fbpx
ไบเดนขับเคลื่อนแผนเศรษฐกิจใหญ่ได้อย่างไรท่ามกลางความแตกแยก

ไบเดนขับเคลื่อนแผนเศรษฐกิจใหญ่ได้อย่างไรท่ามกลางความแตกแยก

มีคนเคยปรามาสว่าไบเดนคงเป็นประธานาธิบดีที่ชราและขาดพลัง หลายคนคาดหวังเพียงให้ไบเดนนำ ‘ความปกติเก่า’ กลับมาหลังจากยุคความปั่นป่วนของทรัมป์ ไม่มีใครคิดว่าไบเดนจะสร้างการเปลี่ยนแปลงอะไรได้มากนักภายใต้บรรยากาศความแตกแยกที่ฝังรากลึกในสังคมสหรัฐฯ  

แต่ปรากฎว่า 100 วันแรกของไบเดนกลับเป็นช่วงเวลาที่น่าตื่นเต้นและเปี่ยมด้วยพลังสร้างสรรค์ที่สุดช่วงหนึ่งของการเมืองสหรัฐฯ ทั้งภาพความสำเร็จในการฉีดวัคซีนที่ทำได้อย่างเป็นระบบเหนือความคาดหมาย ในขณะเดียวกัน ไบเดนก็ไม่ได้เป็นเพียงฝ่ายรับที่ตามสะสางปัญหาที่ทรัมป์ทิ้งไว้เท่านั้น แต่เขาเดินหน้าเชิงรุกเต็มสูบด้วยการประกาศแผนการใหญ่สามแผนซ้อน ซึ่งหากผลักดันสำเร็จ จะมีผลปฏิวัติทิศทางของเศรษฐกิจการเมืองสหรัฐฯ ชนิดพลิกโฉม 

แผนเศรษฐกิจใหญ่ของไบเดนจะใช้งบประมาณรวมสูงถึง 6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นับเป็นตัวเลขมหึมาที่สุดในประวัติศาสตร์การใช้เงินของรัฐบาล โดยประกอบด้วยแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจมูลค่า 1.9 ล้านล้าน แผนสร้างงานมูลค่า 2.3 ล้านล้าน และแผนยกระดับคุณภาพชีวิตครอบครัวมูลค่า 1.8 ล้านล้าน

ขณะนี้มีเพียงแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ผ่านสภาแล้ว ส่วนอีกสองแผนยังมีความไม่แน่นอนว่าจะผ่านสภาได้มากน้อยเพียงใด หรือจะถูกตัดลดอย่างไร แต่ผลที่ออกมาแน่ชัดแล้วก็คือ โพลสำรวจความคิดเห็นชี้ชัดว่าแผนเศรษฐกิจใหญ่เหล่านี้ได้รับเสียงสนับสนุนจากคนสหรัฐฯ อย่างล้นหลาม กลับกลายเป็นว่า สังคมสหรัฐฯ ที่แตกแยกร้าวลึกนั้น ดูกำลังจะเกิดความเห็นร่วมกันครั้งใหม่

แนวคิดกระแสหลักในวงเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา คือ ลดรัฐให้เล็ก เก็บภาษีให้น้อย ส่งเสริมเอกชนและกลไกตลาด โดยหวังว่าเมื่อเอกชนข้างบนโต ประโยชน์ก็จะตกถึงเศรษฐกิจข้างล่างเอง แต่ฉันทามติที่กำลังก่อร่างใหม่ในยุคไบเดน คือ การขยายบทบาทเชิงรุกของรัฐ เก็บภาษีคนรวยให้มากขึ้น เอาเงินมาผลักดันการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสร้างงาน ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมเพื่อสร้างอนาคต และสร้างระบบสวัสดิการเพื่อให้ครอบครัวชาวสหรัฐฯ เข้มแข็ง ความคิดใหม่คือ เศรษฐกิจฐานรากแข็งแรงจึงจะยั่งยืน

คำถามก็คือ ไบเดนประสบความสำเร็จในการสร้างแรงสนับสนุนให้กับแผนการใหญ่ที่ถอนรากถอนโคนความคิดดั้งเดิมของสังคมสหรัฐฯ ได้อย่างไร ท่ามกลางกระแสความแตกแยกทางการเมืองที่ร้าวลึกในสังคม

ปัจจัยแรกที่หลายท่านอาจแปลกใจก็คือ ตัวตนของไบเดนที่ดูจะเป็นผู้เฒ่าน่าเบื่อ แสนจะธรรมดาไร้รสชาติ ภาพลักษณ์ออกไปในแนวกลางๆ ค่อนไปทางอนุรักษนิยมนี่แหละครับ ที่กลายเป็นอาวุธชั้นดี

สหรัฐฯ มีภาษิตการเมืองบทหนึ่งว่า “มีแต่นิกสันเท่านั้นที่ไปเมืองจีนได้” (Only Nixon could go to China) ความหมายคือ มีแต่คนที่ฝ่ายอนุรักษนิยมไว้ใจและคิดว่าอยู่ฝั่งเดียวกับตัวเท่านั้น ที่จะสามารถขับเคลื่อนนโยบายที่ก้าวหน้าและน่าตื่นเต้นได้โดยไม่ทำให้เกิดความรู้สึกคุกคามหรือเป็นภัยต่อฝ่ายอนุรักษนิยม

ตอนที่ประธานาธิบดีนิกสันบินไปพบประธานเหมา อันเป็นจุดเริ่มต้นที่สหรัฐฯ คบค้ากับจีนคอมมิวนิสต์ (และเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่สุดของประวัติศาสตร์โลกยุคใหม่) นิกสันทำได้เพราะเขามีชื่อเสียงที่เด่นชัดว่าเป็นคนเกลียดชังคอมมิวนิสต์เข้าไส้ ดังนั้นจึงไม่มีใครตั้งข้อสงสัยว่านิกสันขายชาติหรือไม่ แต่หากสมมติเป็นประธานาธิบดีคนอื่น จะต้องถูกด่าเละแน่นอนว่า ตกเป็นเบี้ยล่างคอมมิวนิสต์ เรื่องนี้ก็คล้ายๆ กับการที่ทรัมป์ไปเจอ คิม จองอึน ได้ แต่ถ้าเป็นโอบามาต้องถูกวิพากษ์เละว่าอ่อนแอและอ่อนข้อให้พี่คิม

พอล ครุกแมน นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ได้กล่าวอย่างตรงไปตรงมาว่า ส่วนหนึ่งที่ไบเดนประสบความสำเร็จในการผลักดันนโยบายที่ก้าวหน้า เป็นเพราะไบเดนเป็นคนผิวขาวที่สูงวัย การเมืองสหรัฐฯ เป็นการเมืองเรื่องอัตลักษณ์ (Identity  Politics) พวกใครพวกมัน เชื่อพวกมากกว่าเชื่อเหตุผล คนผิวขาวและคนสูงวัยเป็นคนกลุ่มอนุรักษนิยมกลุ่มใหญ่ในสหรัฐฯ คนกลุ่มนี้แต่เดิมจะมีความระแวงแคลงใจโอบามา ซึ่งเป็นคนหนุ่มผิวสีที่หัวก้าวหน้าและเปี่ยมด้วยพลัง ดังนั้น การดิสเครดิตนโยบายก้าวหน้าของโอบามาว่ามีจุดหมายซ่อนเร้นเพื่อจะทำลายค่านิยมและกลุ่มผลประโยชน์เก่าของสหรัฐฯ จึงใช้ได้กับคนกลุ่มนี้มาตลอด ในขณะที่ไบเดนไม่มีปัญหานี้ คนผิวขาวและคนสูงวัยไม่ได้รู้สึกว่าไบเดนมีอะไรซ่อนเร้นจะมาคุกคามหรือทำลายประโยชน์ของพวกเขา

ปัจจัยที่สองที่ช่วยให้ไบเดนประสบความสำเร็จก็คือ พรรคการเมืองฝั่งตรงข้ามอย่างพรรครีพับลิกันนับวันยิ่งเอียงไปทางฝั่งขวาจัดและยิ่งดูไม่สนใจเหตุผลทางนโยบาย ทั้งหมดนี้เป็นผลพวงจากการเมืองเชื้อชาตินิยมในช่วง 4 ปี ของทรัมป์ เมื่อพรรครีพับลิกันเอนไปทางขวาจัด ทำให้การต่อต้านนโยบายของไบเดนจากฝั่งรีพับลิกันขาดน้ำหนัก หลายคนมองว่า รีพับลิกันตั้งใจจะขัดขาอย่างเดียวและไม่จำเป็นที่พรรคเดโมแครตต้องประนีประนอมอีกต่อไป

แตกต่างจากในยุคโอบามา สมัยนั้นโอบามาให้ความสำคัญกับการแสวงหาจุดร่วมกับฝั่งการเมืองพรรคตรงข้าม นโยบายก้าวหน้าของโอบามา เช่น แผนสุขภาพถ้วนหน้า สุดท้ายจึงถูกลดทอนความก้าวหน้าลงเพราะการประนีประนอมกับพรรครีพับลิกันและกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ  

ปัจจัยที่สาม ซึ่งต้องเรียกว่าไบเดนแปลงวิกฤตให้เป็นโอกาส นั่นก็คือโควิด ภัยจากโรคระบาดได้สะท้อนความเปราะบางของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นความเหลื่อมล้ำที่สูงมาก  และการขาดความมั่นคงของห่วงโซ่การผลิต ดังเช่นปัญหาขาดแคลนหน้ากากอนามัยและอุปกรณ์การแพทย์ เนื่องจากสหรัฐฯ เลิกผลิตสิ่งเหล่านี้มายาวนาน

ในด้านหนึ่ง ความเดือดร้อนจากโควิดสะเทือนถึงระดับรากหญ้าจริงๆ ตรงนี้ต่างจากวิกฤตการเงินในยุคโอบามา ที่ตอนนั้นเริ่มต้นจากภาคการเงินและคนรวยก่อนที่จะลุกลามมาที่ภาคเศรษฐกิจจริง ทำให้ในสมัยโอบามา หลายคนตั้งคำถามถึงการใช้เงินของรัฐไปอุ้มคนรวย ในขณะที่วิกฤตโควิดรอบนี้ ทุกระดับล้วนสะเทือน ทำให้เกิดความคาดหวังร่วมในสังคมสหรัฐฯ ว่ารัฐบาลต้องพร้อมที่จะใช้เงินมหาศาลในการพยุง ฟื้น และเยียวยาเศรษฐกิจ ไบเดนเองก็จับจุดได้โดยการเน้นที่การสร้างงานและการช่วยเหลือสวัสดิการครอบครัว ดังที่เขาตั้งชื่อแผนการใหญ่สองแผนตรงๆ แบบจับต้องได้ว่า ‘The American Jobs Plan’ และ ‘The American Families Plan’

ในอีกด้านหนึ่ง แผนของไบเดนยังมุ่งลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม และการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์พลังงานสะอาด โดยมีเป้าหมายว่าฐานการผลิตในอุตสาหกรรมเหล่านี้ต้องอยู่ภายในสหรัฐฯ เพื่อประกันความมั่นคงของห่วงโซ่การผลิต โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของชาติหรืออุตสาหกรรมที่จะเป็นหัวใจของความมั่งคั่งของเศรษฐกิจในอนาคต

นำมาสู่ปัจจัยสุดท้ายที่ไบเดนใช้ในการเรียกเสียงสนับสนุน คือ ภาพการแข่งขันกับจีน ในคำแถลงนโยบายต่อที่ประชุมร่วมสภาคองเกรสเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ไบเดนพูดชัดเจนว่า จีนคือคู่แข่งเชิงยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่สุด ไบเดนพยายามสื่อสารกับคนสหรัฐฯ ว่า หากสหรัฐฯ ไม่เดินหน้าสร้าง ไม่เอาอุตสาหกรรมกลับมา ไม่ทำให้ดีขึ้น (Build Back Better) สหรัฐฯ จะแพ้ในศึกชิงมหาอำนาจกับจีน ในการปลุกกระแสของไบเดนนั้น เขาไปถึงระดับที่ว่านี่เป็นเดิมพันอนาคตโลกว่าจะตกอยู่ใต้เสรีนิยมหรืออำนาจนิยม

สำหรับไบเดน สาเหตุที่ต้องรื้อฟื้นยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมที่สังคมสหรัฐฯ เคยทิ้งไปยาวนาน ก็เพราะวันนี้สหรัฐฯ กำลังแข่งกับจีนที่ไม่ได้เล่นอยู่บนฐานของกลไกตลาด ส่วนสาเหตุที่ต้องสร้างความแข็งแกร่งให้กับฐานรากของสังคมสหรัฐฯ ก็เพราะวันนี้สหรัฐฯ กลายเป็นสังคมที่รวย แต่เหลื่อมล้ำ ขณะที่จีนเดินหน้ากำจัดความยากจนจากฐานรากจนเกิดโมเดลจีน ไบเดนพยายามสื่อสารเรียกคะแนนสนับสนุนแผนการใหญ่ทั้งหลายของเขาว่า นี่เป็นเรื่องความเป็นความตายของชาติและโลก ความแตกแยกหายไปเยอะครับเมื่อสองขั้วการเมืองมองเห็นศัตรูร่วมกันคือจีน

สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมสหรัฐฯ ขณะนี้จำเป็นต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะหากไบเดนสามารถผลักดันสามแผนการใหญ่ของเขาได้สำเร็จ และรักษาแรงสนับสนุนในระดับสูงเช่นที่เป็นอยู่ตอนนี้ ย่อมจะมีผลเป็นการปฏิวัติความคิดเศรษฐกิจการเมืองกระแสหลักของโลก และมีผลพลิกโฉมเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในระดับรากฐาน ระดับความกล้าคิดใหญ่ของไบเดนนั้นเทียบได้กับรัฐบุรุษสหรัฐฯ ในอดีตอย่างประธานาธิบดีแฟรงกลิน เดลาโน โรสเวลต์ (FDR) ซึ่งแผนการใหญ่ New Deal ของเขาได้พลิกฟื้นและกำหนดทิศทางสังคมสหรัฐฯ ภายหลังวิกฤตเศรษฐกิจใหญ่ในทศวรรษ 1930

ในขณะเดียวกัน ผมก็อดย้อนมองมาไทยไม่ได้ ภายใต้รัฐที่ดูเหมือนจะล้มเหลวและสังคมไทยที่แตกแยกอย่างหนักในปัจจุบัน ก็อาจเป็นโอกาสให้เกิดฉันทามติร่วมที่จะปฏิวัติฐานคิดด้านเศรษฐกิจการเมืองของสังคมไทย ปัจจัยกดดันรอบด้านของเราก็ครบถ้วน ทั้งวิกฤตเศรษฐกิจใหญ่จากโควิดที่ผลักให้เราต้องคิดการใหญ่ ทั้งความจริงที่ชัดเหลือเกินว่าถ้าเราไม่ปรับทิศทางขนานใหญ่ ต่อไปไทยก็คงจะแพ้เพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม

แต่ที่ยังขาดอย่างเดียวตอนนี้ก็คือ ผู้นำอย่างไบเดน คนที่ทุกฝ่ายศรัทธาและอุ่นใจได้ ในขณะเดียวกันก็หัวก้าวหน้าพอที่จะรู้ว่าถึงเวลาต้องปรับทิศทางประเทศก่อนจะสายเกินไป   

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save