fbpx
ผลงานยอดอ่านสูงสุด the101.world ตุลาคม 2563

20 ผลงานใหม่ ยอดอ่านสูงสุดของ The101.World เดือนตุลาคม 2563

 

Spotlight ประจำเดือนตุลาคม 2563

 

 

We Are Youngster : เพราะเจ็บจัดๆ เลยแสบสุดๆ

 

สำหรับผู้ใหญ่บางท่าน ‘เด็กสมัยนี้’ อาจเป็นตัวแสบ เป็นภาพแทนความก้าวร้าว ไม่อดทน ไม่เคารพผู้ใหญ่

สำหรับบางคน ‘เด็กสมัยนี้’ คือคนที่เติบโตในอีกเส้นเวลา ในสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง พวกเขาใช้เทคโนโลยีเป็นอวัยวะที่ 33 พวกเขาไม่ได้พูดภาษาเดียวกับคนจากยุคสมัยก่อนหน้า พวกเขาตั้งคำถามและวาดฝันต่อสิ่งต่างๆ ด้วยวิธีที่ต่างออกไป

แต่สำหรับพวกเขา คำว่า ‘เด็กสมัยนี้’ อาจสั้นเกินไปที่จะอธิบายให้เห็นไปถึงชีวิต จิตใจ และโลกที่พวกเขาเผชิญ สั้นเกินไปที่จะนิยามความแตกต่างหลากหลายของพวกเขาให้ครบถ้วน

โลกของวัยรุ่นอาจไม่ต่างจากภาพสีสันฉูดฉาดที่เอียงคอมองอย่างไร ก็ไม่แน่ใจว่าเข้าใจถูกต้องหรือเปล่า แต่เพราะเป็นวัยรุ่น วัยที่กำลังเลี้ยวสู่การเป็นผู้ใหญ่และจะรับไม้ต่อในการพาสังคมไปข้างหน้า การทำความเข้าใจ ‘เด็กสมัยนี้’ จึงสำคัญอย่างยิ่ง

101 ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ชวนผู้อ่านทำความเข้าใจปรากฏการณ์วัยรุ่น ปัญหาในช่วงเวลาการเติบโต และสำรวจวิธีที่ช่วยให้พวกเขาก้าวเดินได้อย่างเต็มศักยภาพ ผ่านบทความ บทสัมภาษณ์ และสื่อรูปแบบต่างๆ ตลอดช่วงเดือนนี้

คุณพร้อมจะรู้จัก ‘เด็กสมัยนี้’ ให้ดีกว่าเดิมหรือยัง?

 

20 ผลงานใหม่ ยอดอ่านสูงสุดของ The101.World เดือนตุลาคม 2563

 

 

กรณีเด็กถูกทำร้าย-เรื่องที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำก่อน

 

โดย นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ เขียนถึงสิ่งที่พ่อแม่ควรทำเมื่อลูกถูกทำร้ายร่างกายหรือล่วงละเมิด สิ่งสำคัญคือการพาลูกเข้าพบจิตแพทย์เด็กโดยเร็ว อย่ามัวรอหน่วยงานราชการให้เป็นข่าวเอิกเกริก

การทำร้ายร่างกายและการล่วงละเมิดทางเพศเด็กสามารถก่อโรคซึมเศร้า ทำให้เด็กมีพฤติกรรมต่อต้านสังคมเพื่อการป้องกันตัว เมื่อเขาถูกทำลายความไว้วางใจที่มีต่อโลกและผู้คน ครูที่ถูกสอนว่าเป็นคนดีกลับเป็นผู้ลงมือ พ่อแม่ซึ่งควรจะป้องกันได้กลับไม่อยู่ป้องกัน

ความไว้ใจโลกเป็นฐานแรกของพัฒนาการเด็กและวัยรุ่นเปรียบเสมือนฐานแรกของปิรามิดหรือบ้าน

เมื่อเราโค่นเสาบ้านเสียแล้ว ข้างบนก็จะล่มลง

 

‘เกษียร เตชะพีระ’ มองการเมืองไทยยุคหลังฉันทมติภูมิพล

 

โดย วจนา วรรลยางกูร และ สมคิด พุทธศรี

101 สนทนากับ ‘เกษียร เตชะพีระ’ เพื่อทำความเข้าใจการเมืองไทยยุคหลังฉันทมติภูมิพล ในวันที่ราษฎรตะโกนก้อง พร้อมเหยียดแขนตรงชูสามนิ้วหล่อเลี้ยง ‘หนึ่งความฝัน’ ของพวกเขา

เมื่อการเมืองในระบบเป็น ‘ปฏิกิริยา’ การเมืองภาคประชาชนเป็น ‘ปฏิรูป’ แต่การเมืองวัฒนธรรมเป็น ‘ปฏิวัติ’ ไปแล้ว — การเมืองไทยจะไปต่ออย่างไร?

” ‘ฉันทมติภูมิพล’ คือ คำว่า ‘ระบอบประชาธิปไตย’ และ ‘อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข’ เป็นการทำให้ ‘ประชาธิปไตย’ เชื่อมกับ ‘ความเป็นไทยแบบอนุรักษนิยม’ เป็นการผนึกสถาบันกษัตริย์กับประชาธิปไตยเข้าด้วยกัน ภายใต้เงื่อนไขคือประชาธิปไตยที่ไปไม่สุดและสถาบันกษัตริย์มีอำนาจนำ แต่ตอนนี้สถาบันกษัตริย์กับประชาธิปไตยกำลังออกห่างจากกัน ซึ่งน่าวิตก”

“เมื่อไม่มีเครือข่ายสถาบันพระมหากษัตริย์เดิม พระราชอำนาจนำของรัชกาลที่ 9 หมดไป ไม่มีฉันทมติของชนชั้นนำ ตกลงเราจะอยู่กันอย่างไร … ตอนนี้เหมือนเครื่องบินที่ทำงานด้วยระบบ autopilot บินด้วยความเคยชินจากรัชกาลเก่าในขณะที่ภูมิประเทศทางอำนาจเปลี่ยนไปแล้ว และยังไม่มีการแบ่งอำนาจกันใหม่”

“มาตรการทางกฎหมายและมาตรการทางการเมืองที่เกิดขึ้นช่วง คสช. มาถึงรัฐบาลประยุทธ์ในปัจจุบันทำให้ความห่างระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับประชาธิปไตยไปถึงขั้นที่พูดได้ว่าเราอยู่ในระบอบที่เป็น ‘virtual absolutism’ คือระบอบสัมบูรณาญาสิทธิ์เสมือน”

“ทุกวันนี้เกิดสภาพที่เรียกว่า ศีลธรรมสาธารณะล้มละลาย (public moral bankruptcy) มีแต่คนที่พูดถึงความดี-คนดี แต่ไม่มีความดีอยู่จริง เป็นสถานการณ์เดียวกับการพูดถึงความยุติธรรมหรือกฎหมายไม่หยุด แต่ไม่มีความยุติธรรมที่เป็นจริง”

“ปฏิรูปมันถูกที่สุดในแง่ต้นทุน แต่ปฏิรูปทำยากที่สุดเพราะต้องการฉันทมติระหว่างชนชั้นนำกับประชาชนชั้นล่าง ตอนนี้เส้นทางปฏิรูปดูจะยากขึ้นเรื่อยๆ ฝ่ายชนชั้นนำไม่ค่อยยอมหรือยอมช้าเหลือเกิน”

“รัฐนี้ฆ่าคนได้อย่างโหดร้ายทารุณซ้ำแล้วซ้ำอีก ทุกรอบมักจะเกิดนิรโทษกรรมแล้วจับมือใครดมไม่ได้ … คำเตือนควรจะพุ่งไปที่ฝ่ายรัฐมากกว่าฝ่ายที่ถูกปราบ รัฐอย่าทำอีก รัฐสร้างกรรมให้คนรุ่นหนึ่งแล้ว ทำให้คนรุ่นนี้ทิ้งแผ่นดินหนีไป แปลกแยกจากประเทศนี้ ตายไปในป่าตั้งเท่าไหร่ แล้วทำซ้ำอีกทำไม”

 

“คุณจะไม่โกรธสังคมอยุติธรรมแบบนี้ได้อย่างไร” วัฒน์ วรรลยางกูร

 

โดย สมคิด พุทธศรี

ในวาระครบรอบ 44 ปี เหตุการณ์ ‘6 ตุลา 19’ สมคิด พุทธศรี สนทนากับ วัฒน์ วรรลยางกูร ว่าด้วยชีวิตความเป็นอยู่ในฝรั่งเศส ชวนวิเคราะห์การเมืองไทยปัจจุบัน และถอดบทเรียนการพิฆาตผู้เห็นต่างของรัฐไทยอีกครั้ง

“สังคมไทยเป็นระบบมาเฟียดีๆ นี่เอง มีบิ๊กบราเธอร์คอยคุม ถ้าคุณทำกิจการค้าขาย อยากเติบโตคุณก็ต้องจ่าย ถ้าไม่ยอมจ่ายก็ยากจะเติบโต ดีไม่ดีโดนตรวจสอบเรื่องภาษีจนเจ๊งฉิบหายวายวอด ดิบเถื่อนกว่านั้น คุณก็อาจจะถูกอุ้มฆ่าตรงๆ เลย คุณจะไม่โกรธสังคมอยุติธรรมแบบนี้ได้อย่างไร เชื้อโรคกัดกินไปทุกวงการเลย ผมถึงไม่อยากกลับไปอยู่ประเทศไทยเลย พูดจริงๆ เบื่อแล้วที่ต้องอยู่กับมึงในกะลา ถ้าเด็กๆ เขาทะลุเพดาน ผมก็ทะลุฟ้าไปเลยดีกว่า เป็นนักเขียนของจักรวาลไปเลย ไม่จำเป็นต้องสังกัดประเทศไหนทั้งนั้น”

“ผมไม่เห็นสัญญาณการปรับตัวใดๆ ของชนชั้นนำเลย ทุกวันนี้เครือข่ายชนชั้นนำทางอำนาจมีแต่ทหาร ที่นั่งหน้าสลอนกันนี่เป็นนักฆ่าทั้งนั้น เราไม่รู้เลยว่าใครกำหนดแผนอย่างไร ได้แต่เดาสุ่มไปทั่ว บรรดากลุ่มทุน เจ้าสัว ที่บอกว่ามีวิสัยทัศน์กันนักหนา ก็ไม่เห็นมีใครพูดหรือคิดเรื่องนี้ หรืออาจจะคิดแต่ไม่พูด ในสภาพปัจจุบันเราไม่รู้ว่าใครคิดอย่างไร แต่รับรองว่าวุ่นวายแน่นอน ไม่มีปาฏิหาริย์สำหรับสังคมไทยในรอบนี้”

“ความรุนแรงเกิดขึ้นเพราะความกลัวและความหวาดระแวง หลัง 14 ตุลาคม 2516 ท้องฟ้าเป็นสีทองชั่วคราว เสรีภาพมีได้แค่ปีเดียว ฝ่ายศักดินาก็ระแวงนักศึกษาแล้ว กลัวว่าจะกลายเป็นคอมมิวนิสต์ เพราะกระแสคอมมิวนิสต์มาแรงจริงๆ ฝ่ายเจ้า นายทุน คนรวย ก็กลัวคอมมิวนิสต์กัน การฆ่าเลยเกิดขึ้น”

 

คณะราษฎร 2563

 

โดย สมชาย ปรีชาศิลปะกุล

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เปรียบเทียบ ‘คณะราษฎร 2563’ และ ‘คณะราษฎร 2475’ ว่ามีอุดมการณ์เดียวกันคือการปฏิรูปให้สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ

“แม้ในทางอุดมการณ์ ข้อเสนอการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์อาจมีความใกล้เคียงกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 แต่การเคลื่อนไหวของคณะราษฎร 2563 มิได้ดำเนินไปในลักษณะของการพลิกเปลี่ยนการปกครองด้วยการใช้กำลังแต่อย่างใด

“นับตั้งแต่เริ่มต้นการกล่าวถึงประเด็น ‘หนึ่งความฝัน’ ก็ยังคงอยู่ภายใต้กรอบของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข รวมทั้งการใช้สิทธิต่างๆ ก็ยังคงเป็นการแสดงความคิดเห็นหรือความปรารถนาภายใต้รัฐธรรมนูญ อีกทั้งยังเห็นได้ชัดว่าทั้งหมดคือบุคคลที่ไม่ได้มีความสามารถในการใช้กำลังเพื่อเข้ายึดอำนาจรัฐแต่อย่างใด”

 

ทำไมลูกชิ้นทอดจึงเป็นอาหารขวัญใจม็อบเด็ก

 

โดย วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

ทำไมมีม็อบแล้วต้องมีรถขายลูกชิ้นทอด?

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ ลองสำรวจเหตุผลที่ทำให้ลูกชิ้นทอดกลายเป็นอาหารประจำม็อบ

นอกจากการสืบข่าวการชุมนุมรวดเร็วดั่ง ‘CIA’ ของพ่อค้าแม่ค้ารถเข็นที่มักมาจอดจับจองพื้นที่ก่อนการชุมนุมแล้ว ลูกชิ้นทอดยังตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ในหลายเหตุผลจนเป็นอาหารประจำการชุมนุม

 

เดวิด เกรเบอร์ นักมานุษยวิทยาอนาธิปไตย ผู้เชื่อมั่นในความเป็นไปได้แบบอื่นๆ

 

โดย ภัควดี วีระภาสพงษ์

“คงไม่มีใครกล่าวไว้อาลัยเดวิด เกรเบอร์ดีไปกว่าชาวเคิร์ด […] Hawzhin Azeez นักกิจกรรมชาวเคิร์ดกล่าวว่า

“เดวิดเป็นเพื่อนของชาวเคิร์ดในยามที่เราไม่มีใครเลย ในฐานะผู้ถูกกดขี่ เราต้องการปัญญาชนที่มีชื่อเสียงคอยยืนเคียงข้างและให้การสนับสนุนอย่างมั่นคงแก่เรา การแสดงความรักที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่เราจะตอบแทนเดวิดได้ก็คือ การยึดมั่นในมรดกความคิดของเขา ด้วยการอ่านงานเขียนอันยิ่งใหญ่ของเขา รักษาจิตวิญญาณของเขาให้มีชีวิตชีวาและดำรงอยู่ตลอดไปในการงานและการต่อสู้ของเรา ทั้งในฐานะชาวเคิร์ด นักกิจกรรม ฝ่ายซ้าย ในฐานะนักอนาธิปไตยผู้รักเสรีภาพและความหวัง เดวิด เกรเบอร์ไม่ได้ลาลับไปจากเรา คุณค่าและความคิดที่เขาทิ้งไว้ให้ยังคงมีชีวิตอยู่ในสวนมะกอกในคอมมูนและในสหกรณ์ของโรยาวา”

รำลึกการจากไปของเดวิด เกรเบอร์ ภัควดี วีระภาสพงษ์ ทบทวนเส้นทางชีวิต ความคิดและผลงานของเขาในฐานะนักวิชาการด้านมานุษยวิทยา ปัญญาชนสาธารณะสายอนาธิปไตย และนักเคลื่อนไหวต่อต้านทุนนิยมและรัฐอำนาจนิยม

 

Exclusive ‘หนูหริ่ง-ลำธาร’: ฟังพ่อลูกคุยกัน ในวันที่การเมืองมาเคาะประตูบ้าน

 

โดย ธิติ มีแต้ม

ปี 2020 มีหลายครอบครัวกำลังวิตกกังวลว่าลูกหลานของท่านกำลังถูกดูดกลืนเข้าไปในหลุมดำทางการเมืองไทย

บางบ้านส่งเสียงเชียร์ให้กำลังใจ แต่บางบ้านก็กลับไล่ลูกหลานออกจากรอบรั้วรังนอน เพียงเพราะคิดอ่านการเมืองคนละความหมาย

101 ตั้งต้นจากประเด็นที่ว่าในสถานการณ์การเมืองอันร้อนระอุและประชนชนเดือดดาล หน่วยเล็กๆ ทางสังคมที่เรียกว่า ‘ครอบครัว’ จะเผชิญหน้ากับการเมืองที่เข้ามาเคาะประตูบ้าน และรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่ไม่อาจปฏิเสธได้อย่างไร

แน่นอน, ครอบครัวของสมบัติ บุญงามอนงค์ เป็นหนึ่งในผู้มีประสบการณ์ และควรค่าแก่การไถ่ถาม รับฟัง…

“เราไม่คิดว่าการ coming of age กับเหตุการณ์ทางการเมืองจะหนักเกินไป การเมืองไม่ควรเป็นคำว่าเกินไป ดีด้วยซ้ำ เพราะจะเป็น coming meaningful มากกว่าเป็น coming of age ธรรมดา” – ลำธาร ธาราทร บุญงามอนงค์

“มีคนจำนวนมากที่ไม่ปรับตัวและกลายเป็นภาระของคนรุ่นใหม่ในวันนี้ นอกจากเขาจะต้องคิดถึงอนาคตตัวเองแล้วต้องมาดูแลอนาคตของพ่อแม่ด้วย ผมเห็นใจมาก” – หนูหริ่ง สมบัติ บุญงามอนงค์

 

“น้อมกายก้มหัวเป็นงัวงาน” รู้จักหน่วยซัพพอร์ตม็อบ #ให้มันจบที่รุ่นเรา

 

โดย ธิติ มีแต้ม

ในภาพใหญ่การชุมนุมของนักเรียน นิสิต นักศึกษายุคเอนไลท์เทนเมนต์ 4.0 ไม่ได้มีแค่ทนายอานนท์ นำภา ที่เป็นตัวเปิด

ไม่ได้มีแค่ รุ้ง ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, เพนกวิน พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือคณะประชาชนปลดแอกที่เป็นตัวตามในการพาประชาชนลงถนนขับไล่เผด็จการ

การเคลื่อนไหวทางการเมืองที่กินทั้งทุนรอนและแรงกายไปมหาศาล อาจไปไหนได้ไม่ไกล ถ้าไม่นับรวมมวลชนที่เปรียบดั่งผนังทองแดงกำแพงเหล็ก และทีมซัปพอร์ตที่ทำหน้าที่พาขบวนใหญ่เคลื่อนไปสู่ความฝันอันสูงสุดเข้าไปด้วย

โดยเฉพาะอย่างหลังที่มักถูกมองข้าม ถูกด้อยค่า ทั้งที่เป็นหน่วยสำคัญไม่ต่างไปจากแกนนำผู้ปราศรัย

101 พาไปรู้จัก ‘งัวงาน’ ที่ก้มหัวขวางคิ้วให้กับแรงเสียดทานที่เข้ามาทุกสารทิศ และน้อมรับหน้าที่เล็กๆ ด้วยหัวใจที่ยิ่งใหญ่

 

เปิดใจนักเจรจาม็อบ พ.ต.อ.อรรถวิทย์ สายสืบ “น้ำในกาที่กำลังเดือด ถ้าไม่เปิดออกมันจะระเบิด”

โดย ธิติ มีแต้ม

“เหมือนในห้องเรียน เด็กๆ อยากจะโผล่หน้าออกมาที่หน้าต่าง ถ้าเราบอกไม่ให้ไป มันก็อยู่ตรงนั้นไม่เลิก แต่ถ้าเราบอกว่าโอเคไปเลย โผล่ไปแป๊บเดียวแล้วกลับมานะ เดี๋ยวเขาก็กลับมา”

“ด้วยความที่เราเป็นคนไทย เป็นคนโอบอ้อมอารี บางทีก็เห็นว่าคนพวกนี้เขาเดือดร้อนจริงๆ หลายคนถูกกลั่นแกล้ง ทำให้เรารู้สึกว่าต้องช่วยเขา แต่ว่าในฐานะที่ต้องคุมพื้นที่สาธารณะ สถานที่ราชการ ผู้ชุมนุมจะเข้าไปไม่ได้ เราก็ต้องทำไปตามหน้าที่”

101 เปิดใจ พ.ต.อ.อรรถวิทย์ สายสืบ รองผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1 (บก.น.1) ผู้รับผิดชอบหลักในการดูแลแลนด์มาร์กทางการเมือง ตั้งแต่สนามหลวง อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ยาวไปทั้งถนนราชดำเนิน และควบคุมการชุมนุมให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย

ในฐานะเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงที่เกาะติดการชุมนุม ทำหน้าที่เจรจาแกนนำม็อบทุกขั้วการเมืองมาตั้งแต่ปี 2555 จนถูกแซวจากผู้บังคับบัญชาว่าเขาเป็นพวกเดียวกับม็อบ! เขาทำความเข้าใจและเตรียมรับมือคนรุ่นใหม่อย่างไร ในวันที่เสียง “ให้มันจบที่รุ่นเรา” กำลังระงมไปทั่วแผ่นดิน

 

ความสำเร็จของนิวยอร์กไทมส์ ข่าวร้ายของวงการสื่อ?

 

โดย ภัทชา ด้วงกลัด

ภัทชา ด้วงกลัด เขียนถึงความสำเร็จในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัลของนิวยอร์กไทมส์ ที่อาจส่งผลผลร้ายต่ออุตสาหกรรมสื่อโดยรวม และประชาธิปไตยอย่างไม่ตั้งใจ

เดือนสิงหาคม 2020 นิวยอร์กไทมส์ (The New York Times) สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้วงการสื่อในสหรัฐอเมริกา ด้วยผลประกอบการไตรมาส 2/2020 ที่ทำรายได้จากธุรกิจดิจิทัลสูงกว่ารายได้จากสิ่งพิมพ์เป็นครั้งแรก โดยมีรายได้จากธุรกิจดิจิทัล 185.5 ล้านเหรียญ และรายได้จากธุรกิจสิ่งพิมพ์ 175.4 ล้านเหรียญ

นี่ไม่ใช่แค่ความสำเร็จของนิวยอร์กไทมส์ในฐานะองค์กรสื่อที่เอาตัวรอดท่ามกลางดิสรัปชันได้ แต่คือหมุดหมายสำคัญที่แสดงให้เห็นว่า สื่อสิ่งพิมพ์สามารถเปลี่ยนผ่านสู่โลกดิจิทัลอย่างเต็มตัวได้สำเร็จแล้ว

‘การเปลี่ยนผ่าน’ ไม่ได้เกิดขึ้นชั่วข้ามคืน แต่เป็นผลจากความพยายามกว่าทศวรรษ ในการพลิกโฉมธุรกิจด้วยแนวคิด ‘ผู้อ่านต้องมาก่อน’ กลายเป็นโมเดลธุรกิจ ‘subscription-first’ ที่ลดการพึ่งพารายได้จากโฆษณาลง และพึ่งรายได้จากผู้อ่านโดยตรง เพื่อส่งมอบสื่อที่มีคุณภาพคืนสู่มือผู้อ่านอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม ‘ทางรอด’ ของนิวยอร์กไทมส์ อาจกลายเป็น ‘ทางร่วง’ ของสื่ออื่นโดยไม่ได้ตั้งใจ มิหนำซ้ำการได้มาซึ่ง ‘สื่อคุณภาพ’ ด้วยโมเดลธุรกิจนี้ อาจทำให้ความแข็งแรงของสถาบันสื่อในฐานะ ‘เสาหลักของประชาธิปไตย’ ของสหรัฐอเมริกากำลังสั่นคลอน

 

ว่าด้วยทวิตเตอร์และขบวนการ “ไร้หัว”: เหตุใดการประท้วงในโลกมีจำนวนมากขึ้นแต่ความสำเร็จน้อยลง?

 

โดย จันจิรา สมบัติพูนศิริ

แม้ว่าในช่วงปีที่ผ่านมาจะเกิดการประท้วงเพิ่มมากขึ้นทั่วโลก แต่เหตุใดกลับมีขบวนการเคลื่อนไหวที่ประสบความสำเร็จน้อยลงเรื่อยๆ ?

จันจิรา สมบัติพูนศิริ ชวนมองขบวนการประท้วง ‘ไร้หัว’ ในยุคโซเชียลมีเดีย ว่าเหตุใดขบวนการประท้วงที่กระจายข่าวการรวมตัวได้อย่างรวดเร็วภายในเวลาอันสั้น เข้าถึงคนได้จำนวนมาก และโอบรับขบวนการที่มีความคิดและแนวทางแตกต่างหลากหลายได้ จึงเผชิญต่ออุปสรรคในการบรรลุเป้าหมายของขบวนการ

 

เลือดเนื้อ ‘จะนะ’ ในเงาทะมึน

 

โดย ธีรภัทร อรุณรัตน์

“ราวครึ่งค่อนวันบนเรือ บังนีเป็นฝ่ายดำลงไปเก็บสิ่งมีชีวิตรายล้อมปะการังเทียมที่วางทิ้งไว้กลางทะเล หนึ่งรอบการดำใช้เวลาราว 20 นาที และต้องใช้เวลาเกือบเท่าตัวหนึ่งเพื่อพักร่างกายและเตรียมพร้อมกับการอยู่ใต้น้ำรอบใหม่

“เป็นอย่างนี้เรื่อยไปจนกว่าจะได้สัตว์น้ำพอประทังครอบครัว เพื่อนบ้าน และนำไปขายต่อที่ตลาด”

ธีรภัทร อรุณรัตน์ ลงพื้นที่หาดสวนกง อำเภอจะนะ สงขลา เพื่อสำรวจเลือดเนื้อของชาวจะนะ ท่ามกลางปัญหาเชิงโครงสร้างที่ถูกฝังไว้ในพื้นที่ โดยเฉพาะโครงการสร้างนิคมอุตสาหกรรมกว่า 16,753 ไร่ ที่ผลักดันโดย ศอ.บต.

 

เราจะคุยกันอย่างไรในความขัดแย้ง? เรียนรู้การสื่อสารอย่างเข้าใจ กับ ‘ดุจดาว วัฒนปกรณ์’

 

โดย ปรัชญพล เลิศวิชา

“คำที่ได้ยินคนพูดบ่อยคือ “ไม่เข้าใจเลย” คนใช้เป็นคำสบถ คำรำพึงรำพัน “ไม่เข้าใจเลย ดูอยู่ได้เนชั่น” “ไม่เข้าใจเลย ไปอยู่ได้ม็อบเนี่ย” นี่ไง คุณไม่เข้าใจ แล้วคำถามคืออยากเข้าใจไหม”

ปรัชญพล เลิศวิชา คุยกับ ดุจดาว วัฒนปกรณ์ นักจิตบำบัดด้านการเคลื่อนไหวและผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารเพื่อให้เกิดความเข้าใจ (empathetic communication) ว่าเราจะทำความเข้าใจกันได้อย่างไร ท่ามกลางความเห็นต่างในทุกพื้นที่ของสังคมไทย

“การฟังแบบ active listening ช่วยให้เราได้ใคร่ครวญกับข้อมูลของอีกฝ่ายในขณะที่บทสนทนาและความสัมพันธ์ยังไปต่อได้ ถึงมีหลายอย่างที่ฟังแล้วไม่ถูกใจเรา แต่เราไม่ได้มาเพื่อถูกใจ เรามาเพื่อค้นหาความเข้าใจอีกคนว่าคืออะไร

“บางทีเราจะตกหลุม อยากจะบอกเขาว่าความคิดของเขาล้าหลัง ไม่มีใครชอบอยู่ในบทสนทนาที่โดนดูถูก ถ้าอยากจะคุยกันต่อ เราควรจะให้เกียรติอีกคนมากพอที่เขาสบายใจจะอยู่ในบทสนทนา”

“ความเข้าใจกันเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่ทำให้เรายังอยู่ในความสัมพันธ์ด้วยกันได้ การที่เราได้คุยกันเรื่องนี้ทำให้ทั้งสองฝ่ายเข้าใจกันมากขึ้น แต่คำว่า ‘คุย’ หลายคนจะนึกแต่ภาพว่า พูด พูด พูด แต่การคุยจริงๆ คือการฟังและการสื่อสารจากทั้งสองฝ่าย”

“ถ้าคุณมีความสุขกับสิ่งที่เป็นอยู่ก็ทำไป แต่ถ้ารู้สึกว่าสิ่งที่เป็นอยู่ทำให้เกิดความเข้าใจกันน้อยมาก การสื่อสารทำให้ความสัมพันธ์พัง ทำให้ต้องมานั่งจิกกัดกันตลอด เราก็ไปปรับจูน แล้วลองดูว่าคราวหน้าจะเป็นยังไง”

 

101 One-On-One Ep.190 : “ให้เธอเรียกฉันว่าสายลมที่หวังดี” คุยชีวิตและการเมืองกับ ทราย เจริญปุระ

 

โดย กองบรรณาธิการ

หนึ่งในตัวละครสำคัญที่ถูกพูดถึงว่าเป็น ‘ผู้อยู่เบื้องหลัง’ การประท้วงของคนรุ่นใหม่คือ ทราย เจริญปุระ และถ้าจะมีใครสักคนคือ ‘ท่อน้ำเลี้ยง’ ของการชุมนุม ทรายย่อมเป็นหนึ่งในคนสำคัญนั้น

เต็นท์ รถห้องน้ำ อาหาร เงินสมทบ ฯลฯ ล้วนได้รับการสนับสนุนจากเธอ

ทราย เจริญปุระ คือนักแสดงที่ออกมาพูดเรื่องการเมืองตั้งแต่สิบปีที่แล้ว ในวันที่การแสดงความคิดเห็นบางเรื่องเป็นสิ่งต้องห้าม ทรายก็ยังยืนหยัดจะแสดงออกในสิ่งที่ตัวเองเชื่อ แม้มีราคาที่ต้องจ่าย

ในภาวะการเมืองแหลมคมแบบนี้ 101 ชวนทราย เจริญปุระ มาคุยว่าด้วยชีวิต ความคิด และการเมือง เธอคิดอะไร เธอเจออะไร และมองเหตุการณ์ทางการเมืองตอนนี้อย่างไร

 

วรรณกรรมและชีวิตของ กําพล นิรวรรณ นักปฏิวัติผู้พ่ายแพ้

 

โดย ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

“ผมถูกตัดขาดจากเมืองไทยนะ ผมกลายเป็นคนนอกไปแล้วในวงการวรรณกรรม หนังสือภาษาไทยหาอ่านไม่ได้ที่นี่ มีหนังสือภาษาไทยที่เก็บไว้แค่ของมนัส จรรยงค์ เขาเป็นฮีโรของผมเลยนะ แต่แน่ละ คนละยุคคนละสมัยกัน ผมจะไปเขียนตามแบบแกก็ไม่ได้”

“ภาษาขึ้นสนิมได้นะ ผมออกจากประเทศไทยครั้งแรกปี 1985 อายุประมาณ 30 ปี ไปอยู่เนปาล ผมหลงใหลประเทศเนปาล หลังจากนั้นก็เริ่มรู้สึกว่าหาทางท่องโลกดีกว่า แล้วก็ห่างออกมาเรื่อย จนกระทั่งไปปักหลักอยู่ในอังกฤษ 16 ปี ซึ่งได้ใช้ภาษาไทยเพราะทำงานแปลข่าว ได้ลับคมภาษาทุกวัน พอได้ถกเถียงกัน แต่ไม่มีเวลาอ่านวรรณกรรม เพราะงานหนักมากที่ BBC ซึ่งภาษาวรรณกรรมกับภาษาสื่อคนละภาษากัน ทำให้ช่วงที่อยู่ BBC ภาษาทางวรรณกรรมเหมือนขึ้นสนิมไปเรื่อย”

“ผมเอาภาษาไทยยุคเมื่อ 40-50 ปีที่แล้วมาใส่แคปซูลไว้ เวลาทำงานก็เปิดแคปซูลภาษาไทยในยุคของผมเองมาใช้ แต่ศัพท์ตลาดหรือศัพท์แสลงที่เขาพูดกันเปลี่ยนไปเรื่อย เราตามไม่ทัน ทำให้ไม่สามารถเขียนวรรณกรรมที่สะท้อนภาพสังคมร่วมสมัยได้แล้ว ผมก็เลยเขียนสิ่งที่ผมพกพาติดตัวมาตั้งแต่ 30 ปีที่แล้ว ตั้งแต่ผมยังเป็นเด็กๆ อยู่”

บทสัมภาษณ์ กําพล นิรวรรณ เจ้าของผลงานรวมเรื่องสั้น ‘อาถรรพ์ภาพวาดเสือดำ’ ว่าด้วยชีวิต ความคิด และงานวรรณกรรมของเขา

Paradox Of Repression: ยิ่งกดขี่ปราบปราม ขบวนการประชาชนก็ยิ่งเด็ดเดี่ยวและเติบโต

 

โดย ชญานิษฐ์ พูลยรัตน์

ชญานิษฐ์ พูลยรัตน์ วิเคราะห์ 4 เหตุผล ทำไมยิ่งกดขี่ปราบปราม ขบวนการประชาชนยิ่งเติบโตเด็ดเดี่ยว

“การศึกษาเกี่ยวกับขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมจากทั่วโลก…พบว่าการข่มขู่คุกคามขบวนการประชาชนโดยรัฐ โดยเฉพาะที่กระทำต่อขบวนการที่ยึดมั่นในการไม่ใช้ความรุนแรง มักไม่ได้นำไปสู่ผลตามที่ผู้กดขี่คาดหวัง แต่เกิดผลสะท้อนกลับในทิศทางตรงกันข้าม นั่นคือขบวนการประชาชนยิ่งเข้มแข็งและเติบโต”

“….การกดขี่ปราบปรามที่เข้มข้นรุนแรงมีแนวโน้มจะทำให้ขบวนการประชาชนยิ่งเข้มแข็งและเติบโตมากขึ้น อันเป็นผลมาจากพลวัตที่เกิดขึ้นกับทั้งผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในขบวนการประชาชนโดยตรงและ ‘ฝ่ายที่สาม’ อันได้แก่ บุคคลและกลุ่มบุคคลในสังคมที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับขบวนการประชาชน”

 

สีของทางเลือกนอกกรอบ? ย้อนคิดใคร่ครวญถึงปฏิบัติการไม่ใช้ความรุนแรงในศตวรรษที่ 21

 

โดย ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ และ ภัควดี วีระภาสพงษ์ (แปล)

จากกรณีที่แอมมี่ The Bottom Blues สาดสีใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจที่สน.สำราญราษฎร์ในวันที่ 28 สิงหาคมที่ผ่านมา ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมเป็นวงกว้าง – ตัวผู้สาดสียืนยันว่าการสาดสีเป็นการประท้วงเชิงสัญลักษณ์และไม่ใช่การใช้ความรุนแรง ขณะที่คนจำนวนหนึ่งไม่เห็นด้วย จนเกิดเป็นประเด็นถกเถียงว่า การสาดสีในครั้งนี้ถือเป็นการใช้ความรุนแรงหรือไม่

ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ พาเราย้อนคิดใคร่ครวญ และตั้งคำถามกับปฏิบัติการไม่ใช้ความรุนแรงในศตวรรษที่ 21 – แม้บทความนี้จะถูกเขียนขึ้นในปี 2557 แต่ในห้วงยามที่การเมืองกำลังแหลมคม และนิยามเรื่องการไม่ใช้ความรุนแรงยังคงเป็นที่ถกเถียงและคลุมเครือ บทความชิ้นนี้ (แปลจาก “The Color of Alternatives? Rethinking Nonviolent Actions in the Twenty-First Century” โดย ภัควดี วีระภาสพงษ์) ยังคงร่วมสมัยและน่าคิดวิเคราะห์ต่อไปอย่างยิ่ง

“เหตุผลประการหนึ่งในหลายๆ ประการว่าทำไมแนวคิดของการไม่ใช้ความรุนแรงจึงเป็นเรื่องเข้าใจยากสำหรับคนจำนวนไม่น้อย นั่นก็เพราะมันเป็นความคิดที่ก้าวหน้าอย่างถอนรากถอนโคนในแง่ที่มันตั้งคำถามกับแนวคิดพื้นฐานบางประการที่เป็นรากฐานของความเชื่อหลักบางอย่าง โดยเฉพาะการฆ่าและการตาย ลองดูลัทธิชาตินิยมเป็นตัวอย่าง คนส่วนใหญ่เห็นว่าความรักชาติเป็นคุณธรรมประการหนึ่ง การเป็นนักชาตินิยมในช่วงเวลาที่ถูกต่างชาติรุกรานกลายเป็นหน้าที่ที่เกือบถือได้ว่าศักดิ์สิทธิ์”

“แต่เป็นไปได้หรือไม่ว่า เมื่อมีประชาชนทั่วโลกจำนวนมากขึ้นๆ นำปฏิบัติการไม่ใช้ความรุนแรงไปใช้โดยมีแรงจูงใจต่างๆ กันไป วิธีการนี้อาจมีปัญหามากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในแง่ของการจำแนกหรือยอมรับว่าปฏิบัติการนั้นๆ เป็นการไม่ใช้ความรุนแรงหรือเปล่า? ยกตัวอย่างเช่น การให้ความชอบธรรมแก่การใช้ปฏิบัติการไม่ใช้ความรุนแรงในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยกลายเป็นประเด็นซับซ้อนมากขึ้น มิใช่เพราะกลยุทธ์การไม่ใช้ความรุนแรงในตัวมันเองเป็นปัญหา แต่สืบเนื่องจากเป้าหมายที่ปฏิบัติการนั้นมุ่งมาดให้เกิดขึ้น”

“ทั้งการผายลมและการใช้อุจจาระสร้างความสกปรกเลอะเทอะแก่พื้นและผนังเป็นสิ่งที่แตกต่างจากการขว้างปาอุจจาระมนุษย์ใส่มนุษย์ฝ่ายตรงข้าม ถ้าการขว้างมะเขือเทศถือเป็นปฏิบัติการไม่ใช้ความรุนแรง แล้วทำไมการขว้างอุจจาระมนุษย์จึงแตกต่างออกไป? จุดนี้เองที่เนื้อหาเชิงวัฒนธรรมของปฏิบัติการไม่ใช้ความรุนแรงหวนกลับมามีความสำคัญ”

“การจดจำและตระหนักถึงการไม่ใช้ความรุนแรงในประวัติศาสตร์ของศตวรรษที่ 21 ไม่ได้หมายความว่า เราต้องหลงลืมร่องรอยของความรุนแรงที่คร่าชีวิตผู้คนไปเป็นจำนวนมาก การพบว่ามันกลายเป็นเรื่องยากที่จะชี้ชัดเจาะจงลงไปว่า ปฏิบัติการไหนเป็นหรือไม่เป็นการไม่ใช้ความรุนแรงในโลกที่มีบริบทแตกต่างหลากหลาย ไม่ได้หมายความว่าการลงมือกระทำปฏิบัติการไม่ใช้ความรุนแรงเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้”

 

101 One-On-One Ep.186 : “การเมืองไทยใต้ฟ้าเดียวกัน” กับธนาพล อิ๋วสกุล

 

โดย กองบรรณาธิการ

14 ตุลาคม 2563 … และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏอีกครั้ง เมื่อคณะราษฎร 2563 ประกาศชุมนุมใหญ่พร้อม 3 ข้อเรียกร้อง 1. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรี 2. เปิดประชุมวิสามัญทันทีเพื่อเร่งแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจากประชาชน และ 3. ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

จากกระแสการเมืองในยุค 2475, การเมืองเดือนตุลาในปี 2516-2519, ถึงพฤษภาคม 35 รัฐธรรมนูญ 2540 และการเมืองเสื้อสี การเมืองไทยปัจจุบันกำลังอยู่ในหมุดหมายใดของประวัติศาสตร์ และก้าวต่อไปของการเมืองไทยจะเป็นแบบไหน

อ่านสถานการณ์การเมืองไทยกับ ธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ผู้มีส่วนสำคัญในการผลักดัน ‘งานวิชาการนอกขนบ’ มาเกือบ 2 ทศวรรษ จนถึงตอนนี้ที่ ‘ฟ้าเดียวกัน’ กลายเป็นสำนักพิมพ์ร้อนแรงแห่งยุค

 

101 One-On-One Ep.184 “ประชาธิปไตยในขั้วโลก” กับ พริษฐ์ ชิวารักษ์

 

โดย กองบรรณาธิการ

จากนักเรียนถึงนักศึกษา ชื่อ ‘เพนกวิน’ – พริษฐ์ ชิวารักษ์’ ปรากฏอยู่ในหลายสื่อ บนโปสเตอร์งานเสวนาการเมืองและการศึกษา บนสนามประท้วง และอีกหลายแคมเปญที่เขาตั้งคำถามกับสังคมไทย

วิชาหน้าที่พลเมือง ระบบการศึกษาภาพใหญ่ ความชอบธรรมของรัฐบาลทหาร การเมืองในมหาวิทยาลัย รวมไปถึงบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย เหล่านี้คือประเด็นคำถามสั่นสะเทือนที่เขาโยนใส่สังคมไทย ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า คำถามของเขาแหลมคมและชวนคิดอย่างยิ่ง

สำรวจ ชีวิต-ตัวตน-ความคิด ของพริษฐ์ ชิวารักษ์ เพื่อรู้จัก ‘เพนกวิน’ และสังคมไทยมากขึ้น

 

เมื่อญี่ปุ่นเริ่มขบคิดเรื่องการติดอาวุธจู่โจม

 

โดย ธีวินท์ สุพุทธิกุล

ธีวินท์ สุพุทธิกุล ชวนอ่านเรื่องการติดอาวุธจู่โจม (strike capability) ในญี่ปุ่น – อะไรคือข้อจำกัดที่ทำให้ญี่ปุ่นไม่อาจคิดที่จะมีสมรรถนะด้านนี้มาก่อน และปัจจัยใดที่ทำให้ญี่ปุ่นเริ่มมองเรื่องการติดอาวุธจู่โจมเป็นตัวเลือกเชิงยุทธศาสตร์ในเวลานี้

“ญี่ปุ่นมีวิถีปฏิบัติในการป้องกันประเทศที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตน อันเป็นผลจากความพยายามประนีประนอมระหว่างความจริงที่ว่าญี่ปุ่นจำต้องมีศักยภาพไว้ปกป้องชาติ กับแนวทางสันตินิยมที่หยั่งรากและเบ่งบานจากซากปรักหักพังและเถ้าถ่านหลังสงครามมหาเอเชียบูรพาที่ญี่ปุ่นพ่ายแพ้”

“ญี่ปุ่นตั้งมั่นที่จะคงไว้เฉพาะสมรรถนะเชิงรับ (defensive force) ในระดับที่พอต้านทานการรุกรานได้ โดยหวังผลด้วยว่าศักยภาพเหล่านี้จะช่วย “ยับยั้งศัตรูไม่ให้คิดโจมตี” เมื่อคิดว่าคงเอาชนะญี่ปุ่นได้ยาก ซึ่งก็คือหลัก ‘การป้องปราม’ (deterrence) นั่นเอง

อย่างไรก็ดี วิถีปฏิบัติเหล่านี้ได้ถูกทบทวนและปรับเปลี่ยนไปอย่างมากในช่วงสามทศวรรษ (1990s – 2010s) หลังยุคสงครามเย็น จะเห็นว่า SDF เข้าร่วมภารกิจรักษาสันติภาพและกู้ภัยในต่างแดน ฝึกซ้อมทางทหารร่วมกับกองทัพชาติต่างๆ บนเงื่อนไขที่ว่าภารกิจนั้นไม่เกี่ยวข้องกับการใช้กำลังในลักษณะที่ต้องห้าม โดยความเปลี่ยนแปลงนี้เร่งและถี่ขึ้นในช่วงทศวรรษ 2010 ภายใต้การบริหารประเทศอันต่อเนื่องยาวนานของนายกฯ อาเบะ”

“ปัจจัยที่กระตุ้นความเคลื่อนไหวนี้คงเห็นได้ไม่ยาก นั่นคือดุลอำนาจในเอเชียที่เปลี่ยนไปอย่างมากจากการทะยานขึ้นเป็นใหญ่ของจีนและการพัฒนาอาวุธของเกาหลีเหนือ ขณะที่สหรัฐฯ ซึ่งมีบทบาทป้องปรามภัยให้แก่ญี่ปุ่นมาตลอดยุคหลังสงครามเผชิญวิกฤตศรัทธาและความน่าเชื่อถือ ในแง่ความมุ่งมั่นที่จะคุ้มครองพันธมิตร”

 

ผลงาน ‘อ่านใหม่’ ยอดนิยม เดือนตุลาคม 2563

 

‘เหนือการเมือง’ ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

 

โดย สมชาย ปรีชาศิลปะกุล

สมชาย ปรีชาศิลปกุล ไล่เรียงประวัติศาสตร์ของคำว่า ‘เหนือการเมือง’ ซี่งปรากฏขึ้นตั้งแต่หลังการอภิวัฒน์ 2475 ก่อนจะถูกตีความและปรับเปลี่ยนความหมายเรื่อยมา โดยเฉพาะในห้วงเวลาที่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อทางการเมือง

“ท่ามกลางความผันผวนของสังคมการเมืองไทยนับจาก 2475 สืบเนื่องมา สถานะและความหมายของ ‘เหนือการเมือง’ มิได้ดำรงอยู่อย่างตายตัว หากมีความผกผันเกิดขึ้น โดยเปลี่ยนจากการดำรงอยู่นอกการเมืองทั้งปวง ให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบการเมือง ก่อนที่จะแปรเปลี่ยนมาเป็นสถาบันที่มีความศักดิ์สิทธิ์ ความสูงส่ง และดำรงอยู่เหนือสถาบันการเมืองทั้งปวง เฉพาะอย่างยิ่งเหนือกว่าสถาบันการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งถูกพิจารณาว่าเป็นสิ่งที่มีความชอบธรรมต่ำกว่าในห้วงเวลาปัจจุบัน…”

 

จุดตั้งต้นการปกครองระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญของไทย (3)

 

โดย ศุภมิตร ปิติพัฒน์

เมื่อรัฐธรรมนูญ 2489 ไม่อาจเป็นจุดตั้งต้นการปกครองระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรรมนูญของไทย ศุภมิตร ปิติพัฒน์ ชวนย้อนสำรวจปัญหาของระบบบริหารราชการแผ่นดินในระบอบราชาธิปไตยสยาม เพื่อเข้าใจแนวคิดของฝ่าย “ราชานุภาพ” ในการจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างสถาบันต่างๆ กับพระมหากษัตริย์ในรัฐธรรมนูญในเวลาต่อมา

นี่คือตอนที่ 3 ของบทความชุด “จุดตั้งต้นการปกครองระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรรมนูญของไทย” ซึ่งสกัดมาจากรายงานวิจัย ‘พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 กับแนวคิดและเงื่อนไขทางการเมืองในการฟื้นฟูสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475′

………………

ความคิดความหวังของปรีดี พนมยงค์ ที่จะตั้งต้นระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่ด้วยรัฐธรรมนูญ 2489 แทน 2475 มีอันสะดุดลงด้วยเหตุสวรรคต ขบวนการต่อต้านใส่ร้ายเขาเกี่ยวกับกรณีสวรรคต และรัฐประหาร 2490

รัฐธรรมนูญ 2489 นับได้ว่าเป็นความพยายามประนีประนอมความแตกต่างในทางหลักการของทั้ง 2 ฝ่าย (ฝ่ายคณะราษฎรผู้ก่อการขอพระราชทานรัฐธรรมนูญฝ่ายหนึ่ง กับของรัชกาลที่ 7 ผู้พระราชทานรัฐธรรมนูญอีกฝ่ายหนึ่ง) เข้าหากันเพื่อสลายข้อขัดกันที่เคยมีอยู่ การปฏิเสธรัฐธรรมนูญ 2489 ไม่ว่าจะโดยเปลี่ยนมาเป็นรัฐธรรมนูญ 2490/92 หรือการนำรัฐธรรมนูญ 2475 กลับมา เท่ากับเป็นการปฏิเสธที่จะใช้จุดประนีประนอมที่ทำให้พระปกเกล้าฯ กับคณะราษฎรสามารถสมานเข้าหากันได้ เป็นจุดเริ่มต้นของการวางประเพณีการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย

เพื่อให้เข้าใจจุดตั้งต้นวางประเพณีการปกครองใหม่ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ ว่าเมื่อมีเหตุมาทำให้ค่อยๆ เลื่อนห่างออกจาก 2475 อันเป็นจุดกำเนิดของการปกครองตามระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญมาแล้ว และความพยายามของปรีดีที่จะตั้งต้นใหม่ก็ถูกเทพีแห่งโชคชะตาแทรกแซงให้มีอันเป็นไป

ในที่สุด จุดประสานพระมหากษัตริย์กับรัฐธรรมนูญจะได้ใช้หลักการที่เกิดขึ้นในจุดใดแน่มาจัดพระมหากษัตริย์ในรัฐธรรมนูญ

การจะตอบคำถามนี้จากบทที่เขียนโดยฝ่ายราชานุภาพ จำต้องอาศัยการนำเสนอปัญหาหลายชั้นที่มีอยู่ในการบริหารงานของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เพื่อชี้ให้เห็นประเด็นที่ฝ่ายราชานุภาพถือเป็นโจทย์ในการจัดการปฏิรูปหรือเปลี่ยนแปลงการปกครอง และแนวทางที่ฝ่ายนี้เห็นว่าจะช่วยจัดการแก้ไขปัญหาสำคัญนั้นได้ อันส่งผลต่อแนวคิดของฝ่ายราชานุภาพในเวลาต่อมาในการเขียนบทสำหรับการจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างสถาบันต่างๆ กับพระมหากษัตริย์ในรัฐธรรมนูญ

 

จากบันทึกของ ‘พิน บางพูด’ ถึง ‘บันทึก 6 ตุลาฯ’ : เมื่อความจริงเริ่มปรากฏ

 

โดย พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล 

“ด้านหน้าหอประชุมราว 8 น. มีคนวิ่งออกไปจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โทรทัศน์ถ่ายเหตุการณ์ตอนนั้นเผยแพร่ทั่วกรุงเทพฯ ใครๆ ก็เห็นภาพคนกลุ่มหนึ่งกรูเข้ารุมกระชากสายน้ำเกลือ แล้วเทคนเจ็บลงจากเปลหาม เงื้อไม้ฟาด เตะ ถีบ และกระทืบจนเลือดกระเซ็น…”.

ร่วมย้อนเสาะหาร่องรอยหลักฐานของประวัติศาสตร์การสังหารหมู่ 6 ตุลา ผ่านนิยาย ‘ด้วยรักแห่งอุดมการณ์’ หนังสือที่ได้รับการตีพิมพ์ซ้ำอีกครั้งในรอยยี่สิบปี ไล่เลี่ยกับการเกิดขึ้นของเว็บไซต์ บันทึก 6 ตุลา – Documentation of Oct 6

“เนื้อหาหลายส่วนที่ปรากฏอยู่ในนิยายของวัฒน์ คล้ายเป็นจิ๊กซอว์ที่ช่วยปะติดปะต่อข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ให้กระจ่างขึ้น ตั้งแต่แผนก่อการของฝ่ายขวาที่เริ่มสร้างสถานการณ์มาตั้งแต่ปี 2517 กระแสความหวาดกลัวคอมมิวนิสต์ ทฤษฎีโดมิโน ไปจนถึงข้อกล่าวหาเรื่องหมิ่นรัชทายาทและธรรมศาสตร์สะสมอาวุธสงคราม อันเป็นชนวนสุดท้ายที่นำไปสู่การสังหารหมู่กลางเมืองอย่างโหดเหี้ยม…”

“ความน่าสนใจของนิยายเรื่องนี้ คือการสะท้อนภาพประวัติศาสตร์อันพร่ามัว จากตัวผู้เขียนซึ่งอยู่ในเหตุการณ์จริง ซึ่งถ้ามองในแง่ของคุณค่าและความน่าเชื่อถือ ย่อมต่างจากนวนิยายหลายต่อหลายเล่มที่แปะป้ายว่า ‘อิงประวัติศาสตร์’ แต่กลับอิงจากข้อมูลปลอมๆ กระทั่งจงใจเขียนอย่างบิดเบือน”

“ความอยุติธรรมมันอยู่ได้ เพราะมีคนที่ดันไปเห็นด้วยกับความอยุติธรรมนั้น ฮิตเลอร์มันอยู่ได้เพราะมีคนเชียร์ให้ฆ่ายิว เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ เกิดขึ้นเพราะมีคนที่สนุกสนานกับการเห็นนักศึกษาถูกแขวนคอ นี่คือความโง่บัดซบของสังคมไทย ซึ่งมันเป็นหน้าที่ของคนที่ทำงานด้านสติปัญญาอย่างเรา ต้องสู้รบกับความโง่เขลาเหล่านี้ โดยใช้ปากกาเป็นอาวุธ ผ่านบทกวี ผ่านตัวหนังสือ…”

 

อนุสรณ์ อุณโณ : จากพี่ว้ากสู่คณบดีไล่เผด็จการ และคำถามในพานพุ่ม

 

โดย ธิติ มีแต้ม

รศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ กำลังจะพ้นจากการเป็นผู้บริหารในฐานะคณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สองสมัย ในปี 2562

แทนที่จะทำงานบริหารไปอย่างสบายเนื้อสบายตัว, เขาส่ายหน้าปฏิเสธ เลือกก้าวลงเดินถนนเพื่อให้กำลังใจ-เรียกร้องให้ปล่อยตัวนักศึกษาและประชาชนที่ถูกจับกุมจากการเคลื่อนไหวต่อต้าน คสช.

แต่ผู้หลักผู้ใหญ่เมามันในอำนาจ จนอยู่ล่วงเลยมา 4 ปี นับตั้งแต่รัฐประหาร 2557 คณบดีร่างเล็กกำยำไม่ทนกับสภาพบ้านเมืองเงียบเชียบไร้ขื่อแป จนเขาและนักกิจกรรมต้องออกมาเดินชูธงสิทธิมนุษยชน-ประชาธิปไตยด้วยตัวเอง ในนามกลุ่ม ‘we walk’ และในฐานะผู้สังเกตการณ์การชุมนุมของกลุ่ม ‘คนอยากเลือกตั้ง’

ผลจากการไม่อยู่เฉย เขาถูกแจ้งข้อหาร่วมกับประชาชนหลายสิบชีวิตตามคำสั่ง คสช. ที่ 3/2558 ฐานชุมนุมเกินห้าคนขึ้นไป กรณีแรกนั้นล่าสุดอัยการเพิ่งสั่งไม่ฟ้องไป แต่กรณีหลังเขาและอีกหลายคนกลายเป็นจำเลยเพราะถูกอัยการสั่งฟ้องไปแล้ว

อะไรทำให้อาจารย์ผู้นี้แจ่มชัดในการยืนตรงข้ามกับผู้มีอำนาจของบ้านเมือง ต้นทุนแบบไหนที่เขาผ่านเผชิญมาตั้งแต่ยังเป็นนักเรียนขาสั้น จนล่วงเข้าสู่โลกวิชาการหลังรับปริญญาเอกด้านมานุษยวิทยาจาก University of Washington – นี่เป็นประเด็นแรก

ประเด็นต่อมา ยิ่งน่าทบทวน-ทำความเข้าใจ เนื่องจากในฐานะนักวิชาการ เขาเอาตัวเองลงไปอยู่ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มาตั้งแต่ปี 2550 ท่ามกลางความเป็นความตาย ล่าสุด สำนักพิมพ์ชั้นนำของสิงคโปร์นาม ISEAS กำลังจะจัดพิมพ์หนังสือของเขาชื่อ We love Mr. King ออกมา ดีเทลทั้งหมดในหนังสือที่ผ่านการเฝ้าติดตามและเจาะลึกร่วม 10 ปี ทำให้เขาตั้งคำถามอย่างสั้นกระชับและแหลมคมที่สุดว่า “อำนาจอธิปไตยไทยตกลงเป็นของใคร”

ทำไมจึงเกิดคำถามแบบนี้ และ รศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ จะอธิบายอย่างไร 101 อยากให้อ่านตั้งแต่บรรทัดต่อไปอย่างช้าๆ ยาวๆ และทำใจให้สบาย

 

50 ปีหลังมนุษย์เหยียบดวงจันทร์ ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไทยยังอยู่ที่เดิม

 

โดย ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

ผลงานสารคดีเรื่อง ’50 ปีหลังมนุษย์เหยียบดวงจันทร์ ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไทยยังอยู่ที่เดิม’ โดยปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย ได้รับรางวัลชมเชย ประเภทข่าวออนไลน์ส่งเสริมสังคมยอดเยี่ยม จากรางวัลข่าวดิจิทัลยอดเยี่ยม ประจำปี 2563 จัดโดยสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์

สารคดีเล่าปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่ยังเกิดขึ้นกับเด็กไทยจำนวนมาก

“พื้นบ้านเขาทำจากไม้ฝาโลงศพ เพราะพื้นผุ คุณย่าทำงานคนเดียวไม่มีตังค์ ต้องเอาฝาโลงศพที่วัดบริจาคให้มาเป็นพื้นบ้าน” เสียงครูประพินเล่าคลอไปกับเสียงหมาเห่าที่ดังขึ้นเรื่อยๆ มองเห็นใต้ถุนบ้านเต็มไปด้วยขยะกองอยู่บนแอ่งน้ำขัง ฉับพลันนั้นแมวสองตัวก็เดินเข้ามาคลอเคลียที่ขาของเต้ย

“ผมมีแมวห้าตัว สองตัวนี้ชื่อปูผัด กับ ลิงครับ” เต้ยบอกด้วยรอยยิ้ม แล้วค่อยพาเดินขึ้นบันไดบ้านเล็กแคบที่มีหม้อและของใช้วางอยู่ตรงขอบตลอดทาง ทอดขึ้นไปสู่ห้องเดี่ยวขนาดเดินห้าก้าวก็สุดกำแพง

“ผม แม่ กับป้า นอนด้วยกันในนี้หมดเลย นอนคนละมุม ก่อนนอนก็จะปูเสื่อก่อน” เต้ยชี้ไปที่มุมนอนของเขา มีตุ๊กตาตัวเล็กวางอยู่ให้รู้ว่าเป็นอาณาเขตใคร เต้ยเรียกย่าว่าแม่ เพราะแทบจะเป็นคนเดียวที่ดูแลเขาให้เติบโตมาจนถึงตอนนี้

ย่าต้องทำงานโรงงานเพื่อหาเงินมาใช้จ่ายในบ้าน แม้อายุจะเข้าใกล้วัยเกษียณเต็มทีแต่ก็ยังต้องทำงานต่อไป ด้วยภาระงานของย่าและการเงินที่ขัดสน ทำให้ในบางเช้าเต้ยไม่ได้ทานข้าว ต้องไปทานอาหารที่โรงเรียนมีให้หลังเคารพธงชาติ เพื่อจะมีแรงและมีสมาธิในการเรียนทั้งวัน

เต้ยไม่ใช่เด็กไทยคนเดียวที่ประสบภาวะเหล่านี้ แต่ยังมีเด็กในระดับประถมและมัธยมศึกษาตอนต้นอีกกว่า 1.1 แสนคนอยู่ในครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำกว่าวันละ 100 บาท การได้เข้าสู่ระบบการศึกษานับเป็นหนึ่งในโอกาสที่จะช่วยให้พวกเขาขยับชีวิตไปในทิศทางที่ดีขึ้น

 

รายการและคลิปวิดีโอยอดนิยม เดือนตุลาคม 2563

 

101 One-On-One Ep.184 “ประชาธิปไตยในขั้วโลก” กับ พริษฐ์ ชิวารักษ์

 

โดย 101 One-on-One

จากนักเรียนถึงนักศึกษา ชื่อ ‘เพนกวิน’ – พริษฐ์ ชิวารักษ์’ ปรากฏอยู่ในหลายสื่อ บนโปสเตอร์งานเสวนาการเมืองและการศึกษา บนสนามประท้วง และอีกหลายแคมเปญที่เขาตั้งคำถามกับสังคมไทย

วิชาหน้าที่พลเมือง ระบบการศึกษาภาพใหญ่ ความชอบธรรมของรัฐบาลทหาร การเมืองในมหาวิทยาลัย รวมไปถึงบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย เหล่านี้คือประเด็นคำถามสั่นสะเทือนที่เขาโยนใส่สังคมไทย ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า คำถามของเขาแหลมคมและชวนคิดอย่างยิ่ง

สำรวจ ชีวิต-ตัวตน-ความคิด ของพริษฐ์ ชิวารักษ์ เพื่อรู้จัก ‘เพนกวิน’ และสังคมไทยมากขึ้น

 

101 One-On-One Ep.186 : “การเมืองไทยใต้ฟ้าเดียวกัน” กับธนาพล อิ๋วสกุล

 

โดย 101 One-on-One

14 ตุลาคม 2563 … และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏอีกครั้ง เมื่อคณะราษฎร 2563 ประกาศชุมนุมใหญ่พร้อม 3 ข้อเรียกร้อง 1. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรี 2. เปิดประชุมวิสามัญทันทีเพื่อเร่งแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจากประชาชน และ 3. ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

จากกระแสการเมืองในยุค 2475, การเมืองเดือนตุลาในปี 2516-2519, ถึงพฤษภาคม 35 รัฐธรรมนูญ 2540 และการเมืองเสื้อสี การเมืองไทยปัจจุบันกำลังอยู่ในหมุดหมายใดของประวัติศาสตร์ และก้าวต่อไปของการเมืองไทยจะเป็นแบบไหน

อ่านสถานการณ์การเมืองไทยกับ ธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ผู้มีส่วนสำคัญในการผลักดัน ‘งานวิชาการนอกขนบ’ มาเกือบ 2 ทศวรรษ จนถึงตอนนี้ที่ ‘ฟ้าเดียวกัน’ กลายเป็นสำนักพิมพ์ร้อนแรงแห่งยุค

101 One-On-One Ep.188 : “ปฏิรูปรัฐ – ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจหลังโควิด-19” กับ นิพนธ์ พัวพงศกร

 

โดย 101 One-on-One

แม้ประเทศไทยจะยังไม่เจอการระบาดรอบที่สองของโควิด-19 แต่เศรษฐกิจไทยก็เสียหายอย่างหนักจากมาตรการล็อกดาวน์ในรอบแรก ชนิดที่ไม่มีใครกล้าคิดถึงการระบาดและการล็อกดาวน์อีกครั้ง

ท่ามกลางความสาหัสของเศรษฐกิจ ภาครัฐและเงินกู้ 1 ล้านล้านบาทกลายเป็นความหวังเดียวของสังคมที่จะประคับประคองเศรษฐกิจไทยให้เดินหน้าต่อได้ แต่คำถามมีอยู่ว่า รัฐไทยมีศักยภาพเพียงพอในการรับบทบาทนี้หรือไม่ อย่างไร

101 สนทนากับ รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) รัฐไทยต้องถูกปฏิรูปอย่างไรเพื่อรับมือวิกฤต / โครงสร้างเศรษฐกิจหลังโควิด-19 ควรเป็นแบบไหน / เงินกู้ 1 ล้านล้านต้องใช้อย่างไร / และรัฐควรทำอะไรอีกบ้างเพื่อให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวจากวิกฤตได้ดีกว่านี้

 

101 One-On-One Ep.190 : “ให้เธอเรียกฉันว่าสายลมที่หวังดี” คุยชีวิตและการเมืองกับ ทราย เจริญปุระ

 

โดย 101 One-on-One

หนึ่งในตัวละครสำคัญที่ถูกพูดถึงว่าเป็น ‘ผู้อยู่เบื้องหลัง’ การประท้วงของคนรุ่นใหม่คือ ทราย เจริญปุระ และถ้าจะมีใครสักคนคือ ‘ท่อน้ำเลี้ยง’ ของการชุมนุม ทรายย่อมเป็นหนึ่งในคนสำคัญนั้น

เต็นท์ รถห้องน้ำ อาหาร เงินสมทบ ฯลฯ ล้วนได้รับการสนับสนุนจากเธอ

ทราย เจริญปุระ คือนักแสดงที่ออกมาพูดเรื่องการเมืองตั้งแต่สิบปีที่แล้ว ในวันที่การแสดงความคิดเห็นบางเรื่องเป็นสิ่งต้องห้าม ทรายก็ยังยืนหยัดจะแสดงออกในสิ่งที่ตัวเองเชื่อ แม้มีราคาที่ต้องจ่าย

ในภาวะการเมืองแหลมคมแบบนี้ 101 ชวนทราย เจริญปุระ มาคุยว่าด้วยชีวิต ความคิด และการเมือง เธอคิดอะไร เธอเจออะไร และมองเหตุการณ์ทางการเมืองตอนนี้อย่างไร

 

101 One-On-One Ep.191 “เจ็บสุด แสบจัด: เข้าใจวัยรุ่นยุคใหม่ กับ พัฒน์ บุญนิธิพัฒน์”

 

โดย 101 One-on-One

ผลงานภายใต้การกำกับของ พัฒน์ บุญนิธิพัฒน์ สะท้อนประเด็นของ ‘วัยรุ่น’ ไว้อย่างหลากหลาย ตั้งแต่ซีรีส์ที่พูดถึงชีวิตนักเรียนและการโกงข้อสอบ อย่าง Bad Genius ฉลาดเกมส์โกง, ประเด็นสุขภาพจิตในวัยรุ่นผ่านซีรีส์ SOS skate ซึมซ่าส์ ไปจนถึงการสำรวจชีวิต ‘เด็กติดเกม’ ในสารคดี LET ME GROW พลิกชีวิตเด็กติดเกม

ในฐานะผู้กำกับที่ทำงานกับโลกของวัยรุ่น เขามองวัยรุ่นยุคใหม่อย่างไร เบื้องหลังการสร้างผลงานแต่ละเรื่องทำให้เขาท่องไปในโลกของวัยรุ่นและพบกับอะไรบ้าง

รายการ 101 One-On-One ชวนสำรวจความหลากหลายของวัยรุ่น ความเจ็บปวดของช่วงวัย และความแสบซ่าแบบวัยรุ่นที่ผู้กำกับ พัฒน์ บุญนิธิพัฒน์ เลือกหยิบจับมาสร้างสรรค์เป็นผลงาน

 

101 Policy Forum #7 : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

 

โดย

101 Policy Forum เปิดเวทีถกเถียงเรื่องนโยบายสาธารณะที่มีความหมายกับชีวิตของผู้คนและสังคม

เพราะเราเชื่อว่า นโยบายสาธารณะเป็นเรื่องของพลเมืองทุกคน และนโยบายที่ดีมาจากการแลกเปลี่ยนถกเถียงอย่างมีคุณภาพ ผ่านการมีส่วนร่วมของสังคม ไม่ใช่เฉพาะช่วงเลือกตั้ง และไม่ใช่แค่ในสภา

สำหรับเดือนนี้ ถก-คิด-ถาม-ตอบกันเรื่อง “ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่”

วัยรุ่นแต่ละคนวาดฝันต่อประเทศไทยและมีคำตอบรูปธรรมในประเด็นเหล่านี้อย่างไร : สังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน | ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา | ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต | แนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่ | ฯลฯ

พบกับ

  • ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน บรรณาธิการบริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง Spaceth.co
  • สิรินทร์ มุ่งเจริญ กลุ่ม Spring Movement
  • ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์ กลุ่มนักเรียนเลว
  • อัครสร โอปิลันธน์ นักเรียนที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย

 

RAINBOW FAMILY : ชีวิตใหม่ฟ้าหลังฝน

 

โดย ธิติ มีแต้ม

“ซามูไรไม่ใช่แค่นักสู้หรือพวกฆ่าคน แต่วิถีบูชิโดคือการช่วยเหลือคนที่อ่อนแอกว่า” – โทโมโกะ คาตาโอกะ ครูใหญ่ศูนย์การเรียนบ้านสายรุ้ง

สงครามและความยากจนที่ชายแดนฝั่งพม่าได้ผลักให้เด็กๆ ต้องอพยพลี้ภัยเข้ามาอาศัยเรียนหนังสืออยู่ที่ฝั่งไทย โดยมีศูนย์การเรียนบ้านสายรุ้งเป็นทั้งสถานที่อุปการะเลี้ยงดู วิ่งเล่น กินอยู่ หลับนอน เด็กๆ และครูอยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่ ทั้งจุนเจือ โอบกอด ประคับประคอง และส่งเสริมกันและกัน

ถ้าสงครามและความยากจนเป็นดั่งพายุโหมกระหน่ำ ชีวิตใหม่ของพวกเขาคงไม่ต่างไปจากสายรุ้งที่กำลังเปล่งประกาย

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Spotlights

30 Jun 2020

“ไม่มี Theory of Everything ในโลกของ IR” จิตติภัทร พูนขำ

101 สนทนากับ จิตติภัทร พูนขำ เกี่ยวกับองค์ความรู้และโลกของ IR ไปจนถึงการเรียนการสอน และการปรับตัวของ IR ในยุคที่โลกผันผวนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

กานต์ธีรา ภูริวิกรัย

30 Jun 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save