fbpx
นโยบายอุตสาหกรรมตายแล้ว? สูตรลับเสรีนิยมแบบรัฐนำของเยอรมนี

Crazy Rich Asian (Americans) คนเอเชียในอเมริกากับความรวยอย่างเหลื่อมล้ำ

โตมร ศุขปรีชา เรื่อง

 

หนังเรื่อง Crazy Rich Asians วาดภาพคนเอเชียที่ร่ำรวยมหาศาลเอาไว้เป็นนิยายและหนังแนว Escapism ให้คนได้เสพ แต่ในความเป็นจริง เราน่าจะรู้อยู่ว่า ในเอเชียนั้น แม้จะไม่ได้มีความเหลื่อมล้ำสูงที่สุดในโลก (เพราะมีอเมริกาใต้และแอฟริกาแซงหน้าไป) แต่กระนั้น​ ความร่ำรวยอย่างที่เห็นในหนัง ก็ไม่ใช่ภาพที่เห็นกันทั่วไป เพราะเอาเข้าจริง เอเชียยังเต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำที่ยากจะจินตนาการได้

 

หลายคนคิดว่า คนเอเชียที่อพยพไปอยู่ในสหรัฐอเมริกา น่าจะเป็นกลุ่มคนที่ ‘สบาย’ กว่าเอเชียในบ้านเกิด เพราะอเมริกาได้ชื่อว่าเป็นดินแดนแห่งโอกาสและเสรีภาพ การไป ‘ขุดทอง’ ในดินแดนแบบนี้ จึงน่าจะง่ายและสบายกว่าอยู่ที่บ้านเกิด เพราะความเหลื่อมล้ำในดินแดนแห่งเสรีภาพนั้นน่าจะน้อย

เรื่องนี้ ‘เคย’ เป็นจริงอยู่นะครับ  แต่น่าเสียดายที่ต้องบอกคุณว่า ตอนนี้เหมือนจะไม่เป็นอย่างนั้นอีกแล้ว เพราะความเหลื่อมล้ำ ‘เฉพาะ’ ในกลุ่มของคนเอเชียในอเมริกาเองนั้น กลับพุ่งสูงขึ้นกว่าคนกลุ่มอื่นๆ อย่างมากมายมหาศาลเห็นได้ชัด พูดอีกอย่างก็คือ เอชียในอเมริกา ทำท่าว่าจะเหมือนเอเชียในเอเชียมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในมิติการถ่างกว้างของช่องว่างทางเศรษฐกิจ

แต่ก่อนจะเล่าถึงเรื่องที่ว่ามาในรายละเอียด อยากชวนคุณมาดูวิธีวัดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจกันก่อน วิธีวัดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจอย่างหนึ่ง ก็คือการเอารายได้ของคน 10 เปอร์เซ็นต์ ที่มีรายได้สูงสุด มาเทียบกับคน 10 เปอร์เซ็นต์ ที่มีรายได้ต่ำสุด การเทียบนี้เรียกว่า 90/10 Income Inequality Ratio (หรือเรียกสั้นๆ ว่า 90/10 Ratio) เพราะเมื่อคิดเป็นเปอร์เซ็นไทล์ (Percentile) แล้ว จะคือเปอร์เซ็นไทล์ที่ 90 เทียบกับเปอร์เซ็นไทล์ที่ 10

Pew Research Centre เคยสำรวจพบว่า ในปี 1970 คนเอเชียที่อาศัยอยู่ในอเมริกา เคยมีค่า 90/10 Ratio อยู่ที่ 6.1 พูดง่ายๆ ก็คือ คนรวยที่สุด 10 เปอร์เซ็นต์ รวยกว่าคนจนที่สุด 10 เปอร์เซ็นต์ เท่ากับ 6.1 เท่า ซึ่งถือว่าโอเคพอสมควร เพราะช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนยังค่อนข้างใกล้กันอยู่ โดยตัวเลขนี้เมื่อเทียบกับคนขาวแล้ว คนขาวยังสูงกว่าอีกนะครับ เพราะของคนขาวอยู่ที่ 6.3 ทั้งที่ในสังคมคนขาว (ในอเมริกา) เป็นสังคมที่ยึดถือเรื่องความเท่าเทียมเสมอภาคกันมากกว่า เนื่องจากเป็นสังคมที่ไม่ได้สมาทานระบบชนชั้นเหมือนในอังกฤษ

แต่พอมาถึงปี 2016 สถานการณ์กลับกลายเป็นหนังคนละม้วนไปเลย เพราะตัวเลข 90/10 Ratio ในกลุ่มคนเอเชียนอเมริกันนั้น พุ่งขึ้นไปอยู่ที่ 10.7 นั่นแปลว่าคนรวยที่สุด 10 เปอร์เซ็นต์ รวยกว่าคนจนที่สุด 10 เปอร์เซ็นต์ ถึง 10.7 เท่า ในขณะที่คนกลุ่มอื่นๆ ความต่างระหว่างคนรวยคนจนไม่ได้มากมายขนาดนั้น เช่น กลุ่มคนผิวดำ ตัวเลขอยู่ที่ 9.8 กลุ่มคนขาวอยู่ที่ 7.8 และกลุ่มคนฮิสแปนิกอยู่ที่ 7.8 เช่นเดียวกัน

ตัวเลขพวกนี้บอกอะไรเราบ้าง?

เอาเข้าจริง ถ้าดูรวมๆ เราจะพบว่าในช่วงปี 1970 ถึง 2016 สังคมอเมริกันนั้นมีความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้นในคนทุกกลุ่ม พูดอีกอย่างก็คือ ช่องว่างของมาตรฐานการใช้ชีวิตถ่างกว้างออกระหว่างคนรวยกับคนจน แต่ที่ถ่างกว้างเป็นพิเศษก็คือคนเอเชีย

ถ้าย้อนกลับไปดูปี 1970 จะพบว่ากลุ่มคนที่มีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจมากที่สุดในอเมริกาคือกลุ่มคนผิวดำ เพราะค่า 90/10 Ratio อยู่ที่ 9.1 นั่นแปลว่า คนผิวดำที่รวยที่สุด รวยกว่าคนผิวดำที่จนที่สุดถึง 9.1 เท่า ซึ่งถือว่าสูงแล้ว แต่พอกระโดดมาอีก 46 ปี พบว่าตัวเลขนี้ในคนผิวดำไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก คือจาก 9.1 เพิ่มเป็น 9.8 เท่านั้น ซึ่งถ้าคำนวณออกมาเป็นร้อยละ พบว่าเพิ่มขึ้นราว 7 เปอร์เซ็นต์

ส่วนกลุ่มคนฮิสแปนิกเพิ่มขึ้นเป็นที่สอง คือเพิ่มขึ้น 15 เปอร์เซ็นต์ และกลุ่มคนผิวขาวเพิ่มขึ้นตามมา คือที่ 24 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่คนเอเชียในอเมริกานั้น ความต่างนี้กลับเพิ่มสูงขึ้นถึง 77 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่าสูงมาก สรุปก็คือตอนนี้คนเอเชียในอเมริกา กลายเป็นกลุ่มคนที่มีความต่างทางเศรษฐกิจมากที่สุดไปแล้ว

นี่คือสัญญาณที่สะท้อนให้เห็นว่า คนเอเชียในอเมริกาที่รวยอยู่แล้ว กำลังรวยยิ่งๆ ขึ้น โดยคนเอเชียในอเมริกาที่จน จะมีการเติบโตในเรื่องรายได้น้อยกว่า

คำถามก็คือ ทำไมถึงเป็นแบบนี้?

Pew อธิบายว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะการอพยพเข้ามาของคนเอเชียที่มากข้ึนเป็นระลอกๆ โดยในช่วงปี 1970 ถึง 2016 นั้น ชาวเอเชียที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นมากที่สุดไม่ใช่ชาวเอเชียที่เกิดในอเมริกา ทว่าเป็นผู้อพยพ โดยมีสัดส่วนมากถึงราว 81 เปอร์เซ็นต์ ผู้อพยพจะเข้ามาหลายระลอก ระลอกแรกคือช่วงปี 1965 เมื่อมีกฎหมายที่ผ่อนปรนให้คนต่างชาติเข้ามาอยู่ได้ หลังจากนั้นก็คือปี 1975 เมื่อสงครามเวียดนามยุติลง ชาวเวียดนามมากมายอพยพหนีเข้ามาอยู่ในสหรัฐอเมริกา และในปี 1990 ก็มีกฎหมายใหม่ที่ผ่อนปรนมากขึ้น เพราะอยากได้แรงงานมีฝีมือเข้ามาในอเมริกามากขึ้น ทำให้เกิดคลื่นผู้อพยพชาวเอเชียหน้าใหม่ (จำนวนมากมาจากอินเดีย) ตามด้วย

เมื่อเป็นแบบนี้ จะพบว่าทั้งระดับการศึกษาและรายได้ของคนเอเชียในอเมริกานั้น มีความแตกต่างหลากหลายมาก เพราะพูดได้ว่าต่างคนต่างมา ไม่ได้มีการสืบทอดต่อเนื่องทางด้านฐานะเหมือนคนกลุ่มอื่นๆ ตัวอย่างเช่น ถ้าดูเรื่องของคนที่จบปริญญาตรีที่มีอายุ 25 ปีขึ้นไป พบว่าในกลุ่มชาวเอเชียที่เป็นคนอินเดีย มีผู้จบปริญญาตรีมากถึง 72 เปอร์เซ็นต์ แต่ในหมู่ชาวภูฏาน มีที่จบปริญญาตรีเพียง 9 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

รายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนก็หลากหลายด้วยเช่นกัน แต่ในหมู่ชาวอินเดีย จะมีรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรืออยู่ที่ปีละ 100,000 เหรียญ แต่ชาวพม่าจะอยู่ที่ 36,000 เหรียญ นั่นทำให้ชาวพม่าและชาวภูฏานที่อยู่ในอเมริกา มีอัตราความยากจน (Poverty Rate) สูงถึงกว่า 30 เปอร์เซ็นต์

เอาเข้าจริงแล้ว ต้องบอกด้วยว่า ความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกานั้น สูงกว่าในประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจก้าวหน้าอื่นๆ นะครับ มีการวัดกันหลายระบบ เช่นการวัดค่าสัมประสิทธิ์ที่เรียกว่า Gini ซึ่งใช้ในการดูการกระจายตัวของความมั่งคั่งร่ำรวยของคนในประเทศหนึ่งๆ เป็นเครื่องมือที่ใช้วัดความไม่เท่าเทียมที่แพร่หลายที่สุดตัวหนึ่ง พบว่าสหรัฐอเมริกานั้น มีค่าสัมประสิทธิ์ Gini สูงกว่าสหราชอาณาจักร อิตาลี แคนาดา ญี่ปุ่น เยอรมนี และฝรั่งเศส (ซึ่งแปลว่าไม่เท่าเทียมสูง) โดยค่าของสหรัฐนั้นเกือบๆ จะเท่ากับอินเดียเสียด้วยซ้ำ และกระโดดออกจากกลุ่มประเทศ G7 อย่างแรง โดยถ้าดูรวมๆ แล้ว รายได้เฉลี่ยของคนรวยที่สุด 10 เปอร์เซ็นต์แรก พุ่งจาก 63,512 เหรียญต่อปีในปี 1970 ไปเป็น 109,578 เหรียญต่อปีในปี 2016 ในขณะที่คนจนที่สุด 10 เปอร์เซ็นต์ กลับมีรายได้เพิ่มจาก 9,212 เหรียญ มาเป็นแค่ 12,523 เหรียญ เท่านั้นเอง

แล้วถ้าลองมาเปรียบเทียบรายได้ของคนที่รวยที่สุด 10 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2016 จะพบว่า คนกลุ่มที่มีรายได้สูงที่สุด ก็คือกลุ่มชาวเอเชียของเรานี่แหละครับ คือมีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 133,529 เหรียญ ต่อปี รองลงมาคือกลุ่มคนขาว (117,986 เหรียญต่อปี) คนดำ (80,502 เหรียญต่อปี) และสุดท้ายคือชาวฮิสแปนิก (76,847 เหรียญต่อปี)

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ถ้าเทียบกันเฉพาะในหมู่คนรวยของอเมริกา ตอนนี้ชาวเอเชียก็น่าจะ ‘รวย’ ที่สุดไปแล้ว และแม้ถ้าเทียบกลุ่มคนจนที่สุด 10 เปอร์เซ็นต์ คนเอเชียในอเมริกาจะไม่ใช่กลุ่มที่จนที่สุด แต่ความเหลื่อมล้ำของคนเอเชียกลับมีมากที่สุด

พอมองอย่างนี้แล้ว ก็อาจไม่น่าแปลกใจเท่าไหร่ ที่เกิดหนังอย่าง Crazy Rich Asians (ซึ่งจริงๆ เป็นผลผลิตของฮอลลีวู้ด) ขึ้นมาในจังหวะนี้

 

เพราะมันช่างลงตัวกันเหมาะเหม็งพอดีกับความรวยอย่างเหลื่อมล้ำในชีวิตจริง

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save