fbpx
พหุสังคมอิสลามในปากีสถาน

พหุสังคมอิสลามในปากีสถาน

ยุกติ มุกดาวิจิตร เรื่องและภาพ

เป็นเรื่องง่ายที่ประเทศไหนจะประกาศตนว่าเป็นประเทศซึ่งเคารพความหลากหลายของวัฒนธรรม เคารพความแตกต่างของวิถีชีวิต ส่งเสริมสภาวะพหุสังคม อันเป็นกระแสโลกตั้งแต่ทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา ประเทศไทยก็เป็นประเทศหนึ่งที่กำลังเริ่มแนวทางการบริหารประเทศที่ให้ความสำคัญต่อการเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม

อย่างไรก็ดี ในทางปฏิบัติ มีข้อถกเถียงมากมายว่า ภาวะพหุสังคมที่มักกล่าวถึงกันนั้น ให้ความสำคัญกับความเสมอภาคและสิทธิในการเข้าถึงทรัพยากรอย่างเท่าเทียมกันด้วยหรือไม่ หรือเป็นเพียงข้ออ้างที่บดบังความเหลื่อมล้ำไว้ ด้วยการแสดงออกว่าใส่ใจความแตกต่างแต่เพียงในระดับให้ต้องเคารพ ต้องเข้าใจกัน แต่ไม่ได้นำไปสู่การให้สิทธิทางวัฒนธรรมและการเมือง ตลอดจนลดความเหลื่อมล้ำระหว่างกลุ่มชนอย่างแท้จริง ข้อสงสัยนี้เห็นได้ชัดจากกรณีของประเทศไทย ที่ยังไม่มีความชัดเจนต่อนโยบายพหุวัฒนธรรม

สิ่งที่จะแสดงให้เห็นได้ชัดเจนว่าประเทศไหนทำตามนโยบายยอมรับความหลากหลายทางสังคมอย่างจริงจังหรือไม่ น่าจะต้องดูที่อะไรหลายๆ อย่าง นับตั้งแต่วิธีที่ประเทศนั้นเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับประเทศตนเอง ซึ่งก็คือการจัดฉากแสดงตนให้คนอื่นเห็น จัดฉากบอกเล่าแก่ผู้คนในประเทศเองอย่างไร ไปจนถึงการที่ผู้คนใช้ชีวิตอยู่กับความแตกต่างของเพื่อนร่วมประเทศอย่างไร

ผมคิดว่าปากีสถานเป็นประเทศหนึ่งซึ่งแม้จะเรียกตนเองว่า Islamic Republic of Pakistan หรือชื่อไทยทางการว่า สาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน แต่ปากีสถานก็เป็นประเทศมุสลิมที่มีความเป็น ‘สากลนาคร’ คำแปลของ ‘cosmopolitanism’ ที่ผมดัดแปลงจากที่อาจารย์ณรงค์ฤทธิ์ สุมาลี นักวิชาการรุ่นใหม่แห่งมหาวิทยาลัยนครพนมคิดผูกคำขึ้นมา นั่นทำให้ผมยังขออ้อยอิ่งอยู่กับการไปเยือนปากีสถานของผมอีกสักครั้งหนึ่ง เพื่อชวนให้คิดถึงอุษาคเนย์บางส่วนที่พยายามจะอวดอ้างการเคารพความหลากหลาย หรืออีกบางส่วนที่พยายามลดทอนความหลากหลายในนามของความถูกต้องตามหลักการที่สูงส่ง

ปากีสถานแยกตัวออกจากประเทศอินเดียเมื่อ 14 สิงหาคม ค.ศ.1947 ด้วยเหตุผลทางศาสนา แต่นั่นเป็นเพียงความเข้าใจหนึ่งในบรรดาความซับซ้อนอื่นๆ ที่เป็นลักษณะเฉพาะของปากีสถาน เพราะแท้จริงแล้วการแยกตัวของปากีสถานยังได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มชนต่างๆ อีกหลายกลุ่มชาติพันธ์ุ ที่มีศาสนาอิสลามเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตพื้นเมืองของพวกเขา มากกว่าที่จะเป็นหลักใหญ่ใจความของแนวทางการดำเนินชีวิตของพวกเขา

ข้อเท็จจริงเรื่องความหลากหลายทางชาติพันธ์ุหรือชนชาติและวัฒนธรรมในปากีสถานนั้น ไม่ค่อยเป็นที่รับรู้กันในประเทศไทย ปากีสถานประกอบไปด้วย 4 จังหวัดและอีก 3 เขตปกครองตนเองของปากีสถาน จังหวัดและเขตปกครองพิเศษเหล่านี้แบ่งกันไปตามกลุ่มชาติพันธ์ุต่างๆ มากมาย เป็นต้นว่า ในจังหวัดบาลอชชิสถาน (Balochistan) ในภาคตะวันตกของปากีสถาน ประกอบด้วยชนส่วนใหญ่ที่เป็นชาวบาลอช (Baloch) ซึ่งพูดภาษาที่เป็นญาติกับภาษาเปอร์เชีย (ซึ่งก็เป็นหนึ่งในภาษาอินโดยูโรเปียน) และชนอีกกลุ่มคือชาวพัชตูน (Phushtuns) ที่พูดภาษาพัชโต นอกจากนั้นยังมีกลุ่มชนอื่นๆ อีก

หรือในจังหวัดไคเบอร์ พัคตูนควา (Khyber Pakhtunkhwa) ในภาคตะวันตกเฉียงเหนือ ที่ชนส่วนใหญ่คือชาวพัชตูน (ชื่อจังหวัดเองก็บอกอยู่แล้วว่าหมายถึงดินแดนของชาวพัชตูน) และชนกลุ่มอื่นๆ ส่วนจังหวัดใหญ่ทางใต้คือจังหวัดซินธ์ (Sindh) อันเป็นที่ตั้งของใจกลางอารยธรรมสินธุนั้น กลุ่มชนส่วนใหญ่คือชาวซินธ์ พูดภาษาซินธ์ ส่วนในจังหวัดปัญจาบ (Panjab) นั้น ชนส่วนใหญ่เป็นชาวปัญจาบี ปัจจุบันส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม แต่เดิมชนกลุ่มใหญ่ในแต่ละดินแดนเหล่านี้ ล้วนมีอิทธิพลทางการเมืองอย่างค่อนข้างเป็นเอกเทศจากกัน ต่างก่อตั้งนครรัฐอิสระก่อนการเกิดประเทศปากีสถานทั้งสิ้น

ข้อเท็จจริงนี้เองที่ทำให้ผู้นำชาวปากีสถานคนหนึ่ง ซึ่งเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และแถมทั้งตาและปู่ของท่านยังเป็นผู้ครองนครรัฐในดินแดนแห่งหุบเขาสวัต ได้สะท้อนความรู้สึกของพวกเขาให้ผมฟังในระหว่างทริปที่ผมเดินทางอยู่ในปากีสถานว่า “สำหรับผู้คนในปากีสถานนั้น สิ่งแรกที่พวกเขาจะคิดถึงก็คือญาติพี่น้องและชุมชนที่ตนเองอาศัยอยู่ ต่อจากนั้นเขาจะคิดถึงกลุ่มชาติพันธ์ุของพวกเขาเอง ก่อนที่จะคิดถึงศาสนาและความเป็นปากีสถาน”

นั่นอาจเป็นคำตอบหนึ่งต่อข้อสงสัยของหลายคนที่ว่า ทำไมนายอิมราน ข่าน (Imran Khan) นายกรัฐมนตรีคนล่าสุดของปากีสถานจึงมาจากพื้นที่ของชาวพัชตูน ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยของประเทศแต่เป็นชนกลุ่มใหญ่ในหุบเขาสวัต ทำนองเดียวกับอดีตนายกรัฐมนตรีหญิงที่ชื่อเบนาซี บุตโต ก็เป็นชาวซินธ์ผสมเคิร์ท

ผมคิดว่าเป็นเพราะอำนาจทางการเมืองในปากีสถานนั้นไม่ได้ถูกผูกขาดอยู่เฉพาะในจังหวัดใดจังหวัดหนึ่ง การไม่กระจุกตัวของอำนาจในชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง จึงน่าจะมีส่วนทำให้ปากีสถานจำเป็นที่จะต้องยอมรับความแตกต่างและความสำคัญของกลุ่มชนต่างๆ ให้ได้ เพื่อที่จะได้อยู่ร่วมกันได้โดยไม่เชิดชูความสำคัญของคนเพียงบางกลุ่มเหนือคนกลุ่มอื่นๆ อย่างหลายประเทศในอุษาคเนย์ รวมทั้งประเทศไทย

มิติหนึ่งที่สะท้อนการอยู่ร่วมกันอย่างผสมผสานความแตกต่างของวิถีชีวิตได้อย่างน่าประทับใจ ที่ผมสัมผัสได้ในระหว่างที่ไปเยือนปากีสถาน ก็คือการที่โบราณสถานทางพุทธศาสนาในดินแดนหุบเขาสวัต และดินแดนตักศิลาในภาคตะวันตกเฉียงเหนือนั้น ได้รับการดูแลเป็นอย่างดีในใจกลางของชุมชนมุสลิม

ยิ่งกว่านั้น ชาวมุสลิมในท้องถิ่นต่างๆ ที่พุทธสถานโบราณตั้งอยู่นั้นเอง เป็นทั้งนักโบราณคดีจากท้องถิ่นที่ดูแลท้องถิ่นตนเอง และยังเป็นผู้นำชมท้องถิ่นที่มีความรู้เกี่ยวกับพุทธสถานโบราณเป็นอย่างดี

เมื่อผมถามชาวพัชตูนที่มีส่วนดูแลศาสนสถานแห่งหนึ่งว่า การเป็นชาวมุสลิมแล้วต้องมาดูแลพุทธสถานนั้น รู้สึกอย่างไร เขาตอบว่า “ผมคิดว่าโบราณสถานเหล่านี้ไม่ได้เป็นของชาวพุทธหรือของคนอื่น แต่มันเป็นมรดกของท้องถิ่น เป็นมรดกของพวกเราทุกคน คนในพื้นที่ก็ต้องช่วยกันดูแล” ผมคิดว่าความเข้าใจแบบนี้น่าจะแพร่หลายอยู่ในชุมชนปากีสถานไม่น้อย พวกเขาจึงถือว่าเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบที่เป็นปกติ มากกว่าที่จะเป็นสิ่งแปลกปลอมของชุมชนหรือเป็นสิ่งที่พวกเขาไม่ต้องการ

ชาวมุสลิมในท้องถิ่นต่างๆ

สิ่งที่ผมพบเห็นได้ทั่วไปนับตั้งแต่เดินทางไปละฮอร์ เมืองหลวงของจังหวัดปัญจาบ เมืองลาร์คานาในลุ่มน้ำสินธุ จังหวัดซินธ์ เมืองต่างๆ ในหุบเขาสวัต จังหวัดไคเบอร์ พัคตูนควา รวมถึงกรุงอิสลามาบัด เมืองหลวงของประเทศปากีสถาน ก็คือความเป็นท้องถิ่นที่ผสมอยู่กับวัฒนธรรมอิสลาม หรือในบางถิ่นนั้น กล่าวได้ว่าศาสนาอิสลามไม่ได้มีความสำคัญเหนือวัฒนธรรมท้องถิ่นเลยก็ว่าได้ อย่างน้อยก็อาจเรียกว่าผสมผสานกันอย่างไม่ครอบงำหรือกีดกันวิถีชีวิตนอกอิสลาม ที่เห็นได้ชัดคือในละฮอร์ เมืองที่ผมคิดว่ามีเสนห์ลึกลับสั่งสมมานานหลายศตวรรษ

เมื่อแรกพบ ละฮอร์ในเดือนพฤษภาคมที่ผมรู้สึกได้ คือความร้อนระดับ 40 องศาเซลเซียสในตอนกลางวัน เวลาเดินไปไหนมาไหนกลางแจ้งก็จะเหมือนถูกแผดเผาในเตาอบตลอด ทำให้เข้าใจว่าทำไมเสื้อแขนยาวบางๆ กับผ้าคลุมหัวและคลุมหน้าจึงมีความสำคัญ ละฮอร์ตอนที่ผมไปเป็นช่วงเดือนรอมฎอนพอดี ตามท้องถนนจึงค่อนข้างเงียบเหงา ผู้คนบางตา เพราะผู้คนส่วนใหญ่อดอาหารกลางวัน เมื่อประกอบกับอากาศร้อน พวกเขาจึงลดกิจกรรมในเวลากลางวันลง จะออกนอกเคหสถานอีกทีก็ช่วงค่ำที่ผู้คนมักออกมากินอาหารเย็นในร้านอาหารกัน

แม้แต่ที่ที่น่าจะมีผู้คนพลุกพล่านอย่างในเขตกำแพงเมืองเก่า ที่ผ่านประตูเดลลี (Delhi Gate) เข้าไปก็จะเจอตลาดค้าส่งขนาดใหญ่ หากแต่ในช่วงเดือนรอมฎอน ช่วงกลางวันตลาดเงียบสงัด

ภาพส่วนหนึ่งของตลาดในกำแพงเมืองละฮอร์
ภาพส่วนหนึ่งของตลาดในกำแพงเมืองละฮอร์

ละฮอร์เผยให้เห็นการซ้อนทับกันของยุคสมัย วิถีชีวิต และผู้คน จากสถาปัตยกรรมที่มีตั้งแต่ศาสนาสถานของอิสลามและซิกข์ ที่ปะปนอยู่กับอาคารของอังกฤษในยุคอาณานิคม ลึกไปกว่านี้ ละฮอร์ยังเป็นเมืองที่ตั้งขึ้นมาตามคติฮินดู

ในหนังสือ Lahore: A Sentimental Journey (ละฮอร์ : เส้นทางสะท้อนใจ พิมพ์ครั้งแรกปี 1993) ที่ผมซื้อมาจากร้านหนังสือแห่งหนึ่งในละฮอร์ เขียนโดยปราน เนวิล (Pran Nevile) ผู้เป็นชาวละฮอร์ เล่าไว้ว่า ชื่อเมืองนี้มาจากคำในภาษาสันสกฤตว่า ‘ละโว้’ หรือ ‘ลพ’ (Loh, Lava) เป็นชื่อของหนึ่งในลูกแฝดของนางสีดาและพระราม ที่ปรากฏในเรื่องรามายณะ คำว่าละฮอร์เต็มๆ หมายถึง ‘ป้อมแห่งละโว้’ (Ford of Loh) หรือเมืองของลพ หรือลพบุรีในภาษาไทยนั่นเอง

กล่าวเฉพาะศาสนาซิกข์ ดินแดนปัญจาบที่ถูกแบ่งเป็นสองส่วนหลังการแยกประเทศปากีสถานออกจากอินเดีย ทำให้ละฮอร์กลายเป็นเมืองซิกข์ที่สำคัญนอกอินเดีย ศาสดาของซิกข์ก็เกิดในดินแดนปากีสถานปัจจุบัน ศาสนสถานสำคัญๆ ของซิกข์จึงตั้งอยู่ในละฮอร์

ส่วนศาสนสถานของอิสลามซึ่งส่วนใหญ่เป็นสถาปัตยกรรมสมัยโมกุล (Mughal) นั้น แทบไม่ต้องเอ่ยถึงว่ามีอยู่ดาดดื่นทั่วไปหมด บรรดาศาสนสถานและพระราชวังที่สร้างในสมัยโมกุลในละฮอร์นั้น ชวนให้ผมนึกถึงศาสนาสถานและพระราชวังโมกุลในเดลลีของอินเดียที่ผมเพิ่งไปมาก่อนหน้าที่จะไปละฮอร์เพียงไม่กี่เดือน ชาวละฮอร์ที่ผมพบหลายคนไม่เคยไปเดลลี เนื่องจากผลพวงที่สืบเนื่องมาตั้งแต่การแยกประเทศ หากแต่พวกเขากล่าวกันเป็นเสียงเดียวกันว่า ละฮอร์กับเดลลีนั้นเป็นเสมือนเมืองฝาแฝดกัน

ถ้าการซ้อนทับกันของศาสนาในละฮอร์ยังไม่ซับซ้อนพอ ก็ต้องไปดูเรื่องราวของทั้งประเทศปากีสถานที่เล่าไว้ในพิพิธภัณฑ์ละฮอร์ ซึ่งเอาอาคารสมัยโมกุลมาใช้เป็นอาคารพิพิธภัณฑ์ เฉพาะตัวอาคาร ตู้จัดแสดง และวิธีการจัดแสดงก็มีความเก๋า แลดูย้อนยุค ราวกับการจัดแสดงเหล่านี้มีมาเป็นร้อยปีแล้ว

พิพิธภัณฑ์ละฮอร์ โมกุล

ในชั้นแรกของพิพิธภัณฑ์ ห้องแรกแสดงภาพวาดในยุคโมกุล ในห้องถัดไป ด้านขวาเล่าเรื่องศาสนาซิกข์ ถัดไปอีกห้องเป็นศิลปะร่วมสมัยจำนวนหนึ่ง อีกห้องมีคัมภีร์เก่าแก่เก็บไว้เป็นจำนวนมาก ส่วนด้านซ้ายเล่าเรื่องศาสนาพุทธ พระพุทธรูปสำคัญๆ ในยุคคันธาระล้วนถูกเก็บและจัดแสดงอยู่ที่นี่ ถัดไปด้านในเป็นศาสนาเชน ซึ่งมีพัฒนาการที่สำคัญในปากีสถานเช่นกัน อีกห้องหนึ่งด้านซ้ายเก็บคัมภีร์ บันทึก ข้อเขียนของศาสนาอิสลามและสมัยโมกุล น่าเสียดายที่ห้องแสดงอารยธรรมสินธุกำลังปรับปรุงอยู่ จึงไม่มีการจัดแสดง ส่วนเรื่องราวเกี่ยวกับยุคสมัยใหม่อยู่ชั้นบน พร้อมกับคอลเลคชันขนาดใหญ่สำหรับเก็บและแสดงเหรียญทองโบราณ

หากพิพิธภัณฑ์ของทางการ เป็นสถานที่บอกเล่าถึงเรื่องราวแบบเป็นทางการของประเทศ ถามว่าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครของไทยเล่าเรื่องอะไรบ้าง ถ้าไม่ใช่เรื่องราวส่วนใหญ่เกี่ยวกับสยาม ส่วนกลาง และกรุงเทพฯ ขณะที่ภาคอื่นๆ กลุ่มชนอื่นๆ กลับแทบไม่มีให้เห็น แต่พิพิธภัณฑ์ละฮอร์ กลับเล่าเรื่องประวัติของชาติที่ซ้อนทับกันอย่างน่าตื่นเต้น ชาวคณะเราที่เข้าชมใช้เวลาร่วม 3 ชั่วโมงในการชม โดยที่ยังไม่ได้ลงรายละเอียดอีกมากมาย

สิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นประเทศพหุสังคมอย่างตั้งใจอีกประการหนึ่ง คือเรื่องศิลปะ ถึงแม้หลายคนจะเห็นว่าความแตกต่างระหว่างอินเดียกับปากีสถาน คือความแตกต่างด้านการเมืองและจุดเน้นทางศาสนา หากแต่ในความรับรู้ของผม อินเดียมีความเชิดชูศิลปะและวัฒนธรรมของชนชั้นสูง คือวรรณะกษัตริย์และพราหมณ์ แต่สำหรับปากีสถาน การแสดงศิลปะทำนองนี้มีให้เห็นน้อยกว่าการแสดงดนตรีพื้นเมือง ระบำชนเผ่า หรือไม่ก็ขยับไปเป็นดนตรีสมัยใหม่ที่ผสมผสานกับดนตรีพื้นเมืองไปเลย ปากีสถานลดทอนความเป็นฮินดูที่สะท้อนผ่านการเชิดชูวัฒนธรรมชนชั้นสูงลงไป แล้วยกเอาวัฒนธรรมของคนสามัญและชนพื้นเมืองมานำเสนอมากกว่า

ยิ่งกว่านั้น ทัศนศิลป์ของปากีสถานยังแสดงให้เห็นถึงความหลากหลายอย่างน่าประหลาดใจ นับตั้งแต่วันแรกของการไปเยือนสภาศิลปะแห่งละฮอร์ (Lahore Arts Council) ที่ชาวคณะเราไปลงนามความร่วมมือทางวิชาการด้วย กำลังมีการจัดแสดงผลงานของนักศึกษาศิลปะประยุกต์ ซึ่งเป็นผลงานแสดงก่อนจบการศึกษา นักศึกษาทั้งหมดเป็นนักศึกษาหญิงจากทั่วประเทศ สิ่งที่ทำให้ผมประหลาดใจคือ เนื้อหาของผลงานของนักศึกษาที่แสดงให้เห็นถึงการเปิดกว้างทางความคิด แม้ว่าศิลปินรุ่นใหม่เหล่านี้หลายคนจะเป็นนักศึกษามุสลิมก็ตาม

ผลงานนักศึกษาส่วนหนึ่งอาศัยการศึกษาค้นคว้าจากลวดลายประดับของศิลปะในปากีสถาน หรือในท้องถิ่นต่างๆ ในปากีสถาน มาพัฒนางานของตนเอง แต่ผลงานจำนวนมากก็อาศัยการค้นคว้าจากลวดลายจากต่างประเทศ แม้กระทั่งดินแดนห่างไกลอย่างในอเมริกาใต้และเอเชียตะวันออกไกล  มีผลงานนักศึกษามุสลิมคนหนึ่ง พัฒนาจากการศึกษางานศิลปะของจีนและญี่ปุ่น ไปเป็นแนวทางในการสร้างงานปักผ้าของเธอเอง นักศึกษาอีกคนหนึ่งทำงานปักผ้าเช่นกัน แต่เธออาศัยแรงบันดาลใจจากนิยายแฟนตาซีเรื่องแฮร์รี พอตเตอร์ มาสร้างลวดลายบนผ้าปัก นักศึกษามุสลิมอีกคนหนึ่งหลงใหลโดนัทแบบอเมริกัน เธอจึงทำหมอนต่างๆ ในรูปทรงและสีสันแบบโดนัท

ลักษณะเช่นเดียวกันนี้แสดงให้เห็นชัดเจนในหอศิลป์ของสภาศิลปะละฮอร์ ที่ซึ่งจัดแสดงผลงานของศิลปินที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นศิลปินแห่งชาติ รวมถึงศิลปินที่ได้รับการยกย่องในปากีสถาน ผมรู้สึกตื่นเต้นมากเพราะภาพที่สะสมไว้นั้น มีตั้งแต่ผลงานที่เล่าเรื่องจากมหาภารตะ ศิลปะมุสลิมแบบเคร่งครัด เช่น ภาพอักษรประดิษฐ์แสดงข้อความสำคัญจากอัลกุรอาน ไปจนถึงภาพคนสามัญ ภาพชีวิตในเมืองละฮอร์ ภาพชีวิตชาวนา กระทั่งภาพนามธรรม และผลงานในแนวทางศิลปะร่วมสมัยแบบต่างๆ

 ภาพ Maha Bahrata โดย Ustad Allah Bux
ภาพ Maha Bahrata โดย Ustad Allah Bux ภาพสีน้ำมันบนผ้าใบขนาด 137 x 98 ซม.

มีศิลปินคนหนึ่งที่ผมให้ความสนใจเป็นพิเศษคือ เมอร์โตซา บาชีร์ (Murtoza Bashir) เนื่องจากข้อความแคปชั่นใต้ภาพหนึ่งในหอศิลป์บรรยายว่า ศิลปินท่านนี้เป็นศิลปินบังคลาเทศ เป็นนักวาดการ์ตูน สนใจศิลปะหลากหลายแนวทาง ทั้งศิลปะที่ให้ภาพ ศิลปะกึ่งนามธรรม ศิลปะนามธรรมบริสุทธิ์ ผลงานของเขามักมีรูปทรงเรขาคณิตเป็นส่วนประกอบเสมอ นอกจากนี้เขายังทำภาพยนตร์และเขียนวรรณกรรมด้วย

เหนืออื่นใดคือ เมอร์โตซา บาร์ชี คนนี้ยังเป็น ‘Language movement activist’ (นักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวเรื่องภาษา) ซึ่งเป็นวลีที่ผมสงสัยมากที่สุด ภัณฑารักษ์ของหอศิลป์อธิบายว่า ศิลปินผู้นี้เป็นอยู่ในกลุ่มของปัญญาชนที่เรียกร้องให้ปากีสถานให้ความสำคัญกับภาษาอังกฤษ​ควบคู่ไปกับภาษาอูรดู นอกเหนือจากภาษาท้องถิ่นต่างๆ นักกิจกรรมกลุ่มนี้เห็นว่า ความก้าวหน้าของปากีสถานจะมีไม่ได้หากไม่ส่งเสริมให้คนรุ่นหลังเรียนรู้ศิลปะวิทยาการจากประเทศที่มีความก้าวหน้า ซึ่งอาศัยภาษาอังกฤษเป็นสื่อกลาง

ภาพ Mother and Child ปี 1959 ของ Murtoza Bashir
ภาพ Mother and Child ปี 1959 ของ Murtoza Bashir สีน้ำมันบนผ้าใบ 65×94 ซม.

ผลงานของนักศึกษาและศิลปินรุ่นใหญ่ของปากีสถานเหล่านี้ ล้วนชี้ให้เห็นการให้อิสระแก่นักศึกษา ที่ไม่จำกัดอยู่แต่เฉพาะการอาศัยศิลปะเชิงประเพณีหรือศิลปะพื้นบ้านของปากีสถานเท่านั้น หากแต่นักศึกษาสามารถนำเอาศิลปะจากที่ไหนในยุคไหนก็ได้ มาเป็นแรงบันดาลใจในการพัฒนาผลงานของตนเอง

ในแง่ของศิลปะในดินแดนมุสลิม ผลงานของนักศึกษาเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า สถาบันศิลปะอย่างสภาศิลปะละฮอร์ ซึ่งถือว่าเป็นสถาบันศิลปะที่เป็นเสาหลักแห่งหนึ่งของประเทศปากีสถาน ไม่ได้จำกัดรูปแบบการแสดงออกทางศิลปะ ว่าจะต้องสะท้อนแนวคิดของศาสนาอิสลามเท่านั้น ไม่จำเป็นที่ศิลปะจะต้องรับใช้ศาสนาและเดินตามขนบของศิลปะอิสลามอย่างเคร่งครัด สถาบันแห่งนี้จึงแทบจะไม่จำกัดรูปแบบและเนื้อหาของผลงานใดๆ

อย่างไรก็ดี ปากีสถานไม่ได้งดงามสดใสไร้ตำหนิ หากแต่เป็นดินแดนที่มีความขัดแย้งคุกรุนอยู่ตลอดเวลา และไม่ได้สวยหรูก้าวหน้าไปกว่าประเทศไหนๆ ในเอเชียใต้ แต่นับว่าเป็นประเทศหนึ่งที่สามารถค้นหาทิศทางของตนเองได้อย่างน่าสนใจและชวนให้ศึกษา ที่สำคัญคือ ในฐานะดินแดนที่ประกาศตนว่าเป็นประเทศมุสลิม หากแต่ก็ไม่ได้นำเอาแนวทางของศาสนาอิสลามมาครอบงำวิถีชีวิตแบบอื่นๆ อย่างเบ็ดเสร็จ ปากีสถานยังคงอนุญาตและเปิดกว้างต่อความเป็นอื่นที่นอกเหนือจากอิสลาม รวมถึงเปิดรับและเรียนรู้เรื่องราวจากโลกภายนอกเสมอ

ในดินแดนอุษาคเนย์ที่เต็มไปด้วยความหลากหลาย ทั้งดินแดนที่เป็นพุทธ อิสลาม หรือแม้แต่ดินแดนที่มีผู้คนหลากหลายชาติพันธ์ุอาศัยอยู่ร่วมกัน ผมยังหวังว่าชาวอุษาคเนย์ที่เป็นชนส่วนใหญ่ผู้ครองอำนาจอยู่ จะไม่เคร่งครัดต่อผู้อื่นที่เป็นกลุ่มชนส่วนน้อยจนเกินไป หวังว่าเราจะยอมรับความแตกต่างและความก้าวหน้าจากโลกอื่นๆ ที่พ้นไปจากกวิถีชีวิตที่เราเลือก ตลอดจนยอมรับแบบแผนชีวิตที่หลากหลายจากซีกโลกตะวันตก เข้ามาร่วมปฏิสัมพันธ์กับภูมิภาคเราอย่างสร้างสรรค์

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save