fbpx
ย้ายประเทศอย่างไร การเมืองในประเทศถึงจะเปลี่ยนแปลง

ย้ายประเทศอย่างไร การเมืองในประเทศถึงจะเปลี่ยนแปลง

บนหน้าฟีดของผู้เขียนช่วงนี้เต็มไปด้วยคนที่พูดถึงการ ‘ย้ายประเทศ’ กันหลากหลายทาง มีทั้งคนที่เตรียมจะย้ายจริงๆ คนที่อยากย้ายแต่ไปไม่ได้ คนที่ไม่ได้อยากย้ายออกแต่อยากย้ายคนอื่นออกไปมากกว่า หรือแม้แต่คนที่ต่อต้านกระแสย้ายประเทศ

แน่นอนว่าปรากฏการณ์การถกเถียงกันอย่างร้อนแรงบนโลกอินเทอร์เน็ตนี้คือปรากฏการณ์ทางการเมืองอย่างหนึ่ง ถือเป็นการส่งเสียงของประชาชนให้รับรู้ว่าพวกเขาหมดความหวังกับประเทศแล้ว

การที่คนจำนวนมากย้ายถิ่นฐานออกนอกประเทศมีทั้งผลเสียและผลดีต่อประเทศต้นทาง ผลเสียคือการเกิดปรากฏการณ์ ‘สมองไหล’ (Brain Drain/ Human Capital Flight) โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคนที่ย้ายออกเป็นกลุ่มคนที่มีทักษะเฉพาะ นับเป็นความสูญเสียเชิงเศรษฐกิจและสังคมโดยตรง ขณะที่ผลดีของการที่คนย้ายถิ่นฐานออกก็คือการนำเงินตราเข้าสู่ประเทศผ่านเงินโอน (Remittances) ซึ่งมีส่วนช่วยลดความยากจนในระดับครัวเรือน และลดอัตราการว่างงานภายในประเทศต้นทาง

อย่างไรก็ดี บทความนี้คงไม่ได้ลงรายละเอียดในเชิงทรัพยากรมนุษย์หรือเชิงเศรษฐกิจนัก แต่จะขอพูดถึงผลกระทบเชิงการเมืองในประเทศเป็นหลัก โดยข้อถกเถียงหนึ่งที่เราไม่อาจละเลยได้ นั่นคือความต้องการย้ายประเทศแก้ไขปัญหาทางการเมืองในประเทศไม่ได้ จริงหรือไม่?

จริงอยู่ว่ากระแสความต้องการย้ายประเทศอาจเป็นการส่งสัญญาณถึงการขาดความชอบธรรมของรัฐบาลที่มีอำนาจอยู่ แต่กระนั้นมันก็มีประโยชน์ในเชิงสัญลักษณ์ทางการเมืองที่กว้างกว่านั้น ถ้าเช่นนั้น การย้ายถิ่นฐานออก (Outmigration) จะส่งผลกระทบทางการเมืองภายในของประเทศหนึ่งได้อย่างไร?

บทความนี้นำคำตอบหลายๆ แบบจากงานวิชาการหลายชิ้นมานำเสนอ โดยจำกัดเฉพาะงานที่ศึกษากรณีของประเทศที่ประชาธิปไตยยังไม่สมบูรณ์ หรือปกครองด้วยระบอบผสม นั่นคือประเทศที่มีการเลือกตั้ง แต่การเมืองยังมีลักษณะของอำนาจนิยม มีระบบอุปถัมภ์แน่นหนาเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มชนชั้นนำและค้ำจุนกลุ่มอำนาจเดิม งานวิชาการเหล่านี้มุ่งศึกษาว่าการย้ายถิ่นฐานจะส่งผลให้ประเทศต้นทางเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นได้แค่ไหน นำไปสู่บทสรุปว่า ถ้าเราย้ายประเทศไปแล้ว จะเปลี่ยนประเทศเราได้ไหม?

ส่งเงินกลับประเทศ ล้มเผด็จการได้ จริงหรือ?

เงินโอนจากผู้ที่ย้ายถิ่นฐานออกไปทำงานนอกประเทศ (Remittances) ไม่ได้สร้างผลในเชิงเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังมีผลต่อการเมืองในประเทศ แต่การศึกษาเรื่องนี้ยังมีข้อสรุปที่ไม่ชัดเจน บางงานพบว่า Remittances สั่นสะเทือนระบอบอำนาจนิยม บางงานก็บอกว่ามันยิ่งทำให้ระบอบเผด็จการลงหลักปักฐานมั่นคงมากกว่าเดิมอีก

ในทางหนึ่ง Remittances เป็นรายได้จากต่างประเทศที่ทำให้ปัจเจกบุคคลหรือครัวเรือนหนึ่งต้องการพึ่งพาเครือข่ายอุปถัมภ์ของระบอบเผด็จการลดน้อยลง เพราะเครือข่ายอุปถัมภ์ต้องอาศัยการแจกจ่ายทรัพยากรไปยังกลุ่มที่ให้การสนับสนุนตัวเอง โดยเฉพาะในระบอบพรรคใหญ่ แต่เมื่อคนหรือครัวเรือนหนึ่งได้รับเงินโอนจากผู้ย้ายถิ่นฐาน ก็จะทำให้พวกเขาสามารถจับจ่ายใช้สอยได้เองโดยไม่ต้องพึ่งพาสินค้าและบริการจากการอุปถัมภ์ของเผด็จการ นอกจากนี้ เมื่อคนหรือครัวเรือนนั้นมีรายได้มากเพียงพอจนไม่ต้องห่วงปากท้อง รวมทั้งมีต้นทุนทางสังคมและเวลาเพิ่มขึ้นแล้ว ก็จะทำให้พวกเขาสนใจการเมืองในเชิงอุดมการณ์หรือเชิงนโยบายมากขึ้น หากเป็นเช่นนี้ Remittances ก็จะช่วยลดทอนความมั่นคงของระบอบดังกล่าวได้

ทั้งนี้ เงื่อนไขที่จะนำไปสู่ข้อสรุปนี้ได้ คือประเทศนั้นต้องอยู่ในระบอบผสมที่กลุ่มอำนาจนำคงอยู่ได้ด้วยการเลือกตั้งและใช้ทรัพยากรของรัฐเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับเครือข่ายตัวเอง

ในงานของ Escribà-Folch et al (2015) ที่ศึกษาประเทศที่กำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย (Democratic Transition) จำนวน 91 ประเทศ ระหว่างปี 1975-2009 ซึ่งมีระบอบเผด็จการทั้งหมด 137 ระบอบ  พบว่า Remittances ยิ่งมาก ยิ่งทำให้ประชาชนลงคะแนนเสียงให้กับกลุ่มการเมืองเดิมที่กุมอำนาจอยู่น้อยลง เช่นเดียวกับการศึกษาเทศบาลหลายๆ แห่งในเม็กซิโกของ Pfutze (2012, 2014) ก็พบว่า ท้องถิ่นที่ได้รับ Remittances มากก็มีความเป็นไปได้ที่จะลงคะแนนเสียงให้กับกลุ่มการเมืองเดิมน้อยลง สนใจกลุ่มอุปถัมภ์เดิมน้อยลง และสร้างการแข่งขันในการเลือกตั้งมากขึ้น

แต่อีกทางหนึ่งก็มีข้อถกเถียงจาก Ahmed (2012) ว่าที่จริงแล้ว Remittances กลับมีส่วนทำให้ระบอบอำนาจนิยมยืนยงขึ้น โดยมีข้อสมมติฐานคือ Remittances ทำหน้าที่เป็นกลไกชดเชยให้กับการทำงานของรัฐ รัฐจึงไม่จำเป็นต้องจัดสรรสินค้าและบริการสาธารณะให้กับประชาชน เพราะประชาชนสามารถเอาตัวรอดกันได้แล้ว นอกจากนี้ เมื่อรัฐมีเงินเหลือจากการไม่ต้องลงทุนในบริการสาธารณะ รัฐก็จะนำเงินไปสร้างเครือข่ายอุปถัมภ์ เอาไปใช้จ่ายในหมู่ชนชั้นนำเองได้มากขึ้น อาจทำให้ระบอบเข้มแข็งขึ้นไปอีก งานวิจัยดังกล่าวยังชี้ให้เห็นว่า รัฐที่ได้รับ Remittances มากขึ้นจะมีค่าใช้จ่ายในการจ้างเจ้าหน้าที่รัฐมากขึ้น แต่ใช้จ่ายต่อโครงการทางสังคมและการเงินอุดหนุนต่างๆ ให้ประชาชนน้อยลง

นอกจากนี้ หากมองในเชิงทัศนคติทางการเมือง เมื่อผู้รับ Remittances รู้สึกพึงพอใจในสภาพความเป็นอยู่ตัวเองแล้ว จึงต้องการรักษาสถานะเดิมของตัวเอง จนกลายเป็นผู้เมินเฉยต่อการเมือง (Political Ignorance) ที่ยินดีต่อการดำรงคงอยู่ของกลุ่มอำนาจเดิม และไม่จำเป็นต้องพึ่งพาสวัสดิการจากรัฐ โดย Doyle (2015) พบว่า ยิ่งคนได้รับ Remittances มากขึ้น คนจะยิ่งเชื่อว่าประเทศมีการกระจายรายได้อย่างยุติธรรมอยู่แล้ว และมีแนวโน้มที่จะโหวตให้พรรคการเมืองฝ่ายซ้ายน้อยลง 

ในเมื่อผลของเงินโอนที่มีต่อความมั่นคงของกลุ่มอำนาจเดิมๆ ในประเทศยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน เราจึงต้องสำรวจช่องทางอื่นๆ ที่การย้ายถิ่นฐานออกจากประเทศจะส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงของการเมืองในประเทศ

อยู่นอกประเทศ ก็เขย่าการเมืองได้

การย้ายถิ่นฐานออกส่งผลต่อการเมืองในประเทศได้โดยตรง ในแง่ที่ว่ามันเป็นตัวปลดปล่อยแรงกดดันทางการเมือง หรือที่เรียกว่า Safety Valve

เมื่อกลุ่มคนที่ต่อต้านรัฐบาล (Political Dissidence) ย้ายถิ่นฐานออกจากประเทศไป เสียงวิพากษ์วิจารณ์และกิจกรรมการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่รบกวนจิตใจผู้มีอำนาจก็จะลดน้อยลงไป (สอดคล้องกับคำกล่าวของบางคนที่มักไล่คน “ชังชาติ” ให้ออกไปอยู่นอกประเทศ…ไป๊!)

โดยปกติแล้ว ผู้นำเผด็จการก็อยากให้มีการย้ายถิ่นฐานออกไป เพราะมีประโยชน์ทั้งช่วยลดแรงกดดันทางการเมืองและช่วยแก้ปัญหาเชิงเศรษฐกิจบางอย่างในประเทศ การย้ายถิ่นฐานออกโดยทั่วไปจึงมักเป็นผลดีต่อการดำรงคงอยู่ของระบอบอำนาจนิยมในประเทศต้นทาง

แต่ทฤษฎีที่ว่าการออกไป๊! ของเหล่าคนที่ทนไม่ไหว เป็น Safety Valve เฉยๆ อาจจะละเลยความจริงที่ว่า กลุ่มคนที่ย้ายออกนอกประเทศส่วนมากไม่ได้ตัดขาดออกจากประเทศต้นทางเสียทีเดียว แต่ยังคงเชื่อมโยงกลับมายังประเทศต้นทางที่ตัวเองจากมา เพราะอย่างน้อยที่สุด คนเหล่านั้นก็ยังติดต่อกับครอบครัวหรือเพื่อนฝูงที่บ้านเกิด

งานของ Miller and Peters (2014, 2020) กล่าวไว้ว่า หากมีประชากรย้ายถิ่นฐานไปยังประเทศประชาธิปไตย และได้ไปเรียนรู้สิทธิพลเมืองและประชาธิปไตยในสังคมของประเทศปลายทาง รวมถึงเข้าใจเครื่องมือที่จะพัฒนาประชาธิปไตย นั่นจะเป็นภัยคุกคามต่อระบอบอำนาจนิยมเอง

อย่างมากที่สุด กลุ่มพลัดถิ่น (Diaspora) ที่มีความกระตือรือร้นทางการเมือง สามารถสร้าง ‘ภาวะข้ามชาติทางการเมือง’ (Political Transnationalism) ซึ่งสร้างผลกระทบทางการเมืองต่อประเทศต้นทางได้หลายช่องทาง เช่น การเผยแพร่ความคิดและทัศนคติทางการเมือง การจัดกิจกรรมทางการเมืองเพื่อเป็นแบบอย่างให้คนในประเทศต้นทาง และการรณรงค์หรือการล็อบบี้ตัวแสดงทางการเมืองต่างๆ ในประเทศปลายทาง เพื่อช่วยสร้างแรงกดดันต่อรัฐบาลที่ประเทศบ้านเกิดอีกทาง เป็นต้น

แน่นอนว่าการเคลื่อนไหวเหล่านี้สามารถสร้างแรงสั่นสะเทือนถึงกลุ่มอำนาจในประเทศบ้านเกิดได้ เห็นได้จากการที่รัฐต้นทางมักอยู่เฉยไม่ได้ ต้องกระทำการบางอย่างเพื่อตอบโต้หรือจัดการกลุ่มคนที่เคลื่อนไหวทางการเมืองจากนอกประเทศ เพื่อที่จะบั่นทอนภัยคุกคามต่อความมั่นคงของอำนาจตัวเอง ไม่ว่าจะด้วยการให้สถานทูตต่างๆ ในประเทศปลายทางทำหน้าที่สอดแนม หรืออาจถึงขั้นส่งคนไปทำร้ายคนที่เคลื่อนไหวทางการเมืองในต่างประเทศจนถึงแก่ชีวิต ควบคู่ไปกับวิธีที่นุ่มนวลที่สุดนั่นคือการเชื่อมโยงทางวัฒนธรรมและศาสนากับกลุ่มผู้พลัดถิ่นที่ยังคงภักดีต่อรัฐบาลประเทศต้นทางเอาไว้ เหมือนอย่างกรณีที่เกิดขึ้นในประเทศตะวันออกกลางบางประเทศ

   

ส่งประชาธิปไตยจากแดนไกลกลับประเทศ

แม้กลุ่มคนที่ย้ายประเทศออกไปอาจไม่ได้เป็นแกนนำทางการเมืองแบบข้ามชาติ แต่ก็อาจจะยังมีสำนึกทางการเมืองแบบเสรี งานวิจัยหลายๆ ชิ้นชี้ว่าการส่งต่อความคิด ทัศนคติและประสบการณ์มายังคนบ้านเกิด ช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงในเชิงพฤติกรรมทางการเมืองได้บ้าง ผ่านทางสิ่งที่เรียกว่า Social Remittances ที่หมายถึง วิธีคิด พฤติกรรม อัตลักษณ์ การปฏิบัติตัวในสังคม และต้นทุนทางสังคม ที่ไหลมาจากชุมชนในประเทศปลายทางกลับไปยังชุมชนในประเทศต้นทาง (Levitt 1998) โดยเกิดจากการที่ผู้ย้ายถิ่นฐานสังเกตและปฏิบัติตามแนวคิดและค่านิยมการเมืองในขณะอยู่ประเทศปลายทาง แล้วนำมาแชร์กับผู้คนทางประเทศบ้านเกิด งานวิจัยชิ้นนี้เชื่อว่า Social Remittances จะมีบทบาทเสริมสร้างต่อพฤติกรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตยในครอบครัวและชุมชนที่มีอัตราการย้ายถิ่นฐานสูง

ในงานของ Pérez-Armendáriz & Crow (2010) ที่ศึกษาชุมชนของผู้ย้ายถิ่นฐานจากประเทศเม็กซิโกไปยังสหรัฐอเมริกาและแคนาดา พบว่าครอบครัวและเพื่อนที่ยังคงติดต่อกับผู้ย้ายถิ่นฐานอย่างสม่ำเสมอ มักมีแนวโน้มที่จะมีส่วนร่วมทางการเมืองเพื่อสนับสนุนประชาธิปไตยมากขึ้น โดยพวกเขาจะร่วมลงชื่อเพื่อประท้วงรัฐบาลมากขึ้น ส่งเสียงในชุมชนมากขึ้น พร้อมทั้งแพร่กระจายความคิดต่อไปในชุมชน เช่นเดียวกับงานของ Mahmoud et al (2014) ที่ศึกษาประเทศอดีตสหภาพโซเวียต พบว่าชุมชนที่มีผู้ย้ายถิ่นฐานไปประเทศตะวันตกจำนวนมาก มีแนวโน้มที่จะเลือกพรรคคอมมิวนิสต์น้อยลง

อีกช่องทางที่จะสามารถนำพาความคิดและทัศนคติทางการเมืองส่งต่อมาจากประเทศปลายทาง ก็คือการส่งผ่านทางผู้ย้ายถิ่นฐานที่กลับมาประเทศบ้านเกิด (Returnee)

งานของ Careja and Emmenegger (2012) ที่ศึกษาประเทศยุโรปตะวันออกและยุโรปกลางชี้ให้เห็นว่าการกลับมาของผู้เคยย้ายถิ่นฐานทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในเชิงพฤติกรรมทางการเมืองและทัศนคติทางการเมืองของคนในท้องถิ่นเดียวกันไปสู่ประชาธิปไตยมากขึ้น แต่บทสรุปของการศึกษานี้ก็มีข้อควรระวังอย่างมาก เพราะผู้ที่ต้องการกลับประเทศบ้านเกิดอาจไม่ได้เอาตัวเองไปใกล้ชิดหรือรับรูปแบบวิถีชีวิตของประเทศปลายทางเท่าไรนัก หากเป็นเช่นนั้น การสร้างผลกระทบต่อประเทศต้นทางก็จะยิ่งเป็นไปได้น้อย ดังนั้น ในบริบทที่กลุ่มคนพลัดถิ่นมาจากวัฒนธรรมทางการเมืองแบบเฉื่อยชา ก็อาจจะไม่ค่อยมีผลต่อประเทศต้นทางมากเท่าไร

โดยสรุป ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในประเทศที่เกิดจากการรับความคิดและทัศนคติแบบโลกเสรีมาจากคนต่างแดน มักอยู่ในรูปของพฤติกรรมทางการเมืองและทัศนคติทางการเมือง ซึ่งก็ยังทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเชิงโครงสร้างยากมากอยู่ดี แต่เราอาจมองในแง่ดีได้ว่า เป็นอีกหนทางที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดวัฒนธรรมทางการเมืองแบบมีส่วนร่วมในระยะยาวได้ แต่นั่นต้องแปลว่า การแสดงออกทางการเมืองจะต้องไม่ถูกผ่อนหรือถูกล้มเลิก แม้จะถูกขัดขวางหรือแม้จะไม่รู้ว่าต้องต่อสู้ไปอีกนานแค่ไหนก็ตาม ไม่เช่นนั้นการส่งต่อแนวคิดกลับมาประเทศต้นทางก็แทบไม่มีความหมาย

มองปรากฏการณ์อยากย้ายประเทศในไทย
ไปแล้ว…อย่าไปลับ

ในกรณีของประเทศไทย ความจริงแล้วเราก็มีประชากรจำนวนมากที่ย้ายถิ่นฐานไปตั้งรกรากหรือทำงานในต่างประเทศ แต่ที่ผ่านมากลายเป็นว่ากลุ่มคนที่ตั้งถิ่นฐานในประเทศที่พัฒนาแล้วส่วนมาก ไม่ได้ส่งต่อแนวคิดที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้ประเทศก้าวหน้าขึ้นกลับมา แต่กลับเป็นกลุ่มที่คอยรักษาและอนุรักษ์คุณค่าแบบเดิมเป็นหลัก งานวิจัยที่กล่าวไปข้างต้นจึงใช้อธิบายปรากฏการณ์ที่ผ่านมาไม่ได้

แต่หากประชากรของกลุ่ม ‘ย้ายประเทศกันเถอะ’ ที่เพิ่งเปลี่ยนชื่อเป็น ‘โยกย้าย มาส่ายสะโพกโยกย้าย’ ออกไปตั้งรกรากในต่างประเทศได้จริงๆ มุมมองและทัศนคติทางการเมืองแต่เดิมของคนกลุ่มนี้ ผนวกกับประสบการณ์ที่จะได้ประสบพบเจอในต่างประเทศ อาจจะทำให้เกิดผลลัพธ์ที่แตกต่างก็เป็นได้

สิ่งสำคัญคือ หากไปแล้วก็ไม่ควรไปลับ ต้องส่งอะไรกลับมาที่ประเทศต้นทางบ้าง เพื่อทำให้คำว่าชังชาติที่ถูกป้ายสีเอาไว้กลายเป็นแค่วาทกรรมหนึ่ง เพราะเชื่อว่าเจตนาที่แท้จริงของทุกคนคืออยากให้ประเทศไทยเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น


อ้างอิง

Ahmed, Faisal. (2012). ‘The Perils of Unearned Foreign Income: Aid, Remittances, and Government Survival’, The American Political Science Review 106(1): 146-165.

Careja, Romana, and Patrick Emmenegger. (2012) ‘Making Democratic Citizens: The Effects of Migration Experience on Political Attitudes in Central and Eastern Europe’, Comparative Political Studies 45 (7): 875–902.

Doyle, David (2015). ‘Remittances and Social Spending’, The American Political Science Review 109 (4): 785–802.

Escribà-Folch, Abel & Meseguer, Covadonga & Wright, Joseph (2015). ‘Remittances and Democratization’, International Studies Quarterly 59 (3): 571–586.

Levitt, Peggy. (1998). ‘Social Remittances: Migration Driven Local-Level Forms of Cultural Diffusion’, The International Migration Review 32 (4): 926-48.

Mahmoud, Toman Omar, Hillel Rapoport, Andreas Steinmayr, and Christoph Trebesch  (2014). ‘The effect of labor migration on the diffusion of democracy: Evidence from a former Soviet Republic’. IZA Discussion Paper #7980.

Miller, Michael and Peters Margaret. (2014) ‘Migration Policy and Autocratic Power’, APSA 2014 Annual Meeting Paper.

Miller, Michael and Peters Margaret. (2020). Restraining the Huddled Masses: Migration Policy and Autocratic Survival. British Journal of Political Science, 50(2), 403-433.

Pérez-Armendáriz, Claria, & Crow, David. (2010). ‘Do Migrants Remit Democracy? International Migration, Political Beliefs, and Behavior in Mexico’, Comparative Political Studies 43(1): 119–148.

Pfutze, Tobias. (2012) ‘Does migration promote democratization? Evidence from the Mexican transition’,  Journal of Comparative Economics 40: 159-175.

Pfutze, Tobias. (2014) ‘Clientelism Versus Social Learning: The Electoral Effects of International Migration’, International Studies Quarterly 58 (2): 295-307.

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save