fbpx

‘หมดอายุความ’ คดีสังหารแกนนำต้านโรงโม่หินเนินมะปราง ‘พิทักษ์ โตนวุธ’ 20 ปีที่ความยุติธรรมมาไม่ถึง

“17 พฤษภา 44 กระสุนผีทะลุร่าง 

เขาตายอยู่ข้างทาง หลังทวงถามความชอบธรรม

พิทักษ์ โตนวุธ วีรบุรุษป่าเขตฝน

แกนนำของมวลชน ลูกคนจนที่ชูชัย” 

เนื้อหาบางส่วนจากเพลง ‘พิทักษ์ โตนวุธ’

ประพันธ์โดย เพื่อนชมรมค่ายอาสาพัฒนาราม-อีสาน 

17 พฤษภาคม 2544 พิทักษ์ โตนวุธ หรือ โจ แกนนำคัดค้านการก่อสร้างโรงโม่หิน ที่บ้านชมพู ต.ชมพู อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก ถูกยิงด้วยกระสุน 9 นัด เสียชีวิตทันที บนถนนทางเข้าบ้านชมพู ในขณะที่ลูกสาวคนเดียวของเขาเพิ่งจะลืมตาดูโลกได้เพียง 28 วัน 

ก่อนถูกยิง พิทักษ์เดินทางไปที่อำเภอเนินมะปราง เขาได้หลักฐานสำคัญที่จะพิสูจน์ได้ว่าโรงโม่หินที่ตั้งอยู่ในพื้นที่หมู่ที่ 1 ต.ชมพู ซึ่งเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ กลับใช้เอกสารสิทธิ ส.ค.1 ซึ่ง ‘บิน’ มาจากที่ดินหมู่ที่ 2 ต.ชมพู ซึ่งเป็นพื้นที่ประกาศเป็นแหล่งหิน หลักฐานนี้เป็นไปตามแนวทางที่เขาจะยื่นเรื่องขอให้รัฐมีคำสั่งให้โรงโม่หินนำถอนสิ่งปลูกสร้างและนำเครื่องจักรออกไปทั้งหมด เพราะถือว่าเป็นเอกสารสิทธิที่ได้มาโดยมิชอบ หลังจากที่ก่อนหน้านี้เขาสามารถพาชาวบ้านในนามเครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มน้ำชมพู ต่อสู้จนโรงโม่หินต้องปิดตัวลงไปแล้วได้สำเร็จ

ชาวบ้านสันนิษฐานกันว่า การที่ ‘โจ’ หรือ ‘พิทักษ์’ ถูกสังหารอย่างโหดเหี้ยม เพราะไม่หยุดการต่อสู้เพียงแค่การทำให้โรงโม่หินปิดกิจการไป แต่เขายังไม่วางใจ ตราบใดที่เครื่องจักรยังอยู่ โรงโม่ก็ฟื้นคืนชีพได้เสมอ ภายใต้กระบวนการลึกลับสักอย่างที่เกิดขึ้นได้และเกิดขึ้นอยู่บ่อยๆ ในบ้านเมืองนี้

พิทักษ์จึงคิดว่าต้องถอนรากถอนโคนโรงโม่หิน… แต่นั่นต้องแลกมาด้วย ‘ชีวิต’ ของเขา 

‘พิทักษ์ โตนวุธ’ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า ‘โจ’ ไปที่บ้านชมพูครั้งแรกในฐานะนักศึกษา เขาเป็นประธานชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยรามคำแหง นำเพื่อนนักศึกษาในชมรมลงไปศึกษาสัมผัสความเดือดร้อนจริงๆ ในพื้นที่ และพบว่าการระเบิดหินทำให้ทั้งหมู่บ้านจมอยู่ภายใต้ฝุ่นละออง น้ำในลำธารไม่ใสเหมือนเดิม น้ำกินใช้ไม่ได้ น้ำฝนที่ตกลงมาก็เต็มไปด้วยคราบฝุ่นสีดำ ชาวบ้านไม่เพียงไม่มีน้ำสะอาดไว้ใช้ แม้แต่สถานที่ตากผ้าที่ซักแล้วก็ยังไม่มี เป็นชีวิตที่ถูกปกคลุมไปด้วยมลพิษ 

เมื่อพ้นจากตำแหน่งประธานชมรมอนุรักษ์ ม.รามฯ พิทักษ์ ชายหนุ่มชาวบุรีรัมย์ จึงอาศัยความรู้ด้านกฎหมาย จากการเป็นนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ไปร่วมหัวจมท้ายร่วมต่อสู้กับชาวบ้านจนกลายเป็นที่ปรึกษาเครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มน้ำชมพู ระหว่างที่ร่วมต่อสู้กับชาวบ้าน เขาพบคู่ชีวิตที่นั่น แต่งงาน มีลูกสาว เรียนจบ แต่ระหว่างรอรับปริญญา เขาก็ถูกยิงเสียชีวิตไปเสียก่อน 

และในวันที่ 17 พฤษภาคม 2564 คดีสังหาร พิทักษ์ โตนวุธ ถึงคราว ‘หมดอายุความ’ โดยที่ยังไม่มีใครถูกลงโทษแม้แต่คนเดียว 

“นักอนุรักษ์หนุ่ม บัณฑิตหนุ่มคณะนิติศาสตร์ ว่าที่นักกฎหมายเพื่อมวลชน คุณพ่อของลูกสาวที่ยังอายุไม่ครบ 1 เดือน พี่โจของน้องๆ ร่วมอุดมการณ์ด้านการอนุรักษ์ต้องตายฟรี” 

เป็นนักต่อสู้อีกหนึ่งในหลายๆ คนที่ถูกฆ่าตาย แต่ในทางคดี ไม่มีคนผิด ไม่มีคนฆ่า ไม่มีคนสั่งการ ไม่มีคนใช้จ้างวาน… ไม่มีใครต้องรับผลจาก ‘กระบวนการยุติธรรม’ จากการฆ่าคนตายครั้งนี้เลย 

“ยึดมั่นความถูกต้อง ปกป้องสิ่งแวดล้อม” เป็นคติประจำตัวของพิทักษ์ เพราะเขาเป็นนักศึกษากฎหมาย เขาเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม และเชื่อว่าจะใช้กระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือในการต่อสู้ 

แต่เราจะไปดูกันว่า เกิดอะไรขึ้นกับกระบวนยุติธรรม หลังการตายของพิทักษ์ โตนวุธ

คดีการสังหารนักอนุรักษ์คัดค้านโรงโม่หิน ที่ ต.ชมพู อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2544 มีกลุ่มคนร้ายที่ถูกจับกุมตัวได้รวม 3 คน มี 1 คนถูกกันเป็นพยาน อีก 2 คนถูกส่งฟ้องขึ้นสู่ศาล

ตลอดการทำคดี ชาวบ้านในนามเครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มน้ำชมพู พยายามยื่นหนังสือไปที่จังหวัด ตำรวจภูธรภาค 6 และกองบังคับการปราบปราม ขอให้ส่งทีมสืบสวนสอบสวนจากนอกพื้นที่ หรือทีมจากส่วนกลางลงมาทำคดีนี้ เพราะหากการตายของพิทักษ์เกี่ยวข้องกับการคัดค้านโรงโม่หินตามที่พวกเขาเชื่อเช่นนั้น พวกเขาก็เชื่อด้วยว่า ฝ่ายตรงข้ามเป็นผู้มีอิทธิพล จึงไม่มั่นใจในการทำงานของตำรวจท้องที่ 

แต่ข้อเรียกร้องเหล่านี้ก็ไม่เป็นผล คดีสังหารพิทักษ์ โตนวุธใช้พนักงานสอบสวนจาก สภ.เนินมะปราง และตำรวจภูธรจังหวัดพิษณุโลกเป็นผู้ทำคดี 

“ผมพูดทุกครั้งที่ไปร้องเรียนว่า ถ้าใช้ตำรวจท้องที่ไม่มีทางจับคนสั่งฆ่าโจ (พิทักษ์) ได้ ต้องให้ส่วนกลางลงมาทำ” 

นั่นเป็นคำกล่าวของนายแวะ สมใจ อดีตประธานเครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มน้ำชมพู ซึ่งเป็นคนเดียวที่อยู่ในเหตุการณ์สังหาร เพราะเขานั่งรถจักรยานยนต์มาด้วยกัน แต่คนร้ายเลือกที่จะสังหารพิทักษ์เพียงคนเดียว หลังยิงรถจักรยานยนต์ล้มลงไปแล้ว 

นายแวะ จึงเป็นพยานเพียงคนเดียวที่อยู่ในสำนวนการสอบสวนเหตุการณ์นี้ 

“แม้แต่คนร้ายที่ถูกจับกุมก็มาจากการที่ชาวบ้านส่งข้อมูลไปให้ตำรวจ” นายแวะเล่าย้อนเหตุการณ์เมื่อ 20 ปีก่อน 

“มีอยู่วันหนึ่ง มีคนแปลกหน้าสองคนมากราบศพโจ ผมเห็นสองคนนี้ไม่ใช่คนในหมู่บ้าน หน้าก็ไม่คุ้น ไม่ใช่เครือข่ายที่ร่วมต่อสู้ด้านสิ่งแวดล้อมด้วย ผมก็เลยไปเรียกผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านมาถ่ายรูปสองคนนี้ไว้ ต่อมาภายหลังจึงเอารูปที่ถ่ายไว้ไปเปรียบเทียบกับฐานข้อมูลต่างๆ จึงพบว่าทั้งสองคนถูกทางการตามจับตัวอยู่ มีรูปอยู่ในที่ทำการกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และสถานีตำรวจ เราจึงส่งข้อมูลของสองคนนี้ให้ตำรวจ จึงรู้ว่าน่าจะเป็นคนร้ายในคดีนี้”

“ถึงผมจะอยู่ในเหตุการณ์ที่โจถูกยิง แต่ผมก็จำหน้าคนร้ายไม่ได้ รู้แค่ว่ามากันสองคน มือปืนใส่ไอ้โม่ง คนขับรถใส่หมวกกันน็อก และตอนที่เกิดเหตุผมก็กลัวจนไม่กล้าหันไปมองหน้าคนร้ายเลย แต่ที่ผมให้ผู้ช่วยมาถ่ายรูปสองคนนั้น เพราะมีพฤติกรรมแปลกๆ ในวันที่มาเคารพศพ” นายแวะเล่าเพื่อยืนยันว่าพยานในเหตุการณ์คนเดียวอย่างเขาจำคนร้ายไม่ได้ แต่ก็เป็นคนที่ส่งรูปถ่ายคนร้ายให้ตำรวจ

เมื่อมีข้อมูลของคนร้าย ตำรวจจึงจับกุมชายสามคน ทั้งหมดรับสารภาพในชั้นพนักงานสอบสวน ว่าเกี่ยวข้องกับการสังหารแกนนำคัดค้านโรงโม่หิน  

คนแรกคือ นาย ค. ซึ่งถูกระบุว่าเป็นผู้ชี้เป้า และต่อมาถูกกันเป็นพยาน คนที่สอง นาย บ. ซึ่งรับสารภาพว่าเป็นคนจัดหามือปืน คนที่สาม นาย น. ซึ่งรับสารภาพว่าเป็นขับรถจักรยานยนต์ให้มือปืน แต่ไม่สามารถจับกุมตัวมือปืนได้ ทั้งที่รู้ว่ามือปืนเป็นใคร รู้ด้วยว่าชื่อนายสุริยะ 

เมื่อในกลุ่มผู้ต้องหาไม่มีมือปืนอยู่ด้วย จึงไม่มีหลักฐานเป็นอาวุธปืนที่ใช้ก่อเหตุมาเทียบกับกระสุนปืน ส่วนพยานเพียงคนเดียวก็ไม่เห็นหน้าคนร้าย ‘คำสารภาพของผู้ต้องหา’ จึงกลายเป็นพยานหลักฐานเพียงอย่างเดียวที่อยู่ในสำนวนการสืบสวนสอบสวนที่ส่งให้อัยการส่งฟ้องต่อศาล และนั่นกลายเป็นจุดพลิกผันของคดี 

การเบิกความในชั้นศาลดำเนินไปถึงประมาณปี 2547 ในที่สุดศาลพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้ง 2 คน 

จำเลยทั้ง 2 คน กลับคำให้การในชั้นศาล โดยกล่าวอ้างว่าที่รับสารภาพในชั้นพนักงานสอบสวน เพราะถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจทำร้ายเพื่อบังคับให้รับสารภาพ พร้อมยื่นหลักฐานใบรับรองแพทย์ที่ยืนยันว่ามีร่องรอยถูกทำร้ายจริง ศาลจึงพิพากษายกฟ้อง และได้รับอิสระพร้อมเงินชดเชยเยียวยาจากการที่ถูกขังอยู่ประมาณ 2 ปี 

เมื่อหลักฐานในสำนวนมีเพียงคำสารภาพของผู้ต้องหาเท่านั้น เพียงแค่ผู้ต้องหาสามารถทำให้คำสารภาพของพวกเขากลายเป็นหลักฐานที่ไม่มีความน่าเชื่อถือไปได้ พวกเขาจึงพ้นจากข้อกล่าวหาไปได้ตามกระบวนการยุติธรรม โดยหลังจากศาลชั้นต้นพิพากษา ทางพนักอัยการก็ไม่ยื่นอุทธรณ์ เพราะไม่มีพยานหลักฐานใหม่เพียงพอที่จะยื่นอุทธรณ์ได้ 

นายเชาว์ เย็นฉ่ำ ที่ปรึกษาเครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มน้ำชมพูคนปัจจุบันเล่าว่า การที่คดีของพิทักษ์จบลงง่ายๆ แบบนี้ ทำให้เกิดคำถามขึ้นมากมายจากชาวบ้านว่า เหตุใดพนักงานสอบสวนจึงมีพยานหลักฐานเพียงเท่านี้ เหตุใดจึงไม่ติดตามนำตัวมือปืนที่รู้ตัวแล้วมาให้ได้ และเหตุใดในสำนวนการสืบสวนจึงไม่พยายามเชื่อมโยงไปหาผู้บงการฆ่า ทั้งที่ทุกคนรู้อย่างชัดเจนว่า ในช่วงเวลาก่อนเสียชีวิต ‘พิทักษ์’ กำลังต่อสู้อยู่กับ ‘ใคร’ 

“ในช่วงของการต่อสู้คดี ทนายความของฝั่งชาวบ้านถูกข่มขู่ ถูกขับรถตาม เข้าถึงข้อมูลไม่ได้ จนทนายความเองยอมรับว่ากำลังต่อสู้กับอิทธิพล เรื่องพวกนี้ก็ไม่อยู่ในสำนวนเพื่อจะสืบหาว่าใครเป็นคนบงการ และในวันครบรอบวันตายของโจทุกปี เราไปติดตามความคืบหน้าคดีที่ศาลากลางจังหวัด เขาก็ส่งตำรวจเจ้าของคดีมาทุกปี เราบอกได้ว่ามือปืนหลบหนีไปอยู่จังหวัดไหน ส่งข้อมูลเพิ่มให้ตำรวจ แต่ก็ไม่เคยมีความคืบหน้าอะไรเลย” นายเชาว์เล่าถึงวิธีการทำงานของเจ้าหน้าที่ในคดีนี้ 

จากปี 2547 มาถึง 2564 จึงเป็นช่วงเวลา 16-17 ปี ที่คดีการถูกสังหารกลางถนนของนักอนุรักษ์คนหนึ่ง ไม่มีความคืบหน้าอีกเลย 

จนกระทั่ง 17 พฤษภาคม 2564 ‘คดีหมดอายุความ’ 

จากการยื่นหนังสือทวงถามความคืบหน้าของคดี จากความหวังของชาวบ้านชมพู ที่ยังต้องการให้กระบวนการยุติธรรมติดตามตัวคนร้ายที่สังหารฮีโร่ของพวกเขามารับผลกรรมให้ได้ เนื้อหาในการเคลื่อนไหวเปลี่ยนไป 

กลายเป็น ‘การเย้ยหยันต่อกระบวนการยุติธรรมที่มาไม่ถึง’ 

“วีรบุรุษป่าเขตฝน นักอนุรักษ์ทรัพยากร 

สิ่งแวดล้อม ป่าสูญ คนสิ้น ดินตาย 

หลั่งเลือดที่ริน ไอดินที่ร่ำไห้ 

ภูผาสะเทือนใจ แมกไม้ใหญ่จวนสิ้นแรง” 

จากบทเพลง ‘พิทักษ์ โตนวุธ’

“ยึดมั่นความถูกต้อง ปกป้องสิ่งแวดล้อม”

แด่พิทักษ์ โตนวุธ นักกฎหมาย นักอนุรักษ์ ผู้ที่ใช้กระบวนการยุติธรรมในการต่อสู้ แต่กลับไม่ได้รับความเป็นธรรมจากกระบวนการยุติธรรม 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save