fbpx
ว่าด้วยทวิตเตอร์และขบวนการ “ไร้หัว”: เหตุใดการประท้วงในโลกมีจำนวนมากขึ้นแต่ความสำเร็จน้อยลง?

ว่าด้วยทวิตเตอร์และขบวนการ “ไร้หัว”: เหตุใดการประท้วงในโลกมีจำนวนมากขึ้นแต่ความสำเร็จน้อยลง?

จันจิรา สมบัติพูนศิริ เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

PrachathipaType ฟอนต์

 

 

ข้าพเจ้าเคยเขียนไว้ในบทความก่อนหน้านี้สองสามชิ้นว่าด้วยแนวโน้มการประท้วงที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะในช่วงปีที่แล้ว เกิดการประท้วงต้านรัฐบาลทั้งที่เป็นและไม่เป็นประชาธิปไตยใน 114 ประเทศ แม้แต่ในช่วงเวลาที่โควิดระบาด ผู้คนก็ยังประท้วงอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือนเมษายนเพียงเดือนเดียว เกิดการประท้วงในโลกแล้วถึง 405 เหตุการณ์

กระนั้นก็ดี เราจำเป็นต้องแยกระหว่าง ‘การเกิดขึ้น’ (occurrence) ของเหตุการณ์ประท้วงกับ ‘ความสำเร็จ’ (achievement) ของการประท้วง กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ การปรากฏขึ้นของประท้วงมิได้หมายความว่าจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงดังที่ผู้ชุมนุมต้องการเสมอไป

ในบทความชิ้นล่าสุด ‘อนาคตของการต่อต้านด้วยสันติวิธี‘ (‘The Future of Nonviolent Resistance’) Erica Chenoweth ศึกษาข้อมูลแคมเปญต่อสู้ภาคประชาชนเพื่อเปลี่ยนแปลงระบอบการเมืองไปสู่ประชาธิปไตย และต้านการรุกรานทางทหารจากต่างชาติ ตั้งแต่ปี 1900 ถึง 2019 จำนวนทั้งสิ้น 628 แคมเปญ เธอพบว่าตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1980 เป็นต้นมา ขบวนการต่อสู้ทั่วโลกหันมาใช้ปฎิบัติการสันติวิธีมากกว่าใช้ยุทธวิธีรุนแรง ความถี่ของแคมเปญสันติวิธีพีคสูงสุดในช่วงปี 2010-2019 โดยผู้คนเลือกใช้สันติวิธีมากกว่าร้อยละ 90 เมื่อเทียบกับยุทธวิธีรุนแรงซึ่งปรากฏไม่ถึงร้อยละ 20

 

สถิติการเกิดขึ้นของแคมเปญสันติวิธีเมื่อเทียบกับแคมเปญที่ใช้ยุทธวิธีรุนแรง ตั้งแต่ปี 1900-2019 (ที่มา: Erica Chenoweth, “The Future of Nonviolent Resistance,” Journal of Democracy 31(3) (2020): 71)
สถิติการเกิดขึ้นของแคมเปญสันติวิธีเมื่อเทียบกับแคมเปญที่ใช้ยุทธวิธีรุนแรง ตั้งแต่ปี 1900-2019 (ที่มา: Erica Chenoweth, “The Future of Nonviolent Resistance,” Journal of Democracy 31(3) (2020): 71)

 

อย่างไรก็ดี ตามที่เกริ่นไปก่อนหน้านี้ ความถี่ไม่เท่ากับความสำเร็จ Chenoweth พบว่าในช่วงทศวรรษ 1960 ถึง 2010 ขบวนการต่อสู้ที่ใช้สันติวิธีประสบความสำเร็จสูงสุดเมื่อเทียบกับทศวรรษก่อนหน้านี้ โดยระดับความสำเร็จอยู่ประมาณร้อยละ 40 และช่วงที่พีคที่สุดคือทศวรรษที่ 1990 โดยแคมเปญสันติวิธีประสบความสำเร็จมากถึงร้อยละ 65 ซึ่งมากกว่าแคมเปญต่อสู้โดยใช้ยุทธวิธีรุนแรงที่บรรลุเป้าหมายเพียงร้อยละ 23

ทว่าตั้งแต่ช่วงปี 2011 เป็นต้นมา ระดับความสำเร็จของแคมเปญสันติวิธีลดลง โดยตกถึงจุดต่ำสุดในปี 2019 เหลือร้อยละ 34 ขณะเดียวกันความสำเร็จจากการต่อสู้ด้วยยุทธวิธีรุนแรงก็ลดลงด้วยเหลือเพียงร้อยละ 8 เท่านั้น

 

อัตราการประสบความสำเร็จของแคมเปญสันติวิธีและแคปเปญที่ใช้ยุทธวิธีรุนแรง (ที่มา: Erica Chenoweth, “The Future of Nonviolent Resistance,” Journal of Democracy 31(3) (2020): 75)
อัตราการประสบความสำเร็จของแคมเปญสันติวิธีและแคปเปญที่ใช้ยุทธวิธีรุนแรง (ที่มา: Erica Chenoweth, “The Future of Nonviolent Resistance,” Journal of Democracy 31(3) (2020): 75)

 

ปัจจัยต่อระดับความสำเร็จที่ลดลงเรื่อยๆ แบ่งได้เป็นสองกลุ่มคือ ปัจจัยเชิงโครงสร้าง ซึ่งอยู่นอกเหนือการควบคุมของขบวนการเคลื่อนไหว และปัจจัยจาก ‘ผู้กระทำการ’ (agency) ซึ่งมาจากยุทธศาสตร์และรูปแบบขบวนการเคลื่อนไหว

ปัจจัยเชิงโครงสร้างมาจากทั้งบริบทการเมืองภายในและภายนอก กล่าวคือ ระบอบอำนาจนิยมในหลายที่ทั่วโลกเริ่มปรับตัว และมีอัตราการรอดจากการต่อต้านของประชาชนสูงขึ้น วิธีปรับตัวมีตั้งแต่เปลี่ยนมาตรการปราบปรามผู้เห็นต่างจากตีหัวหรือยิงกันซึ่งๆ หน้ามาเป็นมาตรการเชิงกฎหมาย เน้นการสร้างภาระแก่ขบวนการเคลื่อนไหว ทำให้การเคลื่อนเชิงยุทธศาสตร์ขาดประสิทธิภาพ รวมถึงการควบคุมและกำกับข้อมูลข่าวสารให้สร้างความชอบธรรมแก่ผู้นำอำนาจนิยม ขณะเดียวกันก็ทำลายภาพลักษณ์ของขบวนการเคลื่อนไหวว่าเป็นพวก ‘ชังชาติ’ หรือถูกจูงจมูกโดยมหาอำนาจต่างชาติ เป็นต้น นอกจากนี้ ระบอบยังแทรกซึมคนของตัวเองเข้าไปในขบวนการเพื่อสร้างความแตกแยก และยุยงให้กลุ่มย่อยภายในขบวนการหันมาใช้ยุทธวิธีจลาจลมากกว่าจะยึดมั่นในสันติวิธี

ปัจจัยเชิงโครงสร้างที่เป็นอุปสรรคต่อขบวนการต่อสู้ยังรวมถึงบริบทการเมืองโลก โดยเฉพาะสหรัฐฯ ซึ่งเคยมีบทบาทในฐานะมหาอำนาจที่ส่งเสริมระเบียบโลกแบบเสรีนิยม ตกอยู่ในภาวะขาลงตั้งแต่การบุกอิรักในปี 2003 เป็นต้นมา และตกต่ำอย่างหนักภายใต้การบริหารของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ตั้งแต่ปี 2016 ขณะเดียวกันมหาอำนาจที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยอย่างจีนและรัสเซียก็แผ่อิทธิพลในโลกมากขึ้น โดยสามารถกันมิให้ประเทศซึ่งอยู่ในเขตอิทธิพล (sphere of influence) ของตนเปลี่ยนไปสู่ประชาธิปไตยได้ ดังที่เกิดในกรณีฮ่องกง และเบลารุสขณะนี้

แม้ว่า Chenoweth จะมองว่าปัจจัยเชิงภายนอกเหล่านี้สำคัญ แต่ก็ไม่มีบทบาทมากเท่ากับปัจจัยภายใน ซึ่งคือการเปลี่ยนรูปแบบขบวนการต่อสู้ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมีหลายประการ เช่นจำนวนผู้เข้าร่วมแคมเปญต่อสู้ อันเป็นปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จของขบวนการมีจำนวนลดน้อยลง อย่างในช่วงทศวรรษที่ 1990 จำนวนผู้เข้าร่วมแคมเปญสันติวิธีที่นับว่าบรรลุเป้าหมายคิดเป็นร้อยละ 2.7 จากจำนวนประชากรในประเทศทั้งหมด ทว่าในช่วงทศวรรษ 2010 สัดส่วนนี้ลงเหลือเพียงร้อย 1.3 ซึ่งสอดคล้องกับการที่ขบวนการต่อสู้บรรลุเป้าหมายยากขึ้น

ประการถัดมาคือเรื่องยุทธิวิธีเคลื่อนไหวที่มุ่งไปยังการประท้วงบนท้องถนนอย่างเดียว ส่งผลให้ความหลากหลายของวิธีการต่อสู้ด้วยสันติวิธีมีอยู่จำกัด เช่นในสมัยหนึ่ง ขบวนการแรงงานใช้การประท้วงหยุดงานควบคู่กับการชุมนุมบนท้องถนน หรือการต่อสู้ของชาวแอฟริกันอเมริกันในสหรัฐฯ ช่วงทศวรรษที่ 1970 ใช้การ sit-in หรือนั่งในที่ที่กฎหมายไม่อนุญาตให้คนผิวสีนั่งควบคู่กับการเดินขบวน เป็นต้น

Chenoweth ชี้ว่าการประท้วงบนท้องถนนกลายเป็นทางเลือกหลักตอนนี้เพราะจัดการได้ง่ายและเร็วกว่าสันติวิธีรูปแบบอื่นๆ กระนั้นก็ดีการลงถนนไม่ใช่วิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุด เพราะไม่อาจสร้างแรงกดดันต่อชนชั้นนำอย่างหนักหน่วงและยาวนานได้ (อย่างถ้าลงถนนบ่อยๆ คนจะเริ่มน้อยลงเรื่อยๆ เพราะไม่แน่ใจว่าต้องสู้ถึงเมื่อไหร่)

การเน้นแนวทางลงถนนอย่างเดียวเชื่อมโยงกับการใช้สื่อโซเชียลเป็นหลักในการเคลื่อนไหว เฟซบุ๊กหรือทวิตเตอร์สามารถกระจายข่าวว่าจะเกิดการรวมตัวที่ใดที่หนึ่งได้อย่างรวดเร็วภายในเวลาอันสั้น ทั้งยังเข้าถึงคนได้จำนวนมาก

ทว่าการพึ่งสื่อโซเชียลมากไปก็ส่งผลทางลบได้เช่นกัน เช่น ผู้จัดกิจกรรมขาดประสบการณ์ในการทำงานร่วมกันกับเครือข่ายที่หลากหลาย ขาดประสบการในการสื่อสาร ต่อรอง และเรียนรู้ที่จะจัดการความขัดแย้งภายในขบวนการเคลื่อนไหวโดยมิให้เป็นอุปสรรคต่อการเคลื่อนไหวร่วมกัน รวมถึงยังไม่สามารถก่อฐานของขบวนการเคลื่อนไหวให้มั่นคงและต่อสู้ในระยะยาวได้ ยิ่งไปกว่านั้น โซเชียลมีเดียยังสร้างภาวะ ‘คุยกับคนที่เห็นด้วยกับเราแล้ว’ เพราะโซเชียลมีเดียทำงานผ่านอัลกอริธึม ซึ่งคัดกรองกลุ่มคนที่เห็นคล้ายๆ กันให้มาอยู่ในวังวนเดียวกัน บางครั้ง นักกิจกรรมก็ฟังความเห็นในชุมชนโซเชียลฯ ของตัวเองและคิดไปว่าคนส่วนใหญ่ในประเทศคิดเหมือนเรา จึงไม่พยายามสื่อสารกับกลุ่มคนอื่นที่คิดต่างจากขบวนการแต่มิได้อยู่ฝ่ายตรงข้าม และใช้ชุดภาษาคนละชุด

ลักษณะเช่นนี้ทำให้ขบวนการไม่อาจขยายเครือข่ายผู้สนับสนุนไปยังกลุ่มคนในสังคมที่หลากหลายได้ โดยเฉพาะกลุ่มผู้สนับสนุนรัฐบาลหรือระบอบที่ขบวนการต้องการเปลี่ยนแปลง

หากการขยายเครือข่ายสนับสนุนขบวนการให้กว้างและหลากหลายเป็นปัจจัยหลักต่อความสำเร็จของการต่อสู้ด้วยสันติวิธี ขบวนการที่สูญเสียศักยภาพนี้ไปย่อมยากที่จะบรรลุเป้าหมายแห่งการเปลี่ยนแปลงได้ ในประเด็นนี้ นักวิชาการด้านสื่อโซเชียลและขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชนอย่าง Zeynep Tufekci ได้อภิปรายไว้อย่างละเอียดในหนังสือ Twitter and Tear Gas: The Power and Fragility of Networked Protest

ปัญหาของการพึ่งพาโซเชียลมีเดียยังสอดคล้องกับความท้าทายประการสุดท้าย คือรูปแบบองค์กรต่อสู้ด้วยสันติวิธีที่เปลี่ยนไป จากที่มีโครงสร้างชัดเจน มีแกนนำ กลายเป็นขบวนการไร้หัว (leaderless movement)

ข้อดีของรูปแบบองค์กรเช่นนี้คือ สามารถโอบรับกลุ่มกิจกรรมต่างๆ ที่มีวาระการต่อสู้ของตัวเองให้เข้ามารวมกันภายใต้เครือข่ายหลวมๆ  ได้ โดยที่แต่ละกลุ่มยังคงอิสรภาพและวิธีการในการดำเนินกิจกรรมของตนเอง อีกทั้งเปิดให้ ‘กระบวนการต่อสู้’ (process) ขึ้นมามีความสำคัญกว่าเป้าหมาย กล่าวคือ เป็นการเคลื่อนไหวที่เป็นประชาธิปไตยในตัวเอง โดยที่ทุกกลุ่มในเครือข่ายมีสถานะเท่าเทียมกัน ต้องปรึกษาหารือและได้รับฉันทามติถึงจะตัดสินใจเคลื่อนได้

ฉะนั้น จึงไม่สำคัญว่ากระบวนการนี้จะสร้างอุปสรรคต่อการบรรลุเป้าหมายหรือไม่ (เช่น การใช้การตัดสินใจแบบฉันทามติทำให้หาข้อตกลงร่วมกันได้ยาก หรือไม่ได้เลย อย่างในกรณีของ Occupy Wall Street ในสหรัฐฯ ช่วงปี 2010-2011 ซึ่งแผ่วลง เพราะท้ายที่สุดตกลงกันไม่ได้ว่าข้อเรียกร้องร่วมกันของกลุ่มต่างๆ คืออะไร) พูดอย่างยากคือ แนวทางเช่นนี้ดำเนินรอยตามการเมืองแบบ prefigurative ซึ่งได้รับอิทธิพลจากนักวิชาการอย่าง Michael Hardt และ Antonio Negri และถูกวิพากษ์มากขึ้นในช่วงหลังว่าเป็นปัจจัยแห่งความล้มเหลวของขบวนการเคลื่อนไหวแนบระนาบหลายที่

บทความชิ้นนี้ของ Chenoweth ช่วยส่องพลวัตขบวนการประท้วงในไทยตอนนี้ได้เป็นอย่างดีว่ามีอะไรที่เหมือนหรือต่างจากบทวิเคราะห์นี้หรือไม่ และจะทำอย่างไรเพื่อรับมือกับอุปสรรคอันเกิดจากการรูปแบบการเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคมแบบใหม่ในช่วงเวลาที่ยังจัดการได้ เพื่อให้การต่อสู้ครั้งนี้บรรลุเป้าหมายในการสร้างฐานประชาธิปไตยในสังคมไทย

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save