fbpx
ผมเป็นผู้พิพากษาของพระเจ้าอยู่หัว: อุดมการณ์และนักกฎหมายผู้ผ่านเหตุการณ์พฤษภา 35

ผมเป็นผู้พิพากษาของพระเจ้าอยู่หัว: อุดมการณ์และนักกฎหมายผู้ผ่านเหตุการณ์พฤษภา 35

1 สิงหาคม พ.ศ. 2557 ระหว่างที่ผู้พิพากษาในศาลจังหวัดแห่งหนึ่งซึ่งเพิ่งเลิกงานและกำลังจะเดินออกจากศาล เขาได้พบผู้หญิงนั่งร้องไห้จึงเข้าไปสอบถามและได้ความว่าแม่กับน้องชายของเธอถูกจับกุม ศาลสั่งปรับคนละ 7,500 บาท แม้จะไปหยิบยืมเงินจากญาติมาแต่ก็ยังไม่พอจะเสียค่าปรับ เธอจึงได้แต่นั่งร้องไห้และโทษตัวเองว่าช่วยแม่ไม่ได้ ผู้พิพากษาคนดังกล่าวจึงได้ให้คำแนะนำว่า

“ผมบอกว่าให้ยื่นคำร้องขอประกันตัว เพื่อออกไปหาค่าปรับมาชำระสิ เงิน 6,000 บาท ที่มีอยู่ก็ให้เอาเป็นเงินประกัน ผู้หญิงคนนี้บอกว่า ศาลปิดทำการแล้ว ผมบอกว่ายังไม่ปิด เธอเถียงว่าปิดแล้วก็เจ้าหน้าที่บอก ผมบอกว่าเดี๋ยวผมสั่งเปิดให้ดู แล้วหันไปบอกคุณเล็ก (คาดว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ศาล – ผู้เขียน) ว่า จัดการเรื่องนี้ให้เค้าหน่อย เดี๋ยวผมสั่งปล่อยเอง คุณเล็กจัดการให้เสร็จ แล้วก็ปล่อยคุณแม่เธอ ผู้หญิงคนนี้ยกมือไหว้หลายครั้ง ผมบอกเธอว่า ผมเป็นผู้พิพากษาของพระเจ้าอยู่หัว[1]

เมื่อมีการเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวลงในสื่อออนไลน์ (Facebook) เหตุการณ์ดังกล่าวได้รับการชื่นชมรวมทั้งมีการส่งต่อข้อมูลไปอย่างกว้างขวาง ปฏิเสธไม่ได้ว่าการทำหน้าที่ของผู้พิพากษาที่เกิดขึ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้บุคคลสามารถประกันตัวออกไปในระหว่างที่ตกเป็นจำเลยในชั้นศาลได้ โดยไม่จำเป็นต้องถูกคุมขังไว้ในระหว่างการพิจารณาคดี การกระทำดังกล่าวย่อมเป็นการปกป้องสิทธิของประชาชนอันควรจะเป็นตามรัฐธรรมนูญและบทบัญญัติของกฎหมาย

แม้อาจมีคำถามบางประการเกิดขึ้นจากเหตุการณ์นี้ได้ว่ากรณีดังกล่าวเป็นเรื่องทั่วไปหรือเรื่องยกเว้นในกระบวนการยุติธรรม เพราะจากกรณีเรื่องเล่านี้ไม่มีรายละเอียดแสดงให้เห็นว่าได้มีการไต่สวนเกิดขึ้น ถ้าเช่นนั้นก็ย่อมหมายความว่าในเบื้องต้นการประกันตัวย่อมเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนพึงได้รับในเบื้องต้น หรือหากผู้พิพากษาคนดังกล่าวไม่ได้กลับบ้านในเวลานั้นอันทำให้ไม่ได้พบกับหญิงซึ่งนั่งร้องไห้แล้ว สถานการณ์ของเธอ แม่และน้องของเธอ จะมีชะตากรรมในลักษณะเช่นใด หากมีผู้พิพากษาคนอื่นเดินมาพบเจอเข้ากับเธอ ผู้พิพากษาจะปฏิบัติไปในแบบเดียวกันกับที่ได้เกิดขึ้นทุกคน คือต่างก็จะมาสอบถามและให้ความช่วยเหลืออย่างถึงที่สุดหรือเขาเหล่านั้นจะเดินผ่านเลยไป       

ไม่ว่าคำตอบจะเป็นอย่างไรก็ตาม แต่สำหรับกรณีนี้ผู้พิพากษาคนดังกล่าวได้ดำเนินการให้มีการประกันตัวเกิดขึ้น ประเด็นที่น่าสนใจก็คือเขาลงท้ายบทสนทนาด้วยการให้คำอธิบายว่าตนเองเป็น ‘ผู้พิพากษาของพระเจ้าอยู่หัว’ ถ้อยคำที่ถูกหยิบยกมานับเป็นสิ่งที่ชวนให้พิจารณาเป็นอย่างมากว่ามีความหมายอย่างไร การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนเชื่อมโยงสถานภาพระหว่างผู้พิพากษาและพระมหากษัตริย์ในลักษณะเช่นใด เฉพาะอย่างยิ่งหากคำนึงถึงว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ในปัจจุบันดำรงอยู่ในรูปแบบพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญ (constitutional monarchy) มิใช่การปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์


สถาบันพระมหากษัตริย์ และพฤษภา 2535


เมื่อพิจารณาประวัติส่วนตัวของผู้พิพากษาคนนี้ก็มีความน่าสนใจยิ่งขึ้น เขาให้สัมภาษณ์ว่าเคยเข้าร่วมการชุมนุมในเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2535 ซึ่งเป็นการประท้วงต่อรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.สุจินดา คราประยูร (นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น) จนถูกทหารใช้อาวุธปืนยิงบริเวณหน้าท้องทะลุหลังได้รับบาดเจ็บสาหัส และถูกส่งตัวเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล

เขาเล่าว่าระหว่างรักษาตัวที่โรงพยาบาล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 9) และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระราชทานของเยี่ยมพร้อมกับพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ให้ และผู้แทนพระองค์ขอให้สัญญาว่าเมื่อรักษาตัวจนหายดีแล้ว ให้สอบมาเป็นผู้พิพากษาเพื่อดูแลประชาชนของพระองค์ท่านในเรื่องคดีความ เมื่อเขารักษาตัวหายก็ไปเรียนเนติบัณฑิตเมื่อ พ.ศ. 2537 ใช้เวลา 1 ปีจบ และปีต่อมาก็สอบเป็นผู้ช่วยผู้พิพากษาได้

ประสบการณ์ดังกล่าวมีผลอย่างสำคัญต่อการจัดวางสถาบันพระมหากษัตริย์ต่ออุดมคติในการปฏิบัติหน้าที่ของเขา

“และเพราะเหตุนี้เอง ถ้อยคำที่ว่า ‘ผมเป็นผู้พิพากษาของพระเจ้าอยู่หัว’ จึงติดตรึงอยู่ในความนึกคิดและเป็นเข็มทิศให้แก่ชีวิตการทำงานนับแต่นั้นเป็นต้นมา เพราะสำนึกเสมอว่า ที่ได้มาทุกวันนี้ เพราะพระบารมีและพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระราชินี”[2]

หากจัดวางความเห็นของผู้พิพากษาคนนี้ลงในบริบททางการเมือง สามารถกล่าวได้ว่าในห้วงเวลาที่เกิดเหตุการณ์พฤษภา 2535 การยกย่องสถาบันพระมหากษัตริย์ในฐานะที่เป็นองค์กรซึ่งมีความชอบธรรมสูงสุดเหนือกว่าองค์กรอื่นใดก็เป็นอุดมการณ์ที่ปกแผ่สังคมไทยอย่างกว้างขวางในขณะนั้น ดังก่อนเกิดการใช้ความรุนแรงของรัฐในการปราบปรามประชาชน กลุ่มนักวิชาการและปัญญาชนสาธารณะที่มีชื่อเสียงจำนวน 42 คน เช่น ประเวศ วะสี, ธีรยุทธ บุญมี, สมคิด เลิศไพฑูรย์, สุรพล นิติไกรพจน์ หรือแม้กระทั่งชาญวิทย์ เกษตรศิริ ก็ได้ร่วมกัน ‘ถวายฎีกา’ ด้วยการจัดทำหนังสือกราบบังคมทูลถวายความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์บ้านเมืองไปยังราชเลขาธิการ และได้ระบุว่า “องค์พระมหากษัตริย์เป็นสถาบันเดียวที่ร้อยรวมจิตใจของคนในชาติ และเป็นสถาบันเดียวเท่านั้นที่จะคลี่คลายวิกฤตการณ์ครั้งนี้ให้ลุล่วงไปได้” [3]

รวมทั้งภายหลังจากที่เกิดความรุนแรงและรัชกาลที่ 9 ได้โปรดเกล้าฯ ให้ พล.อ.สุจินดา นายกรัฐมนตรี และ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง บุคคลสำคัญในฝ่ายการเคลื่อนไหว เข้าเฝ้าฯ ก่อนจะติดตามมาด้วยการลาออกจากตำแหน่งของ พล.อ.สุจินดา อันทำให้เหตุการณ์การเผชิญหน้าและการใช้ความรุนแรงจบลง ปัญญาชนจำนวนไม่น้อยก็ได้แสดงความเห็นว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้เหตุการณ์ดังกล่าวยุติลงได้ก็เพราะพระบารมีของพระองค์

ในการรำลึกถึงเหตุการณ์เดือนพฤษภา 2535 ครั้งหนึ่ง ผู้เขียนได้สอบถามกับผู้คนบางคนที่มีบทบาทหรือมีส่วนเกี่ยวข้องอยู่กับเหตุการณ์นี้ว่า ‘พวกเรา’ ที่เป็นฝ่ายเรียกร้องประชาธิปไตยมีใครรู้สึกตะขิดตะขวงใจกับตอนจบของเหตุการณ์พฤษภาหรือไม่ คำตอบเท่าที่พอจะประมวลได้ก็คือ ทุกคนต่างรู้สึกว่าเป็นบทจบที่ประชาชนเป็นฝ่ายชนะโดยไม่มีข้อกังขาต่อบทบาทของฝ่ายใดที่ได้เข้ามา ‘ชี้ขาด’ และทำให้เรื่องราวทั้งหมดจบลง

เพราะฉะนั้น ความเห็นของผู้พิพากษาคนนี้จึงเป็นส่วนหนึ่งของการสะท้อนกระแสความคิดที่มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ที่แพร่กระจายอยู่ในห้วงเวลาดังกล่าวอย่างไม่อาจปฏิเสธ แต่ทั้งนี้พึงตระหนักว่าการให้ความหมายของผู้พิพากษายังแสดงถึงความสัมพันธ์อันเป็นพิเศษระหว่างผู้พิพากษากับพระมหากษัตริย์เพิ่มเติมมากขึ้น


อุดมการณ์เก่า/อุดมการณ์ใหม่


แม้จะเป็นที่ยอมรับกันว่าสถานะอันเป็นพิเศษของผู้พิพากษาในฐานะขององค์กรที่ทำหน้าที่ใน ‘พระปรมาภิไธย’ (แต่ความหมายของคำนี้ก็ยังมีความคลุมเครืออยู่ไม่น้อยว่ามีขอบเขตกว้างขวางเพียงใด) แต่สถานะดังกล่าวมิใช่เป็นสิ่งที่ควบคู่มากับฝ่ายตุลาการนับตั้งแต่เริ่มต้นระบบกฎหมายสมัยใหม่ในรัชกาลที่ 5 หากเป็นความหมายที่เพิ่ง ‘ถูกประกอบสร้าง’ ขึ้นในระยะเวลาไม่นาน อย่างเร็วที่สุดซึ่งสามารถเห็นได้อย่างชัดเจนก็คือภายหลังจากทศวรรษ 2500

ในระยะเริ่มต้นของการปฏิรูปงานศาลและกระบวนการยุติธรรม เมื่อเกิดเหตุการณ์ ‘ตบเท้าลาออก’ ของเหล่าผู้พิพากษาอันสืบเนื่องมาจากคดีพญาระกา ทางรัชกาลที่ 5 ได้ทรงมีความเห็นต่อการกระทำของเหล่าผู้พิพากษาว่า “ปราศจากความกตัญญูต่อพระเจ้าแผ่นดิน และต่อแผ่นดิน, ถือนายมากกว่าเจ้า” [4] เป็นที่ชัดเจนว่า ‘นาย’ ในความหมายของพระองค์หมายถึงกรมหลวงราชบุรีฯ ผู้เป็นคนเดินเรื่องคนสำคัญในเหตุการณ์ ดังนั้น การถือกำเนิดขึ้นของฝ่ายตุลาการในยุคสมัยของการปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน บุคคลที่มีบารมีเป็นอย่างมากกลับมิใช่พระมหากษัตริย์หากแต่เป็นเชื้อพระวงศ์ที่เข้ามาทำหน้าที่ปรับเปลี่ยนระบบตุลาการให้เป็นไปตามมาตรฐานของตะวันตก

(พึงตระหนักว่าลักษณะของการ ‘ถือนายมากกว่าเจ้า’ ได้ปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนในสองหน่วยงานก็คือ งานด้านศาลที่มีกรมหลวงราชบุรีฯ เป็นผู้บุกเบิกคนสำคัญ กับในส่วนของทหารเรือที่มีกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ทำหน้าที่รับผิดชอบอยู่ [5])

การก่อตัวของความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างฝ่ายตุลาการและพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในปัจจุบันนี้ เป็นผลมาจากความผันผวนทางการเมืองในช่วงต้นรัชกาลที่ 9 การเสด็จกลับจากต่างประเทศได้เปิดโอกาสให้ฝ่ายตุลาการแปรสภาพเป็น ‘ข้าราชการสายวัง’ ที่มีความใกล้ชิดกับสถาบันมากยิ่งขึ้น ในด้านหนึ่ง การเคลื่อนเข้าสู่การปกครองที่ต้องอาศัยรัฐธรรมนูญและกฎหมายเป็นหลักในการปกครองทำให้ราชสำนักมีความต้องการกลุ่มนักกฎหมายในการบริหารงานที่ขยายตัวมากขึ้น [6] ผู้พิพากษาระดับสูงหลายคนภายหลังการเกษียณอายุก็ได้เข้าดำรงตำแหน่งองคมนตรีภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 สัญญา ธรรมศักดิ์ และประกอบ หุตะสิงห์ ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกาก่อนมาเป็นองคมนตรีคือรูปธรรมของคำอธิบายนี้

พร้อมกันกับการถูกคุกคามทั้งจากรัฐบาลที่นำโดยฝ่ายคณะราษฎรและรัฐบาลของเผด็จการทหาร ความเป็นอิสระของฝ่ายตุลาการจึงจำเป็นต้องอาศัยความศักดิ์สิทธิ์ของสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นเกราะกำบัง การเคลื่อนเข้าหาสถาบันพระมหากษัตริย์จึงค่อยๆ ปรากฏให้เห็น และมีความสืบเนื่องมาโดยเฉพาะในรัชสมัยของรัชกาลที่ 9 การกล่าวว่า “ข้าราชการฝ่ายตุลาการฝ่ายเดียวเท่านั้นที่ทำงานในพระปรมาภิไธย เราเท่านั้นที่ทำงานในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์” ของสัญญา ธรรมศักดิ์ ในคราวเกษียณอายุราชการจากตำแหน่งประธานศาลฎีกา เมื่อ พ.ศ. 2510 [7] คือส่วนหนึ่งของการสร้างสถานะพิเศษของฝ่ายตุลาการให้บังเกิดขึ้นครั้งสำคัญ และได้กลายเป็นถ้อยคำที่มักถูกกล่าวอ้างมาอย่างต่อเนื่องในภายหลัง

การผูกโยงระหว่างฝ่ายตุลาการให้เชื่อมเข้ากับรัชกาลที่ 9 ได้ปรากฏอย่างแจ่มชัดในตราสัญลักษณ์ของศาลยุติธรรมที่มีการจัดทำในทศวรรษ 2540 องค์ประกอบสำคัญอันหนึ่งก็คือ มีดอกบัว 9 ดอกล้อมรอบดวงตราสัญลักษณ์ และมีการระบุอย่างชัดเจนว่าต้องการให้มีความหมายถึง ‘พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9’ [8] เป็นการเฉพาะเจาะจง


ผู้พิพากษาในระบอบประชาธิปไตย


แม้ดูราวกับว่าจะมีการยอมรับกันอย่างกว้างขวางต่อถ้อยคำว่า ‘ผู้พิพากษาของพระเจ้าอยู่หัว’ แต่คำกล่าวเช่นนี้อาจมิใช่สิ่งที่แปลกใหม่แต่อย่างใด หากเป็นผลมาจากการประกอบสร้างความหมายของฝ่ายตุลาการที่พยายามสร้างความแนบแน่นระหว่างตนเองกับสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งได้ดำเนินสืบเนื่องมานับตั้งแต่ทศวรรษ 2500

แต่การกล่าวถึงตนเองว่าเป็น ‘ผู้พิพากษาของพระเจ้าอยู่หัว’ จะมีความหมายอย่างไร อาจเป็นคำถามที่ต้องได้รับการอธิบายไม่น้อย ในระบอบสมบูรณาสิทธิราชย์ซึ่งอำนาจสูงสุดเป็นของพระมหากษัตริย์ ผู้พิพากษาก็ย่อมทำหน้าที่ในฐานะตัวแทนในการตัดสินคดีความต่างๆ แต่ในสังคมประชาธิปไตยแล้ว อำนาจตุลาการเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจอธิปไตย และผู้พิพากษาก็ถือว่าเป็นข้าราชการที่ได้รับเงินเดือนจากภาษีของประชาชน ถ้าการกระทำที่เป็นความดีความชอบถูกเชื่อมโยงไปถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็เป็นที่น่ากังวลว่าหากเป็นการกระทำในด้านตรงกันข้ามก็อาจถูกเชื่อมโยงไปด้วยเช่นกัน อันอาจทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนว่าการตัดสินคดีต่างๆ มิใช่เกิดขึ้นโดยตัวผู้พิพากษา

ในการกล่าวว่า ‘ผู้พิพากษาของพระเจ้าอยู่หัว’ นอกจากแสดงถึงความใกล้ชิดระหว่างสองสถาบันแล้ว มีความหมายอื่นใดดำรงอยู่หรือไม่ สถานะอันเป็น ‘พิเศษ’ ของผู้พิพากษามีความแตกต่างไปจากข้าราชการประเภทอื่นอย่างไร รวมทั้งผู้พิพากษาจะต้องสัมพันธ์กับอำนาจอธิปไตยซึ่งปวงชนชาวไทยเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดตามรัฐธรรมนูญในลักษณะเช่นไร ก็ล้วนแต่เป็นคำถามที่ต้องมีการขบคิดและต้องการคำตอบที่ชัดเจนไม่น้อย เฉพาะอย่างยิ่งในห้วงเวลาที่อำนาจตุลาการถูกพิจารณาว่าเป็นปมปัญหาหนึ่งของการเมืองไทยในห้วงเวลาปัจจุบัน

References
1 ข้อความดังกล่าวได้รับการเผยแพร่ในอินเตอร์เน็ตนับตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคม 2557 เป็นต้นมา อ่านได้ที่นี่
2 อ่านได้ที่นี่
3 กิตติศักดิ์ สุจิตตารมย์, ทัศนะของสื่อหนังสือพิมพ์และปัญญาชนสาธารณะที่มีต่อสถานะและบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ ระหว่าง พ.ศ. 2535 – 2540, วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2557, หน้า 69
4 ราม วชิราวุธ, ประวัติต้นรัชกาลที่ 6, พิมพ์ครั้งที่ 7 (กรุงเทพฯ: มติชน, 2559) หน้า 320
5 สนใจดูรายละเอียดได้ใน กุลลดา เกษบุญชู มี้ด, ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์: วิวัฒนาการรัฐไทย, บทที่ 4 ความขัดแย้งในระบบราชการ
6 อาสา คำภา, ความเปลี่ยนแปลงของเครือข่ายชนชั้นนำไทย พ.ศ. 2495 – 2535, ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 2562, หน้า 202 – 203
7 วิมลพรรณ ปีตธวัชชัย, สัญญา ธรรมศักดิ์ คนของแผ่นดิน, พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์เดือนตุลา, 2546) หน้า 128
8 ความหมายตราสัญลักษณ์

MOST READ

Law

25 Aug 2022

กฎหมายยาเสพติดใหม่: 8 เดือนของการบังคับใช้ในภาวะที่ยังไร้กฎหมายลูก กับ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล

101 คุยกับอัยการ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล ถึงประโยชน์และช่องว่างที่พบในการบังคับใช้กฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ตลอด 8 เดือนที่ผ่านมา

วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา

25 Aug 2022

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save