fbpx

“หากไม่มีรถถังวันนั้น ฉันก็คงไม่มีวันนี้?” มองย้อน 7 ปี รัฐประหารเปลี่ยนเมืองไทยอย่างไร

เด็กที่กำลังจะเข้า ป.1 ปีนี้ เติบโตมาในยุคที่ประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรีชื่อประยุทธ์ จันทร์โอชาตลอดชีวิตของเขา – นายกรัฐมนตรีผู้เริ่มต้นจากการเป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่เข้ามาทำรัฐประหารในนามของความสงบเรียบร้อยเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557

ระยะเวลา 7 ปียาวนานพอที่จะทำให้เรามองเห็นภาพชัดขึ้น จากภาวะฝุ่นตลบที่ถูกอำพรางด้วยความขัดแย้งและการเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ที่สุดของสังคมไทยสมัยใหม่ หากรัฐประหาร 2557 เป็นหมุดหมายการเปลี่ยนผ่านของสังคมและเศรษฐกิจไทย มันเปลี่ยนอะไรบ้าง

ในวาระครบรอบ 7 ปีรัฐประหารนี้ 101 ชวนนักวิชาการมามองย้อนกลับไปในห้วงเวลาสำคัญนี้ว่า รัฐประหารเปลี่ยนเมืองไทยในเชิงนโยบายอย่างไร และเราสูญเสียหรือได้อะไรกลับมาบ้างในช่วงเวลา 7 ปีนี้ ทั้งประเด็นด้านการปกครอง เศรษฐกิจ กฎหมาย และการต่างประเทศ 

การปกครอง

“สิ่งที่เราเห็นชัดภายใน 7 ปีนี้ คือความพยายามเปลี่ยนรูปแบบรัฐมาเป็นคณาธิปไตยบวกกลุ่มทุนบางกลุ่ม และหล่อเลี้ยงประชาชนด้วยนโยบายหลอกหลวง”

อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์

เมื่อ 3 ปีที่แล้ว 101 เคยมีโอกาสพูดคุยกับ ศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในวาระครบรอบ 4 ปี การรัฐประหารโดย คสช. ณ วันนั้นบรรยากาศการเมืองไทยยังฝุ่นตลบ เส้นอำนาจใหม่ยังขีดไม่ชัด การจัดสรรอำนาจในหมู่ชนชั้นนำยังไม่สู้จะลงตัว มาวันนี้ครบรอบ 7 ปี เราพูดคุยกับเขาอีกครั้งว่าจากการรัฐประหารโดย คสช. จนมาสู่ระบอบประยุทธ์ เปลี่ยนแปลงโฉมหน้าการปกครองไทยไปอย่างไร พร้อมทั้งมองอนาคตว่าผลผลิต 7 ปีของการรัฐประหารกำลังจะผลักสังคมไทยไปสู่จุดไหน

:: รัฐคณาธิปไตยและการแตกย่อยเป็นเศษเสี้ยวของสังคมไทย ::

สิ่งที่เราเห็นชัดภายใน 7 ปีนี้ คือความพยายามเปลี่ยนรูปแบบรัฐมาเป็นคณาธิปไตยบวกกลุ่มทุนบางกลุ่ม และหล่อเลี้ยงประชาชนด้วยนโยบายหลอกหลวง ซึ่งวิธีการที่รัฐคณาธิปไตยกับกลุ่มทุนใช้คือการพยายามรวบอำนาจและดึงทุกอย่างให้มาอยู่ภายใต้ศูนย์อำนาจอันเดียว เพื่อที่จะได้บริหารเศรษฐกิจไปอย่างที่กลุ่มทุนต้องการ อาจเรียกได้ว่ากลายเป็นเสรีนิยมใหม่ ปลดเปลื้องพันธะรัฐในบางด้านที่สอดคล้องกับกลุ่มทุนของตัวเอง 

แต่ความพยายามในการรวมศูนย์อำนาจกลับทำให้เกิดการแตกแยกย่อยสูงมากขึ้น และทำให้แต่ละฝ่ายอึดอัดมากขึ้นที่จะมาอยู่ภายใต้อำนาจนี้ ถ้าเปรียบเทียบกับรัฐบาลประชาธิปไตย เขาอาจจะดึงเจ้ากระทรวงต่างๆ มาอยู่ภายใต้เขา แต่การรวมศูนย์อำนาจในลักษณะนั้น ไม่ก่อให้เกิดความอึดอัดในระบบราชการเท่ากับการรวมศูนย์แบบนี้ เพราะรัฐคณาธิปไตยไม่สามารถไว้ใจใครได้ ท้ายที่สุดก็จะส่งเฉพาะพวกพ้องของตนเองขึ้นไปดำรงตำแหน่งต่างๆ รูปธรรมที่เห็นได้ชัดเจนคือ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม รัฐบาลนี้จะส่งทหารไปนั่งตรงหัวโต๊ะทั้งสิ้น ท้ายที่สุดแล้ว มีเพียงคณะบุคคลของพวกเขาเท่านั้นที่จะได้กุมอำนาจ ดังนั้นภาพอาจจะดูเหมือนรวมศูนย์แต่ความจริงแล้ว การปกครองแบบรัฐคณาธิปไตยยิ่งจะทำให้เกิดการแตกแยกและความขัดแย้งมากขึ้น ถ้าเป็นแบบนี้ต่อไปอีกสักพัก ผมเชื่อว่าข้าราชการเกียร์ว่างจะเพิ่มมากขึ้น 

นอกจากนี้ต้องเข้าใจว่ารัฐบาลคณาธิปไตยเกิดขึ้นในช่วงที่ระบบราชการกำลังเสื่อมสลาย แต่ผมคิดว่า คสช. มองไม่เห็นว่าระบบราชการพังมาก่อนหน้านี้แล้ว เขาจึงโดดเข้ามาหยิบใช้ระบบราชการเป็นตัวจรรโลงรัฐของเขา แต่ใน 7 ปีนี้แสดงให้เห็นชัดแล้วว่า ตัวระบบราชการเองก็ไม่ทำงานและไร้ประสิทธิภาพในการที่จะจรรโลงรัฐ อย่างที่เราเห็นในวันนี้ว่ามีความขัดแย้งระหว่างกลุ่มที่อยู่กับนายกและกลุ่มกระทรวงสาธารณสุข ผมคิดว่าปัญหานี้ค่อยๆ ปรากฏให้เห็นชัดมากขึ้น จริงๆ ณ เวลานี้เป็นจังหวะของการที่จะต้องเปลี่ยนทุกอย่างให้หมด เพียงแต่ว่าเขาทำไม่ได้ มันล้มเหลว คุณไม่สามารถจรรโลงอำนาจได้อย่างแท้จริง

การปกครองแบบรัฐคณาธิปไตยจะทำให้เกิดความขัดแย้งสูงมากขึ้นในสังคม และความขัดแย้งนี้จะไม่ใช่แค่ประชาชนกับรัฐ แต่จะเป็นความขัดแย้งภายในกลุ่มระบบราชการ กลุ่มชนชั้นนำและกลุ่มอื่นๆ หลังโควิดรอบที่ 3 จบลง ผมคิดว่าเราจะเห็นความขัดแย้งระบาดไปทั่วทุกมิติ เพราะทุกฝ่ายเริ่มไม่สามารถรับเส้นขีดอำนาจแบบที่กำลังขีดกันอยู่ตอนนี้ได้ ต่างฝ่ายต่างรู้สึกว่าโดนล้ำเส้นจนเกินไป ดังนั้นรัฐแบบใหม่จะก่อปัญหาให้กับสังคมไทยอย่างรุนแรง 

:: ผลผลิต 7 ปีของการรัฐประหารกำลังผลักสังคมไทยให้ตกเหว ::

ผลผลิตจาก 7 ปีที่ผ่านมานี้กำลังจะนำสังคมไทยไปสู่ Fragmented Society หรือสภาพของสังคมที่แยกย่อยกันถึงที่สุด และในสังคมแยกย่อยนี้จะปรากฏความขัดแย้งในทุกระดับไล่ตั้งแต่บนลงล่าง

ท้ายที่สุดผมคิดว่าจะเกิดวิกฤตในทุกมิติ สังคมจะเกิดการแตกแยกย่อยอย่างที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน อย่างมิติด้านเจเนอเรชัน วันนี้เราเห็นชัดแล้วว่าแตกแยกกันอย่างชัดเจน หรือจะเป็นมิติชนชั้นทางสังคม ก็แยกชั้นจากกัน และภายในแต่ละชนชั้นก็มีความขัดแย้งกันเอง เช่น สมมติเรานึกถึงความรุนแรงในชีวิตประจำวัน โดยมากแล้วก็เป็นความขัดแย้งระหว่างชนชั้นกลางด้วยกันทั้งสิ้น หรือหากมองในมิติที่ย่อยที่สุดอย่างมิติครอบครัว ครอบครัวไทยเองก็เปลี่ยนไปมาก เราเป็นครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น มีการหย่าร้างมากขึ้น แต่ละคนกลายเป็นว่ามีเครือข่ายอยู่นอกครอบครัว และที่สำคัญเครือข่ายที่ว่านี้ก็พร้อมแตกสลายกันได้มากขึ้น หรือหากมองในมิติศาสนาก็ยังทะเลาะกันเละเทะ ดังนั้นจึงเกิดการแยกย่อยและไม่สามารถเห็นซึ่งกันและกันได้กระจายตัวอยู่ในทุกมิติ

และหากยังเป็นแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ ผมคิดว่าความไม่พอใจหรือความอึดอัดทั้งหมดของประชาชน ตั้งแต่ในชีวิตประจำวันไล่ไปจนถึงรัฐจะก่อให้เกิดปัญหา 2 อย่างคือ การใช้ความรุนแรงในทุกมิติจะเพิ่มขึ้นและจะไปในถึงจุดที่ควบคุมไม่ได้ และถ้าหากมีการเร่งปฏิกิริยาทำให้เกิดการตกตะกอนของความไม่พอใจนี้เด่นชัดขึ้นมา อาจจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอะไรที่เราพอจะเห็นอนาคตได้บ้าง เช่น ผมกำลังคิดถึงการเกิดขบวนการเคลื่อนไหวระดับใหญ่ของประเทศขึ้นมา อาจจะเทียบได้กับการเคลื่อนไหวในช่วง 14 ตุลา 2516 แต่จำนวนต้องเยอะกว่าแน่ๆ โดยที่อาจจะมีความรุนแรงอะไรเกิดขึ้น 

ฉะนั้นการรัฐประหารครั้งนี้เป็นการทำให้ความแตกแยกทางสังคมไทยร้าวลึกและเจ็บปวดมากขึ้น ผลผลิตที่เกิดขึ้นจากการรัฐประหารจนถึงวันนี้เข้าปีที่ 7 แล้ว มีแนวโน้มว่าจะคงอยู่ต่อไป และกำลังจะผลักสังคมไทยให้ตกเหว เป็นเหวที่ก้นลึกมาก ตกลงไปแล้วเจ็บหนัก โดยที่คณาธิปไตยหรือคณะกลุ่มบุคคลที่ยึดอำนาจอยู่ รวมทั้งอำนาจวัฒนธรรม ไม่ได้ตระหนักถึงหุบเหวอันนี้เลย

:: หรือภาคประชาสังคมจะเป็นทางออก :: 

ผมเองก็ยังเห็นไม่ชัดว่าทางออกของเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร แต่ผมนึกถึงกลุ่มที่เราเคยเรียกกันว่า ‘ภาคประชาสังคม’

เป็นไปได้ไหมที่กลุ่มประชาสังคมจะค่อยๆ เข้ามารวมตัวกันอีกครั้ง ซึ่งอาจจะต้องกลืนเลือด หรือความขัดแย้งอื่นๆ เพราะบางครั้งคงจะต้องทำให้เกิดการสื่อสารที่กว้างขวางขึ้น จะมีทางเป็นไปได้ไหมที่จะทำให้คนรุ่น 30 ปี 40 ปี 50 ปี จำนวนหนึ่งมานั่งคุยกันว่าที่เป็นอยู่แบบนี้ไปไม่รอด ไม่ใช่แค่ในช่วงที่โควิดระบาด แต่จะไปไม่รอดทั้งชีวิตส่วนตัวของทุกคนและอื่นๆ คำว่าไม่รอดของผมในที่นี้ หมายความว่าสังคมไทยจะตกต่ำลงไปและพร้อมที่จะเกิดความรุนแรงได้ทุกเมื่อ 

ผมเพิ่งอ่านงานเกี่ยวกับประเทศบราซิล ในเมือง ริโอ เดอ จาเนโร พบว่าความรุนแรงในชีวิตประจำวันเกิดขึ้นเกือบทุก 3 นาที ซึ่งผมคิดว่าบ้านเรากำลังจะวิ่งเข้าไปสู่จุดนั้น มีแนวโน้มที่จะวิ่งไปสู่ในจุดที่น่ากังวลมากขึ้น ภาคประชาสังคมกระมังที่น่าจะพอยับยั้งอะไรได้บ้าง 

ภาคประชาสังคมอาจจะต้องรวมตัวกันและทำให้เกิดการเลือกตั้งครั้งใหม่ภายใน 1-2 ปีนี้ และภายใต้รัฐธรรมนูญที่ดีกว่านี้ ซึ่งรัฐธรรมนูญจะแก้ได้เมื่อไหร่ อันนี้ก็ยังไม่รู้ แต่เรื่องหนึ่งที่แน่ชัดคือ ณ วันนี้ รอยแยกในสังคมปรากฏให้เห็นเด่นชัดมากๆ และยังไม่มีใครสามารถสมานตรงนี้ได้

เศรษฐกิจ

“ระบอบประยุทธ์ไว้ใจแค่คนใกล้ชิดให้ทำงาน เราจะเห็นทหารเข้าไปนั่งตำแหน่งสำคัญ ควบคุมกลไกเศรษฐกิจที่สำคัญตั้งแต่รัฐประหารเป็นต้นมา”

อภิชาต สถิตนิรามัย

หลังรัฐประหารเป็นต้นมา บ้างว่าเศรษฐกิจเติบโตตามปกติ แต่บ้างก็ว่าดูท่าจะย่ำแย่ลงมากโข สรุปว่า 7 ปีของการพัฒนาเศรษฐกิจภายใต้ระบอบประยุทธ์เป็นอย่างไร 101 คุยกับ รศ.ดร.อภิชาต สถิตนิรามัย อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยเรื่องแนวคิดนโยบายเศรษฐกิจและผลพวงที่เป็นรูปธรรม (?) ไปจนถึงอุปสรรคชิ้นใหญ่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยจากคณะรัฐประหาร 2557 

:: สวยหรูบนหน้ากระดาษ แต่ขาดผลลัพธ์จับต้องได้ ::

ในทางเศรษฐกิจ รัฐประหาร 2557 ไม่ได้เป็นหมุดหมายอะไรสำคัญ ไม่ก่อให้เกิดอะไรใหม่ และไม่ได้แก้อะไรที่เป็นของเก่า เป้าหมายหลักของเรายังเป็นเรื่องการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ก่อนรัฐประหารปี 2557 เศรษฐกิจไทยมีปัญหาเชิงโครงสร้างสองเรื่องใหญ่ คือหนึ่ง กับดักรายได้ปานกลาง เศรษฐกิจไทยค่อนข้างเติบโตช้าหลังวิกฤตการณ์แฮมเบอร์เกอร์ปี 2550 เราเริ่มสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน เพราะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ สัดส่วนกำลังแรงงานต่อประชากรทั้งหมดลดลง และสอง คือปัญหาความเหลื่อมล้ำดำรงอยู่อย่างยาวนาน

เมื่อเกิดรัฐประหาร สองเรื่องนี้ไม่ได้ถูกแก้จนถึงปัจจุบัน ถามว่าการพัฒนามีอะไรใหม่ไหม เราอาจได้ยินคำพูดใหม่ๆ อย่าง ‘ไทยแลนด์ 4.0’ เห็นนโยบาย ‘โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)’ ‘การลงทุน 5 อุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S-curve)’ ที่ต้องการแก้ปัญหากับดักรายได้ปานกลาง กระตุ้นเศรษฐกิจ เพิ่มความสามารถทางการแข่งขัน แต่สุดท้ายยังไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอันนอกจากชื่อ แม้จะมี policy formulation จัดองค์กรใหม่ มีการประมูลต่างๆ แต่ทั้งหมดก็ไม่เห็นผลลัพธ์ที่สามารถบอกได้ว่าประสบความสำเร็จได้ชัดๆ อย่าบอกว่ามีเวลาไม่พอนะ ต่อให้ไม่มีโควิด-19 ก่อนหน้านี้ก็ไม่เห็นผลลัพธ์ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงสำคัญเลย 

ด้านการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำยิ่งเป็นไปได้ยาก ดูจากองค์ประกอบ ที่มาของรัฐบาล และกลุ่มทุนที่สนับสนุนรัฐบาล ไปจนถึงตัวอย่างการควบรวมกิจการเทสโก้ โลตัสของซีพี สิ่งเหล่านี้จะพูดได้อย่างไรว่ารัฐบาลจริงจังกับนโยบายลดความเหลื่อมล้ำ ถึงอาจจะพูดได้ยากว่าความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้นหรือไม่หลังรัฐประหาร 2557 แต่อย่างน้อยที่สุด ชัดเจนว่าไม่ลดลง 

ถ้ารัฐจะจับมือกับนายทุนใหญ่ให้ช่วยขับเคลื่อนประเทศ ดูแลทุนเล็ก อะไรคือนโยบายที่เป็นรูปธรรม เวลาผ่านไประยะหนึ่งแล้ว ถ้าตั้งใจจริงควรมีความคืบหน้าบ้าง แต่ตอนนี้เรายังไม่เห็นอะไรเลย 

นอกจากนโยบายสำหรับแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างที่ไม่มีผลลัพธ์จับต้องได้ นโยบายเศรษฐกิจอื่นๆ มักออกมาชั่วครั้งชั่วคราว เช่น ‘ช้อปช่วยชาติ’ ‘ส่งเสริมท่องเที่ยวเมืองรอง’ อ้างว่ากระตุ้นเศรษฐกิจแต่สุดท้ายคนที่ได้ประโยชน์คือชนชั้นกลางบน เรานำเงินละลายหายไปกับนโยบายแบบนี้แทนที่จะลงทุนพัฒนาระยะยาว 

:: เหตุใดเศรษฐกิจไม่ไปไหนหลังรัฐประหาร ::

รัฐบาลของนายกฯ ประยุทธ์เป็นรัฐบาลที่มีอำนาจสูงมาก อาจจะเรียกว่าอำนาจเด็ดขาดด้วยซ้ำ โดยเฉพาะ 5 ปีแรกก่อนการเลือกตั้งยิ่งพูดไม่ได้เลยว่ามีอุปสรรคในการพัฒนาเศรษฐกิจเพราะเรื่องการเมือง แต่เหตุที่รัฐไม่สามารถใช้อำนาจนี้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรมได้ เนื่องจากรัฐบาลประยุทธ์พึ่งระบบราชการในการจัดการมาก ทางรัฐศาสตร์อาจเรียกได้ว่าเป็นสภาพรัฐราชการกลับมาใหม่ ไม่เพียงกลไกขับเคลื่อนเป็นระบบราชการเท่านั้น แต่วิธีทำงานของนายกฯ ประยุทธ์ก็เป็นแบบราชการ ยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบันยิ่งสะท้อนชัดผ่านการตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) มีหน่วยเล็กหน่วยน้อยคอยยื่นเรื่องถึงคนระดับสูงตัดสินใจ ซึ่งไม่ใช่วิธีบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินจริงๆ บางทีวันหยุดเสาร์อาทิตย์คุณประยุทธ์ยังไม่ทำงานเลยมั้ง

ระบบราชการเป็นระบบล้าหลัง ตามไม่ทันการเปลี่ยนแปลงของโลก ทั้งในแง่กฎเกณฑ์ ระเบียบวิธีการทำงาน และวิธีคิดของตัวบุคคล ทั้งหมดทื่อเกินไป ไร้ประสิทธิผลแล้วในปัจจุบัน เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจที่ไม่ว่ารัฐบาลไหนก็เจอ แต่ขึ้นอยู่กับวิธีบริหารด้วย สมัยคุณทักษิณสามารถปฏิรูประบบราชการได้ แม้จะมีข้อครหาว่าปรับเพื่อเพิ่มอำนาจตัวเอง แต่เขาก็สามารถสั่งการและขับเคลื่อนระบบราชการมากกว่านี้ ต่างจากคุณประยุทธ์ที่มีวิธีคิดแบบราชการ รวมศูนย์อำนาจ เมื่อเขายังไม่มีเครื่องมือใหม่ๆ มาแทนที่ระบบนี้ การผลักดันนโยบายเศรษฐกิจต่างๆ จึงไม่เห็นอะไรเป็นรูปธรรมรวดเร็ว

อีกเรื่องหนึ่งคือการระดมความคิด การมีส่วนร่วม ระบอบประยุทธ์เป็นระบบที่ไว้ใจแค่คนใกล้ชิดให้ทำงาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นทหาร เราจะเห็นทหารเข้าไปนั่งตำแหน่งสำคัญ ควบคุมกลไกเศรษฐกิจที่สำคัญตั้งแต่รัฐประหารเป็นต้นมา และถ้าจะมีคนอื่นเข้าไปช่วย ก็เป็นคนจากกลุ่มทุนใหญ่ไม่กี่กลุ่มเท่านั้น ในเมื่อเขาไม่สามารถระดมตัวแทนจากส่วนอื่นๆ เข้าไปช่วยพัฒนานโยบายเศรษฐกิจ ก็ทำให้ขาดการขับเคลื่อนจากภาคส่วนอื่นไปด้วย 

:: มรดกระบอบประยุทธ์ อาจหยุดเศรษฐกิจถึงอนาคต ::

มองภาพในระยะยาว เราสูญเสียโอกาสไปแล้ว 7 ปีโดยที่ปัญหาเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจยังไม่ถูกแก้ และจากงานศึกษาของ Worldbank ไม่กี่ปีก่อนชี้ให้เห็นว่าความได้เปรียบของไทยที่มีต่อประเทศเพื่อนบ้านในฐานะเป็นตัวเลือกการลงทุนของต่างชาติหายไปเกือบหมดแล้ว ทั้งความได้เปรียบด้านโครงสร้างพื้นฐาน ปัจจัยเชิงสถาบันอื่นๆ เช่น ขนาดของตลาด คุณภาพของท่าเรือ คุณภาพสนามบิน คุณภาพของระบบราชการ ความมีเสถียรภาพทางการเมือง ความเป็นประชาธิปไตย สิ่งที่ไทยเคยได้เปรียบกว่าประเทศในอาเซียน ประเทศที่มีโครงสร้างคล้ายกับเรา หรือประเทศรายได้ปานกลางเหมือนกันตอนนี้ไม่มีแล้ว ประเทศอื่นไล่เราทันหมด และเราก็ยังไม่ไปไหน การอยู่เฉยๆ กลายเป็นต้นทุนใหญ่ที่สุดที่เรากำลังเจออยู่

เดิมความขัดแย้งทางการเมืองตั้งแต่ปี 2549 มาจนถึงรัฐประหารทำให้เราสูญเสียโอกาส ไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว ตอนนี้รัฐธรรมนูญปี 2560 รวมถึงยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ยิ่งทำให้การบริหารเศรษฐกิจเป็นไปได้ยาก ก่อนหน้านี้ถ้าคนที่มาบริหารเศรษฐกิจแก้ไขปัญหาไม่ได้ เมื่อหมดวาระก็ควรเปลี่ยนตัวผู้เล่น แต่รัฐธรรมนูญ 2560 ล็อกไม่ให้เปลี่ยนตัวผู้เล่น ไม่ให้เปลี่ยนนายกฯ ด้วยการมี ส.ว. 250 คนโหวตให้คนเดิมไปเรื่อยๆ ส่วนยุทธศาสตร์ชาติ ถ้าเป็นรัฐบาลประยุทธ์ทำอะไรก็ได้ไม่ผิด แต่ถ้าเป็นรัฐบาลฝ่ายตรงข้ามมีอำนาจ ไม่ว่าทำอะไรก็อาจถูกตีความว่าขัดต่อยุทธศาสตร์ชาติ ไล่รัฐบาลออกไปได้ นี่เป็นกลไกที่ล็อกไม่ให้เปลี่ยนตัวผู้เล่น แม้ผู้เล่นจะไม่มีความสามารถก็ตาม

สำหรับผม สิ่งที่น่ากลัวที่สุดของระบอบประยุทธ์คือการล็อกความเปลี่ยนแปลงนี่เอง

กฎหมาย – กระบวนการยุติธรรม

“รัฐประหาร 2557 เกิดขึ้นเพื่อฝ่าฝืนความเปลี่ยนแปลงบางอย่าง มีการควบคุมพฤติกรรม ห้ามพูดความจริง ห้ามแสดงความคิดเห็น และปิดปากด้วยศีลธรรมที่ทำในนามกฎหมายอย่างเข้มข้น”

คงสัจจา สุวรรณเพ็ชร

ในยุคที่กระบวนการยุติธรรมโดนตั้งคำถามมากที่สุดยุคหนึ่ง 101 ชวนฟังมุมมองของ คงสัจจา สุวรรณเพ็ชร อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนักศึกษาปริญญาเอกด้านประวัติศาสตร์กฎหมายสมัยใหม่ในสยามและอาณานิคม มหาวิทยาลัยเอดินเบอระ ว่าด้วยเรื่องผลพวงจากรัฐประหารที่ส่งผลต่อกระบวนการยุติธรรม รูปธรรมของการใช้กฎหมายหลังรัฐประหาร และโอกาสที่สังคมเสียไปในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา 

:: ความยุติธรรมกลับหัว – กลัวความเปลี่ยนแปลง ::

ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นชัดเจนมากหลังการรัฐประหาร 2557 คือการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างเป็นรูปธรรมและกว้างขวาง ทั้งการใช้กฎหมายจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การเข้าไปควบคุมพรมแดนศีลธรรมอย่างเข้มงวด และเป็นยุคที่ความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมตกต่ำอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

แต่สิ่งเหล่านี้เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดจากระบบที่ไม่เปลี่ยนในขั้นมูลฐานมานานแล้ว เป็นกระดุมเม็ดแรกที่ผิดพลาดมาตั้งแต่ต้น เรามีระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมที่มีปัญหา เพียงแต่ปัญหาถูกซุกไว้ใต้พรม ช้างในห้องที่เป็นต้นเหตุของปัญหาไม่ถูกพูดถึง 

เวลาพูดถึงปัญหาของการจำกัดสิทธิเสรีภาพหรือการใช้กฎหมายแบบอำเภอใจ คนมักจะพูดว่าเป็นเพราะผู้ใช้กฎหมายตีความกฎหมายไม่ถูก ซึ่งพูดแบบนั้นก็ไม่ผิด แต่ไม่พอ เราต้องตั้งคำถามต่อไปอีกว่าทำไมการตีความแบบอำเภอใจหรือใช้กฎหมายผิด ถึงเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทำไมคนที่ใช้กฎหมายตามอำเภอใจถึงไม่ต้องรับผิดชอบอะไร สิ่งที่เลยพ้นไปจากเรื่องการตีความกฎหมายผิดคือการมีระบบหรือสภาพการณ์บางอย่างที่ทำให้คนในระบบสามารถใช้กฎหมายแบบผิดๆ ได้ แต่ยังลอยหน้าลอยตาอยู่

พอย้อนกลับมาที่การรัฐประหาร เรากำลังพูดถึงการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย แต่คนที่ทำลายระบอบการปกครองไม่ต้องรับผิดชอบ แล้วคนที่ปกป้องระบอบปกติถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ล้มล้างการปกครองเสียเอง กลายเป็นว่าระบบกฎหมายของเราทำงานกลับหัวกลับหาง ทั้งๆ ที่ความผิดฐานเป็นกบฏควรจะมีไว้ลงโทษคนที่ล้มล้างการปกครอง กลับกลายเป็นว่าระบอบกฎหมายของเราถูกใช้โดยคนที่ล้มล้างการปกครองเพื่อจับผิดและกล่าวหาคนที่ปกป้องการปกครองระบอบประชาธิปไตย

การบังคับใช้กฎหมายอย่างประหลาดลักลั่นแบบนี้ มักทำขึ้นในนามความมั่นคงของรัฐ ซึ่งเป็นคุณค่าที่ดำรงอยู่ในสังคมไทยมาช้านาน คำว่าความมั่นคงของรัฐ ฟังดูเป็นคำที่เกิดขึ้นในสมัยใหม่ แต่จริงๆ มีความผูกโยงกับรากทางวัฒนธรรมดั้งเดิมมานานแล้วว่าความมั่นคงใกล้เคียงกับความสงบราบคาบ เป็นคุณค่าหนึ่งของกฎหมายและความยุติธรรมที่ให้ความสำคัญตั้งแต่ก่อนสมัยใหม่แล้ว เช่น ‘พระไอยการลักษณะอาชญาหลวง’ ซึ่งความผิดจำนวนมากเป็นความผิดต่อพระมหากษัตริย์ ขบถต่อบ้านเมือง เป็นหมวดหมู่สำคัญของกฎหมายตราสามดวงซึ่งกำหนดบทลงโทษผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดอย่างโหดเหี้ยมรุนแรง อาจเป็นเครื่องสะท้อนคุณค่าที่สังคมนั้นให้ความสำคัญมานานแล้ว

นอกจากนี้ อุดมการณ์ทางกฎหมายก่อนสมัยใหม่ในรากวัฒนธรรมไทยไม่ใช่ justice แต่คือการกลับคืนสู่สภาวะปกติ (normalcy) ความสอดคล้องกลมกลืนของระเบียบสังคมและธรรมชาติ การต่อต้านอุดมการณ์ของรัฐ หรือการตั้งคำถามต่อผู้ที่อยู่ในสถานะสูงกว่าไปจนถึงผู้ปกครอง ไม่ได้ถูกมองว่าเป็นการตั้งคำถามด้วยเหตุผล แต่ถูกมองว่าเป็นการทำลายระเบียบสังคมและธรรมชาติ สังคมไทยลึกๆ จึงกลัวความแตกต่าง ความแตกต่างเป็นการแตกแถว แปลกแยก และเป็นอื่น 

กระทั่งเข้าสู่การเกิดขึ้นของรัฐสยามสมัยใหม่แล้ว คุณค่าหนึ่งที่ยังสำคัญมากของรัฐไทยคือการรักษาความสงบเรียบร้อย ในอดีตเราใช้คำว่าความสงบราบคาบ ตัวอย่าง เช่น กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.127 ที่เป็นกฎหมายอาญาในรูปแบบกฎหมายสมัยใหม่เป็นต้นเค้าให้ประมวลกฎหมายอาญาปัจจุบัน เราพบว่าหลักฐานว่าความผิดต่อพระบรมราชตระกูลเป็นสิ่งที่กรรมการตรวจร่างให้ความสำคัญมาก หมวดหมู่ที่จัดไว้ในกลุ่มความผิดก็เริ่มขึ้นก่อนหมวดหมู่อื่นๆ และอีกเรื่องคือศีลธรรม ตอนที่มีการก่อรูปของระบบกฎหมายสมัยใหม่ ในบริบทตะวันตกนั้นแยกรัฐออกจากศาสนา ไม่เอาเรื่องศีลธรรมและศาสนามาเกี่ยวข้องกับกฎหมายของรัฐ แต่ในไทย พุทธศาสนาถูกนำมาปัดฝุ่นเป็นเครื่องมือในการต่อรองกับวิทยาการสมัยใหม่จากโลกตะวันตกที่เราทั้งใฝ่ฝันอยากจะทัดเทียมและหวาดระแวง พื้นที่ตรงนี้ไม่เคลียร์ กฎหมายยังถูกเอามาใช้ในนามการปกป้องศีลธรรมซึ่งผูกพ่วงกับอุดมการณ์ของรัฐสยาม/ไทยอยู่ อุปมาเหมือนรัฐทำตัวเป็นพ่อดูแลลูก ถ้าลูกทำผิด ออกนอกลู่นอกรอย รัฐก็ต้องเข้าไปควบคุมสั่งสอน กดปราบ 

รัฐมาผูกขาดและคิดแทนประชาชนว่าพลเมืองดีที่อยู่กับร่องกับรอยต้องเป็นอย่างไร หลายครั้งคุณค่าทางศีลธรรมจึงเป็นข้ออ้างทำลายบั่นทอนความสร้างสรรค์ ความคิด วัฒนธรรม รสนิยม ศิลปะของมนุษย์อย่างไร้ขอบเขตในนามของกฎหมาย เพราะผู้ปกครองที่คิดแทนไม่ปล่อยพื้นที่ให้ลองผิดลองถูก แน่นอนมันต้องมีขอบเขต แต่ขอบเขตที่ว่าต้องไม่เลือนราง เลื่อนไหล เดี๋ยวขีดเดี๋ยวลบ จนสังคมเกิดความกลัว กลัวแม้แต่จะคิด กฎหมายสมัยใหม่ของไทยถูกฉกฉวยมาเป็นเพียงเครื่องมือรับใช้คุณค่าที่กล่าวมาอย่างอำพรางและทรงประสิทธิภาพกว่าระบบกฎหมายจารีตเสียอีก

สุดท้ายเราต้องกลับไปตั้งคำถามตั้งแต่ต้นว่าการรัฐประหารในสังคมไทยมีวัฒนธรรมการเมืองและกฎหมายอะไรรับรองอยู่ เราก็จะเข้าใจว่าการรัฐประหารมีขึ้นเพื่อรับใช้คุณค่าอะไร แล้วระบบกฎหมายซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบอบนั้นไปรับใช้คุณค่าอะไร สิ่งเหล่านี้บางครั้งไม่สามารถแทนที่หรือเปลี่ยนแปลงกันได้ง่ายๆ ด้วยตัวอักษร เพราะหลักการ อักษร ล้วนพ่วงกับฐานคิดและวัฒนธรรมที่เราอาจไม่คุ้นเคย การนำวิธีคิดกฎหมายสมัยใหม่มาสื่อสารตรงๆ ไม่ใช่สิ่งที่สังคมนั้นจะเข้าใจยอมรับความหมายเปิดทางกันง่ายๆ ได้ทุกเรื่อง ไม่เหมือนกับอะไหล่เครื่องยนต์ที่รื้อถอน โยกย้าย หรือแทนที่ได้ทันใจเรา 

ค่อนข้างชัดเจนว่าการรัฐประหาร 2557 เกิดขึ้นเพื่อฝ่าฝืนความเปลี่ยนแปลงบางอย่าง สังคมไทยกลัวความเปลี่ยนแปลง การควบคุมพฤติกรรมหลายอย่าง ทั้งการห้ามพูดความจริง การห้ามแสดงความคิดเห็น และการปิดปากด้วยศีลธรรมที่ทำในนามกฎหมายอย่างเข้มข้นและแพร่หลาย ล้วนแต่เป็นไปเพื่อต่อต้านความเปลี่ยนแปลง 

:: มาตรา 112 – พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ – วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด ::

ประเด็นเรื่องการใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นปัญหาที่เกินเลยมามากแล้ว และมีมานานมากแล้วก่อนยุค คสช. ซึ่งเป็นเรื่องที่กลุ่มนิติราษฎร์เคยนำเสนอ แต่ตอนนั้นเสนอไปสังคมก็ไม่รับฟัง พอตอนนี้ปัญหาที่เคยคาดการณ์กันไว้เกิดขึ้นก็เลยมาตรการที่นิติราษฎร์เสนอจะแก้ไขไปมากแล้ว คือเลยไปกว่าว่ากฎหมายควรจะตีความอย่างไร แต่ไปถึงทั้งการยกเว้นกระบวนการยุติธรรมในระบบกฎหมายปกติเลย ทั้งการตีความกฎหมาย การดำเนินคดี กระบวนการเอาผู้ต้องมาสอบสวน ไปจนถึงการพิจารณาคดีและพิพากษา ทั้งหมดเป็นสภาวะที่เราแตะต้องอะไรไม่ได้เลย ทำให้กลไกระบบกฎหมายปกติทำงานอย่างพิลึกพิลั่น

คุณจะต่อสู้คดีอย่างไรถ้าคุณพิสูจน์ความจริงไม่ได้ เมื่อไหร่ที่พิสูจน์ว่าคุณไม่ผิด คุณเสี่ยงมากๆ ที่จะถูกกล่าวหาว่าผิดกฎหมายซ้ำอีก เพราะตัวกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมปิดปาก มัดมือชกไม่ให้คุณพิสูจน์ได้ตั้งแต่ต้น ยังไม่นับการคุกคามโดยเจ้าหน้ารัฐตั้งแต่ก่อนกระบวนพิจารณาเต็มรูปแบบในชั้นศาล และการล่าแม่มด 

หลังรัฐประหาร 2557 เกิดความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ซึ่งเป็นร่างแปลงของกฎหมายอาญามาตรา 112 และ 116 (ความผิดฐานเป็นกบฏ) จนถึงช่วงเวลาไม่นานมานี้กฎหมายก็ถูกเอามาใช้ในร่างเดิมของมันอีกครั้งอย่างไม่ต้องห่อหุ้มอำพราง และเราเห็นผลของมันจริงๆ ว่ามีอานุภาพร้ายแรงขนาดไหน ความไม่แน่นอนแบบนี้เกิดขึ้นกับใครก็ได้ แม้กระทั่งกับคนที่ในบ้านนินทาเจ้าอย่างสนุกปาก (แต่นอกบ้านกลับห้ามคนอื่นไม่ให้พูด) เพราะคุณแยกพื้นที่ในหรือนอกบ้านไม่ได้จริงๆ หรอก ยิ่งในยุคสมัยนี้

พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ที่เพิ่งเกิด ก็มาจากการที่โซเชียลมีเดียเป็นพื้นที่ที่เอื้อให้คนแสดงความคิดเห็นของตัวเอง แต่รัฐต้องการจะรักษาและจำกัดพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็นแบบเดิมอย่างที่พวกเขาเคยพยายามควบคุมมาตลอด ควบคุมไม่ให้เกิดความเปลี่ยนแปลง แม้ว่าในความเป็นจริงจะไม่สามารถฝ่าฝืนความจริงได้

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิดในสังคม อย่างที่บอกว่าระบบกฎหมายเรากลับหัวกลับหาง คนที่ควรจะผิดกลับลอยนวลพ้นผิด คนที่ไม่ควรจะผิดกลับถูกกล่าวหาว่าเขาได้กระทำความผิด ได้รับการปฏิบัติต่ำกว่ามนุษย์ปกติ ทั้งที่เขายังไม่ถูกพิพากษายืนยันว่าได้กระทำความผิดจริงๆ ด้วยซ้ำ 

แค่เริ่มต้นที่ตัวรัฐประหารเองก็เป็นอภิสิทธิ์ขั้นสูงสุดแล้วในสังคมไทยที่เกี่ยวพันใกล้ชิดกับสถาบันหนึ่งที่เป็นบ่อเกิดรองรับอภิสิทธิ์ในรูปแบบอื่นๆ อีกมากมาย อย่างลอยหน้าลอยตา ไม่มียางอาย มิหนำซ้ำการลอยนวลพ้นผิดพร้อมๆ การกดปราบผู้เรียกร้องตั้งคำถามต่อโครงสร้างสังคมและอำนาจยังถูกประทับรับรองให้ถูกต้องโดยกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะสถาบันตุลาการที่ได้ประโยชน์จากอภิสิทธิ์ เคลือบชุบอำนาจด้วยคำว่าความยุติธรรม อิสระ และโรงละครที่เรียกว่าห้องพิจารณา บัลลังก์ เอกสาร และหมายต่างๆ เมื่อความยุติธรรมไม่ได้รวมทุกคนอยู่ในสมการ เมื่อความเป็นอิสระของศาลเป็นอภิสิทธิ์เหนือองค์กรอื่น ไม่ใช่การไม่ถูกแทรกแซง เมื่อกระบวนการยุติธรรมไม่ได้ตอบสนองกลไกหรือหน้าที่ขั้นต่ำที่ควรจะต้องทำ ก็ย่อมถูกตั้งคำถามและท้าทายเป็นธรรมดา

ทั้งหมดนี้กลับไปปัญหาเดิมว่าระบบที่เป็นอยู่ควรจะให้คนทุกกลุ่มพูดความจริง หรือแสดงความคิดเห็นต่อสังคมที่เราอยู่ได้อย่างตรงไปตรงมา การพูดความจริงไม่สามารถทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์หรือทำให้รัฐล้มครืนได้หรอก กลับกัน การปิดปากคน การห้ามพูดความจริง การใช้กฎหมายตามอำเภอใจต่างหากที่สุดท้ายจะทำให้รากฐานพีระมิดที่สั่นคลอนง่อนแง่นแบบนี้พังทลายลง เพราะคนที่อยู่ข้างบนปิดหูปิดตาตัวเอง ปิดปากคนอื่น ฟังแต่สิ่งที่ตัวเองอยากจะฟัง ไม่มีโอกาสฟังความจริงที่ควรต้องฟัง การรับฟังก็เพื่อให้ปรับตัว ดำรงอยู่ได้โดยสอดรับกับสมัยและคุณค่าของคนกลุ่มอื่นๆ บ้าง ไม่เป็นเครื่องกีดขวางกระแสความเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นธรรมดาโลก

:: 7 ปีกับโอกาสรื้อปัญหาใต้พรมกระบวนการยุติธรรม ::

แน่นอน 7 ปีที่ผ่านมาเราเสียโอกาส เพราะการรัฐประหารคือการซื้อเวลาในอนาคตมาใช้ เราเสียเวลาที่จะไปได้ไกลกว่านี้ เอาปัญหาอื่นๆ ของบ้านเมืองมาพูดมากกว่านี้ เช่น การกระจายโอกาสสู่ท้องถิ่น อากาศดีๆ แหล่งน้ำสะอาด การจัดการขยะ การศึกษา วัฒนธรรม ศิลปะ การส่งเสริมความเท่าเทียมผู้พิการ สตรี รสนิยมทางเพศ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ระบบกฎหมายและการเมืองสามารถรับใช้ สร้างกลไกส่งเสริม และพัฒนาได้ แต่เราแทบไม่ไปไหนเลย เพราะวนในอ่างกันเรื่องเดิมๆ มีผู้ปกครองที่มีแต่ความหวังดีแต่ไม่มีความสามารถ และไม่ฟังปัญหาคนอื่นนอกจากกลุ่มพวกพ้องตัวเอง มิหนำซ้ำเรายังมีโรงพิมพ์กฎหมายที่เกิดตั้งแต่ยุค คสช. เป็นต้นมาออกกฎหมายตามใจชอบ ไม่ผ่านการไตร่ตรองหรือรับฟังผลกระทบจากคนกลุ่มอื่นๆ เพียงพอ สร้างภาระแก่ระบบกฎหมายและสังคมมาก 

แต่มองอีกมุมหนึ่งก็ทำให้ปัญหาที่ถูกอำพรางมานานปรากฏตัวให้เห็นชัดเจนมากขึ้น นี่เป็นโอกาสที่เราจะรื้อปัญหาที่ซุกอยู่ใต้พรมมานาน แสดงให้เห็นเป็นรูปธรรมเสียทีว่าตกลงคืออะไร แต่เป็นธรรมดาของการเลื่อนเพดานที่คุณจะเจอหยากไย่ รังหนู หรือขี้ตุ๊กแก คุณไม่อยากเห็นมัน สะอิดสะเอียน ทรมานสายตามาก แต่วิกฤตการณ์ส่วนหนึ่งทำให้ปัญหาปรากฏและเป็นบทเรียนให้คนรู้ว่าปัญหาคืออะไร แม้หลายครั้งประวัติศาสตร์จะไม่ได้ทำให้คนเรียนรู้ปัญหาที่แท้จริงขนาดนั้น แต่อย่างน้อยก็ทำให้หูตาสว่างมากขึ้นว่าปัญหาคืออะไร

ถ้ามองไปในอนาคต ภาพฝันของผมคือระบบกฎหมายที่รองรับให้คนคิดต่างกันอยู่ด้วยกันได้โดยไม่ต้องฆ่าแกง ทำร้าย จับกุมคุมขังกัน หรือมีกระบวนการยุติธรรมที่เอื้อประโยชน์ให้คนทุกกลุ่ม มีเสียงให้รัฐได้ยินได้ฟังจริงๆ ทุกคนมีความรับผิดชอบใต้กฎหมายเดียวกัน ไม่เลือกปฏิบัติต่อคนกลุ่มหนึ่งต่างรูปแบบกัน กฎหมายต้องชัดเจนแน่นอน และให้ความเชื่อมั่นในทุกกลุ่มของสังคมด้วย 

แต่ผมขอเน้นอีกครั้งว่ารากทางวัฒนธรรม ปรัชญานิติศาสตร์ ความยุติธรรม ไม่ใช่สิ่งที่ปลูกถ่ายหยิบยืมกันได้ง่ายดาย ในหลายเรื่องมันยาก แต่ไม่ใช่เป็นไปไม่ได้ มันมีโอกาสที่สามารถแลกเปลี่ยน ต่อรอง เปลี่ยนแปลง ผลักดัน และเรายังอยู่ร่วมกันได้ ทว่ามันมีคุณค่าขั้นต่ำที่คุณละเมิดไม่ได้คือไม่ว่าความคิดจะแตกต่างแค่ไหน คุณค่าขั้นต่ำนั้นมีเพื่อเปิดให้คนทุกกลุ่มอยู่ร่วมกันได้ มีเสียงของตัวเองได้แม้คิดแตกต่างกัน ไม่ต้องมาห้ำหั่นกันในนามของกฎหมายเสียเอง ระบบกฎหมายมีหน้าที่รับใช้คุณค่านั้น ไม่ได้มีหน้าที่ปิดปากความคิดเห็นที่แตกต่าง เพิ่มเติมปมความขัดแย้ง ไม่ว่าจะเป็นในนามของความมั่นคงหรือศีลธรรม นี่คือสังคมระยะยาวที่น่าจะทำให้เรามีฝันที่ดีกว่านี้ เพราะคุณอย่าลืมว่าคุณตัดดอกไม้ได้ แต่คุณห้ามฤดูใบไม้ผลิไม่ได้ 

แต่ถ้าสมดุลทางอำนาจยังเป็นแบบนี้ ฝ่ายรัฐสภามีอำนาจต่อรองน้อยกว่าฝ่ายรัฐบาล โดยกลไกของรัฐธรรมนูญที่กำหนดความสัมพันธ์ โครงสร้างอำนาจระหว่างสถาบันการเมืองต่างๆ ยังเป็นอยู่อย่างปัจจุบัน และประชาชนแทบจะอยู่ไม่ในสมการของอำนาจเลย เป็นไปได้ยากมากที่จะมีการเปลี่ยนแปลง เพราะนอกจากผู้มีอำนาจจะไม่ฟังแล้ว ต่อให้ได้ยินเขาก็ไม่เข้าใจว่าปัญหาคืออะไรกันแน่ เพราะเราปล่อยให้คนที่มีอภิสิทธิ์อยู่ในสุญญากาศ ไม่รับรู้ความจริงเลย รู้แต่จะรักษาโลกของเขาอย่างเดียวจนไม่สามารถเข้าใจได้เลยว่าสังคมเปลี่ยนไปขนาดไหนแล้ว

สุดท้ายแล้วคำถามคือ คุณค่าและความมั่นคงของรัฐเป็นความมั่นคงของใครกันแน่ มีประชาชนอยู่ในสมการหรือเปล่า ถ้าไม่มี เราต้องตั้งคำถามนะว่าแล้วเราจะรักษามันไปเพื่ออะไร ถ้าตัวเราไม่มีความหมายหรือที่ยืนในรัฐนั้นเลย แต่ถ้าเรายึดความมั่นคงของมนุษย์เป็นสำคัญ รัฐหรือระบบกฎหมายจะมีขึ้นเพื่อรับใช้มนุษย์ให้ทุกคนอยู่ในรัฐอย่างปลอดภัย มั่นคง และยั่งยืน 

การต่างประเทศ

“พอหลักคิดเรื่องผลประโยชน์แห่งชาติไม่หนักแน่น น่าตั้งคำถามว่าการดำเนินนโยบายต่างประเทศเบี่ยงเบนจากการรักษาอธิปไตยและเกียรติภูมิของประเทศ ไปเป็นการสร้างความชอบธรรมและการอยู่รอดของระบอบทหารในการเมืองไทยหรือเปล่า”

พงศ์พิสุทธิ์ บุษบารัตน์

ตลอด 7 ปีของระบอบประยุทธ์เปลี่ยนการต่างประเทศไทยไปอย่างไรบ้าง 101 ชวน ผศ.ดร.พงศ์พิสุทธิ์ บุษบารัตน์ อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองการต่างประเทศไทยภายใต้ท็อปบูตตั้งแต่หลักคิดการดำเนินนโยบาย ท่าที ไปจนถึงมรดกตกค้าง

:: จากไผ่ลู่ลม สู่ไผ่หมุน ::

ผลพวงจากรัฐประหารและระบอบประยุทธ์เปลี่ยนหลักคิดการวางนโยบายการต่างประเทศไปพอสมควร

ก่อนการทำรัฐประหาร เราคงคุ้นกับคำกล่าวที่ว่า ‘การทูตไทยเหมือนไผ่ลู่ลม’ ซึ่งคำว่า ‘ไผ่ลู่ลม’ สะท้อนให้เห็นหลักคิดสำคัญของผู้กำหนดนโยบายต่างประเทศไทยที่ออกนโยบายจากการประเมินบริบทการเมืองภายนอกและคิดคำนวณหาทางตอบสนองต่อบริบทเหล่านั้นเพื่อให้รักษาผลประโยชน์แห่งชาติได้ดีที่สุด

หากมองย้อนหมุดหมายทางประวัติศาสตร์ ส่วนมากผลประโยชน์แห่งชาติหมายถึงความอยู่รอดปลอดภัยของชาติหรือสังคมโดยรวม ตั้งแต่ในยุคอาณานิคมที่ไทยพยายามผูกมิตรกับหลายๆ ประเทศเพื่อคานอำนาจรักษาเอกราชจากเจ้าอาณานิคม สมัยสงครามเย็นที่ไทยเลือกเป็นพันธมิตรฝ่ายสหรัฐฯ เพื่อรักษาเสถียรภาพของสถาบันหลักจากความเปลี่ยนแปลงแบบถอนรากถอนโคนตามแบบอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ ไปจนถึงยุคโลกาภิวัตน์ที่ไทยเลือกดำเนินความสัมพันธ์หลากหลายเพื่อส่งเสริมบทบาทและประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ดังนั้นจะเห็นได้ว่า แบบแผนการเลือกและปรับเปลี่ยนนโยบายตั้งแต่อดีตจนถึงก่อนการรัฐประหารสะท้อนให้เห็นถึงความยืดหยุ่นและความสามารถในการปรับตัวที่เอื้อให้ตอบสนองต่อผลประโยชน์แห่งชาติในแต่ละช่วงเวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แต่หลังการทำรัฐประหาร จะเห็นว่าหลักคิดในการออกนโยบายการต่างประเทศเบี่ยงเบนออกไปจากความเป็นไผ่ลู่ลม โดยเฉพาะการนิยามว่าอะไรคือผลประโยชน์แห่งชาติ มีการตั้งคำถามว่าหลายนโยบายของคณะรัฐประหารจำกัดความผลประโยชน์แห่งชาติว่าเป็นผลประโยชน์ของใครกันแน่ระหว่างระบอบและผู้นำระบอบหรือประชาชน สังคม และประเทศชาติโดยรวม

ที่จริงแล้ว ผลประโยชน์แห่งชาตินิยามได้หลากหลาย ในปัจจุบันไทยอาจไม่เผชิญภัยคุกคามเอกราชแล้วก็จริง แต่ผลประโยชน์แห่งชาติยังหมายรวมถึงศักดิ์ศรี เกียรติภูมิของชาติ ความสงบสุขและความกินดีอยู่ดีของประชาชน ซึ่งน่าจะเป็นผลประโยชน์แห่งชาติที่ผู้นำคำนึงถึง แต่กลับถูกกลบด้วยผลประโยชน์ของผู้นำทางการเมืองในช่วงรัฐประหาร

แนวการดำเนินนโยบายก็ถูกตั้งคำถามว่าเสียความยืดหยุ่นและความสามารถในปรับเปลี่ยนท่าทีเพื่อรักษาผลประโยชน์แห่งชาติ และไม่ได้ตั้งอยู่บนฐานของการรักษาผลประโยชน์แห่งชาติอย่างแท้จริง จากเดิมที่มีแบบแผนในการตอบสนองเชิงนโยบาย กลายเป็นว่าการออกนโยบายเป็นเพียงเพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์ที่มากระทบตรงหน้าโดยไม่มียุทธศาสตร์และวิสัยทัศน์

หากถามว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้หลักคิดในการวางนโยบายการต่างประเทศเสียความยืดหยุ่น คำตอบคือการเมืองภายในที่ผันผวนไร้เสถียรภาพ และเมื่อการเมืองไร้เสถียรภาพ ขาดความเป็นผู้นำก็ทำให้นโยบายการต่างประเทศไม่มีความมั่นคงและความต่อเนื่อง 

:: ไทยในเงื้อมมือพญามังกร ::

พอหลักคิดผลประโยชน์แห่งชาติไม่หนักแน่น น่าตั้งคำถามว่าการดำเนินโนยบายการต่างประเทศเบี่ยงเบนจากการรักษาอธิปไตยและเกียรติภูมิของประเทศ ไปเป็นการสร้างความชอบธรรมและการอยู่รอดของระบอบทหารในการเมืองไทยหรือเปล่า

ในแง่ภูมิรัฐศาสตร์ หลายคนตั้งข้อสังเกตว่าไทยมีแนวโน้มเอนเอียงไปหาจีนมากขึ้น เพราะจีนเป็นประเทศแรกๆ ที่รับรองคณะรัฐประหาร ในขณะที่สหรัฐฯ คว่ำบาตรและวิพากษ์วิจารณ์การเมืองและการละเมิดสิทธิมนุษยชนไทยตลอด 4 ปีแรกของการรัฐประหาร 

ในเชิงท่าทีของผู้นำ ไทยค่อนข้างจะโอนอ่อนผ่อนตามแรงกดดันของจีน หรือมีท่าทีที่ค่อนข้างอ่อนน้อมถ่อมตนต่อจีนมากยิ่งขึ้น หากผลประโยชน์แห่งชาติในมิติหนึ่งคือศักดิ์ศรีของประเทศ การแสดงออกเช่นนั้นทำให้ศักดิ์ศรีของประเทศด้อยค่า ตกอยู่ในสถานะต่ำกว่าจีน อย่างในช่วงแรกของการทำรัฐประหารที่พลเอก ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกรกล่าวถึงรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศจีนในการประชุม ASEAN Summit ท่ามกลางบรรยากาศคุกรุ่นจากความขัดแย้งกรณีพิพาททะเลจีนใต้ว่า “หากรัฐมนตรีหวังอี้เป็นผู้หญิง จะหลงรัก” จนทำให้เกิดความระแวงสงสัยในหมู่ประเทศสมาชิกอาเซียนต่อท่าทีที่อ่อนน้อม โน้มเอียงและให้ความสำคัญกับจีนมาก ทั้งๆ ที่เคยแสดงบทบาทนำในการต่อรองผ่านกลไกอาเซียน

ในทางการทหาร ไทยก็หันไปซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์จากจีนจำนวนมาก ทั้งเรือดำน้ำ รถถัง หรือมีการริเริ่มความคิดที่จะสร้างศูนย์ซ่อมอาวุธจีนบริเวณโคราชและขอนแก่น นโยบายเช่นนี้อาจดูเหมือนการสร้างความหลากหลายของอาวุธก็จริง แต่ก็มีการตั้งคำถามว่า การครอบครองอาวุธสัญชาติจีนเพิ่มขึ้นจะส่งผลต่อความไม่ลงรอยระหว่างระบบอาวุธและระบบการสั่งการของระบบทางพันธมิตรทางการทหาร ซึ่งหลักของไทยนั้นสอดคล้องกับหลักของสหรัฐฯ ในฐานะพันธมิตรทางการทหารตั้งแต่ช่วงสงครามเย็น

ในแง่ภูมิเศรษฐศาสตร์ แม้ว่าการพึ่งพาและพยายามหาประโยชน์จากจีนในทางเศรษฐกิจจะไม่ใช่ปรากฏการณ์ใหม่และไม่ใช่เรื่องผิด แต่หลังรัฐประหารพอมีปัจจัยทางการเมืองเข้ามา ไทยก็ยิ่งต้องพึ่งพาการค้า เอื้อและอำนวยความสะดวกให้ทุนจีนมาลงทุนมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในกรณี Belt and Road Initiatives หรือโครงการพัฒนาเศรษฐกิจ EEC 

คำถามคือ อำนาจและศักยภาพที่จะเจรจาต่อรองอย่างเท่าเทียมของไทยมีมากขนาดไหน? ตั้งแต่รัฐประหารเป็นต้นมา พอการเมืองโน้มเอียงไปหาจีนเพื่อให้จีนสนับสนุนความชอบธรรมของคณะรัฐประหาร อำนาจต่อรองทางการเมืองและเศรษฐกิจก็ลดตามไปด้วย เพราะเราหวังว่าจีนจะเป็นที่พึ่งสุดท้ายได้ หากดูสิ่งที่เกิดขึ้นในปี 2017 ที่นายกประยุทธ์ไม่ได้รับเชิญไปร่วม BRI Summit ก็ค่อนข้างชัดว่าจีนมีอำนาจกดดันทางการทูตเพื่อให้รัฐสภายอมให้ไฟเขียวเพื่อเร่งสานต่อโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงที่ล่าช้าแล้วพอสมควรในสายตาของจีน

:: 7 ปีที่สูญหายของการต่างประเทศไทย ::

ไทยมีอำนาจต่อรองไม่มากอยู่แล้วในฐานะรัฐขนาดเล็ก แต่การต่างประเทศที่ไม่เข้มแข็งยิ่งทำให้ไทยไม่สามารถรักษาผลประโยชน์แห่งชาติผ่านนโยบายการต่างประเทศได้ดีเท่าที่ควร ไม่สามารถปฏิเสธหรือขัดขืนแรงกดดันจากภายนอกได้ดีเท่าที่ควร โดยเฉพาะจากมหาอำนาจอย่างจีน 

ทั้งหมดนี้ทำให้ไทยสูญเสียโอกาสที่จะแสดงบทบาทในเวทีระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในระดับภูมิภาค ภาพลักษณ์ของไทยเสียไปในช่วงหลังรัฐประหารว่าเป็นประเทศมีจุดยืนโน้มเอียงไปทางจีน ทำให้ขาดความไว้เนื้อเชื้อใจจากในภูมิภาคว่าไทยจะสามารถวางตัวเป็นกลางได้จริงหรือเปล่า หากต้องมีบทบาทต่อรองกับจีนในฐานะตัวแทนกลุ่มในเวทีอาเซียน เพราะในระยะหลังๆ ไทยมีท่าทีค่อนข้างเห็นอกเห็นใจจีน ไม่ได้คัดค้านอะไรที่จีนพยายามเสนอมากนัก เพราะผู้นำคณะรัฐประหารก็พึ่งพาจีนทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ พูดอะไรที่ขัดต่อผลประโยชน์ของจีนอย่างแข็งขันมากก็ไม่ได้ ในช่วงที่ผ่านมา หลายๆ ฝ่ายก็มองว่าพึ่งพาไทยไม่ได้ในการพยายามรักษาหลักในการวางอาเซียนเป็นศูนย์กลาง (ASEAN Centrality)

หากมองจากอีกมุมหนึ่งในฐานะพันธมิตรทางการทหารกับสหรัฐฯ แม้ว่าจะมีการฟื้นฟูความสัมพันธ์หลังการเลือกตั้ง แต่จุดยืนที่โอนอ่อนแต่แรงกดดันและโน้มเอียงไปทางจีนอาจลดความสำคัญของไทยในการเป็นผู้เล่นในยุทธศาสตร์ Indo-Pacific ของสหรัฐฯ หรือข้อริเริ่มอื่นๆ จากสหรัฐฯ ที่น่าจะมีประโยชน์กับไทย

ในทางเศรษฐกิจ การเมืองไทยหลังรัฐประหารส่งผลให้ศักยภาพในการสร้างความหลากหลายของตลาดคู่ค้าลดลง โดยเฉพาะสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป เพราะความไม่เป็นประชาธิปไตยและการละเมิดมนุษยชน รวมทั้งยังพลาดโอกาสในการพัฒนาโครงการเศรษฐกิจหลายๆ โครงการ

ภาพลักษณ์ความเป็นผู้นำในการเชิดชูคุณค่าเสรีประชาธิปไตยของไทยก็ถดถอยอย่างสิ้นเชิง ไม่เหมือนอย่างในช่วงทศวรรษ 1990 เพราะฉะนั้นไทยไม่สามารถเป็นผู้นำได้เลย ไม่ว่าจะเป็นในทางการเมืองระหว่างประเทศหรือในเชิงอุดมการณ์

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save