fbpx
ความสำเร็จของนิวยอร์กไทมส์ ข่าวร้ายของวงการสื่อ?

ความสำเร็จของนิวยอร์กไทมส์ ข่าวร้ายของวงการสื่อ?

ภัทชา ด้วงกลัด เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

เดือนสิงหาคม 2020 นิวยอร์กไทมส์ (The New York Times) สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้วงการสื่อในสหรัฐอเมริกา ด้วยผลประกอบการไตรมาส 2/2020 ที่ทำรายได้จากธุรกิจดิจิทัลสูงกว่ารายได้จากสิ่งพิมพ์เป็นครั้งแรก โดยมีรายได้จากธุรกิจดิจิทัล 185.5 ล้านเหรียญ และรายได้จากธุรกิจสิ่งพิมพ์ 175.4 ล้านเหรียญ

นี่ไม่ใช่แค่ความสำเร็จของนิวยอร์กไทมส์ในฐานะองค์กรสื่อที่เอาตัวรอดท่ามกลางดิสรัปชันได้ แต่คือหมุดหมายสำคัญที่แสดงให้เห็นว่า สื่อสิ่งพิมพ์สามารถเปลี่ยนผ่านสู่โลกดิจิทัลอย่างเต็มตัวได้สำเร็จแล้ว

‘การเปลี่ยนผ่าน’ ไม่ได้เกิดขึ้นชั่วข้ามคืน แต่เป็นผลจากความพยายามกว่าทศวรรษ ในการพลิกโฉมธุรกิจด้วยแนวคิด ‘ผู้อ่านต้องมาก่อน’ กลายเป็นโมเดลธุรกิจ ‘subscription-first’ ที่ลดการพึ่งพารายได้จากโฆษณาลง และพึ่งรายได้จากผู้อ่านโดยตรง เพื่อส่งมอบสื่อที่มีคุณภาพคืนสู่มือผู้อ่านอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม ‘ทางรอด’ ของนิวยอร์กไทมส์ อาจกลายเป็น ‘ทางร่วง’ ของสื่ออื่นโดยไม่ได้ตั้งใจ มิหนำซ้ำการได้มาซึ่ง ‘สื่อคุณภาพ’ ด้วยโมเดลธุรกิจนี้ อาจทำให้ความแข็งแรงของสถาบันสื่อในฐานะ ‘เสาหลักของประชาธิปไตย’ ของสหรัฐอเมริกากำลังสั่นคลอน

 

‘Subscription-First Journalism’ ผู้อ่านมาก่อน จากทางรอด สู่การยืนหนึ่ง

 

ในปี 2017 นิวยอร์กไทมส์ออกรายงานฉบับสำคัญ ชื่อ ‘Journalism That Stand Apart’ ประกาศทิศทางการปรับตัวทางธุรกิจ สู่การเป็นสื่อที่โดดเด่น-แตกต่าง-มีคุณภาพ เพื่อเอาตัวรอดจากวิกฤตขาลงของสื่อสิ่งพิมพ์ และความไม่แน่นอนของของรายได้จากการโฆษณาในช่วงเกือบทศวรรษที่ผ่านมา

ข้อสรุปจากรายงานฉบับนี้บอกอย่างชัดเจนว่า ทางรอดของนิวยอร์กไทมส์มีเพียงอย่างเดียว คือ การเป็นสื่อที่ให้ ผู้อ่านมาก่อนโดยใช้โมเดลธุรกิจ ‘ระบบสมาชิกนำ’ หรือ ‘subscription-first journalism’ สร้างฐานสมาชิก (subscription) ที่แข็งแกร่งให้กลายเป็นฐานรายได้ที่ยั่งยืน ในขณะเดียวกันนิวยอร์กไทมส์ก็ต้องสร้างคุณค่าใหม่บนฐาน ‘คุณภาพ’ และสร้างการมีส่วนร่วมของผู้อ่านให้ลึกและกว้างขึ้น จนกลายเป็นจุดหมายปลายทางที่ผู้อ่านขาดไม่ได้ และยอมจ่ายเงินค่าสมาชิก

ย้อนกลับไป นิวยอร์กไทมส์เริ่มนำร่องระบบสมาชิกตั้งแต่ปี 2011 ท่ามกลางเสียงบ่นระงมจากผู้อ่าน ที่เคยชินกับวัฒนธรรมการเสพสื่อฟรี (freemium) ที่ฝังรากลึกยาวนานกว่า 15 ปี แต่นี่คือโมเดลธุรกิจที่นิวยอร์กไทมส์เชื่อมั่นตั้งแต่วันแรกที่ประกาศใช้ อาเธอร์ ซัลเบอร์เกอร์ จูเนียร์ (Arthur Sulzberger Jr.) ประธานบริหารนิวยอร์กไทมส์ในขณะนั้น กล่าวว่า “นี่คือการลงทุนเพื่ออนาคต ที่จะสร้างแหล่งรายได้ใหม่ ส่งเสริมเป้าหมายการทำงานสื่อในแบบที่เราอยากเป็น และสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ระบบที่มีสมาชิกเป็นฐาน คือระบบที่ดีที่สุด และจะเป็นระบบสุดท้าย ที่เราเชื่อว่าจะสร้างคุณค่าให้กับสื่อในอนาคตได้”

หลังการออกรายงาน Journalism That Stands Apart นิวยอร์กไทมส์ปรับตัวครั้งใหญ่จนทำให้ฐานสมาชิกเติบโตอย่างแข็งแรงขึ้นเรื่อยๆ จนมาถึงปี 2019 มาร์ค ธอมป์สัน (Mark Thompson) อดีตซีอีโอของนิวยอร์กไทมส์ ซึ่งเพิ่งอำลาตำแหน่งไปเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ถึงกับประกาศกร้าวตอกย้ำแนวนี้ว่า

“เป้าหมายต่อไปของนิวยอร์กไทมส์ คือการเพิ่มยอดสมาชิกรวมให้มากกว่า 10 ล้านคน ภายในปี 2025”

มาถึงวันนี้ ผ่านมาเกือบทศวรรษหลังเริ่มใช้ระบบสมาชิก นิวยอร์กไทม์บรรลุเป้าหมายที่ธอมป์สันตั้งไว้ไปแล้วเกินครึ่งทาง ด้วยยอดสมาชิกรวม 6.5 ล้านคน โดยมียอดสมาชิกดิจิทัลอย่างเดียวถึง 5.7 ล้านคน (ณ สิ้นไตรมาส 2/2020)

แม้จะเผชิญกับวิกฤตใหญ่อย่างโควิด-19 แต่ระบบสมาชิกนำ ก็พิสูจน์ตัวเองแล้วว่า คือทางรอดและทางออกของสื่อยุคใหม่อย่างแท้จริง อันที่จริงนิวยอร์กไทมส์ได้รับผลกระทบจากการที่รายได้ฝั่งโฆษณาหายไปไม่ต่างจากสื่ออื่นๆ โดยรายได้จากการโฆษณาส่วนดิจิทัลในไตรมาส 2/2020 ลดลงไปกว่า 32% ในขณะที่รายได้โฆษณาจากส่วนธุรกิจสิ่งพิมพ์หล่นฮวบไปกว่า 55% เทียบกับปีก่อน ทำให้รายได้จากการโฆษณาทั้งหมดเหลือเพียง 67.8 ล้านเหรียญ จาก 120.8 ล้านเหรียญ หรือลดลงกว่า 44%

แต่ในขณะเดียวกัน ยอดสมาชิกดิจิทัลอย่างเดียวในไตรมาสนี้กลับเพิ่มขึ้นกว่า 669,000 คน เติบโตมากที่สุดตั้งแต่เริ่มระบบสมาชิกมาจนทำให้รายได้รายไตรมาสจากธุรกิจดิจิทัลแซงหน้ารายได้จากธุรกิจสิ่งพิมพ์เป็นครั้งแรก กลายเป็นหมุดหมายสำคัญของการเปลี่ยนแปลงของทั้งนิวยอร์กไทมส์ วงการสื่อในสหรัฐอเมริกา และวงการสื่อทั่วโลก

ในมุมหนึ่ง หมุดหมายนี้คือภาพฝันและความหวังของสื่อทั้งหลายในการอยู่รอด แต่อีกมุมหนึ่ง นี่คือหลักไมล์ที่ถ่างช่องว่างระหว่างนิวยอร์กไทมส์กับกับสื่ออื่นออกไปไกลหลายช่วงตัว หากมองจากจำนวนสมาชิก ปัจจุบันนิวยอร์กไทม์มียอดสมาชิกรวมทั้งหมดมากกว่า The Wall Street Journal The Washington Post และ Gannett ซึ่งเป็นเครือหนังสือพิมพ์ที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐอเมริกา ที่มีหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นในเครือกว่า 250 หัวรวมกันเสียอีก นั่นเป็นส่วนหนึ่งทำให้ ในปี 2019 นิวยอร์กไทมส์มีรายได้รวมกว่า 1,800 ล้านเหรียญ

ในด้านความมั่นคงและรายได้ ดูเหมือนว่า นิวยอร์กไทมส์จะกลายเป็นสื่อที่โดดเด่นและแตกต่าง (Journalism That Stand Apart) ได้แล้วในวันนี้ และกำลังยืนหนึ่งไกลห่างจากสื่ออื่นออกไปเรื่อยๆ จนยากจะตามทัน (Journalism That Stand Too Far Apart)

 

นิวยอร์กไทมส์โมเดล ทางรอดสำหรับสื่อเจ้าเดียว

 

ประสบการณ์จาก ‘นิวยอร์กไทม์โมเดล’ ที่ใช้ระบบสมาชิกนำ เป็นความหวังของสื่อทั่วโลก เพราะเป็นทางรอดของสื่อทั้งในเชิงธุรกิจ และในเชิงคุณภาพ ที่ผ่านมาคุณค่าของสื่อถูกท้าทายมาโดยตลอดจากโมเดลรายได้ที่พึ่งพิงทุนและการโฆษณาเป็นหลัก ทำให้ต้องโอนอ่อนเอาใจแหล่งทุนมากว่าผู้อ่าน แต่ระบบสมาชิกนำช่วยสร้างอิสระด้านเนื้อหา คืนความซื่อตรง และทำให้สื่อสามารถรับใช้คนอ่านได้อย่างตรงไปตรงมา เพราะมีคนอ่านเป็นทั้งผู้อุปถัมภ์และเกราะป้องกัน

คงจะดีไม่น้อยหากแต่สื่อทั้งหลายสามารถอยู่รอดได้ด้วยโมเดลนี้ แต่ในความเป็นจริง ‘นิวยอร์กไทมส์โมเดล’ อาจมีไว้ให้นิวยอร์กไทมส์เท่านั้น เพราะตลาดสื่อในปัจจุบันเป็น ตลาดที่ผู้ชนะหนึ่งเดียวเป็นผู้ครอบครองทุกอย่าง (the winner take all market)

ในปี 2019 และ 2020 สถาบันรอยเตอร์เพื่อวารสารศาสตร์ศึกษา แห่งมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด (Reuters Institute for the Study of Journalism) ศึกษากลุ่มผู้อ่านรายใหม่ที่สมัครระบบสมาชิกสื่อประเภทข่าวทั่วโลก 38 ประเทศ พบว่า ผู้อ่านส่วนใหญ่สมัครเป็นสมาชิกสื่อข่าวออนไลน์เพียง 1 เจ้าเท่านั้น

 

จำนวนองค์กรสื่อที่ผู้อ่านจ่ายค่าสมาชิกแบ่งตามรายได้ การศึกษา และความสนใจในข่าว
ที่มา: Digital News Report 2019, Reuters Institute for the Study of Journalism, University of Oxford

 

แม้แต่ในกลุ่มผู้อ่านที่มีโอกาสสมัครเป็นสมาชิกมากกว่า 1 เจ้า เช่น กลุ่มผู้อ่านรายได้สูง หรือผู้อ่านที่สนใจข่าวมากเป็นพิเศษ ก็ยังเป็นสมาชิกสื่อข่าวออนไลน์เพียงแค่ 1 เจ้าอยู่ดี ข้อค้นพบนี้สอดคล้องกับงานวิจัยโดยกูเกิล (Google) ที่พบว่า ค่าเฉลี่ยการเป็นสมาชิกสื่อประเภทข่าวออนไลน์อยู่ที่ 1 รายเท่านั้น

นั่นหมายความว่า ตลาดระบบสมาชิกสื่อข่าวออนไลน์ มีแนวโน้มที่จะเป็นตลาดแบบ zero-sum ที่มีที่ว่างให้ผู้ชนะเพียงรายเดียวเท่านั้น (one slot) โดยในสหรัฐอเมริกา ผู้ชนะที่สามารถครองที่ว่างส่วนใหญ่ได้ ก็คือนิวยอร์กไทมส์นั่นเอง

เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่า คุณภาพที่โดดเด่นและแตกต่างคือจุดแข็งที่ทำให้ผู้อ่านตัดสินเลือกนิวยอร์กไทมส์เป็นเบอร์หนึ่งได้อย่างไม่ลังเล แต่ในขณะเดียวกันการเป็น ‘สื่อใหญ่’ ที่มีทรัพยากรมากพอเพื่อผลิตเนื้อหาที่มีคุณภาพได้จำนวนมาก ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้นิวยอร์กไทมส์ได้เปรียบในการใช้ระบบสมาชิกนำยิ่งกว่าใคร

โทนี เฮล์ล (Tony Haile) ผู้ก่อตั้ง Chartbeat และซีอีโอของ Scroll ผู้ให้บริการเว็บไซต์อ่านข่าวแบบระบบสมาชิกปลอดโฆษณา ตั้งข้อสังเกตไว้ในบทความ It is possible to compete with the New York Times. Here’s how ว่า จำนวนการเป็นสมาชิกสื่อออนไลน์โดยกลุ่มผู้มีรายได้สูงในการศึกษาของรอยเตอร์ มีความสัมพันธ์ไปในทิศทางเดียวกันกับจำนวนสื่อที่เป็นที่สนใจของผู้อ่าน (attention share) กล่าวคือ ผู้อ่านที่มีรายได้สูงส่วนใหญ่เลือกเป็นสมาชิกสื่อข่าวออนไลน์เพียงเจ้าเดียว และอาจสนใจสื่อเพียงเจ้าเดียวเช่นกัน ผู้อ่านกลุ่มนี้คือกลุ่มหลักที่ยอมเสียเงินสมัครสมาชิกสื่อ ซึ่งในความเห็นของเฮล์ล สื่อที่สามารถดึงความสนใจจากผู้อ่านได้นั้นนอกจากจะต้องมีเนื้อหาคุณภาพและแตกต่าง ยังต้องผลิตเนื้อหาออกมาได้มากพออีกด้วย นี่คือบทเรียนที่ทำให้ Netflix สามารถขยายฐานสมาชิกจนสำเร็จได้

 

จำนวนองค์กรสื่อที่กลุ่มผู้อ่านมีรายได้สูงจ่ายค่าสมาชิก จำนวนเว็บไซต์สื่อที่ได้รับความสนใจจากผู้อ่านมากกว่าหรือเท่ากับ 20%
ที่มา: (ซ้าย) Digital News Report 2019, Reuters Institute for the Study of Journalism, University of Oxford (ขวา) งานศึกษาโดย Neilsen ให้แก่ Scroll lab inc.

 

ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องยากสำหรับนิวยอร์กไทมส์ซึ่งเป็น ‘สื่อใหญ่’ อยู่แล้ว ที่จะสามารถยืนหนึ่งในตลาดระบบสมาชิกได้ และเมื่อมีสมาชิกมากขึ้น ก็ยิ่งสามารถขยายการลงทุน ผลิตสื่อที่มีคุณภาพ หลากหลาย และสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ได้มากขึ้นไปอีก กลายเป็นวงจรที่ดึงดูดผู้อ่านและสร้างความได้เปรียบเหนือคู่แข่ง จนยากที่ใครจะแทนที่ได้

ในปี 2020 นิวยอร์กไทมส์มีเงินสดหมุนเวียนในมือกว่า 756.7 ล้านเหรียญ และปลอดหนี้ก้อนใหญ่ จึงพร้อมลุยขยายอาณาจักรไปยังพื้นที่สื่อใหม่ๆ เพื่อเอาชนะใจผู้อ่านอีก ล่าสุดเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา นิวยอร์กไทมส์ซื้อบริษัท Audm ผู้ให้บริการแปลงบทความออนไลน์เป็นออดิโอผ่านระบบสมาชิก ในราคา 8.6 ล้านเหรียญ และซื้อบริษัท Serial Productions ผู้ผลิต podcast ที่กำลังเป็นที่นิยม มียอดดาวน์โหลดกว่า 300 ล้านครั้ง ในราคาราว 25 ล้านเหรียญ

“ความพยายามเลียนแบบนิวยอร์กไทม์ในสนามแข่งเดียวกัน ที่มีเพียงที่ว่างสล็อตเดียว จึงเป็นกลยุทธ์ที่เหมือนการดื่มยาพิษ ให้ค่อยๆ ตายอย่างช้า” – โทนี เฮล์ล

 

ข่าวร้ายของวงการสื่อ?  

 

ในเดือนมีนาคม 2020 เบน สมิธ (Ben Smith) อดีตบรรรณาธิการบริหารและผู้ก่อตั้ง BuzzFeed News ซึ่งย้ายมาทำงานร่วมกับนิวยอร์กไทมส์เต็มตัว ได้ประเดิมผลงานชิ้นแรกในคอลัมน์ The Media Equation ด้วยบทความที่มีชื่อว่า ‘Why the Success of The New York Times May Be Bad News for Journalism’ (จนอดสงสัยไม่ได้ ว่าเขาจะได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นหรือไม่ ในวันแรกที่เข้าทำงาน) ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า เหล่าผู้บริหารนิวยอร์กไทมส์เชื่อว่า นิวยอร์กไทมส์ไม่ใช่ผู้ชนะที่ได้ทุกอย่างไป และมองว่าการรอดของบริษัทจะทำให้สื่ออื่นรอดไปด้วยกัน นอกจากนี้ผู้บริหารยังมองว่าภาวะการแข่งขันที่เป็นอยู่ ไม่ใช่การผูกขาดตลาด เพราะยังมีคู่แข่งที่มีความสามารถนอกเหนือจากองค์กรสื่อประเภทข่าวอีก ไม่ว่าจะเป็นเคเบิลทีวีหรือพอดแคสต์ (ถึงแม้นิวยอร์กไทมส์จะเพิ่งซื้อ Serials Productions ไปก็ตาม)

แต่ข่าวร้ายที่สมิธมองเห็น คือ ภูมิทัศน์สื่อที่กำลังเปลี่ยนไป จากความใหญ่ของนิวยอร์กไทมส์ด้านทรัพยากรบุคคล

ปัจจุบัน นิวยอร์กไทมส์มีนักข่าวทั้งสิ้น 1,700 คน และมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สวนทางกับแนวโน้มในอุตสาหกรรมข่าวที่มีการจ้างงานลดลงกว่าครึ่งนับตั้งแต่ปี 2008 ในช่วงวิกฤตโควิด-19 สื่อหลายเจ้าต้องเลิกจ้างและลดเงินเดือนพนักงานจำนวนมาก ในขณะที่นิวยอร์กไทมส์ประกาศเลิกจ้างพนักงานเพียง 68 คน เท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในธุรกิจโฆษณาดิจิทัลของบริษัท

 

จำนวนการจ้างงานในห้องข่าวทั้งหมดในสหรัฐอเมริกา
ที่มา: Financial Times

 

ยิ่งไปกว่านั้น นิวยอร์กไทมส์ยังกว้านซื้อตัวบรรณาธิการและนักข่าวหัวกะทิในวงการจำนวนไม่น้อย มาเสริมทัพให้ยิ่งแข็งแกร่งขึ้น ทั้งจากสื่อที่เคยวางตัวเป็นคู่แข่งอย่าง Gawker Recode Quartz Politico รวมทั้งสื่อ(เคย)ใหม่อย่าง Buzzfeed ที่เคยขับเคี่ยวสร้างนวัตกรรมข่าวรูปแบบใหม่กันมาเมื่อ 10 ปีก่อน

สมิธตั้งข้อสังเกตอย่างน่าสนใจว่า การขยายอาณาจักรและดูดกลืนคนเก่งๆ เข้ามาร่วมกันไว้ในนิวยอร์กไทมส์ อาจกำลังทำให้ ‘การแข่งขันเชิงความคิดและวัฒนธรรมของสื่อ’ ย้ายจากพื้นที่ระหว่างองค์กรสื่อด้วยกัน มาอยู่ภายในนิวยอร์กไทมส์เสียเอง

คำถามก็คือ การเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นนี้จะเป็นสัญญาณอันตรายของคุณภาพสื่อและประชาธิปไตยหรือไม่?

 

คุณค่าสื่อ – ระบบตลาด – ประชาธิปไตย

 

ในสหรัฐอเมริกา สื่อถือเป็นเสาหลักต้นที่ 4 ที่ค้ำจุนประชาธิปไตย ประชาธิปไตยต้องการสื่อที่เป็นอิสระ ทำงานบนฐานข้อเท็จจริง เป็นกระบอกเสียงให้แก่ประชาชนกลุ่มต่างๆ ที่แตกต่างหลากหลาย ช่วยตรวจสอบอำนาจรัฐ  และที่สำคัญคือให้ข้อมูลข่าวสารที่จำเป็นแก่ประชาชนอยู่เสมอ

ที่ผ่านมา โมเดลการหารายได้จากโฆษณา ถูกมองว่ามีส่วนสำคัญที่ทำให้สื่อไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างที่ควรจะเป็น เพราะเป้าหมายของการโฆษณาไม่อาจ ‘ลงรอย’ ได้อย่างสมบูรณ์กับเป้าหมายทางประชาธิปไตย ตลาดสื่อจึงกลายเป็น ‘ตลาดที่ล้มเหลว’ ในการผลิตข่าวที่เป็นประโยชน์สาธารณะ

วิกเตอร์ พิกการ์ด (Victor Pickard) ศาสตราจารย์แห่ง Annenberg School for Communication มหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย  กล่าวถึงความล้มเหลวของตลาดสื่อประเภทข่าวในสหรัฐอเมริกาไว้ว่า ระบบตลาดที่พึ่งพารายได้กว่า 80% จากการโฆษณา และมีรายได้จากผู้อ่านโดยตรงเพียง 20% ทำให้ข่าวมีฐานะเป็นเพียง ‘ตัวแถม’ ในสมการการแลกเปลี่ยน การเข้าถึงผู้อ่านกับเงินรายได้ ระหว่างสื่อกับผู้ลงโฆษณาเท่านั้น

และเมื่อย้ายจากโลกสิ่งพิมพ์ไปสู่โลกดิจิทัล ความล้มเหลวของตลาดก็ยิ่งหนักขึ้น เงินจากการโฆษณาจำนวนมากย้ายจากสื่อ ไปยังแพลตฟอร์ม เช่น Google หรือ Facebook แทน ทำให้สื่อจำนวนมากต้องปิดตัวลง หรือเผชิญกับภาวะล้มละลาย ที่เหลือรอดอยู่บ้างต้องปรับตัวเสียจนบิดเบี้ยว ยอมทำเนื้อหาล่อคลิก หรือทำลายเส้นแบ่งระหว่างข่าวกับการโฆษณาลงอย่างไร้ความรับผิดชอบต่อผู้อ่าน พื้นที่สื่อจึงเต็มไปด้วยการโฆษณาชวนเชื่อ และมีเนื้อหาที่อยู่บนข้อเท็จจริงน้อยลง

พิกการ์ดชี้ว่า คนที่เจ็บตัวและรอดยากมากกว่าใครคือ ‘สื่อท้องถิ่น’ ในสหรัฐอเมริกา สื่อท้องถิ่นมีบทบาทสำคัญมากต่อประชาธิปไตย โดยมีงานศึกษามากมายที่ชี้ให้เห็นว่าหากไม่มีสื่อท้องถิ่น ประชาชนจะมีส่วนร่วมในทางการเมืองและออกไปเลือกตั้งน้อยลง ยิ่งไปกว่านั้นสื่อท้องถิ่นยังมีบทบาทอย่างยิ่งในยามวิกฤต เช่นการระบาดของโควิด-19 จากการสำรวจของ Pew Research Center เมื่อเดือนเมษายน 2020 พบว่า ชาวอเมริกัน 61% ติดตามข่าวโควิด-19 ผ่านสื่อระดับประเทศและสื่อท้องถิ่นพอๆ กัน โดย 23% บอกว่าพวกเขาสนใจสื่อท้องถิ่นมากกว่าสื่อระดับประเทศ และ 46% ใช้สื่อท้องถิ่นเป็นสื่อหลักในการติดตามข่าวเรื่องนี้

แต่ทุกวันนี้ สื่อท้องถิ่นของสหรัฐอเมริกากำลังอยู่ในภาวะโคม่าทางการเงินอย่างหนัก แต่ก็ยังต้องยืนหยัดทำหน้าที่อย่างไม่ลดละ ตัวอย่างเช่น The Minneapolis Star Tribune หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นที่อยู่ในพื้นที่ใจกลางการประท้วงการเสียชีวิตของ George Floyd ซึ่งนำมาสู่การรณรงค์ Black Lives Matter ได้รายงานข่าวอย่างเกาะติด จนนักข่าวถูกข่มขู่ ถูกยิงด้วยแก๊สน้ำตาและกระสุนยาง แต่ภายหลังต้องยอมลดชั่วโมงการทำงานลงเพื่อลดต้นทุน เนื่องจากรายได้จากการโฆษณาลดลงกว่า 40% หลังเกิดวิกฤต

สื่อท้องถิ่นหลายเจ้าเคยคิดว่า ‘นิวยอร์กไทมส์โมเดล’ จะเป็นคำตอบ แต่แทบไม่มีสื่อท้องถิ่นใดสามารถอยู่รอดได้ด้วยโมเดลธุรกิจนี้ เพราะด้วยตลาดที่มีที่ว่างเพียงสล็อตเดียว สื่อท้องถิ่นจึงไม่สามารถเลี่ยงที่จะแข่งกับนิวยอร์กไทมส์โดยตรงได้ และถึงแม้จะมีเนื้อหาท้องถิ่นที่แตกต่างจากนิวยอร์กไทมส์ แต่การมีฐานผู้อ่านที่แคบกว่า ทำให้ต้นทุนเฉลี่ยสูงกว่านิวยอร์กไทมส์หลายเท่า และทำให้ค่าสมาชิกของสื่อท้องถิ่นส่วนใหญ่สูงมากจนผู้อ่านไม่อยากจ่าย

 

‘ทางรอด’ ที่แท้จริงของสื่อ

 

การอยู่รอดของสื่อใหญ่กำลังคุกคามการอยู่รอดของสื่อท้องถิ่นรายย่อยโดยไม่ตั้งใจ โจทย์สำคัญในอนาคตที่ทั้งสื่อใหญ่และเล็กทั่วโลก ต้องช่วยกันขบคิด คือ จะทำอย่างไรให้สื่อทั้งหลายอยู่รอดไปด้วยกันได้ในทางธุรกิจ โดยไม่ลดทอนคุณค่าของสถาบันสื่อในการส่งเสริมประชาธิปไตยลง

ปัจจุบันมีการพูดถึงข้อเสนอหลายอย่าง เพื่อพยุงสื่อท้องถิ่นให้ไปต่อได้ เช่น การให้กลุ่มทุนหรือรัฐยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือในรูปแบบต่างๆ อาทิ

– การบริจาคจากมหาเศรษฐี หรือมูลนิธิ อย่างเป็นระบบ

– การสนับสนุนโดยรัฐ (publicly subsidized model) เช่น รัฐบาลในสหภาพยุโรป ที่ช่วยเหลือสื่อท้องถิ่นด้วยการให้เงินทุนสนับสนุนและการซื้อพื้นที่โฆษณาโดยตรง

– การผลักดันให้แพลตฟอร์ม เช่น กูเกิลหรือเฟซบุ๊ก สนับสนุนเงินหรือจ่ายค่าเนื้อหาให้กับสื่อท้องถิ่น ทั้งนี้ในช่วงหลายปีมานี้ ทั้งสองบริษัทตั้งวงเงินเพื่อช่วยเหลือสื่อในสหรัฐอเมริกาแล้วกว่า 300 ล้านเหรียญ

และยังมีแนวทางที่พัฒนามาจาก ‘นิวยอร์กไทมส์โมเดล’ เช่น โมเดล hub-and-spoke strategy ที่เสนอโดยเฮล์ล ด้วยการให้สื่อใหญ่เช่น The Washington Post เป็นศูนย์กลางการรับสมาชิก ให้กับสื่อรายเล็กหรือสื่อท้องถิ่นในเครือข่ายและแบ่งรายได้กัน หรือ โมเดล low-friction ที่เสนอโดย คอสมิน อีเน่ (Cosmin Ene) ซีอีโอของ LaterPay ที่เสนอให้สื่อขายบริการข่าวเป็นรายชิ้นหรือขายเวลาในการเข้าถึงแทนการสมัครสมาชิก เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับผู้อ่าน

สำหรับประเทศไทย ความท้าทายในการอยู่รอดของสื่อที่ต้องไปพร้อมกับการส่งเสริมประชาธิปไตยนั้นไม่ได้แตกต่างจากที่อื่นทั่วโลก แม้เราจะยังมองไม่เห็นทางออกที่ชัดเจน แต่อย่างน้อยบทเรียนจากความสำเร็จของนิวยอร์กไทมส์ก็บอกกับเราว่า ทางรอดของสื่อไม่ใช่การปะซ่อมโครงสร้างอันผุพังที่เป็นอยู่ ด้วยการหาโมเดลธุรกิจใหม่แต่เพียงอย่างเดียว หากแต่คือการประกอบร่างสร้างสื่อที่มีคุณค่าขึ้นมาใหม่ บนฐานคิดที่รับผิดชอบต่อผู้อ่านและการเป็นเสาหลักให้ประชาธิปไตย

และยิ่งความสำเร็จของ ‘เจ้าใหญ่’ ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมและประชาธิปไตยในภาพรวม มาตรฐานและคุณค่าสื่อก็ยิ่งมีความสำคัญเพิ่มเท่าคูณทวี

“สื่อเสรีที่ปราศจากการเข้าแทรกแซงของรัฐบาลเป็นสิ่งสำคัญต่อระบอบประชาธิปไตย แต่เสรีภาพของสื่อจะไม่มีประโยชน์เลย หากไม่มีสื่อที่คอยรายงานปัญหาหรือเรื่องราวที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนในแต่ละชุมชน และหากผู้คนไม่สามารถเลือกสื่อเองได้อย่างเสรี” – โธมัส เจฟเฟอร์สัน

 

 


อ้างอิง

It is possible to compete with the New York Times. Here’s how.

Why the Success of The New York Times May Be Bad News for Journalism

Journalism’s Market Failure Is a Crisis for Democracy

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save