fbpx

20 ผลงานใหม่ ยอดอ่านสูงสุดของ The101.World เดือนพฤษภาคม 2564

Spotlight ประจำเดือนพฤษภาคม 2564

เปิดคลาสเสมอภาค รื้อบทเรียนโควิด-19

เป็นเวลากว่า 1 ปีแล้วที่วิกฤตโควิด-19 มาปั่นป่วนโลกการเรียนรู้จนรั้วโรงเรียนต้องปิดลง

โรงเรียนหยุด แต่แน่นอนว่าการเรียนรู้ต้องไม่หยุด ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา โลกการศึกษากลายเป็นห้องทดลองขนาดใหญ่เพื่อค้นหาทางออกจากวิกฤตการเรียนรู้ท่ามกลางโรคระบาด พยายามรักษาไม่ให้การเรียนรู้ของเด็กนักเรียนคนใดต้องหล่นหายไประหว่างทาง

แต่หลายบทเรียนที่เร่งรัดสังเคราะห์ออกมาจากห้องทดลองตลอดปีต่างยังตอบโจทย์ปัญหาใหญ่ ‘ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา’ ที่ทวีความหนักหน่วงได้ไม่หมดจดนัก

ในสภาวะที่โลกการเรียนรู้จะไม่มีวันกลับไปเป็นเหมือนเดิม บทเรียนฝ่าความเหลื่อมล้ำที่วิกฤตโควิด-19 ฝากไว้คือสิ่งที่ต้องนำกลับมาทบทวนและรื้อสร้างใหม่ เพื่อพาการศึกษาก้าวต่อไปสู่ปลายทางแห่งความเสมอภาคอย่างแท้จริง

101 ร่วมกับ กสศ. กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ขอชวนคุณเปิดคลาสเรียนเพื่อความเสมอภาค ย้อนสำรวจความเปลี่ยนแปลงของโลกการศึกษาหลังโควิด-19 แนวทางและองค์ความรู้ในการจัดการศึกษาใหม่ๆ ที่น่าสนใจ หนทางไปสู่ระบบการศึกษาที่ดีกว่า ผ่านบทความ บทสัมภาษณ์ และสื่อรูปแบบต่างๆ ตลอดช่วงเดือนพฤษภาคมนี้

20 ผลงานใหม่ ยอดอ่านสูงสุดของ The101.World เดือนพฤษภาคม 2564

ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์

“การต่อสู้กับโรคระบาดเป็นการทำสงคราม คุณจะแพ้ไม่ได้” ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์

โดย ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์

“สิ่งที่ผมไม่รู้ว่ารัฐบาลเข้าใจหรือเปล่าคือ การต่อสู้กับโรคระบาดเป็นการทำสงคราม คุณจะแพ้ไม่ได้ ไม่ว่าด้วยราคาเท่าไหร่ ”

101 สนทนากับ ศ.นพ.ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์ รักษาการรองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สายงานบริหารการวิจัยและพัฒนา ในฐานะแพทย์และนักวิจัยด้านระบาดวิทยา ว่าด้วยการจัดการวิกฤตโรคระบาดและการกระจายวัคซีน และบทสนทนาทั้งหมดเป็นความเห็นส่วนตัวของ ศ.นพ.ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์ โดยไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรใดๆ

“ตัวเลขที่ฉีดวัคซีนได้ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 15,000 โดสต่อวัน เดือนหนึ่งฉีดได้ 450,000 โดส ต่อให้เราสมมติ ปัดให้เดือนหนึ่งฉีดได้ 1 ล้านโดส กว่าจะฉีดได้ 50 ล้านโดสก็ใช้เวลาประมาณ 4 ปี 100 ล้านโดสก็ 8 ปี ระหว่างนี้ไปจนถึงอนาคตข้างหน้า คุณก็ต้องใช้ชีวิตไม่ต่างจากวันนี้ นี่ยังไม่นับว่าจะมีเชื้อที่กลายพันธุ์โผล่มาอีกนะ”

“โดยทั่วๆ ไป เชื้อสายพันธุ์ใหม่มักจะไม่ขาดจากสายพันธุ์เก่าร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้นพวกที่มีภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์เก่าเยอะมักจะพอทนได้ วิธีหนึ่งที่อเมริกากำลังลองทำอยู่คือฉีดเข็มที่สาม เพื่อทดสอบดูว่าช่วยป้องกันสายพันธุ์ใหม่ไหม ก็ต้องลองดู ในขณะเดียวกันก็ต้องเตรียมการสำหรับสายพันธุ์ใหม่ไปเรื่อยๆ ต้องวิ่งไล่มัน อย่างระบบของไข้หวัดใหญ่จะมีการเตรียมการเป็นประจำ ทุกๆ ปีจะมีการสำรวจสายพันธุ์ทั่วโลกแล้วตัดสินใจว่าเราจะทำวัคซีนตัวไหนบ้าง 3 ตัว ผลิตแล้วผสมเข้าด้วยกัน แล้วก็ฉีดพร้อมกัน 3 ตัว ดังนั้นวันหนึ่งเราก็อาจต้องฉีดวัคซีนหลายตัวที่ผสมอยู่ด้วยกัน”

“ประเทศเดนมาร์กก็มีวิธีคิดง่ายๆ คือ เขามีทางเลือก เขาไม่เอาวัคซีนที่มีผลข้างเคียง ทิ้งไปเลย ส่วนประเทศอย่างอังกฤษ อเมริกา เยอรมัน เขาก็บอกว่า คนอายุเกิน 60 ฉีดแล้วไม่เป็นไร งั้นฉีดวัคซีนนี้ให้คนที่อายุเกิน 60 ก็แล้วกัน ส่วนคนอายุน้อยกว่า 60 ก็ไปฉีดวัคซีนอย่างอื่น ปัญหาของบ้านเราก็คือ เราไม่มีทางเลือกให้”

“ประเทศไทยมีวิธีฉีดวัคซีนที่มีประสิทธิภาพคือระบบการฉีดวัคซีนให้เด็ก เพราะเรารู้ว่าถ้าเราจะฉีดวัคซีนให้เด็กทุกคน เราจะต้องมุ่งไปที่โรงเรียนหรือคลินิกเด็ก เราจัดระบบไว้หมด เด็กทุกคนได้ฉีดหมด ไม่เล็ดรอด เพราะเมื่อเด็กอยู่ในโรงเรียนแล้วจะมีทะเบียนครบทุกคน ฉีดได้ง่าย ไม่มีปัญหา แต่ถ้าถามว่าเราจะฉีดวัคซีนโควิดให้ผู้ใหญ่ทุกคนได้ที่ไหน ไม่มีใครรู้ หากเรายังไม่รู้และใช้วิธีฉีดมั่วๆ แบบนี้ ฉีดเท่าไหร่ก็ไม่ครบหรอก”

“ผมคิดว่ามีปัญหาในการให้ข้อมูล หนึ่ง เขาไม่สามารถสร้างความเชื่อใจได้ ผมคิดว่านี่คือปัญหาสำคัญที่สุด การทำงานแบบนี้ถ้าคุณไม่ได้รับความเชื่อใจตั้งแต่ต้น อย่างไรก็ทำไม่สำเร็จ รับประกันได้ สอง เขาไม่ได้ใช้โอกาสนี้ในการสื่อสารข้อมูลที่จำเป็น ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น ข้อเท็จจริงว่าการกักตัวคนไข้ในโรงพยาบาลสนามจะไม่ทำให้คนไข้ติดเชื้อกัน ทำไมคุณไม่บอกชาวบ้านล่ะ พอมีสื่ออธิบาย คนก็บอกว่าดีจัง สงสัยมานาน นี่เป็นความรู้ที่รู้กันทั่วไป ทำไมรัฐบาลต้องปล่อยให้ชาวบ้านสงสัยอยู่”

ทำไมเหล่าคนดีถึงพร้อมที่จะทำเลว?

ทำไมเหล่าคนดีถึงพร้อมที่จะทำเลว?

โดย รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์

เชื่อว่าคงมีคนจำนวนไม่น้อยที่เคยคลิกเข้าไปเจอโปรไฟล์ของผู้ใจบุญสุนทาน แชร์คติธรรมคำพระ แถมยังโพสต์รูปนุ่งขาวห่มขาวอย่างสม่ำเสมอ แต่กลับแสดงพฤติกรรมไร้จริยธรรม เมื่อเจอกับกลุ่มผู้เห็นต่างทางการเมือง

รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์ หาคำตอบในเชิงเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมว่า ทำไมเหล่าคนที่คิดว่าตัวเองเป็นคนดีมีศีลธรรม ถึงมักทำเลว

ในทางจิตวิทยา Moral Licensing คือกระบวนการหลอกตัวเองว่าเราสามารถกระทำพฤติกรรมแย่ๆ ได้เพราะเรามีพฤติกรรมดีๆ ที่เคยกระทำมาในอดีต คล้ายกับว่ามีแต้มบุญหนุนนำ ทำให้มี ‘เครดิต’ ในการทำเรื่องเลวร้ายในอนาคต นั่นหมายความว่าเหล่ามนุษย์ปุถุชนที่ทำตัวน่ารักแสนดีในตอนต้น พร้อมจะกลายร่างเป็นปีศาจที่ฉ้อฉลในภายหลัง

นอกจากนี้ ยังมีอคติเชิงพฤติกรรมที่คล้ายคลึงกันอีกสองรูปแบบคือ ‘การชำระล้างทางศีลธรรม’ (Moral Cleansing) ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อเรามองเห็นตัวเอง ‘แปดเปื้อน’ ขณะที่เราระลึกถึงการกระทำที่เลวร้ายในอดีต จะส่งผลให้เราทุรนทุรายอยากจะเป็นคนดีเพื่อปรับอัตลักษณ์ของตนเองให้กลับมางดงามอีกครั้ง

อีกรูปแบบหนึ่งคือ ‘การได้รับอนุญาตทางศีลธรรมล่วงหน้า’ (Prospective Moral Licensing) หมายถึงความพร้อมที่จะทำตัวแย่ๆ หากสัญญากับตัวเองในอนาคตว่าจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ดีขึ้น เช่น หากใครตั้งใจว่าจะเลิกเหล้าช่วงเข้าพรรษา ก็จะมีแนวโน้ม ‘อนุญาต’ ให้ตัวเองเมาหัวราน้ำทุกวันในช่วงหนึ่งสัปดาห์ (หรือมากกว่า) ก่อนจะถึงหมุดหมายในการปรับพฤติกรรม

ผมขอโทษ

ผมขอโทษ

โดย วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

ผมขอโทษที่คนรุ่นผมจำนวนมาก…

ทำให้ความฝันอันแสนงามของเด็กรุ่นใหม่พังทลายโดยสิ้นเชิง

ความฝันที่อยากเห็นความยุติธรรม ความฝันที่อยากเห็นความเท่าเทียมกัน ความฝันที่อยากเห็นการบังคับใช้กฎหมายอย่างเสมอภาค และความฝันที่อยากเห็นว่าทุกคนมีสิทธิ์มีเสียงเป็นเจ้าของประเทศเหมือนกัน

ผมขอโทษจริงๆ ครับ

ไบเดนขับเคลื่อนแผนเศรษฐกิจใหญ่ได้อย่างไรท่ามกลางความแตกแยก

ไบเดนขับเคลื่อนแผนเศรษฐกิจใหญ่ได้อย่างไรท่ามกลางความแตกแยก

โดย อาร์ม ตั้งนิรันดร

“มีคนเคยปรามาสว่าไบเดนคงเป็นประธานาธิบดีที่ชราและขาดพลัง แต่ปรากฎว่า 100 วันแรกของไบเดนกลับเป็นช่วงเวลาที่น่าตื่นเต้นและเปี่ยมด้วยพลังสร้างสรรค์ที่สุดช่วงหนึ่งของการเมืองสหรัฐฯ … เดินหน้าเชิงรุกเต็มสูบด้วยการประกาศแผนการใหญ่สามแผนซ้อน ซึ่งหากผลักดันสำเร็จ จะมีผลปฏิวัติทิศทางของเศรษฐกิจการเมืองสหรัฐฯ ชนิดพลิกโฉม”

“ส่วนหนึ่งที่ไบเดนประสบความสำเร็จในการผลักดันนโยบายที่ก้าวหน้า เป็นเพราะไบเดนเป็นคนผิวขาวที่สูงวัย การเมืองสหรัฐฯ เป็นการเมืองเรื่องอัตลักษณ์ (Identity Politics) พวกใครพวกมัน เชื่อพวกมากกว่าเชื่อเหตุผล คนผิวขาวและคนสูงวัยเป็นคนกลุ่มอนุรักษนิยมกลุ่มใหญ่ในสหรัฐฯ คนกลุ่มนี้แต่เดิมจะมีความระแวงแคลงใจโอบามา ซึ่งเป็นคนหนุ่มผิวสีที่หัวก้าวหน้าและเปี่ยมด้วยพลัง…ไบเดนไม่มีปัญหานี้ คนผิวขาวและคนสูงวัยไม่ได้รู้สึกว่าไบเดนมีอะไรซ่อนเร้นจะมาคุกคามหรือทำลายประโยชน์ของพวกเขา”

“ไบเดนพยายามสื่อสารกับคนสหรัฐฯ ว่า หากสหรัฐฯ ไม่เดินหน้าสร้าง ไม่เอาอุตสาหกรรมกลับมา ไม่ทำให้ดีขึ้น (Build Back Better) สหรัฐฯ จะแพ้ในศึกชิงมหาอำนาจกับจีน ในการปลุกกระแสของไบเดนนั้น เขาไปถึงระดับที่ว่านี่เป็นเดิมพันอนาคตโลกว่าจะตกอยู่ใต้เสรีนิยมหรืออำนาจนิยม”

“ภายใต้รัฐที่ดูเหมือนจะล้มเหลวและสังคมไทยที่แตกแยกอย่างหนักในปัจจุบัน ก็อาจเป็นโอกาสให้เกิดฉันทามติร่วมที่จะปฏิวัติฐานคิดด้านเศรษฐกิจการเมืองของสังคมไทย ปัจจัยกดดันรอบด้านของเราก็ครบถ้วน ทั้งวิกฤตเศรษฐกิจใหญ่จากโควิดที่ผลักให้เราต้องคิดการใหญ่ ทั้งความจริงที่ชัดเหลือเกินว่าถ้าเราไม่ปรับทิศทางขนานใหญ่ ต่อไปไทยก็คงจะแพ้เพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม”

วัคซีน

3 ‘V’ แห่งความท้าทายเศรษฐกิจไทย

โดย สันติธาร เสถียรไทย

สันติธาร เสถียรไทย เขียนถึง สามความท้าทายที่เข้ามาปั่นป่วนเศรษฐกิจไทยและต้องฝ่าฟันให้ได้ในย่างก้าวเข้าปีที่ 2 ของการระบาดของโควิด-19

1. V – Variants ‘การกลายพันธุ์’

2. V – Vaccine ‘วัคซีน’

3. V – Vulnerable ‘ความเปราะบาง’

“…ประเทศที่เข้าใจและให้ความสำคัญกับการกระจายความเสี่ยง รู้จักเผื่อเหลือเผื่อขาด วางแผน วางฉากทัศน์เป็น ใช้ข้อมูลประเมินผลตลอดเวลา ยอมรับผิดปรับตัวได้เร็ว จะเป็นผู้ที่ได้ ‘V’ ตัวสุดท้าย คือ Victory หรือชัยชนะในสงครามโควิดก่อนใคร”

ผมเป็นผู้พิพากษาของพระเจ้าอยู่หัว: อุดมการณ์และนักกฎหมายผู้ผ่านเหตุการณ์พฤษภา 35

ผมเป็นผู้พิพากษาของพระเจ้าอยู่หัว: อุดมการณ์และนักกฎหมายผู้ผ่านเหตุการณ์พฤษภา 35

โดย สมชาย ปรีชาศิลปกุล

สมชาย ปรีชาศิลปกุล ชวนมองอุดมการณ์ของผู้พิพากษาที่ผ่านเหตุการณ์พฤษภา 2535 อันสะท้อนกระแสความคิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ในห้วงเวลานั้น และชวนย้อนมองถึงความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายตุลาการกับสถาบันฯ นับแต่อดีต

เคยมีข้อความที่ส่งต่อกันว่ามีผู้พิพากษาคนหนึ่งช่วยเหลือหญิงที่นั่งร้องไห้อยู่ที่ศาลให้ได้ประกันตัวแม่และน้องชาย แม้เวลานั้นศาลจะปิดแล้ว โดยผู้พิพากษาคนนั้นบอกว่า “ผมเป็นผู้พิพากษาของพระเจ้าอยู่หัว”

ผู้พิพากษาคนนั้นเคยร่วมชุมนุมในเหตุการณ์พฤษภา 2535 จนถูกยิงบาดเจ็บและได้ของเยี่ยมพระราชทาน นำมาสู่อุดมคติการทำงานของเขาจนเกิดประโยคดังกล่าว

“ถ้อยคำที่ถูกหยิบยกมานับเป็นสิ่งที่ชวนให้พิจารณาเป็นอย่างมากว่ามีความหมายอย่างไร การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนเชื่อมโยงสถานภาพระหว่างผู้พิพากษาและพระมหากษัตริย์ในลักษณะเช่นใด เฉพาะอย่างยิ่งหากคำนึงถึงว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ในปัจจุบันดำรงอยู่ในรูปแบบพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญ มิใช่การปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์”

ขนมปังลูกเกด สูตรคำ ผกา

ขนมปังลูกเกดในเหล้ารัม

โดย คำ ผกา

#กับข้าวกับแขก ตอนใหม่ คำ ผกา ชวนอบขนมปังครีมชีสโรยลูกเกดแช่เหล้ารัม ขมมปังอบที่ใครๆ ก็ว่าทำยาก ถูกไขรหัสลับแล้วผ่านไวรัลในอินเทอร์เน็ตและเคล็ดไม่ลับของ คำ ผกา

“ฟากฝั่งประเทศอังกฤษมีไวรัลการทำขนมปังครีมชีส เหมือนว่ามีแม่บ้านสักคนหนึ่งโพสต์คลิปการทำขนมปังครีมชีส นุ่มๆ หยุ่นๆ เด้งดึ๋ง เด้งดึ๋ง เหมือนก้นเด็ก และวิธีการทำของมันก็ช่างง่ายดาย คนก็เลยแห่ทำตาม และใครๆ ก็ทำสำเร็จ อีรูปขนมปังครีมชีส เด้งดึ๋งๆ ก็เป็นไวรัลไปทั่วโลกออนไลน์จนลามมาที่ฝั่งญี่ปุ่น เกาหลี บรรดาบล็อกเกอร์และยูทูบเบอร์ นักทำอาหาร ทำขนมปัง ก็ทำคลิปสอนทำขนมปังครีมชีสเด้งดึ๋งนี้ออกมาจนคนดูเป็นล้านครั้งอย่างไม่น่าเชื่อ และฉันก็เป็นหนึ่งในเหยื่อของไวรัลนี้ด้วย”

“ฉันอยากให้ทุกคนที่อ่านคอลัมน์นี้มาลองสัมผัสเนื้อขนมปังสูตรนี้ดู เรียกว่าได้ว่า ถ้านุ่มกว่านี้ก็น้ำยาปรับผ้านุ่มแล้วแหละ นุ่ม หยุ่น เนียน อ่อนโยน แต่ไม่ฟ่าม ไม่ยุบ ลูกเกดหอมกลิ่นเหล้ารัมอ่อนๆ มันอร่อยมาก มากจริงๆ ขนมปังที่เราทำเองไม่มีการเติมสารเสริมอะไรให้ฟูและนุ่มผิดปกติ มันจะเป็นความนุ่มจากวัตถุดิบ ใส่อะไรลงไปก็ได้อย่างนั้น”

เมื่อปีศาจจับคู่ร่ายรำ: ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ-ทุน ในเกาหลีใต้ ไต้หวัน สิงคโปร์ สู่บทเรียนต่อไทย

เมื่อปีศาจจับคู่ร่ายรำ: ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ-ทุน ในเกาหลีใต้ ไต้หวัน สิงคโปร์ สู่บทเรียนต่อไทย

โดย แบ๊งค์ งามอรุณโชติ

“ในโลกทางวิชาการมักเปรียบเปรย ‘รัฐ’ ว่าเป็นปีศาจชื่อ ‘เลวิอาธาน’ (Leviathan) ซึ่งเป็นผู้ผูกขาดความรุนแรง สามารถควบคุมสังคมให้อยู่ในระเบียบได้ด้วยอำนาจ และเปรียบภาคธุรกิจหรือ ‘นายทุน’ เสมือนปีศาจที่ชื่อ ‘มัมมอน’ (Mammon) ซึ่งเป็นตัวแทนของความโลภและการสะสมทุน”

“ปีศาจสองตนนี้สามารถก่อให้เกิดได้ทั้ง ‘ปัญหา’ และ ‘การพัฒนา’ ขึ้นอยู่กับว่าปีศาจทั้งสองจะร่วมมือกันใช้พลังของตนเองไปในทิศทางใด เพราะฉะนั้น การศึกษารูปแบบความร่วมมือระหว่างรัฐและทุน (The State-Business Relations) จึงมีความสำคัญมาก”

แบ๊งค์ งามอรุณโชติ พาดูการจัดรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและกลุ่มทุน ในเกาหลีใต้ ไต้หวัน และสิงคโปร์ พร้อมถอดบทเรียนสู่ประเทศไทย

“รัฐไทยเน้นสร้างพันธมิตรการพัฒนากับทุนธุรกิจครอบครัวในประเทศและทุนข้ามชาติ จึงเหมือนกับการผสมผสานแนวทางแบบเกาหลีใต้และสิงคโปร์เข้าด้วยกัน แต่ทว่า เนื้อในความสัมพันธ์แล้วแตกต่างกันมาก เพราะรัฐไทยนั้นอ่อนแอ ขาดประชาธิปไตยที่ตั้งมั่น รวมทั้งไม่สามารถต่อรองหรือกำกับทิศทางทุนธุรกิจครอบครัวและทุนข้ามชาติได้อย่างเต็มที่”

“สภาวะก้ำกึ่งเช่นนี้ทำให้ไทยมีความเหลื่อมล้ำสูง และขาดโอกาสที่จะรับเทคโนโลยีหรือผลักดันการใช้แรงงานทักษะโดยทุนข้ามชาติ ดังนั้น เพื่อพาประเทศไทยหลุดไปจากข้อเสียทั้งสองด้านนี้ รัฐจำเป็นที่จะต้องปรับความสัมพันธ์กับกลุ่มทุนเสียใหม่”

อ่าน (หนัง) บางระจันใหม่ ในฐานะแฟนตาซีของวันสิ้นชาติ และอุดมการณ์ชาตินิยมที่ไม่มีราชาในนั้น

โดย ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์

ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ ชวนอ่านหนังบางระจันใหม่ในวาระครบรอบ 21 ปี ตำนานบางระจันทำหน้าที่อะไรในสังคมไทยทั้งก่อนหน้านี้และในปัจจุบัน และชวนตั้งข้อสังเกตว่าเรื่องเล่าการต่อสู้ของชาวบ้านมีอุดมการณ์อะไรอยู่เบื้องหลัง

“หากอุปมาพม่าในบางระจัน ฉบับสงครามเย็นเป็นพวกคอมมิวนิสต์แล้วละก็ พม่าในบางระจัน ฉบับต้มยำกุ้งจะเป็นใครไม่ได้นอกจากชาวต่างชาติที่โจมตีค่าเงินบาทและ IMF เจ้าหนี้ที่เข้ามาช่วยเหลือและบีบให้รัฐบาลเสียอิสรภาพทางนโยบายการเงินจนทำให้เสี่ยงต่อการเสียเอกราชทางเศรษฐกิจ หรือหากตีความไปไกลอีกนิด นักการเมืองและระบบราชการก็เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาไม่แพ้กับรัฐบาลกรุงศรีอยุธยา”

“น่าสังเกตว่า ถึงแม้บางระจันจะจุดกระแสการโหยหาอดีต ความเป็นไทยและกระแสชาตินิยม แต่ก็ไม่อาจกล่าวได้ว่าสามารถเหมารวมได้กับกระแสราชาชาตินิยม หรือพูดแบบหยาบๆ คือ บางระจันทำให้ชาตินิยมจุดติด แต่เป็นกระแสชาตินิยมที่ยังไม่มีราชาอยู่ในนั้น ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่”

“เนื่องจากว่าหนังบางระจันไม่สามารถเชิดชูสถาบันกษัตริย์ได้อย่างตรงไปตรงมา ดีไม่ดีอาจเป็นความผิดพลาดของชนชั้นนำด้วยซ้ำที่ทำให้บางระจันล่มสลายลง และดังที่เสนอไปแล้วว่าหนังเน้นย้ำถึงการรักษาชีวิตและปกป้องบ้านเกิด มากกว่าจะเป็นการพลีชีพเพื่อชาติ”

“บางระจันจึงอาจเป็นบทประพันธ์หลงยุคที่ไม่อาจอยู่ในกรอบประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยมได้ เพราะมันเข้ากับอุดมการณ์ที่มีศูนย์กลางอยู่ที่ราษฎรมากกว่า”

ประวีณมัย บ่ายคล้อย

หลังเวทีผู้ประกาศข่าว ‘ประวีณมัย บ่ายคล้อย’

โดย ภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์

“ถ้าผู้ประกาศข่าวไม่เคยลงพื้นที่ไปสัมผัสชีวิต คุณอาจพูดได้ไม่เต็มปากเต็มคำว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเดือดร้อนแค่ไหน จะพัฒนาไปยังไง มีมุมไหนต้องติดตาม”

101 ชวน ประวีณมัย บ่ายคล้อย ผู้ประกาศข่าวผู้จัดเจนในสนามสื่อทีวี มาเล่าเบื้องหลังการทำงานกว่า 20 ปี ว่าเธอตกผลึกอะไรจากการทำหน้าที่ผู้ประกาศข่าวของสื่อสาธารณะและสื่อธุรกิจ และเมื่อรายการข่าวบนทีวีต้องการเรตติ้งเพื่อสร้างกำไรแก่องค์กร ผู้ประกาศข่าวควรทำหน้าที่อย่างไร

“การลงพื้นที่สำคัญและจำเป็นมากสำหรับผู้ประกาศข่าว เมื่อเทียบระหว่างการอ่านข่าวที่นักข่าวเขียนมาให้ อ่านข่าวบนหน้าหนังสือพิมพ์ และการที่เราลงพื้นที่ไปเห็นด้วยสายตาเราเอง อย่างหลังจะทำให้เรามีความรู้สึกต่อเหตุการณ์นั้นๆ รู้สึกว่าต้องช่วยแก้ปัญหา”

“ทักษะที่สำคัญของผู้ประกาศคือฟังพูดอ่านเขียน คุณต้องสามารถพูดถ่ายทอดเรื่องราวให้คนเชื่อและสบายใจ ไม่รู้สึกรำคาญเพราะพูดผิดๆ ถูกๆ วรรคตอนผิด ต้องฟังจับประเด็นให้ได้เพื่อนำเสนอข่าวให้ได้กระชับและถูกต้อง หรือกระทั่งตอนออนแอร์สดอยู่ เรามีหน้าที่รายงานข่าวโดยที่ข้างหลังฉากจะวุ่นวายมาก มีทั้งทีมไดเรคเตอร์ บก. คอยพูดเข้ามาในหูเรา อาจต้องเก่งถึงขั้นปากกำลังพูด แต่หูเราต้องฟังว่าเขาบอกอะไร”

“คนในองค์กรสื่อเชิงพาณิชย์ปฏิเสธไม่ได้ว่าอยู่ได้ด้วยโฆษณา แต่จะเป็นโฆษณาแบบไหนที่ไม่แทรกแซงการทำงานของกอง บก. เป็นสิ่งที่ต้องออกแบบกัน เราต้องบาลานซ์กันระหว่างการทำงานข่าวและทุนที่จะเข้ามา”

สนทนากับ Watchman : ความงามในซีรีส์ และมังกรในการเมืองไทย

โดย ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

“ประโยชน์ของการดูซีรีส์คือทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ ในชีวิตจริงยากที่เราจะไปตัดสินคนอื่นว่าถูกหรือผิด เพราะเขามีเรื่องราวของเขา เราไม่ได้รู้เรื่องทั้งหมด แต่ในแง่ของหนังหรือซีรีส์ อะไรที่เราลงเวลา เงิน และโอกาสไป เรามีสิทธิ์ที่จะวิพากษ์วิจารณ์

“แล้วการวิพากษ์วิจารณ์นี้ก็นำไปสู่การขบคิดวิเคราะห์ว่าเป็นอย่างไร อันไหนดีไม่ดี ถูกไม่ถูก ควรไม่ควร ฝึกหาคำตอบและฝึกมองภาพรวมให้ชัด เหมือนฝึกเล่นกล้าม ทำให้คนวิเคราะห์ได้ดีขึ้น”

“แง่ที่สอง คือทำให้เราฉุกคิด มันจี้ใจเราให้มองโลกความเป็นจริง เช่น เราเห็นคิงจอฟฟรีย์ในเกมออฟโธรนส์ เราก็ตั้งคำถามกับตัวเองว่า ทำไมเราถึงจะโอเคกับการที่เขาอยู่ในตำแหน่งนั้น ทั้งที่เขาทำคนอื่นเดือดร้อน นิสัยไม่ดี ทำให้เรารู้ว่าอะไรถูกผิด ไม่ใช่แค่พอตัวละครนี้อยู่ตำแหน่งนี้แล้วจะถูกต้องไปทุกอย่าง หรือทุกคนต้องเชื่อฟังและตามใจอย่างศิโรราบ”

101 คุยกับเจ้าของเพจ Watchman เพจหนัง-ซีรีส์เข้มๆ ที่วิเคราะห์หนังผ่านประเด็นสังคมการเมือง ว่าด้วยเรื่องความงามของซีรีส์ การเมืองในซีรีส์ และการเมืองไทย

แม้พายุโหมกระหน่ำ แต่สุดท้าย ‘สายรุ้ง’ จะปรากฏ: บันทึกนอกเรือนจำจากเพื่อน ‘รุ้ง-ปนัสยา’

โดย ภาวิณี คงฤทธิ์ และ ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล

58 วัน คือช่วงเวลาที่ รุ้ง – ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล แกนนำราษฎร ผู้ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย ถูกคุมขังอยู่ในทัณฑสถานหญิงกลาง หลังจากถูกสั่งฟ้องในคดีกระทำผิดตามมาตรา 112 จากกรณีการชุมนุม ‘19 กันยา ทวงอำนาจคืนราษฎร’ ที่สนามหลวง

นับตั้งแต่วันที่รุ้งถูกคุมขัง เหตุการณ์ดังกล่าวเปลี่ยนชีวิตคนรอบข้างเธอไปอย่างเลี่ยงไม่ได้ จากเพื่อนที่เคยสนับสนุนอยู่ด้านหลัง ต้องเปลี่ยนตัวเองมาเป็นแนวหน้าเพื่อเรียกร้องในสิทธิในการประกันตัวของเพื่อน จากอาจารย์ที่เคยแค่สอนหนังสือต้องสลับมารับบทเป็นนายประกันลูกศิษย์ โดยทั้งเพื่อนและอาจารย์ต่างให้เหตุผลอย่างเรียบง่ายว่าการออกมาครั้งนี้คือ ‘หน้าที่’ – เพื่อนต้องออกมาช่วยเพื่อน และอาจารย์ต้องดูแลรับผิดชอบนักศึกษา

58 วันนอกเรือนจำ เรื่องราวการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของรุ้งก็ดำเนินคู่ขนานไปกับการต่อสู้ที่เกิดขึ้นในเรือนจำเช่นกัน

101 ชวนอ่านบันทึกการต่อสู้นอกเรือนจำในนามของ รุ้ง-ปนัสยา ซึ่งมีเหล่าเพื่อนสนิทอย่าง บอล – ชนินทร์ วงษ์ศรี และ คิว – ปิยพัทธ์ สาและ จากกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม พร้อมทั้งอาจารย์ที่เคยสอนรุ้ง ผศ.ดร.จันทนี เจริญศรี และ ศิริพร ศรีสินธุ์อุไร เป็นผู้ถ่ายทอดเรื่องราว

“เรารู้สึกว่ารุ้งคือนักอุดมคติ คนที่ไม่เชื่อว่าโลกและสังคมดีกว่านี้ได้ก็คงจะไม่ทุ่มเทขนาดนี้ เราคงเห็นแล้วว่าราคาที่รุ้งต้องจ่ายไม่ได้น้อยเลย รุ้งต้องมีความหวังและเชื่อว่ามันจะเป็นจริงได้ถึงลงทุนลงแรงขนาดนี้” – ผศ.ดร.จันทนี เจริญศรี คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในอาจารย์ที่ยื่นอุทธรณ์คำสั่งขอประกันตัวรุ้ง

“ถึงรุ้งจะเจออะไรต่างๆ มามากมาย รุ้งก็ยังยืนหยัดและยืนยันที่จะสู้ต่อไป เป็นเรื่องที่ผมนับถือและประทับใจในตัวรุ้งมาก” – ชนินทร์ วงษ์ศรี จากกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม

“รุ้งเหมือนเดินออกมาจากวรรณกรรมอย่าง Alice in Wonderland, Harry Potter หรือ The Lord of the Rings รุ้งคือตัวละครที่มีจิตใจอ่อนโยน กล้าหาญ ทรหดอดทน และเสียสละ ทั้งๆ ที่รู้ว่าต้องเจอกับอะไรก็ยังสู้ เพื่อสังคมที่ดีขึ้นกว่านี้” – ศิริพร ศรีสินธุ์อุไร อาจารย์ผู้ที่เคยสอนรุ้ง

วินัยและการควบคุมตุลาการ

โดย สมชาย ปรีชาศิลปกุล

ช่วงที่เกิดการวิจารณ์อำนาจตุลาการแบบที่ไม่เคยเห็นมาก่อนเช่นนี้ อะไรทำให้ผู้คนในแวดวงตุลาการพากันเงียบเสียงราวกับกำลังมีชีวิตอยู่ในโลกคนละใบกับคนในสังคม

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึงความเป็นอิสระของตุลาการที่มี ‘วินัย’ ควบคุมอยู่ จนทำให้เกิดการเพิกเฉยต่อปัญหาในกระบวนการยุติธรรม

” ‘ความเป็นอิสระ’ แบบใดที่ทำให้เกิดสภาวะการเพิกเฉยรวมหมู่ต่อการกระทำที่ถูกพิจารณาว่าเป็นปัญหาอย่างรุนแรงต่อกระบวนการยุติธรรม ยังจะสามารถเรียกหลักการนี้ว่าความเป็นอิสระได้จริงหรือ หรือความเป็นอิสระชนิดนี้กลับมี ‘วินัย’ คอยกำกับควบคุมอยู่”

“วินัยในหมู่ผู้พิพากษาจึงอาจไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อสังคมในแบบที่เข้าใจสืบต่อกันมา ตรงกันข้าม อำนาจที่เกิดขึ้นจากวินัยดังกล่าวกลับสามารถเป็นเครื่องมือในการกำราบให้บุคคลที่อยากแสดงความเห็นหรือสะท้อนปัญหาจากภายในต้องเงียบเสียงลง”

ย้ายประเทศอย่างไร การเมืองในประเทศถึงจะเปลี่ยนแปลง

ย้ายประเทศอย่างไร การเมืองในประเทศถึงจะเปลี่ยนแปลง

โดย ศิรดา เขมานิฏฐาไท

กระแสความต้องการ #ย้ายประเทศ อาจถูกมองเป็นการส่งสัญญาณถึงการขาดความชอบธรรมของรัฐบาลที่มีอำนาจอยู่ แต่กระนั้นมันก็มีประโยชน์ในเชิงสัญลักษณ์ทางการเมืองที่กว้างกว่านั้น ถ้าเช่นนั้น การย้ายถิ่นฐานออก (Outmigration) จะส่งผลกระทบทางการเมืองภายในของประเทศหนึ่งได้อย่างไร?

ศิรดา เขมานิฏฐาไท พาย้อนดูงานวิชาการหลายชิ้นที่ศึกษาผลกระทบของการที่คนพากันย้ายออกนอกประเทศ ที่มีต่อการเมืองในประเทศ เพื่อตอบคำถามที่ว่า ถ้าเราย้ายประเทศแล้ว จะช่วยเปลี่ยนประเทศเราให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นได้หรือไม่

กลุ่มคนที่ย้ายออกนอกประเทศส่วนมากไม่ได้ตัดขาดออกจากประเทศต้นทางเสียทีเดียว แต่ยังคงเชื่อมโยงกลับมายังประเทศต้นทางที่ตัวเองจากมา เพราะอย่างน้อยที่สุด คนเหล่านั้นก็ยังติดต่อกับครอบครัวหรือเพื่อนฝูงที่บ้านเกิด

งานของ Miller and Peters (2014, 2020) กล่าวไว้ว่า หากมีประชากรย้ายถิ่นฐานไปยังประเทศประชาธิปไตย และได้ไปเรียนรู้สิทธิพลเมืองและประชาธิปไตยในสังคมของประเทศปลายทาง รวมถึงเข้าใจเครื่องมือที่จะพัฒนาประชาธิปไตย นั่นจะเป็นภัยคุกคามต่อระบอบอำนาจนิยมเอง

อย่างมากที่สุด กลุ่มพลัดถิ่น (Diaspora) ที่มีความกระตือรือร้นทางการเมือง สามารถสร้าง ‘ภาวะข้ามชาติทางการเมือง’ (Political Transnationalism) ซึ่งสร้างผลกระทบทางการเมืองต่อประเทศต้นทางได้หลายช่องทาง เช่น การเผยแพร่ความคิดและทัศนคติทางการเมือง การจัดกิจกรรมทางการเมืองเพื่อเป็นแบบอย่างให้คนในประเทศต้นทาง และการรณรงค์หรือการล็อบบี้ตัวแสดงทางการเมืองต่างๆ ในประเทศปลายทาง เพื่อช่วยสร้างแรงกดดันต่อรัฐบาลที่ประเทศบ้านเกิดอีกทาง เป็นต้น

ในกรณีของประเทศไทย ความจริงแล้วเราก็มีประชากรจำนวนมากที่ย้ายถิ่นฐานไปตั้งรกรากหรือทำงานในต่างประเทศ แต่ที่ผ่านมากลายเป็นว่ากลุ่มคนที่ตั้งถิ่นฐานในประเทศที่พัฒนาแล้วส่วนมาก ไม่ได้ส่งต่อแนวคิดที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้ประเทศก้าวหน้าขึ้นกลับมา แต่กลับเป็นกลุ่มที่คอยรักษาและอนุรักษ์คุณค่าแบบเดิมเป็นหลัก งานวิจัยที่กล่าวไปข้างต้นจึงใช้อธิบายปรากฏการณ์ที่ผ่านมาไม่ได้

แต่หากประชากรของกลุ่ม ‘ย้ายประเทศกันเถอะ’ ที่เพิ่งเปลี่ยนชื่อเป็น ‘โยกย้าย มาส่ายสะโพกโยกย้าย’ ออกไปตั้งรกรากในต่างประเทศได้จริงๆ มุมมองและทัศนคติทางการเมืองแต่เดิมของคนกลุ่มนี้ ผนวกกับประสบการณ์ที่จะได้ประสบพบเจอในต่างประเทศ อาจจะทำให้เกิดผลลัพธ์ที่แตกต่างก็เป็นได้

‘หมดอายุความ’ คดีสังหารแกนนำต้านโรงโม่หินเนินมะปราง ‘พิทักษ์ โตนวุธ’ 20 ปีที่ความยุติธรรมมาไม่ถึง

โดย สถาพร พงษ์พิพัฒน์วัฒนา

สถาพร พงษ์พิพัฒน์วัฒนา ชวนย้อนรอยคดีฆาตกรรมเมื่อ 20 ปีที่แล้วของพิทักษ์ โตนวุธ นักอนุรักษ์ จากประเด็นเรื่องโรงโม่หินเนินมะปราง พิษณุโลก ที่ตอนนี้ความยุติธรรมยังมาไม่ถึง

‘พิทักษ์ โตนวุธ’ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า ‘โจ’ ไปที่บ้านชมพูครั้งแรกในฐานะนักศึกษา เขาเป็นประธานชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยรามคำแหง นำเพื่อนนักศึกษาในชมรมลงไปศึกษาสัมผัสความเดือดร้อนจริงๆ ในพื้นที่ และพบว่าการระเบิดหินทำให้ทั้งหมู่บ้านจมอยู่ภายใต้ฝุ่นละออง น้ำในลำธารไม่ใสเหมือนเดิม น้ำกินใช้ไม่ได้ น้ำฝนที่ตกลงมาก็เต็มไปด้วยคราบฝุ่นสีดำ ชาวบ้านไม่เพียงไม่มีน้ำสะอาดไว้ใช้ แม้แต่สถานที่ตากผ้าที่ซักแล้วก็ยังไม่มี เป็นชีวิตที่ถูกปกคลุมไปด้วยมลพิษ

เมื่อพ้นจากตำแหน่งประธานชมรมอนุรักษ์ ม.รามฯ พิทักษ์ ชายหนุ่มชาวบุรีรัมย์ จึงอาศัยความรู้ด้านกฎหมายจากการเป็นนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ไปร่วมหัวจมท้ายร่วมต่อสู้กับชาวบ้านจนกลายเป็นที่ปรึกษาเครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มน้ำชมพู ระหว่างที่ร่วมต่อสู้กับชาวบ้าน เขาพบคู่ชีวิตที่นั่น แต่งงาน มีลูกสาว เรียนจบ แต่ระหว่างรอรับปริญญา เขาก็ถูกยิงเสียชีวิตไปเสียก่อน

และในวันที่ 17 พฤษภาคม 2564 คดีสังหารพิทักษ์ โตนวุธ ถึงคราว ‘หมดอายุความ’ โดยที่ยังไม่มีใครถูกลงโทษแม้แต่คนเดียว

สหรัฐฯ จัดการกับปัญหาโควิดอย่างไรถึงพังยับเยิน

โดย ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

โควิด-19 เป็น ‘ข้าศึกจากภายนอก’ ที่ทำให้สหรัฐอเมริกาพังยับเยิน สูญเสียชีวิตผู้คนและทรัพยากรมากกว่าสงครามครั้งใด

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ วิเคราะห์สาเหตุที่สหรัฐฯ พ่ายในศึกโรคระบาด อันมีเหตุสำคัญมาจากการบริหารของโดนัลด์ ทรัมป์ ที่อาจเป็นบทเรียนแก่ผู้นำคนอื่นๆ ได้

“ทั้งๆ ที่อเมริกามีโครงสร้างทางการค้นคว้าโรค การป้องกัน การรักษามากมายกว่าใครในโลก …แต่ทั้งหมดนั้นหมดสภาพไปเพียงเพราะผู้นำรัฐบาลขาดการตระเตรียมและไม่ต้องการดำเนินนโยบายป้องกันและรักษาอย่างทันท่วงที อันนี้เป็นผลจากการปฏิเสธความจริงของโควิด-19 เพราะมันขัดต่อการทำนโยบายทางเศรษฐกิจที่พวกเขาถนัดและมองเห็นผลลัพธ์ในมือชัดเจน”

“ถ้าปราศจากการพูดอย่างเสรีและเคารพความจริง คนไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีอาจไม่มีความมุ่งมั่นและเด็ดเดี่ยวในการเอาทรัมป์ลงจากตำแหน่งได้เหมือนอย่างที่เกิดขึ้น

“การเมืองของไวรัสจึงเตือนเราว่า นอกจากยอมทำตามกฎทางการแพทย์และอนามัยแล้ว เรายังต้องเคารพและพิทักษ์การใช้เสรีภาพทางการเมืองด้วย เพื่อทำให้ความจริงและความถูกต้องปรากฏออกมา”

คนขาวล้างก้นไม่เป็น: linguistic turn กับการเมืองเรื่องอัตลักษณ์

โดย  พลอยใจ ปิ่นตบแต่ง

คอลัมน์ ‘ช่วยด้วยเพื่อนฉันเป็นฝ่ายซ้าย’ ตอนใหม่ พลอยใจ ปิ่นตบแต่ง เขียนถึง ‘พรีย่า’ เพื่อนหญิงชาวอินเดียผู้ตั้งข้อกังขาว่า ‘ทำไมคนขาวถึงไม่ล้างก้นและชอบกินอาหารที่เย็นชืด’ และยังเป็น ‘ฝ่ายซ้าย’ ผู้ให้ความสำคัญต่อการเมืองเรื่องอัตลักษณ์และภาษาในการต่อสู้ของขบวนการฝ่ายซ้าย

“พรีย่าเดินไปเติมวอดก้าอย่างใจเย็นก่อนจะกลับมานั่งที่โซฟาแล้วเริ่มอธิบาย “พวกเธอที่พูดได้ภาษาเดียวคงจะไม่เข้าใจหรอกสินะว่าการพูดภาษาหนึ่งๆ มันกำหนดกรอบการรับรู้ความจริงไปแบบอัตโนมัติขนาดไหน” 10 แต้มให้กริฟฟินดอร์ ไม่มีประเด็นอะไรจะอ่อนไหว (โดยเฉพาะกับคนอังกฤษ) เท่าเรื่อง monoglottism หรือการพูดได้เพียงภาษาเดียวอีกแล้ว”

“เพื่อนฝ่ายหนึ่งเห็นว่าผลของ linguistic turn คือการชูเอา identity politics หรือการเมืองเรื่องอัตลักษณ์ขึ้นมาของฝ่ายซ้าย (ในเมืองหลวงใหญ่ๆของโลก) การเปลี่ยนแปลงนี้ถูกมองว่าไปบดบังจุดแข็งที่สุดของอุดมการณ์มาร์กซิสม์ คือการรวมตัวกันของชนชั้นแรงงานผู้ถูกกดขี่ ประเด็นทางเศรษฐกิจถูกบดบังด้วยเรื่อง (ที่พวกเขามองว่า) ‘เล็ก’ กว่าเช่นการใช้สรรพนาม they แทน he และ she”

“พรีย่าแย้งว่าการผนวกเอาความคิดเรื่อง discourse analysis เข้าไปทำให้คำอธิบายเรื่องการกดขี่ในทุนนิยมตอนปลายละเอียดและชัดเจนขึ้น นอกจากนี้ ประวัติศาสตร์อาณานิคมไม่สามารถอธิบายอย่างทื่อๆ ด้วยการกดขี่ทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว ประสบการณ์การถูกกดขี่ทั่วโลกนั้นหลากหลาย และไม่สมควรจะถูกผูกขาดความเข้าใจโดย dead white men รวมไปถึงผู้ชายผิวขวาที่อ้างว่าพูดแทนผู้ถูกกดขี่ทั้งโลกด้วย”

“linguistic turn ไม่เคยบอกว่าภาษาคือความจริง หากแต่เสนอว่าในทุกๆ ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์นั้น ภาษาเป็นส่วนสำคัญในฐานะส่วนหนึ่งของเครื่องมือในการรับรู้ประสบการณ์ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างไม่รู้ตัว คำว่าไม่รู้ตัวนี้เห็นชัดที่สุดหากคุณพูดได้เพียงภาษาเดียว และไม่สามารถจินตนาการได้ว่ามนุษย์คนอื่นๆ อาจมองโลกด้วยแว่นที่ต่างจากอันที่คุณสวมใส่อยู่อย่างไร เนื่องจากคุณไม่เคยรู้ว่าคุณกำลังสวมแว่นอยู่มาตั้งแต่เกิดด้วยซ้ำ” พรีย่าทิ้งท้ายแบบผู้ชนะ …

“ฉันว่าเธอดีเบตชนะนะรอบนี้” พรีย่าหัวเราะ “จะเอาอะไรกับพวกที่ล้างก้นยังไม่สะอาดพวกนี้ ฉันอยู่อังกฤษมาสี่ปีแล้วยังงงว่าเมื่อไหร่ที่นี่จะมีสายชำระ” เธอทำตาโตก่อนวิ่งไปหยิบอะไรบางอย่างมาให้ดู “ฉันเพิ่งสั่งมาวันนี้เลย สายชำระแบบชาร์จแบตเตอรี! เรามาสร้างอารยธรรมที่นี่กันเถอะ”

ใครก็เป็นรัฐมนตรีได้

ใครก็เป็นรัฐมนตรีได้

โดย ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

“ปัญหามิได้มีเพียงแค่เรื่องสื่อสารไม่เป็น ปัญหาที่ใหญ่กว่าคือสื่อสารอะไรไปก็ไม่มีคนเชื่อ นี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ควรเปลี่ยนรัฐมนตรี ถ้าทำได้ควรเปลี่ยนรัฐบาลด้วย”

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ เขียนถึงการจัดการโรคระบาดของภาครัฐที่ทำให้ความไม่ไว้วางใจแผ่ขยายไปทั่วในหมู่ประชาชน และชี้ถึงเรื่องที่กระทรวงสาธารณสุขต้องทำให้สำเร็จในสถานการณ์นี้

“ควรเปลี่ยนผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขเพราะไม่มีความกล้าหาญทางจริยธรรมมากพอที่จะยืนยันสิ่งที่ควรทำแก่ผู้กำหนดนโยบาย ซึ่งก็คือรัฐมนตรีและคณะรัฐบาล ไม่สามารถต้านทานเรื่องที่ไม่ควรทำ นำมาซึ่งความเสี่ยงแก่แพทย์ พยาบาล และบุคลากรทุกระดับในทุกโรงพยาบาล”

“งานกำหนดเป้าและชี้เป้า กำหนดทิศและชี้ทิศเป็นงานของผู้บริหารระดับสูงสุด หากทำตรงนี้ไม่เป็น ให้ใครมาเป็นรัฐมนตรีก็ได้ ความข้อนี้กินถึงทุกกระทรวงรวมทั้งกระทรวงศึกษาธิการด้วย หากทำเป็นเพียงแค่สั่งปิดโรงเรียนหรือเลื่อนเปิดเทอมเท่านี้ ใครก็มาเป็นรัฐมนตรีได้เช่นเดียวกัน”

“หากไม่มีรถถังวันนั้น ฉันก็คงไม่มีวันนี้?” มองย้อน 7 ปี รัฐประหารเปลี่ยนเมืองไทยอย่างไร

โดย กองบรรณาธิการ

เด็กที่กำลังจะเข้า ป.1 ปีนี้ เติบโตมาในยุคที่ประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรีชื่อประยุทธ์ จันทร์โอชาตลอดชีวิตของเขา – นายกรัฐมนตรีผู้เริ่มต้นจากการเป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่เข้ามาทำรัฐประหารในนามของความสงบเรียบร้อยเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557

ระยะเวลา 7 ปียาวนานพอที่จะทำให้เรามองเห็นภาพชัดขึ้น จากภาวะฝุ่นตลบที่ถูกอำพรางด้วยความขัดแย้งและการเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ที่สุดของสังคมไทยสมัยใหม่ หากรัฐประหาร 2557 เป็นหมุดหมายการเปลี่ยนผ่านของสังคมและเศรษฐกิจไทย มันเปลี่ยนอะไรบ้าง

ในวาระครบรอบ 7 ปีรัฐประหารนี้ 101 ชวนนักวิชาการมามองย้อนกลับไปในห้วงเวลาสำคัญนี้ว่า รัฐประหารเปลี่ยนเมืองไทยในเชิงนโยบายอย่างไร และเราสูญเสียหรือได้อะไรกลับมาบ้างในช่วงเวลา 7 ปีนี้ ทั้งประเด็นด้านการปกครอง เศรษฐกิจ กฎหมาย และการต่างประเทศ

หาทางออกเศรษฐกิจไทยใน(สอง)ทศวรรษที่สูญหาย

หาทางออกเศรษฐกิจไทยใน(สอง)ทศวรรษที่สูญหาย

โดย วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา

“ปี 2006-2015 นับตั้งแต่รัฐประหารมา คือทศวรรษที่สูญหายแน่ๆ และทศวรรษต่อไปนับตั้งแต่ปี 2016 เป็นต้นมา ซึ่งถ้านับไปข้างหน้าก็จะเหลือเวลาอีก 5 ปี จบที่ปี 2026 ส่วนตัวก็คิดว่าสูญหายแน่ๆ เหมือนกัน” – สฤณี อาชวานันทกุล

101 ชวน สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระ และกรรมการผู้จัดการด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด และ พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ภัทร จำกัด มหาชน ร่วมตีโจทย์เศรษฐกิจไทย พาประเทศหลุดพ้นจาก(สอง)ทศวรรษที่สูญหาย

“ตั้งแต่หลังปี 2006 เราจะเห็นว่าเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในอดีตเริ่มช่วยเราได้ไม่เยอะอีกต่อไปแล้ว แต่เรายังไม่คิดเรื่องการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจอย่างจริงจัง การส่งออกของเรายังไม่ได้ปรับตามโครงสร้างซัพพลายเชนของโลกที่เปลี่ยนไป เช่น เรายังคงผลิตและส่งออกฮาร์ดดิสก์และพวกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ที่ทุกวันนี้เติบโตช้าลงแล้ว เพราะทั่วโลกหันไปใช้อุปกรณ์อย่างแท็บเล็ตและทัมป์ไดร์ฟกันแล้ว” – สฤณี

“เราเป็นประเทศที่กำลังเผชิญทั้งความท้าทายจากโครงสร้างประชากร และเริ่มสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในเรื่องของการผลิตที่ต้องใช้แรงงานเยอะ อย่างไรก็ตาม เราไม่ใช่ประเทศเดียวที่เจอปัญหานี้ ประเทศที่เป็นเสือเศรษฐกิจ 4 ตัวก็เจอปัญหานี้หมด แต่สุดท้ายเขาสามารถหลุดออกมาได้ ด้วยการอัพเกรดเทคโนโลยี ขณะที่เราแทบไม่ได้อัพเกรด แต่ไปแก้ปัญหาด้วยการนำเข้าแรงงานจากประเทศอื่นๆ ทำให้ต้นทุนแรงงานของเรายังอยู่ระดับค่อนข้างต่ำ และขณะเดียวกัน การยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศก็เกิดขึ้นค่อนข้างช้า” – พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

“การทำงานของภาครัฐคือการดึงเอาเงิน ดึงเอาทรัพยากรจากภาคเอกชน ไปใช้เพื่อผลิต Public Goods (สินค้าสาธารณะ) และกำหนดนโยบาย แต่พอภาครัฐไม่มี Accountability (ความรับผิดชอบ) ต่อสิ่งที่ตัวเองทำ หรือ I don’t care (ฉันไม่สน) เราเห็นนโยบายจากรัฐเยอะแยะไปหมด แต่พอไม่ทำหรือทำไม่ได้ รู้ปัญหาแต่ไม่แก้ไข ก็ไม่ได้มีอะไรเกิดขึ้น ผมเลยเห็นว่าชิ้นสำคัญที่เราทำหายไปคือ Accountability ทางการเมือง” – พิพัฒน์

“ระบอบ คสช. ไม่รับผิดกับใครเลย ยกเว้นฐานเสียงของตัวเองอย่างข้าราชการหรือกลุ่มทุนใหญ่ นโยบายที่พรรคพลังประชารัฐหาเสียงไว้ ถ้าลองไปไล่จะเห็นว่าไม่มีอะไรที่ทำสำเร็จเลยแม้แต่นโยบายเดียว และก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ทั้งที่ตอนคุยกันเรื่องรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุด เราคุยกันว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะทำให้พรรคการเมืองต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่หาเสียงไว้ นี่ชัดเจนว่าไม่เป็นความจริง” – สฤณี

“มันยากที่เราจะออกจากสองทศวรรษที่สูญหาย ถ้าเราไม่กลับไปสู่ระบอบประชาธิปไตย” – สฤณี

ผลงาน ‘อ่านใหม่’ ยอดนิยม เดือนพฤษภาคม 2564

“หน้าที่ของแนนโน๊ะ คือยั่วยุความชั่วที่อยู่ในตัวของคน” – เปิดความคิดทีมเขียนบท ‘เด็กใหม่ The Series’

โดย ชลธร วงศ์รัศมี

101 ชวนคุยกับ #ทีมเขียนบท#เด็กใหม่ The Series’ เจาะลึกเบื้องหลังส่วนผสมของ #แนนโน๊ะ

แนนโน๊ะจะมีคาแรกเตอร์เหมือนชาวบ้านได้อย่างไร ในเมื่อคนเขียนบทให้แนนโน๊ะ มีทั้งผู้กำกับภาพยนตร์รุ่นใหญ่คมในประเด็นเชิงสังคม (คงเดช จาตุรันต์รัศมี) นักเขียนบทสาวอดีตนักเขียน สนพ. แจ่มใส (อาทิชา ตันธนวิกรัย) และหนุ่มมือเขียนบทสายหม่นหมองสยองขวัญ (ทินพัฒน์ บัญญัติปิยพจน์) เผยตัวคนเขียนฉาก ‘เต้าหู้’ อันลือลั่น

เซอร์ไพรส์กับคน (เป็นๆ) ที่ให้อินไซต์ตอนสร้างแนนโน๊ะขึ้นมา

พบคำตอบที่แท้จริงว่าทีมเขียนบทตั้งใจเขียนให้แนนโน๊ะเป็นตัวอะไร

และที่สำคัญ คงเดช จาตุรันต์รัศมี จะบอกความลับว่าอะไรทำให้การเขียนบท ‘เด็กใหม่ The Series’ ประสบความสำเร็จขนาดนี้

ข่าวเศรษฐกิจยอดนิยม! : 3 ดราม่าซ้ำๆ ที่รอให้สังคมเรียนรู้

โดย พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย กะเทาะเบื้องหลัง 3 ดราม่าข่าวเศรษฐกิจยอดนิยม ที่เวียนวนมาหลอกหลอนประชาชนปีแล้วปีเล่า ซ้ำไปซ้ำมาไม่รู้จบ

พาดหัว 1 : “รายงานฐานะการเงินไทย หนี้สินประเทศกว่า 6 ล้านล้าน!”

พาดหัว 2 : “แบงก์ชาติขาดทุนบักโกรก!”

พาดหัว 3 : “รัฐบาลเตรียมขึ้น VAT!”

‘ความจริง’ เบื้องหลังของ 3 ข่าวนี้เป็นอย่างไร ทำไมดราม่าเศรษฐกิจเหล่านี้ควรหยุด ‘เกิดใหม่’ ในหน้าข่าวเสียที ติดตามได้ในบทความที่สื่อมวลชน โดยเฉพาะนักข่าวเศรษฐกิจทุกคนควรอ่าน!

จะชอบหรือไม่ชอบประยุทธ์ ก็ต้องรื้อระบอบประยุทธ์

จะชอบหรือไม่ชอบประยุทธ์ ก็ต้องรื้อระบอบประยุทธ์

โดย พริษฐ์ วัชรสินธุ

พริษฐ์ วัชรสินธุ เขียนถึง 7 เหตุผลว่าระบอบประยุทธ์ทำให้ประเทศเสียหายอย่างไรและทำไมเราจึงจำเป็นต้องแก้รัฐธรรมนูญเพื่อรื้อระบอบประยุทธ์ที่ครอบงำสังคมไทยมา 7 ปี

“รัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ได้มีปัญหาแค่ในเชิงเนื้อหา แต่ขาดความชอบธรรมจากที่มาและกระบวนการ ประชาชนหลายคนจึงไม่ต้องการเพียงให้ใครมาซ่อมหน้าต่างหรือประตูที่เขาไม่ได้ออกแบบตั้งแต่ต้น แต่เขาอยากมีส่วนร่วมในการสร้างบ้านหลังใหม่ที่จะเข้าไปอาศัยด้วยกัน”

“ความจำเป็นในการรื้อระบอบประยุทธ์ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าคุณรู้สึกอย่างไรกับ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะบุคคล แต่ไม่ว่านายกฯ จะชื่ออะไร หากระบอบ กติกา เครือข่าย และพฤติกรรมเช่นนี้ยังหลงเหลืออยู่ ประเทศไทยจะเสียหาย สูญเสียโอกาสในการพัฒนา และสูญเสียอนาคต ซึ่งคนที่ต้องแบกรับความเสียหายนั้นก็ไม่ใช่ใคร แต่คือพวกเราคนไทยทุกคน และคนรุ่นหลังของเราเอง”

40 ปี การสังหารหมู่ที่ควังจู: ช็อนดูฮวัน ภาพความทรงจำ และความยุติธรรมที่ยังเปลี่ยนไม่ผ่าน

โดย จักรกริช สังขมณี

วันที่ 18 พฤษภาคม เป็นวันครอบรอบ 40 ปี เหตุการณ์สังหารหมู่ผู้ชุมนุมฝ่ายประชาธิปไตยที่เมืองควังจู ประเทศเกาหลีใต้

จักรกริช สังขมณี ชวนย้อนดูประวัติศาสตร์การเมืองนี้ผ่านภาพยนตร์ 12 เรื่อง ที่สะท้อนความทรงจำและประสบการณ์จากหลากมุมมอง

“การแสวงหาความจริงในหน้าประวัติศาสตร์การเมือง เป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาประชาธิปไตย การพยายามปกปิดบิดเบือนประวัติศาสตร์การต่อสู้ของประชาชน และการใช้อำนาจของรัฐบาลที่ขาดความชอบธรรมนั้น มีแต่จะสร้างบาดแผลและความบาดหมางให้กับคนในชาติ หนึ่งในหนทางของการสร้างสังคมประชาธิปไตยที่ดี ต้องเริ่มจากค่านิยมของการทำความจริงให้ปรากฎ หาใช่กระบวนการสร้างความปรองดองที่ปราศจากเสรีภาพ ความจริงใจ และข้อเท็จจริง”

ครั้งแรกของฉัน เกิดขึ้นตอน 11 ขวบครึ่ง – เมื่อเด็กไทยมีประจำเดือนเร็วขึ้น

โดย ภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์

“เมื่อคำนวณจากข้อมูล จะพบว่าประเทศไทยในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2563 อายุเฉลี่ยของคนที่เริ่มมีประจำเดือนคือ 11.57 ปี ซึ่งถือว่าเป็นที่ตัวเลขที่น้อย ส่วนอายุต่ำสุดที่เป็นประจำเดือนคือ 7.96 ปี ช้าสุดอยู่ที่ 16.92 ปี”

ภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์ เขียนถึงปรากฏการณ์ที่เด็กหญิงไทย (หรืออาจจะทั่วโลก) มีประจำเดือนและเข้าสู่วัยสาวเร็วยิ่งขึ้นกว่าในอดีต

“จากข้อมูลสำรวจความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการมีประจำเดือนและการดูแลตนเองของเด็กไทย อาจกล่าวได้ว่าภาพรวมนั้น ‘น่าเป็นห่วงมาก’ “

“เมื่อถูกถามว่าประจำเดือนเป็นของต่ำหรือของอัปมงคลใช่หรือไม่ เด็กไทยกว่าร้อยละ 55 ยังตอบว่าใช่ และมีถึงร้อยละ 74.64 คิดว่าการมีประจำเดือนเป็นเรื่องน่ารังเกียจ ขณะที่เด็กอีกส่วนหนึ่ง ราวร้อยละ 29.91 คิดว่าการมีประจำเดือนถือเป็นเรื่องน่าอาย”

“แม้เด็กจะเริ่มมีประจำเดือนครั้งแรกที่อายุ 11 ปีครึ่ง หรือประมาณชั้น ป.6 แต่ในความเป็นจริง ยังมีเด็กส่วนหนึ่งที่เป็นประจำเดือนตอนอายุน้อยกว่านั้น และมีโรงเรียนน้อยมากที่พูดถึงเรื่องประจำเดือน พูดว่าเพศสัมพันธ์หมายถึงอะไร ส่งผลอย่างไรต่อการตั้งครรภ์ ในวิชาเพศศึกษาชั้น ป.3-ป.5”

รายการและคลิปวิดีโอยอดนิยม เดือนพฤษภาคม 2564

“อยู่ที่ไหนเราก็เป็นคน” คุยกับ ‘ประภาพร’ คนพม่าสัญชาติไทย ในวันที่พม่าร่ำไห้

“เวลาคนถามว่าเราเป็นคนอะไร เรารู้สึกว่าถูกแบ่งแยกจากเรื่องชื่อและสัญชาติจากบัตรประชาชนใบเดียวเลย ไม่ว่าจะทำอะไรหรือไปที่ไหน เอาเรื่องง่ายเลยๆ ตอนอยู่ไทย พอเห็นเป็นคนพม่าก็ถูกแบ่งแยกแล้วว่าเป็นพม่า ไม่เข้าใจว่าทำไม ก็เป็นคนประเทศข้างๆ ก็อยู่ด้วยกันได้ ไม่เห็นเป็นอะไรเลย ทำไมต้องแบ่งแยก ทั้งที่ก็เป็นคนเหมือนกัน”

“เรื่องง่ายที่สุดที่อยากให้เกิดกับทุกพื้นที่คือคนมีอิสรภาพ ไม่ควรมีใครอยู่ภายใต้การกดขี่ของผู้มีอำนาจ“ถ้าเราไม่ได้รับอิสรภาพตั้งแต่แรก ความหวังความฝันของเราก็แทบไม่มีความหมาย เราจะไปทำตามสิ่งที่เราหวังไว้ไม่ได้เลย ถ้าไม่มีเสรีภาพ”

เชอร์รี่-ประภาพร ปรียาภัสวรสกุล มีพ่อเป็นคนมอญ แม่เป็นคนทวาย แต่เกิดและโตที่ทองผาภูมิ กาญจนบุรี เธอพูดภาษาพม่าที่บ้านกับพ่อแม่ และใช้ภาษาไทยที่โรงเรียน ทำให้ปรุทั้งสองภาษา

ก่อนหน้านี้เธอมีชื่อว่า ‘ประภาพร ไม่มีนามสกุล’ ใช้เวลายื่นเอกสารกว่าสิบปีเพื่อให้ได้สัญชาติไทย แล้วค่อยเปลี่ยนชื่อเป็น ‘ประภาพร ปรียาภัสวรสกุล’

.เราคุยกับเชอร์รี่ในวันพม่ามีรัฐประหารมาแล้ว 3 เดือน นับเป็น 5 ปีหลังจากพม่าได้สัมผัสกลิ่นของประชาธิปไตย แต่ก็ถูกทำลายลงจากการยึดอำนาจของทหาร และยิ่งในวันที่คนหนุ่มสาวออกมาต่อสู้ทางการเมืองอย่างเข้มข้น ก็ดูเหมือนว่าทั้งไทยและพม่าจะมีเรื่องราวคล้ายคลึงกันอย่างน่าเศร้า

ความยากลำบากในการอยู่แผ่นดินอื่นเป็นแบบไหน ความเป็นคนสองแผ่นดินทำให้เธอมองโลกผ่านสายตาแบบไหน และการปกครองโดยทหารของทั้งสองประเทศนี้เหมือนหรือต่างกันอย่างไร

อ่านบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มได้ที่ “อยู่ที่ไหนเราก็เป็นคน” คุยกับ ‘ประภาพร’ คนพม่าสัญชาติไทย ในวันที่พม่าร่ำไห้

โรคร้ายในแดนสนธยา : คุยกับ สมยศ พฤกษาเกษมสุข เมื่อเรือนจำติดเชื้อ

จากหลักพันเป็นหลักหมื่น เมื่อพื้นที่อันเป็นดั่งแดนสนธยาอย่างเรือนจำ เปิดเผยความเจ็บป่วยจากโรคระบาดที่รุกลามอย่างรวดเร็ว ยิ่งสร้างความตระหนกให้แก่สังคม

เป็นที่ทราบกันดีว่า ภายในเรือนจำแต่ละแห่งมีความเป็นอยู่ที่แออัดเบียดเสียดเพียงไร หากมีผู้ติดเชื้อเพียงแค่คนเดียว ย่อมมีโอกาสที่จะแพร่ไปทั่วในเวลารวดเร็ว การดูแลและป้องกันอย่างรอบคอบจึงเป็นสิ่งจำเป็นยิ่งในห้วงเวลานี้

สิ่งที่ขาดไม่ได้คือการยอมรับความจริงและสื่อสารกับสังคมอย่างตรงไปตรงมา

101 คุยกับ สมยศ พฤกษาเกษมสุข นักกิจกรรมการเมือง ถึงปัญหาโรคระบาดในเรือนจำ ในฐานะที่เขาเพิ่งก้าวออกจากเรือนจำในช่วงเดือนที่ผ่านมา เมื่อโควิดเข้ามารื้อปัญหาที่ถูกซุกซ่อนไว้ ทำให้ชวนพิจารณาถึงการดูแลคุณภาพชีวิตของนักโทษ อันคำนึงถึงสิทธิขั้นพื้นฐานที่เขาควรได้รับในฐานะมนุษย์

ขายทุเรียนเพื่อรอด ‘ทีเด็ด 99’ ยุคโควิด

“ตอนนี้ร้านปิดไปแล้วร้อยเปอร์เซ็นต์… ถามว่าผมมาขายทุเรียนเพราะอะไร ตัวผมเองเลยจุดที่ดิ้นรนไปแล้ว แต่เราต้องดิ้นเพื่อให้ทีมงานของเรามีกินมีใช้” 

‘ทีเด็ด 99’ สถานบันเทิงชื่อดังย่านสะพานควาย ต้องปิดให้บริการกว่า 2 เดือนตามมาตรการป้องกันโควิด-19 ระลอก 3 

ปัจจุบันเปลี่ยนพื้นที่หน้าร้านมาขายทุเรียน เพื่อพยุงธุรกิจและพนักงาน พวกเขาปรับตัวอย่างไรและต้องเผชิญอะไรบ้างในภาวะวิกฤตโควิด-19

Constitution Dialogue ครั้งที่ 7 “การเมืองภาคประชาชน”

นำเสนอแนวคิดโดย ประภาส ปิ่นตบแต่ง อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ร่วมเสวนาโดย

(1) อังคณา นีละไพจิตร อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)

(2) สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ประธานชมรมแพทย์ชนบท และผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา

(3) ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล ประธานคณะกรรมการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และอาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ดำเนินรายการโดย ประจักษ์ ก้องกีรติ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

จัดโดย

(1) ศูนย์วิจัย ดิเรก ชัยนาม คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (2) ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (3) ศูนย์วิจัยและพัฒนากฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (4) คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (5) เว็บไซต์สื่อความรู้สร้างสรรค์ The101.world

‘หลักประกันสุขภาพที่รัก’ : สู่อนาคตที่ต้องดีกว่าเดิม

งานเสวนาในวาระการเปิดตัวหนังสือ ‘หลักประกันสุขภาพที่รัก’ ของ นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ซึ่งรวบรวมจากบทความในคอลัมน์ ‘หลักประกันสุขภาพที่รัก’ ทางเว็บไซต์ The101.World และสนับสนุนการจัดทำหนังสือโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)

พูดคุยถึงเบื้องหลังหนังสือ ‘หลักประกันสุขภาพที่รัก’ ในฐานะบทบันทึกหมุดหมายสำคัญบนเส้นทางการพัฒนาระบบสุขภาพไทย ย้อนมองสิ่งที่ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสร้างความเปลี่ยนแปลงสังคมไทยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา และมองไปข้างหน้าถึงโจทย์ท้าทายในอนาคตเพื่อพัฒนาระบบให้ดียิ่งขึ้น

ร่วมพูดคุยโดย

– นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข

– นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา อดีตเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)

– นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้เขียนหนังสือ ‘หลักประกันสุขภาพที่รัก’

– สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

– นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ประธานชมรมแพทย์ชนบท และผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา

ดำเนินรายการโดย กรรณิการ์ กิจติเวชกุล

101 Policy Forum # 12 : Back to School: รื้อบทเรียน-เปลี่ยนการเรียนรู้ฉบับคุณครู

เพราะเราเชื่อว่า นโยบายสาธารณะเป็นเรื่องของพลเมืองทุกคน และนโยบายที่ดีมาจากการแลกเปลี่ยนถกเถียงอย่างมีคุณภาพ ผ่านการมีส่วนร่วมของสังคม ไม่ใช่เฉพาะช่วงเลือกตั้ง และไม่ใช่แค่ในสภา

สำหรับเดือนนี้ ร่วมรื้อบทเรียน-เปลี่ยนการเรียนรู้แบบฉบับคุณครูในโลกการศึกษาที่จะไม่มีวันกลับไปเป็นเหมือนเดิม

พบกับ

เกรียงกมล สว่างศรี ครูฟิสิกส์และดาราศาสตร์ โรงเรียนกำเนิดวิทย์ จ.ระยอง

สัญญา มัครินทร์ (ครูสอญอ) ครูสังคมศึกษา โรงเรียนเทศบาลบ้านโนนชัย จ.ขอนแก่น

ชนากานต์ วาสะศิริ Content Development Manager จาก StartDee

มัทนา รุ่งแจ้ง ครูคณิตศาสตร์ โรงเรียนบ้านเวียงหวาย จ.เชียงใหม่

ดำเนินรายการโดย ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์

ตลอด 1 ปีที่ผ่านการลองผิดลองถูก การสอนแบบไหนที่ได้ผลที่สุดในยุคโควิด-19 | วิธีคิดของการเรียนรู้และการจัดการเรียนการสอนที่เปลี่ยนไป | ข้อเสนอเพื่อสนับสนุนครูและการเรียนรู้ในโลกการศึกษาแบบใหม่ | ฯลฯ

101 One-On-One Ep.223 ‘ตีโจทย์เศรษฐกิจ วิกฤตโควิดระลอกสาม’ กับ สมประวิณ มันประเสริฐ

ท่ามกลางวิกฤตสุขภาพระลอกใหม่ ทุกคนรู้ดีว่า วิกฤตเศรษฐกิจสาหัสไม่แพ้กัน

อะไรคือโจทย์สำคัญของวิกฤตเศรษฐกิจปัจจุบันภายใต้เงื่อนไขและข้อจำกัดในปัจจุบัน

คุยกับสมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานวิจัยและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เพื่อตอบคำถามว่า เศรษฐกิจไทยควรเดินหน้าอย่างไรดี

จิรัฐิติ ขันติพะโล ดำเนินรายการ

101 One-on-One Ep.224 เจาะกระแส มองอนาคต Cryptocurrency กับ สถาพน พัฒนะคูหา

กระแสสกุลเงินคริปโต (Cryptocurrency) กำลังร้อนแรงจนเป็นที่จับตาของแวดวงเศรษฐกิจทั่วโลก ด้วยมูลค่าตลาดรวมที่พุ่งทะลุ 2.5 ล้านล้านบาท ขณะที่ตลอดปีที่ผ่านมา หลายสกุลเงินก็กำลังพากันทำมูลค่าทุบสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์

101 ชวน สถาพน พัฒนะคูหา CEO และผู้ก่อตั้ง Smart Contract Blockchain Studio มาร่วมพูดคุยถึงหลากหลายกระแสของโลก Cryptocurrency พร้อมมองอนาคตและความท้าทาย เมื่อสกุลเงินดิจิทัลกำลังขยับขยายอิทธิพลในแวดวงเศรษฐกิจ และคืบคลานเข้าสู่ชีวิตผู้คนในหลายมิติมากขึ้น

ดำเนินรายการโดย วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา

101 One-On-One Ep.225 เมื่อโรค ‘สะกิด’ โลก: มองเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมยุคโควิด-19 กับ ณัฐวุฒิ เผ่าทวี

นอกจากศาสตร์ทางด้านการแพทย์แล้ว หนึ่งในศาสตร์ที่มีการทดลองที่น่าสนใจในยุคโควิด-19 คือศาสตร์แห่งพฤติกรรม ที่ชี้ชวนให้เรารู้จักธรรมชาติของมนุษย์มากขึ้น โดยเฉพาะในภาวะวิกฤตเช่นนี้ เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมเข้ามาทำหน้าที่อธิบายได้อย่างเฉียบคม

คนจะมีความสุขหรือทุกข์มากขึ้นในภาวะโรคระบาด อะไรคือเหตุผลในการตัดสินใจฉีดหรือไม่ฉีดวัคซีน-สวมหรือไม่สวมหน้ากาก ในยุคโควิดมีการคิดค้นรูปแบบใหม่ๆ ของการ ‘สะกิด’ เพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมของมนุษย์บ้างไหม อย่างไร ฯลฯ

101 ชวนณัฐวุฒิ เผ่าทวี ศาสตราจารย์วิจัย Behavioural Science ที่ Warwick Business School โคเวนทรี ประเทศอังกฤษ มาพูดคุยว่าด้วยประเด็นเหล่านี้ 

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย ดำเนินรายการ

101 One-on-One Ep.226 อ่านฉากทัศน์อนาคต ตั้งหลักใหม่ประเทศไทย กับ มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด

การเมืองล้มเหลว เศรษฐกิจตกต่ำ ความเหลื่อมล้ำเพิ่มสูง คุณภาพชีวิตคนไทยกำลังย่ำแย่ลงเรื่อยๆ

สังคมไทยจำเป็นต้องมองเห็นฉากทัศน์แห่งอนาคต และเตรียม ‘ตั้งหลักใหม่’ เพื่อรับมือความท้าทายที่เกิดขึ้น

101 ชวนอ่านฉากทัศน์อนาคตประเทศไทยกับ ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด ผู้อำนวยการสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ เพื่อตั้งหลักคิดและออกแบบนโยบายสาธารณะแห่งอนาคต

ดำเนินรายการโดย วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Spotlights

30 Jun 2020

“ไม่มี Theory of Everything ในโลกของ IR” จิตติภัทร พูนขำ

101 สนทนากับ จิตติภัทร พูนขำ เกี่ยวกับองค์ความรู้และโลกของ IR ไปจนถึงการเรียนการสอน และการปรับตัวของ IR ในยุคที่โลกผันผวนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

กานต์ธีรา ภูริวิกรัย

30 Jun 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save