fbpx

“อยู่ที่ไหนเราก็เป็นคน” คุยกับ ‘ประภาพร’ คนพม่าสัญชาติไทย ในวันที่พม่าร่ำไห้

เธอนิยามตัวเองเป็นคนสองแผ่นดิน

เชอร์รี่-ประภาพร ปรียาภัสวรสกุล มีพ่อเป็นคนมอญ แม่เป็นคนทวาย แต่เกิดและโตที่ทองผาภูมิ กาญจนบุรี เธอพูดภาษาพม่าที่บ้านกับพ่อแม่ และใช้ภาษาไทยที่โรงเรียน ทำให้ปรุทั้งสองภาษา ก่อนหน้านี้เธอมีชื่อว่า ‘ประภาพร ไม่มีนามสกุล’ ใช้เวลายื่นเอกสารกว่าสิบปีเพื่อให้ได้สัญชาติไทย แล้วค่อยเปลี่ยนชื่อเป็น ‘ประภาพร ปรียาภัสวรสกุล’

เชอร์รี่เรียนจบสาขาการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม ปัจจุบันทำงานที่เสมสิกขาลัย ทั้งรับงานแปลไทย-พม่า เป็นล่ามที่กองถ่าย และเป็นคนแปลซับไตเติลหนังพม่าที่กำกับโดยคนไทยอย่างเรื่อง มาร-ดา (The Only Mom) ของชาติชาย เกษนัส  

ในวันที่เส้นแบ่งประเทศของโลกชัดขึ้น ชายแดนกลายเป็นเส้นสมมติที่แบ่งผู้คนออกจากกันอย่างเคร่งครัด ขณะเดียวกันที่มนุษย์ก็เข้าใกล้และเข้าใจกันขึ้นจากเทคโนโลยีการสื่อสาร เชอร์รี่คือคนที่เดินทางสลับทั้งไทย-พม่ามาตลอด 26 ปี และเป็นคนหนึ่งที่มองเห็นรายละเอียดของเส้นแบ่งนี้อย่างชัดเจน

จากประสบการณ์การโดนดูถูกในวัยเด็กเพราะความเป็นคนพม่า ทำให้เชอร์รี่ตั้งใจกับตัวเองไว้ว่าเธอจะทำทุกอย่างเพื่อสร้างความเข้าใจระหว่างคนไทยกับคนพม่าให้กระจ่างขึ้น และเธอก็ทำมันถึงปัจจุบัน

เราคุยกับเชอร์รี่ในวันที่พม่ามีรัฐประหารมาแล้ว 3 เดือน นับเป็น 5 ปีหลังจากพม่าได้สัมผัสกลิ่นของประชาธิปไตย แต่ก็ถูกทำลายลงจากการยึดอำนาจของทหาร และยิ่งในวันที่คนหนุ่มสาวออกมาต่อสู้ทางการเมืองอย่างเข้มข้น ก็ดูเหมือนว่าทั้งไทยและพม่าจะมีเรื่องราวคล้ายคลึงกันอย่างน่าเศร้า

เธอมองเส้นแบ่งประเทศอย่างไร ความยากลำบากในการอยู่แผ่นดินอื่นเป็นแบบไหน ความเป็นคนสองแผ่นดินทำให้เธอมองโลกผ่านสายตาแบบไหน การปกครองโดยทหารของทั้งสองประเทศนี้เหมือนหรือต่างกันอย่างไร และอะไรคือคุณค่าของชีวิตเธอยึดถือ

ครอบครัวของคุณเริ่มต้นชีวิตในเมืองไทยอย่างไร

พ่อกับแม่เข้ามาไทยทางเจดีย์สามองค์ แล้วมาทำงานที่ทองผาภูมิ กาญจนบุรี เราเรียนประถมที่นั่น แล้วค่อยขยับเข้ามาเรื่อยๆ เรียนมัธยมที่ตัวจังหวัดกาญจนบุรี พอมหา’ลัยก็มาอยู่ที่นครปฐม จนถึงตอนนี้เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ

ตอนแรกที่พ่อแม่ตัดสินใจย้ายมาที่ไทย ก็เหมือนแรงงานข้ามชาติพม่าคนอื่น คือประเด็นเรื่องรายได้ ค่าแรงขั้นต่ำของพม่าน้อย เช่น ได้วันละ 5,000 จ๊าต คิดเป็นเงินไทยประมาณร้อยกว่าบาท อันนี้ถือว่าเยอะแล้วนะ แล้วถ้าคิดเป็นรายเดือน ก็ตกเดือนละประมาณ 150,000 จ๊าต คิดเป็นเงินไทยประมาณ 3,000 บาท 

คนที่เรียนจบปริญญาตรีในพม่า เช่น ครูได้เงินเดือนประมาณ 200,000-300,000 จ๊าต คิดเป็นเงินไทยประมาณ 4,000-5,000 บาท เท่ากับว่าเงินเดือนของคนจบปริญญาที่พม่า ยังไม่เทียบเท่าค่าแรงรายวันขั้นต่ำของไทย ถ้าคนที่ไม่ต้องเช่าบ้าน มีที่ดิน และมีงานเป็นของตัวเองก็อาจพออยู่ได้ แต่คนที่ไม่มีฐานพวกนี้ก็มีเงินไม่พอใช้อยู่แล้ว เลยทำให้แรงงานพม่าส่วนมากมาทำงานที่ไทย

ตอนแรกที่พ่อแม่คุณเข้ามาที่ไทย เข้ามาอยู่กับใครก่อน แล้วเริ่มต้นทำงานอะไร

พ่อแม่เข้ามาไทยประมาณปี 2520 วิธีการส่วนมากที่คนพม่าเข้ามาในไทยคือมีรุ่นปู่ย่าตายายหรือญาติที่เคยมาไทยกันก่อน เขาก็จะเรียกตามกันมาทำงาน จนถึงปัจจุบันก็ยังใช้วิธีการนี้อยู่นะคะ พ่อแม่เราก็เหมือนกันคือมีญาติอยู่ไทยอยู่แล้ว เลยตามมาอยู่กับญาติ

พ่อมาถึงก็เป็นแรงงานเหมืองแร่ที่ทองผาภูมิ แรกๆ ทั้งพ่อและแม่เป็นแรงงานธรรมดา เก็บหิน รับจ้างทั่วไป แต่พออยู่มานานปี ทั้งพ่อและแม่เป็นคนชอบเรียนรู้ พ่อทำงานกับนายคนเยอรมันที่สอนทำแล็บ พ่อก็เรียนรู้กับเขา ทั้งที่พ่อจบแค่ ม.ปลายมาจากพม่า สุดท้ายทำแล็บเป็นก็ได้ขึ้นตำแหน่ง

แม่ก็เหมือนกัน แม่เป็นคนสนใจเรื่องการรักษาพยาบาล เขาเป็นแม่บ้านที่โรงพยาบาลก่อน ช่วยเช็ดเลือด ทำแผล ช่วยจ่ายยาบ้าง เพราะเป็นโรงพยาบาลเล็กๆ แม่ได้วิชาตรงนั้นจนเป็นพยาบาลที่นั่นต่อ แต่ไม่ได้มีใบประกาศรับรองนะ เพราะเป็นคนพม่าทั้งคู่ ช่วงที่อยู่ที่นั่น ทั้งพ่อและแม่ก็ได้ทำงานตำแหน่งดี มีเงินเดือนดี

แต่ชีวิตมาพลิกอีกทีตอนที่เหมืองปิดไป ต้องมาทำงานในกรุงเทพฯ พ่อกับแม่ก็กลับมาเป็นแรงงานเหมือนเดิม เพราะไม่มีใบวิชาชีพรองรับว่ามีความสามารถทางด้านนั้น 

จนถึงตอนนี้ แม่กลับมาเป็นแม่บ้าน ส่วนพ่อไม่ได้ทำงานแล้วเพราะอายุเยอะ เขากลับไปอยู่ที่ทวาย ปกติพ่อจะบินมาหาบ่อยๆ แต่พอรัฐประหารก็มาไม่ได้แล้ว ไม่ได้เจอกันเกือบสองปี เพราะก่อนรัฐประหารก็มีโควิด ตอนแรกก็มีความหวังว่าโควิดดีขึ้นที่พม่า ใกล้จะได้มาหากันได้แล้ว แต่พอเกิดรัฐประหารก็ไม่ได้เจอกันอีก

ชีวิตของคนเชื้อสายพม่าในไทยลำบากไหม คุณต้องเผชิญกับความลำบากอะไรบ้าง

ยากตั้งแต่ตอนคลอดเลย เราเกิดในโรงพยาบาลท่ามะกาที่เมืองกาญจนบุรี ต้องใช้บัตรพ่อแม่มายืนยัน ซึ่งตอนนั้นเขาใช้บัตรสีชมพู (บัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย) ทั้งคู่ โชคดีที่เราเกิดในโรงพยาบาลเลยขอสัญชาติง่ายหน่อย เพราะมีใบเกิด แต่ของพี่สาวเรายากกว่า เพราะแม้จะเกิดที่ไทยเหมือนกัน แต่เกิดกับหมอตำแย ต้องเอาหมอตำแยมาเป็นพยานว่าเกิดที่ไทยจริงๆ และอยู่ที่ไทยเกินสิบปี ต้องพิสูจน์หลายชั้น 

ดีที่ว่าตอนนั้นพ่อแม่ตั้งชื่อให้เราไทยหน่อยว่าประภาพร แต่ไม่มีนามสกุล เราก็จะได้ชื่อว่า ด.ญ.ประภาพร ไม่มีนามสกุล คำว่าไม่มีนามสกุลเลยเป็นนามสกุลตลอดชีวิตเราจนถึงจบมหา’ลัย 

ตอนเข้าเรียน คุณครูก็จะเรียก ด.ญ.ประภาพร ไม่มีนามสกุล ถ้าเป็นคุณครูใหม่มาอ่านก็จะสะดุด เอ๊ะ ทำไมเขียนว่าไม่มีนามสกุล เราก็ตอบไปว่า ไม่มีนามสกุลจริงๆ ค่ะ ไม่ใช่นามสกุลว่าไม่มีนามสกุล พออ่านชื่อนี้ ทุกคนก็ต้องถามประวัติทุกคน เราต้องตอบมาตลอดชีวิตว่าเป็นคนที่ไหน ก็ตอบว่าเป็นคนพม่า

ชีวิตช่วงประถมคุณเป็นอย่างไร

ด้วยความที่พ่อแม่เป็นแรงงานธรรมดา เราก็ต้องเรียนโรงเรียนที่ใช้จ่ายน้อยที่สุด เลยเรียนโรงเรียนรัฐมาตลอด เด็กนักเรียนส่วนมากเป็นคนไทย แต่ก็ยังพอมีเด็กพม่า เพราะลูกแรงงานบางคนถ้ายังเด็กอยู่พ่อแม่ก็จะให้เรียนก่อน พอโตแล้วก็ค่อยออกมาทำงาน แต่เราโชคดีที่ได้เรียนจนจบ 

เท่าที่จำความได้ พอเริ่มขึ้น ป.4-5 ก็จะโดนเรียกว่าไอ้พม่า ไอ้มอญ ตอนนั่งรถไปเรียนหรือไปเที่ยวในเมือง พ่อกับแม่ก็จะบอกว่าเวลานั่งรถห้ามพูดพม่าเลยนะ เพราะเราต้องกลัวด่านตำรวจ ไปเรียนก็เหมือนกัน อย่าพูดพม่า ให้พูดไทย ไม่อย่างนั้นจะโดนดูถูก แต่ส่วนมากคนจะรู้ว่าเราเป็นพม่าก็ต่อเมื่อเห็นชื่อ เพราะถ้าดูแค่หน้าตา เขาก็ยังแยกไม่ออก พอเพื่อนรู้ว่าเป็นพม่าก็มีโดนล้อ เพื่อนล้อจนชิน เลยกลายเป็นว่าไม่ค่อยรู้สึกอะไรเท่าไหร่ 

แต่ที่หนักสุดๆ ตอนอยู่ ม.ต้น ตอนนั้นเริ่มเรียนวิชาอาเซียน เรายังจำได้เลย ครูถามนักเรียนว่ารู้จักพม่าไหม เด็กๆ ทุกคนก็จะบอกว่า รู้จัก พม่ามาเผาอยุธยา เป็นคำที่ที่ไหนก็พูด คือไม่รู้อย่างอื่นเกี่ยวกับพม่าเลย แต่สำหรับเรา ตอนเด็กๆ ที่ไปเที่ยวพม่า เราจำภาพมาว่าที่บ้านของตัวเองมีเจดีย์ชเวดากอง มีทะเล เราคิดจะตอบเรื่องแบบนั้น แต่เพื่อนทั้งห้องตอบว่าพม่าเผาอยุธยา เราเลยกลายเป็นเสียงเล็กเสียงน้อยที่ไม่กล้าตอบความสวยงามในประเทศตัวเอง

เราเห็นความเข้าใจผิดระหว่างไทยกับพม่ามาตั้งแต่เด็ก เราเลยคิดตั้งแต่ตอนนั้นว่าจะทำอะไรก็ได้ที่ทำให้คนไทยเข้าใจคนพม่า และคนพม่าเข้าใจคนไทย เราเลยทำตั้งแต่สมัยเรียน ทั้งแปลประวัติศาสตร์ ช่วยงานหนังไทย-พม่า ช่วยทำสารคดี เราอยากถ่ายทอดให้รู้ว่าประวัติศาสตร์ที่เรียนมาไม่ได้ถูกต้องเสมอไป จนถึงตอนนี้ก็ได้ทำงานองค์กรระหว่างประเทศไทย-พม่าจริงๆ 

ตอนอยู่ ม.ต้น ตอนนั้นเริ่มเรียนวิชาอาเซียน เรายังจำได้เลย ครูถามนักเรียนว่ารู้จักพม่าไหม เด็กๆ ทุกคนก็จะบอกว่า รู้จัก พม่ามาเผาอยุธยา เป็นคำที่ที่ไหนก็พูด คือไม่รู้อย่างอื่นเกี่ยวกับพม่าเลย แต่สำหรับเรา ตอนเด็กๆ ที่ไปเที่ยวพม่า เราจำภาพมาว่าที่บ้านของตัวเองมีเจดีย์ชเวดากอง มีทะเล เราคิดจะตอบเรื่องแบบนั้น แต่เพื่อนทั้งห้องตอบว่าพม่าเผาอยุธยา เราเลยกลายเป็นเสียงเล็กเสียงน้อยที่ไม่กล้าตอบความสวยงามในประเทศตัวเอง

ไม่ใช่แค่ต้องต่อสู้กับเรื่องความเข้าใจผิดระหว่างไทยกับพม่า แต่คุณต้องต่อสู้จนได้นามสกุลมาด้วย เล่าให้ฟังได้ไหมว่าคุณต้องต่อสู้อะไรบ้างกว่าจะได้สัญชาติไทย

เราดำเนินการเองมาตลอด ตอนเด็กๆ มีเอกสารเป็นกอง ไปไหนมาไหนต้องแบกไปด้วยตลอด มีใบเกิด ใบรับรองแพทย์ ใบเกิดพ่อแม่ ทุกใบต้องถ่ายเอกสารอย่างละ 6 ฉบับ 

ตอนนั้นเรามีบัตรสีชมพู อยู่ได้เฉพาะในเขตทองผาภูมิ ห้ามเลยเขตออกมา แต่เราเรียนมัธยมในตัวเมืองกาญจนบุรี ต้องขอใบอนุญาตทุก 6 เดือน ซึ่งเหนื่อยมาก แต่ก็ต้องไปขอเรื่อยๆ ระหว่างนั้นก็ต้องดำเนินการเรื่องขอสัญชาติ จำได้แม่นเลย ตอนไปพิสูจน์สัญชาติรอบแรก พิมพ์ลายนิ้วมือที่ สน. ไม่ผ่านเพราะพิสูจน์ออกมาว่าเรามีคดีติดตัวเรื่องยาเสพติด สุดท้ายสรุปว่าเขาพิสูจน์ผิด รอบนั้นเลยไม่ได้ 

อีกรอบ เราขึ้นปี 4 แล้ว มหา’ลัยต้องออกใบรับรองว่าเป็นนักศึกษาให้บ่อยมากเพื่อให้ไปดำเนินการ แต่ไปขอกับอำเภอเท่าไหร่ก็ไม่ได้สักที จนถึงช่วงที่ต้องไปฝึกงานแล้ว ไม่มีที่ไหนรับเพราะเราไม่มีนามสกุล 

เราเคยยื่นขอฝึกงานกับบริษัทชื่อดังแห่งหนึ่งของประเทศไทย ส่งเอกสารครบทั้งคะแนน เกรด ผลงาน เขาก็แจ้งมาว่าทางเรารับน้องแล้วนะคะน้องประภาพร แต่ว่าน้องลืมเขียนนามสกุลรึเปล่าคะ เราก็บอกว่า ไม่ได้ลืมเขียนแต่ไม่มีนามสกุลค่ะ เขาก็ถามว่า อ้าว แล้วน้องเป็นคนอะไร เลยบอกเขาว่า เป็นคนพม่าค่ะ ยังไม่มีนามสกุล ยังไม่ได้รับสัญชาติ เขาก็บอกมาว่า ทางเราต้องขอโทษด้วยนะคะ เราไม่สามารถรับน้องเข้าฝึกงานได้ ซึ่งก็แค่เพราะเรื่องนามสกุล เลยไม่ได้ฝึกงานที่นั่น 

ตอนนั้นเราไม่ไหวแล้ว ไม่รู้จะทำอย่างไร หมดหนทางแล้ว คุยกับนายอำเภอก็แล้ว ไม่ยอมทำให้สักที สุดท้ายเลยโทรไปร้องไห้กับทางกระทรวงมหาดไทยว่า หนูผิดด้วยเหรอ หนูทำทุกอย่างแล้วนะ ไม่มีขั้นตอนไหนที่พลาดหรือเอกสารไหนที่ขาดเลย เราก็ร้องไห้โฮ จนเขาบอกว่า ถ้าอย่างนั้นขอชื่อ ขอรหัสบัตรประชาชน หลังจากนั้นไม่นานก็ได้สัญชาติไทยเฉยเลย

ในความรู้สึกของคุณ คุณผูกพันกับพม่าแค่ไหน ในเมื่อคุณโตที่ไทย อะไรทำให้คุณยังยึดโยงกับพม่าอยู่

เกี่ยวกับการเติบโตและคนแวดล้อมเราด้วยนะคะ ด้วยความที่พ่อกับแม่ให้กลับบ้านทุกปี ให้ไปเห็นว่าที่พม่าเป็นอย่างไร ได้กลับไปอยู่บ้านตัวเอง จำได้ว่าตอนอยู่ที่ไทย เราอยู่ในห้องเช่าแคบๆ อยู่กันแบบอึดอัดมาก พอเริ่มจำความได้ พ่อกับแม่พาไปอยู่บ้านที่พม่า บ้านกว้างใหญ่ มีไร่ สวน ทะเล เราเลยถามพ่อแม่ว่า ทำไมไม่ให้หนูอยู่ที่พม่า ทำไมต้องให้มาอยู่ที่ไทย อยู่ที่พม่าสบายจะตาย พ่อก็เลยตอบว่าสบายแต่พื้นที่ แต่เราไม่มีเงิน เรามาอยู่ที่ไทยเพื่อเก็บเงิน แล้ววันหนึ่งจะกลับไปอยู่พม่า

พอไปๆ มาๆ ก็รู้สึกผูกพันทั้งสองประเทศ เรามีเพื่อนอีกกลุ่มหนึ่งอยู่ที่พม่า และมีเพื่อนอีกกลุ่มหนึ่งอยู่ที่ไทย ทำให้เราผูกพันกับทั้งสองประเทศ ตอนนี้เลือกอยู่ประเทศใดประเทศหนึ่งไม่ได้แล้ว 

คุณรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนไทยไหม

เราคิดว่าเราเป็นคนสองแผ่นดิน ไม่ได้คิดว่าเป็นคนไทยหรือคนพม่าเลย เราไม่อยากกำหนดว่าตัวเองเป็นคนประเทศไหน เพราะตอนเด็กๆ โดนกำหนดมาแล้วว่าเป็นคนพม่าก็โดนเหยียดอีก เลยคิดว่าเราก็เป็นคนนี่แหละ อยู่ที่ไหนก็เป็นคน (หัวเราะ)

คุณอยู่ทั้งไทยและพม่า ซึ่งทั้งสองประเทศมีช่วงที่ทหารครองอำนาจเหมือนกัน คุณเห็นความต่างอะไรระหว่างการเมืองไทยกับการเมืองพม่าบ้าง

ปกติเป็นคนไม่ตามการเมืองเลย แล้วก็เป็นคนไม่ค่อยเปิดอะไรเท่าไหร่ ด้วยความที่บ้านก็บังคับอยู่แล้วว่าห้ามยุ่งเรื่องการเมือง เพราะเราเป็นคนสองประเทศ พ่อแม่เป็นห่วงว่าถ้าเรามายุ่งเรื่องการเมืองในไทย เดี๋ยวเราจะไม่มีสิทธิอยู่ที่ไทยต่อ ให้นิ่งๆ ไว้ แต่พอโตมาเราก็รู้สึกว่าไม่อยากนิ่ง อยากเรียนรู้ 

ถ้าจำช่วงชีวิตที่เห็นการเมืองระหว่างไทยกับพม่า จำได้ว่าตอนเด็กๆ กลับพม่ายากมาก อย่างที่รู้กันว่าพม่าอยู่ภายใต้ทหารมา 50 ปี ตอนนั้นเราไม่รู้อะไรเลย รู้อย่างเดียวว่ากลับบ้านลำบากมาก ต้องกลับทางด่านเจดีย์สามองค์ ทหารคุมเข้ม ตรวจนู่นนี่นั่น จนกระทั่งปี 2558 ที่มีการเลือกตั้ง เป็นครั้งแรกที่พม่ามีรัฐบาลที่ประชนเลือกขึ้นมาเองก็คือพรรค NLD ตั้งแต่ตอนนั้นมาประเทศเปิด เป็นคนละความรู้สึกเลย เวลาได้กลับบ้าน ง่าย สะดวก กลับไปได้เลย

ส่วนที่ไทย ไม่ว่าจะอยู่ในรัฐบาลชุดไหน สำหรับคนพม่าหรือลูกแรงงานอย่างพวกเราก็ยังใช้ชีวิตลำบาก ไปด่านไหนก็โดนตรวจ ยังไม่พอต้องมีขั้นตอนการดำเนินงาน ขอใบอนุญาต ต่อวีซา พาสปอร์ต เราทำงานและต้องจ่ายให้รัฐบาลไทยเยอะมาก ถ้ามองสองประเทศนี้ที่เราเติบโตมา ก็เห็นเรื่องนี้มาตลอด

คุณเคยเห็นการเลือกตั้งที่พม่าไหม บรรยากาศเป็นอย่างไร

จำได้แม่นเลย ปี 2558 ตอนนั้นเรายังไม่ได้สัญชาติไทย ทั้งบ้านกลับไปเลือกตั้งที่พม่าหมดเลย เราก็ไปเห็นสภาพการเลือกตั้งครั้งแรกของพม่า น่าตื่นเต้นมาก คนตื่นแต่เช้ากันมาตามโรงเรียนของแต่ละหมู่บ้านซึ่งเป็นที่จัดเลือกตั้ง บ้านเราอยู่ติดโรงเรียนเลยเห็นบรรยากาศชัดมาก

ทุกคนอยากเลือกตั้ง ไม่ยอมแบ่งเวลากันมาเลย แถวยาวเหยียดจากโรงเรียนถึงบ้านเรา ไม่มีใครยอมกลับด้วยนะ คือจะเลือกตั้งให้ได้ เป็นภาพเหตุการณ์ที่ยังจำได้ คนตื่นเต้นกับการเลือกตั้งขนาดนี้เลยเหรอ เพราะตอนนั้นก็ไม่ได้ศึกษาเรื่องการเมืองพม่าเยอะเท่าไหร่ ก็รู้ตอนนั้นแหละว่านี่คือการเลือกตั้งครั้งแรกหลังจากการปกครองของทหารหลายปี 

ความรู้สึกอยากเป็นประชาธิปไตยของคนพม่าเกิดขึ้นตั้งแต่ตอนไหน ทำไมคนถึงอยากเลือกตั้งมากขนาดนี้

คนรุ่นอายุประมาณ 30 ปีขึ้นไปจนถึงผู้สูงอายุ น่าจะมีภาพจำเกี่ยวกับความรุนแรงหลายอย่างว่าการอยู่ภายใต้ทหารนั้นเลวร้ายขนาดไหน เช่น ประวัติศาสตร์ปี 1988 หรือปี 2007 ทุกคนไม่ได้อยู่กันอย่างสะดวก ไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่อย่างไม่ต้องกลัวอะไร มีเรื่องที่ถูกกระทำมาหลายสิบปี ทุกคนก็ต้องการประชาธิปไตยและอิสรภาพ ทุกคนรอวันนั้น พอถึงวันเลือกตั้งเลยออกมาเยอะขนาดนั้น เพราะไม่อยากเจอภาพเดิมๆ ที่เคยเจอกันมาตลอดแล้ว 

ในสายตาของคุณ จากวันนั้นที่คนมีความหวังมากกับการเลือกตั้ง แล้วพอวันที่มิน อ่อง หล่าย ทำรัฐประหารในวันที่ กุมภาพันธ์ 2021 ตอนที่ได้ข่าวคุณรู้สึกอย่างไร

ตื่นมาตอนเช้า เจอข่าวก็ช็อก ไม่คิดว่าจะเร็วขนาดนั้น แต่ก่อนหน้านี้ก็เริ่มมีกลิ่นจากข่าวบ้าง เช่น เขาออกมาบอกว่ารัฐบาลจัดการเลือกตั้งไม่เป็นธรรม เอาเหตุผลมาอ้างมากมายเพื่อจัดการเลือกตั้งใหม่ เราก็เริ่มคิดแล้วว่าจะมีการรัฐประหารหรือเปล่า แล้วก็มีความคล้ายไทยอยู่อย่างหนึ่งว่า ทางกองทัพออกมาบอกว่าอย่างไรก็แล้วแต่จะไม่ทำรัฐประหาร เราก็แอบคิดว่าคุ้นๆ รึเปล่า 

แต่พอถึง 1 กุมภาฯ เร็วกว่าที่คิดไว้ ตกใจ ช็อก เห็นรถทหารตามเมืองต่างๆ ติดต่อที่บ้านไม่ได้ ไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ต เครียดเลยคราวนี้ จะปิดถึงเมื่อไหร่ วันแรกกังวล โทรหาพ่อก็ไม่ติด โทรหาพี่สาวก็ไม่ได้ ทุกคนในไทยที่มีครอบครัวอยู่ในพม่าก็ตกใจ เราเห็นสภาพของคนพม่าในไทยด้วย ทุกคนคิดเหมือนกันว่าทหารกลับมาอีกแล้วเหรอ ทำไมเกิดขึ้นได้ มีแรงงานบางคนที่ไม่ได้ตามข่าวเลยก็จะช็อกมาก เพราะไม่ได้เตรียมใจไว้เลยว่าจะเกิดการรัฐประหาร

คุณได้สัญชาติไทยแล้ว คุณมีการงานที่โอเคแล้ว คุณก็ยังรู้สึกเดือดร้อนไปกับสถานการณ์นี้อยู่?

เดือดร้อนมาก โอเค ส่วนตัว ถึงแม้จะมีการรัฐประหารที่นั่นเราก็อยู่ที่ไทยได้ เรามีงาน แต่เราก็มีความผูกพันกับคนที่นู่น เราเลือกทำงานที่เสมสิกขาลัย เพราะเราสามารถทำงานไปๆ มาๆ สองประเทศได้ เรารักการไปมาของสองประเทศนี้มาก พอเกิดรัฐประหาร ความฝันเราดับเลย เพราะงานที่เราทำอยู่ในสองประเทศไปต่อไม่ได้แล้ว เราต้องอยู่แต่ฝั่งไทย 

แล้วจากการที่เราไปพม่าบ่อยๆ เราก็มีทั้งเพื่อนพี่น้อง หรือคนรู้จักที่ทำงานเคลื่อนไหวด้วยกัน เรามีความผูกพันกับพวกเขาเยอะมาก พอเราได้ยินข่าวก็เป็นห่วงพวกเขาขึ้นมาทันทีว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ก็เป็นห่วงและเสียใจมากด้วย

เราไม่อยากกำหนดว่าตัวเองเป็นคนประเทศไหน เพราะตอนเด็กๆ โดนกำหนดมาแล้วว่าเป็นคนพม่าก็โดนเหยียดอีก เลยคิดว่าเราก็เป็นคนนี่แหละ อยู่ที่ไหนก็เป็นคน

คุณเห็นการปกครองโดยทหารมาทั้งสองประเทศจากทั้งไทยและพม่า ถ้าจะให้ชวนวิพากษ์การปกครองแบบทหารว่าส่งผลต่อชีวิตคนอย่างไรบ้าง คุณจะพูดถึงอย่างไร

ถ้ามองสถานการณ์ปัจจุบัน การรัฐประหารในพม่าน่ากลัวมาก อ่านในหนังสือก็ไม่เท่ากับเห็นภาพจริงๆ ทหารไม่ได้ปกป้องประชาชนเลย ทำร้ายอย่างเดียว ประชาชนทุกคนไม่ได้อยู่สุขสบาย 

คนพม่าตอนนี้ต้องอยู่ด้วยความหวาดระแวง ปิดประตูบ้านตลอด อยู่เฉยๆ ไม่ได้ออกไปประท้วงก็โดนยิง ก็จะยิงน่ะ มีอาวุธ มีอำนาจ กฎหมายอยู่ในมือเขา ไม่มีความเป็นธรรมเลย เด็กอายุน้อยๆ ไม่รู้อิโหน่อิเหน่อะไรก็โดนยิง เป็นภาพที่เลวร้ายมาก อะไรคือความเป็นธรรม อะไรคือความเป็นมนุษย์ เรามองว่าไม่ควรเกิดขึ้น ไม่ว่าจะประเทศไหน ไม่ว่าจะไทยหรือพม่า อย่างเหตุการณ์พม่าเห็นชัดเจนมากว่าการอยู่ภายใต้รัฐบาลทหารเลวร้ายจริงๆ

ส่วนของไทย ตอนที่เกิดรัฐประหารปี 2557 เราอยู่มัธยม ยอมรับตามตรงว่าไม่รู้เรื่องเลย แล้วตอนนั้นก็รู้สึกว่าไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียอะไร เพราะโดนกดมาตั้งแต่เด็กอยู่แล้วเรื่องสิทธิความเป็นอยู่ เลยไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับรัฐประหารที่ไทย ที่รู้เรื่องเพราะกลับมาตามอ่าน 

แล้วถ้ามองไปที่คนรุ่นใหม่ล่ะ คุณเห็นความเหมือนหรือต่างอะไรในคนรุ่นใหม่ของทั้งสองประเทศระหว่างไทยกับพม่า

คนรุ่นใหม่ในไทยก็เคลื่อนไหวมาเรื่อยๆ เราก็ไปร่วมด้วยบ้าง ที่เรามองเห็นคือไทยมีหลายกลุ่มออกมาต่อสู้ แต่ยังไม่ได้เป็นหนึ่งเดียวกันมากขนาดนั้น ยังมีการเคลื่อนไหวหลายประเด็นที่แตกต่างกันอยู่ แต่ที่พม่าตอนนี้ทุกคนลุกขึ้นมาทีเดียวพร้อมกัน มีเป้าหมายเดียวกันคือไม่เอาทหาร 

ที่พม่ามีแคมเปญหลายอย่างน่าสนใจมาก รัฐประหารไปสามเดือน คนรุ่นใหม่เคลื่อนกันเร็วมาก ออกมาประท้วงหลากหลายรูปแบบ ทั้งออกมาบนถนน แต่พอออกมาถนนไม่ได้ก็คิดกันว่าจะทำอย่างไรเวลาอยู่บ้าน มีการทำ CDM (Civil Disobedience Movement) หรือในส่วนอื่นๆ ที่มีการตั้งคณะกรรมการผู้แทนสมัชชาแห่งสหภาพ (Committee Representing Pyidaungsu Hluttaw – CRPH) และมีการจัดตั้งรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (National Unity Government of the Republic of the Union of Myanmar – NUG) ทุกอย่างกระโดดไปไวมาก เพราะมีเป้าหมายเหมือนกันทุกคน

คนรุ่นใหม่ในพม่ารับสื่อเท่าทันโลกแค่ไหน พวกเขาปลดแอกตัวเองอย่างไร ทั้งในแง่วิธีคิดและวิธีการแสดงออก

มีเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจมาก การรัฐประหารครั้งนี้ทำให้คนรุ่นใหม่เกิดความกระตือรือร้นอยากเรียนรู้เป็นพิเศษ จากเดิมคนพม่าเล่นอยู่อย่างเดียวคือเฟซบุ๊ก ไม่ค่อยสื่อสารกับเพื่อนข้างนอกเท่าไหร่ แต่พอเกิดการรัฐประหาร เขารู้แล้วว่าสู้กันในประเทศไม่ได้ ต้องมีเพื่อนบ้านช่วยแล้ว ก็มีการสื่อสารกับเพื่อนทั้งไทย สิงคโปร์ เขามีเครือข่ายเยอะมาก เพื่อนก็แนะนำว่าถ้าเราจะสื่อไปแค่เฟซบุ๊กอย่างเดียวไม่ได้ โลกทุกวันนี้ไปถึงทวิตเตอร์ อินสตาแกรม คนรุ่นใหม่ก็เรียนรู้ไวมาก ตอนนี้คนพม่าทุกคนมีทวิตเตอร์กันหมดแล้ว ช่วยกันทวีตให้คนเห็นเหตุการณ์ข้างใน จากเดิมที่ไม่ได้สนใจโลกภายนอกเท่าไหร่ 

พอเกิดเหตุการณ์นี้ คอนเทนต์ต่างๆ ก็เริ่มออกไปข้างนอก คุณเก่งอังกฤษใช่ไหม สื่อสารกับเพื่อนกลุ่มนี้ ก่อนออกไปเดินประท้วงก็มีการจัดการว่าเธอจะทำอะไร กลุ่มนี้เป็นการ์ดนะ กลุ่มนี้จะโพสต์โซเชียลฯ นะ กลุ่มนี้จะถ่ายรูปนะ 

คนรุ่นใหม่พวกนี้ไม่เคยออกมาประท้วง เขารู้จักศึกษาแล้วกระจายออกมา พวกเขาเพิ่งได้รับไอของความเป็นประชาธิปไตยแค่นิดเดียว ประมาณ 5 ปี แต่ก็รู้สึกว่านี่แหละที่เราต้องไปต่อ แต่พอรัฐประหารทำระบบนั้นล้ม ก็เลยทำให้คนลุกขึ้นมาทำทุกอย่างเพื่อกลับมาได้ประชาธิปไตย เรื่องนี้แหละที่ปลดล็อกทุกคนว่าต้องทำให้เต็มที่ ยอมเอาชีวิตออกมาเสี่ยง ต้องทำกันขนาดนี้ เพราะถูกทำลายนี่แหละ

คุณเป็นผู้หลุดพ้นจากภัยทางเศรษฐกิจ การเมือง และสงครามจากที่พม่า คุณมองชีวิตตัวเองย้อนกลับไปแล้ว คิดว่าปัจจัยอะไรที่ทำให้ชีวิตคนคนหนึ่งได้ทำในสิ่งที่เราอยากทำบ้าง

สิ่งแรกคือเสรีภาพ ได้อยู่อย่างที่เราอยากอยู่และอยากเป็น ไม่อยู่ภายใต้อำนาจของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ที่พม่าตอนนี้เด็กๆ ทุกคนไม่ได้เรียนแล้ว เพราะอยู่ภายใต้อำนาจของทหาร โรงเรียนก็ถูกปิด ทั้งที่เป็นช่วงที่เด็กต้องเรียนเพื่ออนาคตของเขา แต่พออยู่ภายใต้อำนาจของทหาร ก็ไม่เห็นอนาคตตัวเอง ถูกดับฝัน ไม่มีอิสรภาพ ไม่ได้ออกไปเรียนรู้ นี่ไม่ใช่สิ่งที่ควรเกิดขึ้น เราคิดว่าอิสรภาพทำให้เราเห็นอนาคตและใช้ชีวิตอย่างมีประสิทธิภาพได้

ตลอดเวลาที่โตมา เคยตั้งคำถามกับชีวิตตัวเองไหมว่าทำไมเราถึงต้องเจอแบบนี้ เราหันไปมองเจอเด็กไทยที่อยู่ข้างกัน ทำไมเขาถึงต้องไม่ลำบากเท่าเรา 

เราตั้งคำถามมาตลอดตั้งแต่เกิดว่าทำไมเราถูกแบ่งแยกตั้งแต่ไม่มีนามสกุลแล้ว ทั้งฝั่งไทยและฝั่งพม่าเลย หรือเด็กที่ต้องลี้ภัยอยู่ตอนนี้ ก็ตั้งคำถามว่าเกิดมาเป็นคนเหมือนกัน แต่ทำไมแต่ละคนได้สิทธิความเป็นอยู่ไม่เหมือนกัน อะไรคือความอิสระ ก็เกิดคำถามมาตลอดว่าทำไมๆ แต่ก็ยังไม่มีคำตอบ

คุณบอกว่าคุณเป็นคนสองแผ่นดิน แล้วตัวคุณเองมองเส้นแบ่งประเทศอย่างไร

เรื่องนี้เป็นข้อขัดแย้งของเรามาตลอด เวลาคนถามว่าเราเป็นคนอะไร เรารู้สึกว่าถูกแบ่งแยกจากเรื่องชื่อและสัญชาติจากบัตรประชาชนใบเดียวเลย ไม่ว่าจะทำอะไรหรือไปที่ไหน เอาเรื่องง่ายเลยๆ ตอนอยู่ไทย พอเห็นเป็นคนพม่าก็ถูกแบ่งแยกแล้วว่าเป็นพม่า ไม่เข้าใจว่าทำไม ก็เป็นคนประเทศข้างๆ ก็อยู่ด้วยกันได้ ไม่เห็นเป็นอะไรเลย ทำไมต้องแบ่งแยก ทั้งที่ก็เป็นคนเหมือนกัน

ความหวัง ความฝันของคุณ ที่อยากให้โลกนี้เป็นไป คุณอยากจะเห็นโลกเป็นอย่างไร

ถ้ามองไปทั้งโลกก็ใหญ่มาก แต่จริงๆ เรื่องง่ายที่สุดที่อยากให้เกิดกับทุกพื้นที่คือคนมีอิสรภาพ ไม่ควรมีใครอยู่ภายใต้การกดขี่ของผู้มีอำนาจ

ถ้าเราไม่ได้รับอิสรภาพตั้งแต่แรก ความหวังความฝันของเราก็แทบไม่มีความหมาย เราจะไปทำตามสิ่งที่เราหวังไว้ไม่ได้เลย ถ้าเราไม่มีเสรีภาพ

ถ้ามีคนค้านบอกว่า ความฝันสำคัญขนาดนั้นเลยเหรอ เสรีภาพจะเอาไปทำไมนักหนา ที่เป็นอยู่ลำบากมากนักหรือไง เราจะตอบว่าอย่างไร

ถ้าสังคมดีจริงๆ เราไม่ได้มาอยู่จุดนี้กันหรอก จุดที่ต้องเห็นคนยากลำบาก คนที่ถูกกระทำเหมือนไม่ใช่คน ตราบใดที่เรายังเห็นภาพพวกนี้ เราจะยิ้มอยู่ได้อย่างไร เป็นไปไม่ได้ที่เราจะมีความสุขคนเดียวบนโลกนี้ ถ้าคนรอบข้างเราไม่มีความสุขหรือไม่มีเสรีภาพ เราถึงต้องออกมาเรียกร้องเสรีภาพ

คุณยึดโยงอยู่กับคุณค่าอะไรมากที่สุดในชีวิต

ยึดโยงกับความเป็นมนุษย์ เอาใจเขามาใส่ใจเรา เราไม่ต้องการมีความสุขแค่คนเดียว คนรอบข้างเราต้องมีความสุขด้วย นี่แหละเราถึงจะใช้ชีวิตอย่างมีความสุขได้ตลอด

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save