fbpx
จะชอบหรือไม่ชอบประยุทธ์ ก็ต้องรื้อระบอบประยุทธ์

จะชอบหรือไม่ชอบประยุทธ์ ก็ต้องรื้อระบอบประยุทธ์

หลายคนคงทราบดีว่า ผมไม่คิดว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นบุคคลที่เหมาะสมที่สุดในการนำพาประเทศ ยิ่งในห้วงเวลาที่ประเทศกำลังเผชิญวิกฤตด้านสาธารณสุข-เศรษฐกิจ-การเมือง ที่ท้าทายที่สุดครั้งหนึ่งในหลายทศวรรษ

แต่ในมุมมองของผม ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดสำหรับประเทศ ณ ปัจจุบัน ไม่ใช่ตัว พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะตัวบุคคล แต่คือ ‘ระบอบประยุทธ์’ หรือ โครงสร้าง กลไก และเครือข่าย ที่ พล.อ.ประยุทธ์และพรรคพวก ได้สร้างเสริมขึ้นมาตลอดระยะเวลา 7 ปี ตั้งแต่การทำรัฐประหาร

ระบอบประยุทธ์ที่ว่านี้ เกิดขึ้นจากการรวมตัวของหลายกลุ่มที่ประกอบไปด้วย (แต่ไม่อาจจำกัดอยู่แค่เพียง) กองทัพ-กลุ่มอิทธิพลทางการเมือง-ทุนผูกขาด ที่ร่วมมือกันรักษาผลประโยชน์และอำนาจของกันและกัน ผ่านการออกแบบโครงสร้างและกลไกรัฐให้อยู่ในการควบคุมของตนเอง

ในบริบทนี้ พล.อ.ประยุทธ์จึงเป็นเพียงเครื่องมือที่เครือข่ายเหล่านี้ใช้ในการดำเนินการ และถึงแม้ พล.อ.ประยุทธ์จะลาออกจากตำแหน่ง แต่หากกลไกที่ถูกสร้างไว้ยังคงเป็นเหมือนเดิม ระบอบนี้ก็สามารถหานายพลหรือพลเรือนขึ้นมาเป็นหัวคนใหม่ได้ไม่ยาก

แน่นอนว่ากลไกหรืออัญมณีสำคัญที่ค้ำจุนระบอบประยุทธ์ให้ยังคงอยู่ในอำนาจ ถึงแม้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะสิ้นสภาพไปหลังมีการจัดการเลือกตั้งในปี 2562 ก็คือ รัฐธรรมนูญ ฉบับ 2560 ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมคนปัจจุบัน (และเป็นหนึ่งในผู้เล่นสำคัญของระบอบประยุทธ์) ป่าวประกาศเองว่า “ดีไซน์มาเพื่อพวกเรา”

แม้ใครที่ยังไม่มีเวลาเปิดอ่านทั้ง 279 มาตราของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ก็คงพอคาดการณ์ได้ว่าเนื้อหาจะมีความบิดเบี้ยวแค่ไหน จากการที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกร่างโดย คสช. โดยไม่เปิดให้ประชาชนมาร่วมแสดงความเห็น ถูกนำเสนอด้วยภาพหลอกลวงว่า คสช. จะทำหน้าที่เป็นกรรมการ ทั้งๆ ที่ คสช. ตั้งใจ ‘อยู่ยาว’ เพื่อลงมาเล่นในสนามการเมืองเอง และถูกจัดฉากว่าผ่านกระบวนการ ‘ประชาธิปไตย’ โดยการจัดประชามติ ทั้งๆ ที่เป็นประชามติที่ไม่ได้เปิดให้สองฝ่ายรณรงค์อย่างเท่าเทียม พร้อมด้วยคำถามพ่วงเกี่ยวกับอำนาจ ส.ว. เลือกนายกฯ ที่ซับซ้อนและชี้นำ

แต่ใครที่ได้อ่านและวิเคราะห์เนื้อหาในรัฐธรรมนูญฉบับนี้แล้ว จะค้นพบลูกเล่นและนวัตกรรมแปลกใหม่อันเลวร้ายที่ถูกฝังไว้ในรายละเอียด เพื่อเป้าหมายในการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหารและระบอบประยุทธ์

การรื้อระบอบประยุทธ์ที่กุมทั้งอำนาจรัฐ อำนาจปืน และอำนาจเงิน จึงเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย และการแก้รัฐธรรมนูญเพียงอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ

แต่การรื้อระบอบประยุทธ์จะไม่มีวันสำเร็จ หากเรายังใช้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่ต่ออายุให้ระบอบประยุทธ์อยู่ไปได้เรื่อยๆ

ถ้าถามว่า ทำไมเราถึงจำเป็นต้องแก้รัฐธรรมนูญเพื่อรื้อระบอบประยุทธ์ที่ครอบงำสังคมไทยมา 7 ปี ผมสรุปออกมาเป็น 7 เหตุผล ว่าระบอบประยุทธ์ทำให้ประเทศเสียหายอย่างไร


1. ระบอบประยุทธ์ ทำให้ประเทศไม่เป็นประชาธิปไตย แต่เป็นเผด็จการอำพราง


รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 มีเนื้อหาที่ไม่สามารถเรียกได้ว่าเป็นประชาธิปไตย

ในขั้นพื้นฐานที่สุด ระบอบประชาธิปไตย หมายถึงการที่ประชาชนทุกคน มี 1 สิทธิ์ 1 เสียง เท่าเทียมกันในการกำหนดอนาคตประเทศและเลือกผู้นำของเราผ่านการเลือกตั้ง แต่อย่างที่หลายคนทราบดี มาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญ ให้อำนาจ ส.ว. ที่ถูกแต่งตั้งจาก คสช. มาร่วมเลือกนายกฯ กับ ส.ส. 500 คนที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน 38 ล้านคนที่ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง

ถ้าคิดตามคณิตศาสตร์ ประชาชน 1 คน (ที่เลือก ส.ส.) จะมีอำนาจกำหนดตัวนายกฯ แค่ 0.000017% ขณะที่ คสช. (ซึ่งเลือก ส.ว.) มีอำนาจ 33% ซึ่งหมายความว่า ประชาชนต้องรวมกันให้ได้ถึง 19 ล้านคน จึงจะมีอำนาจเท่ากับ คสช.

แต่นอกจากมาตรานี้ รัฐธรรมนูญ ยังขยายอำนาจให้กับ 3 องค์กรหรือกลไกทางการเมือง ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งหรือการมีส่วนร่วมของประชาชน

กลไกที่หนึ่งคือ วุฒิสภา ถึงแม้เราตัดอำนาจ ส.ว. ในการเลือกนายกฯออก วุฒิสภาก็ยังคงมีอำนาจที่สูงมาก เมื่อเทียบกับสถานะที่ไม่ยึดโยงกับประชาชนเพราะมาจากการแต่งตั้ง ไม่ว่าจะเป็นอำนาจในการร่วมโหวตกฎหมายปฏิรูปประเทศ อำนาจในการขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และอำนาจในการรับรองแต่งตั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและกรรมการองค์กรอิสระทุกคน หลายคนมักโต้แย้งว่าวุฒิสภาบางแห่งก็มีอำนาจสูง (เช่น ส.ว. สหรัฐฯ ที่ถอดถอนประธานาธิบดี) หรือ วุฒิสภาบางประเทศที่เป็นประชาธิปไตยก็มาจากการแต่งตั้ง (เช่น ส.ว. สหราชอาณาจักร) แต่สิ่งที่ทำให้วุฒิสภาเหล่านั้นมีความเป็นประชาธิปไตย ในขณะที่วุฒิสภาของไทยไม่มีคุณสมบัตินั้น เพราะความเป็นประชาธิปไตยของวุฒิสภา วัดจากอำนาจที่พวกเขามีว่าสอดคล้องกับที่มาหรือไม่ ซึ่งในสหราชอาณาจักรและสหรัฐฯ เราจะเห็นความสมดุลนี้ ส.ว.สหราชอาณาจักรมาจากการแต่งตั้งทั้งหมด แต่มีอำนาจน้อยมาก (คือชะลอร่างกฎหมายได้ 1 ปี) ส่วนในสหรัฐฯ ส.ว. มีอำนาจมาก เพราะมาจากการเลือกตั้งโดยตรง ในขณะที่ในประเทศไทย ทุกอย่างกลับตาลปัตร เพราะ ส.ว. มีอำนาจสูงมาก แต่ที่มากลับมาจากการแต่งตั้ง

กลไกที่สอง คือ ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ที่มีอำนาจสูงขึ้น ทั้งอำนาจที่มีร่วมกัน (เช่น มาตรา 219 ที่ให้อำนาจในการกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรม เพื่อบังคับใช้กับ ส.ส. ส.ว. และคณะรัฐมนตรี) หรืออำนาจสำหรับองค์กรใดองค์กรหนึ่งโดยเฉพาะ (เช่น อำนาจของ กกต. ในการแจก ‘ใบส้ม’ เพื่อสั่งระงับสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้สมัครที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดเป็นการชั่วคราว โดยให้คำสั่งของ กกต.ถือเป็นที่สุด ซึ่งนำไปสู่กรณีของ สุรพล เกียรติไชยากร อดีตผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต 8 จ.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ที่ถูก กกต. ตัดสิทธิ์จากการเป็น ส.ส. สมัยนี้ แม้ว่าในที่สุดศาลได้ตัดสินให้ยกคำร้องของ กกต. ก็ตาม) โดยทั้งหมดนี้สวนทางกับที่มาที่มีความยึดโยงกับประชาชนน้อยลง ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการรับรองที่ในอดีตเคยมี ส.ว. ที่มาจากการเลือกตั้งเข้ามามีส่วนร่วม หรือกระบวนการสรรหา ที่เคยมีตัวแทนของภาควิชาการร่วมด้วย

กลไกที่สาม คือ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีและแผนปฏิรูปประเทศ ที่มีสถานะเป็นกฎหมาย และทำให้นโยบายไม่ได้เป็นเรื่องที่ประชาชนเป็นคนเลือกจากข้อเสนอต่างๆ ของแต่ละพรรคการเมืองในเวทีเลือกตั้ง แต่เป็นเรื่องที่ถูกกำหนดไว้แล้วโดยคณะกรรมการที่ คสช. แต่งตั้งในสมัยที่มีการจัดทำยุทธศาสตร์และแผนเหล่านี้ การที่รัฐบาลถูกล็อกให้เดินตามยุทธศาสตร์ชาติ จึงทำให้นโยบายใดๆ ที่ถูกคิดค้นขึ้นมาใหม่นอกเหนือจากยุทธศาสตร์ชาติ อาจไม่ได้ถูกดำเนินการถึงแม้จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและได้รับการสนับสนุนจากประชาชนทั่วประเทศแค่ไหนก็ตาม


2. ระบอบประยุทธ์ ทำให้ประเทศไม่มีระบบตรวจสอบที่เป็นกลาง แต่แอบแฝงกลไกตัดขาฝ่ายตรงข้าม


องค์ประกอบสำคัญของกลไกตรวจสอบถ่วงดุลที่มีประสิทธิภาพ คือความเป็นกลางทางการเมืองหรือความพร้อมที่จะตรวจสอบผู้มีอำนาจทุกคนทุกฝ่ายอย่างเข้มข้น แต่ระบอบประยุทธ์กลับวางกติกาในรัฐธรรมนูญที่ทำให้สามารถควบคุมกลไกเหล่านี้ได้ ผ่านการแต่งตั้งคนของตนเองเข้ามาดำรงตำแหน่ง

ในส่วนของ ส.ว. 250 คน ที่ควรมีหน้าที่หลักในการตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายบริหาร ทว่า คสช. มีส่วนร่วมในการเลือกเองทั้งหมด 244 จาก 250 คน (อีก 6 ที่นั่งถูกจองไว้ให้ ผบ. เหล่าทัพโดยอัตโนมัติ) โดย 108 จาก 250 คน ประกอบอาชีพทหารและตำรวจ จึงเป็นเรื่องที่ไม่น่าแปลกใจว่าใน 1 ปีแรกของการทำงาน ทั้ง 145 มติ ที่ ส.ส. ส่งต่อไปสู่การพิจารณาของ ส.ว. ถึงถูกโหวตผ่านโดย ส.ว. (ด้วยคะแนนเฉลี่ยสูงลิ่วที่ 96%) ครั้งเดียวที่เราเห็น ส.ว. โหวตไม่ตรงกับนโยบายของรัฐบาล คือการโหวตคว่ำการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งคงไม่ได้เกิดขึ้นจากความกล้าหาญของ ส.ว.ที่กล้าเห็นแย้งกับรัฐบาล แต่มาจากความไม่จริงใจของรัฐบาลเองที่บรรจุเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญไปในนโยบายเร่งด่วน ทั้งที่ไม่ได้ต้องการจะทำตั้งแต่ต้น

ในส่วนของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ซึ่งมีหน้าที่สำคัญเช่นกันในการตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายการเมือง คสช. ก็มีส่วนร่วมในการแต่งตั้ง ผ่านการให้ สนช. ที่ตนเองแต่งตั้ง (ในช่วงก่อนมีรัฐธรรมนูญ 2560) และ ส.ว.ที่ตนเองแต่งตั้ง (หลังมีรัฐธรรมนูญ 2560) มีอำนาจชี้ขาดในการรับรองตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและกรรมการองค์กรอิสระทุกคน จึงไม่น่าแปลกใจหากที่ผ่านมา ประชาชนจะตั้งคำถามถึงความเป็นกลางของศาลรัฐธรรมนูญ ความเป็นกลางของ กกต. (เช่น การบิดสูตรคำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อที่พลิกผลจากหน้ามือเป็นหลังมือ) หรือความเป็นกลางของ ป.ป.ช. (เช่น กรณีความล่าช้าหรือไม่ชัดเจนในการสอบสวนเรื่องนาฬิกาของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ)

แต่การมีอำนาจแต่งตั้ง ‘กรรมการ’ นอกเหนือจากจะทำให้กรรมการอาจไม่กล้าตรวจสอบฝ่ายผู้มีอำนาจที่แต่งตั้งตนเองแล้ว ระบอบประยุทธ์ยังเพิ่มอาวุธลับที่ทำให้กรรมการเหล่านี้สามารถนำมาใช้ตัดสินเล่นงานฝ่ายตรงข้ามได้ ไม่ว่าจะใช้ช่องของการกล่าวหาว่าบุคคลนั้นมีความประพฤติที่ขัดกับมาตรฐานทางจริยธรรม (ที่ถูกกำหนดโดยศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ และถูกตีความได้อย่างกว้างขวางมาก) หรือดำเนินนโยบายที่ไม่ตรงกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูป (ที่มีรายละเอียดยิบย่อยมากมายและถูกล็อกไว้ถึง 20 ปีข้างหน้า) ซึ่งมีโทษถึงขั้นปลดออกจากตำแหน่ง ตัดสิทธิทางการเมือง หรือโทษจำคุก แน่นอนว่าที่ผ่านมา เราอาจยังไม่เห็นการใช้ช่องทางใหม่เหล่านี้ในการสกัดฝ่ายตรงข้าม แต่หากรัฐบาลในอนาคตมาจากขั้วทางการเมืองที่ยืนอยู่ตรงข้ามระบอบประยุทธ์ หากเราไม่ปลดอาวุธลับนี้ออกตั้งแต่วันนี้ วันหนึ่งมันอาจถูกหยิบยกมาใช้


3. ระบอบประยุทธ์ ทำให้ประเทศไม่มีความโปร่งใสในการใช้อำนาจและงบประมาณ แต่เต็มไปด้วยการทุจริตทางตรงและทางอ้อม


เป็นเรื่องที่น่าย้อนแย้งอย่างสูง แต่ไม่น่าประหลาดใจสักนิด ที่ พล.อ.ประยุทธ์ ยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนด้วยข้ออ้างเรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน แต่สถานการณ์ความโปร่งใสของรัฐหรือการกำจัดการทุจริตในช่วง 7 ปีที่ผ่านมาไม่ได้ดีขึ้นเลย ไม่ว่าจะวัดจากข่าวสารที่ประชาชนรับรู้ในสังคม หรือดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชันขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (ประเทศไทยตกจาก 38 คะแนน อันดับที่ 85 ในปี 2557 มาเป็น 36 คะแนน อันดับที่ 104 ในปี 2563)

ข้อกล่าวหาเรื่องการทุจริตในสมัยรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ ไม่ได้ลดลงจากสมัยรัฐบาลก่อนๆ เห็นได้ชัดในการอภิปรายไม่ไว้วางใจแต่ละครั้ง ที่มีการเปิดโปงและตั้งคำถามต่อคดีทุจริตที่รัฐบาลรู้เห็นเป็นใจหรือปล่อยปละละเลย ซึ่งครอบคลุมแทบทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการทุจริตในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง การทุจริตการเลือกตั้ง การรับหรือจ่ายสินบน การใช้อำนาจรัฐและงบประมาณเพื่อประโยชน์ตนเอง การทุจริตเชิงนโยบายที่เปิดให้กลุ่มทุนผูกขาดเข้ามามีส่วนร่วมในการใช้ประโยชน์จากกลไกรัฐ หรือการโยกย้ายหรือแต่งตั้งข้าราชการที่อิงกับระบบอุปถัมภ์แทนที่หลักธรรมาภิบาล

ในส่วนของบุคลากร เครือข่ายนักการเมืองหลายคนที่ถูก ‘ดูด’ เข้ามาเป็นส่วนสำคัญของระบอบประยุทธ์ ก็ล้วนเป็นคนของรัฐบาลในอดีตที่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวหาอยู่ทุกวันว่ามีประวัติและพฤติกรรมทุจริต (ไม่ว่าข้อกล่าวหาจะจริงหรือไม่) และถึงแม้รัฐธรรมนูญมีการเพิ่มคุณสมบัติของรัฐมนตรีว่า ต้องเป็นคนที่ ‘มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์’ (ซึ่งส่วนตัว ผมมองว่าเป็นอะไรที่นิยามยากและไม่ควรต้องระบุในกฎหมาย) แต่กระบวนการคัดเลือกปรับคณะรัฐมนตรีในแต่ละครั้ง ก็ดูเหมือนไม่ได้นำคุณสมบัตินี้มาใช้พิจารณา

แต่นอกจากข้อกล่าวหาต่างๆ แล้ว ทัศนคติของระบอบประยุทธ์ต่อการทุจริตก็มีปัญหาเช่นกัน การเลือกที่จะไม่พยายามหรือแสดงความกระตือรือร้นในการชี้แจงหรือตอบข้อกล่าวหาต่างๆ (เช่น กรณีที่ พล.อ.ประวิตร ตอบการอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภาเพียง 1 ประโยค ด้วยระยะเวลาเพียงไม่กี่วินาที) แสดงให้เห็นถึงการขาดความรับผิดชอบ (accountability) ต่ออำนาจที่ตนเองมี เช่นเดียวกัน การตั้งคณะกรรมการสรรหา ส.ว. 10 คน ที่มี 9 จาก 10 คน เลือกตนเองหรือพี่น้องตนเองมาเป็น ส.ว. ยิ่งตอกย้ำเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนที่แทรกซึมในการดำเนินการของระบอบประยุทธ์ และการขาดความเข้าใจต่อความหมายของคำว่า ทุจริตเชิงอำนาจ

ยิ่งไปกว่านั้น ในขณะที่ประชาชนน้อยคนฝากความหวังไว้กับหน่วยงานรัฐอย่าง ป.ป.ช. ระบอบประยุทธ์ก็ไม่มีนโยบายหรือมาตรการที่ช่วยเพิ่มอำนาจประชาชนในการตรวจสอบการทุจริต งบประมาณกองทัพและอีกหลายหน่วยงานยังคงเป็นแดนสนธยาที่ประชาชนถูกห้ามไม่ให้ตรวจสอบด้วยข้ออ้างเรื่อง ‘ความมั่นคง’ ในขณะที่ ร่าง พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสาร ล่าสุด กลับทำให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลรัฐยากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งสวนทางกับกระแสโลกที่เรียกร้องให้รัฐมีความโปร่งใสมากขึ้นในการเปิดข้อมูลที่ละเอียดอ่อนอย่างละเอียด


4. ระบอบประยุทธ์ ทำให้ประเทศ ไม่มีโครงสร้างรัฐที่มีประสิทธิภาพ แต่กลับขยายรัฐราชการรวมศูนย์ที่อุ้ยอ้ายและขาดเอกภาพ


ระบอบประยุทธ์และรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ได้นำไปสู่การขยายขนาดของรัฐราชการรวมศูนย์ ที่ใช้งบประมาณสูงขึ้น แต่มีประสิทธิภาพน้อยลง

หากพิจารณาจากเพียงกลไกที่ถูกสร้างขึ้นโดยรัฐธรรมนูญโดยตรง เราสามารถเห็นได้ถึงงบประมาณหลายส่วนที่ต้องสูญเสียไป การมีอยู่ของวุฒิสภาปัจจุบัน ใช้งบประมาณอย่างน้อยปีละ 1,000 ล้านบาท (โดยคำนวณจากเพียงเงินเดือนของ ส.ว. เงินเดือนของคณะทำงาน และค่าสรรหาสมาชิกวุฒิสภา) ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่ไม่น้อย หากประเทศปรับมาใช้ระบบสภาเดี่ยว (ซึ่งเป็นระบบที่ประเทศประชาธิปไตยส่วนใหญ่ที่เป็นรัฐเดี่ยวและอยู่ภายใต้ระบบรัฐสภาเลือกใช้) งบประมาณส่วนนี้สามารถนำไปส่งเสริมเป็นสวัสดิการให้ประชาชนได้เพิ่มเติม (เช่น การยุบ ส.ว. ทำให้เพิ่มงบอาหารเด็กนักเรียนในแต่ละปี ได้ถึงวันละ 2-3 บาทต่อคนต่อวัน ไม่ใช่แค่ 1 บาทอย่างที่อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเคยชี้แจงในสภาฯ) งบประมาณที่ต้องใช้เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติและเพื่อตรวจสอบว่านโยบายสอดคล้องกับแผนปฏิรูปประเทศก็มีปริมาณมหาศาล (เช่น ค่าจัดประชุม/สัมมนา ค่าประชาสัมพันธ์ ค่าจัดทำเอกสาร ค่าเบี้ยประชุมกรรมการ) และอาจไม่คุ้มค่ากับผลลัพธ์ที่ได้

แต่หากมองในภาพรวม ประเทศไทยสูญเสียงบประมาณจำนวนมากกว่า จากกรอบความคิดเชิงนโยบายของระบอบประยุทธ์ ที่เชื่อในแนวทางการแก้ปัญหาผ่านการขยายรัฐราชการซึ่งสวนกับกระแสโลก นำไปสู่การตั้งสำนักงานเพิ่มขึ้นกว่า 50 หน่วยงานและการออกกฎหมายเพิ่มเติมอีกหลายฉบับ ทั้งที่ประเทศไทยเองมีจำนวนกฎหมาย กฎกระทรวง ใบอนุญาติ ที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกอยู่แล้ว ปริมาณหน่วยงานและกฎหมายที่สูงขึ้น หลายครั้งทำให้เกิดความล่าช้าในการดำเนินธุรกิจหรือการรับบริการจากภาครัฐ ซึ่งอาจนำไปสู่การสร้างตลาดการทุจริตและเพิ่มความต้องการในการจ่ายสินบน

การขยายรัฐราชการภายใต้ระบอบประยุทธ์ ยังขาดประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ-สังคมของประเทศในอีก 2 มิติ

มิติแรก ระบอบประยุทธ์เลือกที่จะขยายรัฐราชการแบบรวมศูนย์ ผ่านการเพิ่มบทบาทและอำนาจหน้าที่ให้ราชการส่วนกลางในการกำหนดวิธีการแก้ปัญหาของคนทั้งประเทศ แทนที่จะส่งเสริมการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นหรือจังหวัดจัดการตนเอง (รัฐธรรมนูญ 2560 ไม่มีคำว่า ‘กระจายอำนาจ’ แม้แต่ครั้งเดียว) ซึ่งสวนทางกับความหลากหลายของปัญหาในแต่ละพื้นที่ที่มีความแตกต่างกันมากขึ้น และสวนทางกับความสำเร็จในเชิงปฏิบัติต่อการอาศัยเครือข่ายในพื้นที่ ที่อาจรู้ปัญหาของพื้นที่ตนเองดีกว่า และสามารถคิดค้นวิธีการแก้ปัญหาในพื้นที่ตนเองได้ตรงจุดกว่า (เช่น เครือข่าย อสม. ในการรับมือกับโควิดระลอกแรก)

มิติที่สอง โครงสร้างรัฐราชการส่วนกลางในระบอบประยุทธ์ มีลักษณะที่แตกกระจายมากกว่าเป็นเอกภาพ โดยแต่ละกระทรวงหรือหน่วยงานต่างทำงานของตนเองและขาดประสิทธิภาพในการประสานงาน จนนำไปสู่ความท้าทายในการรับมือกับประเด็นปัญหาที่อาจคาบเกี่ยวมากกว่า 1 กระทรวง ซึ่งถูกตอกย้ำให้เห็นชัดขึ้นในการรับมือกับโควิด ไม่ว่าจะเป็นการตัดสินใจรวบอำนาจมาที่นายกฯ และ ศบค. แทนที่จะใช้การบริหารผ่านกระทรวงต่างๆ เหมือนช่วงแรก หรือความกระจัดกระจายในการบริหารจัดการระบบข้อมูลเพื่อดำเนินมาตรการเยียวยาหรือมาตรการติดตามผู้ป่วยที่ต้องอาศัยข้อมูลประชาชน ยิ่งไปกว่านั้น การออกแบบกติกาเลือกตั้งที่ทำให้มีพรรคร่วมรัฐบาลจำนวนกว่า 10 พรรค และการมีพรรคการเมืองที่รวมตัวกันเพื่อผลประโยชน์ที่ต้องแบ่งกันมากกว่าอุดมการณ์ที่มีร่วมกัน ยิ่งทำให้การประสานงานระหว่างแต่ละกระทรวงที่มีรัฐมนตรีจากคนละพรรคหรือคนละกลุ่มการเมืองมีความยากขึ้น


5. ระบอบประยุทธ์ ทำให้ประเทศไม่มีกระบวนการกำหนดนโยบายที่ยืดหยุ่นและเท่าทันโลก แต่ถูกล็อกด้วยยุทธศาสตร์และแผนปฏิรูปที่ใช้ไม่ได้จริง


การบอกว่ากระบวนการกำหนดนโยบายของระบอบประยุทธ์มีปัญหา ไม่ได้หมายความว่าไม่มีนโยบายเศรษฐกิจ-สังคมใดๆ เลยในช่วง 7 ปีที่ผ่านมาที่เป็นประโยชน์ต่อคุณภาพชีวิตประชาชน แต่เป็นการวิเคราะห์ว่ากรอบความคิดและกลไกที่ระบอบประยุทธ์วางไว้ อาจทำให้นโยบายภาครัฐไม่มีความยืดหยุ่นเพียงพอต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกและสุ่มเสี่ยงต่อการเอื้อผลประโยชน์ให้คนบางกลุ่มเป็นหลัก

โลกปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมในอัตราที่รวดเร็วมากขึ้น – หรือที่นักวิชาการนิยามว่า VUCA คือผันผวน (Volatility), ไม่แน่นอน (Uncertainty), ซับซ้อน (Complexity) และคลุมเครือ (Ambiguity) การคาดการณ์อนาคตไปข้างหน้าหลายปีจึงเป็นเรื่องที่ยากและหลายฝ่ายมองว่าเสียเวลา ความยืดหยุ่นและว่องไวจึงเป็นคุณสมบัติที่สำคัญของรัฐในการปรับเปลี่ยนนโยบายให้เท่าทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงทุกวัน

แต่ในทางกลับกัน กรอบความคิดของการมียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ถูกบรรจุเป็นกฎหมายและรวมอยู่ในรัฐธรรมนูญ ทำให้ความยืดหยุ่นว่องไวเช่นนี้เกิดได้ยากขึ้น เพราะรัฐบาลถูกบีบบังคับให้ต้องยึดตามแผนปฏิรูปที่ถูกเขียนไว้ แถมต้องชี้แจงในสภาว่า นโยบายของรัฐและงบประมาณรายจ่ายประจำปีมีความสอดคล้องกับแผนปฏิรูปอย่างไร ไม่ว่าคนเขียนแผนจะเก่งหรือเชี่ยวชาญแค่ไหน เป็นไปได้ยากที่แผนเดิมจะเหมาะสมสำหรับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดเวลา เราไม่ต้องมองไกลไปกว่าตัวอย่างของวิกฤตโควิดปัจจุบัน ซึ่งเป็นเหตุการณ์ไม่คาดคิดที่เกิดขึ้นหลังจากแผนปฏิรูปถูกเขียนไว้ และทำให้รัฐต้องเสียเวลาออกแผนแม่บทเฉพาะกิจมาอีก 1 ฉบับอยู่ดี

แต่สิ่งที่อาจจะอันตรายกว่าความไม่คุ้มค่าต่อเวลาของการมีแผนยุทธศาสตร์ชาติ คือการวิเคราะห์ว่าใครเป็นคนเขียนยุทธศาสตร์นี้ จากรายชื่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติกว่า 30 คน สังเกตได้ว่าเกินครึ่งเป็นทหารหรือนักธุรกิจจากกลุ่มทุนใหญ่ อิทธิพลของกองทัพและกลุ่มทุนในยุคของระบอบประยุทธ์ต่อกระบวนการการกำหนดและออกแบบนโยบาย ทั้งผ่านกลไกของยุทธศาสตร์ชาติหรือกลไกอื่นๆ อาจทำให้ประโยชน์ของประชาชน ไม่ได้เป็นเป้าหมายสูงสุดในการออกแบบนโยบาย แต่ทำให้หลายนโยบายมีการแฝงผลประโยชน์ให้กลุ่มทุน ทำให้การส่งเสริมการแข่งขันทางการค้าและป้องกันการผูกขาดในตลาดไม่สามารถทำได้จริง ทำให้มูลค่าทางตลาดของกลุ่มทุนบางกลุ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดและสวนทางกับรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนที่ลดลงสำหรับกลุ่มรายได้น้อย ทำให้งบประมาณกองทัพสูงขึ้นเรื่อยๆ และทำให้รัฐบาลไม่ชัดเจนและไม่จริงจังต่อการปฏิรูปกองทัพทั้งในแผนแม่บทและในทางปฏิบัติ


6. ระบอบประยุทธ์ ทำให้ประเทศไม่มีรัฐสวัสดิการที่รองรับคุณภาพชีวิตประชาชน แต่มีความเหลื่อมล้ำที่รุนแรงขึ้น


นอกจากกระบวนการกำหนดนโยบายจะมีปัญหาแล้ว นโยบายและมาตรการที่ระบอบประยุทธ์ใช้ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมาก็ไม่สามารถลดความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้างได้ จนทำให้ช่องว่างระหว่างคุณภาพชีวิตของคนในสังคมอยู่ในระดับที่สูงตั้งแต่ก่อนโควิดจะเข้ามาซ้ำเติม และมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นจากแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในอนาคต

ความเหลื่อมล้ำทางทรัพย์สินของไทยก้าวขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่งของโลกเมื่อ 3 ปีที่แล้ว จากความล้มเหลวในการเก็บภาษีที่ดินหรือภาษีมรดกอย่างมีประสิทธิภาพ ช่องว่างรายได้ก็มีความกว้างขึ้นเรื่อยๆ (คนรวยที่สุด 10% ในประเทศ มีรายได้มากกว่า คนจนที่สุดในประเทศ 20 เท่า) และมีโอกาสที่จะกว้างขึ้นอีกจากแนวโน้มการตกงานของแรงงานจำนวนมากจากพิษโควิดและการทดแทนโดยเทคโนโลยี

ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่เรื้อรังมานานมีโอกาสจะรุนแรงขึ้นจากการตกหล่นออกจากระบบการศึกษาของนักเรียนที่เข้าไม่ถึงการเรียนออนไลน์ในช่วงโควิดและการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกลเพื่อรับมือกับจำนวนเด็กเกิดใหม่ที่น้อยลง ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่คนส่วนใหญ่ในประเทศพึ่งพาจะเจอความท้าทายทางการคลังมากขึ้นจากค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขที่สูงขึ้นจากสภาวะสังคมสูงวัย

ส่วนปรากฎการณ์ ‘รวยกระจุก จนกระจาย’ ที่สาหัสขึ้น ไม่ได้จำกัดอยู่แค่การกระจายรายได้ระหว่างครอบครัวในแต่ละสถานะทางการเงิน แต่หมายถึงการกระจายรายได้ระหว่างกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดด้วย ซึ่งนำไปสู่ทั้งการพัฒนาที่ล่าช้าในหลายภูมิภาค และปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากความแออัดที่สูงขึ้นเมื่อทุกคนต้องย้ายเข้าเมืองเพื่อหางาน

ถึงแม้ระบอบประยุทธ์ได้มีการพยายามจะใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐและมาตรการเยียวยาต่างๆ ในช่วงโควิดเพื่อแก้ปัญหาปากท้องและความเหลื่อมล้ำ แต่นโยบายเหล่านี้ (อย่างดีที่สุด) ช่วยแก้ปัญหาแค่ระยะสั้นอย่างฉับพลัน แต่ยังไม่เพียงพอต่อการวางโครงสร้างรัฐสวัสดิการที่ครอบคลุมทุกกลุ่มอย่างไม่ตกหล่นและมีความมั่นคงทางการคลัง เพื่อเป็นตาข่ายรองรับให้คุณภาพชีวิตของประชาชนที่จะมีความเปราะบางมากขึ้นในอนาคต และเพื่อวางรากฐานให้สังคมที่คนทุกคนมีโอกาสเท่ากันในการประสบความสำเร็จ


7. ระบอบประยุทธ์ ทำให้ประเทศไม่มีสถาบันทางการเมืองที่ประชาชนเชื่อมั่น แต่ผลักให้คนที่เห็นต่างต้องไปเรียกร้องบนท้องถนน


การกระทำของรัฐภายใต้ระบอบประยุทธ์ – ไม่ว่าจะเป็นการผูกขาดอำนาจรัฐ หรือการใช้อำนาจรัฐโดยมิชอบอย่างต่อเนื่อง ล้วนเป็นส่วนสำคัญในการบั่นทอนความเชื่อมั่นของประชาชนต่อสถาบันทางการเมือง

ระบบรัฐสภาที่ควรลุกขึ้นมามีบทบาทสำคัญในการนำพาการเปลี่ยนแปลงหลังมีการเลือกตั้งในปี 2562 กลับถูกลดทอนให้เป็นเพียง ‘สภาตรายาง’ ให้กับระบอบประยุทธ์ เพื่อขัดขวางการพัฒนาประเทศที่ขัดกับผลประโยชน์ของผู้มีอำนาจ ผ่านการเพิ่มบทบาทและควบคุมวุฒิสภาอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ผ่านการบิดสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อเพื่อพลิกผลเลือกตั้ง ผ่านการยุบพรรคการเมืองที่แบกความหวังของคนรุ่นใหม่จำนวนมาก และผ่านการใช้วัฒนธรรมการเมืองเก่าๆ เพื่อดูดนักการเมืองจากพรรคอื่นเข้ามาอยู่ในเครือข่าย

กฎหมายและมาตรการต่างๆ ของรัฐ ที่ควรถูกบังคับใช้กับทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียมกัน กลับถูกบังคับใช้ด้วยสองมาตรฐาน มาตรฐานหนึ่งสำหรับพรรคพวกตนเอง ที่ระบอบประยุทธ์พร้อมใช้ประโยชน์จากทุกช่องโหว่หรือสรรหาสารพัดข้อยกเว้น เพื่อยกเว้นความผิดหรือแม้กระทั่งนิรโทษกรรมการกระทำของตนเองในอดีต อีกมาตรฐานหนึ่งสำหรับคนที่เห็นต่าง ที่ระบอบประยุทธ์พร้อมบิดทุกการตีความหรือสรรหาสารพัดเงื่อนไข เพื่อสกัดกั้นหรือเอาผิดกับประชาชนที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล

กระบวนการยุติธรรม ที่ควรเป็นแนวหน้าในการปกป้องและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน กลับปฏิเสธแม้กระทั่งสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย ที่ถูกบรรจุทั้งในรัฐธรรมนูญของประเทศและในปฏิญญาสากลระดับนานาชาติ ไม่ว่าจะเป็นสิทธิในการแสดงความเห็น สิทธิในการชุมนุมโดยสันติ สิทธิในการถูกสันนิษฐานว่าไม่มีความผิดก่อนมีคำพิพากษา และสิทธิในการได้รับการประกันตัว

ทหารและตำรวจชั้นผู้น้อย ที่ควรเป็นเสาหลักของประเทศในการรักษาความปลอดภัยให้ประชาชนและควรเป็นอาชีพที่คนไทยทั้งประเทศยกย่อง กลับถูกบีบและบังคับให้ยืนอยู่ตรงข้ามกับประชาชนที่ออกมาเรียกร้องการเปลี่ยนแปลง และสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรงเกินขอบเขตและขัดหลักสากล

แม้กระทั่งสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่ควรอยู่ในสถานะ ‘เหนือการเมือง’ และ ‘ใต้รัฐธรรมนูญ’ กลับถูกระบอบประยุทธ์ตั้งใจลากหรือปล่อยให้ไหลเข้ามาในความขัดแย้งทางการเมือง ผ่านการกล่าวอ้างและผูกขาดความจงรักภักดีต่อสถาบันฯ ไว้กับตนเองเพียงผู้เดียว ผ่านการนำกฎหมายอาญามาตรา 112 กลับมาใช้ ซึ่งส่งผลร้ายต่อทั้งหลักสิทธิมนุษยชนและเสถียรภาพของสถาบันกษัตริย์ ผ่านการปิดประตูใส่ทุกข้อเสนอให้มีการปฏิรูปแทนที่จะเปิดพื้นที่ปลอดภัยให้ทุกฝ่ายได้มาแลกเปลี่ยนถกเถียงและร่วมหาทางออก และผ่านความไม่กล้าหาญของนายกรัฐมนตรีที่จะถวายคำแนะนำต่อพระมหากษัตริย์ เมื่อมีการกระทำใดที่สุ่มเสี่ยงจะขัดกับหลักระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข หรือ constitutional monarchy

ยิ่งประชาชนสิ้นหวังในความชอบธรรมและความสามารถของกลไกรัฐในการนำพาหรือตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลง ประชาชนจะยิ่งหันมาพึ่งกลไกนอกระบบในการเรียกร้อง ซึ่งมีความเสี่ยงสูงกว่าในการเกิดการปะทะหรือการสูญเสีย


จะรื้อระบอบประยุทธ์ ต้องเริ่มต้นที่รัฐธรรมนูญ


ถ้าหากเราต้องการจะรื้อระบอบประยุทธ์ เราจึงต้องเริ่มต้นด้วยการแก้รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ที่เป็นเสมือนเส้นเลือดสำคัญที่หล่อเลี้ยงระบอบนี้

เส้นทางข้างหน้าในการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อรื้อระบอบประยุทธ์ เปรียบเสมือนถนน 2 เลน ที่ต้องขับเคลื่อนไปพร้อมๆกัน

เลนที่ 1 คือการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ประชาชนเป็นคนร่าง แทนที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่ระบอบประยุทธ์เป็นคนร่าง

เลนที่ 2 คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ในส่วนของเนื้อหาที่หล่อเลี้ยงหรือเพิ่มอำนาจให้ระบอบประยุทธ์

ที่ผ่านมา หลายฝ่ายพยายามบีบบังคับให้เราต้องเลือกทางใดทางหนึ่งในถนน 2 เลนนี้ ระหว่าง ‘ร่างฉบับใหม่ vs. แก้ไขรายมาตรา’

ในความจริงแล้ว เราไม่ควรต้องเลือก แต่ต้องทำทั้ง 2 อย่างควบคู่กันโดยทันที

หากเราขับเคลื่อนแค่การแก้ไขรายมาตรา ปัญหาทั้งหมดจะไม่หายไป เพราะรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ได้มีปัญหาแค่ในเชิงเนื้อหา แต่ขาดความชอบธรรมจากที่มาและกระบวนการ ประชาชนหลายคนจึงไม่ต้องการเพียงให้ใครมาซ่อมหน้าต่างหรือประตูที่เขาไม่ได้ออกแบบตั้งแต่ต้น แต่เขาอยากมีส่วนร่วมในการสร้างบ้านหลังใหม่ที่จะเข้าไปอาศัยด้วยกัน

แต่หากเราขับเคลื่อนแค่การร่างฉบับใหม่ กระบวนการนี้อาจใช้เวลาถึง 1-2 ปี เพราะจะต้องจัดประชามติถึง 2 ครั้ง รวมถึงจัดการเลือกตั้ง ส.ส.ร. ซึ่งหมายความว่า ความวิปริตทางการเมืองต่างๆ ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะยังคงอยู่กับเราไปอีกสักพัก (เช่น หากมีการยุบสภา เราจะยังมี ส.ว. 250 คนที่ คสช. แต่งตั้ง มาร่วมเลือกนายกฯ) และจะสุ่มเสี่ยงต่อการถูกยืดเวลาออกไปเรื่อยๆ เหมือนที่ผ่านมา

แต่ในระหว่างที่เราต้องกลับมาปัดฝุ่นและเริ่มตั้งหลักกันใหม่สำหรับถนนเลนที่ 1 หลังพรรคพลังประชารัฐ และ ส.ว. หยิบยกคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมาเป็นข้ออ้างในการคว่ำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระที่ 3 ผมและกลุ่ม Re-solution จึงเล็งเห็นถึงความจำเป็นในการเร่งขับเคลื่อนถนนเลนที่ 2 คือการแก้ไขรายมาตราของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่เป็นปัญหา

เราตัดสินใจริเริ่มแคมเปญ #ขอคนละชื่อรื้อระบอบประยุทธ์ เพื่อรวบรวมรายชื่อประชาชนที่สนับสนุนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ทางกลุ่มจัดทำขึ้นมา โดยเนื้อหาในร่างจะมี 4 ประเด็นหลัก #ล้มโละเลิกล้าง ในการปลดอาวุธสำคัญที่ระบอบประยุทธ์ใช้ในการสืบทอดอำนาจ และขัดขวางหนทางสู่ระบอบประชาธิปไตย

1. ‘ล้ม’ วุฒิสภา – เดินหน้าสภาเดี่ยว ด้วยการยุบวุฒิสภา เพื่อกำจัดองค์กรสำคัญที่ระบอบประยุทธ์คัดเลือกเองและใช้ในการสืบทอดอำนาจ เพื่อประหยัดงบประมาณกว่า 1,000 ล้านบาทต่อปี และ เพื่อให้โครงสร้างของฝั่งนิติบัญญัติมีความคล่องตัวในการออกกฎหมาย โดยไม่ลดทอนประสิทธิภาพในการถ่วงดุลรัฐบาล

2. ‘โละ’ ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ – ปฏิรูปที่มา อำนาจ การตรวจสอบ เพื่อให้ศาลและองค์กรอิสระเป็นอิสระจาก คสช. เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย และยึดโยงกับประชาชน เพื่อให้ระบบตรวจสอบถ่วงดุลมีประสิทธิภาพและเพื่อเรียกคืนความศรัทธาของประชาชนต่อกระบวนการยุติธรรม กระบวนการเลือกตั้ง และกระบวนการป้องกันปราบปรามการทุจริต

3. ‘เลิก’ ยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูป – ปลดโซ่ตรวนอนาคตประเทศ เพื่อให้นโยบายของรัฐมีความยืดหยุ่นและก้าวทันโลก เพื่อลดการขยายตัวของรัฐราชการรวมศูนย์ แต่เพิ่มการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น เพื่อทำให้นโยบายไม่ตกอยู่ในมือทหารและกลุ่มทุนและเพื่อกำจัดอาวุธลับของระบอบประยุทธ์ในการเล่นงานฝ่ายตรงข้าม

4. ‘ล้าง’ มรดกรัฐประหาร – หยุดวงจรอุบาทว์ขวางประชาธิปไตย เพื่อเอาทหารออกจากการเมือง เพื่อยกเลิกวัฒนธรรมการใช้อำนาจตามอำเภอใจและการลอยนวลพ้นผิด เพื่อเพิ่มหลักประกันให้ประชาชนและข้าราชการในการต่อต้านรัฐประหาร และเพื่อป้องกันให้การทำรัฐประหารในอนาคตเกิดขึ้นได้ยากเพราะต้นทุนที่คนทำจะต้องจ่าย

ข้อเสนอทั้งหมดนี้ ไม่ได้เป็นข้อเสนอเพื่อให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้เปรียบหรือเสียเปรียบ แต่เป็นข้อเสนอที่จะนำไปสู่การสร้าง ‘ระบอบประชาธิปไตยที่เป็นกลาง’ ที่วางกติกาที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย ที่เปิดให้มีการแข่งขันกันระหว่างทุกพรรคการเมือง เพื่อกำจัดการผูกขาดทางอำนาจของระบอบประยุทธ์ และเพื่อให้การกำหนดอนาคตของประเทศ ตกอยู่ในมือของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่แท้จริง

ความจำเป็นในการรื้อระบอบประยุทธ์ จึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าคุณรู้สึกอย่างไรกับ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะบุคคล แต่ไม่ว่านายกฯ จะชื่ออะไร หากระบอบ กติกา เครือข่าย และพฤติกรรมเช่นนี้ยังหลงเหลืออยู่ ประเทศไทยจะเสียหาย สูญเสียโอกาสในการพัฒนา และสูญเสียอนาคต ซึ่งคนที่ต้องแบกรับความเสียหายนั้นก็ไม่ใช่ใคร แต่คือพวกเราคนไทยทุกคน และคนรุ่นหลังของเราเอง

คุณสามารถมาร่วมลงชื่อรื้อระบอบประยุทธ์ และปักหมุดอนาคตประเทศ ได้ที่ เว็บไซต์ Re-Solution

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save