

นักการเมืองชื่อเปรม

“จะลงเลือกตั้งไหม”

“ผมไม่ทะเยอทะยานทางการเมือง”

พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ตอบนักข่าว 5 กันยายน 2525[5]

พล.อ.เปรม มักจะเสนอภาพตัวเองว่าไม่ใช่นักการเมืองเป็นปกติเมื่อตอบคำถามนักข่าวดังเช่นที่ยกมาข้างต้น เพื่อจะบอกว่าตนเองเป็นทหารอาชีพที่นักการเมืองไปเชิญมาเป็นนายกรัฐมนตรี  กรณีดังกล่าวอาจจะถูก ถ้านักการเมืองคือนายกรัฐมนตรีและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น แต่ในความเป็นจริง นอกจากอาชีพทหารแล้ว พล.อ.เปรม ได้เข้ามามีบทบาททางการเมืองอย่างต่อเนื่อง ก่อนหน้าที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี (2523) มากกว่า 2 ทศวรรษ

1. สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ 2502 : นั่งร้านให้ระบอบเผด็จการสฤษดิ์-ถนอม

ภายหลังรัฐประหาร 20 ตุลาคม 2501 ของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งเป็นการรัฐประหารซ้ำ และรวบอำนาจมาไว้ในมือตัวเอง สฤษดิ์ยกเลิกรัฐธรรมนูญ ยุบพรรคการเมือง ปิดกั้นสื่อทุกรูปแบบ และจับผู้เห็นต่างมาคุมขังโดยไม่มีการพิจารณาคดีใดๆ  สฤษดิ์ตั้งตนเป็นรัฏฐาธิปัตย์ ปกครองด้วยอำนาจดิบอยู่ 3 เดือน จนมีการประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2502 เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2502 ซึ่งถือว่าเป็น “รัฐธรรมนูญฉบับที่ 7” แต่ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้หาได้จำกัดอำนาจนายกรัฐมนตรีไม่ เพราะมีมาตรา 17 ให้อำนาจสั่งประหารชีวิตคนได้โดยไม่ต้องผ่านการพิจารณาของศาล

ในส่วนของกระบวนการนิติบัญญัตินั้น ในมาตรา 6 ระบุว่า “ให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ มีหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญ และให้มีฐานะเป็นรัฐสภาทำหน้าที่นิติบัญญัติด้วย” ต่อมามีการแต่งตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 240 คนในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2502 ประกอบด้วยทหารบก 110 คน ทหารเรือ 26 คน ทหารอากาศ 26 คน ตำรวจ 18 คน และพลเรือนซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นข้าราชการ 30 คน

หน้าที่หลักของสภาร่างรัฐธรรมนูญชุดนี้มิใช่ร่างรัฐธรรมนูญ แต่เป็นการออกกฎหมาย ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ ได้วิเคราะห์กระบวนการดังกล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า

การร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2511 ซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากการรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ 20 ตุลาคม 2501 กระทั่งถึงวันประกาศใช้เมื่อ 20 มิถุนายน 2511 ระยะเวลารวม 10 ปีนั้น กล่าวโดยสรุปได้ว่า การร่างรัฐธรรมนูญมีความหมายสำคัญกับจอมพลถนอม กิตติขจร 2 ประการ ประการแรก คือเป็นเครื่องมือในการสร้างความชอบธรรมทางการเมืองให้กับการบริหารของรัฐบาลจอมพลถนอมในระยะ 5 ปีแรก ในการมีสภาร่างรัฐธรรมนูญที่ทำหน้าที่ด้านนิติบัญญัติ ประการที่สอง คือเป็นเครื่องมือในการรักษาอำนาจทางการเมืองไว้อย่างยาวนานที่สุด โดยการที่รัฐธรรมนูญบังคับใช้ช้าที่สุด[6]

1 ใน  110 ทหารบก ที่เข้าร่วมกระบวนการดังกล่าวคือ พันเอก เปรม ติณสูลานนท์ นั่นเอง และเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญตลอดทั้ง 10 ปีด้วย

2. วุฒิสมาชิก 2511: ผลพวงระบอบเผด็จการสฤษดิ์-ถนอม

เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับปี 2511 ถูกบังคับใช้ในวันที่ 20 มิถุนายน  2511 ได้บัญญัติให้สมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งมีจำนวน 3 ใน 4 ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มีวาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปี โดยที่มีอำนาจแทบจะเทียบเท่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อีกทั้งให้ประธานวุฒิสภาเป็นประธานรัฐสภาและเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี สมาชิกวุฒิสภามีสิทธิเข้าชื่อขอให้เปิดประชุมสมัยวิสามัญได้ เสนอร่างพระราชบัญญัติได้ รวมทั้งเสนอชื่อเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลหรือคณะได้  ในบทเฉพาะกาลมาตรา 177 ให้แต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 100 คน ภายใน 15 วัน และเพิ่มให้ครบ 3 ใน 4 เมื่อการเลือกตั้ง ส.ส. เสร็จสิ้น

ในวันที่ 4 กรกฎาคม 2511 จึงมีการตั้งวุฒิสภาชุดแรก 100 คน ปรากฏว่าเป็นผู้มียศทหารถึง 88 คน

แน่นอนว่าพันเอกเปรม คือ 1 ใน 100 สมาชิกวุฒิสภาชุดแรก ตามรัฐธรรมนูญ 2511 ที่ตนเองเป็นผู้ร่างในฐานะสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญด้วย

3. สภานิติบัญญัติแห่งชาติ 2515 : ส่วนหนึ่งของวงจรอุบาทว์การเมืองไทย

แม้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี 2511 จะเป็นรัฐธรรมนูญที่ร่างมากับมือ และการเลือกตั้งปี 2512 พรรคสหประชาไทยของจอมพลถนอม กิตติขจร จะชนะเลือกตั้ง พร้อมกับวุฒิสภาที่ตั้งมากับมือ แต่จอมพลถนอมก็ยังไม่พอใจที่จะต้องมาบริหารประเทศโดยมีนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งอยู่ในสภาผู้แทนราษฎร จึงได้รัฐประหารตัวเองเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2514 และตั้งตนเป็นรัฏฐาธิปัตย์เช่นเดียวกับสฤษดิ์ในปี 2501 ซึ่งทำให้เปรมต้องสิ้นสภาพสมาชิกวุฒิสภาไปด้วย

แต่ไม่นานจากนั้น จอมพลถนอมได้ประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2515  ในมาตรา 6 ได้กำหนดว่า “ให้มีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ประกอบด้วย สมาชิกจำนวนสองร้อยเก้าสิบเก้าคน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากผู้มีสัญชาติไทยโดยกำเนิด และมีอายุไม่ต่ำกว่าสามสิบห้าปีบริบูรณ์” เพื่อทำหน้าที่พิจารณากฎหมาย โดยที่ไม่เกี่ยวกับการจัดทำรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด ชื่อของพันเอกเปรม คือ 1 ใน 299 สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

น่าสนใจว่า ทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งของ วงจรอุบาทว์การเมืองไทยที่ทหารสร้างขึ้นมาทั้งสิ้น

วงจรอุบาทว์การเมืองไทย

แต่ประวัติศาสตร์ย่อมไม่ซ้ำรอย เมื่อพลังประชาชนได้ลุกฮือโค่นล้มระบอบถนอม-ประภาส ในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 สภานิติบัญญัติปี 2515 ก็ต้องยุติบทบาทลง และถูกแทนที่ด้วยสภาสนามม้าที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงพระราชทาน 2,347 รายชื่อ ให้คัดเลือกกันเองเพื่อทำหน้าที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ

ชื่อของเปรม ซึ่งอยู่ในวงจรอำนาจจากการแต่งตั้งโดยรัฐบาลรัฐประหารมาตลอดตั้งแต่ปี 2502 ร่วม 14 ปี จึงต้องเว้นวรรคไป

4. สมาชิกรัฐประหาร 2519 : เปิดหน้ามาร่วมรัฐประหาร

หลังการสังหารหมู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อรุ่งสางวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ตกเย็นเวลา 18.00 น. ได้มีการรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลพลเรือนของหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นำโดย พลเรือเอก สงัด ชลออยู่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โดยใช้ชื่อว่า คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน โดยมีสมาชิก 24 คน และมีชื่อของพลโทเปรม ติณสูลานนท์ ในฐานะแม่ทัพภาคที่ 2 ร่วมอยู่ด้วย

นายทหารคนสนิทของ พล.อ.เปรม บอกว่า “ตอนแรกพลเรือเอกสงัดไม่ได้ใส่ชื่อพลเอกเปรมลงไปด้วย แต่มีคนคัดค้านว่าควรมีพลโทเปรมในฐานะแม่ทัพภาคที่สองลงไปด้วย พลเรือเอกสงัดจึงใส่ชื่อลงไปทั้งๆ ที่ไม่ได้บอกเจ้าตัวให้ทราบ”[7]

ภายหลังรัฐประหารเลือด ได้มีการนำนายธานินทร์ กรัยวิเชียร ผู้พิพากษาที่มีจุดยืนต่อต้านคอมมิวนิสต์อย่างแข็งทื่อมาเป็นนายกรัฐมาตรี ส่วนคณะรัฐประหารที่ชื่อว่า “คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน” ก็แปรสภาพมาเป็นสภาที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี

ธานินทร์เรียกตัวเองว่าเป็นรัฐบาลหอย โดยมีตนเองเป็นตัวหอย และคณะรัฐประหารเป็นเปลือกหอย แน่นอนว่า พล.อ.เปรมคือหนึ่งในเปลือกหอยนั่นเอง

5. สมาชิกรัฐประหาร 2520 / รมช.มหาดไทย / รมว.กลาโหม : เตรียมตัวสู่เก้าอี้นายกรัฐมนตรี

รัฐบาลธานินทร์บริหารด้วยนโยบายขวาจัด สร้างความแตกแยกให้กับสังคมไทยมากกว่าเดิม ทำให้คณะรัฐประหาร 2519 ทนไม่ได้ ต้องทำรัฐประหารซ้ำในวันที่ 20 ตุลาคม 2520 โดยมีพลเรือเอก สงัด ชลออยู่ เป็นหัวหน้าคณะรัฐประหารเช่นเดิม  แน่นอนว่า พล.อ.เปรม ก็ร่วมเป็นคณะรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลธานินทร์ด้วยเช่นกัน

ถึงแม้คณะรัฐประหารจะเป็นชุดเดียวกัน แต่รัฐประหาร 2520 แตกต่างจากรัฐประหาร 2519  ไม่เพียงแต่การประกาศว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นภายใน 1 ปี แทนที่จะเป็น 12 ปีตามแนวทางรัฐบาลธานินทร์  แล้ว ยังเสนอแนวทางประชาธิปไตยครึ่งใบเพื่อเป็นทางออกจากความขัดแย้ง โดยคณะรัฐประหารลงมาเล่นการเมืองเอง พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ เลขาธิการคณะรัฐประหาร ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี โดยที่ พล.อ.เปรม ได้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยในสมัยแรก ซึ่งถือว่าเป็นการเปิดหน้าทางการเมืองมากยิ่งขึ้นของนักการเมืองชื่อเปรม

เมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2521และการเลือกตั้งในปี 2522 พล.อ.เกรียงศักดิ์ ได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งภายใต้การสนับสนุนของวุฒิสภาที่มีอำนาจเทียบเท่าสภาผู้แทนราษฎร  พล.อ.เปรม ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้บัญชาการทหารบก ก็ได้ก้าวสู่ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม  รัฐบาลเกรียงศักดิ์หลังการเลือกตั้งปี 2522 นั้นบริหารไม่ง่ายเหมือนเดิม เพราะนักการเมืองเริ่มกลับมามีบทบาทในสภา อีกทั้งรัฐบาลเกรียงศักดิ์ก็เผชิญปัญหาเศรษฐกิจเล่นงานจนความนิยมลดลงไป

ในเวลานั้นเก้าอี้นายกรัฐมนตรีกับพล.อ.เปรม ถือว่าอยู่แค่เอื้อม แม้ว่าเจ้าตัวจะบอกกับสาธารณชนว่า “ผมไม่มีความทะเยอทะยานทางการเมือง” ก็ตาม

…….

[อ่าน 30 ปี การสิ้นสุดของระบอบเปรมาธิปไตย (2) : 8 ปี 5 เดือน ของนายกฯ เปรม ภายใต้การเมืองสามเสา ได้ ที่นี่]

เชิงอรรถ

[1] งานศึกษาชิ้นล่าสุดที่ศึกษาการเมืองไทยในสมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ คือ อดินันท์ พรหมพันธ์ใจ. 2558. การเมืองไทยในสมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ : การบริหารจัดการทางการเมือง (2523 – 31). วิทยานิพนธ์รัฐศาสตรดุษฎีบัณฑิต คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

[2] “วันชัยมาแล้ว ! แนะบิ๊กตู่อย่าหลงตั้งพรรค ยก’เปรมโมเดล’ อยู่ 8 ปียาวๆไม่ต้องเลือกตั้ง”  มติชนออนไลน์  27 สิงหาคม 2559

[3] บทสัมภาษณ์ อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ : “นี่คือรัฐบาลเปรม 6” โดย ปกป้อง จันวิทย์ ใน ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา (บรรณาธิการ). 2550. October No.6 (ฉบับปฏิวัติ). กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์ openbooks.

[4] มูลนิธิรัฐบุรุษ. 2549. รัฐบุรุษชื่อเปรม. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์มติชน, หน้า 151.

[5] มูลนิธิรัฐบุรุษ. 2549. รัฐบุรุษชื่อเปรม. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์มติชน, หน้า 369.

[6] ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. 2550. บทบาททางการเมืองของจอมพลถนอม กิตติขจร พ.ศ. 2506-2516. วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, หน้า 400-403.

[7] มูลนิธิรัฐบุรุษ. 2549. รัฐบุรุษชื่อเปรม. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์มติชน, หน้า 79.

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023