แม้ว่าจะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ปฏิกิริยา และการโต้ตอบต่ออำนาจตุลาการเกิดขึ้นในแบบที่ไม่เคยเห็นและไม่คาดคิดว่าจะได้เห็นในช่วงชีวิตนี้ แต่ตราบจนกระทั่งปัจจุบันการแสดงความเห็นจากฝ่ายตุลาการต่อปรากฏการณ์นี้กลับเบาบางยิ่งนัก
อะไรเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ผู้คนในแวดวงตุลาการกลับพากันเงียบเสียงและก้มหน้าก้มตาทำงานต่อไปราวกับว่ากำลังมีชีวิตอยู่ในโลกอีกใบหนึ่งโดยไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมสังคมเดียวกับคนจำนวนมาก ทั้งที่น้ำเสียง เนื้อหา และการกระทำที่พุ่งตรงไปยังอำนาจตุลาการในครั้งนี้แหลมคมและกระทบต่อความเชื่อของสาธารณะที่มีต่อการปฏิบัติงานของฝ่ายตุลาการเป็นอย่างมาก
ต้องไม่ลืมว่า หากเทียบกับบรรดาหน่วยงานต่างๆ แล้ว ฝ่ายตุลาการคือองค์กรที่มักอวดอ้างถึงหลักความเป็นอิสระในการทำงานมากกว่าใครทั้งหมด และดูราวกับว่าผู้คนในฝ่ายตุลาการต่างก็เชื่อมั่นว่าตนเองมีความเป็นอิสระเป็นอย่างมากเช่นกัน
ในอดีตที่ผ่านมา การกล่าวอ้างถึงความเป็นอิสระมักกลายเป็น ‘คาถา’ ในการปกป้องฝ่ายตุลาการจากการครอบงำของนักการเมืองและกลุ่มทหาร คำอธิบายว่าหากปล่อยให้มีการครอบงำเกิดขึ้นก็จะส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน การต่อสู้ด้วยเหตุผลดังกล่าวประสบความสำเร็จไม่น้อยในการกีดกันเอาอำนาจทางการเมืองให้ถอยห่างออกไป ความเป็นอิสระเป็นหลักการที่มี ‘เสียงดัง’ และให้ความชอบธรรมต่อการดำรงอยู่ของฝ่ายตุลาการ
แต่หากพิจารณาลงมาถึงระดับภายในองค์กร จะพบว่ามีคำถามอย่างสำคัญเกิดขึ้น ‘ความเป็นอิสระ’ แบบใดที่ทำให้เกิดสภาวะการเพิกเฉยรวมหมู่ต่อการกระทำที่ถูกพิจารณาว่าเป็นปัญหาอย่างรุนแรงต่อกระบวนการยุติธรรม ยังจะสามารถเรียกหลักการนี้ว่าความเป็นอิสระได้จริงหรือ หรือความเป็นอิสระชนิดนี้กลับมี ‘วินัย’ คอยกำกับควบคุมอยู่
เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปในแวดวงตุลาการว่าแนวทางปฏิบัติประการหนึ่งก็คือ ผู้พิพากษาไม่พึงแสดงความเห็นต่อสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นการอภิปราย เข้าร่วมสัมมนา การกระทำในลักษณะเหล่านี้ได้ถูกพิจารณาว่าเป็นสิ่งที่ไม่พึงปฏิบัติของผู้ดำรงตำแหน่งที่ต้องชี้ขาดข้อพิพาทต่างๆ การแสดงออกที่โน้มเอียงไม่ว่าจะเป็นไปในทางใดก็อาจนำมาซึ่งความไม่ไว้วางใจของสังคมได้ว่า ผู้ทำหน้าที่ตัดสินนั้นปราศจากความเป็นกลาง เมื่อไม่มีความเป็นกลางแล้วจะให้เชื่อได้อย่างไรว่าคำตัดสินที่เกิดขึ้นเป็นไปอย่างตรงไปตรงมา
แม้ข้อห้ามดังกล่าวอาจฟังดูแล้วพอจะมีเหตุผลให้รับฟังได้บ้าง แต่ข้อสงสัยประการสำคัญของผู้เขียนก็คือว่าต่อให้ไม่แสดงออกในทางสาธารณะแล้วนั่นจะหมายถึงการดำรงตนอยู่ใน ‘ความเป็นกลาง’ ได้จริงหรือ ในเมื่อผู้พิพากษาก็ล้วนแล้วแต่เป็นปุถุชนธรรมดาๆ คนหนึ่ง ย่อมมีรัก โลภ โกรธ หลง อยากมีอยากได้ในประโยชน์โภชผลเฉกเช่นคนทั่วไป
นึกถึงการเรียกร้องเงินเดือนในระดับสูง เงินประจำตำแหน่ง รถประจำตำแหน่ง ค่าเบี้ยประชุม และอีกนานัปการ ก็เป็นสิ่งปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจน ถ้าหากมีนักการเมืองหรือพรรคการเมืองใดเห็นว่าค่าตอบแทนดังกล่าวมากเกินไป พร้อมกับเสนอให้มีการปรับแก้ให้มีความเหมาะสมโดยเฉพาะกับสถานการณ์ปัจจุบันซึ่งควรนำงบประมาณไปใช้ในเรื่องที่มีความจำเป็นกับชีวิตประชาชนมากกว่า บรรดาเหล่าผู้พิพากษาจะไม่รู้สึกเดือดเนื้อร้อนใจกันเลยใช่หรือไม่ ซึ่งก็คงสามารถคาดเดาคำตอบได้ไม่ยาก
บุคคลเหล่านี้จึงย่อมมีจุดยืนทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม ศาสนา และในแทบทุกด้านเช่นเดียวกันกับผู้คนทั่วไป การห้ามแสดงความเห็นต่อสาธารณะจึงอาจไม่ได้มีความหมายว่าจะทำให้เกิดความเป็นกลางขึ้นได้ทันทีแต่อย่างใด
(ต้องไม่ลืมว่าความประพฤติในลักษณะเช่นนี้ ได้แปรสภาพเป็น ‘วินัย’ ในประมวลจริยธรรมข้าราชการตุลาการ แต่ประเด็นดังกล่าวจะไม่ถูกนำมาพิจารณาในที่นี้ เนื่องจากในทรรศนะของผู้เขียนแล้ว มันมีค่าเพียงคำประกาศที่อาจมีผลหรือไม่มีผลบังคับติดตามมาก็ได้ ขึ้นอยู่กับบริบทของสังคมการเมืองในแต่ละช่วงเวลาเป็นปัจจัยหลักมากกว่า)
อย่างไรก็ตาม พึงตระหนักว่าในปัจจุบันนี้บุคคลที่ดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาไม่ใช่จะถูกห้ามแสดงออกต่อสาธารณะอย่างเด็ดขาด ตรงกันข้าม มีความประพฤติบางอย่างที่ต้องทำให้เห็นอย่างประจักษ์และการไม่แสดงออกต่างหากที่นำมาซึ่งความยุ่งยากอย่างใหญ่หลวงต่อบุคคลนั้น เช่น การแสดงความเคารพต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เป็นต้น จะกล่าวว่าการกระทำในลักษณะนี้ไม่ใช่การแสดงออกถึงจุดยืนทางการเมืองได้จริงๆ หรือ
ผมอยากรู้ว่า ถ้าหากมีนักเรียนกฎหมายขั้นอัจฉริยะคนใดแสดงตัวอย่างชัดเจนว่าเป็นคนไม่มีศาสนา เขายังจะสามารถเข้าทำงานหรือมีความเจริญก้าวหน้าในอาชีพนี้ได้หรือไม่ หรือว่าบุคคลที่จะเป็นผู้พิพากษาในสังคมไทยต้องเป็นคนมีศาสนาเท่านั้น เอาเฉพาะในประเด็นนี้โดยไม่ต้องถามถึงประเด็นอื่นที่มีความอ่อนไหวมากกว่า
ในแง่นี้แล้ว วินัยในหมู่ผู้พิพากษาจึงอาจไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อสังคมในแบบที่เข้าใจสืบต่อกันมา ตรงกันข้าม อำนาจที่เกิดขึ้นจากวินัยดังกล่าวกลับสามารถเป็นเครื่องมือในการกำราบให้บุคคลที่อยากแสดงความเห็นหรือสะท้อนปัญหาจากภายในต้องเงียบเสียงลง เพราะตกอยู่ใต้คำอธิบายที่อธิบายกันมาอย่างยาวนานว่าเป็นจริยธรรมของข้าราชการตุลาการที่พึงกระทำ สิ่งนี้มีความสำคัญมากกว่าปมปัญหาใดๆ ที่ได้เกิดขึ้นในฝ่ายตนเอง
เช่น ถ้าหากมีคำตัดสินในการให้ประกันตัวของผู้พิพากษาคนอื่นๆ ซึ่งจากมุมมองของตนแล้วเห็นได้ว่าไม่สอดคล้องกับหลักวิชาอย่างชัดเจน หรือสมมติว่ามีผู้พิพากษาเข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองอันเป็นความประพฤติที่ขัดกับประมวลจริยธรรมข้าราชการตุลาการ แต่สิ่งที่พวกเราเหล่าผู้พิพากษาควรกระทำก็คือการปฏิบัติตามวินัย อันหมายถึงการเงียบเสียงมากกว่าการแสดงความเห็นที่ตนเองยึดถือออกไป
หากมีการกระทำที่ ‘นอกคอก’ ด้วยการประพฤติหรือการแสดงความเห็นอันแตกต่างไปจากมาตรฐานก็ย่อมต้องเผชิญกับการลงโทษ วินัยไม่อาจดำรงอยู่ได้หากปล่อยให้มีการล่วงละเมิดเกิดขึ้นโดยปราศจากการตอบโต้ การลงโทษต่อบุคคลซึ่งไม่อยู่ในกรอบของมาตรฐานที่ได้กำหนดไว้จะทำให้ผู้คนตระหนักได้ว่านั่นมิใช่เพียงคำพูดหรือตัวหนังสือลอยๆ หากมีอำนาจบังคับได้จริง
กรณีผู้พิพากษาคณากร เพียรชนะ นับเป็นตัวอย่างหนึ่งของความพยายามแหกออกไปจากกรอบของ ‘วินัย’ ความพยายามในการเขียนจดหมาย แสดงความเห็นต่อสื่อสมัยใหม่ แม้กระทั่งการจบชีวิตด้วยการฆ่าตัวตาย ด้วยความเห็นของเขาว่ามีการแทรกแซงในการพิจารณาคดี ซึ่งก็ได้ทำให้เกิดการตั้งคำถามอย่างกว้างขวางถึงความเป็นอิสระในการทำงานของผู้พิพากษาติดตามมา ไม่ว่าความเห็นดังกล่าวจะเป็นความจริงหรือไม่ แต่ในภายหลังการกระทำของเขาก็ได้ถูกพิจารณาว่าเป็นเพียงเรื่อง ‘ส่วนตัว’ มิใช่ปัญหาของโครงสร้างในกระบวนการยุติธรรมแต่อย่างใด
ต้นทุนของการต่อสู้กับวินัยในแวดวงตุลาการจึงมีราคาที่สูงมิใช่น้อย
เพราะฉะนั้น ในท่ามกลางการกล่าวอ้างถึงความเป็นอิสระในการปฏิบัติงานในฝ่ายตุลาการ เอาเข้าจริงก็กลับกลายเป็นว่าบรรดาผู้พิพากษาก็ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขและการควบคุมเช่นเดียวกัน และการควบคุมอันเข้มงวดที่ถูกกำหนดไว้ก็อาจไม่ได้มีเป้าหมายว่าจะเป็นไปเพื่อธำรงเรื่องความยุติธรรมมากกว่าการรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของสถาบันให้ดำรงอยู่ต่อไป
ดังนั้น ต่อให้มีความอยุติธรรมปรากฏขึ้นตำตาต่อหน้าซ้ำแล้วซ้ำเล่า ต่อให้เป็นสถาบันที่มักกล่าวอวดอ้างถึงมีความเป็นอิสระ ต่อให้มีบุคลากรที่มักถูกพิจารณามีความรู้ความสามารถทางกฎหมายในระดับสูง ต่อให้มีผู้คนซึ่งเชื่อกันว่ายึดมั่นในศีลธรรม ทั้งหมดจะไม่ได้เป็นหลักประกันว่าจะทำให้ความยุติธรรมสามารถบังเกิดขึ้นได้ แม้จะเป็นเรื่องที่ดูราวกับจะเป็นหลักการพื้นฐานอย่างมากสำหรับผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมก็ตาม
ความเป็นอิสระของตุลาการจึงกลับกลายเป็นวินัยและการควบคุมไปในเวลาเดียวกัน อันนำมาซึ่งความเงียบงันรวมหมู่ในกระบวนการยุติธรรมของสังคมไทยได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจเป็นยิ่งนัก