fbpx
ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์

“การต่อสู้กับโรคระบาดเป็นการทำสงคราม คุณจะแพ้ไม่ได้” ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์

อีกครั้งที่ประเทศไทยตกอยู่ในเกลียวคลื่นภัยพิบัติโควิด-19 ที่ไม่ได้สาดซัดเราด้วยความรุนแรงของการระบาดเท่านั้น แต่ยังทำให้เราติดอยู่ในหล่มการจัดการสถานการณ์ที่หยุดชะงักกิจกรรมทางสังคมและเศรษฐกิจ แช่แข็งชีวิตของผู้คน ทั้งยังพาระบบสาธารณสุขเข้าสู่ภาวะวิกฤต ทั้งหมดเกิดขึ้นพร้อมกับข่าวคราวสถานการณ์ในต่างประเทศที่เริ่มดูดีขึ้น ราวกับกำลังขึ้นบทใหม่

ไม่มีใครอยากตกอยู่ในสถานการณ์เหล่านี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ไม่มีใครอยากเดินตามหลังเพื่อนร่วมโลก ‘วัคซีน’ จึงกลายเป็นความหวัง เป็นประเด็นร้อนที่ผู้คนกำลังจับตา

แต่ความหวังของประเทศไทยดูจะขรุขระไม่น้อย เนื่องมาจากความล่าช้าในการจัดหาวัคซีนของรัฐบาล รวมไปถึงประสิทธิภาพและผลข้างเคียงของวัคซีนที่หลายคนยังตั้งคำถาม

ในสถานการณ์วิกฤต (อีกครั้ง) นี้ 101 สนทนากับ ศ.นพ.ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์ รักษาการรองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สายงานบริหารการวิจัยและพัฒนา ในฐานะแพทย์และนักวิจัยด้านระบาดวิทยา ว่าด้วยการจัดการวิกฤตโรคระบาดและการกระจายวัคซีน และบทสนทนาทั้งหมดเป็นความเห็นส่วนตัวของ ศ.นพ.ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์ โดยไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรใดๆ

เรามองเห็นอนาคตอย่างไรผ่านการจัดการในปัจจุบัน และประเทศไทยควรเดินต่ออย่างไรในวิกฤตนี้


ปัจจุบันเราเท่าทันเชื้อโรคนี้ขนาดไหน โควิด-19 ยังถือว่าน่ากลัวอยู่ไหมในมุมมองของคุณหมอ

น่ากลัวสิ (หัวเราะ) จริงๆ การระบาดของโควิดในไทยยังไม่ได้เกิดเต็มที่เลย ถามว่าเราเข้าใจไหม เรามีความเข้าใจน้อยกว่าคนในอินเดีย ในฝรั่งเศส ยุโรป อเมริกา วิธีตอบสนองของเรายังดูสะเปะสะปะมาก ซึ่งแสดงว่าคนที่ทำงานอยู่มีวิสัยทัศน์ที่ไม่ตรงกันเกี่ยวกับผลลัพธ์ที่จะเกิดจากการระบาด คือคนหนึ่งก็คิดว่าไม่เป็นไร คนหนึ่งก็คิดว่าแย่แน่เลย ก็เลยออกมาดูมั่วๆ ไปหมด


เมื่อพบการระบาดระลอกใหม่ รัฐมักตอบรับสถานการณ์ด้วยการล็อกดาวน์ คุมเข้มการดำเนินกิจกรรม จนกว่าจำนวนผู้ติดเชื้อจะลดลง แต่สุดท้ายก็จะวนกลับมาที่การระบาดใหม่อีก มาตรการประมาณนี้สะท้อนให้เราเห็นอะไรบ้าง

เอางี้ ตัดไปที่ตอนจบของเรื่องเลย ถามว่าอีก 10 ปีหลังจากนี้ โควิดจะหน้าตาเป็นอย่างไร จะยังมีการระบาดอยู่ไหม คำตอบคือยังระบาดอยู่ เปรียบเทียบง่ายๆ ก็คล้ายกับไข้หวัดใหญ่ซึ่งอาจจะไม่ใช่กรณีที่ตรงกันเสียทีเดียว แต่ก็ใช้เป็นตัวช่วยจินตนาการได้ ไข้หวัดใหญ่มีอยู่เรื่อยๆ คุณก็ต้องยอมรับว่ามันมีอยู่เรื่อยๆ คุณอาจจะต้องเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่างบ้าง แต่คุณก็ยังใช้ชีวิตไปได้ เมื่อเป็นเช่นนี้การล็อกดาวน์จึงได้ผลเฉพาะครั้งแรกเท่านั้น คือการล็อกดาวน์ครั้งแรกเราอาจจะลองพยายามดูว่า เราจะควบคุมโรคให้หายไปได้ไหม แต่การล็อกดาวน์ครั้งถัดมา เป็นไปไม่ได้แล้วที่จะทำให้โรคหายไป ส่วนมากมีจุดประสงค์เพื่อป้องกันระบบสาธารณสุข ไม่ให้จำนวนผู้ป่วยและงานในโรงพยาบาลล้นเกินไป แต่ไม่ได้ล็อกให้คนไข้หายไป โดยจุดสำคัญของโรงพยาบาลคือ ICU โรงพยาบาลสามารถดูแลคนไข้หนักได้เท่าไหร่ แล้ววันนี้ ICU เต็มหรือยัง ถ้าเต็มก็ต้องล็อกดาวน์ เพื่อให้ ICU พอทำงานได้ ไม่ใช่ให้คนไข้ไปเสียชีวิตอยู่ข้างถนน แต่ของประเทศเราเนี่ย ทำท่าเหมือนจะล็อกดาวน์ให้โรคมันหายไปชั่วกัปชั่วกัลป์น่ะ


การระบาดระลอกนี้ คุณหมอคิดว่าเรื่องความพร้อมของโรงพยาบาลดีขึ้นบ้างไหม

ผมคิดว่าไม่น่ะสิ คือรอบแรกมันฉุกละหุกมาก แต่รอบแรกระบาดนิดเดียว แล้วรัฐบาลก็สื่อสารเหมือนกับว่าเราจะไม่ต้องทำอะไรแล้ว โรงพยาบาลก็ไม่ได้ปรับอะไรมากมายเท่าไหร่ คือปรับบ้าง แต่ไม่ได้เตรียมมาเจอการระบาดขนาดใหญ่ๆ ที่จะตามมา พอรอบสองเขาก็ดีขึ้นกว่าเดิม แต่ถามว่าหมอในโรงพยาบาลที่ไม่เคยเจอโควิด เคยถูกฝึกอบรมให้ดูแลคนไข้โควิดไหม ผมก็ไม่เคยได้ยินว่ามีการอบรมใหญ่ขนาดนั้น ถ้าเป็นประเทศอื่นอาจจะมีการจัดอบรมใหญ่ทั้งประเทศ ให้หมอมาหัดดูแลคนไข้โควิดพร้อมกัน แต่ในไทยก็ไม่เคยได้ยินอะไรอย่างนั้น

เรื่ององค์ความรู้ทางการแพทย์ หมอที่อยู่ส่วนกลาง หรือ ศบค.ไม่มีความรู้แน่นอน เพราะเขาไม่เคยดูแลคนไข้โควิด หมอที่มีความรู้คือหมอที่ดูคนไข้โควิด คนที่รู้เรื่องนี้เยอะมากซึ่งผมโพสต์ถึงบ่อยๆ ก็เช่น หมอสมนึก สังฆานุภาพ โรงพยาบาลจักรีนฤบดินทร์ เขาดูคนไข้เยอะ เรียกว่าเป็นคลังความรู้ของประเทศไทยเลย ที่ รพ. ศิริราช รพ. จุฬาฯ ก็คงมีหมอที่เชี่ยวชาญอยู่ แต่ผมไม่เคยฟังเขาคุยกันเลยว่าเขาแลกเปลี่ยนความรู้กันอย่างไร ซึ่งกิจกรรมพวกนี้จริงๆ ควรทำกันตลอดทั้งปี


คุณหมอคิดว่าตอนนี้มีมาตรการอะไรที่เราทำได้ดีแล้ว ต้องทำต่อไป และมีอะไรที่เรายังไม่ได้ทำหรือยังทำได้ไม่ดีบ้าง

ที่ทำได้ดีแล้วก็อย่างที่เขาชม เรื่องสวมหน้ากากน่ะ ดีแล้ว (หัวเราะ) โรงพยาบาลก็ทำได้ดีพอสมควรนะ ส่วนการจัดการในโรงพยาบาล การจัดการผู้ป่วยหนัก ผมไม่สามารถบอกได้เพราะผมก็ดูจากข้างนอก แต่เรื่องอื่นๆ ผมคิดว่ามันดูแปลกๆ เป็นส่วนใหญ่ เช่น การล็อกดาวน์ ในสถานการณ์แบบนี้ กิจกรรมสำคัญเชิงเศรษฐกิจและสังคมต้องได้ไปต่อ เช่น การศึกษา ที่เป็น top priority ทั้งโลกพูดเหมือนกันว่าห้ามเสียสละการศึกษาเพื่อล็อกดาวน์ แต่ประเทศเราเสียสละก่อนเลย เราทอดทิ้งเด็กนักเรียนนักศึกษาก่อนเลย ตอนนี้ผมไปที่ไหนก็ได้ แต่เข้าสถานศึกษาไม่ได้ อันนี้ประหลาด

หรือเรื่องการจัดการวัคซีน เวลามีการระบาดของโรคร้ายแรงต้องมีการจัดการความเสี่ยง คุณมีแผน A ก็ดีแล้ว แต่ต้องมีแผน B เมื่อแผน A พัง เมื่อแผน B พัง คุณต้องมีแผน C แผน C พังคุณต้องมีแผน D เรื่องโควิดเนี่ยคุณต้องมีแผนไปถึง E และ F เลย แต่รัฐบาลมีแผนเดียว ไม่จัดการความเสี่ยงเลย อย่างนี้แปลก


ในการจัดการวัคซีนและการจัดการความเสี่ยง เรื่องสำคัญที่สุดที่เราต้องมองคืออะไร

การจัดการเรื่องวัคซีนมีอยู่ 2 ขั้น ซึ่งรัฐบาลไม่ได้จัดการทั้ง 2 ขั้นเลย ขั้นที่ 1 คุณต้องมีที่มาของวัคซีน โดยต้องมีแผนคือ วัคซีนชุดที่ 1 ซื้อจากที่ที่หาซื้อง่ายที่สุด ชุดที่ 2 ผลิตในประเทศ ชุดที่ 3 พัฒนาขึ้นเอง ตอนนี้เราทุ่มอยู่ที่เรื่องผลิตในประเทศ แต่ซื้อมาน้อยมาก 2.5 ล้านโดสเนี่ยนะ สำหรับผมเหมือนกินน้ำจิ้มอยู่ ยังไม่ได้เข้าเรื่องเลย แล้วทั้งหมดอยู่ที่การผลิตของสยามไบโอไซเอนซ์ คือถ้าคุณจัดการความเสี่ยงคุณก็ต้องซื้อสัก 5 เจ้า เจ้าละสัก 2 ล้าน การผลิตวัคซีนซับซ้อน อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้เสมอ แหล่งวัคซีนอาจจะหายไปเฉยๆ ก็ได้ เช่น ตอนโควิดระบาดใหม่ๆ โรงงานที่อินเดียไฟไหม้ แต่เขาสร้างไว้สามโรงงาน ไหม้ไปหนึ่งโรงงาน ก็ยังเหลืออีกสองโรงงานที่ทำงานได้ เป็นการจัดการความเสี่ยงของเขา ถ้าเรามีโรงงานเดียวแล้วไฟไหม้เราทำอย่างไรล่ะ จบเห่กันพอดี ไม่ต้องถึงกับไหม้หายไปทั้งโรงงานนะ ไหม้แค่เสียหายพอสมควร ก็ต้องใช้เวลาหมดไปเป็นปีแล้วกว่าจะทำใหม่


เราต้องตั้งต้นทำความเข้าใจประสิทธิภาพของวัคซีนอย่างไร จริงๆ แล้วจุดประสงค์ของวัคซีนคืออะไร

จุดประสงค์ของวัคซีนอย่างเป็นรูปธรรมมีอยู่สองอย่าง เรื่องนี้ผมพอเข้าใจว่าคนที่ไม่ได้คุ้นเคยอาจจะสับสน แต่ถ้ารัฐบาลเราสับสน ประชาชนก็จะเดือดร้อนมากนะ จุดประสงค์ที่หนึ่งคือ วัคซีนป้องกันรายบุคคลที่ช่วยลดอัตราการเสียชีวิต ใครไปฉีดที่ไหนก็ตามสะดวก ใครใคร่ฉีดอะไรก็ฉีดไป จุดประสงค์ที่สองคือฉีดเพื่อหยุดการระบาด ให้ประเทศกลับมาฟังก์ชันได้ อันนี้ แปลว่าคุณต้องฉีดให้พอ ฉีดไปสองล้านไม่มีอะไรดีขึ้น มีแต่เลวลง เพราะเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เกิดการระบาด เช่น ฝรั่งเศสหรืออินเดีย คือการฉีดได้ช้า แล้วคนประมาท บางประเทศไม่มีปัญหานี้ เช่น อังกฤษ เพราะเขาฉีดแบบถล่มทลายอยู่ไม่กี่เดือน ไม่ทันไรเขาก็ฉีดครบหมด เรายังไม่ได้เริ่มฉีดเลย ถ้าฉีดไปนิดเดียวแล้วคนสบายใจหรือประมาท ซวยเลย

การฉีดให้ถึงระดับที่ประเทศกลับมาฟังก์ชันต้องฉีดให้ถึง herd immunity หรือต้องฉีดให้ได้ 85 เปอร์เซ็นต์ของคนในประเทศ เท่ากับประชากรประมาณ 50 ล้านคน แปลว่าคุณต้องมีวัคซีน 100 ล้านโดส ซึ่งตอนนี้จะหามาจากไหนยังไม่รู้เลย เพราะฉะนั้นที่รัฐบาลสั่งซื้อมาแล้วมันจะไปพออะไร


ฟังแบบนี้แล้วท้อนิดหน่อย จะเกิดอะไรขึ้นถ้าเราไม่สามารถฉีดแบบถล่มทลายเหมือนอังกฤษได้ แต่ค่อยๆ ฉีดนับจำนวนไปเรื่อยๆ

ก็น่าท้อ (หัวเราะ) ระหว่างที่คุณกำลังค่อยๆ นับจำนวนโดสไป คุณก็ต้องอยู่เหมือนวันนี้ จนกว่ามันจะครบ 100 ล้านโดส ถึงจะปลอดภัย ด้วยอัตราฉีดปัจจุบัน ก็ต้องอยู่อย่างนี้ไปอีกหลายปี

ตัวเลขที่ฉีดวัคซีนได้ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 15,000 โดสต่อวัน เดือนหนึ่งฉีดได้ 450,000 โดส ต่อให้เราสมมติ ปัดให้เดือนหนึ่งฉีดได้ 1 ล้านโดส กว่าจะฉีดได้ 50 ล้านโดสก็ใช้เวลาประมาณ 4 ปี 100 ล้านโดสก็ 8 ปี ระหว่างนี้ไปจนถึงอนาคตข้างหน้า คุณก็ต้องใช้ชีวิตไม่ต่างจากวันนี้ นี่ยังไม่นับว่าจะมีเชื้อที่กลายพันธุ์โผล่มาอีกนะ


ปัจจุบันเชื้อโรคได้มีการกลายพันธุ์อย่างน้อยถึง 4 สายพันธุ์ การจัดการวัคซีนในประเทศไทยได้ครอบคลุมเรื่องดังกล่าวหรือไม่ เราควรบริหารจัดการวัคซีนอย่างไรเมื่อโรคกลายพันธุ์

ไม่ครอบคลุมครับ คือวัคซีนแอสตราเซเนกาใช้กับเชื้อกลายพันธุ์สายพันธุ์อังกฤษได้ แต่ชัดเจนว่าใช้กับสายพันธุ์แอฟริกาใต้ไม่ได้ สายพันธุ์นี้พวกบริษัทต่างๆ ก็กำลังทำอยู่ ไม่รู้เมื่อไหร่จะเสร็จ การมีเชื้อกลายพันธ์แปลว่าเราต้องใช้แผนชุดที่ 3 คือต้องหัดทำเองบ้าง เพราะวันดีคืนดีหากมีสายพันธุ์อื่นๆ หรือมีสายพันธุ์ไทยโผล่ขึ้นมา ไม่มีใครทำวัคซีนให้จะทำอย่างไร ก็ต้องทำเองไง แต่การพัฒนาวัคซีนในประเทศยังอีกยาว เขาให้เงินมา ก็โอเคแหละ แม้จะอีกยาวก็ต้องทำไป

โดยทฤษฎี เชื้อโรคจะค่อยๆ เกิดมาทีละตัวสองตัวไปเรื่อยๆ ตัวนี้หาย ตัวนั้นก็โผล่ อย่างวัคซีนโปลิโอที่เราใช้กัน ทำตั้งแต่ยุคสงครามโลกครั้งที่สอง ยังใช้อยู่เลย (หัวเราะ) มันไม่เดือดร้อน ไม่หนีไปไหน เชื้อโรคก็อยู่แถวนี้แหละ แต่ถ้าเป็นไข้หวัดใหญ่เชื้อจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ โควิดก็จะคล้ายกัน

เมื่อมีเชื้อสายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้น โดยทั่วๆ ไป สายพันธุ์ใหม่มักจะไม่ขาดจากสายพันธุ์เก่าร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้นพวกที่มีภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์เก่าเยอะมักจะพอทนได้ วิธีหนึ่งที่อเมริกากำลังลองทำอยู่คือฉีดเข็มที่สาม เพื่อทดสอบดูว่าช่วยป้องกันสายพันธุ์ใหม่ไหม ก็ต้องลองดู ในขณะเดียวกันก็ต้องเตรียมการสำหรับสายพันธุ์ใหม่ไปเรื่อยๆ ต้องวิ่งไล่มัน อย่างระบบของไข้หวัดใหญ่จะมีการเตรียมการเป็นประจำอยู่แล้ว ทุกๆ ปีจะมีการสำรวจสายพันธุ์ทั่วโลกแล้วตัดสินใจว่าเราจะทำวัคซีนตัวไหนบ้าง 3 ตัว ผลิตแล้วผสมเข้าด้วยกัน แล้วก็ฉีดพร้อมกัน 3 ตัว ดังนั้นวันหนึ่งเราก็อาจต้องฉีดวัคซีนหลายตัวที่ผสมอยู่ด้วยกัน ปัจจุบันยังถือเป็นช่วงต้นๆ ของพัฒนาการโรคโควิด-19 หลังจากหลายปีผ่านไปเราก็จะรู้วิธีจัดการมันระดับหนึ่ง


นอกจากปริมาณของวัคซีนที่จัดหามาได้ เรื่องวิธีการกระจายฉีดวัคซีนควรเป็นอย่างไร

นี่เป็นปัญหาต่อมา คือเราไม่มีวิธีฉีดวัคซีนโควิด ประเทศไทยมีวิธีฉีดวัคซีนที่มีประสิทธิภาพคือระบบการฉีดวัคซีนให้เด็ก เพราะเรารู้ว่าถ้าเราจะฉีดวัคซีนให้เด็กทุกคน เราจะต้องมุ่งไปที่โรงเรียนหรือคลินิกเด็ก เราจัดระบบไว้หมด เด็กทุกคนได้ฉีดหมด ไม่เล็ดรอด เพราะเมื่อเด็กอยู่ในโรงเรียนแล้วจะมีทะเบียนครบทุกคน ฉีดได้ง่าย ไม่มีปัญหา

แต่ถ้าถามว่าเราจะฉีดวัคซีนให้ผู้ใหญ่ทุกคนได้ที่ไหน ไม่มีใครรู้ หากเรายังไม่รู้และใช้วิธีฉีดมั่วๆ แบบนี้ ฉีดเท่าไหร่ก็ไม่ครบหรอก เพราะบางคนก็ไม่ยอมมาฉีด บางคนฉีดแล้วจะกลับมาฉีดอีกเพื่อความสบายใจ คนทำงานก็จะงงไปหมดว่า เฮ้ย ตกลงฉันฉีดไปเท่าไหร่แล้วเนี่ย หากเป็นแบบนี้จะไล่ฉีดให้ครบ 85 เปอร์เซ็นต์ของประชากรยากมาก

ในระบบที่เรามีอยู่ ดีที่สุดก็เป็นระบบฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่สำหรับคนแก่ที่กระทรวงสาธารณสุขทำไว้ หนึ่งปีเขาวางแผนฉีดให้ถึง 4 ล้านคน โดยจะมีทะเบียนว่าคนแก่อยู่ที่ไหนบ้าง ไปฉีดที่ไหนถึงจะได้ประโยชน์มากที่สุด เพราะฉะนั้นจริงๆ ทะเบียนอันนี้อาจจะพอใช้ฉีดวัคซีนโควิดได้ แต่วัคซีนโควิดต้องการฉีดคนจำนวนมากกว่าวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ดังนั้นต้องทำระบบเป็นภาพรวมของประเทศ


ในสถานการณ์โรคระบาดมีหลักคิดในการนิยามกลุ่มเปราะบางอย่างไร และเราควรจัดลำดับการฉีดอย่างไร

เราต้องย้อนกลับมาว่าคุณฉีดวัคซีนด้วยวัตถุประสงค์สองอย่าง ในแง่ส่วนบุคคลคือคุณลดอัตราการเสียชีวิต คนที่มีผลกระทบเรื่องเสียชีวิตมากที่สุดคือคนอายุเกิน 60 ปี ดังนั้นคุณก็ต้องป้องกันส่วนเปราะบางตรงนี้ วัตถุประสงค์ที่สองคือลดการระบาด ก็ต้องไปหาคนที่เขาทำให้เกิดการระบาด คือคนที่พบปะคนอื่นเยอะ กลุ่มนี้อาจไม่ได้เรียกว่ากลุ่มเปราะบาง แต่ถ้าฉีดกลุ่มนี้โอกาสที่การระบาดจะลดลงก็จะเร็ว เช่น ก่อนหน้านี้ ผบ.ทบ. บอกว่าจะฉีดวัคซีนให้แคดดี้สนามกอล์ฟ เรื่องนี้ก็ไม่ได้ตลกเสียทีเดียวนะ เพียงแต่แกพูดเรื่องแคดดี้สนามกอล์ฟทำไมก็ไม่รู้ ในสังคมยังมีคนขับรถเมล์ กระเป๋ารถเมล์ คนขับแท็กซี่ พนักงานบริการอีกหลายกลุ่มที่ถ้าฉีดแล้ว โอกาสที่จะหยุดการแพร่กระจายของเชื้อจะดีขึ้น

ตอนนี้เราจัดลำดับการฉีดวัคซีนด้วยแนวคิดเชิงปัจเจกเป็นหลัก อย่างการรักษาบุคลากรทางการแพทย์ก่อน อันนี้โอเค เข้าใจได้เพราะบุคลากรต้องใกล้ชิดคนที่ติดเชื้อหรือคนเสี่ยง แต่การเอาคนแก่ก่อน เอาคนเจ็บป่วยหนักก่อน จริงๆ คนแก่และคนเจ็บป่วยหนักส่วนมากก็อยู่บ้าน ไม่ได้มาแพร่เชื้อใครหรอก เพราะฉะนั้นแนวคิดสองแนวคิดนี้ไม่ตรงกันเสียทีเดียว ต้องตัดสินใจว่าจะเอาวิธีไหน การวางแผนขึ้นอยู่กับว่าเราจะได้วัคซีนเมื่อไหร่และเท่าไหร่ด้วย

วิธีการทำงานที่ยุ่งยากแบบนี้จำเป็นจะต้องมีคนตัดสินใจ แต่คนที่ตัดสินใจจะต้องปรึกษาหารือให้มากพอก่อน ต้องรับฟังให้พอก่อนตัดสินใจ พอตัดสินใจแล้วประกาศออกไป ก็ต้องให้คนทั้งประเทศทำตาม แต่คนในประเทศจะทำตามก็ต่อเมื่อเขาเชื่อใจคนประกาศ ปัญหาคือว่าเราไม่มีการปรึกษาหารือกันเลย และคนประกาศไม่ได้มีความน่าเชื่อถือ


ก่อนหน้านี้พอเกิดคลัสเตอร์ในบางสถานที่ เช่น ทองหล่อ รัฐก็ไปฉีดวัคซีนให้คนกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่ วิธีการแบบนี้ถูกต้องไหม

แผนที่ที่ถูกใช้ในการควบคุมโรคไม่ใช่แผนที่กายภาพ ดังนั้นไม่ใช่ว่าพอระบาดที่ทองหล่อ คุณก็ไปฉีดที่ทองหล่อ แผนที่ที่ใช้ในการควบคุมโรคจริงๆ คือแผนที่ความสัมพันธ์ คนที่ติดเชื้อไปใกล้ชิดกับใครบ้าง คนที่เขาไปใกล้ชิดอาจจะไม่ได้อยู่ที่ทองหล่อก็ได้

สมมติมีคนติดโควิดที่ตึกตรงข้าม ผมไม่เคยคุยด้วยเลย ไม่เคยเข้าไปตึกนั้นสักครั้ง แล้วเดือดร้อนอย่างไรหรือผมถึงต้องฉีด เพราะฉะนั้น การฉีดที่ทองหล่อมีโอกาสไม่มากที่เขาจะได้คนที่เกี่ยวข้อง ในทางปฏิบัติตอนนี้เชื้อโรคแพร่ไปทั่วแล้วแหละ ไม่ต้องไปตามหรอกว่าเขาไปติดใคร วัคซีนก็จัดลำดับแล้วฉีดไปเถอะ


แล้วอย่างการประกาศไทม์ไลน์ผู้ติดเชื้อล่ะ ยังจำเป็นไหม

สำหรับผม ผมว่าไม่จำเป็นนะ คุณมีคนไข้วันละเป็นพัน คุณจะไปตามไทม์ไลน์เขาหมดได้อย่างไรว่าใครไปไหน ก็วันๆ เขาเจอคนเดินผ่านกี่คน หรือถ้าเจอไทม์ไลน์ไปเซเว่นก็จบเห่แล้ว (หัวเราะ) เซเว่นคนเข้าเยอะมาก ถ้าต้องมาเขียนไทม์ไลน์จริงๆ คงมีไปทั่วแล้ว หมายความว่าในทางปฏิบัติ ไทม์ไลน์ไม่เห็นจะช่วยอะไรมากมาย ไทม์ไลน์ไปเกี่ยวข้องกับอีกเรื่องหนึ่งที่รัฐบาลไม่ค่อยยอมจ่าย คือการตรวจ ไทม์ไลน์กลายเป็นข้ออ้างว่าเมื่อไม่ไปในสถานที่ที่อยู่ในไทม์ไลน์ ก็ไม่ต้องตรวจ ในขณะที่ประเทศอื่นเขาตรวจให้หมด ใครอยากตรวจเขาก็ตรวจ


ทำไมทุกวันนี้เรายังไม่สามารถเข้าถึงการตรวจได้ง่ายๆ แบบในต่างประเทศ

ในเชิงแนวคิด ต้องยอมรับว่าการตรวจที่มีคุณภาพสูงมีจำนวนจำกัด รัฐบาลก็ใช้อย่างประหยัด และได้ใช้ความพยายามระดับหนึ่งในการขยายขนาดการตรวจ แต่ขนาดก็ยังจำกัดอยู่ คราวนี้ชุดตรวจบางอันมีคุณภาพต่ำกว่า รัฐบาลมีความเชื่อว่าถ้าใช้การตรวจคุณภาพต่ำ ประชาชนจะสับสนแล้วทำให้เกิดความเดือดร้อน รัฐบาลไม่มีความเชื่อใจประชาชนว่าประชาชนฉลาดพอจะหาความรู้และทำความเข้าใจได้ว่าชุดตรวจนี้ทำอะไรได้บ้าง มีประสิทธิภาพแค่ไหน และควรทำอะไรต่อ ประเทศนี้รัฐบาลไม่เชื่อว่าประชาชนมีสติปัญญา ที่สำคัญคือประชาชนก็ไม่เชื่อว่ารัฐบาลมีสติปัญญา (หัวเราะ) มันเลยเป็นอย่างนี้แหละ


มีโมเดลต่างประเทศที่น่าสนใจและเทียบเคียงกับเราได้บ้างไหม เช่น กรณีประเทศที่อาจมีกำลังซื้อได้น้อย จัดซื้อหรือฉีดได้ช้า

เขาก็ไปร่วม COVAX กันครับ ถามว่าเรามีกำลังซื้อไหม โดสแพงๆ อย่าง Moderna 1 โดส 40 เหรียญ หรือ 1,600 บาท ซื้อ 80 ล้านโดส ก็ 128,000 พันล้านบาท เรามีเงินไหม มี คุณใช้ไปกับโครงการทั้งหลายไปเท่าไหร่แล้ว เรามีกำลังซื้อ ไม่ใช่ไม่มี


คุณหมอคิดอย่างไรกับการที่เราไม่เข้าร่วม COVAX

เขาประมาทไป คือ COVAX จะมีปัญหาอะไรบ้างก็แล้วแต่ แต่เราอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่มีทางเลือก

สิ่งที่ผมไม่รู้ว่ารัฐบาลเข้าใจหรือเปล่าคือ การต่อสู้กับโรคระบาดเป็นการทำสงคราม คุณจะแพ้ไม่ได้ ไม่ว่าด้วยราคาเท่าไหร่ ท่านซื้อรถถัง ท่านจะยิงกับใครหรือ ท่านซื้อมาท่านก็ไม่ได้ทำอะไร แต่ท่านก็ยินดีจ่ายคันละเป็นพันล้าน ถ้าเราจะเอาเงินมาเตรียมของไว้สำหรับโรคติดเชื้อ วัตถุประสงค์คือเรื่องเดียวกันเลย วันหนึ่งหากเราเกิดปัญหาขึ้น ความเสียหายมากมายมหาศาล ถ้าท่านพร้อม เราก็จะพอสู้ได้ เพราะฉะนั้นเวลาเราทำงานกับโรคระบาด เราใช้ทัศนคติแบบเดียวกันคือ ถ้าเป็นเรื่องราคา ไม่ต้องคิด


ปัจจุบันเราเห็นคนได้รับผลข้างเคียงจากวัคซีน ทั้งการแพ้ในระดับที่ไม่รุนแรง ไปจนถึงการเกิดลิ่มเลือด ถึงที่สุดแล้วการฉีดวัคซีนในเงื่อนไขผลข้างเคียงเหล่านี้เป็นเรื่องที่ปลอดภัยหรือไม่

การฉีดวัคซีนจะมีผลข้างเคียงอยู่ 2 ชนิด ชนิดที่หนึ่งคือผลข้างเคียงแบบไม่รุนแรง ซึ่งเจอเกือบทุกตัว เป็นไข้ ปวดเมื่อย ปวดหัว ถ้าคนไข้พอทนได้เราก็ฉีด แต่ชนิดที่สองคือผลข้างเคียงที่รุนแรง ฉีดแล้วช็อก ฉีดแล้วเป็นอัมพาต ฉีดแล้วเสียชีวิต ซึ่งโดยทั่วๆ ไปมักจะพิสูจน์ไม่ได้ว่าเป็นเพราะวัคซีน ถ้าเจอไม่บ่อย ก็บอกไม่ได้ว่าเป็นเพราะฉีดวัคซีนหรือเปล่า แต่ในกรณีวัคซีนแอสตราเซเนกา มันพิสูจน์ได้ว่าเกิดลิ่มเลือดจากการฉีดวัคซีนในอัตรา 1: 250,000 การพิสูจน์นี้อาศัยฝีมือของนักวิจัยซึ่งหายากและความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ซึ่งในอดีตยังไม่มี

คำถามคือ เรายอมใช้วัคซีนที่ฉีดแล้วอาจจะเสียชีวิตไหม แม้ว่าอัตราการเสียชีวิตมีน้อยมาก นี่เป็นคำถามเชิงปรัชญา ในสถานการณ์ปกติซึ่งไม่มีการระบาด จะไม่มีทางใช้ สมมติมีคนบอกคุณว่าฉีดวัคซีนแล้วอาจตายได้นะ ถ้าคุณไม่ฉีดไม่ตายหรอก ใครที่ไหนจะไปฉีด เพราะฉะนั้นวัคซีนในสภาพปกติไม่มีทางผ่าน อย. ได้อยู่แล้ว ก็เลยเกิดคำถามว่า อ้าว ถ้าอย่างนั้นในสภาวะโรคระบาดจึงยอมให้ผ่านหรือ คำตอบก็คือ เรายอมให้ผ่านเพราะอัตราการเสียชีวิตจากวัคซีนน้อยกว่าอัตราการเสียชีวิตจากโรค

ปัญหาคือ ความคุ้มค่าเช่นนี้จะเปลี่ยนแปลงตามสถานที่และเวลา ไม่ใช่ของคงที่ เช่น หากเราบอกว่าที่ให้ฉีดวัคซีนเพราะคิดว่าอนาคตจะมีการระบาดเยอะ คนจะเสียชีวิตจากการติดโรคเยอะ แต่ถ้าคุณฉีดวัคซีนให้คนครบ 50 ล้านคนในวันพรุ่งนี้ ก็อาจจะพบว่าคนที่เสียชีวิตจากวัคซีนอาจมีอยู่หลายคน ยิ่งเมื่อเรารู้ว่าคนที่เป็นลิ่มเลือดส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงที่อายุน้อยกว่า 50 ปี เป็นคุณจะแนะนำให้ผู้หญิงฉีดไหม ในฐานะหมอ ผมก็จะคิดกับตัวเองเหมือนกันแหละว่า ผมควรจะส่งคุณไปฉีดวัคซีนนั้นไหม ปัญหานี้จึงขึ้นอยู่กับทางเลือก อย่างประเทศเดนมาร์กก็มีวิธีคิดง่ายๆ คือ เขามีทางเลือก เขาไม่เอาวัคซีนที่มีผลข้างเคียง ทิ้งไปเลย ส่วนประเทศอย่างอังกฤษ อเมริกา เยอรมัน เขาก็บอกว่า คนอายุเกิน 60 ฉีดแล้วไม่เป็นไร งั้นฉีดวัคซีนนี้ให้คนที่อายุเกิน 60 ก็แล้วกัน ส่วนคนอายุน้อยกว่า 60 ก็ไปฉีดวัคซีนอย่างอื่น ปัญหาของบ้านเราก็คือ เราไม่มีทางเลือกให้


ช่วงที่ผ่านมามีข่าวคราวเรื่องการพัฒนายารักษาโควิดได้ หากยาสำเร็จจะเปลี่ยนสถานการณ์โควิดได้ไหม

ตอนนี้เริ่มมียาบางตัวที่ดูดี ถ้ายามันโอเค เราอาจจะบอกว่าไม่เป็นไร ปล่อยให้คนติดเชื้อไป เดี๋ยวรักษาเอา แต่โดยทั่วๆ ไปวิธีนี้มักจะแพงกว่าการใช้วัคซีนป้องกันมาก นอกจากนี้ ยาเป็นการแก้ปัญหาหลังจากเกิดแล้ว ซึ่งจะไม่ช่วยเรื่องเศรษฐกิจเท่าไหร่ ในตอนนี้การป้องกันความเสียหายเป็นเรื่องสำคัญที่สุด เศรษฐกิจเสียหายลึกมาก ถ้าเราทนแบบนี้ไปอีก 3-4 ปีไม่น่ารอดมั้ง


จริงๆ แล้วประเทศไทยมีศักยภาพและการสนับสนุนที่เพียงพอไหมสำหรับการคิดค้นหรือพัฒนายา-วัคซีนด้วยตัวเอง

เอาอย่างนี้แล้วกัน คุณคิดว่ามียาอะไรบ้างที่ตัวสารเคมีผลิตในเมืองไทย คิดว่ามีสักกี่ตัว…

คำตอบคือ เกือบไม่มีเลย 10 กว่าปีก่อน ผมเคยไปประชุมที่หอการค้าประเทศเยอรมนี คนเยอรมันเขาพูดว่า ถามจริงๆ เถอะ ประเทศที่มีรายได้อย่างประเทศไทย มีจำนวนประชากรขนาดนี้ ประเทศไทยมียุทธศาสตร์อะไรถึงไม่ผลิตยา ผมก็อึ้ง ไม่รู้จะตอบว่าอะไร พูดตรงๆ คือผมก็มีคำถามเดียวกัน ทำไมเราถึงไม่ผลิตนะ เราติดปัญหาอะไร มีคนไหม ก็มีคนที่มีความรู้อยู่ระดับหนึ่ง มีเงินไหม ก็มีนะ แต่ทำไมไม่ผลิตล่ะ

ผลข้างเคียงหนึ่งของการที่เราไม่สามารถผลิตยาเองเป็นเวลานานมาก คือคนที่เคยผลิตเป็นล้มหายตายจากไปหมดแล้ว ปัจจุบันคนไทยไม่สามารถดูแลโรงงานผลิตยาและวัคซีนได้สักเท่าไหร่นัก คนที่ดูแลเป็นเหลือไม่มาก สมัยหนึ่งนานมาแล้วเราผลิตวัคซีนในประเทศสิบกว่าอย่าง ผลิตเอง ใช้เองเลยนะ องค์การเภสัชกรรมเคยผลิตวัคซีน 7-8 อย่าง ตอนนี้ไม่ได้ผลิตสักอย่าง ตอนนี้เพิ่งสร้างโรงงานใหม่เสร็จ ปัจจุบันที่เราผลิตอยู่ประจำก็มีวัคซีนวัณโรคที่สภากาชาด คนที่ดูแลโรงงานวัคซีนส่วนมากก็อายุมากแล้ว ยังดีที่เอกชนเริ่มสนใจ เช่น โรงงานวัคซีนใหม่ของบริษัทบริษัทไบโอเนท-เอเชีย และบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์


โอกาสที่เราเสียไปจากการที่เราไม่สามารถผลิตยาและวัคซีนเองคืออะไร

ปัญหาที่หนึ่งเป็นเรื่องความมั่นคง คือถึงเวลาที่ต้องผลิต ก็ผลิตไม่ได้ อยากจะใช้ก็ต้องไปพึ่งเขา สอง เรื่องนี้ก็เป็นธุรกิจ เป็นอุตสาหกรรมที่มีเงินไม่ใช่น้อย แล้วทำไมถึงไม่ทำล่ะ ไปซื้อเขามาใช้ มันเสียทั้งเงินและการจ้างงานระดับสูง ถ้าคุณไม่มีโรงงานเหล่านี้ ถามว่าเด็กจบปริญญาเอกทำงานที่ไหน ก็ไม่มีงานทำ ตอนนี้เด็กเขาก็ไม่เรียนปริญญาเอกกันแล้ว เปิดรับสมัครก็ไม่มีใครมา ตอนบริษัทไบโอเนท-เอเชียที่เป็นบริษัทวัคซีนเปิดโรงงานในเมืองไทย เขารับคนไทยที่จบปริญญาเอกตั้ง 100 คน พอรับแล้วก็เต็ม รับรุ่นต่อไปไม่ไหว ในประเทศอื่นที่มีโรงงานผลิตวัคซีน เด็กที่จบปริญญาเอกปริญญาโทของเขาก็มีงานทำ แต่ของเราไม่มี


โควิด-19 ไม่ใช่โรคระบาดแรกที่ประเทศไทยเคยเจอ เทียบกับในอดีตที่ผ่านมาประเทศเราจัดการเรื่องวัคซีนได้แย่ลงไหม มีบทเรียนเรื่องการจัดการวัคซีนครั้งไหนที่มีประสิทธิภาพสูงบ้าง

ช่วงซาร์สผมว่าโอเค เริ่มต้นจาก สวทช. ที่เป็นศูนย์กลางในการจัดการเรื่องโรคระบาดใหม่ ตั้งแต่ตอนที่ซาร์สเริ่มระบาด เราก็รวบรวมผู้คนมาประชุม หาเงินให้เขาทำวิจัย ทำมาเรื่อยๆ หลักการคือ โรคติดเชื้อก็เป็นภัยพิบัติเหมือนสึนามิ เหมือนสงคราม เหมือนแผ่นดินไหว เหมือนภูเขาไฟ เรื่องเดียวกัน เวลาเกิดภัยพิบัติคุณต้องการของสองสิ่ง หนึ่ง Infrastructure หรือเครื่องไม้เครื่องมือที่ใช้งานได้ ถ้าไม่มีเครื่องมือคุณทำอะไรไม่ได้ ต้องมีให้พร้อม ซึ่งเราก็ทำมาตลอด ห้องปฏิบัติการหลักที่ใช้ดูประสิทธิภาพวัคซีนในระดับแล็บไปจนถึงระดับสัตว์ทดลองต้องได้มาตรฐานความปลอดภัยระดับสาม ก็มีหน่วยงานต่างๆ ช่วยกันลงทุน ทำให้เราทดสอบวัคซีนทุกตัวในประเทศไทยได้ที่นี่แหละ

สอง ต้องมีคนที่มีความชำนาญนั่งอยู่ที่นั่นและทำงานตลอดเวลา แม้ในเวลาที่ไม่มีเรื่องก็ต้องหางานให้เขาทำ ส่วนมากก็เป็นงานวิจัย คนเหล่านี้เลี้ยงไว้ใช้งานวันเดียว คือวันที่เกิดภัยพิบัติ ระหว่างนั้นก็หางานให้เขาทำไป มีโรคระบาดใหม่ เราก็ตอบสนองได้ แต่ละครั้งก็ตอบสนองดีขึ้นเรื่อยๆ

จริงๆ ครั้งนี้ก็ตอบสนองดีกว่าเดิมนะ แต่ปัญหาคือการระบาดครั้งนี้ใหญ่กว่าเดิม ถึงเตรียมพร้อมมาก็ต้องเหนื่อย และการระบาดคราวนี้ที่ต่างจากทุกครั้งคือ เราไม่มี Leadership (ภาวะผู้นำ) สมัยไข้หวัดนก รัฐบาลให้หน่วยงานกระทรวงต่างๆ มีส่วนร่วมในการคิดแก้ปัญหามาก ลงรายละเอียดกันเป็นทีมมาก มีทั้งกระทรวงการต่างประเทศ มหาดไทย กลาโหม การคลัง ไปจนถึงกรมประชาสัมพันธ์ และอื่นๆ คุณจาตุรนต์ ฉายแสง เป็นประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาสถานการณ์ แกประชุมยาว ซักไซ้ไปทีละกรม ใครทำอะไรอยู่ แต่ละกรมทำถึงไหนแล้ว ประสานกันอย่างไร


คุณหมอคิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับการให้ข้อมูลเรื่องโรคและวัคซีนของภาครัฐ มีเนื้อหาสาระใดที่ประชาชนจำเป็นต้องรู้ แต่ยังไม่มีการอธิบายหรือคำตอบที่ชัดเจนบ้าง

ผมคิดว่ามีปัญหาในการให้ข้อมูล หนึ่ง เขาไม่สามารถสร้างความเชื่อใจได้ ผมคิดว่านี่คือปัญหาสำคัญที่สุด การทำงานแบบนี้ถ้าคุณไม่ได้รับความเชื่อใจตั้งแต่ต้น อย่างไรก็ทำไม่สำเร็จ รับประกันได้ สอง เขาไม่ได้ใช้โอกาสนี้ในการสื่อสารข้อมูลที่จำเป็น ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น ข้อเท็จจริงว่าการกักตัวคนไข้ในโรงพยาบาลสนามจะไม่ทำให้คนไข้ติดเชื้อกัน ทำไมคุณไม่บอกชาวบ้านล่ะ พอมีสื่ออธิบาย คนก็บอกว่าดีจัง สงสัยมานาน นี่เป็นความรู้ที่รู้กันทั่วไป ทำไมรัฐบาลต้องปล่อยให้ชาวบ้านสงสัยอยู่ มัวแต่เล่าว่าวันนี้มีคนไข้มากกว่าหรือน้อยกว่าเมื่อวานกี่คน มันมีเรื่องอื่นต้องเล่าอีกเยอะ เช่นบอกว่าเรามีกำลังตรวจได้จริงๆ กี่คน แล้วตรวจเจอกี่คน 


ในอนาคตจะมีวันที่เราอยู่โดยที่โควิด-19 ไม่เป็นอันตรายอีกต่อไปไหม

มีสิ ก็เหมือนไข้หวัดใหญ่แหละ คุณก็อยู่กับไข้หวัดใหญ่ได้ วันหนึ่งคุณก็จะอยู่กับโควิดอย่างนี้แหละ

เอาอย่างนี้ ทุกวันนี้มีคนไข้วัณโรคตายวันละ 10 คน สม่ำเสมอทุกวัน และมีคนไข้วัณโรคปีละแสนคนทุกปี ไม่เคยลดลง คุณเดือดร้อนไหม ไม่เห็นจะเดือดร้อนเลย เยอะกว่าโควิดอีก คือถ้าคุณอยู่กับวัณโรคได้ทำไมคุณจะอยู่กับโควิดไม่ได้ คุณเดินเข้าห้างคุณติดวัณโรคได้ คุณขึ้นรถเมล์หรือเครื่องบินคุณก็ติดวัณโรคได้ ไม่เห็นเดือดร้อนเลย คุณก็ยังใช้ชีวิตต่อไป


การเกิดโรคระบาดใหม่ในอนาคตจะเป็นอย่างไร เช่น สมมติฐานเรื่อง disease x ที่กลายเป็นกระแส

disease x เป็นศัพท์ที่องค์การอนามัยโลกเขียนขึ้น เอกสารอยู่มาหลายปีแล้ว เขาพูดถึงโรคสมมติโรคหนึ่งซึ่งจะเกิดขึ้นแล้วทำให้เกิดการระบาด เหมือนโควิดนี่แหละ เวลาจำลองสถานการณ์เขาก็ไม่ทราบจะเรียกว่าอะไร เลยเรียกโรคนั้นว่า disease x จริงๆ คือองค์การอนามัยโลกเขาก็พยายามวางแผนเท่านั้นเอง ถามว่าแล้วสักวันจะมีอีกไหม มีอยู่แล้ว ใน 20 ปีที่ผ่านมาเรามีทั้งซาร์ส ไข้หวัดนก เมอร์ส อีโบลา ไข้หวัดใหญ่ หมดหรือยังเนี่ย นับไม่ค่อยถูกแล้ว (หัวเราะ) แล้วก็มีโควิด-19 ขึ้นมา ถ้าดูด้วยประวัติก็คือ เดี๋ยวมาเรื่อยๆ ครับ


หากอนาคตจะมีโรคอุบัติใหม่อีกอย่างแน่นอน เราต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตและการจัดการโรคระบาดอย่างไร

ไม่ต่างจากที่ผมบอกไป เวลาเตรียมรับภัยพิบัติ มีสองอย่างที่คุณทำได้ หนึ่ง มีโครงสร้างและเครื่องมือ พร้อมที่จะรับมือได้ เหมือนคุณเตรียมรับสถานการณ์ไฟไหม้ คุณต้องมีเครื่องดับเพลิง เครื่องดับเพลิงสำหรับโรคอุบัติใหม่ก็เช่น โรงพยาบาล โรงงานวัคซีน โรงงานยา ฯลฯ

สอง ถ้ามีเครื่องดับเพลิง แต่ไม่มีพนักงานดับเพลิงก็ทำอะไรไม่ได้ ก็ไปเตรียมพนักงานดับเพลิง เตรียมคนที่ใช้เครื่องมือพวกนั้นเป็น และต้องดูแลเขาให้ดี ซึ่งเราก็ดูแลมาตลอด ก็ดูต่อไปแล้วกันว่าเราจะดูแลคนพวกนี้ได้ดีสักขนาดไหน

และถ้าจะให้ดีกว่านั้นต้องมีข้อที่สามคือ การซ้อม ลุกขึ้นมาขัดสนิมกันเป็นครั้งคราว เครื่องดับเพลิงเก็บหลายปีก็มีสนิมขึ้น ตอนนี้ที่ สวทช. เราก็เตรียมเครือข่ายนักวิจัยโรคอุบัติใหม่เป็นกลุ่มๆ เช่น กลุ่มหนึ่งทำเรื่องไวรัส กลุ่มหนึ่งทำเรื่องแบคทีเรีย เงื่อนไขที่เราซัพพอร์ตกลุ่มเหล่านี้คือ เมื่อมีเรื่อง ห้ามตอบเราว่าเรื่องนี้ไม่เกี่ยวนะ เมื่อถึงเวลา เราขอให้เขาไปอยู่แนวหน้า ต้องไปนะ ห้ามเบี้ยว

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save