fbpx
ทำไมเหล่าคนดีถึงพร้อมที่จะทำเลว?

ทำไมเหล่าคนดีถึงพร้อมที่จะทำเลว?

เคยไหมครับ เวลาที่เจอกับเหล่านักเลงคีย์บอร์ดที่มาแสดงความคิดเห็นจงเกลียดจงชังแก่ผู้เห็นต่างทางการเมือง บ้างด่าทอด้วยถ้อยคำหยาบคาย บ้างไสหัวให้ออกนอกประเทศ บ้างแช่งชักหักกระดูกว่าสมควรตาย บ้างวิพากษ์วิจารณ์ล้อเลียนถึงรูปร่างหน้าตา หลายครั้งที่เราอดไม่ได้ที่จะ ‘คลิก’ เข้าไปแอบดูสักหน่อยว่าเหล่าชายหญิงผู้สะสมความเกลียดชังไว้เต็มอกจะมี ‘ไลฟ์สไตล์’ เป็นอย่างไร

หากไม่นับเหล่าโปรไฟล์เปล่าๆ ที่เพิ่งสมัครไม่นานและมีเพื่อนอยู่หยิบมือ ผู้เขียนเชื่อว่าคงมีคนจำนวนไม่น้อยที่คลิกเข้าไปแล้วเจอโปรไฟล์ของผู้ใจบุญสุนทาน แชร์คติธรรมคำพระ แถมยังโพสต์รูปนุ่งขาวห่มขาวอย่างสม่ำเสมอ จนชวนให้สงสัยว่าทำไมเหล่าผู้คนที่ใกล้ชิดกับศาสนากลับแสดงพฤติกรรมไร้จริยธรรม เมื่อเจอกับกลุ่มผู้เห็นต่างทางการเมือง

คำอธิบายหนึ่งที่เป็นไปได้คืออคติเชิงพฤติกรรมที่ชื่อว่า Moral Licensing หรือการได้รับอนุญาตทางศีลธรรม ซึ่งหมายถึงสิทธิพิเศษที่จะทำเรื่องที่ขัดต่อจริยธรรมของเหล่าผู้ที่ (คิดว่า) ตนเองเป็นคนดีมีศีลธรรม เพราะพฤติกรรมในอดีต

Moral Licensing คืออะไร?

           

ในทางจิตวิทยา Moral Licensing คือกระบวนการหลอกตัวเองว่าเราสามารถกระทำพฤติกรรมแย่ๆ ได้เพราะเรามีพฤติกรรมดีๆ ที่เคยกระทำมาในอดีต คล้ายกับว่ามีแต้มบุญหนุนนำ ทำให้มี ‘เครดิต’ ในการทำเรื่องเลวร้ายในอนาคต นั่นหมายความว่าเหล่ามนุษย์ปุถุชนที่ทำตัวน่ารักแสนดีในตอนต้น พร้อมจะกลายร่างเป็นปีศาจที่ฉ้อฉลในภายหลัง

นอกจากนี้ ยังมีอคติเชิงพฤติกรรมที่คล้ายคลึงกันอีกสองรูปแบบคือ ‘การชำระล้างทางศีลธรรม’ (Moral Cleansing) ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อเรามองเห็นตัวเอง ‘แปดเปื้อน’ ขณะที่เราระลึกถึงการกระทำที่เลวร้ายในอดีต จะส่งผลให้เราทุรนทุรายอยากจะเป็นคนดีเพื่อปรับอัตลักษณ์ของตนเองให้กลับมางดงามอีกครั้ง

อีกรูปแบบหนึ่งคือ ‘การได้รับอนุญาตทางศีลธรรมล่วงหน้า’ (Prospective Moral Licensing) หมายถึงความพร้อมที่จะทำตัวแย่ๆ หากสัญญากับตัวเองในอนาคตว่าจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ดีขึ้น เช่น หากใครตั้งใจว่าจะเลิกเหล้าช่วงเข้าพรรษา ก็จะมีแนวโน้ม ‘อนุญาต’ ให้ตัวเองเมาหัวราน้ำทุกวันในช่วงหนึ่งสัปดาห์ (หรือมากกว่า) ก่อนจะถึงหมุดหมายในการปรับพฤติกรรม

อย่างไรก็ดี อคติเชิงพฤติกรรมข้างต้นดูจะย้อนแย้งกับทฤษฎีทางจิตวิทยาที่ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลาย ซึ่งจะเน้นย้ำให้ความสำคัญของ ‘ความคงเส้นคงวา’ ของพฤติกรรมเพื่อยึดมั่นภาพอัตลักษณ์ทางศีลธรรมของตนเองไว้อย่างแม่นมั่น เช่น ทฤษฎีการรับรู้ตนเอง (Self-perception Theory) ที่ว่าปัจเจกจะสร้างทัศนคติของตนเองโดยประกอบรวมเอาจากพฤติกรรมในอดีต โดยภาพตนเองที่เราสร้างขึ้นมาก็จะส่งผลต่อพฤติกรรมของเราในอนาคต ดังนั้น หากใครคิดว่าตนเป็นคนดีมีศีลธรรมก็ควรจะมีความยับยั้งชั่งใจ ไม่มือไวกล่าวร้ายโจมตีหรือไล่ให้ใครไปตาย เพื่อรักษาภาพลักษณ์อันงดงามของตนเองไว้

ทฤษฎีทางจิตวิทยาดังกล่าวก็ฟังดูสมเหตุสมผล แต่การศึกษาจำนวนมากกลับให้ผลลัพธ์ตรงกันข้าม พร้อมกับยืนยันถึงการมีอยู่ของอคติเชิงพฤติกรรม ‘การได้รับอนุญาตทางศีลธรรม’ ได้อย่างดีเยี่ยม

การศึกษาเชิงประจักษ์

           

ตัวอย่างจากโลกจริงที่มักถูกหยิบยกเมื่อกล่าวถึง Moral Licensing คือกรณีของมหาเศรษฐีชาวอเมริกัน เจฟฟรีย์ เอปสไตน์ นักการเงินซึ่งเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในแวดวงชนชั้นนำของสหรัฐฯ ในฐานะเศรษฐีใจบุญผู้ก่อตั้งมูลนิธิในชื่อของตัวเองและบริจาคทรัพย์สินมูลค่ามหาศาลอย่างต่อเนื่องให้กับสถาบันการศึกษา เช่น มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เอ็มไอที รวมถึงโรงพยาบาล และกิจกรรมการกุศลต่างๆ แต่ชื่อเสียงทั้งหมดของเอปสไตน์ต้องพังทลายลงเมื่อเข้าถูกฟ้องร้องในความผิดฐานล่วงละเมิดทางเพศและการค้าประเวณีเด็ก ก่อนจะตัดสินใจปลิดชีวิตตนเองในคุกขณะที่คดียังไม่สิ้นสุด

แน่นอนครับว่าเพียงหนึ่งตัวอย่างคงไม่อาจนำมาอธิบายพฤติกรรมของคนส่วนใหญ่ได้ นักสังคมศาสตร์จำนวนมากทุ่มเทเวลากับการศึกษาประเด็นดังกล่าว แล้วได้ข้อสรุปในทิศทางเดียวกันว่าอคตินี้มีอยู่จริง ซึ่งผู้เขียนขอหยิบยกการศึกษาบางชิ้นที่น่าสนใจมาเล่าสู่กันฟังครับ

การศึกษาชิ้นที่แรกอยู่ในสภาพแวดล้อมการทำงาน โดยบริษัทจะจ้างพนักงานมาถอดความภาพที่มีตัวอักษรภาษาเยอรมันประมาณ 30 คำ โดยลูกจ้างจะได้รับค่าตอบแทนโดยไม่เกี่ยวกับคุณภาพของการแปล นอกจากนี้ ทุกคนจะสามารถระบุว่าภาพนั้น ‘อ่านไม่ออก’ แต่ยังได้รับเงินตอบแทนเท่าเดิม นักวิจัยจะแบ่งพนักงานเป็นสองกลุ่มที่ได้รับค่าตอบแทนเท่ากัน แต่กลุ่มหนึ่งจะได้รับการแจ้งล่วงหน้าว่าบริษัทจะบริจาคเงินให้กับ UNICEF ตามจำนวนผลงานที่ทำได้

หลายคนคงประหลาดใจเพราะการศึกษาชิ้นนี้พบว่า พนักงานกลุ่มที่ทราบว่าทำงานเพื่อจะนำเงินส่วนหนึ่งไปบริจาคนั้น มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 24 เปอร์เซ็นต์ที่จะรายงานว่าภาพดังกล่าวไม่สามารถอ่านได้ กล่าวคือคนที่รู้ว่าตนเองกำลังทำดีกลับเป็นกลุ่มที่พร้อมจะบ่ายเบี่ยงงานหรือพร้อมจะโกงนั่นเอง

การศึกษาชิ้นที่สองเป็นประเด็นการเหยียดสีผิว โดยนักวิจัยจะสอบถามผู้เข้าร่วมให้พิจารณาว่าผู้สมัครผิวดำหรือผู้สมัครผิวขาวจะเหมาะสมกับงานมากกว่ากัน แต่ก่อนอื่นนั้น นักวิจัยจะถามก่อนว่าผู้เข้าร่วมคิดเห็นอย่างไรกับบารัค โอบามา ประธานาธิบดีผิวสีคนแรกของสหรัฐอเมริกา ผลลัพธ์ก็น่าประหลาดใจอีกเช่นกัน เพราะผู้เข้าร่วมที่แสดงความชื่นชมโอบามากลับเอนเอียงไปทางคนผิวขาวเมื่อถูกถามคำถามที่สอง โดยทีมวิจัยอธิบายว่า คนส่วนใหญ่พร้อมจะ ‘เลือกปฏิบัติ’ กับคนผิวสีเนื่องจากมีแต้มบุญจากการแสดงตัวว่าไม่เลือกปฏิบัติในคำถามแรกไปแล้วนั่นเอง

การศึกษาชิ้นที่สามมองไปที่การใช้ทรัพยากรอย่างน้ำประปาและไฟฟ้า โดยใช้การรณรงค์สุดฮิตของแวดวงเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม คือการส่งจดหมายแจ้งข้อมูลว่าบ้านของคุณนั้นใช้น้ำมากกว่าหรือน้อยกว่าค่าเฉลี่ย แนบกับเทคนิคในการประหยัดน้ำแบบสอดถึงประตูบ้าน ผลลัพธ์ที่ได้ก็เป็นไปตามที่หลายคนคาด คือปริมาณการใช้น้ำของกลุ่มที่ถูกสุ่มให้เข้าร่วมโครงการลดลงโดยเฉลี่ย 6 เปอร์เซ็นต์ แต่ในทางกลับกัน ครัวเรือนเหล่านี้กลับมีการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 5.6 เปอร์เซ็นต์หากเทียบกับกลุ่มควบคุม ชวนให้ตั้งคำถามว่าการ ‘สะกิด’ แบบเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมอาจส่งผลกระทบที่เราคาดไม่ถึงหรือเปล่า

งานชิ้นสุดท้ายขยับเข้ามาใกล้ชีวิตประจำวันของเราขึ้นมาหน่อย โดยเป็นการศึกษาว่า หากผู้บริโภคถือถุงผ้าเข้าซูเปอร์มาร์เก็ตจะมีพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร สิ่งที่เป็นไปตามคาดคือคนเหล่านี้จะมีแนวโน้มซื้อสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่า แต่ในขณะเดียวกันก็จะหยิบของหวาน ไอศกรีม และขนมขบเคี้ยวในปริมาณที่มากกว่า เสมือนหนึ่งว่ากำลัง ‘ให้รางวัลตัวเอง’ ที่ทำดี

อคติเชิงพฤติกรรม Moral Licensing เป็นสิ่งที่ฝังอยู่ในวิธีคิดของเราแทบทุกคนไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม มันอาจส่งผลกระทบตั้งแต่ระดับเล็กน้อย เช่น การซื้อของหวานที่ดีต่อใจในปริมาณมากเกินไป หรือถึงขั้นจูงใจให้ฉ้อฉล แสดงพฤติกรรมเลือกปฏิบัติแบบไม่รู้สึกรู้สา หรือพร้อมจะลงโทษทางกายหรือวาจาในฐานะ ‘ผู้มีศีลธรรมสูงส่งกว่า’

นี่คือคำอธิบายในมิติเศรษฐศาสตร์ว่าทำไมเหล่าคน (ที่คิดว่าตัวเอง) ดีถึงพร้อมที่จะกระทำสิ่งที่ดูจะขัดต่อคุณค่าหรือหลักการที่พวกเขาหรือเธอยึดถือนั่นเอง


เอกสารประกอบการเขียน

Moral licensing: a culture-moderated meta-analysis

Moral Licensing – How Your Good Deeds Make You Bad

MOST READ

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

Economy

23 Nov 2023

ไม่มี ‘วิกฤต’ ในคัมภีร์ธุรกิจของ ‘สิงห์’ : สันติ – ภูริต ภิรมย์ภักดี

หากไม่เข้าถ้ำสิงห์ ไหนเลยจะรู้จักสิงห์ 101 คุยกับ สันติ- ภูริต ภิรมย์ภักดี ถึงภูมิปัญญาการบริหารคน องค์กร และการตลาดเบื้องหลังความสำเร็จของกลุ่มธุรกิจสิงห์

กองบรรณาธิการ

23 Nov 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save