fbpx
ประวีณมัย บ่ายคล้อย

หลังเวทีผู้ประกาศข่าว ‘ประวีณมัย บ่ายคล้อย’

เมื่อเอ่ยชื่อ ประวีณมัย บ่ายคล้อย น้อยคนนักที่ไม่คุ้นหูคุ้นตากับผู้ประกาศข่าวคนนี้

รายการข่าวบนหน้าจอโทรทัศน์คือเวทีที่เธอใช้ชีวิตมาเกือบ 20 ปี ตั้งแต่ยุคสมัยไอทีวี เปลี่ยนมาเป็นไทยพีบีเอส ก่อนโยกย้ายมายังรายการเรื่องเด่นเย็นนี้ ในสังกัดสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 จนถึงปัจจุบัน

คำถามมีอยู่ว่าเบื้องหลังของน้ำเสียงรื่นหู การพูดจาฉะฉานเปี่ยมด้วยความมั่นใจ ประวีณมัยผ่านประสบการณ์แบบไหนมาบ้าง เธอตกผลึกอะไรจากการทำหน้าที่ผู้ประกาศข่าวของสื่อสาธารณะและสื่อธุรกิจ และในห้วงเวลาที่รายการข่าวบนทีวีต้องการเรตติ้งเพื่อสร้างกำไรแก่องค์กร ผู้ประกาศข่าวควรทำหน้าที่อย่างไร

หลังสิ้นแสงสปอตไลต์ในสตูดิโอ ก้าวลงจากเวทีบนจอแก้ว นี่คือเรื่องราวของ ประวีณมัย บ่ายคล้อย ในโลกของผู้ประกาศข่าว จากความฝันของเด็กหญิงตัวน้อย ไล่เรียงจนถึงความท้าทายของคนทำงานสื่อยุคใหม่


ประวีณมัย บ่ายคล้อย


จากฝันที่ใช่ สู่งานที่ชอบ


เราอยากเป็นผู้ประกาศข่าวมาตั้งแต่สมัยมัธยม เพราะนั่งดูข่าวทีวีตามคุณพ่อคุณแม่มาตั้งแต่เด็ก เห็นว่านักข่าวเป็นอาชีพที่น่าสนุก ได้เดินทางไปในที่ที่คนอื่นเข้าไม่ถึง ได้ถือไมค์ไปสัมภาษณ์คนสำคัญ ไปแสวงหาคำตอบที่คนอื่นตั้งคำถาม เราเป็นคนอยากรู้อยากเห็นและชอบการอ่าน การออกเสียง เราประกวดการอ่านออกเสียงมาตั้งแต่ประถม ยิ่งได้ลองดูพี่ๆ คณะนิเทศศาสตร์อัดรายการตอนวันจุฬาวิชาการ ได้ไปลองเป็นดีเจอ่านแล้วรู้สึกชอบ จึงคิดว่าการเป็นผู้ประกาศนี่แหละคืออาชีพที่เราใฝ่ฝัน เลยตั้งใจสอบเอนทรานซ์เข้านิเทศจุฬา และเลือกเรียนสาขาการสื่อสารมวลชน เอกวิทยุโทรทัศน์  

หลังจากที่เรียนจบ เราส่งจดหมายสมัครงานผู้ประกาศไปแทบทุกช่อง แต่ช่วงนั้นเงียบกริบ ไม่มีช่องไหนเรียกตัว เราเลยเรียนต่อป.โทที่นิเทศจุฬาก่อน ตอนที่เรียนจบเผอิญเป็นช่วงไอทีวีเกิดเหตุการณ์กบฏไอทีวี มีการเลย์ออฟพนักงานจำนวนหนึ่งและต้องหาพนักงานใหม่ เขาคงได้เห็นใบสมัครของเราก่อนหน้านี้ถึงเรียกเราไปทดสอบหน้ากล้อง สัมภาษณ์ จนสุดท้ายก็ได้เริ่มงานในฐานะผู้ประกาศข่าว

หลังจากนั้นก็ทำงานผู้ประกาศข่าวเรื่อยมา อยู่กับไอทีวี 6 ปี จนองค์กรเปลี่ยนเป็นทีไอทีวี เราจึงลาออกไปเป็นฟรีแลนซ์ของยูบีซีหรือทีเอ็นเอ็นในตอนนี้ และกลับมาประจำอยู่ที่ไทยพีบีเอสอีก 6 ปี ก่อนย้ายมาอยู่ที่ช่อง 3 ตอนนี้ก็อยู่มาครบ 6 ปีเช่นกัน กำลังจะเข้าสู่ปีที่ 7 แล้ว


ผู้ประกาศข่าวต้องลงสนามเหมือนคนข่าว


ถึงส่วนใหญ่งานของผู้ประกาศจะเป็นการดูแลเรื่องจัดรายการอยู่ในสถานี แต่ถ้าย้อนกลับไปตอนที่เราทำงานกับไอทีวีและไทยพีบีเอส สมัยคุณกิตติ สิงหาปัดยังทำงานที่นั่น เขาบอกเราว่าแม้จะมีตำแหน่งเป็นผู้ประกาศข่าว ก็ต้องมีงานภาคสนามที่รับผิดชอบไปลงพื้นที่ทำข่าวเหมือนนักข่าว จากนั้นมาเข้าเวรอ่านข่าวที่สตูดิโอ เพราะผู้ประกาศของไอทีวีควรมีภาพจำจากคนดูว่าไม่เป็นเพียงคนอ่านตามสคริปต์ ต้องมีความรู้ลึกซึ้งเรื่องข่าว มีความเป็นคนข่าวด้วยเพื่อให้คนดูเชื่อถือข่าวที่เรานำเสนอ เหมือนสื่อต่างประเทศที่ผู้ประกาศข่าวมักเติบโตมาจากการทำงานเป็นนักข่าวก่อน ซึ่งเราก็คิดว่าเป็นแนวคิดที่ดี เราโชคดีที่ได้เริ่มต้นทำงานกับองค์กรข่าวที่เน้นเรื่องข่าวอย่างเข้มข้น เน้นให้ผู้ประกาศข่าวต้องทำข่าวเป็น ไม่รีบผลีผลามมาเป็นผู้ประกาศในสตูดิโออย่างเดียว

เราเริ่มต้นจากการทำข่าวพยากรณ์อากาศซึ่งเป็นงานที่กองบรรณาธิการมอบหมายให้ ตอนแรกเรารู้สึกว่ามันไม่น่าตื่นเต้นเมื่อเทียบข่าวอาชญากรรมหรือเศรษฐกิจ แต่คุณกิตติบอกว่าสภาพอากาศ สิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่อยู่รอบตัวเรา การเปลี่ยนแปลงของสิ่งเหล่านั้นเกิดผลกระทบต่อคน ดังนั้นนักข่าวพยากรณ์อากาศคือคนที่มีหน้าที่เตือนคนอื่นๆ ถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงนี้ เราฟังแล้วเริ่มอิน พอทำไปเรื่อยๆ ก็รู้สึกสนุก พบว่าข่าวพยากรณ์อากาศมีอะไรให้ทำมากกว่ารายงานว่ามีฝนตก อากาศร้อนกับร้อนมาก เราได้ออกไปเรียนรู้ข้อมูลสภาพอากาศใหม่ๆ ออกไปทำข่าวถามชาวประมง เป็นงานภาคสนามแบบนี้

จากนั้นเราได้ขยับมาทำหน้าที่รายงานสดในเหตุการณ์สำคัญๆ รวมถึงรายงานข่าวบนเฮลิคอปเตอร์ในทีมสกายนิวส์ของไอทีวี ความรู้สึกตอนนั้นคือรู้สึกสนุก ท้าทาย เราได้ไปเข้าคอร์สฝึกกับนักบินและทีมงานว่าข้อปฏิบัติสำหรับการรายงานข่าวบนเฮลิคอปเตอร์เป็นยังไง ถือเป็นประสบการณ์ชีวิตที่หาได้ยากมากๆ และได้เห็นว่าการขึ้นฮ.ไปทำข่าวมีอิมแพ็คมาก เพราะข่าวบางเรื่องเช่นบุกรุกพื้นที่ป่า ชายฝั่งถูกกัดเซาะ เราจะได้ภาพการรายงานที่ชัดเจน รวมถึงเหตุการณ์สึนามิด้วย ตอนนั้นก็มีฮ.ของไอทีวีนี่แหละที่ได้เสนอภาพให้คนเห็นเป็นที่แรกว่าคลื่นรุนแรงขนาดไหน การรายงานข่าวแบบนี้ทำให้เรารู้สึกว่าคิดถูกนะที่เข้ามาทำอาชีพผู้ประกาศข่าว เราได้รายงานข้อมูล ได้ช่วยเหลือคนผ่านการนำเสนอมุมมองและปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม

พอมาทำงานกับไทยพีบีเอสที่เป็นองค์กรใหม่ หลักการเขาก็ยังคล้ายๆ เดิม คือผู้ประกาศข่าวต้องลงสนาม มีประสบการณ์ด้านการทำข่าว ดังนั้นผู้ประกาศข่าวต้องอ่านข่าวในสตูดิโอและมีหน้าที่เป็นนักข่าวด้วย เผอิญเราไดรับหน้าที่เป็นหัวหน้าผู้ประกาศข่าว  เป็นบรรณาธิการดูรายการสิ่งแวดล้อมและเทคโนโลยี และเป็นผู้ประกาศข่าวภาคค่ำกับคุณชัยรัตน์ ถมยา ทำให้เราใช้เวลากับงานบริหารทีมผู้ประกาศข่าวอย่างการจัดเวร มอบหมายงาน ส่งต่องานต่างๆ ให้รุ่นน้องมากกว่า งานภาคสนามก็น้อยลงไป

ส่วนการทำงานที่ช่อง 3 ในเวลานี้ งานหลักของเราคือจัดรายการเรื่องเด่นเย็นนี้ ที่สตูดิโอเย็นวันจันทร์ถึงวันศุกร์ ถ้ามีเหตุการณ์สำคัญหรือมีหมายข่าวบางเรื่องที่บรรณาธิการเห็นว่าควรส่งผู้ประกาศข่าวคนนี้ไป ก็อาจมีลงพื้นที่บางครั้ง อย่างล่าสุด ปีที่แล้ว เราได้เดินทางไปประเทศสวีเดนเพื่อทำข่าวเกี่ยวกับการประชุมครบทศวรรษความปลอดภัยบนท้องถนนที่เป็นการประชุมระดับโลก ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ก่อนเกิดโควิด-19


ออกจากสตูดิโอ เพื่อไปสัมผัสชีวิตจริง


การลงพื้นที่สำคัญและจำเป็นมากสำหรับผู้ประกาศข่าว เมื่อเทียบระหว่างการอ่านข่าวที่นักข่าวเขียนมาให้ อ่านข่าวบนหน้าหนังสือพิมพ์ และการที่เราลงพื้นที่ไปเห็นด้วยสายตาเราเอง อย่างหลังจะทำให้เรามีความรู้สึกต่อเหตุการณ์นั้นๆ รู้สึกว่าต้องช่วยแก้ปัญหา

เราได้บทเรียนจากการออกไปทำข่าวทุกครั้ง แม้ว่าจะทำข่าวมากว่า 20 ปีก็ยังมีความผิดพลาดบางอย่างที่เราต้องเรียนรู้ ตั้งแต่คุยกับทีมงาน คุยกับแหล่งข่าว การถ่ายภาพ ทุกขั้นตอนกระบวนการทำงานเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ประกาศข่าวควรรู้ จะได้เห็นว่าประเด็นข่าวเคลื่อนไปยังไง มีมุมไหนบ้างให้นำเสนอ เราอาจจะได้รู้จักกับแหล่งข่าวที่สามารถโทรตรวจสอบข้อมูล ติดต่อได้อีกในอนาคต นอกจากนี้ การลงไปทำข่าวยังทำให้เราได้เห็นทั้งโลกความเป็นจริงและโลกการนำเสนอว่าทุกวันนี้มีเหตุการณ์เกิดขึ้นมากมาย ทำไมเราต้องโฟกัสเรื่องนี้ ต้องนำเสนอแบบนี้ พร้อมๆ กับฝึกทักษะฟังพูดอ่านเขียน การรายงาน การสัมภาษณ์ การจัดการเวลา การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า การทำงานเป็นทีม ซึ่งทั้งหมดจะเป็นทักษะติดตัวเรา วันหนึ่งที่คุณกลับมาอยู่ในสตูดิโอ สิ่งเหล่านี้ไม่ได้หายไปไหน มันได้เอากลับมาใช้ด้วย

ถ้าผู้ประกาศข่าวไม่เคยลงพื้นที่ไปสัมผัสชีวิต คุณอาจพูดได้ไม่เต็มปากเต็มคำว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเดือดร้อนแค่ไหน จะพัฒนาไปยังไง มีมุมไหนต้องติดตาม

เราจะรู้สึกเห็นใจผู้อื่น รู้ว่าในฐานะนักข่าวควรนำเสนอเรื่องนี้ยังไง และทำให้เราสามารถเสนอข่าวได้อย่างมั่นใจมากขึ้น ภูมิใจกับอาชีพมากขึ้น การมองเห็นชีวิตคนทำให้ผู้ประกาศข่าวไม่ใช่แค่คนอ่านตามสคริปต์ที่เขาส่งมา

สิ่งเหล่านี้เราสามารถบอกกันได้ในทางทฤษฎี แต่ว่าบางทีคุณต้องลงไปสัมผัสจริง เพื่อให้คุณได้รู้สึกและมีความรู้ติดตัวไปตลอดชีวิตว่าเรากำลังทำงานนำเสนอแบบไหน ไม่ควรทำแบบไหน มันมีความหมายมากสำหรับคนทำงานสตูดิโอ


ประวีณมัย บ่ายคล้อย


ความตื่นเต้นท้าทายของผู้ประกาศข่าว ‘ประวีณมัย’


ทุกวันถือเป็นความตื่นเต้น เพราะทุกวันมักมีข่าวสดข่าวด่วนเข้ามา เราต้องรายงานเลยโดยไม่มีบท ไดเรคเตอร์เขาจะสั่งเข้ามาในหูว่าต่อไปเป็นข่าวอะไร ต้องพูดประเด็นอะไร แค่นี้ก็ตื่นเต้นแล้วว่าเราจะพูดอะไร ไปต่อยังไง จะแสดงสีหน้าแบบไหน นี่เป็นความตื่นเต้นประจำวัน

อีกแบบหนึ่งคือตื่นเต้นกับเหตุการณ์ไม่คาดคิดที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่รู้ล่วงหน้า เช่น ตอนที่เรามาอยู่ช่อง 3 ปีแรกๆ เขาก็มีทีมรายงานข่าวบนเฮลิคอปเตอร์เหมือนกัน ตอนนั้นเกิดน้ำท่วมใหญ่ภาคเหนือ เราเป็นผู้ประกาศข่าวตอนบ่ายกำลังจะเข้ารายการ ทีมก็ประเมินว่าควรต้องไปรายงานข่าวที่นั่น เราก็ไปเลยทันทีภายในเวลาไม่ถึงหนึ่งชั่วโมง เสื้อผ้าก็ไม่ทันได้กลับไปเก็บ จังหวะนั้นเตรียมใจไปอย่างเดียว ทุกอย่าง เสื้อผ้า รองเท้าต้องไปหาหน้างาน 

ตอนออกไปรายงานสดก็มักมีสถานการณ์เฉพาะหน้าที่ไม่คิดว่าจะเจอ เช่น รายงานข่าวสงกรานต์ มีคนเอาปืนฉีดน้ำแรงดันสูงฉีดมาโดนเราจนสคริปต์ที่ถือขาดกระจุย เราต้องด้นสดให้จบให้ได้ หรือถ้าเป็นช่วงที่ยังอยู่ไทยพีบีเอส เราก็เคยจัดรายการสดสิบชั่วโมงในช่วงที่เกิดการชุมนุมและมีการปะทะกันเดือนเมษายน 2552 ไม่น่าเชื่อเลยว่าตัวเองจะจัดรายการตั้งแต่บ่ายไปจนจบสี่ทุ่ม  เรียกได้ว่ากินข้าวบนโต๊ะอ่านข่าวตอนโฆษณา นั่นก็เป็นประสบการณ์ที่ทั้งเราและองค์กรได้เรียนรู้ไปด้วยกันว่าในสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองต้องนำเสนอแบบไหน เมื่อเป็นรายการสดแล้ว เราต้องระมัดระมัดระวังเรื่องคำพูด การนำเสนอ การใช้คำทุกคำของเรามีความหมาย เสื้อผ้าที่เราใส่ก็ถูกตีความได้ ถ้าเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดขึ้น คนเป็นผู้ประกาศไม่มีสคริปต์ เห็นอะไรก็ต้องรายงานไปโดยที่ข้อมูลต้องถูกต้อง ไม่ใส่ข้อมูลเกินจริง


ทักษะสำคัญ ที่ไม่ใช่แค่การอ่านออกเสียง


ทักษะที่สำคัญคือฟังพูดอ่านเขียน ทักษะการสื่อสารต้องมีอย่างครบเครื่อง คุณต้องสามารถพูดถ่ายทอดเรื่องราวให้คนเชื่อและสบายใจ ไม่รู้สึกรำคาญเพราะพูดผิดๆ ถูกๆ วรรคตอนผิด ต้องฟังจับประเด็นให้ได้เพื่อนำเสนอข่าวให้ได้กระชับและถูกต้อง หรือกระทั่งตอนออนแอร์สดอยู่ เรามีหน้าที่รายงานข่าวโดยที่ข้างหลังฉากจะวุ่นวายมาก มีทั้งทีมไดเรคเตอร์ บก. คอยพูดเข้ามาในหูเรา อาจต้องเก่งถึงขั้นปากกำลังพูด แต่หูเราต้องฟังว่าเขาบอกอะไร ต้องมีสมาธิและต้องฝึก ส่วนเรื่องการอ่านไม่ต้องพูดถึง ทำงานข่าว คุณต้องอ่านให้มาก สนใจเรื่องต่างๆ ให้มาก และที่สำคัญคือทักษะการเขียน คุณจะเขียนข่าวยังไงให้น่าสนใจ ซึ่งเป็นพื้นฐานของผู้ประกาศข่าวที่ดีด้วย

ต่อมาคือการปรากฏตัวบนจอทีวี ภาพลักษณ์บนจอเป็นเรื่องสำคัญไม่ว่าจะช่องไหนๆ อาจไม่ถึงขั้นต้องหล่อเหมือนนายแบบ สวยเหมือนนางงาน แต่ควรมีภาพลักษณ์ที่คนดูเชื่อว่าเราเป็นคนข่าวที่สามารถนำเสนอข่าวได้อย่างถูกต้อง น่าสนใจ ถ่ายทอดเรื่องราวแล้วคนดูไม่เปลี่ยนช่องหนี เรียกว่าเป็นภาพลักษณ์ที่คนเห็นแล้วสบายใจ น่าเชื่อถือ เป็นที่พึ่งได้

นอกจากเรื่องภาพลักษณ์แล้ว คุณต้องมีบุคลิกภาพที่ดี ต้องฝึกพูดด้วยน้ำเสียงที่ทำให้คนดูไม่รำคาญ ไม่สบายใจ หรือพูดแล้วฟังจับใจความไม่ได้

อีกเรื่องคือเมื่อเป็นผู้ประกาศข่าวบนทีวีจะต้องทำงานกับคนเยอะ ทั้งไดเรคเตอร์ คนเขียนข่าว คนทำกราฟิก ช่างแสง ช่างแต่งหน้า คุณต้องดีลกับทีมงานเกินสิบชีวิตแน่นอน  ทักษะการทำงานเป็นทีมจึงสำคัญมาก และอย่าลืมว่า “The show must go on” ตอนที่เราอ่านข่าวอาจมีเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ลุ้นระทึกตื่นเต้นเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ดังนั้นคุณต้องเตรียมใจเตรียมตัวแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ฝึกเอาไว้เสมอ เพราะถ้าคุณทำพลาดแค่วันเดียวก็อาจติดตาคนไปตลอด ยิ่งมีโซเชียลมีเดียด้วยแล้ว คนก็ยิ่งเห็นกันมาก ทุกวันนี้ต่อให้เราทำงานมานานแล้วก็ยังต้องระวังไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดเสมอ


เปิดประสบการณ์การทำงานสื่อช่อง 3

สื่อสาธารณะ v สื่อเชิงพาณิชย์


ก่อนหน้านี้เราอยู่ไทยพีบีเอส ซึ่งเป็นสื่อสาธารณะที่เน้นทำประโยชน์เพื่อสาธารณะ แต่ช่อง 3 เป็นสื่อที่ต้องหารายได้ ทำให้เราต้องผูกพันสองอย่าง คือตัวเลขเรตติ้งกับรายได้ เป็นความท้าทายของคนทำสื่อ กองบรรณาธิการ รวมถึงตัวเราเองที่พอย้ายมาแล้วไม่อาจปฏิเสธเรตติ้งได้

เบื้องหลังการทำงานจะมีทีม research กับ marketing คอยคุยกับกองบรรณาธิการเรื่องเรตติ้งเสมอ ซึ่งการวัดเรตติ้งของเขานั้นค่อนข้างละเอียดเป็นรายนาที เพราะฉะนั้นเราจะรู้ได้ว่านาทีที่คนดูเยอะ ดูน้อย เป็นข่าวอะไร เป็นข้อมูลที่ทำให้เราต้องมาคิดว่าจะออกแบบข่าวแบบไหนที่ถูกจริตคนดู เพื่อให้ได้เรตติ้งและรายได้ ซึ่งต่างไปจากไทยพีบีเอส เพราะไทยพีบีเอสไม่ได้มองเรตติ้งเป็นเป้าหมายแรก แต่ดูที่ประโยชน์สาธารณะ เพราะไม่ต้องพะวงเรื่องการหารายได้ ดังนั้นวิธีคิดการทำงาน การออกแบบประเด็นข่าวและรายการก็จะแตกต่างกันระหว่างสองสื่อ


หน้าที่สื่อมวลชน v เรตติ้ง


ตอนนี้จะเห็นว่าสื่อแข่งขันกันมาก ทีวีถูกดิสรัปต์จากเทคโนโลยี พอดแคสต์ สื่อออนไลน์ พฤติกรรมคนดูเปลี่ยนแปลง ทีวีมีหลายช่องมากขึ้น กลายเป็นโจทย์ว่าข่าวทีวีควรทำยังไงดี ซึ่งเราก็ทำเรื่องนี้เป็นหัวข้อวิจัยของดุษฎีนิพนธ์เพื่อที่จะตอบคำถามนี้ด้วย เพราะที่ผ่านมา เราอาจเห็นปรากฏการณ์สื่อหาทางออกด้วยการขายข่าวเร้าอารมณ์หรือดรามา จนหลายๆ ครั้งถูกตั้งคำถามจากสังคมว่าละเมิดจริยธรรมหรือเปล่า มากเกินไปหรือเปล่า ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นความท้าทายของคนทำงานสื่อว่าจะจัดการยังไง

สำหรับกองบรรณาธิการของช่อง 3 เรามีหลักการชัดเจนว่าแม้จะเป็นสื่อเชิงพาณิชย์ก็ต้องทำตามเส้นจริยธรรมการนำเสนอข่าวต่างๆ ต้องไปด้วยกัน คือเรตติ้งต้องได้ เพราะสัมพันธ์กับรายได้และความอยู่รอดของช่อง ความอยู่รอดของพนักงาน และจริยธรรมก็ลืมไม่ได้ ละเมิดไม่ได้ เพิกเฉยไม่ได้ บรรทัดฐานเรื่องการนำเสนอของช่อง 3 จึงเน้นว่าข่าวที่นำเสนอต้องเป็นข่าวที่มีผลกระทบต่อสังคม นำเสนอไปแล้วสังคมได้ประโยชน์ ส่วนมู้ดแอนด์โทน ลีลาการนำเสนอให้คนดูติดตามตลอดเพื่อเรียกเรตติ้งเป็นศิลปะของแต่ละคน

กอง บก. จะตรวจสอบข่าว fact-checking ตลอด เราให้ความสำคัญกับการไม่ไปละเมิดผู้อื่น อบรมแลกเปลี่ยนกันในกอง บก. กับแผนกต่างๆ ว่าจริยธรรมของสื่อเป็นยังไง มีการรีวิวการทำงานกันตลอด เรามองว่าการนำเสนอข่าวไม่จำเป็นต้องเป็นข่าวดรามา หวือหวาตลอดเวลา ต้องไม่นำเสนอภาพเร้าอารมณ์เกินจริง ใส่อารมณ์หรือใส่ความคิดเห็นสร้างความแตกแยก เราจะคิดหาวิธีอื่น เช่น การ set agenda ของข่าว วิธีนำเสนอของผู้ประกาศ การออกแบบการใช้สื่อออนไลน์ให้เป็นประโยชน์ต่อสื่อหลักอย่างทีวีด้วย เพื่อให้คนดูได้ทั้งประโยชน์และอยู่กับเราเพื่อให้ได้เรตติ้ง

ดังนั้น แม้การแข่งขันจะสูง เราอยากได้เรตติ้ง และคนข่าวรู้ดีว่าทำยังไงจึงจะได้เรตติ้ง แต่ถ้าเรตติ้งต้องแลกมาซึ่งการที่คุณต้องละเมิดผู้อื่น ต้องทำให้จรรยาบรรณวิชาชีพเสียไป องค์กรข่าวก็คงไม่ทำแน่ๆ เราจะหาวิธีดึงดูดผู้ชมทางอื่นแทน


การนำเสนอ/ไม่นำเสนอ v นายทุนโฆษณา


พอธุรกิจสื่อทีวีไปผูกพันกับเรตติ้ง เราก็ต้องมีตัวเลขมากพอไปบอกธุรกิจที่สนับสนุนโฆษณาว่าคุณได้คนดูแน่นอน แต่เรื่องรายได้ การโฆษณา และการหาความสมดุลกับเจ้าของทุน เป็นเรื่องที่ผู้บริหารองค์กรสื่อต้องวางแนวทางกับคนในองค์กร คนในองค์กรสื่อเชิงพาณิชย์ปฏิเสธไม่ได้ว่าอยู่ได้ด้วยโฆษณา แต่จะเป็นโฆษณาแบบไหนที่ไม่แทรกแซงการทำงานของกอง บก. เป็นสิ่งที่ต้องออกแบบกัน เราต้องบาลานซ์กันระหว่างการทำงานข่าวและทุนที่จะเข้ามา ซึ่ง บก. แต่ละที่ก็คงมีหลักการว่าจะยอมหรือไม่ยอมอะไรมากน้อยแค่ไหน ส่วนตัวเชื่อว่าถ้าต้องได้เรตติ้ง ได้เงิน แต่ต้องทำเกินเส้นจริยธรรม องค์กรสื่อแทบทุกที่ก็คงเลือกจะไม่รับทำกันแบบนั้น


ประวีณมัย บ่ายคล้อย


ความเปลี่ยนแปลงของวงการผู้ประกาศข่าวรุ่นใหม่


วงการผู้ประกาศข่าวมีการปรับเปลี่ยนกันไปตามยุคสมัย อย่างเมื่อสองทศวรรษก่อน ผู้ประกาศข่าวจะต้องทำหน้าที่ประกาศข่าวให้ดีสมชื่อประกาศข่าว หรือก็คือรายงานตามบทได้อย่างชัดเจน พอยุคต่อมา คนเริ่มตั้งคำถามว่าต้องยึดตามบทจริงๆ หรือ รูปแบบการรายงานต้องเป็นแบบเดียวหรือเปล่า ทำให้เกิดรายการแบบคุยข่าวเล่าข่าว ไม่อ่านสคริปต์เพื่อให้คนสนใจอยากดูมากขึ้น

ช่วงหลังๆ มานี้ บทบาทของผู้ประกาศข่าวก็เปลี่ยนไปตามช่อง หลักๆ คือผู้ประกาศข่าวทำหน้าที่จัดรายการ แต่บางช่อง คุณต้องเป็นทั้งผู้ประกาศข่าวและนักข่าวที่ดีด้วย ต้องทำงานในกองบรรณาธิการด้วย ดังนั้นงานที่รับผิดชอบจะแตกต่างกันไป ส่วนทักษะ ในยุคนี้ต่างจากยุคที่แล้วแน่ๆ ยุคที่แล้วมีแค่สื่อทีวี ผู้ประกาศจัดรายการจบก็ถือว่าทำงานเสร็จแล้ว แต่ตอนนี้ รายงานทีวีเสร็จปุ๊บต้องโพสต์ลงโซเชียล มีไลฟ์เฟซบุ๊กต่ออีก โพสต์ทวิตเตอร์อีก ต้องรายงานทางพอดแคสต์อีก ต้องมีรายการวิเคราะห์ มีแชแนลหรือเพจของตัวเอง บางทีก็ต้องสร้างคอมมูนิตี้ของตัวเอง ผู้ประกาศข่าวยุคนี้ต้องคิดถึงการทำงานหลายๆ แพลตฟอร์ม พยายามหยิบจับทุกอย่างมาใช้ประโยชน์กับงานข่าว เพิ่มทักษะให้ตัวเอง ต้องทำงานเร็วขึ้น หลากหลายอย่างมากขึ้น

ทั้งหมดก็เพราะผู้ประกาศข่าวยุคนี้มีความท้าทายคือคู่แข่งเยอะ ข้อมูลเยอะ เราจะจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด เช่น เวลาของสถานี หรือเวลาส่วนตัวของเรายังไงให้ดี จะทำยังไงให้คนดูสนใจเรา อยู่กับรายการเรา ทั้งๆ ที่เช็กเฟซก็รู้ข่าวแล้ว ติดตามรายการได้ทุกที่ทุกเวลาไม่ต้องมารอหน้าจอ ผู้ประกาศข่าวต้องคิดมากขึ้น ซึ่งส่วนตัวคิดว่ายุคนี้ก็มีเครื่องมือหลายอย่างมาช่วยงานเรา เช่น ปรากฏการณ์คลับเฮาส์ตอนนี้ ก็มีหลายสำนักข่าวนำประเด็นสังคมไปถาม หรือนำคำถามจากคลับเฮาส์ไปพัฒนาต่อ ในเพจบนโซเชียลมีเดียเองก็ทำให้เราเห็นคอมเมนต์ ฟีดแบ็กต่างๆ ที่สามารถนำมาพัฒนาเนื้อหาหรือวิธีการนำเสนอได้


ในยุคที่ใครก็เป็นสื่อได้ เราจะอยู่กันอย่างไร


ตอนนี้มีคำพูดว่า “ทุกคนล้วนเป็นสื่อได้” แต่เราคิดว่ายังมีความแตกต่างระหว่างคนที่ถ่ายภาพโพสต์ลงเฟซเขียนข่าวกับคนเป็นนักข่าว จริงอยู่ที่ของแบบนี้ใครๆ ก็ทำได้ผ่านเทคโนโลยีสื่อสาร ผ่านมือถือ แต่ความเป็นนักข่าว นักสื่อสารมวลชนมีความแตกต่างจากคนทั่วไปคือ เรามีเส้นของจริยธรรม เรารู้แก่ใจว่าตนเองไปละเมิดผู้อื่นหรือนำเสนอข้อมูลเท็จไม่ได้ เพราะมันทำให้คนไม่เชื่อมั่น ความน่าเชื่อถือเป็นคุณค่าที่คนศรัทธาต่อสื่อ สังเกตว่าเวลาเกิดเหตุการณ์ใหญ่เช่นน้ำท่วม คนก็ยังเลือกติดตามข้อมูลจากนักข่าว จริยธรรมจึงเป็นสิ่งที่คุ้มกันอาชีพนักข่าวไว้ ยิ่งในอนาคตที่ข้อมูลอาจมีความซับซ้อนมากขึ้น สังคมจะยิ่งมีเรื่องที่ขาดจริยธรรมมากขึ้น ถ้าสื่อไหนยืนหยัด ยึดหลักการไม่เป๋ สร้างความน่าเชื่อถือต และที่สำคัญ มีความเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์ เอาใจ



หมายเหตุ : เรียบเรียงเนื้อหาจาก รายการ PRESSCAST EP.17 : หลังเวทีผู้ประกาศข่าว ‘ประวีณมัย บ่ายคล้อย’ ดำเนินรายการโดย ภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์ เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ 9 มีนาคม 2564

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save