fbpx
กรณีเด็กถูกทำร้าย-เรื่องที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำก่อน

กรณีเด็กถูกทำร้าย-เรื่องที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำก่อน

นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ เรื่อง

 

มีการศึกษามากมายเพื่อยืนยันว่าการทำร้ายร่างกายเด็กและการล่วงละเมิดทางเพศเด็กส่งผลต่ออนาคตของพวกเขาอย่างไร ที่เขียนและรู้กันทั่วไปคือสามารถก่อโรคซึมเศร้า (Major Depression) อันตรายของโรคซึมเศร้าใหญ่ๆ มี 2 ข้อ คือ เรียนหรือทำงานมิได้ กับฆ่าตัวตาย จะว่าไปการที่เด็กมัธยม นิสิตนักศึกษา หรือคนหนุ่มสาวทำงานมิได้ เป็นเรื่องน่ากลัวมากกว่าการฆ่าตัวตาย การเรียนหรือทำงานมิได้เป็นเรื่องทุกข์ทรมาน

ผลลัพธ์ของการละเมิดอีกข้อหนึ่งที่รู้กันคือเด็กจะก่อร่างสร้างตัวพฤติกรรมต่อต้านสังคม (antisocial) มีคำอธิบายสองข้อใหญ่ๆ คำอธิบายทางจิตสำนึก (conscious) ว่าเด็กพัฒนาบุคลิกภาพนี้เพื่อการป้องกันตัว พูดง่ายๆ ว่าการละเมิดได้ทำลายความไว้วางใจ (trust) ที่มีต่อโลกและผู้คน ครูซึ่งวัฒนธรรมใดๆ สอนว่าเป็นคนดีกลับเป็นผู้ลงมือกับเรา พ่อแม่ซึ่งควรจะป้องกันได้กลับไม่อยู่ป้องกัน ความไว้ใจโลกเป็นฐานแรกของพัฒนาการเด็กและวัยรุ่นเปรียบเสมือนฐานแรกของปิรามิดหรือบ้าน เมื่อเราโค่นเสาบ้านเสียแล้ว ข้างบนก็จะล่มลง (collapse) เด็กจึงต้องพัฒนาความสามารถใหม่ๆ ขึ้นมา นั่นคือต่อต้านสังคม

อีกคำอธิบายหนึ่งเป็นเรื่องจิตใต้สำนึกหรือจิตวิเคราะห์ (unconscious & psychoanalysis) การละเมิดทางเพศในเด็กเล็กก่อนสามขวบเป็นเวลาวิกฤต (critical period) ของการสร้างสายสัมพันธ์กับพ่อแม่ หากเกิดหลังจากนั้นจะไปรบกวนการสร้างสัมพันธ์กับผู้อื่น ผลที่ได้คือเด็กพัฒนาความสามารถในการสร้างสัมพันธ์กับผู้อื่นโดยใช้เพศเป็นเครื่องมือมากกว่าที่จะใช้ความไว้วางใจ

เรื่องที่เขียนมานี้น่ากลัว การละเมิดเด็กไม่ว่าจะเป็นเรื่องทางเพศหรือทางร่างกายจึงเป็นอาชญากรรม มิพักว่าผู้ล่วงละเมิด (perpretators) จะเป็นใคร เป็นครู หรือพ่อแม่ กินความถึงผู้ยืนดูอยู่รอบๆ หรือรู้เห็นโดยไม่ทำอะไรด้วย เช่น ครูที่เป็นเพื่อนร่วมงาน ครูใหญ่ ผู้อำนวยการโรงเรียน หรือเป็นคุณแม่เองที่ปล่อยให้คุณพ่อกระทำกับลูกสาว ทุกคนเป็นผู้ล่วงละเมิดและสมรู้ร่วมคิดก่ออาชญากรรม

เรื่องการล่วงละเมิดเด็กทั้งทางเพศและร่างกายควรเป็นความผิดร้ายแรงเพราะได้สร้างบาดแผล (wounds) ที่จะไม่มีวันหายโดยง่ายหากมิได้รับการจัดการโดยมืออาชีพ ดังนั้นเด็กทุกคน รวมทั้งเด็กทุกคนที่นั่งอยู่ในเหตุการณ์ ควรได้พบจิตแพทย์เด็กหรือนักจิตวิทยาที่มีประสบการณ์ทำงานด้านนี้โดยตรง เพราะการสัมภาษณ์ที่ดีจะช่วยเยียวยาได้มาก สมานแผลให้อย่างดีที่สุด อาจจะทำให้ดีได้จนไม่มีแผลเป็น หรือมีแผลเป็นก็ปิดสนิทแล้ว มิใช่ปล่อยปละละเลยให้มีแผลเปิดเรื้อรังติดตัวเด็กไปเช่นนั้นอีกนานหลายปีก่อนจะติดเชื้อรุนแรงในภายหลัง

มิใช่เด็กทุกคนจะจบลงที่โรคซึมเศร้าหรือบุคลิกภาพต่อต้านสังคม งานศึกษาระยะหลังพบว่าผลลัพธ์สุดท้ายขึ้นกับยีนหรือพันธุกรรมด้วย มีงานวิจัยหลายชิ้นพบว่าเด็กชายที่ถูกทำร้ายหากมียีนที่กำหนดการแสดงออกของระดับสารสื่อนำประสาท monoamine oxidase A (MAO-A) ในระดับสูงจะมีโอกาสพัฒนาบุคลิกภาพต่อต้านสังคมมากกว่า อีกการศึกษาหนึ่งศึกษาเรื่องความอ่อนไหวต่อแรงกดดันจากสิ่งแวดล้อม พบว่าเด็กทั้งชายหญิงที่มียีนซึ่งควบคุมการแสดงออกของสารสื่อนำประสาท 5HTT และ SLC6A4 ในระดับสูง มีโอกาสที่เด็กจะอ่อนไหวต่อความเครียดในชีวิตและสิ่งแวดล้อมมากกว่าและเกิดโรคซึมเศร้าหรือฆ่าตัวตายได้มากกว่า นอกจากนี้ยังพบว่าเด็กที่มี short allele สองชุด มีโอกาสที่จะเกิดอารมณ์เศร้า (depression) มากกว่าเด็กที่มี long allele สองชุด (Kaplan&Sadock’s Comprehensive Textbook of Psychiatry, 10th edition, 2017.)

งานวิจัยสมัยใหม่ยังพบต่อไปว่า นอกเหนือจากโรคซึมเศร้า การฆ่าตัวตาย และบุคลิกภาพต่อต้านสังคมแล้ว ยังมีโอกาสเกิด PTSD และพฤติกรรมการใช้ยาเสพติด

PTSD หรือ Post-traumatic Stress Disorder คือกลุ่มอาการทางจิตเวชที่เกิดตามหลังภยันตราย แบ่งออกเป็นสองประเภทใหญ่ๆ คือประเภทที่เกิดในเวลาไม่นานหลังได้รับภยันตราย และประเภทที่จะใช้เวลานานหลายปีกว่าจะเริ่มมีอาการแรก มีงานศึกษาโครงสร้างและการทำงานของของสมองเกี่ยวกับเรื่องนี้มาก พบว่าเด็กที่ถูกทำร้ายมีปริมาตรของฮิปโปแคมปัส (hippocampus volume) และระดับการปฏิบัติการของอะมิกดาลา (amygdala activity) ลดลง ทำให้เด็กจำเป็นต้องใช้กลไกอื่นในการจัดการความเครียด และถ้าเด็กมีพันธุกรรมของ PTSD (ซึ่งมีงานวิจัยรองรับจำนวนมากหลังเหตุการณ์สึนามิในเอเชียเมื่อหลายปีก่อน) เด็กจะใช้กลไกลดการทำงานของสมองส่วน medial prefrontal cortex และ anterior cingulate cortex ทำให้เกิดอาการแฟลชแบ็ก (flashback) มองเห็นภาพและได้ยินเสียงการถูกละเมิดเป็นครั้งๆ แฟลชแบ็กจะเป็นกลไกป้องกันตัวเพื่อหยุดการกำเริบของอาการ PTSD มิให้ลุกลามต่อไป จะเห็นว่าการรักษา PTSD เป็นเรื่องยากเพราะเราจะต้องเยียวยาทั้งตัวโรคและกลไกป้องกันตัวที่เป็นพยาธิสภาพนี้ไปพร้อมๆ กัน

ยังมีงานวิจัยที่ชี้ว่าเด็กที่ผ่านการล่วงละเมิดเป็นเวลานานโดยมิได้รับการเยียวยาอาจจะเกิดกลุ่มอาการ DESNOS ย่อมาจาก Disorder of Extreme Stress Not Otherwise Specified ซึ่งยังมิได้รับการบรรจุเป็นการวินิจฉัยหลัก มีอาการหลักๆ สองข้อ คือไม่สามารถรักษาสมดุลของจิตใจและอารมณ์ในตนเอง เกิดภาวะ dissociation คือการแตกแยกของจิตใจและอารมณ์เป็นช่วงๆ แต่ที่สำคัญกว่าคือทำให้สูญเสียความสามารถในการตีความอันตรายจากสิ่งแวดล้อม ไม่สามารถรู้ได้ว่าใครหรืออะไรที่กำลังเป็นอันตรายต่อตนเอง

ทั้งหมดที่เขียนมานี้เพื่อให้สังคมรับทราบถึงอันตรายที่เรามองไม่เห็นด้วยตาเปล่าและไม่เห็นในวันนี้ที่อาจจะเกิดกับเด็กๆ ความผิดที่ทำนี้เป็นความผิดร้ายแรง มิใช่เฉพาะเรื่องการทำร้ายเด็กเล็กในโรงเรียน (ซึ่งควรได้รับการยกระดับเป็นความร้ายแรงสูงสุด) แต่รวมถึงการทำร้ายนักเรียนวัยรุ่น ไปจนถึงการล่วงละเมิดนักศึกษาหญิงโดยอ้างกระบวนการทางกฎหมายที่ไม่สมเหตุผลด้วย

คุณพ่อคุณแม่ควรทำอะไร? ควรพาลูกของเราไปพบจิตแพทย์เด็กโดยเร็วเพื่อเข้าสู่กระบวนการรักษาด้วยตนเอง ไม่ควรรอหน่วยงานใดๆ ให้เอิกเกริกหรือเป็นข่าว ซึ่งจะไม่เป็นผลดีต่อลูกของเรา

หากไม่มีเงินควรไปที่โรงพยาบาลรัฐใกล้บ้านที่มีจิตแพทย์เด็ก นักจิตวิทยาคลินิก และเครื่องมือทดสอบทางจิตวิทยาที่ได้มาตรฐาน เพื่อการตรวจรักษาและบรรเทาผลกระทบโดยเร็ว ลำพังการพบนักจิตวิทยาคลินิกและการผ่านเครื่องทดสอบที่ได้มาตรฐานก็เป็นการบำบัดที่ดีมากและช่วยเหลือเด็กๆ ได้มากมายครับ   

หากมีเงินอย่ารีรอที่จะไปโรงพยาบาลเอกชนที่มีจิตแพทย์เด็ก นักจิตวิทยาคลินิก และเครื่องมือทดสอบทางจิตวิทยาที่ได้มาตรฐานเช่นกัน

การไปพบครั้งนี้ควรเป็นเรื่องส่วนตัวของครอบครัวของเรา ไม่มีความจำเป็นต้องเป็นข่าวหรือบอกใคร ให้เรื่องนี้เป็นความลับระหว่างเราและคุณหมอก็พอ ควรเลือกโรงพยาบาลที่ใส่ใจและแคร์เรื่องการปกปิดความลับผู้ป่วยของลูกเราอย่างดีที่สุด

อย่ามัวรอหน่วยราชการ และอย่ามัวเสียเวลากับการเอาผิดผู้กระทำผิด เรื่องหลังเป็นหน้าที่ของผู้ที่มีหน้าที่ซึ่งจะว่าไปก็คาดหวังผลลัพธ์ได้ไม่มาก

Save our child first!

MOST READ

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

Social Issues

21 Nov 2018

เมื่อโรคซึมเศร้าทำให้อยากจากไป

เรื่องราวการรับมือกับความคิด ‘อยากตาย’ ผ่านประสบการณ์ของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า คนเคียงข้าง และบทความจากจิตแพทย์

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์

21 Nov 2018

Social Issues

22 Oct 2018

มิตรภาพยืนยาว แค้นคิดสั้น

จากชาวแก๊งค์สู่คู่อาฆาต ก่อนความแค้นมลายหายกลายเป็นมิตรภาพ คนหนุ่มเลือดร้อนผ่านอดีตระทมมาแบบไหน ‘บ้านกาญจนาฯ’ เปลี่ยนประตูที่เข้าใกล้ความตายให้เป็นประตูสู่ชีวิตที่ดีกว่าได้อย่างไร

ธิติ มีแต้ม

22 Oct 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save