fbpx
จุดตั้งต้นการปกครองระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญของไทย

จุดตั้งต้นการปกครองระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญของไทย (3)

ศุภมิตร ปิติพัฒน์ เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

1

เมื่อ 2489 ไม่อาจเป็นจุดตั้งต้น

 

ถ้าปรีดี พนมยงค์ในฐานะรัฐบุรุษอาวุโสดำรงอยู่เป็นหลักในการเมืองไทยพร้อมกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2489 เขาก็จะได้เป็นผู้ประคับประคองให้ ‘ระบอบประชาธิปไตยอันพรั่งพร้อมไปด้วยสามัคคี’ พัฒนาไปได้อย่างต่อเนื่อง และคงเป็นคุณต่อการจัดและรักษาการปกครองโดยมีพระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญให้เข้ารูปประชาธิปไตย แต่ความคิดความหวังที่จะเริ่มตั้งต้นใหม่ที่ 2489 แทน 2475 ก็มีเหตุสวรรคต ขบวนการต่อต้านใส่ร้ายเขาเกี่ยวกับกรณีสวรรคต และรัฐประหาร 2490 มาทำให้ไม่อาจเป็นไปตามนั้นได้

แม้ว่าในที่สุดรัฐธรรมนูญ 2489 จะไม่ได้เป็นจุดตั้งต้นของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งพระเชษฐาและพระอนุชา 2 พระองค์ในการสร้างประเพณีการปกครองตามระบบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ และจะได้จุดตั้งต้นใหม่เลื่อนเข้ามาแทน แต่ถึงกระนั้นรัฐธรรมนูญ 2489 ก็นับว่ามีความสำคัญ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้คือผลของความพยายามแรกจากข้อขัดแย้งที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้น ที่ริเริ่มมาจากฝั่งผู้นำคณะราษฎรคือปรีดี ในการหาทางรวมความคิด 2 ฝ่ายระหว่างความคิดของฝ่ายคณะราษฎรผู้ก่อการขอพระราชทานรัฐธรรมนูญฝ่ายหนึ่ง กับของรัชกาลที่ 7 ผู้พระราชทานรัฐธรรมนูญอีกฝ่ายหนึ่ง เพื่อประสานทั้ง 2 ส่วนนั้น ถ้าใช้ภาษาของรัชกาลที่ 5 คือ เพื่อให้ “เข้าเป็นกลางให้ลงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน”[1] ในเรื่องการจัดโครงสร้างการปกครองของระบอบใหม่และการกำหนดพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ

ข้อเสนอของปรีดีในสุนทรพจน์ที่ให้ยึดถือว่า ทั้งคณะราษฎรและพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นผู้ร่วมกันตั้งต้นระบอบการปกครองใหม่ที่พระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ แต่การยึดถือเช่นนี้ แม้ว่าจะมีคุณในระยะยาวในทางส่งเสริมความสอดคล้องระหว่างพระมหากษัตริย์กับประชาธิปไตย แต่ความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ฝ่ายที่ไม่ราบรื่นและจบลงอย่างบาดหมางไม่อาจประสานเข้าหากันได้ ก็ทำให้ความคิดที่จัดพระปกเกล้าฯ กับคณะราษฎรให้อยู่คู่เคียงกันในการก่อกำเนิดประชาธิปไตยของไทยเป็นความคิดที่คงเป็นปัญหาอยู่ ตราบเท่าที่ยังไม่มีการประนอมสิ่งที่ทั้ง 2 ฝ่ายเห็นว่าเป็นหลักการสำคัญของรัฐธรรมนูญที่สร้างข้อขัดแย้งระหว่างกันขึ้นมาจนจบลงด้วยการสละราชสมบัติของรัชกาลที่ 7 และการปฏิเสธคณะราษฎรว่าไม่เป็นประชาธิปไตย  ในขณะที่คณะราษฎรก็ไม่ยอมรับข้อเรียกร้องของรัชกาลที่ 7 เพราะเห็นว่าขัดรัฐธรรมนูญ

รัฐธรรมนูญ 2489 นับได้ว่าเป็นความพยายามประนีประนอมความแตกต่างในทางหลักการของทั้ง 2 ฝ่ายเข้าหากันเพื่อสลายข้อขัดกันที่เคยมีอยู่ การปฏิเสธรัฐธรรมนูญ 2489 ไม่ว่าจะโดยเปลี่ยนมาเป็นรัฐธรรมนูญ 2490/92 หรือการนำรัฐธรรมนูญ 2475 กลับมา จึงเท่ากับเป็นการปฏิเสธที่จะใช้จุดประนีประนอมที่ทำให้พระปกเกล้าฯ กับคณะราษฎรสามารถสมานเข้าหากันได้ เป็นจุดเริ่มต้นของการวางประเพณีการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย

 

2

จุดตั้งต้นในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

 

เพื่อให้เข้าใจจุดตั้งต้นวางประเพณีการปกครองใหม่ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ ว่าเมื่อมีเหตุมาทำให้ค่อยๆ เลื่อนห่างออกจาก 2475 อันเป็นจุดกำเนิดของการปกครองตามระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญมาแล้ว และความพยายามของปรีดีที่จะตั้งต้นใหม่ก็ถูกเทพีแห่งโชคชะตาแทรกแซงให้มีอันเป็นไป  ในที่สุด จุดประสานพระมหากษัตริย์กับรัฐธรรมนูญจะได้ใช้หลักการที่เกิดขึ้นในจุดใดแน่มาจัดพระมหากษัตริย์ในรัฐธรรมนูญ  การจะตอบคำถามนี้จากบทที่เขียนโดยฝ่ายราชานุภาพ จำต้องอาศัยการนำเสนอปัญหาหลายชั้นที่มีอยู่ในการบริหารงานของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เพื่อชี้ให้เห็นประเด็นที่ฝ่ายราชานุภาพถือเป็นโจทย์ในการจัดการปฏิรูปหรือเปลี่ยนแปลงการปกครอง และแนวทางที่ฝ่ายนี้เห็นว่าจะช่วยจัดการแก้ไขปัญหาสำคัญนั้นได้ อันส่งผลต่อแนวคิดของฝ่ายราชานุภาพในเวลาต่อมาในการเขียนบทสำหรับการจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างสถาบันต่างๆ กับพระมหากษัตริย์ในรัฐธรรมนูญ

ผู้วิจัยขอรวบรวมปัญหาซับซ้อนที่แก้ให้ตกได้ยากของระบบบริหารราชการแผ่นดินในระบอบราชาธิปไตยสยามมานำเสนอเป็น 2 ข้อใหญ่ ดังนี้

 

. ภารกิจอันหนักของผู้เป็นพระเจ้าแผ่นดินในฐานะประมุขของฝ่ายบริหารที่ต้องรับผิดชอบทั้งงานนโยบายและการติดตามผลการปฏิบัติงานของส่วนราชการต่างๆ

ปัญหาข้อนี้ปรากฏขึ้นตั้งแต่รัชกาลที่ 5 ที่ทรงรวมอำนาจเข้าสู่ส่วนกลางและเปลี่ยนระบบบริหารราชการแผ่นดินมาเป็นระบบราชการแบบกระทรวง

ในพระราชดำรัสตอบความเห็นของผู้จะให้เปลี่ยนแปลงการปกครอง จ.ศ. 1247 รัชกาลที่ 5 ทรงชี้แจงปัญหาว่า

การที่เราทำอยู่ในตำแหน่งเอกเสกคิวตีฟคอเวอนเมนต์นี้ ถ้าจะเปรียบกับคอเวอนเมนต์อังกฤษก็เหมือนหนึ่งเป็นปรีเมียเองในตัว แต่ได้เปรียบกว่ากันคนละอย่าง คือปรีเมียอังกฤษต้องรู้การคิดการที่สำคัญทุกสิ่งทุกอย่าง เว้นไว้แต่การเล็กน้อย คนอื่นทำไปได้ตามมินิสตรีของตัว แต่ส่วนเราต้องรู้การตั้งแต่ใหญ่ลงไปจนเล็กทุกสิ่งทุกอย่าง ต้องทำเองสั่งเองทุกสิ่งตลอดจนถ้อยความเล็กน้อย ไม่ใคร่จะได้อาศัยฤๅไม่ได้อาศัยเสนาบดีตามตำแหน่งนั้นๆ เลย เราต้องรับการตำแหน่งนี้หนักยิ่งกว่าปรีเมียอังกฤษ แต่ปรีเมียอังกฤษต้องนั่งในเฮาสออฟปาลีเมนต์คอยแก้ความ ส่วนเราไม่ต้องนั่ง เป็นได้เปรียบปรีเมียอังกฤษ

แต่ความได้เปรียบที่รัชกาลที่ 5 ทรงกล่าวไว้ข้างต้น พระองค์ก็ต้องแลกมาด้วยการที่ “เรายังต้องเป็นผู้รับผิดที่คนทั้งปวงจะลงร้าย ว่าเพราะเราเป็นคนอ่อนไม่สามารถที่จะหักหาญแก่ผู้หนึ่งผู้ใด เพราะความเห็นซึ่งจะถือว่า ถ้าเราประสงค์อย่างไร การนั้นคงจะตลอดไปได้ การซึ่งไม่ตลอดไปได้ เพราะเราไม่คิดจะให้ตลอดดังนี้” [2]

เงื่อนไขความสำเร็จของระบบรวมศูนย์อำนาจอาญาสิทธิ์มาไว้ที่พระมหากษัตริย์เช่นนี้ จึงอยู่ที่การได้พระมหากษัตริย์ที่มีความสามารถและความตั้งพระทัยที่จะรับพระราชภารกิจต่างๆ ในทุกๆ ด้าน โดย “ต้องถือว่าตัวเกิดมามีกรรมสำหรับจะเทียมแอกเทียมไถทำการที่หนัก การซึ่งจะมีวาสนาขึ้นต่อไปนั้นเป็นความทุกข์มิใช่ความสุข” [3] และระบบเช่นนี้ต้องได้เสนาบดีที่มีความสันทัดเชี่ยวชาญในราชการ หรือดียิ่งกว่านั้นคือได้อรรคมหาเสนาบดีที่มากความสามารถและเป็นที่ยอมรับ ทั้งในกิจการภายในและต่างประเทศมาเป็นผู้บังคับบัญชาราชการ แต่การบริหารราชการแผ่นดินของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยามในรัชกาลที่ 5 ทรงพึ่งพระอนุชา และต่อมาเป็นพระราชโอรส จึงจะตั้งผู้ใดขึ้นไว้ในตำแหน่งอรรคมหาเสนาบดีไม่ถนัด เพราะผู้มีความสามารถสูงทำงานได้สมพระราชหฤทัยก็อาจทรงวัยวุฒิและมี ‘โปเจียม’ น้อยกว่าสมาชิกพระราชวงศ์พระองค์อื่น พระมหากษัตริย์จึงต้องทรงรับพระราชภารกิจในการเป็น ‘ปรีเมีย’ ด้วยพระองค์เอง

ปัญหาภายในตัวระบบการปกครองจึงเป็นดังที่รัชกาลที่ 5 ทรงวิเคราะห์ไว้คือ แต่เดิมเมื่อสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ยังอยู่ในตำแหน่ง ‘ริเยนต์’ นั้น “ตำแหน่งเอกเสกคิวตีฟเป็นที่หวงแหนของริเยนต์แลเสนาบดี แต่ลิยิสเลตีฟนั้น หาใคร่จะมีผู้ใดชอบใจไม่ เราจึงได้จับอุดหนุนการลิยิสเลตีฟขึ้น” จนได้ตั้งเคาน์ซิลออฟสเตตหรือสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดินขึ้นมาทำหน้าที่พิจารณาแก้ไขกฎหมายเก่าที่พ้นสมัยและปรึกษาคิดทำกฎหมายใหม่ เช่น การเลิกทาส และการจัดเก็บภาษีอากร เป็นต้น ซึ่งโดยบทบาทในฝ่ายนิติบัญญัติตอนต้นรัชกาลนั้น “เรากลายเป็นหัวหน้าของพวกลิยิสเลตีฟเคาน์ซิล เป็นออปโปสิชั่นของคอเวอร์เมนต์โดยตรง” แต่ภายหลังเมื่อพระองค์ “ได้โอกาสที่…จะแทรกมือลงไปได้บ่อยๆ” จึงได้อำนาจด้านบริหารมาทีละน้อยจนในที่สุด “เรากลายเป็นตัวคอเวอร์เมนต์” งานด้านนิติบัญญัติที่เป็นการออกกฎหมายจึงขาดผู้อุดหนุน ซึ่งโดยนัยนี้ ย่อมรวมทั้งการมี “ออปโปสิชั่นของคอเวอร์เมนต์” อันเป็นบทบาทของฝ่าย “ลิยิสเลตีฟ” ด้วย เพราะงานด้านบริหารของพระองค์มีมากจน “เป็นการเหลือกำลังที่เราจะทำทั้งสองอย่างได้โดยตลอด” [4]

ยิ่งไปกว่านั้น แขนขาของงานด้านบริหารที่เป็นกระทรวง เสนาบดี และข้าราชการเอง ก็ขาดคนมีความสามารถเพียงพอและมีจำนวนมากพอแก่การ จนเกิดปัญหาที่รัชกาลที่ 5 ทรงเรียกว่า ‘โรคหินหักอยู่กับต้นโพธิ์’ คือไม่มีใครทำอะไรไปจนสำเร็จได้เพราะ “เหตุที่ความรู้และสติปัญญาของผู้คิดการ หรือผู้ที่ได้รับการไม่พอที่จะประคองความคิดของตัวไปให้ตลอดสำเร็จ และไม่พอที่จะทำการตามตำแหน่งของตัวที่ได้รับการ” รอแต่จะได้รับคำสั่งหรือรอฟังพระกระแสจะว่าอย่างไรบ้าง อ้างว่าคิดได้แต่ไม่มีอำนาจจะทำได้บ้าง หรือขาดความคิดเห็นคอยแต่ ‘แล้วแต่จะโปรด’ บ้าง ราชการต่างๆ จึงเป็นไปอย่างจึงติดๆ ขัดๆ และล่าช้า [5]

ปัญหาข้อแรกนี้เป็นข้อจำกัดอันใหญ่ภายในตัวระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่พระมหากษัตริย์ทรงตระหนักเองว่าเป็นปัญหาการทำงานที่หนักมาก รัชกาลที่ 5 ถึงกับเคยทรงปรารภกับพระยาวิสุทธสุริยศักดิ์อย่าง ‘ขุ่นข้องหมองใจ’ ว่าส่วนราชการต่างๆ นั้น “เหมือนไม่เป็นสิ่งที่มีวิญญาณ เป็นแต่ผนัง ซึ่งเมื่อผู้ใดเอาอะไรปาเข้าไปก็กระท้อนกลับออกไปได้ทีหนึ่ง ข้อที่จะนึกขึ้นเองไม่มี เป็นแต่ปัดอาวุธไปให้พ้นหน้ามื้อหนึ่งๆ … การซึ่งเราเป็นเจ้าแผ่นดินด้วย เป็นเสนาบดีด้วย เป็นเสมียนด้วย เช่นนี้ ก็เคยเป็นมานานแล้ว ไม่สู้ท้อถอยนัก แต่ขออย่าให้เข้าใจว่ายินดีจะเป็น ไม่ยอมละวางให้ผู้ใดทำ” [6]

เมื่อสถานการณ์ที่รัชกาลที่ 5 ทรงเผชิญไม่แคล้วไปจากปัญหา ‘พวงอุบะที่แขวนไว้ด้วยเชือกเส้นเดียว’ ดังที่เจ้านายและขุนนางเคยทำหนังสือกราบบังคมทูลเมื่อ ร.ศ. 103 [7]  สมรรถนะของระบอบที่มีลักษณะเช่นนี้ส่วนสำคัญจึงขึ้นอยู่กับความสามารถของพระมหากษัตริย์เป็นหลัก แต่การวางระบบการสืบราชสมบัติเพื่อมุ่งให้มีเสถียรภาพมากขึ้นด้วยการเปลี่ยนระบบวังหน้าและอำนาจของขุนนางผู้ใหญ่ที่จะเป็น ‘อเนกชนนิกรสโมสรสมมติ’ มาเป็นการตั้งมกุฎราชกุมาร ก็ทำให้มีปัญหาอีกแบบหนึ่งตามมา รัชกาลที่ 7 ทรงเป็นผู้ชี้จุดอ่อนฉกรรจ์ของระบบเช่นนี้สำหรับการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ว่า

… ถ้ากษัตริย์เป็นกษัตริย์ที่มาจากการได้รับการเลือกกันจริงๆ ก็พอมีทางเป็นไปได้ที่ผู้ที่ได้รับเลือกจะเป็นกษัตริย์ที่ดีพอใช้ได้ แต่แนวคิดเรื่องการเลือกกษัตริย์จริงๆ แล้วเป็นแต่เพียงในทางทฤษฎีเท่านั้น ตามที่เป็นจริง กษัตริย์สยามเป็นโดยการสืบสันตติวงศ์ ซึ่งมีผู้อยู่ในข่ายให้เลือกได้อย่างจำกัดมาก ด้วยเหตุนี้ จึงไม่แน่นอนว่าเราจะมีกษัตริย์ที่ดีเสมอไป [8]

 

. ปัญหาความเสื่อมถอยในความนิยมและความพ้นสมัยของตัวระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เอง

รัชกาลที่ 7 ทรงรับทราบและแสดงปัญหานี้ไว้อย่างตรงไปตรงมาในพระราชบันทึกที่ทรงมีถึง ฟรานซิส บี แซร์

… ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คนทั้งหลายยังคงเกรงกลัวและเคารพพระมหากษัตริย์อย่างมาก แต่ถึงกระนั้น ครั้นล่วงมาถึงปลายรัชกาล กลุ่มคนวัยหนุ่มเริ่มวิจารณ์พระมหากษัตริย์ในหลายเรื่อง แม้ว่าจะไม่พูดโดยเปิดเผย ในรัชกาลที่เพิ่งผ่านไป สถานการณ์เลวร้ายลงอย่างมาก ด้วยเหตุผลหลายประการที่ข้าพเจ้าไม่จำเป็นต้องบอกท่าน เพราะท่านย่อมทราบดีอยู่แล้ว … สิ่งที่น่าเสียใจอย่างยิ่งก็คือราชสำนักถูกคนดูหมิ่นดูแคลน และในระยะใกล้จะสิ้นรัชกาลก็จวนเจียนจะกลายเป็นของที่คนล้อเลียนเย้ยหยัน การเกิดหนังสือพิมพ์ที่มีเสรีภาพก็ยิ่งซ้ำเติมเรื่องให้หนักหนายิ่งขึ้นไปอีก ฐานะของพระมหากษัตริย์ตกอยู่ในภาวะลำบากอย่างมาก ความเคลื่อนไหวในทางความคิดเห็นในประเทศนี้ส่งสัญญาณออกมาแน่ชัดว่ายุคสมัยของการปกครองแบบถืออาญาสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียวถึงเวลานับถอยหลังแล้ว ถ้าพระราชวงศ์จะยืนยาวอยู่ต่อไปได้ ต้องหาทางทำให้ฐานะของพระมหากษัตริย์มั่นคงยิ่งขึ้นกว่านี้ โดยจะต้องหาหลักประกันบางอย่างเพื่อป้องกันพระมหากษัตริย์ที่ไม่ชาญฉลาด

สยามควรจะใช้ระบอบการปกครองแบบใดดี? [9]  (เน้นข้อความตามต้นฉบับ)

รัชกาลที่ 7 ทรงถามและทรงตอบในทันทีว่าทรงมีความกังขาว่าระบอบการปกครองรัฐสภาแบบแองโกล – แซกซันจะเหมาะกับคนในทางตะวันออกเพียงใด และทรงเห็นว่าประเทศไทยยังไม่พร้อมสำหรับการจะมีการปกครองจากตัวแทนของประชาชน

ในการหาหลักประกันต่อข้อจำกัดด้านความสามารถและประสิทธิภาพในการทำงานของพระมหากษัตริย์ที่มีพระราชภารกิจมากมายหลายด้านในการบริหารราชการแผ่นดิน ในทางหนึ่งมีข้อเสนอจากหลายฝ่ายว่าการจัดตั้งองค์กรขึ้นมาทำหน้าที่ด้านนิติบัญญัติมีความจำเป็นทั้งในทางด้านการออกกฎหมายและการทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้านไปด้วยในตัว แต่ก็มีผู้ค้านว่าการตั้งองค์กรให้คล้ายฝ่ายนิติบัญญัติโดยไม่เปลี่ยนมาเป็นระบอบรัฐสภาจริงๆ นั้นไม่มีผลดีอันใด และรัชกาลที่ 7 เองก็ไม่สู้จะทรงเห็นด้วยกับองค์ประกอบของสภาในลักษณะนี้ที่เสนอให้เลือกจากข้าราชการในกระทรวงต่างๆ เพราะถ้าจะให้มาทำหน้าที่นิติบัญญัติที่เป็นฝ่ายค้านซักถามการบริหารราชการแผ่นดินไปด้วยในตัว รัชกาลที่ 7 ทรงเกรงว่าจะไม่ได้ผลหรือทำให้เกิดปัญหาด้านวินัยและอำนาจการบังคับบัญชาซ้อนกันขึ้นได้ พระองค์จึงทรงเลือกที่จะจัดตั้งอภิรัฐมนตรีสภาขึ้นมาทำหน้าที่เป็นหลักประกันความสามารถและประสิทธิภาพในการทำงานของพระมหากษัตริย์

แต่การแก้ปัญหาอย่างหนึ่งก็ทำให้เกิดปัญหาอีกหลายอย่างตามมา ที่สำคัญคือ ปัญหาความไม่ชัดเจนในอำนาจ อำนาจหน้าที่ และความรับผิดชอบระหว่างพระมหากษัตริย์กับอภิรัฐมนตรี ที่ส่วนใหญ่ประกอบด้วยพระบรมวงศ์ชั้นสูง ในที่สุดก็หนีไม่พ้นการที่พระมหากษัตริย์และอภิรัฐมนตรีจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าอภิรัฐมนตรีมาบดบังรัศมีของพระมหากษัตริย์ และพระมหากษัตริย์ตกอยู่ในอิทธิพลของอภิรัฐมนตรีที่มีอำนาจอยู่เบื้องหลังมากในการบริหารราชการแผ่นดิน แม้โดยทางการจะทำหน้าที่เพียงถวายคำปรึกษา ดังนั้น อภิรัฐมนตรีสภาอาจจะช่วยพระมหากษัตริย์ที่เป็น “a dark horse and in any case inexperienced in affairs of state” ได้ในทางส่วนพระองค์เกี่ยวกับการบริหารพระราชภารกิจและตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบาย แต่ไม่ได้ช่วยทำให้ฐานะของพระมหากษัตริย์มั่นคงขึ้นในกระแสความคิดเห็นของคนในสังคม [10]

การแก้ไขจุดอ่อนภายในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เพื่อปรับตัวจึงทำได้ไม่ทันและไม่ได้ผลมากพอที่จะยับยั้งการวิพากษ์วิจารณ์และความถดถอยในความนิยมต่อตัวระบอบ ที่ก่อให้เกิดความรู้สึกร่วมกันในวงกว้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่ข้าราชการทั้งทหารและพลเรือนเองว่าระบอบการปกครองดังกล่าวหมดความสามารถในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ของประเทศเพราะ “ไม่ทรงฟังเสียงราษฎร … ปกครองโดยขาดหลักวิชา ปล่อยให้บ้านเมืองเป็นไปตามยถากรรม … ไม่มีประเทศใดในโลกที่จะให้เงินเจ้ามากเช่นนี้ นอกจากพระเจ้าซาร์และพระเจ้าไกเซอร์เยอรมัน ซึ่งชนชาตินั้นได้โค่นราชบัลลังก์เสียแล้ว” ดังสะท้อนอยู่ในประกาศคณะราษฎรฉบับประวัติศาสตร์ [11]

แม้คำประกาศคณะราษฎรจะสร้างความขุ่นเคืองแก่รัชกาลที่ 7 และสมาชิกในพระราชวงศ์และสร้างความไม่พอใจหรือถึงกับผูกใจเจ็บในหมู่ผู้จงรักภักดีต่อพระราชวงศ์เพียงใด แต่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักดีมาแต่ก่อนที่คณะราษฎรจะยึดอำนาจการปกครองแล้วว่า เวลาสำหรับการปกครองของสยามตามระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาถึงจุดสิ้นสุดแล้ว และถึงแม้โดยส่วนพระองค์จะทรงคิดว่าระบอบรัฐสภาและการปกครองโดยตัวแทนของประชาชนไม่เหมาะกับสยามหรือยังไม่ถึงเวลาที่พร้อม แต่รัชกาลที่ 7 ก็ทรงเห็นว่า

เราต้องระลึกไว้ว่าประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้คิดด้วยเหตุด้วยผล แต่คิดด้วยอารมณ์ความรู้สึกเท่านั้น ยิ่งในกรณีที่เป็นฝูงชนด้วยแล้วความข้อนี้ยิ่งเป็นจริงเข้าไปใหญ่ ในกาลภายหน้าคงจะถึงเวลาเข้าสักวันที่ชาวสยามจะส่งเสียงเรียกร้องหารัฐสภา (ไม่ใช่หรือว่าเดี๋ยวนี้ก็มีสัญญาณแบบนั้นให้เห็นแล้วในกรุงเทพฯ?) ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะไปอธิบาย แม้ด้วยเหตุผลที่ดีที่สุด ว่าระบอบการปกครองแบบรัฐสภาไม่เหมาะกับลักษณะเผ่าพันธุ์ของชาวสยาม! [12] (เน้นข้อความตามต้นฉบับ)

ด้วยเหตุนี้ เมื่อการหาทางจะรักษาสมบูรณาญาสิทธิราชย์เอาไว้เป็นเรื่องสายเกินไปเสียแล้วที่จะทำได้ การหาทางเปลี่ยนแปลงไปสู่ “การเล่นกับการมีรัฐสภา” เช่นเดียวกับอีกหลายประเทศและสร้างระบอบการปกครองตามรัฐธรรมนูญรวมทั้งจัดการศึกษาเพื่อหล่อหลอมความคิดชุดใหม่ขึ้นแทนที่ระบอบเก่าจึงเป็นสิ่งที่พระองค์ทรงมองหา “สำหรับข้าพเจ้าแล้วเห็นว่า ไพ่กำลังบอกว่าเราอาจจะต้องได้ เล่น เกมชนิดนั้นในสยามเข้าสักวันหนึ่ง”(เน้นข้อความตามต้นฉบับ)

เมื่อผสมกับประเด็นในข้อที่จะกล่าวต่อไป รัชกาลที่ 7 จึงทรงเห็นว่าการจะฝืนไม่เปลี่ยนแปลง หรือถ้าจะมีใครพยายามจะดึงการเปลี่ยนแปลงกลับคืนไปเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในแบบเดิม พระองค์ไม่ทรงเห็นด้วย สิ่งที่พระองค์ทรงคิด และน่าจะไม่ใช่แต่เฉพาะพระองค์เท่านั้นที่จะคิด คือการหาทางออกแบบระบอบการเมืองที่จะทำให้ได้นายกรัฐมนตรีมาเป็นประมุขฝ่ายบริหาร และพระมหากษัตริย์ทรงมีอำนาจสำรองไว้ที่จะถอดถอนหรือเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี

 

 


อ้างอิง

[1] พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, “พระบรมราชาธิบายว่าด้วยความสามัคคีแก้ความในคาถาที่มีในอามแผ่นดิน” ใน ชัยอนันต์ สมุทวณิช และขัตติยา กรรณสูต, รวบรวม, เอกสารการเมืองการปกครองไทย พ.ศ. 2417-2477 (กรุงเทพฯ: โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2518), หน้า 165.

[2] ข้อความในย่อหน้านี้และย่อหน้าก่อนหน้ามาจาก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, “พระราชดำรัสตอบความเห็นของผู้จะให้เปลี่ยนแปลงการปกครอง จ.ศ. 1247,” ใน ชัยอนันต์ สมุทวณิช และขัตติยา กรรณสูต, รวบรวม, เอกสารการเมืองการปกครองไทย พ.ศ. 2417-2477 (กรุงเทพฯ: โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2518), หน้า 77-78.

อนึ่ง ปัญหาการซัดโทษเหตุไม่ดีต่างๆ ให้พระมหากษัตริย์ต้องรับนี้ รัชกาลที่ 7 ก็ทรงตระหนักและทรงเผชิญใกล้เคียงกันกับรัชกาลที่ 5 ดังความเห็นที่เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีกราบบังคมทูลรัชกาลที่ 7 “เมื่อองค์อภิรัฐมนตรีได้ทรงกระทำสิ่งไรไปเป็นการถูก คนทั่วไปต่างก็ชมและสรรเสริญแต่องค์อภิรัฐมนตรี หากว่าการที่ได้ทรงจัดไปนั้นมีสิ่งบกพร่อง ความเสียหายก็ตกอยู่แก่ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทแต่พระองค์เดียว” รัชกาลที่ 7 ทรงมีพระราชหัตถเลขาตอบข้อสังเกตนี้ว่า “…การสิ่งนี้ย่อมเป็นอยู่เสมอ พระเจ้าแผ่นดินจะต้องทรงถูกรับซัดทุกอย่างแม้ดินฟ้าอากาศวิปริตไม่ต้องตามฤดูกาลก็ยังถูกซัด เป็นของธรรมดาที่จะต้องรับความซัดทอดเหล่านั้นด้วยขันติ” อ้างใน ชัยอนันต์ สมุทวณิช การเมือง-การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทย พ.ศ. 2411-2475 (กรุงเทพฯ: สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, 2519), หน้า 97-98.

[3] พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว,“พระบรมราโชวาทพระราชทานแด่เจ้าฟ้าวชิรุณหิศ,” ใน ชัยอนันต์ สมุทวณิช และขัตติยา กรรณสูต, รวบรวม, เอกสารการเมืองการปกครองไทย พ.ศ. 2417-2477 (กรุงเทพฯ: โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2518), หน้า 133.

[4] พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, “พระราชดำรัสตอบความเห็นของผู้จะให้เปลี่ยนแปลงการปกครองจ.ศ. 1247,” ใน ชัยอนันต์ สมุทวณิช และขัตติยา กรรณสูต, รวบรวม, เอกสารการเมืองการปกครองไทย พ.ศ. 2417-2477 (กรุงเทพฯ: โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2518), หน้า 78.

[5] พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, “พระบรมราชาธิบายว่าด้วยความสามัคคีแก้ความในคาถาที่มีในอามแผ่นดิน” ใน ชัยอนันต์ สมุทวณิช และขัตติยา กรรณสูต, รวบรวม, เอกสารการเมืองการปกครองไทย พ.ศ. 2417-2477 (กรุงเทพฯ: โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2518), หน้า 166-167.

[6] “พระราชหัตถเลขาถึงพระยาวิสุทธสุริยศักดิ์ วันที่ 27 ตุลาคม ร.ศ. 117” พระราชหัตถเลขาและหนังสือกราบบังคมทูลของเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดีแต่ยังมีบรรดาศักดิ์เป็นพระมนตรีพจนกิจและพระยาวิสุทธสุริยศักดิ์ ร.ศ. 113-118 พิมพ์ในการพระราชทานเพลิงศพท่านผู้หญิงเสงี่ยม พระเสด็จสุเรนทราธิบดี ท.จ. ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 12 เมษายน พุทธศักราช 2504.

[7] “เจ้านายและข้าราชการกราบบังคมทูลความเห็นจัดการเปลี่ยนแปลงระเบียบราชการแผ่นดิน ร.ศ. 103,” ใน ชัยอนันต์ สมุทวณิช และขัตติยา กรรณสูต, รวบรวม, เอกสารการเมืองการปกครองไทย พ.ศ. 2417-2477 (กรุงเทพฯ: โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2518), หน้า 58.

[8] “King Prajadhipok’s Memorandum to Dr. Sayre,” in Benjamin A. Batson, ed., Siam’s Political Future: Documents from the End of the Absolute Monarchy (Ithaca, NY: Southeast Asian Program, Department of Asian Studies, 1974), p. 15. แปลโดยผู้วิจัย.

[9] “King Prajadhipok’s Memorandum to Dr. Sayre,” in Benjamin A. Batson, ed., Siam’s Political Future: Documents from the End of the Absolute Monarchy (Ithaca, NY: Southeast Asian Program, Department of Asian Studies, 1974), p. 15. แปลโดยผู้วิจัย.

[10] op. cit., p. 16.

[11] “ประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1,” ใน ชัยอนันต์ สมุทวณิช และขัตติยา กรรณสูต, รวบรวม, เอกสารการเมืองการปกครองไทย พ.ศ. 2417-2477 (กรุงเทพฯ: โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2518), หน้า 209.

[12] “Democracy in Siam,” in Benjamin A. Batson, ed., Siam’s Political Future: Documents from the End of the Absolute Monarchy (Ithaca, NY: Southeast Asian Program, Department of Asian Studies, 1974), p. 48. เอกสารนี้ผู้เชี่ยวชาญทุกคนลงความเห็นต้องกันว่าเป็นพระราชบันทึกของรัชกาลที่ 7 ที่ทรงเขียนเอง

 

 

หมายเหตุ : บทความนี้ปรับมาจากส่วนหนึ่งของรายงานวิจัย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 กับแนวคิดและเงื่อนไขทางการเมืองในการฟื้นฟูสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 รายงานวิจัยดังกล่าวอยู่ภายใต้โครงการวิจัยต่อเนื่องที่ทำเสนอต่อสถาบันพระปกเกล้า คือ โครงการ ‘จากมวลชนปฏิวัติสู่มวลชนประชาธิปไตยกับพระมหากษัตริย์: ศึกษาพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชในกระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย’ ซึ่งมีศาสตราจารย์ ดร.ไชยันต์ ไชยพร เป็นหัวหน้าโครงการ ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ จันทรวงศ์ เป็นที่ปรึกษา และเอกลักษณ์ ไชยภูมี เป็นผู้ช่วยวิจัย บทความและรายงานวิจัยส่วนนี้ได้รับความเห็นอันเป็นประโยชน์ยิ่งจากบุคคลทั้ง 3 และได้รับทุนสนับสนุนจากสถาบันพระปกเกล้า แต่ความรับผิดชอบเกี่ยวกับเนื้อหาและการตีความเป็นของผู้วิจัย-ผู้เขียนเอง

 

อ่าน จุดตั้งต้นการปกครองระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญของไทย (1)

อ่าน จุดตั้งต้นการปกครองระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญของไทย (2)

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save