fbpx
เปิดใจนักเจรจาม็อบ พ.ต.อ.อรรถวิทย์ สายสืบ “น้ำในกาที่กำลังเดือด ถ้าไม่เปิดออกมันจะระเบิด”

เปิดใจนักเจรจาม็อบ พ.ต.อ.อรรถวิทย์ สายสืบ “น้ำในกาที่กำลังเดือด ถ้าไม่เปิดออกมันจะระเบิด”

ธิติ มีแต้ม เรื่องและภาพ

 

ถ้าไล่เรียงย้อนหลังไปก่อนรัฐประหาร 2557 จะพบว่าการชุมนุมใหญ่ที่มีวาระขับไล่รัฐบาล แทบไม่มีครั้งไหนไม่มีการบาดเจ็บสูญเสีย

นับช่วงประวัติศาสตร์ระยะใกล้ ม็อบพันธมิตรฯ มีบาดเจ็บล้มตายทั้งสองฝ่ายไหม มีแน่นอน, ม็อบคนเสื้อแดงนั้นยิ่งชัดเจน และม็อบ กปปส. ก็ไม่ต่างกัน

เจ็บ-ตายด้วยกันทุกฝ่าย

แต่เมื่อนักศึกษาออกมาชูสามนิ้วไล่รัฐบาลทหาร กลับต่างออกไป อย่างน้อยก็ก่อน 14 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา ยังไม่มีการนองเลือด และต่างก็หวังว่าวันข้างหน้าจะไม่มี

จากคืน ’19 กันยา ทวงอำนาจคืนราษฎร’ ถึงเช้าวันที่ 20 กันยาฯ ม็อบประชาชน-คนรุ่นใหม่ประกาศบุกไปยื่นข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ที่ทำเนียบองคมนตรี

แต่เพราะที่แห่งนั้นอยู่ใกล้เขตพระราชวัง เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนจึงตรึงกำลังหนาแน่น ประกบหลังด้วยรถเมล์จอดขวางถนนอีกหลายสิบคัน เพื่อเลี่ยงการปะทะสูญเสีย

สุดท้ายจดหมายเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์จากมือนักศึกษาก็ยื่นผ่านผู้บัญชาการตำรวจนครบาลแทน

หนึ่งในคนที่ถอนหายใจเฮือกใหญ่ เพราะโล่งใจที่เหตุการณ์ผ่านพ้น ไร้การปะทะ คือ พ.ต.อ.อรรถวิทย์ สายสืบ รองผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1 (บก.น.1) ผู้รับผิดชอบหลักในการดูแลแลนด์มาร์กทางการเมือง ตั้งแต่สนามหลวง อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ยาวไปทั้งถนนราชดำเนิน และควบคุมการชุมนุมให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย

เขาเดินยิ้มกว้างโผเข้าไปหาโตโต้ ปิยรัฐ จงเทพ หัวหน้าทีมการ์ดอาสา (we volunteer) และขอจับมือพร้อมกับขอปลอกแขนสีเขียวสัญลักษณ์ we volunteer จากโตโต้เพื่อเก็บไว้เป็นที่ระลึก

นี่ย่อมเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ระลอกใหม่แห่งการขับไล่เผด็จการปี 2563 ว่าคู่ขัดแย้งเคยจับมือตบบ่าให้กำลังใจกันและกัน

 

พ.ต.อ.อรรถวิทย์ สายสืบ รองผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1 (บก.น.1) และ ปิยรัฐ จงเทพ
ภาพจาก ปิยรัฐ จงเทพ

 

101 เปิดใจ พ.ต.อ.อรรถวิทย์ ในฐานะเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงที่เกาะติดการชุมนุม ทำหน้าที่เจรจาแกนนำม็อบทุกขั้วการเมืองมาตั้งแต่ปี 2555 จนถูกแซวจากผู้บังคับบัญชาว่าเขาเป็นพวกเดียวกับม็อบ!

นายตำรวจนครบาลทำความเข้าใจและเตรียมรับมือคนรุ่นใหม่อย่างไร ในวันที่เสียง “ให้มันจบที่รุ่นเรา” กำลังระงมไปทั่วแผ่นดิน

 

ด่านหน้า

 

เวลาเจอม็อบต้องไม่โกรธ เราถูกฝึกมาให้พร้อมเสมอ ค่อยๆ ทำไปทีละสเต็ป ตอนม็อบ กปปส. ผมคุมกำลังปะทะกับผู้ชุมนุมโดยตรง เราทำหน้าที่ในการรักษาแนวไว้ไม่ให้ผู้ชุมนุมเข้ามายึดสถานที่ราชการ ถ้าเข้ามาใกล้เกินไป เราก็ยิงแก๊สน้ำตาเพื่อให้เขาถอยไป ผมจำได้ว่ายิงจนจำแม่นว่ายิงระยะไหน กระป๋องแก๊สจะไปตกตรงไหน แต่ กปปส. ก็จบด้วยดี ตอนหลังเคลียร์กันได้ แต่หน้างานก็เอากันบ้างตามสภาพ

ช่วงหลังรัฐประหาร ส่วนใหญ่เจอม็อบชาวบ้านที่เดือดร้อนเรื่องปากท้อง คนกลุ่มนี้รัฐบาลต้องเข้าไปช่วยแก้ไข เพราะเขามาร้องกันถึงที่ ซึ่งธรรมชาติของการเรียกร้อง ถ้าเขามาเงียบๆ ไม่หวือหวา ก็ไม่ค่อยได้รับความสนใจจากสื่อ เขาต้องมีปิดประตูทางเข้าทำเนียบบ้าง อดข้าวกดดันบ้าง พวกนี้มีหลักการอหิงสา นั่งนิ่งๆ ขวางไว้

 

ม็อบชาวบ้าน

 

ลักษณะของกลุ่มนี้ดื้อเป็นพิเศษ เขาจะบอกเราว่า “ผมขอนั่งอยู่ตรงนี้ไม่ไปไหนหรอก” แต่จริงๆ ตรงที่นั่งนั้นคือทางเข้าออกไง ผู้บริหารก็ต้องผ่าน เขาก็กินนอนกดดันอยู่ตรงนั้นเลย

หน้าที่ผมคือไปเจรจา ประสานเอาผู้บริหารที่รับผิดชอบโดยตรงมาจัดโต๊ะเจรจา คุยจบบ้าง ไม่จบบ้าง บางทีพอม็อบเลิก เราต้องหารถส่งชาวบ้านกลับภูมิลำเนาด้วย

 

ปะทะง่ายกว่าเจรจา

 

ใช่ แต่เราไม่อยากให้จบแบบเจ็บตัวกัน ถ้าคุยกันได้ก็ควรคุย

การเจรจาส่วนใหญ่มีแนวทางอยู่แล้วว่าข้อเรียกร้องเป็นอย่างไร ยกตัวอย่างล่าสุดที่สนามหลวงวันที่ 19 กันยายน นักศึกษาบอกว่าจะมีเซอร์ไพรส์ จะเดินมาทำเนียบรัฐบาล ทางการข่าวก็ประเมินว่าถ้าเดินมาแค่ทำเนียบ มายื่นหนังสือ ก็ไม่รุนแรง ไม่กระทบต่อความมั่นคง แต่เขากลัววาระแฝงว่าอาจจะเลยทะลุไปถึงลานพระบรมรูปทรงม้า ซึ่งเป็นเขตพระราชฐาน ตรงนี้เป็นหน้าที่หลักของเราที่ต้องถวายความปลอดภัย ฝ่ายความมั่นคงก็ตีเป็นกรณีฉุกเฉิน บล็อกไว้ตามแยกต่างๆ นี่คือความพร้อมในการรับมือของเจ้าหน้าที่

 

พ.ต.อ.อรรถวิทย์ สายสืบ
ภาพจาก พ.ต.อ.อรรถวิทย์ สายสืบ

 

บทเรียน 19 กันยายน 2563

 

วันนั้นเราเชื่อว่าม็อบพีกสุดตอนกลางคืน คนมากที่สุด ตัวเลขผู้ชุมนุมก็มองต่างกัน ฝ่ายม็อบบอกว่าตัวเองถึงแสนคน แต่ฝ่ายมั่นคงก็ว่าสามหมื่นคนไม่เกินนี้ พอตอนเช้าส่วนที่กลับบ้านไปก็มี

แต่ที่จะไปทำเนียบองคมนตรี เราไม่ได้คิดช็อตนี้เผื่อไว้เลย คิดไว้แค่ทำเนียบรัฐบาลกับลานพระบรมรูปฯ แต่ว่าเรามีแนวระวังป้องกันตรงหน้าศาลหลักเมืองไว้แล้ว เพราะเป็นระยะ 150 เมตร เขตห้ามชุมนุม

ส่วนตรงสะพานมัฆวานฯ เรามีแบริเออร์ ลวดหนาม รถฉีดน้ำ ตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ เราต้องเตรียมอุปกรณ์ไว้รองรับอยู่แล้ว ในทางการข่าวว่าคนมากน้อยแค่ไหน สันติบาลที่อยู่ตามจังหวัดต่างๆ เขาก็หาข่าวไปว่ามากี่คน รถตู้กี่คัน เรื่องพวกนี้หาข่าวได้

 

คลุกคลีกับนักศึกษา

 

ผมเจอพวกเด็กๆ มาตั้งแต่หลังรัฐประหาร ตอนนั้นโรม (รังสิมันต์ โรม) ยังไม่ได้เป็น ส.ส. จ่านิว (สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์) และอีกหลายคนยังเป็นนักศึกษาอยู่เลย

เจตนาของผมคือให้เขาได้ทำตามที่เรียกร้อง โดยไม่ต้องปะทะกัน ไม่ต้องมีการสูญเสีย อยากยื่นหนังสือก็ให้ยื่น พยายามทำให้จบโดยเร็ว จนบางครั้งผู้บังคับบัญชาอาจจะมองว่าผมไปยอมเด็กมากเกินไป

จริงๆ ไม่หรอก ผมมักคุยกับพวกเขาว่าพวกเอ็งมาชุมนุมตรงนี้ ภาพข่าวมันออกไปแล้ว ออกข่าวก็ไม่กี่นาที ทำไมต้องยืดเยื้อด้วยล่ะ หน้าข่าวก็ได้ไปแล้ว บางทีก็พูดกันตรงๆ เอ็งไปยื่น แล้วเย้วๆ แค่สิบนาทีพอนะ ไม่เดือดร้อน เอ็งได้ภาพ พี่ก็ไม่ต้องปะทะกับเอ็ง

ผมคิดว่าควรให้คนได้หายใจแป๊บนึง แต่ถ้าเราบอกว่าไม่ได้ มันจะยืดเยื้อและคุมยาก

เหมือนในห้องเรียน เด็กๆ อยากจะโผล่หน้าออกมาที่หน้าต่าง ถ้าเราบอกไม่ให้ไป มันก็อยู่ตรงนั้นไม่เลิก แต่ถ้าเราบอกว่าโอเคไปเลย โผล่ไปแป๊บเดียวแล้วกลับมานะ เดี๋ยวเขาก็กลับมา เจตนาของเราคือไม่อยากให้ยืดเยื้อ

 

ถอดชุด เปลือยใจ

 

ผมคิดว่าด้วยความที่เราเป็นคนไทย เป็นคนโอบอ้อมอารี บางทีก็เห็นว่าคนพวกนี้เขาเดือดร้อนจริงๆ หลายคนถูกกลั่นแกล้ง ทำให้เรารู้สึกว่าต้องช่วยเขา แต่ว่าในฐานะที่ต้องคุมพื้นที่สาธารณะ สถานที่ราชการ ผู้ชุมนุมจะเข้าไปไม่ได้ เราก็ต้องทำไปตามหน้าที่

ยังไม่นับว่าแต่ละครั้งต้องมีค่าใช้จ่าย สมมติตำรวจมา 1 กองร้อย 150 คน สั่งข้าวไปหนึ่งมื้อกลางวัน 200 กล่อง ถ้าเกิดยืดเยื้อถึงเย็น เราก็ต้องสั่งอีก 200 กล่อง เพราะฉะนั้นต้องทำยังไงให้มันจบเร็วโดยที่ไม่ต้องมาแบกภาระค่าข้าวค่าน้ำอีก บางทีเราก็ต้องออกไปก่อนเบิกทีหลัง

 

พ.ต.อ.อรรถวิทย์ สายสืบ, จ่านิว และอานนท์ นำภา
ภาพจาก พ.ต.อ.อรรถวิทย์ สายสืบ

 

เนื้อหาสาระจากคนรุ่นใหม่

 

ผมว่าบ้านเมืองต้องค่อยเป็นค่อยไป ทุกอย่างไม่สามารถทำให้เสร็จในวันเดียว จะทำยังไงให้คนที่คิดต่างกันคุยกันได้

เด็กๆ เขาบอกว่าต้องแก้รัฐธรรมนูญ รัฐบาลก็ต้องทำให้เขาเป็นรูปธรรมว่ารัฐบาลจริงใจ แต่ในรัฐสภา คนไปอภิปรายด่า ส.ว. ถามว่าเราโดนด่ามากๆ เราอยากจะทำงานด้วยไหมล่ะ ถ้าจะให้ยอมถอย เปลี่ยนวิธีพูดหน่อยไหม ทำงานร่วมกัน แก้ไขร่วมกันไป แต่นี่ไปด่าเขาแล้วจะให้เขาแก้ให้ก็คงยาก

 

แบ่งบทบาท

 

ตำรวจเราโตมาในโรงเรียนนายร้อยฯ จะมีนักเรียนฝ่ายปกครอง แต่ละคนมีบทบาทต่างกันไป ไอ้นี่มึงโหดไป แดกอย่างเดียว (สั่งซ่อม) ไอ้นี่มีหน้าที่ไปปลอบ บางคนมีหน้าที่สอน คนอยู่ร่วมกันมันมีร้อยพ่อพันแม่ ต้องมีวิธีทำยังไงให้สามัคคีกัน

ในทางการทำงานก็คล้ายๆ กัน พวกตำรวจสายสืบตามถ่ายรูปไป พวกฝ่ายควบคุมฝูงชนก็มีหน้าที่คุมไว้ไม่ให้ม็อบเข้ามา ส่วนผมมีหน้าที่คุย สร้างความไว้ใจกัน

ผมบอกเด็กๆ เสมอว่าถ้าเอ็งพูดไม่รู้เรื่อง พี่ไม่สามารถช่วยได้นะ มันพ้นหน้าที่พี่ไปแล้ว เขาจะเข้ามาดำเนินคดี เข้ามาจับ พี่ไม่มีส่วนรับผิดชอบแล้วนะ เพราะเขาแบ่งหน้าที่กันทำ

 

คำเตือน

 

ผมว่าตอนนี้เด็กๆ เขาเปิดออกมาให้ดูหมดกระเป๋าแล้วนะ เรารู้แล้วว่าประเด็นเรียกร้องของเขาคืออะไร ศักยภาพการชุมนุมที่ผ่านมาไม่ได้มีอะไรน่ากังวล มันไม่ได้เปลี่ยนแปลงได้เร็วปานนั้น สังคมไทยยังมีรัฐธรรมนูญอยู่ ก็ต้องว่าไปตามนั้น

ความชอบธรรมของฝ่ายความมั่นคงคือถ้าทำผิดกฎหมาย ก็ต้องบังคับใช้กฎหมาย แค่นั้นแหละ

แต่ถ้าเป็นข้อเรียกร้องปกติ จะเรียกร้องเพื่อการเปลี่ยนแปลงหรืออะไรก็เรียกร้องไป ให้อยู่ในกรอบกฎหมาย อย่าทำผิดกฎหมายก็พอ

 

พ.ต.อ.อรรถวิทย์ สายสืบ
ภาพจาก พ.ต.อ.อรรถวิทย์ สายสืบ

 

ชุมนุมยืดเยื้อ

 

มันมีคำถามว่าเขาจะเอาทุนที่ไหนมาชุมนุม อย่างม็อบของสนธิหรือสุเทพ เขาจะล้มรัฐบาลให้ได้ เป็นม็อบที่มีการจัดตั้งชัดเจน เป็นขบวนการ แต่คนรุ่นใหม่เริ่มจากความไม่พอใจ เขาเจอความไม่ชอบธรรมทางการเมืองที่พรรคอนาคตใหม่โดนยุบไป บวกกับความพยายามสืบทอดอำนาจโดยใช้ ส.ว. ที่แต่งตั้งมา ไม่ได้มาจากประชาชน ตรงนี้เป็นจุดอ่อนเลย ถ้ารัฐบาลจะแก้ก็แก้ตรงนี้ น่าจะง่ายขึ้น ซึ่งตอนนี้ทุกคนรับรู้ว่ายังไงก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลง

เอาจริงๆ ผมไม่ได้อยากสอนม็อบนะ แต่ว่าถ้าม็อบแบบไปเช้า-เย็นกลับ ไม่เหนื่อยมาก ไม่เสี่ยงเกินไป คนที่เห็นความอยุติธรรมในสังคมก็รวมกลุ่มเฉพาะกิจเป็นครั้งคราวไป เผื่อให้คนที่เขาต้องทำมาหากินดูแลครอบครัวด้วย แบบนี้มีโอกาสได้ใจสังคมมากกว่า

จริงๆ ก็มีคนที่สู้มาตลอดที่ผมสัมผัสได้ คนที่ไม่ได้รับความยุติธรรมมาอย่างยาวนาน เช่น แม่น้องเกด (พะเยาว์ อัคฮาด) เพราะว่าเขาสูญเสียลูกสาว และเป็นคนชั้นสองที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ผมเข้าใจความสูญเสียของเขา

คนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมก็เหมือนน้ำในกาที่กำลังเดือด ถ้าไม่เปิดออกมันจะระเบิด

เราต้องปล่อยให้เขาเรียกร้องบ้าง ให้เขาแสดงออกเพื่อให้สังคมรับรู้ อย่าไปปิดกั้นเขา และผมว่าบ้านเมืองเราคงจะมีคนเรียกร้องต่อไป ตราบใดที่บ้านเรายังไม่เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

 

ฝันของนักเจรจา

 

ตามความคิดผม ถ้าแต่ละคนไม่เอาประโยชน์ของตัวเองเป็นที่ตั้ง แต่คิดถึงส่วนรวมมากๆ ปัญหาบ้านเมืองเราน่าจะแก้ง่ายกว่านี้ แล้วผู้ใหญ่ก็ต้องรู้จักปรับตัว รู้จักฟังเด็กๆ บ้าง

สมมติว่าอยู่ด้วยกันในบ้าน พ่อเราอาจจะดุมากเลย แต่ถ้าปรับจูนกัน บอกพ่อว่าอย่าดุมาก แม่อาจจะออกนอกบ้านบ่อย เราบอกแม่อย่าเพิ่งออกบ้านบ่อยได้ไหม งานสังคมลดได้ไหม คุยกันด้วยเหตุผล ครอบครัวก็จะดีขึ้น ผมว่าเด็กทุกวันนี้เป็นคนมีเหตุผล คุยได้ รับฟังได้

 

พ.ต.อ.อรรถวิทย์ สายสืบ

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save