fbpx

แม้พายุโหมกระหน่ำ แต่สุดท้าย ‘สายรุ้ง’ จะปรากฏ: บันทึกนอกเรือนจำจากเพื่อน ‘รุ้ง-ปนัสยา’

58 วัน คือช่วงเวลาที่ รุ้ง – ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล แกนนำราษฎร ผู้ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย ถูกคุมขังอยู่ในทัณฑสถานหญิงกลาง หลังจากถูกสั่งฟ้องในคดีกระทำผิดตามมาตรา 112 จากกรณีการชุมนุม ‘19 กันยา ทวงอำนาจคืนราษฎร’ ที่สนามหลวง

แม้วันนี้รุ้งจะได้อิสรภาพ (ที่มาพร้อมเงื่อนไข) อีกครั้ง แต่หากมองย้อนกลับไปจะพบว่ากว่าเธอจะได้รับอิสรภาพในครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากศาลปฏิเสธการให้ประกันตัวเธออยู่หลายครั้ง โดยให้เหตุผลว่าเกรงจะไปกระทำผิดซ้ำ ด้วยเหตุนี้ทำให้รุ้งตัดสินใจอดอาหารประท้วงเพื่อเรียกร้องสิทธิประกันตัวให้แก่ตัวเอง ตามหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ สะท้อนให้เห็นว่าแม้จะอยู่ในคุก แต่เธอยังยืนหยัดต่อสู้เพื่อสิทธิของตนเอง 

58 วันนอกเรือนจำ เรื่องราวการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของรุ้งก็ดำเนินคู่ขนานไปกับการต่อสู้ที่เกิดขึ้นในเรือนจำเช่นกัน

นับตั้งแต่วันที่รุ้งถูกคุมขัง เหตุการณ์ดังกล่าวเปลี่ยนชีวิตคนรอบข้างเธอไปอย่างเลี่ยงไม่ได้ จากเพื่อนที่เคยสนับสนุนอยู่ด้านหลัง ต้องเปลี่ยนตัวเองมาเป็นแนวหน้าเพื่อเรียกร้องในสิทธิในการประกันตัวของเพื่อน จากอาจารย์ที่เคยแค่สอนหนังสือต้องสลับมารับบทเป็นนายประกันลูกศิษย์ โดยทั้งเพื่อนและอาจารย์ต่างให้เหตุผลอย่างเรียบง่ายว่าการออกมาครั้งนี้คือ ‘หน้าที่’ – เพื่อนต้องออกมาช่วยเพื่อน และอาจารย์ต้องดูแลรับผิดชอบนักศึกษา

101 ชวนอ่านบันทึกการต่อสู้นอกเรือนจำในนามของ รุ้ง-ปนัสยา ซึ่งมีเหล่าเพื่อนสนิทอย่าง บอล – ชนินทร์ วงษ์ศรี และ คิว – ปิยพัทธ์ สาและ จากกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม พร้อมทั้งอาจารย์ที่เคยสอนรุ้ง ผศ.ดร.จันทนี เจริญศรี และ ศิริพร ศรีสินธุ์อุไร เป็นผู้ถ่ายทอดเรื่องราว 

ในวันที่เพื่อนและลูกศิษย์ของเขาไม่ได้รับการประกันตัวตามหลักการที่ควรจะเป็น พวกเขารู้สึกอย่างไรกับสิ่งที่เกิดขึ้น ก่อนจะเดินย้อนไปในความทรงจำ เล่าเรื่องราวของรุ้งในมุมของเพื่อนและอาจารย์ และชวนมองเส้นทางการต่อสู้ต่อจากนี้ของรุ้ง ว่าในฐานะคนที่เฝ้ามองและอยู่เคียงข้าง พวกเขามองอนาคตของรุ้งอย่างไรต่อไป 

 คิว – ปิยพัทธ์ สาและ และ บอล – ชนินทร์ วงษ์ศรี

“มีสำนวนหนึ่งที่รุ้งชอบพูด ‘ที่ใดมีการกดขี่ ที่นั่นมีการต่อสู้’ ฉะนั้นผมเชื่อว่าอย่างไรสักวันการต่อสู้จะกลับมา” 
บอลและคิว – กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม

หากเอ่ยถึงชื่อ รุ้ง-ปนัสยา ภาพแรกที่ปรากฏขึ้นมาในความคิดของใครหลายคน คงเป็นภาพของหญิงสาวสวมเสื้อสีแดงเพลิง ผู้มีสายตาแน่วแน่และน้ำเสียงหนักแน่น เจ้าของปรากฏการณ์ 10 ข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ที่ทลายเพดานการเมืองไทย หลายคนถึงขั้นกล่าวว่าคำปราศรัยแต่ละครั้งของเธอนั้นหาญกล้าและดุดันจนแผ่นฟ้าสะเทือน

แต่สำหรับ บอล – ชนินทร์ วงษ์ศรี และ คิว – ปิยพัทธ์ สาและ สองหนุ่มจากกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม รุ้งคือเพื่อนที่เหมือนเด็กน้อยในบางเวลา คือเพื่อนที่ร้องไห้ได้และเจ็บปวดเป็นไม่ต่างจากมนุษย์ทั่วๆ ไป แต่ในขณะเดียวกันรุ้งก็เป็นเพื่อนที่มีจิตใจกล้าหาญที่สุดเท่าที่พวกเขาเคยเจอมา

“เอาตรงๆ เลยนะ ตอนเจอรุ้งครั้งแรก ผมคิดว่ารุ้งดูเป็นคนหยิ่งและเข้าถึงยาก แต่พอมาทำงานร่วมกันเลยรู้ว่าจริงๆ รุ้งเป็นคนใจดีมาก สิ่งหนึ่งที่ผมประทับใจในตัวรุ้งมากๆ คือรุ้งชอบแบ่งของกินให้เพื่อนและชอบขับรถพาเพื่อนไปหาของกินอร่อยๆ” บอลเล่าย้อนให้ฟังถึงความทรงจำแรกที่มีต่อรุ้ง

บอลและรุ้งรู้จักกันผ่านการทำงานในพรรคการเมืองภายในมหาวิทยาลัยอย่าง ‘พรรคโดมปฏิวัติ’ ก่อนที่ทั้งคู่จะถูกชักชวนจากเพนกวินให้มาร่วมเคลื่อนไหวด้วยกันในนาม ‘สหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.)’ ที่ต่อมาเปลี่ยนเป็นกลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุม เมื่อช่วงเดือนสิงหาคมของปีที่แล้ว 

บอลเล่าว่าช่วงเวลานั้นทำให้เขาและรุ้งสนิทกันมากขึ้น เนื่องจากต้องทำม็อบใหญ่ด้วยกัน เรียกได้ว่ากินอยู่พร้อมกันแทบทุกเวลา ไหนจะต้องประเมินสถานการณ์ร่วมกันแบบวันต่อวัน การทำงานที่เข้มข้นก็ทำให้ความสัมพันธ์ของทั้งคู่สนิทกันมากขึ้น 

ทางด้านของคิว แม้จะเพิ่งรู้จักและทำงานกับรุ้งจริงๆ จังๆ เมื่อช่วงวันที่ 10 สิงหาคม 2563 หรือช่วงที่เกิดม็อบ ‘ธรรมศาสตร์จะไม่ทน’ แต่ด้วยการเคลื่อนไหวที่เข้มข้นขึ้น ก็มีเหตุให้คิวต้องเปลี่ยนหน้าที่ จากเดิมที่เคยเป็นคนดูแลเพนกวิน คิวถูกสลับให้มาดูแลรุ้งแทน ช่วงเวลานี้จึงเป็นเหมือนจุดเปลี่ยนในความสัมพันธ์ของคิวและรุ้ง เมื่อต้องผ่านร้อนผ่านหนาวมาด้วยกัน ทั้งคู่ก็ค่อยๆ กลายมาเป็นบัดดี้ที่ช่วยซัพพอร์ตทั้งเรื่องงานและเรื่องจิตใจ

อย่างที่เกริ่นไว้ในตอนต้น รุ้งในหมวกนักเคลื่อนไหวผู้ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย ดูจะเป็นคนพร้อมลุยพร้อมสู้ตลอดเวลา เรามักจะเห็นเธอยืนปราศรัยอยู่บนเวทีอย่างมั่นใจ ไร้ความประหม่า ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เราอดสงสัยไม่ได้ว่า แล้วรุ้งในยามที่ต้องลงจากเวที เหมือนหรือต่างจากรุ้งในภาพจำของคนส่วนใหญ่อย่างไร 

“สำหรับผม สิ่งที่รุ้งแสดงออกไปบนเวทีคือจุดยืนและอุดมการณ์ที่ชัดเจน แต่ในชีวิตจริง รุ้งก็เหมือนคนปกติทั่วไป ชอบเลี้ยงแมว เป็นสายกิน หรือบางทีก็ชอบพูดอะไรออกมาแล้วทำให้ทุกคนงงว่ารุ้งพูดอะไรวะ อย่างเช่นมีครั้งหนึ่งที่ผมกำลังนั่งอยู่เฉยๆ อยู่ดีๆ รุ้งก็ร้อง ‘ง่าา’ ขึ้นมา ผมก็เอ๊ะอะไรวะ เออบางทีรุ้งมันก็งงดี” สิ้นประโยคบอกเล่าบอลหัวเราะร่วนขัดกับลุคคนพูดน้อย และคิวที่นั่งอยู่ข้างๆ อดไม่ได้ที่จะเสริมบอลขึ้นมาทันที 

“รุ้งเวลาอยู่หน้างานกับอยู่กับเพื่อนนี่ต่างกันเลย เวลาทำงานรุ้งจะเป็นคนเอาจริงเอาจัง กล้าคิด กล้าทำ แต่ขณะเดียวกันก็มีความนิ่งอยู่ในตัว อย่างเวลาที่ต้องไปเจรจากับตำรวจเพื่อให้ปล่อยเพื่อนที่ถูกจับ รุ้งจะเป็นคนไปเจรจาเองตลอด แต่ถ้าอยู่กับเพื่อนรุ้งก็เหมือนเป็นเด็กคนหนึ่ง อย่างที่บอลเล่า รุ้งจะชอบร้อง ‘ง่าา’ หรือบางทีก็ชอบร้อง ‘แหะๆ’ ด้วยความที่เขาชอบการ์ตูนมินเนียนไง ก็จะชอบส่งเสียงให้พวกเรางงกันเป็นประจำ เป็นมุมน่ารักๆ ของเพื่อนที่ต่างออกไปจากมุมทำงาน” 

สำหรับผม สิ่งที่รุ้งแสดงออกไปบนเวทีคือจุดยืนและอุดมการณ์ที่ชัดเจน แต่ในชีวิตจริง รุ้งก็เหมือนคนปกติทั่วไป ชอบเลี้ยงแมว เป็นสายกิน หรือบางทีก็ชอบพูดอะไรออกมาแล้วทำให้ทุกคนงงว่ารุ้งพูดอะไรวะ (หัวเราะ) เออบางทีรุ้งมันก็งงดี”

“พูดถึงเรื่องกล้าไปแล้ว แต่ขึ้นชื่อว่าเป็นคนย่อมต้องมีสิ่งที่กลัว แล้วรุ้งล่ะ กลัวอะไรบ้างไหม” เราถาม

“มี รุ้งกลัวว่าจะต้องกลับเข้าไปใช้ชีวิตในเรือนจำอีกรอบ” แม้คิวจะตอบด้วยน้ำเสียงนิ่งเรียบแต่แววตาของเขาวูบไหว 

อย่างที่ทราบกันดีว่าเหตุการณ์ครั้งนี้เป็นการถูกคุมขังครั้งที่สองในชีวิตของรุ้ง และยังกินระยะเวลานานกว่า 2 เดือน หญิงสาววัย 20 ต้นๆ ต้องเผชิญกับการถูกจำกัดอิสรภาพถึงสองครั้งสองคราเพียงเพราะเธอพูดในสิ่งที่เธอคิดและเชื่อ สำหรับรุ้ง เธอไม่ได้เข้าไปอยู่ในเรือนจำในฐานะนักโทษ แต่อยู่เพื่อต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตย ถึงอย่างนั้นก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าช่วงเวลาที่รุ้งไม่ได้เห็นแสงเดือนแสงตะวันก็ฝากบาดแผลไว้ในใจเธอเช่นกัน

“หลังออกจากคุกรอบแรก รุ้งจะมาเล่าให้เพื่อนฟังบ่อยๆ ว่าฝันร้ายอีกแล้ว รุ้งเคยบอกว่าเขากลัวที่จะต้องกลับเข้าไปอยู่ในเรือนจำ เขาไม่อยากนอนร้องไห้คนเดียวอีกแล้ว และรุ้งก็เป็นห่วงเพื่อนที่อยู่ข้างนอกมากว่าถ้าต้องเข้าไปในเรือนจำอีกรอบ เพื่อนๆ จะทำงานกันอย่างไร เขากลัวว่าเพื่อนจะไปต่อกันไม่ได้” คิวเล่า 

ด้านบอลเองก็คิดคล้ายกัน เขาเล่าให้ฟังว่านี่เป็นครั้งแรกๆ ที่สัมผัสได้ถึงความกังวลของเพื่อน “รุ้งมีความกลัวอย่างชัดเจน พวกเราก็พยายามปลอบเพราะไม่อยากให้เพื่อนเครียดมาก แต่ถึงรุ้งจะเจออะไรต่างๆ มามากมาย รุ้งก็ยังยืนหยัดและยืนยันที่จะสู้ต่อไป เป็นเรื่องที่ผมนับถือและประทับใจในตัวรุ้งมาก” 

8 มีนาคม 2564 คือวันแรกที่รุ้งถูกควบคุมตัว ณ ทัณฑสถานหญิงกลาง ภายหลังจากที่อัยการสั่งฟ้องคดีม็อบ ‘19กันยา ทวงอำนาจคืนราษฎร’ จากการชุมนุมเมื่อวันที่ 19-20 กันยายน 2563 ในข้อหากระทำผิดตามกฎหมายอาญามาตรา 112 ก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวชั่วคราว แม้ครั้งนี้จะไม่ใช่การเข้าไปอยู่ในเรือนจำครั้งแรกของรุ้ง แต่ในฐานะเพื่อนก็อดเป็นห่วงไม่ได้ และยิ่งทวีคูณความเป็นห่วงขึ้นไปอีก เมื่อรุ้งประกาศอดอาหารร่วมกันกับเพนกวินเพื่อเรียกร้องสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราว

“ด้วยความที่รุ้งเป็นคนชอบกินมาตลอด พอเขาต้องมาอดอาหารแบบนี้ ผมอดห่วงไม่ได้เลย ตอนแรกผมไม่เข้าใจเลยว่าทำไมเขาต้องอดอาหารด้วย แต่พอเขาส่งจดหมายกลับมาว่าต้องทำเพื่ออุดมการณ์ เขาอยากให้ภาครัฐรู้ว่าเขายอมแม้กระทั่งการอดอาหารเลยนะ พอเข้าพูดอย่างนี้ เราก็เลยเข้าใจและคอยสนับสนุนให้กำลังใจ” คิวกล่าว 

ก่อนที่บอลจะเสริมต่อว่า “ถ้าถามใจของผม ลึกๆ แล้วผมอยากให้เขาเลิกอดอาหาร เพราะผมเป็นห่วง ไม่ได้เป็นห่วงธรรมดา แต่ผมเป็นห่วงเขามาก แค่เข้าไปอยู่ในนั้นก็ลำบากอยู่แล้ว และเพื่อนยังมาอดอาหารอีกมันจะขนาดไหนกันวะ ผมเคยบอกเพื่อนนะว่าให้หยุด แต่เพื่อนก็ไม่ฟัง (หัวเราะ) เพื่อนตอบผมกลับมาว่ามันคือการต่อสู้ เพื่อนต้องทำ ผมก็ต้องเคารพสิทธิเขา โอเค ถ้าเพื่อนอยากจะสู้ด้วยวิธีนี้ เราก็จะให้เพื่อนสู้ ส่วนพวกผมที่อยู่ข้างนอกก็จะสู้เพื่อช่วยให้เพื่อนได้ออกมาเหมือนกัน” 

กิจกรรม ‘อยู่หยุดขัง’ บริเวณหน้าศาลฎีกา

คำกล่าวข้างต้นของบอลไม่ใช่คำกล่าวเกินจริง เมื่อกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมประกาศกิจกรรม ‘อยู่หยุดขัง’ ปักหลักค้างคืนหน้าศาลฎีกาเพื่อเรียกร้องสิทธิการประตัวให้แก่ผู้ต้องขังคดีทางการเมือง แน่นอนว่าทั้งบอลและคิวเองก็เป็นสองมิตรสหายที่ร่วมปักหลักกางเต็นท์ กิน-นอน-เรียน ท้าลมท้าฝนและท้ายุง? (สองสมาชิกแนวร่วม มธ. แอบกระซิบให้เราฟังว่ายุงบริเวณหน้าศาลฎีกาดุมาก ชนิดที่ว่ายากันยุงยี่ห้อไหนก็เอาไม่อยู่) เพื่อเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวเพื่อนของพวกเขาชั่วคราว น่าสนใจว่าอะไรคือแรงผลักดันที่ทำให้เหล่าเพื่อนสายซัพพอร์ตที่เดิมเคยทำหน้าที่ช่วยเหลืออยู่ข้างๆ มาวันนี้พวกเขากลับกล้าลุกขึ้นมาเปิดหน้าสู้ด้วยตัวเอง 

ทั้งคู่หยุดคิดสักพัก ก่อนที่คิวจะพูดขึ้นมา “มีอยู่ครั้งหนึ่งที่พวกผมติดต่อทนายสิทธิฯ เพื่อฝากข้อความไปหาเพนกวิน ผมยังจำคำพูดที่กวินฝากทนายตอบกลับมาได้อยู่เลยว่า ‘ต้องรอให้กูตายก่อนเหรอ มึงถึงจะออกมาทำอะไร’ ประโยคนั้นจากกวินเหมือนเรียกสติผมกลับมา เออ เราไม่อยากให้เพื่อนเป็นอะไรไปในเรือนจำ แค่เพื่อนอดอาหารเรายังกังวลขนาดนี้ ถ้าเพื่อนต้องมาเป็นอะไรไปอีก เรารับไม่ได้แน่ เราอยากให้เพื่อนออกมาต่อสู้ร่วมกันกับเรา เพื่อนเราไม่ควรต้องอยู่ข้างในนั้น ถึงเวลาที่พวกเราต้องออกมาทำอะไรสักอย่างแล้ว ฉะนั้นอะไรที่เราทำได้ เราก็จะทำ”  

แม้แรงปรารถนาที่ต้องการช่วยเพื่อนจะรุนแรงและมีพลังมากเกินกว่าที่ใครจะคาดคิด แต่จะมีพลังมากเพียงพอที่จะเอาชนะความกลัวในจิตใจได้หรือไม่ เมื่อคู่ตรงข้ามของพวกเขาขึ้นชื่อได้ว่าเป็น ‘รัฐ’ ที่มีทั้งอำนาจ กฎหมาย ปืน และกองกำลังอยู่ในมือ สำหรับประเด็นนี้ บอลมีคำตอบให้กับเรา 

“เมื่อก่อนผมกลัวนะ กลัวมาก ในรัฐที่มีเรื่องอุ้มฆ่าคนมาแล้ว เราก็กลัวว่าสิ่งนี้จะเกิดขึ้นกับเราหรือเพื่อนเราเหมือนกัน

“แต่มีเรื่องหนึ่งที่ย้อนคิดไปทีไร ผมก็ยังโกรธตัวเองและเสียดายอยู่ทุกที คือช่วงเหตุการณ์ก่อนหน้าวันที่ 10 สิงหาคม ผมจำได้เลยว่าวันนั้นรุ้งมาชวนผมขึ้นปราศรัยเรื่องงบสถาบันฯ เพราะผมเองก็ศึกษาเรื่องนี้มาพอสมควร แต่ผมปฏิเสธรุ้งไปเพราะผมไม่กล้า แต่รุ้งดันกล้า ซึ่งตอนนั้นคนที่ขึ้นปราศรัยก็มีแค่เพนกวิน ทนายอานนท์ ไมค์ และณัฐชนน ช่วงนั้นทุกคนก็โดนกดดันจากอะไรหลายๆ อย่าง เหตุการณ์นี้ยังติดอยู่ในใจผม ผมรู้สึกว่าอย่างน้อยๆ ถ้าเราไปปราศรัย หรือทำอะไรสักอย่างในตอนนั้น เพื่อนก็คงรู้สึกว่ามีคนร่วมสู้ไปด้วยกัน ผมเสียดายที่วันนั้นไม่ได้ร่วมสู้กับเพื่อน

“มาวันนี้เพื่อนที่เคยอยู่แนวหน้าโดนจับไปหมดแล้ว ไหนจะการระบาดของโควิดอีกที่ทำให้เรามีข้อจำกัดหลายอย่าง กระแสข่าวการเมืองก็เริ่มเงียบ การเคลื่อนไหวก็เริ่มน้อย ผมว่าก็ต้องเป็นพวกผมแล้วที่ต้องออกมาทำอะไรสักอย่างเพื่อกดดันผู้มีอำนาจ มันอาจจะช่วยอะไรไม่ได้มาก แต่ผมเชื่อว่าไม่มากก็น้อย สิ่งที่พวกเราทำต้องมีผลบ้าง และที่สำคัญที่สุด เราอยากให้เพื่อนที่อยู่ข้างในได้รับรู้ว่าคนที่อยู่ข้างนอกยังสู้อยู่ นี่คือความตั้งใจที่ทำให้เราออกมาเคลื่อนไหวในครั้งนี้”

6 พฤษภาคม ปี 2564 รุ้งได้รับอิสรภาพอีกครั้ง หลังจากที่ศาลอาญารัชดาฯ มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว การยื่นขอประกันตัวในครั้งนี้นับได้ว่าเป็นความพยายามครั้งที่ 6 ไม่ต่างจากผู้ต้องขังคดีทางการเมืองคนอื่นๆ เส้นทางการยื่นขอประกันตัวของรุ้งต้องผ่านความพยายามอยู่หลายครั้งหลายหน 

การคุมขังรุ้งในครั้งนี้เป็นการคุมขังระหว่างการพิจารณาคดี ซึ่งหากว่ากันตามหลักการแล้ว เธอย่อมมีสิทธิที่จะได้รับการประกันตัว แต่เหตุใดรุ้งรวมถึงผู้ต้องขังคดีทางการเมืองคนอื่นๆ ถึงไม่สามารถใช้สิทธิที่ตัวเองมีได้ จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ หากสังคมจะตั้งคำถามต่อกระบวนการยุติธรรมไทย แน่นอนว่าชายหนุ่มสองคนตรงหน้าเราก็เช่นกัน 

“กระบวนการยุติธรรมไทยในตอนนี้ขาดความน่าเชื่อถือ” บอลบอกกับเราอย่างตรงไปตรงมา

“ในมาตราเดียวกัน ศาลบางที่ให้ประกันตัว ศาลบางที่ไม่ให้ประกันตัว บางที่มีเงื่อนไข บางที่ไม่มีเงื่อนไข อย่างรุ้งกับเพนกวินไม่ได้มีท่าทีที่จะยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน ไม่ได้มีท่าทีว่าจะหลบหนี มีแหล่งที่อยู่อาศัยชัดเจน แถมทั้งคู่ยังยืนยันว่าจะต่อสู้อยู่ที่นี่ แต่ศาลกลับบอกว่าไม่อนุญาตให้ประกันตัวเพราะกลัวจะไปกระทำความผิดซ้ำ ถ้าพูดอย่างนี้แปลว่าศาลตัดสินไปแล้วใช่หรือไม่ ซึ่งไม่ถูกต้องตามหลักการ ผมมองว่ากระบวนการยุติธรรมไทยในวันนี้ไม่ยุติธรรมเลย”

แม้วันนี้รุ้งจะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวแล้วก็ตาม แต่ก็ยังเป็นการปล่อยตัวพร้อมเงื่อนไข นั่นหมายความว่าอิสรภาพบางอย่างของเธอจะต้องถูกจำกัดอย่างเลี่ยงไม่ได้ ดูท่าว่าสำหรับประเทศนี้ การลุกขึ้นมาพูดความจริงมีราคาที่ต้องจ่าย 

ในฐานะเพื่อนที่อยู่ข้างๆ ผู้คอยรับฟังและแลกเปลี่ยนความฝันด้วยกันมาโดยตลอด คิดเห็นอย่างไรกับราคาที่เพื่อนของเขาต้องจ่ายเพื่อแลกกับการได้เห็นประเทศนี้ดีขึ้น

“แพงมาก ราคาที่เพื่อนผมต้องจ่ายในการออกมาพูดในสิ่งที่พวกเขาคิดมีราคาที่แพงมากๆ

“เพื่อนต้องเสียความเป็นส่วนตัวและกลายมาเป็นบุคคลสาธารณะ เพื่อนต้องถูกจองจำ สูญเสียอิสรภาพ อยากกินอะไรก็ไม่ได้กิน อยากอ่านหนังสือก็ไม่ได้อ่าน อยากเจอใครก็ไม่ได้เจอ ไม่ได้เจอหน้าเพื่อน ไม่แม้แต่ได้เจอหน้าครอบครัว ทั้งๆ ที่สิ่งเหล่านี้คือความสุขของเพื่อนแต่เพื่อนก็ทำไม่ได้อีกแล้ว ไหนจะเรื่องการศึกษาอีก ทั้งรุ้งและเพนกวินมีความฝันอยากศึกษาต่อในด้านต่างๆ ที่ตัวเองสนใจ อย่างเพนกวินสนใจเรื่องล้านนาศึกษา รุ้งสนใจเรื่องสังคมวิทยา แต่เพื่อนผมต้องเสียเวลาไป 2 เทอมจากการถูกขังอยู่ในเรือนจำ สิ่งเหล่านี้ เวลาที่เสียไป อิสรภาพที่เสียไป มันประเมินค่าไม่ได้ แต่เพื่อนผมยอมจ่าย เพราะสิ่งนี้ก็เป็นความฝันของเพื่อนเหมือนกัน” บอลกล่าว 

มีสำนวนหนึ่งที่รุ้งชอบพูด ‘ที่ใดมีการกดขี่ ที่นั้นมีการต่อสู้’

ถึงจะเป็นความฝันของเพื่อน แต่คนในความจริงอย่างพวกเขาที่เห็นทั้งวันที่รุ้งลุกและล้ม สัมผัสได้ถึงวันที่เธอเปล่งประกายและวันที่ใจเธอมืดหม่นลง รับรู้ถึงแรงกดดันและความเจ็บปวดมหาศาลที่รุ้งต้องเผชิญตลอดการเคลื่อนไหวในช่วงระยะเวลาครึ่งปีที่ผ่านมา เหมือนที่บอลบอกกับเราไว้ข้างต้นว่าราคาที่เพื่อนเขาต้องจ่ายเพื่อความฝันมีราคาแพงเหลือเกิน เช่นนั้นเคยมีสักครั้งไหมที่พวกเขาอยากขอให้เพื่อนหยุดในสิ่งที่ทำอยู่ 

ไม่มีการหยุดคิด บอลตอบกลับมาทันที “ผมไม่เคยคิดขอให้เพื่อนหยุด เพราะผมรู้ว่านี่คือความฝันของเพื่อนและมันก็เป็นความฝันของผมเหมือนกัน สิ่งนี้คือสิ่งที่ทำให้เราได้มาเจอกัน ถ้าผมบอกให้เพื่อนหยุด ผมคงโดนมันด่า (หัวเราะ) แต่ส่วนใหญ่จะเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัยมากกว่า เพราะถ้าเป็นเรื่องอุดมการณ์ทุกคนพร้อมซัพพอร์ตกันอยู่แล้ว” 

มาถึงช่วงท้ายของการสนทนา เราถามบอลและคิวว่าเคยคิดบ้างไหมว่ารุ้งและเพนกวินจะเดินทางมาไกลขนาดนี้ ทั้งสองคนตอบอย่างพร้อมเพรียงว่าไม่เคยคาดคิดมาก่อน ทั้งคู่ยอมรับว่ามีหลายเหตุการณ์ที่พวกเขาเองก็ตั้งตัวไม่ทันเหมือนกัน แต่อย่างไรก็ตามทุกคนในกลุ่มแนวร่วม มธ. ต่างเชื่อมาโดยตลอดว่าสักวันสิ่งที่เคยพูดไม่ได้ต้องพูดได้ สักวันจะต้องมีการพูดถึงการยกเลิกมาตรา 112 แต่ก็ไม่คิดว่าวันนั้นจะมาถึงเร็วขนาดนี้ ซึ่งสำหรับพวกเขาแล้วนี่ถือเป็นปรากฏการณ์ที่ดี 

เราเลยถามต่อไปว่า ทั้งในฐานะเพื่อนและคนร่วมอุดมการณ์เดียวกัน พวกเขามองเส้นทางการต่อสู้ของรุ้งต่อจากนี้ไปอย่างไร เพราะเริ่มมีหลายความคิดเห็นออกมาบอกว่าม็อบแผ่วแล้ว ยิ่งเฉพาะในสถานการณ์ช่วงหลังๆ ที่เหล่านักเคลื่อนไหวทางการเมืองต่างโดนสั่งฟ้องรายวัน หลายหนก็ไม่ได้รับสิทธิประกันตัว จนบางคนพูดว่านี่อาจจะเป็นบทสรุปของการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนรุ่นใหม่ในยุคนี้

คิวยกให้บอลเป็นคนตอบเรื่องนี้  “พวกเราเตรียมใจไว้แล้วว่าคงไม่ได้มีทุกช่วงที่เราจะระดมคนออกมาได้เยอะ ทั้งเพื่อนและผมต่างมองเป็นเกมยาว เพราะถ้าเราย้อนไปดูประวัติศาสตร์การเมืองของแต่ละประเทศ อย่างประเทศในฝั่งตะวันตกที่มีสิทธิเสรีภาพและมีระบบสวัสดิการที่ดี ก็ไม่ได้ต่อสู้กันระยะเวลาสั้นๆ พวกเขาสู้มาเป็นสิบปี บางที่สู้มาเป็นร้อยปีก็มี แต่สุดท้ายเขาก็ชนะ ผมมองว่ามันเป็นพลวัตทางสังคม ไม่ว่าอย่างไรสักวันความฝันของเราจะเป็นจริง แต่ขึ้นอยู่กับว่าจะช้าจะเร็วแค่นั้นเอง 

มีสำนวนหนึ่งที่รุ้งชอบพูด ‘ที่ใดมีการกดขี่ ที่นั้นมีการต่อสู้’ เราเห็นความอยุติธรรม เราเห็นว่าสังคมของเราเละเทะแค่ไหน เราเห็นว่าโครงสร้างบ้านเราบิดเบี้ยวมากแค่ไหน ซึ่งไม่ใช่แค่พวกเราเห็น แต่ประชาชนคนอื่นก็เห็นเหมือนกัน มวลชนเห็นด้วยกับเราเยอะมาก แต่เขาแค่รอจังหวะ ฉะนั้นผมเชื่อว่าอย่างไรสักวันการต่อสู้จะกลับมาอีกครั้ง” 

ก่อนที่จะไปถึงวันนั้น เราชวนทั้งคู่นึกถึงวันที่รุ้งและเพนกวินออกมาจากเรือนจำ อะไรคือสิ่งแรกที่พวกเขาอยากขอให้เพื่อนๆ ทำ หลังจากที่ได้รับอิสรภาพอีกครั้งในรอบหลายเดือน 

คิวบอกด้วยน้ำเสียงอันห่วงใยว่า “อยากให้เพื่อนรักษาตัวก่อน แต่จริงๆ สองคนนี้มีแพลนเที่ยวเยอะอยู่แล้ว อย่างเพนกวินอยากไปทัวร์เหนือ มันเป็นเด็กล้านนาไง กวินบอกผมว่าถ้าได้ออกไปจะพาผมกับรุ้งไปเที่ยวลำปาง ส่วนรุ้งนี่อยากไปภูเก็ต ไปเที่ยวทะเล” 

ด้านบอลเองก็คิดคล้ายกันกับคิว เขาอยากให้เพื่อนทั้งสองคนรักษาตัวให้ร่างกายแข็งแรง เพราะทั้งรุ้งและเพนกวินต่างอดอาหารมานานเกินกว่าที่คนจะรับไหว และถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้ทั้งคู่ได้ไปเที่ยวพักผ่อน เพราะเพื่อนผ่านเรื่องหนักๆ มาเยอะมาก

“อยากให้เขาได้พัก แต่ถ้าอยากมาสู้ร่วมกันต่อก็ไม่ขัด (หัวเราะ) แต่นั่นแหละ อยากให้เพื่อนดูแลสุขภาพของตัวเองให้แข็งแรงก่อน แล้วค่อยกลับมาต่อสู้กันต่อ เพื่ออุดมการณ์และความฝันของเราจะได้เป็นจริง”

“รุ้งคือสัญลักษณ์ของความหวังหลังผ่านเรื่องเลวร้าย”
– จันทนี เจริญศรี

ตลอดระยะเวลากว่า 58 วันของการคุมขัง และการยื่นประกันทั้งหมดร่วม 6 ครั้งก่อนรุ้งจะได้รับการประกันตัว ผศ.ดร.จันทนี เจริญศรี คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอาจารย์ประจำวิชา ‘ทฤษฎีสังคมวิทยา’  วิชาบังคับของนักศึกษาชั้นปีที่ 3 หลักสูตรวิจัยทางสังคม คือหนึ่งในอาจารย์ที่ยื่นอุทธรณ์คำสั่งขอประกันตัวรุ้งครั้งที่ 2 ในวันที่ 12 มีนาคม 2564 

แน่นอนว่าสิทธิในการประกันตัวคือสิทธิที่ผู้ถูกกล่าวต้องได้รับอย่างเสมอหน้า แต่ยิ่งไปกว่านั้น อีกเหตุผลที่เธอตัดสินใจออกมาเป็นนายประกันของรุ้งนั้น “ตรงไปตรงมา” และ “เป็นหน้าที่ของอาจารย์ที่ไม่มีเหตุผลให้ปฏิเสธ” คือ นักศึกษาต้องได้รับสิทธิในการเข้าถึงการศึกษา ไม่เช่นนั้นจะส่งผลเสียหายอย่างร้ายแรงต่อการเรียน

ก่อนหน้าที่รุ้งจะถูกจับกุมในช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ในฐานะคณบดีของคณะที่มีนักศึกษาออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง จันทนีดูแลรุ้งอยู่ห่างๆ ตามความเหมาะสมต่อสถานการณ์การเคลื่อนไหว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการเรียน ครั้งแรกที่รุ้งถูกคุมขังในเดือนตุลาคม 2563 จากข้อกล่าวหาการชุมนุม ‘ธรรมศาสตร์จะไม่ทน’ ในวันที่ 10 สิงหาคม 2563 เธอก็ไปเยี่ยมรุ้งร่วมกับอาจารย์จากคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา และนำหนังสือเรียนไปฝาก หรือคอยติดตามประสานงานอาจารย์ประจำวิชาที่รุ้งลงทะเบียนเรียนไว้ จนกระทั่งได้สอนรุ้งในวิชาทฤษฎีสังคมวิทยาในภาคเรียนที่ 2 แม้จะเป็นการเรียนออนไลน์และเป็นเพียงเวลาไม่นานนักก่อนจะถูกจับกุมอีกครั้ง 

แม้เธอจะไม่ได้ใกล้ชิดกับรุ้งมากนัก แต่เท่าที่จันทนีได้สัมผัส รุ้งเป็นคนตรงไปตรงมา มีวุฒิภาวะ สุภาพ มีความมุ่งมั่นในการเรียนและสนใจในสิ่งที่เรียน “เวลาเจอกัน รุ้งจะบอกตลอดว่าอยากเรียน”

เมื่อเปิดคลาสเรียนทฤษฎีสังคมวิทยา ปัญหาสังคมร่วมสมัยคือประเด็นที่ชั้นเรียนอภิปรายร่วมกัน โดยประเด็นที่มักพูดคุยกันมากคือสาเหตุของอารมณ์ความรู้สึกหมดหวังต่ออนาคตของเยาวชนคนรุ่นใหม่ รุ้งมักจะนำประสบการณ์จากการเคลื่อนไหวทางการเมืองมาแลกเปลี่ยนเชื่อมโยงกับปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ารุ้งเป็นคนที่มองเห็นและสนใจปัญหาเชิงโครงสร้าง 

“พอเห็นคนที่ทุกข์ยากเดือดร้อน รุ้งไม่ได้มองว่าเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคลหรือคุณสมบัติส่วนตัว แต่รุ้งสามารถเชื่อมโยงสิ่งที่เกิดขึ้นกับปัจเจกเข้ากับเงื่อนไขทางสังคมได้” จันทนีเล่าถึงวิธีมองโลกของรุ้งจากที่เห็นในห้องเรียน

นอกจากจะสามารถเชื่อมโลกจริงสู่โลกความรู้ได้แล้ว จันทนียังเห็นว่ารุ้งยังเป็นนักกิจกรรมที่นำความรู้ที่ได้จากการเรียน-อ่านไปใช้ทำกิจกรรมได้ดี

“รอบแรกที่รุ้งถูกคุมขังได้เอาหนังสือไปให้ ต่อมาก็ทราบจากทนายว่า รุ้งอ่านหนังสือ ‘สังคมวิทยา: ความรู้ฉบับพกพา’ จนจบ แล้วก็เล่าผ่านทนายมาว่าสนใจอาชญาวิทยา รุ้งตั้งคำถามทันทีเลยว่า สิทธิของผู้ต้องขังคืออะไร สภาพในเรือนจำเป็นอย่างที่ควรจะเป็นไหม หรือในเรือนจำควรต้องเป็นการฟื้นฟูหรือลงโทษ”

แต่เวลาผ่านไปได้ไม่นาน รุ้งก็ถูกคุมขังชั่วคราวอีกครั้งจากข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 ในช่วงกลางภาคเรียนที่ 2

จันทนีมองว่า การถูกฟ้องด้วยกฎหมายมาตราดังกล่าวเป็นเรื่องที่น่าหนักใจและน่ากังวลมาก เพราะคดี 112 เป็นคดีที่มีปัญหาในทางปฏิบัติหลายอย่าง ผู้ถูกกล่าวหาอาจไม่ได้รับสิทธิตามที่ควรได้ อาจไม่ได้ต่อสู้ด้วยหลักฐานและหลักการเหมือนคดีอื่นๆ 

หลังจากศาลปฏิเสธการยื่นประกันตัวรุ้งครั้งแรกพร้อมให้เหตุผลต่อครอบครัวของรุ้งว่า หลักฐานที่ครอบครัวยื่นประกันไม่หนักแน่นพอว่า การไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจะส่งผลเสียอย่างร้ายแรงต่อการศึกษา ทนายจึงติดต่อมาทางคณะให้ประสานอาจารย์ประจำวิชาอีก 4 ท่านของรุ้งเพื่อยืนยันหลักฐานเกี่ยวกับการเรียน ซึ่งสัปดาห์นั้นเป็นสัปดาห์สอบกลางภาค “ถ้ารุ้งไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว หมายความว่ารุ้งจะไม่ได้มาสอบ” 

แต่เมื่อจันทนีและอาจารย์ประจำวิชายื่นคำร้องแล้ว ศาลกลับปฏิเสธการปล่อยตัวชั่วคราวอีกครั้ง

“ทั้งๆ ที่ครั้งแรก ศาลให้เหตุผลว่าไม่มีเหตุผลหนักแน่นว่าจะส่งผลร้ายแรงต่อการเรียน เราก็ไปยื่นหลักฐานตามที่ศาลร้องขอ ปรากฏว่าใช้เวลาพิจารณาตั้งแต่ 9 โมงเช้า รอจนถึง 5 โมงเย็น คำตอบที่ได้คือประโยคเดียว ‘ไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่ง’ เรารู้สึกว่าไม่ได้คำตอบที่ชัดเจน แล้วเหตุผลครั้งที่แล้วที่ศาลให้มาหมายความว่าอย่างไร”

ทั้งๆ ที่ครั้งแรก ศาลให้เหตุผลว่าไม่มีเหตุผลหนักแน่นว่าจะส่งผลร้ายแรงต่อการเรียน เราก็ไปยื่นหลักฐานตามที่ศาลร้องขอ ปรากฏว่าใช้เวลาพิจารณาตั้งแต่ 9 โมงเช้า รอจนถึง 5 โมงเย็น คำตอบที่ได้คือประโยคเดียว ‘ไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่ง’ เรารู้สึกว่าไม่ได้คำตอบที่ชัดเจน แล้วเหตุผลครั้งที่แล้วที่ศาลให้มาหมายความว่าอย่างไร

อีกทั้งการปฏิเสธการปล่อยตัวชั่วคราวครั้งแล้วครั้งเล่าที่ตามมา ยังทำให้จันทนีรู้สึกว่า ‘เหมือนกำลังสื่อสารกับกำแพง’ และตั้งคำถามต่อท่าทีของศาลที่ไม่เป็นไปตามหลักสิทธิของผู้ถูกล่าวหา

สำหรับจันทนี ในช่วงที่สังคมมีความขัดแย้งและการต่อสู้ทางความคิดอย่างรุนแรง ยิ่งกว่าการที่อาจารย์ออกมาดูแลนักศึกษาอย่างสุดความสามารถตามจรรยาบรรณแล้ว การยืนยันในสิทธิการประกันตัวที่นักศึกษาต้องได้รับไม่ต่างจากทุกคนคือสิ่งสำคัญ 

“หลักการสิทธิพื้นฐานที่แน่ชัดจะเป็นหลักว่าขอบเขตอยู่ตรงไหน การที่ทุกคนมีหลักเดียวกัน อยู่ภายใต้สิทธิและกฎหมายที่บังคับใช้เสมอหน้ากันคือทางเดียวที่จะก้าวผ่านความขัดแย้งไปได้”

ตลอดเวลาที่คอยมองเส้นทางการต่อสู้ทางการเมืองของรุ้ง จันทนีมองว่าสิ่งที่รุ้งออกมาทำนั้นคือความกล้าหาญที่น่านับถือ 

“เรารู้สึกว่ารุ้งคือนักอุดมคติ คนที่ไม่เชื่อว่าโลกและสังคมดีกว่านี้ได้จะไม่ทุ่มเทขนาดนี้ เราคงเห็นแล้วว่าราคาที่รุ้งต้องจ่ายไม่ได้น้อยเลย รุ้งต้องมีความหวังและเชื่อว่ามันจะเป็นจริงได้ถึงลงทุนลงแรงขนาดนี้”

แต่ในขณะเดียวกัน หากลองถอยออกมามองภาพกว้าง จันทนีก็มองว่าสิ่งที่รุ้งออกมาพูดคือตัวแทนความรู้สึกนึกคิดของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง

“รุ้งทุ่มเทมาก ทั้งๆ ที่เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของรุ้งคนเดียว หากกล่าวว่าปัญหาที่เกิดขึ้นคือปัญหาเชิงโครงสร้าง มันคือสิ่งที่ไม่มีใครแก้ได้ด้วยตัวคนเดียว อยากให้มองว่าความเป็นไปได้ในการเปลี่ยนแปลงไม่ได้อยู่ที่รุ้งเท่านั้น

“เราคิดว่าสังคมไทยอาจต้องเรียนรู้ว่าความเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องธรรมดา เราน่าจะเปิดใจทำความเข้าใจความคิดของคนรุ่นใหม่ว่าทำไมเขาถึงเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงมากกว่าที่จะมองว่าเขาเป็นศัตรูหรือกำลังล้มล้างสิ่งที่ผู้ใหญ่เชื่อ  

“สิ่งที่รุ้งและเพื่อนนักศึกษายืนยันมาตลอดคือสันติวิธี ยืนยันว่าเป็นการต่อสู้ทางความคิด และยืนยันที่จะไม่ใช้ความรุนแรง ทำไมเราไม่เปิดใจแล้วมานั่งฟัง สังคมเป็นของทุกคน ทุกคนมีส่วนร่วมที่จะบอกได้ว่าอยากให้สังคมออกมาเป็นอย่างไร และจะอยู่ร่วมกันอย่างไร”

แต่สุดท้าย ภายใต้ความกล้าหาญและความซื่อตรง จันทนีมองเห็นความสดใสในตัวรุ้ง

“รุ้งเป็นคนที่เหมือนรุ้งสมชื่อ เห็นรุ้งแล้วจะมีเสียงเพลง Somewhere Over the Rainbow เป็นความสดใสที่ดังแว่วขึ้นมาเลย รุ้งคือสัญลักษณ์ของความหวังหลังผ่านเรื่องเลวร้ายต่างๆ” 

“ความกล้าหาญ ความมุ่งมั่น และความหนักแน่นของรุ้ง
ไม่เคยเปลี่ยนแปลง” – ศิริพร ศรีสินธุ์อุไร

แม้จะมีโอกาสสอนรุ้งเป็นเวลาไม่นานนักในครึ่งหลังของวิชา ‘การจัดระเบียบทางสังคม’ (Social Organization) วิชาบังคับของนักศึกษาชั้นปีที่ 3 ในภาคเรียนที่ 1 และช่วงเวลาที่สอนยังตรงกับช่วงที่กระแสการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่กำลังทะยานสู่จุด ‘พีก’ แต่ ศิริพร ศรีสินธุ์อุไร อาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์และมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็เป็นหนึ่งในอาจารย์ที่คอยมองเส้นทางการเติบโตของรุ้งอย่างห่วงใยตลอดมา

ศิริพรเล่าว่า ก่อนที่จะได้พบกับรุ้งด้วยตัวเอง เธอรู้จักรุ้งผ่านบทบาทแกนนำแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมไม่ต่างจากสาธารณชน และผ่านคนรอบตัว 

“จริงๆ รู้จักรุ้งแค่ชื่อก่อน แต่ยังไม่ทราบว่าเป็นนักศึกษาในชั้นเรียน และยังไม่ทราบว่าเป็นนักศึกษาที่คณะด้วย

“จากที่ได้ฟังคลิปสัมภาษณ์ตามประสาคนที่อยากเข้าใจคนรุ่นใหม่ ก็เห็นว่ารุ้งมีความคิดอ่านที่ก้าวหน้า และเข้มแข็งมาก มีความห่วงใยเพื่อนมนุษย์ที่เดือดร้อน อยากแก้ไขปัญหาหรือมีส่วนในการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น” 

จนกระทั่งรุ้งถูกจับกุมตัวครั้งแรกในวันที่ 15 ตุลาคม 2563 จากข้อกล่าวหาการชุมนุม ‘ธรรมศาสตร์จะไม่ทน’  เพื่อนๆ ของรุ้งในชั้นเรียนเริ่มมาขอปรึกษาเกี่ยวกับการเรียน การทำงานกลุ่ม การทำรายงานปลายภาค ขออาสาติดตามเลกเชอร์และรวบรวมเอกสารประกอบการเรียนให้รุ้ง รวมทั้งทางคณะและอาจารย์ฝ่ายกิจการนักศึกษาติดต่อมาว่าทางครอบครัวเป็นห่วงเรื่องการเรียนของรุ้งอย่างมาก จึงทราบว่า รุ้ง ปนัสยา ผู้ประกาศ 10 ข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์บนเวทีปราศรัยคือนักศึกษาในวิชาเรียน 

หลังจากนั้นไม่นาน อาจารย์ในคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาก็ชักชวนกันไปเยี่ยมรุ้งที่เรือนจำ แต่ก็ยังไม่ได้มีโอกาสพบเพราะทางเรือนจำไม่อนุญาตให้เข้าเยี่ยม กว่าจะได้พบรุ้งก็เมื่อหลังรุ้งได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวและพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล  

“แน่นอนว่าภาพรุ้งที่ยืนเด่นอยู่บนเวทีปราศรัย กับภาพรุ้งในวันที่พบครั้งแรกต่างกัน คือเป็นรุ้งที่นอนป่วยอยู่โรงพยาบาล ถูกตัดผมสั้น ดูเป็นเด็กผู้หญิงธรรมดาๆ คนหนึ่ง”

แม้ไม่ค่อยได้พบกันในชั้นเรียนและได้พูดคุยกับรุ้งไม่กี่ครั้ง แต่ศิริพรก็สัมผัสได้อย่างชัดเจนว่ารุ้งเป็นคนตรงไปตรงมา ดูแกร่ง แต่ก็เป็นมิตรและเป็นที่รักของครอบครัวและเพื่อนๆ เป็นคนที่เอาใจใส่การเรียน และรักในการเรียนรู้ 

“ตอนนั้นก็ได้คุยกันเรื่องการเรียน รุ้งบอกชัดเลยว่า ‘หนูอยากเรียน’ อยากทำงานส่ง โดยไม่ขอรับสิทธิพิเศษใดๆ ตกลงกันว่าให้รุ้งเขียนบันทึกเล่าประสบการณ์จากคุกในประเด็นการจัดระเบียบทางสังคม

“รุ้งเป็นคนที่รักการเรียน สนใจในเรื่องที่เรียน มีความสนใจใฝ่รู้อ่านหนังสือต่างๆ และมีความรับผิดชอบ”

อีกครั้งที่ศิริพรได้พบรุ้งคือวันที่รุ้งมาฟังและนำเสนอรายงานปลายภาคร่วมกันเพื่อนๆ ในห้องเรียน เมื่อเสร็จเรียบร้อย รุ้งเดินมาบอกลาว่า “ขอไปม็อบก่อนนะคะ” และรับปากว่าจะส่งบันทึกประสบการณ์ตามนัดหมาย

บันทึกจากเรือนจำสะท้อนความคิดของรุ้งอย่างแจ่มชัด ศิริพรเล่าว่า รุ้งเห็นปัญหาสภาพความเป็นอยู่และสวัสดิภาพของนักโทษหญิง อย่างเรื่องน้ำดื่ม ชุดชั้นใน และผ้าอนามัย ปัญหาการดูแลนักโทษหลังออกจากคุก ปัญหาขาดแคลนงบประมาณ หรือบรรยากาศในคุกที่ไม่เอื้อให้แก่การเป็นสถานที่ให้โอกาสคนกลับตัวและพัฒนาศักยภาพของคน

“รุ้งมีสำนึกร่วมทางสังคมหรือจินตนาการทางสังคมวิทยาชัดเจน มองเห็นความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมทางสังคม มุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหา ทั้งปัญหาเฉพาะหน้าและปัญหาเชิงโครงสร้างเพื่อเปลี่ยนแปลงสภาพสังคมและชีวิตความเป็นอยู่ของคนให้ดีขึ้น” 

ยิ่งไปกว่านั้น หลังออกมาจากเรือนจำ รุ้งและเพื่อนๆ ยังพยายามจัดหาผ้าอนามัยและชุดชั้นในให้กับผู้ต้องขังหญิงด้วย

“สำหรับรุ้ง ประสบการณ์จะนำไปสู่การปฏิบัติเสมอ และปัญหาต่างๆ ที่พบเห็นจะต้องได้รับการแก้ไข รุ้งจะไม่รอ รุ้งอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นในปัจจุบันและจะลงมือแก้ไขทันที”

สำหรับรุ้ง ประสบการณ์จะนำไปสู่การปฏิบัติเสมอ และปัญหาต่างๆ ที่พบเห็นจะต้องได้รับการแก้ไข รุ้งจะไม่รอ รุ้งอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นในปัจจุบันและจะลงมือแก้ไขทันที

“เคยได้ยินรุ้งให้สัมภาษณ์ว่า รุ้งอยากเรียนต่ออาชญาวิทยา ถ้าทำวิจัยเรื่องเรือนจำ งานของรุ้งจะต้องเข้มข้นมาก เพราะรุ้งผ่านประสบการณ์ตรง ไม่ใช่นักวิจัยที่ไปสัมภาษณ์นักโทษเท่านั้น” 

แม้ศิริพรจะไม่ได้สอนรุ้งในเทอมถัดมา แต่ความห่วงใยในฐานะอาจารย์ไม่สิ้นสุดลง เมื่อรุ้งถูกจับกุมอีกครั้งช่วงต้นเดือนมีนาคมด้วยข้อหาตามกฎหมายอาญามาตรา 112 จากกรณีการชุมนุม ‘19 กันยา ทวงอำนาจคืนราษฎร’ ศิริพรเล่าว่า เมื่อทราบข่าวก็รู้สึกไม่สบายใจและเป็นห่วงรุ้งอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อกฎหมายถูกใช้ท่ามกลางสังคมที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และมีความขัดแย้งสูงจนนำไปสู่การเผชิญหน้าและความเกลียดชัง

ที่ผ่านมา ศิริพรเคยไปเยี่ยมที่เรือนจำและให้กำลังใจรุ้งที่ศาล แต่ด้วยมาตรการจำกัดการพบจำเลยที่เข้มงวด จึงมีโอกาสได้พูดคุยและให้กำลังใจพ่อแม่ของรุ้งเท่านั้น

มีหลายเหตุผลที่ทำให้เธอตัดสินใจไปให้กำลังใจรุ้งที่ศาลและเรือนจำ ซึ่งล้วนเป็นเหตุผล ‘ธรรมดา’ ทั้งสิ้น 

อย่างแรก ศิริพรมองว่า เป็นหน้าที่รับผิดชอบของอาจารย์ที่ต้องดูแลและสนับสนุนการเรียนของนักศึกษาโดยไม่เลือกปฏิบัติ อย่างที่สอง เธอรู้สึกเป็นห่วงรุ้งและเห็นใจครอบครัว อยากให้กำลังใจครอบครัวของรุ้ง และอย่างที่สาม ไปให้กำลังใจเพื่อนอาจารย์ที่ทุ่มเทเวลาและแรงกายแรงใจทำหน้าที่เป็นนายประกันและติดตามดูแลนักศึกษา

ครั้งแล้วครั้งเล่ารวมกว่า 5 ครั้งที่ศาลไม่มีคำสั่งให้ปล่อยตัวรุ้งชั่วคราว ไม่ต่างจากแม่ของรุ้งและคนที่รักรุ้ง ศิริพรรู้สึกผิดหวังที่รุ้งไม่ได้รับสิทธิประกันตัวและเศร้าใจอย่างมาก ขณะเดียวกันก็ตั้งคำถามว่าทำไมกรณีของรุ้งและนักศึกษาที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองจึงไม่ได้รับสิทธิประกันตัวของผู้ต้องหาตามหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ ที่ทุกคนมีสิทธิได้รับเสมอหน้ากัน และยิ่งรุ้งตัดสินใจประกาศอดอาหารเพื่อยกระดับการเรียกร้องสิทธิประกันตัว ก็ยิ่งเป็นห่วง เพราะเป็นวิธีการต่อสู้ที่มีความเสี่ยงอย่างมาก  

“แต่ก็เข้าใจและเคารพการตัดสินใจของรุ้ง ไม่ได้มีข้อวิพากษ์วิจารณ์อะไร เข้าใจว่าเป็นวิธีต่อสู้โดยสันติ มีไม่กี่ทางหรอกที่นอกเหนือจากการทรมานตัวเอง เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมและมโนธรรมสำนึกของผู้มีอำนาจ ถ้ายังมีหนทางอื่น เชื่อว่ารุ้งคงไม่เลือกเสี่ยงชีวิตเช่นนี้

ตลอดเวลากว่าครึ่งปีที่คอยเฝ้ามองรุ้งเติบโตบนเส้นทางการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงการเมืองไทย ศิริพรมองว่า เวลาที่ผ่านไปค่อยๆ หลอมให้รุ้งแข็งแกร่งและเด็ดเดี่ยวมากยิ่งขึ้น “แม้ว่ารุ้งจะรู้ว่าจะต้องเผชิญอะไรในการต่อสู้ เราก็รู้สึกว่าความกล้าหาญ ความมุ่งมั่น หนักแน่นของรุ้ง รวมทั้งเพื่อนๆ ร่วมอุดมการณ์ไม่ได้เปลี่ยนแปลงและยังพยายามที่จะสู้ต่อไป”

ตั้งแต่ความเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ปรากฏ ศิริพรรู้สึกชื่นชมจิตใจและเจตนาที่ดีของรุ้งต่อสังคมและเพื่อนร่วมสังคมที่ประสบความลำบาก และยังรู้สึกชื่นชมในความกล้าหาญและความเสียสละของคนรุ่นใหม่ ไม่เพียงเฉพาะแต่รุ้ง

“แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นห่วง เรามองว่าสังคมไทยตอนนี้ก็มีความแตกต่างทางชนชั้น มีความขัดแย้งสูงมาก ขณะที่ช่องว่างระหว่างคนต่างรุ่นก็ขยายกว้างยิ่งขึ้นทุกที ทำให้การสื่อสารประเด็นและสาระสำคัญของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการปรับปรุง เปลี่ยนแปลงบ้านเมืองเป็นเรื่องที่ทำได้ยากยิ่ง หรือแม้กระทั่งโอกาสในการเกิดบทสนทนาอย่างมีเหตุผล หรือนำประเด็นมาพิจารณาลงรายละเอียดในสาระสำคัญก็ยังไม่เกิดขึ้นเท่าที่ควร”

ท่ามกลางบริบทสังคมเช่นนี้ ศิริพรมองว่า ไม่ใช่ความโกรธความเกลียดชัง แต่เป็นการเปิดใจของคนต่างรุ่นที่จะเป็นความหวังในการปลดล็อกการเมืองไทย 

“หากคนรุ่นก่อนใจเย็น มีเมตตา เปิดใจรับฟังคนรุ่นใหม่มากขึ้น น่าจะทำให้สังคมไทยมีความหวังและอนาคตที่ดีกว่านี้” 

ไม่ต่างจากคนรุ่นใหม่ที่กำลังเติบโตในสังคม อนาคตคือโลกทั้งใบที่กำลังรอรุ้งอยู่ ในฐานะอาจารย์ ไม่ว่ารุ้งจะเลือกเดินเส้นทางไหนก็ตาม ศิริพรมองเห็นศักยภาพและความเป็นไปได้ในอนาคตของรุ้ง

“ได้ยินรุ้งพูดบ่อยๆ ว่า เวลาไปอยู่ตรงไหน ก็อยากจะปฏิรูปตรงนั้น อยากเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ ให้ดีขึ้น โดยเฉพาะเรื่องคุกที่รุ้งเองก็มีประสบการณ์ตรง” 

“ไม่ว่ารุ้งจะอยากทำงานปฏิรูปคุก ปฏิรูปสังคม จะทำงานวิจัย หรือว่าจะเป็น ส.ส. ทำงานในสภา คิดว่ามีความเป็นไปได้ทั้งนั้น โดยเฉพาะสปิริต ความมุ่งมั่น ความตั้งใจ และความห่วงใยต่อคนที่ตกทุกข์ได้ยาก ตกอยู่ในสภาพที่ไม่เอื้อต่อการพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ เมื่อรุ้งเห็นก็รู้สึกว่าต้องแก้ไข ต้องเปลี่ยนแปลง ไม่ว่ารุ้งจะอยากทำอะไร เราไม่เห็นข้อจำกัดในเรื่องของศักยภาพ มีเป็นความเป็นไปได้ทั้งนั้น อยู่ที่รุ้งจะเลือก”

แต่ท้ายที่สุดแล้ว ในฐานะเพื่อนมนุษย์คนหนึ่ง สำหรับศิริพร รุ้งและผองเพื่อนเปรียบเสมือนตัวละครในวรรณกรรมเยาวชนที่อยากจะคอยเอาใจช่วยอยู่เสมอ

“รุ้งเหมือนเดินออกมาจากวรรณกรรมอย่าง Alice in Wonderland, Harry Potter หรือ The Lord of the Rings รุ้งคือตัวละครที่มีจิตใจอ่อนโยน กล้าหาญ ทรหดอดทน และเสียสละ ทั้งๆ ที่รู้ว่าต้องเจอกับอะไรก็ยังสู้ เพื่อสังคมที่ดีขึ้นกว่านี้”

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save