fbpx

อ่าน (หนัง) บางระจันใหม่ ในฐานะแฟนตาซีของวันสิ้นชาติ และอุดมการณ์ชาตินิยมที่ไม่มีราชาในนั้น

ปีนี้หนัง บางระจัน (2543) จะมีอายุครบรอบ 21 ปี แต่หากจะนับเลขสวยที่ 20 ปีก็ต้องเป็นของ สุริโยไท แต่เพื่อคุณค่าทางสารอาหารของบทความนี้ เราจะไม่พูดถึงเรื่องหลัง

บางระจันเป็นหนังชาตินิยมเรื่องหนึ่งที่คนไทยรู้จักกันดี โครงเรื่องง่ายๆ ว่าด้วยการต่อสู้ของ ‘คนไทย’ จากการโจมตีของพม่าในช่วงก่อนเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ตามท้องเรื่องเราชัดเจนอยู่แล้วว่า ศัตรูตลอดกาลอย่าง ‘พม่า’ เป็นภัยความมั่นคงต่อชาติเพียงใด ไม่ว่าศึกบางระจันจะมีจริงหรือไม่ แต่มันได้กลายเป็นวัตถุดิบชั้นดีเพื่อใช้ปรุงแต่งเมนูอาหารที่ชื่อว่า ชาตินิยม มาในหลายยุคหลายสมัย

ปัญหาของบ้านบางระจันก็คือมันเป็นชุมชน-ค่ายที่เล็กเกินไปที่จะยืนหยัดสู้กับพม่าได้ และเล็กเกินกว่าที่อยุธยาจะส่งปืนใหญ่ไปให้ได้ เพราะถ้าหากพ่ายแพ้ ปืนก็จะถูกยึดไปตกอยู่ในมือข้าศึกด้วย การที่หวังจะให้รัฐบาลส่งกองกำลังไปช่วยเหลือคงยาก เพราะเมืองหลวงยังเอาตัวไม่รอด ความอยู่รอดของบางระจันจึงเป็นสภาพที่ถูกปฏิเสธจากส่วนกลางไม่ทางตรงก็ทางอ้อมไปตามสภาพ แม้ว่าจะมีข้าราชการอยุธยาลงไปช่วยอยู่ แต่ก็เป็นเพียงพระรองมีบทบาทน้อยกว่าน้อย เพลงประกอบหนังของวงคาราบาว (ก่อนที่แอ๊ด คาราบาวจะจดทะเบียนบริษัท คาราบาวตะวันแดง จำกัดในปี 2544) ได้สรุปเชิงตัดพ้อไว้อย่างชัดเจนว่า “ก็กรุงศรีมิให้เขาหยิบยืมปืน จึงมิอาจหยัดยืนรักษาค่ายบางระจัน”

เรื่องเล่าว่าด้วยบางระจัน แม้จะถูกอ้างไว้ในหลักฐานประวัติศาสตร์ชั้นต้นมาก่อนอย่างจดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี และคำให้การขุนหลวงหาวัด ก็เป็นเพียงการกล่าวถึงชื่อสถานที่ ต่อมาได้ถูกชำระขยายความมากขึ้นใน พระราชพงศาวดารฉบับบริติชมิวเซียม พระราชพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และพระราชพงศาวดารฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ เพิ่มเนื้อหาว่าด้วยการขอปืนใหญ่แล้วไม่ได้ ข้าราชการอยุธยามาช่วยหล่อปืน แต่ไม่ได้เล่าไปถึงว่าปืนแตกเพราะหล่อไม่ได้คุณภาพอย่างไร

ส่วนรายละเอียดแบบที่เราคุ้นๆ กันมาเกิดขึ้นในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา (2455) และหนังสือเรื่องไทยรบพม่า (2460) โดยคนที่เราเรียกว่า ‘บิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย’ เจ้าชายต้นสกุลดิศกุลนั่นเอง กล่าวกันว่าโครงเรื่องชุดหลังนี้ให้รายละเอียดที่พิสดารกว่าที่แล้วมาทั้งในแง่เนื้อเรื่อง ตัวละคร และการใช้ภาษา แน่นอนรวมถึงปริมาณหน้าที่เพิ่มมากขึ้นให้รายละเอียดราวกับเป็นบทภาพยนตร์[1]

คำถามก็คือว่า เหตุใดถึงมีการเขียนขยายความราวกับทำแฟนฟิกนิยายประวัติศาสตร์ สำหรับผู้เขียนเห็นว่าการชำระเรื่องราวของบ้านบางระจันสองฉบับหลัง มีความสำคัญในฐานะภาพสะท้อนการสร้างงานเขียนแบบอาณานิคมสมบูรณาญาสิทธิราชย์ขึ้นมา นั่นคือโครงการงานเขียนเพื่อสร้างความชอบธรรมในการสร้างหน่วยภูมิศาสตร์การปกครอง หลังจากได้ปฏิรูปมณฑลเทศาภิบาลแล้วกว่าสิบปี หมู่บ้าน ตำบล เมือง กลายเป็นหน่วยพื้นที่ที่รัฐควบคุมจลาจลได้ เก็บภาษีได้ อาจรวมถึงเกณฑ์ทหารได้ด้วย บางระจันถูกนับเป็นหน่วยหนึ่งอย่างแน่นอน และไม่ใช่เป็นหมู่บ้านร้าง แต่ถูกรายล้อมด้วยแขวง เมือง วัด และหมู่บ้านต่างๆ ราษฎรที่ถูกกล่าวถึงในตัวบทก็มีสังกัด ไม่ใช่ชาวบ้านที่ไร้หัวนอนปลายตีน ผู้ชำระยังจัดระบบการเล่าด้วยการจำแนกลำดับขั้นตอน การนับจำนวนครั้งที่พม่าเข้าตีบ้านบางระจันที่มากถึง 8 ครั้ง ผสานกับรายละเอียดราวกับภาพยนตร์ เช่น ฉากที่นายทองเหม็นขี่ควายเผือกลุยเดี่ยวออกไปเจอทหารพม่า แล้วถูกจับและถูกทุบจนตาย

นี่คือ ‘บางระจัน ฉบับอาณานิคมสยาม’ ที่มีเป้าหมายชัดเจนในการสร้างความทรงจำขึ้นมาชุดหนึ่ง การเชิดชูชาวบ้านบางระจันในที่นี้ถือเป็นการชี้ให้เห็นว่า หน่วยการเมืองอย่างหมู่บ้านมีความสำคัญอย่างไรต่อความมั่นคงของประเทศ และชี้ให้เห็นถึงความไร้ความสามารถของกษัตริย์อยุธยาองค์สุดท้าย และอาจรวมถึงระบบราชการแบบเก่าที่เน่าเฟะ ปัญหาของการเล่าแบบนี้คือ บางระจันไม่เอื้อต่อการเชิดชูสถาบันการเมืองที่สูงที่สุดในยุคนั้น

ขณะที่บางระจันเวอร์ชันที่มีศูนย์กลางอยู่ที่ประชาชนหรือ ‘บางระจัน ฉบับประชาชาติ’ ต่างออกไป และไม่ใช่งานเขียนประวัติศาสตร์โดยตรง ผลผลิตอยู่ในรูปแบบของนิยายที่ชื่อ บางระจัน ฝีมือของไม้ เมืองเดิม ผู้เขียนใช้โครงเรื่องจากประวัติศาสตร์มาขยายความปลุกกระแสความรักชาติขึ้นมาตามบริบทของนิยายช่วงปี 2480-2485 ในช่วงที่รัฐบาลไทยกำลังสั่งสมลัทธิชูชาติ อุดมการณ์ทหารนิยม ชาตินิยม ต้องการนำไทยไปสู่มหาอำนาจ พล็อตเรื่องบางระจันที่ถูกข้าศึกข่มเหงรุกรานจึงเป็นเชื้อเพลิงอย่างดีของการปลุกกระแสดังกล่าว ไม่กี่ปีไทยก็เข้าสู่สงครามมหาเอเชียบูรพา อันเป็นส่วนหนึ่งของสงครามโลกครั้งที่ 2 ตัวอย่างบางส่วนของนิยาย[2]

“พอตะวันชิงพลบ พม่าชิงลาโลกสิ้นชีวิตพร้อมกับตะวันเย็นหมดทั้งยี่สิบกว่า ไม่มีเหลือศพก่ายศพ ดินแดงเฉอะแฉะไปด้วยเลือด มื้อนี้เองที่ชาวบ้านไทยมันคายความขมออกมาจากหัวใจเป็นมื้อแรกที่มันร้องไห้มาแล้วจะค่อน 3 เดือนเต็ม ได้หัวร่อร่า ผีปู่ ลูกเล็กเด็กแดงทั้งหลายที่กลายเป็นเถ้าถมดินไปมากในเพลิง เจตภูตของแม่ พ่อและลูกสาววิเศษชัยชาญเมืองสิงห์ทั้งหลายจงมาเถิด มาเย้ยเยาะและคุยอวดเขาเถอะว่า ศรีอยุธยามันยังไม่หมดคนสู้ ชายชาตรีจะไร้หรือเมื่อสยามยังไม่สิ้นชาย

เพลงศึกบางระจันก็มีวรรคที่มีเนื้อหาคล้ายกัน นั่นคือให้ความสำคัญกับชาติ การสละชีวิตของตัวเองเพื่อให้ชาติคงอยู่เป็นสิ่งที่ทรงคุณค่า “ตัวตาย ดีกว่าชาติตาย เพียงเลือดหยาดสุดท้ายขอให้ไทยคงอยู่ แดนทองของไทยมิใช่ศัตรู แม้ใครรุกรานต้องสู้ เพื่อกู้แหลมถิ่นไทยงาม” การนองเลือดของบรรพชนเพื่อรักษาชาติ หรือกู้ชาติของชาวบ้านบางระจันในยุคนี้จึงเป็นเรื่องของสามัญชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย แม้จะในเชิงสัญลักษณ์ก็ตาม เช่นกัน บางระจันยังไม่สามารถยึดโยงกับสถาบันกษัตริย์ได้

ต้องรอถึงยุคสงครามเย็น ตั้งแต่ทศวรรษ 2500 บางระจันจึงได้ถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของอุดมการณ์ราชาชาตินิยมอย่างจริงจัง เมื่อบางระจันถูกทำให้เป็นสถานที่ที่จับต้องได้ ค่ายจำลองถูกสร้างขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม รูปปั้นชาวบ้านบางระจันกลายเป็นอนุสาวรีย์ รูปปั้นพระอาจารย์ธรรมโชติก็ถูกปั้นขึ้นไว้ในวัด นอกจากรมศิลปากรแล้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดสิงห์บุรีอันเป็นหัวหน้าหน่วยปกครองระดับจังหวัดก็มีบทบาทสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ที่น่าสังเกตคือฐานอนุสาวรีย์ได้จารึกไว้ว่า[3]

“วีรชนค่ายบางระจันได้ต่อสู้พม่าด้วยความกล้าหาญและด้วยกำลังใจอันเด็ดเดี่ยว ยอมสละแม้เลือดเนื้อและชีวิตเพื่อรักษาแผ่นดินไทย รบชนะพม่าถึงเจ็ดครั้ง จนพม่าครั่นคร้ามฝีมือรัฐบาลและประชาชนชาวไทยจึงพร้อมใจกันสร้างอนุสาวรีย์นี้ขึ้นเพื่อประกาศเกียรติคุณของวีรชนค่ายบางระจันให้ยั่งยืนชั่วกาลนาน”

จุดสำคัญที่สุดสำหรับกรณีนี้ คือการเปิดอนุสาวรีย์โดยในหลวงรัชกาลที่ 9 เมื่อเดือนกรกฎาคม 2519 พิธีนี้ยังรวมไปถึงการมอบธงประจำรุ่นแก่ลูกเสือชาวบ้าน จ.สิงห์บุรี[4] พม่าได้กลายเป็นเพียงอุปลักษณ์ของศัตรูตลอดกาลของสถาบันชาติ ศาสน์ กษัตริย์อย่าง ‘คอมมิวนิสต์’ และวีรชนชาวบ้านบางระจันที่ไม่ใช่ทหารอาชีพจึงอาจเทียบได้กับลูกเสือชาวบ้านที่ปกป้องสถาบันหลักของชาติในยุคดังกล่าวในฐานะผู้รักษาแผ่นดินไทยไปโดยนัย บางระจันจึงกลายเป็นผู้คนไปพร้อมๆ กับการเป็นสถานที่

เมื่อกระแสราชาชาตินิยมแบบสุดขอบค่อยๆ ซาลงหลังจากสถานการณ์ทางการเมืองที่ตึงเครียดคลี่คลายลง จนการมาถึงของวิกฤตต้มยำกุ้งนั่นแหละ ความเจ็บปวดที่ยอกอกชนชั้นกลางไทยได้ทำให้พวกถามหาอะไรสักอย่างเพื่อมาเยียวยา สิ่งเหล่านั้นก็คืออุดมการณ์ชาตินิยมและการโหยหาอดีตอันงดงาม

ความสำเร็จของบางระจันที่กวาดรายได้ไป 151 ล้านบาท เกิดขึ้นหลัง นางนาก ในปี 2542 ที่โกยไปก่อนที่ 149.6 ล้านบาทว่ากันว่าเป็นหนังไทยเรื่องแรกที่ทำรายได้เกิน 100 ล้านบาท[5] หนังผีอมตะเรื่องนี้เป็นช่องทางหากำไรจากนายทุนหนังหลายยุคหลายสมัย ในครั้งนี้ได้ถูกนำมาสร้างให้มีลักษณะสมจริงกว่าที่เคยเป็นมา เสื้อผ้าหน้าผมของนางนากได้เปลี่ยนลุคที่เคยมีทั้งหมดของผีแม่นาคพระโขนง จากผีสาวที่เคยผมยาวสลวยกลายเป็นนางนากผมสั้น ราวกับภาพถ่ายย้อนเมื่อร้อยปีที่ผ่านมา ไหนจะโลเคชันของหมู่บ้านริมน้ำ ที่ทำให้คนเชื่อว่าคือภาพแทนอดีตที่เคยมีอยู่จริงๆ ของย่านพระโขนง ยังไม่นับว่าฝีมือการกำกับภาพชั้นเยี่ยมที่ทำออกมาสวยราวกับหนังสารคดี เพียงแต่นางนากเป็นหนังที่เล่าถึงวิญญาณ ความรัก ความรู้สึก และศัตรูคือคนในหมู่บ้านเองนี่แหละที่รังเกียจหวาดกลัวผีอีนาก

บางระจันอาจเดินตามรอยความสำเร็จในแง่ที่เป็นหนังย้อนยุคทางประวัติศาสตร์ แต่รสชาติของบางระจันนั้นต่างออกไป มันได้ปลดปล่อยให้ผู้ชมเคลิบเคลิ้มไปกับความรุนแรงและโศกนาฏกรรมด้วยภาษาของหนัง ในเวลาเดียวกันก็ปั๊มเลือดรักชาติอย่างตรงไปตรงมา ทำให้กระแสรักชาติพองโต ลุกลามขึ้นมาราวกับฟองสบู่ชาตินิยมที่ถูกเป่าขึ้นใหม่ แทนที่ฟองสบู่เศรษฐกิจที่เคยระเบิดไป

องค์ประกอบของเรื่องมีแกนกลางอยู่ที่ชาวบ้าน หมู่บ้านและท้องนาเป็นหลัก หนังแสดงให้เห็นว่า สงครามได้ส่งผลกระทบกับคนธรรมดาสามัญอย่างไร การสู้รบของชาวบ้านคือการปะทะด้วยอาวุธและตัวเปล่าเล่าเปลือยไม่มีการชนช้าง อาจมีม้าอยู่บ้าง แต่แทบไม่มีอาวุธยุทธโธปกรณ์อันเกรียงไกรในฝั่งนี้เลย ควายบุญเลิศในบางระจันที่มีเขายาวโง้งอันเป็นพาหนะของนายทองเหม็น ได้เป็นสัญลักษณ์สำคัญของหนังไม่แพ้กับตัวละครอย่าง บิณฑ์ บันลือฤทธิ์ (อ้ายทองเหม็น) วินัย ไกรบุตร (อ้ายอิน) และตั๊ก บงกช (อีสา) สิ่งนี้ยิ่งตอกย้ำความบ้านนอกคอกนาของชาวบางระจันได้ดี บทสนทนาของคนในเรื่องก็คือ คำของสามัญชนกู มึง เอ็ง ข้า กันไปตามท้องเรื่อง แทบทั้งเรื่องไม่ได้พูดราชาศัพท์ ไม่ได้เล่นบทลิเก จักรๆ วงศ์ๆ ใดๆ

ชีวิตของราษฎรถูกเล่าสอดแทรกอยู่ทั้งเรื่อง ไม่เรื่องราวของความผูกพันของเณร-พ่อเณรที่ฝากฝังชีวิตไว้กับวัด ความรักของคู่ผัวเมีย การหยอกเอินของหนุ่มสาวที่ยังไม่ปลงใจกัน คนเมาที่ไร้วินัย การลงแขกเกี่ยวข้าวเพื่อเก็บเป็นสเบียงของชาวบ้าน ฯลฯ ฉากต่างๆ เหล่านี้แสดงให้เห็นถึงชีวิตเรียบง่ายของชาวบ้านก่อนที่จะถูกพายุแห่งความอำมหิตของสงครามเข้าซัดกระหน่ำในเวลาต่อมา

โดยรวมแล้วหนังให้ความสำคัญกับปกป้องตัวเองของชาวบ้าน มากกว่ารักษาชาติบ้านเมืองอย่างหูมืดตามัว ชาวบ้านที่ทนไม่ไหวขับเกวียนอพยพออกจากหมู่บ้านเพื่อไปเข้ากับพม่าได้ทิ้งคำพูดไว้ว่า “อย่างน้อยเป็นขี้ข้าเขา ก็ยังดีกว่าตายกันหมดล่ะวะ” ตามมาตรฐานแล้ว คนเหล่านี้คือ ผู้ทรยศจะต้องถูกหนังพิพากษาถึงความไม่รักแผ่นดิน แต่เอาเข้าจริง เราไม่พบโทนเสียงประจานว่าเป็นความชั่วร้ายอย่างที่คิด

กระทั่งกับพม่าเอง ก็ยังมีซีนที่แสดงถึงน้ำใจที่ช่วยทหารพม่าบาดเจ็บ ผู้ช่วยเหลือก็พระอาจารย์ธรรมโชตินั่นแหละ แกออกปากว่า “พม่าก็เป็นคนเยี่ยงมึงมิใช่รึ ย่อมรู้เจ็บรู้ปวดด้วยกันทั้งนั้นน่ะแหละ” แต่เราก็ปฏิเสธได้ยากว่า ในเรื่องก็ได้ขับฉายความโหดร้ายของทหารพม่าแบบไม่ปราณีเลยเหมือนกัน

จุดจบที่ทุกคนรู้กันดีแบบไม่ต้องสปอยล์คือ ค่ายบางระจันแตก กรุงศรีอยุธยาล่มสลายแบบที่ไม่อาจหวนกลับมา ความสามัคคีและการลุกขึ้นสู้ของชาวบ้านบางระจันอาจเป็นข้อความส่วนหนึ่งที่สื่อกับผู้ชม

หากอุปมาพม่าในบางระจัน ฉบับสงครามเย็นเป็นพวกคอมมิวนิสต์แล้วละก็ พม่าในบางระจัน ฉบับต้มยำกุ้งจะเป็นใครไม่ได้นอกจากชาวต่างชาติที่โจมตีค่าเงินบาทและ IMF เจ้าหนี้ที่เข้ามาช่วยเหลือและบีบให้รัฐบาลเสียอิสรภาพทางนโยบายการเงินจนทำให้เสี่ยงต่อการเสียเอกราชทางเศรษฐกิจ หรือหากตีความไปไกลอีกนิด นักการเมืองและระบบราชการก็เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาไม่แพ้กับรัฐบาลกรุงศรีอยุธยา

น่าสังเกตว่า ถึงแม้บางระจันจะจุดกระแสการโหยหาอดีต ความเป็นไทยและกระแสชาตินิยม แต่ก็ไม่อาจกล่าวได้ว่าสามารถเหมารวมได้กับกระแสราชาชาตินิยม หรือพูดแบบหยาบๆ คือ บางระจันทำให้ชาตินิยมจุดติด แต่เป็นกระแสชาตินิยมที่ยังไม่มีราชาอยู่ในนั้น ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่

เนื่องจากว่าหนังบางระจันไม่สามารถเชิดชูสถาบันกษัตริย์ได้อย่างตรงไปตรงมา ดีไม่ดีอาจเป็นความผิดพลาดของชนชั้นนำด้วยซ้ำที่ทำให้บางระจันล่มสลายลง และดังที่เสนอไปแล้วว่าหนังเน้นย้ำถึงการรักษาชีวิตและปกป้องบ้านเกิด มากกว่าจะเป็นการพลีชีพเพื่อชาติ

บางระจันจึงอาจเป็นบทประพันธ์หลงยุคที่ไม่อาจอยู่ในกรอบประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยมได้ เพราะมันเข้ากับอุดมการณ์ที่มีศูนย์กลางอยู่ที่ราษฎรมากกว่า

ผิดกับอีกปีต่อมาที่หนัง สุริโยไท ได้ทำหน้าที่เป็นหนังเฉลิมพระเกียรติเต็มขั้น กระแสราชาชาตินิยมกลับมาอีกครั้งอย่างยิ่งใหญ่ ความสำเร็จไม่อาจประเมินแต่จากรายได้อย่างเดียว (ที่กวาดไปถึง 550 ล้านบาท[6] มากกว่าบางระจันถึง 3 เท่าตัว) แต่มันได้สร้างภาพจำของตัวละครต่างๆ ที่เป็นภาพตัวแทนของกษัตริย์และชนชั้นสูงของอยุธยา รวมไปถึงการแต่งกาย ภาษาพูด ท่วงท่า สภาพแวดล้อมของวังหลวง เขตชนชั้นสูง (แม้จะทำโมเดลออกมาบิดๆ เบี้ยวๆ ก็ไม่สำคัญนักสำหรับคนทั่วไป แต่สำหรับคนอ่านมันออกแล้วก็คงชมไปขมวดคิ้วไป) ความอลังการของการมีไพร่พลเดินตามขบวนเสด็จ ท่วงท่าอากัปกิริยาของสามัญชนที่ถูกกดให้หมอบกราบ อยู่ในเรือนร่างที่มีผืนผ้าน้อยชิ้นปกปิด ต่างจากชนชั้นสูง ทำให้สามัญชนกลายเป็นฝุ่นที่ไม่มีความสำคัญ สิ่งที่อาจเทียบได้อย่างเดียวกับบางระจันก็คือทั้งคู่มีจุดจบที่ความพ่ายแพ้สิ้นชาติ เสียกรุงศรีอยุธยาอันเป็นโศกนาฏกรรมในหน้าประวัติศาสตร์ที่ไม่น่าจดจำ

ในสังคมสมัยใหม่ หลังจากโรคห่าระบาด เราไม่เคยอยู่ในสภาพที่จนตรอกแบบที่ชุมชน ชาวบ้านต้องช่วยกันเอง หาทางออกกันเองสักเท่าไหร่ วิกฤตเศรษฐกิจ 2540 ก็กระทบกับสังคมไทยจริง แต่ก็ไม่ใช่คนทั้งประเทศ ความสิ้นหวังในหนังบางระจันถือว่ายังเป็นแฟนตาซีที่ไกลตัว

อีก 20 ปีให้หลัง โควิด-19 โรคระบาดชนิดใหม่ได้ทำให้ทั้งโลกไปไม่เป็น อย่าว่าแต่สังคมไทยเลย รัฐบาลที่มาพร้อมกับความสิ้นหวัง เป็นภาพตัวแทนที่ชัดเจนมากๆ ว่า หนทางสู่รัฐล้มเหลว (Failed state) เป็นอย่างไร สำหรับหลายๆ คน รัฐนาวาที่ขับเคลื่อนโดยประยุทธ์ จันทร์โอชา อาจพาเราดิ่งเหวไปสู่หายนะได้ยากมาก ด้วยอำนาจและความไร้สมรรถภาพที่เขามีอยู่ในมือ

นี่อาจเป็นสถานการณ์ที่เทียบกับการ ‘สิ้นชาติ’ หรือ ‘เสียกรุง’ ได้ไม่น้อยไปกว่ากัน เพียงแต่ว่าศัตรูคราวนี้ไม่สามารถระบุว่าเป็นบุคคลหรือลัทธิทางการเมืองได้ แต่มันคือเชื้อไวรัสที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น เราคงไม่เทียบปืนใหญ่กับวัคซีน เทียบรัฐบาลกรุงศรีอยุธยากับรัฐบาลกรุงเทพฯ ให้เสียเวลา ที่แน่ๆ ศึกครั้งนี้ทุกคนมีสิทธิติดโรคระบาด และมีโอกาสตายได้ทั้งนั้น  

การกลับมาดูหนังบางระจันอีกครั้ง อาจทำให้หนังตอบโจทย์กับเรามากกว่าที่เคยเป็นมาเมื่อ 20 ปีที่แล้วก็เป็นได้

อ้างอิง

บาหยัน อิ่มสำราญ. “บางระจัน กับประวัติศาสตร์ในวรรณกรรม สู่บทบาท “นายทองเหม็น” และอีกหลายนาม”. สืบค้นเมื่อ 26 เมษายน 2564 จาก https://www.silpa-mag.com/history/article_38982 (30 ตุลาคม 2563)

ภาควิชาวรรณคดีเปรียบเทียบ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.”การฟื้นฟูบูรณะค่ายบางระจันและวัดโพธิ์เก้าต้น”. สืบค้นเมื่อ 26 เมษายน 2564 จาก http://pioneer.chula.ac.th/~tanongna/history/documents/7_rajan3.htm

Film Archive Thailand (หอภาพยนตร์). “พระราชกรณียกิจ 29 กรกฎาคม พ.ศ.2519”. สืบค้นเมื่อ 26 เมษายน 2564 จาก https://www.youtube.com/watch?v=PpUAO9oTSxI (29 กรกฎาคม 2556)

Vinijphat Kanyapong. “รู้หรือไม่? 20 อันดับหนังไทยทำเงินสูงสุดตลอดกาลมีเรื่องอะไรบ้าง”.  Bearthai. สืบค้นเมื่อ 27 เมษายน 2564 จาก https://www.beartai.com/lifestyle/434225

Vinijphat Kanyapong. “รู้หรือไม่? 20 อันดับหนังไทยทำเงินสูงสุดตลอดกาลมีเรื่องอะไรบ้าง (2)”.  Bearthai. สืบค้นเมื่อ 27 เมษายน 2564 จาก https://www.beartai.com/lifestyle/434225/2


[1] มีอภิปรายอย่างละเอียดใน บาหยัน อิ่มสำราญ. “บางระจัน กับประวัติศาสตร์ในวรรณกรรม สู่บทบาท “นายทองเหม็น” และอีกหลายนาม”. สืบค้นเมื่อ 26 เมษายน 2564 จาก https://www.silpa-mag.com/history/article_38982 (30 ตุลาคม 2563)

[2] บาหยัน อิ่มสำราญ. “บางระจัน กับประวัติศาสตร์ในวรรณกรรม สู่บทบาท “นายทองเหม็น” และอีกหลายนาม”. สืบค้นเมื่อ 26 เมษายน 2564 จาก https://www.silpa-mag.com/history/article_38982 (30 ตุลาคม 2563)

[3] ภาควิชาวรรณคดีเปรียบเทียบ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.”การฟื้นฟูบูรณะค่ายบางระจันและวัดโพธิ์เก้าต้น”. สืบค้นเมื่อ 26 เมษายน 2564 จาก http://pioneer.chula.ac.th/~tanongna/history/documents/7_rajan3.htm

[4] Film Archive Thailand (หอภาพยนตร์). “พระราชกรณียกิจ 29 กรกฎาคม พ.ศ.2519”. สืบค้นเมื่อ 26 เมษายน 2564 จาก https://www.youtube.com/watch?v=PpUAO9oTSxI (29 กรกฎาคม 2556)

[5] Vinijphat Kanyapong. “รู้หรือไม่? 20 อันดับหนังไทยทำเงินสูงสุดตลอดกาลมีเรื่องอะไรบ้าง”.  Bearthai. สืบค้นเมื่อ 27 เมษายน 2564 จาก https://www.beartai.com/lifestyle/434225

[6] Vinijphat Kanyapong. “รู้หรือไม่? 20 อันดับหนังไทยทำเงินสูงสุดตลอดกาลมีเรื่องอะไรบ้าง (2)”.  Bearthai. สืบค้นเมื่อ 27 เมษายน 2564 จาก https://www.beartai.com/lifestyle/434225/2

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save