fbpx
ใครก็เป็นรัฐมนตรีได้

ใครก็เป็นรัฐมนตรีได้

ขณะเขียนต้นฉบับนี้ ดูเหมือนความไม่ไว้วางใจจะแผ่ขยายไปทั่ว วัคซีนเป็นอันตรายหรือไม่ คุ้มกันได้นานเพียงใด มีประสิทธิผลมากพอหรือเปล่า ฉีดแล้วเดินทางไปประเทศพัฒนาแล้วได้หรือไม่ ฯลฯ

เราควรสื่อสารให้ประชาชนทราบว่าเป้าหมายของการฉีดวัคซีนคือสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ซึ่งทำได้เร็วมากเท่าไรจะเป็นผลดีต่อการทำมาหากินและใช้ชีวิตไปจนถึงเศรษฐกิจประเทศชาติเร็วเท่านั้น จะทำได้เมื่อฉีดประชากรไปมากกว่าร้อยละ 60-80%  

สำหรับประเทศไทยคือประมาณ 50 ล้านคน หรือ 1 ร้อยล้านโดส

ปัญหามิได้มีเพียงแค่เรื่องสื่อสารไม่เป็น ปัญหาที่ใหญ่กว่าคือสื่อสารอะไรไปก็ไม่มีคนเชื่อ นี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ควรเปลี่ยนรัฐมนตรี ถ้าทำได้ควรเปลี่ยนรัฐบาลด้วย การสื่อสารอะไรออกมาก็ไม่มีคนเชื่อนี้เป็นปัญหาใหญ่ แผนฉีดวัคซีนล่าสุดที่จะทำให้สำเร็จในสิ้นปีก็ไม่มีคนเชื่อง่ายดายนัก ทัวร์ฉีดวัคซีนต่างประเทศเริ่มออกแคมเปญกันแล้ว

ควรเปลี่ยนผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขเพราะไม่มีความกล้าหาญทางจริยธรรมมากพอที่จะยืนยันสิ่งที่ควรทำแก่ผู้กำหนดนโยบาย ซึ่งก็คือรัฐมนตรีและคณะรัฐบาล ไม่สามารถต้านทานเรื่องที่ไม่ควรทำ นำมาซึ่งความเสี่ยงแก่แพทย์ พยาบาล และบุคลากรทุกระดับในทุกโรงพยาบาล

มี 3 เรื่องใหญ่ๆ ที่กระทรวงสาธารณสุขมีหน้าที่ทำให้สำเร็จ

1. ฉีดวัคซีน 100 ล้านโดสนั้นโดยเร็วที่สุด ร้านค้ารายวันและลูกจ้างรายวันซึ่งมีจำนวนมหาศาลจะได้ออกมาทำงานเสียที (รู้แล้วว่าต้องใส่หน้ากากอยู่ เรามิได้โง่ถึงเพียงนั้น) การท่องเที่ยว โรงแรม และร้านอาหารจะได้เปิดบริการ ที่สำคัญคือแพทย์และพยาบาลรวมทั้งบุคลากรสาธารณสุขทุกระดับจะได้ทำงานลดลงและเสี่ยงภัยน้อยลง

เรื่องใครฉีดใครได้กลับเป็นเรื่องรอง เรื่องฉีดแล้วมีภาวะข้างเคียงเป็นเรื่องรอง (คนเป็นหมอเข้าใจเรื่องนี้ดีว่ายาทุกชนิดมีฤทธิ์ข้างเคียงได้) เมื่อการสื่อสารล้มเหลวแล้ว เรื่องที่ไม่ตรงประเด็น (irrelevant) จึงผุดขึ้นมาเต็มหน้าเฟซบุ๊ก เช่น ผู้หลักผู้ใหญ่และภริยาบางบ้านได้ฉีดวัคซีนไปหมดแล้ว (แอสตราเซเนกาเสียด้วย) เป็นต้น แม้ว่าจะมีเรื่องไม่ดีไม่งามหรือเรื่องราวด้านลบมากมาย แต่ทั้งหมดนั้นไม่สำคัญเลยเมื่อเทียบกับเป้าหมายใหญ่คือปูพรมวัคซีนให้เร็วที่สุด อะไรที่เหลือเป็นเป้าหมายรองทั้งสิ้น

เมื่อได้เป้าหมายใหญ่แล้วเป้าหมายรองต่างๆ นานา รวมทั้งปัญหาต่างๆ นานาหลายข้อจะหายไปเอง เช่น ถ้าคนส่วนใหญ่จำนวนมหาศาลปลอดภัยแล้ว เรื่องภาวะแทรกซ้อนหรือใครมีเส้นสายก็จะลดความสำคัญลง (แต่มิได้แปลว่าเราจะไม่พยายามทำเรื่องเหล่านี้ให้หมดในรุ่นเรา)

งานกำหนดเป้าและชี้เป้า กำหนดทิศและชี้ทิศเป็นงานของผู้บริหารระดับสูงสุด หากทำตรงนี้ไม่เป็น ให้ใครมาเป็นรัฐมนตรีก็ได้ ความข้อนี้กินถึงทุกกระทรวงรวมทั้งกระทรวงศึกษาธิการด้วย หากทำเป็นเพียงแค่สั่งปิดโรงเรียนหรือเลื่อนเปิดเทอมเท่านี้ ใครก็มาเป็นรัฐมนตรีได้เช่นเดียวกัน

2. ผู้บริหารมีหน้าที่กำหนดแผนการใช้บุคลากรแพทย์และพยาบาลให้สมเหตุผล ถ้าแผนนี้ถูกต้อง วิธีทำงานจึงถูกต้อง ประเทศของเรามีโครงสร้างสาธารณสุขที่ดีที่สุดประเทศหนึ่งอยู่แล้วแต่เพราะแผนการใช้คนสับสนอลหม่านจึงได้เหนื่อยกันถ้วนหน้า เราเป็นเช่นนี้มานานและปรากฏชัดเมื่อเกิดวิกฤตการณ์โรคระบาดในครั้งนี้

ระดับสูงสุดคืออายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่มีความสามารถในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีภาวะแทรกซ้อน พูดง่ายๆ ว่ามิใช่อายุรแพทย์ทั่วไปแต่เป็นอายุรแพทย์ที่มีความสามารถระดับสูงกว่าอายุรแพทย์ทั่วไป อัตราการรอดชีวิตด้วยการใช้เครื่องมืออุปกรณ์และเวชภัณฑ์ที่มีจำกัดอย่างคุ้มค่ามากที่สุดจะขึ้นอยู่กับแพทย์กลุ่มนี้ เราจึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญและป้องกันแพทย์กลุ่มนี้ให้ดีที่สุด และถ้าเราก้าวข้ามวัฒนธรรมข้าราชการได้ เราจำเป็นต้องบริหารเวลาทำงานและภาระงานให้แพทย์กลุ่มนี้อย่างดีที่สุดด้วย (พูดภาษาชาวบ้านว่าให้เขาทำเฉพาะงานยากๆ ด้วยค่าตอบแทนที่สูงกว่า)

วัฒนธรรมข้าราชการของเราไม่เปิดโอกาสให้ทำงานลักษณะนี้ มิใช่เฉพาะวงการแพทย์ เรื่องที่เกิดขึ้นในทุกหน่วยราชการคือทุกคนทำทุกอย่าง และคนที่เก่งที่สุดจะเหนื่อยที่สุดบ่อยครั้ง

ระดับรองลงมาคืออายุรแพทย์ทั่วประเทศซึ่งควรได้รับการลดภาระงานที่ไม่ตรงประเด็นกับการระบาดของโควิด-19 เพื่อเก็บแรง ทั้งแรงกายและแรงใจ ให้แก่พวกเขาและครอบครัวได้ทำหน้าที่ที่เขาเชี่ยวชาญอย่างดีที่สุด จำนวนอายุรแพทย์ทั้งประเทศมีไม่น้อยหากเซฟเอาไว้ดีๆ จะช่วยเหลือประเทศชาติครั้งนี้ได้มาก (โดยคำนวณอัตราค่าตอบแทนเสี่ยงภัยให้เรียบร้อยเช่นกัน) 

ระดับที่สามจึงเป็นเรื่องโรงพยาบาลสนาม โรงพยาบาลสนามเป็นสถานที่รักษาผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรง มิใช่สถานที่กักตัวผู้ไม่มีอาการ ดังนั้นโรงพยาบาลสนามต้องการนายแพทย์และพยาบาลด้วยเช่นกัน มีสภาพแวดล้อมที่ดี เครื่องมือ อุปกรณ์ และเวชภัณฑ์ครบถ้วนตามที่โรงพยาบาลพึงมี การเกลี่ยอัตรากำลังทั้งโรงพยาบาลออกมาช่วยเหลือโรงพยาบาลสนามอย่างเป็นระบบและได้มาตรฐานเป็นเรื่องจำเป็น   

ผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการควรอยู่บ้าน แล้วจัดระบบติดตามอาการทางโทรศัพท์และรถรับส่งไปโรงพยาบาลสนามหรือโรงพยาบาลให้ชัดเจน ภาษาพัฒนาคุณภาพว่า ‘มีระเบียบปฏิบัติที่ชัดเจน’ หากระบบเรียบร้อยและจัดสรรเตียงให้ถูกต้อง เรื่องตายในบ้านจึงจะลดลงและได้รับการแก้ไขเป็นรายๆ ไป คล้ายๆ เรื่องฉีดวัคซีนแล้วเกิดภาวะแทรกซ้อน เรื่องเหล่านี้การแพทย์รู้อยู่แก่ใจว่าเกิดขึ้นได้เสมอ แต่พอระบบใหญ่ไม่เรียบร้อย เรื่องเหล่านี้จะผุดขึ้นมาเป็นเรื่องใหญ่ได้มากๆ และสร้างความตื่นตระหนกได้มาก

3. เรื่องยารักษาโรคโควิด-19 นายแพทย์ทุกคนต้องการอาวุธ หากเราคิดว่าโควิด-19 เป็นศัตรู เราจำเป็นต้องมีอาวุธที่ดี (แม้ว่าจะมีหลายคนไม่สบายใจนักเวลาเปรียบแพทย์เป็นนักรบ) กำลังใจก็ต้องการ แต่เราต้องการเครื่องมือและเวชภัณฑ์มากกว่า แพทย์อยากทำงานแต่ก็ต้องการชุดป้องกันและเครื่องมือที่พอเพียงด้วย เรื่องจริงเป็นอย่างไรประชาชนไม่ทราบ แต่ที่เห็นคือหลายโรงพยาบาลรวมทั้งโรงพยาบาลขนาดใหญ่ยังขอบริจาค เรื่องนี้ทำลายความเชื่อมั่นของประชาชนมาก

งานทำนองนี้ไม่ควรเป็นงานบริจาคหรือแม้กระทั่งงานอาสาสมัครอีกแล้ว คนไทยใจดีเป็นเรื่องดีแต่เราไม่ควรติดอยู่ที่การทำบุญมากมายตลอดไป ความเป็นจริงคือเรามีเวลา 1 ปีในการเตรียมตัว (ไม่นับการบริจาคเมื่อรอบแรกหรือการวิ่งหาเงินของคุณตูน) แต่ผลลัพธ์ที่เห็น ชวนให้ตีความว่าเรายังไม่มีอะไรเพียงพอให้แพทย์และพยาบาลทำงาน แม้แต่ค่าตอบแทนการเสี่ยงภัยก็เป็นเรื่องต้องคำนวณ นี่มิใช่การทำบุญ มันเป็นหน้าที่ และแพทย์พยาบาลทุกคนต้องการทำหน้าที่ 

พ้นจากข่าววัคซีนและเตียง ตอนนี้เรากำลังเล่นข่าวเรื่อง ‘ยา’ และ ‘สิทธิบัตรยา’ กันต่อ แล้วเรื่องกลับไปที่กับดักเดิม นั่นคือรัฐพูดอะไรก็ไม่มีใครเชื่อ

ทั้งหมดที่เขียนมาเป็นหลักการบริหารและจริยธรรมวิชาชีพธรรมดาๆ

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save