fbpx
หาทางออกเศรษฐกิจไทยใน(สอง)ทศวรรษที่สูญหาย

หาทางออกเศรษฐกิจไทยใน(สอง)ทศวรรษที่สูญหาย

‘ว่าที่เสือตัวที่ 5 ของเอเชีย’ และ ‘มหัศจรรย์แห่งเอเชีย’ (Miracle of Asia) คือคำที่ทั่วโลกใช้นิยามเศรษฐกิจไทยในช่วง 1980s-1990s ที่เติบโตอย่างร้อนแรงจนเป็นที่น่าจับตา

แต่ฉับพลันเมื่อเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 1997 คำเหล่านั้นก็กลายเป็นเพียงอดีต เศรษฐกิจไทยไม่อาจกลับไปลิ้มรสช่วงเวลาอันหอมหวานอย่างเคยได้อีก

หากย้อนมองช่วง 10 ปีระหว่างปี 2006-2015 การเติบโตของเศรษฐกิจไทยห่างไกลจากช่วงเวลาก่อนเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งมากนัก ซ้ำร้ายกว่านั้น ยังโตช้ากว่าหลายประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียน ช่วงเวลานั้นจึงอาจเรียกได้ว่าเศรษฐกิจไทยตกอยู่ใน ‘ทศวรรษที่สูญหาย’ (Lost Decade)

ถึงแม้เวลาจะล่วงเลยมาถึงปี 2021 ซึ่งนับได้ว่าเป็นจุดกึ่งกลางอีกหนึ่งทศวรรษ 2016-2025 เศรษฐกิจไทยก็ดูจะไม่ได้ดีขึ้นจากทศวรรษที่แล้วเท่าไหร่นัก หากสภาพเศรษฐกิจยังคงเป็นอย่างนี้เรื่อยไปหรือตกต่ำกว่านี้ลงไปอีก คำว่าทศวรรษที่สูญหายคงไม่เพียงพอ แต่เป็น ‘สองทศวรรษที่สูญหาย’

ความวุ่นวายและไร้เสถียรภาพของการเมืองไทยมักถูกมองว่าเป็นตัวการสำคัญที่ฉุดเศรษฐกิจไทยลงต่ำ หากแต่ความจริง นั่นเป็นเพียงจิ๊กซอว์ตัวหนึ่งของภาพทั้งหมดเท่านั้น ยังมีอีกหลายปัญหาที่พาประเทศไทยลงสู่ทศวรรษที่สูญหายอย่างที่ยังไม่เห็นทางออก

101 ชวน สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระ และกรรมการผู้จัดการด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด และ พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) ร่วมตีโจทย์เศรษฐกิจไทย พาประเทศหลุดพ้นจาก(สอง)ทศวรรษที่สูญหาย

เศรษฐกิจไทยกับ(สอง)ทศวรรษที่สูญหาย

สฤณีอ้างอิงถึงบทความ The Thai Economy: A Lost Decade? ของกฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่เขียนไว้ในหนังสือ Coup, King, Crisis: A Critical Interregnum in Thailand (2020) โดยให้ข้อมูลว่า ในช่วงปี 2006-2015 อัตราการเติบโตเศรษฐกิจไทยโดยเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ร้อยละ 3.2 ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง ซึ่งโตได้ถึงร้อยละ 7.7 ต่อปี ระหว่างปี 1971-1995 และยังน้อยกว่าช่วงหลังวิกฤตระหว่างปี 1999-2005 ซึ่งยังคงโตได้เฉลี่ยร้อยละ 5.2 ต่อปี

นอกจากจะโตช้าลงกว่าเดิมมากแล้ว เศรษฐกิจไทยที่โตด้วยตัวเลขร้อยละ 3.2 ยังถือว่าโตช้าสุดในกลุ่มอาเซียน ยกเว้นบรูไน และเมื่อดูตัวเลขรายได้มวลรวมสะสม (Cumulative GDP) ระหว่างปี 2006 ถึง 2015 จะพบว่าโตอยู่ที่ร้อยละ 35 ขณะที่ชาติอาเซียนอื่นๆ ที่มีลักษณะคล้ายกับไทย อย่างการเป็นประเทศเศรษฐกิจเปิดขนาดเล็ก และพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก ต่างมีตัวเลขการเติบโตที่สูงกว่าของไทย อย่างเช่นเวียดนามที่โตถึงร้อยละ 70 ขณะที่มาเลเซียโตร้อยละ 53

งานเขียนของกฤษฎ์เลิศชี้ว่าหนึ่งในสาเหตุที่ฉุดให้เศรษฐกิจไทยอ่อนแรงลงในช่วงทศวรรษ 2006-2015 ก็คือความวุ่นวายและไร้เสถียรภาพทางการเมือง นับตั้งแต่เหตุการณ์รัฐประหารปี 2006 โดยมีวิกฤตเศรษฐกิจโลกปี 2007-2008 เข้ามาผสมโรง

อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงเหตุผลส่วนเดียวเท่านั้น งานเขียนให้ข้อสรุปว่า ที่จริงแล้วเศรษฐกิจไทยเริ่มอ่อนแอตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤตการเมืองและวิกฤตเศรษฐกิจโลก เป็นเพราะมีปัญหาเชิงโครงสร้างระยะยาวหลายอย่างที่ไม่ได้รับการแก้ไข โดยปัญหาการเมืองและปัจจัยภายนอกอย่างวิกฤตเศรษฐกิจโลกเป็นเพียงตัวที่เข้ามาซ้ำเติมให้สถานการณ์แย่ลงเท่านั้น

ปัญหาเชิงโครงสร้างระยะยาวของเศรษฐกิจไทยประกอบด้วย 4 ปัจจัยหลัก ได้แก่ การขาดการพัฒนาผลิตภาพ การเข้าสู่สังคมสูงวัย ปัญหาด้านการศึกษา และความเหลื่อมล้ำ

ขณะที่พิพัฒน์ก็มองปัญหาพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยคล้ายกัน โดยสรุปเป็นวลีสั้นๆ ว่า “แก่ เจ็บ จน คนน้อย ด้อยศึกษา ปัญหาเหลื่อมล้ำสูง”

ในประเด็นการขาดการพัฒนาผลิตภาพ สฤณีขยายความว่า “ตั้งแต่หลังปี 2006 เราจะเห็นว่าเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในอดีตเริ่มช่วยเราได้ไม่เยอะอีกต่อไปแล้ว แต่เรายังไม่คิดเรื่องการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจอย่างจริงจัง การส่งออกของเรายังไม่ได้ปรับตามโครงสร้างซัพพลายเชนของโลกที่เปลี่ยนไป เช่น เรายังคงผลิตและส่งออกฮาร์ดดิสก์และพวกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ที่ทุกวันนี้เติบโตช้าลงแล้ว เพราะทั่วโลกหันไปใช้อุปกรณ์อย่างแท็บเล็ตและทัมป์ไดร์ฟกันแล้ว”

ขณะที่พิพัฒน์กล่าวว่า “หลังโควิด เราเห็นประเทศอย่างจีน ไต้หวัน และเวียดนาม มีการส่งออกที่รีบาวด์กลับขึ้นไป 30-40% จีนรีบาวด์ไปถึง 60% ในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ แต่ของไทยเพิ่งจะกลับมาบวกได้ 2-3% เมื่อเดือนที่ผ่านมา พอไปไล่ดูสาเหตุก็พบว่า สัดส่วนการส่งออกสินค้าไฮเทคของเรามีแค่ 20-30% ของการส่งออกทั้งหมด น้อยกว่าประเทศอื่นเยอะ อย่างเวียดนามยังมีสัดส่วนเกิน 50-60%”

“เราไม่ใช่จุดหมายปลายทางของการลงทุนจากต่างประเทศอีกต่อไป จากเดิมเรามีสัดส่วน FDI (Foreign Direct Investment) ประมาณครึ่งหนึ่งของกลุ่มอาเซียน แต่ทุกวันนี้เหลือเพียง 10-20% ถ้าไปดูสินค้าที่เราส่งออก จะเห็นว่าแทบไม่มีของไทย เราเป็นประเทศรับจ้างผลิตอย่างแท้จริง แล้วพอต่างประเทศรู้สึกว่าต้นทุนเราแพง ก็จะเริ่มย้านฐานการผลิตออก ทำให้การลงทุนใหม่ๆ เริ่มไม่มาหา เพราะฉะนั้นเรื่องของการถ่ายทอดความรู้ (Knowledge Transfer) เลยไม่เกิดขึ้น” พิพัฒน์เสริม

ถัดจากการพัฒนาผลิตภาพ สฤณีพูดถึงประเด็นสังคมสูงวัย โดยชี้ว่า “ประเทศไทยไม่ได้เข้าสู่สังคมสูงวัยธรรมดา แต่เข้าสู่สังคมสูงวัยสุดขั้ว (Extreme Aging Society) หรือเรียกว่าเรากำลังจะ ‘แก่ก่อนรวย’ ขณะที่ประเทศอื่นในอาเซียนที่เป็นคู่แข่งกับเรา ยังมีการเติบโตของประชากรวัยแรงงานค่อนข้างเยอะ”

พิพัฒน์เสริมประเด็นนี้ว่า “เราเป็นประเทศที่กำลังเผชิญทั้งความท้าทายจากโครงสร้างประชากร และเริ่มสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในเรื่องของการผลิตที่ต้องใช้แรงงานเยอะ อย่างไรก็ตาม เราไม่ใช่ประเทศเดียวที่เจอปัญหานี้ ประเทศที่เป็นเสือเศรษฐกิจ 4 ตัวก็เจอปัญหานี้หมด แต่สุดท้ายเขาสามารถหลุดออกมาได้ ด้วยการอัพเกรดเทคโนโลยี ขณะที่เราแทบไม่ได้อัพเกรด แต่ไปแก้ปัญหาด้วยการนำเข้าแรงงานจากประเทศอื่นๆ ทำให้ต้นทุนแรงงานของเรายังอยู่ระดับค่อนข้างต่ำ และขณะเดียวกัน การยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศก็เกิดขึ้นค่อนข้างช้า”

นอกจากนี้ สฤณีพูดถึงอีก 2 ประเด็นที่เหลือคือปัญหาการศึกษาและความเหลื่อมล้ำว่า “เรามีปัญหาในสองประเด็นนี้มากขึ้นในระยะหลัง ถึงแม้เราจะพูดเรื่องการปฏิรูปการศึกษากันเยอะ แต่ตัวเลขผลสัมฤทธิ์การศึกษาเช่น PISA ที่วัดผลเทียบเด็กไทยกับเด็กต่างประเทศ กลับไม่สะท้อนอย่างนั้น หรือแม้กระทั่งในโลกการทำงาน เราก็จะเห็นชัดเจนว่า ทำไมบริษัทเอกชนใหญ่ๆ หลายแห่งถึงออกไปตั้งสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานของตัวเอง เพราะฉะนั้นปัญหาการศึกษาเรื้อรังมากและน่าจะแย่ลงอีก”

“การจะปรับโครงสร้างให้เราตามทันโลกมากขึ้น เช่นการปรับการส่งออกให้วิ่งตามซัพพลายเชนของโลกที่เปลี่ยนไป หรือการหาเครื่องยนต์เศรษฐกิจตัวใหม่ จำเป็นต้องอาศัยคนที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ หรือเทคโนโลยีเข้ามาขับเคลื่อนมากกว่าในอดีตที่เราเคยอาศัยแรงงานทักษะต่ำ เรื่องนี้จึงผูกโยงกับประเด็นการศึกษาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และยิ่งเรามีปัญหาความเหลื่อมล้ำ ซึ่งในที่นี้รวมไปถึงความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โอกาสที่เราจะมีภาคการส่งออกที่ปรับตัวได้เร็วทันกระแสโลกก็จะลำบาก” สฤณีกล่าว

ออกจาก(สอง)ทศวรรษที่สูญหายไม่ได้
ถ้าไม่เป็น ‘ประชาธิปไตย’ ที่แท้จริง

พิพัฒน์ชวนคิดถึงเหตุผลที่ประเทศไทยไม่สามารถแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างเหล่านี้ จนต้องจมอยู่ในทศวรรษที่สูญหาย โดยตั้งคำถามว่า “เป็นไปได้ไหมว่านโยบายภาครัฐไม่ตอบสนองต่อความท้าทายที่เกิดขึ้น และการตัดสินใจต่างๆ ของรัฐไม่สะท้อนความต้องการของคนส่วนใหญ่ของประเทศหรือเปล่า ซึ่งก็สะท้อนว่าเกี่ยวข้องกับประเด็นการเมืองหรือเปล่า”

“การทำงานของภาครัฐคือการดึงเอาเงิน ดึงเอาทรัพยากรจากภาคเอกชน ไปใช้เพื่อผลิต public goods (สินค้าสาธารณะ) และกำหนดนโยบาย แต่พอภาครัฐไม่มี accountability (ความรับผิดชอบ) ต่อสิ่งที่ตัวเองทำ หรือ I don’t care เราเห็นนโยบายจากรัฐเยอะแยะไปหมด แต่พอไม่ทำหรือทำไม่ได้ รู้ปัญหาแต่ไม่แก้ไข ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ผมเลยเห็นว่าชิ้นสำคัญที่เราทำหายไปคือ accountability ทางการเมือง”

สฤณีก็คิดสอดคล้องกัน โดยชี้ว่า “ระบอบ คสช. ไม่รับผิดกับใครเลย ยกเว้นฐานเสียงของตัวเองอย่างข้าราชการหรือกลุ่มทุนใหญ่ นโยบายที่พรรคพลังประชารัฐหาเสียงไว้ ถ้าลองไปไล่จะเห็นว่าไม่มีอะไรที่ทำสำเร็จเลยแม้แต่นโยบายเดียว และก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ทั้งที่ตอนคุยกันเรื่องรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุด เราคุยกันว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะทำให้พรรคการเมืองต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่หาเสียงไว้ นี่ชัดเจนว่าไม่เป็นความจริง”

นอกจากนี้ อีกประเด็นที่ทั้งพิพัฒน์และสฤณีคิดว่าเป็นปัญหาของการเมืองไทยและนำไปสู่ทศวรรษที่สูญหาย ก็คือการขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน และขาดการถกเถียงเชิงนโยบายอย่างกว้างขวาง

“ผมเสียดายการพัฒนาคุณภาพของสถาบันการเมือง เราใช้ทางลัดกันบ่อยไปหน่อย ทำให้คนไม่ตระหนักรู้ว่าประชาชนควรจะมีส่วนร่วมกำหนดชะตาชีวิตของประเทศได้ การดีเบตเรื่องนโยบายสาธารณะก็แทบจะไม่เกิดในเมืองไทยเลยช่วงทศวรรษหรืออาจจะสองทศวรรษที่ผ่านมา ไม่เหมือนในต่างประเทศที่การดีเบตเรื่องนโยบายมีความสำคัญและเป็นตัวกำหนดความแพ้ชนะทางการเมือง เปลี่ยนคุณภาพชีวิตของประชาชนได้จริง แต่ทศวรรษที่ผ่านมาเรามีตรงนี้น้อยไปหน่อย” พิพัฒน์กล่าว

ขณะที่สฤณีมองว่าสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ในสังคมไทย หากประเทศกลับสู่ระบอบ ‘ประชาธิปไตย’ ที่แท้จริง

“ประชาธิปไตยสำคัญมากขึ้นกับเศรษฐกิจทุกวันนี้ เพราะทิศทางในอนาคตที่ไทยต้องเดินต้องอาศัยการคิดเชิงนโยบาย การวางแผนเชิงการเมือง เพราะมันเป็นประเด็นเชิงโครงสร้าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน การพัฒนา new economy หรืออะไรก็ตาม มันต้องการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง หากโครงสร้างการเมืองยังเป็นแบบนี้ คงไม่มีใครมีแรงจูงใจที่จะเข้ามาคุย” สฤณีกล่าว

“ปี 2006-2015 นับตั้งแต่รัฐประหารมา คือทศวรรษที่สูญหายแน่ๆ และทศวรรษต่อไปนับตั้งแต่ปี 2016 เป็นต้นมา ซึ่งถ้านับไปข้างหน้าก็จะเหลือเวลาอีก 5 ปี จบที่ปี 2026 ส่วนตัวก็คิดว่าสูญหายแน่ๆ เหมือนกัน ยากที่เราจะออกจากสองทศวรรษที่สูญหาย ถ้าเราไม่กลับไปสู่ระบอบประชาธิปไตย” สฤณีกล่าว

หลากทัศนะ พาไทยออกจาก(สอง)ทศวรรษที่สูญหาย

ในระหว่างการพูดคุย ยังมีอีกหลายคนที่เข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เสนอหลากหลายแนวคิดที่จะดึงประเทศไทยขึ้นมาจาก(สอง)ทศวรรษที่สูญหาย โดยมีตัวอย่างแนวคิดที่น่าสนใจดังนี้

สฤณีเองให้แนวคิดว่า โจทย์ความยั่งยืนมีความสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจไทยสู่ทิศทางใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกหลังโควิดที่ประเด็นสุขภาพและสิ่งแวดล้อมมีความสำคัญมากขึ้น นอกจากนี้เศรษฐกิจไทยอาจคิดที่จะพึ่งพาเศรษฐกิจในประเทศมากขึ้น แต่ต้องสร้างเศรษฐกิจที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (inclusive economy) โดยการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ คิดเรื่องการเก็บภาษีทรัพย์สินและการกระจายรายได้ที่จริงจังหว่านี้ รวมถึงสร้างตาข่ายรองรับทางสังคม (social safety net) ให้แข็งแรง ก็จะนำไปสู่การสร้างตลาดในประเทศที่เข้มแข็งขึ้นได้

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า เสนอแนวคิด 3 ข้อ ได้แก่ (1) รัฐต้องเป็น buyer (ผู้ซื้อ) โดยหยิบเอาปัญหาในประเทศมาสร้างเป็นดีมานด์ นำไปสู่การสร้างซัพพลายเชนใหม่ สร้างเทคโนโลยี และสร้างงานให้กับแรงงานรุ่นใหม่ (2) รัฐต้องจัดระเบียบความสัมพันธ์ระหว่างทุนขนาดใหญ่กับทุนขนาดกลางและเล็ก โดยทุนขนาดใหญ่ต้องมีบทบาทช่วยผลักดันให้ทุนขนาดกลางและเล็กมีศักยภาพต่อสู้ระดับโลก และเอามูลค่าจากตลาดโลกเข้าสู่ประเทศได้ ไม่ใช่ว่าให้ทุนใหญ่เข้ามาแสวงหาค่าเช่าเศรษฐกิจเพียงกลุ่มเดียว และ (3) ความเท่าเทียมของดอกผลการพัฒนาต้องถูกกระจายมูลค่าไปสู่แรงงานมากขึ้น ไม่ใช่กระจุกอยู่กับกลุ่มทุน

วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์การเมือง จาก National Graduate Institute for Policy Studies (GRIPS) ประเทศญี่ปุ่น เสนอว่าประเทศไทยต้องแก้ปัญหาการจัดสรรทรัพยากรอย่างไม่มีประสิทธิภาพ (resource misallocation) ให้ได้เป็นอันดับแรกๆ จึงจะเปิดไปสู่ทางออกได้อีกหลายทาง โดยแน่นอนว่าการแก้ไขปัญหาการเมืองมีความเกี่ยวพันกับเรื่องนี้สูง นอกจากนี้ ประเทศไทยยังต้องหาเครื่องยนต์เศรษฐกิจตัวใหม่ ซึ่งอาจจะต้องกลับมามองที่ภาคอุตสาหกรรม แต่การจะมีภาคอุตสาหกรรมที่เข้มแข็งได้นั้น จำเป็นต้องมีระบบราชการที่เข้มแข็ง และนโยบายอุตสาหกรรมจะต้องได้รับการออกแบบให้มีการแข่งขันมากขึ้น ขณะที่รัฐส่วนกลางจะต้องลดบทบาท กระจายอำนาจให้ท้องถิ่น กระตุ้นให้ท้องถิ่นแข่งขันพัฒนาเศรษฐกิจระหว่างกันเองมากขึ้น

สันติธาร เสถียรไทย เสนอให้ประเทศไทยมีความผสมผสานกันระหว่าง bottom-up กับ start-up โดย bottom-up คือการคิดนโยบายจากล่างขึ้นบน เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น ขณะที่แนวคิด start-up ประกอบด้วย 3 ส่วนคือ “ดึงดูด สร้างเสริม และเติมเต็ม” ดึงดูดคือการดึงคนเก่งๆ จากทั่วโลกให้เข้ามาช่วยเสริมสร้างเศรษฐกิจ สร้างเสริมคือการสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการแข่งขัน ออกกฎกติกาให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลง และเติมเต็มคือการใส่โครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure) ที่เข้ามาช่วยส่งเสริมการยกระดับเศรษฐกิจ เช่น การสร้างระบบ Digital ID เป็นต้น

นอกจากนี้ สันติธารยังชี้ว่า การจะเป็น bottum-up และ start-up ที่สำเร็จได้นั้น จำเป็นต้องมาพร้อมกับ accountability ทางการเมือง เพราะจำเป็นต้องอาศัยการลองผิดลองถูก หากไม่มี accountability เมื่อทำผิดแล้ว ก็จะทำผิดยาว ไม่ได้รับการแก้ไขให้กลับมาในทางที่ถูกได้

MOST READ

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

Economy

23 Nov 2023

ไม่มี ‘วิกฤต’ ในคัมภีร์ธุรกิจของ ‘สิงห์’ : สันติ – ภูริต ภิรมย์ภักดี

หากไม่เข้าถ้ำสิงห์ ไหนเลยจะรู้จักสิงห์ 101 คุยกับ สันติ- ภูริต ภิรมย์ภักดี ถึงภูมิปัญญาการบริหารคน องค์กร และการตลาดเบื้องหลังความสำเร็จของกลุ่มธุรกิจสิงห์

กองบรรณาธิการ

23 Nov 2023

Economy

19 Mar 2018

ทางออกอยู่ที่ทุนนิยม

ในยามหัวเลี้ยวหัวต่อของบ้านเมือง ผู้คนสิ้นหวังกับปัจจุบัน หวาดหวั่นต่ออนาคต และสั่นคลอนกับอดีตของตนเอง
วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร เสนอทุนนิยมให้เป็น ‘grand strategy’ ใหม่ของประเทศไทย

วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร

19 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save